Smile Siam มาร่วมกันคืน "สยามเมืองยิ้ม" กลับสู่บ้านเรากันนะครับ ...
User Info
Welcome, Guest. Please login or register.
27 April 2024, 22:40:02

Login with username, password and session length
Search:     Advanced search
News
ท่านสมาชิกสามารถเปลี่ยนรูปแบบ (Theme) ได้อีกหลายแบบ
เชิญทดลองโดยคลิกที่ลิงค์ข้างล่าง ได้เลยครับ

http://www.smilesiam.net/index.php/topic,3170.msg4713.html
Forum Stats
25,605 Posts in 12,440 Topics by 70 Members
Latest Member: KAN
Home Help Search Calendar Login Register
Smile Siam มาร่วมกันคืน "สยามเมืองยิ้ม" กลับสู่บ้านเรากันนะครับ ...  |  ชุมชนต้นแบบแห่งความพอเพียง ๔ ภาค และ ชุมชนตัวอย่างทั่วโลก  |  หมู่บ้านชุมชนอีสาน และ ชุมชนต้นแบบภาคอีสาน  |  โรงพยาบาลอุบลรัตน์ อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น
0 Members and 1 Guest are viewing this topic. « previous next »
Pages: [1] Go Down Print
Author Topic: โรงพยาบาลอุบลรัตน์ อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น  (Read 1199 times)
Smile Siam
Administrator
สยามราษฎร์
*****
Offline Offline

Posts: 331


View Profile
« on: 30 December 2012, 10:29:52 »

โรงพยาบาลอุบลรัตน์  อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น


รายงานการประชุมเครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านและพหุภาคีภาคอีสาน ครั้งที่ ๑๒/๒๕๕๔
13/06/2012 View: 190
รายงานการประชุมเครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านและพหุภาคีภาคอีสาน ครั้งที่ ๑๒/๒๕๕๔ เรื่อง “ครอบครัวพึ่งตนเองได้”
วันเสาร์ที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๘.๓๐-๑๖.๐๐ น.
ณ ศูนย์เรียนรู้พ่อบุญเต็ม ชัยลา บ้านดงบัง ตำบลคอนฉิม อำเภอแวงใหญ่ จังหวัดขอนแก่น ณ เวลา ๐๘.๓๐ น. ของวันเสาร์ที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๕๔

เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านและพหุภาคีภาคอีสาน มีนัดหมายกันมาเยี่ยมเยียนศูนย์เรียนรู้พ่อบุญเต็ม ชัยลา ปราชญ์ชาวบ้านจังหวัดขอนแก่น
พร้อมทั้งนัดหมายกันมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องสำคัญของสังคมไทย คือเรื่อง “ครอบครัวพึ่งตนเองได้”
เพราะถ้าครอบครัวส่วนใหญ่หรือทุกครอบครัวของสังคมไทยสามารถพึ่งตนเองได้ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต และสุขภาพ
จนเกิดสุขภาวะดีทั้งทางกาย ทางใจ ทางสังคม และทางปัญญาแล้วไซร้ สังคมไทยก็จะเป็นสังคมที่เข้มแข็งและยิ่งใหญ่
เพราะหน่วยย่อยทุกหน่วยแข็งแรงและมั่นคง พ่อบุญเต็ม ชัยลา กล่าวเปิดความว่า “เรียนพ่อปราชญ์ คุณหมอและภาคีเครือข่ายที่เคารพ

วันนี้เรามาคุยกันว่าทำอย่างไร ครอบครัวจะพึ่งตนเองได้ เพราะถ้าครอบครัวซึ่งเป็นหน่วยที่เล็กที่สุดของสังคมไทยเข้มแข็ง พึ่งตนเองได้
จะสามารถแก้ปัญหาความยากจน ปัญหาหนี้สิน ปัญหาโสเภณี ปัญหาโรคเอดส์ ปัญหาลักเล็กขโมยน้อย
ซึ่งปัญหาที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ใครคนใดคนหนึ่งแก้ไม่ได้อย่างแน่นอน แต่ต้องรวมตัวกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ
พร้อมทั้งลงมือปฏิบัติจนสามารถพึ่งตนเองและร่วมมือกับครอบครัวอื่นๆ ให้พึ่งพากันได้ จนสามารถพึ่งตนเองได้ในทุกด้าน

ขอยินดีกับพ่อผาย สร้อยสระกลาง ที่ได้รับรางวัลพระราชทานรางวัล “พระธาตุพนมทองคำ” จากพระหัตถ์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี
เมื่อวันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๕๔ ขอให้พ่อผายมีความสุข และมีอายุยืนยาว อยู่เป็นร่มโพธิ์ ร่มไทร และเป็นหลักชัยของเครือข่ายปราชญ์ชาวบ้าน
และพหุภาคีภาคอีสานตลอดไป บัดนี้ได้เวลาอันเป็นมงคลฤกษ์แล้ว ขอเปิดการประชุม” จากนั้นที่ประชุมได้ร่วมกันเจริญสติหลับตาทำสมาธิเป็นเวลา ๑๐ นาที
เพื่อช่วยกันคิดทบทวนประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องรวม ๓ ประเด็น ได้แก่
๑. ครอบครัวพึ่งตนเองได้มีลักษณะอย่างไร
๒. ทำอย่างไรครอบครัวจึงจะพึ่งตนเองได้
๓. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะทำอย่างไรจึงจะทำให้ครอบครัวพึ่งตนเองได้เต็มพื้นที่

จากนั้นทุกคนช่วยกันเขียนลงในกระดาษทดความคิด ปราชญ์ชาวบ้านอ่านที่ตนเองคิด วิทยากรกระบวนการช่วยกันจดในกระดาษปรู๊ฟที่จัดเตรียมไว้
จากนั้นแบ่งผู้เข้าร่วมประชุมออกเป็น ๓ กลุ่ม เพื่อช่วยกันรวบรวมทุกความคิดมาร้อยเรียงให้ทุก ความคิดเชื่อมโยงกัน
จากนั้นตัวแทนกลุ่มนำความคิดของกลุ่มมานำเสนอดังนี้
๑. ครอบครัวพึ่งตนเองได้ กลุ่มที่ ๑ ได้รวบรวมทุกความคิดและเสนอว่าครอบครัวพึ่งตนเองได้ต้องมี ๕ ส ดังนี้
๑.๑) สัมมาอาชีพ โดยเป็นอาชีพสุจริต มีรายจ่ายน้อยกว่ารายรับ ไม่เบียดเบียนคนอื่น และไม่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อม
      มีตัวเชื่อมตัวช่วยมากมายที่ไปดึงของฟรีๆ ดีๆ ที่มีอยู่เต็มแผ่นดิน ทั้งดิน น้ำ ลม ไฟ ให้กลายเป็น
     ใบ ดอก ผล กิ่ง ก้าน สาขา ลำต้น ราก เห็ด และสมุนไพร จนครอบครัวมีอยู่มีกิน เหลือกินได้แจกทำให้มีญาติสนิทมิตรสหาย
     เหลือแจกได้ขายทำให้มีเงิน จนกลายเป็นครอบครัวที่มีอยู่มีกินมีเพื่อนมีเงิน มีผู้นำในครอบครัวที่เข้มแข็งที่คิดได้ทำเป็น แบ่งปันเอื้ออาทรต่อกัน
     และพึ่งพาอาศัยกันได้ มีคุณธรรม อยู่ในศีลธรรมห่างไกลอบายมุข ประหยัด อดออม รักเดียวใจเดียว ไม่เป็นครอบครัวหลายใจ
     ลูกหลานอยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตารักใคร่สามัคคีกัน
๑.๒) สังคมดีไม่ทอดทิ้งกัน ครอบครัวที่อบอุ่นพึ่งตนเองได้ต้องปลูกฝัง
     ความรักความเอื้ออาทรต่อกัน ยึดหลักธรรมะ คือหลักอปริหานิยธรรม คือ

     หมั่นประชุมกันเป็นนิจ เริ่มประชุมและเลิกประชุมพร้อมทำกิจที่พึงกระทำโดยพร้อมเพรียงกัน
     มีจิตสาธารณะที่จะช่วยเหลือผู้อื่น ช่วยเหลือส่วนรวม มีระเบียบวินัยในทุกด้าน พร้อมทั้งร่วมมือกับผู้อื่นอนุรักษ์วัฒนธรรมและประเพณีที่ดีงามสืบทอดต่อไปชั่วลูกชั่วหลาน
๑.๓) สิ่งแวดล้อมดี ครอบครัวที่พึ่งตนเองได้ จะมีการออมดิน ออมน้ำ ออมสัตว์ ออมต้นไม้ยืนต้นที่หลากหลาย ลด ละ เลิก การใช้สารเคมีฆ่าหญ้า ฆ่าแมลง และปุ๋ยเคมี
๑.๔) สมองดี คือ มีปัญญา รู้จักตนเอง ซื่อสัตย์ ขยันหมั่นเพียร สั่งสมกัลยาณมิตร สั่งสมภูมิปัญญาในการแก้ปัญหา และสั่งสมคุณงามความดี โดยคิดดี พูดดี ทำดี
      หมั่นเจริญสติทำ   สมาธิ จนสามารถลด ละ เลิก ความโลภ ความโกรธ ความหลงลงได้ หมั่นคิดวางแผน ฝึกบริหารจัดการใฝ่ความรู้ จนเป็นแบบอย่างแก่คนอื่นได้
๑.๕) สุขภาพดี โดยไม่ตายด้วยโรคที่ไม่สมควรตาย เจ็บป่วยมามีที่รักษา มีพยาบาลประจำครอบครัวและชุมชน
      คอยดูแลรักษาและให้คำปรึกษาและคนในครอบครัวลุกขึ้นมาสร้างสุขภาพ และพัฒนาทั้งเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม วิถีชีวิตและสุขภาพ
      จนมีสุขภาวะดีทั้งทางกาย ทางใจ ทางสังคม และทางปัญญา โดยสรุปอาจตั้งเป็นตัวชี้วัดด้วยบัญญัติ ๑๐ ประการ
      ฟันธงไปเลยก็ได้ว่า ถ้าครอบครัวพึ่งตนเองได้จริง จะสามารถวัดได้ดังนี้
      ๑) ครอบครัวลดหนี้ปลดสินลงได้
      ๒) ครอบครัวมีดินดีขึ้น มีความอุดมสมบูรณ์
      ๓) ครอบครัวมีความหลากหลายทางชีวภาพ
      ๔) ครอบครัวมีงานทำและงานที่ทำต้องเบาลงเรื่อยๆ
      ๕) ครอบครัวมีตัวช่วยทำงาน คือใช้ธรรมชาติทำงานแทน
      ๖) ครอบครัวมีความภาคภูมิใจ และมีความสำเร็จในการดำรงชีวิต
      ๗) หัวหน้าครอบครัวตายไปมีลูกหลานกราบไหว้ และมีลูกหลานสืบทอด
      ๘) ครอบครัวมีหลักประกันในชีวิต มีปัจจัยสี่ครบ
      ๙) ครอบครัวพึ่งตนเองได้ ทั้งด้านสุขภาพ ,อาหาร,พลังงาน เทคโนโลยีและภูมิปัญญา
      ๑๐) ครอบครัวมีหิ่งห้อยเต็มไร่ เต็มนา เพราะหิ่งห้อยคือตัววัดคุณภาพของมลภาวะและวัดคุณภาพชีวิต

๒. ทำอย่างไรครอบครัวจึงจะพึ่งตนเองได้
    กลุ่มที่ ๒ นำเสนอทุกความคิดเชื่อมโยงตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ๓ ห่วง ๒ เงื่อนไข
    ซึ่งเงื่อนไขที่หนึ่งคือ มีความรู้ และเงื่อนไขที่ ๒ คือ มีคุณธรรม รวมพลังเป็นความรู้คู่คุณธรรม
    จัดการให้เกิด ๓ ห่วง ดังนี้
    ๒.๑) พัฒนาให้เต็มศักยภาพไม่โลภมากจนเกินไป โดยศักยภาพที่แข็งแรงของคนไทยคือเป็นเกษตรกรเนื่องจากปลูกข้าวก็ได้ ปลูกกับข้าวก็ได้
           ปลูกสมุนไพรเป็นยาก็ได้ แถมยังปลูกไม้สร้างบ้าน ปลูกต้นหม่อนเลี้ยงไหมจนมีผ้าไหม ปลูกต้นฝ้ายมาทำผ้าฝ้าย ปลูกต้นไม้น้ำมันจนมีน้ำมันบนดิน
           จนกลายเป็นพ่อนา แม่นาผู้ยิ่งใหญ่พึ่งตนเองและให้คนอื่นพึ่งพาได้ ผู้ที่มาทำงานร่วมกับเกษตรกรผู้ยิ่งใหญ่ไม่ว่าจะเป็นครู หมอ นักพัฒนา
           นักวิชาการ สื่อมวลชน นักธุรกิจ จึงพลอยยิ่งใหญ่ตามไปด้วย ดังคำโบราณว่าไว้ว่า
       
          “ครั้นเฮ็ดเถิกสิบพ่อค้า ซาวพ่อค้าจะมาไหว้ หนึ่งพ่อนา แม่นา” ประเทศไทยเหมาะสมเป็นอย่างยิ่งที่จะเป็นประเทศเกษตรกรรมเพราะมีของฟรีๆ ดีๆ
         เยอะมาก ทั้งดิน น้ำ ลม (แรงลม ก๊าซออกซิเจน ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์) และไฟหรือแสงแดด เมื่อใส่ตัวช่วยลงไปคือรุกเทวดา
         หรือต้นไม้สร้างบ้านได้มาช่วยเชื่อมของฟรีเหล่านี้เข้าด้วยกันจนมีใบ ดอก ผลไม้ กิ่งก้านสาขา ลำต้น ราก สมุนไพร และเห็ด เป็นธรรมชาติดีๆ ฟรีๆ
         ที่เพิ่มขึ้นมากมายจนมีอยู่มีกิน เหลือกินได้แจก ทำให้มีเพื่อนมีญาติ เหลือแจกได้ขายทำให้มีเงิน มีสุขภาพดี เพราะเป็นอาหารปลอดสารเคมีที่สำคัญคือ
         เกษตรกรทุกคน ทำเอง ปฏิบัติเอง ทำให้เกิดรูปธรรมได้เลย ด้วยเกษตรประณีต ๑ ตารางเมตร ค่อยๆ ขยายผลจนมีสิบ มีร้อย มีพัน มีหมื่น มีแสน
         มีล้านตารางเมตร เชื่อมโยงกับผู้ที่มาทำงานร่วมกับเกษตรกรผู้ยิ่งใหญ่จะเกิดเครือข่ายผู้ผลิตและผู้บริโภคที่ยิ่งใหญ่ปลอดสารเคมี
         ช่วยให้พึ่งตนเองและพึ่งพากันเองได้ทุกครอบครัวทั้งเครือข่าย ๒.๒) ใช้เหตุและผลในการใช้จ่าย และในการใช้เวลา จะช่วยทำให้มีเงินเหลือและมีเวลาเหลือ
         ด้วยการปลูกทุกอย่างที่กินและใช้พร้อมทั้งใช้และกินทุกอย่างที่ปลูก ช่วยให้ไม่ต้องซื้ออยู่ซื้อกิน โดยสามารถทำจากเล็กไปหาใหญ่
         ด้วยเกษตรประณีต ๑ ตารางเมตร ๑๐๐ บาท ปลอดสารเคมีพร้อมกล้วย ๑ ต้น ยางนา ๑ ต้น และไม้สร้างบ้าน ๑ ต้น สู่เกษตรประณีต ๑ ไร่ ๑ แสน
         ปลอดสารเคมี พร้อมกล้วย ๑๐๐ ต้นยางนา ๑๐๐ ต้น และไม้สร้างบ้าน ๑๐๐-๓๐๐ ต้น หากทำไม่เป็นสามารถไปเรียนรู้ได้ที่ศูนย์เรียนรู้ปราชญ์ชาวบ้าน
         ในเครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านและพหุภาคีภาคอีสานทุกแห่ง คนในครอบครัว ควรพูดคุยกันและปรึกษาหารือกันอย่างต่อเนื่อง และสม่ำเสมอ
         อาศัยแรงงานในครัวเรือนเป็นหลักและใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมตามความจำเป็น ๒.๓) สร้างภูมิคุ้มกัน โดยการออม ทั้งการออมน้ำ ออมดิน ออมสัตว์
         ออมต้นไม้ ออมเงิน ด้วยการประหยัดไม่ก่อหนี้ สั่งสมกัลยาณมิตร ในครอบครัวโดยวางแผนร่วมกันแบ่งหน้าที่กันในการทำงานอย่างทั่วถึง
         สร้างกัลยาณมิตรในสังคมด้วยการให้เกียรติยอมรับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกัน สั่งสมภูมิปัญญาในการแก้ปัญหาโดยการพัฒนาต่อยอดจากภูมิปัญญาเดิม
         และเรียนรู้จากสิ่งใหม่ๆ ให้มีความรู้และปัญญารอบด้านและแก้ปัญหาต่างๆ ได้ โดยทำเป็นกิจวัตรอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้รู้เท่าทันสังคมและรู้เท่าทันโลก

๓. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะทำอย่างไรจึงจะทำให้ครอบครัวพึ่งตนเองได้ให้เต็มพื้นที่ กลุ่มที่ ๓ นำเสนอวิธีขยายครอบครัวพึ่งตนเองได้ให้เต็มพื้นที่ไว้ดังนี้
   ๓.๑) การสนับสนุนการสร้างความรู้ ทั้งความรู้ในตำรา และความรู้บนตัวคนจากชุดประสบการณ์ของภูมิปัญญาในการออมน้ำ ออมดิน ออมสัตว์ ออมต้นไม้
          ออมเงิน การขยายเครือข่าย จนสามารถพึ่งตนเองได้
   ๓.๒) การสนับสนุนการสร้างเครือข่าย ด้วยการสนับสนุนให้เกิดแหล่งเรียนรู้
          พาไปสู่ครอบครัวพึ่งตนเองได้อย่างกว้างขวาง จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง และสม่ำเสมอจนสามารถจัดหลักสูตรฝึกอบรมดูงานประชาสัมพันธ์
          และสื่อสารเพื่อปลูกจิตสำนึกแก่ผู้สนใจในการรักษ์สิ่งแวดล้อม รักครอบครัว รักถิ่นฐาน พร้อมทั้งขยายผลสู่ลูก หลาน เด็ก และเยาวชนรักถิ่น
   ๓.๓) การบริหารจัดการ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สนับสนุนวิทยากรกระบวนการไปทำงานกับชาวบ้านโดยอาศัยกำลังคนที่มีอยู่ในหน่วยงาน
          หรือสนับสนุนนักพัฒนาของศูนย์เรียนรู้ เพื่อพาครอบครัวที่สนใจพึ่งตนเองได้ ชวนจัดทำแผนสร้างแกนนำ สานเครือข่ายพัฒนาและวิจัยประเมินผลต่อเนื่อง
          และสนับสนุนงบประมาณในการทำเกษตรประณีต สนับสนุนปัจจัยในการผลิต เช่น แหล่งน้ำ ทั้งสระน้ำ บ่อบาดาล อุปกรณ์ในการจัดการน้ำ
          สนับสนุนไฟฟ้าเพื่อการเกษตร สนับสนุนพันธุ์ไม้ พันธุ์สัตว์ เพื่อช่วยให้เกษตรกรสามารถออมสัตว์ ออมต้นไม้ จนครอบครัวพึ่งตนเองได้
          และมาร่วมไม้ร่วมมืออนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามได้ตลอดไป พ่อสายทอง เกสกุล “มาบ้านพ่อบุญเต็มหลายครั้ง แต่ไม่เคยไปดูของคุณสุวสันต์
          วันนี้ได้มาเห็นด้วยตาแปลง ๑ โพน ๑ แสน มีคะน้าพันธุ์ยักษ์ กบยักษ์ ใช้น้ำหมักชีวภาพแสดงถึงความขยันและความเอาใจใส่
          ” พ่อเจริญ “๑ ตารางเมตร ๑๐๐ บาท ปลอดสารเคมีพร้อมยางนา ๑ ต้น เห็นแล้วออนซอน น่าไปทำตามเพราะไม่อดไม่อยาก
          ” พ่อเพิ่ม “มาทุกครั้งเห็นผลงานเพิ่มและเปลี่ยนตลอดเวลามีกล้ายางนามากมายมหาศาลและปลูกเพิ่มทุกวัน แปลงใหม่เนื้อที่กว้างขวาง
            มีการสานต่อของลูกๆ หลานๆ ต่อจากพ่อบุญเต็มอย่างชัดเจน เพราะเอา “ใจ”ใส่ นอกจากนั้นได้มีการพลิกแพลง
            ทำทั้งที่สูงที่ต่ำเกิดความเพลิดเพลินในการดูงานยิ่งใหญ่สมกับเป็นปราชญ์ชาวบ้าน
          ” พ่อสนั่น “พ่อบุญเต็มเป็นมหาเศรษฐี มีหัวล้านเหมือนผมแต่ผมสู้ท่านไม่ได้ จะขอเรียนรู้จากท่านและนำไปทำตาม
          ” อ.ไพรัตน์ “วันนี้ได้มาเรียนรู้จากพ่อบุญเต็ม ซึ่งทำจริง พูดฟังแล้วเพลิน นำไปประยุกต์ใช้ได้ แม่บ้านขยัน แม่ครัวทำอาหารอร่อยหากินได้ยาก
            การบริหารจัดการยอดเยี่ยม ส่วนราชการต่างๆ ขาดงบประมาณต้องหยุดกิจกรรมแต่ศูนย์ปราชญ์อยู่ได้ แม้ไม่มีเงินสักบาทเดียวก็อยู่ได้อย่างยั่งยืน
            ทำให้ทุกครั้งที่มาประชุมปราชญ์ชาวบ้านสัญจรแล้วอยากมา มาแล้วได้อะไรไปมากมายกลับไปรอบนี้มีเรื่องจะกลับไปทำอีกเยอะ
           ” พ่อชาลี “หนังสือเล่มนี้หน้า ๑๖ ของ อ.เสน่ห์ จามริก บอกว่าปัญหาเศรษฐกิจอยู่ที่การให้คุณค่าของคนและธรรมชาติแวดล้อม
             ซึ่งสอดคล้องกับงานที่พวกเราทำ และจุดเปลี่ยนของพวกเราคือการอบรม วปอ.ภาคประชาชน แล้วหลังอบรมพากันไปปลูกไม้จริงจนมีต้นไม้นับร้อยนับพันต้น
           ” พ่อทัศน์ “พ่อบุญเต็มเป็นบุคคลตัวอย่างที่ทำจริงจังแล้วแก้ปัญหาของตนได้ และพยายามรวมตัวแก้ปัญหาของชุมชนของเครือข่าย และของประเทศ
             หาได้ยาก สมควรยกย่อง
           ” พ่อจันทร์ที “รอบนี้ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงมากมาย พ่อบุญเต็มพยายามทุกอย่างปลูกไม้ยางนาเต็มพื้นที่ น่าเสียดายขาดน้ำ ทำให้ตายไปเยอะ
             ควรลงทุนเรื่องน้ำเพิ่มเติม ของคุณสุวสันต์ ๑ ตารางเมตร ๑๐๐ บาท สวยงามมาก เป็นตัวอย่างที่ดี อนาคตน่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างกว้างขวาง
           ” พ่อผาย “พ่อบุญเต็มและแม่เรียนสร้างลูกได้ดีมากจนมีความเพียรจนลูกออกมามีสติปัญญา ตั้งแต่อยู่ในท้องจนเติบใหญ่ กล่อมลูกกล่อมเต้าให้ทำอยู่ทำกิน
             ทำให้เขาเข้าใจจนจดจำได้ ปัญหาต่างๆ มีไว้แก้ไม่ได้มีไว้กลุ้ม ปัญหาเกิดขึ้นเสมอ ตอนพ่อบุญเต็มเริ่มทำใหม่ๆ ขี่มอเตอร์ไซด์ไปบ้านผมตอน ๕ ทุ่ม
             ๔ -๕ ครั้ง แสดงถึงความอดทน ขยัน จริงใจ และจริงจัง ขอขอบคุณที่ร่วมแสดงความยินดีกับผมที่ได้รับรางวัลพระธาตุพนมทองคำ
             จากพระหัตถ์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี วันรับรางวัลพระองค์ท่านรับสั่งกับข้าพเจ้าว่า “ยินดีด้วยดีใจไหม”
             ซึ่งท่านอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่นมาบอกภายหลังว่าดีใจกับพ่อผาย เพราะคนมาร่วมรับเสด็จ และรับปริญญา ๗,๐๐๐ กว่าคน
             พระองค์ท่านรับสั่งกับพ่อผายเพียงคนเดียว ทำให้รู้สึกภูมิใจมาก และรู้สึกว่ารางวัลนี้ คือ รางวัลของพวกเราทุกคน ที่เกิดจากผลงานที่เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้าน
             ร่วมไม้ร่วมมือสร้างไว้
           ” นพ.อภิสิทธิ์ กล่าวว่า “การประชุมในวันนี้มีความสำคัญเพราะหัวข้อการระดมสมองและเนื้อหาที่ช่วยกันถอดบทเรียนจะช่วยทำให้ผู้เกี่ยวข้อง
             ได้ช่วยกันนำไปขยายผล และนำไปจัดทำเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบ นอกจากนั้นวันนี้เครือข่ายต่างๆ
             ได้ช่วยกันระดมทุนทรัพย์จากผู้มีจิตศรัทธาที่จะมาร่วมด้วยช่วยกันสร้างคน สร้างชุมชน สร้างป่า สร้างชาติ และกู้โลกออกจากวิกฤต
             โดยบริจาคผ่านศูนย์เรียนรู้ต่างๆ ในเดือนนี้ดังนี้ ๑. ศูนย์ค้ำคูณ ๗,๔๑๙.๗๕ บาท โดย ๗๐% หรือ ๕,๑๙๓.๗๕ บาท
             มอบให้ศูนย์เรียนรู้นำไปขยายเครือข่ายปลูกต้นไม้ยืนต้นสร้างบ้านได้มากกว่า ๙๙ ชนิด มากกว่า ๙๙๙,๙๙๙ ต้นเต็มพื้นที่ของแต่ละศูนย์เรียนรู้
             และให้ชุมชนในเครือข่ายของศูนย์เรียนรู้อยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันและพัฒนาต่อยอดให้เป็นเครือข่ายศูนย์เรียนรู้ที่น่าอยู่ที่สุดในโลก
             และอีก ๓๐% หรือ ๒,๒๒๖.- บาท มอบให้กองทุนภูมิปัญญาชาวบ้านภาคอีสาน นำไปจัดกระบวนการเรียนรู้
             ให้รางวัลนักปลูกต้นไม้ยอดเยี่ยมระดับศูนย์เรียนรู้ เพื่อเป็นกำลังใจแก่ผู้ที่สร้างความดีให้ครอบครัว ชุมชน ประเทศชาติ
             และช่วยลดภาวะโลกร้อนให้กับโลกของเรา ผู้ใดสนใจต้องการมีส่วนร่วมสามารถร่วมบริจาคผ่านศูนย์เรียนรู้เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านภาคอีสาน
             หรือบริจาคเงินเข้าบัญชีกองทุนภูมิปัญญาภาคอีสาน หมายเลขบัญชี ๔๓๔-๑-๒๐๔๘๗-๔ ธนาคารกรุงไทย สาขาอุบลรัตน์

             ขอแสดงความยินดีกับคุณสุวสันต์ ชัยลา ที่ได้รับการคัดเลือกเป็นนายพันดีเด่นของเครือข่ายศูนย์เรียนรู้พ่อบุญเต็ม ชัยลา
             ยินดีกับพ่อบุญมา มูลมณี และแม่มะลิวัลย์ วันสีดา ที่ได้รับการคัดเลือกเป็นนายพัน นางพันยอดเยี่ยมประจำศูนย์เรียนรู้พ่อบุญเต็ม ชัยลา
          ” พ่อคำเดื่อง กล่าวปิด “การเดินหน้าของเครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านและพหุถภาคีภาคอีสานไม่มีหยุดนิ่ง เติบโตไปเรื่อยๆ ปลูกเพิ่มไปเรื่อยๆ
            ทั้งปริมาณและคุณภาพพ่อบุญเต็มเต็มจนล้น ขยันไปหาทั้งพ่อผาย และผมหลายรอบทั้งเช้า บ่าย ดึก บอกให้ทำอะไรก็ทำตาม
            ให้ปลูกอะไรก็ปลูกตาม ให้ปลูกข้าวธรรมชาติก็ปลูก ให้แบ่งนาให้ลูกก็แบ่ง จนลูกไปปฏิบัติจริงพูดได้เป็นฉากๆ เครือข่ายของเรามีภาคี
            เครือข่ายมาร่วมต่อเนื่อง เติมเต็มตลอดทั้งมหาวิทยาลัยราชภัฎบุรีรัมย์ ทั้งมหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยขอนแก่น โรงพยาบาลกระสัง
            แต่อยากให้พวกเราจงอยู่ในความไม่ประมาท เพราะสถานการณ์ประเทศไทย และสถานการณ์โลกไม่ปกติ ทั้งเศรษฐกิจ มีทั้ง G๗,G๒๐
            แต่พอประเทศชิลีล้อมปุ๊บเกือบเจ๊งกันหมด มหาอุทกภัยแรงขึ้นเรื่อยๆ จึงต้องไม่ประมาทที่จะเร่งเพิ่ม ทั้งปริมาณต้นไม้และปริมาณภาคีเครือข่าย
            ในขณะที่ปราชญ์ชาวบ้านอายุเพิ่มขึ้นทุกวัน แต่วิกฤตชาติ และวิกฤตโลกกลับเพิ่มขึ้นไม่แพ้กัน จึงขอส่งต่อการบ้านให้ไปช่วยกันขบคิด
            ถือเป็นหน้าที่ของทุกๆ คน ที่ต้องเร่งเรียนรู้และเร่งสานต่อภารกิจให้รับมือกับวิกฤตเหล่านี้ให้ได้ และขอให้ทุกคนมีแต่ความสุข ความเจริญ
            มีพละกำลังในการสร้างความสุขความเจริญให้ผืนแผ่นดินไทย และผืนโลกของเราตลอดไป

          ” เพลงคนสู้งาน โดย....คุณสกุล แก้วเลื่อน

          * เกิดมาเป็นคนต้องดิ้นรนสู้ทนสร้างงาน ไม่เป็นคนที่เกียจคร้านสู้กับงานด้วยแรงของเรา
             คนมีศักดิ์ศรีจะไม่มีงอมืองอเท้า หากมัวไปพึ่งใครเขาสักวันเราต้องกินน้ำตา
          * หยาดเหงื่อแรงกายบวกแรงใจคนในครอบครัว ช่วยกันตั้งเนื้อตั้งตัวสร้างครอบครัวด้วยภูมิปัญญา ทำอยู่ทำกินบนผืนดินท้องไร่ปลายนา
             ถึงจะไม่รวยล้นฟ้าปรารถนาแค่เพียงหายจน
          * ทำเล็กไปหาใหญ่ก้าวไปเพียงวันละน้อย จะไม่ท้อถอยปล่อยใจให้มีกังวน งานหนักก็เอางานเบาเราก็ต้องทน ตนแลที่พึ่งแห่งตนย่อมเป็นคนที่มีราคา
          * เกิดมาเป็นคนคงไม่จนถ้าทนสู้งาน เอาผืนนาเป็นแหล่งอาหารอยู่รอบบ้านมีข้าวมีปลา อุดมสมบูรณ์เพิ่มพูนพืชผลออกมา
             ความเพียรบวกด้วยปัญญาเป็นสิ่งนำพาชาวนาหายจน

             http://www.ubrh.org/articles/41991521/รายงานการประชุมเครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านและพหุภาคีภาคอีสาน-ครั้งที่-๑๒/๒๕๕๔.html

Logged
Pages: [1] Go Up Print 
« previous next »
 

SMF 2.0.4 | SMF © 2013, Simple Machines | Theme by nesianstyles | Buttons by Andrea
Page created in 0.049 seconds with 18 queries.