Smile Siam มาร่วมกันคืน "สยามเมืองยิ้ม" กลับสู่บ้านเรากันนะครับ ...
User Info
Welcome, Guest. Please login or register.
28 April 2024, 22:41:03

Login with username, password and session length
Search:     Advanced search
News
ท่านสมาชิกสามารถเปลี่ยนรูปแบบ (Theme) ได้อีกหลายแบบ
เชิญทดลองโดยคลิกที่ลิงค์ข้างล่าง ได้เลยครับ

http://www.smilesiam.net/index.php/topic,3170.msg4713.html
Forum Stats
25,611 Posts in 12,442 Topics by 70 Members
Latest Member: KAN
Home Help Search Calendar Login Register
Smile Siam มาร่วมกันคืน "สยามเมืองยิ้ม" กลับสู่บ้านเรากันนะครับ ...  |  บุคคลต้นแบบ  |  ปราชญ์ชาวบ้าน  |  ผู้ใหญ่ วิบูลย์ เข็มเฉลิม  |  ผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม
0 Members and 1 Guest are viewing this topic. « previous next »
Pages: [1] Go Down Print
Author Topic: ผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม  (Read 1325 times)
Smile Siam
Administrator
สยามราษฎร์
*****
Offline Offline

Posts: 331


View Profile
« on: 30 December 2012, 02:59:54 »

ผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม


เมื่อประมาณยี่สิบกว่าปีก่อน ที่อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา เขาเป็นนายทุนน้อย ทำการเกษตรสมัยใหม่ ปลูกพืชเชิงเดี่ยวกว่าสองร้อยไร่ ทำตัวเป็นพ่อค้าคนกลางอีกต่างหาก แล้ววันหนึ่งเขาก็ล้มลง ต้องขายที่สองร้อยไร่ใช้หนี้ธนาคาร เหลือเพียง 9 ไร่เศษให้เขาได้อาศัยอยู่กับลูกเมีย

แปลกแต่จริง ที่สองร้อยไร่ช่วยไม่ได้ แต่ 9 ไร่กลับทำให้เขา "ร่ำรวย"  รวยของเขาหมายถึงไม่มีหนี้สิน รู้จักพอ อยู่อย่างพอเพียง

ผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม เป็นตำนานของคนยุคใหม่ที่ไหลไปตามกระแสทุนนิยม ล้มลุกคลุกคลาน แล้ววันหนึ่งก็ลุกขึ้นมา "สู้" ไม่ใช่ด้วยเงิน ด้วยทรัพยากร แต่ด้วยปัญญา เขาคิดได้ว่า ถ้าเดินต่อไปไม่ได้เพราะทางตันก็ "กลับทางเก่า" ซึ่งสำหรับเขาไม่ได้หมายถึงการคืนสู่อดีต แต่เป็นการ "ถอยหลังเข้าคลอง" มองไปข้างหน้า ตั้งหลัก แล้วกลับออกมาสู้ "อย่างมียุทธศาสตร์"

นี่ก็เกือบ 25 ปีแล้วที่ชีวิตได้เปลี่ยนไป ไร่มันสำปะหลังไม่มีให้เห็นอีก มีแต่ป่าไม้ในที่ 9 ไร่ แต่มีพันธุ์ไม้มากกว่า 600 ชนิดที่องค์การอาหารและเกษตร (FAO) เข้าไปสำรวจเมื่อสิบกว่าปีก่อน วันนี้อาจจะมีนับพัน อุดมสมบูรณ์ด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ นก หนู งู สัตว์ แมลง จุลินทรีย์ และสรรพสิ่งอยู่ร่วมกันในธรรมชาติที่ผู้ใหญ่วิบูลย์ปล่อยให้เกิดและร่วมสร้างเพื่อ "เลียนแบบ" ธรรมชาติ ด้วยความเชื่อมั่นว่า คนอยู่ได้อย่างมั่นคงปลอดภัยและพอเพียงกับธรรมชาติ

นี่คือวนเกษตร สำนักวนเกษตรที่ผู้คนใกล้ไกลอยากไปสัมผัสและเรียนรู้ โดยเฉพาะอยากพบเห็นและได้ยินปัญญาญาณของบุคคลที่ผ่านชีวิตที่ไหลล่องไปตามกระแสเหมือนปลาตาย กลับว่ายทวนกระแสที่รุนแรงเชี่ยวกรากว่าเขาทำได้อย่างไร

เขาตั้งชื่อปาฐกถาโกมล คีมทองของเขาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อปี 2528 ว่า "สายพานชีวิต" อธิบายว่า ชีวิตคนเราเหมือนสิ่งของบนสายพานโรงงานอุตสาหกรรม มันไหลไปตกที่ต่างๆ ตามที่โรงงานกำหนด คิดเองไม่ได้ ตัดสินใจเองไม่ได้ เลือกไม่ได้ ไม่มีอิสระภาพ พึ่งตนเองไม่ได้

คนที่ผ่านชีวิตอย่างนี้อธิบายคำว่า "พึ่งตนเอง" ได้อย่างชัดเจนและลึกซึ้งยิ่งนัก

"การพึ่งตนเองเป็นสภาวะอิสระ หมายถึงความสามารถของคนที่จะช่วยเหลือตนเองให้ได้มากที่สุด โดยไม่เป็นภาระคนอื่นมากเกินไป มีความสมดุล ความพอดีในชีวิต เป็นสภาวะทางกายที่สอดคล้องกับสภาวะทางจิตที่เป็นอิสระ มีความพอใจในชีวิตที่เป็นอยู่ มีสิ่งจำเป็นปัจจัยสี่พอเพียง เป็นความพร้อมของชีวิตทั้งทางร่างกายและจิตใจ"

"การพึ่งตนเองหมายถึงการจัดชีวิตให้สัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ อย่างเหมาะสม กับคน กับสังคม กับธรรมชาติรอบๆ ตัวเรา"

"การพึ่งตนเองหมายถึงการมีสวัสดิการและความมั่นคงในชีวิตในปัจจุบันจนถึงอนาคต สวัสดิการที่พร้อมตอบสนองเราทันที โดยที่เราไม่ต้องไปเรียกให้ใครมาจัดสวัสดิการให้ หรือให้ใครมาช่วยเหลือ"

มีคนเข้าใจผิดคิดว่าพึ่งตนเองหมายถึงการกลับไปมีชีวิตอยู่เหมือนมนุษย์ยุคหิน กลับไปอยู่ในถ้ำนุ่งใบไม้อะไรทำนองนั้น ผู้ใหญ่วิบูลย์ไม่ได้ปฏิเสธการผลิตเพื่อขาย ไม่ได้ปฏิเสธตลาดหรือธุรกิจ เขาอธิบายไว้ในการไปแสดงปาฐกถาป๋วย อึ้งภากรณ์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อสิบปีที่แล้วว่า

"วนเกษตรต้องเริ่มต้นที่การทำใจให้ได้ว่า จะต้องไม่ไปผูกพันกับระบบตลาด เอาระบบตลาดมาเป็นตัวกำหนดให้เราทำ เพราะวนเกษตรไปอยู่กับระบบตลาดไม่ได้ มันอยู่กับการกำหนดความต้องการของชีวิต ในขณะเดียวกัน วนเกษตรเป็นระบบเกษตรกรรมขั้นพื้นฐานที่จะทำธุรกิจที่จะเกิดขึ้นในอนาคต คือการเตรียมปัจจัยสี่ คือสร้างฐานตั้งรับก่อนจะทำธุรกิจนั่นเอง"

"วนเกษตรเป็นกิจกรรมขั้นพื้นฐานที่สำคัญมากในการปูพื้นฐานทางจิตใจ ทางด้านคุณธรรมที่จะไปสู่ระบบธุรกิจ"

คนที่ตกผลึกทางความคิดเช่นนี้มีภูมิปัญญาที่สรุปให้คนเข้าใจได้ว่า วนเกษตรไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นเรื่องเก่าแต่เอามาทำใหม่ด้วยวิธีคิดใหม่ เป็นเรื่องง่ายแต่ยากในเวลาเดียวกัน

"วนเกษตรเป็นเรื่องง่ายเพราะแทบไม่ต้องใช้ความรู้อะไรเลย เป็นเกษตรที่ทำเล่นๆ แต่เอาจริงๆ คือ ได้ผล อาจจะลำบากในปีแรกๆ เพราะต้องลงแรงและดูแลเอาใจใส่ แต่ยิ่งนานเข้าเท่าใดก็ยิ่งสบายขึ้นเท่านั้น จนอยากจะเรียกว่า เกษตรนั่งกินนอนกิน ขณะที่เกษตรสมัยใหม่ยิ่งทำยิ่งจน ยิ่งต้องลงทุนสูงขึ้น ยิ่งต้องออกแรงมากขึ้น วนเกษตรตรงกันข้ามยิ่งทำผืนดินและสวนป่าก็ยิ่งจะอุดมสมบูรณ์"

"วนเกษตรเป็นเรื่องยาก เพราะเป็นวิธีคิดใหม่ เป็นวิถีชีวิตใหม่ ยากที่จะตัดสินใจเลือกทางใหม่นี้อย่างจริงจัง เพราะคนเราถูกกระตุ้นถูกสั่งสอนจากสังคมให้อยากรวย อยากมี อยากสำคัญ อยากมีฐานให้คนยอมรับ การตัดสินใจทำวนเกษตรจึงเหมือนกับการสูญเสีย"

ผู้ใหญ่วิบูลย์ไม่ได้ผ่านวิกฤติชีวิตมาอย่างง่ายดายดังที่หลายคนคิด คนที่เคยขับรถไปกินข้าวฟังเพลง วันหนึ่งต้องถีบจักรยานเอาผักบุ้งที่ปลูกไว้เหลือกินไปขายในหมู่บ้านเล่าว่า ถ้าจิตใจไม่แข็งพอเขาน่าจะฆ่าตัวตายตั้งแต่ตอนนั้น เพราะชีวิตดูเหมือนจะ "บัดซบ" แบบหาคำอธิบายไม่ได้ว่า จะอยู่ต่อไปแบบคนไร้ศักดิ์ศรีแบบนี้ได้อย่างไร

แต่นั่นคือบทเรียนที่ทำให้เขาแข็งแกร่ง วนเกษตรทำให้เขากลับเป็นตัวของตัวเองอีกครั้ง

"วนเกษตรทำให้คนมีความเชื่อมั่นในตัวเอง อันดับแรกเชื่อว่าเราจะพึ่งตัวเองได้ พอมีความเชื่อตรงนี้เราก็มีเสรีภาพทางความคิด เสรีภาพทางความคิดทำให้เราไม่กลัวจะถูกใครปฏิเสธ กล้าคิด กล้าตัดสินใจเรื่องต่างๆ ด้วยตัวเองมากยิ่งขึ้น กล้าเลือกว่าชีวิตของตัวเองควรเป็นอย่างไร รู้ว่าอะไรผิดอะไรถูกมากขึ้น"

ผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม เตือนคนที่สนใจวนเกษตรว่า วนเกษตรไม่ใช่สูตรสำเร็จ แต่เป็นหลักการและแนวทางที่เกิดจากการเรียนรู้ จากการปฏิบัติ การสะสมทางความคิด สะสมปัจจัยสี่ ถ้าไม่ถึงจุดลงตัวจุดหนึ่งก็ทำไม่ได้

และเขายืนยันว่า "วนเกษตรเป็นแนวทางการพึ่งตนเอง เป็นเกษตรขั้นพื้นฐาน เพื่อสร้างรากฐานให้กับชีวิต"

นอกจากหลักคิดอันเป็นปรัชญาชีวิตของคนยุคใหม่ที่ใฝ่หาความสุขที่แท้จริงในความพอเพียง ผู้ใหญ่วิบูลย์ได้ค่อยๆ พัฒนาแผนการเรียนรู้และการจัดการขึ้นมาเป็น "สูตร 353"


3 รู้  คือ รู้ตัวเอง รู้ปัญหา รู้ทรัพยากร

5 จัดการ คือ ข้าว อาหาร สมุนไพร ของใช้ ปุ๋ย

3 แผน คือ แผนชีวิต แผนชุมชน แผนทรัพยากร

ผู้ใหญ่วิบูลย์ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้มากที่สุด และการเรียนรู้ดีที่สุดมาจากประสบการณ์ชีวิต จากการปฏิบัติด้วยตนเอง

เขาเรียนจบชั้น ป.4 บวชเรียนครึ่งปีสอบได้นักธรรมตรี ซึ่งก็เป็นฐานสำคัญในการดำเนินชีวิตจนถึงทุกวันนี้ โดยเฉพาะในช่วงวิกฤติเขาบอกว่า ถ้าไม่มีฐานดังกล่าว เขาคงฆ่าตัวตายไปแล้ว

ด้วยเหตุนี้ "สูตร" ของเขาจึงเริ่มด้วยการเรียนรู้ตัวเอง รู้ปัญหา รู้ทรัพยากร  เขาบอกว่ารู้ข้อแรกยากที่สุด เพราะคนเรามักหลงไหลไปกับสิ่งที่สังคมบอกและสอนในรูปแบบต่างๆ คนเราแยกไม่ค่อยออกระหว่างความต้องการกับความจำเป็น  เห็นอะไรเป็นความจำเป็นไปหมด ต้องเอาให้ได้ มีให้ได้

คนทั่วไปคิดว่ารู้ปัญหาของตนเอง แต่ที่จริงมักรู้อย่างผิวเผิน ชาวบ้านไม่รู้ว่าตนเองมีรายจ่ายเท่าไรต่อเดือนต่อปี ไม่รู้ว่ารายรับเท่าไร รายจ่ายเท่าไร ทำไมจึงเป็นหนี้เป็นสินมากมาย คิดแต่จะเพิ่มรายได้แต่ไม่สนใจลดรายจ่าย ไม่สนใจทำกินเองใช้เอง มีแต่หาเงินมาซื้อทุกอย่าง ซึ่งไม่เคยพอ

ความรู้เรื่องทรัพยากรยิ่งไม่รู้ มองข้ามความสำคัญของสิ่งที่อยู่ใกล้ตัว พืช ผัก สมุนไพร ไม่สนใจและไม่ต้องการขวนขวายเรียนรู้ให้เข้าถึงคุณค่าของสิ่งเหล่านี้ สนใจแต่มูลค่า

ผู้ใหญ่วิบูลย์เองเรียนรู้เรื่องสมุนไพรจากพ่อตอนยังเด็ก แต่มาสนใจและเรียนรู้จริงจังตอนที่ทำวนเกษตรนี่เอง  และสมุนไพรที่นำมาแปรรูปเหล่านี้มีส่วนสำคัญที่ทำให้เขาและครอบครัวอยู่ได้อย่างพอเพียง แทบไม่ขาดอะไรเลยก็ว่าได้

เรียนรู้แล้วต้องมีการจัดการอย่างน้อย 5 อย่าง ซึ่งผู้ใหญ่วิบูลย์ถือว่าเป็นพื้นฐานชีวิตชาวบ้านในชนบทในปัจจุบัน คือ ข้าว อาหาร สมุนไพร ของใช้ ปุ๋ย

ทำอย่างไรจึงจะจัดการข้าวให้ดีกว่านี้ ไม่ใช่ปลูกข้าวขายแล้วไปซื้อข้าวถุงจากตลาดมากิน ทำอย่างไรจะแปรรูปข้าวให้ได้มากกว่าแค่หุงกิน ข้าวในประเพณีไทยทำได้กว่า 100 อย่าง  ทำอย่างไรจะผลิตอาหารบางส่วน ปลูกสมุนไพรที่ง่ายๆ ทำของใช้อย่างแชมพู สบู่ น้ำยาล้างจาน ที่ง่ายด้วยสมุนไพรและวัสดุในท้องถิ่น รวมทั้งปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพที่ทำได้ไม่ยาก สามารถลดรายจ่ายได้หลายเท่า

เหล่านี้เป็นการจัดการชีวิตของตนเองใหม่ ไม่ใช่ฝากชีวิตไว้กับคนอื่นหมด ฝากท้องกับรถเข็นตลาดเคลื่อนที่ที่เรียกกันว่ารถพุ่มพวง ฝากการศึกษาไว้กับโรงเรียน ฝากผลผลิตไว้กับพ่อค้า ฝากป่าไว้กับข้าราชการ ตัวเองหาเงินเพื่อซื้ออย่างเดียว

ชีวิตต้องมีแบบแผน ปล่อยไปตามบุญตามกรรมอย่างนี้ไม่ได้ สังคมวันนี้ไม่ปรานีคนไม่มีแบบมีแผน  ด้วยเหตุนี้ผู้ใหญ่วิบูลย์จึงเน้นแผนชีวิต (ครอบครัว) แผนชุมชน และแผนทรัพยากร แผนนี้ที่จริงคือ "ยุทธศาสตร์" นั่นเอง ซึ่งเป็นแผนที่มีภาพฝัน ฝันที่เป็นจริงได้ด้วยแนวทางที่ผู้คนกำหนดขึ้นเอง บนฐานข้อมูลและความรู้ที่ตนเองได้เรียนรู้และวิจัยด้วยตนเอง

อยากรู้ว่าสูตรนี้ได้ผลหรือไม่อย่างไร ไปเยี่ยมบ้านนาอีสาน ตำบลท่ากระดาน สนามชัยเขตก็น่าจะพอเข้าใจ ไปหานายเลี่ยม บุตรจันทา ไปดูว่าเขาและครอบครัวได้เปลี่ยนจากการเป็นหนี้สินนับแสนมาสู่ชีวิตที่พอเพียงและมีความสุขได้อย่างไร หันมา "ปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก" ทำบัญชีรายรับรายจ่ายจน "รู้เท่าทันตัวเอง" และสังคมที่เปลี่ยนไป จนแก้ไขปัญหาได้

ไปดูว่า บ้านนาอีสานวันนี้เปลี่ยนไปอย่างไร หมู่บ้านที่เมื่อปี 2538 ยังเมากันทั้งบ้าน เมาเพราะผิดหวังที่อุตส่าห์หนีทุกข์จากอีสานมาอยู่สนามชัยเขต หวังจะได้โชคได้ลาภแต่กลับเป็นหนี้สินมากกว่าเดิม พวกเขาเมาเพื่อจะได้ลืมความทุกข์และความสิ้นหวังที่หาทางออกจากวงจรอุบาทว์ไม่เจอ

นายเลี่ยมจึงเรียกผู้ใหญ่วิบูลย์ว่า "พระฤษี" เพราะวิถีของท่านประการหนึ่ง และ "ฤทธิ์" ของท่านอีกประการหนึ่งที่เสกเป่าให้คนเปลี่ยน ชุมชนเปลี่ยน ชีวิตเปลี่ยนได้

คาถาของผู้ใหญ่วิบูลย์ไม่มีอะไรซับซ้อน คาถาคือวิสัยทัศน์วนเกษตร ซึ่งติดอยู่ท้ายรถปิ๊กอัพสีแดงเก่าๆ คันนั้น ที่คุณชูเกียรติ อุทกพันธ์ ได้ซื้อให้หลายปีมาแล้ว ข้อความมีว่า

"มีกินเป็นพื้นฐาน  มีสวัสดิการยามแก่ชรา  มีความหลากหลายคล้ายป่าธรรมชาติ  สามารถก่อเกิดวิสาหกิจชุมชน"

วนเกษตรที่ว่านี้จึงไม่ใช่แค่การปลูกต้นไม้ แต่เป็นกระบวนการฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรมชาติ ให้พึ่งพาอาศัยกันและมีชีวิตอยู่อย่างพอเพียง

วนเกษตรปลูกไว้ในจิตสำนึกก่อนปลูกลงดิน จึงจะมั่นคงและยั่งยืน



Logged
Pages: [1] Go Up Print 
« previous next »
 

SMF 2.0.4 | SMF © 2013, Simple Machines | Theme by nesianstyles | Buttons by Andrea
Page created in 0.076 seconds with 18 queries.