Smile Siam มาร่วมกันคืน "สยามเมืองยิ้ม" กลับสู่บ้านเรากันนะครับ ...
User Info
Welcome, Guest. Please login or register.
28 April 2024, 15:14:12

Login with username, password and session length
Search:     Advanced search
News
ท่านสมาชิกสามารถเปลี่ยนรูปแบบ (Theme) ได้อีกหลายแบบ
เชิญทดลองโดยคลิกที่ลิงค์ข้างล่าง ได้เลยครับ

http://www.smilesiam.net/index.php/topic,3170.msg4713.html
Forum Stats
25,608 Posts in 12,441 Topics by 70 Members
Latest Member: KAN
Home Help Search Calendar Login Register
Smile Siam มาร่วมกันคืน "สยามเมืองยิ้ม" กลับสู่บ้านเรากันนะครับ ...  |  ข้อควรปฎิบัติ  |  ข้อเสนอแนะ หรือ ร้องเรียนต่างๆ (Moderator: Smile Siam)  |  กว่าจะมาเป็นไทย
0 Members and 1 Guest are viewing this topic. « previous next »
Pages: [1] Go Down Print
Author Topic: กว่าจะมาเป็นไทย  (Read 1033 times)
Smile Siam
Administrator
สยามราษฎร์
*****
Offline Offline

Posts: 331


View Profile
« on: 29 December 2012, 09:09:57 »

กว่าจะมาเป็นไทย
สมัยก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย

ดินแดนประเทศไทยก่อนที่จะมีการตั้งอาณาจักรไทยในสมัยพุทธศตวรรษที่ 18 หรือดินแดนประเทศไทยก่อนสมัยประวัติศาสตร์นั้น นักโบราณคดีชาวตะวันตกและชาวไทย (ดอกเตอร์แวนฮิกเกอเรน นายแพทย์สุด แสงวิเชียร และศาสตราจารย์ชิน อยู่ดี) ได้แบ่งยุคก่อนประวัติศาสตร์ในดินแดนประเทศไทยไว้ 4 สมัย คือ

สมัยหินเก่า (Paleolithic)
สมัยหินกลาง (Mesolithic)
สมัยหินใหม่ (Neolithic)
สมัยโลหะ (Metal)1

1. สมัยหินเก่าในประเทศไทย
ยุคหินเก่าคือยุคที่มีอายุระหว่าง 500,000 – 10,000 ปีล่วงมาแล้ว ร่องรอยของมนุษย์หินเก่าในประเทศไทยมีค่อนข้างน้อย ในปี พ.ศ.2475 ศาสตราจารย์ฟริตซ์ สารแซง ชาวสวิตเซอร์แลนด์ได้เข้ามาสำรวจหาร่องรอยสมัยหินเก่าที่จังหวัดเชียงราย ราชบุรี และลพบุรี ได้พบเครื่องมือหินกรวด 2-3 ชิ้น ศาสตราจารย์ฟริตซ์ สารแซงได้ตั้งชื่อวัฒนธรรมเครื่องมือหินเก่าในประเทศไทยว่า ไซแอมเนี่ยน (Siamnian) แต่การค้นพบของศาสตราจารย์ฟริตซ์ สารแซง ไม่เป็นที่สนใจและยอมรับในหมู่นักมนุษย์วิทยาและโบราณคดี ชื่อของวัฒนธรรมนี้จึงตกไป

วัฒนธรรมยุคหินเก่าในประเทศไทยเพิ่งได้รับความสนใจอย่างจริงจังหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จากการค้นพบของดอกเตอร์ แวนฮิกเกอเรน นักมนุษย์วิทยาชาวฮอลันดาซึ่งเป็นเชลยศึกของญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ 2 และถูกเกณฑ์มาสร้างทางรถไฟสายมรณะ (กาญจนบุรี-มะละแหม่ง) ในระหว่างที่ถูกบังคับให้ทำงานดังกล่าวเข้าได้พบเครื่องมือหินจำนวนมาก เมื่อสงครามสงบลงเขาได้ส่งเครื่องมือหินเหล่านั้นไปตรวจสอบที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ต ผลปรากฏว่าเป็นเครื่องมือหินกรวดกะเทาะหน้าเดียว 6 ก้อน และขวานหินขัดสมัยหินใหม่ 2 ก้อน เครื่องมือหินดังกล่าวขุดพบที่สถานีบ้านเก่าจังหวัดกาญจนบุรี2

การค้นพบของดอกเตอร์แวนฮิกเกอเรน เป็นหลักฐานยืนยันอีกครั้งว่ามีมนุษย์ที่ใช้เครื่องมือหินเก่าอาศัยอยู่ในดินแดนที่เป็นประเทศไทยปัจจุบันและสันนิษฐานต่อไปว่ามนุษย์เหล่านั้นอาจจะเป็นเผ่าเดียวกันกับที่พบที่ชวาและปักกิ่ง ซึ่งมีอายุประมาณ 5 แสนปีมาแล้ว ดินแดนประเทศไทยปัจจุบันอาจจะเป็นทางผ่านสำหรับติดต่อ หรืออาจจะเป็นที่อยู่ระหว่างอารยธรรมทั้งสอง3 นอกจากจะค้นพบร่องรอยของวัฒนธรรมยุคหินเก่าที่จังหวัดกาญจนบุรี และยังพบเครื่องมือหินเก่าที่อำเภอเชียงแสนจังหวัดเชียงรายด้วย

2. สมัยหินกลางในประเทศไทย
สมัยหินกลางคือช่วงเวลาระหว่าง 10,000-5,000 ปีล่วงมาแล้ว นอกจากสำรวจและขุดค้นของนักโบราณคดีทั้งไทยและต่างประเทศ ได้พบหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าดินแดนประเทศไทยบริเวณจังหวัดกาญจนบุรี แม่ฮ่องสอน เชียงราย ลพบุรี และราชบุรี เป็นบริเวณที่มีผู้คนอาศัยอยู่ตั้งแต่สมัย 10,000 ปีถึง 7,000 ปีล่วงมาแล้ว หลักฐานที่พบมีทั้งโครงกระดูกมนุษย์ และโครงกระดูกสัตว์ เครื่องปั้นดินเผา เครื่องมือหิน และเปลือกหอย สมัยหินกลาง คือนอกจากจะรู้จักทำเครื่องมือหินใช้แล้ว ยังรู้จักนำเอากระดูกสัตว์และเปลือกหอยมาทำเป็นเครื่องมือ ส่วนพวกเครื่องใช้บางประเภทมนุษย์สมัยกลางสามารถทำภาชนะเครื่องปั้นดินเผา จำพวกหม้อ จาน ชาม หม้อน้ำขึ้นใช้ เครื่องปั้นดินเผาที่มนุษย์สมัยหินกลางทำขึ้น มีลักษณะผิวเรียบมัน พบที่ถ้ำผี อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน นับเป็นเครื่องปั้นดินเผาที่เก่าแก่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์4

3. สมัยหินใหม่ในประเทศไทย
สมัยหินใหม่คือช่วงเวลาระหว่าง 5,000-2,000 ปีล่วงมาแล้ว จากการสำรวจและขุดค้นของนักโบราณคดีที่จังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี ลพบุรี และขอนแก่น ได้พบโครงกระดูกมนุษย์ยุคหินใหม่มีขนาดสูงประมาณ 150-167 ซม. ส่วนเครื่องมือเครื่องใช้ที่พบ แยกออกเป็น 4 ประเภทคือ5

1) เครื่องมือที่ทำด้วยหิน ที่พบมากคือ ขวานหินขัด ที่ชาวบ้านเรียกว่า ขวานฟ้า เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าปลายข้างหนึ่งมน ส่วนปลายอีกข้างหนึ่งขัดไม้แหลมเรียบ แต่งให้คม ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นขวานศักดิ์สิทธิ์ที่ตกลงมาจากฟ้าขณะที่ฟ้าแลบหรือฟ้าผ่า ขวานหินขัดนี้ขุดพบทั่วไปในทุกภาคของประเทศไทย อายุของขวานหินขัดนี้ประมาณ 4,000 ปี
2) เครื่องมือที่ทำด้วยกระดูก เช่น ปลายหอก ลูกศร เป็นต้น
3) เครื่องมือที่ทำด้วยหอย เช่น พวกใบมีด
4) เครื่องมือที่ทำด้วยดินเผา ทำเป็นเครื่องใช้รูปต่าง ๆ เช่น หม้อ จาน แกนปั่นด้าย กระสุนดินเผา เป็นต้น

จากหลักฐานที่พบ นักโบราณคดีสันนิษฐานว่ามนุษย์ยุคหินใหม่ที่อยู่ในบริเวณประเทศไทยปัจจุบันคงมีจำนวนมาก และตั้งหลักแหล่งกระจายอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศไทย บางกลุ่มยังอาศัยอยู่ในถ้ำบางกลุ่มออกมาจากถ้ำมาสร้างบ้านพักหรือกระท่อม ในด้านวัฒนธรรมด้านอื่น ๆ มนุษย์สมัยนี้มีความก้าวหน้ามากขึ้น มีความรักสวยรักงาม รู้จักทำเครื่องประดับร่างกายจากเปลือกหอย ลูกปัด ทำกำไลหิน กำไลกระดูก มีการฝังศพผู้ตายในท่านอนหงายแขนแนบลำตัว วางเครื่องปั้นดินเผาไว้เหนือศีรษะ ปลายเท้าและบริเวณเข่า นอกจากนั้นยังใส่สิ่งของเครื่องใช้ และเครื่องประดับในหลุมฝังศพด้วย

4. สมัยโลหะในประเทศไทย
ยุคโลหะนี้ในบางช่วงแบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ ยุคสำริด และยุคเหล็ก แต่การศึกษาที่ได้ทำกันหลายแห่งในประเทศไทย ยังไม่อาจจำแนกเป็น 2 ยุคดังกล่าวได้ชัดเจน กล่าวคือ

นักโบราณคดีได้พบร่องรอยของมนุษย์ยุคโลหะตอนต้นในประเทศไทย จากการขุดค้นที่ตำบลโนนกทา อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น นักโบราณคดีพบโครงกระดูกมนุษย์และเครื่องมือที่ทำด้วยสำริดทั้งนั้น ไม่มีเครื่องมือที่ทำด้วยเหล็ก แต่มีขวานที่ทำด้วยทองแดงที่เกิดจากธรรมชาติ (ไม่ใช่ทองแดงถลุง) เอามาทุบเป็นรูปขวานโดยไม่ใช้ความร้อน นอกจากนั้นคณะสำรวจและขุดค้นยังพบแม่พิมพ์หินสำหรับหล่อขวานสำริดอายุประมาณ 4,120-4,475 ปีมาแล้ว เก่ากว่ายุคสำริดที่พบที่ดองซอนประเทศเวียดนามและเก่ากว่ายุคสำริดของจีนเล็กน้อยแหล่งที่พบเครื่องมือสำริดที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งคือ ที่ตำบลเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี ที่นี่นักโบราณคดีได้พบทั้งเครื่องมือสำริด เครื่องมือเหล็ก เครื่องประดับสำริด เครื่องปั้นดินเผารูปแปลก ๆ และมีลายเขียนด้วยสีแดงเป็นลายต่าง ๆ ประมาณ 1,000 แบบ และเครื่องประดับทำด้วยแก้วสีเขียว

การขุดค้นที่บ้านเชียงทำให้เกิดปัญหาที่สำคัญประการหนึ่งคือ ถ้าพิจารณาเครื่องมือเครื่องใช้แล้วควรจะตัดสินว่าเป็นของมนุษย์ยุคโลหะตอนปลาย ซึ่งควรจะมีอายุประมาณ 2,100 ปีมาแล้ว แต่เมื่อได้ส่งเครื่องปั้นดินเผาไปพิสูจน์อายุ โดยวิธีเทอโมลูเนสเซ็นส์ (Thermoluminescence) แล้วปรากฏผลว่าเครื่องปั้นดินเผาที่ขุดได้จากระดับความลึก 70-80 เซนติเมตรจากผิวดิน มีอายุประมาณ 5,554-460 ปีมาแล้ว ชิ้นส่วนที่ได้จากระดับความลึก 120 เซนติเมตร มีอายุประมาณ 5,574-175 ปีมาแล้ว นักโบราณคดีบางท่าน6 จึงสรุปว่ามนุษย์ผู้เป็นเจ้าของวัฒนธรรมบ้านเชียงนั้นได้สร้างสรรค์วัฒนธรรมเหล่านี้ไว้เมื่อประมาณ 5,000-7,000 ปีมาแล้ว มนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่บ้านเชียงนั้น นอกจากจะรู้จักการสร้างเครื่องมือ เครื่องประดับสำริด และอื่น ๆ ยังรู้จักทำผ้าไหมและเครื่องนุ่งห่มอีกด้วย ศาตราจารย์สุด แสงวิเชียร ได้สรุปวิวัฒนาการของวัฒนธรรมก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไว้ว่า ดินแดนประเทศไทยปัจจุบัน เป็นดินแดนที่มีมนุษย์อาศัยอยู่มาตั้งแต่สมัยหินเก่า คือเมื่อประมาณ 500,000 ปีมาแล้ว อาจจะอยู่ตามตำบลที่พบเครื่องมือ คือบริเวณแควน้อยใหญ่และตามเชิงดอยของจังหวัดกาญจนบุรี และเชียงราย แต่ยังไม่พบโครงกระดูกที่จะช่วยในการสันนิษฐานว่าเป็นมนุษย์ใด สมัยหินกลางพบร่องรอยของมนุษย์อาศัยอยู่ตามเพิงผา เช่น ที่เพิงผาหน้าถ้ำ จังหวัดแม่ฮ่องสอนพบโครงกระดูกซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นมนุษย์เผ่าโปรโตมาเลย์

สมัยหินใหม่มีมนุษย์อาศัยอยู่เกือบทั่วประเทศไทยปัจจุบัน บริเวณที่อยู่กันหนาแน่นคือ แควน้อยแควใหญ่ จังหวัดกาญจนบุรี เป็นกลุ่มที่มีวัฒนธรรมสูงสามารถทำเครื่องปั้นดินเผาได้ปราณีตเท่าเทียมเครื่องปั้นดินเผาที่พบในประเทศจีน ที่เรียกว่า “วัฒนธรรมโปรโตลุงซาน” และ “วัฒนธรรมลุงซาน” อยู่ทางตอนกลางของประเทศจีน จึงเป็นหลักบานยืนยันว่าได้มีมนุษย์ที่มีวัฒนธรรม ร่วมกันอาศัยอยู่ตั้งแต่ตอนกลางของประเทศจีนจนถึงแถบตะวันตกของดินแดนประเทศไทยปัจจุบัน เนื่องจากโครงกระดูกที่พบมีลักษณะไม่แตกต่างจากโครงกระดูกของคนไทยปัจจุบัน นักโบราณคดีบางท่านจึงเชื่อว่าเป็นบรรพบุรุษของไทยปัจจุบัน

สมัยโลหะของประเทศไทยยังมีปัญหาอยู่มาก เพราะมนุษย์ยุคโลหะที่พบทางตะวันตกของประเทศไทยปัจจุบันมีอายุเปรียบเทียบประมาณ 2,000 ปีมาแล้ว แต่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยมนุษย์ยุคโลหะมีอายุประมาณ 5,000 ปีมาแล้ว ทำให้เกิดปัญหาว่ามนุษย์ที่อาศัยอยู่บริเวณทั้งสองที่กล่าวนี้เป็นชนละเผ่ากันหรือเป็นเผ่าเดียวกัน แต่มีความจริงทางวัฒนธรรมต่าง กับพวกที่อยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยมีวัฒนธรรมล้ำหน้า มนุษย์ที่อาศัยอยู่ในบริเวณตะวันตกของประเทศไทย และล้ำหน้ามนุษย์ที่อาศัยอยู่ในประเทศอื่น ๆ ในเอเชียอยู่ 3 อย่าง คือ

1) การหล่อสำริดเป็นเครื่องมือและเครื่องประดับ
2) การเขียนลายสีบนภาชนะดินเผา
3) รู้จักใช้ไหมมาทอเป็นเครื่องนุ่งห่มก่อนแหล่งอื่น

ดังนั้นประเทศไทยจึงมิใช่แหล่งที่เพียงแต่รับวัฒนธรรมจากแหล่งอื่นเท่านั้น แต่เป็นแหล่งอารยธรรมเริ่มแรกอีกแห่งหนึ่งของโลกด้วย



2
ไท และไทยสยาม


คำว่า “ไทย” เดิมรู้จักกันในนามของ “สยาม” และมีปรากฏในหลักฐานหลายแห่งที่เก่าที่สุด คือ ในศิลาจารึกของอาณาจักรกัมพูชาก่อนสมัยพระนครหลวง และพบในจารึกจาม พ.ศ.1593 จารึกพม่า พ.ศ.1663 และในแผนที่ภูมิศาสตร์ของจีนที่ทำขึ้นใน พ.ศ.1753 กำหนดเขตแดนของเสียมหรือสยามไว้ ส่วนคำว่า “ไท” มีความหมายกว้างกว่า คำว่า “ไทย” ดังนี้
1. ความหมายของคำว่า “คนไท” และ “คนไทย”
“ไท” มีความหมายกว้างกว่า คำว่า “ไทย” ไท หมายถึง ไทย (คนไทยในประเทศไทย)*และรวมถึงคนไทยที่อยู่ในต่างประเทศต่าง ๆ ด้วย ดังนั้น คนไท คือ บุคคลซึ่งมีเชื้อชาติไทย พูดภาษาตระกูลไทย มีขนบธรรมเนียมประเพณีของคนเชื้อชาติไทย ทั้งนี้ไม่จำกัดเฉพาะ ภาษาไทยในประเทศไทย ขนบธรรมเนียมที่ใช้ในประเทศไทย แต่หมายถึง ภาษาในเครือ ภาษาไทยซึ่งมีลักษณะเป็นคำโดดและเรียงคำ คำบางคำอาจใช้แตกต่างกัน ขนบธรรมเนียมก็อาจจะแตกต่างกันได้ ทั้งนี้เป็นไปตามเผ่าแต่ละเผ่า

2. ความหมายของคำว่า “สยาม”
คำว่า “สยาม” เป็นคำที่ชนชาติอื่นใช้เรียกประเทศไทย ปรากฏตามอักษรจำหลักใต้ รูปกระบวนแห่งที่ปราสาทนครวัดว่า “พลเสียม” หรือ “พลสยาม”   จึงเข้าใจว่าคนชาติอื่นใช้เรียกประเทศตามขอม พระเจนจีนอักษร ได้แปลจดหมายเหตุจีน อธิบายคำว่า “สยาม” ไว้ว่าประเทศนี้เดิมเป็นอาณาเขต “เสียมก๊ก” อยู่ข้างเหนือ “โลฮุกก๊ก” อยู่ข้างใต้ ต่อมารวมเป็นอาณาเขตเดียวกัน จึงได้สนามว่า “เสียมโลฮุกก๊ก” แต่คนเรียกทิ้งคำ “ฮก” เสีย คงเรียกกันว่า “เสียมโลก๊ก” สืบมาเป็นอาณาเขตอยู่ดังกล่าว

“สยาม” เป็นคำที่เริ่มใช้ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ สมัยรัชกาลที่ 4   ก่อนหน้านี้ประเทศไทยเรียกตัวเองว่า “กรุงศรีอยุธยา” ดังจะเห็นได้จากข้อความที่ปรากฏตามหนังสือสัญญาที่ทำกับประเทศอังกฤษ ในสมัยรัชกาลที่ 3 เรียกประเทศว่า “กรุงศรีอยุธยา” และเพิ่งปรากฏหลักฐานว่าประเทศไทย เรียกตัวเองว่า “ประเทศสยาม” ในสมัยพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อทรงทำสัญญาเบาว์ริงกับอังกฤษ และทรงลงพระนามาภิไธยว่า “REX SIAMNIS”** และทรงหล่อพระพุทธรูปองค์หนึ่ง พระราชทานนามว่า “พระสยามเทวาธิราช”

ต่อมาใน พ.ศ.2481 นายพันเอกหลวงพิบูลสงคราม (ยศและบรรดาศักดิ์ขณะนั้น เป็นนายกรัฐมนตรี ได้เปลี่ยนชื่อประเทศจาก “สยาม” เป็น “ไทย” และเมื่อเกิดรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 แล้ว นายควง อภัยวงศ์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีประมาณ 3 เดือนเศษ รัฐบาลนี้เรียกชื่อประเทศไทยเป็นภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศสว่า “SIAM” อีกครั้ง ถึงเดือนเมษายน 2491 รัฐบาลพิบูลสงครามเข้ารับตำแหน่งแทน ได้เปลี่ยนชื่อประเทศไทยในภาษาอังกฤษว่า “THAILAND” และในภาษาฝรั่งเศส “THAILAND” 5 ซึ่งรัฐบาลต่อ ๆ มาได้ใช้ตราบจนปัจจุบัน

แนวคิดเกี่ยวกับถิ่นกำเนิดคนไทย
การศึกษาค้นคว้าความเป็นมาของผู้คนในดินแดนต่าง ๆ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งประเทศไทย เริ่มขึ้นโดยชาวตะวันตกซึ่งใช้วิธีการค้นคว้า คือ เดินทางไปสำรวจด้วย ตนเอง สอบสวนค้นคว้าทางภาษา การแต่งกาย ความเป็นอยู่ สภาพบ้านเมือง ขนบธรรมเนียมประเพณี ศิลปะและอื่น ๆ แล้วนำข้อมูลที่ได้จากประจักษ์พยานไปประมวลเป็นงานเขียนหรือรายงานการสำรวจ และอีกวิธีคือ สืบค้นนำข้อมูลที่ได้จากประจักษ์พยานไปประมวลเป็นงานค้นคว้าของชาวต่างประเทศที่เรียบเรียงไว้ ดังนั้นวิธีการดังกล่าวรวมทั้งการศึกษาค้นคว้าของคนไทยได้ก่อให้เกิดความหลากหลายในทัศนะเกี่ยวกับถิ่นกำเนิดของคนไทย ดังนี้

1. กลุ่มที่เชื่อว่าถิ่นกำเนิดคนไทยอยู่ในบริเวณมณฑลเสฉวน ประเทศจีน
เตเรียน เดอ ลาคูเปอรี (Terrien de la couperie) ศาสตราจารย์ชาวอังกฤษ ประจำมหาวิทยาลัยลอนดอน ผู้เชี่ยวชาญทางภาษาศาสตร์ของอินโดจีน เป็นเจ้าของความคิดนี้ ผลงานของท่านชื่อ The Cradle of the Shan Race ตีพิมพ์ พ.ศ.2428 อาศัยหลักฐานจีนโดยพิจารณาความคล้ายคลึงกันทางภาษาของผู้คนในจีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แล้วสรุปว่า คนเชื้อชาติไทยตั้งถิ่นฐานในดินแดนจีนก่อนจีน คือเมื่อ 2208 ปีก่อนคริสตกาล ดังปรากฏในรายงานการสำรวจภูมิประเทศจีน ถิ่นที่อยู่ของคนไทยที่ปรากฏในจดหมายเหตุจีนนี้อยู่ในเขตมณฑลเสฉวนในปัจุบัน

งานของลาคูเปอรี ได้รับการสืบทอดต่อมาในงานเขียนของนักวิชาการไทย เช่น สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ประภาศิริ เสฐียรโกเศศ พระยาอนุมานราชธน หลวงวิจิตรวาทการ และศาสตราจารย์รอง ศยามานนท์

2. กลุ่มที่เชื่อว่าถิ่นกำเนิดคนไทยอยู่แถบเทือกเขาอัลไต ทางตอนเหนือของประเทศจีน
เจ้าของความคิด คือ หมอสอนศาสนาชาวอเมริกัน ชื่อ วิลเลียม คลิฟตัน ดอดด์ (William Clifton Dodd) ได้เดินทางไปสำรวจความเป็นอยู่ของชาติต่าง ๆ ในดินแดนใกล้เคียงพร้อมทั้งเผยแพร่ศาสนาด้วย โดยเริ่มจากเชียงราย เชียงตุง สิบสองปันนา ยูนนาน จนถึง ฝั่งทะเลกวางตุ้ง ผลจากการสำรวจปรากฏในงานเขียนเรื่อง The Thai Race : The Elder Brother of the Chinese ซึ่งเขียนขึ้นในปี พ.ศ.2452 งานเขียนนี้สรุปว่าไทยสืบเชื้อสายจากมองโกลและเป็นชาติเก่าแก่กว่าจีนและฮิบรู งานเขียนของหมอดอดด์ ได้รับความสนใจทั้ง ชาวไทยและต่างประเทศ นักวิชาการไทยคนสำคัญที่สืบทอดความคิดของหมอดอดด์ คือ ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธ์) ได้เขียนงานเขียนชื่อ “หลักไทย” เป็นหนังสือแต่งทางประวัติศาสตร์ ได้รับพระราชทานรางวัลของพระบาทสมเด็กพระปกเกล้าฯ กับประกาศนียบัตรวรรณคดีของราชบัณฑิตยสภา ใน พ.ศ.2471 ในหนังสือ หลักไทย สรุปว่าแหล่งกำเนิดของคนไทยอยู่บริเวณเทือกเขาอัลไต (แหล่งกำเนิดของมองโกลด้วย) หลักสูตรไทยได้ใช้เป็นตำราเรียนประวัติศาสตร์ของกระทรวงศึกษาธิการเป็นเวลานาน แต่ปัจจุบัน แนวคิดนี้ได้รับการยอมรับน้อยมาก

3. กลุ่มที่เชื่อว่าไทยมีถิ่นกำเนิดกระจัดกระจายทั่วไปในบริเวณตอนใต้ของจีนและทางเหนือของภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตลอดจนแคว้นอัสสัมของอินเดีย
นักสำรวจชาวอังกฤษ ชื่อ โคลกูฮุน (Archibal R. Colguhon) เป็นผู้ริเริ่มความเชื่อนี้ เขาได้เดินทางจากกวางตุ้งตลอดถึงมัณฑเลย์ในพม่าและได้เขียนหนังสือชื่อ Chrysi เล่าเรื่องการเดินทางสำรวจดินแดนดังกล่าว และเขียนรายงานไว้ว่าพบคนไทยเชื้อชาติไทยในแถบนี้ งานเขียนนี้ตีพิมพ์ในอังกฤษเมื่อ พ.ศ.2428 ผู้เขียนได้รับรางวัลเหรียญทองจากสมาคมภูมิศาสตร์ของอังกฤษ ต่อมาหนังสือเล่มนี้ได้แปลเป็นภาษาฝรั่งเศสและเยอรมัน ทำให้แนวคิดนี้แพร่หลายออกไป

นอกจากนี้มีงานค้นคว้าประเภทอาศัยการตีความหลักฐานจีนอีก เช่น งานของ E.H. Parker ปาร์คเกอร์ กงสุลอังกฤษประจำเกาะไหหลำ เขียนบทความเรื่องน่านเจ้า พิมพ์เผยแพร่เมื่อ พ.ศ.2437 โดยอาศัยตำนานจีน บทความนี้พูดถึงอาณาจักรน่านเจ้าเป็นอาณาจักรของคนไทยเฉพาะราชวงศ์สินุโลและคนไทยเหล่านี้ถูกคนจีนกดดันถึงอพยพลงมาทางใต้ งานของเขียนปาร์คเกอร์ได้รับการสนับสนุนจากทั้งนักวิชาการตะวันตกและจีน (ศาสตราจารย์ติง ศาสตราจารย์ โชนิน ศาสตราจารย์ชุนแชง) และญี่ปุ่น (โยชิโร ชิราโทริ)

งานค้นคว้าที่เดิ่นอีกคืองานของ วิลเลียม เคร์ดเนอร์ (Willian Credner) ซึ่งค้นคว้าเกี่ยวกับยูนนานโดยสำรวจภูมิประเทศและเผ่าพันธุ์ที่ตกค้างในยูนนาน สรุปว่าถิ่นเดิมของชนเผ่าไทยควรอาศัยในที่ต่ำใกล้ทะเล เช่น มณฑลกวางสี กวางตุ้ง ส่วนแถบอัลไตคนไทยไม่น่าจะอยู่เพราะคนไทยชอบปลูกข้าว ชอบดินแดนแถบร้อนไม่ชอบเนินเขา

นอกจากนี้ วูลแกรม อีเบอร์ฮาด (Wolgram E berhard) ชาวเยอรมันผู้เชี่ยวชาญด้านสังคมวิทยา มานุษยวิทยา และโบราณคดีจีน ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับถิ่นกำเนิดของไทยในงานเขียนชื่อ A History of China (พิมพ์เป็นภาษาเยอรมัน ต่อมาแปลเป็นภาษาอังกฤษ) สรุปว่าเผ่าไทยอยู่บริเวณมณฑลกวางตุ้ง ต่อมาอพยพมาอยู่แถบยูนนานและดินแดนในอ่าวตังเกี๋ย (สมัยราชวงศ์ฮั่น) ได้สร้างอาณาจักรเทียนหรือแถน และถึงสมัยราชวงศ์ถัง เผ่าไทยได้สถาปนาอาณาจักรน่านเจ้าขึ้นที่ยูนนาน

งานเขียนของบุคคลเหล่านี้ได้ให้แนวคิดแก่นักวิชาการไทยและต่างประเทศในระยะต่อมา เช่น ยอร์ช เซเดส์ ชาวฝรั่งเศส ได้สรุปว่าชนชาติไทยอาศัยอยู่ทางตอนใต้ของจีน แถบตังเกี๋ย ลาว สยาม ถึงพม่า และอัสสัม

ส่วนนักวิชาการไทยที่สนใจศึกษาค้นคว้าความเป็นมาของคนไทยทั้งจากเอกสารไทยและต่างประเทศคือพระยาประชากิจกรจักร (แช่ม บุนนาค) งานเขียนของท่าน คือ พงศารโยนก ตีพิมพ์ระหว่างปี พ.ศ.2441-2442 งานชิ้นนี้สรุปว่าคนไทยมาจากตอนใต้ของจีนและ นักวิชาการไทยอีกท่านหนึ่งคือ จิตร ภูมิศักดิ์ ได้ใช้วิธีการทางนิรุกติศาสตร์ วิเคราะห์ตำนาน พงศาวดารท้องถิ่นทางเหนือของไทยและตรวจสอบกับจารึกของประเทศข้างเคียง เขียนหนังสือ ชื่อ “ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาว และจาม และลักษณะสังคมของชื่อชนชาติ” พิมพ์เผยแพร่ พ.ศ.2519 จิตรสรุปว่าที่อยู่ของคนเผ่าไทย อาศัยอยู่กระจัดกระจายในบริเวณทางตอนใต้ของจีนและบริเวณภาคเหนือของไทย ลาว เมขร พม่า และรัฐอัสสัมในอินเดีย และให้ความเห็นเกี่ยวกับน่านเจ้าว่า น่านเจ้าเป็นรัฐทางใต้สุด เดิมจีนเรียกอาษาจักรไต - หลอหลอ (น่านเจ้า แปลว่า เจ้าทางทิศใต้)

จะเห็นได้ว่าในบรรดานักวิชาการที่เชื่อว่าอดีตของเผ่าไทยอยู่กระจัดกระจายในบริเวณตอนใต้ของจีนและบริเวณทางเหนือของไทย ลาว พม่า เวียดนาม กัมพูชา และรัฐอัสสัม และอินเดีย ต่างก็มีทัศนะที่ต่างกันในรายละเอียด โดยเฉพาะปัญหาเกี่ยวกับอาณาจักรน่านเจ้าและนักวิชาการกลุ่มนี้เริ่มศึกษาค้นคว้า เรื่องราวของคนไทยโดยอาศัยหลักฐานหลายด้าน ทั้งด้านนิรุกติศาสตร์ มานุษยวิทยา หลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี

4. กลุ่มที่เชื่อว่าถิ่นเดิมของไทยอยู่บริเวณประเทศไทยปัจจุบัน
พอล เบเนดิคท์ (Paul Benedict) นักภาษาศาสตร์และมนุษยวิทยาชาวอเมริกัน ค้นคว้าเรื่องเผ่าไทยโดยอาศัยหลักฐานทางภาษาศาสตร์และสรุปว่า ถิ่นเดิมของไทยน่าจะอยู่ในดินแดนประเทศไทย ตั้งแต่เมื่อประมาณ 4000-3500 ปีมาแล้ว พวกตระกูลมอญ เขมร อพยพมาจากอินเดียเข้าสู่แหลมอินโดจีนได้ผลักดันคนไทยให้กระจัดกระจายไปหลายทางขึ้นไปถึงทางใต้ของจีนปัจจุบัน ต่อมาถูกจีนผลักดันจนอพยพลงใต้ไปอยู่ในเขตอัสสัม ฉาน ลาว ไทย และตังเกี๋ย จึงมีกลุ่มชนที่พูดภาษาไทยกระจัดกระจายไปทั่ว

นักวิชาการไทย นายแพทย์สุด แสงวิเชียร และศาสตราจารย์ชิน อยู่ดี ให้ความเห็นว่าดินแดนไทยปัจจุบันเป็นที่อาศัยของหมู่ชนที่เป็นบรรพบุรุษของไทยปัจจุบัน มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์และสรุปว่าบรรพบุรุษไทยอยู่ในดินแดนประเทศไทยมาตลอด เนื่องจากหลักฐานทางโบราณคดีได้แสดงถึงความต่อเนื่องทางวัฒนธรรมรวมทั้งการศึกษาเปรียบเทียบลักษณะโครงกระดูกที่ขุดพบ

5. กลุ่มที่เชื่อว่า ถิ่นเดิมของไทยอาจอยู่ทางบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยหรืออินโดจีน หรือบริเวณคาบสมุทรมลายู และค่อย ๆ กระจายไปทางตะวันตก และทางใต้ของอินโดจีนและทางใต้ของจีน
กลุ่มนี้ศึกษาประวัติความเป็นมาของชนชาติไทยด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์บนรากฐานของวิชาพันธุศาสตร์ คือการศึกษาความถี่ของยีนและหมู่เลือดและการศึกษาเรื่องฮีโมโกลบินอี เช่น นายแพทย์สมศักดิ์ พันธุ์สมบุญ ได้ศึกษาความถี่ของยีนและหมู่เลือด พบว่าหมู่เลือดของคนไทยคล้ายกับชาวชวาทางใต้มากกว่าจีนทางเหนือ จากการศึกษาวิธีนี้สรุปได้ว่า คนไทยมิได้สืบเชื้อสายจากคนจีน ส่วนการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับฮีโมโกลบินอีนั้น นายแพทย์ประเวศ วะสี และกลุ่มนักวิจัยมหาวิทยาลัยขอนแก่น สรุปว่า ฮีโมโกลบินอี พบมากในผู้คนในแถบเอเชียอาคเนย์ คือ ไทย ลาว พม่า มอญ และอื่น ๆ สำหรับประเทศไทยผู้คนทางภาคอีสานมีฮีโมโกลบินอีมากที่สุด (คนจีนเกือบไม่มีเลย)

สรุป ปัจจุบันความก้าวหน้าทางวงการศึกษามีมากขึ้นและมีการแตกแขนงวิชาออกไปมากมายเพื่อหาคำตอบเรื่องของมนุษย์และสังคมที่มนุษย์อยู่ ทำให้ความรู้และความเชื่อเดิมของมนุษย์ถูกตรวจสอบอย่างจริงจัง ด้วยเหตุนี้ความเชื่อในเรื่องถิ่นกำเนิดของคนไทยซึ่งอยู่ที่มณฑลเสฉวนและทางภูเขาอัลไตจึงถูกวิพากษ์ถึงความสมเหตุสมผล และเมื่อมีการประสานกันค้นคว้าจากสหวิชาการจึงได้คำตอบในแนวใหม่ว่าคนเผ่าไทเป็นเผ่าที่อยู่กระจัดกระจายในแนวกว้างในบริเวณตอนใต้ของยูนนาน ทางตอนเหนือของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และรัฐอัสสัมของอินเดีย พื้นฐานความเชื่อใหม่นี้อาศัยหลักฐานทางประวัติศาสตร์และหลักฐานทางโบราณคดีทำให้ทราบได้ว่า คนเผ่านี้รู้จักกันในชื่อต่าง ๆ ในแต่ละท้องถิ่น เช่น ไทใหญ่ ไทอาหม ผู้ไท ไทดำ ไทขาว ไทลื้อ ไทลาว ไทยวน เป็นต้น การค้นคว้าทางประวัติศาสตร์และโบราณคดียังสอดคล้องกับการค้นคว้าทางด้านนิรุกติศาสตร์และภาษาศาสตร์ที่พบว่า คนในบริเวณตะวันออกเฉียงใต้ส่วนใหญ่เรียกชนชาติไทยว่า ชาม ชาน เซม เซียม ซียาม เสียมบ้าง และในภาษาจีนเรียกว่า ส่าน ส้าน (สำหรับคนไทโดยทั่วไป) และเซียม (สำหรับไทสยาม) และความหมายของคำที่เรียกคนไทก็มีความหมายสอดคล้องกับลักษณะชีวิตทางด้านสังคมและการทำมาหากินของคนไทยเช่นคำว่า “ส่าน” ซึ่งเป็นคำภาษาจีนเรียกคนไท แปลว่า “ลุ่มแม่น้ำ” ความหมายนี้มีลักษณะสอดคล้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของชนชาติไทที่ก่อตั้งชุมชนขึ้นในบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำและทำอาชีพกสิกรรม รู้จักทำทำนบหยาบ ๆ พร้อมทั้งคันคูระบายน้ำคือ เหมือง ฝาย รู้จักใช้แรงงานสัตว์และใช้เครื่องมือในการทำนา เช่น จอบ คราด ไถ

ปัจจุบันการศึกษาค้นคว้าเรื่องถิ่นเดิมของชนชาติไทย และคนไทยในประเทศไทยปัจจุบัน คือการหันมาให้ความสนใจทางด้านวัฒนธรรมมากกว่าเรื่องเชื้อชาติ เพราะไม่มีเชื้อชาติใดในโลกนี้ที่เป็นเชื้อชาติบริสุทธิ์และยิ่งใหญ่เหนือชนเชื้อชาติอื่น ดินแดนประเทศไทยเป็นทางผ่านที่คนหลายเผ่าพันธุ์ หลายตระกูลเคลื่อนย้ายเข้ามาตั้งรกราก ประเทศไทยเป็นแหล่งสะสมของคนหลายหมู่เหล่าก่อนที่จะพัฒนาขึ้นมาเป็นรัฐประชาชาติที่เรียกว่าประเทศไทย ดังนั้นการเป็นคนไทจึงควรมองที่วัฒนธรรมไทยมากกว่าเรื่องเชื้อชาติ


3
หลักฐานเกี่ยวกับกลุ่มชนชาวไทย

จากร่องรอยทางโบราณคดีและหลักฐานตำนานต่าง ๆ ทางภาคเหนือ ทำให้สันนิษฐานได้ว่าประมาณได้ว่าประมาณพุทธศตวรรษที่ 13 ชนชาติไทยได้มาตั้งมั่นอยู่แล้ว ทางภาคเหนือของดินแดนที่เป็นประเทศไทยปัจจุบันมีการก่อตั้งเมื่อต่าง ๆ ซึ่งปรากฏชื่อในตำนาน เช่น เวียงหิรัญนคร เงินยางเชียงแสน เวียงไชยปราการ และเวียงฝาง เป็นต้น เมืองเหล่านี้มีลักษณะการปกครองแบบรัฐ

อย่างไรก็ตาม นอกจากร่องรอยทางโบราณคดีและหลักฐานทางตำนานแล้ว ไม่ปรากฏหลักฐานอื่น ๆ เกี่ยวกับนครรัฐไทยเหล่านี้ เราจึงไม่ค่อยทราบความเป็นมา สภาพทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมของนครรัฐไทยในระยะแรก ๆ

ส่วนหลักฐานที่ปรากฏในจารึกและภาพหลักศิลาของชนชาติอื่น ๆ นั้น จารึกของอาณาจักรจามปา พ.ศ.1593 ณ วิหารโปนาการ์ เมืองญาตรัง ประเทศเวียดนามปัจจุบัน ได้กล่าวถึงพระเจ้าชัยปรเมศวร ทรงบูรณะพระปฏิมาเจ้าแม่ภควดีที่วิหารแห่งนี้ และได้ทรงอุทิศทาสเชลยศึกถวายเป็นข้าพระ ในบรรดาทาสที่อุทิศถวายนี้มีทาสเชลยศึกชาวสยามอยู่ด้วย

ในจารึกพม่า ปรากฏคำว่า “สยาม” เป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.1663 และในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 17 ได้ปรากฏภาพหลักศิลานูนต่ำ ที่ระเบียงชั้นนอกของ ปราสาทนครวัดในเมืองพระนครหลวง ประเทศกัมพูชาปัจจุบัน เป็นภาพ กองทัพชาวสยาม ตามเสด็จขบวนทัพของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 (พ.ศ.1656 – หลัง พ.ศ.1668) พระเจ้าแผ่นดินแห่งอาณาจักรเขมร

จากหลักฐานต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้นทำให้เราทราบว่า ชนชาติไทยได้เข้ามาตั้ง ถิ่นฐานอยู่ในดินแดนประเทศไทยปัจจุบันเป็นเวลาหลายร้อยปีก่อนการก่อตั้งอาณาจักรสุโขทัย สันนิษฐานว่าชนชาติไทยคงจะได้แผ่กระจายอยู่ทั่วไปในอาณาบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และอาจจะลงไปถึงคาบสมุทรภาคใต้ การปกครองของกลุ่มชนที่กำลังมีอำนาจอยู่ในแหลมอินโดจีนขณะนั้น คือ ชนชาติมอญ และชนชาติเขมร

อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 16 ชนชาติมอญได้เสื่อมอำนาจลง ดินแดนในแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาจึงตกอยู่ภายใต้อำนาจปกครองของอาณาจักรเขมรประมาณ 200 ปี แต่ในช่วงระยะ 200 ปีนี้ อำนาจทางการเมืองของเขมรไม่คงที่ บางครั้งเข้มแข็ง บางครั้ง อ่อนแอ ช่วงที่เขมรมีอำนาจมาก คือ ในสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 (พ.ศ.1545 – 1593) พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 (พ.ศ.1656 – หลัง พ.ศ.1688) และพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (พ.ศ.1742 – ราว พ.ศ.1760) หลังสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 อาณาจักรเขมรได้เสื่อมลงมาก ทำให้นครรัฐและแว่นแคว้นของคนไทยตั้งตนขึ้นเป็นอิสระ ประวัติศาสตร์ไทยที่มีหลักฐานแน่นอนจึงเริ่มขึ้นในปลายพุทธศตวรรษที่ 18

คนไทและการตั้งหลักแหล่ง
ชนชาวไทมีประวัติความเป็นเชื้อชาติไทมาแต่ก่อนพุทธกาล ในปัจจุบันชาวไทอาศัยอยู่ในประเทศต่าง ๆ ซึ่งแบ่งตามภูมิศาสตร์ได้ ดังนี้

1. กลุ่มไทตะวันตก ได้แก่ ไทอาหม ไทคำตี ไทใหญ่
ไทอาหม อยู่ในราชอาณาจักรอาหมเดิม บริเวณลุ่มแม่น้ำพรหมบุตร ส่วนใหญ่จะอยู่ในแคว้นอัสสัมของประเทศอินเดีย ปัจจุบันถูกวัฒนธรรมอินเดียเข้าครอบงำเป็นอันมาก
ไทคำตี อาศัยอยู่ในภาคเหนือของสาธารณรัฐสังคมนิยมแห่งสหภาพพม่า หรือ ตอนเหนือของลุ่มแม่น้ำอิรวดี มีไทคำตีบางส่วนอพยพเข้ามาอยู่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ไทคำตีนี้ได้รับวัฒนธรรมของพม่าเข้าครอบงำมากเช่นกัน
ไทใหญ่ ว่า ฉานหรือชาน แต่ไทพวกนี้นิยมเรียกตนเองว่า “ไทใหญ่” หรือ “ไทหลวง” หรือ “โตโหลง” ทั้งนี้เพื่อให้แตกต่างกับชื่อพวกไททางใต้ซึ่งพวกเขานิยมเรียกว่า “ไทใต้” หรือ “ไทตาเออ” ชาวไทในประเทศไทยเรียกไทใหญ่ว่า “เงี้ยว” ไทใหญ่หรือพวกเงี้ยวนี้อาศัยอยู่ตาม ลุ่มแม่น้ำและภูเขาในเขตสาธารณรัฐสังคมนิยมแห่งสหภาพพม่าทางภาคเหนือของยะไข่ และตะนาวศรี ส่วนในประเทศไทยอาศัยอยู่มากในจังหวัดแม่ฮ่องสอนและตาก

2. กลุ่มไทใต้
กลุ่มไทใต้ ได้แก่ ไทในประเทศไทย ซึ่งเป็นชาวไทกลุ่มเดียวที่มีเสรีภาพ และเป็น รัฐอิสระและเป็นศูนย์รวมของวัฒนธรรม อย่างไรก็ดีภาษาที่ใช้ในประเทศไทยนี้ ได้รับอิทธิพลจากภาษาอื่น ๆ ทำให้มีคำใหม่ ๆ ซึ่งชาวไทจากที่อื่นอาจจะไม่เข้าใจ
ไทโคราช เป็นชาติพันธุ์ไทที่อาศัยอยู่ในเขตนครราชสีมา บางส่วนของจังหวัดชัยภูมิและจังหวัดบุรีรัมย์ ภาษาที่ใช้เหมือนกับภาษาในภาคกลางของประเทศ แต่มักจะใช้เสียงเอกแทนเสียงโท เช่น คำว่า ม่า แทนคำว่า ม้า ใช้คำว่า เสื่อ แทนคำว่า เสื้อ เป็นต้น ชาวไทโคราชมีวัฒนธรรมเชื่อมโยงระหว่างไทภาคกลางกับชาวไทภาคกลางในภาคอีสาน
ไทปักษ์ใต้ เป็นชาติพันธุ์ไทยที่มีส่วนผสมกับชาวมาเลเซียหรือพวกเงาะ เป็นชาวไทที่อาศัยอยู่ตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไปจนถึงสุดเขตดินแดนที่ติดต่อกับประเทศมาเลเซีย

3. กลุ่มไทลุ่มแม่น้ำโขง ได้แก่
ไทยเหนือ ซึ่งเรียกตนเองว่า “ไทโหน” หรือ “ไทเหนอ” อาศัยอยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของมณฑลฮุนหนำ (ยูนนาน) ลุ่มแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาละวิน พูดภาษาไทลื้อ มีวัฒนธรรมในด้านการแต่งกายและอื่น ๆ คล้ายคลึงกับชาวจีน แต่ยังพูดภาษาไทคล้ายไทลื้อ คนไทพวกนี้รวมถึงคนไทในสิบสองพันนาในมณฑลฮุนหนำของจีนด้วย
ไทลื้อ เป็นไทสาขาหนึ่งของชาติอ้ายลาว ในปัจจุบันไทลื้ออาศัยอยู่สิบสองพันนา (หนังสือบางเล่มเขียนว่าสิบสองปันนา)
ไทเขิน ชาวไทเขินนี้เรียกตามภาษาท้องถิ่นว่า ไทเกิ๋น ชาวไทเกิ๋นนี้มีความใกล้ชิดกับพวกไทลื้อ ไทยวน และไทลาว ไทเขินใช้ภาษาและตัวหนังสือคล้ายกับภาษาลาว เชื่อกันว่าพระเจ้ามังรายกษัตริย์ผู้สร้างเมืองเชียงใหม่มีเชื้อสายเป็นไทเขิน ปัจจุบันนี้มีไทเขินอาศัยอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และจังหวัดอื่น ๆ ในภาคเหนือของประเทศไทย
ไทยวน (พึงสังเกตคำว่า “ยวน” ซึ่งต่างกับคำว่า “ญวน”) ไทยวนได้แก่ ชาวไทในล้านนา เป็นไทที่อาศัยอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่เป็นส่วนมาก บางครั้งเรียกว่า ชาวโยน โยนะหรือโยนก ต่างกับชาวญวนซึ่งเป็นคนละเชื้อชาติกับไท ซึ่งหมายถึงชนชาติเวียดนามอยู่ในเขตตังเกี๋ย ปัจจุบันไทยวนอาศัยอยู่ในภาคเหนือโดยทั่ว ๆ ไป เช่น ในจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง เชียงราย แพร่ และน่าน ภาษาไทยวนคล้ายกับภาษาลื้อและเขิน มีอักษรซึ่งเรียกว่า อักษร ล้านนา ซึ่งมีส่วนคล้ายกับอักษรพม่า และลาวในลุ่มแม่น้ำโขง
ลาว ชาวไทยเรียกคนไทที่อยู่ในภาคอีสานของประเทศไทยและในเขตประเทศลาวว่า “ลาว” ภาษาลาวคล้ายภาษาไทยและไทใหญ่ แต่จะมีคำบางคำซึ่งแตกต่างออกไปบ้าง แต่พอจะสังเกตได้ว่าเป็นชาวไทเช่นเดียวกันกับคนไทยในภาคกลาง
ไทละเลิง ย่อ ย้อย นี้จะพบมากในฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ในประเทศไทยมีอาศัยอยู่ในจังหวัดสกลนคร และนครพนม

4. กลุ่มไทยในที่สูง
ไทดำ อยู่ในแคว้นสิบสองจุไทหรือสิบสองเจ้าไทระหว่างแม่น้ำแดงกับแม่น้ำดำของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เมืองสำคัญของไทดำเดิมเรียกว่าเมืองแถง ซึ่งในปัจจุบันเรียกว่า เดียนเบียนฟู ไทดำได้อพยพเข้ามาอยู่ตอนเหนือของสาธารณัฐรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และเลยเข้ามาอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทางภาคเหนือของประเทศไทยด้วย ไทดำพูดภาษาไทเหมือนไทอื่น ๆ นับถือพุทธศาสนาและวิญญาณของบรรพบุรุษ บางท่านกล่าวว่าไทดำเป็นกลุ่มเดียวกันกับชาวจ้วงในประเทศจีน
ไทขาว อาศัยอยู่บริเวณชายแดนมณฑลฮุนหนำหรือยูนนาน แม่น้ำแดง แม่น้ำดำ ไทขาว นับถือพุทธศาสนาและวิญญาณบรรพบุรุษตลอดจนถึงพระภูมิเจ้าที่ ชาวเวียดนามเรียกไทขาวว่า “ไทโท” หรือ “ไทตรัง” คำว่า “โท” แปลว่า “แผ่นดิน” ที่ชาวเวียดนามเรียกเช่นนั้นเพราะไทขาวเป็นผู้ที่ชอบทำการเพาะปลูกเป็นอาชีพ
ไทแดง อาศัยอยู่บริเวณชายแดนของสาธารณรัฐสังคมเวียดนามและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว พูดภาษาคล้ายภาษาไทคำและลาวที่อยู่อาศัยอยู่ในแขวง ซำเหนือ เนื่องจากภาวะสงครามในประเทศทั้งนี้จึงมีไทแดงอพยพเข้ามาอาศัยอยู่ทาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยด้วย
ไทเหนือหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าไทเหนอ อาศัยอยู่ในแคว้นหัวพันทั้งห้าทั้งหกและซำเหนือ แคว้นหลวงพระบาง เชียงขวางและพงสาลี ในประเทสสาธารรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
ไทพวน ชาวไทพวนอาศัยอยู่แถบเมืองพวนในแคว้นเชียงขวางและหลวงพระบางและมีเชื้อสายไทยวน อาศัยอยู่ในจังหวัดนครนายก สระบุรี ปราจีนบุรี ฯลฯ
ผู้ไท คำว่า “ผู้” แปลว่า “คน” ดังนั้นจึงหมายความถึงคนไทนั่นเอง ชายผู้ไทอพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยในจังหวัดอุดรธานีและร้อยเอ็ด ชาวไทในท้องถิ่นนั้นเรียกเขตที่ผู้ไทอยู่ว่า “เขตลาวชาว” ผู้ไทมีอยู่มากในบริเวณหัวพันทั้งห้าทั้งหก สิบสองจุไท และภาคเหนือของ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
ซ่ง ซึ่งเป็นชาวไทกลุ่มหนึ่ง เดิมอยู่ในแขวงซ้ำเหนือ อพยพเข้ามาอยู่ในจังหวัดสุโขทัย ลพบุรี สระบุรี ราชบุรี กาญจนบุรี ฯลฯ

5. กลุ่มไทตะวันออก
กลุ่มไทตะวันออกนั้นได้แก่ ชาวไท ต่อไปนี้
จุงเจีย ชาวจุงเจียอยู่ในมณฑลไกวเจาของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนบางครั้งก็เรียกชาวจุงเจียว่า เดีย อิเจีย อีเจน จุย ปูยี หรือยอย ด็อกเตอร์ วิลเลี่ยม คลิฟตัน หมอสอนศาสนาซึ่งเคยอยู่ในประเทศไทยมาเป็นเวลาหลายสิบปีได้เคยเดินทางไปสอนศาสนาและศึกษาถึงชนชาติไทด้วยตนเอง และได้เรียบเรียงเป็นหนังสือซึ่งแปลเป็นภาษาไทยโดยหลวงนิแพทย์นิสรรค์ ได้กล่าวถึงชาวไทซึ่งเรียกตนเองว่า “ชาวจุงเจีย” ไว้ว่า “ผู้หญิงจุงเจียไม่ได้รัดเท้าเหมือนหญิงเมี้ยว (จีน) แต่การแต่งกายนั้นใช้เสื้อคับและนุ่งผ้าถุง การแต่งกายชนิดนี้ยังใช้กันอยู่ทั่วไปตามนอก ๆ เมือง แต่ในเมืองไกวยางนั้น ผู้หญิงที่แต่งกายทันสมัย เช่น หญิงรุ่นสาวก็แต่งกายอย่างจีน คือใส่เสื้อหลวมและนุ่งกางเกง ซึ่งเป็นธรรมเนียมแต่งกายของหญิงจีน และโดยเหตุที่ผู้หญิงไม่ได้รัดเท้าเหมือนหญิงจีน จึงได้แลเห็นหญิงจุงเจียไปทำการงานในไร่นามากกว่าหญิงจีน แต่ผู้ชายชาติจุงเจียโดยมากเป็น ชาวนาและแต่งกายอย่างเดียวกับชาวนาจีนและชาวตำบลนั้น ต่อเมื่อถึงคราวมีงานออกหน้าออกตาเขาจึงแต่งกายใช้เสื้อยาวอย่างจีน
ไทจวง ไทจวงส่วนใหญ่อยู่ในมณฑลกวางซีและกวางตุ้ง บางครั้งอาจจะเรียกว่า “จ้วง” หรือ ไทโท ตู หรือตูเจน ไทโท บางครั้งเรียกว่า “ไต” คำว่า “โท” ตามภาษาเวียดนามหมายถึงดิน ไทโทมักจะทำการเพาะปลูกอยู่แถบแม่น้ำแดงและตามเขตมณฑลกวางซี นอกจากนี้ยังมีพวก ไทตรุงจา (หรือจองเกียหรือฮอยอี) ไทนาง (หรือเกีย นุงเนียง และยาง) ไททูลาว (หรือตูลาว) ปาอี

จากข้อความดังกล่าวแล้วข้างต้นจะเห็นว่าชาวไทเป็นชาติพันธุ์ใหญ่ชาติหนึ่ง แม้จะ ไม่มีสถิติที่แน่นอน แต่พอจะกล่าวได้ว่ามีชาวไทยทั้งหมัดไม่น้อยกว่าร้อยล้านคน ประมาณครึ่งหนึ่งอยู่ในประเทศไทย นอกจากนั้นกระจัดกระจายอยู่ในประเทศต่าง ๆ นับแต่ภาคตะวันออกของอินเดียทางเหนือของประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมแห่งสหภาพพม่า ทางใต้ของจีนในมณฑลฮุนหนำ ไกวจิ๋ง กวางซี กวางตุ้ง และอาจจะมีบางเผ่าซึ่งยังอาศัยอยู่เหนือขึ้นไปในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ประเทศเกือบทั้งหมดเป็นชาติพันธุ์ไท นอกจากนี้ก็มีชาวไทอยู่ในทางตอนเหนือของประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม สำหรับในประเทศไทยนั้นชาวไทยอยู่กับเต็มประเทศมาเลเซีย เช่น ในรัฐไทรบุรี เป็นต้น จะเห็นได้ว่าชาวไทอาศัยอยู่ในพื้นที่หลายล้านตารางกิโลเมตร

โดยทั่วไปชาวไทจะพูดภาษาพยางค์เดียว และมีเสียงสูงต่ำแตกต่างกันไป บางเผ่าอาจจะมีเสียงสูงต่ำถึง 9 เสียง แต่ส่วนมากจะอยู่ในระหว่าง 5-7 เสียง ชาวไทเข้าใจภาษาของกันและกันได้มากน้อยตามแต่เผ่าพันธุ์และความใกล้ชิดชาวไทในประเทศไทยกับชาวลาว ไทลื้อ ไทใหญ่ ฯลฯ ซึ่งจะเข้าใจซึ่งกันและกันได้มาก ชาวไทดังกล่าวแล้วข้างต้นมีภาษา วัฒนธรรม ความนึกคิดซึ่งคล้ายกัน ชาวไทเหล่านี้แตกต่างกับชาติพันธุ์อื่น ๆ เช่น พม่า ลีซอ มูซอ มูเซอ อีก้อ คนเหล่านี้มีเชื้อสายทิเบตพม่า หาใช่ชาวไทไม่ ส่วนพวกเขมร ขมุ โซส่วย (กุย) ซึ่งอาศัยอยู่ในจังหวัดสุรินทร์ ศรีษะเกษ อุบลราชธานี และร้อยเอ็ดนั้น เป็นชนเชื้อชาติมอญเขมร

ข้อมูลจาก ::   “ความหมายของคำว่าคนไท” ประวัติศาสตร์ชนชาติไทยก่อนสมัยสุโขทัย สมาคมมิตรภาพไทย – จีน

http://www.baanjomyut.com/library/thai/index.html


Logged
Pages: [1] Go Up Print 
« previous next »
 

SMF 2.0.4 | SMF © 2013, Simple Machines | Theme by nesianstyles | Buttons by Andrea
Page created in 0.051 seconds with 18 queries.