Smile Siam มาร่วมกันคืน "สยามเมืองยิ้ม" กลับสู่บ้านเรากันนะครับ ...
User Info
Welcome, Guest. Please login or register.
29 April 2024, 16:31:53

Login with username, password and session length
Search:     Advanced search
News
ท่านสมาชิกสามารถเปลี่ยนรูปแบบ (Theme) ได้อีกหลายแบบ
เชิญทดลองโดยคลิกที่ลิงค์ข้างล่าง ได้เลยครับ

http://www.smilesiam.net/index.php/topic,3170.msg4713.html
Forum Stats
25,614 Posts in 12,444 Topics by 70 Members
Latest Member: KAN
Home Help Search Calendar Login Register
Smile Siam มาร่วมกันคืน "สยามเมืองยิ้ม" กลับสู่บ้านเรากันนะครับ ...  |  วิถีสู่ชีวิตแห่งความพอเพียง  |  การศึกษาทางเลือก  |  มหาวิทยาลัยชีวิต
0 Members and 1 Guest are viewing this topic. « previous next »
Pages: [1] Go Down Print
Author Topic: มหาวิทยาลัยชีวิต  (Read 1051 times)
Smile Siam
Administrator
สยามราษฎร์
*****
Offline Offline

Posts: 331


View Profile
« on: 29 December 2012, 06:49:14 »

โครงการมหาวิทยาลัยชีวิต


เรียนจบแล้วได้ปริญญาด้วยหรือ

            เป็นหลักสูตรปริญญาตรี ซึ่งได้รับการอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัยที่ร่วมโครงการ เรียน 3 ปีจบ มีศักดิ์และสิทธิเท่ากับปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยของรัฐทั่วไป เรียนจบแล้วรับพระราชทานปริญญาเหมือนกับทุกคน

เรียนวันไหน อย่างไร ที่ไหน

            เรียนวันเสาร์ อาทิตย์ และเรียนตามอัธยาศัยได้ทุกวัน เรียนด้วยตนเอง เรียนกับกลุ่มย่อยในหมู่บ้าน ในชุมชน เรียนกับกลุ่มใหญ่ในศูนย์เรียนรู้มหาวิทยาลัยชีวิต ซึ่งตั้งอยู่ในท้องถิ่น อาจเป็นที่ อบต. เทศบาล โรงเรียนประถม มัธยม อาชีวะ วัด หรือที่ที่มีความพร้อม มีห้องเรียน มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกเพื่อการเรียนรู้

          ส่วนใหญ่จึงเรียนในชุมชน ในท้องถิ่น ไม่ต้องเดินทางไกลไปเรียนในเมือง แต่ก็ต้องไปเป็นบางครั้งเพื่อพบอาจารย์หรือวิทยากรสำคัญ และเพื่อร่วมกิจกรรม เพื่อจะได้มีเพื่อน สร้างเครือข่ายกับเพื่อนๆ จากศูนย์อื่นๆ การมีเพื่อนเป็นร้อยเป็นพันเป็นกำไรชีวิตอีกอย่างหนึ่ง

เรียนอย่างไร 

          เรียนด้วยสื่อทางใกล้ทางไกล เช่น หนังสือ ซีดี อินเทอร์เน็ต ทั้งการถ่ายทอดสดและการบรรยายและสาระที่มีการบันทึกไว้ สามารถเรียกมาศึกษาเรียนรู้ได้ตลอดเวลา

          เรียนกับอาจารย์ประจำวิชาโดยตรงและกับอาจารย์ผู้ช่วยสอนในท้องถิ่น ซึ่งมีทั้งการบรรยายและการแนะนำการเรียน การค้นคว้าวิจัย การแสวงหาความรู้ด้วยการปฏิบัติ การทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้จริง

          รวมทั้งเรียนกับวิทยากรพิเศษ ผู้รู้ในท้องถิ่น ผู้ทรงคุณวุฒิจากสาขาอาชีพต่างๆ ปราชญ์ชาวบ้าน เป็นต้น  การไปศึกษาดูงานในพื้นที่หรือต่างถิ่น  การฝึกปฏิบัติ  การปฏิบัติจริง

ใครมีสิทธิเรียนได้

            ทุกคนที่เรียนจบ ม.6 ไม่จำกัดอายุ เพศ สถานภาพ ขอให้มีความตั้งใจและมุ่งมั่นอยากเรียนรู้จริงๆ

อายุมากแล้ว ความจำไม่ค่อยดียังเรียนได้หรือ

          ได้ เพราะหลักสูตรนี้ไม่ได้ให้คนมาท่องจำแข่งกันแล้วไปสอบ แต่เน้นการเรียนจากการปฏิบัติ เอาประสบการณ์มาใช้ เอามาทำความเข้าใจ  ฉะนั้น คนอายุมากแทนที่จะเสียเปรียบกลับได้เปรียบ เพราะมีประสบการณ์มาก มีความคิดอ่านมาก นำมาใช้ประกอบการเรียน การวิเคราะห์ และทำความเข้าใจเรื่องราวต่างๆ ที่เรียนได้ดีกว่าคนที่มีประสบการณ์น้อย

เรียนยากไหม จบยากไหม

            โลกนี้ไม่มีอะไรได้มาฟรีๆ ไม่มีอะไรง่าย แต่ก็ไม่มีอะไรยากเกินความสามารถและความตั้งใจของผู้เรียน คนอายุ 70 กว่ายังเรียนได้ บางคนรับจ้างซักผ้า รีดผ้า บางคนขายของในตลาด บางคนเป็นสมาชิกกลุ่มแม่บ้าน หลายคนเป็นผู้นำชุมชน เป็นกำนันผู้ใหญ่บ้าน อบต. เป็นตำรวจ ทหาร ข้าราชการ นักธุรกิจ อาชีพหลากหลาย  ทุกคนเรียนได้ สำคัญที่ใจ “ถ้าใจมา ปัญญาเกิด”

          “มหาวิทยาลัยชีวิต” เชื่อว่า ความรู้ดีที่สุดมาจากการปฏิบัติ การเรียนใน “มหาวิทยาลัยชีวิต” จึงเน้นการปฏิบัติ ไม่ได้เน้นการท่องจำ ฉะนั้น การไปร่วมกับกลุ่มเพื่อเรียนด้วยกัน ทำงานด้วยกันจึงสำคัญมาก และได้คะแนนเก็บสะสมไปด้วย คะแนนปฏิบัติเหล่านี้มีมากกว่าครึ่งของคะแนนทั้งหมด การสอบปลายภาคมีเพียงร้อยละ 20-40 เท่านั้น ฉะนั้น ถ้าขยันทำงานที่กำหนดในแต่ละวิชา ทำ “การบ้าน” สม่ำเสมอ ก็น่าจะเรียนจบได้ไม่ยาก

เรียนวันนี้มีประโยชน์อะไร

เราอยู่ในยุคสังคมความรู้ ไม่ใช่สังคมเกษตร สังคมอุตสาหกรรมแล้ว ในสังคมความรู้วันนี้ คนไม่มีความรู้จะอยู่ไม่ได้ อยู่ได้ก็ด้วยความยากลำบาก ถูกเขาเอาเปรียบ ถูกเขาโกง ถูกเขาหลอก ถูกเขาครอบงำ เป็นผู้นำที่ดีไม่ได้ มีที่ดิน มีเงิน มีอำนาจเท่านั้นไม่พอ ต้องมีความรู้ ต้องมีปัญญาจึงจะอยู่รอดในโลกที่มีความซับซ้อนและไร้พรมแดนนี้

คนไม่มีความรู้จะใช้ความรู้สึก ความเห็น ความอยาก ความไม่รู้ ในการดำเนินชีวิตและการทำงาน ซึ่งจะไม่ประสบความสำเร็จ เพราะมักจะเลียนแบบคนอื่น เห็นเขาทำแล้วรวยก็ทำตาม ชอบเลียนแบบไม่ชอบเรียนรู้ ชีวิตไม่มีแบบมีแผน ไม่มีข้อมูล คิดอะไรทำอะไรนึกว่าง่ายไปหมด คิดว่าทำแล้วจะรวย แต่ไม่เคยรวยสักที เพราะ “รอด” ยังไม่รอดเลย  ล้มเหลว เป็นหนี้เป็นสิน

คนไม่มีความรู้ แม้มีทรัพย์สินมาก วันหนึ่งก็จะหมด มีเงินมากก็จะไม่เหลือ เหลือแต่หนี้สิน คนมีความรู้ ปู่ย่าตายายท่านบอกว่า “มีวิชาเหมือนมีทรัพย์อยู่นับแสน” มีสินทรัพย์น้อยก็จะมีมาก มีเงินน้อยก็จะมีเงินมาก

ผู้นำไม่มีความรู้มักจะนั่งเทียนเขียนแผนเขียนโครงการ หรือลอกแผนลอกโครงการคนอื่น ซึ่งเป็นอะไรที่ไม่ยั่งยืนและไม่มีประสิทธิภาพ เพราะไม่ได้มาจากข้อมูลชุมชนท้องถิ่นจริง ไม่ได้มาจากความรู้จริง ไม่ได้เกิดจากแผนที่คิดเอง ทำเอง

ผู้นำไม่มีความรู้ ขาดพลังทางปัญญา สร้างวิสัยทัศน์เองไม่ได้ มองอะไรไม่ทะลุ ไม่สามารถสร้างยุทธศาสตร์ที่ดีได้ ทำงานแบบ “ไม่รู้เขาไม่รู้เรา รบร้อยครั้งก็แพ้ร้อยครั้ง”

ทำไมจึงเรียกว่า “มหาวิทยาลัยชีวิต”

          เรียกชื่อนี้เพราะหลักสูตรนี้เกิดจาก “รวมมิตร” ประสบการณ์ดีที่สุดของชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาของตนเองได้ แก้ปัญหาหนี้สิน มีอยู่มีกินอย่างพอเพียง มีการพัฒนาอย่างเป็นระบบและยั่งยืน นำประสบการณ์ดังกล่าวมาจัดเป็นระบบ เป็นวิชาการ นำเข้าสู่ระบบการศึกษา เพื่อให้คนได้เรียนรู้อย่างกว้างขวาง และร่วมกันพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง

โครงการมหาวิทยาลัยชีวิตจัดการศึกษาให้สัมพันธ์กับชีวิตจริง ไม่แยกออกจากชีวิต เรียนรู้จากชีวิต จากการปฏิบัติ จากประสบการณ์ของตนเองและของคนอื่น เรียนในหมู่บ้าน ในชุมชน

เรียนแล้วมีชีวิตดีขึ้น ได้ปริญญา พึ่งพาตนเองได้ มีงานทำ มีรายได้ ช่วยตัวเองได้ ช่วยคนอื่นได้  มีความเชื่อมั่นในตัวเอง เรียนแล้วมีศักดิ์ศรี มีวิชาทำมาหากิน ไม่กลัวใครดูถูกดูหมิ่น อยู่ในท้องถิ่นได้โดยไม่ต้องอายใคร อยากออกไปสมัครงาน ไปหางานทำที่อื่น ก็ไปได้

 
ทำไมจึงเรียกว่า “สาขาวิชาสหวิทยาการ”

          เรียกเช่นนี้เพราะชีวิตจริงมีหลายด้าน หลายมุม หลายมิติ ผสานกันเป็นชีวิตที่แบ่งแยกมิได้ การเรียนจึงควรรู้หลายๆ ด้าน รอบด้านได้ยิ่งดี ที่เราเรียกกันว่า การเรียนแบบบูรณาการ

          เรียนแบบบูรณาการจึงหมายถึงการเรียนรู้แบบรอบด้าน เรียนรู้อย่างสมบูรณ์แบบ ไม่ใช่เรียนเป็นเรื่องๆ เป็นด้านๆ แบบแยกส่วน รวมกันไม่ติด แบบรู้บ้างไม่รู้บ้าง เรียนแบบบูรณาการจึง เหมือนการทำอาหารที่เรานำปลา ผัก สมุนไพร เครื่องเทศ และอื่นๆ มาทำต้มยำ ทำอาหารต่างๆ

          นอกจากวิชาพื้นฐานหรือวิชาทั่วไปแล้วก็เรียนวิชาเอกที่เกี่ยวกับชีวิตในชุมชน เช่น การจัดการความรู้ การวางแผนชีวิต การพัฒนายั่งยืน  เกษตรยั่งยืน สุขภาพชุมชน กองทุนและสวัสดิการ วิสาหกิจชุมชน แผนแม่บทชุมชน เครือข่ายชุมชน ภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นต้น

เอามหาวิทยาลัยลงไปหมู่บ้าน ทำได้จริงหรือ

          ความจริง โครงการนี้มิได้เอามหาวิทยาลัยลงไปหมู่บ้าน แต่ไปค้นพบว่า ในหมู่บ้านมี “มหาวิทยาลัย” อยู่แล้ว มีคนเก่ง มีความรู้ มีประสบการณ์ เพียงแต่ไปช่วยเสริมและเติมเต็มให้การเรียนรู้ของชุมชนเท่านั้น นำความรู้ที่ชุมชนขาดไปให้ เช่น ความรู้วิชาการสมัยใหม่ต่างๆ ที่มีความจำเป็นเพื่อเข้าใจโลกและสังคมวันนี้

รวมทั้งไปช่วยให้เกิดการจัดการความรู้และประสบการณ์ที่ชุมชนมีอยู่แล้วให้มีการแลกเปลี่ยน ถ่ายทอดสืบทอดและแพร่กระจายออกไปอย่างเป็นระบบมากขึ้นเท่านั้น

ใครเป็นเจ้าของ “มหาวิทยาลัยชีวิต”

          ชุมชนในท้องถิ่นเป็นเจ้าภาพ-เจ้าของมหาวิทยาลัยชีวิต ศูนย์เรียนรู้มหาวิทยาลัยชีวิตจึงไม่ใช่สาขาของมหาวิทยาลัยที่ไปเปิดในหมู่บ้าน แต่เป็นชุมชนท้องถิ่นที่ร่วมกันเปิด ร่วมกันจัดการ โดยมีหน่วยงานจากภายนอกไปให้การสนับสนุนด้านวิชาการ

          การจัดการเรียนรู้แบบนี้อาจเป็นเป็นเรื่องแปลก เพราะเราคุ้นเคยกับการไปเรียนในสถาบันการศึกษา ในมหาวิทยาลัย ซึ่งตั้งอยู่ในเมือง ความจริง หลายมหาวิทยาลัยก็จัดการเรียนการสอนในลักษณะนี้มานานแล้ว ทั้งเรียนเองที่บ้าน ที่ อบต. เทศบาล และอบจ.

พระราชบัญญัติปฏิรูปการศึกษา พ.ศ.2542 มาตรา 29 บอกว่า “ให้สถานศึกษาร่วมกับบุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กรชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เอกชน องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการ และสถาบันสังคมอื่น ส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนโดยจัดกระบวนการเรียนรู้ภายในชุมชน เพื่อให้ชุมชนมีการจัดการศึกษาอบรม มีการแสวงหาความรู้ ข้อมูล ข่าวสาร และรู้จักเลือกสรรภูมิปัญญาและวิทยาการต่างๆ เพื่อพัฒนาชุมชนให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการ รวมทั้งหาวิธีการสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การพัฒนาระหว่างชุมชน”

มาตรา 41 บอกว่า “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีสิทธิจัดการศึกษาในระดับใดระดับหนึ่งหรือทุกระดับตามความพร้อม ความเหมาะสม และความต้องการภายในท้องถิ่น”       

ใครรับผิดชอบโครงการนี้

            โครงการนี้เป็นโครงการร่วมระหว่างมหาวิทยาลัยราชภัฏกับมูลนิธิสถาบันส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน (มสวช.) ซึ่งเป็นผู้ค้นคิดและพัฒนาโครงการนี้

มสวช. เป็นองค์กรที่ก่อตั้งขึ้นโดย 4 ภาคี คือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.), บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), และมูลนิธิหมู่บ้าน

มสวช.ร่วมกับมหาวิทยาลัยนำเสนอหลักสูตรนี้ให้สภามหาวิทยาลัยราชภัฏอนุมัติ และเรียกชื่อว่า “สาขาวิชาสหวิทยาการเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น”

          มสวช.กับมหาวิทยาลัยจึงร่วมกันจัดหลักสูตรนี้ในลักษณะ “ภาคี” (partnership) ทั้งสองฝ่ายนำความรู้ความสามารถ ประสบการณ์และบุคลากรของตนเองมาร่วมกันทำงาน เพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชน

เนื้อหาหลักสูตรมีอะไรบ้าง

            เนื้อหาหลักสูตรอาจแบ่งได้เป็นสองส่วน ส่วนที่หนึ่งเป็นวิชาพื้นฐานหรือวิชาทั่วไป 30 หน่วยกิต (10 วิชา)

          ส่วนที่สอง เป็นวิชาเฉพาะของหลักสูตร 84 หน่วยกิต (28 วิชา) เป็นวิชาการเรียนทั้งภาคทฤษฎี ภาคปฏิบัติ และการไปศึกษาดูงาน เรียนรู้จากอาจารย์ นักวิชาการ ผู้รู้ ชุมชนต่างๆ เช่น การพัฒนายั่งยืน การจัดการความรู้และการวางแผนชีวิต การเกษตรยั่งยืน สุขภาพชุมชน กองทุนและสวัสดิการชุมชน วิสาหกิจชุมชน การทำแผนแม่บทชุมชน การสร้างเครือข่ายชุมชน การเป็นวิทยากรกระบวนการ เป็นต้น

          และมีวิชาเลือกเสรีอีก 6 หน่วยกิต (2 วิชา) รวมทั้งหมด 120 หน่วยกิต (40 วิชา)

ค่าเล่าเรียนเท่าไร  กู้ยืมเงินรัฐเรียนได้หรือไม่


ค่าเล่าเรียนเทอมละประมาณ 12,000 บาท ผู้ที่ต้องการเรียนแต่ขาดแคลนทุนสามารถขอกู้ยืมจากโครงการเงินกู้เพื่อการศึกษาของรัฐ หรือจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือธนาคารออมสิน

จะเปิด “มหาวิทยาลัยชีวิต” ในชุมชนได้อย่างไร

            มีเงื่อนไข 4 ประการ คือ

1) มี “เจ้าภาพ”          เจ้าภาพในที่นี้คือคณะกรรมการร่วม ซึ่งมาจากสามฝ่าย คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ครู-อาจารย์-ข้าราชการในท้องถิ่น และผู้นำชุมชน ทั้งนี้โดยการสนับสนุนและการเป็นเจ้าภาพร่วมขององค์กร หน่วยงานในท้องถิ่น เช่น อบจ. อบต. เทศบาล

2) มี “ศูนย์เรียนรู้ของชุมชน” (อาจเป็นโรงเรียน วัด ห้องประชุมอบต. เทศบาล อบจ. หรือหน่วยงานในท้องถิ่น) เป็นที่เรียนพร้อมกับอุปกรณ์การเรียนการสอน (โต๊ะเก้าอี้แบบนั่งฟังบรรยาย เครื่องขยายเสียง ทีวี เครื่องเล่นซีดี เครื่องอัดซีดี เครื่องฉายแอลซีดีโปรเจ็กเตอร์ จอรับภาพ คอมพิวเตอร์พร้อมอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านโทรศัพท์หรือจานรับ-ส่งสัญญาณจากดาวเทียม) โดยการสนับสนุนขององค์กรในท้องถิ่น 

          ศูนย์นี้ต้องมี “เจ้าของ” ทางนิตินัยอาจเป็นองค์กร หน่วยงาน หรือคณะกรรมการท้องถิ่นที่จัดตั้งขึ้น ทางพฤตินัยเป็นศูนย์ของชุมชนท้องถิ่น ไม่ใช่ศูนย์ของมหาวิทยาลัยราชภัฏ ท้องถิ่นจึงต้องดูแล รับผิดชอบ บริหารจัดการเอง  มหาวิทยาลัยราชภัฏและมูลนิธิสถาบันส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนช่วยจัดการด้านการเรียนการสอน ด้านวิชาการ

          3) มีนักศึกษาอย่างน้อย 50 คน ถ้าเกิน 100 คน ควรแยกเป็นสองห้อง สองกลุ่ม

          4) มีการบริหารจัดการโดยมีผู้อำนวยการเรียนรู้ ทำหน้าที่คล้าย “อาจารย์ใหญ่” มีอาจารย์ผู้ช่วยสอนในท้องถิ่นประจำแต่ละวิชา ซึ่งเรียกกันว่า “อาจารย์มหาวิทยาลัยชีวิต” ซึ่งได้รับการรับรองและแต่งตั้งโดยมหาวิทยาลัย และมีคนทำงานด้านธุรการ

งบประมาณการบริหารศูนย์ฯ มาจากไหน

            มีงบประมาณอยู่ 3 ส่วน คือ

          1) อุปกรณ์การเรียนการสอน  โต๊ะ เก้าอี้ เครื่องขยายเสียง เครื่องเล่นซีดีและบันทึกซีดี ทีวี (จอทีวีหลายเครื่องติดตั้งในศูนย์) เครื่องฉาย (โปรเจ็กเตอร์)
              และจอใหญ่   คอมพิวเตอร์ และจานดาวเทียมรับสัญญาณอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และห้องสมุดเล็กๆ ซึ่งมีหนังสืออ่านประกอบ หรือเกี่ยวข้องกับการเรียน
              รวมทั้งซีดีและสื่อต่างๆ

           2) งบประมาณเพื่อการไปศึกษาดูงานต่างจังหวัด ต่างภาค ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการเรียนในหลักสูตรนี้ และต้องใช้งบประมาณสูง

           3) ค่าตอบแทนผู้อำนวยการเรียนรู้ และคนทำงานธุรการ ค่าใช้จ่ายในสำนักงาน เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าติดต่อประสานงานต่างๆ อุปกรณ์สำนักงาน

            ข้อ 1-2  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อบต. เทศบาล อบจ.) และหน่วยงานต่างๆ ในจังหวัด อำเภอ ตำบล ควรให้การสนับสนุน

            ข้อ 3 เป็นงบประมาณซึ่งมหาวิทยาลัยเป็นผู้จัดสรรให้ตามสัดส่วนของจำนวนนักศึกษาในแต่ละศูนย์ โดยให้คณะกรรมการของศูนย์เป็นผู้รับผิดชอบไปดำเนินการ
                   และ กำหนดเอง เช่น ค่าตอบแทนผู้อำนวยการเรียนรู้ เจ้าหน้าที่ธุรกิจ เป็นต้น  ส่วนค่าตอบแทนการสอนของผู้อำนวยการเรียนรู้และอาจารย์มหาวิทยาลัยชีวิต   
                   นั้น ทางมหาวิทยาลัยเป็นผู้รับผิดชอบจ่ายให้โดยตรง รวมทั้งค่าตอบแทนอาจารย์ประจำวิชาต่างๆ ซึ่งเดินทางจากมหาวิทยาลัยไปสอนที่ศูนย์จังหวัด อำเภอ
                   หรือตำบล

สอบถามรายละเอียดได้ที่

          มูลนิธิสถาบันส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน

          ชั้น 3 สำนักงานใหญ่ ธ.ก.ส.

          469 ถนนนครสวรรค์  เขตดุสิต  กรุงเทพฯ 10300

          โทร. 02-280-0180  ต่อ 3316-3319  โทรสาร 02-281-8810

อีเมล info@rulife.net หรือ info@ceithai.com  เว็บไซต์  www.rulife.net





« Last Edit: 29 December 2012, 06:52:39 by Smile Siam » Logged
Pages: [1] Go Up Print 
« previous next »
 

SMF 2.0.4 | SMF © 2013, Simple Machines | Theme by nesianstyles | Buttons by Andrea
Page created in 0.043 seconds with 22 queries.