Smile Siam มาร่วมกันคืน "สยามเมืองยิ้ม" กลับสู่บ้านเรากันนะครับ ...
User Info
Welcome, Guest. Please login or register.
27 April 2024, 23:35:12

Login with username, password and session length
Search:     Advanced search
News
ท่านสมาชิกสามารถเปลี่ยนรูปแบบ (Theme) ได้อีกหลายแบบ
เชิญทดลองโดยคลิกที่ลิงค์ข้างล่าง ได้เลยครับ

http://www.smilesiam.net/index.php/topic,3170.msg4713.html
Forum Stats
25,605 Posts in 12,440 Topics by 70 Members
Latest Member: KAN
Home Help Search Calendar Login Register
Smile Siam มาร่วมกันคืน "สยามเมืองยิ้ม" กลับสู่บ้านเรากันนะครับ ...  |  วิถีสู่ชีวิตแห่งความพอเพียง  |  เกษตรทางเลือก (Moderator: MIDORI)  |  การเกษตรทางเลือก
0 Members and 1 Guest are viewing this topic. « previous next »
Pages: [1] Go Down Print
Author Topic: การเกษตรทางเลือก  (Read 972 times)
Smile Siam
Administrator
สยามราษฎร์
*****
Offline Offline

Posts: 331


View Profile
« on: 22 December 2012, 05:29:59 »

ระบบเกษตรในประเทศไทย : การเกษตรทางเลือก


จากสภาพปัญหาการเกษตรที่เกิดขึ้น ทำให้แนวคิดที่มุ่งแสวงหาทางออกให้แก่สังคมในด้านการเกษตร ได้มีทางเลือกใหม่เกิดขึ้น ซึ่งปฎิเสธแนวคิดการทำการเกษตรแผนใหม่ แม้ว่าเกษตรกรรมแบบเคมีจะยังคงเป็นกระแสหลักของระบบการเกษตรของประเทศไทย แต่แนวโน้มของการทำการเกษตรกรรมเช่นนี้กำลังเสื่อมโทรมลง โดยปัจจุบันเกษตรกรรมทางเลือกได้กลายเป็นกระแสที่ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น เนื่องมาจากความล้มเหลวของระบบเกษตรกรรมแผนใหม่ และได้ก่อให้เกิดผลกระทบมากมายหลายประการ ขณะเดียวกันเกษตรกรรมทางเลือกก็เป็นที่สนใจของหน่วยงานของรัฐ และเอกชนหลายองค์กร

 เกษตรทางเลือกเป็นการทำการเกษตรอีกแบบหนึ่ง ที่ไม่ใช่เกษตรเคมีดังที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน เป็นการทำการเกษตรที่เน้นการใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก แบะวัสดุคลุมดิน การผสมผสานการปลูกพืชและสัตว์ ลดการไถพรวนและงดเว้นหรือลดการใช้สารเคมีสังเคราะห์ และสารเคมีกำจัดศัตรูพืชให้น้อยลงจนถึงขั้นไม่ใช้เลย

 เกษตรทางเลือกมีเป้าหมายในการผลิตอาหารและปัจจัยที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตมากกว่าผลิตเพื่อการส่งออก เกษตรกรจึงไม่ต้องวิ่งไปตามกระแสของตลาด อาหารที่ผลิตได้ก็เป็นอาหารที่มีคุณภาพปลอดภัยจากสารพิษตกค้าง เกษตรทางเลือกมีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุดโดยไม่เกิดผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม และเปิดโอกาสให้สมาชิกในครอบครัวสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีความสุข และสามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างกลมกลืน ซึ่งปัจจุบันเกษตรทางเลือกมีอยู่หลายกลุ่ม ส่วนใหญ่จะมีหลักการและวิธีการที่ใกล้เคียงกัน แจจะมีแตกต่างกันบ้างตรมแนวคิด และวิธีปฏิบัติไปตามสภาพทางสังคมและวัฒนธรรม ได้แก่

1. เกษตรธรรมชาติ (Natural Farming)

 เกษตรธรรมชาติเป็นระบบเกษตรที่คำนึงถึงระบบนิเวศและสภาพแวดล้อมมีหลายแนวคิดที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย เช่น แนวคิดของมาซาโนบุ ฟูกูโอกะ แนวคิดเกษตรธรรมชาติคิวเซของโมกิจิ โอกาดะ และ แนวคิดเกษตรธรรมชาติเกาหลีของ ฮาน คิว โช ส่วนใหญ่แนวคิดของเกษตรธรรมชาติจะมีหลักการที่คล้ายคลึงกัน คือ การไม่ไถพรวนดิน ไม่ใส่ปุ๋ยเคมี ไม่กำจัดวัชพืช ใช้การคลุมดิน ใช้พลังจากสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่ในธรรมชาติ และให้ความสำคัญกับดินเป็นอันดับแรกด้วยการปรับปรุงดินให้มีพลังในการเพาะปลูก เหมือนกับดินในป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติ โดยการนำทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งเป็นวิธีการที่ไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อสภาพแวดล้อม โดยไม่เป็นอันตรายต่อเกษตรกรและผู้บริโภค สามารถให้ผลผลิตที่มีทั้งปริมาณและคุณภาพ ถือได้ว่าเป็นระบบเกษตรที่มีความยั่งยืนมั่นคง

 แนวทางของเกษตรธรรมชาติ เป็นแนวทางที่จะทำให้เดินเป็นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นดินที่มีชีวิตสามารถเพาะปลูกให้ได้ผลผลิตสูง และมีคุณภาพดีไม่ว่าจะเป็นพืชไร่ นาข้าว พืชผัก ไม้ผล ไม้ดอก ไม้ประดับ และเป็นแนวทางการผลิตที่ปลอดภัยจากสารพิษทางการเกษตรทั้งต่อผู้ผลิตและผู้บริโภค ไม่มีผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม

 เป้าหมายของเกษตรธรรมชาติ

 1. ปรับปรุงดินให้อุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติ และจัดระบบนิเวศให้เกื้อกูลกัน

 2. ผลิตอาหารที่มีรสชาติตามธรรมชาติ และไม่มีสารพิษ

 3. ผู้ผลิตและผู้บริโภคปลอดภัยจากสารพิษจากกระบวนการผลิต

 4. เกษตรธรรมชาติ เป็นระบบการเกษตาแบบยั่งยืน รักษาสมดุลธรรมชาติ

 จุดเด่นของเกษตรธรรมชาติ

 1. การฟื้นฟูความสมดุลของระบบนิเวศ

 2. การลดการพึ่งพาปัจจัยจากภายนอก

2. เกษตรอินทรีย์ (Organic Farming)

 เป็นระบบการผลิตทางการเกษตรทางเลือกที่หลีกเลี่ยงการใช้สารสังเคราะห์ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยเคมี สารเคมีกำจัดศัตรูพืชและฮอร์โมนต่างๆ ที่กระตุ้นการเจริญเติบโตของพืชและสัตว์ ตลอดจนไม่ใช้พืชหรือสัตว์ที่เกิดจากการตัดต่อทางพันธุกรรมที่อาจเกิดแลพิษในสภาพแวดล้อม เน้นการใช้อินทรียวัตถุเช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสด และปุ๋ยชีวภาพในการปรับปรุงบำรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ การปลูกพืชหมุนเวียน รวมทั้งใช้หลักการควบคุมศัตรูพืชโดยชีวภาพ และเน้นการรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดิน

 สหพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ (International Federation of Organic Agriculture Movements) หรือ IFOM ได้ให้ความหมายของเกษตรอินทรีย์ไว้ว่า “เป็นระบบเกษตรที่ผลิตอาหารและเส้นใยด้วยความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ โดยเน้นที่หลักการปรับปรุงบำรุงดิน การเคารพต่อศักยภาพทางธรรมชาติของพืช สัตว์ และนิเวศการเกษตร เกษตรอินทรีย์จึงลดการใช้ปัจจัยจากภายนอก และหลีกเลี่ยงการใช้สารสังเคราะห์ เช่น ปุ๋ย สารกำจัดศัตรูพืช และเวชภัณฑ์สำหรับสัตว์ แต่ในขณะเดียวกันก็พยายามประยุกต์ใช้ธรรมชาติในการเพิ่มผลผลิต และพัฒนาความต้านทานต่อโรคของพืชและสัตว์เลี้ยง หลักการเกษตรอินทรีย์นี้เป็นหลักการสากลที่สอดคล้องกับเงื่อนไขทางด้านสภาพภูมิอากาศ เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมท้องถิ่นด้วย”

 หลักการทำเกษตรอินทรีย์

 1. ให้ความสำคัญกับการป้องกันการสูญเสียธาตุอาหารที่เกิดจากระบบการผลิต ลดการพึ่งพาแหล่งธาตุอาหารจากนอกฟาร์มที่มากเกินไป

 2. การคลุมดิน ถือเป็นหัวใจของเกษตรอินทรีย์ เกษตรกรต้องหาอินทรียวัตถุต่างๆ มาคลุมหน้าดินอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นฟาง ใบไม้ ซึ่งอินทรียวัตถุเหล่านี้จะกลายเป็นอาหารของสิ่งมีชีวิตและจุลินทรีย์ในดิน ทำให้ดินฟื้นกลับมามีชีวิตอีกครั้งหนึ่ง นอกจากนี้การไม่ใช้สารเคมีต่างๆ เช่น สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ยังเป็นการช่วยทำให้ดินสามารถฟื้นความสมบูรณ์ได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งทำให้พืชที่ปลูกมีความแข็งแรงต้านทานโรคและแมลง รวมทั้งให้ผลผลิตสูง

 3. สร้างความหลากหลายที่สัมพันธ์กันอย่างสมดุลในระบบนิเวศ โดยการปลูกพืชร่วมกันหลายชนิดในเวลาเดียวกัน หรือเหลื่อมเวลากน การปลูกพืชหมุนเวียน รวมทั้งการเลี้ยงสัตว์ ซึ่งนับเป็นการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และยังเป็นการลดความเสี่ยงจากปัญหาโรคและแมลงศัตรูพืชระบาดอีกด้วย นอกจากนี้การไม่ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชจะมีส่วนช่วยให้ศัตรูธรรมชาติสามารถควบคุมศัตรูพืช ซึ่งเป็นการสร้างสมดุลนิเวศการเกษตรอีกวิธีหนึ่ง

 มีหลายอง๕กรเข้ามาเกี่ยวข้องในการกำหนดแนวทาง ที่เป็นแนวทางการผลิตที่สอดคล้องกับการตลาดของแต่ละองค์กรในแต่ละประเทศ โดยในกรณีประเทศไทยมีมาตรฐานเกษตรอินทรีย์หลายมาตรฐานทั้งในระดับประเทศและในระดับนานาชาติ โดยปัจจุบัน แนวทางเกษตรอินทรีย์ได้รับการตอบรับทั่วโลกมีรูปแบบและแนวทางที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศและภูมิภาค

3. เกษตรยั่งยืน (Sustainable Agriculture)

 ระบบเกษตรกรรมยั่งยืนเป็นเกษตรทางเลือกอีกแนวทางหนึ่ง โดยเป็นแนวทางการพัฒนาอาชีพด้านการเกษตรที่สัมพันธ์กับการดำเนินชีวิตของเกษตรกรและสิ่งแวดล้อมที่สอดรับกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ระบบเกษตรกรรมยั่งยืนเกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของชุมชนหลายระดับ ตั้งแต่ระดับครัวเรือน ระดับชุมชน จนถึงระดับประเทศ ซึ่งความเคลื่อนไหวด้านเกษตรกรรมยั่งยืนของเกษตรกรและองค์กรที่ก่อตัวขี้นในสังคมไทยเริ่มตั้งแต่ปลายปีพ.ศ. 2520 เป็นต้นมา เกษตรกรรมยั่งยืนจะมีแนวคิดและวิธีการปฏิบัติสวนทางกับการเกษตรแผนใหม่ ที่ใช้ปัจจัยการผลิตจากภายนอกจำนวนมากและก่อให้เกิดสภาพเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมในเวลาต่อมา แต่เกษตรกรรมยั่งยืนจะมีรูปแบบการทำการเกษตรที่สอดคล้องกับระบบนิเวศ มีความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจ เป็นธรรมทางสังคม และมีมนุษยธรรม และระบบเกษตรกรรมยั่งยืนจะเป็นระบบการเกษตรที่รักษาอัตราการผลิตพืชและสัตว์ให้อยู่ในระดับที่ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายในระยะยาวติดต่อกันภายใต้สภาพแวดล้อมที่เลวร้ายหรือไม่เหมาะสม นอกจากนี้ในการทำเกษตรกรรมยั่งยืน เกษตรกรจะปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคให้สอดคล้องกับการทำเกษตรกรรมยั่งยืน ดังนั้นการทำเกษตรกรรมยั่งยืนจึงไม่ได้หมายความเพียงการปรับเปลี่ยนเทคนิควิธีการทำการเกษตร หากยังหมายรวมถึงการสอนให้มีการปรับเปลี่ยนคุณค่าและกฎเกณฑ์การใช้ชีวิตไปในเวลาเดียวกัน

 ในระบบเกษตรยั่งยืนเป็นการทำการเกษตรแบบผสมผสานที่มีทั้งการปลูกพืช และการเลี้ยงสัตว์หลายชนิดที่ผสมกันและมีความเกื้อกูลซึ่งกันและกันอย่างลงตัว ในการปลูกพืชจะมีการใช้พื้นที่ปลูกให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยการปลูกพืชต่างระดับกันเพื่อให้พืชแต่ละระดับได้ใช้แสงโดยทั่วกัน และเกื้อกูลกันระหว่างพืชแต่ละชนิด และในการเลือกพืชแต่ละชนิดหรือรูปแบบการปลูกพืชจะพิจารณาจากสภาพพื้นที่แต่ละแห่งด้วย สำหรับการเลี้ยงสัตว์ก็จะใช้หลักการจัดการที่เกื้อกูลกันระหว่างสัตว์เลี้ยงด้วยกันเอง หรือระหว่างสัตว์เลี้ยงกับพืชที่ปลูก เช่น การเลี้ยงปลาในนาข้าว ปลายจะกินสาหร่ายในนาข้าว และถ่ายมูลออกมาเป็นปุ๋ยให้แก่นาข้าว การเลี้ยงไก่บนบ่อปลา ไก่จะถ่ายมูลลงในบ่อปลาและมูลนั้นก็จะเป็นอาหารให้กับปลาในบ่อต่อไป

 เนื่องจากระบบเกษตรยั่งยืนเป็นระบบเกษตรที่มีความหมายค่อนข้างใกล้เคียงกับระบบเกษตรผสมผสานแต่จะเน้นปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อความยั่งยืน ดังนั้นระบบการเกษตรแบบใดก็ตามที่มีรูปแบบที่ทำให้เกิดความมั่นคงต่อเกษตรกร และมีผลในระยะยาวจึงจะถูกรวมเข้ามาอยู่ในระบบเกษตรยั่งยืน อาทิเช่น เกษตรธรรมชาติ วนเกษตร และเกษตรผสมผสาน สำหรับแนวเกษตรยั่งยืนที่มีชื่อเสียงทั่วโลก จากประเทศออสเตรเลีย คือ เกษตรกรรมถาวร (Permaculture)



4. เกษตรผสมผสาน (Integrated Farming)

 เกษตรผสมผสานจัดเป็นเกษตรทางเลือกที่เป็นรูปแบบการทำเกษตรที่มีกิจกรรมตั้งแต่สองชนิดขึ้นไป ในช่วงเวลาและพื้นที่เดียวกัน เช่น การปลูกพืชและมีการเลี้ยงสัตว์หลายชนิดในพื้นที่เดียวกัน มีการเกื้อกูลกันอย่างต่อเนื่องระหว่างกิจกรรม เช่น ระหว่างพืชกับพืช พืชกับปลา สัตว์กับปลา พืชกับสัตว์ สัตว์กับสัตว์ ลักษณะการเกื้อกูลกันของระบบเกษตรผสมผสาน จึงทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง และลดการพึ่งพาปัจจัยภายนอกในที่สุด ซึ่งเป็นวิธีการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ที่ดินเป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่อย่างเหมาะสมเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

 ในด้านเทคนิคและการจัดการพื้นที่เกษตรนั้น เกษตรผสมผสานให้ความสำคัญในเรื่องของการสร้างความหลากหลายของพืช สัตว์ และทรัพยากรชีวภาพ การใช้ประโยชน์เกื้อกูลกันระหว่างกิจกรรม การใช้วัสดุหรือพืชคลุมดิน การปลูกพืชหลายระดับ มีแหล่งน้ำในพื้นที่ ซึ่งจะไม่เน้นหนักในข้อปฏิบัติ เช่น มีการไถพรวน หรือใช้ปุ๋ยเคมีร่วมกันก็ได้

 เกษตรผสมผสานเริ่มเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในประเทศไทยเมื่อประมาณปี 2527-2528 ซึ่งเกิดจากการที่เกษตรกรชาวนาของไทยประสบปัญหาราคาข้าวตกต่ำอย่างรุนแรง ส่งผลให้ชาวนาที่ต้องพึ่งพารายได้จากการปลูกข้าวเพียงอย่างเดียวเกิดความเดือดร้อนอย่างหนัก ทำให้ต้องหันไปปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นๆ ก็ใช่ว่าจะสามารถแก้ปัญหาได้อย่างถาวร เพราะราคาผลผลิตขึ้นอยู่กับการส่งออกและราคาตลาดโลก เกษตรกรที่เลิกทำนาแล้วหันไปปลูกพืชชนิดอื่น เช่น ข้าวโพด มันสำปะหลัง อ้อย ฯลฯ ในที่สุดก็ประสบปัญหาเช่นเดิม ดังนั้นจึงได้เกิดกระแสแนวคิดที่จะเปลี่ยนแปลงการทำเกษตรแบบเดียวมาเป็นการทำการเกษตรแบบผสมผสาน เพื่อป้องกันปัญหาความเสียงจากราคาผลผลิตตกต่ำได้

 “การทำเกษตรผสมผสาน” มีความแตกต่างจากการทำเกษตรหลายๆ อย่างที่เรียกว่า “ไร่นาสวนผสม” (Mixed Farming) ตรงที่เกษตรผสมผสานมีการจัดการกิจกรรมการผลิตผสมผสานเกื้อกูลกันเพื่อลดต้นทุนการผลิต และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างสูงสุด มิใช่มีกิจกรรมการผลิตหลายๆ อย่างเพื่อลดความเสี่ยงจากราคาผลผลิตที่ไม่แน่นอนเป็นหลักอย่างการทำไร่นาสวนผสม แต่บางครั้งการทำไร่นาสวนผสมอาจมีกลไกการเกื้อกูลกันจากกิจกรรมการผลิตได้บ้าง แต่ก็เป็นเพียงเล็กน้อย มิใช่เกิดจากความรู้ความเข้าใจและการจัดการของเกษตรกร อย่างไรก็ตาม การทำไร่นาสวนผสมอาจเป็นบันไดขั้นต้นของการทำเกษตรผสมผสานได้อีกทางหนึ่ง

5. เกษตรทฤษฎีใหม่ (New Theory Agriculture)

 เกษตรทฤษฎีใหม่มีแนวคิดและทฤษฎีในการพัฒนา อันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเกิดจากพระอัจฉริยภาพและพระปรีชาสามารถในการที่ได้ทรงคิด ดัดแปลงปรับปรุง และแก้ไขให้การพัฒนาโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นงานที่ดำเนินการไปได้โดยง่ายไม่ยุ่งยากซับซ้อนและสอดคล้องกับสภาพความเป็นอยู่และระบบนิเวศโดยส่วนรวมของธรรมชาติ ซึ่งเป็นแนวทางที่ได้ทรงคิด และคำนวณตามหลักวิชา ถึงวิธีการบริหารทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตลอดจนสภาพทางสังคมของชุมชนนั้นๆ โครงการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริมีอยู่มากมายหลายประเภท แตกต่างกันไปตามลักษณะและวัตถุประสงค์ของโครงการนั้นๆ ซึ่งส่วนมากเป็นการแก้ไขปัญหาและพัฒนาด้านการทำมาหากินของประชาชนเป็นสำคัญ หลักสำคัญของทุกเรื่องก็คือ ความเรียบง่าย ทั้งนี้ทรงใช้คำว่า “Simplify” หรือ “Simplicity” ทั้งในแนวคิดและด้านเทคนิควิชาการจะต้องสมเหตุสมผล ทำให้รวดเร็วและสามารถแก้ไขปัญหาให้ก่อประโยชน์ได้จริง ตลอดจนต้องมุ่งไปสู่วิถีแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งมีหลักการดังนี้

 1) เป็นรูปแบบการทำเกษตรเหมาะสำหรับพื้นที่ขนาดเล็กประมาณ 10-20 ไร่

 2) ให้เกษตรกรสามารถทำการเกษตรเพื่อเลี้ยงตนเองได้แบบค่อยเป็นค่อยไป ตามกำลัง

 3) ทำกิจกรรมการเกษตรหลายอย่าง เพื่อให้มีการใช้ทรัพยากรอย่างเต็มที่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน และสร้างสมดุลให้แก่ระบบนิเวศ

 4) แบ่งพื้นที่การเกษตรออกเป็นส่วนๆ ได้แก่

  4.1 ให้มีแหล่งน้ำในไร่นา เพื่อใช้ในการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ ประมง 30% ของพื้นที่

  4.2 ให้มีพื้นที่ทำนาปลูกข้าวในฤดูฝนไว้บริโภค ให้พอเพียงตลอดปี 30% ของพื้นที่

  4.3 ให้มีพื้นที่เพื่อการเพราะปลูกพืชไร่ พืชผัก ไม้ผล พืชสมุนไพร 30% ของพื้นที่

  4.4 ให้มีพื้นที่อยู่อาศัย เลี้ยงสัตว์ และโรงเรือนอื่นๆ 10% ของพื้นที่

 ความสัมพันธ์ของพื้นที่ทั้ง 4 ในพื้นที่ 5 ไร่ 10 ไร่ หรือ 14 ไร่ การทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดคือ การหมุนเวียนการใช้ประโยชน์ของทรัพยากร ได้แก่ ที่ดิน แรงงาน ทุน ปัจจัยการผลิต หรือเศษเหลือใช้จากพื้นที่หนึ่งไปยังอีกพื้นที่หนึ่ง สะท้อนให้เห็นถึงวิธีของการเกษตรแบบผสมผสาน โดยมีพื้นฐานอยู่ที่เกษตรทฤษฎีใหม่ เพื่อเศรษฐกิจพอเพียงอย่างแท้จริง และเป็นการเพิ่มเติมถึงความสัมพันธ์ของพื้นที่ทั้ง 4 ส่วน ที่พระองค์ท่านได้มีสายพระเนตรอันยาวไกล เห็นถึงประโยชน์จากการหมุนเวียนของวัสดุเหลือใช้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด ตลอดจนการรักษาสภาพแวดล้อมให้ดีขึ้น

6. วนเกษตร (Agro Forestry)

 วนเกษตร คือ เกษตรทางเลือกรูปแบบหนึ่งโดยเป็นการทำเกษตรที่มีการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างผสมผสานระหว่างกิจกรรมการเกษตร การป่าไม้ รวมถึงการเลี้ยงสัตว์ ในพื้นที่เดียวกันหรือสลับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป โดยเป็นกิจกรรมทีความสอดคล้อง และเกื้อกูลกับระบบนิเวศน์ ป่าไม้ในท้องถิ่น เพื่อให้ได้ผลผลิตอย่างสม่ำเสมอตลอดไป คำนึงถึงหลักความสมดุลตามธรรมชาติของระบบนิเวศเป็นสำคัญ เพื่อตอบสนองความต้องการ ในขณะที่ยังคงรักษาวิถีชีวิตของสังคมชาวชนบทที่เกี่ยวข้องในพื้นที่นั้นๆ ให้มากที่สุด

 วนเกษตร มาจากคำว่า วน ที่หมายถึง ป่าที่มีความหลากหลายของทรัพยากรที่มีชีวิต และไม่มีชีวิต และคำว่า เกษตร หมายถึง การใช้ที่ดินในการผลิตพืช หรือสัตว์ เช่นการเพาะปลูกพืช การทำป่าไม้ ประมล ปศุสัตว์ ต่างๆ ดังนั้น วนเกษตร จึงหมายถึง การใช้ที่ดินในการผลิตพืช และสัตว์ให้มากชนิด หรือมีความซับซ้อนและหลากหลายทางชีวภาพใกล้เคียงธรรมชาติมากที่สุด หรือกล่าวได้อีกนัยหนึ่งว่า การทำเกษตรร่วมกันกับการอนุรักษ์ป่าไม้ โดยมีรากฐานหรือปัจจัยการผลิตที่มาจากท้องถิ่นเอง ทั้งนี้การทำวนเกษตรจะมีลักษณะแตกต่างหรือผันแปรไปตามสภาพท้นที่ รวมถึงทัศนคติ ความเชื้อ วัฒนธรรม ประเพณี และความรู้ ความสามารถในการจัดการของแต่ละท้องถิ่นเอง

 ระบบวนเกษตรสามารถแยกออกเป็น 4 รูปแบบองค์ประกอบของกิจกรรมหลักได้แก่

 1. ระบบป่าไม้ร่วมกับการปลูกพืชเกษตร เป็นการปลูกพืชเกษตรแทรกในพื้นที่สวนป่า ซึ่งสามารถทำได้หลายรูปแบบ เช่น ปลูกต้นไม้แนวขอบรอบนอกของแปลงปลูกพืชเกษตร ลูกต้นไม้สลับแถวเว้นแถว ปลูกสลับเป็นแถบๆ หรือปลูกผสมกันอย่างไม่เป็นระเบียบระหว่างไม้ป่ากับพืชเกษตร

 2. ระบบป่าไม้ร่วมกับการทำปศุสัตว์ เป็นการใช้ประโยชน์ที่ดินร่วมกันระหว่างพื้นที่ ป่าไม้ และการเลี้ยงสัตว์ โดยปลูกหญ้าหรือพืชอาหารสัตว์ในวนป่า แล้วปล่อยสัตว์เข้าไปเลี้ยงในสวนป่าโดยตรง

 3. ระบบเกษตรป่าไม้และปศุสัตว์ เป็นการใช้ประโยชน์ที่ดินร่วมกันระหว่างกิจกรรมหลักทั้งสาม คือการป่าไม้ การเกษตร และการปศุสัตว์ ควบคู่ไปพร้อมๆ กัน เป็นการรวมสองระบบข้างต้นเข้าด้วยกัน

 4. ระบบป่าไม้ร่วมกับการทำประมง เป็นการใช้ประโยชน์ที่ดินร่วมกันระหว่างพื้นที่ ป่าไม้ และการประมง เช่น การทำฟาร์มกุ้ง และทำฟาร์มหอยตามป่าชายเลน หรือการเลี้ยงปลาน้ำจืดตามร่องน้ำระหว่างแถวหรือคันคูของต้นไม้


ตารางเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างผลิตภัณฑ์จากการเกษตรปลอดภัยประเภทต่างๆ




ที่มา : เกษตรธรรมชาติประยุกต์ โดย รศ.ดร.อานัฐ ตันโช

  ศูนย์ข้อมูลเกษตรธรรมแม่โจ้ ภาควิชาทรัพยากรดินและสิ่งแวดล้อม คณะผลิตกรรมเกษตร มหาวิทยาแม่โจ้

  www.maejonaturalfarming.org

ดาว์นโหลด ไฟล์ PDF ได้ที่ :

http://www.uploadtoday.com/download.php/?a04ccd3f490dd036c62e988728d73be6


« Last Edit: 22 December 2012, 05:33:03 by Smile Siam » Logged
Pages: [1] Go Up Print 
« previous next »
 

SMF 2.0.4 | SMF © 2013, Simple Machines | Theme by nesianstyles | Buttons by Andrea
Page created in 0.107 seconds with 20 queries.