Smile Siam มาร่วมกันคืน "สยามเมืองยิ้ม" กลับสู่บ้านเรากันนะครับ ...
User Info
Welcome, Guest. Please login or register.
28 April 2024, 09:30:41

Login with username, password and session length
Search:     Advanced search
News
ท่านสมาชิกสามารถเปลี่ยนรูปแบบ (Theme) ได้อีกหลายแบบ
เชิญทดลองโดยคลิกที่ลิงค์ข้างล่าง ได้เลยครับ

http://www.smilesiam.net/index.php/topic,3170.msg4713.html
Forum Stats
25,605 Posts in 12,440 Topics by 70 Members
Latest Member: KAN
Home Help Search Calendar Login Register
Smile Siam มาร่วมกันคืน "สยามเมืองยิ้ม" กลับสู่บ้านเรากันนะครับ ...  |  บุคคลต้นแบบ  |  ปราชญ์ชาวบ้าน  |  พ่อมหาอยู่ สุนทรชัย  |  ปราชญ์ชาวบ้าน - พ่อมหาอยู่ สุนทรธัย
0 Members and 1 Guest are viewing this topic. « previous next »
Pages: [1] Go Down Print
Author Topic: ปราชญ์ชาวบ้าน - พ่อมหาอยู่ สุนทรธัย  (Read 2587 times)
Smile Siam
Administrator
สยามราษฎร์
*****
Offline Offline

Posts: 331


View Profile
« on: 22 December 2012, 04:45:44 »

ปราชญ์ชาวบ้าน - พ่อมหาอยู่ สุนทรธัย


ปราชญ์ชาวบ้านอาวุโสของภาคอีสานที่มีความสุข ด้วยปรัชญา พึ่งตนเองและพึ่งพากันเอง : ทางรอดคนอีสานชีวิตลูกอีสาน
ท่ามกลางผืนนาที่แตกระแหงของบ้านตะแบก ต.สลักได อ.เมือง จ.สุรินทร์ เมื่อ ๘๐ กว่าปีก่อน ครอบครัวของนายคำชู และนางเม็ง สุนทรธัย ได้ให้กำเนิดบุตรคนที่ ๓ นามว่า "อยู่" ในปี พ.ศ. ๒๔๖๓

หลังจบชั้น ป.๔ จากโรงเรียนสุรวิทยาคม เขาได้มาช่วยพ่อแม่ทำนาอยู่ช่วงหนึ่ง แล้วจึงได้บวชเรียนที่วัดจุมพลสุทธาวาส จ.สุรินทร์ ต่อมาจึงย้ายไปอยู่ที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ กรุงเทพมหานคร จนสอบได้นักธรรมชั้นเอก และเปรียญธรรม ๓ ประโยคในปี พ.ศ.๒๔๘๖

ช่วงที่บวชเรียนอยู่ที่กรุงเทพฯ นั้นนับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตของมหาอยู่ เนื่องจากในระหว่างที่ออกบิณฑบาตและรับนิมนต์ในละแวกนั้น ท่านได้พบเห็นชาวสวนแถวๆ ฝั่งธนบุรีและนนทบุรี ปลูกพืชแบบยกร่อง มีต้นไม้ใหญ่ขึ้นร่มรื่นเต็มไปหมด ใบไม้ที่ร่วงผุและเน่าเปื่อยเป็นปุ๋ยธรรมชาติ ขี้โคลนที่ลอกขึ้นมาจากท้องร่อง เมื่อนำมากลบโคนต้นไม้ก็กลายเป็นปุ๋ยอย่างดี นับเป็นการออมความอุดมสมบูรณ์ของดิน โดยไม่จำเป็นต้องซื้อปุ๋ยเคมีมาใช้
ในเวลานั้นแนวคิดเรื่องการทำเกษตรกรรมแบบยั่งยืน หรือเกษตรอินทรีย์ยังไม่เป็นที่รู้จักเหมือนในปัจจุบัน แต่มหาอยู่ท่านก็เกิดความประทับใจในวิถีการเกษตรดั้งเดิมของชาวสวนดังกล่าว จนตั้งใจว่าจะนำกลับมาใช้ที่บ้านเกิด
เมื่อกลับมาเยี่ยมโยมพ่อโยมแม่ที่จังหวัดสุรินทร์ พบว่าท่านทั้งสองชราภาพมากแล้ว อีกทั้งยังต้องลำบากตรากตรำทำงาน ท่านจึงเกิดความสงสารและได้ตัดสินใจสึกออกมาช่วยพ่อแม่ทำนา ซึ่งสภาพดินฟ้าอากาศของภาคอีสานนั้นแห้งแล้งอย่างหนัก พ่อมหาอยู่ได้ประสบความแห้งแล้งมาโดยตลอด ต้องเดินทางไปหาบน้ำจากที่ไกลๆ เพื่อหาน้ำมาใช้ จึงทำให้เกิดแรงบันดาลใจที่จะต่อสู้กับความความแห้งแล้ง และได้ตั้งปณิธานมุ่งมั่นขุดบ่อ ทำฝายกั้นน้ำ โดยใช้กำลังของตนเอง จนกระทั่งต่อมาได้มีสระน้ำจำนวนมาก สามารถกักเก็บน้ำไว้ตลอดปี

ต่อมาในปีพ.ศ. ๒๔๙๐ ญาติผู้ใหญ่ได้ไปสู่ขอคุณแม่สุมาลี บุตรสาวสมุหบัญชี อ.เมือง จ.สุรินทร์ ในขณะนั้นมาเป็นคู่ครองแก่มหาอยู่ และอยู่กินกันมาอย่างมีความสุข มีบุตรสืบตระกูลด้วยกัน ๕ คน โดยลูกๆ ได้กลับมาอยู่ใกล้ๆ พ่อแม่หมด อีกทั้งยังมีหลานๆ คอยอยู่ใกล้ปู่ย่าตายาย นับเป็นครอบครัวใหญ่ท่ามกลางการล่มสลายของครอบครัวชาวนาอีสาน ที่คนหนุ่มคนสาวทิ้งไร้นา เดินทางเข้าไปใช้แรงงานในเมืองหลวงกันเกือบหมด

<a href="http://www.youtube.com/v/TqzqbfAsRno&amp;hl" target="_blank" class="new_win">http://www.youtube.com/v/TqzqbfAsRno&amp;hl</a>
 
<a href="http://www.youtube.com/v/2tIH0IrJR2Q&amp;hl" target="_blank" class="new_win">http://www.youtube.com/v/2tIH0IrJR2Q&amp;hl</a>

วิถีแห่งการพึ่งตนเอง

หลังรับมรดกความเป็นชาวไร่ชาวนาจากบิดามารดาได้ไม่นาน มหาอยู่ก็ริเริ่มแนวคิดการทำเกษตรกรรมแบบพึ่งตนเองอย่างจริงจังทีละขั้น เริ่มตั้งแต่การจัดการน้ำโดยขุดสระอย่างที่บอกไว้ในตอนแรก เมื่อมีน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้งแล้ว มหาอยู่ก็เริ่มลงมือปลูกพืชผลนานาชนิด ทั้งที่กินได้และกินไม่ได้ไว้รอบบริเวณบ้านและที่นา จนกระทั่งมีเสียงค่อนขอดจากชาวบ้านว่า มหาอยู่นั้นเป็นผีบ้า คือ บ้าขุด บ้าปลูก เนื่องด้วยชาวบ้านในเวลานั้นไม่เข้าใจว่าจะขุดสระไปให้ที่ดินเสียทำไม แต่มหาอยู่ก็ไม่ได้ใส่ใจ ยังคงเดินหน้าทำโครงการเล็กๆ ของตัวเองต่อไป

"พอขุดสระแล้วก็เอาปลามาเลี้ยง เอาดินที่ขุดสระนั้นไปปลูกต้นกล้วย เอาฟางมาคลุมเห็ดฟางก็งอก สมัยนั้นไม่ต้องใส่เชื้อมันก็งอก ยายเขาก็เอาไปขายได้เงิน" มหาอยู่เล่าก่อนบอกว่า แต่ก่อนจะเห็นผลเช่นนี้นั้น ก็ต้องอาศัยความอดทนและรอคอย โดยมหาอยู่ตั้งเป้าไว้ว่าจะเริ่มเก็บดอกผลจากหยาดเหงื่อที่ลงแรงไปได้ก็ เมื่อเวลา ๑๐ ปี
"ทำนาปีหนึ่งได้ข้าว พริกเราก็ไม่ได้ซื้อ พวกฟักพวกแฟงเราก็ไม่ได้ซื้อ ไก่ไข่ก็เลี้ยงเอง ไม่ได้จ่าย เงินก็เหลือเก็บ มะพร้าว พริก มะม่วงก็ของเรา ปีหนึ่งขายได้เป็นหมื่นนะลูก ถ้าเหลือเราถึงเอาไปขาย ถ้าขอก็ให้ ยิ่งให้ยิ่งมีนะคุณ เรียกว่า เป็นทานบารมี เราเริ่มจากให้ศีลให้ทานตัวเอง เพียงแต่เราลด ละ เลิกอบายมุขให้หมดเสียก่อน" มหาอยู่ชี้แนะแนวทางการพึ่งตนเองแบบเศรษฐกิจพอเพียง โดยใช้หลักธรรมนำชีวิตอย่างง่ายๆ ที่ทุกคนสามารถปฏิบัติได้ จนมีผู้นิยามแนวคิดของมหาอยู่ว่าเป็นแนวคิดแบบ "พุทธเกษตร"

ต้นทุนสำคัญที่มหาอยู่นำมาใช้ในการทำงานนั้น เงินทองหาใช่ปัจจัยหลักสำคัญ หากแต่เป็น "ทุน" ทางสิ่งแวดล้อม อย่าง ดิน, น้ำ เป็นต้น การ จะได้มาซึ่งทุนนั้นก็ต้องรู้จักเก็บออม ได้แก่ออมน้ำ ออมดิน ออมต้นไม้ใหญ่ ออมเงิน รวมทั้งสั่งสมภูมิปัญญาเพื่อใช้ในการแก้ปัญหาต่างๆ

มหาอยู่ได้เก็บออมต้นไม้มากมาย ด้วยการลงมือปลูกพืชผักสมุนไพรนานาชนิดในพื้นที่ ผลจากการออมต้นไม้นี่เอง ทำให้มหาอยู่แทบไม่ต้องใช้เงินซื้อหาปัจจัยสี่ในการดำรงชีวิตต่างๆ ผลจากการใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติและบริโภคพืชผักที่ปลูกเอง จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าเหตุใดผู้เฒ่าวัยเฉียด ๙๐ ปีผู้นี้ จึงยังแข็งแรงและสติปัญญามิได้เสื่อมถอยไปตามสังขารเลย

มหาอยู่ได้กล่าวย้ำทุกครั้งว่าหากจะพัฒนาอะไร ต้องเตรียมสิ่งสำคัญที่เกี่ยวข้อง "จะปลูกพืชต้องเตรียมดิน จะกินต้องเตรียมอาหาร จะพัฒนาการต้องเตรียมประชาชน จะพัฒนาคนต้องเตรียมที่จิตใจ จะพัฒนาใครเขา ต้องเตรียมที่ตัวเราก่อน"

และนั่นคือหัวใจของการพัฒนาอย่างแท้จริง ที่ปราชญ์ผู้ไม่มีใบปริญญาจากสถาบันใดๆ ตระหนักและเข้าใจอย่างถ่องแท้ ขณะที่ผู้บริหารประเทศบางคนยังมองคำว่า "พัฒนา" ในความหมายแคบๆ ให้ความสำคัญอยู่ที่ตัวเลขทางเศรษฐกิจ และรายได้ของประชากร โดยไม่คำนึงถึงต้นทุนที่มองไม่เห็นอย่าง วิถีชีวิตแบบการพึ่งพาตนเองที่เปลี่ยนแปลงไป และการล่มสลายของสถาบันครอบครัว

บำนาญชีวิต
ในช่วงวัยที่ลมหายใจยังคงมีอยู่ มหาอยู่ สุนทรชัย คือปราชญ์ชาวบ้านและปู่ของหลานๆ ที่มีความสุข โดยมีการทำเกษตรแบบผสมผสานเป็น "บำนาญชีวิต" ให้ได้เก็บดอกผลชื่นชมในยามบั้นปลาย หลังจากที่ได้ลงทุนลงแรงมาตลอดทั้งชีวิต

มหาอยู่ยกตัวอย่างต้นสักที่ปลูกไว้นับสิบปีว่า ท่านไม่ได้ปลูกไว้ใช้สอย หากแต่ปลูกไว้เพื่อเป็น "ศักดิ์" เป็น "ศรี" เป็นความภาคภูมิใจของผู้ปลูก น้อยคนนักที่จะชื่นชมธรรมชาติที่ตนเองมีส่วนเป็นผู้รังสรรค์ด้วยความภาคภูมิ ใจเช่นนี้ ขณะที่โลกภายนอกพากันยึดติดกับ "หัวโขน" ที่เป็นสิ่งสมมติ กินก็ไม่ได้ ให้ร่มเงาก็ไม่ได้ และบ่อยครั้งยังนำมาซึ่งความ "ร้อน" แก่ผู้ที่ยึดติดอีก

ที่ผ่านมา ที่นากว่า ๑๐๐ ไร่ของมหาอยู่ที่บ้านตะแบก ต.สลักได อ.เมือง จ.สุรินทร์ ได้กลายเป็นจุดหมายในการเดินทางมาศึกษาดูงานขององค์กรภาครัฐและเอกชนมากมาย มหาอยู่ได้คอยให้คำชี้แนะและพาคณะผู้มาเยือนชมตัวอย่างการทำเกษตรผสมผสาน อย่างเต็มอกเต็มใจ ไม่เบื่อหน่าย หลายครั้งที่มีผู้เชิญมหาอยู่เดินทางไปเป็นวิทยากรในสถานที่ต่างๆ บ้างก็เผยแพร่แนวคิดของมหาอยู่ในรูปแบบเอกสารงานวิจัย บทความ สารคดีในสื่อต่างๆ จนชื่อของมหาอยู่เป็นที่รู้จักในฐานะผู้นำการทำเกษตรกรรมผสมผสานอย่าง ยั่งยืน จึงมีผู้สงสัยว่าอายุปูนนี้ ท่านไม่เหนื่อยบ้างหรือไร

"ผมแก่เกษตรผสมผสาน ยิ่งแก่ยิ่งมัน เพราะมีทั้งบำนาญชีวิต มีร่างกายและจิตใจที่แข็งแกร่งกว่าวัยเดียวกันหลายเท่า มีครอบครัวที่อบอุ่น มีชุมชนที่เข้มแข็ง มีสิ่งแวดล้อมดี มีอิสรภาพไร้หนี้ปลอดสิน มีความภาคภูมิใจได้ถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์แก่ลูกหลานและผู้สนใจไม่รู้ เบื่อ และที่สำคัญคือ มีปัญญาเรียนรู้ธรรมะ และธรรมชาติ เห็นสัจธรรมของความยั่งยืนจากความสมดุลระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ และมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม" คือคำตอบของมหาอยู่ที่ตอบลูกหลาน

กว่า ๔๐ ปีที่ผ่านมา แนวคิดเกษตรกรรมยั่งยืนของมหาอยู่ได้เผยแพร่ไปในวงกว้าง ท่านได้ปวารณาตัวที่จะรับใช้แผ่นดินไทยจนกว่าชีวิตจะหาไม่ เพื่อให้หนึ่งล้านครอบครัวในภาคอีสานสามารถพึ่งตนเองและพึ่งพากันเองได้ถวาย ในหลวง โดยร่วมกับเครือข่ายองค์กรภาคประชาชนภาคอีสานหลายแห่ง อาทิ เครือข่ายภูมิปัญญาชาวบ้านและพหุภาคีภาคอีสาน จัดตั้ง "มหาวิชชาลัยภูมิปัญญาไทอีสานคืนถิ่น" ขึ้นเพื่อเผยแพร่ไม่ให้ภูมิปัญญาพื้นถิ่นของชาวอีสานสูญหายไป

และนับเป็นเกียรติสำคัญยิ่งในชีวิต เมื่อมหาอยู่ สุนทรธัย ปราชญ์แห่งเกษตรกรรมยั่งยืน ได้เข้ารับพระราชทานโล่เชิดชูเกียรติจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราช กุมารี ในงานสมัชชาเกษตรกรรมทางเลือก ครั้งที่ ๓ ในฐานะผู้สร้างสรรค์เกษตรกรรมยั่งยืน.


คาราวะอาลัย การจากไปของปราชญ์ชาวบ้านอีสาน “มหาอยู่ สุนทรธัย”

    การเดินทางจากโลกนี้ไปด้วยอาการอันสงบในช่วงเช้าวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๕๐ ของพ่อมหาอยู่ สุนทรธัย ปราชญ์ชาวบ้านอาวุโสแห่งจังหวัดสุรินทร์ วัย ๘๘ ปี นับเป็นอีกหนึ่งความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับวงการเกษตรผสมผสานในประเทศไทย

ร่างอันปราศจากลมหายใจของพ่อมหาอยู่ สุนทรธัย ตั้งบำเพ็ญกุศลอยู่ ณ ศาลาบำเพ็ญกุศลวัดศาลาลอย ภายในตัวเมืองสุรินทร์ก่อนจะมีพิธีพระราชทานเพลิงศพในวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๕๐ ณ เมรุมาศ วัดศาลาลอย ในเวลา ๑๕.๐๐ น.

พึ่งตนเองและพึ่งพากันเอง : ทางรอดคนอีสาน

ด้วย วัย 81 ปี ร่วมกับอิทธิบาท 4 คือฉันทะ วิริยะ จิตตะ และวิมังสา ที่มีอยู่เต็มเปี่ยมในตัวผู้เฒ่าที่ทรงคุณค่าท่านนี้ในการทำเกษตรผสมผสาน ตลอด 40 ปีที่ผ่านมา จนมีประสบการณ์มากมายมหาศาล ได้ฟันธงถึงทางรอดของคนอีสานว่าต้องพึ่งตนเองและพึ่งพากันเอง
หลังการพึ่งตนเองและพึ่งพากันเองที่พ่อมหาอยู่ถ่ายทอดแก่ผู้มาเยือนคณะแล้วคณะเล่าโดยไม่มีเบื่อมีดังนี้

1. ต้องศรัทธาในแนวคิดการพึ่งตนเองและพึ่งพากันเอง

2. ต้องออมน้ำ ออมดิน ออมต้นไม้ใหญ่ ออมเงิน และสั่งสมปัญญา

3. ต้องผสมผสานด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ

    1) ต้องศรัทธาในแนวคิดการพึ่งตนเองและพึ่งพากันเอง พ่อมหาอยู่ได้กล่าวย้ำทุกครั้งว่าหากจะพัฒนาอะไร ต้องเตรียมสิ่งสำคัญที่เกี่ยวข้อง เช่น

    จะปลูกพืชอะไร ต้องเตรียมดิน

    จะกินอะไร ต้องเตรียมอาหาร

    จะพัฒนาการ ต้องเตรียมประชาชน

    จะพัฒนาคน ต้องเตรียมที่จิตใจ

    จะพัฒนาใครเขา ต้องเตรียมที่ตัวเราก่อน

    ดัง นั้นการที่ใครจะพัฒนาตนเองและครอบครัวให้พึ่งตนเองและพึ่งพากันเองได้จะ ต้องเตรียมความคิด และความศรัทธาในการพึ่งตนเองและพึ่งพากันเองก่อนเสมอ โดยเรียนรู้และเชื่อมโยงให้ครบ

    2) ต้องออมน้ำ ออมดิน ออมต้นไม้ใหญ่ ออมเงิน และสั่งสมภูมิปัญญาในการแก้ปัญหา

    พ่อ มหาอยู่ ได้อาศัยหลักคิดของบรรพบุรุษที่สร้างแนวคิดให้ลูกหลานรักและเคารพน้ำ ให้เป็นแม่คือ แม่คงคา รักและเคารพดินให้เป็นแม่คือ แม่ธรณี ยกให้ต้นไม้ใหญ่เป็นรุกขเทวดา รวมทั้งเรียนรู้เท่าทัน มีภูมิปัญญาในการแก้ปัญหาและออมเงิน มาสร้างทุนทางสิ่งแวดล้อม เหล่านี้เป็นบำนาญชีวิต ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

    ตลอด ชีวิตที่ผ่านมา พ่อมหาอยู่ ได้ประสบความแห้งแล้งมาตลอด ต้องเดินทางไปหาบน้ำจากที่ไกลๆ เพื่อหาน้ำมาใช้ เมื่อเกิดภาวะแห้งแล้งมากๆ จึงทำให้เกิดแรงบันดาลใจที่จะสู้ความแห้งแล้ง และได้ตั้งปณิธานมุ่งมั่นขุดบ่อ ทำฝายกั้นน้ำ โดยใช้กำลังของตนเอง จนมีสระน้ำจำนวนมาก สามารถกักเก็บน้ำไว้ตลอดปี

    น้ำ เป็นที่มาของสิ่งมีชีวิตทั้งพืช สัตว์ และมนุษย์ การทำเกษตรกรรมเชิงเดี่ยวจะไม่ได้ออมน้ำไว้ใช้เพราะเน้นว่าที่ดินทุกตาราง นิ้วไว้ปลูกพืชเพื่อขาย เมื่อเกิดการแปรปรวนของปริมาณน้ำฝนเกษตรกรจึงทุกข์ยากมากและเป็นหนี้สิน เหมือนในปัจจุบัน

    เมื่อ พ่อมหาอยู่ขุดสระเก็บน้ำไว้ได้ สิ่งมีชีวิตต่างๆ ก็เริ่มกลับมาอยู่ด้วย ในเนื้อที่ 100 ไร่จึงมีทั้งกล้วย มะม่วง มะพร้าว ขนุน ไม้สัก ไม้สะเดา ไม้ไผ่ และต้นไม้หลากหลายพันธุ์นับร้อยชนิด รวมทั้งหมู เห็ด เป็ด ไก่ วัว ควาย และปลาอีกจำนวนมาก และในยามนี้ลูกหลานก็กลับมาร่วมชื่นชมและอยู่ปรนนิบัติคุณพ่อคุณแม่ การออมน้ำของพ่อมหาอยู่จึงได้สร้างชีวิตจำนวนมาก รวมทั้งชีวิตครอบครัวที่มีความสุข พึ่งตนเองได้

    ช่วง ที่บวชเรียนอยู่ที่กรุงเทพฯ ได้พบเห็นชาวสวนแถวๆ ฝั่งธนบุรีและนนทบุรี ปลูกพืชแบบยกร่อง มีต้นไม้ใหญ่ขึ้นเต็มไปหมด เกิดความร่มรื่น ใบไม้ที่ร่วงผุ และเน่าเปื่อยเป็นปุ๋ย ขี้โคลนที่ลอกขึ้นมาจากท้องร่อง นำมากลบโคนต้นไม้ กลายเป็นปุ๋ยอย่างดี กลายเป็นการออมความอุดมสมบูรณ์ของดิน ช่วยให้ไม่มีรูรั่วไปซื้อปุ๋ยเคมี

    พ่อ มหาอยู่ได้ออมต้นไม้ใหญ่นับร้อยชนิด จำนวนหลายพันต้นทั้งผัก ผลไม้ และไม้ใช้สอย โดยระยะเริ่มต้นจะใช้กล้วยเป็นพืชพี่เลี้ยงและตามด้วยต้นไม้ใหญ่เหล่านี้ ผลของการออมต้นไม้ใหญ่ทำให้มีปัจจัย 4 ครบทั้งอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยาสมุนไพรรักษาโรค นอกจากนี้ยังทำให้สัตว์ต่างๆ เช่น นก งู กบ เขียด มีที่พักอาศัย และที่สำคัญต้นไม้ใหญ่เหล่านี้ได้กลายเป็นบำนาญชีวิต ที่ช่วยต่ออายุของผู้เฒ่า ทั้งสามีภรรยาให้มีความสุขทั้งกาย ใจ สังคม และจิตวิญญาณ

    การ เงินดี เป็นคาถาสำคัญที่พ่อมหาอยู่คอยบอกผู้มาเยือนว่า หากรู้จักออมเงิน นอกจากเงินจะกลายเป็นบำนาญชีวิตแก่ผู้ที่ออมมันไว้แล้ว เงินยังช่วยให้เราสามารถสร้างทุนทางสิ่งแวดล้อม เช่น จ้างรถแมคโครมาขุดสระออมน้ำ ใช้เงินซื้อที่ดินเพิ่ม เป็นการออมที่ดิน ซื้อต้นไม้พันธุ์ดีมาเปลี่ยนยอดพันธุ์พื้นเมืองให้ได้ผลผลิตดีไว้กิน ไว้แจกมีเหลือขายได้อีกด้วย และที่สำคัญยังสามารถเปลี่ยนเงินเป็นทุนทางปัญญา เช่น ใช้เป็นค่ารถให้สมาชิกมานั่งคุยกัน หรือไปศึกษาดูงาน เป็นต้น ดังนั้นพ่อมหาอยู่จึงได้พาเครือข่ายตั้งกลุ่มออมทรัพย์จนได้รับประกาศ เกียรติคุณ "ผู้นำกลุ่มสมาชิกที่ระดมเงินฝากโครงการออมทรัพย์วันละนิดเพื่อชีวิต สหกรณ์ดีเด่น" ประจำปี 2531 จาก สหกรณ์การเกษตรเมืองสุรินทร์ จำกัด

    พ่อมหาอยู่ อาศัยหลักการสร้างปัญญาไว้ 3 ทาง คือ

    ก) สุตมยปัญญา ได้แก่ ปัญญาเกิดจากการสดับ การเล่าเรียน

    ข) จินตามยปัญญา ได้แก่ ปัญญาเกิดจากการพิจารณาเหตุผล

    ค) ภาวนามยปัญญา ได้แก่ ปัญญาเกิดจากการฝึกอบรมลงมือปฏิบัติ
   
โดย วิธีสร้างปัญญาดังกล่าวร่วมกับการครองตนด้วยธรรมะข้ออื่นๆ อีกหลายข้อที่ยึดถือปฏิบัติอยู่เป็นนิตย์ทำให้พ่อมหาอยู่กลายเป็นผู้ทรง ภูมิปัญญา เป็นผู้เฒ่าที่มีคุณค่าและชราอย่างมีความสุข

    3) ต้องผสมผสานด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ

    ความ หลากหลายทางชีวภาพช่วยให้เราลดรายจ่ายด้านอาหารการกินลงได้อย่างชัดเจน เพราะเราปลูกและเลี้ยงทุกอย่างที่ต้องกินและต้องใช้ เมื่อมีเหลือก็แจกญาติสนิทมิตรสหาย ทำให้รักใคร่และพึ่งพากันเองได้ เหลือกินเหลือใช้ เหลือแจกก็ขายช่วยให้มีรายได้เพิ่ม ปลดเปลื้องหนี้สินได้ และมีเงินออม ทั้งออมเงินในรูปของแม่ธรณี แม่คงคา แม่มัจฉา แม่โพสพ และรุกขเทวดา รวมความว่าความหลากหลายทางชีวภาพช่วยให้เศรษฐกิจดีขึ้น
    ความ หลากหลายทางชีวภาพยังช่วยให้ระบบนิเวศน์ดีขึ้น เพราะใบไม้ของต้นไม้ชนิดหนึ่งย่อยสลายแล้วกลายเป็นปุ๋ยอินทรีย์ของอีกชนิด หนึ่ง การมีต้นไม้หลากหลายทำให้มีแมลงที่หลากหลายและควบคุมกันเอง มีสัตว์กินแมลง เช่น นก กบ เขียด มาอาศัยอยู่เพราะมีอาหารอุดมสมบูรณ์ ตามมาด้วยงู กระรอก กระแตมาอยู่ร่วมกันได้ เพิ่มปุ๋ยคอกแก่ต้นไม้ด้วย การเป็นอาหารของกันและกัน พร้อมควบคุมกันเองทำให้ห่วงโซ่อาหารครบวงจร เกิดความยั่งยืน รวมทั้งไม่ต้องซื้อปุ๋ยเคมี ยาฆ่าหญ้า และสารเคมีฆ่าแมลง ช่วยให้พึ่งตนเอง และพึ่งพากันเองได้
    นอกจากนั้นการใช้ไม้พันธุ์พื้น เมืองยังช่วยให้ได้ต้นไม้และสัตว์ที่ทนโรคทนแล้ง และเมื่อต้องการพันธุ์ดีก็นำกิ่งดีๆ มาติดตาต่อกิ่งหรือเปลี่ยนยอดได้

ความสุขที่สัมผัสได้

เมื่อถามถึงความสุขพ่อมหาอยู่ตอบทันทีว่าคือ

    อารมณ์ดี หมายถึง มีอยู่มีกิน ไม่มีหนี้ ครอบครัวมีสุข

    อากาศดี หมายถึง สิ่งแวดล้อมดีๆ

    อาหารดี หมายถึง อาหารพอเพียงครบทุกหมวดหมู่ สะอาด และปลอดภัยจากสารพิษ

    สมุนไพรดี หมายถึง มีสมุนไพรเป็นทั้งอาหารในชีวิตประจำวัน และเป็นยารักษาโรคอย่างพอเพียง

    การเงินดี หมายถึง ดูแลดีไม่มีรูรั่ว และออมเป็น

วิธีการได้มาซึ่งความสุข ใช้หลักการมีศีล คือ

    สีเลนะ สุคะติง ยันติ (ศีลทำให้เกิดความสุขตลอดไป)

    สีเลนะ โภคะสัมปะทา (ผู้มีศีลจะถึงพร้อมด้วยสมบัติ)

    สีเลนะ นิพพุติง ยันติ (ศีลทำให้ได้พระนิพพาน คือสงบจากกิเลส)

    ตัสมา สีลัง วิโสธเย (ดังนั้นจงรักษาศีลให้บริสุทธิ์เถิด จะทำอะไรต้องใช้ศีลควบคุมตนเองและแนวทางโครงการเสมอ)

การขยายความคิดและเครือข่ายหนึ่งล้านครอบครัวในอีสาน

ตลอด 40 ปีเศษ ของความสำเร็จที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ พ่อมหาอยู่ได้ขยายความคิดออกไปอย่างกว้างขวาง โดยรับดูงานทั้งชาวบ้าน ผู้นำชาวบ้าน นักพัฒนาภาครัฐ นักพัฒนาภาคเอกชน นักวิชาการ นักธุรกิจ และสื่อมวลชนรวมทั้งผู้สนใจนับได้ไม่หวาดไม่ไหว และพ่อมหาอยู่ได้ปวราณาตัวที่จะรับใช้แผ่นดินไทยจนกว่าชีวิตจะหาไม่ให้ได้ หนึ่งล้านครอบครัวในภาคอีสานที่พึ่งตนเองและพึ่งพากันเองได้ถวายในหลวง โดยร่วมขบวนการใน 3 เครือข่ายใหญ่ๆ ดังนี้ คือ

    1. เครือข่ายภูมิปัญญาชาวบ้านและพหุภาคีภาคอีสาน

    2. เครือข่ายขุดสระตามทฤษฎีใหม่จังหวัดสุรินทร์

    3. เครือข่ายจัดสวัสดิการเร่งด่วน เพื่อผู้ยากไร้ของกองทุนเพื่อสังคม

ซึ่งทั้ง 3 เวทีเครือข่ายจะพบพ่อมหาอยู่เสมอ รวมทั้งศูนย์เรียนรู้ของท่านยินดีต้อนรับผู้ดูงานที่สนใจ
ใน โอกาสนี้ลูกๆ ทุกคนขอเป็นกำลังใจและขอร่วมอุดมการณ์เป็นประชาสังคมที่เข้มแข็งพึ่งตนเอง และพึ่งพากันเองได้ เพื่อสร้างชาติไทย ศาสนา และพระมหากษัตริย์อันเป็นที่รักยิ่งของพวกเราทุกคนตามเจตนารมย์ของพ่อมหา อยู่ สุนทรธัย สู่เครือข่ายหนึ่งล้านครอบครัวในภาคอีสานที่พึ่งตนเองและพึ่งพากันเองได้ อย่างสมดุล และมีความสุขแก่เกษตรผสมผสานยิ่งแก่ยิ่งมันส์!

หลาย คนไปเรียนถามพ่อมหาอยู่ว่าไม่รู้สึกเหนื่อยบ้างหรือไร อายุมากถึงปานนี้ยังเดินทางไปที่ต่างๆ เพื่อขยายความคิด พ่อมหาอยู่ได้ตอบไปว่าความแก่มีมากมายหลายประเภท เช่น

    - แก่หูหวาย - แก่ได้ดอก

    - แก่หยอกหลาน - แก่กระดูก (ไฮโล)

    - แก่กระดาษ (ไพ่) - แก่แดด (ตากแดด)

    - แก่แรด (ยิงสัตว์) - แก่ฟักแก่แฟง

    - แต่ผมแก่เกษตรผสมผสาน ยิ่งแก่ยิ่งมันส์ เพราะมีทั้งบำนาญชีวิต มีร่างกายและจิตใจที่แข็งแกร่งกว่าวัยเดียวกันหลายเท่า มีครอบครัวที่อบอุ่น มีชุมชนที่เข้มแข็ง มีสิ่งแวดล้อมดี มีอิสรภาพไร้หนี้ปลอดสิน มีความภาคภูมิใจได้ถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์แก่ลูกหลานและผู้สนใจไม่รู้ เบื่อ และที่สำคัญคือ มีปัญญาเรียนรู้ธรรมะ และธรรมชาติ เห็นสัจธรรมของความยั่งยืนจากความสมดุลระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ และมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม

ความสำเร็จอยู่ที่การเตรียมตัว

พ่อมหาอยู่ได้ให้คาถาของความสำเร็จในปัจจุบันเพิ่มเติมจากอิทธิบาท 4 ว่าต้องวางแผน กล่าวคือ คนเราจะต้องเตรียมตัวดังนี้

    - เตรียมตัวก่อนตาย

    - เตรียมกายก่อนแต่ง

    - เตรียมน้ำก่อนแล้ง

    - เตรียมแรงก่อนทำงาน

ซึ่งทั้งหมดนี้รวมเป็น "พ่อมหาอยู่ สุนทรธัย" ปราชญ์ชาวบ้านอาวุโสของภาคอีสานที่มีความสุข ซึ่งพวกเรารักและเคารพ

จุดเด่นของศูนย์เรียนรู้ของพ่อมหาอยู่ สุนทรธัย

1. เป็นพุทธเกษตรที่นำความรู้ทางพุทธศาสนามาประยุกต์กับการทำเกษตรผสมผสาน

2. มีการออมน้ำ ออมความอุดมสมบูรณ์ของดิน การออมสัตว์ และออมต้นไม้ยืนต้นทั้งผัก ผลไม้ และไม้ไม้ใช้สอย

3. มีการจัดการที่ชัดเจน

4. มีรูปธรรมการมีความสุขในมิติต่างๆ

ปรัชญาของเจ้าของบ้าน

    ความสุข คือ อารมณ์ดี หมายถึง มีอยู่มีกิน ไม่มีหนี้ ครอบครัวมีสุข

    อากาศดี หมายถึง สิ่งแวดล้อมดี

    อาหารดี หมายถึง อาหารพอเพียง ครบทุกหมวดหมู่ สะอาดและปลอดภัยจากสารพิษ

    สมุนไพรดี หมายถึง มีสมุนไพรเป็นทั้งอาหารในชีวิตประจำวัน และเป็นยารักษาโรคอย่างพอเพียง

    การเงินดี หมายถึง ดูแลดีไม่มีรูรั่วและออมเป็น

หลักสูตรดูงาน

    1. ดูงานเฉพาะของพ่อมหาอยู่ สุนทรธัย ใช้เวลา 3-6 ชั่วโมง

    2. ดูงานกลุ่มเครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านใช้เวลา 3-5 วัน

   ศูนย์เรียนรู้ของพ่อมหาอยู่ สุนทรธัย

    มี ผู้มาศึกษาดูงานเป็นจำเดือนละ 10-15 คณะ โดยปี 2542 มีผู้มาศึกษาดูงาน 5000 คนเศษ รูปแบบการเกษตรผสมผสานในศูนย์เรียนรู้แห่งนี้เป็นประโยชน์อย่างมากต่อ เกษตรกรที่สนใจ แนวคิดการพึ่งตนเองเป็นหัวใจสำคัญต่อทุกคนที่มาเรียนรู้

    กลุ่มต่างๆ ที่น่าจะได้มาศึกษาดูงาน ได้แก่

    1. เกษตรกรที่สนใจทั้งชายและหญิง

    2. เด็กและเยาวชน

    3. ข้าราชการที่สนใจทฤษฎีใหม่

มูลนิธิพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนเพื่อคุณภาพชีวิตดี
จังหวัดขอนแก่น

คัดจากบทความเรื่อง "พ่อมหาอยู่ สุนทรธัย ปราชญ์ชาวบ้านอาวุโสของภาคอีสานที่มีความสุข" มูลนิธิพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนเพื่อคุณภาพชีวิตดี จังหวัดขอนแก่น

Logged
Pages: [1] Go Up Print 
« previous next »
 

SMF 2.0.4 | SMF © 2013, Simple Machines | Theme by nesianstyles | Buttons by Andrea
Page created in 0.051 seconds with 20 queries.