Smile Siam มาร่วมกันคืน "สยามเมืองยิ้ม" กลับสู่บ้านเรากันนะครับ ...
User Info
Welcome, Guest. Please login or register.
28 April 2024, 16:56:11

Login with username, password and session length
Search:     Advanced search
News
ท่านสมาชิกสามารถเปลี่ยนรูปแบบ (Theme) ได้อีกหลายแบบ
เชิญทดลองโดยคลิกที่ลิงค์ข้างล่าง ได้เลยครับ

http://www.smilesiam.net/index.php/topic,3170.msg4713.html
Forum Stats
25,608 Posts in 12,441 Topics by 70 Members
Latest Member: KAN
Home Help Search Calendar Login Register
Smile Siam มาร่วมกันคืน "สยามเมืองยิ้ม" กลับสู่บ้านเรากันนะครับ ...  |  เหนือเกล้าชาวสยาม  |  พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและเหล่าอริยสาวก  |  พุทธประวัติจากพระโอษฐ์  |  เชิญมาอ่าน "พุทธประวัติจากพระโอษฐ์" ได้ที่นี่นะครับ
0 Members and 1 Guest are viewing this topic. « previous next »
Pages: [1] Go Down Print
Author Topic: เชิญมาอ่าน "พุทธประวัติจากพระโอษฐ์" ได้ที่นี่นะครับ  (Read 1410 times)
admin
Administrator
น้องใหม่ฝึกยิ้ม
*****
Offline Offline

Posts: 7

View Profile
« on: 21 December 2012, 13:35:42 »


      

ใจความสำคัญ

เป็นพระประวัติตรัสเล่า ไม่มีคำเรียบเรียงของผู้แต่งคละปน
เพราะเป็นที่รวบรวมเฉพาะพระพุทธภาษิตที่ตรัสถึงประวัติของพระองค์เอง.
จากคัมภีร์พระไตรปิฎกล้วน เลือกเก็บเอามาร้อยกรองให้เป็นหมวดหมู่ ติดต่อกันเป็นลำดับ,
มุ่งแสดงหลักธรรมที่แนบอยู่ในพระชนม์ชีพของพระองค์ แทนการมุ่งทางตำนานประวัติ
หรือนิยายประวัติ เพื่อให้เป็นหนังสือส่งเสริมปฏิบัติธรรมเล่มหนึ่ง เป็นส่วนใหญ่
รวมทั้งเป็นแก่นแห่งเรื่องพุทธประวัติด้วย, เป็นส่วนพิเศษ.

– ผู้รวบรวม (พุทธทาสภิกขุ)


(โดยละเอียด)

อักษรย่อชื่อคัมภีร์ | วิธีใช้หนังสือเล่มนี้

ภาคนำ

ข้อความให้เกิดความสนใจในพุทธประวัติ (๑๒ เรื่อง)


โลกธาตุหนึ่ง ๆ มีพระพุทธเจ้าเพียงองค์เดียว (พ.ม.)
การปรากฏของพระตถาคตมีได้ยากในโลก (พ.ม.อ.)
โลกที่กำลังมัวเมา ก็ยังสนใจในธรรมของพระตถาคต (พ.ม.)
การมีธรรมของพระตถาคตอยู่ในโลก คือความสุขของโลก (พ.ม.)
พระตถาคตเกิดขึ้นเพื่อความสุขของโลก (พ.ม.)
พระตถาคตเกิดขึ้นในโลก เพื่อแสดงแบบแห่งการครองชีวิตอันประเสริฐแก่โลก (พ.ม.)
พระตถาคตเกิดขึ้น แสดงธรรมเพื่อความรำงับ, ดับ, รู้ (พ.ม.)
ธรรมชาติ ๓ อย่าง ทำให้พระองค์เกิดขึ้นเป็นประทีปของโลก (พ.ม.ส.)
ผู้เชื่อฟังพระตถาคต จะได้รับประโยชน์สุขสิ้นกาลนาน (พ.ม.)
ทรงขนานนามพระองค์เองว่า "พุทธ"
เรื่องย่อ ๆ ที่ควรทราบก่อน
เรื่องสั้น ๆ ที่ควรทราบก่อน (อีกหมวดหนึ่ง)
(พ.ม.อ.)



ภาคนำ

ข้อความให้เกิดความสนใจในพุทธประวัติ (๑๒ เรื่อง)

โลกธาตุหนึ่ง มีพระพุทธเจ้าเพียงองค์เดียว

อานนท์! ภิกษุผู้ฉลาดในฐานะและอฐานะนั้น ย่อมรู้ว่า ข้อนี้มิใช่ฐานะ ข้อนี้มิใช่โอกาสที่จะมี คือข้อที่ในโลกธาตุอันเดียว จะมีพระตถาคตผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธะ สององค์ เกิดขึ้นพร้อมกัน ไม่ก่อน ไม่หลังกัน. นั่นมิใช่ฐานะที่จะมีได้.

ส่วนฐานะ อันมีได้นั้น คือข้อที่ใน โลกธาตุอันเดียว มีพระตถาคตผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธะองค์เดียว เกิดขึ้น. นั่นเป็นฐานะที่จะมีได้
.


บาลี พหุธาตุกสูตร อุปริ. ม. ๑๔/๑๗๑/๒๔๕.
ตรัสแก่พระอานนท์ ที่เชตวัน.

 
การปรากฏของพระตถาคต มีได้ยากในโลก

ภิกษุ ท.! การมาปรากฏของ บุคคลเอก (ไม่มีใครซ้ำสอง) มีได้ยากในโลก. ใครเล่า เป็นบุคคลเอก? ตถาคต ผู้เป็นพระอรหันต์ตรัสรู้ชอบเอง เป็นบุคคลเอก (ไม่มีใครซ้ำสอง).

ภิกษุ ท.! การมาปรากฏของบุคคลเอกนี้แล มีได้ยากในโลก.


บาลี เอก, อํ. ๒๐/๒๙/๑๔๐.
ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลาย.

      
โลกที่กำลังมัวเมา ก็ยังสนใจในธรรมของพระตถาคต

ภิกษุ ท.! เพราะเหตุที่ตถาคต ผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธะเกิดขึ้นจึงเกิดมี ของน่าอัศจรรย์ไม่เคยมี สี่อย่างนี้ปรากฏขึ้น. สี่อย่างอะไรเล่า?

๑. ภิกษุ ท.! ประชาชนทั้งหลาย พอใจในกามคุณ ยินดีในกามคุณบันเทิงอยู่ในกามคุณ, ครั้นตถาคตแสดง ธรรมที่ไม่เกี่ยวข้องกับกามคุณประชาชนเหล่านั้นก็ฟัง เงี่ยหูฟัง ตั้งใจฟัง เพื่อให้เข้าใจทั่วถึง. ภิกษุ ท.! นี่คือของน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมี อย่างที่หนึ่ง, มีขึ้นมา เพราะการบังเกิดของตถาคตผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธะ.

๒. ภิกษุ ท.! ประชาชนทั้งหลาย พอใจในการถือตัว ยินดีในการถือตัว บันเทิงอยู่ในการถือตัว, ครั้นตถาคตแสดง ธรรมที่กำจัดการถือตัวประชาชนเหล่านั้นก็ฟัง เงี่ยหูฟัง ตั้งใจฟัง เพื่อให้เข้าใจทั่วถึง. ภิกษุ ท.! นี่คือของน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมี อย่างที่สอง, มีขึ้นมา เพราะการบังเกิดของตถาคต ผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธะ.

๓. ภิกษุ ท.! ประชาชนทั้งหลาย พอใจในความวุ่นวายไม่สงบยินดีในความวุ่นวายไม่สงบ บันเทิงอยู่ในความวุ่นวายไม่สงบ, ครั้นตถาคตแสดงธรรมที่เป็นไปเพื่อความสงบ ประชาชนเหล่านั้นก็ฟัง เงี่ยหูฟัง ตั้งใจฟัง เพื่อให้เข้าใจทั่วถึง. ภิกษุ ท.! นี่คือของน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมี อย่างที่สาม, มีขึ้นมา เพราะการบังเกิดของตถาคต ผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธะ.

๔. ภิกษุ ท.! ประชาชนทั้งหลาย ประกอบอยู่ด้วยอวิชชา เป็นคนบอด ถูกความมืดครอบงำเอาแล้ว, ครั้นตถาคตแสดง ธรรมที่กำจัดอวิชชาประชาชนเหล่านั้นก็ฟัง เงี่ยหูฟัง ตั้งใจฟัง เพื่อให้เข้าใจทั่วถึง. ภิกษุ ท.! นี่คือของน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมี อย่างที่สี่, มีขึ้นมา เพราะการบังเกิดของตถาคตผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธะ.


บาลี จตุกฺก. อํ. ๒๑/๑๗๗/๑๒๘.
ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลาย ที่เชตวัน.

      
การมีธรรมของพระตถาคตอยู่ในโลก คือความสุขของโลก

ภิกษุ ท.! เมื่อพระสุคตก็ดี ระเบียบวินัยของพระสุคตก็ดี ยังคงมีอยู่ในโลกเพียงใด อันนั้นก็ยังเป็นไปเพื่อความเกื้อกูลแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความสุขของชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์แก่โลก, เพื่อประโยชน์ เพื่อความเกื้อกูล เพื่อความสุข แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย, อยู่เพียงนั้น.

ภิกษุ ท.! พระสุคตนั้นคือใครเล่า? คือตถาคต บังเกิดขึ้นในโลกนี้เป็นพระอรหันต์ผู้ตรัสรู้ชอบเอง ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เป็นผู้ไปดี รู้แจ้งโลกเป็นสารถีฝึกคนควรฝึกไม่มีใครยิ่งกว่า เป็นครูของเทวดาและมนุษย์ เป็นผู้เบิกบานแล้ว จำแนกธรรมออกสอนสัตว์. นี้คือ พระสุคต.

 ภิกษุ ท.! ระเบียบวินัยของพระสุคตนั้นคืออะไรเล่า? คือตถาคตนั้นแสดงธรรมไพเราะในเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด, ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถะ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง. ธรรมที่ตถาคตแสดง พรหมจรรย์ที่ตถาคตประกาศ นี้แล คือ ระเบียบวินัยของพระสุคต.

 ภิกษุ ท.! เมื่อพระสุคตก็ดี ระเบียบวินัยของพระสุคตก็ดี ยังคงมีอยู่ในโลกเพียงใด อันนั้น ก็ยังเป็นไปเพื่อความเกื้อกูลแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความสุขของชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์แก่โลก, เพื่อประโยชน์ เพื่อความเกื้อกูล เพื่อความสุข แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย, อยู่เพียงนั้น.


บาลี จตุกฺก. อํ. ๒๑/๑๙๗/๑๖๐.

      
พระตถาคตเกิดขึ้นเพื่อความสุขของโลก

พราหมณ์เอย ! มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง กลางคืนแท้ๆ ก็เข้าใจไปว่ากลางวัน* กลางวันแท้ๆ ก็เข้าใจไปว่ากลางคืน. ข้อนี้ เรากล่าวว่าเป็นเพราะสมณพราหมณ์เหล่านั้น เป็น ผู้อยู่ด้วยความหลง.

พราหมณ์เอย ! ส่วนเราตถาคต ย่อมเข้าใจกลางคืนเป็นกลางคืนกลางวันเป็นกลางวัน.

พราหมณ์เอย ! เมื่อใครจะเรียกผู้ใดให้เป็นการถูกต้องว่า เป็นสัตว์ผู้มีความไม่หลงอยู่เป็นปรกติ และเกิดขึ้นเพื่อความเกื้อกูลแก่ชนเป็นอันมากเพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์โลก, เพื่อประโยชน์ เพื่อความเกื้อกูล เพื่อความสุข ของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายแล้ว; เขาเมื่อจะเรียกให้ถูกต้องเช่นนั้น พึงเรียกเราตถาคตนี้แล ว่าเป็นสัตว์ผู้มีความไม่หลงอยู่เป็นปรกติ เกิดขึ้นเพื่อความเกื้อกูลแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมากเพื่ออนุเคราะห์โลก. เพื่อประโยชน์ เพื่อความเกื้อกูล เพื่อความสุข ของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย.


บาลี ภยเภรวสูตร มู.ม. ๑๒/๓๗/๔๖.
ตรัสแก่ชาณุสโสณีพราหมณ์ ที่เชตวัน.

* คำว่า กลางคืน กลางวัน ในที่นี้ มิได้มีความหมายตามตัวหนังสือ.
       

พระตถาคตเกิดขึ้นในโลก
เพื่อแสดงแบบแห่งการครองชีวิตอันประเสริฐแก่โลก


ภิกษุ ท.! ตถาคตเกิดขึ้นในโลกนี้ เป็นพระอรหันต์ ผู้ตรัสรู้ชอบด้วยตนเอง สมบูรณ์ด้วยวิชชาและจรณะ ดำเนินไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกคนควรฝึกไม่มีใครยิ่งกว่า เป็นครูของเทวดาและมนุษย์ เป็นผู้เบิกบานแล้วจำแนกธรรมออกสั่งสอนสัตว์.

ภิกษุ ท.! ตถาคตนั้น ได้ทำให้แจ้งซึ่งโลกนี้ กับทั้งเทวดา มาร พรหมซึ่งหมู่สัตว์กับทั้งสมณพราหมณ์ พร้อมทั้งเทวดาและมนุษย์ ด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้ว ประกาศให้ผู้อื่นรู้แจ้งตาม.

ตถาคตนั้น แสดงธรรมไพเราะในเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุดประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถะ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง.

คฤหบดี หรือลูกคฤหบดี หรือคนที่เกิดในตระกูลอื่นใดในภายหลังย่อมฟังธรรมนั้น. ครั้นฟังแล้ว ย่อมเกิดศรัทธาในตถาคต. กุลบุตรนั้นผู้ประกอบอยู่ด้วยศรัทธา ย่อมพิจารณาเห็นว่า "ฆราวาส คับแคบ เป็นทางมาแห่งธุลี; ส่วน บรรพชา เป็นโอกาสว่าง. มันไม่เป็นไปได้โดยง่ายที่เราผู้อยู่ครองเรือนเช่นนี้ จะประพฤติพรหมจรรย์นั้น ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์โดยส่วนเดียวเหมือนสังข์ที่เขาขัดสะอาดดีแล้ว. ถ้ากระไร เราพึงปลงผมและหนวด ครองผ้าย้อมฝาด ออกจากเรือนไป, บวชเป็นผู้ไม่มีเรือนเถิด." ....

บาลี มู.ม. ๑๒/๔๘๙/๔๕๔.
ตรัสแก่ภิกษุ ท. ที่เชตวัน, และบาลีอื่น ๆ อีกเป็นอันมาก.

      
พระตถาคตเกิดขึ้น แสดงธรรมเพื่อความรำงับ, ดับ, รู้.

ภิกษุ ท.! ตถาคต เกิดขึ้นแล้ว ในโลกนี้ เป็นพระอรหันต์ ผู้ตรัสรู้ชอบด้วยตนเอง สมบูรณ์ด้วยวิชชาและจรณะ ดำเนินไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกคนควรฝึก ไม่มีใครยิ่งกว่า เป็นครูของเทวดาและมนุษย์ เป็นผู้เบิกบานแล้วจำแนกธรรมออกสั่งสอนสัตว์.

ธรรมที่ตถาคตแสดง นั้น เป็นธรรมที่เป็นไปเพื่อความสงบ รำงับ, เป็นธรรมที่เป็นไปเพื่อความดับเย็นสนิท, เป็นธรรมที่เป็นไปเพื่อความรู้ครบถ้วน, เป็นธรรมที่ประกาศไว้โดยพระสุคต.


บาลี อฎฐก. อํ. ๒๓/๒๒๙/๑๑๙.
ตรัสแก่ภิกษุ ท. ที่ป่ามะม่วงของหมอชีวก ใกล้กรุงราชคฤห์.

      
ธรรมชาติ ๓ อย่าง ทำให้พระองค์เกิดขึ้นเป็นประทีปของโลก

ภิกษุ ท.! ถ้าธรรมชาติ ๓ อย่างเหล่านี้ ไม่พึงมีอยู่ในโลกแล้วไซร้, ตถาคตก็ไม่ต้องเกิดขึ้นในโลก เป็นอรหันตสัมมาสัมพุทธะ; และธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว ก็ไม่ต้องรุ่งเรืองไปในโลก. ธรรมชาติ ๓ อย่างนั้น คืออะไรเล่า? คือ ชาติด้วย ชราด้วย มรณะด้วย. ภิกษุ ท.! ธรรมชาติ ๓ อย่างเหล่านี้แล ถ้าไม่มีอยู่ในโลกแล้วไซร้, ตถาคตก็ไม่ต้องเกิดขึ้นในโลกเป็นอรหันตสัมมาสัมพุทธะ; และธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว ก็ไม่ต้องรุ่งเรืองไปในโลก.

ภิกษุ ท.! เพราะเหตุใดแล ที่ธรรมชาติ ๓ อย่างเหล่านี้ มีอยู่ในโลก, เพราะเหตุนั้น ตถาคตจึงต้องเกิดขึ้นในโลกเป็นอรหันตสัมมาสัมพุทธะ; และธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว จึงต้องรุ่งเรืองไปในโลก.


บาลี ทสก. อํ. ๒๔/๑๕๔/๗๖.
ตรัสแก่ภิกษุ ท..

      
ผู้เชื่อฟังพระตถาคต จะได้รับประโยชน์สุขสิ้นกาลนาน

ภิกษุ ท.! เราแล เป็นผู้ฉลาดในเรื่องโลกนี้ ฉลาดในเรื่อง โลกอื่น, เป็นผู้ฉลาดต่อ วัฏฏะอันเป็นที่อยู่ของมาร ฉลาดต่อ วิวัฏฏะอันไม่เป็นที่อยู่ของมาร, เป็นผู้ฉลาดต่อ วัฏฏะอันเป็นที่อยู่ของมฤตยู ฉลาดต่อ วิวัฏฏะอันไม่เป็นที่อยู่ของมฤตยู. ชนเหล่าใดถือว่าเรื่องนี้ควรฟังควรเชื่อ ข้อนั้นจักเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข แก่ชนทั้งหลายเหล่านั้นสิ้นกาลนาน.

(ครั้นพระผู้มีพระภาคได้ตรัสคำนี้แล้ว พระสุคตได้ตรัสคำอื่นอีกดังนี้ว่า :-)

ทั้งโลกนี้แลโลกอื่น ตถาคตผู้ทราบดีอยู่ ได้ประกาศไว้ชัดแจ้งแล้ว. ทั้งที่ที่มารไปไม่ถึง และที่ที่มฤตยูไปไม่ถึง ตถาคตผู้รู้ชัดเข้าใจชัด ได้ประกาศไว้ชัดแจ้งแล้ว เพราะความรู้โลกทั้งปวง. ประตูนครแห่งความไม่ตาย ตถาคตเปิดโล่งไว้แล้ว เพื่อสัตว์ทั้งหลายเข้าถึงถิ่นอันเกษม. กระแสแห่งมารผู้มีบาป ตถาคตปิดกั้นเสียแล้ว กำจัดเสียแล้ว ทำให้หมดพิษสงแล้ว. ภิกษุ ท.! เธอทั้งหลายจงเป็นผู้มากมูมด้วยปราโมทย์ ปรารถนาธรรมอันเกษมจากโยคะเถิด.


บาลี จูฬโคปาลสูตร มู.ม. ๑๒/๔๒๑/๓๙๑.
ตรัสแก่ภิกษุ ท. ที่ฝั่งแม่น้ำคงคาใกล้เมืองอุกกเวลา.

      
ทรงขนานนามพระองค์เองว่า "พุทธะ"

(การสนทนากับโทณพราหมณ์, เริ่มในที่นี้ด้วยพราหมณ์ทูลถาม)

"ท่านผู้เจริญของเรา ! ท่านเป็นเทวดาหรือ ?"

พราหมณ์เอย ! เราไม่ได้เป็นเทวดาดอก.

"ท่านผู้เจริญของเรา ! ท่านเป็นคนธรรพ์หรือ ?"

พราหมณ์เอย ! เราไม่ได้เป็นคนธรรพ์ดอก.

"ท่านผู้เจริญของเรา ! ท่านเป็นยักษ์หรือ ?"

พราหมณ์เอย ! เราไม่ได้เป็นยักษ์ดอก.

"ท่านผู้เจริญของเรา ! ท่านเป็นมนุษย์หรือ ?"

พราหมณ์เอย ! เราไม่ได้เป็นมนุษย์ดอก.

"ท่านผู้เจริญของเรา ! เราถามอย่างไรๆ ท่านก็ตอบว่ามิได้เป็นอย่างนั้นๆ, ถ้าเช่นนั้นท่านเป็นอะไรเล่า ?"

พราหมณ์เอย ! อาสวะ เหล่าใด ที่จะทำให้เราเป็น เทวดา เพราะยังละมันไม่ได้, อาสวะเหล่านั้นเราละได้ขาด ถอนขึ้นทั้งรากแล้ว ทำให้เหมือนตาลยอดด้วน ไม่ให้มี ไม่ให้เกิดขึ้น อีกต่อไปแล้ว, พราหมณ์เอย ! อาสวะเหล่าใดที่จะทำให้เราเป็น คนธรรพ์ เป็น ยักษ์ เป็น มนุษย์ เพราะยังละมันไม่ได้, อาสวะเหล่านั้น เราละได้ขาด ถอนขึ้นทั้งรากแล้ว ทำให้เหมือนตาลยอดด้วน ไม่ให้มีไม่ให้เกิดขึ้น อีกต่อไปแล้ว.

พราหมณ์ ! เปรียบเหมือนดอกบัวเขียว บัวหลวง หรือบัวขาว, มันเกิดในน้ำเจริญในน้ำโผล่ ขึ้นพ้นน้ำตั้งอยู่ น้ำไม่เปียกติดมันได้ ฉันใดก็ฉันนั้นนะพราหมณ์ ! เรานี้เกิดในโลก เจริญในโลก ก็จริง แต่เราครอบงำโลกเสียได้แล้ว และอยู่ในโลก โลกไม่ฉาบทาแปดเปื้อน เราได้.

พราหมณ์ ! ท่านจงจำเราไว้ว่า เป็น "พุทธะ" ดังนี้เถิด.


บาลี จตุกฺก. อํ. ๒๑/๔๙/๓๖.
ตรัสแก่โทณพราหมณ์ ที่โคนไม้ระหว่างทางแห่งหนึ่ง.

      
เรื่องย่อ ที่ควรทราบก่อน

บัดนี้ เราผู้โคตมโคตร เจริญแล้วใน สากยตระกูล เคยตั้งความเพียรไว้ได้บรรลุสัมมาสัมโพธิญาณอันสูงสุด เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ....

นครของเราชื่อ กบิลพัสดุ์, บิดาของเราเป็นราชาชื่อ สุทโธทนะ, มารดาผู้ให้กำเนิดเราชื่อ มายาเทวี. เราอยู่ครองเรือน ๒๙ ปี มี ปราสาทสูงสุด ๓ หลัง ชื่อ สุจันทะ โกกนุทะ และโกญจะ มีหญิงประดับดีแล้วสี่หมื่นนาง, นารีผู้เป็นชายาชื่อ ยโสธรา, ลูกเราชื่อ ราหุล.

เพราะได้เห็น นิมิตทั้งสี่ เราจึงออกด้วยม้าเป็นพาหนะ ทำความเพียรถึงหกปี, เราได้ทำสิ่งที่ใครๆ ทำได้โดยยาก. เราเป็น ชินะ (ผู้ชนะ) ประกาศธรรมจักร ที่ป่าอิสิปตนะ เมืองพาราณสี, เป็นสัมมาสัมพุทธเจ้าชื่อ โคตมะเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย.

ภิกษุผู้เป็นอัครสาวกสองรูป ชื่อ โกลิตะ และ อุปติสสะ, อุปัฏฐากผู้ใกล้ชิดของเราชื่อ อานนท์, ภิกษุณีผู้เป็นอัครสาวิกาสองรูป ชื่อ เขมา และ อุบลวัณณา, อุบาสกผู้เป็นอัครอุปัฏฐากสองคน ชื่อ จิตตะ และ หัตถาฬวกะ,อุบาสิกาผู้เป็นอัครอุปัฏฐายิกาสองชื่อ นันทมาตา และ อุตตรา. เราได้บรรลุสัมมาสัมโพธิณาณอันสูงสุด ณ ควงแห่งไม้อัสสัตถะ.... .


บาลี พุทธว. ขุ. ๓๓/๕๔๓/๒๖.

      
เรื่องสั้นๆ ที่ควรทราบก่อน
(อีกหมวดหนึ่ง)

ภิกษุ ท.! ในภัททกัปป์นี้ ในบัดนี้ เราผู้เป็นอรหันตสัมมาสัมพุทธะ ได้บังเกิดขึ้นแล้วในโลก.

ภิกษุ ท.! ในบัดนี้ เราผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธะ เป็นกษัตริย์โดยชาติ บังเกิดแล้วในขัตติยสกุล.

ภิกษุ ท.! ในบัดนี้ เราผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธะ โดยโคตร เป็นโคตมโคตร.

ภิกษุ ท.! ในบัดนี้ ประมาณอายุขัย (แห่งสัตว์ในยุค) ของเราสั้นมาก : ผู้ที่เป็นอยู่ได้นาน ก็เพียงร้อยปีเป็นอย่างยิ่ง, ที่เกินร้อยปีขึ้นไปมีน้อยนัก.

ภิกษุ ท.! ในบัดนี้ เราผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธะได้ตรัสรู้ ณ ควงแห่งไม้ อัสสัตถะ.*

ภิกษุ ท.! ในบัดนี้ สาวกสองรูปมีนามว่า สารีบุตร และ โมคคัลลานะ เป็นอัครสาวกคู่เลิศของเรา.

ภิกษุ ท.! ในบัดนี้ สาวกสันนิบาตของเรา มีเพียงครั้งเดียว และมีภิกษุถึง ๑๒๕๐ รูป. สังฆสันนิบาตแห่งสาวกของเราในครั้งนี้ ผู้เข้าประชุมล้วนแต่เป็นพระขีณาสพทั้งสิ้น.

ภิกษุ ท.! ในบัดนี้ ภิกษุผู้เป็นอุปัฏฐากใกล้ชิดของเรา คือ อานนท์จัดเป็นอุปัฏฐากอันเลิศ.

ภิกษุ ท.! ในบัดนี้ พระราชานามว่า สุทโธทนะ เป็นบิดาของเรา, พระเทวีนามว่า มายา เป็นมารดาผู้ให้กำเนิดแก่เรา, นครชื่อ กบิลพัสดุ์ เป็นราชธานี (แห่งบิดาของเรา).


บาลี มหาปทานสูตร มหา. ที. ๑๐/๒-๘/๑-๙.
ตรัสแก่ภิกษุ ท. ณ กุฎีใกล้ไม้กุ่ม ในอารามเชตวัน.
เป็นข้อความที่ตรัสเปรียบเทียบเรื่องราวของพระองค์เอง
กับพระพุทธเจ้าองค์อื่นอีก ๖ พระองค์.

จบภาคนำ.
____________________________________

* คือ ไม้ Ficus religiosa ซึ่งเรียกกันในบัดนี้ ตามมูลเหตุที่พุทธองค์ได้ตรัสรู้ใต้โคนของมันว่า "ต้นโพธิ์" ในที่นี้ ที่ทรงเรียกว่าไม้อัสสัตถะนั้น เรียกชื่อพื้นเมืองเดิม. ต้นไม้จะเป็นไม้ประเภทใดก็ตาม หากมีพระพุทธเจ้าองค์ใด ใช้เป็นต้นตรัสรู้แล้ว ไม้ประเภทนั้นพลอยได้เกียรตินามใหม่ในพุทธกาลของพระพุทธเจ้าองค์นั้น ว่า "ไม้โพธิ์" ทั้งสิ้น. ในพุทธกาลนี้ ไม้อัสสัตถะซึ่งเป็นไม้ตระกูลมะเดื่อชนิดหนึ่ง, มีเกียรติได้นามใหม่ว่า "ไม้โพธิ์" มาจนบัดนี้.
      


ภาค ๑

เริ่มแต่การเกิดแห่งสากยวงศ์ จนถึงออกผนวช (๒๑ เรื่อง)

การเกิดแห่งวงศ์สากยะ
พวกสากยะอยู่ใต้อำนาจพระเจ้าโกศล
แดนสากยะขึ้นอยู่ในแคว้นโกศล
การอยู่ในหมู่เทพชั้นดุสิต (พ.ม.)
การเกิดในดุสิต
การดำรงอยู่ในดุสิต
การดำรงอยู่ตลอดอายุในดุสิต
การจุติจากดุสิตลงสู่ครรภ์ (พ.ม.)
เกิดแสงสว่างเนื่องด้วยการจุติจากดุสิต (พ.ม.)
แผ่นดินไหวเนื่องด้วยการจุติ (พ.ม.)
การลงสู่ครรภ์ (พ.ม.)
การอยู่ในครรภ์ (พ.ม.)
มารดามีศีล
มารดาไม่มีจิตในทางกามารมณ์
มารดามีลาภ
มารดาไม่มีโรค, เห็นโพธิสัตว์
มารดาอุ้มครรภ์เต็มสิบเดือน
การประสูติ (พ.ม.)
ยืนคลอด
เทวดารับก่อน
เทพบุตรทั้งสี่รับมาถวาย
ไม่เปื้อนมลทินครรภ์
ท่อธารจากอากาศ
การเปล่งอาสภิวาจา
เกิดแสงสว่างเนื่องด้วยการประสูติ (พ.ม.)
แผ่นดินไหวเนื่องด้วยการประสูติ (พ.ม.)
ประกอบด้วยมหาปุริสลักขณะ ๓๒
บุรพกรรมของการได้มหาปุริสลักขณะ
ประสูติได้ ๗ วัน พระชนนีทิวงคต
ทรงได้รับการบำเรอในราชสำนัก
กามสุข กับ ความหน่าย
ทรงหลงกาม และ หลุดจากกาม
ความรู้สึกที่ถึงกับทำให้ออกผนวช (พ.ม.)
การออกผนวช
ออกผนวชเมื่อพระชนม์ ๒๙


การเกิดแห่งวงศ์สากยะ

อัมพัฎฐะ! เรื่องดึกดำบรรพ์, พระเจ้า อุกกากราช ปรารถนาจะยกราชสมบัติประทานแก่โอรสของพระมเหสีที่โปรดปรานต้องพระทัย จึงได้ทรงขับราชกุมารผู้มีชนมายุแก่กว่า คือเจ้า อุกกามุข, กรกัณฑุ, หัตถินีกะ, สินีปุระ,ออกจากราชอาณาจักร ไปตั้งสำนักอยู่ ณ ป่าสากใหญ่ ใกล้สระโบกขรณีข้างภูเขาหิมพานต์. เธอเหล่านั้น กลัวชาติจะระคนกัน จึงสมสู่กับพี่น้องหญิงของเธอเอง. ต่อมา พระเจ้าอุกกากราชตรัสถามอำมาตย์ว่า "บัดนี้กุมารเหล่านั้นอยู่ที่ไหน?"

กราบทูลว่า บัดนี้กุมารเหล่านั้นเสด็จอยู่ ณ ป่าสากใหญ่ ซึ่งอยู่ใกล้สระโบกขรณีข้างภูเขาหิมพานต์พระกุมารทั้งหลายกลัวชาติระคนกัน จึงสมสู่กับภคินีของตนเอง.

ขณะนั้น พระเจ้าอุกกากราชทรงเปล่งพระอุทานว่า "กุมารผู้อาจหาญหนอ, กุมารผู้อาจหาญอย่างยิ่งหนอ". เพราะเหตุนั้นเป็นเดิม จึงเป็นพวกที่ได้ชื่อว่า "สากยะ"* สืบมา.... .


ความตอนนี้ ตรัสแก่อัมพัฎฐมาณพ ศิษย์พราหมณ์โปกขรสาติ ที่ป่าอิจฉานังคละ.
บาลีอัมพัฎฐสูตรที่ ๓ สี. ที.๙/๑๒๐/๑๔๙.

* ชื่อนี้มีมูลมาจากต้นสากก็ได้, แห่งคำว่ากล้าหาญก็ได้, เพราะสักก–กล้าหาญ, สักกเราเรียกในเสียงภาษาไทยกันว่า สากยะ, เรื่องเกิดวงศ์สากยะมีกล่าวไว้อย่างพิสดารในอรรถกถาของอัมพัฎฐสูตรนี้เอง เช่นเรื่องไม้กะเบาเป็นต้น จะกล่าวในโอกาสหลัง.


พวกสากยะอยู่ใต้อำนาจพระเจ้าโกศล

....วาเสฏฐะ ! พระราชา ปเสนทิโกศล ย่อมทราบว่า 'พระสมณโคดมผู้ยอดเยี่ยม บวชแล้วจากสากยตระกูล'. วาเสฏฐะ ! ก็แหละพวกสากยะ ท. เป็นผู้อยู่ใกล้ชิด และอยู่ในอำนาจของพระราชาปเสนทิโกศล. วาเสฏฐะ ! ก็พวกสากยะ ท. ย่อมทำการต้อนรับ, ทำการอภิวาท ลุกขึ้นยืนรับ ทำอัญชลีกรรมและสามีจิกรรม ในพระราชาปเสนทิโกศล. วาเสฏฐะ ! พวกสากยะกระทำการต้อนรับเป็นต้น แก่พระราชาปเสนทิโกศลอย่างไร, พระราชาปเสนทิโกศลย่อมกระทำการต้อนรับเป็นต้นแก่ตถาคต (เมื่อออกบวชแล้ว) อย่างนั้น*.

บาลี อัคคัญญสูตร ปา. ที. ๑๑/๙๑/๕๔.
ตรัสแก่วาเสฏฐะกับเพื่อน.

_____________________________
* ความข้อนี้เราไม่อยากจะเชื่อกันโดยมากว่าจะเป็นอย่างนี้โดยที่เราไม่อยากให้ตระกูลของพระองค์เป็นเมืองขึ้นของใคร แต่พระองค์เองกลับตรัสตรงไปทีเดียวว่าเป็นเมืองขึ้นของโกศล, ต้องนอบน้อมต่อพระเจ้าปเสนทิ. แต่เมื่อพระองค์ออกบวชเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว. พระเจ้าปเสนทิโกศลกลับทำตรงกันข้าม คือนอบน้อมต่อพระองค์ เช่นเดียวกับที่พวกสากยะเคยนอบน้อมต่อพระเจ้าปเสนทิ. บาลีตรงนี้ คือ รญฺโ ปเสนทิสฺส โกสลสฺส อนนฺตรา อนุยนฺตา. คำว่า อนุยนฺตา อรรถกถาแก้ดังนี้ อนุยนฺตาติ วสวตฺติโน, (สุมัง. ๓, น.๖๒), แปลว่า อยู่ในอำนาจ.


แดนสากยะขึ้นอยู่ในแคว้นโกศล

ตรัสตอบแก่พระเจ้าพิมพิสารว่า :-

"ราชะ! ชนบทตรงข้างภูเข้าหิมพานต์ สมบูรณ์ด้วยความเพียรเครื่องหาทรัพย์ เป็นเมืองขึ้น* แห่งโกศล มีพวกชื่อ อาทิตย์โดยโคตร ชื่อ สากยะโดยชาติ. อาตมาภาพออกบวชจากตระกูลนั้น จะปรารถนากามก็หามิได้..."

บาลี ปัพพชาสูตร มหาวัคค์ สุ.ขุ. ๒๕/๔๐๗/๓๕๔

* ศัพท์นี้ว่า นิเกติโน, พระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เคยทรงแปลไว้ในพุทธประวัติเล่ม ๑ ว่า "เป็นถิ่น", ในอรรถกถาแก้ศัพท์นี้ไว้ ส่อความว่าเป็นเมืองขึ้นนั้นเอง. คำว่าถิ่นก็คือเมืองขึ้นเหมือนกัน.


การอยู่ในหมู่เทพชั้นดุสิต*

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ข้อนี้ ข้าพระองค์ได้ฟังมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้จำมาแต่ที่เฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า "ดูก่อนอานนท์ ! โพธิสัตว์ มีสติ รู้ตัวทั่วพร้อม บังเกิดขึ้นในหมู่ เทพชั้นดุสิต" ดังนี้. ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ ! ข้อที่พระโพธิสัตว์ มีสติ รู้ตัวทั่วพร้อม บังเกิดขึ้นในหมู่เทพชั้นดุสิต นี้ ข้าพระองค์ย่อมถือไว้ว่า เป็นของน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมี เกี่ยวกับพระผู้มีพระภาค.

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ข้อนี้ ข้าพระองค์ได้ฟังมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้จำมาแต่ที่เฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า "ดูก่อนอานนท์! โพธิสัตว์มีสติ รู้ตัวทั่วพร้อม ดำรงอยู่ ในหมู่เทพชั้นดุสิต" ดังนี้. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ข้อที่พระโพธิสัตว์ มีสติ รู้ตัวทั่วพร้อม ดำรงอยู่ในหมู่เทพชั้นดุสิต นี้ ข้าพระองค์ย่อมถือไว้ว่า เป็นของน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมี เกี่ยวกับพระผู้มีพระภาค.

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ข้อนี้ ข้าพระองค์ได้ฟังมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้จำมาแต่ที่เฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า "ดูก่อนอานนท์! โพธิสัตว์มีสติ รู้ตัวทั่วพร้อม ดำรงอยู่ในหมู่เทพชั้นดุสิต จนกระทั่งตลอดกาลแห่งอายุ" ดังนี้. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ! ข้อที่พระโพธิสัตว์ มีสติ รู้ตัวทั่วพร้อม ดำรงอยู่ในหมู่เทพชั้นดุสิตจนกระทั่งตลอดกาลแห่งอายุ นี้ ข้าพระองค์ย่อมถือไว้ว่า เป็นของน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีเกี่ยวกับพระผู้มีพระภาค.


_________________________________________
* บาลี อัจฉริยอัพภูตธัมมสูตร อุปริ. ม. ๑๔/๒๔๗/๓๖๐-๑-๒, เป็นคำที่พระอานนท์เล่าแก่ภิกษุทั้งหลาย ต่อพระพักตร์พระผู้มีพระภาค ถึงเรื่องที่เคยได้ฟังมาจากพระผู้มีพระภาคเอง, นับว่าเป็นข้อความจากพระโอษฐ์ เฉพาะตอนที่อยู่ในอัญญประกาศ.
บาลีอัจฉริยอัพภูตธัมมสูตรอันว่าด้วยเรื่องอยู่ในดุสิต เรื่องจุติ เรื่องประสูติ เหล่านี้ซึ่งล้วนแต่เป็นปาฎิหาริย์, จะเป็นเรื่องที่ควรถือเอาตามนั้นตรงตามตัวอักษรไปทั้งหมด หรือว่าเป็นเรื่องที่ท่านแฝงไว้ในปุคคลาธิษฐาน จะต้องถอดให้เป็นธรรมาธิษฐานเสียก่อนแล้วจึงถือเอา เป็นเรื่องที่ต้องวินิจฉัยกันอีกต่อหนึ่ง, ข้าพเจ้าผู้รวบรวมสังเกตเห็นความแปลกประหลาดของเรื่องเหล่านี้ ตอนที่ไม่ตรัสเล่าเสียเอง ยกให้เป็นหน้าที่ของพระอานนท์ เป็นผู้เล่ายืนยันอีกต่อหนึ่ง ขอให้วินิจฉัยกันดูเถิด. ที่นำมารวมไว้ในที่นี้ด้วย ก็เพราะมีอยู่ในบาลี เป็น พุทธภาษิตเหมือนกัน แม้จะโดยอ้อม โดยผ่านทางปากของพระอานนท์อีกต่อหนึ่ง ซึ่งลักษณะเช่นนี้มีแต่เรื่องตอนนี้เท่านั้น.


การจุติจากดุสิตลงสู่ครรภ์

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ข้อนี้ ข้าพระองค์ได้ฟังมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้จำมาแต่ที่เฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า "ดูก่อนอานนท์! โพธิสัตว์มีสติ รู้ตัวทั่วพร้อม จุติจากหมู่เทพชั้นดุสิต ก้าวลงสู่ครรภ์แห่งมารดา" ดังนี้. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ! แม้ข้อนี้ ข้าพระองค์ย่อมถือไว้ว่า เป็นของน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีเกี่ยวกับพระผู้มีพระภาค.

บาลี อัจฉริยอัพภูตธัมมสูตร อุปริ. ม. ๑๔/๒๔๘/๓๖๓.

      
เกิดแสงสว่างเนื่องด้วย การจุติจากดุสิต

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ข้อนี้ ข้าพระองค์ได้ฟังมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้จำมาแต่ที่เฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า "ดูก่อนอานนท์! โพธิสัตว์ มีสติ รู้ตัวทั่วพร้อม จุติจากหมู่เทพชั้นดุสิตแล้ว ก้าวลงสู่ครรภ์แห่งมารดา ในขณะนั้น แสงสว่างอันโอฬารจนหาประมาณมิได้ ยิ่งใหญ่กว่าอานุภาพของเทวดาทั้งหลายจะบันดาลได้, ได้ปรากฏขึ้นในโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์พร้อมทั้งเทวดาแลมนุษย์ ถึงแม้ในโลกันตริกนรก อันโล่งโถงไม่มีอะไรปิดกั้น แต่มืดมน หาการเกิดแห่งจักขุวิญญาณมิได้ อันแสงสว่างแห่งดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ อันมีฤทธิอานุภาพอย่างนี้ ส่องไปไม่ถึงนั้น แม้ในที่นั้น แสงสว่างอันโอฬารจนหาประมาณมิได้ ยิ่งใหญ่กว่าอานุภาพของเทวดาทั้งหลายจะบันดาลได้ ก็ได้ปรากฏขึ้นเหมือนกันสัตว์ที่เกิดอยู่ ณ ที่นั้น รู้จักกันได้ด้วยแสงสว่างนั้น พากันร้องว่า 'ท่านผู้เจริญทั้งหลายเอ๋ย ผู้อื่นอันเกิดอยู่ในที่นี้ นอกจากเรา ก็มีอยู่เหมือนกัน' ดังนี้ และหมื่นโลกธาตุนี้ ก็หวั่นไหว สั่นสะเทือนสะท้าน. แสงสว่างอันโอฬารจนหาประมาณมิได้ ได้ปรากฏขึ้นในโลก เกินกว่าอานุภาพของเทวดาทั้งหลายจะบันดาลได้." ดังนี้. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ! แม้ข้อนี้ ข้าพระองค์ย่อมถือไว้ว่าเป็นของน่าอัศจรรย์ไม่เคยมี เกี่ยวกับพระผู้มีพระภาค.

(ข้อความเช่นนี้ ที่อยู่ในรูปพุทธภาษิตล้วนๆ ก็มี คือ บาลีสัตตมสูตร ภยวัคค์ จตุกฺก. อํ. ๒๑/๑๗๖/๑๒๗, เป็นอัศจรรย์ครั้งที่ ๑ (จุติ), ครั้งที่ ๒ (ประสูติ), ครั้งที่ ๓ (ตรัสรู้), ฯลฯ ไปตามลำดับ, สังเกตดูได้ที่ตอนตรัสรู้เป็นต้นไป, ในที่นี้ไม่นำมาใส่ไว้ เพราะใจความซ้ำกัน)

บาลี อัจฉริยอัพภูตธัมมสูตร อุปริ. ม. ๑๔/๒๔๘/๓๖๔,
และ จตุกฺก. อํ. ๒๑/๑๗๖/๑๒๗.

      
แผ่นดินไหว เนื่องด้วยการจุติ

ดูก่อนอานนท์ ! เหตุปัจจัยที่ทำให้ปรากฏการไหวแห่งแผ่นดินอันใหญ่หลวง มีอยู่แปดประการ. ....

ดูก่อนอานนท์ ! เมื่อใดโพธิสัตว์ จุติจากหมู่เทพชั้นดุสิต มีสติสัมปชัญญะ ก้าวลงสู่ครรภ์แห่งมารดา; เมื่อนั้น แผ่นดินย่อมหวั่นไหว ย่อมสั่นสะเทือน ย่อมสั่นสะท้าน. อานนท์ ! นี้เป็นเหตุปัจจัยคำรบสามแห่งการปรากฏการไหวของแผ่นดินอันใหญ่หลวง.


บาลี อฎฺฐก. อํ. ๒๓/๓๒๒,๓๒๓/๑๖๗.
ตรัสแก่พระอานนท์ ที่ปาวาลเจดีย์ เมืองเวสาลี.

      
การลงสู่ครรภ์

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ข้อนี้ ข้าพระองค์ได้ฟังมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้จำมาแต่ที่เฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า "ดูก่อนอานนท์ ! ในกาลใด โพธิสัตว์กำลังก้าวลงสู่ครรภ์แห่งมารดา ในกาลนั้นเทพบุตรทั้งหลายย่อมทำการอารักขาในทิศทั้งสี่ แก่โพธิสัตว์ โดยประสงค์ว่ามนุษย์หรืออมนุษย์หรือใครๆ ก็ตาม อย่าได้เบียดเบียนโพธิสัตว์ หรือมารดาแห่งโพธิสัตว์เลย" ดังนี้. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! แม้ข้อนี้ ข้าพระองค์ย่อมถือไว้ว่าเป็นของน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีเกี่ยวกับพระผู้มีพระภาค.

บาลี อัจฉริยอัพภูตธัมมสูตร อุปริ. ม. ๑๔/๒๔๙/๓๖๕.

      
การอยู่ในครรภ์

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ข้อนี้ ข้าพระองค์ได้ฟังมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้จำมาแต่ที่เฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า "ดูก่อนอานนท์! ในกาลใด โพธิสัตว์ก้าวลงสู่ครรภ์แห่งมารดา ในกาลนั้นมารดาแห่งโพธิสัตว์ ย่อมเป็นผู้มีศีลอยู่โดยปกติ เป็นผู้เว้นจากปาณาติบาต เว้นจากอทินนาทาน เว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร เว้นจากมุสาวาท เว้นจากสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งของความประมาท" ดังนี้.

ฯลฯ "ดูก่อนอานนท์ ! ในกาลใด โพธิสัตว์ก้าวลงสู่ครรภ์แห่งมารดาในกาลนั้น มารดาแห่งโพธิสัตว์ ย่อม ไม่มีความคิดอันเจือด้วยกามคุณ ในบุรุษทั้งหลาย, อนึ่ง มารดาแห่งโพธิสัตว์ ย่อมเป็นผู้ที่บุรุษใดๆ ไม่คิดจะล่วงเกินด้วยจิตอันกำหนัด" ดังนี้.

ฯลฯ "ดูก่อนอานนท์ ! ในกาลใด โพธิสัตว์ก้าวลงสู่ครรภ์แห่งมารดาในกาลนั้น มารดาแห่งโพธิสัตว์ เป็นผู้มีลาภ ด้วยกามคุณทั้งห้า*, มารดาแห่งโพธิสัตว์นั้น อิ่มเอิบด้วยกามคุณทั้งห้า เพียบพร้อมด้วยกามคุณทั้งห้า ให้เขาประคบประหงมอยู่" ดังนี้.

ฯลฯ "ดูก่อนอานนท์ ! ในกาลใด โพธิสัตว์ก้าวลงสู่ครรภ์แห่งมารดาในกาลนั้น มารดาแห่งโพธิสัตว์ ย่อม ไม่มีอาพาธไรๆ มีความสุข ไม่อ่อนเพลีย, อนึ่ง มารดาแห่งโพธิสัตว์ ย่อม แลเห็นโพธิสัตว์ ผู้อยู่ในครรภ์มารดา มีอวัยวะน้อยใหญ่สมบูรณ์ มีอินทรีย์ไม่ทราม. เหมือนอย่างว่า แก้วไพฑูรย์อันงดงามโชติช่วงสดใสเจียระไนดีแล้ว มีด้ายร้อยอยู่ในแก้วนั้น สีเขียว เหลืองแกมเขียวแดง ขาว หรือเหลือง ก็ตาม บุรุษที่ตายังดี เอาแก้วนั้นวางบนฝ่ามือแล้วย่อมมองเห็นชัดเจนว่า นี้แก้วไพฑูรย์ อันงดงามโชติช่วงสดใส เจียระไนดีแล้ว, นี้ด้าย ซึ่งร้อยอยู่ในแก้วนั้น จะเป็นสีเขียว เหลืองแกมเขียว แดง ขาว หรือเหลืองก็ตาม; ฉันใดก็ฉันนั้น ที่มารดาแห่งโพธิสัตว์ เป็นผู้ไม่มีอาพาธ มีความสบายไม่อ่อนเพลีย แลเห็นโพธิสัตว์ผู้นั่งอยู่ในครรภ์ มีอวัยวะน้อยใหญ่สมบูรณ์ มีอินทรีย์ไม่ทราม" ดังนี้.

ฯลฯ "ดูก่อนอานนท์ ! หญิงอื่นๆ อุ้มครรภ์ไว้เก้าเดือนบ้าง สิบเดือนบ้าง จึงจะคลอด, ส่วนมารดาแห่งโพธิสัตว์ ไม่เป็นเช่นนั้น, ย่อม อุ้มครรภ์ไว้สิบเดือนเต็ม ทีเดียว แล้วจึงคลอด" ดังนี้.

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! แม้ข้อนี้ๆ ข้าพระองค์ย่อมถือไว้ว่า เป็นของน่าอัศจรรย์ไม่เคยมี, เกี่ยวกับพระผู้มีพระภาค.


บาลี อัจฉริยอัพภูตธัมมสูตร อุปริ. ม. ๑๔/๒๔๙-๒๕๑/๓๖๖-๗-๘-๙, ๓๗๑.

____________________________________
* กามคุณห้า ในที่นี้ หมายเพียงเครื่องบำรุงตามธรรมดา มิได้หมายถึงที่เกี่ยวกับกามารมณ์โดยตรง เพราะมีปฏิเสธอยู่ในข้อต้นจากนี้อยู่แล้ว.


การประสูติ

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ข้อนี้ ข้าพระองค์ได้ฟังมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้จำเอามาแต่ที่เฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ้า ว่า "ดูก่อนอานนท์ ! หญิงอื่นๆ ย่อมนั่งคลอดบ้าง นอนคลอดบ้าง. ส่วนมารดาแห่งโพธิสัตว์ หาเป็นอย่างนั้นไม่, มารดาแห่งโพธิสัตว์ ย่อม ยืนคลอด โพธิสัตว์" ดังนี้.

ฯลฯ "ดูก่อนอานนท์ ! ในกาลใด โพธิสัตว์ออกมาจากท้องแห่งมารดา ในกาลนั้น เทวดาทั้งหลายย่อมเข้ารับก่อน ส่วนมนุษย์ทั้งหลาย ย่อมเข้ารับต่อภายหลัง" ดังนี้.

ฯลฯ "ดูก่อนอานนท์ ! ในกาลใด โพธิสัตว์ออกมาจากท้องแห่งมารดายังไม่ทันถึงแผ่นดิน เทพบุตรทั้งสี่ ย่อม รับเอามาวางตรงหน้าแห่งมารดา ทูลว่าแม่เจ้าจงพอพระทัยเถิด บุตรอันมีศักดาใหญ่ของแม่เจ้า เกิดแล้ว" ดังนี้.

ฯลฯ "ดูก่อนอานนท์ ! ในกาลใด โพธิสัตว์ออกมาจากท้องแห่งมารดาในกาลนั้นเป็นผู้สะอาดหมดจด ไม่เปื้อนด้วยเมือก ไม่เปื้อนด้วยเสมหะ ไม่เปื้อนด้วยเลือด ไม่เปื้อนด้วยหนอง ไม่เปื้อนด้วยของไม่สะอาดอย่างใดๆ เป็นผู้บริสุทธิ์สะอาดหมดจดมาทีเดียว. เหมือนอย่างว่า แก้วมณีที่วางอยู่บนผ้าเนื้อเกลี้ยงอันมาแต่แคว้นกาสี, แก้วก็ไม่เปื้อนผ้า ผ้าก็ไม่เปื้อนแก้ว, เพราะเหตุใด, เพราะเหตุว่ามันเป็นของสะอาดหมดจดทั้งสองอย่าง; ฉันใดก็ฉันนั้น ที่โพธิสัตว์ออกมาจากท้องแห่งมารดา เป็นผู้สะอาดหมดจด ไม่เปื้อนด้วยเมือก ไม่เปื้อนด้วยเสมหะ ไม่เปื้อนด้วยเลือด ไม่เปื้อนด้วยหนอง ไม่เปื้อนด้วยของไม่สะอาดอย่างใดๆ เป็นผู้บริสุทธิ์สะอาดหมดจดมาทีเดียว" ดังนี้.

ฯลฯ "ดูก่อนอานนท์ ! ในกาลใด โพธิสัตว์ออกมาจากท้องแห่งมารดาในกาลนั้น ท่อธารแห่งน้ำสองท่อ ปรากฏจากอากาศ เย็นท่อหนึ่งร้อนท่อหนึ่ง, อันเขาใช้ในกิจอันเนื่องด้วยน้ำ แก่โพธิสัตว์ และแก่มารดา" ดังนี้.

ฯลฯ "ดูก่อนอานนท์ ! โพธิสัตว์ผู้คลอดแล้วเช่นนี้ เหยียบพื้นดินด้วยฝ่าเท้าอันสม่ำเสมอ มีพระพักตร์ทางทิศเหนือ ก้าวไป ๗ ก้าว, มีฉัตรสีขาวกั้นอยู่ ณ เบื้องบน, ย่อมเหลียวดูทิศทั้งหลาย และกล่าว อาสภิวาจา* ว่า "เราเป็นผู้เลิศแห่งโลก, เราเป็นผู้เจริญที่สุดแห่งโลก, เราเป็นผู้ประเสริฐสุดแห่งโลก. ชาตินี้ เป็นชาติสุดท้าย. บัดนี้ ภพใหม่ย่อมไม่มี" ดังนี้.


บาลี อัจฉริยอัพภูตธัมมสูตร อุปริ. ม. ๑๔/๒๕๑/๓๗๒-๓-๔-๕-๖-๗.

_____________________________
* อาสภิวาจา คือวาจาอันประกาศความสูงสุด
ภาษาบาลีมีว่า อคฺโคหมสฺมิ โลกสฺส เชฏโ€หมสฺมิ โลกสฺส เสฏโ€หมสฺมิ โลกสฺส. อยมนฺติมา. ชาติ. นตฺถิทานิ ปุนพภฺโว.
อคฺโค หมายถึงเป็นยอดคน.
เชฏฺโ€ หมายถึงพี่ใหญ่ กว่าเขา ทั้งหมด.
เสฏฺโ€ หมายถึงสูงด้วยคุณธรรม กว่าเขาทั้งหมด. คำทั้งสามนี้น่าคิดดู.


เกิดแสงสว่าง เนื่องด้วยการประสูติ

ฯลฯ "ดูก่อนอานนท์ ! ในกาลใด โพธิสัตว์คลอดจากท้องแห่งมารดาในกาลนั้นแสงสว่างอันโอฬาร จนหาประมาณมิได้ ยิ่งใหญ่กว่าอานุภาพของเทวดาทั้งหลายจะบันดาลได้ ได้ปรากฏขึ้นในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลกในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ พร้อมทั้งเทวดาและมนุษย์. ถึงแม้ในโลกันตริกนรก อันโล่งโถงไม่มีอะไรปิดกั้น แต่มืดมนหาการเกิดแห่งจักขุวิญญาณมิได้ อันแสงสว่างแห่งดวงจันทร์แลดวงอาทิตย์ อันมีฤทธิ์อานุภาพอย่างนี้ ส่องไปไม่ถึงนั้น แม้ในที่นั้น แสงสว่างอันโอฬารจนหาประมาณมิได้ ยิ่งใหญ่กว่าอานุภาพของเทวดาทั้งหลายจะบันดาลได้ ก็ได้ปรากฏขึ้นเหมือนกัน. สัตว์ที่เกิดอยู่ในที่นั้น รู้จักกันได้ด้วยแสงสว่างนั้น พากันร้องว่า 'ท่านผู้เจริญทั้งหลายเอ๋ย ผู้อื่นอันเกิดอยู่ในที่นี้นอกจากเราก็มีอยู่เหมือนกัน' ดังนี้. และหมื่นโลกธาตุนี้ก็หวั่นไหวสั่นสะเทือนสะท้าน. แสงสว่างอันโอฬารจนหาประมาณมิได้ ได้ปรากฏขึ้นในโลก เกินกว่าอานุภาพของเทวดาทั้งหลายจะบันดาลได้" ดังนี้.

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! แม้ข้อนี้ๆ ข้าพระองค์ย่อมถือไว้ว่า เป็นของน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมี, เกี่ยวกับพระผู้มีพระภาค.


บาลี อัจฉริยอัพภูตธัมมสูตร อุปริ. ม. ๑๔/๒๕๓/๓๗๘,
และ จตุกฺก. อํ.๒๑/๑๗๖/๑๒๗

      
แผ่นดินไหว เนื่องด้วยการประสูติ

ดูก่อนอานนท์ ! เหตุปัจจัยที่ทำให้ปรากฏการไหวแห่งแผ่นดินอันใหญ่หลวง มีอยู่แปดประการ. ....

ดูก่อนอานนท์ ! เมื่อใด โพธิสัตว์ มีสติสัมปชัญญะ ออกจากท้องแห่งมารดา; เมื่อนั้น แผ่นดินย่อมหวั่นไหว ย่อมสั่นสะเทือน ย่อมสั่นสะท้าน. อานนท์ ! นี้เป็นเหตุปัจจัยคำรบสี่ แห่งการปรากฏการไหวแห่งแผ่นดินอันใหญ่หลวง.


บาลี อฎฺ€ก. อํ. ๒๓/๓๒๒, ๓๒๓/๑๖๗.
ตรัสแก่พระอานนท์ ที่ปาวาลเจดีย์ เมืองเวสาลี.

      
ประกอบด้วยมหาปุริสลักขณะ ๓๒

ภิกษุ ท. ! มหาบุรุษ (คือพระองค์เองก่อนผนวช) ผู้ประกอบด้วย มหาปุริสลักขณะ ๓๒ ประการ ย่อมมีคติเป็นสอง หาเป็นอย่างอื่นไม่ คือ :-

ถ้าเป็นฆราวาส ย่อมเป็นจักรพรรดิผู้ประกอบด้วยธรรม เป็นพระราชาโดยธรรม มีแว่นแคว้นจดมหาสมุทรทั้งสี่เป็นที่สุด มีชนบทอันบริบูรณ์ ประกอบด้วยแก้ว ๗ ประการ. แก้ว ๗ ประการ ย่อมเกิดแก่มหาบุรุษนั้นคือ จักรแก้ว ช้างแก้ว ม้าแก้ว แก้วมณี นางแก้ว คหบดีแก้ว และปริณายกแก้ว เป็นที่ ๗. มีบุตรผู้กล้าหาญ มีแววแห่งคนกล้าอันใครๆ จะย่ำยีมิได้ ตามเสด็จกว่า ๑๐๐๐. มหาบุรุษนั้นชนะแล้วครอบครองแผ่นดินมีสาครเป็นที่สุดโดยรอบ, ไม่มีหลักตอเสี้ยนหนาม มั่งคั่ง เบิกบาน เกษม ร่มเย็น ปราศจากเสนียดคือโจร, ทรงครอบครองโดยธรรมอันสม่ำเสมอ มิใช่โดยอาญาและศาสตรา.

ถ้า ออกบวชจากเรือน เป็นผู้ไม่มีประโยชน์เกื้อกูลด้วยเรือน ยอมเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มีกิเลสเครื่องปกปิดอันเปิดแล้ว ในโลก.

ภิกษุ ท.! มหาปุริสลักขณะ ๓๒ ประการนั้น เหล่าไหนเล่า? คือ :-

๑. มหาบุรุษ มีพื้นเท้าสม่ำเสมอ.
๒. มหาบุรุษ ที่ฝ่าเท้ามีจักรเกิดแล้ว, มีซี่ตั้งพัน พร้อมทั้งกงและดุม.
๓. มหาบุรุษ มีส้นเท้ายาว.
๔. มหาบุรุษ มีข้อนิ้วยาว.
๕. มหาบุรุษ มีฝ่ามือฝ่าเท้าอ่อนละมุน.
๖. มหาบุรุษ มีลายฝ่ามือฝ่าเท้าดุจตาข่าย.
๗. มหาบุรุษ มีข้อเท้าอยู่สูง.
๘. มหาบุรุษ มีแข้งดุจแข้งเนื้อทราย.
๙. มหาบุรุษ ยืนไม่ย่อตัวลง แตะเข่าได้ด้วยมือทั้งสอง.
๑๐. มหาบุรุษ มีองคชาตตั้งอยู่ในฝัก.
๑๑. มหาบุรุษ มีสีกายดุจทอง คือมีผิวหนังดุจทอง.
๑๒. มหาบุรุษ มีผิวหนังละเอียด ละอองจับไม่ได้.
๑๓. มหาบุรุษ มีขนขุมละเส้น เส้นหนึ่งๆ อยู่ขุมหนึ่งๆ.
๑๔. มหาบุรุษ มีปลายขนช้อนขึ้น สีดุจดอกอัญชัน ขึ้นเวียนขวา
๑๕. มหาบุรุษ มีกายตรงดุจกายพรหม.
๑๖. มหาบุรุษ มีเนื้อนูนหนาในที่ ๗ แห่ง (คือหลังมือหลังเท้าบ่าคอ).
๑๗. มหาบุรุษ มีกายข้างหน้า ดุจราชสีห์.
๑๘. มหาบุรุษ มีหลังเต็ม (ไม่มีร่องหลัง).
๑๙. มหาบุรุษ มีทรวดทรงดุจต้นไทย กายกับวาเท่ากัน.
๒๐. มหาบุรุษ มีคอ กลมเกลี้ยง.
๒๑. มหาบุรุษ มีประสาทรับรสอันเลิศ.
๒๒. มหาบุรุษ มีคางดุจคางราชสีห์.
๒๓. มหาบุรุษ มีฟัน ๔๐ ซี่บริบูรณ์.
๒๔. มหาบุรุษ มีฟันเรียบเสมอ.
๒๕. มหาบุรุษ มีฟันสนิท (ชิด).
๒๖. มหาบุรุษ มีเขี้ยวสีขาวงาม.
๒๗. มหาบุรุษ มีลิ้น (ใหญ่และยาว) เพียงพอ.
๒๘. มหาบุรุษ มีเสียงดุจเสียงพรหม พูดเหมือน นกการวิก.
๒๙. มหาบุรุษ มีตาเขียวสนิท (สีนิล).
๓๐. มหาบุรุษ มีตาดุจตาวัว.
๓๑. มหาบุรุษ มีอุณาโลมหว่างคิ้ว ขาวอ่อนเหมือนสำลี.
๓๒. มหาบุรุษ มีศีรษะรับกับกรอบหน้า.

ภิกษุ ท. ! นี้เป็นมหาปุริสลักขณะ ๓๒ ประการ ของมหาบุรุษ.


บาลี ลักขณสูตร ปา. ที. ๑๑/๑๕๗/๑๓๐.
ตรัสแก่ภิกษุ ท. ที่เชตวัน.

      
บุรพกรรมของการได้มหาปุริสลักขณะ

....ภิกษุ ท.! พวกฤๅษีภายนอก จำมนต์มหาปุริสลักขณะได้ก็จริง แต่หารู้ไม่ว่า การที่มหาบุรุษได้ลักขณะอันนี้ๆ เพราะทำกรรมเช่นนี้ๆ :

(ก) ภิกษุ ท.! เมื่อตถาคตเกิดเป็นมนุษย์ในชาติก่อน ในภพที่อยู่อาศัยก่อน ได้เป็นผู้บากบั่นในกุศล ถือมั่นในกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต, ในการบริจาคทาน การสมาทานศีล การรักษาอุโบสถ การปฏิบัติมารดา บิดาการปฏิบัติสมณพราหมณ์ การอ่อนน้อมต่อผู้เจริญในตระกูล และในอธิกุศลธรรมอื่น. เพราะได้กระทำ ได้สร้างสม ได้พอกพูน ได้มั่วสุมกรรมนั้นๆ ไว้, ภายหลังแต่การตาย เพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์. ตถาคตนั้นถือเอายิ่งกว่าในเทพเหล่าอื่นโดย ฐานะ ๑๐ คือ อายุทิพย์ วรรณะทิพย์ สุขทิพย์ ยศทิพย์ อธิบดีทิพย์ รูปทิพย์ เสียงทิพย์ กลิ่นทิพย์ รสทิพย์ สัมผัสทิพย์; ครั้นจุติจากภพนั้นมาสู่ความเป็นมนุษย์อย่างนี้ จึงได้มหาปุริสลักขณะข้อนี้คือ มีฝ่าเท้าเสมอ จดลงก็เสมอ ยกขึ้นก็เสมอ ฝ่าเท้าถูกต้องพื้นพร้อมกัน... (ลักขณะที่ ๑), ย่อมเป็นผู้ไม่หวาดหวั่นต่อข้าศึกทั้งภายในและภายนอก คือราคะ โทสะ โมหะ ก็ตาม สมณะพราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใครๆ ก็ตาม ในโลก ที่เป็นศัตรู.

(ข) ภิกษุ ท.! เมื่อตถาคตเกิดเป็นมนุษย์ในชาติก่อน....* ได้เป็นผู้นำสุขมาให้แก่มหาชน เป็นผู้บรรเทาภัยคือความสะดุ้งหวาดเสียว จัดการคุ้มครองรักษาโดยธรรม ได้ถวายทานมีเครื่องบริวาร. เพราะได้กระทำ....กรรมนั้นๆ ไว้....ครั้นมาสู่ความเป็นมนุษย์อย่างนี้ จึงได้มหาปุริสลักขณะข้อนี้คือ ภายใต้ฝ่าเท้ามีจักรทั้งหลายเกิดขึ้น มีซี่ตั้งพัน พร้อมด้วยกงและดุม บริบูรณ์ด้วยอาการทั้งปวง มีระยะอันจัดไว้ด้วยดี....(ลักขณะที่ ๒), ย่อมเป็นผู้มีบริวารมาก : ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เทวดา มนุษย์ อสูร นาค คนธรรพ์ ย่อมเป็น บริวารของตถาคต.

(ค) ภิกษุ ท.! เมื่อตถาคตเกิดเป็นมนุษย์ในชาติก่อน....ได้เป็นผู้เว้นจากปาณาติบาต วางแล้วซึ่งศาสตราและอาชญา มีความละอาย เอ็นดู กรุณาเกื้อกูลแก่สัตว์มีชีวิตทั้งปวง. เพราะ...กรรมนั้นๆ... ครั้นมาสู่ความเป็นมนุษย์อย่างนี้ จึงได้มหาปุริสลักขณะทั้ง ๓ ข้อนี้ คือ มีส้นยาว มีข้อนิ้วยาว มีกายตรงดุจกายพรหม.... (ลักขณะที่ ๓,๔,๑๕), ย่อมเป็นผู้มีชนมายุยืนยาวตลอดกาลนาน; สมณะหรือพราหมณ์ เทวดา มาร พรหม ก็ตาม หรือใครๆ ที่เป็นศัตรู ไม่สามารถปลงชีวิตตถาคตเสียในระหว่างได้.

(ง) ภิกษุ ท.! เมื่อตถาคตเกิดเป็นมนุษย์ในชาติก่อน....ได้เป็นผู้ให้ทานของควรเคี้ยว ควรบริโภค ควรลิ้ม ควรจิบ ควรดื่ม มีรสอันประณีต. เพราะ....กรรมนั้นๆ....ครั้นมาสู่ความเป็นมนุษย์อย่างนี้แล้ว จึงได้มหาปุริสลักขณะข้อนี้คือมีเนื้อนูนหนาในที่ ๗ แห่ง คือที่มือทั้งสอง ที่บ่าทั้งสอง และที่คอ.. (ลักขณะที่ ๑๖), ย่อมได้ของควรเคี้ยว ควรบริโภค ควรลิ้ม ควรจิบ ควรดื่มอันมีรสประณีต.

(จ) ภิกษุ ท.! เมื่อตถาคตเกิดเป็นมนุษย์ในชาติก่อน....ได้สงเคราะห์ผู้อื่นด้วยสังคหวัตถุทั้งสี่ คือ การให้สิ่งของ วาจาที่ไพเราะ การประพฤติประโยชน์ผู้อื่น และความมีตนเสอมกัน. เพราะ.. กรรม นั้นๆ....ครั้นมาสู่ความเป็นมนุษย์อย่างนี้แล้ว จึงได้มหาปุริสลักขณะ ๒ ข้อนี้คือ มีมือและเท้าอ่อนนุ่มมีลายฝ่ามือฝ่าเท้าดุจตาข่าย.... (ลักขณะที่ ๕,๖), ย่อมเป็นผู้สงเคราะห์บริษัท คือภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เทวดา มนุษย์ อสูร นาค คนธรรพ์ ย่อมได้รับความสงเคราะห์จากตถาคต.

(ฉ) ภิกษุ ท.! เมื่อตถาคตเกิดเป็นมนุษย์ในชาติก่อน....ได้เป็นผู้กล่าววาจาประกอบด้วยอรรถด้วยธรรม แนะนำชนเป็นอันมาก เป็นผู้นำประโยชน์สุขมาให้แก่ชนทั้งหลาย ตนเองก็เป็นผู้บูชาธรรม. เพราะ....กรรมนั้นๆ.... ครั้นมาสู่ความเป็นมนุษย์อย่างนี้ จึงได้มหาปุริสลักขณะ ๒ ข้อนี้ คือ มีข้อเท้าอยู่สูง มีปลายขนช้อนขึ้น.... (ลักขณะที่ ๗,๑๔), ย่อมเป็นผู้เลิศประเสริฐเยี่ยมสูงกว่าสัตว์ทั้งหลาย.

(ช) ภิกษุ ท.! เมื่อตถาคตเกิดเป็นมนุษย์ในชาติก่อน....ได้เป็นผู้บอกศิลปวิทยา ข้อประพฤติ และลัทธิกรรมด้วยความเคารพ ด้วยหวังว่าสัตว์เหล่านั้นพึงรู้ได้รวดเร็วพึงปฏิบัติได้รวดเร็ว ไม่พึงเศร้าหมองสิ้นกาลนาน. เพราะ....กรรมนั้นๆ ....ครั้นมาสู่ความเป็นมนุษย์อย่างนี้ จึงได้มหาปุริสลักขณะข้อนี้คือ มีแข้งดังแข้งเนื้อทราย(ลักขณะที่ ๘), ย่อมได้วัตถุอันควรแก่สมณะ เป็นองค์แห่งสมณะเป็นเครื่องอุปโภคแก่สมณะ โดยเร็ว.

(ซ) ภิกษุ ท.! เมื่อตถาคตเกิดเป็นมนุษย์ในชาติก่อน.... ได้เป็นผู้เข้าไปหาสมณพราหมณ์แล้วสอบถามว่า 'ท่านผู้เจริญ ! อะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล อะไรมีโทษ อะไรไม่มีโทษ อะไรควรเสพ อะไรไม่ควรเสพ ทำอะไรไม่มีประโยชน์ เป็นทุกข์ไปนาน ทำอะไรมีประโยชน์ เป็นสุขไปนาน'. เพราะ ....กรรมนั้นๆ.... ครั้นมาสู่ความเป็นมนุษย์อย่างนี้ จึงได้มหาปุริสลักขณะข้อนี้คือมีผิวละเอียดอ่อน ธุลีไม่ติดอยู่ได้....(ลักขณะที่ ๑๒), ย่อมเป็นผู้มีปัญญาใหญ่ มีปัญญาหนาแน่น มีปัญญาเครื่องปลื้มใจ ปัญญาแล่น ปัญญาแหลม ปัญญาแทงตลอด,ไม่มีสัตว์อื่นเสมอ หรือยิ่งไปกว่า.

(ฌ) ภิกษุ ท.! เมื่อตถาคตเกิดเป็นมนุษย์ในชาติก่อน....ได้เป็นผู้ไม่มักโกรธ ไม่มากไปด้วยความแค้น แม้ชนเป็นอันมาก ว่ากล่าวเอา ก็ไม่เอาใจใส่ไม่โกรธ ไม่พยาบาท ไม่คุมแค้น ไม่แสดงความโกรธ ความร้ายกาจ ความเสียใจให้ปรากฏ. ทั้งเป็นผู้ให้ทานผ้าเปลือกไม้ ผ้าด้าย ผ้าไหม ผ้าขนสัตว์ สำหรับลาดและนุ่งห่ม อันมีเนื้อละเอียดอ่อน. เพราะ....กรรมนั้นๆ.... ครั้นมาสู่ความเป็นมนุษย์อย่างนี้ จึงได้มหาปุริสลักขณะข้อนี้คือ มีกายดุจทอง มีผิวดุจทอง....(ลักขณะที่ ๑๑), ย่อมเป็นผู้ได้ผ้าเปลือกไม้ ผ้าด้าย ผ้าไหม ผ้าขนสัตว์สำหรับลาดและห่ม มีเนื้อละเอียดอ่อน.

(ญ) ภิกษุ ท.! เมื่อตถาคตเกิดเป็นมนุษย์ในชาติก่อน....ได้เป็นผู้สมานญาติมิตร สหายชาวเกลอ ผู้เหินห่างแยกกันไปนาน, ได้สมานไมตรีมารดากับบุตร บุตรกับมารดา บิดากับบุตร บุตรกับบิดา พี่น้องชายกับพี่น้องหญิง พี่น้องหญิงกับพี่น้องชาย, ครั้นทำความสามัคคีแล้ว พลอยชื่นชมยินดีด้วย. เพราะ.... กรรมนั้นๆ....ครั้นมาสู่ความเป็นมนุษย์อย่างนี้ จึงได้มหาปุริสลักขณะ ข้อนี้คือ มีคุยหฐาน(อวัยวะที่ลับ) ซ่อนอยู่ในฝัก.... (ลักขณะที่ ๑๐), ย่อมเป็นผู้มีบุตร (สาวก) มากมีบุตรกล้าหาญ มีแววแห่งคนกล้า อันเสนาแห่งบุคคลอื่นจะย่ำยีมิได้ หลายพัน.

(ฎ) ภิกษุ ท.! เมื่อตถาคตเกิดเป็นมนุษย์ในชาติก่อน.... ได้เป็นผู้สังเกตชั้นเชิงของมหาชน รู้ได้สม่ำเสมอ รู้ได้เอง รู้จักบุรุษธรรมดา และบุรุษพิเศษว่าผู้นี้ ควรแก่สิ่งนี้ๆ, ได้เป็นผู้ทำประโยชน์อย่างวิเศษในชนชั้นนั้นๆ. เพราะ....กรรมนั้นๆ.... ครั้นมาสู่ความเป็นมนุษย์อย่างนี้ จึงได้มหาปุริสลักขณะ ๒ ข้อนี้ คือมีทรวดทรงดุจต้นไทร, ยืนตรงไม่ย่อกาย ลูบถึงเข่าได้ด้วยมือทั้งสอง....(ลักขณะที่ ๑๙,๙), ย่อมมั่งคั่งมีทรัพย์มาก มีโภคะมาก. ทรัพย์ของตถาคตเหล่านี้คือ ทรัพย์คือศรัทธา ทรัพย์คือศีล ทรัพย์คือหิริ ทรัพย์คือโอตตัปปะทรัพย์คือการศึกษา (สุตะ) ทรัพย์คือจาคะ ทรัพย์คือปัญญา.

(ฐ) ภิกษุ ท.! เมื่อตถาคตเกิดเป็นมนุษย์ในชาติก่อน....ได้เป็นผู้ใคร่ต่อประโยชน์ ใคร่ต่อความเกื้อกูล ใคร่ต่อความผาสุข ใคร่ต่อความเกษมจากโยคะแก่ชนเป็นอันมาก ว่า 'ไฉนชนเหล่านี้พึงเป็นผู้เจริญด้วยศรัทธา ด้วยศีล ด้วยการศึกษา ด้วยความรู้ ด้วยการเผื่อแผ่ ด้วยธรรม ด้วยปัญญา ด้วยทรัพย์และข้าวเปลือก ด้วยนาและสวน ด้วยสัตว์สองเท้าสี่เท้า ด้วยบุตรภรรยา ด้วยทาสกรรมกรและบุรุษ ด้วยญาติมิตรและพวกพ้อง'. เพราะ....กรรมนั้นๆ....ครั้นมาสู่ความเป็นมนุษย์อย่างนี้ จึงได้มหาปุริสลักขณะ ๓ ข้อนี้ คือมีกึ่งกายเบื้องหน้า ดุจสีหะ,มีหลังเต็ม, มีคอกลม.. (ลักขณะที่ ๑๗,๑๘,๒๐), ย่อมเป็นผู้ไม่เสื่อมเป็นธรรมดาคือไม่เสื่อมจากศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา, ไม่เสื่อมจากสมบัติทั้งปวง.

(ฑ) ภิกษุ ท.! เมื่อตถาคตเป็นมนุษย์ในชาติก่อน.... ได้เป็นผู้ไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย ด้วยฝ่ามือก็ตาม ก้อนดินก็ตาม ท่อนไม้ก็ตาม ศาสตราก็ตาม. เพราะ....กรรมนั้นๆ....ครั้นมาสู่ความเป็นมนุษย์อย่างนี้ จึงได้มหาปุริสลักขณะข้อนี้คือมีประสาทรับรสอันเลิศ มีปลายขึ้นเบื้องบน เกิดแล้วที่คอ รับรสโดยสม่ำเสมอ....(ลักขณะที่ ๒๑), ย่อมเป็นผู้มีอาพาธน้อย มีโรคน้อย มีความร้อนแห่งกายเป็นวิบากอันสม่ำเสมอ ไม่เย็นเกินร้อนเกิน พอควรแก่ความเพียร.

(ฒ) ภิกษุ ท.! เมื่อตถาคตเกิดเป็นมนุษย์ในชาติก่อน ....ได้เป็นผู้ไม่ถลึงตา ไม่ค้อนควัก ไม่จ้องลับหลัง, เป็นผู้แช่มชื่นมองดูตรงๆ มองดูผู้อื่นด้วยสายตาอันแสดงความรัก. เพราะ....กรรมนั้นๆ... ครั้นมาสู่ความเป็นมนุษย์อย่างนี้ จึงได้มหาปุริสลักขณะ ๒ ข้อนี้ คือมีตาเขียวสนิท; มีตาดุจตาโค.... (ลักขณะที่ ๒๙, ๓๐), ย่อมเป็นที่ต้องตาของชนหมู่มาก เป็นที่รักใคร่พอใจของภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เทวดา มนุษย์ อสูร นาค คนธรรพ์.

(ณ) ภิกษุ ท.! เมื่อตถาคตเกิดเป็นมนุษย์ในชาติก่อน.... ได้เป็นหัวหน้าของชนเป็นอันมาก ในกุศลธรรมทั้งหลาย ได้เป็นประธานของชนเป็นอันมาก ในกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต, ในการจำแนกทาน การสมาทานศีลการรักษาอุโบสถ การประพฤติเกื้อกูลในมารดาบิดา สมณพราหมณ์, การนอบน้อมต่อผู้เจริญในตระกูล ในอธิกุศลธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง. เพราะ....กรรมนั้นๆ....ครั้นมาสู่ความเป็นมนุษย์อย่างนี้ จึงได้มหาปุริสลักขณะข้อนี้ คือมีศีรษะรับกับกรอบหน้า....(ลักขณะที่ ๓๒), ย่อมเป็นผู้ที่มหาชนประพฤติตาม คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เทวดา มนุษย์ อสูร นาค คนธรรพ์ ประพฤติตาม.

(ด) ภิกษุ ท.! เมื่อตถาคตเกิดเป็นมนุษย์ในชาติก่อน.... ได้เป็นผู้ละเว้นจากมุสาวาท พูดคำจริง หลั่งคำสัจจ์ เที่ยงแท้ ซื้อตรง ไม่หลอกลวงโลก. เพราะ....กรรมนั้นๆ....ครั้นมาสู่ความเป็นมนุษย์อย่างนี้แล้ว จึงได้มหาปุริสลักขณะ ๒ ข้อนี้ คือมีขนขุมละเส้น, มีอุณาโลมหว่างคิ้วขาวอ่อนดุจสำลี, …. (ลักขณะที่๑๓,๓๑), ย่อมเป็นผู้ที่มหาชนเป็นไปใกล้ชิด คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เทวดา มนุษย์ อสูร นาค คนธรรพ์ ใกล้ชิด.

(ต) ภิกษุ ท.! เมื่อตถาคตเกิดเป็นมนุษย์ในชาติก่อน.... ได้เป็นผู้ละเว้นวาจาส่อเสียด (คือคำยุให้แตกกัน), คือไม่ฟังจากข้างนี้แล้วไปบอกข้างโน้นเพื่อทำลายชนพวกนี้, ไม่ฟังจากข้างโน้นแล้วมาบอกข้างนี้ เพื่อทำลายชนพวกโน้น, เป็นผู้สมานพวกแตกกันแล้ว และส่งเสริมพวกที่พร้อมเพรียงกัน; เป็นผู้ยินดีในการพร้อมเพรียง เพลินในการพร้อมเพรียง กล่าวแต่วาจาที่ทำให้เกิดความพร้อมเพรียง. เพราะ....กรรมนั้นๆ....ครั้นมาสู่ความเป็นมนุษย์อย่างนี้แล้วจึงได้มหาปุริสลักขณะ ๒ อย่างนี้ คือมีฟันครบ ๔๐ ซี่ มีฟันสนิท ไม่ห่างกัน....(ลักขณะที่ ๒๓, ๒๕), ย่อมเป็นผู้มีบริษัทไม่กระจัดกระจาย คือภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เทวดา มนุษย์ อสูร นาค คนธรรพ์ เป็นบริษัทไม่กระจัดกระจาย.

(ถ) ภิกษุ ท.! เมื่อตถาคตเกิดเป็นมนุษย์ในชาติก่อน....ได้เป็นผู้ละเว้นการกล่าวคำหยาบ, กล่าวแต่วาจาที่ไม่มีโทษ เป็นสุขแก่หู เป็นที่ตั้งแห่งความรักซึมซาบถึงใจ เป็นคำพูดของชาวเมือง เป็นที่พอใจและชอบใจของชนเป็นอันมาก. เพราะ....กรรมนั้นๆ.... ครั้นมาสู่ความเป็นมนุษย์อย่างนี้ ย่อมได้มหาปุริสลักขณะ ๒ ข้อนี้ คือมีลิ้นอันเพียงพอ, มีเสียงเหมือนพรหม พูดเหมือนนกการวิก.... (ลักขณะที่ ๒๗,๒๘), ย่อมเป็นผู้มีวาจาที่ผู้อื่นเอื้อเฟื้อเชื่อฟัง คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เทวดา มนุษย์ อสูร นาค คนธรรพ์ เอื้อเฟื้อเชื่อฟัง.

(ธ) ภิกษุ ท.! เมื่อตถาคตเกิดเป็นมนุษย์ในชาติก่อน....ได้เป็นผู้ละเว้นการพูดเพ้อเจ้อ, เป็นผู้กล่าวควรแก่เวลา กล่าวคำจริง กล่าวเป็นธรรม กล่าวมีอรรถ กล่าวเป็นวินัย กล่าวมีที่ตั้ง มีหลักฐาน มีที่สุด ประกอบด้วยประโยชน์. เพราะ....กรรมนั้นๆ .... ครั้นมาสู่ความเป็นมนุษย์อย่างนี้แล้ว ย่อมได้มหาปุริสลักขณะข้อนี้ คือมีคางดุจคางราชสีห์....(ลักขณะที่ ๒๒), ย่อมเป็นผู้ที่ศัตรูทั้งภายในและภายนอกกำจัดไม่ได้ : ศัตรู คือ ราคะ โทสะ โมหะ หรือ สมณะ พราหมณ์เทวดา มาร พรหม หรือใครๆ ในโลก กำจัดไม่ได้.

(น) ภิกษุ ท.! เมื่อตถาคตเกิดเป็นมนุษย์ในชาติก่อน....ได้เป็นผู้ละมิจฉาชีพ มีการเลี้ยงชีพชอบ เว้นจากการฉ้อโกงด้วยตาชั่ง ด้วยของปลอม ด้วยเครื่องตวงเครื่องวัด จากการโกงการลวง เว้นจากการตัด การฆ่า การผูกมัด การร่วมทำร้าย การปล้น การกรรโชก. เพราะ....กรรมนั้นๆ... ครั้นมาสู่ความเป็นมนุษย์อย่างนี้ จึงได้มหาปุริสลักขณะ ๒ ข้อนั้น คือมีฟันอันเรียบเสมอ, มีเขี้ยวขาวงาม....(ลักขณะที่ ๒๔,๒๖), ย่อมเป็นผู้มีบริวารเป็นคนสะอาด คือมีภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เทวดา มนุษย์ อสูร นาค คนธรรพ์ เป็นบริวารอันสะอาด.


บาลี ลักขณสูตร ปา. ที. ๑๑/๑๕๙-๑๙๓/๑๓๐-๑๗๑.

________________________________
* ที่ละไว้ด้วยจุด .... ดังนี้ ทุกแห่งหมายความว่า คำที่ละไว้นั้นซ้ำกันเหมือนในข้อ (ก) ข้างบน. เติมเอาเองก็ได้ แม้ไม่เติมก็ได้ความเท่ากัน.


ประสูติได้ ๗ วัน พระชนนีทิวงคต

....ถูกแล้วอานนท์ ! ถูกแล้วอานนท์ ! จริงเทียว มารดาแห่งโพธิสัตว์มีชนมายุน้อย. เมื่อประสูติพระโพธิสัตว์แล้วได้ ๗ วัน มารดาแห่งโพธิสัตว์ย่อมสวรรคต, ย่อมเข้าถึงเทวนิกาย ชั้นดุสิต.

ความตอนนี้ ตรัสแก่พระอานนท์.
บาลี อัปปายุกสูตร โสณัตเถรวรรค อุ.ขุ.๒๕/๑๔๕/๑๑๑

      
ทรงได้รับการบำเรอ

ภิกษุ ท.! เราเป็นผู้ละเอียดอ่อน ละเอียดอ่อนอย่างยิ่ง ละเอียดอ่อนอย่างที่สุด ดังเราจะเล่าให้ฟัง, ภิกษุ ท.! เขาขุดสระ ๓ สระในวังแห่งบิดาของเรา, ในสระหนึ่งปลูกอุบล (บัวเขียว), สระหนึ่งปลูกปทุม (บัวหลวง), สระหนึ่งปลูกบุณฑริกะ (บัวขาว), เพื่อประโยชน์แก่เรา.

ภิกษุ ท.! มิใช่ว่าจันทน์ที่เราใช้อย่างเดียว ที่มาแต่เมืองกาสี, ถึงผ้าโพก, เสื้อ, ผ้านุ่ง ผ้าห่ม, ก็ล้วนมาแต่เมืองกาสี. ภิกษุ ท.! เขาคอยกั้นเศวตฉัตรให้เรา ด้วยหวังว่าความหนาว, ความร้อน, ละออง, หญ้า, หรือน้ำค้าง อย่าได้ถูกต้องเรา ทั้งกลางวันและกลางคืน.

ภิกษุ ท.! มีปราสาทสำหรับเรา ๓ หลัง ; หลังหนึ่งสำหรับฤดูหนาว หลังหนึ่งสำหรับฤดูร้อน, และหลังหนึ่งสำหรับฤดูฝน. เราอยู่บนปราสาทสำหรับฤดูฝน ตลอดสี่เดือนฤดูฝน ให้เขาบำเรออยู่ด้วยดนตรีอันปราศจากบุรุษ, ไม่ลงจากปราสาท.

ภิกษุ ท.! ในวังของบิดาเรา, เขาให้ข้าวสุกแห่งข้าวสาลีเจือด้วยเนื้อแก่ทาสและคนงาน (ดาษดื่น) เช่นเดียวกับที่ที่อื่นเขาให้ข้าวปลายเกรียนกับน้ำส้มแก่พวกทาสและคนใช้.*

ภิกษุ ท.! เมื่อเราเพียบพร้อมไปด้วยการได้ตามใจตัวถึงเพียงนี้ มีการได้รับความประคบประหงมถึงเพียงนี้ ความคิดก็ยังบังเกิดแก่เราว่า "บุถุชนที่มิได้ยินได้ฟัง ทั้งที่ตัวเองจะต้องแก่ ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้, แต่ครั้นเห็นคนอื่นแก่ ก็นึกอิดหนาระอาใจสะอิดสะเอียน ไม่นึกถึงตัวเสียเลย. ถึงเราเองก็เหมือนกัน จะต้องแก่ ไม่ข้ามพ้นความแก่ไปได้, แต่ว่าเมื่อจะต้องแก่ ไม่พ้นความแก่ไปได้แล้ว จะมาลืมตัว อิดหนาระอาใจ สะอิดสะเอียนเมื่อเห็นคนอื่นแก่นั้น ไม่เป็นการสมควรแก่เรา." ภิกษุ ท.! เมื่อเราพิจารณาได้เช่นนี้ ความมัวเมาในความหนุ่ม ของเรา ได้หายไปหมดสิ้น.

ภิกษุ ท.! บุถุชนที่ไม่ได้ยินได้ฟัง ทั้งที่ตัวเองจะต้องเจ็บไข้ ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปได้, ครั้นเห็นคนอื่นเจ็บไข้ ก็นึกอิดหนาระอาใจสะอิดสะเอียนไม่นึกถึงตัวเสียเลย. ถึงเราเองก็เหมือนกัน จะต้องเจ็บไข้ ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปได้, แต่ว่าเมื่อจะต้องเจ็บไข้ ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปได้แล้ว จะมาลืมตัวอิดหนาระอาใจ สะอิดสะเอียนเมื่อเห็นคนอื่นเจ็บไข้นั้น ไม่การสมควรแก่เรา. ภิกษุ ท.! เมื่อเราพิจารณาได้เช่นนี้ ความมัวเมาในความไม่มีโรค ของเราก็หายไปหมดสิ้น.

ภิกษุ ท.! บุถุชนที่ไม่ได้ยินได้ฟัง ทั้งที่ตัวเองจะต้องตาย ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้, ครั้นเห็นคนอื่นตาย ก็อิดหนาระอาใจสะอิดสะเอียน ไม่นึกถึงตัวเสียเลย. ถึงเราเองก็เหมือนกัน จะต้องตาย ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้, แต่ว่าเมื่อจะต้องตาย ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้แล้ว จะมาลืมตัว อิดหนาระอาใจ สะอิดสะเอียนเมื่อเห็นคนอื่นตายนั้น ไม่เป็นการสมควรแก่เรา. ภิกษุ ท.! เมื่อเราพิจารณาได้เช่นนี้ ความมัวเมาในชีวิตความเป็นอยู่ ของเราได้หายไปหมดสิ้น.


บาลี นวมสูตร เทวทูตวรรค ปฐมปัณณาสก์ ติก. อํ. ๒๐/๑๘๓/๔๗๘.

_________________________________
* สำนวนเช่นนี้ เป็นการส่อความบริบูรณ์ด้วยอาหาร ในภาษาบาลี


กามสุขกับความหน่าย*

....มาคัณฑิยะ ! ครั้งเมื่อเรายังเป็นคฤหัสถ์ ประกอบการครองเรือนได้อิ่มพร้อมไปด้วยกามคุณทั้งห้า ให้เขาบำเรอตนด้วยรูปที่เห็นได้ด้วยจักขุ, ด้วยเสียงที่ฟังได้ด้วยหู, ด้วยกลิ่นอันดมได้ด้วยจมูก, ด้วยรสอันลิ้มได้ด้วยลิ้น, ด้วยโผฏฐัพพะอันสัมผัสได้ด้วยกาย ล้วนแต่ที่สัตว์อยากได้ รักใคร่พอใจ ยวนใจเข้าไปตั้งไว้ซึ่งความใคร่ เป็นที่ตั้งแห่งราคะ.

มาคัณฑิยะ ! ปราสาทของเรานั้น มีแล้ว ๓ แห่ง ปราสาทหนึ่งเป็นที่อยู่ในฤดูฝน, ปราสาทหนึ่งเป็นที่อยู่ในฤดูหนาว, ปราสาทหนึ่งสำหรับฤดูร้อน. มาคัณฑิยะ ! เราให้บำเรอตนอยู่ด้วยดนตรี ล้วนแต่สตรี ไม่มีบุรุษเจือปน ณ ปราสาทเป็นที่อยู่ในฤดูฝนสี่เดือน ไม่ลงจากปราสาท. ครั้นล่วงไปถึงสมัยอื่นมามองเห็นเหตุเป็นที่บังเกิด, และ ความที่ตั้งอยู่ไม่ได้, และ ความอร่อย, และโทษอันต่ำทราม, และอุบายเป็นเครื่องออกไปพ้น, แห่งกาม ท. ตามเป็นจริง, จึงละความอยากในกามเสีย บรรเทาความเดือดร้อนเพราะกาม ปราศจากความกระหายในกาม มีจิตสงบ ณ ภายใน. เรานั้น เห็นสัตว์เหล่าอื่น ยังไม่ปราศจากความกำหนัดในกาม ถูกตัณหาในกามเคี้ยวกินอยู่ ถูกความกระวนกระวายในกามรุมเผาเอาอยู่ แต่ก็ยังขืนเสพกาม, เรามิได้ทะเยอทะยานตามสัตว์เหล่านั้น ไม่ยินดีในการเสพกามนั้นเลย. ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุใด? มาคัณฑิยะ ! เพราะว่าคนเรา ถึงแม้ยินดีด้วยความยินดี ที่ปราศจากกาม หรือปราศจากอกุศลแล้ว** ก็ยังจัดเป็นสัตว์ที่เลวทรามอยู่, เราจึงไม่ทะเยอทะยานตามสัตว์เหล่านั้น ขืนเสพกามอีกเลย.

มาคัณฑิยะ ! คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์สมบัติมากเพรียบพร้อมด้วยกามคุณห้า ให้เขาบำเรอตนด้วย รูป, เสียง, กลิ่น, รส, และโผฏฐัพพะ อันสัตว์ปรารถนารักใคร่ชอบใจ ยั่วยวน, เข้าไปตั้งอยู่ด้วยความใคร่เป็นที่ตั้งแห่งราคะ. ถ้าหากเขานั้นประพฤติสุจริตด้วยกาย วาจา ใจ เบื้องหน้าแต่กายแตกตายไป พึงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เป็นสหายกับเหล่าเทพในดาวดึงส์, เทพบุตรนั้น มีนางอัปสรแวดล้อมอยู่ในนันทวัน อิ่มหนำ เพียบพร้อมด้วยกามให้นางอัปสรบำเรอตนด้วยกามคุณห้าอันเป็นทิพย์ในดาวดึงส์นั้น. เทวบุตรนั้นหากได้เห็นคฤหบดี หรือบุตรของคฤหบดี (ในมนุษย์โลกนี้) อิ่มหนำเพียบพร้อมด้วยกาม ให้เขาบำเรอตนด้วยกามอยู่. มาคัณฑิยะ! ท่านจะเข้าใจว่าอย่างไร, เทพบุตรนั้นจะทะเยอทะยานต่อกามคุณของคฤหบดี หรือบุตรของคฤหบดีนั้นบ้างหรือหรือจะเวียนมาเพื่อกามอันเป็นของมนุษย์นี้บ้าง?

"พระโคดม ! หามิได้เลย เพราะว่ากามที่เป็นทิพย์ น่ารักใคร่กว่า ประณีตกว่า กว่ากามของมนุษย์."


_____________________________
* บาลี มาคัณฑิยสูตร ปริพพาชกวรรค ม.ม. ๑๓/๒๗๔/๒๘๑.
ครั้งหนึ่งประทับอยู่ ณ นิคมกัมมาสธัมมะ ในหมู่ชนชาวกุรุ พักอยู่กะพราหมณ์ภารทวาชโคตร ที่โรงบูชาไฟ มีเครื่องลาดล้วนไปด้วยหญ้า. มาคัณฑิยปริพพาชกเพื่อนของภารทวาชพราหมณ์ได้มาเยี่ยม ในที่สุดได้เฝ้าพระผู้มีพระภาค เมื่อได้ตรัสความที่พระองค์ทำลายความยินดีใน รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะให้ปริพพาชกนั้นเลื่อมใสแล้ว ได้ตรัสเล่าพระประวัติตอนนี้เพื่อแสดงความที่ได้เคยเสวยกามสุขมาแล้วอย่างมาก และความรู้สึกหน่ายในกามนั้น.
** เช่นยินดีในรูปฌาน อันจัดเป็นภวตัณหาเป็นต้น.


ทรงหลงกามและหลุดจากกาม

ดูก่อนมหานาม ! ครั้งก่อนแต่การตรัสรู้ เมื่อเรายังไม่ได้ตรัสรู้ยังเป็นโพธิสัตว์อยู่ แม้เป็นผู้มีสติระลึกได้ว่า "กามทั้งหลาย มีรสที่น่ายินดีน้อยมีทุกข์มาก, มีความคับแค้นมาก, โทษอันแรงร้ายมีอยู่ในกามนั้นอย่างยิ่ง" ก็ดีแต่เรานั้นยังไม่ได้บรรลุสุขอันเกิดแต่ปีติ หรือธรรมอื่นที่สงบยิ่งไปกว่าปีติสุขนั้น, นอกจากได้เสวยแต่กาม และอกุศลธรรมอย่างเดียว; เราจึงเป็นผู้หมุนกลับจากกามไม่ได้, ไม่รู้อย่างแจ่มแจ้งในกามทั้งหลาย อยู่เพียงนั้น.

ดูก่อนมหานาม ! เมื่อใด เป็นอันว่าเราได้เห็นข้อนี้อย่างดี ด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงว่า "กามทั้งหลาย มีรสที่น่ายินดีน้อย มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก, โทษอันแรงร้าย มีอยู่ในกามนั้นอย่างยิ่ง" แล้ว; ....เมื่อนั้นเราก็เป็นผู้ไม่หมุนกลับมาสู่กามทั้งหลาย รู้จักกามทั้งหลายอย่างแจ่มแจ้งได้.


บาลี จูฬทุกขักขันธสูตร สีหนาทวรรค มู.ม. ๑๒/๑๘๐/๒๑๑.
ตรัสแก่ท้าวมหานาม ที่นิโครธาราม กรุงกบิลพัสดุ์.

      
ความรู้สึก ที่ถึงกับทำให้ออกผนวช

ภิกษุ ท. ! ในโลกนี้ ครั้งก่อนแต่การตรัสรู้ เมื่อเรายังไม่ได้ตรัสรู้ยังเป็นโพธิสัตว์อยู่ ตนเองมีความเกิด เป็นธรรมดาอยู่แล้ว ก็ยังมัวหลงแสวงหาสิ่งที่มีความเกิดเป็นธรรมดาอยู่นั่นเอง, ตนเองมีความแก่ เป็นธรรมดาอยู่แล้วก็ยังมัวหลงแสวงหาสิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดาอยู่นั่นเอง, ตนเองมีความเจ็บไข้เป็นธรรมดาอยู่แล้ว ก็ยังมัวหลงแสวงหาสิ่งที่มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดาอยู่นั่นเอง, ตนเองมีความตาย เป็นธรรมดาอยู่แล้ว ก็ยังมัวหลงแสวงหาสิ่งที่มีความตาย เป็นธรรมดาอยู่นั่นเอง, ตนเองมีความโศก เป็นธรรมดาอยู่แล้ว ก็ยังมัวหลงแสวงหาสิ่งที่มีความโศกเป็นธรรมดาอยู่นั่นเอง, ตนเองมีความเศร้าหมองโดยรอบด้าน เป็นธรรมดาอยู่แล้ว ก็ยังมัวหลงแสวงหาสิ่งที่มีความเศร้าหมองโดยรอบด้านเป็นธรรมดาอยู่นั่นเอง อีก.

ภิกษุ ท. ! ก็อะไรเล่า เป็นสิ่งที่มีความเกิด (เป็นต้น) ฯลฯ มีความเศร้าหมองโดยรอบด้าน (เป็นที่สุด) เป็นธรรมดา?

ภิกษุ ท. ! บุตรและภรรยา มีความเกิดเป็นธรรมดา ฯลฯ มีความเศร้าหมองโดยรอบด้านเป็นธรรมดา. ทาสหญิงทาสชาย มีความเกิดเป็นธรรมดา ฯลฯ มีความเศร้าหมองโดยรอบด้านเป็นธรรมดา. แพะ แกะ มีความเกิดเป็นธรรมดา ฯลฯ มีความเศร้าหมองโดยรอบด้านเป็นธรรมดา. ไก่ สุกร มีความเกิดเป็นธรรมดา ฯลฯ มีความเศร้าหมองโดยรอบด้านเป็นธรรมดา. ช้าง โค ม้า ลา มีความเกิดเป็นธรรมดา ฯลฯ มีความเศร้าหมองโดยรอบด้านเป็นธรรมดา. ทองและเงิน เป็นสิ่งที่มีความเกิดเป็นธรรมดา ฯลฯ มีความเศร้าหมองโดยรอบด้านเป็นธรรมดา. สิ่งที่มนุษย์เข้าไปเทิดทูนเอาไว้ เหล่านี้แลที่ชื่อว่าสิ่งที่มีความเกิดเป็นธรรมดา ฯลฯ มีความเศร้าหมองโดยรอบด้านเป็นธรรมดา ซึ่งคนในโลกนี้ พากันจมติดอยู่ พากันมัวเมาอยู่ พากันสยบอยู่ ในสิ่งเหล่านี้ จึงทำให้ตนทั้งที่มีความเกิดเป็นธรรมดา ฯลฯ มีความเศร้าหมองโดยรอบด้านเป็นธรรมดาอยู่เองแล้ว ก็ยังมัวหลงแสวงหาสิ่งที่มีความเกิดเป็นธรรมดา ฯลฯ ที่มีความเศร้าหมองโดยรอบด้านเป็นธรรมดา อยู่นั่นเอง อีก.*

ภิกษุ ท. ! ความคิดอันนี้ ได้เกิดขึ้นแก่เราว่า "ทำไมหนอ เราซึ่งมีความเกิด ฯลฯ ความเศร้าหมองโดยรอบด้าน เป็นธรรมดาอยู่เองแล้ว จะต้องไปมัวแสวงหาสิ่งที่มีความเกิด ฯลฯ ความเศร้าหมองโดยรอบด้านเป็นธรรมดาอยู่อีก. ไฉนหนอ เราผู้มีความเกิด ฯลฯ ความเศร้าหมองโดยรอบด้าน เป็นธรรมดาอยู่เองแล้ว ครั้งได้รู้สึกถึงโทษอันต่ำทรามของการมีความเกิด ฯลฯ ความเศร้าหมองโดยรอบด้านเป็นธรรมดานี้แล้ว เราพึงแสวงหา นิพพาน อันไม่มีความเกิด อันเป็นธรรมที่เกษมจากเครื่องร้อยรัด ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่าเถิด".

ภิกษุ ท. ! เรานั้นโดยสมัยอื่นอีก ยังหนุ่มเทียว เกสายังดำจัด บริบูรณ์ด้วยความหนุ่มที่กำลังเจริญ ยังอยู่ในปฐมวัย, เมื่อมารดาบิดาไม่ปรารถนาด้วยกำลังพากันร้องไห้น้ำตานองหน้าอยู่, เราได้ปลงผมและหนวด ครองผ้าย้อมฝาดออกจากเรือน บวชเป็นผู้ไม่มีเรือนแล้ว.

(ในบาลี สคารวสูตร** มีที่ตรัสไว้สรุปแต่สั้น ๆ ว่า :-)

ภารทวาชะ ! ในโลกนี้ ครั้งก่อนแต่การตรัสรู้ เมื่อเรายังไม่ได้ตรัสรู้ยังเป็นโพธิสัตว์อยู่, ความคิดนี้เกิดมีแก่เรา ว่า "ฆราวาสคับแคบ เป็นทางมาแห่งธุลี, ส่วนบรรพชาเป็นโอกาสว่าง; ผู้อยู่ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์โดยส่วนเดียว เหมือนสังข์ที่เขาขัดดีแล้ว, โดยง่าย นั้นไม่ได้. ถ้าไฉนเราพึงปลงผมและหนวด ครองผ้าย้อมฝาดออกจากเรือน บวชเป็นผู้ไม่มีประโยชน์เกี่ยวข้องด้วยเรือน เถิด" ดังนี้. ภารทวาชะ ! เรานั้นโดยสมัยอื่นอีกยังหนุ่มเทียว....


บาลี ปาสราสิสูตร โอปัมมวรรค มู.ม. ๑๒/๓๑๖/๓๑๖.
ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลาย ที่อาศรมของรัมมกพราหมณ์ ใกล้เมืองสาวัตถี.

_____________________________________
* การจำแนกว่าอะไรบ้างเป็นสิ่งที่มีความเกิดเป็นธรรมดานี้ อยู่ก่อนตรัสปรารภพระองค์เอง แต่ในที่นี้เรียงไว้หลัง เพื่อเข้าใจง่าย. ของเดิมก็อยู่ติดกันเช่นนี้. สำหรับในสมัยพุทธกาลทรงจำแนกสิ่งที่คนในโลกพากัน "เทิดทูน" ไว้เช่นนี้. แต่สำหรับสมัยนี้จะจำแนกเป็นอะไรได้บ้างนั้น ผู้อ่านทุกคนนึกเอาได้เอง.
** บาลี สคารวศุตร พราหมณวรรค ม.ม. ๑๓/๖๖๙/๗๓๘. ตรัสแก่พราหมณ์หนุ่ม ชื่อสคารวะ, ที่หมู่บ้านปัจจลกัปป์. ข้อความเช่นนี้ ยังมีในสูตรอื่นอีก เช่นบาลีมหาสัจจกสูตร มู.ม. หน้า ๔๔๒ บรรพ ๔๑๑ เป็นต้น.


การออกผนวช

....ราชกุมาร ! ครั้งก่อนแต่การตรัสรู้ เมื่อเรายังไม่ได้ตรัสรู้ ยังเป็นโพธิสัตว์อยู่, ได้เกิดความรู้สึกขึ้นภายในใจว่า "ชื่อว่าความสุขแล้ว ใครๆ จะบรรลุได้โดยง่ายเป็นไม่มี, ความสุขเป็นสิ่งที่ใครๆ บรรลุได้โดยยาก," ดังนี้. ราชกุมาร! ครั้นสมัยอื่นอีก เรานั้นยังหนุ่มเทียว เกสายังดำจัด บริบูรณ์ด้วยเยาว์อันเจริญในปฐมวัย, เมื่อมารดาบิดาไม่ปรารถนาด้วย กำลังพากันร้องไห้ น้ำตานองหน้าอยู่, เราได้ปลงผมและหนวด ครองผ้าย้อมฝาด ออกจากเรือน บวชเป็นผู้ไม่มีเรือนแล้ว....

บาลี โพธิราชกุมารสูตร ราชวรรค ม.ม. ๑๓/๔๔๓/๔๘๙.
ตรัสแก่กุมารชื่อนั้น ที่ปราสาทสร้างใหม่ของเขา.

      
ออกผนวชเมื่อพระชนม์ ๒๙

....ดูก่อนสุภัททะ ! เรามีอายุได้ สามสิบหย่อนหนึ่งโดยวัย, ได้ออกบรรพชา แสวงหาว่า "อะไรเป็นกุศล อะไรเป็นกุศล"* ดังนี้

ตรัสแก่สุภัททะ
ในมหาปรินิพพานสูตร มหา. ที. ๑๐/๑๗๖/๑๓๙.

จบภาค ๑.

* ออกผนวชในเพศแห่งนักจาริกแสวงบุญ ซึ่งเป็นธรรมเนียมอยู่ในครั้งนั้น.



ภาค ๖

การบำเพ็ญบารมีในอดีตชาติ (๒๐ เรื่อง)


คำชี้แจงเกี่ยวกับภาค ๖
ต้องท่องเที่ยวมาแล้ว เพราะไม่รู้อริยสัจจ์
ตลอดวัฏฏสงสาร ไม่เคยทรงบังเกิดในสุทธาวาส
ในวัฏฏสงสาร เคยทรงบูชายัญญ์ และบำเรอไฟ มาแล้วเป็นอย่างมาก
ทิฏฐานุคติแห่งความดี ที่ทรงสั่งสมไว้แต่ภพก่อน ๆ
เคยทรงบังเกิดเป็นมหาพรหม, สักกะ, ฯลฯ (พ.ม.อ.)
ครั้งมีพระชาติเป็น โชติปาลมาณพ
ครั้งมีพระชาติเป็น พระเจ้ามหาสุทัศน์
ครั้งมีพระชาติเป็น ปุโรหิต สอนการบูชายัญญ์
ครั้งมีพระชาติเป็น พระเจ้ามฆเทวราช
ครั้งมีพระชาติเป็น มหาโควินทพราหมณ์
ครั้งมีพระชาติเป็น รถการ ช่างทำรถ (พ.ม.)
ครั้งมีพระชาติเป็น อกิตติดาบส
ครั้งมีพระชาติเป็น พระจันทกุมาร
ครั้งมีพระชาติเป็น สังขพราหมณ์
ครั้งมีพระชาติเป็น เวลามพราหมณ์ (พ.ม.)
ครั้งมีพระชาติเป็น พระเวสสันดร
ครั้งมีพระชาติเป็น มาตังคชฎิล
ครั้งมีพระชาติเป็น จูฬโพธิ
ครั้งมีพระชาติเป็น เจ้าชายยุธัญชยะ
ที่สุดแห่งการท่องเที่ยวของพระองค์


ภาค ๖
การบำเพ็ญบารมีในอดีตชาติ (๒๐ เรื่อง)

ภาค ๖
การบำเพ็ญบารมีในอดีตชาติ
ซึ่งเต็มไปด้วยทิฏฐานุคติอันสาวกในภายหลังพึงดำเนินตาม.   


      
คำชี้แจงเฉพาะภาคนี้

เรื่องราวที่กล่าวถึงพระชาติในอดีตของพระองค์ ซึ่งข้าพเจ้าประมวลมาไว้ในภาคนี้นั้นเลือกเก็บแต่เรื่องที่มีในคัมภีร์ชั้นบาลีพระไตรปิฎก, เว้นเรื่องจำพวกที่เราเรียกกันว่า "ชาดก" และอรรถกถาเสีย, จึงได้มาไม่กี่เรื่อง. สำหรับท้องเรื่องชาดก (อรรถกถาชาดก) ที่มีตอนประชุมกลับชาติเป็นพระพุทธภาษิต ดังที่เราเคยอ่านกันทั่วไปนั้น ไม่มีในบาลี จึงมิได้นำเรื่องประเภทนี้มารวบรวมไว้ด้วย และมีมากมายจนเหลือที่จะรวบรวมมา.

อนึ่ง เฉพาะคัมภีร์บาลีจริยาปิฎก ซึ่งมีอยู่ ๓๕ เรื่องนั้น ได้ประมวลมาไว้ในที่นี้เพียง ๘ เรื่อง เลือกเอาเฉพาะแปลกกัน และจัดไว้ตอนปลายของภาคอีกพวกหนึ่ง นอกจากเรื่องมหาสุทัศนจริยาซึ่งใส่ไว้ตอนกลาง.

ประการหนึ่ง, การที่นำเรื่องบุรพชาติของพระองค์มากล่าวไว้ในเรื่อง "พุทธประวัติจากพระโอษฐ์" นี้ มีความมุ่งหมายให้ผู้อ่านกำหนดพิจารณาให้เห็นพระพุทธจริยา ที่เรียกกันว่าการสร้างบารมีหรือสั่งสมความดีของพระองค์, เพื่อถือเอาเป็นทิฏฐานุคติเครื่องดำเนินตาม มิได้มุ่งเล่านิยาย, เพราะหนังสือเล่มนี้มุ่งกล่าวหนักไปทางธรรม แทนการกล่าวหนักไปทางนิยาย หรือตำนานดั่งที่เคยปรารภมาแล้วข้างต้น เท่านั้น. --ผู้รวบรวม.

      

ต้องท่องเที่ยวมาแล้ว, เพราะไม่รู้อริยสัจจ์

ภิกษุ ท.! เพราะไม่รู้ถึง ไม่แทงตลอด ซึ่งอริยสัจจ์สี่อย่าง, เราแหละพวกเธอทั้งหลายจึงท่องเที่ยวไปแล้วในวัฏฏสงสาร ตลอดกาลยืดยาวนานถึงเพียงนี้. ภิกษุ ท.! เพราะไม่รู้ถึง เพราะไม่แทงตลอดซึ่งอริยสัจจ์สี่อย่างเหล่าไหนเล่า? สี่อย่างคือ อริยสัจจ์คือทุกข์, อริยสัจจ์คือเหตุให้เกิดทุกข์, อริยสัจจ์คือ ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์, อริยสัจจ์คือทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์. ภิกษุ ท.! เพราะไม่รู้ถึง ไม่แทงตลอด ซึ่งอริยสัจจ์สี่ประการเหล่านี้แล, เราและพวกเธอทั้งหลาย จึงได้ท่องเที่ยวไปแล้ว ในสังสารวัฏตลอดกาลยืดยาวนานถึงเพียงนี้. ...ฯลฯ...

(ในบาลีแห่งอื่น กล่าวอริยธรรมสี่ คือ อริยศีล อริยสมาธิ อริยปัญญา อริยวิมุตติ แทนที่อริยสัจจ์สี่ข้างบนนี้. – มหา. ที. ๑๐/๑๔๒/๑๐๙).

บาลี มหาวาร. สํ. ๑๙/๕๔๑/๑๖๙๘.
ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลาย ที่โกฏิคาม แคว้นวัชชี.

      
ที่สุดแห่งการท่องเที่ยวของพระองค์

เราเมื่อยังค้นไม่พบแสงสว่าง, มัวเสาะหานายช่างปลูกเรือน (คือตัณหาผู้ก่อสร้างเรือนคืออัตตภาพ) อยู่, ได้ ท่องเที่ยวไปในสังสารวัฏ กล่าวคือ ความเกิดแล้วเกิดอีกเป็นอเนกชาติ. ความเกิดเป็นทุกข์ร่ำไปทุกชาติ.

แน่ะนายช่างผู้ปลูกสร้างเรือน! เรารู้จักเจ้าเสียแล้ว, เจ้าจักสร้างเรือนให้เราต่อไปอีก ไม่ได้, โครงเรือน (คือกิเลส ที่เหลือเป็นเชื้อเกิดใหม่) ของเจ้า เราหักเสียยับเยิน หมดแล้ว. ยอดเรือน (คืออวิชชา) เราขยี้เสียแล้ว, จิตของเราถึงความเป็นธรรมชาติ ที่อารมณ์จะยุแหย่ยั่วเย้าไม่ได้เสียแล้ว มันได้ลุถึงความหมดอยากทุกอย่าง.


พระวาจาเย้ยตัณหาซึ่งทรงเปล่งขึ้นทันที
ในขณะที่ทรงรู้สึกพระองค์ว่าได้สิ้นตัณหาแล้ว.
บาลี ธ. ขุ. ๒๕/๓๕/๒๑.

จบภาค ๖.

พุทธประวัติจากพระโอษฐ์
จบ.


   


กลุ่มพุทธทาสศึกษา ตู้ ปณ.๓๘ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ๕๐๑๑๐
e-mail : info@buddhadasa.org


"พุทธประวัติจากพระโอษฐ์" ฉบับออนไลน์

http://www.buddhadasa.org/html/life-work/dhammakot/01-buddha/toc-full.html

« Last Edit: 27 October 2013, 11:01:42 by LAMBERG » Logged
Pages: [1] Go Up Print 
« previous next »
 

SMF 2.0.4 | SMF © 2013, Simple Machines | Theme by nesianstyles | Buttons by Andrea
Page created in 0.127 seconds with 22 queries.