Smile Siam มาร่วมกันคืน "สยามเมืองยิ้ม" กลับสู่บ้านเรากันนะครับ ...
User Info
Welcome, Guest. Please login or register.
29 April 2024, 17:29:31

Login with username, password and session length
Search:     Advanced search
News
ท่านสมาชิกสามารถเปลี่ยนรูปแบบ (Theme) ได้อีกหลายแบบ
เชิญทดลองโดยคลิกที่ลิงค์ข้างล่าง ได้เลยครับ

http://www.smilesiam.net/index.php/topic,3170.msg4713.html
Forum Stats
25,614 Posts in 12,444 Topics by 70 Members
Latest Member: KAN
Home Help Search Calendar Login Register
Smile Siam มาร่วมกันคืน "สยามเมืองยิ้ม" กลับสู่บ้านเรากันนะครับ ...  |  เรื่องราวน่าอ่าน  |  หนังสือดี ที่น่าอ่านยิ่ง  |  สุเมรุจักรวาล โดย ศรัณย์ ทองปาน [91-94]
0 Members and 1 Guest are viewing this topic. « previous next »
Pages: [1] Go Down Print
Author Topic: สุเมรุจักรวาล โดย ศรัณย์ ทองปาน [91-94]  (Read 222 times)
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
*****
Offline Offline

Posts: 8,467


View Profile
« on: 18 February 2022, 17:20:43 »

สุเมรุจักรวาล โดย ศรัณย์ ทองปาน [91-94]


https://www.sarakadee.com/2021/05/12/ต้นไม้เงินต้นไม้ทอง/
Culture


ต้นไม้เงินต้นไม้ทอง – สุเมรุจักรวาล ตอนที่ 91
12 พฤษภาคม 2021 ศรัณย์ ทองปาน : เรื่อง


เมื่อสยามสถาปนาราชธานีใหม่ขึ้น ณ กรุงเทพพระมหานครแล้ว ได้จัดการปกครองหัวเมืองให้เป็นลำดับชั้นเรียงรายออกไปโดยรอบราชธานี ให้หัวเมืองฝ่ายเหนือเป็นพื้นที่รับผิดชอบของอัครมหาเสนาบดีมหาดไทย หัวเมืองฝ่ายใต้เป็นเขตของอัครมหาเสนาบดีกลาโหม ส่วนหัวเมืองชายทะเลใกล้พระนครอยู่ขึ้นตรงต่อเสนาบดีกรมท่า



ถัดออกไปอีกชั้นหนึ่งคือหัวเมืองประเทศราชที่อยู่ห่างไกล ปกครองโดยเจ้านายราชสกุลของเมืองนั้นๆ ภายใต้การกำกับของกรุงเทพฯ โดยอาจถูกเรียกเกณฑ์ผู้คนหรือสิ่งของบ้างเป็นครั้งคราว เช่น เกณฑ์กำลังทหารไปรบ และเรียกร้องเอาวัสดุก่อสร้างและเครื่องใช้ไม้สอยสำหรับงานพระเมรุ รวมทั้งยังมีภาระต้องจัดส่งเครื่องราชบรรณาการ “ต้นไม้เงินต้นไม้ทอง” (บางทีเรียกกันว่า “ดอกไม้เงินดอกไม้ทอง”) คือต้นไม้ทำด้วยเงินและทองคำ เข้ามาทูลเกล้าฯ ถวายแด่กษัตริย์ที่กรุงเทพฯ ตามระยะเวลาที่กำหนด เช่น ๓ ปีครั้งหนึ่ง

หัวเมืองประเทศราชเหล่านี้ ได้แก่หัวเมืองล้านนา (เชียงใหม่ ลำพูน น่าน แพร่ ฯลฯ) ทางเหนือ หัวเมืองลาว (หลวงพระบาง เวียงจันท์ จำปาสัก) ทางตะวันออกเฉียงเหนือ หัวเมืองเขมร (กัมพูชา) ทางตะวันออก ส่วนทางใต้ก็มีทั้งนครศรีธรรมราช และหัวเมืองมลายู (ไทรบุรี กลันตัน ตรังกะนู และปะลิส) ในคาบสมุทรภาคใต้

ในปี ๒๓๒๙ ต้นสมัยกรุงเทพฯ กัปตันฟรานซิส ไลต์ พ่อค้านักแสวงโชคชาวอังกฤษเข้าไปบุกเบิกเกาะร้างที่ชื่อปีนัง (pulau pinang) หรือที่ไทยแปลว่า “เกาะหมาก” นอกชายฝั่งตะวันตกของไทรบุรี (หรือเกดะห์) แล้วขอ “ใช้พื้นที่” จากสุลต่านผู้ปกครอง หนังสือแบบเรียนประวัติศาสตร์ฉบับทางการของไทยมักนับเอากรณีนี้ว่าเป็นการ “เสียดินแดน” ครั้งแรกของสมัยรัตนโกสินทร์ คือเสียให้แก่อังกฤษ

อย่างไรก็ตาม คำอธิบายนี้วางอยู่บนพื้นฐานความเข้าใจที่ว่าเกดะห์ หรือไทรบุรี เป็น “หัวเมืองประเทศราช” ที่ถวายต้นไม้เงินต้นไม้ทอง (ภาษามลายูเรียกว่า bunga mas บุหงามาศ คือดอกไม้ทอง) ดังนั้นการที่สุลต่านรัฐเกดะห์ หรือที่ไทยแต่งตั้งให้เป็น “พระยาไทรบุรี” ยอมยกดินแดนของตน (ซึ่งขึ้นกับสยาม) ให้บริษัทอังกฤษ ย่อมถือเป็นการ “เสียดินแดน”

แต่ขณะเดียวกัน ราชวงศ์ของสุลต่านเกดะห์ (รวมถึงประวัติศาสตร์ฉบับทางการของมาเลเซียปัจจุบัน) กลับเห็นตรงกันข้าม โดยยืนยันว่าการส่งบุหงามาศนั้น มิได้เป็นสัญลักษณ์แห่งการสยบยอมต่ออำนาจ หากเป็นแต่เพียงเครื่องยืนยันในไมตรีจิตมิตรภาพอันดีที่มีระหว่างกันเท่านั้น

แล้วราชสำนักกรุงเทพฯ เอาต้นไม้เงินต้นไม้ทองเหล่านี้ไปทำอะไร ?

หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช (๒๔๕๔-๒๕๓๘) ผู้เชี่ยวชาญด้านไทยศึกษา เคยอธิบายไว้ในหนังสือ “ลักษณะไทย” ว่า

“พึงสังเกตว่ารอบพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์นั้นตั้งต้นไม้ทองเงินหลายต้น…พระที่นั่งนั้นสมมติว่าเป็นเขาพระสุเมรุ…การที่เมืองประเทศราชต้องส่งต้นไม้ทองเงินเข้ามาถวายนั้นเท่ากับเป็นการยอมตัวเข้ามาอยู่ในป่าหิมพานต์รอบเขาพระสุเมรุอันเป็นที่สถิตของพระเป็นเจ้า แสดงให้เห็นถึงความใกล้ชิดแห่งจิตใจอันมีความจงรักภักดี…”

และอาจด้วยเหตุถือว่าต้นไม้เงินต้นไม้ทองนั้นเป็นของมีค่า เป็นสิ่งดีพิเศษ จึงมีธรรมเนียมที่กษัตริย์จะนำไปบูชาพระด้วย เช่นในรัชกาลที่ ๒ เมื่อโปรดเกล้าฯ ให้ส่งคณะสมณทูตไทยไปสืบข่าวการพระศาสนาที่ลังกา “โปรดให้จัดต้นไม้เงินทอง ๑๖ สำรับ เทียนใหญ่ธูปใหญ่ ๓๐๐ คู่ เปนของทรงพระราชอุทิศส่งไปบูชาพระทันตธาตุแลพระเจดียฐานในลังกาทวีป”

จนเดี๋ยวนี้ ในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร ก็มีตู้กระจกใส่ต้นไม้เงินต้นไม้ทองคู่หนึ่ง ขนาดสูงกว่าตัวคน ตั้งเป็นพุทธบูชาอยู่สองข้างบุษบกประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ พร้อมป้ายว่าเป็น “ต้นไม้ทอง บรรณาการเมืองเชียงใหม่”


-----------------------------------


https://www.sarakadee.com/2021/05/20/พระเมรุมาศ/
History


พระเมรุมาศ – สุเมรุจักรวาล ตอนที่ 92
20 พฤษภาคม 2021 ศรัณย์ ทองปาน : เรื่อง


เมื่อพระมหากษัตริย์เสด็จสวรรคต หลังจากสรงพระบรมศพ แต่งพระองค์อย่างเต็มยศ พร้อมทั้งถวายพระสุกำ (ห่อและมัดตราสัง) แล้ว จากนั้นเจ้าพนักงานจะอัญเชิญพระบรมศพประดิษฐานยังพระบรมโกศ



นับแต่นั้นเป็นประจำสม่ำเสมอ ก็ต้องมีการประโคม การบำเพ็ญพระราชกุศล นิมนต์พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์เข้ามาสวดพระอภิธรรมและถวายภัตตาหาร

ธรรมเนียมไทยโบราณถือว่างานพระบรมศพมิได้เป็นโมงยามแห่งความโศกเศร้า ดังเห็นได้จากนัยของคำ “เสด็จสวรรคต” อันแปลตรงตัวว่าคือการเสด็จ (กลับคืน) สู่สวรรค์ ย่อมถือเป็นวาระของการสมโภชเฉลิมฉลอง ดังนั้นจึงต้องจัดให้มีมหรสพการละเล่นตลอดงาน

สิ่งสำคัญที่จะต้องดำเนินไปพร้อมกันในระหว่างนั้น คือการเตรียมก่อสร้าง “พระเมรุ” หรือ “พระเมรุมาศ” เพื่อใช้ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ

หลักฐานสมัยอยุธยาให้ภาพว่าพระเมรุของกษัตริย์มีขนาดใหญ่โตมโหฬารมาก เช่นพระเมรุของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง “พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับสมเด็จพระพนรัตน์” ระบุว่ามีความสูงถึง ๒ เส้น ๑๑ วา ศอกคืบ ซึ่งหากคิดเทียบตามเกณฑ์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ว่า ๔ ศอก เท่ากับ ๑ วา คิดเป็น ๒ เมตร และ ๒๐ วา เท่ากับ ๑ เส้น คือ ๔๐ เมตร ดังนั้นพระเมรุองค์นี้จะมีความสูงถึงประมาณ ๑๐๒ เมตร หรือเทียบเท่าได้กับตึก ๓๐ ชั้นสมัยนี้

การเรียกอาคารที่ใช้ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพว่า “พระเมรุ” หรือ “พระเมรุมาศ” นั้น เนื่องจากว่าเป็นสถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้น “ตามอย่างเขาพระสุเมรุ” คือเป็นภาพจำลองของเขาพระสุเมรุ ศูนย์กลางหรือแกนของจักรวาลในคติพุทธศาสนาเถรวาท จึงประดับประดาด้วยรูปนาค ครุฑ อสูร อินทร์ พรหม ตามลำดับสูงต่ำหรือตำแหน่งแห่งที่ในจักรวาล ดังที่ “คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม” อันเป็นบันทึกความทรงจำของคนรุ่นอยุธยาตอนปลาย พรรณนาพระเมรุมาศของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ งานพระเมรุครั้งสุดท้ายของสมัยกรุงศรีอยุธยาไว้ว่า

“พระเมรุใหญ่สูงสุดยอดพระสเดานั้น ๔๕ วา ฝานั้นแผงหุ้มผ้าปิดกระดาษปูพื้นแดงเขียนเป็นชั้นนาค ชั้นครุฑ ชั้นอิสูร ชั้นเทวดา ชั้นอินทร์ แลชั้นพรหม ตามอย่างเขาพระสุเมรุ ฝาข้างในเขียนเป็นดอกสุมณฑาทองแลมณฑลเงินแกมกัน แลเครื่องพระเมรุนั่นมีบันแลมุข ๑๑ ชั้น เครื่องบนจำหลักปิดทองประดับกระจก ขุนสุเมรุทินราชเป็นนายช่างอำนวยการ พระเมรุใหญ่นั้นมีประตู ๔ ทิศ ตั้งรูปกินร รูปอิสูร ทั้ง ๔ ประตู…แล้วจึงมีรูปเทวดา รูปเพทยาธร คนธรรพ์ แลครุฑกินร ทั้งรูปคชสีห์ ราชสีห์ แลเหมหงส์ แลรูปนรสิงห์ แลสิงส์โต ทั้งรูปมังกร เหรานาคา แลรูปทักธอ รูปช้างม้า เรียงผา สารพัดรูปสัตว์ทั้งปวงต่างๆ นานาครบครัน ตั้งรอบพระเมรุเป็นชั้นกั้นตามที่”

แต่ขณะเดียวกัน “คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม” ยังชี้ให้เราเห็นด้วยว่าพระเมรุนั้น แท้ที่จริงแล้วสร้างขึ้นจาก “แผงหุ้มผ้าปิดกระดาษ” คือเป็นเพียงโครงไม้หุ้มผ้าประดับด้วยกระดาษสี

บางท่านอธิบายว่า เนื่องจาก “ถือ” กันว่าพระเมรุสร้างขึ้นเนื่องในการพระบรมศพ อันเป็นเหตุอวมงคล จึงเลือกใช้วัสดุก่อสร้างที่สามารถจับทำให้สำเร็จลุล่วงไปโดยเร็ว แล้วรื้อถอนทันทีภายหลังเสร็จสิ้นพระราชพิธี

ด้วยเหตุนั้นจึงมักกำหนดจัดงานพระเมรุช่วงฤดูแล้ง อย่างหนึ่งก็เพื่อความสะดวกสำหรับงานพิธีกลางแจ้ง กับอีกอย่างหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน คือเมื่อพระเมรุสร้างขึ้นด้วยวัสดุชั่วคราว หากถูกฝนย่อมชำรุดหักพังได้ง่าย ดังเคยมีกรณีสมัยกรุงธนบุรี คราวงานพระเมรุสมเด็จพระพันปีหลวง กรมพระเทพามาตย์ พระราชชนนีพันปีหลวงในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เมื่อปี ๒๓๑๘ ปรากฏว่ากำหนดงานไปตกในช่วงฤดูฝน ระหว่างนั้นเกิดพายุฝนตกหนัก เครื่องประดับพระเมรุที่เป็นกระดาษทองทาด้วยแป้งเปียกโดนน้ำจนหลุดล่อนหมด แม้กระทั่งดอกไม้ไฟในพิธีก็ยังจุดไม่ติด

ทว่าแม้พระเมรุจะเป็นเพียงสถาปัตยกรรม “เฉพาะกิจ” ที่มีอายุใช้งานสั้นๆ เพียงไม่กี่วัน แต่เนื่องจากมีขนาดใหญ่โตมหึมา จึงต้องใช้เวลาเตรียมการล่วงหน้าเป็นแรมปี เพราะต้องหาวัสดุอุปกรณ์ปริมาณมาก เช่นในการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปี ๒๓๕๔ พบบัญชีเกณฑ์วัสดุก่อสร้างจากหัวเมืองต่างๆ ว่าต้องใช้เสาไม้ขนาดใหญ่ ๘๙๖ ต้น เสาไม้เบ็ดเตล็ด ๕,๕๐๐ ต้น แผงไม้ไผ่สาน ๒,๘๐๐ ผืน กับไม้ไผ่อีกกว่า ๔ แสนลำ


-----------------------------------


Logged
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
*****
Offline Offline

Posts: 8,467


View Profile
« Reply #1 on: 18 February 2022, 17:22:30 »


https://www.sarakadee.com/2021/05/26/อินทราภิเษก/
Culture


อินทราภิเษก – สุเมรุจักรวาล ตอนที่ 93
26 พฤษภาคม 2021


การจำลองเขาพระสุเมรุมาสร้างเป็นสถาปัตยกรรมมิได้จำกัดอยู่เฉพาะแต่ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพของกษัตริย์ หรือการพระราชทานเพลิงศพเจ้านายชั้นสูงเท่านั้น หากแต่ในสมัยกรุงศรีอยุธยายังมีหลักฐานว่าเคยมีการ “ตั้ง” เขาพระสุเมรุเป็นมณฑลพิธีสำหรับ “พระราชพิธีอินทราภิเษก” ด้วย



พิธีนี้เป็นการประกาศสถานะความยิ่งใหญ่ของ “พระเจ้าราชาธิราช” คือราชาเหนือราชาทั้งปวง โดยถือเสมือนเป็นการ “อินทราภิเษก” คือได้รับการอภิเษกจากพระอินทร์ ผู้เป็นราชาแห่งทวยเทพ และเจ้าแห่งเขาพระสุเมรุ

ในการนี้จึงต้อง “ตั้งเขาพระสุเมรุ” ขึ้น ตามตำราว่ามีความสูงถึง “เส้น ๕ วา” คือ ๒๕ วา เทียบตามสมัยนี้ที่ว่า วาหนึ่งคือ ๒ เมตร ก็แปลว่าสูงถึง ๕๐ เมตร โดยรอบก็มีเขาสัตตบริภัณฑ์ลดหลั่นกันลงมา ได้แก่เขายุคุนธรกับอิสินธร สูงเส้นหนึ่ง (๔๐ เมตร) ถัดไปเป็นเขากรวิก สูง ๑๕ วา (๓๐ เมตร) กับมีเขาไกรลาสสูง ๑๐ วา (๒๐ เมตร) บนเขาพระสุเมรุมีรูปพระอินทร์ประทับอยู่ บนยอดเขาอื่นๆ ก็มีรูปเทวดานั่งประจำทุกเขา ส่วนที่เขาไกรลาส ตั้งรูปพระอิศวรกับพระอุมา

กฎมณเฑียรบาลเล่าว่าพระราชพิธีนี้กินเวลายาวนานร่วมเดือน โดยในแต่ละวันจะมีพิธีการต่างๆ ซึ่งบางส่วนใกล้เคียงกับขั้นตอนในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เช่นในวันที่ ๗ มีเทพยดา (คงเป็นข้าราชบริพารที่แต่งคอสเพลย์) มาถวายพระพร วันที่ ๘ มีพราหมณาจารย์มาถวายพระพร วันที่ ๙ ท้าวพระยามาถวายพระพร วันที่ ๑๐ ถวายช้างม้าและทหารสี่เหล่า วันที่ ๑๑ ถวาย ๑๒ ท้องพระคลัง ฯลฯ

แม้ในสมัยอยุธยาเอง พระราชพิธีอินทราภิเษกคงไม่ได้จัดขึ้นบ่อยนัก และครั้งที่มีหลักฐานมากเป็นพิเศษ คือในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง (ครองราชย์ ๒๑๗๒-๒๑๙๙)

พระเจ้าปราสาททองเสด็จขึ้นครองราชย์ด้วยการ “ปราบดาภิเษก” คือทำรัฐประหาร ยึดอำนาจ ตั้งราชวงศ์ใหม่ ตลอดรัชสมัยจึงเต็มไปด้วยพิธีกรรมการประกาศบุญญาธิการบารมี ยืนยันสิทธิธรรมในราชบัลลังก์ และพระราชพิธีอินทราภิเษกก็นับเนื่องเป็นกโลบายอย่างหนึ่งในการแสดงพระราชอำนาจ ยิ่งไปกว่านั้น เพื่อเสริมสร้างความยิ่งใหญ่ พระองค์ยังทรงผนวกพระราชพิธีนี้เข้ากับพระราชกรณียกิจอีกอย่างหนึ่ง คือการ “ลบศักราช”

คนที่เคยมีชีวิตผ่านช่วงปีคริสต์ศักราช ๒๐๐๐ (ปี ๒๕๔๓) มา ยังอาจพอจำได้ถึง “วิกฤต” ที่เรียกกันว่า Y2K (อ่านเป็นภาษาฝรั่งว่า วายทูเค Y คือ year หรือปี ส่วน 2K หมายถึง ๒๐๐๐) เมื่อโลกเต็มไปด้วยความหวาดหวั่นภาวะรวนเรของระบบคอมพิวเตอร์ ถึงขนาดว่ากันว่าอาจทำให้เครื่องบินที่กำลังบินอยู่ตกลงจากฟ้า ฯลฯ แต่สุดท้าย วิกฤตที่ว่านั้นก็ผ่านไปได้โดยแทบไม่มีปัญหาอะไรจริงจัง และถูกลืมเลือนไปในที่สุด

ในรัชสมัยพระเจ้าปราสาททอง ปฏิทินจุลศักราชกำลังเคลื่อนเข้าใกล้ จ.ศ. ๑๐๐๐ (ตรงกับปี ๒๑๘๑) เข้าไปทุกที นับเป็นช่วงเวลาแห่งความประหวั่นพรั่นพรึงด้วยเกรงว่าโลกจะย่างเข้าสู่ “กลียุค” วิธีการแสดงบารมีของพระเจ้าปราสาททองคือช่วงก่อนจะถึง Y1K โปรดเกล้าฯ ให้มีพิธี “ลบศักราช” หรือ “ตัดศักราช” คือประกาศให้เปลี่ยนจาก จ.ศ. ๑๐๐๐ ที่เป็นปีขาล ถอยหลังกลับไปเป็นปีกุน คือย้อนหลังไปสามปี (ลำดับปีนักษัตรคือ กุน ชวด ฉลู ขาล) เพื่อ “หลอก” ว่าช่วง “กลียุค” ยังมาไม่ถึง

“พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับสมเด็จพระพนรัตน์” เล่าว่าในการนี้มีการตั้งเขาพระสุเมรุ เขาสัตตบริภัณฑ์ เขาไกรลาส ขึ้นที่สนามหน้าพระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนต์ แล้วให้ช่างทำรูปสมเด็จพระอมรินทราธิราช สถิตอยู่ ณ ยอดเขาพระสุเมรุเป็นประธานในพิธี โดยมีพราหมณ์ที่ “แต่งกายเป็นพระอิศวร พระพิษณุ พระพายุ พระพิรุณ พระเพลิง พระยม พระไพสพ พระจันทร์ พระอาทิตย์ รูปเทพเจ้าทั้งสิบสองราศี แวดล้อมสมเด็จอมรอินทราธิราชโดยอันดับ” พร้อมกับมีแผ่นทองเขียนศักราชเก่าบรรทัดหนึ่ง ศักราชใหม่บรรทัดหนึ่ง วางใส่พานไว้เบื้องหน้าพระอินทร์ ณ ยอดเขาพระสุเมรุ ครั้นได้เวลาอันเป็นมงคลฤกษ์ สมเด็จพระเจ้าปราสาททองก็เสด็จพระราชดำเนินโดยพระมหาราเชนทรยาน มาประทับเกย ณ เชิงเขาสัตตบริภัณฑ์ แล้วทรงพระดำเนินขึ้นไปยังยอดเขาพระสุเมรุ ทรงสักการะพระรัตนตรัย จากนั้น

“ยกพระกรเบื้องขวาลบศักราชเดิมนั้นเสียเสร็จ พราหมณ์ที่แต่งกายเป็นพระอิศวร พระนารายณ์ แลเป็นเทพเจ้านั้น ก็อวยชัยถวายพรโดยสารโสลกวิธี พรหมทวิชาจารย์ก็เป่าสังข์แตรดุริยดนตรี พิณพาทฆาตฆ้องชัย เภรีมี่สนั่นศัพท์ก้องโกลาหลทั้งพระนคร แล้วสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับยังพระราชมนเทียรสถาน”

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นแล้ว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระมหาปราสาทองค์หนึ่ง พระราชทานนามว่า “พระที่นั่งอินทราภิเษกมหาปราสาท” จึงสันนิษฐานกันว่าน่าจะมีพระราชดำริให้ประกอบการพระราชพิธีอินทราภิเษก ณ ที่นั้น ตามกฎมณเฑียรบาลสมัยอยุธยา แต่พระมหาปราสาทองค์ดังกล่าวกลับถูกฟ้าผ่าจนเกิดเพลิงไหม้ขึ้นเสียก่อน จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทขึ้นแทน และในยุคกรุงเทพฯ จึงไม่เคยมีพิธีอินทราภิเษก


-------------------------------------


https://www.sarakadee.com/2021/06/02/ตั้งเขาไกรลาส/
History


ตั้งเขาไกรลาส – สุเมรุจักรวาล ตอนที่ 94
2 มิถุนายน 2021 ศรัณย์ ทองปาน : เรื่อง




เคยเล่าไปแล้วว่า ในการพระราชพิธีอินทราภิเษกสมัยกรุงศรีอยุธยา มีการสร้าง “โมเดล” ขนาดใหญ่ เป็นรูปจำลองจักรวาล ที่มีตั้งแต่เขาพระสุเมรุ เขาสัตตบริภัณฑ์ ไปจนถึงเขาไกรลาส ที่ประทับของพระอิศวรและพระอุมา ซึ่งอันที่จริงต้องนับเป็นรายละเอียดในส่วนป่าหิมพานต์ของชมพูทวีป เฉพาะเขาไกรลาส ใน “กฎมณเฑียรบาล” เล่าว่าสร้างให้มีความสูงถึง ๑๐ วา หรือ ๒๐ เมตร

ในสมัยกรุงศรีอยุธยายังมีอีกพระราชพิธีหนึ่งซึ่งจำลองเฉพาะเขาไกรลาสมาสร้างเป็นมณฑลพิธีเช่นกัน คือโสกันต์ (โกนจุก) เจ้าฟ้า

ตามธรรมเนียมราชตระกูลสยาม พระราชโอรสและพระราชธิดาของกษัตริย์ที่ประสูติจากพระมารดา ผู้มีฐานะเป็น “เจ้า” คือเป็น “ลูก” ของกษัตริย์ จะได้รับพระอิสริยยศเป็น “เจ้าฟ้า” ซึ่งจะมีศักดิ์เหนือกว่าพระราชโอรสพระราชธิดาที่ประสูติจาก “เจ้าจอมมารดา” ผู้เป็นสามัญชน ดังนั้น สมเด็จพระเจ้าลูกเธอระดับ “เจ้าฟ้า” จึงย่อมต้องมีพิธีการในขั้นตอนต่างๆ ของชีวิตที่เป็นพิเศษโดยเฉพาะ เช่นพิธีลงสรง และพิธีโสกันต์

เมื่อแรกสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ เจ้าฟ้าพินทวดี พระราชธิดาในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ยังทรงมีพระชนมชีพอยู่ และเคยทรงผ่านพระราชพิธีโสกันต์มาด้วยพระองค์เอง จึงทรงเป็น “ต้นตำรา” ชี้แจงขั้นตอนต่างๆ ของการโสกันต์เจ้าฟ้าสมัยกรุงศรีอยุธยาไว้ โดยละเอียด

ส่วนของพิธีอันเนื่องด้วยเขาไกรลาสก็คือ ต้องปลูกสร้างตั้งเขาไกรลาสขึ้นในพระบรมมหาราชวัง จากนั้นเมื่อถึงเวลาอันเป็นมงคลฤกษ์ จะมีกระบวนแห่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอซึ่งผ่านการโสกันต์ คือโกนจุกเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทรงพระเสลี่ยงมาสรงน้ำยังตั่งไม้อุทุมพร ที่ตั้งอยู่ใน “สระอโนดาต” เชิงเขาไกรลาส จากนั้นจึงเสด็จขึ้นบนเขาไกรลาสทางเกยด้านหนึ่ง แล้วพระราชบิดา คือองค์พระมหากษัตริย์ หรือเจ้านายชั้นพระบรมวงศ์ฝ่ายหน้า (ผู้ชาย) ที่ได้รับมอบหมาย ก็จะแต่งฉลองพระองค์ สมมติว่าเป็นพระอิศวร เสด็จจากพระมณฑปใหญ่บนยอดเขาไกรลาสมา “รับพระกร” (จูงมือ) สมเด็จพระเจ้าลูกเธอขึ้นไปบนเขาไกรลาส รดน้ำ ประทานพร นำเสด็จลงมาส่งที่เกยอีกฝั่งหนึ่ง จากนั้นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเสด็จขึ้นพระยานมาศ แห่เวียนประทักษิณรอบเขาไกรลาส ๓ รอบ แล้วเสด็จกลับเข้าพระราชวัง

การที่ให้ “สระอโนดาต” อยู่ที่ตำแหน่งเชิงเขาไกรลาส ถือได้ว่าสร้างขึ้นให้ตรงกับที่กล่าวไว้ในคัมภีร์ ที่ว่าเขาไกรลาสอันเป็นที่ประทับของพระอิศวร เป็นหนึ่งในยอดเขาที่ห้อมล้อมสระอโนดาตอยู่

เมื่อถึงยุคที่มีการถ่ายภาพเป็นหลักฐานแล้ว เช่นในสมัยรัชกาลที่ ๕ จะเห็นในภาพถ่ายพระราชพิธีนี้ว่า “สระอโนดาต” นั้น ทำเป็นแอ่งน้ำเล็กๆ และที่ตรง “โขดหิน” เหนือขึ้นไปทางด้านหลัง ตั้งรูปปั้นสัตว์สี่ชนิด คือ ช้าง ม้า สิงห์ โค มีท่อไขน้ำให้พ่นจากปากสัตว์ลงมาสรงสนานสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ ในลักษณะทำนองเดียวกับที่คัมภีร์อธิบายไว้ว่าน้ำในสระอโนดาตจะไหลออกไปผ่าน “มุข” หรือ “ปากช่อง” สี่ทิศ ได้แก่ “สีหมุข” (รูปราชสีห์) “อัสมุข” (รูปม้า) “หัตถีมุข” (รูปช้าง) และ “อุสภมุข” (รูปโค)

ทั้งพระราชพิธีอินทราภิเษกกับพระราชพิธีโสกันต์ น่าจะมีนัยสัมพันธ์กันบางอย่าง คือมีการสร้าง “ฉาก” ภูเขาศักดิ์สิทธิ์เหมือนเป็น “โรงละคร” เพื่อนำเสนอภาพการอวยชัยให้พรจากเทพเจ้า ในกรณีของอินทราภิเษกคือพระอินทร์ ราชาของทวยเทพแห่งสวรรค์ดาวดึงส์บนยอดเขาพระสุเมรุ เป็นผู้มาสถาปนาพระเจ้าราชาธิราช ส่วนในการโสกันต์ก็มีองค์พระอิศวรเสด็จจากเขาไกรลาสลงมาประทานพรอันเป็นศิริมงคล

แต่ทั้งนี้ เขาไกรลาสในพิธีโสกันต์ก็ถือเป็นงานสถาปัตยกรรม “เฉพาะกิจ” เช่นเดียวกับพระเมรุมาศ จึงสร้างด้วยวัสดุไม่ถาวร คือเป็นเพียงโครงไม้กับฟาง หุ้มกระดาษ ระบายสีให้เห็นเป็นโขดเขา แล้วเอาต้นไม้จริงๆ มาประดับตกแต่ง ดังที่บรรยายไว้ในบทละคร “อิเหนา” พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๒ ตอนโสกันต์สียะตรา ว่า

“๏ อันสี่มหาอำมาตย์        ทำเขาไกรลาศคนละด้าน
สารวัดนายหมวดตรวจงาน        ท่านผู้อำนวยการคอยติเตียน
ให้เอาฟางพันผูกเป็นลูกเขา       ปิดกระดาษเงินเข้าแล้ววาดเขียน
แกล้งประดิษฐ์คิดใส่บันไดเวียน        ที่ขึ้นลงลาดเลี่ยนเหมือนศิลา
ช่องชะวากเวิ้งว่างไว้อ่างแก้ว       บนเนินแนวนั้นปลูกพฤกษา
รายรูปสิงสัตว์นานา          โคกิเลนเลียงผาจามรี
แท่นที่สรงน้ำก็ทำไว้         น้ำไหลจากปากสัตว์ทั้งสี่
ปลูกทั้งพลับพลาทองรูจี             สำหรับที่จะได้เปลื้องเครื่องทรง”


----------------------------------------------------------------------------------


Logged
Pages: [1] Go Up Print 
« previous next »
 

SMF 2.0.4 | SMF © 2013, Simple Machines | Theme by nesianstyles | Buttons by Andrea
Page created in 0.088 seconds with 19 queries.