Smile Siam มาร่วมกันคืน "สยามเมืองยิ้ม" กลับสู่บ้านเรากันนะครับ ...
User Info
Welcome, Guest. Please login or register.
29 April 2024, 20:59:23

Login with username, password and session length
Search:     Advanced search
News
ท่านสมาชิกสามารถเปลี่ยนรูปแบบ (Theme) ได้อีกหลายแบบ
เชิญทดลองโดยคลิกที่ลิงค์ข้างล่าง ได้เลยครับ

http://www.smilesiam.net/index.php/topic,3170.msg4713.html
Forum Stats
25,614 Posts in 12,444 Topics by 70 Members
Latest Member: KAN
Home Help Search Calendar Login Register
Smile Siam มาร่วมกันคืน "สยามเมืองยิ้ม" กลับสู่บ้านเรากันนะครับ ...  |  เรื่องราวน่าอ่าน  |  หนังสือดี ที่น่าอ่านยิ่ง  |  สุเมรุจักรวาล โดย ศรัณย์ ทองปาน [81-90]
0 Members and 1 Guest are viewing this topic. « previous next »
Pages: [1] Go Down Print
Author Topic: สุเมรุจักรวาล โดย ศรัณย์ ทองปาน [81-90]  (Read 258 times)
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
*****
Offline Offline

Posts: 8,467


View Profile
« on: 18 February 2022, 17:08:53 »

สุเมรุจักรวาล โดย ศรัณย์ ทองปาน [81-90]


https://www.sarakadee.com/2021/03/03/การเลือกตั้ง/
Culture


“ผู้นำ” ต้องมาจาก “การเลือกตั้ง” – สุเมรุจักรวาล ตอนที่ 81
3 มีนาคม 2021 ศรัณย์ ทองปาน : เรื่อง


นอกจาก “พระมหาสมมติ” (ในบางคัมภีร์อธิบายว่าคือองค์พระโพธิสัตว์) ที่มหาชนทั้งหลายลงมติเลือกให้เป็นกษัตริย์ผู้ปกครองแต่เมื่อแรกปฐมกัปแล้ว อีกหลายที่หลายแห่งในคัมภีร์โลกศาสตร์ก็ตอกย้ำนำเสนอความคิดที่ว่า “ผู้นำ” หรือ “ราชา” ต้องมาจาก “การเลือกตั้ง” เอาไว้ อย่างเช่นในสมุดภาพไตรภูมิกรุงธนบุรี (เลขที่ ๑๐/ก) มีระบุตอนหนึ่งว่า



“เมื่อแรกประถมกลับสัตว ๔ เท้าทังหลายตังสิงหะราชเปนพญา”

(เมื่อแรกปฐมกัป สัตว์สี่เท้าทั้งหลายตั้งสิงหราชเป็นพญา)

เช่นเดียวกับหมู่ปลาในมหาสมุทรที่ตกลงโหวตเลือกอานนท์ เช่นที่ปรากฏในสมุดไตรภูมิฯ เล่มเดียวกันว่า

“เมิ่อแรกปถํมกลับปลาทังหลายชุมนุมกันตังปลาอานํนเปนพยาแก่ปลาทังหลาย”

(เมื่อแรกปฐมกัป ปลาทั้งหลายชุมนุมกันตั้งปลาอานนท์เป็นพญาแก่ปลาทั้งหลาย)

แต่ในบางครั้งบางหน คัมภีร์ก็บอกเราด้วยว่าระหว่างการลงมติคัดเลือก อาจมีผู้คัดค้านจนบานปลายกลายเป็นเหตุวิวาท ดังที่อีกหน้าหนึ่งในสมุดภาพเล่มเดิม มีข้อความว่า

“เมิ่อแรกประถมกลับนกทังหลายปรชุมกันจตังพญากาแลนกเคาชิงกันเปนพญากไลจิกกันบินไปยนกทังหลายจึงตังหงษเปนพญา” (เมื่อแรกปฐมกัป นกทั้งหลายประชุมกันจะตั้งพญา กาและนกเค้าชิงกันเป็นพญา ก็ไล่จิกกันบินไป นกทั้งหลายจึงตั้งหงส์เป็นพญา)

เรื่องตรงนี้ต้องขยายความเพิ่มเติมนิดหน่อย คนแต่โบราณคงสังเกตเห็นว่ากากับนกเค้า (นกฮูก) เป็นศัตรูคู่อาฆาตกันในธรรมชาติ จึงมีนิทานอธิบายเรื่องนี้แทรกใน “อุลูกชาดก” ว่าแต่แรกเมื่อปฐมกัป หลังจากมนุษย์ตกลงประชุมคัดเลือกบุรุษผู้หนึ่งให้เป็นราชา ส่วนสัตว์สี่เท้าตั้งราชสีห์เป็นพญา และพวกปลาก็ลงคะแนนให้อานนท์เป็นหัวหน้าแล้ว พวกนกจึงจัดการประชุมขึ้นบ้าง ณ เนินหินในป่าหิมพานต์ ตั้งประเด็นปรึกษากันว่าใครๆ เขาก็มีราชากันหมดแล้ว พวกเรายังไม่มีเลย จากนั้นจึงมีนกตัวหนึ่งยกปีกเสนอชื่อ “นกเค้า” แล้วว่าจะขานชื่อนกเค้าสามครั้งเพื่อหยั่งเสียงสนับสนุน

ปรากฏว่าประกาศไปได้แค่สองครั้ง กาตัวหนึ่งก็ออกมาคัดค้าน ยืนยันว่าไม่เห็นด้วยกับการที่จะแต่งตั้งนกเค้าเป็นราชา อ้างว่าขอให้ลองดูหน้าตาเขาสิ ขนาดตอนยังไม่โกรธยังน่าเกลียดขนาดนี้ นี่ถ้าเมื่อใดโกรธใครขึ้นมาคงยิ่งดูไม่ได้ ว่าแล้วก็บินขึ้นบนอากาศ ส่งเสียงร้องว่า “ไม่เอา! ไม่เอา!” (แขกคงได้ยินเสียงอีการ้องคำนั้น) ฝ่ายนกเค้าได้ยินเข้าก็เลยโกรธจริง บินไล่จิกตีกันจนหายลับตาไป

องค์ประชุมที่เหลือ (ท่าทางคงจะ “งงๆ”) เลยต้องเริ่มต้นกระบวนการสรรหากันใหม่ สุดท้ายจึงตกลงเลือกหงส์ทอง

จากข้อมูลประวัติศาสตร์ แม้ว่าในทางปฏิบัติมีบ่อยครั้งที่กษัตริย์สยามเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติด้วยการก่อรัฐประหาร “ปราบดาภิเษก” กำจัดกษัตริย์องค์เดิมหรือคู่แข่ง แต่จดหมายเหตุก็มักนิยมนำเสนอไว้ในเชิง “ยอพระเกียรติ” ว่าทรงเป็น “ผู้ที่ถูกเลือกสรร” โดยอาณาประชาราษฎร เช่นความตอนหนึ่งใน “พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา”

“ในทันใดนั้นจึ่งท้าวพระยามุขมนตรีกระวีชาติ, แลราษฎรทั้งหลาย, ก็พร้อมกันกราบทูลวิงวอนอัญเชิญ…,ขึ้นครองพิภพเสวยสวรรยาธิปัตยถวัลย์ราชดำรงแผ่นดินสืบไป. สมเดจพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็ทรงรับอาราธนาด้วยพระอาการดุษณีภาพ…”

ลักษณะเช่นนี้มีคำเรียกตามภาษาบาลี/สันสกฤตว่า “อเนกชนนิกรสโมสรสมมติ” แปลว่าการตกลงยินยอมของหมู่ชนเป็นอันมากที่มาชุมนุมกัน ดังนั้นคำนี้เองจึงไปปรากฏเป็นสร้อยพระปรมาภิไธยกษัตริย์สยามในอดีตอีกด้วย


---------------------------------


https://www.sarakadee.com/2021/03/11/พระอินทร์บนโลกมนุษย์/
Culture


พระอินทร์บนโลกมนุษย์ – สุเมรุจักรวาล ตอนที่ 82
11 มีนาคม 2021 ศรัณย์ ทองปาน : เรื่อง


ในทางสัญลักษณ์หรือพิธีกรรม กษัตริย์สยามโบราณทรงมีสถานะหลากหลายตามคติความเชื่อที่ปะปนทับถมกันมาตลอดระยะเวลาของประวัติศาสตร์



ในแง่หนึ่งทรงเป็น “กษัตริย์” คือเจ้าแห่งที่นา ดังนั้นจึงทรงเป็นผู้แจกจ่ายยศศักดิ์ให้แก่ข้าราชการระดับชั้นต่างๆ หรือที่เรียกกันว่า “ศักดินา”

นอกจากนั้นยังทรงเป็นประดุจเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ฮินดู ทั้งพระอิศวร (พระศิวะ) และพระนารายณ์ (พระวิษณุ) โดยเฉพาะในความหมายเมื่อพระนารายณ์ทรงอวตารลงมาเป็นพระราม เช่นพระปรมาภิไธย “รามาธิบดี” หรือการขนานนามราชธานีว่า “อยุธยา” ตามนามกรุงอโยธยาของพระราม

หรือถ้าว่าโดยฝ่ายพุทธศาสนาบ้าง กษัตริย์ก็ทรงเป็น “หน่อพุทธางกูร” คือเปรียบประดุจพระโพธิสัตว์ที่ลงมาบำเพ็ญบารมีเพื่อเตรียมตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าต่อไปในภายภาคหน้า คตินี้ยังเห็นได้จากคำกราบบังคมทูลที่ผู้พูดต้องเรียกตัวเองว่าเป็น “ข้าพระพุทธเจ้า” และในคำร้องขึ้นต้นเพลง “สรรเสริญพระบารมี” ที่ว่า “ข้าวรพุทธเจ้า”

พร้อมกันนั้น หนึ่งในสุดยอดปรารถนาของกษัตริย์ชาวพุทธก็คือสถานะพระเจ้าจักรพรรดิ หรือ “มหาจักรพรรดิราช” ผู้ยิ่งใหญ่แห่งชมพูทวีป ผสมผสานไปกับอีกสถานะความเป็นพระอินทร์ ราชาแห่งเทพ ในบริบทของคติจักรวาลแบบเขาพระสุเมรุของพุทธศาสนาเถรวาท

เราจึงมีอาคารพระที่นั่งในพระบรมมหาราชวัง ทั้งที่มีนามว่า “ไพศาลทักษิณ” (กว้างใหญ่ในทิศใต้ คือชมพูทวีป) กับ “อมรินทรวินิจฉัย” (พระอินทร์ผู้ตัดสิน) อันใช้เป็นมณฑลพิธีของการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

และเมื่อทรงเป็นเทพบนโลกมนุษย์ ดังนั้นเมื่อพระองค์ล่วงลับไปจึงต้องเรียกว่า “เสด็จสวรรคต” คือกลับไปสู่สวรรค์ พร้อมกับตั้งการพิธียกเขาพระสุเมรุขึ้นกลางเมือง เรียกกันว่า “พระเมรุมาศ” (เมรุทอง)

แต่คัมภีร์ก็ระบุไว้ด้วยว่า พระอินทร์เป็นเพียงตำแหน่ง เหมือนกับสรรพสิ่งทั้งหมดในจักรวาล คือมีเสื่อมถอยไปได้ตามกาล ดังประวัติของมฆะมาณพ ผู้รวมตัวกับเพื่อน จัดตั้ง “คณะสามสิบสาม” (คสส.) เป็นกลุ่มจิตอาสาประกอบคุณงามความดีต่างๆ จนเมื่อตายไปแล้วได้ขึ้นสวรรค์กันยกแก๊ง แล้วเลยไปก่อรัฐประหาร จับพวกเทวดาเจ้าถิ่นเดิมเหวี่ยงลงจากยอดเขาพระสุเมรุ แล้วยึดอำนาจประกาศตัวเป็นราชาแห่งเทพแทน

นั่นหมายความว่า มฆะมาณพย่อมยังคงเป็นพระอินทร์อยู่ต่อไปได้ ตราบใดที่ยังมีบุญกุศลหนุนนำ แต่หากวันใดหมดบุญลงก็ย่อมกลับเข้าสู่วงวัฏจักรแห่งการเวียนว่ายตายเกิด และเมื่อนั้นผู้อื่นที่มีบุญมากกว่าก็จะขึ้นสู่ตำแหน่งพระอินทร์ เริ่มต้น “อินทรกาล” (เลียนแบบคำ “รัชกาล”) ใหม่ต่อไป

โดยนัยนี้ก็เท่ากับว่าคัมภีร์ได้ “ชี้ช่อง” หรือตั้งทฤษฎีให้ไว้แล้วว่า หากผู้ใดประกอบกรรมดีถึงขนาดก็ย่อมได้รับผลตอบแทน ซึ่งวาสนาบารมีก็คือส่วนหนึ่งของการตอบสนองแห่งความดีนั้น แม้แต่สถานะพระอินทร์ ราชาแห่งเทพ ก็มิได้เป็นสิ่งยั่งยืน เพราะยังต้องขึ้นกับผลแห่งความดีของตน เข้าทำนอง “ใครดีใครได้”

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงปราบดาภิเษก ขึ้นครองราชย์เป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ทรงอุทิศเรือนเดิมที่เคยเป็นที่ประทับตั้งแต่ในสมัยกรุงธนบุรีให้เป็นหอพระไตรปิฎกของวัดระฆังโฆษิตาราม

ในหอไตรหลังนี้ โปรดเกล้าฯ ให้เขียนภาพบนฝาผนังเป็นเรื่องประวัติมฆะมาณพ

น่าคิดว่าภาพชุดนี้อาจมีความนัยเกี่ยวเนื่องเป็นเสมือน “คำอธิบาย” การปราบดาภิเษกก่อนเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ว่าทรงเปรียบพระองค์ประดุจมฆะมาณพ พร้อมด้วยทแกล้วทหารทั้งปวง อันเป็นเสมือนพลพรรค คสส. ผู้ได้บำเพ็ญบารมีสั่งสมมา กระทั่งกุศลผลบุญเกื้อหนุนให้ได้เป็นราชา ดุจเดียวกับพระอินทร์ผู้เป็นราชาแห่งเทพ


------------------------------------


Logged
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
*****
Offline Offline

Posts: 8,467


View Profile
« Reply #1 on: 18 February 2022, 17:12:36 »


https://www.sarakadee.com/2021/03/17/จักรวาลใต้ฝ่าพระบาท/
Culture


จักรวาลใต้ฝ่าพระบาท สุเมรุจักรวาล ตอนที่ 83
17 มีนาคม 2021 ศรัณย์ ทองปาน : เรื่อง


ในทางพุทธศาสนายังมีคตินิยมการแสดงภาพพระพุทธเจ้าด้วยการยกย่องในฐานะ “จอมจักรวาล”



อาจด้วยเหตุที่นับถือกันว่าพระพุทธองค์ทรงตรัสรู้แจ้งแทงตลอด จึงมีการผนวกรวมเอาองค์ประกอบของจักรวาลเข้าเป็นส่วนหนึ่งในลวดลายมงคล ๑๐๘ ประการที่รอยพระพุทธบาทด้วย

เห็นได้ทั้งในรอยพระพุทธบาท และที่พระบาทของพระพุทธรูป เช่นในกรณีของพระพุทธไสยาสน์ (พระนอน)

ในบทความ “ลายลักษณ์พระบาท” พระนิพนธ์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์ พิมพ์อยู่ในนิตยสาร “วชิรญาณวิเศษ” เมื่อปี ๒๔๓๕ กล่าวว่า “ฝ่าพระบาททั้งสองประกอบด้วยลายลักษณ์กงจักร์ข้างละอัน ในท่ามกลางฝ่าพระบาท จักร์นั้นมีกำพันหนึ่ง ประกอบด้วยกงแลดุมบริบูรณ์ ภายนอกรูปกงจักร์นั้น มีรูปอัฏฐุตตะระสะตะมงคลร้อยแปดประการ”

คัดตัดตอนมาเฉพาะรูปมงคลส่วนซึ่งเป็นองค์ประกอบของจักรวาล ได้แก่

“สมุทโท มหาสมุทร์ ๑ จักกะวาฬะปัพพะโต เขาจักรวาฬ ๑ หิมะวันตะปัพพะโต เขาหิมพานต์ ๑ เมรุปัพพะโต เขาพระเมรุ ๑ สุริยะมัณฑะลัง มณฑลพระอาทิตย์ ๑ จันทะมัณฑะลัง มณฑลพระจันทร์ ๑ นักขัตตะตารา ดาวนักษัตร์ฤกษ์ ๑ สัปปะริวาราจะตุมะหาทีปา ทวีปใหญ่ทั้งสี่กับทั้งบริวาร ๑ สะปะริโสสัตตะระตะนะสะมังคีจักกะวัตติ พระยาจักรพรรดิอันพร้อมไปด้วยแก้วเจ็ดประการ กับทั้งบริษัท ๑…สัตตะมะหาคังคา มหาคงคาทั้งเจ็ด ๑ สัตตะกุละปัพพะตา เขาบริภัณฑ์กุลบรรพตทั้งเจ็ด ๑ สัตตะสีทันตะสาคะรา สีทันดรสาครทั้งเจ็ด ๑…เกลาสะปัพพะโต เขาไกลาส ๑…ฉะเทวะโลกา กามาพจรเทวโลกทั้งหก ๑ โสฬะสะพรัหมะโลกา พรหมโลกสิบหก ๑ สิรินับได้ร้อยแปดด้วยกัน”

โดยนัยนี้ก็คือพระพุทธเจ้าทรงมีบารมีเป็นล้นพ้น ทรงตรัสรู้ในทุกสิ่งอัน ตลอดทั้งจักรวาลและสรรพชีวิตทั้งปวงก็ล้วนอยู่ใต้ฝ่าพระบาทของพระพุทธองค์

อีกลักษณะหนึ่งของคตินี้ เห็นได้จากการเขียนภาพจักรวาลไว้ทางด้านหลังพระประธานในอุโบสถของภาคกลาง

ธรรมเนียมนี้มีหลักฐานปรากฏชัดเจนตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย สืบเนื่องมาจนสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยนิยมเขียนให้มีเขาพระสุเมรุเป็นแกนกลาง บนยอดเขาคือสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ของพระอินทร์

ถัดมาทั้งสองด้าน คือแนวเขาสัตตบริภัณฑ์ ที่แสดงในลักษณะ “ผ่าซีก” แบ่งออกเป็นแนวเขาทรงแท่งทั้งซ้ายขวา สูงลดหลั่นกันลงไปตามลำดับ โดยมีพระอาทิตย์ พระจันทร์ โคจรอยู่รอบเขาพระสุเมรุ

ถัดมาก็เป็นมหาสมุทร ที่ตั้งของทวีปทั้งสี่ ได้แก่ อุตรกุรุทวีป บุพพวิเทหทวีป ชมพูทวีป และอมรโคยานทวีป ซึ่งมักแบ่งไว้ข้างซ้ายขวาของชุดเขาสัตตบริภัณฑ์ ข้างละสอง

ตรงตีนเขาพระสุเมรุมักเขียนให้เป็นส่วนขยายของดินแดนชมพูทวีป เช่นป่าหิมพานต์ สระอโนดาต ปัญจมหานที

หลายแห่งเขียนไปจนถึงนรกที่อยู่ใต้เขาพระสุเมรุลงไปอีกด้วย

น่าสนใจว่า ความหมายของภาพชุดจักรวาลที่เป็นงานจิตรกรรมนี้ จะ “สมบูรณ์” หรือ “ทำงาน” ได้ จะต้องตีความโดยผนวกกับองค์พระพุทธรูปประธานที่เป็นปฏิมากรรม ในความหมายว่าทุกสิ่งที่ปรากฏนี้คือเป็นภพภูมิที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้หยั่งถึงทั่วตลอด

ส่วนในล้านนาโบราณ นิยมนำเสนอคติเดียวกันนี้ ด้วยการสร้าง “สัตตภัณฑ์” หรือรูปจำลองของเขาพระสุเมรุและเขาสัตตบริภัณฑ์ ในลักษณะเดียวกับภาพจิตรกรรมของภาคกลาง แต่เป็นไม้สลักประกอบกันขึ้นในรูปลักษณ์เหมือนเชิงเทียน ใช้ตั้งวางไว้หน้าพระพุทธรูปประธาน อันน่าจะมีความหมายดุจเดียวกัน


------------------------------------


https://www.sarakadee.com/2021/03/24/สถูป-สัญญะ/
Culture


สัญญะแห่งสถูป – สุเมรุจักรวาล ตอนที่ 84
24 มีนาคม 2021 ศรัณย์ ทองปาน : เรื่อง


อาจารย์โชติ กัลยาณมิตร นักประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมผู้ล่วงลับ เคยเสนอทฤษฎีไว้ในหนังสือ “ลักษณะไทย ภูมิหลัง” ถึงความเกี่ยวข้องระหว่างสถูปเจดีย์กับคติจักรวาล



จากความพยายาม “อ่านงานของบุรพาจารย์ทางช่างให้ออก ว่าท่านมีความคิดและมีแนวปรัชญาอย่างไร” นำไปสู่ข้อเสนอของอาจารย์โชติว่า จากการที่องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมที่เรียกว่า “ปล้องไฉน” คือส่วนยอดทรงกรวยของเจดีย์ทรงระฆังหรือเจดีย์ทรงลังกาที่ควั่นแบ่งเป็นวงแหวนซ้อนๆ กันขึ้นไป มีจำนวนชั้นที่พบมากคือ ๒๑/๒๗/๒๘ และ ๓๒ ดังนั้น แท้จริงแล้ว นั่นอาจเป็น “จำนวนของชั้นภูมิ” เช่น

๒๑ มาจากผลรวมของชั้นรูปพรหมภูมิ (โสฬสพรหม ๑๖)+อรูปพรหมภูมิ (๔)+นิพพาน (๑)

๒๗ คือการเพิ่มเทวภูมิ (กามาพจร ๖) เข้ามา

๒๘ รวมเอาชั้นมนุษยภูมิ(๑) ด้วย

๓๒ เป็นตัวเลขที่เกิดจากการผนวกด้วยจำนวนชั้นอบายภูมิ (๔) ฯลฯ

ดังนั้น สำหรับอาจารย์โชติแล้ว เจดีย์ก็คือรูปจำลอง หรือ “โมเดล” ของจักรวาลนั่นเอง



อีกตัวอย่างหนึ่งของสถูปที่สามารถถอดรหัสตีความได้อย่างชัดเจน ว่าเป็นการจำลองจักรวาลแบบเขาพระสุเมรุก็คือพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งธนบุรีของกรุงเทพมหานคร

แม้ในรายละเอียดปลีกย่อย นักวิชาการหลายท่านอาจตีความแตกต่างกันไปบ้าง แต่ในภาพรวมแล้ว ทุกท่านล้วนเห็นพ้องต้องกันว่าปรางค์ประธานนั้นสร้างขึ้นเป็นภาพจำลองของเขาพระสุเมรุแน่ๆ

ดังเห็นได้จากซุ้มด้านบนอันมีรูปเทพทรงช้างสามเศียรอยู่ทั้งสี่ทิศ

ช้างสามเศียรในศิลปะไทย แท้จริงแล้วคือ “รูปย่อ” ในการแสดงภาพช้างเอราวัณ เทวพาหนะของพระอินทร์ ซึ่งตามคัมภีร์จะมีถึง ๓๓ เศียร แต่ในเชิงช่างก็มัก “ลดรูป” ด้วยการแสดงไว้ให้เห็นพอ “เป็นเค้า” เพียงสามเศียร อาจเพราะการแสดงภาพ ๓๓ เศียร รุงรังเกินไป ทำให้งามได้ยาก

ดังนั้น ส่วนยอดพระปรางค์จึงหมายถึงตำแหน่งแห่งที่ของพระอินทร์ ซึ่งก็คือสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ หรือ “สุทัศนะนคร” บนยอดเขาพระสุเมรุ ดังนั้นจึงตีความต่อเนื่องไปได้อีกว่าฐานซ้อนชั้นจำนวนมากที่สูงลดหลั่นกันขึ้นไปจึงย่อมมีนัยความหมายแทนแท่งเขาพระสุเมรุ

พระปรางค์วัดอรุณราชวรารามมีประวัติว่าแต่เดิมตั้งแต่ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ที่ตรงนี้คือ “วัดแจ้ง” ซึ่งก็มีพระปรางค์องค์หนึ่งเป็นประธานอยู่แล้ว เมื่อถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โปรดเกล้าฯ ให้บูรณะวัดนี้ขึ้นใหม่ พร้อมกับสร้างเสริมพระปรางค์ใหม่ให้มีขนาดใหญ่ขึ้น โดยเปลี่ยนชื่อวัดเป็น “วัดอรุณราชธาราม” การบูรณะต่อเนื่องมาถึงสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ โดยมีเกร็ดว่า ในช่วงปลายรัชสมัย โปรดเกล้าฯ ให้นำมงกุฎที่หล่อขึ้นเพื่อใช้เป็นเครื่องทรงของพระพุทธรูปทรงเครื่องที่เป็นประธานในพระอุโบสถ วัดนางนอง มาติดต่อไว้บนยอดนภศูลของพระปรางค์องค์นี้ การบูรณะสำเร็จลงในรัชกาลที่ ๔ ซึ่งได้พระราชทานนามใหม่แก่วัด เป็น “วัดอรุณราชวราราม”

เมื่อพิจารณาจากการที่มงกุฎบนยอดนภสูลเป็นเครื่องทรงของพระพุทธรูป ก็อาจตีความได้ว่า มงกุฎเหนือพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม ควรเป็นสัญลักษณ์ที่สอดคล้องกับการเป็นรูปจำลองเขาพระสุเมรุและสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ด้วย ฉะนั้น มงกุฎนี้จึงน่าจะเป็นสัญลักษณ์แทนองค์พระจุฬามณีเจดีย์บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ อันเป็นที่ประดิษฐานพระเมาลีของพระโพธิสัตว์ ซึ่งพระอินทร์ไปอัญเชิญมานั่นเอง


-----------------------------------


Logged
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
*****
Offline Offline

Posts: 8,467


View Profile
« Reply #2 on: 18 February 2022, 17:14:19 »


https://www.sarakadee.com/2021/03/31/บายศรีปากชาม/
Culture


ตั้งเขาพระสุเมรุเป็นพิธี – สุเมรุจักรวาล ตอนที่ 85
31 มีนาคม 2021 ศรัณย์ ทองปาน : เรื่อง


อีกหนึ่งร่องรอยของคติจักรวาลแบบเขาพระสุเมรุในระดับชาวบ้านอาจจะได้แก่ “บายศรีปากชาม”

บายศรีเป็นคำเขมร “บาย” แปลว่าข้าวสุก “ศรี” หรือสรี แปลว่ามิ่งขวัญ สิริมงคล



“บายศรีปากชาม” อันเป็นบายศรีพื้นฐานที่สุด มีองค์ประกอบสำคัญคือการบรรจุข้าวปากหม้อ (ข้าวที่หุงเสร็จใหม่ๆ ตักครั้งแรกจากหม้อ ถือกันว่าเป็นอาหารอย่างดี) ใส่ลงในกรวยใบตองยอดแหลม เสียบไข่ต้มที่เรียกว่า “ไข่ขวัญ” ไว้ยอดบนสุด แล้วตั้งวางลงในชาม

นอกจากข้าวในกรวยใบตองแล้ว ยังต้องมีเครื่องสังเวยเป็นของกินต่างๆ ได้แก่กล้วยน้ำ [โบราณมีทั้งกล้วยน้ำไท และกล้วยน้ำ(ละ)ว้า] กับแตงกวาผ่าซีก ใส่ลงไปข้างๆ ด้วยจึงจะครบเครื่อง อย่างที่ใน “เสภาขุนช้างขุนแผน” ตอนทำขวัญพลายแก้ว บรรยายไว้

“แล้วเร่งรัดจัดแจงแต่งบายศรี เงินทองของดีมาผูกให้

กล้วยน้ำแตงกวาเอามาใส่ ธูปเทียนดอกไม้มีหลายพรรณ”

บายศรีปากชามนี้เป็นเสมือนเครื่องประกาศความ “เป็นงานเป็นการ” หรือการ “มีพิธี” เพราะต้องใช้ในสารพัดพิธีกรรมเนื่องด้วยขั้นตอนต่างๆ ของชีวิต อาจารย์เยื้อน ภาณุทัต (๒๔๓๓-๒๕๒๘) ผครูบาอาจารย์คนสำคัญของงานช่างอย่างไทยยุคร่วมสมัย เคยเขียนเล่าไว้ว่า

“ในสมัยก่อนๆ ข้าพเจ้ามั่นใจว่าเย็บบายศรีปากชามกันได้แทบทุกบ้าน ทั้งนี้เพราะต้องใช้กันในการทำขวัญมากมายหลายอย่าง เช่น ทำขวัญเด็กที่เกิดใหม่อายุได้สามวัน และอายุหนึ่งเดือน ตอนโกนผมเด็ก ที่เรียกว่าโกนผมไฟ ใช้ตอนโกนจุก ถ้าเป็นเด็กชายก็ใช้ทำขวัญเมื่อบวชอีก เวลาปลูกบ้านก็ใช้บายศรีทำขวัญเสาเอก ตั้งศาลพระภูมิประจำบ้านก็ต้องใช้บายศรี วันขึ้นปีใหม่ก็ต้องใช้สังเวยพระภูมิ ใช้ทำขวัญบ้าน และทำขวัญผู้ที่อยู่ในบ้าน ใช้ในงานไหว้ครูเป็นประจำทุกปี ใช้ในการทำขวัญเรือน และ ฯลฯ…”

ขณะเดียวกัน ความรู้เรื่องนี้ถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จึงต้องมีพิธีกรรมกำกับ

“ถือกันนักหนาว่าผู้ฝึกทำจะต้องมีครูครอบ ที่เรียกว่าครอบก็คือผู้สอนจะต้องจับมือให้ทำ ยิ่งกว่านั้น แม้ผู้สอนจะเป็นคุณย่าคุณยายก็ตาม ผู้เรียนก็ต้องมีเครื่องเคารพครูตามธรรมเนียม”

อาจารย์เยื้อนท่านมิได้อธิบายความหมายไว้ว่าบายศรีปากชามนั้นเป็นสัญลักษณ์ของอะไรหรือไม่ แต่มีผู้รู้บางท่านสันนิษฐานว่าบายศรีคือรูปจำลองของเขาพระสุเมรุ แวดล้อมด้วยใบตองที่พับทบไปมาให้เป็นปลายแหลมเรียว (บางทีเรียกว่า “นมแมว”) ซึ่งว่ากันว่ามีความหมายถึงเขาสัตตบริภัณฑ์

ดังนั้น เมื่อมีการตั้งเขาพระสุเมรุ-คือบายศรี-ขึ้นแล้ว นั่นหมายความว่าเป็นการอัญเชิญเทวดาทั้งจักรวาลมาสถิตเป็นสักขีพยานในการพิธีต่างๆ ดังกล่าวมาแล้วนั่นเอง

การที่แต่โบราณนิยมตั้งบายศรีปากชามลงใน “ชามเทพนม” ที่เป็นชามเบญจรงค์เขียนลายเทวดานางฟ้าอย่างไทย (แต่เป็นฝีมือช่างเมืองจีน) ก็ยิ่งสอดคล้องกับแนวคิดการตั้งบายศรีเพื่อชุมนุมเทวดาทำนองนี้

ตามคติโบราณ ท่านตั้งบายศรีปากชามนี้เดี่ยวๆ เป็นประธานของเครื่องสังเวย แต่ด้วยเหตุใดไม่ปรากฏ พอถึงยุคปัจจุบันที่บายศรีปากชามกลายร่างไปอยู่ในชามโฟมกันหมดแล้ว คนกลับมักนิยมซื้อไปตั้งไปใช้เป็นคู่ จึงไม่อาจเป็นพิธีตั้งเขาพระสุเมรุได้อีกต่อไป เพราะจักรวาลย่อมมี “ศูนย์กลาง” เพียงหนึ่งเดียว


----------------------------------


https://www.sarakadee.com/2021/04/07/นิราศสวรรค์/
Culture


นิราศสวรรค์ – สุเมรุจักรวาล ตอนที่ 86
7 เมษายน 2021 ศรัณย์ ทองปาน : เรื่อง




เรื่องราวจากคัมภีร์โลกศาสตร์ที่ “อัดฉีด” ลงสู่สังคมไทยมาช้านานยังไปปรากฏสอดแทรกอยู่แม้แต่ใน “คลังความรู้” ของศิลปินพ่อเพลงแม่เพลงพื้นบ้านด้วย ถึงขนาดถือกันว่าถ้าจะเป็นคนเพลงระดับ “ยอดฝีมือ” แล้ว ต้องสามารถร้องได้ทั้งเรื่อง “แดงเถือก” สัปโดกสัปดน ขณะเดียวกันยังต้องแม่นยำในเรื่องพุทธศาสนา ทั้งตำนาน ชาดก และคัมภีร์โลกศาสตร์ เช่นที่คุณเอนก นาวิกมูล บันทึกไว้ในหนังสือ “คนเพลงและเพลงพื้นบ้านภาคกลาง” ถึงฉากหนึ่งในชีวิตของยายทองหล่อ ทำเลทอง ศิลปินแห่งชาติ สาขาเพลงพื้นบ้านคนแรกของเมืองไทย ว่า

“นอกจากจะเล่นออกสองแง่หรือออก ‘กลอนแดง’ แล้ว ทางแพ้ชนะก็มีอีกเรื่องหนึ่งคือเล่นถามทางโลกทางธรรมกัน เช่น ถามว่า แผ่นดินหนาเท่าไร คนเราเกิดมาอย่างไร ทำไมนกกระยางจึงมีสีขาว ทำไมชะนีจึงต้องเรียกหาผัว…คนไม่ได้เรียนมาก็เป็นอันหมดท่า อย่างยายทองหล่อ ไปแพ้ครูสะอาดหนหนึ่ง เขาถามว่าทำไมนกกระยางจึงมีสีขาว ตอบไม่ถูก มารู้ภายหลังเรื่องนี้ก็ต้องไปหาอ่านเอาจากเรื่องเมียพระอินทร์ คือนางสุชาดา จึงจะรู้…

หนึ่งในแหล่งความรู้ที่พ่อเพลงแม่เพลง รวมถึงชาวบ้านในรุ่น ๑๐๐ ปีมานี้หาอ่านได้ไม่ยากนัก คือหนังสือขนาดเท่าฝ่ามือ เล่มบางๆ โดยทั่วไปหนาราว ๓๐-๔๐ หน้า ที่นิยมเรียกกันว่า “หนังสือวัดเกาะ” ตามชื่อเรียกโรงพิมพ์ราษฎร์เจริญ หน้าวัดเกาะสัมพันธวงศ์ ในกรุงเทพฯ

หนังสือแบบนี้มีผู้พิมพ์จำหน่ายมากราย เนื้อหาหลากหลาย ทั้งวรรณคดี นิราศ เพลงพื้นบ้าน บททำขวัญ ทำนายฝัน หนังสือหัดอ่าน ฯลฯ ดูเหมือนยังไม่เคยมีใครสำรวจนับจำนวนว่ามีทั้งหมดกี่เรื่อง แต่เชื่อว่าน่าจะมีเป็นพันๆ รายการทีเดียว ถือเป็นคลังความรู้ในทาง “ไทยศึกษา” ที่ยิ่งใหญ่มาก

ครั้งหนึ่งผู้เขียนเคยไปบ้านแม่ครูละครชาตรีท่านหนึ่งที่อยุธยา เห็นมีตู้อยู่ใต้หิ้งพระที่ไว้รูปครูบาอาจารย์ คุณครูท่านบอกว่าเป็นตู้เก็บ “บทละคร” ที่ใช้กันมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ เมื่อขออนุญาตเปิดดู ก็พบว่าข้างในล้วนแต่เป็น “หนังสือวัดเกาะ” อัดแน่นอยู่เต็ม

เช่นเดียวกับละครโทรทัศน์ “จักรๆ วงศ์ๆ” ในช่วงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา เช่น แก้วหน้าม้า ไกรทอง โกมินทร์ ปลาบู่ทอง อุทัยเทวี ฯลฯส่วนใหญ่ก็มีต้นทางมาจาก “หนังสือวัดเกาะ” นี่เอง

มีหนังสือแบบนี้เรื่องหนึ่งชื่อ “นิราสสวรรค์” (นิราศสวรรค์) ฉบับที่เคยอ่าน พิมพ์ที่โรงพิมพ์ห้างสมุด ตรอกโรงเลี้ยงเด็ก จังหวัดพระนคร เมื่อปี ๒๔๙๒ แต่ต้นฉบับเดิมคงเก่ากว่านั้นขึ้นไปอีกหลายสิบปี อาจจะถึงราวปลายรัชกาลที่ ๕ หรือต้นรัชกาลที่ ๖ อ่านแล้วก็เห็นว่าขันๆ ดี จึงขอเก็บความมาเล่าต่อ



“นิราศสวรรค์” ซึ่งไม่ได้ระบุนามนักประพันธ์ เล่าว่าวันหนึ่งผู้แต่งฝันไปว่าพระอินทร์มาชวนไปเที่ยวสวรรค์แล้วก็ตกใจตื่น ต่อมาเกิดพายุใหญ่ ครั้นพายุสงบลง

“แลไปเห็นบาลูนศูนย์เจ้าของ     ตกลงต้องภูผาพนาศรี
ติดกิ่งไทรในระหว่างกลางคีรี      ร่มก็มีสำหรับกางลงทางดอน
พิเคราะห์ดูรู้แจ้งไม่แคลงจิตต์     ชาติอังกฤษเรียนรู้เพราะครูสอน
ช่างทำดีมีกำบังที่นั่งนอน          เที่ยวสัญจรข้ามมหาชลาวน
แต่วันนี้เกิดมีพายุจัด                จึงได้พลัดจากทะเลระเหระหน
ฝรั่งครูผู้เจ้าของหมองกมล         ต้องลมบนตกลงปลงชีวิต
เราจำใจจะไปบาลูนบ้าง          ถ้าถึงยังเมืองสวรรค์ชั้นดุสิต
ชมสุรางค์นางฟ้าเทวดาฤทธิ์      ที่สถิตพิมานสำราญครัน”

ดังนั้นในโลกยุคใหม่ สวรรค์จึงสามารถไปถึงได้ด้วย “บาลูน” (ลูกบอลลูน) ของฝรั่งชาวอังกฤษ!

จากนั้นผู้เขียนก็พรรณนาสวรรค์ไปตามลำดับชั้นในคัมภีร์ เริ่มตั้งแต่จาตุมหาราชิกา จากนั้นก็ไปยังดาวดึงส์ แวะสักการะพระจุฬามณีเจดีย์ ก่อนขึ้นไปถึงชั้นยามา ดุสิต นิมมานรดี และปรนิมมิตวสวัตดี ก่อนจะต่อขึ้นไปเรื่อยๆ ถึงสวรรค์ชั้นพรหมทีละชั้นๆ

รายละเอียดของสวรรค์ตามนิราศเรื่องนี้คงแต่งไปตามจินตนาการ ชนิดที่ว่าถ้าเอาคัมภีร์ไปจับก็ต้องว่าเขียนเดาสุ่มไปเรื่อย กล่าวถึงซ้ำไปซ้ำมาแต่เรื่องนางฟ้านางสวรรค์ มีแม้กระทั่งการย้ายนางกินรีกับต้นนารีผล ซึ่งตำราโลกศาสตร์ระบุชัดเจนว่าอยู่ในเขตป่าหิมพานต์ของชมพูทวีป เอาไปไว้บนสวรรค์ด้วย

อ่านๆ ไปก็ยังสงสัยว่าเรื่องจะไปจบลงอย่างไร

ที่ไหนได้!

พอพรรณนาจบเรื่องสวรรค์ชั้นพรหม ผู้แต่งก็เล่าว่าไปเจอพญายักษ์ตาแดงยืนขวางทาง บอกว่าถ้าไปต่ออีกก็คือ “พระนิพพาน” แล้ว ไม่อนุญาต ขอให้กลับไปเสีย คนแต่งสงสัยว่านี่คงเป็นพระอินทร์ปลอมตัวมาบอกทางเป็นแน่ จึงหันหลังกลับลงมา ทันได้เห็นเมขลากับรามสูรเหาะไล่กันพักหนึ่ง แล้วบังเอิญลูกบอลลูนที่อาศัยเดินทางมายังติดห้อยค้างอยู่ตรงนั้นพอดี จึงอาศัยเดินทางกลับลงมาได้ในที่สุด


-------------------------------


Logged
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
*****
Offline Offline

Posts: 8,467


View Profile
« Reply #3 on: 18 February 2022, 17:15:57 »


https://www.sarakadee.com/2021/04/14/เมืองแก้ว-พระอินทร์/
Culture


“เมืองแก้ว” ของ “พระอินทร์” – สุเมรุจักรวาล ตอนที่ 87
14 เมษายน 2021 ศรัณย์ ทองปาน : เรื่อง


ชนชั้นปกครองของสยามยุครัชกาลที่ ๔-๕ เคยประทับใจกับความเจริญก้าวหน้าของฝรั่งยุโรปอย่างยิ่ง ถึงแก่ขนานนามกรุงลอนดอน นครหลวงของจักรวรรดิอังกฤษ ว่าเป็น “เมืองแก้ว” คู่กับ “เมืองสวรรค์” คือกรุงปารีสของฝรั่งเศส ตามสำนวน “เมืองแก้วเมืองสวรรค์” ที่ซึ่งทุกสิ่งสรรพ์น่าตื่นตาตื่นใจ



แต่อีกนัยหนึ่ง สมญา “เมืองแก้ว” ของกรุงลอนดอน ก็อาจจะมาจากความรู้สึกทึ่งกับการที่สิ่งก่อสร้างต่างๆ ล้วนเต็มไปด้วยกระจก เช่น คริสตัลพาเลซ (Crystal Palace) อาคารจัดงานแสดงสินค้านานาชาติขนาดมหึมา ก็สร้างจากโครงสร้างเหล็กหล่อแล้วกรุด้วยกระจกใสทั้งหลัง

เมื่อครั้งที่หม่อมราโชทัย (ม.ร.ว. กระต่าย อิศรางกูร) เป็นล่ามให้คณะราชทูตกรุงสยามเดินทางไปอังกฤษเมื่อปี ๒๔๐๐ คริสตัลพาเลซของเดิมถูกรื้อถอน ย้ายไปตั้งใหม่ในที่อีกแห่งหนึ่งแล้ว แม้กระนั้น คณะราชทูตสยามก็ยังตื่นตะลึงกับสถานที่แห่งนี้ที่หม่อมราโชทัยแปลเป็นไทยให้ว่า “วังรัตนา” ดังที่พรรณนาไว้ใน “นิราศลอนดอน” ว่า

“ครั้นถึงวังรัตนาพากันจร          เดินยอกย้อนลดเลี้ยวเที่ยวครรไล
ดูวิจิตรพิศดารตระการแก้ว         วับวามแววแสงสว่างกระจ่างใส
ทั้งหลังคาฝาผนังช่างกะไร         ตลอดไปหมดสิ้นล้วนจินดา
สูงตระหง่านยาวกว่าสิบห้าเส้น          เขาทำเปนสี่ชั้นขันหนักหนา
ข้างในนั้นน่าเพลินเจริญตา              ปลูกพฤกษาต่างต่างสล้างราย”
แต่อันที่จริง นอกจากกรุงลอนดอนแล้ว กรุงเทพฯ ก็เป็น “เมืองแก้ว” ด้วยเหมือนกัน

ยุคหนึ่ง ราชธานีของสยามเคยขนานนามตามนครของพระราม ผู้เป็นองค์อวตารของพระนารายณ์ ว่า “กรุงศรีอยุธยา” คือมาจาก “อโยธยา” ตามคำเดิม หากแต่ในสมัยกรุงเทพฯ ราชธานีแต่แรกมีนามว่า “กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์” ดังที่เล่าไว้ใน “พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์” ว่า ในปี ๒๓๒๘ หลังพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ ๑ โปรดเกล้าฯ ให้จัดการฉลองพระนคร แล้ว

“จึงพระราชทานนามพระนครใหม่ให้ต้องกับนามพระพุทธรัตนปฏิมากรว่า “กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุทธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบูรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์” เป็นพระมหานครที่ดำรงรักษาพระมหามณีรัตนปฏิมากร เป็นแก้วอย่างดีมีสิริอันประเสริฐ สำหรับพระบารมีของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวผู้ประดิษฐานกรุงเทพมหานครนี้ ตั้งแต่พระราชทานนามนี้มาบ้านเมืองก็อยู่เย็นเป็นสุขเกษมสมบูรณ์ขึ้น”

สร้อยนาม “รัตนโกสินทร์” นี้ บ่อยครั้งถูกใช้เสมือนเป็นอีกชื่อหนึ่งของราชธานีกรุงเทพฯ คือ “กรุงรัตนโกสินทร์”

ถ้าดูตามความหมาย “รัตนะ” แปลว่าแก้ว ส่วน “โกสินทร์” แปลว่าพระอินทร์ ซึ่งในที่นี้ “แก้วของพระอินทร์” ก็หมายถึงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร “พระแก้วมรกต” อันกล่าวไว้ในคัมภีร์รัตนพิมพวงศ์ ว่าสร้างขึ้นโดยพระอินทร์นั่นเอง

ธรรมเนียมการขนานนามเมืองตามนามพระพุทธรูปสำคัญอีกแห่งหนึ่งคือเมือง “หลวงพระบาง” ในลาว อันมีนามตามนาม “พระบาง” พระพุทธรูปยืน อันเป็น “ขวัญเมือง” ของอาณาจักรเฉกเช่นเดียวกัน

นอกจากกรุงเทพฯ จะเป็นเมืองแก้วของพระอินทร์แล้ว นามของป้อมปราการรอบพระนคร ส่วนหนึ่งก็สะท้อนคติจักรวาลแบบเขาพระสุเมรุอย่างชัดเจน
นั่นคือป้อมที่อยู่ทางเหนือสุดของราชธานี มีชื่อว่าป้อมพระสุเมรุ ถัดลงมาด้านหนึ่งคือป้อมพระอาทิตย์ ป้อมพระจันทร์ ฝั่งตรงกันข้ามก็มีป้อมยุคลธร (ยุคันธร) กับอิสินธร

สอดคล้องกับภูมิศาสตร์ของจักรวาลแบบเขาพระสุเมรุที่มีเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลาง มีพระอาทิตย์ พระจันทร์ โคจรรอบจักรวาลเสมอแนวเขายุคันธร หนึ่งในทิวเขาสัตตบริภัณฑ์

สองร้อยกว่าปีต่อมา ป้อมเดียวในจำนวนนี้ที่ยังคงเหลืออยู่คือป้อมพระสุเมรุ ตั้งอยู่ในสวนสันติชัยปราการ ของกรุงเทพฯ
ส่วนป้อมพระอาทิตย์ และป้อมพระจันทร์ ถูกรื้อไปจนราบ เหลือแต่ชื่อตกค้างอยู่เป็นชื่อท่าเรือข้ามฟาก คือท่าพระอาทิตย์ และท่าพระจันทร์ บนฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา


-----------------------------------


https://www.sarakadee.com/2021/04/21/ดาวดึงส์/
Culture


ดาวดึงส์ ณ วัดพระแก้ว – สุเมรุจักรวาล ตอนที่ 88
21 เมษายน 2021 ศรัณย์ ทองปาน : เรื่อง


ทุกวันนี้ ใครที่เข้าไปกราบสักการะพระแก้วมรกตในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หากมีโอกาสแหงนหน้าขึ้นมองดูหน้าบัน (คือหน้าจั่วสามเหลี่ยม) ของพระอุโบสถ จะเห็นว่าเป็นไม้จำหลักปิดทองประดับกระจก ตรงกลางเป็นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ อันสะท้อนถึงคติหนึ่งที่นับเนื่องว่ากษัตริย์มีฐานะเป็น “พระนารายณ์อวตาร”



หน้าบันนี้มีหลักฐานว่าเป็นฝีมือช่างสมัยรัชกาลที่ ๓ ดังที่ปรากฏเป็นภาษากวี ใน “จดหมายเหตุเรื่องปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ครั้งรัชกาลที่ ๓” ว่า

“มีเขบ็จบันฉลักฉลุรายเทพนมปลายกนก เป็นกนกลายกระหนาบคาบเครือวัลย์ คาบรักทาบสุพรรณนพมาศ โอภาสเหลืองเรืองอร่ามรับสลับกระจกสีประจำช่องกนกหน้าบัน ที่ศูนย์ไส้ใจกลางนั้นจำหลักเป็นบัลลังก์ช่อห้อยช่อตั้งกระจังฝังกระจกต่างสี มีรูปบรมจักรกฤษณ์ทรงครุฑสุบรรณยุดพาสุกรีตรีเศียรยืนตระหง่านเงื้อมสง่างาม…”

“รูปบรมจักรกฤษณ์ทรงครุฑสุบรรณยุดพาสุกรีตรีเศียร” แปลว่ารูปพระนารายณ์ถือจักร มีพาหนะคือครุฑยุดนาคสามเศียร

หากแต่ก่อนหน้านั้น ดูเหมือนว่าหน้าบันของพระอุโบสถวัดพระแก้วจะมิได้สลักภาพพระนารายณ์ทรงครุฑ

ศ.ดร.ชาตรี ประกิตนนทการ แห่งคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เคยนำเสนอว่า เรื่องนี้มีหลักฐานเป็นภาพลายเส้นอยู่ในหนังสือบันทึกรายวัน “Journal of an Embassy from the Governor-General of India to the Courts of Siam and Cochin China” (1830) ของนายจอห์น ครอว์เฟิร์ด (John Crawfurd หรือที่ชาวสยามออกนามว่า “ยอน การะฝัด”) ทูตจากผู้สำเร็จราชการอังกฤษประจำแคว้นเบงกอล ซึ่งเดินทางเข้ามายังสยามเมื่อ ค.ศ. ๑๘๒๑ (๒๓๖๔-๖๕)

ขณะนั้นเป็นช่วงปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ภายหลังการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ได้ ๔๐ ปี

ภาพที่หน้าแรกของบทที่ ๕ ในหนังสือเป็นภาพลายเส้นรูปอุโบสถหลังหนึ่ง มองจากด้านหน้า แลเห็นหน้าบันที่ตรงกลางเป็นรูปบุคคลอยู่เหนือช้างสามเศียร คำบรรยายภาพมีเพียงว่า Siamese Temple (วัดของชาวสยาม) หากแต่อาจารย์ชาตรีชี้ให้เห็นว่า เมื่อพิจารณาจากซุ้มเสมาอันมีลักษณะเฉพาะแล้ว ย่อมไม่อาจเป็นที่แห่งอื่นใดได้ นอกเสียจากพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

หากเชื่อตามนี้ ย่อมหมายความว่าพระอุโบสถวัดพระแก้วที่ครอว์เฟิร์ดและผู้ติดตามชาวอังกฤษได้เห็นเมื่อปลายรัชกาลที่ ๒ เคยมีภาพสลักหน้าบันเป็นพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณมาก่อนจะถูกเปลี่ยนใหม่เป็นพระนารายณ์ทรงครุฑเมื่อมีการปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ในรัชกาลที่ ๓

ดังได้กล่าวมาแล้วว่า พระแก้วมรกตอันเป็นที่มาของนาม “กรุงรัตนโกสินทร์” นั้น มีประวัติความเป็นมาอันเนื่องด้วยพระอินทร์ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ปูชนียสถานที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต อันเป็น “ขวัญเมือง” ของกรุงเทพฯ จะสลักภาพพระอินทร์ที่หน้าบัน ทำให้อาจตีความได้ว่า พระอุโบสถหลังนี้มีความหมายเชิงสัญลักษณ์ว่าเปรียบประดุจเขาพระสุเมรุ หลักของจักรวาล อันมีสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ของพระอินทร์ สถิตอยู่ ณ ยอดเขา

ดังนั้น รูปครุฑยุดนาคหล่อสำริดปิดทอง จำนวน ๑๑๒ ตน ที่เรียงรายรอบฐานปัทม์เชิงผนังพระอุโบสถด้านนอก ก็อาจมีนัยความหมายพิเศษมากกว่าชิ้นส่วนเครื่องประดับสถาปัตยกรรม นั่นคือเป็นสัญลักษณ์ของแนวกึ่งกลางเขาพระสุเมรุ อันเป็น “วิมานฉิมพลี” ของพวกครุฑ ก็เป็นได้

ธรรมเนียมการประดับหน้าบันอุโบสถด้วยรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ทั้งแกะสลักไม้ ปิดทอง หรือปั้นปูนระบายสี อย่างที่นิยมสร้างกันทั่วไป ทั้งวัดราษฎร์วัดหลวง ล้วนสร้างความหมายเชิงสัญลักษณ์ให้อุโบสถหลังนั้น เป็นตัวแทนของเขาพระสุเมรุ อันมีสวรรค์ชั้นดาวดึงส์อยู่ข้างบน

เฉกเช่นพระวิหารหลวง วัดสุทัศนเทพวราราม กรุงเทพฯ ซึ่งมีหน้าบันประธานเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณสามเศียร

เฉพาะกรณีของวัดสุทัศน์ฯ ยังอาจมีความหมายซับซ้อนหลายชั้นยิ่งขึ้นไปอีก เพราะคำว่า “สุทัศนะ” ในชื่อวัดย่อมหมายถึง “สุทัสสนะนคร” อันเป็นนามเมืองของพระอินทร์ คืออีกนามหนึ่งของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

พระวิหารหลวง วัดสุทัศน์ฯ จึงเปรียบเสมือนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์บนยอดเขาพระสุเมรุ ขณะที่ “ถะ” หรือเจดีย์แบบเก๋งจีนทำด้วยหิน ที่ประดับสองข้าง ก็ให้ผลทางสายตาในลักษณะเดียวกับภาพจิตรกรรมฝาผนังรูปเขาสัตตบริภัณฑ์ ที่ช่างแต่โบราณนำเสนอด้วยการแบะซีกฉีกภูเขาวงแหวนออกให้กลายเป็นแท่งโขดหินสูงลดหลั่นขนาบข้างเขาพระสุเมรุตรงกลาง

ถัดออกไปทางทิศเหนือของพระวิหารหลวง คือพระอุโบสถ ซึ่งหน้าบันด้านหนึ่งเป็นภาพพระอาทิตย์ อีกด้านเป็นพระจันทร์ ดุจเดียวกับในภาพจิตรกรรมฝาผนังที่มีพระอาทิตย์พระจันทร์ โคจรรอบเขาพระสุเมรุอยู่ชั่วกัปชั่วกัลป์


---------------------------------


Logged
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
*****
Offline Offline

Posts: 8,467


View Profile
« Reply #4 on: 18 February 2022, 17:17:38 »


https://www.sarakadee.com/2021/04/28/ช่อฟ้า-ฉ้อฟ้า/
Culture


ช่อฟ้า-ฉ้อฟ้า : สุเมรุจักรวาล ตอนที่ 89
28 เมษายน 2021 ศรัณย์ ทองปาน : เรื่อง




ตามนิยามศัพท์สถาปัตยกรรมไทย “ช่อฟ้า” หมายถึง

“…ชื่อขององค์ประกอบสถาปัตยกรรมส่วนที่เป็นเครื่องประดับปลายหลังคา นั่งอยู่บนอกไก่ตรงส่วนที่ไม้ตัวรวยหรือไม้นาคสำรวยมาบรรจบกัน ช่อฟ้านี้มีรูปลักษณะคล้ายหัวพญานาคปลายแหลม…” (จากหนังสือ “พจนานุกรมสถาปัตยกรรมและศิลปเกี่ยวเนื่อง” ของอาจารย์โชติ กัลยาณมิตร)

หากแต่เมื่อลองศึกษาสถาปัตยกรรมในประเทศเพื่อนบ้านดูบ้าง เรากลับพบว่าองค์ประกอบเดียวกับที่ช่างไทยเรียกกันว่า “ช่อฟ้า” ในศิลปะลาวหรือศิลปะล้านช้าง เขาเรียกว่า “โหง่” (บางท่านสะกดเป็นอักษรไทยว่า “โหง่ว” ก็มี)

แต่ยิ่งไปกว่านั้น ในศัพท์สถาปัตยกรรมลาวล้านช้างมีคำว่า “ช่อฟ้า” แต่กลับไปหมายถึงรูปปราสาท (อาคารหลังคาซ้อนชั้นยอดแหลม) ขนาดเล็ก ประดับบนกึ่งกลางสันหลังคาโบสถ์วิหาร และในกรณีที่มีจำนวนมากกว่าหนึ่ง (เช่น ๕ หรือ ๗) รูปปราสาทเหล่านี้ก็มักเรียงแถวลดหลั่นลำดับความสูงจากกึ่งกลางหลังคาลงไปทั้งทางด้านหน้าและหลัง

คติการประดับตกแต่งกึ่งกลางสันหลังคาอุโบสถด้วยรูปปราสาทจำลองแบบเดียวกันนี้ พบแพร่หลายทั้งในเขตภาคอีสานและล้านนาของไทย ลาว ขึ้นไปจนถึงในสิบสองปันนาทางภาคใต้ของจีน

ที่คนไทยเคยเห็นกันจนคุ้นตาก็ได้แก่ “ช่อฟ้า” บนสันหลังคา “สิม” (อุโบสถ) วัดเชียงทอง เมืองหลวงพระบาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

แน่นอนว่า รูปปราสาท “ช่อฟ้า” ย่อมมีความหมายเป็นสัญลักษณ์ของเขาพระสุเมรุที่เป็นแกนกลางจักรวาล และเขาสัตตบริภัณฑ์ซึ่งแวดล้อมอยู่

กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ รูป “ช่อฟ้า” แบบนี้ก็คือการถ่ายทอดภาพเขาพระสุเมรุและเขาสัตตบริภัณฑ์แบบ “ตัดขวาง” อย่างที่ทำในงานจิตรกรรม ให้กลายเป็นประติมากรรมประดับสันหลังคา

ทว่า สิ่งหนึ่งที่ดูเหมือนถูกมองข้ามไปก็คือ เหตุใดสิ่งนี้จึงเป็น “ช่อฟ้า” หรือเป็นช่อของฟ้าอย่างไร

ผู้เขียนขอเสนอว่า เป็นไปได้หรือไม่ ที่ในภาษาไทยภาคกลางปัจจุบันสะกดคำนี้ผิด ทำให้สืบกลับไปหาความหมายดั้งเดิมไม่พบ

เพราะแท้จริงแล้ว คำนี้ควรต้องสะกดว่า “ฉ้อฟ้า”

“ฉ้อ” ในที่นี้ มิได้มีความหมายว่าคดโกง หากแต่เป็นคำเดียวกับ ฉ ในภาษาบาลี ซึ่งแปลว่า หก (๖) อย่างในเทศน์มหาชาติเวสสันดรก็มีกัณฑ์ที่ ๑๒ คือ “ฉกษัตริย์” หมายวงศ์กษัตริย์ทั้งหกพระองค์ที่พลัดพรากจากกันไป คือพระเจ้ากรุงสญชัย พระนางผุสดี พระเวสสันดร พระนางมัทรี กัณหาและชาลี ได้กลับมาพร้อมหน้าพร้อมตากันอีกครั้ง

“ฉ้อฟ้า” จึงมีความหมายถึงสวรรค์ทั้งหกชั้น คือ “ฉกามาพจรเทวโลก” ไล่จากจาตุมหาราชิกา-ดาวดึงส์-ยามา-ดุสิต-นิมมานรดี ขึ้นไปจนถึงปรนิมมิตวสวัตดี

การใช้คำว่าช่อฟ้า/ฉ้อฟ้า ตามความหมายนี้ มีปรากฏมาแล้วในวัฒนธรรมล้านนาเมื่อ ๕-๖๐๐ ปีมาแล้ว เช่นใน “โคลงนิราศหริภุญชัย” ก็มีโคลงบทหนึ่งว่า “จากเจียรช่อฟ้าโลกย์ ลงดิน ดาฤๅ” เป็นการกล่าวสรรเสริญความงามของพระอาราม ว่าเหมือนกับชะลอจากสวรรค์ชั้นฟ้า (หกฟ้า หกชั้น) ลงมาไว้บนพื้นดิน ซึ่งเป็นขนบเดียวกับที่นายนรินทร์ธิเบศร์ ชมกรุงเทพฯ สมัยต้นรัตนโกสินทร์ ใน “นิราศนรินทร์” ว่า “อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤๅ” นั่นเอง

ดังนั้น “ช่อฟ้า” ในศิลปะลาวล้านช้างที่อยู่กึ่งกลางหลังคาอุโบสถ จึงน่าจะมีความหมายดั้งเดิมว่าเป็นสถานที่ตั้งของสวรรค์หกชั้น อันอยู่เหนือเขาพระสุเมรุขึ้นไป

แต่ “ช่อฟ้า” อย่างไทย จะไปเกี่ยวข้องกับ “ฉ้อฟ้า” ทางไหนนั้น ก็คงต้องปล่อยให้เป็นปริศนากันต่อไป เพราะหากค้นดูในเอกสารโบราณ ไทยกลางก็เคยสะกดคำ “ช่อฟ้า” ว่า “ฉ้อฟ้า” มาก่อนเหมือนกัน ดังที่ในหนังสือ “คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม เอกสารจากหอหลวง” ตอนหนึ่งเล่าเรื่องโรงช้างหลวงในกรุงศรีอยุธยาว่าเป็นอาคารก่ออิฐ หลังคามุงกระเบื้อง และ “มีฉ้อฟ้าหางหงษทาแดงทุกโรง ช้างพลายยืนในโรงฉ้อฟ้าโรงละตัว”

ยิ่งไปกว่านั้น “สมเด็จครู” สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ยังทรงเคยมีลายพระหัตถ์ถึงพระยาอนุมานราชธน อธิบดีกรมศิลปากร เมื่อปี ๒๔๘๔ (ต่อมาพิมพ์รวมอยู่ในหนังสือ “บันทึกเรื่องความรู้ต่างๆ เล่ม ๔”) ว่าทรงสงสัยเรื่อง “ช่อฟ้า” มาก เพราะ“ช่อฟ้าอย่างที่ฟันเปนทีหัวนาคชะโงกออกมานั้น เก่าขึ้นไปไม่พบเลย มีแต่ของใหม่…”

เรื่องราวในโลกนี้ยังมีอีกมากมายให้เราศึกษาค้นคว้ากันต่อไปได้ไม่มีที่สิ้นสุด


---------------------------------


https://www.sarakadee.com/2021/05/05/gunung/
Culture


ภูเขาศักดิ์สิทธิ์ – สุเมรุจักรวาล ตอนที่ 90
5 พฤษภาคม 2021 ศรัณย์ ทองปาน : เรื่อง


ดังได้เคยอธิบายมาแล้วว่า ภูมิศาสตร์ของ “สุเมรุจักรวาล” อันประกอบด้วยภูเขาสูงใหญ่เป็นศูนย์กลาง มีแผ่นดินที่อยู่อาศัยของมนุษย์เป็นทวีปอยู่ทางทิศใต้ ล้อมรอบด้วยมหาสมุทรนั้น เป็นตัวแบบที่จำลองภูมิศาสตร์อนุทวีปอินเดียมานั่นเอง แต่คติการนับถือภูเขาสูงว่าเป็นที่อยู่อาศัยของเทวดาที่สูงส่งเหนือมนุษย์ มิได้จำกัดวงอยู่เฉพาะแต่ในอินเดียแห่งเดียว ว่าที่จริง ดูจะเป็นความเชื่อที่พบได้ในสังคมมนุษย์มากมายทั่วโลก แม้แต่ในเทพปกรณัมกรีกโบราณ ซึ่งพรรณนาไว้ว่าบนเทือกเขาโอลิมปัสทางตะวันออกของแดนโยนก เป็นที่พำนักของเหล่าทวยเทพ



เกาะชวาอันเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐอินโดนีเซียปัจจุบัน เป็นดินแดนที่เต็มไปด้วยภูเขาไฟเงื้อมทะมึน มีทั้งที่ดับสนิทแล้ว และที่ยังคงปะทุอยู่เป็นระยะ ผู้คนย่อมต้องเคารพยำเกรงภูเขาสูงที่พ่นควันและไอร้อนอยู่เป็นนิจศีล รวมถึงพร้อมจะสำรอกเอาลาวาและเถ้าถ่านมาถล่มทลายบ้านเมืองให้ย่อยยับได้ตลอดเวลา

ดังนั้น คติการนับถือ “ภูเขาศักดิ์สิทธิ์” ในชวาจึงน่าจะมีมาตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์

จนเมื่อศาสนาพุทธและศาสนาฮินดูเผยแผ่เข้ามา คติแบบ “สุเมรุจักรวาล” อันมีภูเขาเป็นแกนกลางจักรวาลจึงสามารถผสมผสานกับความเชื่อพื้นเมืองดั้งเดิมได้อย่างสนิทสนมกลมกลืน จนกลายเป็นคติเรื่อง “กุนุง” (gunung) หรือภูเขาศักดิ์สิทธิ์

น่าสนใจว่าไทยเรายังรับเอาคำ“กุนุง” หรือ “กุหนุง” ที่แปลว่าภูเขา (และอีกหลายคำ) ผ่านวรรณคดีเรื่อง “อิเหนา” ซึ่งมีต้นกำเนิดมาจากชวา จนมาตกค้างอยู่ในวงศัพท์ของกวีไทยด้วย เช่นกลอนบทละคร “อิเหนา” ที่ว่า

“บัดนั้น ประสันตากุเรปันใจหาญ

เที่ยวไปในพงดงดาน ถึงสถานภูผาตะหลากัน

จึงคิดว่าบนกุหนุงนี้ เห็นจะมีดาบสเป็นแม่นมั่น

จะขึ้นไปเคารพอภิวันท์ ให้จับยามย่าหรันที่หายไป”

แม้ต่อมาภายหลัง ชวาจะกลายเป็นแว่นแคว้นที่ไปเข้ารับศาสนาอิสลามจนหมด แต่คติ “กุนุง” อันเป็นการผสมผสานคติเขาพระสุเมรุกับการนับถือภูเขาศักดิ์สิทธิ์ ยังทิ้งร่องรอยสำคัญไว้ตกค้างไว้ให้เห็น เช่นเมื่อก่อนจะเริ่มจับเล่น “วาหยัง” (ตัวหนังหุ่นเงาแบบหนังตะลุง) ของชวา นายหนังจะต้องเชิดรูปภูเขา“กุนุงงัน” (gunungan) ออกมาปักกลางจอเป็นประธาน เอาฤกษ์เอาชัย ทำนองเป็นศิริมงคลสำคัญเสียก่อน

รูปภูเขา “กุนุงงัน” มีโครงรอบนอกเป็นสามเหลี่ยมทรงสูง ภายในมักฉลุระบายสีเป็นภาพภูเขาซ้อนทับด้วยต้นไม้ใหญ่หรือประตู บางครั้งมีสัตว์ดุร้ายเช่นเสือกับวัวต่อสู้กันอยู่ที่เชิงเขา หรือไม่ก็มีเศียรมังกร/พญานาคโผล่ออกมาทั้งสองด้าน รวมถึงนิยมประดับรูป “หน้ากาล” ไว้ตรงกลางด้วย

ในโลกสมัยใหม่ “กุนุงงัน” ยังนับเนื่องเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ “ความเป็นชวา” ไปด้วย เช่นที่สนามบินอดิสุมารโน (Adisumarmo ขนานนามตามวีรบุรุษยุคสงครามเอกราช) ที่เมืองสุรกาตาร์ (หรือโซโล) บนเกาะชวาภาคกลาง ถึงแก่เลือกจัดผังบริเวณให้อยู่ในรูปทรงของกุนุงงัน

นอกจากนั้นแล้ว ในงานพิธีสำคัญของชวาจะมีประเพณีกินเลี้ยงที่เรียกว่า “ตุมเปิง” (tumpeng) ซึ่งจะตักข้าวสวย (หรือข้าวมันที่หุงกับกะทิ) มากองพูนเป็นทรงกรวยแหลมกลางถาดใบใหญ่ ล้อมด้วยกับข้าวนานาชนิดให้แขกเหรื่อผู้มีเกียรตินั่งล้อมวงเปิบกินร่วมกัน

มีผู้อธิบายกันว่าตุมเปิงนี้ ก็เป็นเช่นเดียวกับตัวหนังกุนุงงัน คือเป็นเรื่องของความเป็นศิริมงคล

อีกทางหนึ่งจึงชวนให้นึกถึง “บายศรีปากชาม” ตามคติไทยอยู่ไม่น้อยทีเดียว

บายศรีปากชามตามคติไทยถือเป็นเครื่องบวงสรวงสังเวยพื้นฐานของคนไทยภาคกลางแต่โบราณ ใช้ข้าวสวยบรรจุเต็มกรวยใบตอง ตั้งไว้ในชาม เปรียบประดุจรูปจำลองของเขาพระสุเมรุ ล้อมรอบด้วย “นมแมว” คือใบตองที่พับทบไปมาเป็นปลายแหลมเรียวอีกสามอัน ซึ่งว่ากันว่ามีความหมายถึงเขาสัตตบริภัณฑ์ หรือไม่ก็เป็นเขาตรีกูฏ ภูเขาสามเส้าที่รองรับแท่งเขาพระสุเมรุอยู่


----------------------------------



Logged
Pages: [1] Go Up Print 
« previous next »
 

SMF 2.0.4 | SMF © 2013, Simple Machines | Theme by nesianstyles | Buttons by Andrea
Page created in 0.082 seconds with 20 queries.