Smile Siam มาร่วมกันคืน "สยามเมืองยิ้ม" กลับสู่บ้านเรากันนะครับ ...
User Info
Welcome, Guest. Please login or register.
16 May 2024, 17:55:23

Login with username, password and session length
Search:     Advanced search
News
ท่านสมาชิกสามารถเปลี่ยนรูปแบบ (Theme) ได้อีกหลายแบบ
เชิญทดลองโดยคลิกที่ลิงค์ข้างล่าง ได้เลยครับ

http://www.smilesiam.net/index.php/topic,3170.msg4713.html
Forum Stats
25,684 Posts in 12,491 Topics by 70 Members
Latest Member: KAN
Home Help Search Calendar Login Register
Smile Siam มาร่วมกันคืน "สยามเมืองยิ้ม" กลับสู่บ้านเรากันนะครับ ...  |  เรื่องราวน่าอ่าน  |  หนังสือดี ที่น่าอ่านยิ่ง  |  สุเมรุจักรวาล โดย ศรัณย์ ทองปาน [21-30]
0 Members and 1 Guest are viewing this topic. « previous next »
Pages: [1] Go Down Print
Author Topic: สุเมรุจักรวาล โดย ศรัณย์ ทองปาน [21-30]  (Read 270 times)
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
*****
Offline Offline

Posts: 8,537


View Profile
« on: 17 February 2022, 09:46:33 »

สุเมรุจักรวาล  โดย ศรัณย์ ทองปาน [21-30]


https://www.sarakadee.com/2020/01/08/fourth-lady/
Culture


สุเมรุจักรวาล #๒๑ – เมียหมายเลข ๔ เทวีผู้สาบสูญ
8 มกราคม 2020 ศรัณย์ ทองปาน : เรื่อง




สมัยที่ยังเป็นมนุษย์ นายมฆะ หรือ “มฆะมานพ” แห่งหมู่บ้านอจลคาม คงมีฐานะดีพอควร เขาจึงมีภริยาถึงสี่คน ปรากฏชื่อคือนางสุธรรมา นางสุนันทา นางสุจิตรา และนางสุชาดา

นางสุธรรมา คือภริยาผู้ทำอุบายซ่อนช่อฟ้าไว้ เพื่อหวังเข้าไปมีส่วนร่วมในมหากุศลสร้างศาลาที่พักคนเดินทางของ “คณะสามสิบสาม” หรือ คสส. ซึ่งเคยเล่าไว้ก่อนหน้านี้แล้ว

จากวีรกรรมของนางสุธรรมา ทำให้ภริยาคนอื่นๆ ขวนขวายขอมีส่วนร่วมในการบุญนั้นด้วย เช่น นางสุนันทาคิดอ่านขุดสระปลูกบัว ให้ทานน้ำอาบน้ำกินแก่คนทั้งปวงที่ไปมาอาศัย ณ ศาลาแห่งนั้น ส่วนนางสุจิตราก็ทำสวนไม้ดอกไม้ผล ให้ทานดอกไม้และผลไม้กับคนทั้งหลายบ้าง

เว้นก็แต่นางสุชาดา

ด้วยเธอคิดว่าเธอเป็นญาติใกล้ชิด คือเป็น “ลูกพี่ลูกน้อง” กับมฆะมานพ เพราะบิดาของนางคือลุงแท้ๆ ของนายมฆะ และเธอคงเคร่งครัดเรื่องสินสมรส จึงถือว่ากุศลใดๆ ที่สามีกระทำ ก็ย่อมต้องนับว่าเธอผู้เป็นภริยาคนหนึ่งย่อมมีส่วนร่วมอยู่แล้วเป็นอัตโนมัติ จึงมิได้คิดจะทำอะไรให้เหนื่อยยากเหมือนกับภริยาคนอื่นๆ

วันๆ เลยเอาแต่งหน้าแต่งตัวสวยๆ หวังให้ผัวปลื้ม

เมื่อมฆะมานพตายไปขึ้นสวรรค์พร้อมกับพรรคพวกใน คสส. แล้วไปก่อรัฐประหารยึดยอดเขาพระสุเมรุ ตั้งตัวเป็นพระอินทร์ นายกรัฐมนตรีแห่งสวรรค์ พร้อมกับสถาปนารัฐ “ดาวดึงส์” จากนั้นภรรยาแต่ละคนที่ตายไป ด้วยอานุภาพแห่งผลบุญก็ได้ไปเกิดเป็นมเหสีของพระอินทร์กันตามลำดับ

ผลบุญที่นางสุธรรมาเคยให้ช่อฟ้าตั้งแต่ครั้งนั้น ทำให้มีหอประชุม “สุธรรมา” บนดาวดึงส์เป็นเครื่องประกาศบุญญาธิการ

ด้วยกุศลที่นางสุนันทาให้ขุดสระน้ำ จึงเกิดมี “นันทาโบกขรณี” เป็นสระน้ำกว้างใหญ่งดงาม

และจากอานิสงส์การทำสวน ปลูกต้นไม้ดอกไม้ให้เป็นทาน บนสวรรค์เหนือยอดเขาพระสุเมรุจึงบังเกิด “จิตรลดาวันอุทยาน” เป็นสวนสวยประดับบารมีแห่งนางสุจิตรา

แต่นางสุชาดานั้นกลับหายตัวไป ไม่ยักขึ้นมาอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ด้วยกัน

พระอินทร์ หรืออดีตนายมฆะ ร้อนใจที่เมียรักหายหน้าไปนางหนึ่ง จึงเสิร์ชดูด้วยทิพยเนตร พบว่านางสุชาดาตายแล้วดันไปเกิดเป็นนกกระยางตัวเมียอาศัยอยู่ที่ซอกเขา ท้าวเธอเกิดเวทนาจึงเสด็จลงมายกนางนกกระยางขึ้นสวรรค์ไปสู่ดาวดึงส์เทวโลกทั้งยังเป็นๆ

แต่ขึ้นไปแล้วจะเอาไปไว้ที่ไหนดี ?

สุดท้ายด้วยวิสัยของนกกินปลา พระอินทร์จึงปล่อยอดีตภริยาหมายเลข ๔ ไว้ข้างสระน้ำ “นันทาโบกขรณี” นั้นเอง

ฝ่ายภริยาอีกสามคนของนายมฆะ ที่บัดนี้กลายเป็นแก๊งมเหสีพระอินทร์ ทั้งนางสุธรรมา นางสุนันทา และนางสุจิตรา พอทราบข่าว จึงชวนกันมายืนมุงดูนางสุชาดา พร้อมกับเอ่ยวาจากระแนะกระแหนว่า นี่แหละหนา ดูเอาเถิด ไม่ทำบุญทำกุศล เอาแต่แต่งตัวสวยๆ ก็เป็นได้แค่นี้แหละ ฮ่า-ฮ่า-ฮ่า

เมื่อนางนกสุชาดาได้พบพระอินทร์อีกครั้งจึงเล่าเรื่องที่ถูกบรรดาเมียๆ เบอร์ ๑ ถึงเบอร์ ๓ รุมด่าว่าเย้ยหยัน พร้อมกับขอร้องให้พระอินทร์ช่วยพานางกลับไปปล่อยไว้ที่ซอกเขาตามประสาสัตว์ดังเดิมเถิด (เรื่องนี้ยังมีต่อ)


-----------------------------------


https://www.sarakadee.com/2020/01/21/fourth-wife/
Culture


สุเมรุจักรวาล #๒๒ – เมียหมายเลข ๔ อัครมเหสีคืนบัลลังก์
21 มกราคม 2020 ศรัณย์ ทองปาน : เรื่อง


เมื่อพระอินทร์พานางสุชาดา อดีตภริยาหมายเลข ๔ ผู้เป็นที่รักในรูปลักษณ์นางนกกระยางมาปล่อยไว้ที่ซอกเขาอีกครั้งหนึ่งแล้ว กลับมาคราวนี้นางจึงตั้งใจรักษาศีล ๕ อย่างเคร่งครัด เลือกกินเฉพาะปลาที่ตายแล้ว จึงหาอะไรกินไม่ได้มากนัก อยู่มาไม่นานเธอจึงอดตายไป แล้วไปเกิดใหม่เป็นธิดาช่างปั้นหม้อ ผู้รักษาศีล ๕ อย่างเคร่งครัดอีกชาติหนึ่ง ก่อนจะไปเกิดเป็นธิดาไพปจิตราสูร ผู้เป็นจอมอสูร อาศัยอยู่ในอสูรพิภพ ใต้เขาพระสุเมรุนั้นเอง

ด้วยกุศลที่เคยรักษาศีลมาก่อน ส่งผลให้นางสุชาดาในชาตินี้ “ประกอบด้วยรูปสิริอันงาม ไม่มีใครเหมือน ไม่มีใครเปรียบ ใครเทียม สีสัณฐ์พรรณนั้นรุ่งเรืองงามเปรียบประดุจสีทอง” เมื่อถึงวัยมีคู่ ไพปจิตราสูรจึงให้ธิดาเลือกหาสามีตามชอบใจ โดยจัดการเรียกประชุมอสูรทั้งหลายให้มาพร้อมเพรียงกัน พระอินทร์ทราบข่าวจึงแปลงตัวเป็นอสูรแก่ มาเข้าแถวอยู่ท้ายสุด

เมื่อนางสุชาดา “แลเห็นก็เกิดรักใคร่ เพราะเหตุพาสนาเคยเป็นสามีภรรยาแห่งกันมาแต่ก่อน ห้วงน้ำอันใหญ่คือความรักนั้นครอบงำดวงหทัย” เธอจึงโยนพวงมาลัยเลือกคู่ไปให้แก่อสูรแก่

พวกอสูรทั้งหลายเห็นดังนั้นจึงพากันส่ายหัวเยาะเย้ยว่า ดูเอาเถิด พระราชาของพวกเราหาสามีให้พระธิดาทั้งที กลับได้ผัวแก่กว่ารุ่นปู่เสียอีก ฮ่า-ฮ่า-ฮ่า แล้วก็ตั้งท่าจะแยกย้ายกลับบ้าน

อสูรแก่จึงฉวยมือนางสุชาดาธิดาอสูรแล้วคืนร่างเดิม พานางเหาะขึ้นกลางอากาศ ประกาศแก่ฝูงอสูรทั้งหลายว่า ตัวเราชื่อพระอินทร์ ไม่ใช่อสูร

มาตุลีเทพบุตรที่นัดกันไว้แล้วก็โฉบเวชยันต์ราชรถลงมารับพระอินทร์กับนางสุชาดาขึ้นรถทันที แล้วควบราชรถลอยฟ้าจากพิภพอสูรมุ่งหน้าสู่ดาวดึงส์บนยอดเขาพระสุเมรุ

ไพปจิตราสูรได้รู้ความจริงดังนั้นก็ยิ่งพิโรธ ร้องเรียกให้กองทัพอสูรไล่ตามติดพระอินทร์ขึ้นไปทันที หวังขยี้ให้แหลกราญสมกับความแค้นที่มีมาช้านาน



แท่งเขาพระสุเมรุนั้นแบ่งได้เป็นสองครึ่งเท่าๆ กันพอดี ครึ่งล่างจมอยู่ในมหาสมุทร และข้างใต้นั้นคือพิภพอสูร ส่วนครึ่งบนมียอดเขาสูงสุดเป็นที่ตั้งของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พอมาตุลีเทพบุตรผู้เป็นโชเฟอร์ประจำตัวและ ทส. ผู้ใกล้ชิดพระอินทร์ เร่งกระทืบเวชยันต์ราชรถหนีขึ้นไปเรื่อยๆ พอถึงครึ่งทาง ก็เข้าใกล้ป่าสิมพลีวัน หรือ “ฉิมพลี” คือป่าต้นงิ้วตรงเชิงเขาพระสุเมรุส่วนที่อยู่เหนือน้ำ

ป่านี้เป็นที่พำนักของเหล่านกใหญ่ที่เรียกกันว่าพวกครุฑ

เวชยันต์ราชรถที่กำลังห้อมาด้วยความเร็วสูงสุดส่งเสียงดังกึกก้องโครมครามจนทำให้พวกลูกครุฑในรังตกใจ ร้องเสียงเซ็งแซ่ลั่นป่า (ครุฑเป็นนกพวกหนึ่ง คงออกลูกเป็นไข่ จึงต้องทำรังเหมือนนกอื่นๆ)

พระอินทร์เห็นว่าถ้าเวชยันต์ราชรถยังคงตั้งเข็มมุ่งหน้าตามเส้นทางนี้ต่อไป คงต้องตะลุยเข้าไปในดงงิ้วแล้วชนรังครุฑกระจุยเป็นแน่ ด้วยความสงสารบรรดาเบบี๋ครุฑที่กำลังร้องไห้จ้า พระองค์จึงออกคำสั่งให้มาตุลีกลับลำทันที

จู่ๆ เวชยันต์ราชรถจึงดริฟต์กลับตัว ๑๘๐ องศา มุ่งตรงเข้าหากองทัพอสูรที่กำลังดาหน้ากันขึ้นมา

ไพปจิตราสูรสะดุ้งเฮือก ตกใจว่าชะรอยพระอินทร์จะมีกองหนุนเทวดามาเสริมทัพเป็นแน่ ถึงกล้าย้อนมาถล่มพวกเราแบบนี้ เมื่อคิดได้ดังนั้นแล้วราชาอสูรจึงรีบออกคำสั่ง

“ถอยยยยยยยยยทัพ!”

พอเห็นพวกอสูรแตกพ่าย พระอินทร์จึงให้มาตุลีขับเวชยันต์ราชรถย้อนกลับคืนสู่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์

จากนั้นจึงทรงมีเทวโองการ ประกาศสถาปนานางสุชาดาเป็นหนึ่งในพระอัครมเหสี มีบริวารเป็นนางฟ้าอีก ๒ โกฏิกับ ๕๐ แสน (คือ ๒๕ ล้านนาง!)

“ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา” ฉบับพระยาธรรมปรีชา (แก้ว) เล่าตอนท้ายเรื่องนี้อย่าง “แฮปปี้เอ็นดิ้ง” ว่า

“นางสุชาดาก็ขอพระพรในสำนักสมเด็จอมรินทราว่า ข้าพระบาทขึ้นมาอยู่ในเทพนครนี้ หามีวงศาคณาญาติผู้ใดผู้หนึ่งไม่ เห็นแต่พระองค์ แต่นี้ไป ถ้าพระองค์จะเสด็จในสถานที่ใด จงให้กระหม่อมฉันได้รับพระราชทานติดตามเสด็จไปในสถานที่นั้นด้วยเถิด พระพุทธิเจ้าข้า สมเด็จอมรินทราก็ให้ปฏิญาณว่า สาธุ ตามใจเถิด ไปไหนจะไปด้วยก็ตาม”


--------------------------------------------


Logged
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
*****
Offline Offline

Posts: 8,537


View Profile
« Reply #1 on: 17 February 2022, 09:48:25 »


https://www.sarakadee.com/2020/01/23/hanami/
Culture


สุเมรุจักรวาล #๒๓ ฮานามิ ณ ดาวดึงส์
23 มกราคม 2020




ต้นไม้ที่น่าจะมีความสำคัญที่สุดประจำสวรรค์ชั้นดาวดึงส์คือปาริกชาติ หรือปาริชาต (ท่านแปลว่าเป็นต้นทองหลาง) ดังเรื่องที่ว่า ทุกปี พวกเทวดาหน้าเดิมซึ่งถูกคณะสามสิบสาม (คสส.) ทำรัฐประหารจับโยนลงจากสวรรค์ไป จนต้องกลายสภาพเป็น “อสูร” อยู่ใต้เขาพระสุเมรุ พอถึงหน้าเมื่อดอกแคฝอยประจำพิภพอสูรบาน ก็จะหวนระลึกได้ว่า “อ้าว! ต้นนี้ไม่ใช่ปาริชาตเหรอ ถ้าอย่างนั้น ที่นี่ก็ไม่ใช่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์น่ะสิ!” ว่าแล้วก็เกิด “สำนึกทางประวัติศาสตร์” กันขึ้นมา ยกทัพไปรบกับเทวดา ก่อนจะแตกพ่ายซ้ำซากไปไม่รู้จักจบจักสิ้น

ดอกปาริชาตจึงน่าจะถือเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ที่แท้จริง

“ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา” เล่าว่าเหล่าเทวดาจะช่วยกันสังเกตต้นปาริชาต ว่าเมื่อใดใบเริ่มแก่แล้วเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ก็รู้ว่าจวนถึงเวลาแล้วที่ต้นปาริชาตจะผลัดใบและออกดอก “เทพยดาทั้งปวงก็ยินดีปรีดา…ว่าทีนี้เราจะได้เล่นดอกปาริชาตให้สนุกจงหนักหนา”

เมื่อถึงฤดูที่ดอกปาริชาตผลิบานก็เกิดรัศมีรุ่งเรืองแผ่ไปโดยรอบต้น และส่งกลิ่นหอมฟุ้งขจรตลบไกลถึง ๑๐๐ โยชน์ แล้วเหล่าเทวดาก็จะชักชวนกันมาเที่ยวเล่นชมดอกไม้ คงคล้ายๆ คนญี่ปุ่นมีเทศกาลฮานามิไว้นั่งชื่นชมดูดอกซากุระบาน

“ไตรภูมิพระร่วง” กล่าวว่าดอกปาริชาตนี้ ๑๐๐ ปีจึงจะบานครั้งหนึ่ง

เวลาบรรดาเทวดามาเที่ยวแล้วอยากได้ดอกปาริชาตไปถือดมเล่น หรือเอาผ้าห่อ หรือเก็บใส่ผอบ ก็ไม่ต้องโน้มกิ่งลงมา หรือปีนขึ้นไปเขย่าต้นให้ดอกไม้ร่วงหล่นแบบที่นักท่องเที่ยวไทยเคยประกอบวีรกรรมไว้ ณ เทศกาลซากุระบานในญี่ปุ่น เพราะคุณก็รู้ว่าที่นี่คือสวรรค์ ดังนั้นหากเทวดาต้องการดอกไม้สวรรค์ ก็จะมีลมพัดตัดขั้วดอกให้ขาดร่วงลงมา หรือถ้าเทวดารับพลาด ก็ยังมีกระแสลมอีกสายหนึ่งคอยพัดช้อนดอกปาริชาตไว้ให้ลอยเรี่ยๆ กลางอากาศแต่ไม่ตกถึงพื้น รอให้เทวดามาเก็บไปดอมดม

นอกจากนั้นแล้ว ใกล้ๆ กับต้นปาริชาตยังมีศาลาใหญ่หลังหนึ่ง ทำนองเป็นหอประชุมเทวดา ชื่อ “สุธรรมาเทพยสภาคยศาลา” ซึ่งบังเกิดขึ้นด้วยบุญกุศลของนางสุธรรมา ชายาองค์หนึ่งของพระอินทร์ ตลอดฤดูกาลชมดอกปาริชาตที่ยาวนานถึงสี่เดือนจะมีลมพัดให้ดอกปาริชาตขาดจากต้นแล้วปลิวไปโปรยปรายบนพื้นศาลา ลมอีกสายหนึ่งเที่ยวเอาดอกไม้ไปตั้งวางประดับไว้เหนือบัลลังก์ที่นั่งของพระอินทร์และเหล่าเทพยดา รวมถึงเมื่อใดที่ดอกไม้เหี่ยวเฉาลงก็จะมีลมอีกสายหนึ่งคอยพัดเอาออกไปทิ้ง เป็นอัตโนมัติอยู่ตลอดเวลา

มีความเชื่อหนึ่งว่า กลิ่นของดอกปาริชาตยังมีอานุภาพทำให้ระลึกย้อนกลับไปในอดีตชาติได้ด้วย ดังในเรื่อง “กามนิต” ที่ท่าน “เสฐียรโกเศศ” (พระยาอนุมานราชธน) และ “นาคะประทีบ” (พระสารประเสริฐ) ร่วมกันถอดความจากวรรณกรรมภาษาอังกฤษเรื่อง “Pilgrim Kamanita” ของนักเขียนรางวัลโนเบลชาวเดนมาร์ค แล้วรจนาเป็นภาษาไทยอันไพเราะลุ่มลึก ความนั้นยังส่งอิทธิพลมาให้แก่บทเพลงไทยสากลร่วมสมัย เช่นเพลง “ปาริชาต” ของคณะสุนทราภรณ์ด้วย

“กลิ่นล่องลมมา หอมปาริชาตสวรรค์ กลิ่นเจ้าเท่านั้น สัมพันธ์ชาติที่ผ่าน ดอกเจ้าก็งาม สมนามเขากล่าวขาน สีแดงงามตระการ พิศเพียงแก้วประพาฬ ดอกไม้วิมานสุขาวดี”

แต่ดูเหมือนในคัมภีร์โลกศาสตร์ฝ่ายไทยจะมิได้กล่าวถึงอานุภาพเช่นนี้ของดอกปาริชาตในอุทยานสวรรค์ ณ ดาวดึงส์พิภพไว้เลย ตรงกันข้าม เรื่องนี้กลับไปปรากฏในตำนานเทพฮินดูของทางฝ่ายอินเดียมากกว่า

มิหนำซ้ำตามที่รับรู้กันทั่วไปในอินเดียปัจจุบัน เช่นหากใครลอง “กูเกิล” ดูคำว่า parijata flower จะพบแต่รูปดอกไม้ที่คนไทยเราเรียกว่า “กรรณิการ์” ดอกหอม กลีบขาว โคนสีส้ม ไม่ยักใช่ดอกทองหลางสีแดงสด

เรื่องนี้จึงยังคงต้องค้นคว้ากันต่อไปว่าเป็นมาอย่างไร หรือความไปเลื่อนเปลี่ยนกันตรงไหนแน่


------------------------------------------


https://www.sarakadee.com/2020/02/04/tip-asana/
Culture


สุเมรุจักรวาล #๒๔ – ทิพอาสน์
4 กุมภาพันธ์ 2020




เรื่องต้นปาริชาตนั้น ว่าที่จริงเมื่อค้นๆ ไปแล้วก็ยังดู “งงๆ” อยู่ เพราะในคัมภีร์กล่าวว่าต้นไม้สวรรค์นี้เกิดขึ้นด้วยกุศลของพระอินทร์ ด้วยผลบุญตั้งแต่อดีตชาติเมื่อยังเป็นมฆะมาณพ อยู่ที่หมู่บ้านอจละคาม ได้เคยปลูกต้นทองหลางไว้ให้ผู้คนไปมาอาศัยร่มเงา แต่ถ้าเหล่าอดีตเทวดา หรือ “อสูร” คุ้นเคยกับดอกปาริชาตมาแล้วแต่เก่าก่อน ก็ต้องแปลว่า ต้นปาริชาตย่อมต้องมีในสวรรค์ดาวดึงส์มาก่อนหน้าการรัฐประหารของ คสส. เรื่องนี้จึงยังน่าสงสัย

ในคัมภีร์โลกศาสตร์เล่าด้วยว่า นอกจากนายมฆะจะให้ปลูกต้นทองหลางไว้แล้ว ยังตั้งแท่นหินไว้ใต้ต้นทองหลางให้คนได้นั่งพักผ่อนด้วย อานิสงส์นั้นทำให้บังเกิดมีแท่นของพระอินทร์ที่เรียกว่า “บัณฑุกัมพล” (อ่านว่า บัน-ดุ-กำ-พน) ตั้งอยู่ใต้ต้นปาริชาตบนสวรรค์ดาวดึงส์

“สมบัติอมรินทร์คำกลอน” ของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) พรรณนาไว้ว่า

 

“บัณฑุกัมพลอาสน์ศิลาทิพ           กำหนดสิบห้าโยชน์โดยหนา
กว้างสองหมื่นโยชน์เจษฎา       เป็นมหาบัลลังก์แก้วอำไพ
ยาวหกหมื่นโยชน์แดงก่ำ       ดังน้ำปัทมราชอันสุกใส
เจริญสวัสดิโสมนัสแก่หัสนัยน์       ชุ่มฤทัยไปด้วยรสสุมาลี ฯ”

 

ตรงนี้อ่านแล้วก็ไม่แน่ใจอีก ว่าเจ้าพระยาพระคลังท่าน “กลอนพาไป” หรือการคัดลอกต้นฉบับคลาดเคลื่อนอย่างไร เพราะถ้าแท่นบัณฑุกัมพลมีขนาดกว้าง ๒๐,๐๐๐ โยชน์ และยาวถึง ๖๐,๐๐๐ โยชน์ ก็จะใหญ่เกินพื้นที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ไปเสียด้วยซ้ำ

เมื่อลองค้นต่อดู พบว่าใน “ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา” ซึ่งแต่งขึ้นร่วมยุคกันในช่วงรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ กล่าวว่าแท่นบัณฑุกัมพลมีขนาด ๕๐x๖๐ โยชน์เท่านั้น สอดคล้องกับ “ไตรภูมิกถา” หรือไตรภูมิพระร่วง ที่กล่าวถึงขนาดของแท่นบัณฑุกัมพลว่ากว้าง ๔๐๐,๐๐๐ วา ยาว ๔๘๐,๐๐๐ วา

คำนวณจากที่ว่า ๒๐ ศอกเป็น ๑ เส้น และ ๔๐๐ เส้นเป็น ๑ โยชน์ ดังนั้น ๑ โยชน์จึงยาวเท่ากับ ๘,๐๐๐ วา

๔๐๐,๐๐๐ วา คำนวณกลับไปก็คือ ๕๐ โยชน์ และ ๔๘๐,๐๐๐ วาก็เท่ากับ ๖๐ โยชน์ -ตรงกันเป๊ะ!

ปริศนาอีกประการหนึ่งคือ ราชบัณฑิตยสถานท่านแปลคำ “บัณฑุกัมพล” ไว้ในพจนานุกรมว่า “ผ้าขนสัตว์สีเหลือง” แต่ทั้ง “สมบัติอมรินทร์คำกลอน” และคัมภีร์โลกศาสตร์ฉบับต่างๆ กล่าวตรงกันว่าแท่นบัณฑุกัมพลเป็นแผ่นหินสีแดงเข้ม

“ไตรภูมิพระร่วง” กล่าวว่าแดงฉาน “ดั่งดอกสะเอ้ง” (ซึ่งไม่รู้ว่าหมายถึงต้นอะไรแน่) ส่วน “ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา” เปรียบเทียบดีกรีความแดงไว้กับสีดอกชบาหรือดอกหงอนไก่

แท่นนี้พิเศษตรงความนุ่มนิ่มระดับที่ว่า “ผิเมื่อพระอินทร์นั่งเหนือแผ่นศิลานั้น อ่อนจุลงไปเพียงสะดือ ผิเมื่อพระอินทร์ ธ ลุกลงจากศิลาๆ นั้นเต็มขึ้นมาดั่งก่อน” ถอดความให้อ่านง่ายขึ้นได้ว่า เมื่อพระอินทร์ประทับนั่งจะจมลงไปครึ่งตัวถึงระดับสะดือ แต่ทันทีที่ลุกขึ้นมา (ถ้าเป็นคนอย่างเราๆ น่าจะลุกขึ้นได้ยากพิลึก) แท่นจะเด้งคืนตัวขึ้นมาเหมือนเดิมทันที

แท่นบัณฑุกัมพลนี้เองคงเป็นแท่นเดียวกับ “ทิพอาสน์” ในบทละครนอกเรื่อง “สังข์ทอง” ท่อนที่หลายคนท่องได้

“๏ มาจะกล่าวบทไป                   ถึงท้าวสหัสนัยน์ตรัยตรึงศา
ทิพอาสน์เคยอ่อนแต่ก่อนมา      กระด้างดังศิลาประหลาดใจ
จะมีเหตุมั่นแม่นในแดนดิน        อมรินทร์เร่งคิดสงสัย
จึงสอดส่องทิพเนตรดูเหตุภัย    ก็แจ้งใจในนางรจนา
แม้นมิไปช่วยจะม้วยมอด           ด้วยสังข์ทองไม่ถอดรูปเงาะป่า
จำจะยกพหลพลเทวา               ลงไปล้อมพาราสามนต์ไว้”


--------------------------------------------




« Last Edit: 17 February 2022, 11:10:48 by ppsan » Logged
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
*****
Offline Offline

Posts: 8,537


View Profile
« Reply #2 on: 17 February 2022, 09:48:36 »


https://www.sarakadee.com/2020/02/07/nantawan-garden/
Culture


สุเมรุจักรวาล #๒๕ ณ อุทยานสวรรค์-สวนนันทวัน
7 กุมภาพันธ์ 2020




“ไตรภูมิพระร่วง” บรรยายว่าบนสวรรค์ดาวดึงส์มีอุทยานทิพย์ที่งดงามร่มรื่นอยู่ในทิศทั้งสี่ ได้แก่

“นันทนวนุทยาน” หรือ สวนนันทวัน แปลว่า สวนอันเป็นที่ยินดีมีทั้งไม้ดอกไม้ผล ตั้งอยู่ทางบุรพทิศ (ตะวันออก)

“สวนขวัญนั้นสนุกนิพ้นประมาณ แลมีสมบัติแลสรรพต้นไม้สรรพลูกไม้สรรพดอกไม้อันประเสริฐแลอุดม”

ฝ่ายทักษิณ (ใต้) มี “ผารุสกวัน” หรือ ปารุสกวัน แปลว่า สวนมะปราง

“ไม้อันมีในสวนนั้นอ่อนน้อมค้อมงามนักหนาดังแสร้งดัดไว้”

ฝ่ายปัจฉิมทิศ (ตะวันตก) มี “จิตรลดาวัน” แปลว่า สวนที่มีไม้เถาสีต่าง ๆ

“ฝูงไม้แลฝูงเชือกเขาอันเป็นในสวนนั้นดูงามดังแสร้งประดับนิ”

ฝ่ายอุดรทิศ (เหนือ) มีสวนอุทยานใหญ่ชื่อ “มิสสกวัน” แปลว่า สวนผสม

“มีไม้แลเชือกเขาทั้งหลายงามดุจแสร้งแต่ง”

“ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา” พรรณนาในรายละเอียดลงไปอีกว่า สวนนันทนะวันอุทยาน หรือสวนนันทวัน “เป็นที่โลมจิตแห่งเทพนิกรเทเวศร์ ให้ระงับดับโศกแสนโศกาลัย” ถึงขนาดที่ว่าเมื่อเทวดาองค์ใด เริ่มเห็น “มรณะนิมิต” ว่าตนเองหมดบุญ ถึงกำหนดต้อง “จุติ” แล้ว (คำนี้ไม่ได้แปลว่า “เกิด” หากแต่แปลว่า “ตาย” ในความหมายว่าตายไปจากทิพยสภาวะ) เกิดตกใจ วิตกทุกข์ร้อน ร้องไห้ร้องห่ม พระอินทร์ก็จะมาปลอบโยน แล้วให้เทวดาองค์อื่นๆ จับแขน พาเดินไปเที่ยวสวนนันทวัน

“มาตรแม้ว่าความโศกครอบงำจิตสันดานเห็นปานฉะนี้ ครั้นเข้าไปในนันทนะวันอุทยาน ได้เห็นสมบัติมหัศจรรย์ก็ลืมโศกลืมตาย กลับมีความชื่นชมโสมนัส ปรีดาปราโมทย์ ก็เที่ยวเล่นโดยอันควรแก่อัชฌาสัย ครั้นจุติจิตบังเกิด ร่างกายแห่งเทวดานั้นก็อันตรธานหายไป เปรียบประดุจหยาดน้ำค้างอันต้องร้อนแลแห้งหายไปด้วยแสงพระสุริยะเทพบุตร มิฉะนั้น เปรียบเหมือนเปลวประทีปอันต้องลมพายุพัด แลดับสูญหายไปในขณะบัดเดี๋ยวใจนั้น”

ดูเป็นการลับลาง่ายๆ อย่างนั้นเองหนอ

อุทยานสวรรค์แต่ละแห่งล้วนมีสระน้ำใหญ่เป็นองค์ประกอบสำคัญ เช่นในสวนนันทวัน มีสระใหญ่คือนันทาโบกขรณี กับจุลนันทา ซึ่งตามท้องเรื่องก็อธิบายไว้ว่า “นันทาโบกขรณี” เกิดแต่ผลบุญกุศลที่นางสุนันทา หนึ่งในสี่ภริยาของมฆะมาณพ ให้ขุดสระน้ำเป็นสาธารณประโยชน์

สระนี้เองคือ “สถานที่เกิดเหตุ” เมื่อพระอินทร์ยกนางสุชาดาที่กลับชาติไปเกิดเป็นนางนกกระยางขึ้นสวรรค์ทั้งเป็นๆ มาปล่อยไว้ แล้วดันเจอะแก๊งเมียๆ อีกสามนางที่ได้เกิดใหม่เป็นนางเทพธิดาบนสวรรค์มารุมเย้ยหยัน

“สมบัติอมรินทร์คำกลอน” ของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) พรรณนาสระนันทาโบกขรณีไว้ว่าเป็นประดุจ “สวนน้ำ” ที่เที่ยวเล่นแสนสนุกของเหล่าเทวดา จะเล่นน้ำก็ได้ หรืออยากเล่นเรือก็มีเรือจอดเทียบไว้ให้

“แต่นามนันทวันโบกขรณี              เป็นพื้นที่สนานสนุกแห่งเทวัญ
ระเบียบสระทั้งสี่วารีทิพ                       เหมือนจะหยิบเสาวรสให้ทรงสรรค์
มีโกสุมปทุมซ้อนสลับกัน                     ทั้งชั้นสัตวาจงกลบาน
กว้างยาวร้อยโยชน์จตุรัส                      ให้โสมนัสในท่าสินธุสนาน
แม้นจิตถวิลว่าจะลงไปสรงธาร             ก็บันดาลพุ่งฟุ้งมายังองค์
มีขนานนาวาเป็นคู่คู่                             ลอยชูกิ่งแก้วอันระหง
พระที่นั่งบุษบกบัลลังก์ทรง                 อลงกตด้วยโฉมสุรางค์นาง”

ชื่อสวนสวรรค์บนดาวดึงส์เหล่านี้คงถือกันว่าเป็นประดุจสัญลักษณ์แห่งความรื่นรมย์ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวังขึ้นในสวนทางฝั่งธนบุรี พระราชทานนามว่า “วังนันทอุทยาน” ตามสวนนันทวัน วังนี้เคยเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ สมัยทรงพระเยาว์ก่อนเสด็จขึ้นครองราชย์ ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของกองบัญชาการกองทัพเรือ และฐานทัพเรือกรุงเทพฯ


----------------------------------------------------




« Last Edit: 17 February 2022, 11:12:39 by ppsan » Logged
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
*****
Offline Offline

Posts: 8,537


View Profile
« Reply #3 on: 17 February 2022, 09:48:55 »


https://www.sarakadee.com/2020/02/19/chula-mani/
Culture


สุเมรุจักรวาล #๒๗ พระเกศแก้วจุฬามณี (๑)
19 กุมภาพันธ์ 2020 ศรัณย์ ทองปาน : เรื่อง




นอกจากสถานที่บรมสุขแสนสนุกสนานนานาแล้ว บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ยังมี “ปูชนียสถาน” อีกแห่งหนึ่งอยู่นอกเมืองออกไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ คือ “พระจุฬามณีเจดีย์”

“ไตรภูมิพระร่วง” พรรณนาว่าพระจุฬามณีเจดีย์มีความสูงถึง ๘๐,๐๐๐ วา องค์เจดีย์เป็นแก้วอินทนิล ส่วนตั้งแต่กลางองค์เจดีย์ขึ้นไปถึงยอดเป็นทองคำประดับด้วยแก้วเจ็ดประการ พระเจดีย์ล้อมรอบด้วยกำแพงทอง ปักธงและฉัตรสีต่างๆ เป็นเงินเป็นทองก็มี หรือสีดำ แดง เหลือง ขาว เขียว ตามแต่สีของแก้วที่ผูกไว้ บรรดาเทวดาทั้งหลายจะนำเอาเครื่องดนตรีดีดสีตีเป่ามาบรรเลงบูชาถวายพระเจดีย์ไม่เว้นวัน รวมถึงพระอินทร์พร้อมด้วยเหล่าเทพยดานางฟ้าบริวาร ก็จะเสด็จไปนมัสการพระเจดีย์ทุกวัน และนำข้าวตอกดอกไม้ ธูปเทียน เครื่องหอม ประทีป ไปบูชา รวมถึงกระทำประทักษิณรอบพระเจดีย์เสมอ

ในจักรวาลของพุทธศาสนาเถรวาท พระจุฬามณีเจดีย์มีความสำคัญยิ่งเพราะเป็นที่ประดิษฐาน “พระธาตุ” อันแท้จริงถึงสองรายการ

คำรบหนึ่งคือเมื่อพระโพธิสัตว์เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกผนวช ทรงเห็นว่าพระเมาลี (มวยผมอันเป็นเอกสิทธิ์ของชนชั้นสูง) ไม่เหมาะควรแก่ความเป็นสมณะ จึงทรงใช้พระขรรค์ตัดเมาลีออกแล้วโยนขึ้นไป ประกาศเสี่ยงสัตย์อธิษฐานว่าแม้นหากพระองค์จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ขอให้มวยผมนี้ลอยค้างอยู่ในอากาศ แต่ถ้าจะมิได้เป็นดังประสงค์ ก็ขอให้ตกลงสู่พื้นดิน ปรากฏว่ามวยผมกำนั้นกระทำปาฏิหาริย์ ลอยไปได้ไกลราว ๑ โยชน์ แล้วประดิษฐานอยู่ ณ ที่นั้น

ครั้นแล้วพระอินทร์จึงเอาผอบแก้วมาอัญเชิญพระเมาลีกำนั้นไปสถาปนาเป็นพระจุฬามณีเจดีย์บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ด้วยเหตุนั้นคนไทยรุ่นเก่าๆ จึงเรียกอย่างเพราะพริ้งว่า “พระเกศแก้วจุฬามณี”

อีกคราวหนึ่งคือภายหลังจากพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว มีการถวายพระเพลิงพุทธสรีระตามแบบอย่างพระเจ้าจักรพรรดิ นำไปสู่การแย่งชิงพระบรมสารีริกธาตุ (เถ้าถ่านกระดูก) ระหว่างบ้านเมืองทั้งหลายที่ต่างก็เคารพสักการะพระพุทธองค์ ปรากฏว่าโทณะพราหมณ์ ซึ่งอาสามารับหน้าที่เป็นผู้จัดการตวงแบ่งพระธาตุให้แก่ราชาจากแคว้นต่างๆ อย่างยุติธรรม ลักลอบฉวยเอาพระเขี้ยวแก้วข้างขวา (ฟันเขี้ยวบนข้างขวา) เหน็บซ่อนไว้ในผ้าโพกศีรษะเพื่อหวังจะเอาไปบูชาเป็นส่วนตัว (ในภาพจิตรกรรมบางทีก็วาดเป็นพราหมณ์ ไว้ผมมวย แล้วเอาพระเขี้ยวแก้วซ่อนในมวยผม)

พระอินทร์เล็งเห็นว่าการกระทำของโทณะพราหมณ์นี้ไม่เหมาะควร เพราะพระเขี้ยวแก้วเป็นพระบรมสารีริกธาตุ ถือเป็นของสูงค่าอย่างหาที่สุดมิได้ ไม่สมควรจะตกเป็นของใครคนใดคนหนึ่ง จึงเหาะไปแอบ “ขมาย” (คำไทยสมัยเก่าหมายถึงการลักจากคนที่ไปขโมยเขามาอีกทอดหนึ่ง) แล้วอัญเชิญพระเขี้ยวแก้วใส่ผอบทองคำ นำไปประดิษฐานรวมไว้ในพระจุฬามณีเจดีย์

“สมบัติอมรินทร์คำกลอน” ของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) จึงพรรณนาไว้ว่า

         ๏ หนึ่งเจดีย์พระจุฬามณีสถิต       อันไพจิตรด้วยฤทธิ์สุเรนทร์ถวาย
สูงร้อยโยชน์โชติช่วงประกายพราย      ยิ่งแสงสายอสุนีในอัมพร
เชิญเขี้ยวขวาเบื้องบนพระทนต์ธาตุ      ทรงวิลาศไปด้วยสีประภัสสร
แทนสมเด็จพระสรรเพชญ์ชิเนนทร      สถาวรไว้ในห้องพระเจดีย์
ประดิษฐ์บนพระมหาจุฬารัตน์              เป็นที่แสนโสมนัสแห่งโกสีย์
กับสุราสุรเทพนารี                                ดั่งจะชี้ศิวโมกข์ให้เทวัญ”

คนไทยโบราณนับถือกันว่าพระจุฬามณีเป็นที่ประดิษฐานพระบรมธาตุอันแท้จริง จึงมีคติกันว่าให้คนเจ็บหนักใกล้ตาย ตลอดจนเมื่อแต่งตัวศพ ให้พนมมือถือกรวยดอกไม้ธูปเทียนติดตัวไว้ เพื่อจะได้ไปนมัสการพระจุฬามณีบนสวรรค์ดาวดึงส์ยามเมื่อล่วงลับ

ธรรมเนียมนี้ถือปฏิบัติกันทั้งในฝ่ายราชสำนัก อย่างที่เรียกว่าเป็นธรรมเนียมหลวง กับทั้งชาวบ้านชาวช่องที่เป็นราษฎรทั่วไป


----------------------------------------------


https://www.sarakadee.com/2020/02/27/lan-pra-maha-chulamanee/
Culture


สุเมรุจักรวาล #๒๘ ณ ลานพระมหาจุฬามณีเจดีย์ (๒)
27 กุมภาพันธ์ 2020 ศรัณย์ ทองปาน : เรื่อง




คนไทยโบราณนับถือกันว่าพระจุฬามณีเจดีย์คือเจดีย์ที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุอันแท้จริง จึงมีความใฝ่ฝันที่จะได้ไปสักการะสักครั้ง แม้จนเมื่อล่วงลับไปแล้ว ครอบครัวญาติมิตรที่จัดการศพจึงมักเอากระทงดอกไม้ใส่มือศพที่ถูกจับให้พนมมือ ไว้ไปไหว้พระจุฬามณีเจดีย์

เหตุสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้พุทธศาสนิกชนคนไทยรุ่นเก่ามุ่งมาดปรารถนาที่จะได้ไปสักการะพระจุฬามณียังอาจจะมาจากความเชื่อที่แพร่หลายกันว่าพระศรีอาริยเมตไตรย์ พระโพธิสัตว์ที่จะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าองค์ต่อไป ก็มักเสด็จมานมัสการพระจุฬามณีเช่นกัน ดังนั้นหากดวงวิญญาณของผู้วายชนม์ได้ไปที่นั่น นอกจากจะได้สักการะพระบรมสารีริกธาตุอันแท้จริงแล้ว ยังจะได้ “พบพระศรีอาริย์” พระอนาคตพุทธเจ้าในคราวเดียวกันอีกด้วย

ต้นทางของคติความเชื่อนี้คงมาจากหนังสือพระมาลัยหรือ “มาลัยสูตร” อันเป็นพระสูตรนอกพระไตรปิฎก เชื่อว่าเดิมแต่งขึ้นในพม่า

ตามเรื่องในคัมภีร์ พระมาลัยเป็นพระเถระในลังกาทวีปซึ่งบำเพ็ญธรรมจนบรรลุอรหันต์ ที่สำคัญคือท่านมีอิทธิฤทธิ์ สามารถเหาะข้ามภพภูมิไปนรกสวรรค์ได้ ครั้งหนึ่งพระมาลัยออกบิณฑบาต มีชายยาจกเข็ญใจเก็บดอกบัวแปดดอกจากบ่อน้ำมา เห็นพระมาลัยเข้าเกิดเลื่อมใสศรัทธาจึงถวายดอกบัวให้ พระมาลัยเกิดมีดำริจะนำดอกบัวไปบูชาพระจุฬามณีเจดีย์บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ จึงเข้าฌาณแล้วเหาะขึ้นไปยังลานพระเจดีย์ทันที หลังจากได้เดินประทักษิณและบูชาพระเจดีย์ในทิศทั้งแปดแล้ว บังเอิญได้พบพระอินทร์ที่มาสักการะ พระอินทร์แจ้งให้พระมาลัยทราบว่าองค์พระศรีอาริยเมตไตรย์โพธิสัตว์กำลังจะเสด็จมาบูชาพระจุฬามณีเจดีย์พอดี จึงคอยท่าอยู่

ระหว่างนั้น ทุกครั้งที่มีเทวดาหน้าใหม่พร้อมด้วยบริวารเสด็จเข้ามานมัสการพระบรมสารีริกธาตุ พระมาลัยก็จะคอยสอบถามพระอินทร์ว่า “ใช่ไหม ?” “องค์นี้ใช่พระศรีอาริย์ฯ หรือยัง ?” พระอินทร์ก็จะคอยตอบว่ายังไม่ใช่ พร้อมกับพรรณนาถึงกุศลกรรมที่ท่านผู้นั้นกระทำมาอันส่งผลให้ได้เสวยสุขเป็นเทวดาเช่นนี้ ไล่ไปตั้งแต่เทพบุตรผู้มีบริวาร ๑๐๐ บริวาร ๑,๐๐๐ บริวาร ๑ หมื่น ๒ หมื่น ไปจนถึง ๑ แสน ก็ยังไม่ใช่

สุดท้าย พระศรีอาริยเมตไตรย์ก็เสด็จเข้ามาถึงลานพระเจดีย์พร้อมบริวารมหาศาล ภายหลังจากมนัสการพระจุฬามณีเจดีย์แล้ว ก็ได้สนทนาธรรมกับพระมาลัยเถระ แล้วตรัสพยากรณ์ว่าหลังจากศาสนาของพระสมณโคดมพุทธเจ้าสิ้นสุดลงในปี ๕๐๐๐ จะเกิดกลียุคใหญ่ ผู้คนฆ่าฟันกันจนล้มตายลงหมดสิ้น เหลือแต่คนดีมีศีลมีธรรม จากนั้นจะถึงสมัยแห่งความสมบูรณ์พูนสุขในศาสนายุคพระศรีอาริยเมตไตรย์ ซึ่งหากผู้ใดประสงค์จะได้ไปเกิดในยุคนั้น ก็ให้หมั่นบำเพ็ญกุศล สดับเทศนามหาชาติเวสสันดรชาดก ฯลฯ

เมื่อพระมาลัยกลับมาสู่โลกมนุษย์แล้วจึงแจ้งข่าวนั้นแก่ญาติธรรมทั้งปวงให้เร่งทำบุญทำทาน จะได้ไปเกิดในเทวโลกกันทั่วหน้า

ในประเพณีชาวบ้านแต่เดิม ว่ากันว่านิยม “สวดมาลัย” หรือสวดพระมาลัยเพื่อความเป็นสิริมงคลในพิธีแต่งงาน ดังมีวรรณกรรมชื่อ “พระมาลัยกลอนสวด” แต่ต่อมาด้วยเหตุใดไม่แน่ชัดกลับเปลี่ยนไปเป็นใช้สวดในงานศพแทน อันอาจกลายเป็นต้นทางของคติที่ให้คนตายไปสักการะพระจุฬามณีเจดีย์ดังกล่าวแล้ว

ธรรมเนียมนี้ค่อยๆ เสื่อมสูญไปเมื่อราว ๑๐๐ ปีมานี้เอง หลังจากองค์กรสงฆ์ในรัฐสยามสมัยใหม่วินิจฉัยว่าการที่พระสงฆ์ไปสวดลำนำหรือร้องแหล่เป็นทำนอง ผิดพระวินัยและไม่สมควรแก่สมณสารูป เพราะเหมือนกับว่าพระไปร้องเพลง จึงสั่งห้ามขาด

ภาพจิตรกรรมฝาผนังหลายแห่ง โดยเฉพาะในยุคราวรัชกาลที่ ๔-๕ นิยมวาดฉากสุเมรุจักรวาลด้านผนังหลังพระพุทธรูปประธาน โดยขับเน้นให้ความสำคัญแก่พระจุฬามณีเจดีย์และพระมาลัยเป็นพิเศษ แสดงภาพสวรรค์ชั้นดาวดึงส์บนยอดเขาพระสุเมรุด้วยพระจุฬามณีเจดีย์ โดยมีฉากการสนทนาธรรมระหว่างพระมาลัยกับพระอินทร์ที่ลานพระเจดีย์ประกอบ ส่วนมากวาดเป็นรูปพระสงฆ์นั่งอยู่เบื้องหน้าพระอินทร์ พร้อมกับชี้มือไปทางด้านข้าง ตามเรื่องที่ว่าพระมาลัยเพียรสอบถามพระอินทร์ถึงพระศรีอาริยเมตไตรย์ ว่าเสด็จมาถึงพระจุฬามณีเจดีย์หรือยัง

นอกจากนั้นยังมีที่ทำเป็นประติมากรรมสำริดด้วย ซึ่งเดิมทีอาจเคยมีรูปพระอินทร์ รวมถึงรูปพระศรีอาริย์ฯ ครบชุด แต่มาบัดนี้เหลือเพียงพระมาลัยองค์เดียว


------------------------------------------


Logged
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
*****
Offline Offline

Posts: 8,537


View Profile
« Reply #4 on: 17 February 2022, 09:50:08 »


https://www.sarakadee.com/2020/03/04/แก้วฟ้าจุฬามณี-3/
Culture


แก้วฟ้าจุฬามณี (3) – สุเมรุจักรวาล ตอนที่ 29
4 มีนาคม 2020 ศรัณย์ ทองปาน : เรื่อง




พระจุฬามณีเจดีย์นั้นประดิษฐานอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ จึงไม่มีมนุษย์ที่มีชีวิตคนใด (ยกเว้นพระมาลัยในนิทาน) ที่เคยได้ไปสักการะ แต่ก็ใช่ว่าคนเราจะไม่สามารถมองเห็นพระจุฬามณีด้วยตาเปล่าได้

บนท้องฟ้ายามค่ำคืนปรากฏดาวดวงหนึ่งที่มีแสงสุกสว่างวาววาม ชื่อทางไทยเรียกกันว่า “ดาวยอดมหาจุฬามณี” ด้วยเชื่อกันว่าแสงที่เห็นมาจากยอดพระจุฬามณีเจดีย์บนสวรรค์ดาวดึงส์ ฝรั่งเรียกชื่อดาวดวงนี้ว่า “อาร์กทูรัส” (Arcturus) และอธิบายว่าวิธีหาดาวยอดมหาจุฬามณี ให้มองหาดาวจระเข้ (หรือกลุ่มดาวหมีใหญ่ของฝรั่ง) ก่อน จากนั้นให้ลากเส้นต่อตรงหางยาวไปเรื่อยๆ ก็จะพบ

ใน “พระอภัยมณี” สุนทรภู่จึงให้นางสุวรรณมาลีสอนสินสมุทและอรุณรัศมีดูดาวชุดนี้ต่อเนื่องกันไป

“นั่นแน่แม่ดูดาวจระเข้        ศีรษะเหหกหางขึ้นกลางหาว
ดาวนิดทิศพายัพดูวับวาว     เขาเรียกดาวยอดมหาจุฬามณี”

ตามธรรมเนียมในเมืองไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งนิยมการ “จำลอง” สิ่งศักดิ์สิทธิ์มาสร้างขึ้นใหม่ ทั้งพระพุทธรูปและปูชนียสถาน โดยเชื่อว่าถ้าทำอย่างถูกต้อง จะสามารถถ่ายทอดพลังความศักดิ์สิทธิ์นั้นจากต้นแบบมาได้ด้วย ดังนั้น พระจุฬามณีเจดีย์ก็ถูกจำลองมาไว้บนโลกมนุษย์ด้วยเช่นกัน

ตัวอย่างรุ่นเก่าของไทยคือพระปรางค์ที่วัดจุฬามณี เมืองพิษณุโลก ซึ่งมีประวัติว่าสร้างขึ้นตั้งแต่ในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแห่งกรุงศรีอยุธยา

รวมถึงวัดอีกหลายแห่งที่ใช้ชื่อทำนองนั้น อย่างวัดแก้วฟ้า วัดแก้วแจ่มฟ้า วัดแก้วฟ้าจุฬามณี ซึ่งมีอยู่ในหลายจังหวัด ก็คงหมายความถึงการจำลององค์พระจุฬามณีเจดีย์มาสร้างไว้ในมนุษยโลกนั่นเอง
บางแห่งก็สร้างเป็นปูชนียสถานขึ้นมาเลย เช่นที่วัดท่าพูด อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม

ส่วนการจำลองเฉพาะองค์พระจุฬามณีเจดีย์ก็มีหลายแห่ง เช่นที่ประดิษฐานในพระวิหาร วัดอรุณราชวราราม กรุงเทพฯ รวมถึงเคยเห็นตั้งไว้ในพระระเบียงที่วัดใหญ่สุวรรณาราม จังหวัดเพชรบุรี

หรือในเมืองพม่าก็มี เช่นเจดีย์ชินบูเมพยาที่เมืองสะกาย สร้างสมัยเมื่อ ๒๐๐ ปีก่อน สร้างเป็นรูปจำลองของ “สุเมรุจักรวาล” มีฐานกลมขนาดใหญ่ซ้อนกันเจ็ดชั้นอันมีความหมายถึงสัตตบริภัณฑ์ ภูเขาวงแหวนที่ล้อมรอบเขาพระสุเมรุ ตรงกลางตั้งเป็นแท่นฐานสูงขึ้นมา หมายเอาเป็นเขาพระสุเมรุ เหนือฐานนั้นขึ้นไปก็มีเจดีย์อย่างพม่าอีกองค์หนึ่ง ซึ่งก็ต้องตั้งใจให้เป็นรูปจำลองของพระจุฬามณีเจดีย์แน่นอน

น่าทึ่งว่าเมืองไทยเราเอง คตินี้ยังปรากฏให้เห็นในสถาปัตยกรรมร่วมสมัยด้วย อย่างเช่น “สัปปายะสภาสถาน” อาคารรัฐสภาแห่งใหม่ย่านเกียกกาย ที่มีแกนกลางเป็นประดุจเขาพระสุเมรุ ห้องประชุมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา เรียกว่าห้องสุริยันและห้องจันทรา แทนพระอาทิตย์พระจันทร์ที่โคจรรอบเขาพระสุเมรุ

โดยนัยนี้ ยอดเจดีย์ด้านบนสุดจึงไม่อาจตีความเป็นสิ่งอื่นใดได้ นอกจากพระจุฬามณีเจดีย์

ซึ่งว่าที่จริง ก็ดูเข้ากันดีกับวัดแก้วฟ้าจุฬามณี ปากคลองบางซื่อ ที่อยู่ติดๆ กัน

แต่รัฐสภาที่จำลองคติจักรวาลแบบพุทธศาสนาเถรวาทจะเข้ากันได้อย่างไรกับแนวคิดของระบอบประชาธิปไตยในโลกเสรีนิยมยุคคริสต์ศตวรรษที่ ๒๑ อาจไม่ใช่ประเด็นที่สถาปนิกผู้ออกแบบจะใยดี


--------------------------------------------


https://www.sarakadee.com/2020/03/11/catumaharajika/
Culture


สุเมรุจักรวาล # ๓๐ – สวรรค์ชั้นจตุมหาราชิกา
11 มีนาคม 2020 ศรัณย์ ทองปาน : เรื่อง




ณ แนวยอดเขายุคันธร เขาสัตตบริภัณฑ์วงในสุดซึ่งต่ำเตี้ยกี่งหนึ่งของยอดเขาพระสุเมรุ คือที่ตั้งของสวรรค์ชั้นล่างสุด ชื่อว่า “จตุมหาราชิกา”

จตุ แปลว่า สี่ (๔) ดังนั้นนามของสวรรค์ชั้นนี้จึงมีความหมายว่าเป็นที่สถิตของราชาผู้ยิ่งใหญ่ทั้งสี่

เทวราชาสี่องค์นี้มีฐานะเป็นเทพเจ้ารักษาทิศทั้งสี่ด้วยจึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า “จตุโลกบาล” หมายถึงผู้ปกป้องคุ้มครองโลกสี่องค์ ได้แก่

ท้าวธตรฐ (อ่านว่า ถะ-ตะ-รด) ประจำทิศตะวันออก
ท้าววิรุฬหก (ออกเสียงว่า วิ-รุน-หก) ประจำทิศใต้
ท้าววิรูปักษ์ ประจำทิศตะวันตก
ท้าวเวสสุวัณ หรือเวสสุวรรณ ประจำทิศเหนือ

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ เมื่อมีการสร้างพระราชวังขึ้นบนเขาสมน เมืองเพชรบุรี คือ “พระนครคีรี” หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า “เขาวัง” ป้อมปราการรอบพระนครคีรีทั้งสี่ทิศล้วนได้รับพระราชทานนามตามเทวดาจตุโลกบาลชุดนี้ ในความหมายว่าเป็นผู้ปกปักรักษาพระราชวังประจำทิศนั้นๆ ได้แก่ ป้อมธตรฐป้องปก (ทิศตะวันออก) ป้อมวิรุฬหกบริรักษ์ (ทิศใต้) ป้อมวิรูปักษ์ป้องกัน (ทิศตะวันตก) และป้อมเวสสุวรรณรักษา (ทิศเหนือ)

ในทางพุทธศาสนาถือกันว่าท้าวจตุโลกบาลเป็นเสมือนโยมอุปัฏฐากของพระพุทธองค์ จึงเคยมาปรากฏตัวในพุทธประวัติหลายตอน เช่นเมื่อพระโพธิสัตว์เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ คือออกผนวช ด้วยการทรงม้ากัณฐกะ (กัน-ถะ-กะ) ลอบหนีจากพระราชวังในเวลากลางคืน ตามพุทธประวัติก็กล่าวว่าท้าวจตุโลกบาลทั้งสี่ช่วยกันเอาหัตถ์มาช้อนรองรับกีบม้าไว้ มิให้กระทบพื้นดินเกิดเสียงอื้ออึง

จากนั้นเมื่อพระพุทธองค์ทรงตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณได้ ๗ สัปดาห์ คือ ๔๙ วัน มีพ่อค้าสองนาย (บางคัมภีร์ว่าเป็นเพื่อนกัน บ้างก็ว่าเป็นพี่น้อง) ชื่อตปุสสะและภัลลิกะ ผ่านมาพบเห็น รู้สึกเลื่อมใส จึงแบ่งเอาข้าวสัตตุก้อนและสัตตุผง (คงเป็นเสบียงกรังของพ่อค้าเร่) น้อมถวายแด่พระพุทธองค์ ขณะนั้นเองท้าวจตุโลกบาลทั้งสี่ได้เหาะนำเอาบาตรศิลามาถวายองค์ละใบ พระพุทธองค์ทรงบีบอัดประสานบาตรทั้งสี่ให้ควบรวมเป็นใบเดียว แล้วทรงใช้รับบิณฑบาตเป็นครั้งแรก เลยถือกันว่าตปุสสะและภัลลิกะเป็นปฐมอุบาสกคู่แรกที่ยอมรับนับถือ “รัตนะทั้งสอง” คือพระพุทธเจ้าและพระธรรม (ส่วนพระสงฆ์ในเวลานั้นยังไม่ถือกำเนิดขึ้น)

ถ้าอ่านดูในพวกคัมภีร์โลกศาสตร์ ดูเหมือนจตุโลกบาลท่านจะเป็นเทวดาในสายงานที่ต้องลงพื้นที่ หรือเป็นพวกชอบลุยในภาคสนามอยู่เสมอ อย่างที่มีหน้าที่อย่างหนึ่งคือต้องหมั่นคอยสอดส่องพฤติกรรมมนุษย์ในโลก

“ไตรภูมิกถา” หรือ “ไตรภูมิพระร่วง” เล่าไว้ว่า หากเป็นวันธรรมดาทั่วๆ ไป ท้าวจตุโลกบาลก็จะใช้ให้เทวดาองค์อื่นๆ ลงมาเป็นสายตรวจ แต่ถ้าเป็น “วันศีลน้อย” คือวันพระ ๘ ค่ำ ท่าน “ย่อมใช้ลูกมาต่างตัว” (คือให้ลูกๆ มาแทน) ยิ่งเมื่อถึง “วันศีลใหญ่” คือวันพระ ๑๕ ค่ำ “ท้าวจตุโลกบาลทั้ง ๔ ย่อมมาเองเดินดูเอง”

แต่ไม่ว่าจะเป็นองค์ไหนมา “เทียรย่อมถือแผ่นทองเนื้อสุก แลถือดินสอนั้นอันทำด้วยชาติหิงคุละนั้นมาด้วย แลเดินไปดูทุกแห่ง ทั่วถิ่นฐานบ้านเมืองใหญ่น้อยทั้งหลายในมนุษย์โลกนี้ทุกแห่งแล” คือทุกองค์จะมาพร้อมเครื่องมือบันทึกข้อมูล (คือถ้าเป็นสมัยนี้ เทวดาคงหนีบเอา เทพเล็ต tablet มาด้วย) แล้วเดินเข้าทุกบ้าน ถ้าพบเห็นใครทำกรรมดีก็จะรีบจดลงแผ่นทองไว้ว่า “ท่านผู้นี้ชื่อนี้อยู่บ้านนี้เรือนนี้ได้ทำบุญธรรมฉันนี้ๆ” เช่น ฟังเทศน์ฟังธรรม สวดมนต์ไหว้พระ เลี้ยงดูพ่อแม่ เคารพยำเกรงผู้ใหญ่ รักพี่รักน้อง ฯลฯ

จากนั้น จตุโลกบาลก็จะประมวลผลข้อมูล แล้วแทงหนังสือส่งต่อขึ้นไปตามลำดับชั้น ผ่านพระปัญจสิขร ไปวางที่โต๊ะของพระมาตุลี เพื่อนำเสนอพระอินทร์ ให้ท้าวเธออนุมัติ อ่านอนุโมทนาประกาศให้ได้ยินกันทั่วทั้งสวรรค์

“เมื่อว่าพระอินทร์ ธ ค่อยอ่านไส้ ได้ยินออกไปไกลได้ ๙๖,๐๐๐ วาแล ถ้าว่าพระอินทร์ ธ ร้องอ่านด้วยเสียงแข็งไส้ ได้ยินเสียงนั้นไส้เพราะเป็นกังวานทั่วทั้งเมืองไตรตรึงษ์อันกว้างโดยคณนาว่าไว้ได้ ๘๐,๐๐๐,๐๐๐ วานั้นทั่วทุกแห่งสิ้นแล”

คือถ้าพระอินทร์ค่อยๆ อ่านเบาๆ ก็จะได้ยินไปไกลถึง ๙.๖ หมื่นวา หรือ ๑๒ โยชน์ (๑ โยชน์ เท่ากับ ๘,๐๐๐ วา) แต่ถ้าเมื่อใดที่พระอินทร์อ่านออกเสียงดังๆ ก็เหมือนถ่ายทอดสดให้ได้ฟังกันทั่วทั้งดาวดึงส์ คือตลอดระยะกว้างยาวด้านละ ๑ หมื่นโยชน์ หรือ ๘๐ ล้านวา เทวดาทุกองค์คงได้ยินกันหมดเลยทีเดียว


-------------------------------------------------



« Last Edit: 17 February 2022, 11:14:57 by ppsan » Logged
Pages: [1] Go Up Print 
« previous next »
 

SMF 2.0.4 | SMF © 2013, Simple Machines | Theme by nesianstyles | Buttons by Andrea
Page created in 0.085 seconds with 19 queries.