Smile Siam มาร่วมกันคืน "สยามเมืองยิ้ม" กลับสู่บ้านเรากันนะครับ ...
User Info
Welcome, Guest. Please login or register.
17 May 2024, 05:51:45

Login with username, password and session length
Search:     Advanced search
News
ท่านสมาชิกสามารถเปลี่ยนรูปแบบ (Theme) ได้อีกหลายแบบ
เชิญทดลองโดยคลิกที่ลิงค์ข้างล่าง ได้เลยครับ

http://www.smilesiam.net/index.php/topic,3170.msg4713.html
Forum Stats
25,684 Posts in 12,491 Topics by 70 Members
Latest Member: KAN
Home Help Search Calendar Login Register
Smile Siam มาร่วมกันคืน "สยามเมืองยิ้ม" กลับสู่บ้านเรากันนะครับ ...  |  เรื่องราวน่าอ่าน  |  หนังสือดี ที่น่าอ่านยิ่ง  |  สุเมรุจักรวาล โดย ศรัณย์ ทองปาน [11-20]
0 Members and 1 Guest are viewing this topic. « previous next »
Pages: [1] Go Down Print
Author Topic: สุเมรุจักรวาล โดย ศรัณย์ ทองปาน [11-20]  (Read 259 times)
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
*****
Offline Offline

Posts: 8,537


View Profile
« on: 16 February 2022, 21:22:36 »

สุเมรุจักรวาล  โดย ศรัณย์ ทองปาน [11-20]


https://www.sarakadee.com/2019/10/30/daowadueng/
Culture


สุเมรุจักรวาล #๑๑ – ดาวดึงส์เทวโลกมโหฬาร
30 ตุลาคม 2019 ศรัณย์ ทองปาน : เรื่อง


บนยอดเขาพระสุเมรุอันเป็นหลักเป็นประธานแห่งจักรวาล คือที่ตั้งของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

ชื่อ “ดาวดึงส์” (tavatimsa) เป็นรูปคำภาษาบาลี ตรงกับภาษาสันสกฤตว่า “ไตรตรึงษ์” (Trayastrimsa)

สองชื่อนี้พบเห็นได้ทั่วไปในเมืองไทย เป็นชื่อบ้านนามเมืองก็มี เช่นเมืองโบราณไตรตรึงษ์ที่กำแพงเพชร แต่ที่พบมากคือนิยมนำไปตั้งเป็นชื่อวัด คือวัดดาวดึงษ์ ซึ่งมีในหลายจังหวัด ตั้งแต่สมุทรสงคราม อยุธยา ปทุมธานี สิงห์บุรี และเชียงใหม่ ส่วนในกรุงเทพฯ ทางฝั่งธนบุรีก็มี “วัดดาวดึงษาราม”

คำว่า “ดาวดึงส์” ตามรูปคำแปลว่า ๓๓ หมายถึงเทวดา ๓๓ องค์ ซึ่งแต่เมื่อครั้งยังเป็นมนุษย์ ได้รวมกันตั้งก๊วน (ประมาณว่า “คณะสามสิบสาม” หรือ คสส.) ประกอบคุณงามความดีนานาประการ เช่นหน้าหนาวช่วยกันก่อกองไฟให้คนผิง หน้าร้อนก็ตักน้ำมาไว้ให้คนได้อาศัยอาบกิน โดยเฉพาะ “บุญใหญ่” ที่ได้กระทำร่วมกันคือการสร้างศาลาที่พักคนเดินทางเพื่อสาธารณประโยชน์

เมื่อตายไปแล้ว สมาชิกทั้งหมดของ คสส. เลยได้ขึ้นสวรรค์กันหมด กลุ่ม คสส. นี้มี “มาฆะมาณพ” เป็นหัวหน้าทีม จึงกลายมาเป็น “พระอินทร์” ผู้ปกครองสวรรค์ชั้นนี้ในเวลาต่อมา

เมืองของพระอินทร์บนยอดเขาพระสุเมรุมีชื่อเฉพาะตัวด้วย เรียกว่า “สุทัศน์นคร” หรือ “สุทัสนะนคร” อันมีความหมายว่าเป็นเมืองอันงดงาม น่าดูน่าชม อย่างที่กล่าวไว้ใน “สมบัติอมรินทร์คำกลอน” บทประพันธ์ของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) กวียุครัตนโกสินทร์ตอนต้น ซึ่งเริ่มเรื่องว่า

๏ ปางองค์อัมเรศร์อดิศร

ผ่านสมบัติในสุทัสนนคร    สถาวรไปด้วยทิพศวรรยา

เอาสูงพื้นหมื่นแสนพระเมรุมาศ    เป็นอาสน์ทองรองดาวดึงสา

กว้างยาวหมื่นโยชน์คณนา    ประดับปราการแก้วแกมกัน

สี่ทิศมีมหาทวาเรศ   ระหว่างเขตหมื่นโยชน์ระยะคั่น

ประตูรายหมายยอดสำคัญพัน    มีสระสวนทุกหลั่นทวาไรฯ


ถอดความเป็นร้อยแก้วได้ว่า เมืองสุทัสนนครตั้งอยู่บนยอดเขาพระสุเมรุ กว้างยาวด้านละ ๑ หมื่นโยชน์ (๑๖,๐๐๐ กิโลเมตร) มีประตูใหญ่ประจำทิศทั้งสี่ กับมีประตูย่อมๆ อีก ๑,๐๐๐ ประตู ประดับประดาด้วยสวนสวรรค์และสระน้ำ

คัมภีร์ “ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา” ของพระยาธรรมปรีชา (แก้ว) กล่าวต่างไปนิดหนึ่งว่าเมืองสุทัสนนครนั้น มีขนาดกว้างยาว ๑ หมื่นโยชน์ โดย “กำหนดระยะห่างได้ ๔๐ โยชน์ มีซุ้มทวารอันหนึ่ง ไปอีก ๔๐ โยชน์ มีซุ้มทวารอีกอันหนึ่ง” ดังนั้น เมื่อมีประตูทุกระยะ ๔๐ โยชน์ กำแพงแต่ละด้านจึงมี ๒๕๐ ประตู รวมสี่ด้านก็คือ ๑,๐๐๐ ประตูนั่นเอง ขณะที่ “สมบัติอมรินทร์คำกลอน” เหมือนจะบอกว่ามี ๑,๐๐๐ + ๔ ประตูใหญ่ประจำทิศ เป็น ๑,๐๐๔

เมื่อสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ (และสุทัสนนคร) ตั้งอยู่บนยอดเขาพระสุเมรุ จึงถือได้ว่ายัง “ยึดโยง” กับภูมิศาสตร์กายภาพของจักรวาลแบบเขาพระสุเมรุอยู่ ขณะที่สวรรค์ชั้นบนๆ ขึ้นไปนั้น เข้าใจว่าคงลอยอยู่ในอากาศ หรือไม่ก็อยู่มิติอื่นๆ ไปเสียแล้ว



ชื่อวัดสุทัศนเทพวราราม หรือที่มักเรียกย่อๆ ว่า “วัดสุทัศน์ฯ” ข้างเสาชิงช้าในกรุงเทพฯ จึงมีความหมายเป็นสัญลักษณ์ว่าเปรียบประดุจสุทัสนนครบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ จึงมีภาพสลักรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณบนหน้าบันพระวิหารหลวง ในความหมายว่าพระวิหารหลวงนั้นคือรูปจำลองของเขาพระสุเมรุนั่นเอง


--------------------------------------------------------------


https://www.sarakadee.com/2019/11/06/33-group/
Culture


สุเมรุจักรวาล #๑๒ กำเนิดคณะสามสิบสาม
6 พฤศจิกายน 2019 ศรัณย์ ทองปาน : เรื่อง




ประวัติของมฆะมาณพ หรือ “นายมฆะ” แต่เมื่อยังเป็นมนุษย์นั้น อาศัยอยู่ที่หมู่บ้านอจลคาม (อะ-จะ-ละ-คาม) เขาเป็นคนดี ชอบทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่น คอยเอาจอบไปถากพื้นที่ให้ราบเรียบให้เพื่อนบ้านอาศัยทำงานต่างๆ พอถึงหน้าหนาวก็ก่อกองไฟให้คนทั่วไปได้อาศัยผิงไฟ ถึงหน้าร้อนก็หาน้ำหาท่ามาตั้งไว้ ให้คนที่ผ่านทางได้อาบกิน

ต่อมาเมื่อมฆะมาณพทำโครงการปรับปรุงถนนในหมู่บ้านไว้ให้คนสัญจรไปมาสะดวก ก็เลยได้พรรคพวกเพื่อนฝูงผู้ชายในหมู่บ้านนั้นมาร่วมแรงอีก ๓๒ คน นับรวมตัวเขาเองเป็น ๓๓ อันเป็นสมาชิกก่อตั้งของ “คณะสามสิบสาม” หรือที่ต่อไปจะเรียกว่า คสส.

เมื่อผู้ใหญ่บ้านเห็นคนกลุ่มนี้มีกำลังแรงงานชายฉกรรจ์ในมือ จึง “ขอแรง” ให้ไปออกล่าสัตว์จับปลาเอามาให้ตนกินบ้าง แต่แก๊งของมฆะมาณพปฏิเสธ ผู้ใหญ่บ้านจึงกลั่นแกล้งไปกราบทูลพระเจ้าแผ่นดิน ว่าคนเหล่านี้ซ่องสุมกำลังเป็นโจรผู้ร้าย เป็นเสี้ยนหนามแก่แผ่นดิน กษัตริย์จึงให้ทหารหลวงมาจับตัวเอาไปประหารด้วยการให้ช้างเหยียบ

ด้วยอำนาจแห่งเมตตาบารมี ไม่ว่าจะทำอย่างไร ช้างเพชรฆาตก็ไม่กล้าเดินเข้าใกล้ สุดท้ายพระเจ้าแผ่นดินเกิดอัศจรรย์พระทัย จึงให้เรียกทั้ง ๓๓ คนไปสอบถาม เมื่อได้ความจริงจึงให้ คสส. ร่วมกันปกครองหมู่บ้านนั้นแทน พร้อมกับยกช้างเชือกนั้นแถมให้ด้วย

คสส. จึงคิดอ่าน “บุญใหญ่” ยิ่งขึ้นไปอีก ด้วยการสร้างศาลาขึ้นที่สี่แยกกลางหมู่บ้านให้เป็นที่พักแก่คนเดินทางและคนไร้ที่พึ่ง โดยแบ่งพื้นที่เป็นสามโซน มีทั้งสำหรับคนทั่วไป คนยากไร้เข็ญใจ กับผู้เจ็บป่วย โดยพื้นศาลานั้นมีไม้กระดานเรียบ ๓๓ แผ่น ครบตามจำนวนคนของ คสส. ช้างแสนรู้ที่ได้รับพระราชทานจะคอยเฝ้าดูไว้ หากมีใครมาลงนั่งที่พื้นกระดานของผู้ใด ก็จะเป็นธุระนำพาคนผู้นั้นไปยังบ้านของผู้รับผิดชอบกระดานแผ่นนั้น ให้จัดหาข้าวปลาอาหารมาเลี้ยงดู

มฆะมาณพยังปลูกต้นทองหลางไว้ใกล้ศาลาอีกต้นหนึ่ง พร้อมตั้งแผ่นหินเป็นแท่นที่นั่งไว้ใต้ต้นทองหลาง ให้คนที่ผ่านทางได้อาศัยร่มไม้พักผ่อนหย่อนใจ

ด้วยกุศลกรรมที่ได้กระทำมาทั้งหมดนี้ เมื่อล่วงลับไปแล้ว ทั้งมฆะมาณพกับผองเพื่อนทุกคนใน คสส. จึงได้ไปเกิด ณ สวรรค์บนยอดเขาพระสุเมรุ

เพื่อนที่เป็นนายช่างสร้างศาลาก็ไปเกิดเป็นพระวิสสุกรรม หรือพระวิษณุกรรม เทพเจ้าแห่งการช่าง

แม้แต่ช้างพระราชทานที่ได้ร่วมในกิจกุศลก็ขึ้นสวรรค์ไปเกิดเป็นเอราวัณเทพบุตร

ที่วัดระฆังโฆษิตาราม ฝั่งธนบุรี ตรงข้ามกับพระบรมมหาราชวังของกรุงเทพฯ ข้างๆ พระอุโบสถ มีหอพระไตรปิฎกของเก่า เป็นเรือนไม้ฝากระดานสองหลังแฝด มีชานแล่นกลาง เชื่อว่าเป็นพระนิเวศเดิม คือบ้านเดิมของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ แต่เมื่อครั้งยังเป็นขุนนางในแผ่นดินพระเจ้ากรุงธนบุรี เมื่อได้ขึ้นครองราชย์แล้วจึงทรงให้รื้อมาปลูกสร้างถวายเป็นหอพระไตรปิฎกของวัดระฆังฯ

บนฝาผนังด้านในมีภาพจิตรกรรมเขียนไว้ ซึ่งย่อมมาเขียนเอาเมื่อรื้อมาสร้างเป็นหอไตรฯ แล้ว เขียนเรื่องมฆะมาณพไว้ด้วย ยังมีภาพเล่าเรื่องตอนมฆะมาณพสร้างศาลาอย่างที่เล่ามานี้ให้เห็นชัดเจน ว่ากันว่าเป็นฝีมือ “พระอาจารย์นาค” พระภิกษุช่างเขียนผู้มีชื่อเสียงยุคต้นกรุงเทพฯ

นักวิชาการสันนิษฐานว่า ภาพเรื่องนี้ที่นี่จึงเป็นเหมือนอุปมาถึงกุศลกรรมที่รัชกาลที่ ๑ ทรงบำเพ็ญมาแต่เดิม อันส่งผลให้ได้ปราบดาภิเษกเป็นพระเจ้าแผ่นดินในเวลาต่อมา


--------------------------------------------------------------------


Logged
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
*****
Offline Offline

Posts: 8,537


View Profile
« Reply #1 on: 16 February 2022, 21:24:40 »


https://www.sarakadee.com/2019/11/13/kondee/
Culture


สุเมรุจักรวาล #๑๓ รัฐประหารโดย “คนดี”
13 พฤศจิกายน 2019 ศรัณย์ ทองปาน : เรื่อง




เมื่อบรรดาวงศ์เทวัญของ “คณะสามสิบสาม” หรือ คสส. ขึ้นสวรรค์มาใหม่ๆ พวกเทวดารุ่นพี่ที่อยู่มาก่อนก็ดีอกดีใจ จัดปาร์ตี้รับน้อง เอา “คันธบาน” เหล้าหอมทิพย์อย่างดีออกมากินเลี้ยงกัน แต่เทวดา “มาฆมานพ” หัวหน้ากลุ่ม คสส. ซึ่งไม่ต้องการแบ่งผลประโยชน์ในสวรรค์ให้แก่เทวดาหน้าเดิมอีกต่อไป แอบสั่งห้ามเพื่อนเทพในแก๊งกินเหล้าที่ยกมาเลี้ยง แต่ให้แกล้งทำท่า “เมาดิบ” ไปพลางๆ

เมื่อเห็นพวกเทวดาหน้าเก่าเมาปลิ้นหลับเละเทะแล้ว “มาฆมานพ” จึงส่งสัญญาณให้แกนนำ คสส. ช่วยกันจับเทวดาที่สลบไสลไม่ได้สติทั้งหมดเหวี่ยงจากสวรรค์บนยอดเขาลงไปที่ตีนเขาพระสุเมรุเบื้องล่าง ซึ่งอยู่ลึกลงไปถึง ๘๔,๐๐๐ โยชน์ !

คัมภีร์ “ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา” เล่าว่า พวกเทวดาเหล่านั้น พอถูกจับโยนตกลงมาข้างล่างก็ไม่ตายเพราะเป็นเทวดา แต่เลยสร่างเมา พากันเสียอกเสียใจ พูดกันเองว่า “ทีนี้เราไม่กินเหล้าแล้ว ทีนี้เราไม่กินเหล้าเลยเป็นอันขาด” ดังนั้น “ตกว่าแต่เดิมนั้น ยังหาได้นามชื่อว่าอสูรไม่ อาศัยเหตุที่จำนรรจากันดังนี้ จึงมีนามชื่อว่าอสูร จับเดิมแต่นั้นมา” คือเดิมพวกนี้ไม่มีชื่อเรียก แต่เมื่อต้องกลายมาเป็น “เทวดาตกสวรรค์” แล้วจึงชวนกันตั้งสัตยาธิษฐานว่านับแต่บัดนี้ พวกเราจะงดเว้น “สุรา” จึงกลายเป็นพวก “ไม่กินเหล้า” คือเติม อ (อะ) ที่แปลว่าไม่ เข้าไปหน้า สุรา เกิดเป็น “อสุรา” หรือ “อสูร” นับแต่นั้นมา

จากนั้นเหล่าอสูรจึงชวนกันเข้าไปข้างใต้เขาพระสุเมรุ ที่ตรงนั้นเป็นเวิ้งว่างเปล่า เพราะเขาพระสุเมรุรองรับอยู่ด้วยภูเขาตรีกูฏ ซึ่งเป็นเขาสามลูกเหมือนก้อนเส้าเตาไฟรองก้นหม้ออยู่ “สมุดภาพไตรภูมิกรุงธนบุรี” อธิบายว่า เขาตรีกูฏนี้หนีบ “คาบพระเมรุอยู่ดังแหนบ”

ด้วยอำนาจแห่งกุศล (อย่าลืมว่าแต่เดิม นี่คือกลุ่มเทวดาบนยอดเขาพระสุเมรุมาก่อน) จึงเกิดอสูรพิภพขึ้นใต้เขาพระสุเมรุ มีลักษณะเหมือนสวรรค์ที่พลัดพรากจากมาทุกสิ่งอัน กว้างยาวด้านละหมื่นโยชน์เหมือนเดิม แม้แต่น้ำในสีทันดรสมุทรที่อยู่รอบเขาพระสุเมรุก็ไม่ท่วมทะลักเข้ามาด้วยอานุภาพของเหล่าอสูร

ส่วน คสส. ที่ก่อรัฐประหาร ยึดอำนาจในสุทัสนนครได้สำเร็จ จึงเฉลิมฉลองชัยชนะด้วยการขนานนามสวรรค์บนยอดเขาพระสุเมรุเสียใหม่ (ก่อนหน้านี้ไม่แน่ใจว่าเคยมีชื่อเรียกหรือเปล่า หรือชื่ออะไร) เป็น “ดาวดึงส์” อันแปลว่า ๓๓ ตามจำนวนสมาชิก คสส. พร้อมกับที่หัวหน้า คสส. ก็สถาปนาตัวเป็นองค์สวรรยาธิปัตย์ในนาม “พระอินทร์” หรือนายกรัฐมนตรีแห่งดาวดึงส์ ไปเรียบร้อย

แต่อย่างเดียวที่ทำให้อสูรพิภพต่างไปจากดาวดึงส์คือต้นไม้สำคัญ

บนดาวดึงส์มีต้นปาริชาต หรือทองหลาง เป็นต้นไม้ประจำพิภพ ส่วนพิภพอสูรมีแต่ต้นแคฝอย (บางคนว่าเป็นญาติๆ ของต้นแคนาที่นิยมไปล้อมมาปลูกกันเดี๋ยวนี้ บางคนว่าคือต้นศรีตรัง)

ในเวลาปกติ พวกอสูรก็งงๆ หลงๆ เพ้อๆ ไปว่าพวกเรายังอยู่บนสวรรค์เหมือนเดิม ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง แต่ครั้นพอถึงฤดูแคฝอยออกดอก จึงเกิดหวนระลึกถึงรูปร่างหน้าตาและกลิ่นหอมพิเศษของดอกปาริชาตได้ เหล่าอสูรจึง “ตระหนัก” แล้ว “ตระหนก” ว่าตัวเองถูกหลอก นี่มันไม่ใช่สวรรค์ สวรรค์ต้องมีต้นปาริชาตสิ!

ด้วยความแค้นใจ อสูรจึงจัดกองทัพทำสงครามเต็มรูปแบบ ยกขึ้นไปตีสุทัสนนครของ คสส. ผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะเรื่อยมา แต่ต่างฝ่ายก็ไม่อาจหักเข้าในนครหลวงของฝ่ายตรงข้ามได้เลยแม้สักครั้ง


--------------------------------------------------------------


https://www.sarakadee.com/2019/11/20/pra-indra/
Culture


สุเมรุจักรวาล #๑๔ ต่อให้พระอินทร์ลงมาเขียวๆ
20 พฤศจิกายน 2019 ศรัณย์ ทองปาน : เรื่อง


ดังนั้น “พระอินทร์” จึงเป็นชื่อตำแหน่ง ไม่ใช่ชื่อเฉพาะตัว อย่างพระอินทร์องค์ปัจจุบันที่กล่าวถึงในคัมภีร์โลกศาสตร์ฉบับต่างๆ ก็คือ “มาฆะมาณพ” ผู้เพิ่งขึ้นสวรรค์มา แล้วตั้งตัวเป็นแกนนำ คสส. ก่อรัฐประหารยึดอำนาจ กวาดล้างรัฐบาลเก่าผู้ปกครอง “สุทัสนนคร” บนยอดเขาพระสุเมรุเดิม ให้ “ตกสวรรค์” ไปจนต้องกลายเป็นอสูร ลี้ภัยไปอยู่ใต้เขาพระสุเมรุ

ในคัมภีร์ต่างๆ ของทางฝ่ายไทย ดูเหมือนจะไม่ได้ระบุไว้ตรงไหนว่าพระอินทร์มีผิวกายสีอะไร แต่ในงานช่างของไทยนิยมแสดงรูปพระอินทร์ด้วยเทวดาที่มีผิวกายสีเขียว อย่างที่เคยมีสำนวนไทยสมัยเก่าพูดถึงเรื่องที่ไม่น่าเชื่อว่า “ต่อให้พระอินทร์ลงมาเขียวๆ (ก็ไม่เชื่อ)”

แม้จะยังไม่พบข้อมูลหรือหลักฐานชัดเจนว่า ทำไมพระอินทร์ตามขนบของภาคกลางต้อง “ตัวเขียว” แต่ในเชิงช่าง การที่กำหนดให้พระอินทร์มีผิวกายสีพิเศษ ย่อมเป็นประโยชน์ในการช่วยชี้แนะให้ผู้ชมทราบว่า รูปเทวดาที่เห็นนั้นคือ “พระอินทร์” เหมือนกันกับกายสีต่างๆ ของตัวละครในการแสดงโขน ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับผู้ชม ในอันที่จะช่วยให้รู้ว่า “ใครเป็นใคร” ไม่อย่างนั้นดูไม่รู้เรื่อง

พระรามจึงรัดเครื่อง (สวมชุด) และสวมศีรษะสีเขียว ขณะที่ของพระลักษมณ์เป็นสีเหลือง เป็นต้น

กายสีเขียวของพระอินทร์ยังตกทอดไปถึงโอรส คือพญาพาลี เจ้าเมืองขีดขิน ซึ่งเป็นลูกของนางกาลอัจนาที่เกิดจากพระอินทร์ ในโขนไทยก็มีสีกายเป็นสีเขียวเช่นกัน

แม้แต่เมื่อพระอินทร์ “ปลอมตัว” ไป เช่นในเรื่อง “มหาเวสสันดรชาดก” หลังจากชูชกมาขอกัณหา-ชาลีไปแล้ว พระอินทร์จึงแปลงเป็นพราหมณ์เฒ่าลงมาทูลขอประทานพระนางมัทรีจากพระเวสสันดร เพราะเกรงว่าถ้าไม่ตัดหน้ามาก่อน เดี๋ยวอาจมีใครมาขอพระนางไปอีก พระเวสสันดรจะไม่มีใครปรนนิบัติดูแล แล้วเมื่อได้รับมอบแล้ว พราหมณ์ชราจึงถวายคืนไว้แก่พระเวสสันดร โดยระบุด้วยว่า ห้ามเอาพระนางไปยกให้แก่ผู้ใดอีก

รูปพราหมณ์เฒ่าในจิตรกรรมฝาผนังของภาคกลางบางแห่งก็วาดให้เห็นชัดๆ ว่าเป็นพระอินทร์แปลง ด้วยการเขียนให้เป็นพราหมณ์ตัวเขียวๆ ไปด้วย

หรืออย่างพระพุทธรูปสำคัญที่มีตำนานเกี่ยวข้องกับพระอินทร์ คือพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร พระแก้วมรกต องค์พระก็สลักจากแก้ว (หรือหยก) สีเขียวด้วย จึงกลายเป็นต้นทางของนามกรุงของกรุงเทพฯ ที่ผูกพันกับนามสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง คือ กรุงเทพมหานคร “อมรรัตนโกสินทร์” ฯลฯ

“รัตนโกสินทร์” คำนี้เอง “รัตนะ” แปลว่าแก้ว และ “โกสินทร์” ก็หมายถึงพระอินทร์

การขนานนามกรุงเทพฯ ว่า “กรุงรัตนโกสินทร์” ก็คือการหมายเรียกเอา “ขวัญเมือง” คือพระแก้วมรกตอันมีตำนานเกี่ยวข้องกับพระอินทร์ ให้เป็นนามกรุง

ในทำนองเดียวกับ “นครหลวงพระบาง” ในลาว ซึ่งได้รับนามตาม “พระบาง” พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองเช่นกัน


----------------------------------------------------------------


Logged
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
*****
Offline Offline

Posts: 8,537


View Profile
« Reply #2 on: 17 February 2022, 09:39:08 »


https://www.sarakadee.com/2019/11/27/ครูเพชรฉลูกัน/
culture


ครูเพชรฉลูกัน – สุเมรุจักรวาล ตอนที่ 15
27 พฤศจิกายน 2019 ศรัณย์ ทองปาน : เรื่อง




หนึ่งในสมาชิกระดับ “แกนนำ” ของคณะสามสิบสาม (คสส.) ที่ติดตาม “มาฆะมาณพ” ขึ้นสวรรค์บนยอดเขาพระสุเมรุมาด้วยกัน คือเทวดาที่มีชื่อว่า “พระวิสสุกรรม” หรือที่ชาวบ้านภาคกลางแต่ก่อนเรียกกันว่า “ครูเพชรฉลูกัน”

ดูเหมือนในคัมภีร์จะมิได้เล่าว่าแต่เดิมสมัยยังเป็นมนุษย์ พระวิสสุกรรมมีชื่อว่าอะไร แต่บทบาทสำคัญสมัยยังมีชีวิตอยู่คือเป็นนายช่างผู้ควบคุมการก่อสร้างศาลาหลังใหญ่ ณ ทางสี่แพร่ง ให้คนผ่านทาง ยาจกเข็ญใจ และผู้เจ็บไข้ได้ป่วย ได้พักอาศัย

ใน “ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา” เล่าประวัติการสร้างศาลานี้ไว้ตอนหนึ่งว่า สมาชิก คสส. ตั้งกติกากันเองว่า ศาลาหลังนี้จะต้องเป็นกุศลผลบุญเฉพาะภายในกลุ่มของพวกเราเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ห้ามสตรีคนใดมาเข้าร่วมทำบุญด้วยเป็นอันขาด ทว่านางสุธรรมา หนึ่งในสี่ภริยาของนายมฆะ หรือ “มฆะมาณพ” อยากร่วมการกุศลครั้งนี้กับสามีด้วย เธอจึง “รู้กันกับนายช่าง” โดยให้ทำช่อฟ้าอันหนึ่งแอบซ่อนไว้ แล้วเมื่อถึงวันที่ศาลาสร้างเสร็จ กำลังจะมีงานยกช่อฟ้า นายช่างจึงทำทีรีบวิ่งแจ้นไปแจ้งแก่มฆะมาณพว่า “ข้าลืมไม้ช่อฟ้าเสียตัวหนึ่ง หาได้กระทำไม่ ครั้นจะให้หาไม้มากระทำจะช้าการ ท่านจงให้เที่ยวซื้อไม้ช่อฟ้าที่เขากระทำไว้ขายนั้นมาใส่เถิด การจึงจะแล้วเร็ว”

เมื่อเคี่ยวสถานการณ์จนงวดมาถึงขนาดนี้แล้ว นางสุธรรมาจึงได้ที นำเสนอช่อฟ้าที่ซุกเตรียมไว้ ทาง คสส. จะขอซื้อ แต่นางสุธรรมาไม่ขาย ยืนยันว่าขอบริจาคร่วมทำบุญด้วยเท่านั้น ซึ่ง คสส. ย่อมต้องไม่ยอม เพราะตกลงกันแล้วว่าจะไม่ให้ผู้หญิงคนไหนมามีส่วนร่วม

“นายช่างจึงช่วยว่า การของเราจะช้าไป ให้นางเข้าส่วนบุญด้วยเถิด ในโลกนี้ไม่มีที่ใดเลยที่จะปราศจากสตรี ยกเว้นเสียแต่พรหมโลกเท่านั้น จงให้สตรีเข้าส่วนบุญด้วยเถิด”

เจอไม้นี้เข้า คสส. ก็เลยต้องยอมให้นางสุธรรมาได้เข้าร่วมบุญสร้างศาลาด้วยช่อฟ้าตัวนั้น

ใน “ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา” เล่าเหมือนว่านายช่างที่รู้เห็นเป็นใจกับนางสุธรรมานี้ ไม่ใช่แก๊ง คสส. แต่ก็น่าแปลกใจว่า ถ้าอย่างนั้น เหตุใดนายช่างใหญ่ซึ่งควบคุมการก่อสร้างมาโดยตลอด จึงไม่เคยรู้มาก่อนว่าช่อฟ้าขาดหายไปตัวหนึ่ง ? หรือจริงๆ แล้ว คนที่กล่าวถึงนี้คือนายช่างใหญ่ หนึ่งใน คสส. นั่นเอง ??

อย่างไรก็ดี “ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา” สรุปว่า ด้วยกุศลนั้น ทั้งมฆะมาณพ และผองเพื่อนอีก ๓๒ คน เมื่อตายไปแล้วก็ได้ขึ้นไปเป็นเทวดาบนสวรรค์ยอดเขาพระสุเมรุโดยพร้อมเพรียงกัน และ “นายช่างที่กระทำศาลานั้นได้ขึ้นไปบังเกิดเป็นพระวิสสุกรรม”

ในทางไทยๆ เรา นับถือพระวิสสุกรรม หรือพระวิษณุกรรม หรือพระวิศวกรรม ว่าเป็นบรมครูแห่งการช่าง ดังนั้นบรรดาสถาบันต่างๆ ที่เรียนวิชาฝ่ายช่าง ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนช่างก่อสร้าง วิทยาลัยเทคนิค วิทยาลัยเพาะช่าง หรือคณะวิศวกรรมศาสตร์ ต่างยึดถือเอาว่าเป็น “องค์อุปถัมภ์” ปั้นหล่อรูปตั้งไว้ในศาลให้กราบไหว้บูชากัน มีทั้งที่เป็นท่าประทับนั่ง มือหนึ่งถือ “ผึ่ง” คือจอบด้ามสั้นสำหรับขุดถากไม้ อีกมือถือลูกดิ่ง หรือไม่เช่นนั้นก็เป็นท่ายืน ถือไม้วา (สเกลสำหรับวัด) กับลูกดิ่งและฉาก

นามเต็มของกรุงเทพฯ ที่ลงท้ายว่า “สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์” นั้น ก็มีความหมายว่า (เป็นเมือง) ซึ่งท้าวสักกะ (พระอินทร์) ให้วิษณุกรรมหรือพระวิสสุกรรม มาสร้างให้นั่นเอง ดังนั้น เมื่อมีการตั้งกระทรวงโยธาธิการขึ้นมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ ให้มีหน้าที่ดูแลการก่อสร้างของทางราชการและงานสาธารณูปโภคต่างๆ ทั่วราชอาณาจักร จึงเลือกใช้ตราพระวิสสุกรรมยืนแท่น สองมือถือช่อหางนกยูง ในความหมายของเทพเจ้าแห่งการก่อสร้าง แต่ต่อมากระทรวงโยธาธิการเปลี่ยนชื่อเป็นกระทรวงคมนาคม แล้วถูกควบรวมเข้ากับกระทรวงพาณิชย์ ก็ยังใช้ตราดั้งเดิมนี้เรื่อยมา ครั้นภายหลังพอมีการแยกกระทรวงกันใหม่อีกรอบ กระทรวงคมนาคมหันไปใช้ตราพระรามทรงรถ ตราพระวิสสุกรรมยืนแท่นเลยยังตกค้างอยู่กับกระทรวงพาณิชย์มาจนถึงทุกวันนี้ ทั้งที่จริงๆ แล้วก็ดูเหมือนท่านจะไม่ค่อยเกี่ยวกับการค้าการขายเท่าใด

ส่วนในฝ่ายดนตรีไทยก็นับถือว่าพระวิสสุกรรมเป็น “ดุริยเทพ” องค์หนึ่ง จึงตั้งเศียรในพิธีไหว้ครูด้วย โดยมีตำนานเล่าว่า แต่ก่อนในเมืองมนุษย์ จะร้องจะเล่นอะไรก็ไม่มีระเบียบ ปราศจากจังหวะจะโคน เต็มไปด้วยถ้อยคำหยาบช้าลามก พระอินทร์ทนไม่ไหว ให้พระวิสสุกรรมลงมา “จัดระเบียบ” พระวิสสุกรรมจึงแปลงกายเป็นชายแก่ ลงนั่งสั่งสอนผู้คนทั้งเด็กผู้ใหญ่ ให้รู้จักร้อง รู้จักเล่น รวมถึงสร้างเครื่องดนตรีอันมีเสียงไพเราะให้ด้วย ดังที่ปรากฏในโองการไหว้ครูดนตรี-นาฏศิลป์ไทยว่า “ท่านประสิทธิ์สาปสรรค์เครื่องเล่น สิ่งสารพันในแหล่งหล้า”


-----------------------------------------------------------------------


https://www.sarakadee.com/2019/12/11/matuli/
Culture


สุเมรุจักรวาล #๑๖ มาตุลี
11 ธันวาคม 2019 ศรัณย์ ทองปาน : เรื่อง




เทวสมาชิกอีกองค์หนึ่งจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ที่ปรากฏชื่อในวรรณคดีอยู่บ่อยครั้ง คือ “มาตุลี”

ส่วนใหญ่แล้ว มาตุลีรับหน้าที่ “สารถี” หรือ “พลขับ” ประจำพาหนะของพระอินทร์ คือ “เวชยันต์ราชรถ” แต่อาจด้วยมีฐานะเป็นผู้ใกล้ชิดที่ไว้วางใจ ในคัมภีร์บางแห่งจึงดูเหมือนว่ามาตุลีมารับหน้าที่เป็น “เลขาฯ หน้าห้อง” หรือ ทส. (เทพคนสนิท) ของพระอินทร์ไปด้วยในตัว

“ไตรภูมิกถา” หรือ “ไตรภูมิพระร่วง” เล่าไว้ว่า ทุกวันพระ ๘ ค่ำ และ ๑๕ ค่ำ จะมีเทวดาลงมาสอดส่องตรวจดูผู้คนในโลกมนุษย์ตามบ้านเรือน พร้อมอุปกรณ์ติดมือคือแผ่นทองและดินสอ ถ้าเห็นใครทำบุญก็จะรีบจดบันทึกข้อมูลไว้ว่าคนชื่อนี้ๆ อยู่บ้านนี้ๆ ได้ทำกุศลอย่างนี้ๆ เช่น ฟังเทศน์ฟังธรรม สวดมนต์ไหว้พระ เลี้ยงดูพ่อแม่ เคารพยำเกรงผู้ใหญ่ รักพี่รักน้อง ฯลฯ

เสร็จแล้วเทวดาที่มาเที่ยวเดิน “จดมิเตอร์ความดี” ก็จะนำเสนอรายชื่อต่อๆ กันไปจนถึงมาตุลี ซึ่งจะเป็นผู้นำขึ้นถวายพระอินทร์ แล้วพระอินทร์ก็จะอ่านรายชื่อให้เทวดาทั้งหลายฟัง

เมื่อเทวดาเห็นว่ารายชื่อในบัญชีแผ่นทองมีมากก็จะพากันแซ่ซ้องสาธุการยินดี ว่าคราวนี้แหละจะมีมนุษย์ขึ้นสวรรค์มาเป็นเพื่อนของเรามากนักหนา เห็นทีนรกคงต้องว่างเปล่าไป แต่หากเหล่าเทวดาเห็นบัญชีชื่อในแผ่นทองนั้นมีน้อย ก็จะพากันเสียอกเสียใจใจ พูดกันเองว่า โอ้อนิจจา! คนทั้งหลายในมนุษย์โลกทำบุญทำทานกันน้อยนัก ต่อไปก็ตกนรกกันหมด ทีนี้สวรรค์ของเราก็คงเงียบเหงาเปล่าเปลี่ยวเป็นแน่แท้

ส่วนในตอนท้ายบทละครพระราชนิพนธ์เรื่อง “สังข์ทอง” เมื่อพระอินทร์จะแปลงกายยกทัพไปท้าท้าวสามนต์ พระบิดาของนางรจนา ให้มาตีคลี พนันเอาบ้านเอาเมืองกัน เพื่อหวังกดดันให้เจ้าเงาะยอมถอดรูปเป็นพระสังข์ทองเสียที แน่นอนว่ากองทัพของพระอินทร์แปลงก็ตั้งให้มาตุลีเป็นแม่ทัพอีก

 

“๏ คิดพลางทางมีพจนารถ      สั่งมาตุลีเทพบุตร
จงเตรียมพลเทวาถืออาวุธ       นิมิตเหมือนมนุษย์ชาวพารา
ทั้งหน้าหลังตั้งตามกระบวนทัพ    ให้เสร็จสรรพปีกซ้ายปีกขวา
เราจะยกพลไกรไคลคลา       ไปล้อมพาราท้าวสามนต์”
 

กรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม ใช้เครื่องหมายราชการ หรือ “ตราประจำกรม” เป็นภาพมาตุลีเทพบุตรขับรถเทียมม้า ซึ่งก็ย่อมหมายถึงเวชยันต์ราชรถของพระอินทร์นั่นเอง เพราะไม่เคยปรากฏว่ามาตุลีเคยไป “รับจ็อบ” เป็นโชเฟอร์ให้ใครที่ไหนอีก แต่น่าแปลกใจที่ในตรานั้น มาตุลีเป็นพลขับโดยไม่มีผู้โดยสาร<

นึกไม่ออกว่าจะมีเหตุอันใดให้มาตุลีต้อง “ตีรถเปล่า” ไปแบบนั้น นอกจากเรื่องดังที่เล่าไว้ในทศชาติชาดกลำดับที่ ๔ เมื่อพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพระเจ้าเนมิราช กษัตริย์ผู้ทรงธรรมแห่งนครมิถิลา พระอินทร์ทรงมีเทวบัญชาให้มาตุลีนำเวชยันต์ราชรถไปเชิญเสด็จพระเจ้าเนมิราชขึ้นมายังเทวโลก เพราะเทวดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ปรารถนาจะได้พบพระองค์สักครั้งหนึ่ง

เมื่อไปทูลเชิญพระเจ้าเนมิราชประทับเวชยันต์ราชรถมาแล้ว ระหว่างทาง มาตุลีทูลถามขึ้นว่า หนทางไปสู่สวรรค์มีหลายเส้น พระองค์ต้องการไปผ่านที่อยู่ของผู้ทำบาปก่อน หรือจะผ่านสถานที่ของผู้บำเพ็ญบุญกุศลก่อนก็ได้ พระองค์จะเสด็จโดยทางใดดี พระเจ้าเนมิราชเลือกข้อแรก มาตุลีจึงนำพระองค์เสด็จเยือนนรกขุมต่างๆ ก่อน โดยบรรยายให้ฟังไปตลอดทางว่า วิญญาณที่ตกทุกข์ได้ยาก ถูกทรมานทรกรรมสารพัด ดังที่ทอดพระเนตรเห็นอยู่นั้น มาแต่โทษผิดบาปประการใดบ้าง แล้วจึงขับพาไปวนผ่านวิมานของเทวดานางฟ้าต่างๆ พร้อมสาธยายถึงกุศลผลบุญที่ท่านเหล่านั้นได้บำเพ็ญมาขณะมีชีวิต ก่อนจะไปถึงจุดหมายปลายทางที่ดาวดึงส์ในท้ายที่สุด

ดังนั้น หากวงการมัคคุเทศก์จะมองหาเทพเจ้าผู้อุปถัมภ์เหล่าไกด์ไทย ก็ใคร่ขอเสนอพระมาตุลีให้เข้ารอบไว้ด้วยสักองค์หนึ่ง ในฐานะที่ท่านเคยขับรถเป็นไกด์นำพระโพธิสัตว์เที่ยวชมนรก-สวรรค์มาก่อน อีกทั้งยัง “นำท่านถึงที่หมายโดยสวัสดิภาพ” คือสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เหมือนที่ชอบเขียนกันในโปรแกรมนำเที่ยว


---------------------------------------------------


Logged
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
*****
Offline Offline

Posts: 8,537


View Profile
« Reply #3 on: 17 February 2022, 09:40:42 »


https://www.sarakadee.com/2019/12/12/suptar-daowadung/
Culture


สุเมรุจักรวาล #๑๗ – ซุป’ตาร์แห่งดาวดึงส์
12 ธันวาคม 2019 ศรัณย์ ทองปาน : เรื่อง




บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ตามที่บรรยายไว้ในคัมภีร์โลกศาสตร์มีเรื่องที่ฟังดูแปลกๆ ไม่น้อย หนึ่งในจำนวนนั้นคือเรื่องนี้

ในคัมภีร์ “ไตรภูมิกถา” หรือ “ไตรภูมิพระร่วง” เล่าไว้ตอนหนึ่งว่า เมื่อใดที่เทวดาในดาวดึงส์ต้องการจะฟังธรรม ก็จะมีเทวดาชั้นพรหม (ซึ่งอยู่เหนือขึ้นไปกว่าดาวดึงส์อีกมาก) ชื่อ “สนังกุมาร” เหาะลงมาจากพรหมโลก แล้วเนรมิตตนให้มีรูปร่างหน้าตาเหมือน “ปัญจสิขรคนธรรพ์” ขึ้นนั่งเหนือธรรมาสน์แล้วเทศนาธรรมให้เทวดาสดับรับฟังกัน

เหตุที่สนังกุมารพรหมต้อง “ปลอมตัว” เป็นปัญจสิขร เพราะคนธรรพ์ตนนี้มีรูปร่างหน้าตางดงาม เป็นที่พึงพอใจของเทวดานางฟ้า ปัญจสิขร หรือ ปัญจสิขะ หรือคนไทยรู้จักมักคุ้นในนาม “พระปัญจสิงขร” เป็นเผ่าคนธรรพ์ อันเป็นอมนุษย์ซึ่งมีสถานะด้อยกว่าเทพ มีถิ่นพำนัก ณ สวรรค์ชั้นจตุมหาราชิกา ซึ่งอยู่ต่ำลงมาจากดาวดึงส์ ในระดับเดียวกับเทือกเขายุคนธร แนวเขาสัตตบริภัณฑ์ชั้นในสุดที่มีความสูงครึ่งหนึ่งของเขาพระสุเมรุ

คนธรรพ์เป็นเผ่าพันธุ์ที่มีฝีมือด้านดนตรีและการขับร้องฟ้อนรำเป็นพิเศษ “ไตรภูมิพระร่วง” กล่าวถึงคนธรรพ์ที่ชื่อปัญจสิขร ว่ามักมาเปิดคอนเสิร์ต ณ เวทีกลางแจ้งด้านทิศเหนือของเขาพระสุเมรุ โดยท้าวเธอจะสะพายกลองใหญ่ชื่อสัสสสุระ (หรือ สุสสนะเภรี) ไว้กับตัว เวลาตีกลองใบนี้ กลองบริวารอีก ๖๘,๐๐๐ ใบก็จะดังขึ้นเองพร้อมกันเป็นจังหวะ เพื่อให้หมู่คนธรรพ์เทวดานางฟ้าเริงระบำรำเต้นกันเต็มที่

คัมภีร์สาธยายไว้ว่าปัญจสิขรมีร่างกายสูงถึง ๖,๐๐๐ วา (เทียบเท่ากับ ๑๒ กิโลเมตร !) ประดับเครื่องถนิมพิมพาภรณ์แก้วแหวนเงินทอง “ดูรุ่งเรืองงดงามราวกับภูเขาทอง” ชนิดที่ว่าถ้าถอดเครื่องประดับทั้งหมดออกจากกายปัญจสิขร เอาบรรทุกลงในเกวียนของมนุษย์โลก ต้องใช้ถึง ๑,๐๐๐ เล่มเกวียน และยิ่งไปกว่านั้น

“อันว่ากระแจะแลจวงจันทน์อันเทพยดาทาตัวนั้น ถ้าแลว่าจะขูดออกใส่ตุ่มแลไหได้ ๙ ตุ่มแล”

คือแป้งและน้ำหอมที่ลูบไล้ทาตามร่างกายปัญจสิขรนั้น ถ้าขูดออกมาแล้วเทใส่ตุ่มจะได้เต็มๆ เก้าใบ !

ที่สำคัญ คัมภีร์อธิบายด้วยว่าคนธรรพ์ตนนี้ “เกล้าผมเป็น ๕ เกล้า แลชักมวยออกอันทั้ง ๕ อันนั้นแล ไว้ปลายผมนั้น ห้อยลงไปข้างหลังทุกอัน…เหตุดังนั้นจึงเรียกว่าปัญจสิขรเพื่อดังนั้นแล” หมายถึงว่าที่มาของนาม “ปัญจสิขร” นั้น มาจากการที่เกล้ามวยไว้บนศีรษะถึงห้ามวย (ปัญจะ/เบญจะ แปลว่า ๕) แล้วปล่อยปลายสยายห้อยลงไปข้างหลังทุกมวย

สมกับเป็นทรงผมของศิลปินระดับ “ซูเปอร์สตาร์” แห่งดาวดึงส์จริงๆ !

ตามความที่พรรณนาไว้ในคัมภีร์ดังอ้างมาแต่ต้น นั่นหมายถึงว่าระดับเทวดาชั้นพรหมอย่างสนังกุมาร ยังต้องอาศัยชื่อเสียง และเสื้อผ้าหน้าผมแบบดาราตัวท็อป เพื่อล่อใจเทพบุตรเทพธิดาให้มาฟังธรรมกันมากๆ

ดังนั้นแล้ว ตกลงว่าเทวดาจะต้องการฟังธรรม หรือแค่อยากเป็น “ติ่ง” มากรี๊ดศิลปินคนโปรดกันแน่ ?

ว่าแต่ว่า เมื่อปวงเทพรู้ไต๋ว่าที่เห็นนี้เป็นแค่ “ตัวปลอม” หรือมา “คอสเพลย์” เป็นปัญจสิขรเฉยๆ ทุกรอบ แล้วจะยังยอมมาฟังธรรมกันอีกหรือไม่ ??

ในทางดนตรีไทยนับถือพระปัญจสิขรเป็นบรมครูด้วยองค์หนึ่ง กล่าวกันว่ามีความสามารถในเชิงขับร้องและดีดพิณ จึงตั้งเศียรไว้ในพิธีไหว้ครูครอบครูด้วย แต่ในบทไหว้ครูมโหรีพรรณนาต่างจากที่เรื่องเล่ามาแล้วเล็กน้อย คือกล่าวว่าพระปัญจสิงขรเป็นคนธรรพ์ ซึ่งมาจากสวรรค์ชั้นยามา ซึ่งอยู่เหนือขึ้นไปกว่าดาวดึงส์อีกชั้นหนึ่ง

“๏ ยอกรกึ่งเกล้าบงกชเกษ     ไหว้ไทเทเวศเปนใหญ่
อันเรืองรู้ครูครอบพิณไชย     สถิตย์ในฉ้อชั้นยามา
ทรงนามชื่อปัญจสิงขร    ได้สั่งสอนสานุศิษย์ในแหล่งหล้า
เปนตำรับขับร้องสืบมา    ปรากฏในแผ่นฟ้าดินดร
ข้าขอชุลีทำคำนับ      พระคนธรรพด้วยใจสโมสร
จะดีดสีขับร้องทำนองกลอน    จงศรีสถาพรทุกประการ ฯ”


-----------------------------------------------


https://www.sarakadee.com/2019/12/18/ช้างสามเศียร/
Culture


ช้างสามเศียร – สุเมรุจักรวาล ตอนที่ 18
18 ธันวาคม 2019 ศรัณย์ ทองปาน : เรื่อง




เทวดาอีกองค์หนึ่งที่มีถิ่นพำนักอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ด้วย ทว่ามิได้นับอยู่ใน “คณะสามสิบสาม” (คสส.) ก็คือเอราวัณเทพบุตร

ต้นทางของเรื่องนี้ย่อมต้องย้อนกลับไปที่เทวประวัติของมฆะมาณพ แกนนำ คสส. อีกครั้งหนึ่ง

อย่างที่เล่ามาแล้วว่า สมัยเมื่อเขายังมีชีวิตเป็นมนุษย์อยู่บนโลก นายมฆะได้รวบรวมสมัครพรรคพวกจำนวน ๓๒ คนกระทำกิจกรรมจิตอาสาต่างๆ อยู่เสมอ ผู้ใหญ่บ้านชักเขม่นก็เลยไปฟ้องพระราชาว่าพวกนี้สุมหัวกันจะก่อกบฏ ฝ่ายพระราชาก็ไม่สอบสวนทวนความอะไรเลย กลับพิพากษาให้จับตัวนายมฆะกับพวกมาลงโทษประหารชีวิต ให้ช้างเพชฌฆาตกระทืบตายทั้งสิ้น แต่การณ์กลับกลายเป็นว่า ไม่ว่าจะทำอย่างไร ช้างก็ไม่ยอมเฉียดกรายเข้าใกล้นายมฆะกับเพื่อนๆ สุดท้ายพระราชาจึงทรงนึกเอะใจ สั่งให้ซักไซ้สอบถามที่มาที่ไป เมื่อทรงทราบความจริงจึงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะสามสิบสาม (คสส.) ให้ปกครองหมู่บ้านนั้นแทนผู้ใหญ่บ้านคนเดิม พร้อมกับยกช้างเพชฌฆาตเชือกนั้นแถมให้ไปด้วย

ฝ่ายช้างเชือกนั้นก็แสนรู้เต็มที จึงได้เข้าร่วมการกุศลต่างๆ นานากับ คสส. เสมอ เช่นเมื่อเขาสร้างศาลากันเสร็จแล้ว ช้างเชือกนี้ก็จะมารอคอยเฝ้าดูว่า เวลามีคนเข้ามานั่งลงในศาลา เขาหย่อนก้นนั่งลงบนกระดานแผ่นที่มีสัญลักษณ์ของสมาชิก คสส. คนไหน ก็จะรีบพาผู้มาเยือนท่านนั้นไปยังบ้านของเจ้าของกระดาน ให้เลี้ยงดูปูเสื่อจนอิ่มหนำสำราญ เป็นต้น

ด้วยผลบุญกุศลนี้เอง “ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา” บรรยายว่าเมื่อช้างเชือกนั้นล้ม (ตาย) แล้ว “ได้ไปบังเกิดเป็นเอราวัณเทพบุตร” ดุจเดียวกับสมาชิกแกนนำของ คสส. ทุกคน

ถ้าพระอินทร์ ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลของดาวดึงส์ต้องกรอกเอกสารยื่นบัญชีแสดงทรัพย์สิน ช่องที่ระบุเรื่องยานพาหนะในความครอบครองคงมีอยู่สองรายการ อย่างหนึ่งคือเวชยันต์ราชรถ อันมีมาตุลีเป็นสารถี อีกอย่างหนึ่งก็คือช้างทรง แต่เนื่องจากบนสวรรค์ย่อมไม่มีที่อยู่สำหรับสัตว์เดรัจฉาน ดังนั้นเวลาพระอินทร์ประสงค์จะทรงช้างเหาะเหินไปที่ใด เอราวัณเทพบุตรผู้เคยเป็นช้างมาก่อน ก็จะแปลงกายกลับไปเป็นช้างพาหนะชื่อ “เอราวัณ” ให้พระอินทร์ขึ้นขี่เหาะไปมา

ในคัมภีร์ “ไตรภูมิกถา” เล่าถึงขนาดอันมโหฬารของเอราวัณไว้ว่า มีถึง ๓๓ เศียร แต่ละเศียรมี ๗ งา แต่ละงามีสระน้ำ ๗ สระ แต่ละสระมีดอกบัว ๗ กอ แต่ละกอมีบัว ๗ ดอก แต่ละดอกมี ๗ กลีบ แต่ละกลีบมีเทพธิดา ๗ องค์ และแต่ละองค์ยังมีนางฟ้าเป็นบริวารอีกองค์ละ ๗ นาง ในตำราวิชาเลขแบบโบราณของไทยถึงกับใช้คำพรรณนาช้างเอราวัณเป็นโจทย์ฝึกหัดการคูณเลข

ใครจะลองคำนวณเล่นดูบ้างก็ได้ ว่ามีนางฟ้ากี่องค์อยู่บนร่างของเอราวัณ

ในเรื่อง “รามเกียรติ์” ตอนหนึ่ง อินทรชิต โอรสของทศกัณฐ์ แปลงตน “คอสเพลย์” เป็นพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ แห่แหนกันมาเป็นขบวน พร้อมนางฟ้าเทวดาปลอมๆ ร่ายรำล่อหลอกให้พระลักษมณ์และพลทหารลิงตะลึงดูจนเคลิบเคลิ้ม อินทรชิตได้ทีจึงแผลงศรพรหมาสตร์สังหารหมู่ทั้งกองทัพ เหลือรอดแต่เพียงหนุมานผู้เดียวที่เหาะขึ้นไปต่อสู้ จับคอช้างเอราวัณปลอมบิดหมุนจนขาด แต่ก็ถูกอินทรชิตใช้คันศรกระหน่ำฟาดจนหนุมานตกลงมาสลบพับกับพื้นดินอยู่ข้างเศียรช้าง

เรื่องตอนนี้ที่เรียกกันว่า “หนุมานหักคอช้างเอราวัณ” นิยมนำไปแสดงกันทั้งในรูปแบบหนังใหญ่และโขน

ในเชิงช่าง การแสดงภาพช้าง ๓๓ เศียรนั้น ทำให้สวยให้งามได้ยาก เพราะดูรกรุงรัง ยุ่บยั่บไปหมด เหมือนเอากล้วยทั้งเครือไปต่อขาวางไว้ ช่างตั้งแต่สมัยโบราณ อย่างช่างขอมที่สลักภาพทับหลังรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ จึงลดรูปช้าง ๓๓ เศียรให้เหลือเพียงสามเศียร คือมีเศียรตรงกลาง กับซ้ายขวาด้านละเศียร ซึ่งดูสง่างามดีกว่า

ช่างไทยก็ยังคงรักษาขนบนี้สืบมา ถ้าเมื่อใดที่เราเห็นรูปวาดรูปปั้นที่หน้าบันอุโบสถวิหาร หรือแม้แต่ช้างในการแสดงโขน ทำเป็นช้างสามเศียร นั่นก็ย่อมหมายถึงช้างเอราวัณ และย่อมหมายความว่าเทพเจ้าที่ประทับอยู่ที่คอช้างนั้นคือองค์อมรินทราธิราชนั่นเอง


------------------------------------------------


Logged
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
*****
Offline Offline

Posts: 8,537


View Profile
« Reply #4 on: 17 February 2022, 09:42:17 »


https://www.sarakadee.com/2019/12/26/buddha-marnda/
Culture


สุเมรุจักรวาล #๑๕ โปรดพุทธมารดา
26 ธันวาคม 2019 ศรัณย์ ทองปาน : เรื่อง




นอกจากจะเป็นศูนย์บริหารราชการทวยเทพของพระอินทร์แล้ว สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ยังเคยเป็นที่เกิดเหตุสำคัญในพุทธประวัติอีกด้วย นั่นคือการเสด็จมาโปรดพุทธมารดาของพระพุทธองค์

ในพรรษากาลที่ ๗ นับแต่ตรัสรู้ พระพุทธองค์ได้เสด็จไปจำพรรษา ณ ดาวดึงส์เทวโลก เพื่อเทศนาโปรดพระพุทธมารดา ซึ่งขณะนั้นอยู่ในเพศของเทพบุตร คือเป็นชาย เพราะตามเรื่องในคัมภีร์พุทธประวัติ พระนางสิริมหามายา พระพุทธชนนี สิ้นพระชนม์หลังประสูติพระพุทธเจ้าเพียง ๗ วัน ภายหลังสิ้นพระชนม์แล้ว ก็มาบังเกิดเป็นเทพบุตรอยู่ ณ สวรรค์ชั้นดุสิต ซึ่งอยู่สูงขึ้นไปกว่าสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

เคยได้ยินว่ามีปุจฉากันว่าก็ในเมื่อพระพุทธมารดาประทับอยู่บนสวรรค์ชั้นดุสิต แล้วเหตุใดพระพุทธเจ้าจึงไม่เสด็จไปเทศนาบนสวรรค์ชั้นดุสิต

วิสัชนาคือเทวดานั้นมีระดับชั้น เทวดาชั้นสูงกว่าสามารถลงมายังสวรรค์ชั้นต่ำกว่าได้ แต่เทวดาจากสวรรค์ชั้นล่างๆ จะไม่สามารถข้ามขึ้นไปสู่สวรรค์ชั้นสูงได้ ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงทรงเลือกเทศนา ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์อันเป็นสวรรค์ชั้นล่างสุด เพื่อให้เทวดาในทุกชั้นฟ้าสามารถมาร่วมสดับพระอภิธรรมได้

สิ่งที่ฟังดูแปลกๆ อีกอย่างหนึ่งก็คือ พุทธมารดานั้น ย่อมมีเพศเป็นสตรี แต่เหตุใดขึ้นสวรรค์ไปแล้วจึงกลับกลายเป็นเทพบุตรได้ ?

เรื่องนี้ก็มีผู้ให้คำอธิบายไว้อีกว่า ในคติอย่างโบราณ ผู้ที่ถึงพร้อมด้วยบุญกุศล ไม่ว่าจะหญิงหรือชาย เมื่อตายไปแล้วก็จะไปเสวยสุขด้วยการบังเกิดเป็นเทพบุตรทั้งสิ้น ส่วนเหล่านางฟ้าบริการที่มาเป็นทั้งนางบำเรอและคอยรับใช้นานานั้น ก็มิใช่ว่าเป็นหญิงที่ทำบุญไปเกิดเป็นนางฟ้า หากแต่พวกเธอๆ เกิดขึ้นเองด้วยบารมีของเทพบุตรองค์นั้นๆ

คือดูเหมือนจะไม่มีชีวิตจิตใจของตัวเองเท่าไหร่ คล้ายๆ เป็นหุ่นยนต์ไซบอร์กหรือเป็นร่างโคลน

สายสิทธิสตรีคงว่านี่เป็นการทำให้ผู้หญิงเป็น “วัตถุ” นั่นเอง



เรื่องที่ว่าพระพุทธมารดาเป็นเทพบุตรนี้ เห็นได้ในภาพจิตรกรรมฝาผนังโบราณที่มักแสดงพระพุทธมารดาเป็นเทวดาผู้ชาย แต่มาในระยะหลังนี้ จิตรกรสมัยใหม่อาจต้องการแสดงนัยแห่งความเป็น “แม่” ของพระพุทธมารดาจึงวาดภาพให้เป็นนางเทพธิดาแทน เช่นจิตรกรรมฝาผนังพระอุโบสถวัดพุทธปทีป กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ฝีมือจิตรกรร่วมสมัยชาวไทยผู้มีชื่อเสียง

แต่จะว่าเรื่องนี้เป็นคติใหม่ทั้งหมดก็ไม่ใช่เสียทีเดียว เพราะยังมีหลักฐานเก่าแก่มากชิ้นหนึ่ง ที่แสดงให้เห็นว่าครั้งหนึ่งนานมาแล้ว เคยมีความนิยมแสดงภาพพุทธมารดาเป็นเทวนารีมาก่อน

อย่างที่เคยเล่ามาแล้วว่า วัดสุทัศนเทพวราราม กรุงเทพฯ ซึ่งมีเสาชิงช้าอยู่หน้าวัดนั้น มีความหมายเทียบได้กับสุทัสนนครบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

น่าสนใจว่าที่ด้านหลังฐานชุกชีของพระศรีศาสดา พระพุทธรูปประธานในพระวิหารหลวง วัดสุทัศน์ฯ มีแผ่นศิลาจำหลักขนาดใหญ่ เป็นงานช่างแบบทวารวดี อายุกว่าพันปี ไม่ปรากฏประวัติว่าแต่เดิมได้มาจากที่ใด แต่ท่านผู้อัญเชิญมาผนึกไว้ตรงนั้นเมื่อสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ย่อมต้องสามารถ “อ่าน” ออก ตีความได้ ว่าตอนบนเป็นเหตุการณ์ในพุทธประวัติตอนเทศนาโปรดพระพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ จึงนำมาประดิษฐานไว้ ณ จุดนั้น

ขอให้สังเกตภาพบุคคลที่นั่งอยู่ทางซ้ายของพระพุทธองค์ที่กำลังแสดงอาการเทศนา ซึ่งช่างตั้งใจสลักให้เห็นเป็นหญิง คือมีหน้าอกนูนเด่น และมิได้แสดงอาการประนมมือ ซึ่งในที่นี้ ก็ควรหมายถึงพุทธมารดาอย่างไม่ต้องสงสัย

กลับไปที่เรื่องในพุทธประวัติอีกครั้งหนึ่ง ภายหลังจากเทศนาโปรดพระพุทธมารดาตลอดถ้วนทั้งพรรษา คือสามเดือนแล้ว พระพุทธองค์จึงเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ด้วยบันไดแก้ว เคียงข้างขนาบมาด้วยพระอินทร์พระพรหม และหมู่เทวดาที่มาส่งเสด็จ

เหตุการณ์ครั้งนั้นยังคงถูกนำมาจำลองไว้ทุกปีหลังจากออกพรรษา ในประเพณีที่เรียกกันว่า “ตักบาตรเทโว” ตามวัดที่ตั้งอยู่บนภูเขา เช่นวัดสังกัสรัตนคีรี อุทัยธานี หรือวัดที่สถานที่อำนวยให้ เช่น พระบรมบรรพต (ภูเขาทอง) วัดสระเกศฯ ในกรุงเทพฯ ก็จะมีการให้พระสงฆ์ไปตั้งแถวอยู่บนนั้นแล้วจึงค่อยๆ เดินลงมารับบาตรจากญาติโยม เลียนแบบเหตุการเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ในพุทธประวัติ


--------------------------------------


https://www.sarakadee.com/2020/01/02/heaven-sound/
Culture


สุเมรุจักรวาล #๑๖ – สดับสำเนียงสวรรค์
2 มกราคม 2020 ศรัณย์ ทองปาน : เรื่อง




เราอาจทึกทักเอาเองว่า “สวรรค์” ควรเป็นสถานที่สว่าง-ไสว-สงบ-สงัด จะมีเสียงบ้างก็คงเป็นแค่เสียงกรุ๋งกริ๋งเบาๆ เหมือนกระดิ่งที่แขวนตามชายคาโบสถ์ แต่ขึ้นชื่อว่าคนไทย จะยุคไหนๆ ก็ไม่ค่อยโปรดปราน “ความเงียบ” เท่าใด ชีวิตในอุดมคติจึงไม่เคยว่างเว้นจากเสียงอึกทึก

แม้แต่บนสวรรค์!

คัมภีร์โลกศาสตร์ทุกฉบับกล่าวตรงกันว่า ทุกหนแห่งบนดาวดึงส์มีแต่ความครึกครื้นระดับสนั่นหวั่นไหว “ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา” กล่าวว่ายามเมื่อพระอินทร์เสด็จไปไหนจะมีนางฟ้าที่เป็นบริวารบำเรออยู่มากมาย นางฟ้าระดับ “ไอดอล” บ้างก็เล่นพิณ บ้างก็เป่าปี่ บางองค์เป่าสังข์ ที่เป็นมือกลองก็ระดมกระหน่ำตีกลองใหญ่กลองเล็กสุดแรง รวมๆ กันแค่นางฟ้าที่ยืนหนึ่งด้านบรรเลงดนตรีก็มีนับสิบ ยิ่งไปกว่านั้นแต่ละองค์ยังมีบริวารอีก ๖ หมื่นที่ถือเครื่องดนตรีอย่างเดียวกัน ซึ่งเมื่อพอระดับ “เซ็นเตอร์” เริ่มบรรเลง นางฟ้าบริวารก็จะเล่นโดยพร้อมเพรียงไปด้วย

ลำพังที่ระบุไว้ตามคัมภีร์จึงมีนางฟ้าที่บรรเลงดนตรีพร้อมๆ กันหลายแสนองค์แล้ว คัมภีร์จึงใช้คำขยายเสียงตั้งแต่ระดับ “เสนาะสนั่น” “ก้องกึกครึกครื้น” ไปจนถึง “สะเทือนนภดลประเทศเวหา”

เท่านั้นยังไม่พอ ตลอดเวลายังมี “คนธรรพ์” ที่เป็นพ่อเทพบุตรนักดนตรีซึ่งมีบริวารหลายหมื่นเช่นเดียวกัน เที่ยวไปสะพายกลองตีประโคม ขับร้อง ฟ้อนรำอยู่อีกทั้งสี่ทิศโดยรอบดาวดึงส์ “ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา” กล่าวว่า ณ ขณะหนึ่งๆ มีชาวคณะคนธรรพ์ “ประดังสุรสำเนียง ขับร้องประสานเสียง จับระบำรำฟ้อน” อยู่ถึง ๒๔ โกฏิ คำนวณได้ว่า ๑ โกฏิคือ ๑๐ ล้าน ดังนั้น ๒๔ โกฏิคือ ๒๔๐ ล้าน

นี่คือการชุมนุมเทวดานางฟ้า ๒๔๐ ล้านองค์ ร่วมขับร้องบรรเลงและเต้นระบำไม่หยุดไม่หย่อน ณ เทศกาลดนตรีกลางแจ้งที่ใหญ่ที่สุดในจักรวาล!

ดังนั้นตามมาตรฐานสุขอนามัยยุคปัจจุบัน สวรรค์ดาวดึงส์อาจเป็นสถานที่ที่ “หนวกหู” เกินจะทานทนไหว

แม้แต่ต้นหมากรากไม้บนสวรรค์ก็ยังร่วมผสมโรงเข้าไปอีก

รอบเมืองเมืองสุทัสสนะนครของพระอินทร์มีคูเมืองล้อม ถัดออกไปมีแถวต้นตาล “สมบัติอมรินทร์คำกลอน” ของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) พรรณนาไว้ว่า

กำแพงแก้วล้วนแก้วทั้งเจ็ดชั้น    ตาลสุวรรณรุ่นรื่นเรียงไสว
เมื่อลมพัดก็สะบัดสำเนียงใบ       เฉลิมโสตหฤทัยดังดนตรีฯ
ต้นตาลที่ล้อมรอบสุทัสสนะนครนี้ชวนให้นึกถึงศิลาจารึกหลักที่ ๑ ที่ (ว่ากันว่า) เป็นของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ซึ่งเล่าว่า “พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองศรีสัชนาลัยสุโขทัยปลูกไม้ตาลนี้ได้สิบสี่เข้า จึ่งให้ช่างฟันขดารหินตั้งหว่างกลางไม้ตาลนี้”

ไม่ว่าจะเป็นพ่อขุนรามฯ หรือท่านผู้ใดก็ตามที่ให้จารึกข้อความนี้ไว้ย่อมต้องนึกว่าเมืองสุโขทัยคงเปรียบประดุจสุทัสสนะนครของพระอินทร์ที่มีต้นตาลเรียงราย คนโบราณคงรู้สึกว่าเสียงใบตาลแห้งๆ เวลาโดนลมพัดเสียดสีกันดังแกรกกรากๆ นั้นฟังไพเราะ “ดังดนตรี” ดีเหลือเกิน

ภาพจิตรกรรมฝาผนังแถวต้นตาลล้อมรอบเมืองสุทัสสนะนครมีปรากฏให้เห็นที่ด้านตรงข้ามพระประธาน ในพระอุโบสถ วัดปทุมวนาราม (วัดสระปทุม) กรุงเทพฯ ฝีมือช่างสมัยรัชกาลที่ ๔ ด้วย


-------------------------------------


Logged
Pages: [1] Go Up Print 
« previous next »
 

SMF 2.0.4 | SMF © 2013, Simple Machines | Theme by nesianstyles | Buttons by Andrea
Page created in 0.093 seconds with 20 queries.