Smile Siam มาร่วมกันคืน "สยามเมืองยิ้ม" กลับสู่บ้านเรากันนะครับ ...
User Info
Welcome, Guest. Please login or register.
09 May 2024, 20:19:33

Login with username, password and session length
Search:     Advanced search
News
ท่านสมาชิกสามารถเปลี่ยนรูปแบบ (Theme) ได้อีกหลายแบบ
เชิญทดลองโดยคลิกที่ลิงค์ข้างล่าง ได้เลยครับ

http://www.smilesiam.net/index.php/topic,3170.msg4713.html
Forum Stats
25,650 Posts in 12,467 Topics by 70 Members
Latest Member: KAN
Home Help Search Calendar Login Register
Smile Siam มาร่วมกันคืน "สยามเมืองยิ้ม" กลับสู่บ้านเรากันนะครับ ...  |  เหนือเกล้าชาวสยาม  |  พระบรมโพธิสัตว์เจ้าแห่งแผ่นดินสยาม (Moderator: Smile Siam)  |  ส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย ในหลวง ร.9
0 Members and 1 Guest are viewing this topic. « previous next »
Pages: [1] Go Down Print
Author Topic: ส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย ในหลวง ร.9  (Read 825 times)
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
*****
Offline Offline

Posts: 8,503


View Profile
« on: 16 February 2022, 15:28:36 »

ส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย ในหลวง ร.9


https://www.sarakadee.com/2016/10/13/bhumibol/
History

ส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช
13 ตุลาคม 2016




        ข้า วรพุทธเจ้า       เอามโนและศิระกราน
        นบพระภูมิบาล      บุญดิเรก
        เอกบรมจักริน       พระสยามินทร์
        พระยศยิ่งยง

ปวงข้าพระพุทธเจ้า ขอน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้

ข้าพระพุทธเจ้า ปวงชนชาวไทย


ooooo>>>>>ooooo


https://www.sarakadee.com/2016/10/26/respect-work/
CultureHistory

ผลงานที่ควรค่าแก่การยอมรับนับถือ
26 ตุลาคม 2016

เรื่อง : โสรญา อะทาโส
ภาพ : สุดภูไพร หวังภูกลาง และธัญจิรา เทพรส



“คนทำงานศิลปะทั่วไป พอเจอเรื่องเศร้าแบบนี้ แล้วเรารู้สึก lost เราเป็นคนเขียนรูป ตอนนั้นรู้สึกว่าถึงอย่างไร เราก็จะเขียน ถ้าไม่ได้ทำตรงนี้ ก็คงจะขึ้นเฟรมผ้าใบที่บ้าน”

ผศ. มรกต เกศเกล้า หรือ “อาจารย์อ้อม” แห่งคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บอกเล่าความรู้สึกหลังทราบข่าวสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

เช้าวันที่ ๑๔ ตุลาคม ระหว่างอาจารย์อ้อมนั่งกินข้าวกับเพื่อนอาจารย์อีกท่านหนึ่ง ได้เล่าความรู้สึกในใจว่าอยากเขียนภาพบนผนังอาคารเพื่อถวายความอาลัย อาจารย์ท่านนั้นเห็นดีด้วย จึงนำเรื่องไปปรึกษากับรองคณบดีและอาจารย์หัวหน้าสาขาวิชาจิตรกรรม ตลอดจนถามความคิดเห็นจากนักศึกษาที่เคยรังสรรค์ผลงานบนผนังอาคารมาก่อน

เมื่อทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกัน ผนังด้านติดถนนของอาคารสตูดิโอ โรงประลองจิตรกรรม A1 จึงถูกทาทับด้วยสีขาวเพื่อเตรียมพื้นที่ถวายความอาลัย ผนังคอนกรีตตรงนี้ถือเป็นจุดถ่ายรูปยอดนิยมแห่งหนึ่งในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพราะจะมีผลงานจิตรกรรมของนักศึกษาที่ผลัดเปลี่ยนกันมาแสดงฝีมือวาดภาพซ้อนทับกันภาพแล้วภาพเล่า

“วันนั้น ครม. ประกาศให้เป็นวันหยุด เราขอให้นักการภารโรงมาช่วยทาสีขาวที่กำแพง ซึ่งเขาจะไม่มาก็ได้ แต่ปรากฎว่าทุกคนมา”

ขณะที่คนกลุ่มหนึ่งกำลังตระเตรียม “ผืนผ้าใบคอนกรีต” บนผนังที่สูงถึง ๕ เมตร และยาวกว่า ๑๐ เมตร อีกด้านหนึ่ง อาจารย์กับลูกศิษย์ก็ช่วยกันสเก็ตช์ภาพ ก่อน “ขึ้นงาน” บนผนังอาคาร

ในแบบร่างแรก องค์ประกอบหลักในภาพจะเป็นพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่คนทำงานศิลปะ โดยมีภาพพระอัจฉริยภาพด้านศิลปะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ รัชกาลที่ ๙ อยู่ด้านล่าง แต่ระเบียบการวาดพระบรมสาทิสลักษณ์ ห้ามมีตัวหนังสืออยู่เหนือภาพพระเจ้าอยู่หัว จึงต้องแก้ไขแบบ

แบบพร้อม คนพร้อม โปรเจ็กเตอร์ฉายภาพที่ออกแบบไว้ฉาบลงผนังคอนกรีตมหึมา เหล่านักศึกษาด้านศิลปะก็ลงมือแต้มแต่งผนังขาวนั้นด้วยเฉดสีเทา ดำ



“ตอนอยู่บนนั่งร้าน กำลังวาดภาพอยู่ พอหันหลังกลับมาก็ตกใจกับจำนวนคน อย่างกับมาดูหนังกลางแปลงกัน หลายคนมาให้กำลังใจ เอาน้ำเอาขนมมาให้ นักศึกษาคณะอื่นก็มาด้วยนะ คณะพยาบาลเอาน้ำมาแจก คณะเกษตรศาสตร์เอานมมาแจกแถมเดินเสิร์ฟเองเลย”

ผลงานที่ก่อเกิดจากความรู้สึกร่วมของคนทำงานศิลปะเริ่มตั้งแต่สี่โมงเย็น วันที่ ๑๔ จวบจนตีสอง วันที่ ๑๕ หากรวมเวลาเก็บล้างอุปกรณ์ด้วยแล้ว ตีสี่คือเวลาที่ทุกคนแยกย้ายกันไปพักผ่อน แม้จะเป็นช่วงเวลาที่ยาวนานแต่ทุกคนก็ทำจนสำเร็จ

อาจารย์อ้อมเสริมว่า งานนี้สำเร็จลุล่วงได้เพราะทุกคนมีความรู้สึกเช่นเดียวกัน ต้องการแสดงออกซึ่งสิ่งเดียวกัน ตั้งแต่นั่งร้าน สีที่ใช้ อุปกรณ์ต่างๆ อาจารย์และนักศึกษาช่วยกันหาและหยิบยืมมาจากหน่วยงานอื่น ๆ หรือเรื่องอาหารก็ได้ความช่วยเหลือจากร้านกาแฟในคณะ

ผลงานชิ้นนี้ทำให้อาจารย์อ้อมได้เห็นพลังของลูกศิษย์ ทุกคนล้วนมีภาระงานของตัวเองล้นมือ การรวมคนจำนวนมากจึงไม่ใช่เรื่องปรกติ ทว่าครั้งนี้ ธนพล ปันทะนาน อดีตนายกสโมสรนักศึกษา ปี ๒๕๕๘ ได้ช่วยรวมตัวเพื่อน ๆ น้อง ๆ และศิษย์เก่า ทุกคนมาด้วยใจ แม้ผลงานอาจมิได้วิจิตรเลิศเลอ แต่อย่างน้อยก็เป็นส่วนหนึ่งที่เอาไว้เตือนใจคนทำงานศิลปะ ดังพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ในพิธีเปิดนิทรรศการศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ ๒๑ วันที่ ๘ กันยายน ๒๕๑๕ ที่อัญเชิญมาไว้บนผนัง ที่ว่า

“การสร้างงานศิลปะทุกอย่างทุกประเภท นอกจากจะต้องใช้ความฝึกหัดชัดเจนในการปฏิบัติ ประกอบกับวิธีการที่ดีอย่างเหมาะสมแล้ว ศิลปินจำต้องมีความจริงใจและความบริสุทธิ์ใจในงานที่ทำด้วย จึงจะได้ผลงานที่มีค่าควรแก่การยอมรับนับถือ”


ooooo>>>>>ooooo


https://www.sarakadee.com/2016/12/23/king-funeral-tradition-to-date/
CultureHistoryTalk

Spotlight การพระราชพิธีพระบรมศพ : โบราณราชประเพณี กับวิถีร่วมสมัย
23 ธันวาคม 2016

สัมภาษณ์ : ศรัณย์ ทองปาน
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช



“อาจารย์ธงทอง” ศ. ธงทอง จันทรางศุ เป็นอดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ท่านเคยดำรงตำแหน่งสูงสุดในชีวิตราชการถึงปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งยังเป็นนักเขียนที่มีผลงานหนังสือด้านศิลปวัฒนธรรมและตำรากฎหมายมากมาย หากแต่สิ่งที่ทำให้อาจารย์เป็นที่รู้จักมากที่สุด คือการบรรยายการถ่ายทอดพระราชพิธีต่าง ๆ ทางโทรทัศน์ตลอดระยะเวลากว่า ๓๐ ปีที่ผ่านมา ล่าสุด ศ. ธงทอง จันทรางศุ ได้รับหน้าที่ผู้บรรยายการถ่ายทอดพระราชพิธีพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และได้รับคำชื่นชมยกย่องว่าเป็นผู้ที่มีความรู้และความสามารถในการอธิบายขนบธรรมเนียมราชสำนักและการพระราชพิธีต่าง ๆ อย่างลุ่มลึกกว้างขวาง เพื่อให้สังคมไทยข้ามผ่านช่วงเวลาวิปโยคแห่งแผ่นดินไปด้วยสติและความรู้ สารคดี จึงเรียนรบกวนขอความรู้จากอาจารย์ในประเด็นว่าด้วยความคลี่คลายเปลี่ยนแปลงของงานพระราชพิธีพระบรมศพ

การพระราชพิธีพระบรมศพในครั้งนี้ มีความเปลี่ยนแปลงไปจากการพระราชพิธีพระบรมศพครั้งก่อน ๆ อย่างไรหรือไม่
ผมจะลองยกตัวอย่างให้ฟัง อาจเป็นประเด็นปลีกย่อยแต่น่าสังเกตสำหรับผม ที่จริงแล้วงานพระบรมศพโดยหลักก็คือการบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวาย เป็นประเพณีทางพระพุทธศาสนาที่มิได้แตกต่างจากการบำเพ็ญกุศลในงานศพอื่น ๆ แต่แน่นอนว่าต้องมีความประณีต มีความงดงาม สมพระเกียรติยศ ตัวอย่างเช่นถ้าเป็นงานศพทั่วไป การสวดพระอภิธรรมก็ใช้เวลาไม่นานนัก แต่ถ้าเป็นงานพระศพเจ้านายหรืองานพระบรมศพเจ้านาย การสวดพระอภิธรรมก็มีธรรมเนียมซึ่งผมเชื่อว่าเป็นธรรมเนียมเก่าน่าจะตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาแล้วด้วยซ้ำไปที่จะใช้เวลายาวนาน

อย่างในงานพระบรมศพ เราจะได้ยินประกาศของทางราชการว่ามีการสวดพระอภิธรรมเวลากลางวันกลางคืน ๑๐๐ วัน เท่าที่ในชีวิตผมได้ทันเห็น เมื่อครั้งงานพระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ เมื่อปี ๒๕๒๗ ใน ๑๐๐ วันแรกนั้นมีการสวดพระอภิธรรมทั้งกลางวันกลางคืน เต็มตามความหมายของคำจริง ๆ คือมีทุก ๓ ชั่วโมงตลอด ๒๔ ชั่วโมง แม้กระทั่งตี ๓ (๓ นาฬิกา) พระท่านก็ยังสวดอยู่ แล้วก็ต้องมีวงดนตรีประโคมย่ำยามตามไปด้วย

ต่อมาพอถึงงานพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เมื่อปี ๒๕๓๘ ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ มีพระราชปรารภว่า การสวดหลังเที่ยงคืนไปแล้วจนอรุณรุ่ง คือ ๖ โมงเช้า (๖ นาฬิกา) เป็นการเหน็ดเหนื่อยแก่ทั้งพระภิกษุสงฆ์ ทั้งเจ้าหน้าที่ที่ต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่ ในโอกาสนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปรับธรรมเนียมในเรื่องนี้ คือยังสวดทั้งกลางวันกลางคืนอยู่ แต่ให้หยุดอยู่เพียงเวลาเที่ยงคืน คือสวดและประโคมย่ำยามครั้งสุดท้ายเวลา ๒๔ นาฬิกา งานพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในปี ๒๕๕๑ กับงานพระศพสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เมื่อปี ๒๕๕๔ ก็ยังยึดถือแบบนั้นอยู่

มาในคราวงานพระบรมศพครั้งนี้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ว่า การสวดพระอภิธรรมและประโคมย่ำยามรอบค่ำจนถึง ๓ ทุ่มก็เป็นการเหน็ดเหนื่อยสำหรับเจ้าหน้าที่แล้ว เพราะยังมีเรื่องอื่น ๆ ที่ต้องดูแลอีกมาก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปรับการสวดพระอภิธรรมและประโคมครั้งสุดท้ายเพียงเวลา ๓ ทุ่ม (๒๑ นาฬิกา) เราจึงพบการประกาศของทางราชการว่า ประชาชนสามารถเข้าไปถวายบังคมพระบรมศพได้จนถึงเวลาประมาณ ๓ ทุ่ม

แต่ในการปฏิบัติจริงก็จะพบว่ามีความผ่อนปรนและเอื้อเฟื้อให้ประชาชนที่ยังค้างจำนวนอยู่ที่บริเวณด้านหน้าพระบรมมหาราชวัง โดยทางสำนักพระราชวังก็อำนวยความสะดวกให้ได้ทยอยกันขึ้นถวายบังคมพระบรมศพจนหมด นี่คือพระมหากรุณาธิคุณในแต่ละยุคแต่ละสมัยที่ปรับเปลี่ยนไปในเรื่องการปฏิบัติ ในธรรมเนียมประเพณีบางอย่าง แต่ไม่ได้ทำให้หลักการที่มีมาแต่เดิมนั้นต้องล้มเลิกสูญหายไป

ดูเหมือนว่าในงานพระบรมศพครั้งนี้ ประชาชนจะมีส่วนร่วมมากขึ้น
ในงานพระบรมศพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ การมีส่วนร่วมของประชาชนชัดเจนทุกขั้นตอน ตั้งแต่ถวายน้ำสรงพระบรมศพ ที่เปิดให้ประชาชนมาร่วมถวายน้ำสรงพระบรมศพที่หน้าพระบรมฉายาลักษณ์ที่ศาลาสหทัยสมาคมในพระบรมมหาราชวัง และตามศาลากลางจังหวัดต่าง ๆ

ถ้าผมจำไม่ผิด ธรรมเนียมนี้เกิดขึ้นในงานพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเมื่อปี ๒๕๓๘ เป็นคราวแรก แน่นอนว่าแต่เดิมนั้นการถวายน้ำสรงพระศพเป็นการในพระราชฐาน เป็นการภายในพระราชวงศ์ ส่วนประชาชนทั่วไปก็ย่อมเป็นการพ้นวิสัยอยู่เองที่จะได้ถวายน้ำสรงพระบรมศพจนถึงเขตพระราชฐานชั้นใน แต่ด้วยพระมหากรุณาธิคุณฯ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ทรงพระราชดำริว่าการสวรรคตของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเป็นความสูญเสียครั้งสำคัญ และประชาชนก็อยากจะมีโอกาสได้สนองพระเดชพระคุณตั้งแต่วันแรกที่ประดิษฐานพระบรมศพ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐานพระฉายาลักษณ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่ศาลาสหทัยสมาคมในพระบรม-มหาราชวัง เพื่อให้ประชาชนมาร่วมถวายน้ำสรงพระบรมศพ นอกจากนั้นยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ศาลากลางจังหวัดต่าง ๆ จัดตั้งพระฉายาลักษณ์ และปฏิบัติในแนวทางเดียวกับที่สำนักพระราชวังจัดที่ศาลาสหทัยสมาคมด้วย แล้วจึงเป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติสืบเนื่องมาในงานพระศพและงานพระบรมศพชั้นหลัง

ช่วงแรก ๆ งานพระบรมศพมีการปฏิบัติที่ฉุกละหุกอยู่มาก เพราะเหตุว่าการตระเตรียมงานพระราชพิธีอย่างนี้ไว้ก่อนนั้นทำไม่ได้ เป็นเรื่องที่เมื่อเกิดเหตุจำเป็นให้ต้องปฏิบัติแล้วจึงลงมือทำกัน ดังนั้นในครั้งนี้เมื่อพ้นการบำเพ็ญพระราชกุศลปัณรสมวาร (๑๕ วัน) ไปแล้ว จึงเปิดให้ประชาชนเข้าถวายบังคมพระบรมศพได้ตั้งแต่วันที่ ๒๙ ตุลาคมที่ผ่านมา

ระหว่างที่ยังไม่ได้เปิดให้ขึ้นถวายสักการะที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ช่วงก่อนหน้านั้นประชาชนก็ไปลงนามในสมุดหลวงได้ ไปถวายบังคมหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ได้ คนต่อแถวกันที่ศาลาสหทัยสมาคมไม่รู้ว่ากี่หมื่นคน อย่างเวลานี้คนไปถวายบังคมพระบรมศพ เฉลี่ยวันละ ๓ หมื่นคน และเมื่อถึงเวลาอันสมควรแล้ว หลัง ๕๐ วัน ก็ยังเปิดให้ประชาชนได้ร่วมเป็นเจ้าภาพโดยเสด็จพระราชกุศลอีก

ผมว่ายิ่งวันเวลาผ่านไปเรื่อย ๆ ความผูกพันใกล้ชิดระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับประชาชนอย่างนี้ ทำให้แบบแผนประเพณีบางอย่างมีการปรับเปลี่ยน สิ่งที่เพิ่มขึ้นก็คือการมีส่วนร่วมของประชาชนที่จะได้สนองพระเดชพระคุณในงานพระบรมศพ ตั้งแต่วาระแรกจนถึงวาระสุดท้ายของงาน

ตีพิมพ์ใน สารคดี ฉบับที่ 381 พฤศจิกายน 2559




ooooo>>>>>ooooo 

Logged
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
*****
Offline Offline

Posts: 8,503


View Profile
« Reply #1 on: 16 February 2022, 15:30:03 »


https://www.sarakadee.com/2016/12/20/bunga-saranromaya/
History

“บุหงาสราญรมย์” ทางออกดอกไม้ล้นงานพระราชพิธี
20 ธันวาคม 2016

เรื่อง : วิมลรัตน์ ธัมมิสโร
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช



ดอกไม้นานาชนิดบรรจุลงถุงบุหงาสราญรมย์ ดอกไม้ของพระราชา


ตากดอกไม้นานาชนิด เพื่อนำไปทำบุหงา


จิตอาสาช่วยกันตัดใบเตย ส่วนหนึ่งของการทำบุหงาที่สวนสราญรมย์


ดอกไม้สดที่ผ่านการตากแห้ง ผสมน้ำอบ น้ำปรุง รอบรรจุลงในถุงผ้าโปร่ง


นับตั้งแต่วันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๕๙ หลังพิธีเคลื่อนพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พสกนิกรนำดอกไม้และพวงมาลัยมาถวายความอาลัยแด่พระองค์ท่านบริเวณรอบกำแพงพระบรมมหาราชวังจำนวนวันละไม่ต่ำกว่า ๒ ตัน

“ดอกไม้จำนวนมากเราไม่รู้จะนำไปไหนดี แต่ต้องการทำให้เกิดประโยชน์ที่สุด เพราะดอกไม้เหล่านี้เกิดจากความศรัทธาของประชาชนที่มีต่อในหลวงรัชกาลที่ ๙ จึงมีการประชุมและเสนอให้นำดอกไม้มาประดับตกแต่งให้สวยงามหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ที่สวนสราญรมย์”

ภาสกร พจน์จิราภรณ์ หัวหน้าสวนสาธารณะสราญรมย์ เล่าว่าดอกไม้ที่ฝูงชนนำมาเคารพสักการะจะเคลื่อนย้ายมาประดับหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ภายในสวนสราญรมย์ ทุกเช้าจะคัดดอกเฉาและสิ่งห่อหุ้มออก นำดอกไม้สดชุดใหม่เข้ามาประดับแทน ส่วนดอกไม้เก่าจะส่งไปทำปุ๋ยหมัก กระทั่งสำนักพระราชวังเปิดให้พสกนิกรเข้าไปถวายสักการะเบื้องหน้าพระบรมโกศ จำนวนดอกไม้จึงลดลง แต่ก็ยังมีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

อนุสรณ์ กะดามัน เล่าว่าขณะที่กำลังวิ่งออกกำลังกายเห็นเจ้าหน้าที่คัดแยกดอกไม้จึงเข้ามาช่วย เขาเล่าว่าเมื่อครั้งในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงพระประชวรอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช พสกนิกรนำดอกไม้ไปถวาย ไม่เพียงแต่พระองค์ท่านไม่ทิ้งดอกไม้ยังทรงมอบต่อให้ผู้ป่วยคนอื่นๆ รวมถึงหมอ พยาบาลเพื่อเป็นขวัญกำลังใจ กลายเป็นแนวคิดยืดอายุ เพิ่มคุณค่าให้ดอกไม้ของพ่อหลวงในวันนี้

“เราไม่ได้ยกตนเทียบพระองค์ท่าน เพียงน้อมนำหลักปฏิบัติ คืนดอกไม้กลับสู่ประชาชน”

ทุกเช้าวันอาทิตย์ ประชาชนจิตอาสาจะเดินทางมายังสวนสราญรมย์เพื่อนำดอกไม้สดหลากชนิดมาคลุกเคล้ารวมกันเป็นบุหงา โดยเริ่มต้นจากคัดแยก ตัดให้เล็กสั้น ตากแห้ง ผสมพิมเสน น้ำอบ น้ำปรุง ก่อนนำมาบรรจุลงในถุงผ้าโปร่ง คล้องป้ายชื่อ “บุหงาสราญรมย์ ดอกไม้ของพระราชา” แจกให้กับจิตอาสาและเก็บไว้มอบให้กับประชาชนเพื่อเป็นความทรงจำถึงในหลวง

ลูกแก้ว ขันตยาคโม หญิงวัย ๔๖ ปี อาชีพรับจ้าง เล่าว่าเดินทางมาคนเดียวถึงสวนตั้งแต่ ๗ โมงเช้า ได้พบเจอเพื่อนใหม่ นับเป็นสิ่งที่ดี รู้สึกชอบ เพราะเป็นกิจกรรมที่ได้สานต่อความพอเพียงของในหลวง นำสิ่งธรรมดาที่ไร้ค่าให้กลับเกิดคุณค่ามหาศาล

ในวงสนทนาเดียวกัน ทิพวรรณ ลออพันธ์พล อายุรุ่นราวคราวเดียวกัน เล่าว่าตนชอบดอกไม้ ชอบงานฝีมือ งานประดิษฐ์ สนใจเป็นจิตอาสาทำทุกอย่าง อยากให้สิ่งที่ทุกคนร่วมใจกันถวายพ่อหลวงได้นำกลับมาใช้ประโยชน์อีกครั้ง

ตั้งแต่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๕๙ กิจกรรมทำบุหงาย้ายจากสวนสราญรมย์มายังวัดโพธิ์

ภาพความรัก ความสามัคคี การแบ่งปัน หรือแม้กระทั่งการพูดคุยกับคนแปลกหน้าที่ปรกติไม่ค่อยพบเห็น บัดนี้ความพร้อมเพรียงนั้นกลับปรากฏ เปรียบดั่งบุหงาที่ไม่ได้เกิดจากดอกไม้เพียงดอกเดียว แต่เกิดจากการรวมตัวกันแล้วส่งกลิ่นหอมอันควรค่าแก่การรักษา


ooooo>>>>>ooooo


https://www.sarakadee.com/2017/10/23/close-day/
History


ใกล้วันที่ไม่อยากให้มาถึง
23 ตุลาคม 2017


#ใกล้วันที่ไม่อยากให้มาถึง:
ซ้อมย่อยริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ

ก่อนรุ่งสางของวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๖๐
รอบท้องสนามหลวงคลาคล่ำด้วยผู้คน
ที่มารอผ่านจุดคัดกรองเข้าชมการซ้อมย่อย
ริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศเสมือนจริง
เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
.
๙.๐๙ น. กองพันทหารปืนใหญ่รักษาพระองค์ยิงสลุตเป็นสัญญาณ
ริ้วขบวนฯ ที่มีพระบรมวงศานุวงศ์ ราชสกุล ทหารกองเกียรติยศสามเหล่าทัพ
ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องกว่า ๓,๐๐๐ คน
เคลื่อนตัวอย่างช้าๆ
สง่างาม แน่วแน่ ไม่หวั่นไหว
ทุกคนตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ถวายพระจอมจักรินทร์
เพื่อผดุงไว้ซึ่งพระเกียรติยศสูงสุด
.
แม้มีพยากรณ์อากาศว่าฝนอาจตก
แต่การณ์กลับกลาย
สภาพอากาศเอื้อให้การซ้อมเป็นไปอย่างราบรื่น
ความงดงามและพร้อมเพรียงของริ้วขบวนฯ 
สะกดตรึงผู้ชมแทบลืมหายใจ
เมื่อพระมหาพิชัยราชรถเคลื่อนผ่าน
ปี่กลองกำสรวลเศร้า
ระงมเสียงสะอื้นไห้ทั่วท้องทุ่งพระเมรุ

คำ : วิชญดา ทองแดง





















10



















20

















ooooo>>>>>ooooo 

Logged
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
*****
Offline Offline

Posts: 8,503


View Profile
« Reply #2 on: 16 February 2022, 15:31:35 »


https://www.sarakadee.com/2017/10/24/night-day/
History


ภาพชุด จากคืนสู่วัน
24 ตุลาคม 2017 ณัชชา เจียรไพศาลเจริญ : ภาพ


#จากคืนสู่วัน

ตั้งแต่ช่วงหัวค่ำของคืนก่อนหน้า 
ทั้งหนุ่มสาว คนเฒ่าคนแก่ จนถึงเด็กๆ
เริ่มทยอยมาเฝ้ารอ

ยิ่งดึก คนยิ่งมากขึ้นเรื่อยๆ
จนถึงเช้าวันใหม่  ผู้คนล้นหลาม
แถวแนวต่อเรียงกัน ยาวเหยียดไปไกล

ประชาชนที่ผ่านจุดคัดกรองเข้ามาแล้ว
ต่างมาจับจองที่นั่งเพื่อเฝ้าชมให้ได้ใกล้ชิดที่สุด
ทุกคนห่อหุ้มร่างกายด้วยเสื้อผ้าไว้ทุกข์สีดำ
แม้แต่ร่มที่กางกันแดดแผดกล้า
ทุกคนรู้ดีว่านี่คือการซ้อมใหญ่

แต่เมื่อริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศเคลื่อนผ่าน
ความสง่างามสมพระเกียรติยศของริ้วขบวน
ราชรถอันเป็นประดุจสัญลักษณ์แห่งราชประเพณี
อันสืบทอดมาโดยไม่ขาดสาย

ในท่ามกลางบรรยากาศแห่งความศักดิ์สิทธิ์
และความอาดูรเมื่อนึกถึงวันพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพที่ใกล้เข้ามา
ทั้งประชาชนและเจ้าหน้าที่ต่างพร้อมเพรียงกันถวายบังคม
โดยมิต้องนัดหมาย

คำ : ศรัณย์ ทองปาน





















10





















ooooo>>>>>ooooo


https://www.sarakadee.com/2017/10/25/buppa/
History


ร้อยบุปผาถวายพระทรงธรรม
25 ตุลาคม 2017


#ร้อยบุปผาถวายพระทรงธรรม

วันพุธที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๖๐
ทันทีที่มูลนิธิมิราเคิลออฟไลฟ์
ร่วมกับประชาชนและชุมชนปากคลองตลาด
ประกาศผ่านเพจเพื่อรับสมัครจิตอาสา
ร้อยดอกดาวเรืองและจัดดอกไม้ประดับตกแต่ง
ในโครงการ “ดอกไม้เพื่อพ่อ”
ก็มีผู้สมัครเข้าร่วมท่วมท้น
.
วันพฤหัสบดีที่ ๑๙ ตุลาคม
คาราวานรถส่งดอกไม้จากทุกภูมิภาค
นำดอกดาวเรืองกว่า ๔ ล้านดอกมายังปากคลองตลาด

กลุ่มเกษตรกรชาวม้งจากอำเภอพบพระ จังหวัดตาก
ผู้ปลูกดอกไม้ขายส่งปากคลองตลาดมาเนิ่นนาน
นำดอกดาวเรืองที่ตั้งใจปลูกอย่างทนุถนอม
มาส่งมอบ และร่วมร้อยดอกไม้อย่างมุ่งมั่น

จิตอาสาหลายร้อยคนช่วยกันเด็ดดอกดาวเรืองขมีขมัน
และทำทุกอย่างเท่าที่จะเอื้อให้ช่างดอกไม้ทำงานได้สะดวก
นับแต่นั้นมา ตลอดค่ำคืนจนเช้า อรุณรุ่งถึงพลบค่ำ
ทุกมือทุกใจร่วมเร่งประดับดอกไม้งามให้สมบูรณ์ที่สุด

คุณพรสมใจ ฮวดหุ่น แกนนำผู้หนึ่งกล่าวไว้ว่า

“งานดอกไม้ครั้งนี้ไม่ใช่งานที่ดีที่สุดของประเทศ
ไม่ใช่ใช้ดอกไม้ที่สวยที่สุดในประเทศ
แต่เป็นภาพของคนดอกไม้ในประเทศที่จะทำงานร่วมกัน”
.
ตลอดหลายร้อยเมตรของความยาวถนน
หมื่นแสนบุปผาบานพร้อมพรัก
ร้อยรัดหัวใจชาวปากคลองตลาด
กับ “คนดอกไม้” รวมถึงจิตอาสาร้อยพัน
ร่วมกันเป็นหนึ่งเดียว

คำ : วิชญดา ทองแดง





















10

















ooooo>>>>>ooooo


https://www.sarakadee.com/2017/10/28/dokmaijun/
History


ภาพชุด ถวายดอกไม้จันทน์
28 ตุลาคม 2017


#ถวายดอกไม้จันทน์

ตลอดวันประชาชนต่อแถวตามซุ้มถวายดอกไม้จันทน์ที่กระจายอยู่ตามชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ

ซุ้มถวายดอกไม้จันทน์จำนวนมากตั้งอยู่ในวัด แต่ก็ยังมีตามสวนสาธารณะ สถานศึกษา สถานที่ราชการ ตลอดจนพื้นที่สาธารณะอื่นๆ โดยทุกแห่งจะมีรูปแบบของซุ้มและพิธีการในแบบแผนเดียวกันทั้งหมด

เจ้าหน้าที่หลายท่านพยายามบอกประชาชนว่า แม้เข้าไปในบริเวณซุ้มถวายดอกไม้จันทน์รอบท้องสนามหลวงไม่ได้ก็ไม่ต้องเสียใจ เพราะตามซุ้มต่างๆ ที่เตรียมไว้ให้ก็กราบถวายบังคมลาพระองค์ท่านได้ไม่แตกต่างกัน

คำ : อัมพร ทรงกลด





















10



















ooooo>>>>>ooooo 

Logged
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
*****
Offline Offline

Posts: 8,503


View Profile
« Reply #3 on: 16 February 2022, 15:32:53 »


https://www.sarakadee.com/2017/10/29/lookmai/
History


ลูกไม้ใต้ต้น
29 ตุลาคม 2017

เรื่อง : พรรณภา แสงยะรักษ์
ภาพ : กาญจนา สุระประพันธ์






“ลูกไม้ใต้ต้น” ตัวหนังสือสีเหลืองเด่นกลางเสื้อดำที่ภาณี หลุยเจริญ สวม

เธอเป็นนักเขียน แต่นั่นไม่ใช่นามปากกาของเธอ

หากแต่มีความหมายว่า เธอเป็นหนึ่งในบรรดาลูกไม้ใต้ต้นไม้พันธุ์ดี คือในหลวงรัชกาลที่ ๙

ย้อนไปเมื่อ ๑๕ ปีก่อน เมื่อภาณีสมัครเข้าร่วมโครงการเขียนเรื่องสั้น “ทำดีถวายในหลวง” เธอได้อ่านหนังสือแจกฟรีเล่มหนึ่ง ชื่อ “มหาราชายอดกตัญญู” ซึ่งมีข้อความว่า “การทำดีที่ดีที่สุด คือการเป็นลูกที่ดีของพ่อแม่”

“พี่อ่านแล้วรู้สึกว่าในหลวงท่านทรงทำมาโดยตลอด แม้พระองค์จะทรงงานหนักขนาดไหน ก็ยังดูแลแม่ของพระองค์ได้อย่างไม่มีข้อบกพร่อง” เธอเล่าด้วยน้ำเสียงตื้นตัน

ข้อความนั้นนำไปสู่การเขียนเรื่องสั้นว่าด้วยความกตัญญู ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศ

นั่นคือจุดเริ่มต้นของอาชีพนักเขียนที่เธอรัก และนามปากกา “กานท์ชญา” ที่เธอใช้ในปัจจุบัน

“พี่มาที่นี่เพราะพี่คิดว่าต้องทำอะไรเพื่อท่านบ้าง” เธอกล่าวทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้ม ก่อนจะหันไปหยิบยื่นยาดมและลูกอมให้แก่ผู้ที่มาร่วมงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพบริเวณถนนราชดำเนินต่อ


ooooo>>>>>ooooo


https://www.sarakadee.com/2017/11/02/notebook/
History


สมุดภาพของพ่อ
2 พฤศจิกายน 2017
พรไพลิน จิระอดุลย์วงค์ : เรื่อง
ณัฐพล สุวรรณภักดี : ภาพ





#สมุดภาพของพ่อ

ชายไทยเชื้อสายจีนสูงวัยนั่งเก้าอี้
พลางแจก “สมุดภาพของพ่อ”
ท่ามกลางหมู่มวลประชาชนที่มารอรับ
เขาตั้งใจหยิบสมุดภาพทุกเล่มส่งให้กับมือผู้รับ
อย่างที่โรงพิมพ์แห่งหนึ่งจะส่งต่อความดีเพื่อพ่อได้

๒๖ ตุลาคม ๒๕๖๐
กิจการครอบครัวของโรงพิมพ์อุดมศึกษา
กลับมาเปิดทำการชั่วคราวในย่านเมืองเก่าอีกครั้ง
“ไม่ต้องบันทึกหรอก ว่าผมเป็นใคร”
ชายร่างท้วมผมสีดอกเลายืนยัน
พลางหยิบสมุดภาพพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวงรัชกาลที่ ๙
เล่มแล้วเล่มเล่า
ส่งต่ออย่างไม่รู้จักเหน็ดจักเหนื่อย
..
บันทึก : พรไพลิน จิระอดุลย์วงค์
ภาพ : ณัฐพล สุวรรณภักดี


ooooo>>>>>ooooo


https://www.sarakadee.com/2017/11/02/under-halo/
History


ใต้ร่มพระบารมีจักรีวงศ์
2 พฤศจิกายน 2017


#ใต้ร่มพระบารมีจักรีวงศ์

ใกล้เที่ยงคืนของวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๖๐ หน่วยงานราชการ ห้างร้าน และประชาชนทยอยเก็บผ้าระบายและป้ายถวายการอาลัย ผ้าขาวดำที่เป็นเครื่องหมายไว้ทุกข์ (ยกเว้นภาพพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ -ขึ้นอยู่กับความสมัครใจ ซึ่งถือเป็นการถวายพระเกียรติพระองค์ท่าน) ตามที่รัฐบาล และกอร. พระราชพิธีฯ มีประกาศออกมาก่อนหน้านี้

๓๐ ตุลาคม ๒๕๖๐ วันนี้แม้หันไปทางใดยังคงมีโศกในรอยยิ้มที่ต่างหยิบยื่นให้กัน ทว่าพสกนิกรใต้ร่มบารมีจักรีวงศ์ต่างตระหนักดีว่า เราโชคดีเพียงใดที่ได้เกิดในแผ่นดินนี้ แผ่นดินที่สมเด็จพระบุรพกษัตริย์ทรงเปี่ยมบารมีและกอปรด้วยพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น

ขอพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลใหม่ทรงพระเจริญ

คำ : วิชญดา ทองแดง







ooooo>>>>>ooooo


https://www.sarakadee.com/2017/11/02/last-close/
History


ครั้งสุดท้ายแล้วที่จะได้ใกล้ชิดพระองค์
2 พฤศจิกายน 2017
สโรชา ถาวรศิลสุระกุล : เรื่อง
ณัฐพล สุวรรณภักดี : ภาพ





#ครั้งสุดท้ายแล้วที่จะได้ใกล้ชิดพระองค์

“เขาให้มาตอนลุงไปถวายดอกไม้จันทน์”
ชายชราร่างผอมบนเก้าอี้ริมคลองข้างวัดราชบพิธฯ บรรจงเอาผ้าห่อพระเครื่ององค์เล็กๆ สีขาวอย่างเบามือ
ลุงขยับตัวเชื่องช้า พูดพลางยิ้ม

ลุงจอม วัย ๗๗ ปี ย้ายจากสิงห์บุรีมาอยู่สมุทรปราการตั้งแต่หนุ่มๆ เคยเห็นในหลวงผ่านโทรทัศน์ และเคยมีโอกาสรับเสด็จ

“ถ้าได้ข่าวว่าในหลวงจะมา ลุงก็จะเฝ้ารอรับเสด็จพระองค์ท่านทุกครั้ง”

แม้แววตาของลุงจะไม่สดใสดั่งหนุ่มสาว หากแต่ฉายความรู้สึกปลาบปลื้ม

“วันนี้ให้ลูกหลานพามา ลุงเข้าไปไม่ไหวหรอกแต่ก็อยากมา เป็นครั้งสุดท้ายแล้วที่จะได้ใกล้ชิดพระองค์”

..

คำ : สโรชา ถาวรศิลสุระกุล
ภาพ : ณัฐพล สุวรรณภักดี


ooooo>>>>>ooooo

Logged
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
*****
Offline Offline

Posts: 8,503


View Profile
« Reply #4 on: 16 February 2022, 15:34:12 »


https://www.sarakadee.com/2017/11/03/far-like-close/
History


ไกลก็เหมือนใกล้
3 พฤศจิกายน 2017
สโรชา ถาวรศิลสุระกุล : เรื่อง
ณัฐพล สุวรรณภักดี : ภาพ





#ไกลก็เหมือนใกล้

“ผัดหมี่ร้อนๆ ไหมครับ”
ยินเสียงเบาๆ ร้องเรียกอย่างเก้อเขิน
เมื่อเดินผ่านแยกบางขุนพรหม
รอยยิ้มของชายตรงหน้า
ทำให้ไม่อาจปฏิเสธ
ผัดหมี่ห่อนั้นร้อนจริงอย่างที่เขาบอก…

ตุ้ย วัย ๓๙ ปี และครอบครัว
เดินทางจากจังหวัดนครราชสีมา
ตั้งแต่วันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๕๖๐
ขอพำนักในวัดอินทรวิหาร
โดยนำอุปกรณ์ประกอบอาหารติดตัวมาจากโคราช
มาผัดหมี่ร้อนๆ แจกจ่าย ประหนึ่งโรงทาน

“เข้าไปข้างในมาหรือยังคะ ?”
“ยังเลย เราคงไม่มีโอกาสเข้าไปหรอก”
ตุ้ยยิ้มเศร้าๆ พลางบอกว่าเขายินดีที่ได้ทำหน้าที่นี้
และได้เป็นส่วนหนึ่งในเหตุการณ์ครั้งประวัติศาสตร์
เหตุการณ์ที่คนไทยทุกคนไม่อาจลืมเลือนไปจนชั่วชีวิต

คำ : สโรชา ถาวรศิลสุระกุล
ภาพ : ณัฐพล สุวรรณภักดี


ooooo>>>>>ooooo


https://www.sarakadee.com/2017/11/03/older-and-king/
HistoryPhoto Essay


ภาพชุด กายไม่อาจกั้นใจจงรัก
3 พฤศจิกายน 2017


#กายไม่อาจกั้นใจจงรัก

โดยไม่ได้นัดหมาย
คนสูงวัยและกายไม่พร้อมกลุ่มใหญ่มารวมกันที่โรงพยาบาลศิริราช ในเช้าวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๖๐
ส่วนมากมาโดยลำพัง มีจิตอาสาคอยให้ความช่วยเหลือ

“ขาเจ็บ หมอนัดผ่าตัดต้นเดือนหน้า แต่วันนี้ต้องมา พูดได้คำเดียวเพราะรักในหลวง” สุพร กาญจน์วิเศษ พูดจากบนรถเข็น
เธอเดินทางจากรามอินทรามาถึงศิริราช ตั้งแต่เที่ยงวันที่ ๒๕ ตุลาคม ค้างคืนในโรงพยาบาล พอตีสาม จิตอาสาพามาเข้าคิวรอลงทะเบียนวางดอกไม้จันทน์
เธอได้คิวที่ ๘ และได้วางดอกไม้จันทน์แถวที่ ๒ ของกลุ่มวีลแชร์ พร้อมกับ ดิลก ดุษฎีวนิช ที่เดินทางมาจากบางแคเพียงลำพังเช่นกัน

“ลูกไปวางที่นครปฐม ภรรยาก็ขาไม่ดี ผมนั่งแท็กซี่มาคนเดียว”

เช่นเดียวกับ ปราณีต บุญญานุวัตร คุณยายวัย ๘๕ ปี อาศัยอยู่ย่านศิริราช ลูกสาวเป็นข้าราชการไปร่วมพิธีที่สนามหลวง แต่ยายเลือกนั่งจักรยานยนต์รับจ้างมาศิริราช

“ยายยังไหว แต่จิตอาสาบอกให้นั่งรถเข็นเขาว่าต้องเดินไกล กลัวยายจะไม่ไหว ยายมาวางดอกไม้ขอให้ท่านไปสู่สรวงสวรรค์ ประชาชนจะทำบุญไปให้ทุกวัน”

ขณะที่ดิลกเล่าความในใจที่ทำให้เขาต้องมาที่นี่ในวันนี้ว่า

“รู้สึกใจหายตั้งแต่วันแรก แต่วันนี้ยิ่งหนักเพราะท่านจะหายไปเลย จะหาอย่างไรก็หาไม่เจอแล้วในชาตินี้ หรือเกิดอีกสิบชาติก็อาจไม่เจอ”
ข้าราชการเกษียณ วัย ๗๘ ปี พูดด้วยเสียงสะอื้น น้ำตารื้น

เรื่องและภาพ : วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง













ooooo>>>>>ooooo 

Logged
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
*****
Offline Offline

Posts: 8,503


View Profile
« Reply #5 on: 16 February 2022, 15:35:38 »


https://www.sarakadee.com/2017/11/04/poom-pisek/
History


๏ ภูมิภิเศก ๏
4 พฤศจิกายน 2017 ประเวช ตันตราภิมย์ : ภาพ





๏ ภูมิภิเศก ๏

๏ “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม”

ปฐมบทวาทกรรมพระราชดำรัส
ปณิธานภูมิไผทพิสัยทัศน์
พระร่มฉัตร ร่มแคว้น ร่มแผ่นดิน”
เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชน-
ชาวสยาม” บันดลบรรโดยถิ่น
หทัยปเทศประทับแล้วแก้วธรณิน
ภิเศกภูมิ ภูมินทร์ ปิ่นนัคราภิเศกศักดิ์จักรามหาราช
ภิเศกศรีพุทธศาสน์ ร่มศาสนา
ภิเศกศิลป์สมัย พิชัยประชา
ภิเศกอารยะยุค อยู่ยรรยง
ภูมิพลังแผ่นดินดำรงสถิต
ภูมิพระราชกรณียกิจสัมฤทธิ์ประสง
ภูมิประชาจงรัก ภักดีพระองค์
ภูมิพระทรงสถิตในหทัยนิรันดร์

 
เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ประพันธ์
ประเวช ตันตราภิรมย์ ถ่ายภาพ

นิตยสารสารคดี ฉบับ ๓๙๒


ooooo>>>>>ooooo


https://www.sarakadee.com/2017/11/05/raining/
History


ฝนตกแต่ไม่ถอย
5 พฤศจิกายน 2017


#ฝนตกแต่ไม่ถอย

“ทำงานอยู่สถาบันอาหาร
ใกล้ๆ ซุ้มถวายดอกไม้จันทน์
ใต้สะพานพระราม ๘ นี่แหละ
รู้สึกประทับใจในพระราชกรณียกิจ
ที่ทำให้คนไทยอยู่ดีกินดีตลอดมา
เราต่อแถวตอนบ่ายโมงครึ่ง
ราวสองชั่วโมงผ่านไป ฝนตกแรง
แต่ไม่มีใครถอย…น้ำตาไหล
เข้าใจว่าทุกคนจะรอถวายให้ได้
เหมือนที่เราก็ตั้งใจอย่างนั้น”
..

นฤมล คงทน
หนึ่งในประชาชนที่มาถวายดอกไม้จันทน์

เก็บเรื่องจากพื้นที่ : อัมพร ทรงกลด




ooooo>>>>>ooooo


https://www.sarakadee.com/2017/11/08/image-coin/
History


รูปบนเหรียญ
8 พฤศจิกายน 2017


#รูปบนเหรียญ

สมาชิกของ “อาทิตย์เพื่อสุขภาพ” (Healthy sun) กลุ่มขี่จักรยานเพื่อสุขภาพในวันอาทิตย์ ร่วมกันทำกิจกรรมพิเศษในวันถวายพระเพลิงพระบรมศพ ด้วยการนำถุงผ้าใบเล็กๆ แบบที่เคยใช้บรรจุ “ข้าวพอเพียง” มอบแก่ประชาชนที่เข้าไปถวายบังคมพระบรมศพเมื่อปี ๒๕๕๙ แต่อยู่ในสภาพชำรุด กลับมารีไซเคิลซ่อมแซม แล้วใส่เหรียญ ๑ บาท ที่มีพระบรมสาทิศลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ ๙ แจกจ่ายให้ผู้เข้าร่วมงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ในวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๖๐ เพื่อเป็นที่ระลึก ปราณี หมื่นศักดา หรือคุณแหม่ม หนึ่งในแกนนำกลุ่ม บอกกับ “สารคดี” ว่า

“เราเสียดาย เพราะนี่เป็นภาษีประชาชน จึงขออนุญาตนำถุงที่ต้องถูกทำลายเหล่านี้ กลับมาทำกิจกรรม แจกคืนให้แก่ “ประชาชนของพระราชา”…

“เราได้ยินคำว่า “ครั้งสุดท้าย” บ่อยครั้งจากหลายสำนักข่าว รู้สึกสะท้อนใจ

“นี่อาจเป็นครั้งสุดท้ายจริงๆ ในชีวิตของพวกเราทุกคน ที่จะได้ทำอะไรเพื่อพระองค์ท่าน”

เก็บเรื่องจากพื้นที่ : อัมพร ทรงกลด







ooooo>>>>>ooooo 

Logged
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
*****
Offline Offline

Posts: 8,503


View Profile
« Reply #6 on: 16 February 2022, 15:36:54 »


https://www.sarakadee.com/2017/11/09/volunteer/
History


น้ำใจอาสาเปิดบ้านแบ่งปันอาหาร
9 พฤศจิกายน 2017


#น้ำใจอาสาเปิดบ้านแบ่งปันอาหาร
อาภาวินี อินทะรังสี เติบโตมาในบ้าน “วรรณโกวิท” ถนนราชดำเนินกลาง บนที่ดินพระราชทานสมัยรัชกาลที่ ๖

เธอเล่าว่าตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ เสมอแทบทุกครั้งที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินผ่าน ด้วยความจงรักภักดีเป็นอย่างยิ่ง
เมื่อเห็นผู้ที่มาปักหลักเฝ้ารอเข้าจุดคัดกรองบริเวณโรงแรมรัตนโกสินทร์กระทั่งปลายแถวล้นมาถึงหน้าบ้าน แม้เธอไม่ได้เป็นจิตอาสาเฉพาะกิจในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ แต่ในฐานะเพื่อนมนุษย์และพสกนิกรคนหนึ่งของพระราชาผู้เป็นที่เทิดทูนเหนือชีวิต เธอจึงนำอาหารและเครื่องดื่มมาแจกจ่ายแบ่งปันให้แก่ประชาชนที่มาเข้าแถวกันอยู่หน้าบ้าน ตั้งแต่ช่วงหัวค่ำ เรื่อยไปจนกว่าของหลายร้อยชุดที่ตั้งใจเตรียมไว้จะหมด

“เราต้องดูแลคนที่รักในหลวงให้ดีที่สุด ตามกำลังที่เราทำได้” เธอให้เหตุผล

รายงาน : ชัยลภัส จารุณาคร ภาพ : กัญญารัตน์ ชัยชิตาทร













ooooo>>>>>ooooo


https://www.sarakadee.com/2017/11/08/chaopaoh/
CommunitiesHistory


เรื่องเล่าจากงานพระเมรุ ๑ – ในหลวงของชาวปะโอ
8 พฤศจิกายน 2017


สารคดี – เรื่องเล่าจากงานพระเมรุ ๑
#ในหลวงของชาวปะโอ

เสื้อผ้าสีน้ำเงินเข้ม โพกผ้ารอบศีรษะหลากหลาย
แสดงอัตลักษณ์กลุ่มชาติพันธุ์ปะโอ (ตองสู)
ซึ่งอาศัยอยู่แถบจังหวัดแม่ฮ่องสอน ลำปาง และเชียงใหม่
พวกเขากว่า ๒๐๐ ชีวิตเดินทางไกลหลายร้อยกิโลเมตร
มุ่งหน้าสู่กรุงเทพมหานคร
เพื่อร่วมส่งเสด็จพระมหากษัตริย์
อันเป็นที่รักยิ่งเป็นครั้งสุดท้าย



ขิน จองนัน หนุ่มปะโอวัย ๔๕ ปี
ผู้ประสานงานเครือข่ายเยาวชนกลุ่มชาติพันธุ์ปะโอ จังหวัดแม่ฮ่องสอน
เล่าด้วยสีหน้าสร้อยเศร้าว่า
“เราชาวปะโอเคยเดินทางมากราบพระบรมศพ
เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว
พร้อมกลุ่มชาติพันธุ์อีกหลายกลุ่ม
“เราตัดสินใจเดินทางมาอีกครั้ง
เผื่อส่งเสด็จในหลวงของเราเป็นครั้งสุดท้าย
ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ
ที่มีต่อชาวปะโอ
และกลุ่มชาติพันธ์มากมายในแผ่นดินนี้”

เรื่องและภาพ แทนไท นามเสน
เขียนเมื่อ ๐๗.๓๐ น. ๒๖ ตุลาคม ๒๕๖๐











ooooo>>>>>ooooo 

Logged
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
*****
Offline Offline

Posts: 8,503


View Profile
« Reply #7 on: 16 February 2022, 15:38:12 »


https://www.sarakadee.com/2017/11/11/flower-for-dad/
History


ภาพชุด ดอกไม้เพื่อพ่อ
11 พฤศจิกายน 2017


#ดอกไม้เพื่อพ่อ

๐๕.๓๐ นาฬิกา วันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๖๐ ที่ซุ้ม “ดอกไม้เพื่อพ่อ” บนถนนจักรเพชร ย่านปากคลองตลาด ซึ่งจัดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างมูลนิธิมิราเคิลออฟไลฟ์ ชุมชนปากคลองตลาด และประชาชนจิตอาสา ยังคงมีประชาชนจำนวนมากเดินทางมาบันทึกภาพความงดงามของดอกไม้อย่างไม่ขาดสาย โดยมีเจ้าหน้าที่อาสาจากมูลนิธิมิราเคิลออฟไลฟ์ คอยความดูแลอำนวยความสะดวกอย่างใกล้ชิด

“ถ่ายรูปให้ไหมครับ”
“อย่ายืนขวางทางออกนะครับ”
“เดินสวนกลับเข้ามาไม่ได้นะคะ เดี๋ยวชนคนที่เพิ่งเข้ามาค่ะ”

“ดอกไม้เพื่อพ่อ” เปิดให้เข้าชื่นชมจนถึงวันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๖๐ โดยในระหว่างเวลา ๑๖.๐๐-๐๐.๐๐ นาฬิกา ของวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๖๐ จะปิดชั่วคราว เพื่อไม่ให้เป็นการรบกวน งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่มาถวายดอกไม้จันทน์ ณ พระเมรุมาศจำลอง ลานพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

คำ : พรรณภา แสงยะรักษ์
ภาพ : ภาณุรุจ พงษ์วะสา











ooooo>>>>>ooooo


https://www.sarakadee.com/2017/11/11/phrameru/
History


สารคดี – เรื่องเล่าจากงานพระเมรุ ๒
11 พฤศจิกายน 2017 เสาวลักษณ์ เชื้อคำ : เรื่อง ธนัชพร รัตนธรรม : ภาพ นิสากรณ์ ปิตุยะ : ภาพ


บริเวณพระเมรุมาศจำลอง ณ พระลานพระราชวังดุสิต (ลานพระบรมรูปทรงม้า)

หลายชั่วโมงก่อนเปิดให้ถวายดอกไม้จันทน์
มีประชาชนจำนวนมากมาชุมนุมกันเฝ้ารอ
อย่างไม่ย่อท้อต่อสภาพอากาศอบอ้าว
ทิวแถวยาวตลอดถนนราชดำเนินนอก ฝั่งหน้าวังปารุสกวัน
และยังคงมีคนทยอยมาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

ขณะเดียวกันมีจิตอาสาคอยดูแล แจกจ่ายอาหาร น้ำดื่ม
และของใช้จำเป็น เช่น ยาสีฟัน แปรงสีฟัน พัด ฯลฯ
รวมถึงเก็บขยะและทำความสะอาดบริเวณโดยรอบอย่างแข็งขัน



คำ : เสาวลักษณ์ เชื้อคำ













ooooo>>>>>ooooo


https://www.sarakadee.com/2017/11/11/heart-to-meal/
History


จากใจใส่จาน
11 พฤศจิกายน 2017


#จากใจใส่จาน

“อาหารสุกใหม่ เสิร์ฟร้อนทันที จากเชฟมืออาชีพ จากโรงครัวที่มีอุปกรณ์ระดับโรงแรม”

สมศักดิ์ รารองคำ นายกสมาคมเชฟประเทศไทย อธิบายแนวคิดหลักของโรงจัดเลี้ยงพระราชทาน วัดเทพธิดาราม ซึ่งปรุงอาหารระดับโรงแรมห้าดาวบริการฟรีให้แก่ประชาชนในวันงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพเป็นวันสุดท้าย

นอกจากเมนูอาหารพระราชทานสี่เมนูหลัก ได้แก่ บะหมี่เป็ด ไก่ผัดเล่าปี่ สปาเกตตีมิลานเนส และไก่ผัดขิง แล้ว ทั้งเชฟชาวไทยและเชฟต่างชาติทุกคนของสมาคมเชฟประเทศไทยยังช่วยกันคนละไม้ละมือ รังสรรค์เมนูพิเศษ เช่นซาละเปาไส้เป็ด ที่ทดลองทำกันขึ้นมาสดๆ ร้อนๆ เพื่อใช้วัตถุดิบที่มีผู้บริจาคมาอย่างคุ้มค่า ไม่ให้มีของเหลือทิ้ง

“ยิ่งเห็นประชาชนไม่ถอย เราก็ถอยไม่ได้อยู่แล้ว เชฟทุกคนตั้งใจทำถวายในหลวงรัชกาลที่ ๙ ให้ดีที่สุด ผ่านอาหารทุกจาน” นายกสมาคมเชฟประเทศไทยยืนยันแทนเชฟจิตอาสาทุกคน

รายงาน : ชัยลภัส จารุณาคร
ภาพ : กัญญารัตน์ ชัยชิตาทร









ooooo>>>>>ooooo

Logged
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
*****
Offline Offline

Posts: 8,503


View Profile
« Reply #8 on: 16 February 2022, 15:39:46 »


https://www.sarakadee.com/2017/11/12/same-father/
History


ภาพชุด พ่อคนเดียวกัน
12 พฤศจิกายน 2017
เสาวลักษณ์ เชื้อคำ : เรื่อง
กาญจนา สุระประพันธ์ : ภาพ


เจ็ดโมงเช้า ๒๖ ตุลาคม ๒๕๖๐ ที่แยกผ่านฟ้าลีลาศ กลุ่มจิตอาสาซึ่งเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนในเขตกรุงเทพมหานคร กำลังรับฟังคำชี้แจงรายละเอียดงาน ก่อนออกปฏิบัติหน้าที่แจกจ่ายยาสามัญให้แก่ผู้เข้าร่วมพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ

ยาแก้ปวด ยาแก้ไข ยาลดน้ำมูก ยาแก้วิงเวียนศีรษะ ถูกบรรจุในซองขนาดเล็ก พร้อมส่งต่อให้แก่ผู้ต้องการ ยาเหล่านี้จำเป็นมาก โดยเฉพาะสำหรับประชาชนที่เดินทางมาล่วงหน้า หลายคนต้องผ่านมาทั้งพายุฝนและแสงแดดจัด ซึ่งล้วนเป็นสภาพอากาศที่อาจส่งผลต่อสุขภาพร่างกายได้

นายแพทย์พงษ์เกษม ไข่มุกด์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต ผู้ทำหน้าที่ควบคุมดูแลน้องๆ จิตอาสาวัยมัธยมเหล่านี้ เล่าถึงความเป็นมาของการนำจิตอาสาจากโครงการ To Be Number One มาร่วมดูแลประชาชน ณ บริเวณโดยรอบมณฑลพิธีท้องสนามหลวง ว่า

“ทูลกระหม่อมหญิงฯ (ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี) ทรงมีพระดำรัสอยู่เสมอว่า เรามีพ่อหลวงคนเดียวกัน พ่อคนเดียวกับฉันเลย”

เรื่อง : เสาวลักษณ์ เชื้อคำ
ภาพ : กาญจนา สุระประพันธ์









ooooo>>>>>ooooo


https://www.sarakadee.com/2017/11/13/one-king/
History


ภาพชุด เรามีในหลวงองค์เดียวกัน
13 พฤศจิกายน 2017


#เรามีในหลวงองค์เดียวกัน

๒๖ ตุลาคม ๒๕๖๐

ทุกขณะที่หัวใจทุกดวง ร่วมขบวนแถวยาวเหยียด มุ่งหน้าสู่มณฑลพิธีท้องสนามหลวง เพื่อร่วมชมริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และรอร่วมพิธีถวายดอกไม้จันทน์ ณ พระเมรุมาศจำลอง ซึ่งเปิดให้ประชาชนร่วมพิธีถวายดอกไม้จันทน์ช่วงแรกระหว่างเวลา ๙.๐๐ – ๑๖.๓๐ นาฬิกา

ยังมีประชาชนอีกกลุ่มหนึ่งสละโอกาสนั้น
แล้วสมัครใจทำหน้าที่ “จิตอาสา” บำเพ็ญประโยชน์ตามกำลังความสามารถที่ตนถนัด
บ้างปรุงอาหาร แจกอาหาร-เครื่องดื่ม เก็บขยะ ช่วยงานการแพทย์ บริการขนส่ง ฯลฯ
อำนวยความสะดวกแก่ปวงชนชาวไทยที่มีใจอุตสาหะต่อแถวกันอย่างล้นหลามข้ามวันข้ามคืน

พวกเขาทำงานอย่างแข็งขันท่ามกลางแดดกล้า คล้ายไม่รู้จักเหน็ดจักเหนื่อย ด้วยเพราะมีหมุดหมาย คือได้ร่วมแสดงความจงรักภักดี และถวายเป็นพระราชกุศลแด่ในหลวง รัชกาลที่ ๙

เกือบทุกคนที่ได้พูดคุยสอบถาม คิดเห็นคล้ายกัน คือไม่มีกำหนดว่าจะหยุดพักเมื่อไร
รู้เพียงหากแถวประชาชนยังไม่หมด พวกเขาก็จะยังไม่กลับ

เพราะสำหรับบางคนแล้ว น้ำใจเพียงเล็กน้อยที่ได้รับจากเพื่อนมนุษย์ในยามอ่อนล้า เพลียแดด ท้องหิว
อาจเป็นความทรงจำยิ่งใหญ่ให้จดจารไว้กลางดวงใจไปตลอดชีวิต

รายงาน / ภาพ : สุชาดา ลิมป์





















ooooo>>>>>ooooo


https://www.sarakadee.com/2018/01/15/rue-torn/
History


เริ่มต้นรื้อถอนพระเมรุมาศ
15 มกราคม 2018 จิตรทิวัส พรประเสริฐ : ภาพ


เริ่มต้นรื้อถอนพระเมรุมาศ

๑๐.๑๙ น. วันพฤหัสบดีที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๖๑

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร โปรดเกล้าฯ ให้พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี ผู้แทนพระองค์ เป็นประธานประกอบพิธีรื้อถอนพระเมรุมาศในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง

พิธีรื้อถอนพระเมรุมาศเริ่มจากหัวหน้าพราหมณ์อ่านโองการบวงสรวง ประธานในพิธีเคาะค้อนลงชาลาหน้าพระเมรุมาศสามครั้ง โหรพราหมณ์ลั่นฆ้องชัย สังข์ บัณเฑาะว์ จากนั้นเจ้าหน้าที่บนกระเช้ารถเครน อัญเชิญนพปฎลมหาเศวตฉัตรที่ประดิษฐาน ณ ยอดพระเมรุมาศลง

การรื้อถอนจะใช้เวลาราวสองเดือน โดยพระจิตกาธาน พระโกศจันทน์ หีบพระบรมศพจันทน์ และฉากบังเพลิงหนึ่งทิศจะนำไปจัดแสดงไว้ ณ โรงราชรถ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ส่วนอาคารประกอบพระเมรุมาศบางส่วนและฉากบังเพลิงด้านอื่นๆ จะรื้อย้ายไปสร้างขึ้นใหม่ที่สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร จังหวัดนครปฐม และสร้างเป็นอาคารจัดแสดงนิทรรศการงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี

นับจากนี้ สิ่งที่จะคงอยู่นิรันดร์คือความทรงจำถึงยุครัชกาลที่ ๙ รัชสมัยแห่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระราชกรณียกิจ พระราชดำรัส และพระมหากรุณาธิคุณนานัปการ จะยังคงสถิตอยู่ในหัวใจของพสกนิกรไทยที่เกิดและเติบโตขึ้นในแผ่นดินของพระองค์ตราบนานเท่านาน

ภาพ : จิตรทิวัส พรประเสริฐ
คำ : วิชญดา ทองแดง















ooooo>>>>>ooooo


Logged
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
*****
Offline Offline

Posts: 8,503


View Profile
« Reply #9 on: 16 February 2022, 18:02:39 »


https://www.sarakadee.com/2017/05/04/sumeru/
Culture


พระสุเมรุกลางเมือง
4 พฤษภาคม 2017


ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์
คำ : ศรัณย์ ทองปาน

เหล็กท่อนค่อยๆ ผนึกเชื่อมกลายเป็นรูปเป็นร่าง เขาพระสุเมรุ-แกนกลางแห่งจักรวาลตามคติไตรภูมิ-ก่อตัวชัดขึ้นทุกขณะ ณ ท้องสนามหลวง เมื่อถึงปลายเดือนเมษายน ๒๕๖๐ พระเมรุมาศในการพระราชพิธีพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สำเร็จลุล่วงในส่วนของโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมไปแล้วเป็นส่วนมาก

ต่อนี้ไปย่อมถึงขั้นตอนของการประดับประดาด้วยงานวิจิตร ศิลปกรรม ทั้งจิตรกรรม ประติมากรรม ประณีตศิลป์

ปวงเทพยดา เทวพาหนะ และสัตว์หิมพานต์ พลันอลังการด้วยสีสันบรรเจิดที่ถูกแต่งแต้มลงไป ขณะที่แผ่นไม้จันทน์ที่จำหลักฉลุเป็นลวดลายแล้ว ก็ถูกประจงนำไปประกอบเข้ากับโครงพระโกศจันทน์และหีบพระบรมศพจันทน์ ทั้งหมดคือชิ้นส่วนย่อยที่จะประกอบกันเข้าเป็นส่วนแห่งเขาพระสุเมรุ ณ พระเมรุมาศ สถานส่งเสด็จองค์พระมหาสมมติเทพของปวงชนชาวไทยกลับคืนสู่สวรรค์ชั้นฟ้าตามโบราณราชประเพณี

วันที่ ๒๖ ตุลาคม วันแห่งการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพใกล้เข้ามาทุกขณะ แม้จะไม่มีใครอยากนึกอยากคิดถึงวันนั้น หากแต่นายช่างทุกหมู่ทุกเหล่า ทั้งช่างหลวงช่างราษฎร์ ทุกคนต่างระดมสรรพกำลังอย่างเต็มแรง เพื่อร่วมเทอดพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ ๙ ไว้ในสถานสูงสุดเท่าที่สองมือมนุษย์จะกระทำได้





















10





----------------------------------------------------------------------------------------------------------------

https://www.sarakadee.com/2017/06/02/from-craftman-to-funeral-pyre/
Culture


“จากมือนายช่างสู่พระเมรุมาศ”
2 มิถุนายน 2017


เรื่อง สุนันทา เฉลิมทิพย์
(นักศึกษาฝึกงาน นิตยสาร สารคดี)
ภาพ วริศ โสภณพิศ




โครงเหล็กขนาดใหญ่ตั้งตระหง่านกลางท้องสนามหลวง ผนวกกับเสียงเครื่องจักรที่กำลังทำงาน เป็นสัญลักษณ์แสดงให้รู้ว่าขณะนี้นายช่างทุกหมู่เหล่า กำลังร่วมแรงร่วมใจกันทำงาน เพื่อสร้างพระเมรุมาศให้เสร็จตามกำหนดการที่วางไว้

มือนายช่างทุกคนต่างหยิบจับอุปกรณ์สารพัด ตั้งแต่สว่าน ค้อน ดินสอ พู่กัน ไปจนถึงก้อนดิน ร่วมมือร่วมใจทำงานกันอย่างหนัก ทั้งงานสถาปัตยกรรมพระเมรุมาศและพระที่นั่งทรงธรรมอันเป็นที่ประทับของพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ งานประติมากรรมประดับตกแต่งพระเมรุ อาทิ รูปปั้นสัตว์ประจำทิศ ได้แก่ ช้าง ม้า วัว สิงห์ มหาเทพ ได้แก่ ท้าวจตุโลกบาล เทวดา งานจิตรกรรมฉากบังเพลิง ที่จะใช้ประดับตกแต่งในพระที่นั่งทรงธรรม อาทิ ภาพเทวดาชุมนุม ภาพพระนารายณ์อวตาร ภาพพระราชกรณียกิจของรัชกาลที่ ๙ และพระโกศจันทน์

ขณะนี้งานทุกส่วนมีความคืบหน้าไปเกือบครึ่งหนึ่งแล้วเหลือเพียงประกอบส่วนต่างๆ เข้าด้วยกันตามแผนงานที่วางไว้ และปรับภูมิทัศน์ลานพิธีให้เป็นดังเขาพระสุเมรุเพื่อส่งเสด็จพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชสู่สวรรคาลัย ในวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๖๐



Logged
Pages: [1] Go Up Print 
« previous next »
 

SMF 2.0.4 | SMF © 2013, Simple Machines | Theme by nesianstyles | Buttons by Andrea
Page created in 0.128 seconds with 19 queries.