Smile Siam มาร่วมกันคืน "สยามเมืองยิ้ม" กลับสู่บ้านเรากันนะครับ ...
User Info
Welcome, Guest. Please login or register.
12 May 2024, 06:58:13

Login with username, password and session length
Search:     Advanced search
News
ท่านสมาชิกสามารถเปลี่ยนรูปแบบ (Theme) ได้อีกหลายแบบ
เชิญทดลองโดยคลิกที่ลิงค์ข้างล่าง ได้เลยครับ

http://www.smilesiam.net/index.php/topic,3170.msg4713.html
Forum Stats
25,674 Posts in 12,487 Topics by 70 Members
Latest Member: KAN
Home Help Search Calendar Login Register
Smile Siam มาร่วมกันคืน "สยามเมืองยิ้ม" กลับสู่บ้านเรากันนะครับ ...  |  เรื่องราวน่าอ่าน  |  เรื่องเล่าจากความทรงจำที่หาฟังยาก  |  ชีวิตนักประพันธ์อมตะ “แผลเก่า”
0 Members and 1 Guest are viewing this topic. « previous next »
Pages: [1] Go Down Print
Author Topic: ชีวิตนักประพันธ์อมตะ “แผลเก่า”  (Read 211 times)
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
*****
Offline Offline

Posts: 8,527


View Profile
« on: 25 December 2021, 00:36:30 »

ชีวิตนักประพันธ์อมตะ “แผลเก่า”



ชีวิตนักประพันธ์อมตะ “แผลเก่า” เขียน ๓๗ เรื่อง ตายอายุ ๓๗! เกิดในราชนิกุล ตายในห้องแถวแคบๆ!!
เผยแพร่: 16 มิ.ย. 2564 09:53   ปรับปรุง: 16 มิ.ย. 2564 09:53   โดย: โรม บุนนาค




น่าปลื้มใจแทนคนเขียน ที่คนยุคนี้ก็ยังซาบซึ้งกับนวนิยายเรื่อง “แผลเก่า” และประทับใจ “ขวัญ-เรียม” คู่พระคู่นางในเรื่อง เหมือนเป็นโรมิโอ-จูเลียตของไทย เมื่อถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์หรือละครคราวใดก็จะได้รับการต้อนรับจากคนดูอย่างไม่ผิดหวัง แม้นำมาเป็นชื่อตลาดน้ำก็ยังดัง ซึ่งบทประพันธ์เรื่องนี้ได้แต่งเมื่อเกือบ ๑๐๐ ปีมาแล้ว แต่สำหรับคนที่แต่งนวนิยายอมตะนี้ไว้ ในวันที่ ๑๖ มิถุนายนนี้ตรงวันเกิดครบ ๑๑๖ ปีของเขา จึงขอชวนรำลึกถึงนักประพันธ์อมตะผู้เกิดในราชนิกุล แต่มาเป็นผู้ริเริ่มนวนิยายสำนวนลูกทุ่ง สร้างผลงานไว้ ๓๗ เรื่อง เท่ากับอายุที่เขาจากไปพอดี

“ไม้ เมืองเดิม” ผู้แต่ง “แผลเก่า” และ “แสนแสบ” เป็นนามปากกาของ ก้าน พึ่งบุญ ณ อยุธยา บิดามารดาของเขาก็คือ ม.ล.ปรี และ ม.ล.แสง พึ่งบุญ ร่วมในราชนิกุลกับ ม.ล.เฟื้อ พึ่งบุญ หรือ เจ้าพระยารามราฆพ เจ้าของบ้านที่รัฐบาลซื้อมาทำทำเนียบรัฐบาลในปัจจุบันนั่นเอง

ก้าน เกิดเมื่อวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๔๔๘ แถววัดมหรรณพาราม ถนนตะนาว และเข้าเรียนที่โรงเรียนวัดมหรรณพ์เป็นโรงเรียนแรก แต่ค่อนข้างจะเป็นนักเรียนเกเรไม่เอาถ่าน หนีโรงเรียนเป็นประจำ เมื่อจบชั้นประถมที่วัดมหรรณพ์แล้ว ไปต่อมัธยมที่วัดราชบพิตร จนมาจบที่วัดบวรนิเวศ ได้เข้ารับราชการสังกัดกรมบัญชาการมหาดเล็กในราชสำนัก ร.๖ ทำอยู่ราว ๔ ปีบิดาเสียชีวิตจึงลาออกจากราชการมาทำงานส่วนตัว แต่ไม่ประสบความสำเร็จตามที่หวัง เลยหันเข้าดื่มสุราจนติด ท่องเที่ยวหาประสบการณ์ชีวิตไปในชนบทถึง ๙ ปีจึงกลับกรุงเทพฯ มีเมีย มีลูกสาว แต่สิ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือหนังสือที่ติดพอๆกับเหล้า อ่านทั้งประวัติศาสตร์ โคลงกลอน พระราชนิพนธ์ ตำราวิชาการต่างๆ และไม่ใช่แค่อ่านภาษาไทย ทั้งนิยายภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส ก็อ่าน

ยศ วัชรเสถียร นักประพันธ์คนดังร่วมยุคกับไม้ เมืองเดิม เขียนเล่าไว้ว่า

“วันหนึ่งข้าพเจ้าไปหาเขา เขากำลังอ่านหนังสืออยู่ พอเห็นข้าพเจ้าก็ลดลงและรีบซุกเพื่อซ่อน ข้าพเจ้าถามว่าหนังสืออะไร เขาตอบว่า หนังสือบ้าๆน่ะ ข้าพเจ้าไม่เชื่อจึงถือวิสาสะเอื้อมไปหยิบมาดู พออ่านภาษาฝรั่งเศสออกอยู่บ้าง จึงรู้ว่าเขาอ่านเรื่อง ทะแกล้วทหารสามเกลอ ของ อเล็กซังซ์ ดูมาส์ ฉบับภาษาฝรั่งเศส”

ทุกเรื่องก้านไม่ได้อ่านอย่างผ่านๆไป จดบันทึกเรื่องที่สนใจไว้ ทำท่าจะเป็นปราชญ์ แต่ก็เป็นประเภทความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด เพราะเอาแต่อ่านไม่ทำอะไร จนเพื่อนฝูงพากันเป็นห่วง

ก้านมาริเป็นนักประพันธ์เมื่ออายุราว ๓๐ แล้ว โดยมีเพื่อนชื่อ เหม เวชกร ที่เคยเรียนด้วยกันที่โรงเรียนวัดมหรรณพ์และเล่นดนตรีเครื่องสายไทยอยู่ด้วยกัน ชวนให้เขียนหนังสือ ตอนนั้นเหมเข้าสู่วงการหนังสือแล้ว โดยเขียนรูปประกอบหนังสือนิยายให้โรงพิมพ์เพลินจิตต์ ก้านจึงนำประสบการณ์ชีวิตมาเขียนนวนิยายเรื่อง “เรือโยงเหนือ” แต่ไม่มีโรงพิมพ์ไหนรับซื้อ แม้กระนั้นก้านก็ยังอุสาหะเขียน “ห้องเช่าเบอร์ ๑๓” ขึ้นอีกเรื่อง ผลก็คือเหมือนเดิม จนชักอ่อนใจคิดจะหนีกรุงไปอยู่ชนบทที่ติดใจในบรรยากาศ

ขณะนั้นเหม เวชกรมีปัญหากับโรงพิมพ์ที่ทำอยู่ จึงตัดสินใจลาออกมาตั้งสำนักพิมพ์ของตัวเองในชื่อ “คณะเหม” และออกหนังสือพิมพ์ราย ๑๐วัน ชวนเพื่อนเก่า ๒-๓ คนมาเป็นนักเขียน ที่ขาดไม่ได้ก็คือ ก้าน พึ่งบุญ ณ อยุธยา ทั้งยังมี กิ่ง พึ่งบุญ ณ อยุธยา น้องชายของก้านมาเป็นคนตรวจปรู๊ฟ ต่อมาเลยเป็นนักประพันธ์ดังด้วยอีกคน ในนามปากกา สุมทุม บุญเกื้อ

ก้านเขียนนิยายเรื่องใหม่ให้สำนักพิมพ์คณะเหมในชื่อ “ชาววัง” ใช้นามปากกาว่า กฤษณะ พึ่งบุญฤทธิ์ เป็นเรื่องหญิงรักหญิงของสาวชาววัง ซึ่งเรื่องประเภทนี้เคยเป็นกลอนโด่งดังจากสำนวนของ “คุณสุวรรณ” กวีเอกในสมัยรัชกาลที่ ๓ มาแล้วในชื่อ “หม่อมเป็ดสวรรค์” แต่ “ชาววัง” ของ กฤษณะ พึ่งบุญฤทธิ์ กลับถูกถล่มแหลกจากคนอ่านผู้หญิง ว่าดูถูกสตรี เขียนจดหมายมาด่าว่ามากมาย ทำให้ก้านท้อแท้ใจ หมดแรงจะเขียนงานต่อ

ในขณะที่ก้านกำลังเคว้งคว้างไม่รู้จะเดินไปทางไหนนั้น มีอาจารย์ด้านไสยศาสตร์ที่เป็นนักดนตรีคนหนึ่ง เรียกกันว่า “อาจารย์เฮง” เอาเรื่องราวเกล็ดประวัติศาสตร์มาเล่าให้ก้านช่วยเขียนให้ ก้านจึงเขียนในชื่อเรื่อง “คนดีศรีอยุธยา” ใช้นามปากกาว่า ฮ.ไพรวัล และคณะเหมจัดพิมพ์ โดยมีเหม เวชกรเขียนภาพประกอบ ซึ่งหนังสือเล่มนี้ก็ประสบความสำเร็จพอสมควร แต่ก้านก็ยังไม่เห็นทางเดินของตัวเองอยู่ดี

แต่แล้ววันหนึ่งตอนเย็นใกล้ค่ำ ก้านกับเหมกลับจากไปเล่นเครื่องสายด้วยกัน ได้แวะนั่งทอดอารมณ์กันที่สะพานรถไฟชายทุ่งข้ามคลองแสนแสบ ก้านยังคงบ่นท้อแท้กับงานประพันธ์ เหมก็หาทางปลอบใจเพื่อน แนะให้ก้านลองเอาสถานที่จริงมาเป็นฉากของนิยายดูบ้าง และชี้มือไปที่กระท่อมชายทุ่งหลังเล็กๆหลังหนึ่งซึ่งมีแสงตะเกียงริบหรี่ แล้วบอกว่ามันน่าจะมีเรื่องราวที่เกิดขึ้นในกระท่อมหลังนั้น ก้านมองไปตามที่เหมชี้ ครุ่นคิดอยู่ครู่หนึ่ง บรรยากาศของชีวิตลูกทุ่งที่มีประสบการณ์มา ได้แจ่มชัดขึ้นในจินตนาการ นั่นคือจุดเปลี่ยนชีวิตของเขา ซึ่งเหม เวชกรได้เล่าถึงตอนนี้ไว้ใน “จากย่ามความทรงจำ” ใน “ฟ้าเมืองไทย” ฉบับปฐมฤกษ์ว่า

...ในครู่นั้นเองเขาได้รับความคิดขึ้นมาแล้วตบขาตัวเองฉาดใหญ่แล้วร้องไห้ขึ้นมาเฉย ๆ และพูดทั้งร้องไห้ “กูไม่ตายแล้วมึงเอ๋ย มึงเป็นเพื่อนแท้ของกูที่ไม่ทิ้งกู กูได้ทางจะตอบแทนมึงแล้ว กูไม่ต้องเข้าป่า” ผมมองเขาอย่างตื้นตันและอดน้ำตาไหลไปด้วยไม่ได้ "เพื่อนเอ๋ย ข้าขอเวลาอีกสองวันจะสร้างเรื่องใหม่ให้เอ็งตรวจ รับรองว่าเอ็งจะต้องชอบใจ...

ก้านกลับมาปั่นต้นฉบับส่งให้เหม ในฐานะบรรณาธิการ ในชื่อเรื่องว่า “แผลเก่า” เปลี่ยนนามปากกาจาก กฤษณะ พึ่งบุญฤทธิ์ ที่ช้ำมาจากเรื่อง “ชาววัง” มาใช้นามปากกา “ไม้ เมืองเดิม” จากชื่อ ก้าน และ ณ อยุธยา เมืองเก่า
นอกจากเนื้อเรื่องจะเป็นชีวิตลูกทุ่งแล้ว สำนวนที่ก้านใช้ยังเป็นลูกทุ่งขนานแท้ อ้าย อี มึง กู เอ็ง ข้า มาหมด ซึ่งยามนั้นยังไม่มีใครกล้านำมาเขียน แต่ก็เป็นการถ่ายทอดบรรยากาศชีวิตลูกทุ่งแท้ออกมาอย่างแจ่มชัดตามความเป็นจริง แม้แต่เหม เวชกร ตรวจต้นฉบับ “แผลเก่า” ก็ยังสะดุ้ง บอกกับก้านว่า

“เรื่องของมึงสำนวนมันไพร่แบบนี้ กูพิมพ์ออกไปไม่ได้หรอก”

แต่แล้วเมื่อหาเรื่องที่ถูกใจมาพิมพ์ไม่ได้ เหมก็ตัดสินใจลองเอาเรื่องของเพื่อนรักพิมพ์ออกไป พอ “แผลเก่า” ออกวางตลาดในปี ๒๔๗๙ ก็ได้ผล แม้บางคนจะรับไม่ได้กับสำนวนไพร่อย่างที่เหมว่า แต่นักอ่านส่วนใหญ่ก็สะใจกับสำนวนและเนื้อหาของเรื่องที่ไม่เคยได้ลิ้มรสนี้มาก่อน ทำให้ชื่อ “แผลเก่า” “ขวัญ-เรียม” และ”ไม้ เมืองเดิม” อยู่ในความทรงจำของคนอ่านตลอดมาตั้งแต่วันนั้น

ความสำเร็จของ “แผลเก่า” ทำให้ก้านมีกำลังใจที่จะเขียนนิยายออกมาอีกไม่ขาดสาย ส่วนใหญ่เป็นเรื่องราวของชีวิตชนบททั้งลูกทุ่งและลูกน้ำเค็ม อย่าง แสนแสบ ชายสามโบสถ์ ค่าน้ำนม รอยไถ ศาลเพียงตา เกวียนหัก สำเภาล่ม โป๊ะล่ม สินในน้ำ ล้วนแต่ถูกสร้างเป็นภาพยนตร์เป็นละครทั้งนั้น รวมทั้งนวนิยายประวัติศาสตร์อย่าง บางระจัน ทหารเอกพระบัณฑูร และ ขุนศึก

ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ ก้านต้องพบกับความผันผวนของชีวิตอีกครั้ง เพราะการพิมพ์ชะงักงันด้วยกระดาษไม่มีจะพิมพ์ ก้านต้องไปทำงานกับกองทางที่เชียงใหม่ แต่ก็ยังเขียนหนังสือส่งมากรุงเทพฯบ้าง ในช่วงนี้เขาต้องผจญกับโรคสุราเรื้อรังที่กำเริบหนักจนต้องซมซานกลับมากรุงเทพฯ

เหม เวชกร ได้เขียนถึงสภาพของก้านในช่วงสุดท้ายไว้ว่า

...เจ็บคราวแรกเจ้าตัวพอเขียนเองได้ อาศัยใช้ผ้าพันนิ้วทุกๆนิ้วกันความเจ็บปวด เขียนเรื่องอย่างอดทน ร่างกายจะอย่างไรก็ตาม กำลังใจยังคงที่ แกร่งกล้าคงเดิม จนมาตอนหลังโรคได้หนักถึงกับผ่ายผอมมีแต่หนังหุ้มกระดูก จะนั่งเขียนเองไม่ไหว จึงมีเพื่อนฝูงบางคนที่รักใคร่มาสมัครเขียนให้ โดยเจ้าตัวเป็นผู้นอนบอกด้วยปาก แต่บางคราวผู้เขียนแทนมาไม่ได้ด้วยติดธุระ ภรรยาเจ้าตัวก็เป็นผู้เขียน...

ในที่สุด ก้าน พึ่งบุญ ณ อยุธยา ก็จบชีวิตลงในวันที่ ๔ มีนาคม ๒๔๘๕ ที่ห้องแถวแคบๆ ในวัยเพียงแค่ ๓๗ ปี ฝากผลงานไว้ ๓๗ เรื่องเท่าอายุของเขา โดยมี “ขุนศึก” นิยายอิงประวัติศาสตร์เรื่องยาวเป็นเรื่องสุดท้าย

ร่างของไม้ เมืองเดิม ถูกเผาเป็นเถ้าถ่านไปเมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๔๘๕ แต่ผลงานของเขายังแจ่มจรัสอยู่จนถึงวันนี้






เรื่องและภาพจาก
https://mgronline.com/onlinesection/detail/9640000058052


เรื่องเก่า เล่าสนุก



Logged
Pages: [1] Go Up Print 
« previous next »
 

SMF 2.0.4 | SMF © 2013, Simple Machines | Theme by nesianstyles | Buttons by Andrea
Page created in 0.077 seconds with 19 queries.