Smile Siam มาร่วมกันคืน "สยามเมืองยิ้ม" กลับสู่บ้านเรากันนะครับ ...
User Info
Welcome, Guest. Please login or register.
18 May 2024, 18:57:09

Login with username, password and session length
Search:     Advanced search
News
ท่านสมาชิกสามารถเปลี่ยนรูปแบบ (Theme) ได้อีกหลายแบบ
เชิญทดลองโดยคลิกที่ลิงค์ข้างล่าง ได้เลยครับ

http://www.smilesiam.net/index.php/topic,3170.msg4713.html
Forum Stats
25,701 Posts in 12,500 Topics by 70 Members
Latest Member: KAN
Home Help Search Calendar Login Register
Smile Siam มาร่วมกันคืน "สยามเมืองยิ้ม" กลับสู่บ้านเรากันนะครับ ...  |  เรื่องราวน่าอ่าน  |  เรื่องเล่าจากความทรงจำที่หาฟังยาก  |  ฮิโระชิมะวิปโยค โลกไม่ลืม
0 Members and 1 Guest are viewing this topic. « previous next »
Pages: [1] Go Down Print
Author Topic: ฮิโระชิมะวิปโยค โลกไม่ลืม  (Read 255 times)
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
*****
Offline Offline

Posts: 8,554


View Profile
« on: 06 December 2021, 15:37:59 »

ฮิโระชิมะวิปโยค โลกไม่ลืม


SILA
หนุมาน
********
เมื่อ 19 ส.ค. 14, 10:12


ฮิโระชิมะวิปโยค โลกไม่ลืม

         เช้าวันหนึ่งในเดือนสิงหาคม เมื่อ 69 ปีที่แล้ว (76 ปีที่แล้ว -ปีนี้ ค.ศ.2021 = พ.ศ.2564 -ppsan ผู้โพสต์)

เหตุการณ์สำคัญที่ต้องจารึกลงบันทึกประวัติศาสตร์โลกไม่ลืมอุบัติขึ้นที่

         ฮิโรชิมาหน้าร้อนวันนั้น วันที่ 6 สิงหาคม ค.ศ.1945 ท้องฟ้าสดใส ชาวเมืองดำเนินชีวิต
ช่วงสงครามตามปกติในเมืองนี้ที่มีระบบป้องกันการโจมตีทางอากาศที่ไม่อาจมีผู้ใดกล้ำกรายได้
จะมีใครคาดคิดว่าชีวิตจะปลิดปลิวหรือเปลี่ยนแปลงไปไม่มีวันเหมือนเดิมอีกจนวันตายภายหลัง
เวลา 8.15 น. หลังจากที่

                   ยมกุมารน้อย(Little Boy) ถูกปล่อยลงจาก(โพ)ยมยานที่ชื่อว่า 

                                 Enola Gay



คลิปรายงานข่าวจากสำนักข่าว PATHE

Hiroshima Atomic Bomb (1945) | A Day That Shook the World

https://www.youtube.com/watch?v=t19kvUiHvAE

https://youtu.be/t19kvUiHvAE



           เครื่องบินบรรทุกระเบิดปรมาณูซึ่งมีชื่อน่ารักว่า Little Boy นี้ มีชื่อว่า Enola Gay
ตั้งตามชื่อมารดาของนักบินเที่ยวบินมฤตยูนั้น - Colonel Paul Warfield Tibbets, Jr. (1915 - 2007)

โบกมือให้สัญญาณผู้สื่อข่าวหลบเลี่ยงใบพัดก่อนที่จะติดเครื่องนำ(โพ)ยมยานทะยานออกปฏิบัติการ
ปฏิบัติการครั้งนั้นยังมีเครื่องบิน B29 ร่วมขบวนด้วยอีกสองลำ ลำหนึ่งบรรทุกเครื่องมือบันทึกตรวจวัด
ผลงานและอีกลำบันทึกภาพ   





เรื่องราวของแม่ผู้เป็นแรงใจให้ลูกผู้เป็นนักบินนี้ไม่ค่อยมีบันทึกให้อ่านนัก

            แม่ได้ชื่อนี้มาจากตัวละครในนิยายที่ตาอ่านช่วงก่อนแม่เกิด แม่เติบโตในไร่ที่ Iowa
แต่งงานกับพ่อที่เป็นเซลส์แมนธุรกิจขายของชำของครอบครัว ต่อมาครอบครัวได้ย้ายไปอยู่
ที่ Miami

แม่และพ่อ Paul Warfield Tibbets, Sr.



             ที่นั่นเมื่อพอลอายุได้ 12 ปี หนูน้อยได้มีโอกาส(ผ่านทางธุรกิจของพ่อ) ขึ้นไปกับเครื่องบิน
เพื่อโปรยลูกกวาดผูกติดกับร่มชูชีพลงมายังสนามแข่งรถและชายหาดเบื้องล่างในกิจกรรมโปรโมท
สินค้าของบริษัทผลิตลูกกวาด ประสบการณ์บนอากาศยานครั้งนั้นคงจะประทับใจจำจนทำให้พอลน้อย
ฝันใฝ่อยากเป็นนักบินในตอนโต

            แม้ว่าพ่อจะพยายามสนับสนุนให้เขาเป็นหมอ แต่พอลกลับพบว่าตัวเองชอบที่จะไปสนามบิน
เพื่อเช่าเครื่องบินขับไปในอากาศกว้าง

            ตอนที่เขาเลือกชื่อเพื่อที่จะนำมาตั้งให้เครื่องบินลำนี้ พอลเล่าว่า เขานึกถึงแม่ซึ่งมีผมสีแดง
แม่ผู้เข้มแข็งกล้าหาญ มีความมั่นใจอย่างเงียบๆ และคอยให้กำลังใจแก่เขามาแต่เยาว์วัย โดยเฉพาะ
ในช่วงที่เขาค้นหาและพบตัวตนที่แท้จริงแล้วตัดสินใจที่จะเบนเข็มเป็นนักบิน แม่อยู่ข้างเขา และบอก
กับเขาว่า "I know you will be all right son."

พอลน้อยวัย 8 ขวบ



            หลังเหตุการณ์ผ่านไป สงครามโลกสิ้นสุดยุติลงด้วยความสูญเสียอย่างมหาศาลของทุกฝ่าย
พอลได้รับจดหมายหลายร้อยฉบับจากทั่วโลก บางคนเรียกเขาว่า อาชญากรสงคราม บางคนให้สมญา
ว่า the world’s greatest killer
          แต่ส่วนมากขอบคุณเขา สำหรับสิ่งที่ได้กระทำไป สิ่งที่เขารู้สึกว่าเป็นงานในหน้าที่ พอลบอกว่า
เราอยู่ในภาวะสงคราม หน้าที่ของเราคือการเอาชนะ

คุณปู่พอลเซ็นชื่อลงบนปีกเครื่องบินจำลอง Enola Gay


             I didn’t bomb Pearl Harbor. I didn’t start the war, but I was going
to finish it.
            I have been convinced that we saved more lives than we took.
            It would have been morally wrong if we’d have had that weapon
and not used it and let a million more people die.




          เครื่องบิน Enola Gay ลำนี้เป็น Boeing B-29 Superfortress กล่าวคือ
เครื่องบินทิ้งระเบิดสี่ใบพัดขนาดใหญ่ ออกแบบพัฒนาโดยบริษัท Boeing ที่กองทัพสหรัฐ
ใช้รบในสงครามโลกครั้งที่สองและสงครามเกาหลี ลำตัวยาว 30 ม. ปีกกว้าง 43 ม. และ
สูง 9 ม.

Enola Gay มาถึงเกาะ Tinian* แล้วออกบิน(ฝึก)ทิ้งระเบิดโจมตีญี่ปุ่นในเดือนกรกฎาคม
ก่อนออกงานยักษ์ในเดือนสิงหาคม

*เกาะ Tinian อยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิคทางตะวันออกเฉียงใต้ของญี่ปุ่น ถูกยึดครองโดย
จักรวรรดิ์ญี่ปุ่นตอนสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และถูกฝ่ายสัมพันธมิตรยึดได้ในปี 1944




            ส่วนตัวระเบิดปรมาณูซึ่งก่อมหันตภัยมหาพินาศนี้มีชื่อรหัสน่ารักว่า  Little Boy
มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 28 นิ้ว และยาว 120 นิ้ว  น้ำหนักรวม 9,000 ปอนด์ เป็นน้ำหนัก
ของยูเรเนียมแค่ 141 ปอนด์ แต่ให้พลังผลาญมหาศาลเทียบเท่าระเบิดระดับรุนแรงถึง
15,000 ตัน(ตัวเลขระหว่าง 13,000 - 18,000) จากขบวนการแตกตัวของนิวเคลียส
(nuclear fission) ของ uranium 235
           ผลงานสร้างสรรค์(เพื่อทำลาย) ชิ้นที่สองของโครงการ Manhattan Project
ลูกแรกเป็นระเบิดปรมาณูของ Trinity test ในทะเลทรายรัฐ New Mexico ที่เพิ่งเสร็จสิ้น
การทดลองไปไม่ถึงเดือนเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม

โหลดลูกชายน้อยเข้าสู่อุทรแม่




ข้อความอธิบาย Nuclear Fission โดยสมาคมนิวเคลียร์แห่งประเทศไทย







          เมืองเป้าหมาย - ฮิโรชิมา เมืองท่าสำคัญและเป็นที่ตั้งของกองบัญชาการทหารอันดับสอง
รองจากโตเกียว มีระบบป้องกันการโจมตีทางอากาศเป็นเลิศในญี่ปุ่น
          ประชากรอาศัยอยู่ 310,000 คน รวมกับทหาร 40,000 นาย และคนงานจากชานเมือง
เข้ามาทำงานรายวัน 20,000 คน รวมเป็น 370,000 ชีวิตในยามกลางวัน

ภาพตัวเมืองถ่ายไว้ไม่นานก่อนถูกถล่ม



             สาเหตุที่ฮิโรชิมาถูกเลือกเป็นเป้าหมายการทำลายล้างและการทดสอบตรวจวัดผลของระเบิด
ปรมาณูลูกแรกที่จะใช้งานจริงนั้นเป็นเพราะ ชัยภูมิเป็นที่ราบ มีประชากรหนาแน่น เป็นที่ตั้งของฐานทัพ
อันดับสอง บ้านเมืองก็ยังคงสภาพเดิมไม่เคยถูกโจมตีทางอากาศทำให้สามารถวัดผลการทำลายล้าง
จากระเบิดได้แน่ชัด และสำคัญที่สุดก็คือที่นี่ไม่มีเชลยสงครามชาวตะวันตก




          Little Boy โหลดแล้ว, เครื่องบิน Enola Gay พร้อม, ทีม"ยุติมหาสงคราม" ทั้ง 12 ก็พร้อม
(นักบินพอลยืนอยู่แถวหน้าคนที่สองจากขวามือ)





           6 สิงหาคม 1945 Enola Gay take off เวลา 0235 ฟ้ามืดมิด
เมื่อบินไปจนถึงเวลา 0500 จึงเริ่มเห็นแสงแรกของรุ่งสาง




เส้นทางบินจากฐานทัพบนเกาะ Tinian สู่ฮิโรชิมา




พิกัดกำหนดจุดทิ้งระเบิดคือสะพานรูปตัว T - Aioi Bridge




          ที่ระดับความสูงราว 9,400 ม. ยานแม่ Enola Gay คลอดลูกชายน้อย Little Boy
หย่อนออกมาเมื่อเวลา 8.15 น. กระแสลมได้พัดพาระเบิดออกห่างจากพิกัดไป 240 ม. ตรง
ตำแหน่งที่เป็นโรงพยาบาล Shima ในย่าน Saiku-machi

พอลซึ่งผ่านการฝึกบินท่านี้จนชำนาญบังคับ Enola Gay ตีโค้งหันหลังกลับทันที




เขาเล่าถึงภาพเหตุการณ์ระเบิดในวันนั้นว่า

              แสงแรงจ้าสาดเข้ามาเต็มเครื่องบิน คลื่นกระแทกลูกแรกซัดมาถึงเราซึ่งอยู่ในพิสัยลาดเอียง
ห่างออกมา 11 ไมล์ครึ่งจากตำแหน่งระเบิด ตัวเครื่องบินทั้งลำถูกแรงระเบิดกระแทกทุบจนย่นยับ เราหัน
กลับไปมองฮิโรชิมาที่บัดนี้ถูกปกคลุมด้วยเมฆควันน่าพรั่นพรึง..พวยพุ่งสูงอย่างไม่น่าเชื่อสู่ฟากฟ้าเป็น
รูปต้นเห็ด

ภาพพร้อมลายเซ็นของทีมงาน 5 จาก 12 นาย ได้แก่ Paul Tibbetts(Pilot and Aircraft commander)
- Theodore 'Dutch' Van Kirk(Navigator)- Tom Ferebee(Bombardier)- Richard 'Dick' Nelson
(Radio Operator) และ Morris Jeppson (weapon test officer).




            ส่วน Capt. Robert A Lewis ผู้เป็น co-pilot ในเช้าวันนั้นได้บรรยายความรู้สึก
นึกคิดในปูมบันทึกการบิน(logbook) ของปฏิบัติการครั้งนี้(แบบดรามา) ไว้ว่า

            วันที่ 6 สิงหาคม  0815 นาฬิกา คือเวลาหย่อนระเบิดลงฮิโรชิมา ระเบิดแตกตูม
ในเวลาหนึ่งนาทีต่อมา




             นาทีต่อจากนี้ไปจะเกิดอะไร ไม่มีใครคาดคิดได้.. แสงแวบจ้าน่าหวั่น สิบห้าวินาที
หลังจากนั้น เกิดความป่วนปั่นสั่นสะเทือน(air turbulence) อย่างชัดเจนขึ้นสองครั้ง นี่คือ
ผลทางด้านกายภาพทั้งหมดของระเบิดที่มาถึงเราให้รับรู้ได้

ส่วนผลทางด้าน(ความรู้สึกนึกคิด) จิตใจนั้น เขาเล่าต่อไปว่า




             เราหันตัวเครื่องบินเพื่อมองผลงาน เบื้องหน้าสองตาเราคือภาพการระเบิดที่รุนแรงที่สุดเท่าที่
มนุษย์เคยทัศนา ครึ่งหนึ่งของตัวเมืองถูกปกคลุมด้วยกลุ่มควัน แท่งเมฆสีขาวพวยพุ่งสูง 30,000 ฟุต
ภายในเวลาไม่ถึง 3 นาที จากนั้นทะยานต่อสู่ความสูง 50,000

          ผมแน่ใจว่า ลูกเรือทุกคนต่างรู้สึกว่าประสบการณ์ครั้งนี้มันมากล้นเกินจินตนาการของมนุษย์
คนไหนจะไปถึง เกินความสามารถจะเข้าใจ พวกเราได้ฆ่าคนไปมากเท่าไรกันนี่ โดยความสัตย์ ผมเกิด
ความรู้สึกหรือความคิดที่จะค้นหาคำอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้น หรือ
         
                   I might say my God, what have we done?




             หากผมมีอายุยืนถึงหนึ่งร้อยปี ผมก็จะไม่มีวันสามารถลบภาพช่วงเวลาสามนาทีนี้ไปจากใจได้

เมฆมหึมามวลนั้นยังคงมองเห็นด้วยตาเปล่าได้ แม้เมื่อบินออกจากเป้าหมายมาได้หนึ่งชั่วโมงครึ่งแล้ว
ที่ระยะห่างไกล 400 ไมล์





Logged
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
*****
Offline Offline

Posts: 8,554


View Profile
« Reply #1 on: 06 December 2021, 15:40:16 »


           หลังจากปฏิบัติภารกิจสำเร็จแล้วพอลพา Enola Gay บินกลับฐานโดยสวัสดิภาพ
ส่วนที่ฮิโรชิมา, บันทึกบางส่วนของประวัติศาสตร์โลกต้องจารึกเล่าว่า

            40 วินาทีหลังคลอด ลูกน้อยก็ปลดปล่อยพลังงานระเบิดเทียบเท่า TNT ขนาด 15,000 ตัน
ที่ระดับความสูง 600 ม.เหนือพื้นดิน เกิดเป็นลูกไฟขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 28 ม. แทบจะในทันที
            ระดับนี้คือตำแหน่งที่จะก่อให้เกิดการทำลายล้างอย่างสูงสุด ต่ำลงไปพลังระเบิดจะเสียเปล่า
ไปในการกระแทกขุดหลุมบนพื้นดิน

            พลังงานมหาศาลที่เจ้าหนูปรมาณูยูเรเนียมปลดปล่อยออกมา 15% เป็นกัมมันตรังสี
(5% เป็นการแผ่รังสีช่วงแรก 10% เป็นส่วนที่เหลือ) 35% เป็นคลื่นความร้อน และที่เหลือ
50% เป็นแรงระเบิด

ภาพแบบจำลองจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ Hiroshima Peace Memorial Museum(HPMM)
ลูกกลมสีแดงคือตำแหน่งลูกน้อยระเบิดเหนือฮิโรชิมา




            การจุดระเบิดกำเนิดประกายแสงแรงจ้าขนาดตาบอดและลูกไฟยักษ์ที่ร้อนเร่าเกือบเทียบ
เท่าอุณหภูมิผิวดวงอาทิตย์(5,600 องศา) ด้วยอุณหภูมิ 4000 องศา รังสีและความร้อนแผ่กระจาย
ออกทุกทิศทางระเหิดระเหยชีวิตและแผดเผาหลอมละลายอาคารสถานบ้านเรือน พร้อมแรงระเบิด
กระแทก ผลาญทำลายเมืองเก่าแก่ 400 ปีให้ราพณาสูร
               กองบัญชาการทหารอันดับสองถูกทำลายล้าง รวมทั้งอาคารในระยะรัศมี 4 กม.

ซากบริเวณสะพาน Aioi เป้าหมาย




ground zero(hypocenter) บริเวณพื้นผิวโลกตรง(ด้านใต้) ตำแหน่งระเบิด
ถ่ายในฤดูใบไม้ร่วงปีเดียวกัน




เงามรณะ(Shadow of Death)

          ร่างของเหยื่อที่เหลือเพียงรอยเงาบนบันไดหินตรงทางเข้าธนาคารซูมิโตโมสาขาฮิโรชิมา
ซึ่งอยู่ห่างจากตำแหน่งใต้การระเบิด(hypocenter) 260 เมตร ผลงานรังสีความร้อนมหาศาล




ปัจจุบันติดตั้งแสดงที่พิพิธภัณฑ์ HPMM




          ความกดดันขนาดสูงลิบลิ่วจากตำแหน่งระเบิดส่งคลื่นกระแทก(shock wave) ที่ทำให้
กระจกหน้าต่างแตกได้ไกลถึง 9 ไมล์ ตามด้วยลมระเบิดรุนแรงที่ล้มอาคารต่างๆ ให้พังพาบพินาศ

แผลผนังอาคารจากกระจกบิน ตั้งแสดงใน HPMM เช่นกัน




บาทวิถีริมถนนและท่อระบายน้ำขยับยกสูงขึ้น เป็นอีกหนึ่งผลจากแรงระเบิดทำให้เกิด
ภาวะสูญญากาศดูดสองสิ่งนี้ขึ้นมา




ผู้คนตามริมถนนในฮิโรชิมา




         อันตรายทางกายภาพโดยตรง(ต่อผู้คน) จากระเบิดปรมาณูเป็นผลจากการเผาไหม้ด้วย
รังสีความร้อนและไฟที่กระจายลุกลามไปทั่วเมือง รวมทั้งแรงระเบิดทำให้เกิดการบาดเจ็บ, กระดูกหัก
นอกจากนี้ยังมีอันตรายทางอ้อมที่เป็นผลจากความเสียหายของอาคารบ้านเรือนที่พังครืนและเศษกระจก
แตกกระจาย
            ประมาณผู้คนล้มหายตายไปเป็นจำนวนราว 66,000 ชีวิต ส่วนที่ได้รับบาดเจ็บอีกราว 70,000 คน

ภาพถ่ายวันรุ่งขึ้นหลังระเบิดถล่ม(วันที่ 7 สิงหาคม) ภายในกระโจมของศูนย์บรรเทาภัย
ของโรงพยาบาลทหาร




           ในขณะที่รังสีแกมม่าจากปฏิกิริยาลูกโซ่ของธาตุยูเรเนียมนั้นทำอันตรายต่อผิวหนัง
และลงลึกถึงอวัยวะภายใน  ผลของการแผ่รังสีในระยะเฉียบพลันทำให้เกิดอาการที่เริ่มด้วย
คลื่นไส้อาเจียน อ่อนเพลียอย่างรุนแรง มีไข้และท้องเสีย ตามมาด้วยผมร่วง อาการเลือดออกง่าย
และโรคเลือดในระยะหลัง

ภาพถ่ายเหยื่อที่รอดชีวิตในเดือนกันยายนปีเดียวกัน




          ส่วนโรคที่เป็นผลจากรังสีในระยะยาวซึ่งเกิดกับผู้รอดชีวิตจากระยะเฉียบพลันที่แลดู
เหมือนสุขภาพดีแล้วก็คือมะเร็งเม็ดเลือดและมะเร็งอวัยวะอื่น ได้แก่ ต่อมธัยรอยด์
            ลักษณะเฉพาะอย่างหนึ่งของเหยื่อระเบิดปรมาณูคือ แผลเป็นนูนหนา keloid scar
ที่เจ็บปวดมากและแม้ว่าจะได้รับการผ่าตัดออกแล้วแต่แผลเป็นนี้ก็จะกลับขึ้นมาใหม่อีก




            ประชาชนหลายหมื่นสิ้นชีวิตไป(ในจำนวนนี้ที่ไม่น้อยเป็นเพียงหนูเล็กเด็กชายหญิงไม่เดียงสา)
ไม่ก็ได้รับบาดเจ็บปางตายแล้วตามมาด้วยสภาพพิการ นับจำนวนประชากรที่ถูกลูกชายน้อยทำร้ายเป็น
พลเรือนราว 320,000 คน, ทหาร 40,000 นาย ยอดรวมผู้เสียชีวิตเมื่อตอนปลายธันวาคมปีนั้นอยู่ที่
140,000 ชีวิต ส่วนใหญ่จะเสียชีวิตตั้งแต่สองสัปดาห์แรกหลังระเบิดลง
                     
            พื้นที่ประมาณ 13 ตร.กม. ของเมืองถูกทำลายย่อยยับเป็นซากสงคราม ทางการญี่ปุ่นประมาณ
การว่าอาคารบ้านเรือนถูกทำลายราว 69%

แบบจำลองเมืองใน HPMM - ก่อนระเบิด




หลังระเบิด




          ภายในรัศมีราว 2 กม. อาคารแทบทั้งหมดล้มพังและถูกเผามอด เมืองท่าที่เคยรุ่งเรือง
กลายเป็นผืนดินที่ถูกแผดเผาแห้งเกรียม ซากอาคารสถานปกคลุมด้วยวัตถุที่ถูกความร้อนประลัย
หลอมละลายคล้ายถูกฝังอยู่ใต้ลาวา

แผนผังแสดงพื้นที่ถูกทำลายล้างใน HPMM

    สีแดง Totally collapse and burned
    สีชมพู Totally collapsed
    สีเหลือง Half collapse and burned and irreplacably damage




ความร้อนแรงระอุบิดเบี้ยวโครงโลหะของอาคาร
(ภาพถ่ายในเดือนต่อมา - กันยายน)




สารพัดสิ่งของและ"กองลาวา"




พระพุทธรูป




ฮิโรชิมาเดือนถัดมา(กันยายน)






ฮิโรชิมาปีต่อมา เดือนมีนาคม 1946




ซากอาคารสำคัญ, ปัจจุบันคือ Hiroshima Genbaku(atomic bomb) Dome




            อาคารนี้ออกแบบโดยสถาปนิกชาวเชคนามว่า Jan Letzel เป็นอาคารสไตล์ผสม
neo-Baroque และ Art Deco โดดเด่นด้วยหลังคาโดมสีเขียว(ทองแดง) สร้างเสร็จในปี
1915 ใช้เป็นอาคาร Hiroshima Prefectural Commercial Exhibition ต่อมาเปลี่ยน
ชื่อเป็น Prefectural Industrial Promotion Hall




             อาคารตั้งอยู่ห่างจากจุดศูนย์กลางการระเบิดราว 160 ม. ตัวอาคารบางส่วนและ
โครงหลังคาโดม(ทองแดง) สามารถทนทานการทำลายล้าง หลังจากนั้นมา (ซาก) อาคาร
หลังนี้จึงเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า Atomic Bomb Dome(A-Bomb Dome) ที่ทางการ
ได้อนุรักษ์ไว้เป็นอนุสรณ์เตือนใจและได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก




คนละฟากฝั่งตรงกันข้ามกับโดมนี้(A) เป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ Hiroshima Peace Memorial Museum




ตัวอาคารพิพิธภัณฑ์รูปทรงสี่เหลี่ยมแบนยาวยกสูง เบื้องหน้าคือโค้งไฟไม่รู้มอดตลอดกาล
(Eternal Flame) ตราบที่อาวุธนิวเคลียร์ยังไม่หมดไปจากโลก




จากด้านหน้าพิพิธภัณฑ์ มองลอดโค้งไฟผ่านอนุสาวรีย์รำลึกถึงผู้เสียชีวิต(memorial cenotaph)
ตรงไปสุดสายตาที่โดมระเบิดปรมาณู





..........
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ความคิดเห็นที่ 54  เมื่อ 19 ส.ค. 14, 13:31






ผู้ลงนามอนุมติการทิ้งระเบิดปรมาณูที่ฮิโระชิมะ คือ ประธานาธิบดีทรูแมน เขาได้พูดออกอากาศถึงประชาชนชาวอเมริกันในวันที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ ตอนหนึ่งว่า

The world will note that the first atomic bomb was dropped on Hiroshima, a military base. That was because we wished in this first attack to avoid, insofar as possible, the killing of civilians. But that attack is only a warning of things to come. If Japan does not surrender, bombs will have to be dropped on her war industries and, unfortunately, thousands of civilian lives will be lost. I urge Japanese civilians to leave industrial cities immediately, and save themselves from destruction.

โลกจะต้องบันทึกไว้ว่าระเบิดปรมาณูลูกแรกที่ทิ้งลงฐานทัพทหารที่ฮิโระชิมะ นั่นเป็นเพราะว่าเราหวังที่จะหลีกเลี่ยงการฆ่าพลเรือนในการโจมตีครั้งแรกนี้อย่างที่สุด การโจมตีนี้เป็นเพียงการเตือนถึงสิ่งที่จะตามมา ถ้าญี่ปุ่นยังไม่ยอมแพ้ ระเบิดจำเป็นต้องถูกทิ้งลงอีกในย่านอุตสาหกรรมสงคราม ซึ่งน่าเสียดายที่ชีวิตพลเรือนนับพันจะต้องสูญสิ้นไป ข้าพเจ้าอยากแนะนำให้พลเรือนชาวญี่ปุ่นหนีออกจากเมืองอุตสาหกรรมโดยทันทีเพื่อรักษาชีวิตเอาไว้จากการทำลายล้าง

ข้อมูลจาก ห้องสมุดทรูแมน

ทรูแมนโกหกประชาชนว่า จะหลีกเลี่ยงการฆ่าพลเรือนและหากจำเป็นคนญี่ปุ่นเพียงจำนวนพันเท่านั้นที่จะต้องสูญสิ้นเพราะการทิ้งระเบิดปรมาณู


ในวันเดียวกัน ทรูแมนส่งโทรเลขตอบวุฒิสมาชิกริชาร์ด บี รัสเซล แห่งรัฐจอร์เจีย ที่ต่อต้านการฆ่าประชาชนของทรูแมน  ทรูแมนบอกว่าจำเป็นจะต้องกวาดล้างประชาชนทั้งหมด

เอกสารเกี่ยวกับการตัดสินใจทิ้งระเบิดปรมาณูของอเมริกาหาอ่านได้ที่ ห้องสมุดทรูแมน




.........
SILA
หนุมาน
********
ความคิดเห็นที่ 56  เมื่อ 20 ส.ค. 14, 10:03





Logged
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
*****
Offline Offline

Posts: 8,554


View Profile
« Reply #2 on: 06 December 2021, 15:43:23 »


ช่วงต่อไปนี้ ขอพากันย้อนอดีตกลับไปฮิโรชิมาวันนั้น

                 เวลานาทีชีวิตวิกฤต  8 โมง 15 นาที เช้าวันที่ 6 สิงหาคม 1945

แมลงปอโผบินผ่านหน้าฉันไปหยุดเกาะอยู่บนรั้ว   
ฉันลุกขึ้นยืน มือคว้าหมวกเก็ป เตรียมจะจับแมลงปอ เมื่อ






รูปข้างบนนั้นคือ
                         ภาพประวัติศาสตร์วันที่ 6 สิงหาคม 1945 บันทึกโดยช่างภาพวารสาร
Yoshito Matsushige ถ่ายจากหน้าต่างบ้านซึ่งอยู่ห่างจากตำแหน่งระเบิดไปทางใต้ 2.7 กม.
คุณปู่จึงไม่ได้รับบาดเจ็บรุนแรง

                 คุณปู่ออกจากบ้านเดินเข้าไปยังใจกลางเมืองแล้วบันทึกภาพไว้ได้  7 ภาพ 
                 เป็นภาพถ่ายของฮิโรชิมาในวันมหาวินาศนั้นเท่าที่มีให้ได้เห็นและเป็นที่รับรู้กัน

ที่สะพาน Miyuki ห่างจากจุดใต้ระเบิด(hypocenter) 2.3 กม. เวลา 1100 - 1130 น.
ตำรวจทาแผลไฟไหม้ด้วยน้ำมันปรุงอาหารให้เด็กนักเรียน




ขยับใกล้เข้าไปอีก




มองจากหน้าต่างร้านตัดผมซึ่งเป็นกิจการของครอบครัว อาคารสถานีดับเพลิงสร้างด้วยไม้สี่ชั้น
พังพาบพินาศลง บันทึกเมื่อเวลาราวบ่ายสอง, 2.7 กม. จาก hypocenter




ตำรวจโพกผ้าพันแผลที่ศีรษะออกใบปันส่วนข้าวสารให้ผู้รอดชีวิตที่ป้ายรถรางใกล้
สะพาน Miyuki ห่างจาก hypocenter 2.4 กม. เมื่อเวลาราว 5 โมงเย็น




ภาพเงามรณะ ที่ได้กล่าวถึงไปแล้ว




               คุณปู่ใช้เวลาทำใจอยู่ 20 วัน ก่อนที่จะดำเนินการล้างอัดรูป และกว่าภาพจะออก
เผยแพร่ได้ก็ต้องใช้เวลาอีก 7 ปี หลังจากที่การครอบครองญี่ปุ่นโดยอเมริกาสิ้นสุดลงในปี 1952
             (น่าอัศจรรย์) คุณปู่มีชีวิตยืนยาวถึง 92 ปี เพิ่งเสียชีวิตไปในปี 2005

คุณปู่กับคุณย่าในปี 1955 คุณย่าชี้ไปที่ภาพถ่ายชิ้นที่ 7 ตรงตัวคุณย่าในภาพกำลังตรวจดูสภาพ
ร้านตัดผมที่ถล่มทลาย




^
ร้านตัดผมของครอบครัว เวลาราวบ่ายสองโมง  ๒.๗ กิโลเมตร จาก hypocenter




หนึ่งในเหยื่อของสงคราม ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์สันติภาพฮิโระชิมะ (Hiroshima Peace Memorial Museum)

เสื้อผ้าขาดรุ่งริ่งนี้เป็นของสาวน้อยวัย ๑๖ ปี นามว่า อิมิโกะ ซะวะโมะโตะ (澤本笑美子) เธออยู่ห่างจากจุดใต้ระเบิด (hypocenter) เพียง ๘๐๐ เมตร ญาติของเธอเล่าว่าอิมิโกะจังทรมานแสนสาหัสจากแผลไฟไหม้ทั้งร่างกาย จนเมื่อเธอกระเสือกกระสนกลับมาถึงบ้าน ไม่มีใครจำเธอได้เลย เธอเสียชีวิตในวันรุ่งขึ้น ตลอดเวลาเธอร้องขอแต่น้ำดื่มเพื่อดับพิษร้อนของรังสีที่เผาอวัยวะภายในของเธอจนหมดสิ้น

เสื้อผ้าชุดที่นำมาแสดงนี้ถูกเก็บเพื่อเป็นที่ระลึกถึงอิมิโกะจังไว้หลายปี  พิพิธภัณฑ์เพิ่งได้รับบริจาคเพื่อมาจัดแสดงเมื่อพ.ศ. ๒๕๕๑  นี้เอง 

ข้อมูลจาก  a-bombdb.pcf.city.hiroshima.jp


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ


.....
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ความคิดเห็นที่ 67  เมื่อ 21 ส.ค. 14, 14:43

ความร้อนจากระเบิดปรมาณูสูงมาก สามารถที่จะเผาร่างกายให้กลายเป็นเถ้าธุลีได้อย่างใน ๒ ตัวอย่างนี้

ทางซ้ายคือ นาฬิกาข้อมือ ชิโยะโกะ  นะกะตะ (中田千代子) ซึ่งขณะนั้นอายุ ๒๙ ปี เป็นสิ่งเดียวที่คงหลงเหลืออยู่ข้างร่างกายซึ่งถูกเผาผลาญด้วยความร้อนจากผลของระเบิดปรมาณูจนเป็นเถ้าธุลี พบในบริเวณซึ่งเคยเป็นบ้านของเธอเองซึ่งอยู่ห่างจากจุด hypocenter เพียง ๖๐๐ เมตร

ส่วนทางขวาคือ นาฬิกาพกและมีดโกน ของ ชิเกะรุ   โยะโกะยะมะ (横山繁) อายุ ๓๙ ปี พบข้างร่างกายซึ่งกลายสภาพเป็นผงธุลีเช่นเดียวกัน ณ บริเวณซึ่งเคยเป็นห้องประชุมของโรงเรียนประถมโอเตะมะชิ (大手町国民学校) ซึ่งอยู่ห่างจุด hypocenter ๑ กิโลเมตร

คิดในด้านบวก ทั้ง ชิโยะโกะซัง และ ชิเกะรุซัง อาจจะถือว่าโชคดีกว่าอิมิโกะจังก็ได้ ที่ไม่ต้องทนทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัสข้ามคืนก่อนที่จะเสียชีวิต


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ


..........

SILA
หนุมาน
********
ความคิดเห็นที่ 68  เมื่อ 22 ส.ค. 14, 09:21

       จากภาพถ่ายวันนั้นที่มีอยู่เพียง 7 ภาพ ต่อไปนี้คือ หลากหลายรูปวาดและถ้อยคำ รำลึก
เหตุการณ์ ร้อยเรียงจากบรรดาผู้รอดชีวิตจากวันฮิโระชิมะวิปโยค

จากแถวศูนย์กลางระเบิด

           "ดูนั่น ร่มชูชีพ" ฉันแหงนมองตามเสียงนั้น ทันใดท้องฟ้าก็ระเบิดเกิดแสงจ้าเกินบรรยาย
รู้สึกคล้ายกับไฟเผาลูกตาฉันจากนั้นก็เกิดเสียงดังสนั่นจนหูดับ ตามมาด้วยแรงกระแทกที่แรงราว
กับจะฉีกร่างฉันให้แหลกเป็นชิ้นๆ เสียงระเบิดตูมนั้นไม่เหมือนเสียงระเบิดที่ตกลงบนพื้นหรือเสียง
แบบสายฝนของระเบิดเพลิง หากเป็นเสียงโลหะที่บาดหู 
            แสงนั้นแรงกล้าจนฉันต้องยกมือปิดตา สว่างจ้าจนฉันสามารถมองเห็นกระดูกมือตัวเอง
เหมือนในภาพเอ็กซเรย์

ภาพวาด เช้าวันนั้นอากาศดี บรรยากาศปลอดโปร่ง




จากหมู่บ้านใกล้เคียง

             เช้าวันนั้นอากาศดี ทันใดนั้นฉันรู้สึกร้อนวูบที่แก้มซ้าย แล้วก็มีแสงสว่างจ้าเหมือนแสง
สะท้อนจากกระจกเงา ตามด้วยเสียงคำรามที่สั่นสะเทือนไปทั้งหมู่บ้าน ในขณะที่ฉันสงสัยว่าเกิดอะไร
มวลเมฆก็ได้ก่อตัวขึ้นเหนือยอดเขาทางใต้แลเห็นเป็นสีชมพูเพลิง รูปร่างของมันค่อยๆ กลายเป็นคล้าย
ต้นเห็ดงอกสูงสู่ฟ้า สว่างจ้าจุความร้อนมากมายและเปล่งประกายแสงเจ็ดสีสายรุ้ง
               เมื่อนึกย้อนกลับไปก็ให้แปลกใจ แต่ฉันบอกได้ว่าภาพที่เห็นนั้นแลดูงดงาม

ภาพ แค่เสี้ยววินาทีวงแหวนหลากสีกระจายอยู่เหนือศีรษะของฉัน




ภาพวาดโดยนายแพทย์ทหารในกองเสนารักษ์ที่อยู่ห่างจากจุดระเบิด 4 กม.
            เช้าวันนั้นหลังจากที่ผมมาถึงที่ทำงานแล้วกำลังเดินไปที่โต๊ะ เกิดเหตุปรากฏการณ์แสงแดง
จ้าฉายฉานทางด้านนอก แล้วก็รู้สึกร้อนระอุที่แก้ม ผมตะโกนบอกลูกน้องให้อพยพออกจากอาคาร แต่
ทันใดนั้น ผมก็รู้สึกเหมือนอยู่ในสภาวะไร้น้ำหนักแล้วหมดสติไปราวครึ่งนาที
            เมื่อรู้สึกตัวก็ได้พบว่าทุกคนในห้องต่างลงไปกองที่พื้น ข้าวของกระจัดกระจาย กระจกหน้าต่าง
ไม่เหลือ มองออกไปเบื้องหน้า คือ เมฆรูปเห็ด และ
            เมื่อก้มลงดูเสื้อตัวเองกลับเห็นเป็นสีแดงด้วยเลือดสาดมาจากร่างของเจ้าหน้าที่หญิงที่บาดเจ็บ
ด้วยถูกชิ้นส่วนกระจกทิ่มแทงทั่วร่าง...




           บ้านที่อยู่ไกลออกไปกระเพื่อมยกสูงขึ้นเล็กน้อยแล้วถล่มล้มลงสู่พื้นเหมือนชิ้นโดมิโน
พายุแรงที่สะท้อนกลับเมื่อปะทะภูเขาพัดพาบ้านชายเขาล้มลงเสียหายจนสุดสายตา
            ระเบิดปล่อยพลังงานขนาดเทียบเท่า TNT ราว 13 - 18 kilotons จุดระเบิดอยู่กลาง
เมืองฮิโรชิมาคร่าผลาญสรรพสิ่งที่อยู่ในรัศมี 1 ไมล์ แม้อยู่ห่างออกไป 2 ไมล์ก็ยังเผาไหม้ผิวหนัง
ได้อย่างรุนแรง พายุที่เกิดโหมแรงด้วยความเร็ว 1,000 ไมล์/ชม. เหวี่ยงร่างผู้คนนับพันลอยขึ้น
และล้มอาคารลงทับผู้คนบนพื้นดิน เมื่อพายุเพลิงมอดดับลงฮิโรชิมาคงเหลือเป็นพื้นที่ราพณาสูร
ไหม้เกรียม
              ฝนสีดำนำฝุ่นกัมมันตรังสีลงสู่พื้นดิน
            บางร่างระเหิดระเหยหาย หลายร่างนอนตายคาที่ 

ภาพวาดฝนดำที่ตกลงบริเวณซึ่งห่างจาก hypocenter 1.3 กม. ในขณะที่ไฟกำลัง
เผาผลาญเมืองที่อยู่อีกฟากแม่น้ำ




ปรากฏการณ์ฝนดำเกิดจาก

          เมฆร้อนรูปเห็ดยักษ์ที่งอกทะยานสู่ท้องฟ้านำพาฝุ่นละอองเศษซากธุลีขึ้นไป อากาศจาก
รอบด้านเคลื่อนเข้ามาแทนที่พร้อมเขม่าธุลีจากมหาอัคคีถูกพัดขึ้นสูง ฝุ่นละอองและเขม่าเหล่านี้จับ
กับอนุภาคกัมมันตรังสีแล้วเมื่อมาจับกับละอองไอน้ำจึงตกลงมาเป็นฝนดำ
 
ผนังอาคารถูกวาดด้วยหยาดฝนดำ




             แสงนั้นแรงจ้าจนทำให้ตาเราพร่าบอด ฉันรู้สึกเหมือนว่าถูกสายฟ้าฟาดนับพัน
ความมืดมิดปกคลุมก่อนที่เราจะกลับมามองเห็นอีกครั้งว่า มีร่างที่เลือดท่วมตัวก่ายกองอยู่
บนตัวน้องชายและฉัน

             เสียงนั้นเงียบลง ฉันค่อยๆ คลานออกมาจากที่หลบภัยแล้วมองไปรอบตัว เสาเพลิง
สีแดง(ที่ฉันได้รู้ในเวลาต่อมาว่ามีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 200 ม. และสูง 10,000 ม.) ขยาย
ขนาดขึ้นนาทีต่อนาทียามที่พุ่งสูงสู่ฟ้า
             ไฟลามหน้าต่างแล้วลุกเข้าตัวอาคารบ้านเรือน อาคาร Industrial Promotion Hall
และอาคารอื่น ไฟโหมแรงร้อนเร่าเผาเรา

ภาพ ทะเลเพลิงท่วมเมืองเหมือนนรกบนดิน ร่างที่ถูกไฟเผาเสื้อผ้าสูญหายนอนตายเกลื่อนกล่น




        ระดับน้ำในแม่น้ำค่อยๆ เปลี่ยนจากน้ำขึ้นเป็นน้ำลง ควันดำหมุนเวียนสูงวน บางคราวควันนั้น
ก็เคลื่อนวูบลงมาที่ศีรษะเรา แผ่นดีบุกและกระดานเกรียมร่วงหล่นลงรอบตัว ต้องคอยระวังวัตถุที่จะ
หล่นลงมา ควันและน้ำตาเต็มสองตาเกินทน ลมหายใจที่สูดเข้ามาทำให้เราสำลัก

        ฉันเดินไปสะพาน Miyuki เพื่อหาน้ำดื่ม ต้องผลักร่างที่ลอยอยู่เพื่อที่จะดื่มน้ำซึ่งขุ่นเป็นโคลน
ลมหมุนหอบน้ำขึ้นสูงเห็นเป็นรูปกรวย ไฟจากอีกฟากฝั่งส่งควันและประกายข้ามมาหาเรา จากนั้น
ลูกเห็บขนาดใหญ่ก็ร่วงลงมาถูกใบหน้าระบม ตามด้วยน้ำวนหมุนรอบตัวแล้วฉันก็คิดได้ว่านี่คือ ทอร์เนโด

ภาพฝูงชนนับพันวิ่งหนีพายุเพลิงแล้วกระโจนลงไปในแม่น้ำ ที่สะพาน Sumiyoshi
ห่างจาก hypocenter 1.45 กม.




ภาพ ผู้คนวิ่งหนีไฟโหมมุ่งไปยังริมฝั่งน้ำแล้วหมดแรงทรุดลงบนพื้นดิน บางร่างด่าวดิ้นตายด้วย
ความเจ็บปวดทรมาน ที่เหลือมุ่งหน้าสู่แม่น้ำแล้วโจนลง หลายรายจมหาย บางรายถูกสายน้ำ
พัดไป แต่ไม่มีทางเลือกอื่นพวกเขาคงมุ่งสู่ผืนน้ำเพื่อหนีทะเลเพลิง




           ทะเลเพลิงโอบล้อมทั้งเมือง เราร้อนและหายใจไม่ออก ไฟหมุนคล้ายพายุทอร์เนโด
ครอบคลุมเต็มความกว้างของถนนเคลื่อนมาทางทิศใต้ เหมือนกับว่ากำลังตกอยู่ในนรกหมกไม้

รูปนี้มองแล้วรู้สึกร้อนเป็นที่สุด




           ร่างที่ถูกเผาไหม้เกรียมมองเห็นเป็นคล้ายถ่าน แลแข็งคล้ายก้อนหิน
           หนึ่งร่างเกรียมดำคือทารกน้อยในอ้อมกอดแม่ซึ่งถูกไฟไหม้จนผิวหนังมีสีแดง ดำ
แต่บริเวณเต้านมนั้นขาวซีด ทารกน้อยคงจะดูดนมจากอกแม่จนสิ้นใจ   

ภาพวาด แม่พยายามพาลูกน้อยสองคนหนีไฟที่โหมล้อมรุม เธอล้มลงบนพื้นและดึงร่าง
ลูกทั้งสองให้เข้ามาอยู่ใต้ร่างของเธอก่อนที่จะสิ้นใจไปทั้งสามคน นิ้วมือของลูกน้อยกด
ลึกลงไปในผิวหนังแม่




           สิ่งมีชีวิตเหล่านั้นฉันเห็นคล้ายเป็นลิง เมื่อฉันเข้าไปมองดูใกล้ๆ จึงได้เห็น
ดวงตาที่ทะลักออกมา ลิ้นและหลอดอาหารห้อยแกว่งออกจากปาก บางร่างพยายาม
จับอวัยวะส่วนนั้นยัดกลับคืนลงไปในกระเพาะตน
         
           ฉันมารู้ว่าพวกเขาเป็นคนก็เมื่อเขาพยายามพูดออกมาว่า ขอน้ำ, น้ำ

ภาพวาด ไฟท่วมรถรางทั้งคัน ร่างผู้โดยสารที่ไหม้เกรียมห้อยอยู่บนขอบหน้าต่าง บ้างแน่นิ่ง
อยู่บนถนน ทุกคนตายในทันที ผู้ชายมองละม้ายรูปสลักผู้พิทักษ์หน้าวิหารเดินลากขามาทางฉัน
เสื้อผ้าถูกเผากลายเป็นริ้วเหลือผ้าเตี่ยวและรองเท้าหุ้มข้อ ดวงตาข้างหนึ่งปะทุออกมาจากใบหน้า
สีแดงสดที่บวมเปล่ง 




           ผิวหนังของฉันที่แขนและมือหลุกลอกออกห้อย
           ขณะที่ฉันกำลังวิ่งไปก็ได้มีมือมายึดข้อเท้าฉันไว้และขอให้ฉันพาเขาไปด้วย
ฉันยังเป็นแค่เด็กน้อยที่บาดเจ็บ มือทั้งหลายที่พยายามยื่นมาช่างน่ากลัว เท่าที่ฉันทำได้
จึงเป็นการปัดป้องมือเหล่านั้นออกไป 

คำบรรยายภาพ เมื่อแสงกล้าสาดส่องมา, ทุกคนต่างยกมือขึ้นปิดตา ความร้อนและเปลวไฟ
ที่ตามมาเผาไหม้แขนและมือทำให้ผิวหนังพองหลุดลอกเหมือนถุงมือติดอยู่ที่เล็บ ด้วยความ
เจ็บปวดจากแผลไฟไหม้และเพื่อไม่ให้เนื้อที่ถูกเปิดออกเสียดสีติดลำตัว ทุกคนต่างก้าวเดิน
โดยยกแขนทั้งสองข้างยื่นออกไปข้างหน้า(แลดูคล้ายภูตผีปีศาจเดินเรียงแถว)




          บางร่างที่ยังเดินไหวมีเพียงเศษเสื้อผ้าปกปิดร่าง ผิวกายที่เปลือยเปล่าปรากฏรอยไหม้
เป็นรูปรอยเสื้อที่ร่างนั้นเคยสวมทับ บางร่างเห็นเป็นรูปดอกไม้จากลายของกิโมโน




           เราไปถึงเนินเขาโดบาชิ จากที่นั่นฉันเห็นเมืองถูกถล่มราบคาบ ควันคลุ้งหนาแน่นปกคลุม
ทั่วทั้งเมือง 5 นาทีต่อมา ไฟไหม้ปะทุขึ้นที่นั่น, ที่นี่ เพลิงลุกโชนโหมเมฆควันสูงลิบแลเหมือนฉากกั้น
แบ่งเมืองเป็นสองส่วน ส่วนนี้ที่สว่างด้วยแสงตะวันจ้ากลางหน้าร้อนส่องถึง ส่วนหลังเมฆควันนั้นมืดมิด

ภาพวาดจากเนินเขาฮิจิยามา มองลงไปยังนรกบนดิน




           ผู้คนที่อยู่ใกล้แรงระเบิดหรืออยู่ในท่ามกลางพายุไฟรุมนั้น เนื้อหนังของเขาปะทุ
เหมือนป๊อปคอร์น             
          ฝนดำนั้นเหนอะหนะ ตกต้องเกาะติดทุกสิ่งแล้วกลายเปลี่ยนเป็นสีดำที่ล้างไม่ออก
เม็ดฝนมีขนาดใหญ่จนเจ็บเนื้อ ไฟที่ลุกโชนไม่มอดเมื่อโดนฝนดำ




           คนเจ็บตายไปอย่างเงียบๆ ฉันได้ยินมาว่าเมื่อคนเราถูกไฟเผาขนาดฟ้าผ่า เขาจะไม่รู้สึก
เจ็บปวดด้วยว่าเส้นประสาทถูกทำลายจนชา
           เพลิงลุกโหมบนแม่น้ำไฟท่วมร่างที่พลัดตกลงไป
   
           ร่างที่ถุกเผาไหม้สาหัสเดินยกมือขึ้นมาหาเรา แลดูเหมือนปีศาจ ตุ่มน้ำขนาดใหญ่บนผิวหนัง
ที่พองแตกออกเป็นแผ่นห้อยคล้ายเศษผ้าขี้ริ้ว ของเหลวจากดวงตาละลายไหลลงตามร่องแก้ม ริมฝีปาก
บวมเต่งเป็นแผลมีหนอง

เด็กนักเรียนหญิงวิ่งหนีทะเลเพลิง




         เด็กก็ยังคงเป็นเด็กไม่เดียงสา ทั้งๆ ที่เจ็บหนัก ยังไม่วายสนอกสนใจสิ่งรอบตัว พวกเขา
ตื่นเต้นดีใจเมื่อได้เห็นเปลวไฟโหมลุกไหม้ท่วมแทงก์เก็บแก๊สของเมือง ด.ช.โตชิโอตะโกนบอก
เพื่อนๆ ให้ดูเงาเพลิงที่สะท้อนอยู่บนผิวแม่น้ำ

ภาพจากห้องเรียนของโรงเรียนประถมศึกษา ห่างไกลไปเบื้องหน้าคือไฟท่วมเมือง




           ในห้องนั้นอวลไปด้วยกลิ่นเหมือนกลิ่นปลาหมึกแห้งที่นำมาย่าง กลิ่นนั้นฉุนแรง

ภาพร่างของเหยื่อนอนเรียงราย บางร่างก็ไม่หายใจแล้ว ร่างที่ยังคงมีชีวิตอยู่ร้องขอ "น้ำ, น้ำ"
ฉันรินน้ำเข้าปากของร่างที่อยู่ทางขวามือซึ่งลืมตาอยู่ แต่เธอไม่กลืนน้ำนั้นลงไป เธอตายแล้ว
ตัวหนอนชอนไชในบาดแผลตามร่างของเธอ ร่างต่างๆ ที่นอนอยู่นี้แทบไม่มีลมหายใจ ไม่ได้รับ
การรักษาใดๆ ฉันสงสัยว่าแล้วพวกเขาจะรอดหรือ, ฉันประนมมือสวดมนต์




           หลังความสูญเสียจากการทำลายล้างอย่างมหาวินาศ ทางการทหารได้ส่งหน่วยบรรเทาทุกข์
เข้าไปในพื้นที่โดยทันที พวกเขาจัดการขนย้ายร่างผู้ตายจำนวนเกินนับในช่วง 4 - 5 วันแรก จัดการ
เคลียร์ถนนเพื่อให้รถบรรทุกเข้าถึง สร้างที่พักอาศัยและให้การรักษาผู้บาดเจ็บที่ยังมีชีวิตอยู่ หลายราย
สิ้นใจในเวลาต่อมา
            เมื่อสงครามสิ้นสุด กองทัพถูกยุบ เทศบาลเมืองก็ย่อยยับไม่เหลือ งานก่อสร้างฟื้นฟูจึงชะงักงัน
เท่านั้นไม่พอ หนึ่งเดือนต่อมาในวันที่ 17 กันยายน ไต้ฝุ่นยังเข้าโจมตีเมืองจนจมน้ำ ที่พักพิงผู้รอดชีวิต
ถูกทำลาย




พักคั่นอารมณ์ชมภาพ

ฮิโรชิมาย่านสะพาน Aioi ในวันนี้ 




ฮิโรชิมายามราตรี




ภาพถ่ายดาวเทียมยามค่ำคืน แสงสว่างจ้าเรียงรายจากขวาไปซ้าย
โตเกียว > นาโงย่า > โอซากา, โกเบ > โอกายามา > ฮิโรชิมา




และ ภาพภัยพิบัติดินถล่มหลังฝนตกเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว




ต่อภาพสะเทือนใจ
           
                   "ฉันจะเผาศพลูกฉันได้ที่ไหน" หนอนชอนไชใบหน้าของเด็กน้อยที่ผู้เป็นแม่
สะพายไว้อยู่ด้านหลัง ในมือคือหมวกกันกระสุนที่เธอเก็บได้แล้วจะนำมาใช้เก็บกระดูกลูกน้อย
วันนั้นเธอต้องเดินไปอีกไกลกว่าจะได้เชื้อติดไฟเพื่อเผาศพลูก




ย้อนเวลาฮิโระชิมะวิปโยคด้วยภาพวาดกันต่อ ครับ

รูปเด็กหญิงริมฝั่งน้ำ

                 วันนั้นหนูอยู่ที่โรงเรียน หลังเกิดเหตุก็รีบวิ่งกลับไปบ้านที่อยู่ริมแม่น้ำตรงสะพานข้าม
แล้วก็ได้พบว่าสะพานถูกไฟไหม้พังลง ส่วนบ้านทั้งหลังหายไปมองไม่เห็น หนูก็รู้ได้ในทันทีว่า
พ่อ, แม่และน้องสาวทั้งสองได้จากหนูไปแล้ว หนูทรุดนั่งตรงริมฝั่ง ซบหน้าลงบนฝ่ามือแล้วร้องไห้




รูปวาดเหยื่อปรมาณู

             เด็กนักเรียนที่ได้รับบาดเจ็บสาหัสจากไฟไหม้, ผู้คนที่ตายรายรอบบ่อน้ำ,
แม่กับลูก และ ม้าที่ร้องครวญครางอย่างเจ็บปวดทรมาน




ส่วนรูปวาดนี้เป็นรูปเดียวที่เล่าเรื่องเหยื่อสงครามซึ่งแตกต่างไปจากรูปอื่นๆ นั่นคือ

               รูปร่างไร้ลมหายใจของชายหนุ่มชาวตะวันตกที่ถูกจับมัดอยู่กับเสาโทรศัพท์ใกล้
กับซากอาคารศาลาว่าการเมือง
               ภาพนี้บอกเล่าเหตุการ์วันที่ 7 สิงหาคม ซึ่งไม่ค่อยมีใครได้รู้หรือบันทึกไว้
               นั่นคือ ในฮิโระชิมะวันวิปโยคนั้นมีเชลยชาวอเมริกันราว 24 คนถูกคุมขังอยู่
(จากเดิมเข้าใจว่าไม่มีเชลยอเมริกันอยู่เลย) เชลยเหล่านี้ส่วนใหญ่รอดตายจากระเบิด
เพื่อที่ต่อมาจะถูกชาวเมืองผู้โกรธแค้นลากออกมาแล้วถูกทุบตีจนตายแถวสะพาน Aioi





Logged
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
*****
Offline Offline

Posts: 8,554


View Profile
« Reply #3 on: 06 December 2021, 15:45:54 »


----------- กาลเวลาแสนลำบากยากไร้ผ่านไป ชีวิต(ที่เหลืออยู่) ต้องก้าวต่อ

                 ปกคลุมเหนือสรรพสิ่ง ซากปรักหักพัง ท่อระบาย ชายฝั่งแม่น้ำ กองกระเบื้อง, หลังคาดีบุก
และลำต้นไม้ที่ไหม้เกรียม คือ ผ้าห่มใบไม้เขียวสดขจี แซมด้วยดอกกุหลาบแย้มบานจากฐานรากบ้านพัง
                 ระเบิดปรมาณูทำร้ายต้นไม้ถึงโคนแต่เว้นรากไว้ และยังได้กระตุ้นมันให้เจริญงอกงาม

ฮิโรชิมาปี 1946 พุ่มไม้เล็กเติบโตท่ามกลางซากสงคราม




ฮิโรชิมาเดือนเมษายน ปี 1946 แลเห็นต้นไม้ใกล้ฝั่ง




ยี่โถคือดอกไม้ประจำเมือง เนื่องจาก(เขาว่า) เป็นไม้ดอกแรกแย้มบานหลังระเบิดปรมาณู




ส่วนภาพนี้ที่แสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์บรรยายว่า

           ฤดูใบไม้ร่วงปีนั้น ในฮิโรชิมานี้ที่เขาว่า ช่วงเวลา 75 ปี ที่นี่ปลูกต้นอะไรก็ไม่ขึ้น
ท่ามกลางซากสถานอาคารไหม้เกรียม ปรากฏกิ่งก้านชูช่อผลิดอกงอกงามในความเขียวขจี
กลับมีชีวิตชีวา ในขณะที่ชาวเมืองก็กลับฟื้นคืนความหวังและความเข้มแข็ง




          หลังจากเหตุการณ์วันนั้น เครื่องบิน B29 ของกองทัพอเมริกายังคงบินเหนือ
ฮิโรชิมาอีกหลายสัปดาห์เพื่อศึกษาผลจากระเบิดปรมาณู, ตรวจวัดระดับกัมมันตรังสี
และบันทึกแผนที่การทำลายล้างเมือง

          ชาวเมืองที่ไม่ได้รับบาดเจ็บ แต่กลับเข้าไปใกล้จุดศูนย์กลางระเบิดเพื่อค้นหา
ลูกหลานล้มป่วยลงด้วยอาการไข้สูง มีผื่นสีม่วงขึ้นทั่วตัว มีอาการทางจิต และตายลงที
ละคนในช่วงเวลาหกเดือนต่อมา

สภาพภายในโรงพยาบาลชั่วคราว




โลกไม่หยุดหมุน กาลเวลาไม่หยุดนิ่ง ในที่สุดปีวิปโยค 1945 ก็ผ่านไป
 
Hiroshima, 1946, โดย Alfred Eisenstaedt เขาเล่าว่า
        ผมไปโตเกียวเก็บภาพจอมพล MacArthur แล้วบินไปฮิโรชิมากับนางาซากิ
        ที่นั่นเหน็บหนาว หดหู่ ทุกสิ่งถูกผลาญทำลายสิ้น




ภาพวาดงดงาม(แต่เนื้อหาใจความชวนสลด)
ประตู Torii (gate) ทางเข้าศาลเจ้าที่เหลือรอดจากภัยปรมาณู




ภาพถ่ายในปี 1946




            ผ่านไปหลายปีพี่ชายของฉันป่วยด้วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวและจากไป บางคนที่
ได้รับบาดเจ็บจากระเบิดโดยตรงกลับคงอยู่รอดได้
            ส่วนตัวฉันนั้นถึงกับช็อคเมื่อได้พบว่า




ตัวเองอยู่ในสภาพคล้ายปีศาจ ฉันไม่เคยคิดเลยว่าจะมีใบหน้าเหมือนผีเช่นนี้

ภาพประกอบรูปนี้ที่เว็บไซต์บรรยายว่า

          จระเข้เดินแบบมด(ant-walking alligators) เขาเหล่านี้เคยเป็นคนจนกระทั่ง
ถึงวันที่ท้องฟ้าระเบิดแล้วพวกเขาโชคร้ายที่รอดตาย โดยมีบาดแผลเป็นเนื้อหนังที่ไหม้
เกรียมแห้งกรังติดกระโหลก ไม่เหลือเค้าเครื่องหน้าต่างๆ นอกจากช่องเปิดสีแดงตรงตำแน่ง
ที่เคยเป็นปาก พวกเขาเดินโซซัดโซเซอยู่แถบชานเมืองโดยที่ไม่มีใครอยากเฉียดใกล้




ชีวิตไม่สิ้นต้องก้าวเดินกันต่อไป ฮิโรชิมาได้รับการฟื้นฟูบูรณะขึ้นมาใหม่




ภาพถ่ายในปี 1949 เป็นมุมมองไปยังตำแหน่ง hypocenter เบื้องหน้า




สะพาน Aioi ได้รับการซ่อมแซมบูรณะ




กอบกู้ฟื้นคืนชีพย่านกินซ่าของฮิโรชิมา จากที่ร้างราวทะเลทรายกลับกลายมาเหมือนเดิม




ภาพนี้ไม่ใช่ที่ฮิโรชิมา - จีไอหนุ่มโอบสาวญี่ปุ่นในสวน ฮิบิยะ ใกล้พระราชวังในกรุงโตเกียว
บันทึกเมื่อมกราคม 1946




ภาพคล้ายกันที่ฮิโรชิมา ปี 1947 - สองชีวิตที่รอดนั่งมองเมืองเบื้องหน้า




อาคารพิพิธภัณฑ์สันติภาพ ปี 1955




โดมรำลึก ในทศวรรษ 1970s




ยังมีบางภาพถ่ายในตัวเมืองที่ระบุว่าเป็นภาพของวันที่ 6 สิงหาคม นอกเหนือจากภาพประวัติศาสตร์
ของคุณปู่ ได้แก่

ภาพจากรอยเตอร์




ภาพจากสำนักข่าว AP (Associated Press)




รวมภาพเมฆควันรูปเห็ด






ภาพจากฮิโรชิมาที่สะเทือนใจที่สุด




เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ความคิดเห็นที่ 125  เมื่อ 02 ก.ย. 14, 20:17

     เรื่องนี้เป็นโศกนาฎกรรมระดัยของโลก  นอกเหนือจากการสังหารยิวหกล้านคนด้วยฝีมือทหารของฮิตเลอร์     ถ้าพิจารณาจากสาเหตุและผลแล้ว    ชะตากรรมของชาวฮิโระชิมะเป็นผลสุดท้ายของเหตุอันยาวนานเกิน 10 ปีก่อนหน้านี้  อันได้แก่นโยบายการเมืองของญี่ปุ่น ที่ตั้งใจจะขยายแสนยานุภาพเป็นเจ้าแห่งเอเชีย
     สงครามไม่ว่าทำกับจีน หรือเกาหลี   ล้วนแล้วแต่ก่อผลตามมาที่เจ็บปวดแสนสาหัสแก่พลเมืองที่พ่ายแพ้ญี่ปุ่น   เช่นสงครามในนานกิง
     สุดท้ายคือการเหยียบจมูกเสือ  ที่เกิด ณ เพิร์ล ฮาเบอร์  ทำให้อเมริกากระโจนเข้ามาเป็นคู่แค้นของญี่ปุ่นอย่างเต็มตัว     การชิงชัยด้วยระเบิดปรมาณูจึงเป็นบทสุดท้ายที่น่าเศร้าสลดที่สุด

    ดิฉันเคยเรียนบทกวีว่าด้วยการทิ้งระเบิดลงเมืองนี้    แต่เสียดายว่ามันนานเต็มทีเลยจำชื่อจำเรื่องไม่ได้ จำได้แต่ผู้แต่งบอกว่า นักบินคนหนึ่งในจำนวนที่บินไปทิ้งระเบิด ฝันร้ายและพร่ำร้องแต่สัญญาณการทิ้งระเบิด     แต่ไม่ใช่ตัวนักบินที่อยู่มาจนชรา เพิ่งตายไปไม่นานมานี้

..........
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ความคิดเห็นที่ 126  เมื่อ 02 ก.ย. 14, 21:39

แอนดี แอนเดอร์ ทหารผ่านศึกอเมริกัน รำลึกถึงเหตุการณ์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองว่า

ในวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๘ เขาเป็นพนักงานประจำเครื่องรับส่งวิทยุในเรือรบยูเอสเอส มอร์ริส และในวันนั้น เรือรบยูเอสเอส มอร์ริสถูกโจมตีด้วยเครื่องบินญี่ปุ่นปฏิบัติการฆ่าตัวตาย หรือกามิกาเซ อันลือเลื่องของญี่ปุ่น

แอนดี เล่าว่า ในวันนั้นมีทหารเรือ และพลประจำการเสียชีวิตหรือบาดเจ็บจำนวน ๖๘ นาย

สามเดือนต่อมา ในวันที่ ๖ และ ๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ อเมริกาก็ถล่มฮิโรชิมาและนางาซากิด้วยระเบิดนิวเคลียร์ ทำให้ประเทศญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้ในวันที่ ๑๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๘

แอนดี กล่าวว่า ในทันทีที่สงครามยุติลง หลังการทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ เขาก็รู้สึกยินดีและสะใจกับการใช้ระเบิดนิวเคลียร์

ทว่าต่อมาหลังปี ๒๔๘๘ ความรู้สึกของเขาต่อการทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ถล่มญี่ปุ่น ก็เปลี่ยน

ปัจจุบัน แอนดี เป็นสมาชิกของกลุ่มทหารผ่านศึกเพื่อสันติภาพ (Veterans for Peace) เขากล่าวถึงสงครามว่า “สงครามเป็นความบ้าคลั่งไม่ว่าจะมองในแนวใด”

วันที่ ๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๑ แอนดี เป็นผู้อ่านประกาศของนายกเทศมนตรีเมืองดูลูท คือ ดอน เนสส์ ให้วันที่ ๖-๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๑ เป็นวันร่วมรำลึกถึงการทิ้งระเบิดใส่ฮิโรชิมาและนางาซากิ

แอนดี กล่าวถึงการทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ถล่มฮิโรชิมาและนางาซากิว่า “อย่างแน่นอน เราจำเป็นต้องทดลองมัน แต่เราต้องทดลองเพื่อดูว่ามันจะฆ่าคนได้มากแค่ไหนหรือ?” และกล่าวถึงการทิ้งระเบิดที่ญี่ปุ่นว่า “ถ้าจำเป็นจะต้องทำ ก็น่าจะเป็นการแสดงฤทธิ์เดชของระเบิดนิวเคลียร์ก็พอ โดยการไปทิ้งใส่เกาะที่ไม่มีผู้คนอาศัยอยู่ใกล้ญี่ปุ่น”

การตัดสินใจทิ้งระเบิดใส่ฮิโรชิมาและนางาซากิ ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา เกิดจากฝ่ายวางแผนยุทธศาสตร์สงครามของสหรัฐอเมริกา หลังการยกพลขึ้นยึดเกาะอิโวจิมา และโอกินาวา ของกองทัพสหรัฐ ซึ่งมีการสูญเสียอย่างรุนแรงของทั้งสองฝ่าย อีกทั้งการประกาศสู้ตายของคนญี่ปุ่นทั้งประเทศ ที่จะต่อต้านกองทัพสหรัฐ จนกระทั่งถึงคนสุดท้าย ทำให้ฝ่ายวางแผนยุทธศาสตร์สหรัฐบอกอดีตประธานาธิบดีสหรัฐขณะนั้น คือ แฮร์รี ทรูแมน ว่าจะต้องสูญเสียกำลังฝ่ายสหรัฐเอง เป็นจำนวนหลายแสนคน ถ้าจะยกพลบุกยึดญี่ปุ่นให้ได้

แต่สำหรับ แอนดี เขาเชื่อว่าการทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ถล่มญี่ปุ่นเป็นเรื่องของยุทธศาสตร์การเมือง ที่สหรัฐอเมริกาต้องการแสดงเพื่อข่มสหภาพโซเวียตมากกว่า  เพราะสหภาพโซเวียตขณะนั้น กำลังก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจคู่แข่งของสหรัฐอเมริกาอย่างเด่นชัด!

จาก ๖๓ ปีรำลึกฮิโรชิมาและนางาซากิ โดย ชัยวัฒน์ คุประตกุล




.....
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ความคิดเห็นที่ 127  เมื่อ 03 ก.ย. 14, 09:51

สันติสุขจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อเราศึกษาประวัติศาสตร์เพื่อเป็นบทเรียนและแก้ไขมิให้เกิดขึ้นอีก มิใช่ศึกษาแล้วเกิดการแค้นเคืองจ้องตอบโต้กันไม่รู้จบอย่างหนังสือพิมพ์เกาหลีใต้ฉบับนี้

บทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ จุงอัง อิลโบ ฉบับภาษาเกาหลีและภาษาอังกฤษเมื่อวันจันทร์ที่ ๒๐ พฤษภาคม ปีที่แล้ว (พ.ศ. ๒๕๕๖) ชี้ว่า ระเบิดปรมาณู ๒ ลูกซึ่งเครื่องบินสหรัฐฯทิ้งลงสู่ฮิโรชิมาและนางาซากิ เมื่อปี ๑๙๔๕ และสังหารพลเมืองญี่ปุ่นไปกว่า ๒๐๐,๐๐๐ คนนั้น “สมควรแล้ว”
     
“บ่อยครั้งที่พระเจ้าทรงยืมมือมนุษย์ให้สนองตอบความชั่วร้ายของมนุษย์ด้วยกัน” สื่อฉบับนี้บอก โดยแจกแจงถึงกิจกรรมอันเหี้ยมโหดต่าง ๆ ของ “หน่วย ๗๓๑” (Unit 731) ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยลับที่ญี่ปุ่นนำเชลยสงครามจำนวนมากมาย มาเป็นหนูทดลองอาวุธเคมีและอาวุธชีวภาพ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒
     
“เสียงกรีดร้อง (ของเชลยในห้องทดลอง) ดังก้องไปถึงสวรรค์ หลังจากนั้น ลูกระเบิดจึงร่วงพรูลงจากฟ้าสู่กรุงโตเกียว ส่วนฮิโรชิมาและนางาซากิก็ถูกทำลายด้วยระเบิดปรมาณู” จุงอัง อิลโบ ระบุ

บทบรรณาธิการดังกล่าวชี้ด้วยว่า ระเบิดกว่า ๓,๙๐๐ ตันที่เครื่องบินของกองทัพสหรัฐฯและอังกฤษทิ้งปูพรมใส่เมืองเดรสเดน ของเยอรมนี และระเบิดปรมาณู ๒ ลูกที่ใช้ถล่มเมืองฮิโรชิมากับนางาซากิ คือ “บทลงโทษจากสวรรค์ และการแก้แค้นของมนุษย์” ทั้งนี้กรณีของเดรสเดนเป็นการตอบแทนความชั่วร้ายของกองทัพนาซีที่ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว ส่วนที่ญี่ปุ่นก็คือการแก้แค้นให้แก่ชาวเอเชียที่ต้องตกเป็นเหยื่อลัทธิชาตินิยมทหาร
     
ทางด้าน โยชิฮิเดะ สุกะ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีและหัวหน้าโฆษกรัฐบาลญี่ปุ่น ได้ตำหนิข้อคิดเห็นดังกล่าวนี้ในสื่อเมืองโสมว่า “น่าอัปยศอดสู”
     
“เราขอประท้วงคณะเจ้าหน้าที่ของ จุงอัง อิลโบ อย่างรุนแรง... ญี่ปุ่นเป็นชาติเดียวในโลกที่เคยสัมผัสความโหดร้ายของระเบิดปรมาณู และเราจะไม่ให้อภัยต่อคำพูดเช่นนี้เป็นอันขาด” สุกะ แถลงต่อผู้สื่อข่าวที่กรุงโตเกียว วันนี้ (๒๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๖)

จุงอัง อิลโบ ยังกล่าวหาว่า รัฐบาลญี่ปุ่นและนายกรัฐมนตรี ชินโสะ อาเบะ ไม่เคยยอมรับว่ากองทัพจักรวรรดินิยมญี่ปุ่นเคยล่วงละเมิดพลเมืองชาติอื่นอย่างโหดร้ายที่สุด และเตือนทิ้งท้ายว่า “พระเจ้าอาจเห็นว่าบทลงโทษที่ญี่ปุ่นได้รับยังไม่สาสมพอ”
     
บทบรรณาธิการชิ้นนี้ถูกเผยแพร่ในขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างโตเกียวกับโซลกำลังตึงเครียด จากคำพูดของ โทรุ ฮาชิโตะ นายกเทศมนตรีเมืองโอซากา ซึ่งออกมาแก้ต่างแทนประเทศของตัวเองว่า การเกณฑ์สตรีเป็นทาสบำเรอกามแก่ทหารญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ นั้นคือสิ่งจำเป็นสำหรับกองทัพ
     
นักประวัติศาสตร์กระแสหลักระบุตรงกันว่า มีสตรีราว ๒๐๐,๐๐๐ คนจากเกาหลี, จีน, ฟิลิปปินส์ และประเทศอื่น ๆในเอเชีย ถูกญี่ปุ่นเกณฑ์มาเป็น “สตรีเพื่อการผ่อนคลาย” (comfort women) ในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา
     
จีนและเกาหลีใต้ยังขุ่นเคืองพฤติกรรมของ ส.ส.ญี่ปุ่นที่แห่ไปสักการะศาลเจ้ายาสุกุนิในกรุงโตเกียวเป็นประจำทุกปี โดยศาลเจ้าแห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อบูชาดวงวิญญาณชาวญี่ปุ่น ๒.๕ ล้านคนที่เสียชีวิตในสงครามครั้งต่าง ๆ รวมถึงอดีตผู้นำเมืองปลาดิบ ๑๔ คนในยุคสงครามโลกครั้งที่ ๒ ที่ถูกศาลฝ่ายสัมพันธมิตรตัดสินให้เป็นอาชญากรสงคราม

ข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์

ข่าวภาษาอังกฤษจาก Korea JoongAng Daily

อเมริกาในสายตาของหนังสือพิมพ์เกาหลีใต้ฉบับนี้เป็นดั่งตัวแทนของพระเจ้า ในขณะที่ในสายตาของแอนดี แอนเดอร์ ทหารผ่านศึกอเมริกัน คงเป็นในทางตรงกันข้าม


..........
SILA
หนุมาน
ความคิดเห็นที่ 128  เมื่อ 03 ก.ย. 14, 10:15

           ขอเปลี่ยนอารมณ์ด้วยภาพสวยๆ จากการ์ตูนมังงะ, อะนิเมะ  อิงเหตุการณ์ฮิโระชิมะวิปโยค
เรื่อง Barefoot Gen ที่เพิ่งฉลองครบ 40 ปีไปเมื่อปีที่แล้ว
          เป็นภาพตอนจบอย่างมีความหวังแม้ว่าฉากหลังจะเป็นยามอาทิตย์อัสดง(ไม่ใช่แดนอาทิตย์อุทัย
rising sun)




เงาอดีตอันโหดร้ายจางลงตามกาลเวลาแต่ยังไม่ลบเลือนเหมือนแผลเป็น เหลือไว้เพื่อ
เตือนความหลังครั้งนั้นให้จดจำไว้เป็นบทเรียน




เหตุแห่งการตัดสินใจใช้ระเบิดปรมาณูเป็นประเด็นให้วิพากษ์วิเคราะห์ยืดยาวนาน(อ่านไม่ไหว)
       
อ้างถึง
“ถ้าจำเป็นจะต้องทำ ก็น่าจะเป็นการแสดงฤทธิ์เดชของระเบิดนิวเคลียร์ก็พอ
โดยการไปทิ้งใส่เกาะที่ไม่มีผู้คนอาศัยอยู่ใกล้ญี่ปุ่น”

(ไม่เห็นด้วยกับการเข่นฆ่าประชาชน แต่เห็นว่า) ญี่ปุ่นซึ่งเหลิงหลงอำนาจในตอนนั้นคงไม่หวั่นไหว
ขนาดฮิโรชิมาราบไปแล้วญี่ปุ่นก็ยังไม่ประกาศยอมแพ้

            3 วันต่อมา ในวันที่ 9 สิงหาคม 1945 ระเบิดปรมาณูลูกที่สองนามว่า ชายอ้วน Fat Man
ก็ได้ถูกหย่อนลงที่นางาซากิ เป็นการปิดมหากรรมสงครามโลกลงในที่สุด

(บางคนบอกว่า ถ้าญี่ปุ่นรู้ว่านี่คือระเบิดปรมาณูลูกสุดท้าย คงจะสู้ต่อไปไม่ยอมแพ้)




ส่งท้ายด้วยภาพติดตาประทับใจจากนางาซากิ




.....
ปล. ขอแก้คำ(พิมพ์)ผิด ครับ

ในคห. 64 ของกระทู้นี้

           รูปของคุณปู่ช่างภาพกับคุณย่านั้นเป็นปี 1995 (พิมพ์ผิดเป็น 1955)




.....
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ความคิดเห็นที่ 134  เมื่อ 03 ก.ย. 14, 11:35

เรื่องของการทิ้งระเบิดปรมาณูที่ฮิโระชิมะ หากจะไม่กล่าวถึงเรื่องของ ซะดะโกะ ซะซะกิ และ นกกระเรียนพันตัว ก็คงจะจบลงอย่างไม่สมบูรณ์

“นกกระดาษนั่นจะทำให้ฉันหายป่วยได้ ยังไง” ซะดะโกะถาม ชิซุโกะเพื่อนสนิทซึ่งมาเยี่ยมเธอที่โรงพยาบาลพร้อมด้วยนกกระเรียนที่พับขึ้นจากกระดาษสีทอง 
   
“เธอจำตำนานเก่าแก่เกี่ยวกับเรื่องนกกระเรียนไม่ได้หรือว่าเขาเชื่อกันว่า .. นกกระเรียนนั้นมีอายุถึงพันปี ถ้าหากว่าคนที่ป่วยสามารถพับนกกระเรียนได้ถึงพันตัว สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทำให้คนนั้นกลับมามีสุขภาพแข็งแรงอีกครั้งหนึ่ง” 
   
ชิซุโกะยื่นนกกระเรียนให้ซะดะโกะแล้วบอกว่า
 
“นี้คือนกกระเรียนตัวแรกของเธอ” 
 
เด็กน้อยซาบซึ้งใจกับความปรารถนาดีของเพื่อน หลังจากนั้นซะดะโกะก็เริ่มต้นพับนกกระเรียนของเธอ พร้อม ๆ กับอธิษฐานว่า “ขอให้ฉันหายป่วย” แต่ซะดะโกะไม่หายจากอาการป่วยและไม่สามารถพับนกกระเรียนกระดาษได้ครบหนึ่งพันตัวนั่นคือ เรื่องราวของซะดะโกะกับนกกระเรียนพันตัวซึ่งเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นเมื่อกว่า ๖๐ ปีมาแล้ว แต่ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปเนิ่นนานเพียงไร เรื่องของเด็กผู้หญิงคนนี้กับสิ่งที่เธอทำก็ยังไม่เคยเลือนหายจากความทรงจำของผู้คนทั่วโลก
 
 
ซะดะโกะ ซะซะกิ เกิดเมื่อวันที่ ๗ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๖ ที่เมืองฮิโระชิมะ ประเทศญี่ปุ่น ต่อมาวันที่ ๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ ขณะที่ซะดะโกะได้ ๒ ขวบ เครื่องบินของกองทัพสหรัฐอเมริกาก็ทิ้งระเบิดปรมาณูลงมาที่เมืองฮิโระชิมะ อีก ๑๐ ปีให้หลัง ซะดะโกะก็กลายมาเป็นอีกคนหนึ่งที่เจ็บป่วยด้วยอาการโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวหรือลูคีเมีย ซึ่งเป็นพิษภัยจากระเบิดนิวเคลียร์นั่นเอง หลังจากที่ต้องต่อสู่กับโรคร้ายนี้อยู่นาน ๘ เดือนเด็กหญิงซะดะโกะก็เสียชีวิตลงในวันที่ ๒๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๘ ขณะอายุได้ ๑๒ ปี 
 
เมื่อเด็กน้อยผู้ร่าเริงคนที่ตั้งความหวังว่าจะเป็นนักวิ่งที่เก่งกาจต้องมาใช้ชีวิตอยู่บนเตียงโรงพยาบาล ซะดะโกะต่อสู่กับโรคร้ายด้วยความเข้มแข็ง ในจิตใจของเธอเปี่ยมด้วยความหวังว่าตัวเองจะต้องหายจากอาการป่วย เธอมุ่งมั่นที่จะพับนกกระเรียนกระดาษให้ครบหนึ่งพันตัวตามความเชื่อของคนญี่ปุ่นโบราณที่เล่าขานต่อ ๆ มา 
 
เด็กหญิงซะดะโกะเสียชีวิตขณะที่เธอพับนกกระเรียนได้ ๕๔๔ ตัว ในวันประกอบพิธีศพ เพื่อน ๆ ของเธอร่วมกันพับอีก ๓๖๕ ตัว ให้ครบหนึ่งพันแล้วจะนำไปฝังพร้อมกับร่างของซะดะโกะ 
 
อาจจะด้วยสิ่งที่เพื่อน ๆ ช่วยกันทำนั่นเอง จึงช่วยให้คำอธิษฐานของเธอเป็นจริงได้ เพราะจนถึงวันนี้ซะดะโกะก็ยังคงมีชีวิตอยู่ในหัวใจของผู้คนทั่วโลกเสมอมา ในปี ๒๕๐๑ อนุสาวรีย์ของซะดะโกะ ก็สร้างสำเร็จและนำไปตั้งไว้ที่สวนสันติภาพของเมืองฮิโระชิมะ รูปปั้นที่สร้างจากหินแกรนิตเป็นรูปของเด็กหญิงซะดะโกะยืนอยู่บนสวรรค์ ในมือที่เหยียดชูขึ้นสูงเป็นรูปนกกระเรียนสีทอง อนุสาวรีย์ของซะดะโกะนี้ไม่เพียงเพื่อซะดะโกะ แต่เพื่อเธอเป็นอนุสรณ์ให้ชาวโลกตระหนักถึงพิษภัยของสงครามทุกปี เมื่อถึงวันที่ ๖ สิงหาคม ซึ่งนับเป็นวันสันติภาพผู้คนจากทั่วทุกสารทิศจะเดินทางมาพร้อมกับนกกระเรียนกระดาษมาวางไว้หน้ารูปปั้นของซะดะโกะเพื่อระลึกถึงเธอ และเพื่อภาวนาให้สันติภาพเกิดขึ้นในโลก 
 
เรื่องราวของซะดะโกะถูกนำเสนอผ่านหนังสือ และสื่ออื่น ๆ แต่ที่เป็นที่โด่งดังและเป็นที่รู้จักมากที่สุด คือหนังสือเรื่องซะดะโกะกับนกกระเรียนพันตัว หรือ Sadako and the Thousand paper Cranes ของ อีลวีนอร์ โคเออร์ สตรีชาวแคนนาดา ผู้ลุ่มหลงวัฒนธรรมของญี่ปุนอย่างยิ่ง โคเออร์เขียนเรื่องราวของซะดะโกะขึ้นจากหนังสือชื่อ โคเออร์ ซึ่งเพื่อนนักเรียนของซะดะโกะนำจดหมายและบันทึกของเธอมารวมเป็นเล่มชื่อหนังสือว่า ซะดะโกะกับนกกระเรียนพันตัว ตีพิมพ์ครั้งแรกที่สหรัฐอเมริกาในปี ๒๕๒๐ ปัจจุบันถูกตีพิมพ์เป็นภาษาต่าง ๆ มากมาย 
 
วรรณกรรมเรื่องซะดะโกะกับนกกระเรียนพันตัวกลายมาเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้คนตระหนักถึงพิษภัยของสงครามและทำให้การพับนกกระเรียนกระดาษ ซึ่งเป็นความเชื่อของชาวญี่ปุ่นเป็นการอธิฐานเพื่อให้ผู้คนหายจากอาการเจ็บป่วยรวมทั้งเป็นสัญลักษณ์แห่งการเรียกร้องหาสันติภาพอีกนัยหนึ่งด้วย 
 
สำหรับผู้ที่มีโอกาสได้ไปเยือนอนุสาวรีย์ของซะดะโกะที่สวนสันติภาพของเมืองฮิโระชิมะ ก็จะได้พบว่า มีถ้อยจำกินใจจารึกไว้ที่ฐานของรูปปั้นเป็นภาษาญี่ปุ่นว่า

これはぼくらの叫びです これは私たちの祈りです 世界に平和をきずくための

“นี่คือคำร้องขอของเรา นี่คือคำภาวนาของเรา สันติภาพจงบังเกิดขึ้นบนโลก”

จาก เว็บโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์




.....
เพ็ญชมพู
หนุมาน
ความคิดเห็นที่ 135  เมื่อ 03 ก.ย. 14, 11:47

อ้างจาก: เพ็ญชมพู ที่  07 ส.ค. 14, 15:24
เรื่องของ ซะดะโกะ ซะซะกิ กับผลของการทิ้งระเบิดปรมาณูครั้งนี้

เศร้าใจพอ ๆ กับเรื่องของ แอนน์ แฟรงค์ ที่เสียชีวิตในค่ายกักกันของนาซี   

ถ้าคิดถึงความโหดร้ายของนาซี ก็อย่าลืมความโหดร้ายของลุงแซมด้วย

..........
https://www.youtube.com/watch?v=fPlAzO0mGT4

Sadako Story "INORI"

https://youtu.be/fPlAzO0mGT4

..........


เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ความคิดเห็นที่ 142  เมื่อ 06 ส.ค. 20, 15:08

อ้างจาก: SILA ที่  27 ส.ค. 14, 15:19
ฤดูใบไม้ร่วงปีนั้น ในฮิโรชิมานี้ที่เขาว่า ช่วงเวลา ๗๕ ปี ที่นี่ปลูกต้นอะไรก็ไม่ขึ้น
ท่ามกลางซากสถานอาคารไหม้เกรียม ปรากฏกิ่งก้านชูช่อผลิดอกงอกงามในความเขียวขจี กลับมีชีวิตชีวา
ในขณะที่ชาวเมืองก็กลับฟื้นคืนความหวังและความเข้มแข็ง

วันนี้ (๖ สิงหาคม) และ ถัดต่อไปอีก ๓ วัน (๙ สิงหาคม) เป็นวาระครบรอบ ๗๕ ปี นับแต่สหรัฐอเมริกาทิ้งระเบิดปรมาณูถล่มเมืองฮิโระชิมะ และเมืองนะงะซะกิ ทำให้ญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้สงคราม จนนำไปสู่การยุติสงครามโลกครั้งที่ ๒ อย่างเป็นทางการ

มหันตภัยครั้งนั้นได้ทิ้งบาดแผลไว้ให้คนญี่ปุ่นอย่างแสนสาหัส ผู้ที่รอดชีวิตจากระเบิดปรมาณู หรือ "ฮิบะคุชะ" (被爆者) ต่างต้องเผชิญกับสภาพอันเลวร้ายที่เกิดขึ้นจากผลของอาวุธที่ทรงอานุภาพนี้ เช่น การเจ็บป่วยจากสารกัมมันตรังสี และบาดแผลทางจิตใจ

เทรุโกะ อุเอโนะ อายุ ๑๕ ปี ตอนที่เธอรอดชีวิตจากการทิ้งระเบิดปรมาณูโจมตีเมืองฮิโระชิมะ ในวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๔๘๘

ในขณะนั้น เทรุโกะ กำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ ๒ ของโรงเรียนพยาบาลที่โรงพยาบาลกาชาดฮิโระชิมะ หลังจากกองทัพสหรัฐฯ ทิ้งระเบิดที่มีชื่อรหัสว่า "ลิตเติลบอย" (Little Boy) ลงมา ก็ทำให้หอพักนักศึกษาที่เทรุโกะพักอยู่เกิดไฟไหม้ ซึ่งเธอได้ช่วยในการดับเพลิง แต่เพื่อนนักศึกษาหลายคนของเธอต้องสังเวยชีวิตไปในกองไฟ

เทรุโกะ จำช่วงสัปดาห์หลังจากการทิ้งระเบิดได้เพียงว่า เธอต้องทำงานทั้งวันทั้งคืนเพื่อช่วยรักษาเหยื่อผู้ได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรงจากระเบิด ในขณะที่ตัวเธอและคนอื่น ๆ ที่รอดชีวิตมาได้ต่างประทังชีพด้วยอาหารและน้ำดื่มที่มีอยู่เพียงเล็กน้อย

หลังสำเร็จการศึกษา เทรุโกะ ยังทำงานที่โรงพยาบาลกาชาดฮิโระชิมะต่อไป โดยที่เธอมีหน้าที่เป็นผู้ช่วยในการผ่าตัดที่เกี่ยวข้องกับการปลูกถ่ายผิวหนังให้แก่บรรดาเหยื่อระเบิดปรมาณู แพทย์จะผ่าตัดนำเอาผิวหนังจากบริเวณต้นขาของคนไข้ไปปลูกถ่ายไว้ในจุดที่เกิดแผลเป็นคีลอยด์ (keloid scar) ซึ่งเป็นแผลเป็นที่มีลักษณะนูนแดงจากการถูกเผาไหม้

ในเวลาต่อมา เทรุโกะ ได้แต่งงานกับ ทัตสึยูกิ ซึ่งเป็นผู้รอดชีวิตจากระเบิดปรมาณูอีกคน ตอนที่เทรุโกะตั้งท้องลูกคนแรกของพวกเขา เธอรู้สึกกังวลว่าเด็กจะเกิดมาโดยมีสุขภาพแข็งแรง หรือจะมีชีวิตรอดหรือไม่

โทโมโกะ ลูกสาวของเทรุโกะ เกิดมาโดยมีสุขภาพแข็งแรงและเติบโตเป็นอย่างดี ช่วยให้เธอมีกำลังใจในการเลี้ยงดูลูกและดูแลครอบครัวเล็ก ๆ นี้ต่อไป

เมื่อย้อนรำลึกถึงเหตุการณ์เมื่อ ๗๕ ปีก่อน

"ดิฉันยังไม่เคยไปเยือนนรก จึงไม่รู้ว่ามันเป็นอย่างไร แต่นรกก็อาจคล้ายกับสิ่งที่พวกเราได้ประสบมา เราต้องไม่ยอมให้มันเกิดขึ้นอีกครั้ง" เทรุโกะกล่าว

"อนาคตอยู่ในมือของพวกเรา สันติภาพจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเรามีจินตนาการ คิดถึงผู้อื่น ค้นหาว่าเราสามารถทำอะไรได้บ้าง ลงมือทำ และดำเนินความพยายามในแต่ละวันอย่างไม่เหน็ดเหนื่อยเพื่อสร้างเสริมสันติภาพ" โทโมโกะ ลูกสาวของเทรุโกะกล่าว

คูนิโกะ หลานสาวของเทรุโกะ กล่าวเสริมว่า

"ดิฉันไม่เคยต้องเผชิญกับสงครามหรือระเบิดปรมาณู ดิฉันรู้จักแต่ฮิโระชิมะในยุคหลังจากที่เมืองได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาแล้ว ดิฉันจึงได้แต่จินตนาการ ฟังสิ่งที่ฮิบะคุชะแต่ละคนบอกเล่า และศึกษาข้อเท็จจริงเรื่องระเบิดปรมาณูจากหลักฐานที่มีอยู่"

เก็บความจากบทสัมภาษณ์ โดย ลี คาเรน สโตว์ ช่างภาพข่าวชาวอังกฤษ

https://www.bbc.com/thai/international-53640561

ฮิโระชิมะฟื้นคืนชีพขึ้นมาเป็นเมืองที่มีต้นไม้ แม่น้ำ และผู้คนอันงดงาม

สามสาวสามวัย เทรุโกะ กับ โทโมโกะ ลูกสาว และ คูนิโกะ หลานสาว




..........

SILA
หนุมาน
********
ความคิดเห็นที่ 143  เมื่อ 07 ส.ค. 20, 11:19

จาก cnn.com

เหยื่อระเบิดปรมาณูล่วงลับจากไปแทบไม่เหลือ แต่ เครื่องบินเพชฌฆาต Enola Gay คงจอดอยู่ที่ Smithsonian Air and Space Museum, Virginia


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ


..........
เรื่องและภาพจาก.....
http://www.reurnthai.com/index.php?topic=6057.0
       
      ฮิโระชิมะวิปโยค โลกไม่ลืม



« Last Edit: 06 December 2021, 15:53:56 by ppsan » Logged
Pages: [1] Go Up Print 
« previous next »
 

SMF 2.0.4 | SMF © 2013, Simple Machines | Theme by nesianstyles | Buttons by Andrea
Page created in 0.119 seconds with 16 queries.