Smile Siam มาร่วมกันคืน "สยามเมืองยิ้ม" กลับสู่บ้านเรากันนะครับ ...
User Info
Welcome, Guest. Please login or register.
10 May 2024, 21:34:57

Login with username, password and session length
Search:     Advanced search
News
ท่านสมาชิกสามารถเปลี่ยนรูปแบบ (Theme) ได้อีกหลายแบบ
เชิญทดลองโดยคลิกที่ลิงค์ข้างล่าง ได้เลยครับ

http://www.smilesiam.net/index.php/topic,3170.msg4713.html
Forum Stats
25,650 Posts in 12,467 Topics by 70 Members
Latest Member: KAN
Home Help Search Calendar Login Register
Smile Siam มาร่วมกันคืน "สยามเมืองยิ้ม" กลับสู่บ้านเรากันนะครับ ...  |  เรื่องราวน่าอ่าน  |  เรื่องเล่าจากความทรงจำที่หาฟังยาก  |  ประเพณีรัดเท้า
0 Members and 1 Guest are viewing this topic. « previous next »
Pages: [1] Go Down Print
Author Topic: ประเพณีรัดเท้า  (Read 281 times)
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
*****
Offline Offline

Posts: 8,503


View Profile
« on: 24 November 2021, 23:05:59 »

ประเพณีรัดเท้า


การรัดเท้า
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี


การรัดเท้า (จีน: 纏足; พินอิน: chánzú; อังกฤษ: foot binding) เป็นจารีตที่ให้รัดเท้าของหญิงสาวให้คับแน่น เพื่อมิให้นิ้วเท้างอกขึ้นได้อีก เท้าที่ถูกบีบรัดนั้นจะได้มีสัณฐานเรียวเล็กคล้ายดอกบัว เรียกว่า "บัวทองสามนิ้ว" (จีน: 三寸金蓮; พินอิน: sān cùn jīnlián; "three-inch golden lotus") การประพฤติเช่นนี้เชื่อว่าเริ่มในหมู่ชนชั้นสูงที่เป็นนางระบำรำฟ้อนในราชสำนักจีนช่วงห้าราชวงศ์สิบอาณาจักร (คริสต์ศตวรรษที่ 10 หรือ 11) แล้วจึงเป็นที่นิยมขึ้นในสมัยราชวงศ์ซ่ง ก่อนจะแพร่หลายทั่วไปในชาวจีนทุกชนชั้น ในฐานะที่เป็นเครื่องแสดงชั้นวรรณะ (เพราะสตรีที่ครอบครัวมีอันจะกินและไม่จำต้องใช้เท้าทำงานเท่านั้นจึงจะรัดเท้าได้) และเป็นเครื่องหมายแห่งความงามในวัฒนธรรมจีนโบราณ ทว่า ความนิยมและวิธีปฏิบัตินั้นผิดแผกกันไปในภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศจีน

ในปี 1664 พระเจ้าคังซีทรงพยายามจะห้ามมีการรัดเท้าอีกต่อไป แต่ไม่เป็นผล ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ชาวจีนนักปฏิรูปหลายคนท้าทายจารีตนี้แต่ก็ไร้ผล แม้ซูสีไทเฮามีพระเสาวนีย์ห้ามการรัดเท้าเป็นเด็ดขาด ก็ล้มเหลวเช่นกัน อย่างไรก็ดี กิจกรรมต่อต้านการรัดเท้าที่ดำเนินอย่างต่อเนื่องสืบ ๆ มาช่วยให้การรัดเท้าสิ้นสูญไปเมื่อต้นศตวรรษที่ 20

การรัดเท้าทำให้ผู้ถูกรัดต้องพิการชั่วชีวิต หญิงชราชาวจีนบางคนซึ่งเคยถูกรัดเท้าและมีชีวิตอยู่ในเวลานี้ต้องเผชิญความลำบากหลายประการเพราะความพิกลพิการอันเนื่องมาจากถูกรัดเท้า


เท้าที่ถูกรัด (ขวา) เทียบกับเท้าของคนที่ไม่ถูกรัดเท้า (ซ้าย)


ประวัติ

ต้นกำเนิด
มีข้อสันนิษฐานหลายประการเกี่ยวกับที่มาของการรัดเท้า เล่ากันว่า ต๋าจี่ (妲己) พระสนมของพระเจ้าโจ้ว (紂) แห่งราชวงศ์ซาง มีเท้าแป (club foot) นางจึงขอให้พระเจ้าโจ้วรับสั่งให้สตรีทุกคนในราชสำนักผูกรัดเท้าจนมีรูปเหมือนเท้าของนาง เพื่อที่ว่าเท้าอันพิการของนางจะได้กลายเป็นมาตรฐานแห่งความงดงามและภูมิฐาน
อีกเรื่องหนึ่งว่า พัน ยฺวี่หนู (潘玉奴) หญิงคณิกาคนโปรดของพระเจ้าเซียว เป่าเจฺวี้ยน (蕭寶卷) แห่งอาณาจักรฉีใต้ มีเท้าที่เล็กกระจุ๋มกระจิ๋ม ครั้นนางฟ้อนรำด้วยเท้าเปล่าไปบนพื้นอันประดับประดาด้วยดอกบัวทอง พระเจ้าแผ่นดินทรงพอพระทัยนักและตรัสว่า "ก้าวไหนมีบัวนั่น" (步步生蓮) เสมือนปัทมาวดี นางในตำนานซึ่งย่างก้าวไปที่ใดก็บังเกิดดอกบัวผุดขึ้นใต้เท้านางเสมอ เชื่อกันว่า เรื่องหลังนี้เป็นที่มาของชื่อ "บัวบาท" (lotus feet) ที่ใช้เรียกเท้าที่ถูกรัดจนเล็กเรียว แต่ไม่ปรากฏหลักฐานเรื่อง พัน ยฺวี่หนู เคยรัดเท้าของนางหรือไม่ประการใด

อย่างไรก็ดี เป็นที่ยอมรับโดยทั่วกันว่า การรัดเท้านั้นเกิดขึ้นในสมัยพระเจ้าหลี่ อฺวี้ (李煜) แห่งอาณาจักรถังใต้ในสมัยห้าราชวงศ์สิบอาณาจักร เพราะพระเจ้าหลี่ อฺวี้ ทรงให้สร้างดอกบัวทองคำสูงหกฟุตตกแต่งด้วยเพชรนิลจินดา และให้เหย่า เหนียง (窅娘) พระสนม รัดเท้าด้วยผ้าขาวให้มีรูปดังจันทร์เสี้ยว แล้วขึ้นไประบำด้วยปลายเท้าบนดอกบัวประดิษฐ์นั้น นางร่ายรำได้ประณีตงดงามเป็นที่ต้องตาต้องใจของผู้ได้เห็น คนทั้งหลายจึงเอาอย่างนาง สตรีชั้นสูงเริ่มรัดเท้าของตนบ้าง และการประพฤติเช่นนี้ก็แพร่หลายต่อ ๆ กันไป

การรัดเท้าเป็นที่นิยมยิ่งขึ้นในสมัยราชวงศ์ซ่ง (ศตวรรษที่ 10–12) และงานเขียนที่ว่าด้วยหรืออ้างถึงการรัดเท้า ฉบับเก่าแก่ที่สุดเท่าที่ปรากฏนั้น ก็ปรากฏว่า ทำขึ้นในช่วงปลายศตวรรษที่ 11 งานเขียนในศตวรรษที่ 12 ก็ยังบ่งบอกถึงความนิยมรัดเท้า เช่น จาง ปางจี (張邦基) นักเขียนในสมัยราชวงศ์ซ่ง ว่า เท้าที่ถูกรัดนั้นจะงามถ้ามีรูปโค้งและมีขนาดเล็ก

ครั้นถึงศตวรรษที่ 13 เชอ โร่วฉุ่ย (車若水) นักเขียนซึ่งยึดถือหลักเหตุผลนิยม เขียนตำหนิว่า "เด็กน้อยสี่ขวบห้าขวบไม่รู้เรื่องรู้ราว ก็จับมารัดเท้าให้เล็กจนเด็กเจ็บไม่รู้จบรู้สิ้น จะเท้าเล็กกันไปเพื่ออะไร" (婦人纒腳不知起於何時,小兒未四五歲,無罪無辜而使之受無限之苦,纒得小來不知何用。)

แม้มีผู้ไม่เห็นด้วย แต่หลักฐานทางโบราณคดีชี้ว่า ในศตวรรษที่ 13 นั้น หมู่ภริยาและธิดาของขุนนางนิยมรัดเท้ากันอย่างยิ่ง แต่วิธีรัดเท้าในสมัยราชวงศ์ซ่งเช่นที่พบตามศพต่าง ๆ นั้นแตกต่างจากที่ปฏิบัติกันในอีกหลายร้อยปีให้หลัง เพราะในช่วงราชวงศ์ซ่ง รัดเท้าโดยบิดหัวแม่เท้าขึ้น และเท้าไม่ได้เล็กเหมือนในสมัยหลัง จึงเกิดข้อสันนิษฐานอีกข้อหนึ่งว่า ความนิยมบีบรัดให้เท้าเล็กเพียงสามนิ้วจนเรียกกันว่า "บัวทองสามนิ้ว" นั้นไม่ได้เกิดขึ้นในสมัยราชวงศ์ซ่ง หากเกิดขึ้นภายหลัง

หลายร้อยปีหลังการรัดเท้าเกิดนิยมขึ้นในราชวงศ์ซ่ง ปรากฏว่า การรัดเท้าเป็นที่ยึดถือปฏิบัติโดยทั่วกันในครอบครัวผู้ดี ก่อนจะแพร่หลายไปสู่ประชาชนทั่วไป ครั้นปลายราชวงศ์ซ่ง ปรากฏว่า ชายบางคนมักบริโภคเครื่องดื่มด้วยถ้วยใบน้อยที่ติดไว้กับรองเท้าพิเศษสำหรับใส่เท้าที่ถูกรัด ต่อมาในสมัยราชวงศ์หยวน มีบางคนดื่มกินโดยใช้รองเท้าพิเศษนั้นโดยตรง จึงเกิดสำนวนว่า "ซดบัวทอง" (toast to the golden lotus) และธรรมเนียมดังว่านี้มีอยู่จนปลายราชวงศ์ชิง

เมื่อถึงศตวรรษที่ 19 จำนวนสตรีจีนทั่วไปที่รัดเท้านั้นคิดได้ร้อยละ 40 ถึง 50 ส่วนสตรีชั้นสูงที่เป็นชาวฮั่นนั้นรัดเท้ากันทุกคน คิดเป็นร้อยละ 100 เท้าอันถูกรัดรึงจนแคบเล็กผิดธรรมชาตินั้นกลายเป็นเครื่องหมายแห่งความงาม ทั้งเป็นเงื่อนไขแรก ๆ ในการหาคู่ สตรียากจนอยากได้สามีรวยก็อาจทำได้โดยมีเท้าสวย

มีตัวอย่างในมณฑลกว่างตงเมื่อปลายศตวรรษที่ 19 นั้น ยึดถือกันเป็นประเพณีว่า สำหรับครอบครัวชนชั้นล่าง ลูกสาวคนโตต้องถูกรัดเท้า จะได้เป็นกุลสตรี ส่วนลูกสาวคนรองลงมา ไม่ต้องรัดเท้า เพราะมีไว้ใช้งานต่างทาสหรือทำไรไถนา ในช่วงนี้ นิยมกันว่า เท้ายิ่งเล็กยิ่งดี ยิ่งเล็กได้สามนิ้วตามมาตราวัดของจีน (4 นิ้วตามมาตราตะวันตก) ก็ยิ่งประเสริฐ เท้าอันรัดจนเล็กนี้ถือเป็นเกียรติเป็นศรีแก่ตัวหญิงผู้ถูกรัดและแก่วงศ์ตระกูลของนาง

ความภาคภูมิใจดังกล่าวยังปรากฏผ่านรองเท้าและผ้าหุ้มที่เย็บปักด้วยไหมอย่างวิจิตรอลังการสำหรับไว้ใส่เท้าที่ถูกรัด อนึ่ง เพราะเท้าเล็กผิดรูป จึงจำต้องย่อเข่าเวลาเดิน จะได้ทรงตัวและเคลื่อนไหวสะดวก ชายบางคนเห็นว่า สตรีที่เดินด้วยท่าทางอย่างนี้ชวนให้กระสันรัญจวนใจเหลือประมาณ

แม้จะยังเดินไปมาและทำงานในไร่นาได้ แต่หญิงที่ถูกรัดเท้าต้องประสบข้อจำกัดมากมาย ไม่เหมือนหญิงปรกติ กระนั้น ในศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20 ก็ยังปรากฏว่า นักเต้นรำหญิงที่เท้าถูกรัดนั้นได้รับความนิยมสูง โดยให้เป็นนักแสดงละครสัตว์ที่ยืนบนม้าซึ่งกำลังวิ่งหรือพยศเป็นต้น เหล่าหญิงสาวชาวบ้านแห่งหนึ่งในมณฑลยูนนานซึ่งเท้าถูกรัดยังจับระบำรำฟ้อนกันเป็นวงประจำถิ่นเพื่อแสดงให้นักท่องเที่ยวชมในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 ส่วนในท้องที่อื่น ๆ สตรีวัย 70 ถึง 80 ซึ่งเท้าถูกรัดนั้นจะคอยช่วยเหลือคนงานในทุ่งนาอย่างจำกัดจำเขี่ย มีปรากฏมาจนถึงช่วงเข้าศตวรรษที่ 21


การยุติ
การคัดค้านการรัดเท้านั้นมีขึ้นในหมู่นักเขียนชาวจีนบางคนในช่วงศตวรรษที่ 18 ต่อมา ชาวฮากกาซึ่งสตรีไม่รัดเท้านั้นก่อกบฏเมืองแมนแดนสันติ และประกาศให้การรัดเท้าผิดกฎหมาย เมื่อกบฏดังกล่าวถูกปราบราบคาบ เหล่านักเทศน์ศาสนาคริสต์จึงเริ่มให้การศึกษาแก่เด็กหญิง พยายามโน้มนาวให้เห็นว่า การรัดเท้าเป็นประเพณีป่าเถื่อน นักเทศน์เหล่านี้ยังใช้วิธีการหลายหลากเพื่อเปลี่ยนแปลงความคิดเห็นของชนชั้นสูงให้ได้ ทั้งการให้ศึกษา การแจกใบปลิวและแผ่นพับต่าง ๆ รวมถึงการกดดันรัฐบาลราชวงศ์ชิง

ในปี 1875 สตรีคริสต์ศาสนิกชนราว 60 ถึง 70 คนในเซี่ยเหมินประชุมกันโดยมีจอห์น แม็กกาววัน (John MacGowan) นักเทศน์ เป็นประธาน คนเหล่านั้นร่วมกันตั้ง "สมาคมเท้าปรกติ" (天足會) ขึ้นเพื่อรณรงค์ต่อต้านการรัดเท้า กิจกรรมทั้งนี้ต่อมาได้รับความสนับสนุนจากขบวนการสตรีเพื่อความชั่งใจในพระคริสต์ (Woman's Christian Temperance Movement) ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อปี 1883 และได้รับความอุปถัมภ์จากคณะนักเทศน์ซึ่งเห็นว่า อาจอาศัยคริสต์ศาสนาส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศต่าง ๆ ได้ หนึ่งในสมาชิกคณะนักเทศน์นี้ได้แก่ ทิโมที ริชาร์ด (Timothy Richard) ผู้มีอิทธิพลต่อการก่อตั้งจีนเป็นสาธารณรัฐในเวลาต่อมา

ฝ่ายปราชญ์ชาวจีนที่มีใจรักการปฏิรูปก็ชวนกันเห็นว่า การรัดเท้าเป็นด้านมืดในวัฒนธรรมของตน ควรกำจัดทิ้งโดยเร็ว[26] ในปี 1883 คัง โหย่วเหวย์ (康有為) บัณฑิต จึงตั้งสมาคมต่อต้านการรัดเท้า (Anti-Footbinding Society) ขึ้นใกล้เมืองกว่างโจว จากนั้น กลุ่มคัดค้านการรัดเท้าก็ผุดขึ้นราวกับดอกเห็ดทั่วไปในประเทศ มีคำอ้างว่า ผู้ร่วมเคลื่อนไหวต่อต้านการรัดเท้าในครั้งนั้นรวมกันได้ถึง 300,000 คน ทว่า ขบวนการเหล่านั้นกลับชูเหตุผลด้านชาตินิยม แทนที่จะเป็นด้านสุขภาพอนามัย หรือด้านความมีประสิทธิภาพของชนชั้นแรงงาน

นักปฏิรูปหลายรายที่ได้อิทธิพลของลัทธิสังคมนิยมแบบดาร์วิน เช่น เหลียง ฉี่เชา (梁啟超) โฆษณาว่า การรัดเท้าทำให้บ้านเมืองอ่อนด้อย เพราะสตรีขี้โรคย่อมมีบุตรอ่อนแอ จนเมื่อลุศตวรรษที่ 20 นักสตรีนิยม เช่น ชิว จิ่น (秋瑾) จึงเริ่มมีบทบาทในการต่อต้านการรัดเท้าบ้าง ครั้นปี 1902 ซูสีไทเฮาออกกฎหมายป้องกันและปราบปรามการรัดเท้า แต่กฎหมายนั้นยกเลิกไปภายหลัง


.....

https://th.wikipedia.org/wiki/การรัดเท้า

การรัดเท้า
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี



Logged
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
*****
Offline Offline

Posts: 8,503


View Profile
« Reply #1 on: 24 November 2021, 23:07:05 »


*** ประเพณีรัดเท้า ***

เชื่อกันว่าในยุคห้าราชวงศ์สิบรัฐ (ค.ศ. 907 - 960) จักรพรรดิมีสนมนามเหย่าเหนียง มีเท้าเล็กกระจุ๋มกระจิ๋มมาก

วันหนึ่งกษัตริย์ได้สร้างดอกบัวทองคำสูงหกฟุตประดับด้วยเพชรนิลจินดา และให้นางขึ้นไปร่ายรำบนดอกบัวนั้น เหย่าเหนียงจึงเอาผ้าขาวรัดเท้าให้โค้งดังจันทร์เสี้ยว ร่ายรำอย่างงดงามยิ่ง แสดงทั้งกายภาพว่ามีเท้าเล็กมาก และมีทักษะดีมาก ทำให้ผู้ชมต่างประทับใจ ทุกคนจึงเอาอย่าง ให้ผู้หญิงรัดเท้าให้เล็กลงเกิดเป็นธรรมเนียม “รัดเท้า” ขึ้น


ภาพแนบ: ขนาดรองเท้าของผู้ถูกรัด เทียบกับฝ่ามือ

ผู้ชายจีนสมัยก่อนมีอารมณ์กับผู้หญิงเท้าเล็กๆ เหมือนผู้ชายสมัยนี้มีอารมณ์กับผู้หญิงหน้าอกใหญ่ๆ ผู้หญิงยิ่งเท้าเล็กยิ่งมีเสน่ห์ ยิ่งมีโอกาสเป็นที่หมายปองของชายสูงศักดิ์

นั่นเป็นการกดดันให้ครอบครัวที่อยากให้ลูกสาวได้สามีดี ต้อง “ทำศัลยกรรม” ลูก รัดเท้าพวกเธอจนพิการตั้งแต่เล็กแต่น้อย ต้องเจ็บปวดทรมานเป็นอย่างยิ่ง



และเมื่อได้เท้าพิการผิดรูปแล้ว ก็ต้องพันเท้าไว้ตลอดเวลา (เพราะผู้ชายชอบเห็นเท้าที่พันไว้แล้วจินตนาการ มากกว่าจะมองของจริงที่บิดเบี้ยว) จนเท้านั้นเหม็นอับเป็นโรคผิวหนังกันมาก

...ด้านหนึ่งให้เหตุผลว่าเพราะการเดินด้วยเท้าเล็กๆ จะนวยนาดดูเซ็กซี่ แต่อีกเหตุผลคือ เมื่อเท้าเล็กก็จะเดินลำบาก ทำให้ต้องอยู่แต่ในบ้าน ไม่ออกไปไหนให้วุ่นวาย และยากต่อการมีชู้


.....
จาก... https://pantip.com/topic/41090354



Logged
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
*****
Offline Offline

Posts: 8,503


View Profile
« Reply #2 on: 25 November 2021, 00:12:04 »

ประเพณีการรัดเท้า : ประเพณีแห่งความเจ็บปวด


ที่มา   ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2543
ผู้เขียน   ธันวา วิน
เผยแพร่   วันพุธที่ 5 สิงหาคม พ.ศ.2563



ลักษณะเท้าของหญิงจีนที่ถูกรัดให้เล็ก (ภาพโดย Jo Farrell จากเว็บไซต์ https://www.huffingtonpost.com/2014/06/13/photographs-last-chinese-footbinders_n_5489925.html)

ช่วงหนึ่งของประวัติศาสตร์จีน มีประเพณีสำคัญอย่างหนึ่งคือ นิยมให้สตรีรัดเท้าให้เล็กลงบ่งบอกถึงเท้าตระกูลผู้ดี เท้าคนชั้นสูง บ่งบอกถึงฐานะครอบครัว เป็นช่วงหนึ่งของประวัติศาสตร์ที่คนรุ่นใหม่อาจไม่รู้และไม่เห็นคุณค่า ไม่เอาใจใส่ประวัติศาสตร์ และคนที่เรียนรู้ประวัติศาสตร์ก็ถือว่าการรัดเท้าเป็นช่วงหนึ่งของประวัติศาสตร์อันน่าอับอายขายหน้า แต่อย่างน้อยก็มีคนหนึ่งที่ให้ความสนใจศึกษาและเก็บเรื่องราวการรัดเท้าของผู้หญิงจีนโบราณโดยไม่ถือว่าเป็นสิ่งที่ต้องอับอายขายหน้าแต่อย่างใด เขาคือนายโค ฉีเซิน ศัลยแพทย์ชาวจีนไต้หวัน

นายโคได้เก็บหนังสือประวัติศาสตร์ว่าด้วยประเพณีรัดเท้า และสิ่งอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรัดเท้าไว้จำนวน ๓,๐๐๐ ชิ้น และยังมีรองเท้าโบราณของหญิงรัดเท้าไว้มากกว่า ๑,๐๐๐ คู่ ของมีค่าดังกล่าวเคยจัดแสดงเมื่อหลายปีก่อนที่กรุงไทเป เมืองหลวงไต้หวัน ได้รับความสนใจจากทั้งชาวจีนเองและฝรั่งตะวันตก

ในประวัติศาสตร์จีนระบุไว้ว่า ผู้หญิงคนแรกที่รัดเท้าตนเองคือ ข้าราชบริพารในราชสำนักชื่อ หยาว หนิง ในสมัยปลายราชวงศ์ถัง และขยายไปยังชนชั้นสูง สตรีจีนนิยมรัดเท้ามาตั้งแต่นั้นร่วมนับพันปี เป็นปรากฏการณ์ชิ้นสำคัญในประวัติศาสตร์จีนและโลกก็ว่าได้


หญิงชาวจีนยูนนานใส่รองเท้าถักสีเหลืองขนาดเล็ก (ภาพจากเว็บไซต์ https://edition.cnn.com/2017/05/21/health/china-foot-binding-new-theory/index.html)

นางหลิน เว่ย หง อาจารย์สอนประวัติศาสตร์ในมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน กล่าวว่า “การรัดเท้าที่หญิงจีนนิยมทำกันปรากฏช่วงปี ค.ศ. ๙๖๐-๑๒๗๙ หรือช่วงราชวงศ์ซ่ง” ขณะเดียวกันนักประวัติศาสตร์บางคนสันนิษฐานว่า ได้รับการนิยมมากที่สุดในทุกชนชั้นวรรณะ แม้กระทั่งหญิงแพศยาในสมัยราชวงศ์หมิง (ค.ศ. ๑๓๖๘-๑๖๔๔) และแพร่หลายทั่วไปในบรรดาหญิงเผ่าฮั่น ในแมนจูภายใต้การปกครองของราชวงศ์ฉิง (ค.ศ. ๑๖๔๔-๑๙๑๑)


ภาพเอ็กซเรย์เท้าที่ถูกรัดให้เล็กตามประเพณีการรัดเท้าชองจีนสมัยโบราณ (ภาพจากเว็บไซต์ http://www.visiontimes.com/2013/07/26/chinese-foot-binding-in-pictures-some-photos-are-graphic.html)

การรัดเท้ายิ่งอายุน้อยยิ่งทำง่าย เพราะกระดูกยังอ่อน แต่เด็กที่ถูกรัดเท้าตั้งแต่อายุยังน้อยนั้น เมื่อแก่ลงมักเดินไม่ค่อยได้ เด็กอายุระหว่าง ๔-๘ ขวบเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดในการเริ่มรัดเท้า เนื่องจากหลังจากอายุ ๑๐ ขวบ เท้าเด็กจะขยายตัวอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ดี นับตั้งแต่เริ่มรัดเท้าเด็กจะเจ็บปวดเป็นเวลา ๔-๕ ปีกว่าจะเข้าที่เข้าทาง เป็นช่วงชีวิตที่เจ็บปวดมากที่สุดของเด็กหญิงที่ถูกบังคับให้รัดเท้า ไม่เพียงจบลงแค่นี้ เธอเหล่านี้ต้องมัดไว้ตลอดเวลาเพื่อไม่ให้เท้าขยายขึ้นมา ผ้าที่มัดเท้าไว้แก้ได้ก็เมื่อล้างเท้าเท่านั้น ซึ่งในการล้างเท้าแต่ละครั้งต้องใช้เวลาเป็นชั่วโมง

นางหลินเล่าว่าในช่วงราชวงศ์ฉิง ผู้หญิงเท้าเล็กถือได้ว่าเป็นผู้หญิงที่สวยงาม เป็นผู้หญิงที่ชายจีนปรารถนาที่จะแต่งงาน ทำให้หญิงจำเป็นต้องรัดเท้าเพื่อให้ชายชาตรีมาสู่ขอ ถึงขนาดมีการพูดกันว่า “หญิงควรมีเท้าเบาบางเล็ก แหลม โค้ง หอม นุ่ม และที่สำคัญเท่าทั้ง ๒ ข้างเท่ากัน”

นายโคอธิบายว่า ประเพณีการรัดเท้ามีบทบาทอย่างมากในสถาปัตยกรรมจีน เช่น ในหลูกังตอนกลางของไต้หวัน มีทางเดินแคบสร้างไว้สำหรับหญิง ไม่เพียงแค่นี้ หญิงเท้าเล็กยังเป็นสัญลักษณ์แห่งความสงบสุขของครอบครัว เข้ากับอุปนิสัยหญิงจีนโบราณที่มักจะชอบอยู่ในบ้าน ทั้งนี้หญิงเท้าเล็กอยู่ในบ้านตลอดเวลา ไม่สามารถไปหาชายคนอื่น เพราะเดินไปข้างนอกไม่เคยได้

การเดินของหญิงเท้าเล็กยังดึงดูดความสนใจของชายได้ เพราะเดินนุ่มนวล ทรงตัว สวยงาม เซ็กซี่ เป็นการเดินที่ปลุกใจอารมณ์กว่าหญิงปกติ ถึงช่วงปี ค.ศ. ๑๙๓๐ หญิงสาวในมณฑลชานซีมีการประกวดเท้าเล็ก โดยหญิงสาวจะนั่งโชว์เท้าบริเวณหน้าบ้าน จะมีกรรมการเดินมาตรวจผ่านบ้าน

(คัดลอกส่วนหนึ่งจากบทความ “ประเพณีรัดเท้าหญิงในจีน” เขียนโดย ธันวา ทิน ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม กุมภาพันธ์ ๒๕๔๓)



Logged
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
*****
Offline Offline

Posts: 8,503


View Profile
« Reply #3 on: 25 November 2021, 00:15:04 »

เท้าดอกบัวตูม แฟชั่นสุดแสนทรมานของสตรีแดนมังกร ที่ต้องแลกมาด้วยชีวิตและน้ำตา




สวัสดีค่ะ สาวๆ SistaCafe ทุกคนมนุษย์อยู่คู่กับแฟชั่นมาตั้งแต่สมัยโบราณ ทั้งแฟชั่นการแต่งกายที่เปลี่ยนตามยุคสมัยไปเรื่อยๆ  เท้าดอกบัวทอง ก็เช่นกัน เป็นแฟชั่นชนิดหนึ่งของประเทศจีนในสมัยก่อน ที่ผู้หญิงยังไม่มีสถานะทางสังคมมากนัก แฟชั่นชนิดนี้แลกมาด้วยความเจ็บปวด หรือบางครั้งก็แลกมาด้วยชีวิต



หากคุณต้องเกิดมาในสมัยโบราณที่มีประเพณีที่สืบทอดกันมาเนื่องจากความเชื่อที่ว่ามีลูกผู้หญิงก็เหมือนมีส้วมอยู่หน้าบ้าน ผู้หญิงส่วนมากไม่มีค่าในสังคม แต่ถ้าหากหญิงผู้นั้นมีเท้าที่เล็กขนาด 3 นิ้ว ชะตาชีวิตก็จะเปลี่ยนไป จากเพศหญิงที่ไม่มีค่าอะไรก็จะได้แต่งงานกับผู้ชายที่มีฐานะที่ดีมีตระกูลที่ดี โดยที่คุณจะต้องแลกมาด้วยความเจ็บปวด หรือแม้แต่ชีวิตของคุณเอง



ในสมัยราชวงศ์ซ่งของประเทศจีน มีประเพณีหนึ่งที่นิยมทำกันอย่างแพร่หลาย นั่นก็คือ การมัดเท้าให้เป็นดอกบัวตูมหรือจะเรียกว่าดอกบัวทองก็ได้ เด็กผู้หญิงอายุราว 4 ขวบขึ้นไป จำเป็นต้องผ่านการมัดเท้า ถ้าไม่อยากโดนขายเป็นคนรับใช้ตีนโต


คนรับใช้ตีนโตคืออะไร



เด็กผู้หญิงบางคน ทางบ้านไม่ยอมมัดเท้าและปล่อยให้มีเท้าขนาดตามธรรมชาติ เมื่อโตขึ้นก็มักถูกขายให้ไปเป็นสาวใช้ตีนโต ทำงานหนักเยี่ยงทาส อย่างที่กล่าวข้างต้นก็คือ ยุคนั้นไม่ให้ความสำคัญกับเพศหญิงและสิ่งที่จะเพิ่มมูลค่าให้เพศหญิงนั่นก็คือ การมัดเท้า



สตรีจีนโบราณไม่ได้มีอิสระอะไรมากนัก การที่จะออกเรือนสักทีหนึ่งจำเป็นต้องพึ่งพาแม่สื่อ เพื่อที่จะให้แม่สื่อหาคู่ครองที่เหมาะกัน เรียกง่าย ๆ ก็การ คลุมถุงชน นั่นแหละ การที่จะได้แต่งงานเข้าไปอยู่ในบ้านที่มีฐานะดี ก็จำเป็นที่จะต้องดูลักษณะหลายอย่าง และการมัดเท้าก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้ผู้หญิงได้คู่ครองที่ดี นอกจากนี้ยังมีความเชื่อกันว่า เท้าดอกบัวทอง กระตุ้นอารมณ์ทางเพศแก่ฝ่ายชายอย่างมากอีกด้วย



ค่านิยมของสตรีในสมัยโบราณสตรีควรมีความอ่อนน้อมถ่อมตนสตรีต้องรู้จักผิดชอบชั่วดีสตรีต้องเชื่อฟังผู้อื่นเป็นสำคัญสตรีต้องใช้ชีวิตเพื่อบุรุษ



ลองจินตนาการว่าหากคุณอายุเพียง 4 ขวบ แม่นำคุณขึ้นไปยังหอหญิงเพื่อเริ่มทำการมัดเท้า โดยการขัดให้สะอาด ผสมส่วนผสมประกอบด้วยปัสสาวะและสมุนไพร รวมทั้งเลือดสัตว์ลงในอ่างใบเล็ก เพื่อให้คุณแช่เท้าให้อ่อนนุ่ม เมื่อเท้าอ่อนนุ่มดีแล้วก็ถึงเวลางัดเล็บเท้าทั้งหมดออก และพันผ้าเปียกสลับชั้นกับเครื่องหอมหลายๆ ชั้น แล้วเย็บติดทุกชั้น เมื่อผ้านั้นแห้ง เท้าของคุณก็จะถูกรัดจากการตึงของผ้า และฝึกให้คุณเดิน ผ้าที่พันเท้าไว้จะถูกแกะออกมาและทำความสะอาดเท้าทุกๆ 2 วัน และในทุกๆ ครั้งก็จะพันเท้าให้มีขนาดเล็กกว่าเดิม

ทำดังนี้จนกว่าเท้าจะผิดรูปและได้ขนาด 3 นิ้วพิธีการสุดโหดนี่ต้องทำทุกวัน คุณต้องเดิน เดินโดยที่นิ้วเท้าและกระดูกเท้าของคุณหักพับแบบนั้น เดินต่อไปจนกว่าจะมีเสียงกระดูกหัก เดินต่อไปเรื่อย ๆ จนกว่าคุณจะชินและเท้าจะเข้ารูปจนสามารถสวมรองเท้าที่มีขนาดเพียง 4 นิ้วได้ คุณจินตนาการออกถึงความเจ็บปวดไหมล่ะ





วิธีการสุดโหดนี้ ทำให้เด็กหลายคนต้องเสียชีวิตจากการติดเชื้อในกระแสเลือด แต่ก็ดูเหมือนว่าค่านิยมการรัดเท้ายังไม่หมดไป เพราะทุกครอบครัวก็อยากให้ลูกสาวแต่งงานกับตระกูลที่ดี ที่สามารถยกระดับครอบครัวตัวเองให้สูงขึ้นได้




การล้มเลิกประเพณีรัดเท้า



ในช่วงศตวรรษที่ 18 เกิดการกบฏขึ้นโดยสตรีที่ไม่ได้รัดเท้า หลังจากกบฏโดนกวาดล้างลงไป เหล่านักเทศน์ของศาสนาคริสต์ได้ให้ความรู้กับสตรีชาวจีน รวมทั้งยังมีปราชญ์ชาวจีนที่ต่อต้านการรัดเท้า ในปี 1902 พระนางซูสีไทเฮาได้ออกกฎหมายป้องกันและปราบปรามการรัดเท้า จนประเพณีนี้ค่อยๆ หายไป ในยุคสมัยของพระนางก็มีการออกแบบรองเท้าที่ใช้ชื่อว่า รองเท้าไม้ ซึ่งไม่จำเป็นต้องทรมานกับการรัดเท้าแต่อย่างใดและยังทำให้ผู้ใส่สง่างามอีกด้วย



เป็นโชคดีของผู้หญิงในสมัยปัจจุบัน ที่ไม่ต้องพบเจอกับสถานะทางสังคมที่ต่ำต้อยเช่นแต่เดิม ผู้หญิงสมัยนี้สามารถที่จะมีความรักและเลือกอยู่กับคนที่ตนรัก ซึ่งแตกต่างจากยุคสมัยเก่าที่มีค่านิยมค่อนข้างคับแคบ ผู้หญิงสามารถทำงานนอกบ้านได้อย่างอิสระ หรือแม้แต่เป็นหัวหน้าครอบครัวได้ แต่ถึงอย่างไร การรัดเท้า ก็ยังคงเป็นแฟชั่นสุดทรมานที่เพศหญิงในสมัยโบราณของจีนต้องประสบพบเจอ และเป็นสิ่งที่อัศจรรย์ใจสำหรับคนในปัจจุบันอย่างเรา ๆ


.....
https://www.sanook.com/women/115117/


Logged
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
*****
Offline Offline

Posts: 8,503


View Profile
« Reply #4 on: 25 November 2021, 00:18:35 »

มัดเท้า…สุขสมบนความปวดร้าว?





มัดเท้า…สุขสมบนความปวดร้าว?
เหตุใด เท้าที่มัดจนเสียรูป จึงนำความสุขมาสู่่คู่สมรส ทั้งที่เจ้าของเท้าแทบจะเดินเหมือนคนพิกลพิการ

“เท้าดอกบัว” คือรูปทรงของเท้าที่ผ่านการบีบรัดจนนิ้วเท้าหักและกระดูกเสียรูป ซึ่งเป็นประเพณีที่นิยมกันในผืนแผ่นดินจีนนับแต่อดีต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่สตรีในสังคมชั้นสูง ทว่ารูปเท้าที่ทำให้เจ้าของเดินไม่ถนัดนี้ กลับนำมาซึ่งความสุข สมหวัง จนทำให้การมัดเท้าแพร่หลายในสังคมจีนเป็นเวลาหลายร้อยปี



ย้อนหลังไปช่วงศตวรรษที่ 10 สมัยราชวงศ์ซ่ง มีหลักฐานบ่งบอกว่าการมัดเท้าหญิงสาวชาวจีนได้รับความนิยมแพร่หลายก็จริงอยู่ แต่ประเพณีมัดเท้าให้เหลือขนาดเล็กเพียงสามนิ้ว รูปทรงคล้ายดอกบัวตูมซึ่งเรียกขานกันโดยทั่วไปว่า “บัวทองสามนิ้ว” นั้น มาเกิดขึ้นในภายหลัง และได้รับความนิยมแพร่หลายจนถึงศตวรรษที่ 19 พบว่าหญิงชาวจีนร้อยละ 40-50 ถูกมัดเท้า ส่วนหญิงที่มาจากครอบครัวชั้นสูงซึ่งเป็นหญิงสาวชาวฮั่นต่างมัดเท้ากันทุกคน หรือร้อยเปอร์เซ็นต์เต็มไม่เว้นสักราย



หนทางสู่ความงามอันผิดแผกและกดขี่เช่นนี้ นับว่าเป็นการปูทางหญิงสาวให้ไปสู่การเป็นคุณนายของตระกูล ผลของการมัดเท้าทำให้เดินไม่สะดวก ทำงานหนักในไร่นาไม่ได้ เธอจึงต้องทำหน้าที่ให้กำเนิดบุตรชาย และคอยเชิดหน้าชูตาสามีและวงศ์ตระกูลเท่านั้น ซึ่งในหนังสือเรื่อง “Snow Flower and the Secret Fan” ผลงานของลิซ่า ซี นักเขียนชาวอเมริกันเชื้อสายจีน ซึ่งสำนักพิมพ์สันสกฤตนำมาแปลภาษาไทยในชื่อ “จดหมายลับไป่เหอ” ได้สะท้อนแง่มุมซ่อนเร้นของวัฒนธรรมจีนได้อย่างละเมียดละไม โดยเจาะลึกเรื่องประเพณีการมัดเท้าที่ผู้เขียนใช้เวลาในการลงพื้นที่จริง เธอเดินทางไปยังมณฑลหูหนาน ณ อำเภอเจียงหย่งซึ่งห่างไกลและทุรกันดาร  ไปสัมผัส สูดดม พูดคุย สัมภาษณ์เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวอย่างลึกซึ้งที่คนในยุคปัจจุบันไม่อาจเข้าถึง คุณย่าหยาง ฮว่านอี้ วัย 96 ที่เธอไปหาและสอบถามเรื่องราวการมัดเท้าที่คุณย่าประสบด้วยตัวเอง ความจำของหญิงชราวัยเกือบร้อยปียังแจ่มชัด

“คุณย่าสวมรองเท้าแตะแบบเด็ก ใช้กระดาษยัดตรงนิ้วเท้าเพื่ออุดช่องว่างเหมือนไป่เหอในตอนจบ หลายต่อหลายบรรทัดในหนังสือเล่มนี้มาจากชีวิตจริงๆ ของคุณย่าฮว่านอี้” ลิซ่า ซี บันทึกไว้ท้ายเล่มของหนังสือเรื่องนี้


การแสดงความรักของแม่อย่างคนโบราณ

ไป่เหอคือตัวละครสำคัญของเรื่อง เธอเป็นภาพสะท้อนของหญิงสาวที่เติบโตขึ้นมาอย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งในสังคมชาวจีนเผ่าเย้านั้นก็ไม่ต่างไปจากสังคมชาวจีนในทุก ๆ พื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านผู้ทรงอิทธิพลในสังคมก็จะหนีไม่พ้นซินแส หมอดู แม่สื่อแม่ชัก ที่คอยทำหน้าที่สอดส่องเด็กๆ ไปตามหมู่บ้านเพื่อทำนายทายทักดวงชะตาเมื่อเติบใหญ่ หากเด็กหญิงคนใดมีโหวงเฮ้งที่จะนำความมั่งคั่งมาสู่ครอบครัว แม่สื่อจะบอกวันเวลาที่เหมาะสมในการเริ่มต้นมัดเท้า

“เด็กคนนี้น่ารักมาก แต่บัวทองสามนิ้วนั้นสำคัญต่อชีวิตยิ่งกว่าหน้าสวย ๆ เป็นไหนๆ ใบหน้างามเป็นของขวัญที่สวรรค์ประทาน แต่เท้าเล็กจะเปลี่ยนสถานะทางสังคมได้”



นั่นจึงเป็นที่มาของความพยายาม และความอดทนที่ไป่เหอจำต้องยอมอย่างเลี่ยงไม่ได้ นับจากวันแรกเริ่มมัดเท้า

“ฉันพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้พ่อแม่สมหวังในตัวฉัน รวมไปถึงการมัดเท้าให้ได้เท้าที่เล็กที่สุดในอำเภอ แม้จะต้องทนกับกระดูกหักร้าวก็ตาม เพื่อให้เท้าได้รูปสวยงาม…การมัดเท้าไม่เพียงแต่เปลี่ยนรูปเท้าของฉันไปเท่านั้น หากยังได้เปลี่ยนบุคลิกภาพของฉันไปโดยสิ้นเชิงด้วย”

“จะว่าไปแล้วไม่มีอะไรรับประกันว่าเท้าของฉันจะถูกมัดจนได้รูปเป็นบัวทองสามนิ้ว…แล้วแทนการได้รางวัลงาม ฉันก็ต้องเดินกะเผลกด้วยตอเท้ากุดๆ กางแขนขณะเดินเพื่อทรงตัวเหมือนแม่”


เตรียมการก่อนมัดเท้า

เริ่มต้นจากการดูลักษณะกระดูกและรูปเท้าให้พร้อมต่อการมัด ซึ่งโดยส่วนใหญ่เด็กหญิงชาวจีนในชนบทจะเริ่มมัดเท้าตอนอายุได้ 6 ขวบ นอกเสียจากว่าเด็กหญิงเติบโตช้ากว่าวัยอันควร อาจจะต้องรอไปจนถึง 7 ขวบ เมื่อพร้อมแล้วคนที่บ้านก็ต้องเตรียมร่างกายด้วยอาหาร เตรียมผ้ามัดเท้าให้มากพอ และเตรียมเย็บรองเท้าไว้รอเพื่อสวมใส่ในเวลาที่เท้าเล็กลงแล้ว

“แม่กับอาสะใภ้เริ่มตระเตรียมงาน เย็บผ้ามัดเท้าเพิ่มขึ้น และให้เรากินเกี๊ยวไส้ถั่วแดงเพื่อช่วยให้กระดูกของเราอ่อนตัว และเป็นเคล็ดด้วยว่าเท้าที่มัดแล้วของเราจะกลมกลึงสวยงามและเล็กกะทัดรัดเช่นเกี๊ยว”

ลักษณะเท้าที่ดีย่อมมีผลต่อการแต่งงานในอนาคต ในหนังสือ “จดหมายลับของไป่เหอ” ได้ระบุลักษณะของเท้าที่ดีไว้ได้อย่างละเอียดว่า



“ขณะนั้นฉันรู้เพียงว่า การมัดเท้าจะทำให้ฉันพร้อมสำหรับการแต่งงานมากขึ้น อันจะนำฉ้นเข้าหาความรักและปิติสูงสุดในชีวิตหญิง นั่นคือ ให้กำเนิดลูกชาย เพื่อจุดหมายนั้นฉันมุ่งหวังจะได้เท้าน้อยๆ ที่งามพร้อมด้วยลักษณะเจ็ดประการ คือ แคบ เล็ก ตรง แหลม โค้ง และต้องอ่อนนุ่ม มีกลิ่นหอม ในลักษณะท้ั้งหมดนี้ความยาวสำคัญที่สุด ไม่เกินเจ็ดเซนติเมตรหรือสามนิ้วได้จะสวยที่สุด รูปทรงตามมาเป็นอันดับสอง เท้าที่สวยต้องมีรูปร่างเหมือนดอกบัวตูม ส้นเท้าต้องเต็มและกลม ค่อย ๆ เรียวเล็กไปยังปลายเท้า น้ำหนักทั้งหมดจะตกอยู่ที่หัวแม่เท้า นั่นหมายความว่าต้องมัดจนนิ้วเท้าและกระดูกหลังเท้าหักเสียก่อน แล้วจึงดัดให้งอกลับไปชนกับส้นเท้า จนท้ายที่สุดจะเหลือช่องเล็กๆ ระหว่างปลายเท้ากับส้นเท้าในขนาดที่พอจะซ่อนเหรียญเงินในลักษณะตั้งฉากได้เท่านั้น”


ความทรมานจากการมัดเท้า

คนสมัยนี้ถูกรองเท้ากัดแม้เพียงเล็กน้อย ยังปวดแสบปวดร้อนจนแทบจะทนไม่ได้ ทว่าเด็กหญิงชาวจีนกลับต้องทนทุกข์ทรมานเจียนตายกว่าเท้าจะได้รูปทรงสมใจและรายที่โชคไม่ดีแผลที่เกิดจากการมัดเท้าอาจติดเชื้อและถึงขั้นตายได้ ซึ่งเกิดขึ้นจริงๆ ผู้เขียนได้ถ่ายทอดความเจ็บปวดของไป่เหอและเด็กหญิงลูกพี่ลูกน้องของเธอในช่วงเริ่มมัดเท้าว่า

“เราทั้งสามคนเกือบเป็นง่อยจากความเจ็บปวดรวดร้าวทางกาย…เสมือนได้รับการยกโทษประหารชีวิตทีเดียวกับการได้นอนแผ่ลง…แต่เมื่อเวลาผ่านไป ความเจ็บปวดชนิดใหม่ก็เกิดขึ้นกับเรา เท้าของเราร้อนราวกับถูกสุมอยู่กลางเตาไฟร้อนแรง”

“พอวันที่สี่ เราแช่เท้าไว้ในถังน้ำร้อน แก้ผ้ามัดออก แม่และอาตรวจเล็บเท้าของเรา เฉือนหนังที่ด้านหนาทิ้ง ขัดผิวที่ตายออก พอกสารส้มและพืชหอมเพื่อดับกลิ่นเหม็นเน่าจากการเน่าเปื่อยของเนื้อหนัง แล้วเอาผ้ามัดใหม่ คราวนี้ยิ่งแน่นกว่าเดิม เราอยู่ในสภาพเดิมนี้ทุกวัน ทำเหมือนกันทุกสี่วัน เปลี่ยนรองเท้าคู่ใหม่ทุกสองสัปดาห์ แต่ละคู่ก็จะเล็กลงกว่าเดิม”

และแล้ววันที่รอคอยก็มาถึง…

“วันหนึ่งขณะที่กำลังเดินอยู่ในห้อง ฉันได้ยินเสียงแตกหักของอะไรบางอย่าง นิ้วเท้าของฉันหักไปนิ้วหนึ่ง…ตกค่ำนิ้วเท้าทั้งแปดที่ต้องการให้หักก็ล้วนหักหมด แต่ฉันยังคงถูกบังคับให้เดินต่อ ทุกก้าวที่ย่าง จะรู้สึกได้ว่านิ้วเท้าหย่อนห้อยอยู่ในรองเท้า ข้อต่อที่เคยติดแน่น บัดนี้หลุดออกและสร้างความปวดร้าวทรมานแสนสาหัส”

ซึ่งความทรมานอันแสนสาหัสนี้ยากที่จะมีใครเชื่อว่านี่คือการกระทำด้วยความรัก แต่แม่ก็ได้สำทับกับไป่เหอว่า

“เจ้าจะงามได้ต่อเมื่อได้ผ่านความเจ็บปวด แม่ห่อ แม่มัด แต่เจ้าเป็นผู้รับรางวัล”



การเดินที่ไม่ปกติหรือเดินแบบสะเงาะสะแงะ กลายเป็นท่าเดินที่กระตุ้นกำหนัดของฝ่ายชาย อาจจะเป็นได้ว่ารองเท้าคู่เล็กๆ ที่โผล่พ้นมาจากชายกระโปรงชวนให้จินตนาการว่าเมื่อถอดรองเท้าออกมาจะเป็นเช่นไร อีกทั้งร่องลึกตรงฝ่าเท้ายังเป็นบ่อเกิดความหฤหรรษ์รัญจวนใจให้กับจินตนาการของฝ่ายชาย รองเท้าดอกบัวทองคำคู่เล็กกระจิดริดนั้นนอกจากแสดงถึงฝีมือในการเย็บปักถักร้อยแล้ว ยังมีหลักฐานบันทึกว่าในสมัยราชวงศ์หยวนมีชายบางคนที่นิยมใช้รองเท้าคู่จิ๋วในการดื่มกิน จนเกิดสำนวน “ซดบัวทอง”



เพราะความงามในอุดมคติเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ในปี ค.ศ.1902 พระนางซูสีไทเฮาได้ออกกฎห้ามมิให้สตรีมัดเท้าอีกต่อไป ทว่ามีคนส่วนน้อยที่ปฎิบัติตาม จนต้องยกเลิกกฎหมายนั้นไปในที่สุด จนกระทั่งในปี ค.ศ.1911 เกิดการปฏิวัติซินไฮ่เพื่อโค่นล้มราชวงศ์ชิงซึ่งเป็นราชวงศ์สุดท้ายที่ปกครองจีน ในช่วงเวลานั้นเองที่การรัดเท้าค่อยๆ หมดไป จนกระทั่งถึงปี ค.ศ.1937 ที่เกิดสงครามต่อต้านญี่ปุ่น หญิงชาวจีนที่มัดเท้าจึงได้รับรู้ถึงความยากลำบากในการหนีเอาตัวรอด ส่งผลให้ประเพณีมัดเท้า คงเหลือเพียงเรื่องเล่าในอดีตที่ยังสร้างความฉงนปนรัญจวนใจอยู่เสมอ

ไม่เพียงแต่ประเพณีการมัดเท้าเท่านั้น แต่ในหนังสือ “Snow Flower and the Secret Fan-จดหมายลับไป่เหอ” ยังสะท้อนให้เห็นแง่มุมซ่อนเร้นในวัฒนธรรมจีนก่อนเปลี่่ยนมาสู่ยุคปัจจุบัน เป็นเสมือนภาพจิตรกรรมผืนใหญ่ซึ่งแต่งแต้มสีสันด้วยปลายพู่กันได้อย่างวิจิตร

หรืออีกนัยหนึ่งอาจกล่าวได้ว่าในความเจ็บปวดที่ถูกร้อยเรียงเป็นตัวอักษรในหนังสือเล่มนี้ ได้ถ่ายทอดความหมายอันลึกซึ้งและคุณค่าเชิงวัฒนธรรมไว้อย่างมากมาย





.....
https://www.sanskritbook.com/เท้าบัวทอง3นิ้ว/



Logged
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
*****
Offline Offline

Posts: 8,503


View Profile
« Reply #5 on: 25 November 2021, 00:21:45 »

รัดเท้า : ประเพณีที่โหดร้ายต่อผู้หญิงจีนในประวัติศาสตร์


การกดกี่ทางเพศที่ปรากฎในประวัติศาสตร์จีนมี 3 อย่างคือ หนึ่งคือโสเภณี สองคือขันที และสามคือการรัดเท้าของผู้หญิง ทั้งสามอย่างนี้ ในต่างประเทศก็มีโสเภณีและขันที แต่การรัดเท้ามีเฉพาะในประเทศจีนโบราณเท่านั้น ดังนั้น ในอดีตชาวต่างชาติมักใช้ผมเปียยาวของผู้ชายจีนและเท้าเล็กๆ ของผู้หญิงจีนเป็นสัญลักษณ์ของความโง่เขลาและความล้าหลังของจีน



ในประเทศจีน การรัดเท้าของผู้หญิงมีประวัติความเป็นมาอันยาวนาน ในสมัยโบราณ คนทั่วไปถือว่าผู้หญิงยิ่งเท้าเล็กยิ่งสวย และถือว่าการรัดเท้าของผู้หญิงเป็นสิ่งที่ต้องทำ จึงไม่ลังเลที่จะทนกับความเจ็บปวดจากการรัดเท้า เรียกเท้าที่รัดไว้ว่าเป็น "ดอกบัว" และขนาดเท้าที่แตกต่างกันคือ "ดอกบัว" ต่างชนิดกัน เท้าที่ใหญ่กว่า 4 นิ้วคือ "บัวเหล็ก" เท้าที่มีขนาด 4 นิ้ว เรียกว่า "บัวเงิน" และเท้าที่มีขนาด 3 นิ้ว เรียกว่า "บัวทอง" คำว่า "บัวทอง 3 นิ้ว” ไม่เพียงขนาดเท้า 3 นิ้วเท่านั้น แต่ยังต้องโค้งงออีกด้วย "บัวทอง" ขนาด 3 นิ้วถือเป็นเท้าที่สวยที่สุดของผู้หญิงจีนในเวลานั้น




หลักฐานทางประวัติศาสตร์จำนวนมากพิสูจน์ให้เห็นว่าผู้หญิงจีนไม่ได้รัดเท้าก่อนราชวงศ์ซ่ง หลังจากราชวงศ์ซ่งจนถึงสาธารณรัฐจีน การรัดเท้าของผู้หญิงได้รับความนิยม ฮองเฮาแซ่หม่าของจูหยวนจางไม่ได้รัดเท้า จึงถูกผู้คนเยาะเย้ยว่า "หม่าเท้าใหญ่"




หลังจากชนเผ่ามองโกเลียเดินทางเข้าสู่ที่ราบภาคกลาง (ตงง้วน) ผู้หญิงของมองโกเลียก็ไม่รัดเท้า แต่ก็ไม่ต่อต้านประเพณีรัดเท้าของชาวฮั่น ตรงกันข้ามเขายังคงชื่นชม ด้วยเหตุนี้ ทำให้รูปแบบการรัดเท้าในสมัยราชวงศ์หยวนมีการพัฒนาต่อไป ปลายสมัยราชวงศ์หยวนเกิดแนวความคิดที่ว่า การไม่รัดเท้าเป็นความอับอาย การรัดเท้าของผู้หญิงในสมัยราชวงศ์หยวนยังคงพัฒนาไปในทิศทางที่ยิ่งเล็กยิ่งสวย แต่ก็ยังมีหลายคนที่ไม่รัดเท้า โดยเฉพาะทางตอนใต้ของเจ้อเจียงและหลิงหนาน




สมัยราชวงศ์หมิง การรัดเท้าของผู้หญิงเข้าสู่ช่วงรุ่งเรือง และพัฒนาอย่างรวดเร็ว ช่วงปลายราชวงศ์หมิง จางเซี่ยนจงเข้ายึดครองเสฉวน การรัดเท้าของผู้หญิงนั้นเจริญรุ่งเรืองในเสฉวน ช่วงเวลานี้ ยังมีข้อกำหนดบางประการสำหรับรูปร่างของเท้าคือ เท้าของผู้หญิงต้องไม่เล็กเพียงอย่างเดียว ต้องรัดให้เหลือ 3 นิ้ว และโค้งงอด้วย การรัดเท้าของผู้หญิงกลายเป็นแฟชั่น โสเภณีข้างถนนล้วนใช้เท้าเล็กๆ เป็นเครื่องมือในการประจบประแจงผู้ชาย




ถึงสมัยราชวงศ์ชิง มีนโยบายห้ามไม่ให้มีการรัดเท้า แต่เนื่องจากประเพณีนี้ฝังรากลึกในสังคมมาเป็นเวลานาน การห้ามนี้จะไม่สำเร็จ การรัดเท้าของผู้หญิงมีอยู่จนถึงช่วงปีแรกๆ ของสาธารณรัฐจีนในศตวรรษที่ 20 และค่อยๆ ถูกห้าม จนประเพณีนี้ถูกยกเลิกไปทั่วประเทศ แต่ก็ยังคงมีเหลืออยู่ไม่กี่แห่งในพื้นที่ห่างไกล




ในอดีตเด็กผู้หญิงมักจะเริ่มรัดเท้าเมื่ออายุประมาณ 5 หรือ 6 ขวบ วิธีการคือใช้แถบผ้ายาวพันนิ้วเท้าทั้งสี่นิ้วและฝ่าเท้าไปที่กึ่งกลางเท้า ซึ่งมันสร้างความเจ็บปวดมาก ปกติแล้วผู้ปกครองของเด็กจะเป็นคนทำให้ แม่หรือยายจะไม่สนใจน้ำตาและเสียงกรีดร้องของเด็ก เพราะถือว่าเป็นหน้าที่ที่ตนต้องทำ และเพื่อให้แน่ใจว่าในอนาคตเด็กจะได้แต่งงานอย่างแน่นอน




ไม่เพียงแค่นั้น บางคนถึงขั้นใช้กระดานชนวนหรือไม้ไผ่ทุบกระดูกเท้า เพื่อให้การรัดเท้าทำได้ง่ายขึ้น มีสุภาษิตกล่าวไว้ว่า: เท้าหนึ่งคู่ของผู้หญิง น้ำตาเต็มอ่าง! นี่เป็นการพรรณนาที่ไม่เกินจริงเลย สาเหตุที่ความพิการเทียมประเภทนี้ได้รับความนิยมอย่างมากก็คือ เป็นเพราะมันสร้าง "ความงามของผู้หญิง" ที่ไม่เหมือนใคร
อย่างนั้น ทำไมผู้ชายสมัยโบราณชอบ "บัวทองสามนิ้ว" ? ชื่นชมหญิง "บัวทองสามนิ้ว" เห็นแล้วเกิดอารมณ์ทางเพศที่รุนแรง



การรัดเท้าดูเหมือนจะมีจุดประสงค์อื่นแอบแฝงอยู่ นั่นคือ เดินที่ไม่สะดวกเนื่องจากเท้าเล็ก การรัดเท้าของผู้หญิงสามารถป้องกันการออกนอกลู่นอกทางของผู้หญิงได้ เช่นเดียวกับที่ชายชาวยุโรปในยุคกลางทำเข็มขัดพรหมจรรย์สำหรับผู้หญิง และจริงๆแล้ว ยกเว้นผู้หญิงที่ร่ำรวยเพียงไม่กี่คนเท่านั้น ผู้หญิงเท้ารัดส่วนใหญ่ต้องทำงานหาเลี้ยงชีพ พวกเธอต้องพบกับความยากลำบากมากกว่าผู้หญิงปกติทั่วไป บางคนบอกว่าการรัดเท้าทำให้ผู้หญิงต้องเกร็งกล้ามเนื้อต้นขาเวลาเดิน ดังนั้นช่วยให้ช่องคลอดกระชับ เพื่อให้ผู้ชายมีความสุขทางเพศมากขึ้น
มีคำถามที่น่าคิด: ในสังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่ การกดขี่และทรมานผู้หญิงเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก แต่ทำไมการรัดเท้าผู้หญิงถึงมีเฉพาะในประเทศจีนเท่านั้น?




ความเป็นจริง ผู้หญิงทั่วโลกที่เปลี่ยนแปลงรูปร่างตัวเองเพื่อให้ดูสวยขึ้นนั้นเป็นเรื่องปกติ เช่น ผู้หญิงจากกลุ่มชาติพันธุ์บางกลุ่มในแอฟริกาชื่อว่าต้องมีปากใหญ่ถึงจะสวย ก็เลยพยายามทาปากให้ดูใหญ่ขึ้น บางกลุ่มเชื่อว่าคอยาวถึงจะสวย ดังนั้นจึงใส่ห่วงที่คอเพื่อดันให้คอยาวขึ้น บางกลุ่มเชื่อว่าไม่มีฟันถึงจะสวย จึงตะไบฟันทิ้งไป ในยุโรปยุคกลางทั้งชายและหญิงเชื่อว่าเอวบางถึงจะดูดี ดังนั้นสายรัดตัวจึงได้รับความนิยม ปัจจุบันรองเท้าส้นสูงเป็นที่นิยมสำหรับผู้หญิงตะวันตก ซึ่งคล้ายกับการรัดเท้าของผู้หญิงจีนโบราณ




.....
แปลโดย: OneOne
ที่มา: https://kknews.cc/history/vplvvnl.html
https://board.postjung.com/1267745



Logged
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
*****
Offline Offline

Posts: 8,503


View Profile
« Reply #6 on: 25 November 2021, 00:24:15 »


15 ภาพของผู้ที่มี “เท้าดอกบัว” กลุ่มสุดท้ายบนโลก อดีตความงามที่แลกมาด้วยความเจ็บปวด

“เท้าดอกบัว” เป็นวัฒนธรรมความงามของผู้หญิงจีนโบราณในยุคศตวรรษที่ 10 ซึ่งเป็นผลมาจาก “ประเพณีรัดเท้า” โดยเท้าดอกบัวเชื่อกันว่าเป็นสัญลักษณ์ของสตรีที่มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ไม่จำเป็นต้องทำงาน และถูกมองว่าเป็นสิ่งสวยงามในสมัยนั้น

จริงอยู่ที่ประเพณีรัดเท้าเสื่อมความนิยมลงไปตามกาลเวลาแล้ว และมีการสั่งห้ามไม่ให้มีการทำการรัดเท้าอีกต่อไปทำให้การรัดเท้าดอกบัวในปัจจุบันเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ยากเหลือเกิน

ด้วยเหตุนี้เอง ในวันนี้เรามาดูภาพของเท้าดอกบัวกลุ่มสุดท้ายบนโลกใบนี้ จากผลงานของ Jo Farrell ช่างภาพชาวอังกฤษด้วยกันดีกว่า

 
เท้าดอกบัวที่สวยจะต้องมีขนาดไม่เกิน 3 นิ้ว
นี่คือภาพของเท้าดอกบัวของคุณ Su Xi Rong หนึ่งในสตรีกลุ่มสุดท้ายที่ยังรัดเท้าอยู่




เรียกกันว่า ดอกบัวทองคำ 3 นิ้ว
เท้าของคุณ Yang Jinge




โดยการรัดเท้าจะทำให้กระดูกผิดรูปไป
เท้าของคุณ Zhang Yun Ying ผู้เกิดเมื่อปี 1928




โดยมากแล้วนิ้วเท้าทั้ง 4 จะถูกพับลงมาเป็น3 เหลี่ยม
เท้าของคุณ Zhang Xiu Ling




ซึ่งในบางครั้งอาจทำให้พิการถึงขั้นเดินไม่ได้เลย




การรัดเท้าเชื่อว่าเริ่มในหมู่ชนชั้นสูงที่เป็นนางรำ




ก่อนจะเป็นที่นิยมในสมัยราชวงศ์ซ่ง
คุณ Su Xi Rong วัย 78




ว่ากันว่าไม่นานหลังจากนั้น ผู้หญิงที่เท้าใหญ่จะแทบไม่ได้แต่งงาน




เท้ารูปดอกบัวในสมัยก่อนมักถูกใช้กระตุ้นกำหนัดของฝ่ายชาย
คุณ Liu Shiu Ying  และสามี




ซึ่งนับเป็นการคลั่งไคล้เกี่ยวกับเพศอีกรูปแบบหนึ่ง
คุณ Hou Jun Rong วัย 78




ที่จริงแล้วในปี 1664 ได้มีการห้ามการรัดเท้ามาก่อน
เท้าของคุณ Cao Mei Xing




แต่กว่าจะได้ผลจริงก็ในช่วงศตวรรษที่ 19
เท้าของคุณ Hou Jun Rong




ในปัจจุบันจะเหลือก็แต่ผู้สูงอายุ ที่รัดเท่ามาตั้งแต่เด็กก็เท่านั้น
เท้าของคุณ Zhao Hua Hong




และประเพณีรัดเท้าก็จะกลายเป็นประเพณีที่ถูกลืมไป
เท้าของคุณ Su Xi Rong




ซึ่งก็อาจจะเป็นเรื่องที่ดีแล้วก็เป็นได้
เท้าของคุณ Shi Yu Hong




เพราะนี่เป็นประเพณีที่ทำให้คนเราทำร้ายตัวเองมาอย่างยาวนานนั่นเอง
 
ที่มา buzzfeed, allthatsinteresting และ wikipedia

https://www.catdumb.com/old/?p=914912



Logged
Pages: [1] Go Up Print 
« previous next »
 

SMF 2.0.4 | SMF © 2013, Simple Machines | Theme by nesianstyles | Buttons by Andrea
Page created in 0.099 seconds with 17 queries.