Smile Siam มาร่วมกันคืน "สยามเมืองยิ้ม" กลับสู่บ้านเรากันนะครับ ...
User Info
Welcome, Guest. Please login or register.
10 May 2024, 22:14:10

Login with username, password and session length
Search:     Advanced search
News
ท่านสมาชิกสามารถเปลี่ยนรูปแบบ (Theme) ได้อีกหลายแบบ
เชิญทดลองโดยคลิกที่ลิงค์ข้างล่าง ได้เลยครับ

http://www.smilesiam.net/index.php/topic,3170.msg4713.html
Forum Stats
25,650 Posts in 12,467 Topics by 70 Members
Latest Member: KAN
Home Help Search Calendar Login Register
Smile Siam มาร่วมกันคืน "สยามเมืองยิ้ม" กลับสู่บ้านเรากันนะครับ ...  |  เรื่องราวน่าอ่าน  |  เรื่องเล่าจากความทรงจำที่หาฟังยาก  |  ส้วมหน้าบ้าน ใครต้องการลูกสาว?
0 Members and 1 Guest are viewing this topic. « previous next »
Pages: [1] Go Down Print
Author Topic: ส้วมหน้าบ้าน ใครต้องการลูกสาว?  (Read 191 times)
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
*****
Online Online

Posts: 8,503


View Profile
« on: 24 November 2021, 22:46:46 »

ส้วมหน้าบ้าน ใครต้องการลูกสาว?


ผมเชื่อว่าผู้อ่านหลายๆ คนคงจะเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า “มีลูกสาวเหมือนมีส้วมหน้าบ้าน” กันมาบ้าง และออกจะขุ่นข้องใจกับสำนวนนี้ไม่น้อย

บทความนี้จะพูดถึงกลุ่มคนไทยเชื้อสายจีน ซึ่งเดินทางมาตั้งรกรากในเมืองไทย พร้อมกับคำสอนแบบขงจื๊อ ที่ว่า “ชายหญิงล้วนแตกต่าง” (男女有别) ซึ่งคอยย้ำบทบาทที่ไม่เหมือนกันของทั้งสองเพศ ...หากพูดง่ายๆ ขงจื้อก็มองว่าผู้ชายอยู่สูงกว่าตามมุมมองปิตาธิปไตยของจีนโบราณ

ในบทความนี้ ผมจะพาทุกคนไปดูเรื่องราวความไม่เท่าเทียมของหญิงชายในประเทศจีนตั้งแต่ยุคโบราณจนถึงปัจจุบัน รวมไปถึงอิทธิพลที่ส่งมายังกลุ่มคนจีนโพ้นทะเล ว่ามันได้ฝังรากและก่อปัญหาอะไรไว้บ้าง




*** ความไม่เท่าเทียมจากอดีต ***

ตั้งแต่โบราณมา ชาวจีนมีความเชื่อเรื่อง “หยินหยาง” เปรียบดังความสมดุลพลังในจักรวาล หยิน (แทนด้วยสีดำ) หมายถึง พลังด้านลบ ธาตุเย็น และความเป็นหญิง ส่วนหยาง (แทนด้วยสีขาว) หมายถึงพลังด้านบวก ธาตุร้อน และความเป็นชาย

...ทั้งนี้หยินหยางต้องสมดุลกัน หากมีอันใดอันหนึ่งมากไปก็จะไม่เกิดผลดี...



อย่างไรก็ตาม แนวคิดจีนแต่นานมามองว่าผู้หญิงมีธรรมชาติสงบ ไม่ใช่ผู้เข้มแข็งที่นำพาการสร้างสรรค์ จึงควรหน้าที่ไม่กี่อย่าง คือถ้าไม่เป็นเมียก็เป็นแม่ และต้องรับใช้ดูแลตระกูลสามี

ผู้หญิงส่วนมากไม่ได้เรียนหนังสือ จะมีก็แต่ชนชั้นกลาง-สูงซึ่งมีอาจารย์มาสอนในบ้าน โดยทำเพื่อเป็นการเชิดชูวงศ์ตระกูลมากกว่าต้องการให้ลูกสาวมีความรู้จริงๆ


ภาพแนบ: ขงจื๊อ


*** คำสอนของขงจื้อ ***

ขงจื้อสอนว่าผู้คนอาจถูกวัดคุณค่าได้จากความสามารถในการบรรลุหน้าที่สังคมคาดหวัง เช่นผู้ชายจะต้องทำหน้าที่เป็นพ่อและสามีที่ดี เป็นผู้นำ คอยรับใช้บ้านเมือง ส่วนผู้หญิงก็ต้องเป็นแม่และภรรยาที่ดี เป็นผู้รับใช้สนับสนุนฝ่ายชาย



ตามแนวคิดนี้ผู้ชายจะเป็นผู้ดูแลกิจการต่างๆ นอกบ้าน ส่วนผู้หญิงเป็นผู้ดูแลในบ้าน และมีสถานะต่ำกว่าชาย ตามหลักปิตาธิปไตย

ลูกผู้หญิงถูกมองว่าเป็น “สมาชิกชั่วคราวที่เดี๋ยวก็จะต้องแต่งงานออก” แนวคิดดังกล่าวสร้างความลำบากแก่ผู้หญิงมาก


ภาพแนบ: ละคร "มงกุฎดอกส้ม" ของช่อง 3 เล่าเรื่องหญิงสาวที่ต้องตกอยู่ในการแก่งแย่งชิงดี เพราะถูกส่งมาเป็นภรรยาน้อยคนจีนเพื่อขัดหนี้ (ดัดแปลงมาจากนิยายจีนเรื่อง Wives and Concubines อีกที)

ในจีนโบราณนั้น ผู้หญิงจำนวนมากโดนครอบครัวส่งเข้าหอนางโลม หรือไม่ก็ถูกขายเป็นทาส โดยมักเป็นการตัดสินใจของพ่อ

นอกจากนั้นการที่ผู้ชายสามารถมีภรรยาหลายคน ทำให้ผู้หญิงถูกบีบให้กลั่นแกล้งทำร้ายกันเองด้วยความริษยาคล้ายกับในละครไทยที่เราดูหลังข่าว


ภาพแนบ: เหย่าเหนียง


*** ประเพณีรัดเท้า ***

เชื่อกันว่าในยุคห้าราชวงศ์สิบรัฐ (ค.ศ. 907 - 960) จักรพรรดิมีสนมนามเหย่าเหนียง มีเท้าเล็กกระจุ๋มกระจิ๋มมาก

วันหนึ่งกษัตริย์ได้สร้างดอกบัวทองคำสูงหกฟุตประดับด้วยเพชรนิลจินดา และให้นางขึ้นไปร่ายรำบนดอกบัวนั้น เหย่าเหนียงจึงเอาผ้าขาวรัดเท้าให้โค้งดังจันทร์เสี้ยว ร่ายรำอย่างงดงามยิ่ง แสดงทั้งกายภาพว่ามีเท้าเล็กมาก และมีทักษะดีมาก ทำให้ผู้ชมต่างประทับใจ ทุกคนจึงเอาอย่าง ให้ผู้หญิงรัดเท้าให้เล็กลงเกิดเป็นธรรมเนียม “รัดเท้า” ขึ้น


ภาพแนบ: ขนาดรองเท้าของผู้ถูกรัด เทียบกับฝ่ามือ

ผู้ชายจีนสมัยก่อนมีอารมณ์กับผู้หญิงเท้าเล็กๆ เหมือนผู้ชายสมัยนี้มีอารมณ์กับผู้หญิงหน้าอกใหญ่ๆ ผู้หญิงยิ่งเท้าเล็กยิ่งมีเสน่ห์ ยิ่งมีโอกาสเป็นที่หมายปองของชายสูงศักดิ์

นั่นเป็นการกดดันให้ครอบครัวที่อยากให้ลูกสาวได้สามีดี ต้อง “ทำศัลยกรรม” ลูก รัดเท้าพวกเธอจนพิการตั้งแต่เล็กแต่น้อย ต้องเจ็บปวดทรมานเป็นอย่างยิ่ง



และเมื่อได้เท้าพิการผิดรูปแล้ว ก็ต้องพันเท้าไว้ตลอดเวลา (เพราะผู้ชายชอบเห็นเท้าที่พันไว้แล้วจินตนาการ มากกว่าจะมองของจริงที่บิดเบี้ยว) จนเท้านั้นเหม็นอับเป็นโรคผิวหนังกันมาก

...ด้านหนึ่งให้เหตุผลว่าเพราะการเดินด้วยเท้าเล็กๆ จะนวยนาดดูเซ็กซี่ แต่อีกเหตุผลคือ เมื่อเท้าเล็กก็จะเดินลำบาก ทำให้ต้องอยู่แต่ในบ้าน ไม่ออกไปไหนให้วุ่นวาย และยากต่อการมีชู้


ภาพแนบ: เหมาสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน
 

*** สิทธิสตรียุคคอมมิวนิสต์ของเหมา ***

เหมาเจ๋อตงสถาปนา “สาธารณรัฐประชาชนจีน” ขึ้นในปี 1949 เปลี่ยนระบอบการปกครองจีนสู่ระบบคอมมิวนิสต์ที่เชิดชูอุดมการณ์ “คนเท่าเทียมกัน”



เหมาให้ความสำคัญกับสิทธิสตรีมากขึ้นตามหลักที่เหมาเรียกว่า “ประชาธิปไตยใหม่” (New Democracy) เช่น ออกกฎหมายให้การบังคับอยู่กินโดยไม่ได้สมรสเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย, ต้องเป็นผัวเดียวเมียเดียว

(คอมมิวนิสต์ยุคนั้นยังไม่ก้าวหน้าขนาดให้สิทธิเพศทางเลือก อย่างไรก็ตามได้มีการพูดถึงมากขึ้นในยุคหลัง)



มุมมองต่อผู้หญิงของพรรคคอมมิวนิสต์ช่วงยุค 50 - 60s นับว่าดีขึ้น พวกเธอได้กลายมาเป็นแรงงานที่แข็งขัน เป็นนักรบผู้กล้าหาญ สามารถลุกขึ้นมาสู้เพื่อประเทศจีนและพรรค แต่กระนั้นยุคคอมมิวนิสต์ก็เป็นยุคที่กดขี่แนวคิดอื่นที่ไม่ใช่คอมมิวนิสต์ด้วย

ปลายยุคเหมานั้นมีการ “ปฏิวัติวัฒนธรรม” หากใครอุทิศตนให้อุดมการณ์คอมมิวนิสต์ไม่พอก็จะโดนกลั่นแกล้งประจาน และในทางปฏิบัตินั้น หลายๆ กรณี ผู้หญิงยังถูกกีดกันทางการงานอยู่ แม้เรียนสูงเท่าผู้ชาย ก็มักไม่ก้าวหน้าเท่า


ภาพแนบ: เหมากับครอบครัว
 
นอกจากนั้นหากมองชีวิตส่วนตัวของเหมาเจ๋อตง จะพบว่าแม้ภรรยาทั้งสี่คนของเขาล้วนอุทิศตนให้เขาอย่างยิ่งยวด แต่เขาก็เคยหักหลัง หรือทำผิดต่อพวกเธอทั้งสี่ ลูกสาวของเหมาเองก็ไม่ได้ถือว่ามีชีวิตสุขสบาย หากเทียบกับลูกของผู้นำรายอื่นๆ ในประวัติศาสตร์


ภาพแนบ: เหมากับเจียงชิง ภรรยาคนที่ 4 และลูกสาว หลี่นา

...แต่นักการเมืองทั้งหลายที่ขึ้นมามีอำนาจหลังยุคเหมาพยายามไม่กล่าวถึงความเจ็บช้ำของพวกเธอ คาดว่าเพราะไม่อยากให้กระทบภาพลักษณ์พรรคคอมมิวนิสต์…

(อ่านบทความเรื่องของ “ผู้หญิงของเหมา” ได้ใน link ในคอมเมนต์ของโพสต์นี้นะครับ)




*** ส้วมหน้าบ้านยุคใหม่ และนโยบายลูกคนเดียว ***

หลังยุคเหมา เติ้งเสี่ยวผิงได้ปฏิรูปจีนเป็นทุนนิยม และสนับสนุนความเท่าเทียม ซึ่งทำให้ผู้หญิงมีงานทำมากกว่ายุคก่อนๆ
แต่กระนั้นเองหลังจากนั้นก็เกิดปัญหาขึ้นอีก เพราะนายจ้างไม่อยากจ่ายค่าแรงให้เยอะ จึงไปจ้างแรงงานหญิงต่างชาติด้วยค่าแรงถูกๆ มาทำงานแทน ทำให้หญิงชาวจีนโดนแย่งงาน หญิงต่างชาติก็โดนกดให้แต่ทำงานที่ไม่ต้องใช้ความสามารถนัก



จากผลสำรวจของ Chinese Women's Press ในปี 1990 ผู้หญิงที่ทำงานในเมือง จะได้ค่าจ้างเฉลี่ยค่า 77.4% ของผู้ชายในย่านเดียวกัน และผู้หญิงที่ทำงานต่างจังหวัด จะได้ค่าจ้างเฉลี่ย 81.4% ของผู้ชาย

ส่วนข้อมูลของวารสารวิชาการ Contemporary Economic Policy ในปี 2013 ระบุว่า เทียบกับผู้ชายแล้ว ผู้หญิงได้ค่าจ้างเฉลี่ยเพียง 75.4%



นอกจากนี้ชายจีนยังติดกับความคิดเดิมๆ อยู่มาก อิงจากบทความ "Goodbye Career, Hello Housekeeping" บนเว็บไซต์ China News Service ในปี 2012 ผู้ชายจีน 80% ยังหวังให้ภรรยาตัวเองลาออกจากงานมาเป็นแม่บ้านเต็มเวลา ชีวิตแต่งงานจะได้ราบรื่น ครอบครัวมีคนดูแล

...นี่สะท้อนให้เห็นความเชื่อเรื่องผู้หญิงแต่งงานแล้วต้องอยู่บ้านแบบขงจื๊อ ที่แม้จะถูกกวาดล้างไปในยุคปฏิวัติวัฒนธรรมแล้ว แต่ก็ยังแพร่หลายอยู่



ยิ่งไปกว่านั้น พอแต่งงานไปแล้ว ครอบครัวก็หวังให้แต่หญิงผู้นั้นมีลูกชายไว้สืบสกุล ดังเห็นได้จากตอนประเทศจีนดำเนินนโยบายลูกคนเดียว เรามักจะได้ยินข่าวคนทำแท้งเพราะได้ลูกสาว หรือหากคลอดออกมาแล้วก็นำไปทิ้งอยู่เรื่อยๆ จนจีนมีประชากรชายมากกว่าหญิงมากในช่วงหนึ่ง

ซึ่งเรื่องนี้กลายเป็นปัญหาในยุคปัจจุบัน เพราะเมื่อเด็กเหล่านั้นเติบโตถึงวัยครองคู่ก็หาคนมาแต่งยาก กลายเป็นไม่สามารถทำตามความคาดหวังแบบขงจื๊อที่ฝังอยู่ใน DNA ได้อีก




*** ค่านิยมขงจื๊อที่แฝงอยู่นอกเมืองจีน ***

ประเทศอย่าง เวียดนาม เกาหลี หรือ ญี่ปุ่นนั้นเปิดรับวัฒนธรรมจีนมาเต็มๆ เป็นเวลานับร้อยนับพันปี
พวกเขารับ ตัวอักษร, ศาสนา, ธรรมเนียมปฏิบัติต่างๆ รวมทั้งแนวคิดแบบขงจื๊อเข้ามาด้วย ทำให้ยังมีกรอบแนวคิดนี้อยู่อย่างยากสลัดหลุด


ภาพแนบ: อามาเทระสุ

 จะขอยกตัวอย่างเรื่องญี่ปุ่น มีหลักฐานบ่งชี้หลายประการว่า แต่ก่อนความเชื่อดั้งเดิมของญี่ปุ่นยกให้ “ผู้หญิงเป็นใหญ่” สังเกตได้จากเทพสูงสุดในศาสนาชินโตคือ “อามาเทระสุ” เทพีแห่งดวงอาทิตย์

ทั้งนี้ ในประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น ยังมีพระจักรพรรดินีถึง 6 องค์ เช่น จักรพรรดินีฮิมิโกะในกลางศตวรรษที่ 3 หรือ จักรพรรดินีซุยโกะ ซึ่งขึ้นครองราชย์ใน ค.ศ. 592


ภาพแนบ: ศาลเจ้าขงจื๊อที่นางาซากิ

อย่างไรก็ตามความขงจื๊อได้ถูกโปรโมทเรื่อยมา จนยุคหนึ่งผู้หญิงขาดสิทธิหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นการเลือกคู่ และการหย่าเองก็ทำไม่ได้ แถมยังถูกคาดหวังว่าต้องเป็นแม่ศรีเรือนที่ดีอีกด้วย


ภาพแนบ: โมกะ

ตลอดเวลาที่ผ่านมา แม้ผู้หญิงญี่ปุ่นจะถูกค่านิยมดังกล่าวกดไว้ แต่หลายครั้งพวกพยายามเธอลุกขึ้นมาใช้ชีวิตในแบบของตัวเอง

ยกตัวอย่างเช่นในยุคโชวะ (1926 - 1989) มีกลุ่มผู้หญิงเรียกว่า “โมกะ” หรือ Modern Girl เกิดขึ้น พวกเธอแต่งตัวทันสมัย, เลือกคู่เอง, ทำงานหาเงินเลี้ยงตัวเอง ทำให้มักถูกวิจารณ์จากสังคมญี่ปุ่นส่วนใหญ่ว่าเป็นพวกนิยมฝรั่ง ทำตัวไม่เป็นธรรมชาติ


ภาพแนบ: ญี่ปุ่นสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

น่าเสียดายว่า ยุคของโมกะต้องจบลงเมื่อญี่ปุ่นเผชิญปัญหาเศรษฐกิจและสงคราม ทำให้กระแส "เมียที่ดี แม่ที่ฉลาด" (良妻賢母 - Good Wife, Wise Mother) ที่เน้นให้ผู้หญิงเป็นแม่ศรีเรือน เลี้ยงลูกเพื่อเป็นกำลังของชาติกลับขึ้นมาแทน

(กระแสนี้มีต้นกำเนิดมาตั้งแต่ยุคเมจิ (1868 - 1912) ก่อนหน้านั้น)



แม้ญี่ปุ่นจะเจริญไปเพียงไหน แต่ปัจจุบันยังมีค่านิยมที่บอกให้ผู้หญิงเรียนจบแล้วไม่ต้องทำงานนาน แต่งงานแล้วก็ให้ลาออกไปเป็นแม่บ้านกันมาก

ผู้หญิงที่ทำงานในออฟฟิศแม้จะเรียนสูงมาแค่ไหน แต่กลับมีแนวโน้มได้เงินเดือนน้อยกว่าชาย บริษัทไม่กล้าโปรโมทมาก กลัวว่าเดี๋ยวเธอแต่งงานขึ้นมาก็ลาออกไปเป็นแม่บ้านอีก

...จะเห็นว่าไม่ว่าที่ไหนที่รับวัฒนธรรมขงจื๊อมาก็มักเกิดปัญหาคล้ายๆ กัน รวมไปถึงในประเทศไทย...

*** อ่านต่อใน comment  นะครับ ***


.....
เรื่องและภาพจาก
https://pantip.com/topic/41090354



Logged
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
*****
Online Online

Posts: 8,503


View Profile
« Reply #1 on: 24 November 2021, 22:49:56 »




*** อิทธิพลที่ยังหลงเหลือต่อคนไทยเชื้อสายจีน ***

ครั้นคนจีนอพยพเดินทางมาไทยก็ได้นำธรรมเนียมปฏิบัติของตนติดตัวมาด้วย ถึงไม่ได้เข้มข้นเท่าคนจีนโพ้นทะเลอื่นๆ แต่ค่านิยมหลายอย่างก็ยังไม่หายไป รวมทั้งแนวคิดแบบขงจื๊อ

หลายคนอาจจะเคยผ่านประสบการณ์พ่อแม่เลี้ยงลูกชายดีกว่าลูกสาว เพราะคิดว่าสืบตระกูลได้ บางบ้านถึงกับมองลูกสาวว่าไม่ดี ไม่อยากมี อันเป็นที่มาของประโยค “มีลูกสาวเหมือนมีส้วมหน้าบ้าน”


ภาพแนบ: ภัสสร จากละครเรื่อง "เลือดข้นคนจาง" ช่องวัน เธอแต่งงานแล้ว พอตอนป๊าแบ่งสมบัติก็ได้ไม่เท่าพี่น้องผู้ชายคนอื่น

อ.จิตรา ก่อนันทเกียรติ นักเขียนและผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมจีนให้สัมภาษณ์ว่า หนึ่งในปัญหาที่มักเกิดขึ้นกับครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีนคือการแบ่งมรดกที่ยังยึดตามขนบธรรมเนียมเดิม แม้จะมีรายละเอียดแตกต่างกันในแต่ละครอบครัว แต่โดยรวมผู้ชายมักจะได้มากกว่าผู้หญิง

หรือกรณีที่ลูกสาวแต่งงานไปแล้ว หากพ่อแม่ให้เงินติดตัวไปมาก ก็มักได้มรดกน้อยลงไปด้วย (ตามธรรมเนียมจีน ถ้าฝ่ายชายให้สินสอดเยอะ พ่อแม่ฝ่ายหญิงก็ต้องให้เงินเยอะตามเพื่อไม่น้อยหน้า) บางคนไม่ได้มรดกเลยก็มี เพราะถือว่าเป็นสมาชิกของบ้านอื่นแล้ว



อย่างไรก็ดีทุกวันนี้ครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีนจำนวนไม่น้อยมีแนวคิดเปลี่ยนไปตามยุคสมัย...

บ้างเปิดโอกาสให้ผู้หญิงเข้ามามีบทบาทในธุรกิจของตระกูลมากขึ้น บางคนหากมีพ่อใจกว้างอาจได้สืบทอดกิจการด้วยซ้ำ และหากเป็นคนมีความสามารถจริงก็ย่อมได้รับการยอมรับจากลูกน้อง ซึ่งอ.จิตราว่า ตรงนี้ทั้งหญิงและชายก็ต้องพิสูจน์ตัวเองพอๆ กัน


ภาพแนบ: ตระกูลจิระอนันต์ ครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีนในเรื่อง "เลือดข้นคนจาง" ช่องวัน


*** ส้วมในบ้าน ***

มุมหนึ่งที่หลายๆ คนมักละเลยก็คือ “ผู้ชายเองก็เป็นเหยื่อของค่านิยมปิตาธิปไตยเช่นกัน” เพราะพวกเขาถูกคาดหวังว่าต้องเข้มแข็ง, อดทน, ต้องประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน, ต้องดูแลครอบครัวได้

โดยเฉพาะลูกชายคนโต หรือ “ตั่วเฮีย” จะถูกคาดหวังจากพ่อแม่มากเป็นพิเศษ เพราะจะเป็นผู้สืบวงศ์ตระกูลและเลี้ยงดูพ่อแม่ในยามแก่ ตามหลักกตัญญูของแนวคิดขงจื๊อ


ภาพแนบ: เหมาในวัยเด็ก

เหมาเจ๋อตงเองก็เกิดมาเป็นลูกชายคนโต ในวัยเด็กอายุเพียง 14 ปีนั้น เขาถูกพ่อจับบังคับคลุมถุงชนกับลูกสาวของเพื่อนพ่อ ทำให้เหมาต้องตกอยู่ในภาวะกระอักกระอ่วน โดนบิดาบังคับทำในสิ่งที่ต้องการโดยไม่สามารถโต้แย้งได้ ส่งผลให้เขาเฉยเมยต่อเจ้าสาวที่ถูกจับมาแต่งงานเช่นกัน



สำหรับจีนที่มาตั้งรกรากในไทย ลูกชายคนโตจะโดนกดดันอย่างมาก หลายคนไม่ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองต้องการ เที่ยวเล่นก็ไม่ได้ เพราะถูกกำหนดให้มาช่วยงานกงสีที่บ้าน อีกทั้งยังต้องดูแลน้องๆ ให้เติบโตมาเป็นคนดี

ยิ่งบางบ้านต่อให้ลูกโตกันเป็นผู้ใหญ่มีครอบครัวกันหมด แต่พอน้องมีปัญหา (เช่น ติดหนี้) ตั่วเฮียก็ต้องตามไปแก้ไขให้ เพราะถือว่าเป็นพ่อคนที่สอง





*** สรุป ***

มีความเชื่อแต่โบราณที่มองผู้หญิงด้อยกว่า ยึดถือการสืบสกุลผ่านทางผู้ชาย ส่วนผู้หญิงมีสถานะเหมือนเป็นเพียงคนรับใช้ในบ้าน ทำให้ชายมีศักดิ์และสิทธิมากกว่าหญิงในทุกๆ ด้าน



อีกแง่หนึ่ง ผู้ชายก็เป็นเหยื่อของแนวคิดปิตาธิปไตยเหมือนกัน ต้องแบกรับแรงกดดันของวงศ์ตระกูลที่ส่งต่อกันมาหลายรุ่น

...ถึงแม้ผู้นำจีนตั้งแต่ยุคเหมาเป็นต้นมาจะพยายามกำจัดแนวคิดเช่นนี้ แต่มันก็ยังคงอยู่ราวกับถูกฝังไว้ใน DNA ของผู้มีเชื้อจีน ไม่ว่าจะอยู่ในประเทศไหนๆ รวมทั้งไทยเองก็ด้วย



อย่างไรก็ตาม ทุกสิ่งย่อมมีการเปลี่ยนแปลงไป ยิ่งในยุคปัจจุบันที่แนวคิดหญิงชายเท่าเทียมกลายเป็นแนวคิดกระแสหลักของโลก ทำให้มีการส่งเสริมให้ผู้หญิงสามารถ มีหน้าที่การงานที่ดี ไม่จำเป็นต้องเป็นช้างเท้าหลังเสมอไป



...เหล่านี้ล้วนทำให้เรามีความหวังว่า สักวันความเชื่อเรื่องผู้หญิงเป็นส้วมหน้าบ้านจะค่อยๆ จางหาย และถูกแทนที่ด้วยความคิดใหม่ ที่ไม่ดูแคลนคน ไม่ว่าเขาจะเกิดมาเป็นเพศไหนๆ ก็ตาม


.......................................

ความคิดเห็น

............
ปัจจุบันคนไทยเหมือนจะลดความต้องการลูกชายลงและชอบลูกสาวมากขึ้น   เพราะเห็นตัวอย่างหลายๆกรณีที่ลูกชายไม่ดูแลเลี้ยงดูพ่อแม่เลย   ในขณะที่ลูกสาวที่ยังเลี้ยงพ่อแม่กันเยอะ

............
โชคดีที่เป็นคนไทยแท้ เลยได้เป็นลูกสาวของพ่อแม่ที่ตั้งใจและพยายามจะมีลูกสาว

...........
บ้านเราไทยแท้. เรายังรู้สึกเลยว่าพ่อแม่อวยลูกชายมากกว่าลูกสาว.  ก็ไม่ได้เลี้ยงแบบลำเอียงอะไรนะ.  แต่เค้าจะชอบพูดว่าน้องชายเราเป็นหลานชายคนเดียวของตระกูล.  เราได้ยินก็มีความหมั่นไส้อยู่

..........
จขกท ครับ  จะหยิบยกอะไรมานำเสนอควรมีความรู้ในสิ่งนั้นๆ
คำสอนของขงจื้อกำเนิดมาเป็นพันปี  ซึ่งท่านสอนตามสภาพแวดล้อมในขณะนั้น
เป็นเราเองที่ต้องรู้จักเอาคำสอนมาทำให้เป็นไปตามยุคตามสมัย

คำสอนของขงจื้อ  เน้นเรื่อง หน้าที่ของคน  ซึ่งใครจะมีหน้าที่อย่างไรก็ขึ้นอยู่กับสถานะและฐานานุรูป
เช่น  คนเป็นเจ้าเมืองมีหน้าที่อะไร  คนเป็นพ่อแม่มีหน้าที่อย่างไร ลูกควรปฏิบัติตัวอย่างไร
ทุกคำสอนล้วนเป็นเพื่อให้สังคมอยู่กันอย่างสงบและเป็นปกติสุข

แต่ก็มีบางคนไม่เข้าใจ เอาคำสอนไปอ้างผิดๆ  เช่นบอกว่า  ขงจื้อให้ความสำคัญผู้ชายมากกว่าผู้หญิง
หรือคนจีนอยากมีลูกชายมากกว่าผู้หญิง......ทั้งหมดทั้งมวล มันเป็นกิเลสตัณหาเฉพาะตนหรือเปล่า
คำว่าหน้าที่คือผู้ปฏิบัติจะต้องทำโดยสมัครใจ  ยอมรับในสถานะและฐานานุรูปที่เป็น 
ถ้าไม่ยอมรับเช่น  อยากได้ในสิ่งที่ผู้ชายได้   แต่ไม่อยากทำหน้าที่ของผู้ชาย
มันก็แค่อยากได้ผลงาน แต่ไม่ได้ต้องการทำหน้าที่  ..กิเลสครับ  ไม่ใช่คำสอน

ผมไม่เคยเห็นเลยว่า  จะมีผู้หญิงออกมาประท้วงเรียกร้องให้เกณท์ผู้หญิงไปเป็นทหารเพื่อรบ
เห็นมีแต่ข่าวว่าผัวทำร้ายเมีย   แต่คุณว่าเมียทำร้ายผัวอย่าคิดว่าไม่มี  เพียงแต่ผู้ชายเขาอายที่จะให้โลกรู้ว่าถูกเมียทำร้าย

ในละครเลือดข้นคนจาง  มันก็พิสูจน์ให้เห็นถึงความโลภของลูกสาวเป็นอย่างดี...ได้แล้วไม่รู้จักพอ
ธรรมเนียมจีน   เมื่อลูกสาวแต่งงานย้ายออกไป  พ่อแม่ฝ่ายหญิงจะมอบเงินสินสอดทั้งหมดให้กับลูกสาว
แถมยังเอาเงินของกงสีแบ่งให้ไปอีก  และในความเป็นลูกสะใภ้คนอื่น  ยังคงต้องได้มรดกบางส่วนจากพ่อแม่สามี

ยัยลูกสาวได้แล้ว  แถมยังได้ทำงานตำแหน่งใหญ่โตในบริษัทที่เป็นกงสีของพ่อ
พอพ่อตายยังแบ่งมรดกให้อีกทั้งๆที่ไม่ควรจะได้....ได้ไม่รู้จักพอ  จนเกิดเรื่องเกิดราว
ทั้งลูกสาวและลูกสะใภ้ไม่รู้ใครเลวกว่ากัน

...........
วิจารณ์ตัวละคร  ไม่ได้หมายถึงนักแสดง



..........
แต่ ผมไม่ได้ สนใจ เท่าไหร่  คิดว่า มันน่า เบื่อ เพี้ยนเขิน

เวลา เปลี่ยน คนเปลี่ยน  โลกก็เปลี่ยน ใคร รับไม่ได้ กับการเปลี่ยนแปลง  ก็ปัญหาของเค้าคนนั้น

คนอื่นไม่มา สนใจ หรอก 

ความเชื่อ ก็ คือ ความเชื่อ วันยังค่ำ  อาจจะไม่ใช่ ความจริง

..............
ขงจื้อแกบอกว่า แกไม่ได้คิดอะไรใหม่ แกแค่เอาของเก่าที่เป็นจารีตดั้งเดิมของราชวงศ์โจวมาโปรโมทในยุคที่บ้านเมืองไร้ขื่อแป พ่อฆ่าลูก ลูกฆ่าพ่อ ขุนนางฆ่าเจ้า เจ้าฆ่าขุนนาง มิตรสหายหลอกลวงฆ่ากัน ก็เท่านั้นแลครับ

จะพบว่าราชวงศ์ที่เอาหลักขงจื้อผสมเต๋ามาใช้อย่างราชวงศ์ฮั่นและจิ้น ก็ไม่ได้เข้มงวดกับอิสตรีมากขนาดเท่ายุคซ่ง
ราชวงศ์ถังที่นิยมพุทธบ้าง เต๋าบ้าง สลับกันไปก็ไม่ได้เข้มงวดกับอิสตรีมากขนาดเท่ายุคซ่ง

แนวคิดหลายๆอันมันเกิดหลังจากขงจื้อตายไปเป็นพันๆปีก็มี จะว่าเป็นเพราะขงจื้อหมดก็ออกจะเกินไปหน่อย


เรื่องและภาพจาก
https://pantip.com/topic/41090354



Logged
Pages: [1] Go Up Print 
« previous next »
 

SMF 2.0.4 | SMF © 2013, Simple Machines | Theme by nesianstyles | Buttons by Andrea
Page created in 0.06 seconds with 17 queries.