Smile Siam มาร่วมกันคืน "สยามเมืองยิ้ม" กลับสู่บ้านเรากันนะครับ ...
User Info
Welcome, Guest. Please login or register.
28 April 2024, 19:53:32

Login with username, password and session length
Search:     Advanced search
News
ท่านสมาชิกสามารถเปลี่ยนรูปแบบ (Theme) ได้อีกหลายแบบ
เชิญทดลองโดยคลิกที่ลิงค์ข้างล่าง ได้เลยครับ

http://www.smilesiam.net/index.php/topic,3170.msg4713.html
Forum Stats
25,608 Posts in 12,441 Topics by 70 Members
Latest Member: KAN
Home Help Search Calendar Login Register
Smile Siam มาร่วมกันคืน "สยามเมืองยิ้ม" กลับสู่บ้านเรากันนะครับ ...  |  เหนือเกล้าชาวสยาม  |  พระบรมโพธิสัตว์เจ้าแห่งแผ่นดินสยาม  |  พระราชวังและพระราชพิธี  |  กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค สมัยรัตนโกสินทร์
0 Members and 1 Guest are viewing this topic. « previous next »
Pages: [1] Go Down Print
Author Topic: กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค สมัยรัตนโกสินทร์  (Read 419 times)
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
*****
Offline Offline

Posts: 8,461


View Profile
« on: 21 November 2021, 12:28:59 »

กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค สมัยรัตนโกสินทร์



กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค สมัยรัตนโกสินทร์ (ตอนต้น)


กระบวนพยุหยาตราชลทางมารคในสมัยรัตนโกสินทร์ ระยะเวลาประมาณ ๒๐๐ ปีเศษ นับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๓๒๕ เป็นปีที่ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายพระนครหลวงจากกรุงธนบุรี มาฝั่งกรุงเทพมหานคร บริเวณทิศตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา สืบจนปัจจุบัน หม่อมราชวงศ์แสงสูรย์ลดาวัลย์ ได้ให้อรรถาธิบายไว้ใน หนังสือเรือ “กระบวนพยุหยาตรา” ไว้ว่า



สมัยกรุงรัตนโกสินทร์นั้น แม้ว่าเรือใช้รบในแม่น้ำของไทยสมัยกรุงศรีอยุธยาจะถูกทำลายไปเมื่อคราวเสียกรุงครั้งสุดท้าย แต่ได้สร้างขึ้นใหม่เมื่อสมัยกรุงธนบุรี
เพื่อให้เพียงพอต่อการใช้รบ หากว่างจากการรบก็จะจัดเป็นกระบวนเสด็จพระราชดำเนินในพระราชพิธีต่าง ๆ โดยเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้น
 


รัชสมัยรัชกาลที่ ๑ คือ กระบวนพยุหยาตราชลมารค ในการอัญเชิญพระแก้วมรกตแห่ข้ามฟากมาประดิษฐานเหนือบุษบกในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันจันทร์ที่ ๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๓๒๗ นับเป็นกระบวนพยุหยาตราชลมารคที่วิจิตรงดงามอย่างยิ่ง และการเสด็จไปพระราชทาน ผ้าพระกฐินทางชลมารค ณ วัดบางหว้าใหญ่ และวัดหงส์

การจัดกระบวนกฐินพยุหยาตราชลมารคในสมัยรัชกาลที่ ๑ นั้น นอกจากกระบวนหลวงซึ่งเป็นกระบวนพยุหยาตราอย่างโบราณแล้ว พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าทูลละอองธุลีพระบาท และอาณาประชาราษฎร์ ยังได้ตกแต่งเรือด้วยลักษณะต่าง ๆ เช่น จระเข้ หอย ปลา รวมถึงสัตว์ต่าง ๆ มาสมทบเข้ากับขบวน เป็นกระบวนนำและกระบวนหลวง เรือบางลำมีวงปี่พาทย์ และการละเล่นต่าง ๆ ภายในเรือ เป็นที่สนุกสนานครื้นเครง





สมัยรัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แต่งเรือในกระบวนเรือพยุหยาตราชลมารค อย่างยิ่งใหญ่ในการเสด็จไปถวายผ้าพระกฐิน โดยมีเรือพระบรมวงศานุวงศ์ และขบวนเรืออื่น ๆ ที่แต่งเป็นรูปต่าง ๆ เข้าร่วมขบวนเช่นในรัชกาลก่อน ในรัชกาลต่อมาก็ได้จัดให้มีเช่นกัน แต่เป็นขบวนใหญ่บ้าง น้อยบ้าง เพื่อไปถวายผ้าพระกฐินในเทศกาลเข้าพรรษาสืบต่อเรื่อยมา อีกทั้งยังมีการอัญเชิญพระแก้วขาว พระแก้วประจำรัชกาลที่ ๒
หรือ “พระพุทธบุษยรัตน์จักรพรรดิพิมลมณีมัย” จากวัดเขียน ตลาดแก้ว แขวงเมืองนนทบุรี เข้ามาประดิษฐานบนพระแท่นทอง ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีการเฉลิมฉลองหลายวันหลายคืน





สมัยรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสนพระทัยเรือเดินทะเลเป็นอย่างมาก และทรงทำการค้าขายกับต่างประเทศ ทำให้มีกองเรือพาณิชย์นาวีเป็นเรือกำปั่นเหมือนกับชาติตะวันตก และเรือสำเภาใช้ใบเช่นเดียวกับประเทศจีน ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงจัดมหกรรมฉลองวัดราชโอรส จัดให้มีโขนโรงใหญ่ติดรอกตรงหน้าพลับพลาข้าม ปลูกพลับพลาลงมาริมคลองหน้าวัด ให้มีการแสดงหน้าพลับพลาด้วยเรือในเวลาค่ำ เวลาเย็นไปฟังสวดพระพุทธมนต์เป็นกระบวนพยุหยาตรา โดยทรงเรือพระที่นั่งชัยสุวรรณหงส์ มีเรือกระบวนรูปสัตว์ ทั้ง ๓ วัน อีกทั้งเมื่อคราวต้นรัชกาล พระองค์ได้เสด็จฯ ไปพระราชทานผ้าพระกฐินวัดนอกเมืองสมุทรปราการโดยกระบวนเรือพยุหยาตรา





สมัยรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในวันศุกร์ที่ ๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๓๙๔ และยังได้โปรดให้เสด็จเลียบพระนครทางชลมารค ในวันพุธที่ ๒๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๓๙๔ ในรัชกาลนี้เป็นรัชสมัยที่มีการเจริญพระราชไมตรีต่อชาติตะวันตกหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ฝรั่งเศส อังกฤษ อเมริกา และอีกหลายประเทศ ได้มีการนำเรือกลไฟซึ่งใช้เครื่องจักรไอน้ำแทนแรงงานคนมากขึ้น เรือรบในแม่น้ำหรือเรือพระราชพิธี เช่นครั้งอดีตจึงยุติบทบาทลง แต่ยังคงใช้เพื่อเป็นเรือพระที่นั่งขององค์ประมุขของประเทศในการเสด็จฯ ในพระราชพิธีสำคัญต่าง ๆ ในพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐินหรือพิธีต้อนรับแขกบ้าน แขกเมือง ซึ่งเป็นการรักษาขนบธรรมเนียมอันงดงามของไทยมาจนปัจจุบัน



หมายเหตุ : ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๖๒ ใช้ว่า การเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในพระราชพีธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๖๒

ขอขอบคุณข้อมูลจาก :
http://www.finearts.go.th
หนังสือเรือพระราชพิธีพยุหยาตราชลมารค
หนังสือกระบวนพยุหยาตราประวัติและพระราชพิธี
พระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๓ เล่ม ๑



Logged
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
*****
Offline Offline

Posts: 8,461


View Profile
« Reply #1 on: 21 November 2021, 12:30:54 »


กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค สมัยรัตนโกสินทร์ (ตอนปลาย)


กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค สมัยรัตนโกสินทร์ (สมัยรัชกาลที่ ๕ - ๘)

สมัยรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเรือพระราชพิธี คือ เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ นอกจากนี้ในสมัยนั้น เนื่องจากการทหารการทูต และวัฒนธรรมยุโรปได้มีอิทธิพลต่อประเทศสยาม วิเทโศบายของประเทศจึงเป็นแบบยุโรปมากขึ้น ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ต่อเรือกำปั่นกลไฟเป็นจำนวนมาก เช่น เรือพระที่นั่งเวสาตรี เรือพระที่นั่งมหาจักรี เรือมูรธาวสิตสวัสดิ์ ฯลฯ

และได้มีชาวต่างประเทศมาดำรงตำแหน่งทางราชการทหารเรือมากขึ้น และที่สำคัญที่สุด โดยเสด็จประพาสยุโรปโดยเรือพระที่นั่งมหาจักรี เป็นเรือติดธงชาติไทยไปยังน่านน้ำยุโรปครั้งแรก เสด็จฯ ออกจากกรุงเทพ วันที่ ๗ เมษายน ๒๔๔๐ เสด็จฯ กลับสู่พระนครวันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๔๔๐





สมัยรัชกาลที่ ๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงเสด็จพยุหยาตราชลมารควัดอรุณราชวรารามโดยเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๔๕๔ และได้มีการสร้างเรือพระที่นั่งอนันตนาคราชลำใหม่ขึ้นแทนลำเดิมที่สร้างในสมัยรัชกาลพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) สร้างเสร็จเมื่อวันที่ ๑๕ เมษายน ๒๔๕๗





สมัยรัชกาลที่ ๗ พระบาทสมเด็จประปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครทางชลมารค ใน“พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” จัดขึ้นเมื่อวันที่ ๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๘ (นับระบบปีปัจจุบันเป็น พ.ศ. ๒๔๖๙)

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินจากพระบรมมหาราชวัง บริเวณท่าราชวรดิษฐ์ เสด็จไปวัดอรุณราชวรารามโดยขบวนเสด็จพระราชดำเนินหยุหยาตราทางชลมารค และเสด็จพระราชดำเนินคืนสู่พระบรมมหาราชวังด้วยขบวนหยุหยาตราทางชลมารคเช่นเดิม อันเป็นการเสร็จสิ้นพระราชพิธีบรมราชาภิเษกโดยครบถ้วนสมบูรณ์





สมัยรัชกาลที่ ๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล มิได้มีการสร้างเรือพระราชพิธีอีกเลย แต่ได้ทรงอนุรักษ์สมบัติทางปัญญา ที่บรรพบุรุษได้มอบไว้ให้ สมบัติเหล่านี้อยู่ในสภาพที่ดีดุจแรกสร้าง และเป็นมรดกทางวัฒนธรรมสืบทอดต่อไปยังอนุชนรุ่นหลังชั่วกาลนาน





Logged
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
*****
Offline Offline

Posts: 8,461


View Profile
« Reply #2 on: 21 November 2021, 12:33:00 »


การจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ ๙)


นับตั้งแต่มีการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคเมื่อคราวฉลองพระนครครบ ๑๕๐ ปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ในรัชกาลที่ ๗ แล้ว ไม่ปรากฎหลักฐานว่าได้มีการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคอีกเลย



จนในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ในรัชกาลที่ ๙ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรมไทยให้สืบต่อเนื่องยาวนาน พระองค์ทรงเป็นผู้โปรดเกล้าฯ ให้ฟื้นฟูประเพณีเสด็จพระราชดาเนินถวายผ้าพระกฐิน โดยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคขึ้นอีกครั้ง หลังจากว่างเว้นมานานถึง ๕๐ ปี นับตั้งแต่การสมโภชน์กรุงรัตนโกสินทร์ ๑๕๐ ปี
 
การจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคครั้งแรกในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ ๙) เกิดขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ซึ่งเป็นปีที่ทางราชการได้จัดงานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษขึ้น และได้จัดให้มีขบวนเรือพระราชพิธี อัญเชิญพระพุทธรูป ไตรปิฏก และพระสงฆ์ แห่ไปตามลำแม่น้ำเจ้าพระยา ให้เป็นการเฉลิมฉลอง ขบวนครั้งนี้เรียกว่า “ขบวนพุทธพยุหยาตรา” การจัดรูปขบวนเรือคล้ายรูปขบวนพยุหยาตราน้อย แต่ไม่ครบ เนื่องจากเรือพระราชพิธีชำรุดเสียหายไปบ้าง





ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ ๙) ครั้งใหญ่ซึ่งเป็นที่จดจำ คือ การจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค (ใหญ่) เฉลิมฉลองในพระราชพิธีกาญจนาภิเษกในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี ซึ่งทรงครองราชย์นานกว่าพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ในอดีต จัดเมื่อวันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๓๙ อย่างยิ่งใหญ่ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ได้เสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราชลมารค ณ วัดอรุณราชวราราม



ขบวนพยุหยาตราทางชลมารคครั้งนี้ได้มีการจัดริ้วขบวนอย่างสวยงามและสง่ายิ่ง อีกทั้งยังมีเรือพระราชพิธีลำใหม่ คือ เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙ ซึ่งกองทัพเรือและกรมศิลปากรร่วมกันสร้างขึ้นเพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวาย โดยได้นำโขนหรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๓ และรัชกาลที่ ๔ มาเป็นแม่แบบ กองทัพเรือได้ดำเนินการสร้างในส่วนที่เป็นโครงสร้างของตัวเรือ พายและคัดฉาก ส่วนกรมศิลปากรดำเนินการในงานที่เกี่ยวกับศิลปกรรมของเรือทั้งหมด โดยหัวเรือพระที่นั่ง จำหลักรูปพระวิษณุประทับยืนบนครุฑ ซึ่งได้แสดงรูปพระวิษณุและลักษณะอันโดดเด่นของพระองค์ เช่น พระวรกายคล้ำ ในพระกรทั้ง ๔ ทรงถือจักร สังข์ คทา และตรีศูล ประทับบนครุฑยุดนาค หรือครุฑที่จับนาค ๒ ตัวชูขึ้น



ตามคัมภีร์ปุราณะ ครุฑกับนาคเป็นศัตรูกัน แต่ทั้งสองก็รับใช้พระวิษณุ ครุฑ เจ้าแห่งนกทั้งหลาย เป็นสัญลักษณ์แห่งพลังของท้องฟ้า นาค เป็นสัญลักษณ์แห่งพลังของน้ำ เมื่อพระวิษณุอยู่เหนือครุฑและนาค ย่อมแสดงว่าพระองค์ทรงมีพลังในการพิทักษ์ปกป้องโลกทั้งมวล
 
ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ ๙) ได้มีการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๕๕๕ จำนวน ๑๕ ครั้ง และจัดขบวนเรือพระราชพิธี จำนวน ๒ ครั้ง สำหรับขบวนพยุหยาตราทางชลมารคในสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ ๙) ส่วนใหญ่จะเป็นการเสด็จไปทอดผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม





ส่วนการจัดขบวนเรือพระราชพิธี ๒ ครั้ง ได้แก่ การจัดขบวนเรือพระราชพิธี เนื่องในการประชุมเอเปก ๒๐๐๓ (๒๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๖)




และเนื่องในวโรกาสสมเด็จพระราชาธิบดีและสมเด็จพระราชินีต่างประเทศ ร่วมงานฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี (๑๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๙) โดยการจัดขบวนเรือพระราชพิธี ๒ ครั้งนี้ เป็นเพียงการสาธิตแห่ขบวนเรือซื่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มิได้เสด็จในขบวนด้วย




.....
ขอขอบคุณข้อมูลจาก:
http://www.finearts.go.th
หนังสือเรือพระราชพิธี
หนังสือกระบวนพยุหยาตราประวัติและพระราชพิธี
หนังสือจดหมายเหตุพระราชพิธีกาญจนาภิเษก
หนังสือปกิณกะคดีหมายเลข 13 เรือพระราชพิธีพยุหยาตราชลมารค



Logged
Pages: [1] Go Up Print 
« previous next »
 

SMF 2.0.4 | SMF © 2013, Simple Machines | Theme by nesianstyles | Buttons by Andrea
Page created in 0.098 seconds with 19 queries.