Smile Siam มาร่วมกันคืน "สยามเมืองยิ้ม" กลับสู่บ้านเรากันนะครับ ...
User Info
Welcome, Guest. Please login or register.
03 May 2024, 18:34:18

Login with username, password and session length
Search:     Advanced search
News
ท่านสมาชิกสามารถเปลี่ยนรูปแบบ (Theme) ได้อีกหลายแบบ
เชิญทดลองโดยคลิกที่ลิงค์ข้างล่าง ได้เลยครับ

http://www.smilesiam.net/index.php/topic,3170.msg4713.html
Forum Stats
25,628 Posts in 12,450 Topics by 70 Members
Latest Member: KAN
Home Help Search Calendar Login Register
Smile Siam มาร่วมกันคืน "สยามเมืองยิ้ม" กลับสู่บ้านเรากันนะครับ ...  |  วิถีสู่ชีวิตแห่งความพอเพียง  |  ความสุขทางเลือก (Moderator: SATORI)  |  เรื่องเล่าเด็กบ้านนอก : 9 ทีวี : ความบันเทิงวัยเด็ก
0 Members and 1 Guest are viewing this topic. « previous next »
Pages: [1] Go Down Print
Author Topic: เรื่องเล่าเด็กบ้านนอก : 9 ทีวี : ความบันเทิงวัยเด็ก  (Read 200 times)
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
*****
Offline Offline

Posts: 8,481


View Profile
« on: 20 November 2021, 18:20:55 »

เรื่องเล่าเด็กบ้านนอก : 9  ทีวี : ความบันเทิงวัยเด็ก


เรื่องเล่าเด็กบ้านนอก : 9
ทีวี : ความบันเทิงวัยเด็ก

" น้อย ตื่นตื่น กลับบ้านแล้ว " แม่ส่งเสียงปลุก หลังจากละครจบ

น้อยลุกขึ้นนั่งงัวเงียพร้อมกับลุกเดินหอบผ้าห่ม หมอน เดินเปิดประตูเข้าไปในห้องนอน

"เดี๋ยวๆ น้อย " เสียงแม่เรียกดังลั่น

" นั่นไม่ใช่ห้องนอนเรา นี่มันบ้านเขา ไม่ใช่บ้านเรา " แม่เรียกพร้อมกับเดินมาจับแขนน้อย ที่ยังอยู่ในอาการละเมอ แล้วพาน้อยไปล้างหน้าเพื่อให้สดชื่น จะได้ตื่นจากการละเมอ

หลังจากได้สติน้อยก็ลงเดินตามแม่ ที่เตรียมจุดไฟกับต้นปอเอาไว้เป็นคบไฟเพื่อให้แสงสว่างเวลาเดินกลับบ้าน เพราะบ้านของน้อยยังไม่มีทีวีจึงต้องมาอาศัยดูที่บ้านเพื่อน ส่วนบ้านที่แม่พามาดู ทีวีก็จะใช้แบตเตอรีแทนไฟฟ้า ที่ยังเข้ามาไม่ถึงหมู่บ้านของน้อยเลย

.................

บ้านเพื่อนของน้อยเป็นศูนย์รวมของคนละแวกนั้น ที่มารวมกันรอดูทีวี ช่วงหัวค่ำเด็กๆก็จะมาวิ่งเล่นที่ลานหน้าบ้านก่อน   เพราะไม่ชอบดูข่าวสารต่างๆที่ฉายตั้งแต่หัวค่ำยันสองทุ่มครึ่งพอช่วงข่าวเกษตรกรมา เด็กๆก็จะรู้เวลาเตรียมรอดูการ์ตูนที่จะมีต่อ  หลังจากนั้นถึงจะเป็นคิวของละครประจำวันอีกหนึ่งชั่วโมง  ก่อนจะถึงเวลาของหนังจีน  ซึ่งพอหนังจีนจบก็เกือบจะเที่ยงคืนทีวีก็จะปิดรายการ  ซึ่งเป็นเวลาที่ดึกมากสำหรับคนต่างจังหวัด เพราะส่วนมากจะนอนกันค่อนข้างเร็ว  แต่พอเริ่มมีทีวีเข้ามา ก็ทำให้วิถีชีวิตเริ่มเปลี่ยน เวลานอนจากที่เคยนอนเร็วก็กลายเป็นดึกมากขึ้น

ในขณะที่นั่งรอดูทีวีรายการต่างๆ ทาง คนแก่ คนเฒ่าก็จะนำหมาก พลู มาเคี้ยวกินและพูดคุยถามสารทุกข์สุกดิบกันไป  ทำให้ได้อรรถรสในการคุยมากขึ้น   ส่วนเด็กๆก็จะนำเม็ดมะขามที่แกะเนื้อออกแล้ว  เอามาคั่ว มาขบเคี้ยวส่งเสียงดัง เป็นการฆ่าเวลา แล้วถ้าหากวันไหนที่แบตเตอรีที่ใช้แทนไฟฟ้าในการต่อใช้กับทีวีหมด  ทางเจ้าของบ้านก็จะขอเก็บเงินเรี่ยราย เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเอาแบตเตอรีไปชาร์จ  ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีเพราะกลัวอดดูทีวี

เช้าวันนี้ตรงกับวันเสาร์  น้อยตื่นแต่เช้าออกจากบ้านพร้อมแม่  ที่ได้ตกปากรับคำกับเจ้าของที่นาที่รู้จักกัน  ว่าจะไปถอนกล้าให้เขา น้อยจึงติดสอยห้อยตามไปด้วย หวังว่าไปช่วยแม่ถอนกล้าแล้วจะได้เงินไปกินขนมที่ร้านน้าพร ซึ่งเป็นศูนย์รวมของเด็กๆ โดยเฉพาะวันเสาร์ -อาทิตย์

การถอนกล้าต้นข้าว ไม่ใช่งานง่ายสำหรับเด็กและคนที่ไม่เคยถอนมาก่อน เพราะถ้าทำไม่ถูกวิธีแล้วต้นกล้าอาจจะขาด หรือช้ำจากการถอนได้

น้อยซึ่งเคยช่วยแม่มาแล้วหลายครั้ง จึงไม่ค่อยมีปัญหา แต่คราวนี้ต้องเจอกับงานยาก เพราะต้นกล้าที่ถอนนั้น มีดินติดรากมาเยอะมาก และเป็นดินเหนียวซึ่งจะติดรากแน่น

..................

ทุกครั้งที่ทำการถอนต้นกล้าขึ้นมา  จะต้องนำดินที่ติดรากมาด้วยออกให้หมด ซึ่งวิธีการทำคือนำต้นกล้าที่ถอนขึ้นมาและมีดินติดมาด้วย  ฟาดกับเท้า หรือหน้าแข้ง  ของผู้ถอนเอง แต่คราวนี้ดินที่ติดมาเป็นดินเหนียว มันจะหลุดออกยากมาก  ต้องทำการตีหรือฟาดกับเท้าหลายๆครั้งดินถึงจะหลุดออกหมด  แล้วค่อยนำต้นกล้ามารวมกันแล้วมัดด้วยตอกที่ทำจากไม้ไผ่ จึงเป็นอันเสร็จ

.................

หนึ่งมัดต่อหนึ่งสลึงคือราคาของกล้า  ที่น้อยอยากได้ให้ครบแปดมัด  ด้วยหวังว่าจะได้เงินสองบาท  เพื่อนำไปซื้อขนมที่ร้านน้าพร  กว่าจะได้ครบก็เล่นเอาขาแข้ง แดงบวมเลยทีเดียว

................

" แม่ครับ ของผมได้ครบแล้ว แปดมัด เดี๋ยวผมไปก่อนนะครับ " น้อยรีบแจ้งแม่

"เออ ล้างเนื้อล้างตัวก่อนนะ " แม่สั่ง

" ขอเงินด้วยครับ " น้อยไม่ลืมทวงเงินค่าแรงจากแม่

"เออ ไปล้างตัวก่อน ไม่ลืมดอกน่า " แม่บ่นปนขำลูกชายที่กลัวไม่ได้เงิน



.................

น้อยต้องรีบทำเวลา เพราะต้องไปให้ทันดูการ์ตูน ยิ่งวันนี้วันเสาร์ด้วยแล้ว  ช่วงแปดโมงเช้า ขบวนการมนุษย์ไฟฟ้า ตามด้วยหนังจีนชุด ชอลิ้วเฮียง ตามด้วยหนังดังที่ทางทีวีเอามาฉายให้ดู ซึ่งจะพลาดไม่ได้เลยแม้แต่ตอนเดียว

..................

หลังจากนั้นช่วงบ่ายที่ร้านน้าพรจะเป็นช่วงเวลาของ ผู้ใหญ่ ลุงๆน้าๆ ที่มาจับจองที่นั่งแทนเด็กๆที่หมดรอบไปแล้ว  เพราะเวลาของมวยที่ทางช่องทีวี นำมาให้ดู จนถึงเวลาเย็น เด็กๆก็จะกลับมาดูทีวีอีกครั้งหลังมวยจบ  ต่อด้วยละคร ของ บริษัทกันตนา ไม่ว่าจะเป็น เรื่อง ซอใจซื่อ ตี๋ใหญ่ ซีอุย ที่นำมาฉายช่วงในเวลาไล่เลี่ยกัน ที่เด็กๆติดกันงอมแงม

................

ที่ร้านของน้าพรเป็นจุดศูนย์รวมของเด็ก และผู้ใหญ่ เพราะว่า ที่ร้านมีทีวี และเป็น  " ทีวีสี " เครื่องแรกๆ  ของหมู่บ้านแถบนั้น  จึงมีคนมารวมกันมากกว่าที่อื่นๆ   เพราะเวลาเด็กๆดูการ์ตูน  หรือขบวนการมนุษย์ไฟฟ้าแล้ว มันจะแยกสีออกชัดเจน  ถ้าดูทีวี ขาว-ดำ บางครั้งแยกไม่ออกว่าใครใส่ชุดสีอะไร

เช่นเดียวกับที่พวกผู้ใหญ่มาดูมวย เพราะถ้าเป็นทีวี ขาว-ดำ บางครั้งก็จะเลือกเชียรผิดข้างอยู่บ่อยครั้ง เพราะดูไม่ค่อยออกว่า ฝ่ายไหน แดง ฝ่ายไหน น้ำเงิน

อีกอย่างที่ร้านน้าพรได้รับความนิยมกว่าที่อื่นๆ  เพราะร้านแกเป็นร้านค้า ที่มีสินค้ามากมายหลายอย่าง  บรรดาน้ำหวาน น้ำอัดลม ขนมถุงแบบต่างๆ ถูกแขวนห้อย ล่อตาล่อใจเด็กๆ ตลอดเวลา  แม้แต่บุหรี่ เหล้า สี เหล้าขาว ที่บรรดาเซียนมวย ที่มีเล่นได้-เสีย กัน ก็จะมีติดปลายนวมเป็นบุหรี่ หรือเหล้า ที่มีพร้อมอยู่แล้วให้ได้ซื้อขายกันสะดวก

..................

น้อยกำเงินสองบาทในมือแน่น พร้อมกับวิ่งด้วยความเร็วแข่งกับเวลา  เพราะกลัวที่จะพลาดตอนสนุกๆของรายการในวันนี้  เพราะเดี๋ยวจะคุยกับเพื่อนไม่รู้เรื่อง

พอมาถึงร้านก็พบกับกลุ่มเพื่อนๆ บรรดาเด็กๆ ที่นั่งจับจองพื้นที่กันอยู่เต็มก่อนแล้ว บางคนนั่ง บางคนนอน รอดูรายการโปรด เรียงรายกัน น้อยแทรกตัวใกล้กับเพื่อน พร้อมเสียงหอบ แต่เต็มไปด้วยความสุขในใจ ที่วันนี้ในมือกำเงินอยู่สองบาท  พร้อมกับรอยยิ้มและกวาดสายตาไปที่ขนมถุงต่างๆ ที่แขวนห้อยอยู่เต็มไปหมด

.................

เด็กๆ คุยกันส่งเสียงดังอยู่พักใหญ่  พอได้เวลาการ์ตูนมา ทุกอย่างอยู่ในความสงบพร้อมเพรียงกัน โดยไม่ต้องมีใครบอกเพราะ      ...ความบันเทิงและความสุขได้เริ่มขึ้นแล้ว...



Logged
Pages: [1] Go Up Print 
« previous next »
 

SMF 2.0.4 | SMF © 2013, Simple Machines | Theme by nesianstyles | Buttons by Andrea
Page created in 0.065 seconds with 19 queries.