Smile Siam มาร่วมกันคืน "สยามเมืองยิ้ม" กลับสู่บ้านเรากันนะครับ ...
User Info
Welcome, Guest. Please login or register.
20 May 2024, 09:44:07

Login with username, password and session length
Search:     Advanced search
News
ท่านสมาชิกสามารถเปลี่ยนรูปแบบ (Theme) ได้อีกหลายแบบ
เชิญทดลองโดยคลิกที่ลิงค์ข้างล่าง ได้เลยครับ

http://www.smilesiam.net/index.php/topic,3170.msg4713.html
Forum Stats
25,703 Posts in 12,501 Topics by 70 Members
Latest Member: KAN
Home Help Search Calendar Login Register
Smile Siam มาร่วมกันคืน "สยามเมืองยิ้ม" กลับสู่บ้านเรากันนะครับ ...  |  ภาพประทับใจ  |  สถานที่สวยงาม (Moderator: ppsan)  |  วัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร
0 Members and 1 Guest are viewing this topic. « previous next »
Pages: [1] Go Down Print
Author Topic: วัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร  (Read 330 times)
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
*****
Offline Offline

Posts: 8,556


View Profile
« on: 22 September 2021, 20:28:54 »

วัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร


วัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร
วัดประจำรัชกาลที่ 8

          คติ : วิสัยทัศน์กว้างไกล มีเสน่ห์แก่คนทั่วไป
          เครื่องสักการะ : ธูป 3 ดอก เทียน 1 เล่ม
                 
วัดสุทัศนเทพวรารามวรมหาวิหาร หรือ วัดสุทัศน์ ตั้งอยู่บริเวณเสาชิงช้า ตรงข้ามศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก และเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 8 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เดิมชื่อ "วัดมหาสุทธาวาส" วัดนี้เริ่มสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2350 เสร็จสมบูรณ์ พ.ศ. 2390 ในสมัยรัชกาลที่ 3 และได้รับพระราชทานนามใหม่ว่า "วัดสุทัศนเทพวราราม" ซึ่งเราจะรู้จักกันดีว่าวัดแห่งนี้มีเสาชิงช้าตั้งอยู่บริเวณหน้าวัด ชาวบ้านมักเรียกว่า "วัดเสาชิงช้า"
         
ที่พระวิหารมี "พระศรีศากยมุนี" เป็นพระประธานซึ่งอัญเชิญมาจากสุโขทัย เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยหล่อด้วย สำริด ถอดแบบมาจากพระวิหารพระมงคลบพิตร กรุงศรีอยุธยา บานประตูใหญ่ของพระวิหารสลักไม้สวยงามรอบพระวิหาร มีถะ หรือเจดีย์ศิลาแบบจีนตั้งอยู่บนฐานทักษิณ เป็นถะ 6 ชั้น จำนวน 28 องค์ มีพระอุโบสถเป็นที่ประดิษฐาน "พระพุทธตรีโลกเชฏฐ์" เป็นพระประธานปางมารวิชัย ใหญ่กว่าพระที่หล่อในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ องค์อื่น ๆ มีภาพจิตรกรรมฝาผนังอันเป็นฝีมือช่างชั้นครูในสมัยรัชกาลที่ 3 ที่งดงามมาก พระอุโบสถนี้นับว่ายาวที่สุดในประเทศไทย นอกจากนี้ ยังมีศาลาการเปรียญที่มี "พระพุทธเสรฏฐมุนี" เป็นพระประธานที่หล่อด้วยกลักฝิ่นเมื่อ พ.ศ. 2382 ในสมัยรัชกาลที่ 3 เช่นกัน

ภายในวัดสุทัศนเทพวรารามเป็นที่ประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล (รัชกาลที่ 8) พระอัฐมรามาธิบดินทร และได้อัญเชิญ พระบรมราชสรีรางคารของพระองค์ มาบรรจุที่ผ้าทิพย์ด้านหน้าพุทธบัลลังก์พระศรีศากยมุนีเมื่อ พ.ศ. 2493 และมีพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทรในวันที่ 9 มิถุนายนของทุกปี
















Logged
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
*****
Offline Offline

Posts: 8,556


View Profile
« Reply #1 on: 22 September 2021, 20:32:33 »

วัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร




วัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ที่ถนนบำรุงเมือง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงมีพระราชประสงค์ที่จะสร้างพระวิหารให้มีขนาดใหญ่เท่ากับพระวิหารวัดพนัญเชิง เป็นศรีสง่าแก่พระนคร ได้พระราชทานนามไว้ว่า วัดมหาสุทธาวาส จากนั้นทรงอัญเชิญพระพุทธรูปโลหะปางมารวิชัย ซึ่งหล่อขึ้นตั้งแต่สมัยกษัตริย์ราชวงศ์พระร่วง ที่เรียกกันว่า พระโต หรือ พระใหญ่ จากพระวิหารหลวงวัดมหาธาตุจังหวัดสุโขทัย มาประดิษฐานไว้ แต่สร้างยังมิทันสำเร็จ ได้เสด็จสวรรคตเสียก่อน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้ทรงดำเนินงานต่อ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างพระอุโบสถและหล่อพระประธานขึ้นใหม่ และพระราชทานนามวัดใหม่ว่า วัดสุทัศนเทพวราราม จากเดิมที่เรียกกันว่า วัดพระโต สร้างเสร็จสมบูรณ์ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ทรงถวายพระนาม พระโต ซึ่งเป็นพระประธานในพระวิหารว่า พระพุทธศรีศากยมุนี และพระประธานในพระอุโบสถว่า พระพุทธตรีโลกเชฏฐ์

ที่วัดสุทัศนเทพวรารามไม่มีเจดีย์เหมือนวัดอื่นๆ เพราะมีสัตตมหาสถานเป็นอุเทสิกเจดีย์ (ต้นไม้สำคัญในพุทธศาสนา 7 ชนิด) แทนที่อยู่แล้ว

สิ่งที่น่าสนใจภายในวัด ได้แก่ พระศรีศากยมุนี (หลวงพ่อโต) พระประธานของวัดที่ได้ชะลอมาจากวิหารหลวงวัดมหาธาตุเมืองสุโขทัย (อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย) และบานประตูพระวิหาร ซึ่งเป็นศิลปกรรมชั้นเยี่ยมทางด้านการแกะสลักในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะคู่ที่เป็นฝีพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ซึ่งในปัจจุบันนี้ได้นำไปเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร

เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.30–21.00 น. สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 2224 9845, 0 2222 9632
ข้อมูลเพิ่มเติม:ททท.สำนักงานกรุงเทพฯ http://www.tourismthailand.org/bangkok




ประตูพระวิหารคดหรือพระระเบียงคดพระวิหารหลวง เมื่อเดินเข้าประตูวัดด้านทิศเหนือเข้ามาจะมีซุ้มประตูพระวิหารคด ซึ่งอยู่กึ่งกลางทั้งสี่ด้านของพระวิหารคด ที่มุมของพระวิหารคดหรือพระระเบียงคด มีซุ้มหลังคาทรงจตุรมุขเช่นเดียวกันกับซุ้มประตู หน้าบรรณลำยองไม้แกะจำหลัก ปิดทองประดับด้วยกระจกสี กลางกรอบแกะเป็นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ บานประตูพระวิหารคดเป็นบานไม้ขนาดใหญ่ มีลายรดน้ำรูปเซี่ยวกาง (ทวารบาล) ยืนบนหลังกิเลน เชิงบานเป็นภาพสัตว์หิมพานต์ต่างๆ ประตูด้านทิศเหนือเป็นจุดชำระค่าเข้าชมของชาวต่างชาติ




ศาลาทศบารมีธรรม ตามแนวกำแพงวัดด้านใน ระหว่างซุ้มประตูจุลมงกุฎ ทางเข้า-ออกแต่ละด้านของวัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร จะมีศาลาอยู่ ซึ่งสร้างเป็นแบบเดียวกัน ซุ้มประตูด้านตะวันออกตรงหน้าพระอุโบสถมีศาลา 2 หลัง คือศาลาทศพิธราชธรรม และศาลาทศบารมีธรรม อีกประตูหนึ่งมีศาลาต้นโพธิ์ มีพระพุทธรูปปางตรัสรู้ ประดิษฐานใต้ต้นศรีมหาโพธิ์ รายล้อมด้วยพญามารที่มาผจญ เป็นต้น




ซุ้มประตูรอบพระอุโบสถ เมื่อเดินมาถึงบันไดขึ้นสู่พระอุโบสถจะมีรูปปั้นลักษณะเครื่องแต่งกายแบบตะวันตกในอดีต อยู่ 2 ข้างของบันได บนลานประทักษินชั้นล่างนอกกำแพงแก้ว ลานประทักษินชั้นล่างของพระอุโบสถปูด้วยหินจากประเทศจีน ซุ้มประตูทางขึ้น-ลงแต่ละซุ้มสร้างเป็นแบบเดียวกันทั้งหมด ทำด้วยหินอ่อนเป็นซุ้มคูหาหน้านางยอดทรงมงกุฎ หน้าบรรณเป็นปูนปั้นลายดอกไม้ปิดทองคำเปลว มีอยู่ด้านละ 2 ซุ้ม รวมเป็น 8 ซุ้ม บานประตูสีพื้นสีเขียวมีภาพสีน้ำมันรูปครุฑยุดนาคสวยงามทุกบาน สีพื้นบานประตูด้านในเป็นสีแดง




เมื่อเดินขึ้นบันไดผ่านซุ้มประตูหินอ่อนขึ้นมาแล้วจะมีบันไดขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง รูปปั้นบนราวบันไดนี้แตกต่างกับรูปปั้นที่ข้างบันไดชั้นแรก พระอุโบสถวัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร เป็น พระอุโบสถที่ยาวที่สุดในประเทศไทย *ข้อมูลเมื่อปี 2553 คือมีขนาดกว้าง ๒๒.๖ เมตร ยาว ๗๒.๒๕ เมตร พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๓ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในปี พ.ศ.๒๓๗๗ เสร็จสมบูรณ์ในปี พ.ศ.๒๓๘๖ เป็นอาคารขนาดใหญ่มากมีเสาสี่เหลี่ยมรองรับหลังคา ๖๘ ต้น หลังคา ๔ ชั้น และชั้นลด ๓ ชั้น หน้าบรรณมุขด้านตะวันออกแกะสลักลายพระอาทิตย์ประทับนั่งบนราชรถเทียมราชสีห์ ด้านหลังสลักเป็นรูปพระจันทร์ประทับนั่งบนบุษบกบนราชรถเทียมม้า




ประตูเข้า-ออกพระอุโบสถ พระอุโบสถวัดสุทัศน์เทพวราราม ราชวรมหาวิหาร มีประตูเข้า-ออก ด้านหน้าและด้านหลัง ด้านละ 2 ช่อง ด้านหน้าประดิษฐานพระพุทธรูปประธานจำลองเพื่อให้จุดเทียนธูปสักการะบูชาด้านนอก มีหน้าต่างด้านละ ๑๓ ช่อง รวมเป็น ๒๖ ช่องซุ้มประตูและหน้าต่างทำด้วยปูนปั้นปิดทองประดับกระจกสีเหนือซุ้มประตูและหน้าต่างเป็นซุ้มบันแถลงสองชั้น




ภาพจิตรกรรมเหนือช่องหน้าต่างพระอุโบสถ ภาพจิตรกรรมฝาผนัง เป็นสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจของวัดสุทัศน์เทพวราราม ราชวรมหาวิหาร ภาพเหนือช่องหน้าต่างและประตูพระอุโบสถวัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร เป็นภาพในเรื่องรามเกียรติ์ใส่กรอบตั้งประดับเหนือช่องประตูและหน้าต่างช่องละ ๓ ภาพ ทั้งหมดมี ๙๐ ภาพ เป็นการแสดงให้เห็นการปราบข้าศึกอันเปรียบด้วยกฤดาภินิหารของพระมหากษัตริย์ ภาพที่แสดงเรียกว่า ภาพจับ เป็นท่าครู เป็นการยกย่องวรรณกรรมนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกรัชกาลที่ ๑ และพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยรัชกาลที่ ๒




เกยโปรยทาน เกยโปรยทานตั้งอยู่บนกำแพงแก้วพระอุโบสถ อยู่ระหว่างซุ้มใบเสมา มีทั้งหมด ๘ เกย ใช้เป็นที่ประทับสำหรับพระมหากษัตริย์สมัยก่อนเพื่อโปรยทานแก่พสกนิกรในคราวเสด็จพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลทานบารมี ลักษณะคล้ายเกยหามแต่ทำด้วยหินอ่อน ด้านหลังมีบันไดทางขึ้นและลง




บานหน้าต่างพระอุโบสถวัดสุทัศนเทพวราราม บานหน้าต่าง ทั้ง ๒๖ ช่องของวัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร เป็นบานไม้เขียนลายรดน้ำ ผนังข้างหน้าต่าง(ด้านนอก) ติดกระเบื้องเคลือบลายดอกไม้ร่วง ซุ้มหน้าต่างเป็นซุ้มบันแถลงสองชั้น ทรงพิชัยมหามงกุฎ



พระพุทธรูปบนพระวิหารคด พระวิหารคดหรือพระระเบียงคดล้อมรอบพระวิหารหลวง เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปจำนวน ๑๕๖ องค์ (เลข ๕๖ มากจากจำนวนพยางค์ในบทพุทธคุณ (อิติปิโส ฯลฯ) ) เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปิดทองคำเปลว ปางสมาธิราบ ประดิษฐานบนฐานชุกชี ที่มุมพระวิหารคดมีซุ้มหลังคาจตุรมุข ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยทั้งสี่มุม




พระวิหารหลวงวัดสุทัศนเทพวราราม เมื่อก้าวผ่านซุ้มประตูพระวิหารคดหรือพระระเบียงคดเข้ามาจะมองเห็นพระวิหารหลวงและรู้สึกได้ถึงขนาดพระวิหารที่ใหญ่มาก เนื่องด้วยพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ ที่โปรดจะสร้างพระวิหารให้มีขนาดใหญ่เท่ากับพระวิหารวัดพนัญเชิง จากมุมนี้มองเห็นหน้าบรรณหลังคามุขแกะสลักไม้ปิดทองเช่นเดียวกันกับหลังคาประธานต่างแต่รูปในกรอบตรงกลางเป็นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ หมายเป็นพระมหากษัตริย์แบ่งภาคมาจากเทพเพื่อคุ้มครองโลกมนุษย์ ที่เห็นลักษณะคล้ายๆ ศาลาที่มุมทั้งสี่ของพระวิหารหลวงเรียกว่า พระวิหารทิศ ตั้งอยู่บนฐานพระวิหารหลวงชั้นบน สร้างเหมือนกันทั้งสี่หลัง

    ช่อฟ้าใบระกาหางหางส์นาคสะดุ้ง เป็นไม้จำหลักลายลงรักประดับกระจกสี แต่ละหลังประดิษฐานพระพุทธรูปปางต่างๆ กันหลังละ ๒ องค์ ลานประทักษินพระวิหารหลวงชั้นล่างด้านหลังยังมีภูเขาที่สลักจากศิลาจีน คือเขาพระสุเมรุและป่าหิมพานต์ มีรูปฤๅษีและสัตว์ที่สลักศิลาเช่นกันประดับอยู่โดยรอบสมมติเป็นเขาพระสุเมรุที่เป็นศูนย์กลางจักรวาล เขาลูกนี้เดิมเป็นฉากในการแสดงโขนกลางแปลงในสมัยสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ เมื่อเสด็จสวรรคตไปแล้ว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ถวายพระอารามแห่งนี้




พระวิหารหลวงวัดสุทัศนเทพวราราม ภาพมุมกว้างแสดงให้เห็นอาณาบริเวณที่กว้างขวางระหว่างพระวิหารหลวงและแนวพระวิหารคด หรือพระระเบียงคด ซึ่งสร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ มีขนาดกว้าง ๘๙.๖๐ เมตร ยาว ๙๘.๘๗ เมตร พระวิหารหลวงวัดสุทัศนเทพวราราม วรมหาวิหาร เป็นอาคารเครื่องก่อขนาด ๕ ห้องกว้าง ๒๓.๘๔ เมตร ยาว ๒๖.๒๕ เมตร โครงหลังคาเป็นจั่วมีหลังคาประธาน ๑ ตับ มีชั้นซ้อน หรือ หลังคามุข ทั้งด้านหน้าและด้านหลังและมีหลังคาปีกนกลาดลงจากหลังคาประธานข้างละ ๓ ตับ หลังคามุขทั้งด้านหน้าและด้านหลังมีหลังคาปีกนกลาดลงข้างละ ๒ ตับn มีเสารับมุขเป็นเสาสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง จำนวน ๑๒ ต้น และเสานางเรียงด้านข้างข้างละ ๖ ต้น

    มุมพระวิหารหลวงทั้ง 4 มุม ชั้นล่างและชั้นกลางมีม้าหล่อด้วยสำริด หล่อขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๓๘๙ โดยช่างไทยสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นที่รำลึกถึงม้ากัณฐกะซึ่งเป็นพาหนะที่นำเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกผนวชn เจดีย์ศิลปะแบบจีนรายล้อมพระวิหารหลวง 28 องค์ เรียกว่า ถะรายพระวิหาร คำว่า ถะ เป็นเครื่องศิลาแบบจีนรูปแบบคล้ายอาคารหกเหลี่ยมซ้อนกันขึ้นไป ๖ ชั้น แต่ะลชั้นเป็นช่องโปร่งซึ่งเป็นลักษณะของเรือนไฟใช้ตามประทีป ถะรายพระวิหารมี 28 ถะ หมายถึงพุทธ ๒๘ พระองค์ ตั้งอยู่บนพนักฐานพระวิหารชั้นที่ 2 พระวิหารหลวงเป็นอาคารเครื่องก่อ มีความสูงเด่นกว่าศาสนสถานอื่นทั้งหมด คือมีฐาน 3 ชั้น สูงชั้นละประมาณ 2 เมตร รวมความสูงประมาณ 6 เมตร จากพื้นดิน ตามแนวฝาผนังด้านนอกมีเสานางแนบด้านละ 6 ต้น




พระบรมราชานุสรณ์ พระบรมราชานุสรณ์นี้สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติคุณในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ผู้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณแก่พสกนิกรทั้งปวง ทรงเลื่อมใสในพระบวรพุทธศาสนาด้วยพระราชศรัทธาปสาทอันมั่นคง ทรงแสดงพระองค์เป็นพุทธมามกะ ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม สมเด็นพระสังฆราช (แพ ติสุสเทว) วัดสุทัศนเทพวราราม ทรงเป็นประธานคณะสงฆ์ถวายศาสโนวาทและถวายศีล เมื่อเสด็จสวรรคตและถวายพระเพลิงพระบรมศพแล้ว พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สมเด็จพระอนุชาธิราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระบรมราชสริรางคาร มาประดิษฐาน ณ ผ้าทิพย์พุทธบัลลังก์พระศรีศากยมุนีในพระวิหารหลวงวัดสุทัศนเทพวราราม และถวายพระราชทรัพย์เป็นประถมให้วัดตั้งมูลนิธิ พระราชทานนามว่า "มูลนิธิอัฏฐมราชานุสรณ์" พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทรงเททองหล่อพระบรมราชานุสรณ์ ณ วันจันทร์ที่ ๕ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๑๖ และได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธีเปิด ณ วันเสาร์ที่ ๒ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๑๗




เสาพ่อฟ้า-แม่ดิน ตั้งอยู่ด้านหน้าพระวิหารหลวงวัดสุทัศนเทพวราราม ตรงทางขึ้นบันไดทั้ง 2 ข้างของพระวิหารหลวง ประดับโคมไฟสีแดงแบบจีน ตรงกลางคือเก๋งจีนหน้าพระวิหาร เครื่องศิลาสลักจีนอยู่ที่ลานประทักษินชั้นล่างด้านหน้าพระวิหารหลวง เดิมตั้งอยู่บนลานประทักษินชั้นบนย้ายลงมาชั้นล่างในสมัยพระบาทสมเด็จอานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘ จากลักษณะที่ตั้งเดิมหมายถึงวิมานไพชยนต์ของพระอินทร์แห่งเมืองสุทัสสนนครบนเขาพระสุเมรุ

คำบูชาเสา พ่อฟ้า-แม่ดิน เพื่อประเทศชาติมั่นคง-ประชาชนมั่งคั่ง สาวัง คุณัง วิชชา พะลัง เตชัง วิริยัง สิทธิกัมมัง ธัมมัง สัจจัง นิพพานัง โมกขัง คุยหะกัง ทานัง สีลัง ปัญญา เนกขัง ปุญญัง ภาค์ยัง ตะปัง ยะสัง สุขัง สิริรูปัง จะตุวีสะติ เทสะนาติ เอวัง สะหะ มันตะ รูปะเทเสนะ วาเจตัพพะมิทัง นะโม พุทธัสสะ นะโม ธัมมัสสะ นะโม สังฆัสสะ เสยยะถีทัง หูลู หูลู หูลู ส์วาหายะ




ประตูพระวิหารหลวงวัดสุทัศนเทพวราราม สิ่งที่น่าสนใจอีกสิ่งหนึ่งของวัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหารคือบานประตูพระวิหาร ซึ่งเป็นศิลปกรรมชั้นเยี่ยมทางด้านการแกะสลักในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะคู่ที่เป็นฝีพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ซึ่งในปัจจุบันนี้ได้นำไปเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร บานประตูช่องกลางด้านหลังจึงได้ย้ายมาไว้ที่ซุ้มประตูกลางด้านหน้าพระวิหารหลวง แล้วทำการสร้างบานประตูช่องกลางด้านหลังพระวิหารหลวงขึ้นมาใหม่ บานประตูทุกบานเป็นไม้แผ่นเดียวงดงามตลอดทั้งแผ่น ซุ้มประตูและหน้าต่างพระวิหารหลวงเป็นซุ้มบันแถลงที่ซ้อนกัน ๒ ชั้นเป็นปูนปั้นปิดทองประดับกระจกสี




พระศรีศากยมุนี พระศรีศากยมุนี เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้างประมาณ ๖.๒๕ เมตรประดิษฐานบนฐานชุกชีแบบฐานลายแข้งสิงห์ ปิดทองประดับกระจกสีงดงามด้านหลังฐานชุกชีมีภาพสลักศิลานูนต่ำสมัยทวารวดี (พุทธศตวรรษ ๑๒-๑๓) สูง ๒.๔ เมตร กว้าง ๐.๙๕ เมตรเป็นศิลปกรรมชิ้นเอกของวัดชิ้นหนึ่ง สันนิษฐานว่าย้ายมาจากจังหวัดนครปฐม เป็นภาพสลักพระพุทธประวัติ ๒ ตอน คือปางยมกปาฏิหาริย์และปางเทศนาโปรดพระพุทธมารดา ความสำคัญอีกอย่างหนึ่งของพระศรีศากยมุนีคือเป็นที่ประดิษฐานพระบรมราชสริรางคาร พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระบรมราชสริรางคาร มาประดิษฐาน ณ ผ้าทิพย์พุทธบัลลังก์พระศรีศากยมุนีในพระวิหารหลวงแห่งนี้ ภาพจิตรกรรมในพระวิหารหลวง เป็นจิตรกรรมฝาผนังที่งดงามที่สุดแห่งหนึ่งในกรุงรัตนโกสินทร์ ภายในมีจิตรกรรมประดับอยู่โดยตลอดไม่มีส่วนที่ว่าง ได้แก่ จิตรกรรมฝาผนังจากเชิงผนังจรดเพดาน เป็นภาพเรื่องพระอดีตพระพุทธเจ้า ๒๘ พระองค์มีศิลาจารึกอธิบายภาพกำกับไว้ใต้ห้องภาพ พรรณาถึงพระประวัติพระพุทธเจ้าพระองค์นั้นๆ จิตรกรรมที่เสาในประธานมี ๘ ต้น มีจิตรกรรมทั้งสี่ด้านเรื่องไตรภูมิโลกยสัณฐาน มีศิลาจารึกกำกับที่โคนเสา



เรื่องและภาพจาก
https://www.touronthai.com/article/1630



Logged
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
*****
Offline Offline

Posts: 8,556


View Profile
« Reply #2 on: 22 September 2021, 20:36:37 »

วัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร



วัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร


วัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร
พระอารามหลวงชั้นเอกพิเศษ ชนิดราชวรมหาวิหาร วัดประจำรัชกาลที่ ๘

ผู้สร้างและมูลเหตุที่สร้าง

   วัดนี้พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ แห่งพระบรมราชวงศ์จักรี โปรดเกล้าให้สถาปนาขึ้น แต่ทรงสร้างค้างไว้แต่เพียงรากพระวิหาร ถึงรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างใหม่ทั้งอาราม ในรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปฎิสังขรณ์เพิ่มเติมอีก


   ส่วนมูลเหตุที่จะทรงสร้างวัดนี้ มีเรื่องราวปรากฏมาว่า “ เมื่อสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นมาเป็นราชธานีแล้ว ความมุ่งหมายที่จะทำนุบำรุงให้เหมือนกรุงศรีอยุธยาเดิม ด้วยนับถือกันว่า ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีเป็นสมัยที่บ้านเมืองรุ่งเรือง เรียกกันว่า


   “ ครั้งบ้านเมืองดี รั้ววังวัดวาที่สร้างขึ้นสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ก็มักถ่ายแบบมาจากกรุงศรีอยุธยา ยกตัวอย่างเช่นที่สร้างวัดสุทัศน์ฯ เป็นที่ประดิษฐานพระโตซึ่งเชิญมาแต่กรุงสุโขทัยในสมัยรัชกาลที่ ๑ ก็มีพระราชประสงค์จะสร้างแทนวัดพระเจ้าพนัญเชิงที่กรุงเก่าดังนี้เป็นต้น ”


วัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร


พระศรีศากยมุนี

พระศรีศากยมุนีมาถึง

   อีกฉบับหนึ่ง ด้วยเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราชรับสั่งใส่เกล้าฯ ด้วยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าสั่งว่า ทรงพระราชศรัทธาให้อาราธนาพระพุทธรูปซึ่งอยู่ ณ เมืองสุโขทัยลงมากรุงเทพฯแล้ว ทอดทุ่นอยู่กลางน้ำหน้า พระตำหนักแพ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้มีการมหรสพสมโภชเพลากลางวัน กลางคืน ครั้นถึงวัน ๓ ฯ ๙ ๕ ค่ำ (ไม่มีปี ไม่มีศักราช เห็นจะเป็นปีมะโรงสัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๑๗๐) เพลาเช้า พระสงฆ์ ๒๐ รูปรับพระราชทานฉันที่เรือบัลลังก์ แล้วเถิงเพลาบ่าย ๒ โมง จะได้ตั้งบายศรี ทอง เงินตอง ที่เรือหน้าพระพุทธรูป สมโภชเวียนพระเทียนนั้น ให้ข้าทูลละอองฯ ผู้ใหญ่ผู้น้อย ฝ่ายทหารพลเรือนมารับแว่นเวียนพระเทียนให้พร้อม จงทุกหมู่ทุกกรม อย่าให้ขาดได้ตามรับสั่ง

   สั่งบายศรีแปลกอยู่ บายศรีเงินสำรับ ๑ ทองสำรับ ๑ ตอง ๒ สำรับ รวม ๔ สำรับให้มีพุ่มข้าว ขันเชิงพานรองนำวักแว่น (สำหรับ) เวียนเทียน ติดเทียน เทียนยอดบายศรีแป้งหอม น้ำมันหอม

   อนึ่ง พระพุทธรูปนั้นไม่ใช่องค์เดียวเห็นจะ ๓ องค์ จึงสั่งเครื่องนมัสการให้สนมพลเรือนรับเครื่องทองน้อย สำหรับบูชาพระพุทธรูปองค์ใหญ่สำรับ ๑ เครื่องกระบะมุกสำหรับบูชาพระพุทธรูปองค์น้อย ๒ สำรับ


เชิญพระศรีศากยมุนีสถิตวัดสุทัศนเทพวราราม

   หมายฉบับที่ ๓ นี้ ควรจะอยู่ที่ ๒ แต่เหตุไฉนเขาจึงจดไว้เป็นที่ ๓ ก็ไม่ทราบ ครั้นจะคัดขึ้นไปไว้ที่ ๒ เกรงจะผิด เหตุด้วยหมายฉบับหลังไม่มีปีและศักราช จึงได้ลงเรียงไว้ตามลำดับเดิม แต่ไม่เห็นมีท่าทางที่จะผิดด้วยการที่หล่อแก้ซ่อมแปลง ได้ทำที่วัดสุทัศน์ มีเดือนปีปรากฏว่าเป็นเดือนยี่ปีมะโรงสัมฤทธิศก สมโภชพระเดือน ๕ ปีมะเส็งเอกศกไม่ได้ เพราะพระไม่ได้ไปถึงที่ดังนี้

๒๑๗. ณ ๒ ๑ ฯ ๕ ๖ ค่ำ ทรงยกเลื่อนชักตามทางสถลมารค พระโองการตรัสให้แต่งเครื่องนมัสการพระทุกหน้าวังหน้าบ้านร้านตลาดจนถึงที่

๒๑๗. การชักเลื่อนพระตามทางบกนั้น แพพระพุทธรูปได้มาเทียบที่ท่าช้าง แต่ที่ท่าช้างประตูเมืองไม่ตรงถนน ถึงว่าจะตรงถนน พระก็ใหญ่กว่าประตูเข้าไม่ได้ จึงต้องรื้อกำแพง เมื่อแห่พระมาถึงแล้วจึงก่อกำแพงขึ้นใหม่ ด้วยเหตุนั้นในราชการจึงเรียกเป็นท่าพระมาทุกวันนี้

๒๑๘. ทรงพระประชวรอยู่แล้ว แต่ทรงพระอุตสาหะเพิ่มพระบารมี หวังที่หน่วงโพธิญาณจะโปรดสัตว์ ทำนุกบำรุงพระศาสนา เสด็จพระดำเนินตามกระบวนแห่พระ หาทรงฉลองพระบาทไม่ จนถึงพลับพลาเสด็จขึ้นเซพลาด

๒๑๘. เสด็จพระราชดำเนินด้วยพระบาทตามกระบวนนี้ ดูเป็นลักษณะอย่างเดียวกันกับแบกตัวลำยอง (กรมหลวงพระราชวังบวรทรงแบกตัวไม้ลำยองด้วยพระองค์เอง ตั้งแต่ท่าเจ้าสนุกจนถึงยอดเขาพระพุทธบาท) เห็นจะเสด็จพระราชดำเนินได้จริง เพราะการชักพระเช่นนี้คงจะเดินไปช้าๆ และไปติดไปขัด ต้องหยุดเอะอะกันบ่อยๆ เป็นเวลาได้ทรงพัก แต่คงจะทรงเหนื่อยมาก เพราะทรงพระประชวรอยู่แล้วจึงได้เซ

๒๑๙. เจ้าฟ้ากรมขุนกษัตรารับพระองค์ไว้

๒๑๙. กรมขุนกษัตราองค์นี้ คือเจ้าฟ้าเหม็น เดิมเป็นเจ้าฟ้าสุพันธุพงษ์ แล้วเปลี่ยนเป็นเจ้าฟ้าอภัยธิเบศร์ ได้เป็นกรมขุนกษัตรานุชิต

๒๒๐. พระศรีศากยมุนี ๖ (ทำเนียบนามภาค ๑ หน้า ๓ เป็น พระศรีสากยมุนี (วิจิตร))มีลายจารึกไว้(ใน) แผ่นศิลาตั้งศักราชว่า ไปข้างหน้าลุงจะให้สัตย์ต่อหลาน ผู้น้อยจะเป็นผู้ใหญ่ ๆ จะได้เป็นผู้น้อย จารึกไว้แต่แรกสร้าง(มี)อยู่

๒๒๐. คำจารึกแผ่นศิลาที่พระศรีศากยมุนี ซึ่งผู้แต่งนำลงไว้ในที่นี้ เห็นจะเป็นด้วยเห็นจริงในใจว่า กรมพระราชวังบวรมหาศักดิ์พลเสพย์เป็นอาว์ ถวายสัตย์ต่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวผู้เป็นหลาน

๒๒๑. แล้วยกพระขึ้นที่ เสด็จกลับออกพระโอษฐ์ในที่สุดเพียงได้ยกพระขึ้นถึงที่สุดเท่านั้นแล้ว

๒๒๑. ซึ่งกรมหลวงนรินทรเทวี กล่าวถึงยกพระขึ้นที่ในข้อนี้ เมื่อตรวจสอบสวนหลายแห่งเข้าใจได้ความว่า ท่านไม่ได้หวังจะกล่าวว่าพอแห่พระไปถึงแล้ว ก็เชิญขึ้นตั้งที่ทีเดียวเป็นอันได้ความ การเชิญพระขึ้นตั้งที่นั้นควรเป็นปีมะเส็งเอกศกต้นปี จวนสวรรคตอยู่แล้ว ถ้าลำดับการวัดสุทัศน์ และแห่พระศรีศากยมุนี ทั้งน้ำทั้งบกเห็นจะเป็นดังนี้

เดือน ๓ ปีเถาะนพศก จุลศักราช ๑๑๖๙ ขุดราก

เดือน ๕ ปีมะโรงสัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๑๗๐ พระศรีศากยมุนีลงมาถึงสมโภช

ดือน ๖ แห่ขึ้นทางบก ขึ้นไปวัดสุทัศน์ในเดือน ๖ นั้นเอง ก่อฤกษ์แต่ได้ความต่อไปว่า ได้ทรงปฏิสังขรณ์แก้ไขพระศรีศากยมุนี เททองใหม่ที่วัดสุทัศน์นั้นเอง แรกที่จะรู้เรื่องนี้ได้เห็นคำอาราธนาเทวดา สำหรับราชบัณฑิตอ่าน ซึ่งได้มาแต่หอสมุด มีเนื้อความขึ้นนโม ๓ จบ อิติปิโสจบแล้ว จึงอาราธนาออกชื่อว่า ข้าพระพุทธเจ้า พระยาธรรมปรีชา หลวงธรรมสุนทร หลวงเมธาธิบดี ขุนศรีวรโวหาร ราชบัณฑิตยาจารย์ทั้งปวง พร้อมกันทำอัชเฌสนกิจอาราธนาสัตยาธิษฐาน เฉพาะพระพักตร์ พระศรีรัตนตรัยเจ้า ด้วยสมเด็จพระบรมขัตติยาธิบดินทร์ปื่นประชามหาสมมติเทวราช พระบาทบพิตรพระเจ้าอยู่หัว (ต่อไปก็สรรเสริญพระบารมีและพระราชศรัทธาบำรุงพระพุทธศาสนาแผ่พระราชกุศล แล้วจึงดำเนินความต่อไปว่า) บัดนี้ทรงพระราชศรัทธากระทำการปฏิสังขรณ์ พระพุทธรูปองค์ใหญ่ ที่ตรำแดดตรำฝน ต้องเพลิงป่า หาผู้จะพิทักษ์รักษามิได้ อยู่ที่เมืองสุโขทัยนั้น

ทรงพระกรุณาเจดีย์ฐาน บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เป็นที่ไหว้ที่สักการบูชา ลักขณะอันใดมิได้ต้องด้วยพุทธลักขณะผิดจากบาลีและอรรถกถานั้น ทรงพระกรุณาให้ปฏิสังขรณ์ขึ้นให้ต้องด้วยพระอรรถกถาและพระบาลี ตั้งพระทัยจะให้พระราชพิธี ปฏิสังขรณ์นี้สำเร็จโดยสิริสวัสดิ์ปราศจากพิบัติบกพร่อง การที่จะใส่ไฟสำรอกขี้ผึ้งเททองนั้นจะให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ ต้องด้วยพระราชประสงค์จงทุกประการ จึงมีพระราชบริหารดำรัสสั่ง ให้อาราธนาพระเถรานุเถระราชาคณะผู้ใหญ่ผู้น้อย ฝ่ายคามวาสี อรัญวาสี มีสมเด็จพระสังฆราชาธิบดีเป็นประธาน ให้มาประชุมกันเจริญพระปริตร ขอพระรัตนตรัยให้ช่วยอภิบาลบำรุงรักษาข้าพระพุทธเจ้าราชบัณฑิตมาอาราธนาอันเชิญ เทพยเจ้าทุกสถาน สัคเค กาเม จรูเป ฯลฯ ลงท้ายเป็นคำสัตยาธิษฐาน ยัง กินจิ รัตนัง โลเก ฯลฯ แล้วก็จบ

เมื่อได้เห็นเช่นนี้ ถึงว่าจะเชื่อว่าเป็นประกาศรัชกาลที่ ๑ ก็ยังไม่สู้แน่ ภายหลังได้พบหมายเป็นข้อความต้องกัน จึงเอาเป็นแน่ได้ ในหมายฉบับนี้ว่า พระชำนิรจนารับสั่งใส่เกล้าฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สั่งว่า ซึ่งสั่งไปแต่ก่อนว่าจะได้หล่อพระพุทธรูปองค์ใหญ่ ณ วัดเสาชิงช้า ณ วัน ๓ ฯ ๒ ๔ ปีมะเส งสัมฤทธิศก เพลาบ่ายสามโมงนั้นบัดนี้โหรมีชื่อ คำนวณพระฤกษ์ทูลเกล้าฯ ถวายเลื่อนเข้ามา พระสงฆ์ ๓๐ รูปจะได้เจริญพระพุทธมนต์ เพลาบ่ายวันขึ้น ๒ ค่ำ ๓ ค่ำ ๔ ค่ำ ครั้น ณ วัน ๔ ฯ ๕ ๒ เพลาเช้า ๒ โมง บาท ๑ พระฤกษ์จะได้เททอง พระสงฆ์ที่สวดมนต์จะได้รับฉัน ให้นายด้านวัดปลูกโรงทึมสงฆ์ให้พอพระสงฆ์ ละสั่งอื่นๆ ต่อไปตามตำราหมาย

มีข้อยันกันว่า อนึ่งให้พระราชบัณฑิตแต่งคำอาราธนาเทวดา แล้วนุ่งผ้าขาวสวมเสื้อครุยไปอาราธนาเทวดา ณ วันเดือน ๒ ขึ้น ๓ ค่ำ ๔ ค่ำ เพลาบ่าย ๕ ค่ำ เช้าทั้ง ๔ วัน มีบูชาจุฬาฐทิศทั้ง ๔ วัน

มีเกณฑ์ดอกไม้แขวน แต่เรียกชอบกลว่า แล้วให้เย็บพวงมะโหด ร้อยพู่กลิ่นส่งให้สนมพลเรือน ออกไปแขวนบูชาวันละ ๑๐๐ พวงทั้ง ๔ วัน และมีกำหนดอีกหนึ่งว่าให้ล้อมวังเหลาไม้กลัดเข้าไปส่ง ณ ทิมดาบชาววัง จะได้ส่งให้ท่านข้างในเย็บพวงมะโหด ๕๐ กำๆ ละ ๓๐ อัน ให้ส่งทั้ง ๓ วัน

เมื่อมีการต้องหล่อแก้อยู่เช่นนี้ ก็ต้องกินเวลาไปอีกช้านาน เป็นเวลาที่ได้ก่อพื้นพระอุโบสถและฐานพระขึ้นไปถึงที่ทับ กันกับการตกแต่ง คงจะได้ไปแล้วเสร็จยกพระพุทธรูปขึ้น ในที่ปีมะเส็งเอกศกใกล้เวลาเสด็จสวรรคต ได้เสด็จพระราชดำเนินไปในเวลาพระขึ้นตั้งที่ อันเป็นเป็นเวลาทรงพระประชวรมากอยู่แล้ว จึงรับสั่งว่า เพียงได้ยกพระขึ้นถึงที่สิ้นธุระเท่านั้นแล้ว เหตุด้วยทรงเป็นห่วงกลัวจะสวรรคตเสียก่อนที่ได้เชิญพระขึ้นที่ การแต่งพระศรีศากยมุนี และการก่อฐานพระคงจะได้ทรงเร่งรัดอยู่มาก ครั้นได้ทอดพระเนตรเห็นเชิญพระขึ้นที่ทันสมพระราชประสงค์ ทรงพระโสมนัสจึงทรงเปล่งอุทานว่า “ สิ้นธุระแล้ว ”

กรมหลวงนรินทรเทวี นำมากล่าวในที่นี้ด้วยความยินดี ต่อพระราชศรัทธาพระราชอุตสาหะ ทั้งหวังจะสรรเสริญพระราชสติสัมปชัญญะ ซึ่งทรงกำหนดทราบกาลของพระองค์ ถ้าหากว่าไม่ทรงประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ และมิได้ผูกพันพระราชหฤทัย ในการที่จะได้ทอดพระเนตรเห็นพระศรีศากยมุนีขึ้นตั้งที่ไม่ทรงเร่งรัดให้การนั้นสำเร็จไปพร้อมกัน ช้าไปอีกไม่เท่าใดก็จะไม่ได้ทอดพระเนตรเห็น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้ทรงสร้างปราสาทราชมนเทียรพระราชวัง พระนครและพระอารามใหญ่ อย่างวัดพระเชตุพนเป็นต้น มิได้ทอดทิ้งให้การนั้นติดค้างอยู่เลย ย่อมทำให้แล้วสำเร็จทันทอดพระเนตรทุกสิ่งทุกอย่าง เว้นไว้แต่วัดสุทัศนเทพวราราม ซึ่งได้ลงมือเมื่อปลายแผ่นดินเสียแล้ว จึงไม่ทรงหวังพระราชหฤทัยว่าจะได้ทอดพระเนตรการพระอารามนั้นแล้วสำเร็จ ทรงกำหนดพระราชหฤทัยไว้แต่เพียงให้ได้เห็นพระศรีศากยมุนีขึ้นตั้งที่ก็เป็นอันพอพระราชประสงค์ ความที่ทรงมุ่งหมายนั้นได้สำเร็จดังพระราชประสงค์ คำซึ่งรับสั่งว่าสิ้นธุระนั้น กรมหลวงนรินทรเทวีจึงถือว่าเป็นคำปลงพระชนมายุ ณ เดือน ๗ เดือน ๘ ทรงพระประชวรหนักลง ณ วัน ๕ฯ ๑๓ ๙ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๗๑ (พ.ศ. ๒๓๕๒) ปีมะเส็งเอกศก เวลา ๓ ยาม ๘ บาท เสด็จสวรรคต อยู่ในราชสมบัติ ๒๘ ปี

(สิ้นประวัติการก่อฤกษ์พระวิหารพระศรีศากยมุนีเพียงนี้)



พระอุโบสถ


พระอุโบสถ


พระอุโบสถ


พระอุโบสถ


ภายใน พระอุโบสถ

พระอุโบสถวัดสุทัศนเทพวราราม กรุเทพมหานคร ได้ชื่อว่าเป็นพระอุโบสถที่ใหญ่และยาวที่สุดในประเทศไทย ตั้งตระหง่านอยู่ใจกลางพระนคร กรุงรัตนโกสินทร์ สร้างเสร็จในสมัยรัชกาลที่ ๓ มีพระพุทธตรีโลกเชษฐ์เป็นพระประธาน และมีพระอสีติมหาสาวก รายล้อมด้านหน้าพระพักตร์ มีความกว้าง ๒๒.๖๐ เมตร ความยาว ๗๒.๒๕ เมตร มีเสาสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ ๖๘ ต้น บานหน้าต่าง ๒๖ ช่อง ฯลฯ ภายในวิจิตรไปด้วยภาพจิตรกรรมสวยงามเลิศล้ำ.. นับว่าเป็นพุทธสถาปัตยกรรมยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ที่ทรงคุณค่าของประเทศชาติอย่างยิ่ง


พระศรีศากยมุนี (พระประธานในพระวิหารหลวง)



พระศรีศากยมุนีเป็นพระประธาน ในพระวิหารหลวงวัดสุทัศนเทพวราราม เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ซึ่งหล่อด้วยสำริดที่ใหญ่กว่าพระพุทธรูปองค์อื่นๆ ที่ปรากฏในประเทศไทย ขนาดหน้าตักกว้าง ๖.๒๕ เมตร เดิมเป็นพระประธานอยู่ในพระวิหารหลวง วัดมหาธาตุ กลางเมืองสุโขทัย มีศิลาจารึกวัดป่ามะม่วงกล่าวอ้างถึงว่า พระมหาธรรมราชาลิไท กษัตริย์ราชวงศ์พระร่วง (พ.ศ.๑๘๙๐-๑๙๑๙ ปีครองราชย์) แห่งสุโขทัย โปรดให้หล่อ และทำการฉลองในปีพุทธศักราช ๑๙๐๔


พระพุทธตรีโลกเชษฐ์ (พระประธานในพระอุโบสถ)



พระพุทธตรีโลกเชษฐ์ พระประธานในพระอุโบสถ วัดสุทัศนเทพวราราม หล่อขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ขนาดหน้าตักกว้าง ๑๐ ศอก ๘ นิ้ว ปางมารวิชัย ประดิษฐานบนฐานชุกชีสูงปั้นลายปิดทองคำเปลว ประดับกระจกสี เบื้องหน้าพระพุทตรีโลกเชษฐ์ ประดิษฐานพระอสีติมหาสาวก ๘๐ องค์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นแทนพระศรีศาสดาที่อัญเชิญไปประดิษฐาน ณ วัดบวรนิเวศวรวิหาร
พระพุทธเสฏฐมุนี (พระประธานในศาลาการเปรียญ)


พระพุทธเสฏฐมุนี เป็นพระพุทธรูปที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ โปรดเกล้าฯ ให้หล่อขึ้นโดยใช้กลักฝิ่นโลหะ ที่ทำการปราบปรามยึดมาจากหัวเมืองต่างๆ มาหลอมหล่อเป็นพระพุทธรูป








เจ้าอาวาส



พระธรรมรัตนดิลก (เชิด จิตตคุตโต)
เจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร


.....
เรื่องและภาพจาก
http://www.dhammathai.org/watthai/bangkok/watsutat.php



Logged
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
*****
Offline Offline

Posts: 8,556


View Profile
« Reply #3 on: 22 September 2021, 20:41:07 »

วัดสุทัศน์ศูนย์กลางของเทพนคร


วัดสุทัศน์ศูนย์กลางของเทพนคร   
สยามรัฐออนไลน์  19 เมษายน 2562 09:01 น.  วัฒนธรรม




ลานบ้านกลางเมือง/บูรพา โชติช่วง

วัดสุทัศน์
ศูนย์กลางของเทพนคร

วัดสุทัศนเทพวราราม พระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร เป็น 1 ใน 6 พระอารามหลวงขนาดใหญ่ในประเทศไทย
วัดสุทัศน์ สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระอารามกลางพระนคร สำหรับเป็นที่ประดิษฐานพระศรีศากยมุนี (หลวงพ่อโต) อัญเชิญมาจากวัดมหาธาตุ เมืองเก่าสุโขทัย เป็นวัดที่มีการวางแผนผังเขตพุทธาวาสจำลองภูมิจักรวาลตามคติมณฑลแบบพุทธ รวมทั้งบริเวณลานหน้าวัดมีการเชื่อมต่อกับเสาชิงช้าและที่ตั้งเทวสถานโบสถ์พราหมณ์ เป็นความเชื่อตามศาสนากัน อยู่ในพื้นที่เดียวกันอย่างกลมกลืน จึงเป็นศูนย์รวมศาสนสถานทั้งพุทธและพราหมณ์กลางพระนคร และชุมชนยังคงบรรยากาศดั้งเดิมเปลี่ยนแปลงไม่มากนัก

จากข้อมูล “จิตรกรรมรามเกียรติ์ วัดสุทัศนเทพนคร” กล่าวเมื่อครั้งสร้างพระอาราม พระวิหารเป็นที่ประดิษฐานพระศรีศากยมุนี รัชกาลที่ 1 ยังมิได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานนาม มีเพียงปรากฏนามวัดในหมายรับสั่งพระราชพิธีขุดรากพระวิหาร เมื่อเดือน 3 พุทธศักราช 2350 ว่า “วัดทำใหม่ ณ เสาชิงช้า” ด้วยบริเวณเสาชิงช้าเป็นที่ตั้งของเทวสถานโบสถ์พราหมณ์ มีเสาชิงช้าเป็นศูนย์กลางของพระนคร สำหรับรับและส่งเทพเจ้าในพระราชพิธีตรีปวายและตรียัมปวาย



ต่อมาปรากฏนามพระอารามในหมายกำหนดการหล่อแก้พระศรีศากยมุนี เมื่อเดือนยี่ พุทธศักราช 2351 ว่า “วัดเสาชิงช้า” ครั้นถึงเดือน 6 ปีเดียวกัน ปรากฏนามพระอารามในหมายกำหนดการก่อรากพระวิหารว่า “วัดมหาสุทธาวาส” การก่อสร้างพระอารามยังไม่แล้วเสร็จ รัชกาลที่ 1 เสด็จสวรรคต ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) โปรดเกล้าฯ ให้สร้างต่อ และทรงจำหลักบานประตูพระวิหารด้วยพระองค์เอง



การก่อสร้างพระอารามมาเสร็จบริบูรณ์ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) โปรดเกล้าฯ ให้ผูกพัทธสีมาและสมโภชพระอารามในปี พ.ศ. 2390 และพระราชทานนามพระอารามว่า “วัดสุทัศนเทพธาราม” ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ทรงแปลงนามพระอารามเป็น “วัดสุทัศนเทพวราราม” และชื่อ “พระศรีศากยมุณี” เป็นชื่อพระราชทาน ทั้งทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างมุขหน้ามุขหลังพระวิหารหลวงเพิ่มขึ้น “หน้าบันประธานพระวิหารหลวงที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 2 จำหลักไม้เป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ สอดคล้องกับนามของวัดว่า “สุทัศนเทพ” อันเป็นนครของพระอินทร์ และสอดคล้องกับสร้อยนามพระนคร “บวรรัตนโกสินทร์” คือเมืองที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต อันเป็นแก้วของพระอินทร์”

เกี่ยวกับ “สุทัศนเทพนคร” นี้ เป็นไปตามคติไตรภูมิที่ปรากฏในไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา เป็นวัดศูนย์กลางพระนคร จึงถือเอาคติของสุทัศนเทพนครซึ่งตั้งอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เป็นแบบแผนในการก่อสร้าง มีพระวิหารหลวงที่ประดิษฐานพระศรีศากยมุนีเป็นศูนย์กลางเปรียบเสมือนไพชยนตวิมาน



พระวิหารเป็นสถาปัตยกรรมไทยที่มีขนาดใหญ่โต ก่อสร้างด้วยฝีมือช่างหลวง มีความวิจิตรงดงาม ภายในมีภาพจิตรกรรมพุทธประวัติ และเรื่องในวรรณคดี ด้านหน้าพระวิหารมีสัตตมหาสถานหรือสัญลักษณ์แสดงสถานที่พระพุทธองค์ประทับภายหลังการตรัสรู้ 7 แห่ง บานประตูหน้าต่างด้านนอกเขียนลายรดน้ำรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ภาพเทวดาทวารบาล ด้านในเขียนจิตรกรรมรูปเทพยดา เช่น พระอิศวร พระนารายณ์ พระคเณศ พระเทวกรรม อีกเรื่องราวในไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา นารายณ์ 20 ปาง รวมทั้งเรื่องรามเกียรติ์ อยู่ในกรอบเหนือช่องประตูหน้าต่างในพระอุโบสถ จำนวนทั้งสิ้น 90 ภาพ ใส่กรอบไม้ทรงฝรั่ง (ช่องละ 3 ภาพ เขียนลงบนกระดาษด้วยเทคนิคสีฝุ่น ตามคติศิลปะไทยแบบประเพณี) นำมาจากบทละครพระราชนิพนธ์ รัชกาลที่ 1 ที่ชุกชีหรือฐานพระพุทธรูปพระศรีศากยมุนี (หลวงพ่อโต) ประดิษฐานพระบรมราชสรีรางคาร รัชกาลที่ 8

ด้วยความสำคัญของสถานที่ตั้งและคติความเชื่อทางศาสนา วัดสุทัศนเทพวรารามจึงเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมสำคัญทางศาสนาของบ้านเมือง ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 รัชกาลที่ 10 วัดสุทัศน์จึงเป็นสถานที่ทำพิธีเสกน้ำอภิเษกรวม 76 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร ประกาศชุมนุมเทวดา ทำน้ำเทพมนตร์ ทำน้ำพระพุทธมนต์ หลังจากเสร็จพิธีเสกน้ำอภิเษกรวมแล้วแห่เชิญไปยังพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) พระบรมมหาราชวัง เพื่อประกอบการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก


.......
เรื่องและภาพจาก
https://siamrath.co.th/n/75419



Logged
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
*****
Offline Offline

Posts: 8,556


View Profile
« Reply #4 on: 22 September 2021, 20:49:23 »

วัดสุทัศนเทพวราราม


[CR] สองคนรวมกันแล้วเกินร้อย ตระเวนแหล่งศิลปวัฒนธรรมและสัมผัสวิถีไทย ตอนที่ 65 วัดสุทัศนเทพวราราม

บันทึกนักเดินทางเที่ยววัดเที่ยวไทย
splendour
5 สิงหาคม 2557 เวลา 09:55 น


เราสองคนมีโครงการว่าเสาร์อาทิตย์จะไปเดินเที่ยวในบริเวณกรุงเทพและปริมณฑลกันเป็นประจำ โดยตกลงกันว่า จะใช้บริการขนส่งสาธารณะโดยเฉพาะทางเรือเป็นหลัก และเดินเท้าตระเวนกันไปในที่ต่างๆ ผมมีความตั้งใจหลายปีมาแล้วว่าอยากจะตระเวนชมกรุงเทพที่คนจากทั่วทุกมุมโลกหลายล้านคนเดินทางมาท่องเที่ยวทุกปี ผมเองได้พบกับชาวต่างชาติหลายคนที่มีความสนใจและเข้าใจในศิลปวัฒนธรรมไทยอย่างน่าทึ่ง จนนึกละอายใจว่าเป็นคนไทยแต่กลับรู้เรื่องศิลปวัฒนธรรมไทยน้อยกว่าชาวต่างชาติเสียอีก นี่คืออีกแรงบันดาลใจหนึ่งที่ทำให้เกิดโครงการนี้

สถานที่แรกๆ ที่เป็นแหล่งรวมของศิลปวัฒนธรรมที่เข้าถึงได้ง่ายคือวัดวาอารามต่างๆ
เราจึงตั้งใจว่าจะตระเวนไปไหว้พระตามวัดต่างๆและสัมผัสกับวิถีชุมชนรอบวัดนั้นๆด้วย

ตอนที่ 1 วัดอรุณราชวราราม http://www.pantip.com/cafe/blueplanet/topic/E10951296/E10951296.html
ตอนที่ 2 วัดกัลยาณมิตรและชุมชนกุฎีจีน http://www.pantip.com/cafe/blueplanet/topic/E10962075/E10962075.html
ตอนที่ 3 วัดราชโอรสาราม http://www.pantip.com/cafe/blueplanet/topic/E10979288/E10979288.html
ตอนที่ 4 วัดนางนองและวัดหนัง http://www.pantip.com/cafe/blueplanet/topic/E10995963/E10995963.html
ตอนที่ 5 วัดราชบพิธ http://www.pantip.com/cafe/blueplanet/topic/E11017370/E11017370.html
ตอนที่ 6 วัดราชประดิษฐ์ วัดมหรรณ ศาลหลักเมือง http://www.pantip.com/cafe/blueplanet/topic/E11040059/E11040059.html
ตอนที่ 7 ชุมชนวัดอนงคาราม http://www.pantip.com/cafe/blueplanet/topic/E11052080/E11052080.html
ตอนที่ 8 หนีห่าวอัมพวา http://www.pantip.com/cafe/blueplanet/topic/E11082056/E11082056.html
ตอนที่ 9 วัดเทพธิดาราม วัดราชนัดดา http://www.pantip.com/cafe/blueplanet/topic/E11104014/E11104014.html
ตอนที่ 10 วัดโพธิ์แมนคุณาราม http://www.pantip.com/cafe/blueplanet/topic/E11132829/E11132829.html
ตอนที่ 11วัดเฉลิมพระเกียรติวรวิหารและวัดสังฆทาน http://www.pantip.com/cafe/blueplanet/topic/E11169774/E11169774.html
ตอนที่ 12 วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร http://www.pantip.com/cafe/blueplanet/topic/E11207018/E11207018.html
ตอนที่ 13 อยุธยาที่คิดถึง http://www.pantip.com/cafe/blueplanet/topic/E11250534/E11250534.html
ตอนที่ 14 วัดโสมนัสราชวรวิหาร http://www.pantip.com/cafe/blueplanet/topic/E11372753/E11372753.html
ตอนที่ 15 วัดมกุฎกษัตริยารามราชวรวิหาร http://www.pantip.com/cafe/blueplanet/topic/E11417095/E11417095.html
ตอนที่ 16 วัดยานนาวา http://www.pantip.com/cafe/blueplanet/topic/E11443162/E11443162.html
ตอนที่ 17 วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร http://www.pantip.com/cafe/blueplanet/topic/E11474443/E11474443.html
ตอนที่ 18 วัดสวนพลู http://www.pantip.com/cafe/blueplanet/topic/E11487931/E11487931.html
ตอนที่ 19 วัดทองนพคุณ วัดทองธรรมชาติและจีจินเกาะ http://www.pantip.com/cafe/blueplanet/topic/E11515443/E11515443.html
ตอนที่ 20 วัดเทพศิรินทราวาส ราชวรวิหาร ตลาดนางเลิ้ง http://www.pantip.com/cafe/blueplanet/topic/E11545663/E11545663.html
ตอนที่ 21 วัดจักรวรรดิ์ วัดบพิตรพิมุข วัดกันมาตุฯ http://www.pantip.com/cafe/blueplanet/topic/E11578144/E11578144.html
ตอนที่ 22 วัดบวรนิเวศวิหาร http://www.pantip.com/cafe/blueplanet/topic/E11647938/E11647938.html
ตอนที่ 23 วัดสามพระยาวรวิหาร http://www.pantip.com/cafe/blueplanet/topic/E11680041/E11680041.html
ตอนที่ 24 มัสยิดทรงไทยในชุมชนกุฎีจีน มังกรวัดอรุณ http://www.pantip.com/cafe/blueplanet/topic/E11709472/E11709472.html
ตอนที่ 25 วัดพระสมุทรเจดีย์ http://www.pantip.com/cafe/blueplanet/topic/E11745695/E11745695.html
ตอนที่ 26 ป้อมพระจุลฯ วัดแหลมฟ้าผ่า http://www.pantip.com/cafe/blueplanet/topic/E11772471/E11772471.html
ตอนที่ 27 วัดสาขลา http://www.pantip.com/cafe/blueplanet/topic/E11804626/E11804626.html
ตอนที่ 28 พระราชวังพญาไท http://www.pantip.com/cafe/blueplanet/topic/E11834981/E11834981.html
ตอนที่ 29 วัดคู่สร้าง วัดคลองพระราม  http://www.pantip.com/cafe/blueplanet/topic/E11865443/E11865443.html
ตอนที่ 30 วัดบางกระดี่ http://www.pantip.com/cafe/blueplanet/topic/E11898253/E11898253.html
ตอนที่ 31 วัดบางน้ำผึ้งนอก http://www.pantip.com/cafe/blueplanet/topic/E11921311/E11921311.html
ตอนที่ 32 วัดอินทรวิหาร http://www.pantip.com/cafe/blueplanet/topic/E11954050/E11954050.html
ตอนที่ 33  ไชยา http://www.pantip.com/cafe/blueplanet/topic/E12101270/E12101270.html
ตอนที่ 34 พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไชยา http://www.pantip.com/cafe/blueplanet/topic/E12132482/E12132482.html#85
ตอนที่ 35 วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร นครศรีธรรมราช http://www.pantip.com/cafe/blueplanet/topic/E12155370/E12155370.html
ตอนที่ 36 พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช http://www.pantip.com/cafe/blueplanet/topic/E12181091/E12181091.html
ตอนที่ 37 วัดสวนหลวง วัดท้าวโคตร บ้านหนังตะลุง http://www.pantip.com/cafe/blueplanet/topic/E12220393/E12220393.html
ตอนที่ 38 พิพิธภัณฑ์เมือง วัดวังตะวันตก เจดีย์ยักษ์ http://www.pantip.com/cafe/blueplanet/topic/E12252321/E12252321.html
ตอนที่ 39 ปัตตานี นราธิวาส http://www.pantip.com/cafe/blueplanet/topic/E12286222/E12286222.html
ตอนที่ 40 มัสยิดไม้อายุกว่า 300 ปีในมาเลเซีย http://www.pantip.com/cafe/blueplanet/topic/E12317278/E12317278.html
ตอนที่ 41 วัดชลธาราสิงเห เรือกอและ มัสยิดไม้ 300 ปี http://www.pantip.com/cafe/blueplanet/topic/E12348149/E12348149.html
ตอนที่ 42 มัสยิดทรงไทย ชมเมืองเก่าสงขลา http://www.pantip.com/cafe/blueplanet/topic/E12378958/E12378958.html
ตอนที่ 43 พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร http://www.pantip.com/cafe/blueplanet/topic/E12410753/E12410753.html
ตอนที่ 44 พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ภาค 2 http://www.pantip.com/cafe/blueplanet/topic/E12443519/E12443519.html
ตอนที่ 45 พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ภาค 3 http://www.pantip.com/cafe/blueplanet/topic/E12474357/E12474357.html
ตอนที่ 46 วัดนิเวศธรรมประวัติราชวรวิหาร http://www.pantip.com/cafe/blueplanet/topic/E12506294/E12506294.html
ตอนที่ 47 พระราชวังบางปะอิน http://www.pantip.com/cafe/blueplanet/topic/E12610783/E12610783.html
ตอนที่ 48 วัดไลย์ ลพบุรี http://www.pantip.com/cafe/blueplanet/topic/E12641876/E12641876.html
ตอนที่ 49 วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ พระปรางค์สามยอด ลพบุรี http://www.pantip.com/cafe/blueplanet/topic/E12693616/E12693616.html
ตอนที่ 50 พระนารายณ์ราชนิเวศน์ ลพบุรี http://www.pantip.com/cafe/blueplanet/topic/E12732168/E12732168.html
ตอนที่ 51 วัดสุวรรณดาราราม http://www.pantip.com/cafe/blueplanet/topic/E12786703/E12786703.html
ตอนที่ 52 พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร 4 http://2g.pantip.com/cafe/blueplanet/topic/E13060941/E13060941.html
ตอนที่ 53 วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม http://pantip.com/topic/30097164
ตอนที่ 54 วัดชมภูเวก จิตรกรรมฝาผนังอายุกว่า 300 ปี http://pantip.com/topic/30150715
ตอนที่ 55 วัดโพธิ์บางโอ วัดชลอ วัดปราสาท ที่บางกรวย http://pantip.com/topic/30217245
ตอนที่ 56 วัดชุมพลนิกายาราม วัดกษัตริยาราม อยุธยา http://pantip.com/topic/30318764
ตอนที่ 57 วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ราชวรวิหาร http://pantip.com/topic/30409930
ตอนที่ 58 วัดราชาธิวาสวิหาร http://pantip.com/topic/30498414
ตอนที่ 59 วัดบางกะพ้อม อัมพวา http://pantip.com/topic/30616984
ตอนที่ 60 สองพิพิธภัณฑ์ ณ ปากคลองบางกอกน้อย http://pantip.com/topic/30853888
ตอนที่ 61 ล่องใต้ บ้านกรูด เขาหลัก http://pantip.com/topic/32211728
ตอนที่ 62 ล่องใต้ ภูเก็ต http://pantip.com/topic/32233750
ตอนที่ 63 ล่องใต้ ตรัง http://pantip.com/topic/32269899
ตอนที่ 64 ล่องใต้ สงขลา http://pantip.com/topic/32357142

ไปวัดสุทัศน์ครั้งสุดท้ายก็เมื่อสามปีที่แล้ว เข้าพรรษาที่ผ่านมาเลยไปเก็บภาพและทบทวนความจำสภาพของวัดอีกครั้ง
วัดสุทัศน์มีเรื่องราวประวัติความเป็นมาน่าสนใจมาก เนื้อหา คำบรรยายอาจจะยาวหน่อยนะครับ




สัญลักษณ์ของวัดสุทัศน์อันเป็นที่รู้จักกันดี คือ เสาชิงช้าสูงใหญ่สีแดงที่ลานกว้างหน้าวัดนั่นเอง

เสาชิงช้า สร้างขึ้นครั้งแรกในปี 2327 และถือเป็นโบราณสถานของชาติตั้งแต่ปี พ.ศ.2492 สูงประมาณ 21 เมตร

เมื่อสร้างกรุงเทพฯ เสร็จแล้ว รัชกาลที่ 1 ได้โปรดให้มีการสร้างโบสถ์พราหมณ์ และเสาชิงช้า ตามความเชื่อแบบพราหมณ์ ในบริเวณริมถนนบำรุงเมือง ตรงทางที่จะเลี้ยวไปถนนดินสอ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2327

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้ย้ายมาตั้งที่ถนนบำรุงเมืองในตำแหน่งปัจจุบันนี้ และมีการเปลี่ยนเสาใหม่ 3 ครั้งคือ ในสมัยรัชกาลที่ 6 โดยบริษัท หลุยส์ ที.เลียวโนแวนส์ ซึ่งเป็นบริษัทค้าไม้ ได้อุทิศซุงไม้สักเพื่อสร้างเสาชิงช้าใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2463 มีการเปลี่ยนเสาใหม่อีกครั้งในปี พ.ศ. 2513 โดยยังคงลักษณะเดิมไว้ และเปลี่ยนเสาใหม่ครั้งล่าสุดในปี 2549 โดยใช้ไม้สักทอง จากจังหวัดแพร่

ในอดีตเสาชิงช้านี้เคยใช้ประกอบพิธีตรียัมปวาย หรือพิธีโล้ชิงช้าในศาสนาพราหมณ์ เพื่อถวายต่อองค์พระอิศวร ปีละครั้ง
ต่อมาพระราชพิธีนี้ได้ถูกยกเลิกไปในสมัยรัชกาลที่ 7 เมื่อปี พ.ศ. 2478




มองจากลานเสาชิงช้า จะเห็นพระวิหารหลวงสูงเด่นเป็นสง่า




วัดสุทัศนเทพวราราม สร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช แต่เดิมพระราชทานนามว่า วัดมหาสุทธาวาส มีความหมายว่า ความวิจิตรงดงามเหมือนสวรรค์ชั้นพรหมโลกโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระวิหารหลวงขึ้นก่อนเพื่อประดิษฐานพระศรีศากยมุนี ซึ่งอัญเชิญมาจากพระวิหารหลวงวัดมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัย เป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์พระร่วง ครั้นเวลาผ่านไปพระวิหารหลวงของวัดหักพังลง ทำให้พระพุทธรูปต้องตากแดด กรำฝน จนกระทั่งมาในสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ไปพบเข้าก็ทรงมีพระราชดำรัสให้อัญเชิญเข้ามายังพระวิหารหลวงของวัดสุทัศน์




ต่อมาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สร้างพระอุโบสถและหล่อพระประธานในพระอุโบสถขึ้นใหม่
สร้างศาลาการเปรียญ พระระเบียงกุฏิเสนาสนะ สัตตมหาสถาน และพระราชทานนามวัดใหม่ว่า วัดสุทัศนเทพวราราม
มีความหมายว่า สุทัสสนนครบนเขาพระสุเมรุ ศูนย์กลางของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์อันเป็นที่ประทับของพระอินทร์




พระวิหารหลวง มีความงามตามแบบสถาปัตยกรรมไทยสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยถ่ายทอดมาจาก
พระวิหารวัดมงคลบพิตร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนขนาด 5 ห้อง กว้าง 23.84 เมตร ยาว 26.25 เมตร
มีศาลาวิหารทิศเป็นศาลาทรงไทย 4 หลัง อยู่บนพื้นไพทีรอบมุมพระวิหารทั้ง 4 ทิศ เป็นศาลาโถง
เปรียบได้กับสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา ซึ่งเป็นที่สถิตย์ของท้าวจตุโลกบาลที่ดูแลทิศทั้ง 4
คอยสอดส่องและบันทึกความประพฤติของมนุษย์




เก๋งจีนหน้าพระวิหาร
เครื่องศิลาสลักจีนเก๋ง ประดับอยู่ที่ลานประทักษิณชั้นล่าง ด้านหน้า มีลักษณะเป็นปราสาทแบบจีน
ตั้งอยู่บนตั่งขาสิงห์ ล้อมรอบด้วยตุ๊กตารูปสัตว์ ฉากหลังเป็นเขามอ เปรียบเป็นวิมานไพชยนต์ของพระอินทร์
แต่เดิมเคยประดิษฐานอยู่หน้าพระประธาน แต่ได้ย้ายออกมาในสมัยรัชกาลที่ 8 ด้วยเห็นว่าบดบังความงามขององค์พระ




หลังคาพระวิหารทรงไทยลดระดับ 2 ชั้น มุงกระเบื้องเคลือบสี ประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ มีหลังคามุข ทางด้านหน้าและหลัง
และมีหลังคาปีกนก ลาดลงจากหลังคาประธานข้างละ 3 ตับ หลังคามุขทางด้านหน้าและด้านหลังมีหลังคาปีกนกลาดลงข้างละ 2 ตับ
มีเสารับมุขเป็นเสาสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง จำนวน 12 ต้น ทั้งสองด้านรวม 24 ต้น และเสานาง เรียงด้านข้าง ด้านละ 6 ต้น รวมเสาทั้งหมด 36 ต้น




รอบพระวิหารหลวงจะมีเจดีย์ศิลปะแบบจีนรายล้อมพระวิหารหลวง 28 องค์ เรียกว่า ถะรายพระวิหาร 
คำว่า ถะ เป็นเครื่องศิลาแบบจีนรูปแบบคล้ายอาคารหกเหลี่ยมซ้อนกันขึ้นไป 6 ชั้น แต่ละชั้นเป็นช่องโปร่งเป็นเรือนไฟใช้ตามประทีป
ถะรายพระวิหารมี 28 ถะ ตั้งอยู่บนกำแพงแก้วรอบพระวิหาร เปรียบเสมือนเป็นวิมานของกามภูมิเทวโลกที่อยู่ห้อมล้อมตามแนวแกนกลางของเขาพระสุเมรุ




ด้านหลังของพระวิหารหลวง



เขาพระสุเมรุและป่าหิมพานต์
ตั้งอยู่บนลานประทักษิณพระวิหารหลวงชั้นล่าง ด้านหลัง เป็นภูเขาที่สลักจากศิลาจีน มีรูปฤาษีและสัตว์ที่สลักศิลาประกอบอยู่โดยรอบ
สมมุติเป็นเขาพระสุเมรุที่เป็นศูนย์กลางจักรวาล เดิมเป็นฉากสำหรับแสดงโขนกลางแปลงในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2
เมื่อพระองค์สวรรคตแล้ว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ได้ถวายพระอารามแห่งนี้เพื่อเทียบให้เป็นคติแก่จักรวาลกับพระวิหารหลวง




มุขเด็จหรือมุขที่ยื่นออกมาเป็นส่วนที่สร้างเพิ่มเติมขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4  หน้าบันไม้สักลงรักปิดทองเป็นรูปพระนารายณ์ทรงสุบรรณ
ซึ่งก็เป็นไปตามคติทั่วไปที่วัดของพระเจ้าแผ่นดินที่ถือเสมือนว่าเป็นองค์นารายณ์อวตาร มักจะมีหน้าบันลักษณะนี้




หน้าบันของพระวิหารหลวงเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ โดยนัยก็คือเปรียบตัวพระวิหารนี้เป็นเขาพระสุเมรุ ซึ่งเป็นที่สถิตของพระอินทร์  และมีความเชื่ออีกด้วยว่าเขาพระสุเมรุนั้นเป็นจุดศูนย์กลางของจักรวาล อันหมายถึงความสำคัญและยิ่งใหญ่

การสร้างวัดสุทัศน์ให้มีสัญลักษณ์เปรียบเสมือนเขาพระสุเมรุ ไม่ว่าจะเป็นหน้าบันรูปพระอินทร์ ชื่อวัดที่ตั้งตามชื่อเมือง สุทัสสนะนคร อันเป็นเมืองที่พระอินทร์ปกครอง รวมไปถึงทำเลที่ตั้งวัดสุทัศน์นี้ก็เลือกมาสร้างในตำแหน่งกึ่งกลางของอาณาบริเวณกรุงเทพในยุคนั้น ล้วนแต่จะสื่อให้เห็นความยิ่งใหญ่ของราชธานีแห่งนี้




หน้าบันศาลาวิหารทิศแกะสลักเป็นลายดอกไม้ ประดับด้วยกระจังฐานพระปิดทองประดับกระจก




ด้านหน้าและด้านหลังพระวิหารหลวงมีประตูด้านละ 3 ประตู เป็นประตูไม้แกะสลัก ลวดลายเหล่านี้เป็นฝีพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ที่ทรงกำหนดลักษณะลายแบบวิธีการแกะ และเริ่มแกะด้วยพระองค์ก่อนแล้วโปรดเกล้าฯ ให้ช่างฝีมือแกะต่อเป็นบานประตูที่งดงามหาที่เปรียบมิได้
น่าเสียดายที่ปัจจุบันโดนไฟไหม้บางส่วนและเก็บรักษาอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร ประตูบานกลางเปิดไว้ แต่ไม่อนุญาตให้เข้าออกทางประตูนี้



สามารถเข้าไปภายในพระวิหารหลวงได้ทางประตูด้านข้างทั้งสองบาน



บานประตูเป็นไม้แกะสลักลายลึก เป็นรูปพฤกษามีกิ่งก้านใบและดอกกระหวัดเกาะเกี่ยวอ่อนช้อยงดงาม มีสัตว์เกาะอยู่เหมือนธรรมชาติ




ประตูบานที่โดนไฟไหม้บางส่วน ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร ลวดลายเหล่านี้เป็นฝีพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ที่ทรงกำหนดลักษณะลายแบบวิธีการแกะ และเริ่มแกะด้วยพระองค์ก่อนแล้วโปรดเกล้าฯ ให้ช่างฝีมือแกะต่อเป็นบานประตูที่งดงามหาที่เปรียบมิได้ เป็นไม้กระดานแผ่นเดียวบานหนา 16 เซ็นติเมตร หน้ากว้าง 1.30 เมตร ยาวหรือสูง 5.64 เมตร สลักลึกลงไป 14 เซ็นติเมตร



ลวดลายอันละเอียด สวยงาม ของประตูบานที่ยังสมบูรณ์อยู่



บานที่ถูกไฟทำลายไปบางส่วน



ประตูบานกลางด้านหลังพระวิหารหลวง บานประตูไม้ลงรักปิดทองเป็นลายพฤกษา ไม่ใช่ไม้แกะสลักอยู่เพียงบานเดียว
ผมคิดว่าน่าจะเป็นบานประตูที่ทำทดแทนบานที่ถูกไฟไหม้



กรอบหน้าต่างพระวิหารหลวง เป็นปูนปั้นลวดลายไทย ประดับกระจกสีอย่างวิจิตรบรรจง



บานหน้าต่าง ประดับด้วยกระจกสีและทำลายนูนต่ำปิดทองเป็นรูปต้นไม้และสรรพสัตว์



พระวิหารหลวงเป็นแบบมีเสาสี่เหลี่ยมภายใน ภาพนี้ถ่ายเมื่อวันเข้าพรรษา มีญาติโยมมาทำบุญกันมากมาย




พระวิหารหลวงเป็นแบบมีเสาสี่เหลี่ยมภายใน ภาพนี้ถ่ายเมื่อวันเข้าพรรษา มีญาติโยมมาทำบุญกันมากมาย



ภายในพระวิหารหลวง มีพระศรีศากยมุนีประดิษฐานเป็นประธานอยู่ เป็นพระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัย ที่ใหญ่กว่าพระพุทธรูปซึ่งหล่อด้วยสำริดองค์อื่นๆ ในประเทศไทย ขนาดหน้าตักกว้าง 6.25 เมตร รัชกาลที่ 1 โปรดให้อัญเชิญพระศรีศากยมุนี ลงมาจากวิหารหลวง วัดมหาธาตุ สุโขทัย ซึ่งได้สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยพระมหาธรรมราชาลิไทยหรือราวหกร้อยกว่าปีมาแล้ว ด้วยมีพระราชประสงค์จะให้มีวัดใหญ่เช่นวัดพนัญเชิงที่อยุธยาไว้ในพระนคร

เมื่อเชิญองค์พระลงมาถึงที่ริมท่าช้างวังหลวงแล้ว ไม่สามารถเชิญเข้าเมืองมาได้เพราะองค์พระใหญ่คับประตู รัชกาลที่ 1 ต้องโปรดให้รื้อประตูเมืองลง ท่าที่เชิญพระขึ้นมานี้ในสมัยนั้นเรียกว่าท่าพระ แต่ต่อมาก็เรียกเป็นท่าช้างวังหลวงอย่างเดิม เพราะผู้คนต่อๆ มาไม่เห็นองค์พระ เห็นแต่ช้างในวังหลวงลงมาอาบน้ำที่ท่านี้


บริเวณใต้ฐานขององค์พระศรีศากยมุนี ได้ประดิษฐานพระบรมสรีรางคารของรัชกาลที่ 8 ไว้ด้วย




เพราะพระวิหารหลวงมีขนาดใหญ่โตมาก ทำให้จิตรกรรมฝาผนัง ดูยิ่งใหญ่มโหฬารมาก ภาพที่เขียนเป็นเรื่องอดีตพระพุทธเจ้า 27 พระองค์ ส่วนบนเสานั้นเขียนเป็นโลกสัณฐานตามแนวไตรภูมิ ที่ประกอบด้วยป่า ทะเล มนุษย์ กินนร กินนรี เทวดา นรก สวรรค์




ที่ฐานชุกชีด้านหลังพระประธาน มีงานศิลป์อีกอย่างที่น่าชมคือ แผ่นศิลาสลักสมัยทวาราวดี



สลักเป็นพุทธประวัติตอนแสดงยมกปาฏิหาริย์ กับตอนโปรดพุทธมารดา ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์




ตรงมุมซ้ายหน้าของพระวิหารหลวง มีพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 8 ประดิษฐานอยู่ พระบรมรูปหล่อด้วยสำริด ประทับยืน ขนาดเท่าพระองค์จริง




วัดสุทัศนเทพวรารามถือกันว่าเป็นพระอารามประจำรัชกาลที่ 8 เพราะทรงมีความเกี่ยวข้องกับวัดนี้หลายอย่าง เมื่อคราวเสด็จนิวัติพระนครครั้งแรก ได้เสด็จมาที่วัดนี้และทรงพระราชปรารภว่าสถานที่วัดสุทัศน์ฯ ร่มเย็นน่าอยู่ และเมื่อทรงประกอบพิธีแสดงพระองค์เป็นพุทธมามกะ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สกลมหาสังฆปรินายก (แพ ติสสเทโว) ทรงเป็นพุทธมามกจารย์และถวายโอวาท



พระวิหารคด (พระระเบียง)
สร้างล้อมพระวิหารหลวงทั้ง 4 ด้าน ความกว้าง 89.60 เมตร ความยาว 98.87 เมตร



ด้านในพระวิหารคดมีเสารายรับหลังคาเฉลียงลดเป็นห้อง ๆ เสาสี่เหลี่ยม เพดานทาสีแดงมีลายดาวทองล้อมเดือนทุกห้อง ขื่อทาสีเขียวปิดลายทอง




ผนังด้านหลังพระพุทธรูปเป็นภาพลายดอกมณฑารพ ซึ่งเป็นดอกไม้บนสวรรค์ที่โปรยปรายลงมาบูชาพระพุทธเจ้า




บริเวณพระวิหารคดเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทองปางสมาธิ 156 องค์
ยกเว้นบริเวณมุมพระวิหารคดทั้ง 4 มุม ที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย




ระหว่างกลางพระระเบียงคดแต่ละด้าน มีประตูซุ้มจตุรมุข




หน้าบันไม้แกะจำหลักลายปิดทองประดับกระจกสี เป็นรูปพระนารายณ์ทรงสุบรรณ พื้นหลังเป็นลายกนกก้านออกช่อหางโต




ประตูเป็นบานไม้ มีลายเขียนสีรูปขุนกระบี่ตัวละครในเรื่องรามเกียรติ์ขี่หลังวานร พื้นหลังเป็นลายต้นและดอกพุดตานหลากสี




ออกจากพระวิหารหลวงเพื่อไปชมสัตตมหาสถานที่ตั้งอยู่บริเวณกำแพงวัดด้านทิศตะวันออกติดกับถนนอุณากรรณ เรียงเป็นแถวแนวทิศเหนือ ทิศใต้

สัตตมหาสถานในศาสนาพุทธ หมายถึงสถานที่สำคัญ 7 แห่งที่พระพุทธเจ้าเสด็จประทับเสวยวิมุตติสุข
หลังจากได้ทรงตรัสรู้ธรรมแล้วเป็นเวลาแห่งละ 1 สัปดาห์
สัตตมหาสถานในวัดสุทัศนเทพวราราม หมายถึง สถานที่สำคัญ 7 แห่ง รัชกาลที่ 3โปรดเกล้าฯ ให้สร้างจำลองขึ้นแทนพระธาตุเจดีย์
ดังนั้นจึงไม่ต้องมองหาพระเจดีย์ในวัดสุทัศน์ เพราะไม่มีแม้สักองค์เดียว

สัตตมหาสถาน ประกอบไปด้วย
1.    ต้นโพธิ์ลังกา (สมมุติเป็นต้นมหาโพธิ์ที่ตรัสรู้)
2.    เก๋งจีน ประดิษฐานพระพุทธรูปปางถวายเนตร (สมมุติเป็นอนินมิสเจดีย์ที่ประทับยืนทอดพระเนตรดูต้นมหาโพธิ์)
3.    แผ่นศิลาปูนบนฐานสี่เหลี่ยมสูง (สมมุติเป็นที่รัตนจงกรมเจดีย์)
4.    ศาลาศิลาทรงโรงแบบจีน (สมมุติเป็นเรือนแก้วหรือรัตนฆรเจดีย์)
5.    ต้นไทรบนฐานสี่เหลี่ยมก่ออิฐถือปูน ประดิษฐานพระพุทธรูปปางประทับนั่งยกพระหัตถ์ขวาห้ามธิดาพญามาร (สมมุติเป็นต้นอชปาลนิโครธ)
6.    ต้นจิกบนฐานสี่เหลี่ยมก่ออิฐถือปูน ประดิษฐานพระพุทธรูปปางนาคปรก (สมมุติต้นจิกเป็นต้นมุจลินท์)
7.    ต้นเกดบนฐานสี่เหลี่ยมก่ออิฐถือปูน ประดิษฐานพระพุทธรูปปางรับผลสมอนั่งสมาธิ (ต้นเกดนี้มีคุณสมบัติเป็นต้นไม้ราชายตนะ)

ใกล้มุมกำแพง มีพระพุทธรูปปางบำเพ็ญทุกรกิริยาและปางฉันสมอประดิษฐานอยู่ก่อนถึงสัตตมหาสถาน
น่าจะสื่อความหมายถึงความพยายามค้นหาทางพ้นทุกข์ด้วยวิธีการต่างๆ ของพระพุทธองค์ จนตรัสรู้เห็นแจ้งในที่สุด




.....
สัปดาห์ที่ 1 โพธิบัลลังก์ หรือ บัลลังก์แห่งต้นโพธิ์ เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้ทรงประทับต่อที่ต้นศรีมหาโพธิ์ต่ออีก 7 วัน

ต้นโพธิ์ลังกา (สมมุติเป็นต้นมหาโพธิ์ที่ตรัสรู้) นำกิ่งพันธุ์มาจากประเทศลังกาที่เมืองอนุราธปุระ มาปลูกไว้
สมมุติเป็นต้นมหาโพธิ์ที่ประทับตรัสรู้ ปลูกอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมก่ออิฐถือปูน




ใต้ต้นโพธิ์มี พระรัตนบัลลังก์เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย และรูปปั้นพญามาร




สัปดาห์ที่ 2  อนิมิสเจดีย์ หรือ เจดีย์ที่ไม่กะพริบตา พระพุทธเจ้าประทับยืนและจ้องต้นโพธิ์ด้วยตาไม่กะพริบ ตลอด 7 วัน

เก๋งจีน ศิลาจีนสลักเป็นรูปปราสาท ตั้งอยู่บนฐานสูงมีบันไดทางขึ้น ประดิษฐานพระพุทธรูปปางถวายเนตร
รอบผนังฐานปั้นลายนูนต่ำรูปท้องฟ้า ก้อนเมฆ และเทวดารำล่องลอยอยู่บนฟ้า
ด้านหน้าเก๋งจีนเป็นรูปปั้นช้าง รูปปั้นสิงโต

เก๋งจีนนี้สมมุติเป็น พระอนิมิสเจดีย์ ที่ประทับยืนทอดพระเนตรดูต้นมหาโพธิ์




สัปดาห์ที่ 3  รัตนจงกรมเจดีย์ หรือ เจดีย์แห่งทางจงกรมที่ประดับด้วยเพชรพลอย พระพุทธเจ้าทรงเดินจงกรมตลอด 7 วันหลังจากตรัสรู้

แผ่นศิลาปูนบนฐานสี่เหลี่ยมสูง แผ่นศิลานี้สมมุติเป็น พระรัตนจงกรมเจดีย์
ตามพุทธประวัติกล่าวว่า เมื่อประทับยืนเพื่อเพ่งดูต้นมหาโพธิ์ 7 วัน แล้วจึงทรงเนรมิตที่จงกรมขึ้นระหว่างต้นมหาโพธิ์กับพระอนิมิสเจดีย์ แล้วเสด็จจงกรม ณ ที่ตรงนี้ตลอด 7 วัน เป็นสัปดาห์ที่ 3




บนแผ่นศิลาปูนประดิษฐานพระพุทธรูปปางเสด็จจงกรม




สัปดาห์ที่ 4  รัตนฆรเจดีย์ หรือ เจดีย์แห่งอาคารที่ประดับไปด้วยเพชรพลอย หรือ เรือนแก้ว
โดยพระพุทธเจ้าประทับอยู่ในเรือนแก้วซึ่งเทวดาบรรดาลถวาย แล้วจึงทรงพิจารณาธรรมในเรือนแก้วนั้นตลอด 7 วัน

ศิลาจีนสลักรูปอาคารหรือเรือนอีกหลังหนึ่งที่มีฐานเตี้ยกว่าหลังแรก สมมุติเป็นเรือนแก้วหรือ พระรัตนฆรเจดีย์




ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปประทับนั่งปางรำพึง




สัปดาห์ที่ 5  อชปาลนิโครธ หรือ ต้นไทรของผู้เลี้ยงแพะ
โดยพระพุทธเจ้าประทับอยู่ใต้ต้นไทรของคนเลี้ยงแพะตลอด 7 วัน ในช่วงนี้มีธิดามารสามตนมาผจญพระพุทธเจ้า




ต้นไทรนี้สมมุติเป็น ต้นอชปาลนิโครธ
ต้นไทรบนฐานสี่เหลี่ยมก่ออิฐถือปูน ประดิษฐานพระพุทธรูปปางประทับนั่งยกพระหัตถ์ขวาห้ามธิดาพญามาร
มีรูปปั้นธิดาพญามาร คือ นางตัณหา นางราคา และนางอรดี ตั้งอยู่บริเวณต้นไทร

ตามพุทธประวัติกล่าวว่า หลังจากทรงพิจารณาพระอภิธรรม
พระองค์ได้เสด็จไปทางทิศตะวันออกแห่งต้นมหาโพธิ์ ประทับนั่งใต้ควงไม้ไทร เพื่อเสวยวิมุตติสุขเป็นเวลา 7 วัน เป็นสัปดาห์ที่ 5
ได้มีพญานาคมาอาราธนาให้เสด็จเข้าสู่ปรินิพพาน แต่ทรงปฏิเสธ พระองค์ทรงให้รอจนกว่าจะมีพุทธบริษัทสี่มาสืบพระศาสนาก่อน




สัปดาห์ที่ 6  มุจลินท์ หรือ ราชาแห่งต้นมุจละ โดยพระพุทธเจ้าทรงทำสมาธิใต้ต้นมุจลินท์ตลอด 7 วัน




ต้นจิกบนฐานสี่เหลี่ยมก่ออิฐถือปูน ประดิษฐานพระพุทธรูปปางนาคปรก
มีอ่างรูปสี่เหลี่ยมสลักด้วยศิลาจีนปลูกบัวใส่ปลาและเต่าในอ่าง ต้นจิกนี้สมมุติเป็น ต้นมุจลินทพฤษ์

ตามพุทธประวัติกล่าวว่า
ในสัปดาห์ที่ 6 พระพุทธองค์เสด็จไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของต้นมหาโพธิ์ ประทับนั่งใต้ควงไม้จิก เพื่อเสวยวิมุตติสุขเป็นเวลา 7 วัน




ตลอดสัปดาห์มีฝนตกตลอด พญานาคมุจลินทร์จึงแผ่พังพาน ปกพระเกษกันฝนและลมมิให้ต้องพระวรกาย
ครั้นฝนหายแล้ว ก็คลายขนาดจำแลงเพศเป็นมานพ ยืนเฝ้าพระพุทธเจ้าเฉพาะพระพักตร์




สัปดาห์ที่ 7  ราชายตนะ หรือที่อยู่แห่งพระราชา โดยพระพุทธเจ้าประทับใต้ต้นไม้ชื่อว่า ราชายตนะ (ต้นเกด) ตลอด 7 วัน
ต้นเกดบนฐานสี่เหลี่ยมก่ออิฐถือปูน ประดิษฐานพระพุทธรูปปางรับผลสมอนั่งสมาธิ หัตถ์ขวาถือผลสมอ
ด้านข้างมีศิลาจีนสลักรูปม้าเทียมเกวียน ต้นเกดนี้สมมุติเป็น ต้นราชายตนพฤกษ์




โดยในตอนนี้มีเหตุการณ์ 5 อย่างเกิดขึ้น คือ
1. พระอินทร์ถวายผลสมอ
2. พ่อค้าสองคนคือ ตปุสสะ และภัลลิกะ ได้รับการเชิญชวนโดยเทวดาให้พ่อค้าสองคนนี้ไปถวายอาหารพระพุทธเจ้า
3. ตปุสสะ และภัลลิกะ เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า เพื่อถวายอาหารคือขา้วมธุปิณฑิกา ในตอนนั้นพระพุทธเจ้าไม่มีบาตร
4. ท้าวจตุโลกบาลทั้ง4 จึงถวายบาตร 4 ใบแก่พระพุทธเจ้า เมื่อพระพุทธเจ้ารับบาตรจึงรวม 4 บาตรให้เป็นบาตรเดียว
5. เมื่อรับอาหารแล้ว พ่อค้าทั้งสองจึงขอปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะคนแรก





ในสมัยรัชกาลที่ 3 ถึงรัชกาลที่ 5 บริเวณสัตตมหาสถานนี้ใช้เป็นที่สำหรับเวียนเทียนในวันวิสาขบูชา
ในปัจจุบัน เนื่องจากความจำกัดของพื้นที่ พิธีเวียนเทียนในวันวิสาขบูชาจึงใช้บริเวณพระวิหารหลวงแทน

...
เมื่อพระพุทธองค์ทรงออกจากประทับเสวยวิมุตติสุขแล้ว ได้เสด็จไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เพื่อโปรดเบญจวัคคี ซึ่งในตอนแรกไม่ยินยอมรับพระพุทธองค์ แสดงท่าทีต่างๆ นานา แต่ในที่สุดพระพุทธองค์ทรงปฐมเทศนาให้เหล่าเบญวัคคีฟัง และท่านอัญญาโกณฑัญญะ ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์สาวกองค์แรก นับแต่นั้นพุทธศาสนาก็ครบองค์ 3 คือ พระพุทธ พระธรรมและพระสงฆ์




แนวกำแพงด้านที่ติดกับถนนอุณากรรณนี้ คือ บริเวณสัตตมหาสถาน




...
พระอุโบสถของวัดสุทัศน์ เป็นพระอุโบสถที่ยาวที่สุดในประเทศไทย เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนสถาปัตยกรรมแบบไทย ขนาดกว้าง 22.60 เมตร ยาว 72.25 เมตร




มีเสาสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่รองรับหลังคาทั้งหมด 68 ต้น หลังคาลดระดับ 4 ชั้น มีหลังคาปีกนกลาดลงข้างละ 2 ตับ มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์
มีประตูด้านหน้าและด้านหลังด้านละ 2 ประตู รวม 4 ประตู หน้าต่างด้านข้างด้านละ 13 บาน รวมทั้งหมด 26 บาน




ซุ้มประตูกำแพงแก้วพระอุโบสถ ทำด้วยหินอ่อนเป็นซุ้มคูหาหน้านางยอดทรงมงกุฎ
หน้าบันเป็นปูนปั้นลายดอกไม้ปิดทองคำเปลว มีอยู่ด้านละ 2 ซุ้ม รวมเป็น 8 ซุ้ม

บานประตูสีพื้นสีเขียวมีภาพสีน้ำมันรูปครุฑยุดนาคซึ่งเป็นพระราชสัญลักษณ์ประจำพระองค์ในรัชกาลที่ 2
มาจากพระนามเดิมว่า ฉิม และคำว่าวิมานฉิมพลีเป็นที่พำนักของครุฑ จึงทรงใช้ครุฑเป็นตราประจำพระองค์แทนพระบรมนามาภิไธย

มีตุ๊กตาหินรูปฝรั่งยืนเป็นนายทวารอยู่สองข้างด้วย




หน้าบันมุขหน้าและหลังเป็นไม้แกะสลักลาย ประดับกระจกสี ด้านทิศตะวันออกเป็นภาพพระอาทิตย์ หน้าบันด้านทิศตะวันตกเป็นภาพพระจันทร์




พื้นลายหน้าบันทั้งสองข้างมีลายกรอบกลางเป็นวงกลมของพระอาทิตย์ พระจันทร์และลายใบเทศหางโตประดับดัวยกระจกสี




ซุ้มเสมาทำเรือนซุ้มเป็นรูปสี่เหลี่ยม ยอดเจดีย์ ใบเสมาคู่




ใบเสมาเป็นหินสลักรูปช้าง 3 เศียรชูงวง แต่ละงวงถือดอกบัวตูม 1 ดอก และด้านบนมีดอกบัวบาน 2 ดอก




เกยโปรยทาน ตั้งอยู่บนกำแพงแก้วพระอุโบสถ อยู่ระหว่างซุ้มเสมา มีทั้งหมด 8 เกย ทิศเหนือ 4 เกย ทิศใต้ 4 เกย
ใช้เป็นที่ประทับสำหรับพระมหากษัตริย์สมัยก่อนเพื่อโปรยทานแก่พสกนิกรในคราวเสด็จพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลทานบารมี



เกยโปรยทาน มีลักษณะคล้ายเกยหามแต่ทำด้วยหินอ่อนสีเทา ด้านหลังมีบันไดทางขึ้นลง




ประตูพระอุโบสถ มีด้านหน้าและด้านหลัง ด้านละ 2 บาน เป็นบานไม้เขียนลายรดน้ำ



มีหน้าต่างด้านละ 13 บาน รวม 26 บาน เขียนลายรดน้ำเช่นเดียวกับประตู




พระอุโบสถเป็นแบบไม่มีเสาภายใน ดูลึก ยาวมาก




เบื้องหน้าพระประธาน มีพระมหาสาวก 80 องค์ สร้างด้วยปูนปั้นลงสีนั่งพนมมือเหมือนกำลังฟังพระบรมโอวาทจากพระพุทธองค์ประดิษฐานอยู่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นแทนพระศรีศาสดาที่อัญเชิญไปประดิษฐาน ณ วัดบวรนิเวศวรวิหาร



มีพระสาวกผิวสีองค์หนึ่งด้วย




พระพุทธตรีโลกเชฏฐ์ พระประธานในพระอุโบสถสร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 ถวายพระนามโดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 เป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยโลหะทั้งองค์ ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 10 ศอก 8 นิ้ว ประดิษฐานบนฐานชุกชีสูง




ผนังพระอุโบสถได้เขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังฝีมือช่างชั้นครูในสมัยรัชกาลที่ 3
เป็นภาพพระพุทธประวัติของพระสมณโคดม พระพุทธเจ้าพระองค์ที่ 28 และภาพพระปัจเจกพระพุทธเจ้า








ภาพใส่กรอบตั้งประดับเหนือช่องหน้าต่างและประตูพระอุโบสถ เป็นภาพในเรื่องรามเกียรติ์ช่องละ 3 ภาพ ทั้งหมดมี 90 ภาพ เป็นการแสดงให้เห็นการปราบข้าศึกอันเปรียบด้วยกฤดาภินิหารของพระมหากษัตริย์










เดินออกไปยังส่วนสังฆาวาส มีกุฏิของคณะต่างๆ เรียงรายอย่อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย




ศาลาการเปรียญ
อยู่ในเขตสังฆาวาสของวัด สร้างในสมัยราชกาลที่ 3 เป็นอาคารทรงไทยที่มีรูปทรงสวยงามมาก




หอระฆังสองชั้น อยู่ในเขตสังฆาวาสข้างศาลาการเปรียญ ก่ออิฐถือปูนเป็นรูปแปดเหลี่ยม
ผนังคูหาทั้งสองชั้น เจาะเป็นช่อง 8 ช่อง หลังคาก่ออิฐถือปูนทำเป็นทรงบัวตูม




ไม่มีใครอยู่ในภายในศาลาการเปรียญเลย คงเพราะอยู่ในเขตสังฆาวาส และคนส่วนใหญ่จะมาเพื่อไหว้พระที่พระวิหารหลวงเท่านั้น พระที่นั่งอยู่บนธรรมาสน์ทางซ้ายเป็นหุ่นขี้ผึ้ง ไม่ทราบว่าเป็นรูปเหมือนของพระเถระชั้นผู้ใหญ่รูปใด




รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงผูกนามพระประธานในพระวิหาร พระอุโบสถ และศาลาการเปรียญ
ให้คล้องกันว่า พระศรีศากยมุนี พระพุทธตรีโลกเชษฐ์ พระพุทธเสรฏฐมุนี



พระพุทธเสรฏฐมุนี เป็นพระพุทธรูปที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้หล่อขึ้น
โดยใช้กลักฝิ่นโลหะ ที่ทำการปราบปรามยึดมาจากหัวเมืองต่างๆ มาหลอมหล่อเป็นองค์พระ




ประตูหน้าของศาลาการเปรียญมี 3 บาน หลังบานประตูทุกบานเป็นภาพเขียนสีสวยงาม รูปพุทธประวัติ
เหนือประตูบานกลาง มีพระบรมสาทิสลักษณ์ของรัชกาลที่1, 2 และ 3 ติดอยู่
และยังมีฉากบังตาลงรักปิดทองลายรดน้ำ กรอบไม้แกะสลักลอยตัวลายดอกพุดตาน 2 บาน ตั้งอยู่ระหว่างประตู




ตอนเดินกลับไปนั่งรถเมล์ที่ต้นสายตรงคลองหลอด ผ่านวัดราชบพิธ เลยแวะเข้าไปก่อนกลับบ้าน
พอดีเป็นวันเข้าพรรษา กำลังมีการตักบาตรดอกไม้ ผู้คนมาจับจองพื้นที่เต็มลานพระระเบียงคดรอบนอก




ขอถ่ายรูปดอกเข้าพรรษาจากสาวสวยกลุ่มนี้ ใจดี และยิ้มหวานมากครับ






เข้าไปในพระอุโบสถ มีคนเข้าออกอยู่ไม่ขาดสายแน่นขนัดไปหมด รออยู่นานกว่าจะได้ภาพคนน้อยอย่างนี้




ขอลากันไปด้วยภาพภายในพระอุโบสถวัดราชบพิธภาพนี้ครับ
ขอขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาดู แสดงความเห็น และทักทายกันครับ

ขอบคุณเว็บไซต์ที่เข้าไปหาข้อมูล watsuthat.thai2learn.com, thaiweekender.com, dhammathai.org และ teeteawthai.com


ขอบคุณสำหรับภาพสวยๆและความรู้แน่นๆค่ะ วัดหลวงนี่สวยงาม เป็นระเบียบ และสะอาดมากเลยนะคะ
ป.ล. ที่อุโบสถของวัดสุทัศน์ ถ้าแง้มหน้าต่างมาดู อีกด้านของลายรดน้ำ จะมีจิตรกรรมนารายณ์อวตารในปางต่างๆด้วยนะคะ


.....
เรื่องและภาพจาก
https://pantip.com/topic/32415545



« Last Edit: 22 September 2021, 20:58:01 by ppsan » Logged
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
*****
Offline Offline

Posts: 8,556


View Profile
« Reply #5 on: 22 September 2021, 21:02:04 »

วัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร

วัดสุทัศนเทพวราราม [สุ-ทัด-เทบ-พะ-วะ-รา-ราม]



บริเวณหน้าวัดและเสาชิงช้า


หน้าวัดและเสาชิงช้าในเวลาค่ำคืน


พระวิหารหลวง


พระศรีศากยมุนี



พระอุโบสถวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร


พระพุทธตรีโลกเชษฐ์


พระพุทธเสรฏฐมุนี


พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร


ตุ๊กตาจีน หรือลั่นถัน


ประติมากรรมรูปม้า
10

จิตรกรรมที่บานประตูรูปครุฑยุดนาค


จิตรกรรม พระสงฆ์พิจารณาสังขารผีเปรต วัดสุทัศนเทพวราราม


วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร








พระศรีศากยมุนี (พระโต)


วัดสุทัศนเทพวราราม


วัดสุทัศนเทพวราราม


20



ด้านหน้าพระวิหาร


พระศรีศากยมุนี


ประตูทางเข้ายังลานรอบพระวิหารจากระเบียงคต


หินสลักตั้งประดับ เป็นงานศิลปะจีนที่นำเข้าในรัชกาลที่ 3


ที่ตั้งของวัดสุทัศนเทพวรารามอยู่เกือบกึ่งกลางของกรุงเทพมหานคร


พระพุทธรูปในวิหารคตหรือระเบียงคต






30



















40



















50









55


« Last Edit: 23 September 2021, 08:11:14 by ppsan » Logged
Pages: [1] Go Up Print 
« previous next »
 

SMF 2.0.4 | SMF © 2013, Simple Machines | Theme by nesianstyles | Buttons by Andrea
Page created in 0.14 seconds with 16 queries.