Smile Siam มาร่วมกันคืน "สยามเมืองยิ้ม" กลับสู่บ้านเรากันนะครับ ...

ข้อควรปฎิบัติ => ข้อเสนอแนะ หรือ ร้องเรียนต่างๆ => Topic started by: Smile Siam on 22 December 2012, 06:05:00

Title: ขอเชิญชวนทุกท่านมาทบทวนกันว่า ทำไมประเทศนี้จึงเคยชื่อว่า "สยาม"
Post by: Smile Siam on 22 December 2012, 06:05:00
ขอเชิญชวนทุกท่านมาทบทวนกันว่า ทำไมประเทศนี้จึงเคยชื่อว่า "สยาม" สยามประเทศ


คำว่า " สยาม " (Siam or Sayarm) มีความหมายว่า ...

และเมื่อถูกเปลี่ยนชื่อเป็น ประเทศไทย (Thailand) แล้วแตกต่างกันอย่างไร นอกจากชื่อและความหมายที่แตกต่างกัน

และควรจำไว้ด้วยว่า ใครเป็นคนเปลี่ยนชื่อประเทศนี้ เปลี่ยนเพราะอะไร ... ควรจะเปลี่ยนกลับคืนกันได้หรือยัง ... ?


สยาม
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

    บทความนี้เกี่ยวกับคำเรียกประเทศไทยในอดีต สำหรับความหมายอื่น ดูที่ สยาม (แก้ความกำกวม)

สยาม (อักษรละติน: Siam) (สันสกฤต: श्याम) เป็นชื่อเรียกของประเทศไทยในสมัยโบราณ แต่มิใช่ชื่อที่คนไทยใช้เรียกตนเอง สยามเป็นชื่ออย่างเป็นทางการของไทยรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา[1] แต่ได้มีการเปลี่ยนชื่อมาเป็น "ไทย" เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2482 ในอดีตพระมหากษัตริย์ไทยทรงใช้ชื่อ สยาม ในการทำสนธิสัญญากับต่างชาติเป็นเวลาหลายศตวรรษ อันเนื่องมาจากอาณาจักรสยามนี้ประกอบด้วยคนหลายชาติพันธุ์ อาทิ ไท ลาว มอญ ญวน เขมร แขก จีน ฝรั่ง และมลายู พระมหากษัตริย์ไทยจึงเรียกดินแดนแห่งนี้ว่า ประเทศสยาม เพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของประชาชน[2] อีกทั้ง ชื่อ สยาม นั้น ก็ยังคงเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในวงการวิชาการของต่างประเทศอีกด้วย

ในปัจจุบันอาจมีความพยายามที่จะเอาชื่อประเทศไทย กลับไปเป็นชื่อสยาม แต่จะเห็นว่าสยาม คนไทยเดิมไม่เรียกตัวเองอย่างนั้น แต่เป็นคนกลุ่มมอญ-เขมร ที่เรียกคนที่ใช้ภาษาตระกูลไท-ลาว เดี๋ยวนี้ชาวบรู (มอญ-เขมร) ในเขตมุกดาหาร เรียกพวกผู้ไท ว่าเซียม รวมถึงในเขตจีน-พม่า คนไท มักถูกพวกละว้า เรียกว่าเซียม และโดยลักษณะการเรียกชื่อชนชาติอื่น ส่วนมากเป็นคำไม่ค่อยดี เซียมหรือสยาม อาจเป็นคำที่ไม่ค่อยดีก็ได้ เหมือนที่จีนเรียกพวกไท ว่า ไป่เยว่ หรือลาว เรียกพวกที่พูดภาษามอญ-เขมร ในลาว ว่า "ข่า" เป็นต้น พอไม่รู้ความหมายก็เอาคำว่า "ข่า" ไปเป็นชื่อชนชาติไป ทั้งที่มาจากการเหยียดหยาม
เนื้อหา

    1 แนวคิดเกี่ยวกับที่มา
        1.1 คำที่ใกล้เคียงกับสยาม
    2 สยามในฐานะชนชาติ
    3 สยามในความหมายของชนชาติไทย
        3.1 ราชอาณาจักรสยาม
        3.2 จากสยามเป็นไทย
    4 อ้างอิง
        4.1 บรรณานุกรม
    5 หนังสืออ่านเพิ่มเติม
    6 ดูเพิ่ม

แนวคิดเกี่ยวกับที่มา

จนถึงปัจจุบันนี้ ก็ยังไม่มีใครทราบที่มาของคำว่าสยามว่ามาจากที่ไหนอย่างแน่ชัด แต่ที่ทราบแน่นอนแล้วคือ สยาม มิใช่ชื่อที่คนไทยใช้เรียกตนเอง โดยในจดหมายเหตุลาลูแบร์ ซึ่งเดินทางเข้ามาในอาณาจักรอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้พบว่า "สยาม" เป็นนามที่ชาวโปรตุเกสในแถบตะวันออกไกลใช้เรียกอาณาจักรในบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา[3]

จิตร ภูมิศักดิ์ ได้ศึกษาประวัติที่มาของคำว่า "สยาม" และเขียนเป็นหนังสือ ความเป็นมาของคำสยาม ไทย, ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ มีความสรุปได้ว่า:

    จะต้องเป็นคำที่คล้ายกับ "ซาม-เซียม" ตามสมมุติฐานทางนิรุกติศาสตร์
    มีความหมายเกี่ยวข้องกับน้ำ เนื่องจากพบในพงศาวดารราชวงศ์หยวน อันสอดคล้องกับวิถีชีวิตของชนชาติไต
    น่าจะเป็นภาษาหนานเจ้า
    ที่เกิดของคำว่า "สยาม" อยู่ในบริเวณทางตอนเหนือของพม่า[4]

Cquote1.svg    

    สยาม อาจเป็นคำมาจากภาษาสันสกฤตว่า ศยาม ซึ่งแปลว่า สีดำ สีคล้ำ สีทอง ฯลฯ นั้น ดูเหมือนจะเป็นความเห็นดั้งเดิมที่แพร่หลายมากที่สุด และแทบจะยอมรับกันเป็นความจริงชี้ขาดเรื่องชื่อสยามทีเดียว

   Cquote2.svg
— จิตร ภูมิศักดิ์

นายปรีดี พนมยงค์ เคยเขียนไว้ว่า มีการใช้ชื่อสยามมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี จนถึงสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงนำกฎหมายเก่ามาชำระและรวบรวมเป็นกฎหมายตราสามดวง ชื่อประเทศได้รับการบันทึกเป็นภาษาบาลีว่า "สามปเทส" สาม หรือ สามะ แปลว่าความเสมอภาค ส่วน ปเทส แปลว่า ประเทศ แต่ฝรั่งออกเสียงเพี้ยน เป็นเซียมหรือไซแอม[5]
คำที่ใกล้เคียงกับสยาม

    ตามภาษามอญ เรียกคนไทยว่า "หรั่ว เซม" (หรั่ว ภาษามอญแปลว่าพวก) จนกระทั่งปัจจุบัน
    ชาวมลายูและผู้มีเชื้อสายมลายู (รวมถึงในประเทศไทย) ใช้คำเรียกไทยว่า "สยาม" (โดยในภาษามลายูปัตตานีจะออกเสียงว่า สิแย) มาจนถึงปัจจุบัน (ดังเช่นที่ปรากฏในเอกสารของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในบริเวณจังหวัดชายแดนภาคใต้) [ต้องการอ้างอิง]
    ในภาษาเขมร คำว่า "สยาม" หมายถึง "ขโมย" โดยออกเสียงว่า "ซี-เอม" เมืองเสียมเรียบ ซึ่งอยู่ใกล้กับนครวัด จึงมีความหมายว่า "พวกขโมยพ่ายแพ้" ดังนั้น ความหมายของคำว่า "สยาม" ในภาษาเขมรจึงหมายถึง "พวกขโมยป่าเถื่อน" เนื่องจากในยุคที่ขอมเรืองอำนาจ มีคนไทที่อพยพมาจากทางเหนือเข้าสู่ดินแดนภาคอีสานของเขมรซึ่งอาจเข้ามาโดยการกวาดต้อนของชาวเขมรเองเพื่อใช้เป็นแรงงานในการสร้างปราสาทหินต่างๆ คำว่า "สยาม" จึงเป็นคำเขมรที่ใช้เรียกกลุ่มคนไทซึ่งในเวลานั้นชาวเขมรยังมองว่าเป็นแค่คนป่า บนรูปสลักฝาผนัง ณ นครวัด ประเทศกัมพูชาที่แสดงถึงกำลังพลจากอาณาเขตต่าง ๆ ที่ได้เข้ามาร่วมกับพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มีภาพกองกำลังกองหนึ่งที่มีคำบรรยายใต้ภาพว่า "เนะ สยฺมกุก" (เนะ สยำกุก) [6] ซึ่งแปลได้ความว่า "นี่ เสียมกุก" เป็นกองกำลังต่างหากจากกองกำลังจากอาณาจักรละโว้ ซึ่งรูปสลักฝาผนังได้สลักแยกไว้พร้อมคำบรรยายที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน สันนิษฐานกันว่าอาจเป็นคนไท-ลาวกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งแต่ยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัดเป็นที่ยอมรับกัน
    ในภาษาพม่านั้น เรียกคนไทยว่า "เซี๊ยน" ซึ่งถ้าดูจากการเขียน จะใช้ตัวสะกดเป็นตัว ม (ซย+ม) แต่ในภาษาพม่านั้นอ่านออกเสียงตัวสะกดตัว ม เป็นตัว น จึงทำให้เสียงเรียกคำว่า "สยาม" เพี๊ยนเป็น "เซี๊ยน" ในปัจจุบัน คนในประเทศพม่ามักจะเรียกชนกลุ่มที่พูดภาษา ไท-กะได ต่างๆว่า "เซี๊ยน" หรือ ชื่อประเทศหรือพื้นที่ตามด้วยเซี๊ยน เช่นเรียกคนไทยว่า "โย๊ตะย๊าเซี๊ยน" (คนสยามโยธยา ซึ่งเมื่อก่อน อยุธยาเป็นเมืองหลวง) หรือไท๊เซี๊ยน (คนสยามไทย), เรียกคนลาวว่า "ล่าโอ่เซี๊ยน" (คนสยามลาว), เรียกคนชนกลุ่มไตในจีนว่า "ตะโย่วเซี๊ยน" (คนสยามจีน ซึ่งคำว่า "ตะโย่ว" ในภาษาพม่าแปลว่า "จีน") และเรียกคนไทใหญ่ในรัฐฉานว่า ต่องจยี๊เซี๊ยน (สยาม ต่องกี๊ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของรัฐฉานในปัจจุบัน และจริงๆแล้วคำว่า "รัฐฉาน" นั้นมันคือ "รัฐสยาม" แต่พม่าออกเสียงเพี้ยนเป็น "เซี๊ยน ปี่แหน่" เขียนเป็นอังกฤษว่า Shan State แล้วคนไทยก็ออกเสียงเพี้ยนจากคำอังกฤษ "Shan" เป็น "ฉาน" จึงกลายเป็นรัฐฉานตามการเรียกของคนไทยในปัจจุบัน) และทางการรัฐบาลพม่ากำหนดให้ คนไทยพลัดถิ่นในเขตตะนาวศรี มีสัญชาติเป็น เซี๊ยน เช่นเดียวกับคนไทยใหญ่ในรัฐฉาน
    ตามจดหมายเหตุเก่าของจีน ในบริเวณประเทศไทยปัจจุบันนั้น แต่เดิมมีอาณาจักรอยู่ด้วยกัน 2 อาณาจักร คือ อาณาจักร "เซียน" (น่าจะหมายถึง สยาม หรือ สุโขทัย) ซึ่งอยู่ทางเหนือขึ้น แต่ยังอยู่ใต้ต่ออาณาจักร "ร้อยสนม" (มีผู้สันนิษฐานว่าคืออาณาจักรล้านนา-ไทใหญ่) และอาณาจักร "หลอหู" (น่าจะหมายถึง อยุธยา ซึ่งจีนยังใช้ชื่อของ ละโว้ เรียกอยู่) ซึ่งอยู่ทางใต้ลงไป โดยอาณาจักร "เซียน" นั้นมักประสบปัญหาขาดแคลนอาหาร ต้องนำเข้าข้าวจากอาณาจักร "หลอหู" จนในที่สุด อาณาจักร "เซียน" และอาณาจักร "หลอหู" ได้รวมกันเข้า ทางราชสำนักจีนจึงได้รวมเรียกชื่ออาณาจักรใหม่ที่เกิดจากการรวมกันดังกล่าวว่า อาณาจักร "เซียนหลอ" (ภาษาจีนกลางยุคปัจจุบัน="เสียนหลอกว๋อ" ภาษาจีนแต้จิ๋ว = "เสี่ยมล้อก๊ก") ซึ่งได้กลายเป็นนามเรียกอาณาจักรโดยชาวจีนมาจนกระทั่งมีการเปลี่ยนชื่อประเทศเป็นประเทศไทย จึงได้เปลี่ยนชื่อเรียกเป็น "ไท่กว๋อ"[ต้องการอ้างอิง]
    นักนิรุกติศาสตร์และนักประวัติศาสตร์บางคน ได้แสดงถึงความใกล้เคียงกันของคำว่า สยาม และ ฉาน (Shan) ซึ่งใช้เรียกอาณาจักรของคนไทบริเวณตอนใต้ของจีน ทางตอนเหนือของพม่า และทางรัฐอัสสัมของอินเดีย[ต้องการอ้างอิง]
    สยาม เป็นคำเรียกของชาวตะวันตก ที่มาทำการค้า การเดินทางมาทางเรือต้องผ่านพม่าก่อน ชาวพม่าบอกชาวตะวันตกว่า เซียม ชาวไท ออกเสียงเป็น เซียน ซึ่งปัจจุบันเป็น ฉานเนื่องจากชาวพม่าออกเสียง น.หนู ไม่ได้ จึงเพี้ยนเป็น ม.ม้า ฉานชาวพม่าหมายถึง รัฐฉาน ในประเทศพม่า, อาณาจักรล้านนา ในไทย, ลาว ,ภาคอีสานตอนเหนือ ในไทย, ตอนใต้ของยูนนาน ในจีน,ด้านตะวันตกของภาคเหนือในเวียดนาม ชาติไทยนั้นกลัว อินเดีย เพราะว่าอินเดียเคยล้มอานาจักรไชยาได้ ซึ่งไทยสู้ไม่ได้ในยุคนั้น จึงมีภาษาของอินเดียปะปนอยู่มาก ทั้งในภาษาไทยและศาสนาพุทธด้วย

สยามในฐานะชนชาติ

สยามเป็นชื่อดินแดนและกลุ่มชนไม่จำกัดชาติพันธุ์ ซึ่งอาจอธิบายได้ว่าสยามเป็น "พวกร้อยพ่อพันแม่"[3] คือ มิได้หมายถึงชนชาติใดชนชาติหนึ่ง แต่อาศัยลักษณะภายนอกเป็นตัวกำหนด เช่น ใช้เรียกผู้ทำมาหากินกันในบริเวณตาน้ำพุที่ผุดจากแอ่งดินอ่อนหรือดินโคลน[7] หรืออาจใช้เรียกผู้ที่อยู่อาศัยริมแม่น้ำโขง[8]

ชาวสยามหรือเสียมเป็นกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ต่ำกว่าเส้นละติจูด 19° เหนือลงมา เป็นการผสมผสานของกลุ่มชนต่าง ๆ ที่ใช้ภาษาไทยในการสื่อสาร[9] นายสุจิตต์ วงษ์เทศ ผู้เขียน "คนไทย มาจากไหน" จึงเสนอให้เรียกผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยในปัจจุบันว่า "ชาวไทยสยาม" แทน เพราะคำว่า "ชาวไทย" มีความหมายครอบคลุมถึง "ชาวไทยใหญ่" และ "ชาวไทยน้อย" ซึ่งอาศัยอยู่นอกประเทศไทยด้วย[10]

คำว่า เซี่ยม นั้นมาจากมลายู มาเลย์ ซึ่งคนสตูลก็เรียกไทยว่าเซี่ยมเหมือนกัน คนสตูลนั้นเขาจะเรียกกรุงเทพฯ ว่า บางกอก ความจริงแล้ว คำว่า เซี่ยมเป็นของมลายู ไม่ใช่มาจากฝรั่ง
สยามในความหมายของชนชาติไทย

    ดูเพิ่มที่ ไทยสยาม

ตามหลักฐานของลาลูแบร์นั้น คนในประเทศไทยได้เรียกเผ่าพันธุ์ของตนเองว่า ไทย ตั้งแต่สมัยอาณาจักรอยุธยาแล้ว โดยได้บันทึกไว้ว่า
Cquote1.svg    

    ชาวสยามเรียกตนว่า ไทย (Tàï) แปลว่า อิสระ อันเป็นความหมายตามศัพท์ในภาษาของพวกเขาอยู่ในปัจจุบัน [...] คำว่า สยาม กับ ไทย เป็นสองคำที่มีความแตกต่างกัน แต่หมายถึงพลเมืองของประเทศเดียวกัน[11]

   Cquote2.svg

D.G.E. Hall ได้เขียนใน "ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้" ว่า "สยาม ใช้เรียกคนป่าแถบแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งพบในระเบียงด้านใต้ของนครวัด... ภายหลังการก่อตั้งอยุธยา ดินแดนดังกล่าวได้ชื่อว่าสยาม ชาวยุโรปก็มักเรียกว่า นครแห่งสยาม" และระบุว่าพระเจ้าอู่ทองเป็นกษัตริย์พระองค์แรกของสยาม[12]

ส่วนกลุ่มเมืองสุโขทัย ก็พบว่ามีการเรียกว่า "สยามประเทศ" ในตำนานชินกาลมาลีปกรณ์ของอาณาจักรล้านนาด้วยเช่นกัน[13]
ราชอาณาจักรสยาม

    ดูเพิ่มที่ อาณาจักรอยุธยา, อาณาจักรธนบุรี และ กรุงรัตนโกสินทร์

ถึงแม้ว่าจะมีกล่าวถึง "สยาม" (ซึ่งอาจหมายความถึงคนไทยหรือไม่ใช่ก็เป็นได้) โดยผู้คนจากต่างแดนอย่างกว้างขวางดังที่ได้กล่าวไปข้างต้นแล้วก็ตาม แต่ทว่าในอดีตนั้น แนวคิดเรื่องรัฐชาติยังไม่ปรากฏชัดเจน ดังเช่นที่เกิดขึ้นในทวีปยุโรปตั้งแต่ยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ การอ้างอิงถึงราชอาณาจักรของทางราชสำนักของไทยจึงยังคงอ้างอิงโดยใช้ชื่อเมืองหลวง ดังเช่นพระราชสาสน์ของสมเด็จพระเอกาทศรถที่มีไปถึงพระเจ้าดอน ฟิลลิปแห่งโปรตุเกส ผ่านผู้สำเร็จราชการแห่งเมืองกัว ก็ได้มีการอ้างพระองค์ว่าเป็นผู้ปกครองแว่นแคว้นของ กรุงศรีอยุธยา เป็นอาทิ[ต้องการอ้างอิง] ส่วนชาวต่างชาติได้เรียกอาณาจักรอยุธยาว่า สยาม มาตั้งแต่ราว พ.ศ. 2000 เป็นต้นมา[3] ในรัชสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเคยใช้ชื่อประเทศว่า "สยาม"[14] ด้านโกวิท วงศ์สุรวัฒน์ได้ระบุว่า นามสยามได้เริ่มใช้ในฐานะของประเทศสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ โดยแปลว่าผิวคล้ำ[15]

ในหนังสือสัญญาที่ไทยทำกับต่างประเทศสมัยรัชกาลที่ 3 ไม่พบการใช้คำว่า "สยาม" เลย[16] เมื่อประเทศไทยต้องเผชิญหน้ากับจักรวรรดินิยมสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์จึงได้พยายามดัดแปลงให้ประเทศมีลักษณะสมัยใหม่ขึ้น เพื่อซึ่งประการหนึ่งในนั้นคือ การทำให้ประเทศไทยมีลักษณะเป็นรัฐชาติที่มีการควบคุมจากส่วนกลาง และเริ่มมีการใช้ชื่อ "ราชอาณาจักรสยาม" เป็นชื่อประเทศอย่างเป็นทางการ[1] โดยปรากฏใช้ชัดเจนครั้งแรกใน พ.ศ. 2399 แต่คนไทยส่วนมากไม่เห็นด้วยกับการใช้ชื่อดังกล่าว คงเรียกว่า "ไทย" ตามเดิม[16]

อย่างไรก็ดี เหรียญกษาปณ์แทนเงินในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พิมพ์ตัวหนังสือว่า "กรุงสยาม" และในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พิมพ์ตัวหนังสือว่า "สยามรัฐ"
จากสยามเป็นไทย

ต่อมา ในสมัยที่รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามก้าวขึ้นสู่อำนาจ ปลุกแนวคิดชาตินิยมและการเชื่อฟังผู้นำอย่างมาก ซึ่งจากรายงานการศึกษาในยุคนั้นโดยนักศึกษาประวัติศาสตร์บางคน[ต้องการอ้างอิง] ได้มีการค้นพบคนไทยที่อยู่ในเวียดนาม และจีนตอนใต้ นอกเหนือไปจากจากกลุ่มไทยใหญ่ในพม่าอีก ทำให้เกิดกระแสที่ต้องการรวบรวมชนเผ่าไทยเหล่านั้นเข้ามาสู่ประเทศ "ไทย" เพื่อสร้างความเข้มแข็ง ในที่สุด จึงได้มีการเปลี่ยนชื่อ ประเทศ ประชาชน และสัญชาติเป็น "ไทย" ตามประกาศรัฐนิยมฉบับที่ 1 เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2482 ซึ่งได้รับการคัดค้านจากบางฝ่ายว่าจะเป็นการทำให้คนเชื้อชาติอื่น เช่น จีน มลายู ไม่รู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับประเทศ "ไทย" แต่ทว่าในที่สุดประกาศรัฐนิยมก็มีผลบังคับใช้ ทำให้ต้องเปลี่ยนชื่อประเทศเป็น ไทย ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งกลายเป็นสิ่งตกทอดไม่กี่อย่างจากประกาศดังกล่าวมาถึงปัจจุบัน เช่นเดียวกับคำว่า "สวัสดี"


อ้างอิง

    ^ 1.0 1.1 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย. ประเทศไทย หรือประเทศสยาม
    ^ ศิริพันธ์ ถาวรทวีวงษ์. หน้า 20.
    ^ 3.0 3.1 3.2 สุจิตต์ วงษ์เทศ. หน้า 73.
    ^ สุจิตต์ วงษ์เทศ. หน้า 62-63.
    ^ ศิริพันธ์ ถาวรทวีวงษ์. หน้า 20.
    ^ ชำนาญ สัจจะโชติ. สยำกุก-นครวัด กองทัพศรีวิชัย. กรุงเทพฯ : บริษัท พิมพ์ดีการพิมพ์ จำกัด, 2549. 160 หน้า. ISBN 974-88126-8-5
    ^ สุจิตต์ วงษ์เทศ. หน้า 60.
    ^ สุจิตต์ วงษ์เทศ. หน้า 76.
    ^ สุจิตต์ วงษ์เทศ. หน้า 66-67.
    ^ สุจิตต์ วงษ์เทศ. หน้า 67.
    ^ สุจิตต์ วงษ์เทศ. หน้า 217.
    ^ D.G.E. Hall. หน้า 222-223.
    ^ สุจิตต์ วงษ์เทศ. หน้า 69.
    ^ วีรวิท คงศักดิ์. ร้องเพลงชาติ...ต้องร้องด้วย “ใจ”. คลังสมอง วปอ. เพื่อสังคม. สืบค้น 8 พฤษภาคม 2553.
    ^ โกวิท วงศ์สุรวัฒน์. การเมืองการปกครองไทย: หลายมิติ. หน้า 16-17.
    ^ 16.0 16.1 ชัย เรืองศิลป์ (2541). ประวัติศาสตร์ไทยสมัย พ.ศ. 2352-2453 ด้านเศรษฐกิจ. ไทยวัฒนาพานิช. ISBN 9740841244. หน้า 183.

บรรณานุกรม

    D.G.E. Hall. ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เล่ม ๑. กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช, [ม.ป.ป.].
    สุจิตต์ วงษ์เทศ. คนไทยมาจากไหน?. กรุงเทพฯ : มติชน, 2548.




สยามเมืองยิ้ม

ชินวัฒน์ ตั้งสุทธิจิต

สยาม

                “สยาม”  มีรากจากคำพื้นเมืองดั้งเดิมว่า ซัม ซำ หรือ สาม  หมายถึงบริเวณที่มีน้ำซับน้ำซึมเป็นตาน้ำพุน้ำผุดโผล่ขึ้นจากแอ่งดินอ่อนหรือดินโคลน แล้วเรียกคนจะเป็นชาติพันธุ์อะไรก็ได้ที่มีหลักแหล่งทำมาหากินบริเวณนี้ว่า ชาวสยาม ทั้งนั้น.

                จิตร ภูมิศักดิ์ อธิบายเรื่องคำสยามไว้ใน หนังสือ ความเป้นของคำสยาม ไทย,ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ ฉบับสมบูรณ์ สำนักพิมพ์ศยาม พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2519 ไว้ว่า

                “ข้าพเจ้ารู้สึกว่า ความพยายามที่จะแปลคำสยามให้เป็นคำสันสกฤตนี้ล้วนห่าวไกลความเป็นจริงทั้งสิ้นทีเดียว. ตามสมมติฐานของเรานั้น สยามคือกำเนิดออกมาจากซาม-เซียม, และแหล่งกำเนิดของมันอยู่ในบริเวณยูนนานตะวันตกเฉียงใต้และพะม่าเหนือ, เราจะต้องคลำหาต้นกำเนิดของมันจากภาษาในเขตนี้ในยุคโบราณ และหาคำแปลจากคำดั้งเดิมนั้น มิใช่จับเอาสยามซึ่งเป็นรูปคำที่ถูกดัดแปลงแล้วมาแปล.”

                จิตร ยังอธิบายสรุปไว้ว่า “ถ้าเรายอมรับสมมุติฐานนี้ไว้ที่ก็หมายความว่าคำดั้งเดิมของสยามนั้นคือ ซำ หรือซัม.จากคำนี้เองที่ค่อยๆ พัฒนาไปเป็นซาม,เซม,เซียม,ซยาม,สยาม ฯลฯ ในภาษาอื่นๆโดยรอบ และไปไกลจนกระทั่งกลายเป็นอาโหมในภาษาพื้นเมืองอัสสัม”

               

เมือง

เมือง คือ พื้นดินที่มีชุมชนอาศัยอยู่ พื้นที่มีอำนาจศูนย์กลางรัฐเรียกว่า เมือง

เมือง มีวิวัฒนาการทางสังคม วัฒนธรรม การสร้างบ้านแปลงเมือง มีการเคลื่อนย้ายไปมาของผู้คนทั้งในแง่เศรษฐกิจ ศาสนา และการเมือง โดยมีผู้ปกครองอยู่ในศูนย์กลางอำนาจตั้งแต่ดึกดำบรรพ์จนถึงปัจจุบัน

                เมืองสยาม หรือ กรุงสยาม มีประกอบด้วย ชาวสยาม กับ สยามประเทศ ที่อยู่ในบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาเป็นส่วนหนึ่งของอุษาคเนย์หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีความเคลื่อนไหว เคลื่อนย้ายไปมาระหว่างสองฝั่งแม่น้ำโขง แล้วมาพบกันที่ภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางฟากตะวันตกลุ่มน้ำเจ้าพระยา

                สยาม หรือภาษาอังกฤษออกเสียงว่า Siam  เป็นชื่อเก่าแก่เป็นที่รับรู้ทั้งจากซีกโลกตะวันตะวัน (หมายความรวมทั้ง ยุโรปและเปอร์เซีย)และตะวันอกก ซื่อ สยาม ปรากฏในแผนที่โบราณซึ่งอนุมานว่าน่าจะได้จากการออกเสียงของชาว มอญ และ มลายู เรียกชื่อแผ่นดินนี้ไม่ว่าจะเป็น  Scerno,Ansia,Davsian,Iudia,Iudea หรือ Royaume de Siam  ก็เรียก       

เสียงสำเนียงที่เรียก สยาม นั้น มอญ ออกเสียงว่า เซ็ม เขมร อกกเสียงว่า เสียม หรือ เซียม พม่า ออกเสียง ฉาน หรือ ชาน จีน ออกเสียงว่า เสียน หรือ เสียม และ เสียมล้อ ดังนั้นต้องไม่สับสนระหว่าง ดินแดน กับ ประเทศ ที่ออกเสียงภาษาอังกฤษว่า Iand กับ ผู้คน : Peoples ที่มีความหลากเผ่าพันธุ์ในแผ่นดินนี้

                สยามประเทศ และ ประเทศไทย ชาวต่างชาติเรียกกรุงศรีอยุธยาว่าราชอาณาจักรสยามหรือเมืองไทย เมื่อถึงกรุงรัตนโกสินทร์เรียกชื่อประเทศว่ากรุงสยามและประเทศสยาม เรียกพระนามพระมหากษัตริย์ว่า  The King of Siam

พ.ศ. 2310 เป็นต้นมาศูนย์กลางอำนาจรัฐเปลี่ยนจาก กรุงศรีอยุธยา ที่สำเนียงพม่าออกเสียงว่า อโยเดีย หรือ โอเดีย (Odia) เป็น กรุงเทพฯ หรือที่เรียกว่า บางกอก  (Banckok) จนกระทั่ง พ.ศ. 2575 มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร์ รัฐธรรมนูญฉบับวันที่ 10 ธันวาคม 2475 ก็ใช้นามประเทศว่า “สยาม”

สมัยแรกมีธงช้างเป็นสัญลักษณ์ ถึงแผ่นดินสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ เปลี่ยนเป็นธงไตรรงค์ที่ได้แบบอย่างมาจากยุโรป

รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2482 รัฐบาลในสมัยนั้นได้ประกาศเปลี่ยนชื่อประเทศจาก “สยาม” เป็น “ไทย” และจาก Siam เป็น Thailand

 ประเทศไทย ซึ่งเป็นชื่อที่เกิดขึ้นจากสำนึกชาตินิยม ผูกพันกับความเชื่อเรื่องชนชาติไทยถูกขับไล่มาจากทางเหนือของจีน แม้ความเชื่ออย่างนี้จะคลาดเคลื่อนจากความจริง แต่ยังทรงอิทธิพลมาจนถึงทุกวันนี้

ผลของการเปลี่ยนชื่อเป็นประเทศไทย ทำให้คนกลุ่มหนึ่งเกิดกระแสความรู้สึกรังเกียจเดียดฉันท์ผู้คนเผ่าพันธุ์อื่นๆ ที่ไม่ใช่ไทย เกิดการดูถูกทางสังคมและวัฒนธรรมจนเสียหายต่อสภาพเศรษฐกิจ การเมือง และการปกครองเป็นเวลายาวนาน

ในการร่างรัฐธรรมนูญอีกหลายครั้งก็ได้มีการอภิปรายในประเด็นที่จะเปลี่ยนนามประเทศเป็น“สยาม” อีก เช่น ในรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2492 และฉบับ 2511 เป็นต้น

               

ยิ้ม

“เห็นนางแย้มเหมือนหนึ่งแก้มแม่แย้มยิ้ม        ดูเพราพริ้มสุดงามทรามสงวน

          อบเชยเหมือนพี่เชยเคยชมชวน          ให้นิ่มนวลนอนแนบแอบอุรา”

                                                                                                นิราศพระแท่นดงรัง (นายมี)

ยิ้ม เป็นอาการกิริยาที่แสดงออกที่ริมฝีปากและสายตาบอกความรู้สึก ทั้ง ชอบใจ และ เยาะเย้ย เสียดสี

จึงมีการยิ้มที่ต่างกันทั้งหน้าตาและมุมยิ้มต่างๆที่บ่งบอกความหมายในการยิ้ม

เช่น ยิ้มกริ่ม :  ความลำพองใจจึงกระหยิ่มยิ้มด้วยสีหน้า , ยิ้มแฉ่ง : ยิ้มออกมาอย่างร่าเริง , ยิ้มแต้ : ยิ้มค้างอย่างเบิกบานอยู่นานเหมือนปลาบปลื้มในที่สิ่งที่พึ่งใจ, ยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ : ยิ้มแล้วยิ้มเล่าด้วยความพออกพอใจ , ยิ้มแป้น : ยิ้มหน้าบาน และเป็นชื่อเพลงลูกทุ่งร้องและแต่งโดย พจน์ พนาวัน , ยิ้มเผล่ :ยิ้มอย่างอิ่มเอมใจ, ยิ้มพราย : ยิ้มในทีด้วยความภาคภูมิใจ,ยิ้มย่อง: ยิ้มด้วยความดีใจ,ยิ้มเยาะ: ยิ้มแบบเย้ยหยัน หรืออาจเรียกว่า พยักยิ้ม ก็ได้,

ยิ้มแย้ม : ยิ้มออกมาอย่างอารมณ์ดี ,ยิ้มละไม : ยิ้มอยู่ในหน้า บ้างทีก็เรียกว่า อมยิ้ม , ยิ้มหวาน: ยิ้มอย่างทอดไมตรี,ยิ้มหัว: ก็อาการที่ยิ้มไปหัวเราะไป, ยิ้มเหย: อาการที่ปริยิ้มออกมาเมื่อถูกจับผิดได้,ยิ้มแห้ง: ยิ้มแบบเหงาๆ แห้งๆ ในลักษณะฝืนยิ้มเยี่ยงคนอกหัก , ยิ้มแหย : ฝืนยิ้มออกมาเมื่อถูกจับได้ว่าทำผิด,ยิ้มเห็นแก้ม แย้มก็ไรฟัน เป็นคำสร้อยที่บอกอาการของคนที่ค่อยเผยยิ้มแต่น้อยๆ

 

ยิ้มสยาม : สยามเมืองยิ้ม

 

ยิ้มสยาม  คือคำว่า ยิ้ม เชื่อมกับ คำว่า สยาม ให้เป็นศัพย์เดียวที่แปลความหมายได้ว่า การยิ้มของคนสยาม/ไทย ซึ่งเมื่อเผชิญปัญหาหรือเจออะไรก็ยิ้มไว้ก่อน

                สยามเมืองยิ้ม และ ยิ้มสยาม เป็นคำแทนความหมายที่ใช้ในการโปรโมตต์การท่องเที่ยวในลักษณะ “ทัวร์ลิตต์”และ “เพรสทัวร์”  อาจรวมทั้ง “ทัวร์ซำเหมา” ซึ่งเริ่มปรากฏเป็นรูปธรรมหลังแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 ใน สมัยรัฐบาล จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นต้นมา หรือหลังยุค ผู้ใหญ่ตีกลองประชุมเป็นต้นมา โดยผ่านสื่อกลางอย่าง อนุสาร อสท. ของ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

การท่องเที่ยวที่เน้นลักษณะ “รอยยิ้ม” ที่ดูเป็นการทอดไมตรีการบริการเพื่อเอาใจลูกค้า ลูกทัวร์ ที่มาบริการ “ยิ้ม”  จึงไม่ใช่จำกัดเฉพาะคนสยามประเทศไทยเท่านั้น แต่มีลักษณะทั้งอุษาคเนย์ หรือทั่วโลกก็ว่าได้

“ยิ้มสยาม” ในที่นี้อาจจำกัดเฉพาะคนที่ยิ้มในสยามประเทศไทยเท่านั้น จึงจำแนกเอาเฉพาะรูปเก่าที่ชาวสยามถ่ายรูปเริ่มปรากฏรอยยิ้มในยุครัชกาลที่ 5 ตอนปลาย ที่นิยมถ่ายเฉพาะเจ้าขุนมูลนาย ขณะที่ ไพร่บ้านพลเมืองยังไม่เป็นที่นิยมเพราะยังมีความเชื่อเรื่อง “วิญญาณในรูปถ่าย” หรือการ “ฝั่งรูปฝั่งรอย” ซึ่งเป็นความเชื่อดั่งเดิมของ “ศาสนาผี” ที่ฝั่งรากลึกก่อน พุทธ และพราหมณ์ จะเข้ามาสู่อุษาคเนย์

รอยยิ้มที่ริมแก้มที่ปรากฏในภายในหน้าชวนให้เสน่หา อาจสื่อความหมายที่งดงามในแง่ของบทเพลง อย่างเพลง อมยิ้ม ของ ชาย เมืองสิงห์ เมื่อราว พ.ศ. 2504-2509 และเพลง เที่ยวละไม ของ วงเฉลียง

ขณะที่ “ยิ้ม” อีกอย่างหนึ่ง อาจสื่อความหมายที่เชื้อเชิญทอดไมตรีชวนชม้ายชายตาจนบางครั้งก็พะว้าพะวังเพราะรอยยิ้ม นั่น

“สยามเมืองยิ้ม” ถูกใช้ในความหมายที่งดงามของรอยยิ้มผู้คนที่อาจไม่จำกัดเฉพาะผู้หญิงเท่านั้น อาจสื่อความหมายในลักษณะชาตินิยมที่ปรากฏในเพลง “สยามเมืองยิ้ม” ของ พุ่มพวง ดวงจันทร์ ราชินีลูกทุ่งผู้ล่วงลับ ซึ่งแต่งโดย วิเชียร คำเจริญ หรือ ลพ บุรีรัตน์ ศิลปินแห่งชาติ เมื่อราวๆ พ.ศ. 2530 เพลงนี้ได้รับรางวัลในการงาน กึ่งศตวรรษลูกทุ่งไทย ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2534 ซึ่งจัดโดย สำนักงานคณะกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติ

ดูเหมือนคำว่า “ยิ้มสยาม” และ “สยามเมืองยิ้ม” จึงถูกใช้เป็นคำประชาสัมพันธ์ในการณรงค์การท่องเที่ยวอยู่หลายวาระไม่ว่าจะยุค ฐานทัพทหารสหรัฐอเมริกา หรือ ปีณรงค์การท่องเที่ยวไทย เมื่อ พ.ศ. 2530 ของ รัฐบาล พลตรี (ยศในขณะนั้น) ชาติชาย ชุณหะวัณ ดำเนินนโยบายเปลี่ยน “สนามรบเป็นสนามการค้า” พร้อมๆ กับ ประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวโปร์โมตต์คำว่า “เวลคัม ทู ไทยแลนด์”

“เวลคัม ทู ไทยแลนด์” กลายเป็นชื่อเพลงที่วงดนตรีเพื่อชีวิต วงคาราบาว นำมาล้อเลียนการท่องเที่ยวรัฐบาลในการท่องเที่ยวที่เน้น“ยิ้มสยาม” ในความหมายที่นักเที่ยวชาวต่างชาติที่รับรู้กลิ่นอายของฐานทัพสหรัฐอเมริกาเมื่อคราวยกพลขึ้นบกว่า“ยิ้มสยาม” คือนัยยะเสน่ห์แห่งราตรีอย่างหนึ่ง และหลังวิกฤติเศรษฐกิจ 2540 ก็ยังได้รับความนิยม จนถึง ปัจจุบัน

“ยิ้มสยาม” หรือ“สยามเมืองยิ้ม” จึงเป็นความหมายที่สื่อทางกิริยาได้ทั้งด้านความหลากหลายของ  “รอยยิ้ม” ที่มีเป้าหมายของ “ผู้ยิ้ม” และ “ผู้ถูกส่งยิ้ม”   เพียงแต่สังคมที่หวั่นเกรงเรื่องศีลธรรมแบบ “ปากว่าตาขยิบ” ไม่สู้จะยอมรับความจริงในเรื่อง “เสน่ห์ของรอยยิ้มสยาม” เท่านั้นเอง


 

อ้างอิง

- จิตร ภูมิศักดิ์.ความเป็นมาของ คำสยาม,ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ ฉบับสมบูรณ์ .สำนักพิมพ์ศยาม.กทม.2519

- สำนักราชบัณฑิตสถาน.พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตสถาน.กทม. 2542

- สำนักพจนานุกรม มติชน.พจนานุกรม ฉบับ มติชน .ศิลปวัฒนธรรม สำนักพิมพ์มติชน.กทม.2547

- สำนักงานคณะกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติ.กึ่งศตวรรษลูกทุ่งไทย ครั้งที่ 2.กทม. .2534

- มองซิเออร์ เดอ ลาลูแบร์.สันต์ ท.โกมลบุตร แปล.สำนักพิมพ์ศรีปัญญา.2548

- เจนภพ จบกระบวนวรรณ.เพลงลูกทุ่ง.สำนักพิมพ์สารคดี.กทม2550

- สุจิตต์ วงศ์เทศ.คนไทยมาจากไหน?.ศิลปวัฒนธรรม.กทม.2548

- ชาญวิทย์ เกษตรศิริ.จากสยามเป็นไทยนามนั้นสำคัญมากฉะนี้หรือ?.มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์.กทม. 2550

- ชินวัฒน์ ตั้งสุทธิจิต.เพลงลูกทุ่งมาจากไหน.http://www.thaipoet.net.สมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทย