Smile Siam มาร่วมกันคืน "สยามเมืองยิ้ม" กลับสู่บ้านเรากันนะครับ ...

ภาพประทับใจ => ภาพสวยงาม => Animals => Topic started by: ppsan on 09 June 2025, 10:22:25

Title: ศูนย์วิจัยข้าว ปทุมธานี : นกช้อนหอยดำเหลือบ
Post by: ppsan on 09 June 2025, 10:22:25
ศูนย์วิจัยข้าว ปทุมธานี : นกช้อนหอยดำเหลือบ


(https://www.bloggang.com/data/n/nontree/picture/1727081937.jpg)

ในช่วงหน้าฝน นกอพยพไม่มี คนดูนกส่วนหนึ่งก็จะไปที่ ศวขป
ซึ่งเป็นที่ชื่อย่อของ ศูนย์วิจัยข้าว ปทุมธานี  เพื่อไปดูนกน้ำ
โดยเฉพาะนกที่ไม่ค่อยพบในที่อื่นอย่าง นกโป่งวิด
เป็นนกที่ผมก็อยากจะได้บ้าง ก็ลองไปหาดูกัน
 
เช้าวันหนึ่งเราก็ออกเดินทาง ไปยังสถานที่แห่งนี้ มีนักดูนกไม่มาก
ต่างกระจัดกระจายกันไป เพราะเป็นสถานที่วิจัย
ดังนั้นก็จะมีการจัดการพื้นที่แตกต่างกันไปในแต่ละแปลง
แน่นอนว่า เราหานกหายากไม่ค่อยจะเจอกับเค้า
 
 นกที่ดีที่สุดที่พบในวันนี้คือ นกช้อนหอยดำเหลือบ (Glossy ibis)
 
หากย้อนกลับไปเมื่อยี่สิบปีก่อน เมื่อพูดถึงนกช้อนหอยในประเทศไทย
ก็จะพูดว่ามีเพียงชนิดเดียวคือ นกช้อนหอยขาว (Black-headed ibis)
ที่พบได้อย่างยากลำบาก แถวอ่างเก็บน้ำตามแนวชายแดนอีสานใต้
นั่นเพราะแหล่งทำรังในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งสุดท้ายนั้นอยู่ในกัมพูชา

เช่นเดียวกับนกช้อนหอยอีก 2 ชนิด ที่คาดว่าเคยมีถื่นอาศัยในประเทศไทย
และหายสาปสูญไปเมื่อนานมาแล้วนั่นก็คือ นั่นก็คือนกช้อนหอยใหญ่ (Giant Ibis)
และนกช้อนหอยดำ (White-Shouldered ibis) ที่ยังสามารถพบเห็นได้ที่เขตอนุรักษ์เสียมปัง
ซึ่งเป็นแหล่งสุดท้ายของนกและสัตว์หายากอย่าง นกแร้ง นกฟินฟุต กระทั่งจระเข้สยาม
ในพื้นที่ป่าสามเหลี่ยมรอยต่อระหว่างประเทศกัมพูชา ลาว และเวียดนาม

(https://www.bloggang.com/data/n/nontree/picture/1727081968.jpg)

ในเวลาต่อมาก็มีคนพบนกช้อนหอยศักดิ์สิทธิ์ (Sacred ibis) หลุดมาจากซาฟารีเวิร์ล
หลังจากนั้นก็มีรายงานนกช้อนหอยดำเหลือบที่เป็นนกอพยพในประเทศไทย
นานไปก็มาอาศัยทำรังวางไข่ที่บึงบอระเพ็ด ทำให้กลายเป็นนกประจำถิ่นของไทย
และกระจายตัวอย่างกว้างขวางไปทั่วประเทศ รวมถึงจำนวนที่พบเป็นฝูงขนาดใหญ่อีกด้วย

ทั้งโลกมีนกช้อนหอยราว 28 ชนิด นกช้อนหอยดำเหลือบเป็นนกโลกเก่า (old world)
เป็นนกน้ำขนาดตัวกลางๆ ประมาณนกยางเปีย ตามรูปภาพด้านบน
เดิมพบเฉพาะในทวีปแอฟริกาตามแนวเส้นศูนย์สูตร และลงมาทางตะวันออกของทวีป
เมื่อ 200 ปีก่อน พวกมันอพยพตามลมสินค้าไปยังทวีปอเมริกาตรงพื้นที่ชุ่มน้ำฟลอริดา

อีกราว 100 ปี ต่อมา ก็พบนกช้อนหอยดำเหลือบที่ออสเตรเลีย
และ 50 ปีต่อมา พวกมันเริ่มสร้างรังบริเวณตะวันตกเฉียงเหนือของอนุทวีปอินเดีย
ซึ่งนกกลุ่มนี้น่าจะเป็นประชากรที่อพยพมายังประเทศพม่าและไทยในเวลาต่อมา
และในช่วงเวลาทีเริ่มพบในประเทศไทยนั้น ก็มีรายงานนกช้อนหอยดำเหลือบในยุโรปด้วย

แสดงให้เห็นว่านกข้อนหอยดำเหลือบประสบความสำเร็จในการขยายพันธ์ได้เป็นอย่างดี
จัดอยู่ในสถานะ Less concern ในขณะที่นกช้อนหอยขาวนั้นอยู่ในสถานะเกือบถูกคุกคาม
แต่ปัจจุบันเราพบนกช้อนหอยขาวได้มากขึ้น ซึ่งน่าเป็นประชากรที่อพยพมาจากอินเดีย
เพราะจุดที่พบแรกๆ นั้น คือพื้นที่ภาคกลางไม่ต่างไปจากนกช้อนหอยดำเหลือบ


.
ที่มา : ขอขอบคุณเรื่องและภาพจาก
ผู้ชายในสายลมหนาว
https://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=nontree&month=09-2024&date=23&group=22&gblog=109
.