Smile Siam มาร่วมกันคืน "สยามเมืองยิ้ม" กลับสู่บ้านเรากันนะครับ ... | ข้อควรปฎิบัติ | ห้องรับแขก (ยังไม่เป็นสมาชิกก็ถามได้ที่นี่นะครับ) | Post reply ( Re: เมื่อคุณตา คุณยายยังเด็ก )
Topic Summary
Posted by: ppsan
« on: 27 February 2022, 18:32:11 »
daylife
สวัสดีครับ ผมเป็นแอดมินเพจชื่อ ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ครับ
เนื่องจากพวกผมได้ทำบทความเกี่ยวกับคุณทิพย์วาณี สนิทวงศ์ฯ พร้อมกับนำเรื่องเมื่อคุณตาคุณยายยังเด็ก ตอนแรกกับตอนสุดท้ายที่ตีพิมพ์ในนิตยสารสตรีสารมานำเสนอ ก็เลยอยากขออนุญาตนำมาประชาสัมพันธ์ในเว็บบอร์ดเรือนไทยครับ
https://www.facebook.com/THENORMALHERO/posts/1967085646711350
ต้องขออภัยด้วยนะครับ หากเราขุดกระทู้ที่เก่ามากขึ้นมา แต่คิดว่าอาจจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้สนใจ ขอบคุณครับมากครับ
.....
เทาชมพู
ยินดีค่ะ ที่นำเรื่องนี้มาเล่าสู่กันฟังอีก หาอ่านตอนแรกกับตอนสุดท้ายได้ที่ไหนคะ ดิฉันหาไม่เจอ อยากนำมาลงในกระทู้นี้ ไว้สำหรับผู้สนใจได้หาอ่านได้ต่อไป
.....
daylife
เรียนอาจารย์ครับ
เนื้อหาทั้งสองตอนอยู่ในภาพประกอบ 2 รูปหลังครับ
สำหรับบทความ ผมขออนุญาตแปะลิงก์ประกอบแทนการคัดลอกเรื่องมาลง เนื่องจากได้ขออนุญาตครอบครัวของคุณทิพย์วาณี เพื่อนำมาใช้เผยแพร่ผ่านทาง Facebook อย่างเดียว ต้องขออภัยด้วยนะครับ
ตอนแรก : เผาศพ https://www.facebook.com/THENORMALHERO/photos/pcb.1967085646711350/1967083046711610
ตอนสุดท้าย : ผมเปีย https://www.facebook.com/THENORMALHERO/photos/pcb.1967085646711350/1967083026711612
.....
เทาชมพู
ขอบคุณค่ะ ได้อ่านตามลิ้งค์แล้ว คิดถึงเจ้าของเรื่องมากค่ะ ได้อ่านของเธอเป็นประโยชน์แก่การค้นคว้ามายาวนานหลายปี
.....
ประกอบ
"อ้างจาก: daylife สวัสดีครับ ผมเป็นแอดมินเพจชื่อ ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ครับ
เนื่องจากพวกผมได้ทำบทความเกี่ยวกับคุณทิพย์วาณี สนิทวงศ์ฯ พร้อมกับนำเรื่องเมื่อคุณตาคุณยายยังเด็ก ตอนแรกกับตอนสุดท้ายที่ตีพิมพ์ในนิตยสารสตรีสารมานำเสนอ ก็เลยอยากขออนุญาตนำมาประชาสัมพันธ์ในเว็บบอร์ดเรือนไทยครับ
https://www.facebook.com/THENORMALHERO/posts/1967085646711350
ต้องขออภัยด้วยนะครับ หากเราขุดกระทู้ที่เก่ามากขึ้นมา แต่คิดว่าอาจจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้สนใจ ขอบคุณครับมากครับ "
เข้าไปอ่านในเพจแล้ว ทีแรกจะกด Like แต่เปลี่ยนใจ เพราะผมหงุดหงิดกับวิธีการเรียกชื่อคนในเพจครับ คือไม่ทราบเอาธรรมเนียมไหนมาที่ใช้การเรียกชื่อบุคคลต่าง ๆ ด้วยชื่อเฉย ๆ ไม่มีคำนำหน้าเช่นคุณเลย อ่านแล้วทำให้มันสะดุด รู้สึกว่าผู้เขียนไม่ได้ให้เกียรติผู้ถูกกล่างถึงมากพอ
อย่างคุณทิพย์วาณี ก็น่าจะเรียกคุณทิพย์วาณีแบบในกระทู้นี่ แต่ในเพจเรียกทิพย์วาณีห้วน ๆ หรือท่านอื่น ๆ ก็เรียกชื่อห้วน ๆ ทั้งนั้น ซึ่งถ้าคุณคิดว่านี่เป็นรูปแบบเฉพาะตัวในการเขียน ที่จริงมีการให้เกียรติผู้ถูกกล่างถึงอยู่แล้ว ผมคิดว่าควรเปลี่ยนรูปแบบได้แล้ว จึงขอแนะนำมาเพื่อให้มีการปรับปรุงครับ
.....
เทาชมพู
ปลายแส้ของคุณประกอบน่าจะตวัดมาถึงแถวนี้ด้วย ทำเอาสะดุ้งว่าตัวเองเผลอเอ่ยถึงหลายๆท่านโดยไม่มีคำว่า "คุณ" นำหน้าบ้างรึเปล่า เชื่อว่าคงมีบ้าง เช่นบรรยายรายชื่อบุคคลกลุ่มบุกเบิกสถานีโทรทัศน์ช่อง 4 ก็เอ่ยชื่อโดยไม่มีคำว่าคุณนำหน้า ไม่เรียก คุณจำนง คุณกำธร คุณอารีย์ คุณสอาดฯลฯ แต่ถ้าเจาะจงเป็นบุคคลก็จะมีคำว่า "คุณ" เดาว่าคุณ daylife อาจคิดทำนองเดียวกันค่ะ แต่ถ้าคุณ daylife อยากจะชี้แจงให้คุณประกอบเข้าใจ จะได้กดไลค์ให้ได้อย่างสะดวกใจ ก็เชิญเลยนะคะ
.....
ประกอบ
"อ้างจาก: เทาชมพู ปลายแส้ของคุณประกอบน่าจะตวัดมาถึงแถวนี้ด้วย ทำเอาสะดุ้งว่าตัวเองเผลอเอ่ยถึงหลายๆท่านโดยไม่มีคำว่า "คุณ" นำหน้าบ้างรึเปล่า เชื่อว่าคงมีบ้าง "
แห่ะ ๆ ผมไม่ได้ตวัดถึงท่านอาจารย์นะครับ
คือผมเข้าไปอ่านในเพจ เรื่องราวของบุคคลท่านอื่น ก็เห็นแนวทางการเขียนแบบนี้หมด คือเรียกชื่อเฉย ๆ ตลอด คล้าย ๆ กับอ่านข่าวกีฬา เรียกชื่อนักกีฬาเฉย ๆ เพื่อรายงานว่าใคร ทำอะไร
แต่ทีนี้เพจนี้ เป็นการเขียนในเชิงยกย่อง และบุคคลที่ถูกเขียรถึงหลายท่านล่วงลับไปแล้ว การเขียนในรูปแบบนี้แต่เรียกชื่อเฉยๆ มันดูจงใจและน่ารำคาญสำหรับผมไป อาจจะดูจุกจิกไปนิด แต่เขียนแบบนี้เหมือนเอาวิธีพูดถึงพื่อน มาใข้พูดถึงผู้ใหญ่ไป
.....
เพ็ญชมพู
"อ้างจาก: ประกอบ ผมหงุดหงิดกับวิธีการเรียกชื่อคนในเพจครับ คือไม่ทราบเอาธรรมเนียมไหนมาที่ใช้การเรียกชื่อบุคคลต่าง ๆ ด้วยชื่อเฉย ๆ ไม่มีคำนำหน้าเช่นคุณเลย อ่านแล้วทำให้มันสะดุด รู้สึกว่าผู้เขียนไม่ได้ให้เกียรติผู้ถูกกล่างถึงมากพอ
อย่างคุณทิพย์วาณี ก็น่าจะเรียกคุณทิพย์วาณีแบบในกระทู้นี่ แต่ในเพจเรียกทิพย์วาณีห้วน ๆ หรือท่านอื่น ๆ ก็เรียกชื่อห้วน ๆ ทั้งนั้น ซึ่งถ้าคุณคิดว่านี่เป็นรูปแบบเฉพาะตัวในการเขียน ที่จริงมีการให้เกียรติผู้ถูกกล่าวถึงอยู่แล้ว ผมคิดว่าควรเปลี่ยนรูปแบบได้แล้ว จึงขอแนะนำมาเพื่อให้มีการปรับปรุงครับ "
คุณ daylife เรียกคุณทิพย์วาณี สนิทวงศ์ ณ อยุธยา โดยไม่มีคำว่า "คุณ" นำหน้า อาจมีเหตุผลเช่นเดียวกับคุณเทาชมพู
"อ้างจาก: เทาชมพู ดิฉันเรียกจิตร ภูมิศักดิ์ โดยไม่ใช้คำว่า "คุณ" นำหน้า เพราะรู้สึกว่านี่คือนามปากกาของเขา ไม่ได้เป็นแค่ชื่อจริงนามสกุลจริงเท่านั้น ก็เหมือนเรียก "ยาขอบ" ว่า "ยาขอบ" ไม่ได้เรียก "คุณยาขอบ" เรียก "ศรีบูรพา" โดยไม่มีคำว่า "คุณ" ด้วยเหตุผลเดียวกัน
ส่วนม.ร.ว. คึกฤทธิ์ จะเรียกท่านว่า "คึกฤทธิ์" เฉย ๆ ก็ได้ถ้าถือว่านี่คือนามปากกา "คึกฤทธิ์ ปราโมช" ศ.ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณก็เคยเรียกแบบนี้ในบทวิจารณ์ ส่วนดิฉันถือว่าเรียกชื่อจริงจึงมีคำนำหน้าว่า ม.ร.ว. "
.....
daylife
ขอบคุณทุกท่านมากครับ
สำหรับประเด็นเรื่องการใช้ 'คุณ' นั้น ขอชี้แจงดังนี้ครับ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะทีมผู้เขียนเติบโตมาจากการทำงานสายหนังสือพิมพ์และนิตยสารเชิงสารคดีครับ ที่ผ่านมาจึงมองว่า คุณเป็นภาษาพูด รวมทั้งเคยได้รับคำแนะนำว่า การเขียนแบบทางการไม่เหมาะที่จะใช้คำนี้เนื่องจากเป็นชื่อตำแหน่งพระราชทาน จึงยึดรูปแบบนี้มาตลอด ส่วนใหญ่พวกเราจึงใช้คุณ เฉพาะที่เป็นภาษาเพื่อการสนทนามากกว่า เช่นบทความที่เป็นสัมภาษณ์ลักษณะคำถามคำตอบ อย่างไรก็ดี คำทักท้วงของคุณประกอบนั้นมีค่ามากครับ ทีมงานจึงอยากขอนำไปปรึกษาหารือกันก่อน เพื่อปรับแนวทางการเขียนให้เหมาะสมมากขึ้นครับ
ขอบคุณครับ
.....
เทาชมพู
ความหมายของคำว่า "คุณ" ตามพจนานุกรมราชบัณฑิตฯ
ผลการค้นหา "คุณ" คุณ ๑, คุณ- (๑) [คุน, คุนนะ-] น. ความดีที่มีประจำอยู่ในสิ่งนั้น ๆ เช่น คุณของแผ่นดิน, ความดีที่มีต่อสิ่งต่าง ๆ เช่น ไม่รู้คุณข้าวแดงแกงร้อน
(๒) น. ความเกื้อกูล เช่น รู้คุณ. (ป., ส.)
(๓) น. คำที่ใช้เรียกนำหน้าบุคคลเพื่อแสดงความยกย่อง เช่น คุณพ่อ คุณแม่ คุณสมร
(๔) น. คำนำหน้าชื่อสตรีที่ยังไม่ได้สมรสและได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตั้งแต่ชั้นจตุตถจุลจอมเกล้าถึงชั้นทุติยจุลจอมเกล้า, คำนำหน้าชื่อสตรีที่ยังไม่ได้สมรสและได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าฝ่ายในชั้นทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษขึ้นไป
(๕) (ไว) น. คำแต่งชื่อ.
(๖) [คุน, คุนนะ-] ส. คำใช้แทนผู้ที่เราพูดด้วย เป็นคำสุภาพ, เป็นสรรพนามบุรุษที่ ๒, (ปาก) คำใช้แทนผู้ที่เราพูดถึงด้วยความสุภาพ, เป็นสรรพนามบุรุษที่ ๓, เช่น คุณอยู่ไหม ช่วยไปเรียนว่ามีคนมาหา.
ลูกคำของ "คุณ ๑, คุณ-" คือ คุณค่า คุณชาย คุณธรรม คุณนาม คุณนาย คุณบท คุณประโยชน์ คุณพิเศษ คุณภาพ คุณลักษณะ คุณวิเศษ คุณวุฒิ คุณศัพท์ คุณสมบัติ คุณหญิง คุณากร คุณูปการ คุโณปการ
.....
ประกอบ
ผมเข้าใจนะครับว่ารูปแบบการเขียนสารคดีนิยมเขียนโดยเรียกชื่อเฉย ๆ โดยเฉพาะชื่อฝรั่ง ชื่อนักกีฬา ฯลฯ
แต่รูปแบบภาษาไทย และในบางบริบท ในบางสถานการณ์ เช่นการกล่างถึงใครในเชิงยกย่อง โดยเฉพาะคนคนนั้นเป็นคนไทย การเรียกชื่อเฉย ๆ ไม่มีคำนำหน้าใด ๆ เลย มันดูห้วนและทำให้ขาดความสวยงามไปเยอะ การเพิ่มคำว่าคุณลงไปอีกคำ เวลากล่าวถึงใคร โดยเฉพาะในเชิงยกย่อง จะไม่ทำให้ความเป็นทางการของบทความหายไป การเติมคำว่าคุณ หรือตำแหน่ง หรือคำอื่น ๆ เช่นคำว่าเจ้าสัว หรือคำว่าอาจารย์ แม้คนนั้นจะไม่ได้เป็นอาจารย์ จะไม่ลดความเป็นทางการของบทความลงไป แต่เป็นการยกย่องมากกว่า
อันนี้ยกมาจากที่ท่านอาจารย์ใหญ่เขียนเอาไว้ และทางคุณ daylife ยกไปไว้ในบทความเลย
"คุณทิพย์วาณีใช้ภาษาง่ายๆ แต่บรรยายภาพได้ละเอียดลออเห็นจริงตามไปด้วย ราวกับเดินตามเธอไปเยี่ยมเยียนสถานที่ต่างๆ ที่เธอบรรยายไว้ เป็นวิถีชีวิตไทยที่ห่างหายไปจากโลกปัจจุบันแล้ว แต่ก็ยังมีค่าควรแก่การระลึกถึงและดำเนินรอยตาม.. เป็นวรรณกรรมเยาวชนที่เล่าเรื่องในอดีตได้สนุก มีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่ถูกต้องแม่นยำอย่างนี้หาได้ยากมาก.. เสียดายมากว่า เมื่อไม่มีคุณทิพย์วาณีแล้ว ก็ไม่มีใครเขียนเรื่องทำนองนี้อีก"
พอเปลี่ยนเป็น
"ทิพย์วาณีใช้ภาษาง่ายๆ แต่บรรยายภาพได้ละเอียดลออเห็นจริงตามไปด้วย ราวกับเดินตามเธอไปเยี่ยมเยียนสถานที่ต่างๆ ที่เธอบรรยายไว้ เป็นวิถีชีวิตไทยที่ห่างหายไปจากโลกปัจจุบันแล้ว แต่ก็ยังมีค่าควรแก่การระลึกถึงและดำเนินรอยตาม.. เป็นวรรณกรรมเยาวชนที่เล่าเรื่องในอดีตได้สนุก มีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่ถูกต้องแม่นยำอย่างนี้หาได้ยากมาก.. เสียดายมากว่า เมื่อไม่มีทิพย์วาณีแล้ว ก็ไม่มีใครเขียนเรื่องทำนองนี้อีก"
คนอื่นอาจจะไม่รู้สึก แต่สำหรับผมตัดคุณไปคำเดียว ความสละสลวยหายไปทันที แต่ถ้าเป็นการพูดถึงคนต่างชาติ บางครั้งใส่คุณเข้าไปก็อาจจะทำให้ความสละสลวยหายไปเช่นกัน จริงๆ แล้วเพจยอดมนุษย์ คนธรรมดาเป็นเพจที่น่าสนใจและน่าจะเติบโตได้อีกมาก คนหัวโบราณเกินวัยแบบผมก็ขอติไว้เพื่อก่อซักเรื่องนึง อย่างอื่นดีหมดแล้วครับ
ปล ผมกด like ไปเรียบร้อยแล้วครับ
.....
daylife
ขอบคุณทุกท่านมากเลยครับ สำหรับคำแนะนำต่างๆ พวกผมจะเก็บไปพิจารณาเพื่อปรับปรุงวิธีการนำเสนอเนื้อหานะครับ
.....
azante
"อ้างจาก: เทาชมพู คุณทิพย์วาณี สนิทวงศ์ ณ อยุธยา เป็นธิดาของหลวงจรูญสนิทวงศ์(หม่อมหลวงจรูญ สนิทวงศ์) ผู้เป็นบุตรของเจ้าพระยาวงษานุประพัทธ์ (หม่อมราชวงศ์สท้าน สนิทวงศ์) กับท่านผู้หญิงวงศานุประพัทธ์ (ตาด สิงหเสนี) คุณหลวงจรูญเป็นคนไทยที่สำเร็จวิชาวิศวกรรมการรถไฟจากประเทศอังกฤษ กลับมารับราชการกรมรถไฟหลวง เป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายช่างกลอำนวยการโรงงาน โรงงานมักกะสัน ในปี พ.ศ. 2473 ในรัชกาลที่ 6 ท่านได้รับพระราชทานบรรดาศัราชทินนามเป็น หลวงจรูญสนิทวงศ์
หม่อมหลวงจรูญ สนิทวงศ์ สมรสกับหม่อมหลวงรวง มีธิดาชื่อ อรุณ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา (ท่านผู้หญิงอรุณ กิติยากร ณ อยุธยา) ซึ่งสมรสกับหม่อมราชวงศ์กัลยาณกิติ์ กิติยากร พระเชษฐาในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ส่วนคุณทิพย์วาณี สนิทวงศ์ ณ อยุธยา เป็นธิดาเกิดจากหม่อมหลวงฟ่อน(ไม่ทราบนามสกุล)
คุณทิพย์วาณีเกิดเมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ.2475 เป็นศิษย์เก่าโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย แล้วศึกษาภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน เป็นการเพิ่มเติม ประกอบอาชีพเป็นเจ้าของร้านผดุงชีพ ขายงานจำพวกศิลปหัตถกรรม ที่ถนนจักรพงษ์ กรุงเทพมหานคร ท่านชอบการเขียนสารคดีเกี่ยวกับศิลปหัตกรรมของไทยมาตั้งแต่เป็นนักเรียน ได้เขียนเรื่อง ตุ๊กตาชาววัง หัวโขน ปลาตะเพียน ฯลฯ พิมพ์อัดสำเนาแจกแก่กลุ่มบุคคลเป็นกลุ่ม ๆ ไป โดยมากเป็นลูกค้าที่ซื้องานศิลปหัตถกรรมจากร้าน
หนังสือ เมื่อคุณตาคุณยายยังเด็ก ได้รับรางวัลการประกวดหนังสือระหว่างชาติ ครั้งแรก พ.ศ. ๒๕๑๕ (International Book Year ค.ศ. ๑๙๗๒) ที่คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม กระทรวงศึกษาธิการจัดขึ้น ในโครงการระหว่างชาติว่าด้วยการพัฒนาหนังสือ ตามมติขององค์การยูเนสโก สหประชาชาติ
คุณทิพย์วาณีถึงแก่กรรมเมื่อพ.ศ. 2547 ค่ะ อัฐิบรรจุไว้ที่วัดชนะสงคราม บริเวณด้านหลังพระอุโบสถ "
https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%88%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B8%8D%E0%B8%AA%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%A8%E0%B9%8C_(%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%88%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B8%8D_%E0%B8%AA%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%A8%E0%B9%8C)
หลวงจรูญฯ ท่านสิ้นเมื่อ ปี 2473 คุณทิพย์วาณีเกิด 2475 เป็นไปได้อย่างไรครับ
.....
เพ็ญชมพู
จาก http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2474/D/128.PDF
.....
เทาชมพู
พยายามเช็คประวัติคุณทิพย์วาณีว่าลงปีเกิดของท่านผิดหรือเปล่า แต่ก็ยังหาไม่พบ ใครพบช่วยบอกด้วยนะคะ
.....
daylife
ถ้าตามที่สัมภาษณ์ของคุณทิพย์วาณีที่ลงสตรีสาร ระบุว่าคุณพ่อเสียชีวิตก่อนเกิดราว 1 เดือน ก็น่าจะเป็นเมษายน 2474 นะครับ (นับปีแบบเก่า) ข้อมูลในวิกิพีเดียน่าจะคลาดเคลื่อนอยู่นะครับ
.....
daylife
ข้อมูลจากหนังสือเรียนชุดทักษะสัมพันธ์ครับ
.....
เทาชมพู
ขอบคุณมากค่ะ
.....
เพ็ญชมพู
"อ้างจาก: daylife ถ้าตามที่สัมภาษณ์ของคุณทิพย์วาณีที่ลงสตรีสาร ระบุว่าคุณพ่อเสียชีวิตก่อนเกิดราว 1 เดือน ก็น่าจะเป็นเมษายน 2474 นะครับ (นับปีแบบเก่า) "
ไม่ว่าจะนับปีแบบเก่าหรือแบบใหม่ คุณทิพย์วาณีก็เกิดวันที่ ๒๗ เมษายน ๒๔๗๔ เพราะก่อนที่เราจะใช้วันที่ ๑ มกราคมเป็นวันปีใหม่ เราใช้ ๑ เมษายนเป็นวันปีใหม่มาก่อน
สำหรับคุณพ่อ (หลวงจรูญสนิทวงศ์) ที่ในราชกิจจานุเบกษาบอกว่าเสียชีวิตวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๔๗๓ เป็นการนับแบบเก่า ถ้านับแบบปัจจุบันคือ ๓๐ มีนาคม ๒๔๗๔ ก่อนคุณทิพย์วาณีเกิด ๒๘ วัน
.....
superboy
ข้อมูลจากรถไฟไทยดอทคอม นำมาจากหนังสือนุสรณ์ครบรอบ 72 ปีการรถไฟแห่งประเทศไทย
คนไทยคนแรกซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นนายช่างกลอำนวยการโรงงาน คือ หลวงจรูญสนิทวงศ์ (ม.ล.จรูญ สนิทวงศ์) ดำรงตำแหน่งเมื่อ 1 เมษายน พ.ศ.2473 แต่ได้ถึงแก่อนิจกรรมลงในปลายปีเดียวกัน
http://portal.rotfaithai.com/modules.php?name=Forums&file=viewtopic&t=5552
แต่ผมไม่รู้ว่านับแบบเก่าแบบใหม่นะครับ คือไม่รู้จริงๆ ว่าเขานับกันอย่างไร เคยอ่านบทความเคยเขียนบทความผมก็ว่าไปตามหลักฐาน แล้วเขานับกันแบบไหนหนอ
...........................
Posted by: ppsan
« on: 27 February 2022, 18:26:09 »
เทาชมพู
เห็นหนุ่มน้อยแล้ว อยากเห็นสาวน้อยฝาแฝด ยังเก็บรูปไว้หรือเปล่าคะ
.....
ศานติ อดีตศัลยแพทย์ช่องอกเส้นเลือด (เกษียณ) ปัจจุบันเป็นช่างไม้
ขอค้นก่อนครับ ตอนนี้มีเล่าต่อถึงสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง
พอกรุงเทพเริ่มโดนทิ้งระเบิด ก็ย้ายออกไปนอกเมืองไปอยู่กับเพื่อนแม่ ที่เราเรียกกันว่า Aunt Mary ที่ซอยแยกจากซอยพร้อมพงษ์ จำชื่อไม่ได้ พร้อมอะไรสักอย่าง สมัยนั้นนับว่าไกลออกไปมาก มีบ้านไม่กี่หลัง บางคืนก็มีการทิ้งระเบิดในเมือง แต่แถวนั้นปลอดภัย ต่อมากรมช่างอากาศย้ายไปโคราชทั้งกรม ไปตั้งอยู่ตำบลปรุใหญ่ มีบ้านทหารอากาศเรียงไปตลอดตั้งแต่วัดไหม่ วัดกองพระทราย วัดหลักร้อย จนถึงวัดสวนพริกไทย เป็นเรือนไม้ ฝาไม้ไผ่ที่เอามาผ่าแล้วแบะออกมา (ไมทราบเขาเรียกอะไร) ผนังระหว่างห้องเป็นไม้ไผ่ขัดแตะ ยกพื้นพอเดินลอดได้สบาย น่าอยู่ดีเหมือนกัน
วันแรกที่ไปถึงระหว่างที่ผู้ใหญ่เขาไปทำโน่นทำนี่ ผมก็ถือโอกาสเดินข้ามถนนไปที่ลานวัดกองพระทราย เด็กๆแถวนั้นคงไม่เคยเห็นเด็กหน้าตาเป็นฝรั่งเลยมากันหลายคน ได้เป็นเพื่อนกันแต่แรกเลย มีคนหนึ่งถามผมว่า ไปดูค้วยไหม ทีแรกสะดุ้งไม่แน่ใจว่าจะไปดูอะไร แต่ก็ตามเขาไปดูควายในไร่ ตอนนั้นต้องอาศัยไปเรียน รร.ศิริวิทยากร ในเมือง น้องอยู่ ป.๒ ผมอยู่ ป.๔ เรียนไปได้สองวันครุบอกแม่ว่าจะเลื่อนขั้นให้น้องสองคนเรียน ป.๓ แต่เลื่อนให้ผมไม่ได้เพราะเป็นชั้นประโยค อีกไม่กี่เดือนกรมช่างอากาศก็ย้าย รร.ช่างฝีมือ ชอ.มาโคราช เด็กๆก็เลยไม่ต้องนั่งรถกุดังเข้าเมืองทุกเช้า
แรกไปถึงไม่มีใครช่วยทำกับข้าว แม่ต้องทำเอง แม่อยากจะทำอาหารไทยพวกแกงต่างๆ สมัยนั้นตำราทำกับข้าวไม่มี อาศัยบอกกันต่อๆ แม่ทราบว่าภริยาของนายนาวาโท เขียน โสมนะพันธ์ ขื่อคุณลมัย ทำกับข้าวเก่ง เลยส่งผมไปขอจดตำรับแกงต่างๆ เป็นภาษาอังกฤษ คุณลมัยก็ใจดี อุตส่าห์นั่งบอกคำบอกให้ผมแปลแล้วจดเป็นอังกฤษ เครื่องเทศไหนที่ไม่รู้ก็เอามาเป็นตัวอย่างเพราะไม่รู้ชื่ออังกฤษ จำไม่ได้ว่าแม่ทำแกงได้อร่อยแค่ไหน เพราะพอดีมีพวกนายทหารหนุ่มๆโสด เพิ่งจบจุฬาฯ ที่เป็นนายทหารสังกัด ชอ. ๒ ที่พ่อเป็นหัวหน้าอยู่ (คนที่เคยทำงานกับพ่อเรียกพ่อว่า หัวหน้า ทุกคน แม้จนกระทั่งตอนออกจากราชการมาหลายปีแล้ว) เริ่มมากินข้าวเย็นที่บ้านแทบทุกคืน มือเย็นแม่ไม่ต้องเข้าครัวเลย สี่ห้าคนแบ่งหน้าที่กันหมด ทีจำได้มี ศุลี มหาสันทนะ บูชิต บุนนาค ไพโรจน์ สนิทวงศ์ ชำนาญ … กับ อีกคนที่ผมนึกชื่อไม่ออก เป็นคนทำกับข้าวเก่ง คนอื่นเป็นคนชิม แม่ไปเห็นคนชิมคนหนึ่งชิมขาไก่ทั้งขา เลยไล่ออกจากครัว สนุกกันดี คุณบูชิต ออกยิงนกเป็ดน้ำบ่อยๆ มีมาแกงเป็นประจำ ตอนหลังที่บ้านเลี้ยงเป็ดเอง คุณบูชิตก็จัดการเรื่องเป็ดอีก ผมมีหน้าที่ทำความสะอาดตะเกียงโคมรั้ว เติมน้ำมัน กับจุดตะเกียง เดือนหนึ่งเขาจ่ายน้ำมันก๊าตให้บ้านละปีบ หน้าที่อีกอย่างก็คือเช้าวันอาทิตย์ต้องไปตลาดแต่เช้าเพื่อซื้อของพิเศษเช่น สมองหมู เอามาชุบแป้งทอด ตับหมู เอามาทอด ถ้าไปสายจะหมด เนื้อหมูส่วนมากมีเม็ดกลมๆขาวๆขนาด ๒ - ๓ มม. ชาวบ้านว่าเนื้อเป็นเม็ดสาคู มาเรียนแพทย์แล้วถึงรู้ว่าเป็น larva (cysticerci) ของตัวตืด แต่เนื้อที่เอามากินนั้นสุกเลยปลอดภัย หลังอาหารแล้วพวกนายทหารก็นั่งคุยกัน บางคนก็ถือโอกาสฝึกภาษากับแม่ ผมเองก็สนุก อายุ ๑๐ ขวบแต่ได้นั่งฟังหนุ่มๆเขาคุยกันเรื่องเครื่องบิน เรื่องอาวุธ ไม่เคยได้ยินเขาคุยกันเรื่องสาว คงเพราะหายาก
ผมรู้สึกว่าคุณศุลีเป็นคนโปรดของแม่ ตัวสูงที่สุด แม่เลยตั้งชื่อว่า Daddy Long-Legs ตามคนใจดีในนวนิยายที่ขึ้นชื่อสมัยแม่เป็นสาว หลังสงครามเมื่อพ่อลาออกจากราชการ คุณศุลีก็ลาออกตามไปทำงานด้วยกัน มีอยู่พักหนึ่งที่ท่านอยู่ รพ.ศิริราชหลายเดือน แม่พาผมไปเยี่ยมที่ศัลย์ชาย ๑ หลายหน สมัยเด็กคิดอยากเป็นวิศวกรตามพ่อ แต่มาสำนึกตัวดอนอยู่ ตอ. อาจารย์สุภาพ รังควร ให้การบ้านตรีโกณมิติ ผมนั่งทำอยู่ที่บ้าน พ่อเข้ามายืนดูแล้วอาสาช่วย ผมก็โล่งอกขึ้นเพราะพ่อสอบ College Board กับ มรว.สุกสม สองคนได้คะแนนสูงที่สุดในอเมริกาในวิชาคำนวน คำถามแรกที่พ่อถามผมคือ ‘Sine คือ opposite side หารด้วย hypothenuse ใช่ไหม?’ ผมใจฝ่อทันทีเพราะคนที่จะช่วยพิศูจน์สมการทำท่าจะลืมเบื้องต้นไปแล้ว ในที่สุดสองคนช่วยกันจนพิศูจน์สมการได้ ใช้หน้ากระดาษกว่าๆ วันรุ่งขึ้นผมเอาการบ้านไปส่งอาจารย์ พูมใจมาก โจทย์ยากต้องใช้กว่าหน้ากระดาษถึงพิศูจน์ได้ ปรากฎว่า ธวัช เมฆสวรรค์ ที่นั่งอยู่หน้าผมเขาพิศุจน์ได้ภายในสี่บันทัด ที่แม่พาผมไปเยี่ยมคุณศุลีบ่อยครั้งเลยเปลี่ยนใจอยากเป็นหมอ ไม่ต้องมานั่งพิศูจน์สมการ
สมัยแม่อยู่ฝรั่งเศสชอบไป camping ไป ski กับเพื่อนฝูงเป็นประจำ มี rucksack (back-pack ใหญ่ๆ) ที่ใช้หอบสัมภาระ แมเอา่ติดตัวมาเมืองไทยด้วย พอมีท่าทีว่าโคราชจะโดนทิ้งระเบิดก็จัดเครื่องหลังไว้ให้แบกคนละใบ เผื่อต้องหนีเข้าดง ใบหนึ่งมียาต่างๆ อีกใบมีผ้าห่ม อีกใบมีเสื้อผ้า อีกใบมีอาหารกระป๋อง วันหนึ่งแม่นอนจับไข้จากมาลาเรียอยู่ ตอนเย็นพ่อกลับบ้านแล้วกำลังหุงเข้า ผมได้ยินเสียงเครื่องบิน ตื่นเต้นมากเพราะดังกระหึ่มไปทั้งฟ้า ผมตะโกนว่าเครื่องบิน แล้วโดดลงไปที่ลานข้างบ้าน พ่อร้องลั่นว่า อย่าออกไป คงฟังรู้ว่าไม่ใช่เครื่องบินไทยแน่ แต่ผมออกไปที่ลานบ้านแล้ว เห็นเครื่องบินสี่เครื่องยนตร์มามากมาย ต่างคนต่างคว้ากระเป๋าที่แม่กำหนดไว้ วิ่งเข้าไปในสวนน้อยหน่าหลังบ้านแล้วหลบลงคู พ่อกับผมนอนหงายดูเครื่องบิน เห็นเปิดประตูใต้ท้องปล่อยระเบิดลงมาชุดละ ๗ ลูก พ่อบอกว่า เราไม่เป็นไรหรอกเพราะปล่อยเหนือหัว จะไปแย่ที่คนอื่น วันนั้นสถานีรถไฟหัวรถโดนหนัก มีระเบิดเวลาดังอยู่ตลอดคืน
ว่าที่จริงการทีกรมช่างอากาศย้ายไปโคราช พร้อมทั้งย้าย รร.ช่างฝีมือ ชอ. (ปีถัดไปดูเหมือนจะเปลี่ยนเป็น รร.วิศวกรรม ชอ.) ทำให้เด็กอย่างผมหูตากว้างขึ้น ถ้าไม่ได้ไปโคราชก็คงอยู่แต่ใน รร.เครือศาสนาคริสเตียน (เซ็นต์คาเบรียล แล้ว กรุงเทพคริสเตียน) เท่านั้นไม่ได้เห็นอะไรในแง่พุทธศาสนาจนเข้า ตอ. แต่ตอนที่โคราชทุกวันเสาร์ตอนชักธงแล้ว จะมีการท่องพระพุทธชัยมงคลคาถา (พระคาถาพาหุง) ที่สมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯทรงแปลไว้ แม่ผมไม่ได้เคร่งศาสนา ถ้าไปโบสถ์ก็เฉพาะวันก่อนวันคริสมาส อาจไม่เคร่งเพราะยายผมตอนอยู่อเมริกาเป็นคนชอบลอง ปฎิบัติตามศาสนายิวสองสามปี เป็นโปรเตสตันสองสามปี ถือศึลห้าสองสามปี ในที่สุดดูเหมือนจะไปลงเอยที่ศาสนาบาฮาย พ่อก็ไม่เคร่งแต่เป็นคนตรง ระหว่างสงครามเขาแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าฝ่ายการซ่อมกรมช่างอากาศ มีการทำบุญเลี้ยงพระที่วัดใหม่ เลี้ยงพระแล้วก็นั่งรับศีล ผมหันไปเห็นว่าพ่อไม่ได้พนมมืออยู่ตอนหนึ่ง ก็กระซิบว่า ‘ป้า ทำไม่ไม่พนมมือ?’ พ่อบอกว่า ‘เดี๋ยวจะอธิบายให้’ ตอนเดินกลับบ้านพ่อก็อธิบายว่าตอนนั้นพราะกำลังให้ศีลห้า ข้อที่เกี่ยวกับการห้ามดื่มเหล้า ตนเองก็อยู่แล้วว่าคืนนั้นจะมีการเลี้ยง จะมีการดื่มเหล่้า จะรับศีลข้อนี้ก็ยังไงๆอยู่ เลยไม่พนมมือ ทุกครั้งที่กลับไปเมืองไทยเวลารุ่นเขาเลี้ยงพระ มีการรับศึลก็อดนึกถึงพ่อไม่ได้
ตอนอยู่โคราชมีเรื่องตื่นเต้นสองครั้ง ครั้งแรกตอนปิเเทอมระหว่าง ป.๔ ม.๑ ผมคงจะซนมาก แม่คงบ่นให้พ่อฟัง พ่อเลยเอาผมไปทำงานด้วย ตัวโรงงานส่วนหนึ่งอยู่ที่สนามบิน โรงซ่อมมีเครื่องบินกำลังซ่อมอยู่ ๕ - ๖ ลำ ก็มีโอกาสไปยืนดูช่างเขาทำงานกัน ปีนขึ้นไปนั่งในเครื่องก็ได้ ไม่มีใครว่าเพราะเป็นลูกหัวหน้า ซ้ำยังช่วยอธิบาย ช่วยให้ปีนขึ้นนั่ง ตอนใกล้เที่ยงชักจะหิวก็เข้าไปในห้องทำงานของพ่อซึ่งกำลังนั่งเซ็นเอกสารอยู่ พ่อบอกว่าให้รอก่อน พอดีได้ยินเสียงเครื่องบินแทกซี่มาหน้าโรงซ่อม พ่อบอกให้ผมออกไปดูว่าเครื่องอะไรมา ผมออกไปดุเห็นเครื่องบินขับไล่ที่เราเรียกว่า Hawk พับฐาน ที่นั่งเดียว ปีกสองชั้น แทกซี่อ้อมไปหลังโรงซ่อม ผมตามไปดู มีนักบินไทยปีนออกมาจากเครื่อง แต่แล้วมีฝรั่งปืนออกมาจากข้างหลังที่นั่งนักบิน แต่งชุดกากีขาสั้น ถุงเท้าถึงน่อง ตัวแดงเป็นกุ้งต้ม (มารู้ทีหลังว่าเครื่องแบบทหารอังกฤษสำหรับเขตร้อน) ไม่เห็นฝรั่งมาเกือบสองปี (แม่ไม่นับ) เลยตื่นเต้นมาก วิ่งกลับไปบอกพ่อว่ามีฝรั่งปีนออกมาจากเครื่องบินไทย พ่อบอกว่า ‘เออ เห็นแล้วก็แล้วไป ไม่ต้องเอาไปพูดให้ใครฟัง’ หลังสงครามแล้วพ่อบอกว่ามีการขนส่งพวกใต้ดินโดยเครื่องบิน แต่ตอนหลังญี่ปุ่นชักรู้ทัน มักจะบินเหนือเครื่องบินไทยเพื่อดูว่ามีใครแอบโดยสารด้วยหรือเปล่า
อีกทีได้ยินพ่อเล่าให้แม่ฟังว่า นั่งกินข้าวกลางวันที่สโมสรนายทหารที่สนามบิน มี พล.อ.โท มานพ สุริยะ นั่งอยู่ด้วย เป็นเพื่อนกัน ตอนนั้นท่านเป็นนักบินลองเครื่อง เครื่องที่ซ่อมเสร็จ พล.อ.โท มานพ ก็มักจะเอาไปบิน คนบินก็ต้องไว้ใจคนซ่อม คนซ่อมก็ต้องไว้้ใจคนบิน ประกอบกับทั้งสองคนจบจากอเมริกาด้วยกัน (พล.อ.โท มานพ จบจาก West Point) ระหว่างทานอาหารมีนักบินญี่ปุ่นยศนาวาเอกเข้ามาหา (ใช้สโมสรร่วมกัน) บอก พล.อ.โท มานพ ว่าอยากชวนให้ไปดูอะไรหน่อย ไม่ทราบว่าท่านไม่ไว้ใจญี่ปุ่นหรือเห็นท่าทีไม่ค่อยดี เลยชวนพ่อไปด้วย ญี่ปุ่นพาขึ้นเครื่องบิน ดูเหมือนจะไปแถวโคกกระเทียม แล้วบินลงต่ำชี้ให้ดูลานหญ้ายาวๆท่าทางเป็น runway ถามสองคนว่านั่นอะไร ต่างก็ตีหน้าตาย พูดว่าท่าทางยังกับเป็นสนามบิน สนามบินอะไร ไม่ทราบแถวนี้ไม่น่าจะมีสนามบิน ตกลงเป็นสนามบินที่เสรีไทยไปสร้างไว้ พ่อมาเล่าให้แม่ฟังบอกว่าใจไม่ดี คิดว่าจะโดนยิงทิ้งซะแล้ว
รัฐบาลไทยกับรัฐบาลญี่ปุ่นเป็นสัมพันธมิตรกันก็จริง แต่ไม่ไว้ใจกัน สนามบินที่โคราชแบ่งเป็นสองฟาก มี runway ผ่ากลาง ฝ่ายไทยมีปืนกลหนัก อยู่ข้าง runway กลางวันปืนชี้ขึ้นฟ้าเป็นทำนองว่าไว้ต่อสู้อากาศยาน แต่พอค่ำลง ลดลำกล้องลงหันปืนข้าม runway ไปทางฝ่ายญี่ปุ่น
เมื่อไม่กี่ปีที่แล้ว ผมไปโคราช ไปเห็นป้ายชี้ทางไปวัดกองพระทราย สมัยเด็กอยู่นอกเมืองไปมาก สมัยนี้อยู่ในเมืองแล้ว ผมเลยขอให้คนขับเขาแวะหน้าวัด บ้านผมตอนสงครามอยู่หน้าวัดพอดี จำได้ว่ามีผู้ใหญ่ที่ชาวบ้านนับถือ ชื่ออาจารย์เม้า ดูเหมือนจะเคยเป็นเจ้าอาวาส พ่อพาผมไปบ้านอาจารย์เม้าบ่อยๆ โดยมากเพื่อปฤกษาหรือพูดคุยกัน เช่นเวลาทหารกับชาวบ้านทะเลาะกัน พ่อก็ไปคุยกับอาจารย์เม้ากันไม่ให้เป็นเรื่องใหญ่โต อาจารย์มีลูกสาวคนหนึ่งอายุแก่กว่าผมปีสองปี ผมเลือกถามพระอายุมากหน่อยคนหนึ่ง (คิดว่าอายุน้อยคงไม่รู้จัก) ว่าเคยได้ยินชื่ออาจารย์เม้าไหม โชคดีพระองค์นี้รู้จักอาจารย์เม้า บอกว่าเสียไปหลายปีแล้ว แต่ลูกสาวยังอยู่ บ้านอยู่หน้าวัดอีกฟากถนน แล้วชี้ตัวให้ดูว่านั่งอยู่หน้าร้าน ผมเลยเดินไปหา บอกว่าตอนสงครามบ้านผมอยู่ตรงนี้ เขามองหน้าผมแล้วเอ่ยชื่อเลย บอกว่ามีน้องสาวสองคนแฝด จำชื่อได้คนหนึ่งอีกคนทจำไม่ได้ เลยคุยกันอยู่พักหนึ่ง
.....
visitna
กำลังสนุก ครับอาจารย์
เรื่องสงครามรุ่นหลังคงจะไม่ทันได้รู้เห็น เคยอ่านหนังสือเรื่อง"เล่าความหลังครั้งสงคราม"ของลุงโกวิท ตั้งตรงจิตต์ ท่านเล่าว่าระเบิดลูกแรกที่ทิ้งลง กทม.คือที่หัวลำโพงและสำเพ็ง เมื่อ 8 มกราคม 2485 ครั้งนั้นตายและเจ็บกันหลายคน
.....
เพ็ญชมพู
๑.
"อ้างจาก: ศานติ เป็นเรือนไม้ ฝาไม้ไผ่ที่เอามาผ่าแล้วแบะออกมา (ไมทราบเขาเรียกอะไร) ผนังระหว่างห้องเป็นไม้ไผ่ขัดแตะ ยกพื้นพอเดินลอดได้สบาย น่าอยู่ดีเหมือนกัน "
เขาเรียกว่า "ฟาก" คำเดียวกับที่อยู่ในคำว่า "ตกฟาก"
ฟาก ลำไม้ไผ่เป็นต้นที่ผ่าแล้วสับให้แตกออกเป็นอันเล็ก ๆ แต่ไม่ขาดจากกัน แล้วแบคว่ำออกเป็นแผ่น โดยมากใช้ปูเป็นพื้นเรือน เรียกว่า ฟากสับ, ส่วนที่ทำเป็นซี่แล้วใช้หวายหรือเถาวัลย์ถักให้ติดกันเป็นผืน เรียกว่าฟากซี่ หรือ ซี่ฟาก.
คำเดียวกับที่อยู่ในคำว่า "ตกฟาก"
ตกฟาก เกิด, เรียกเวลาที่เด็กออกพ้นครรภ์มารดาว่า เวลาตกฟาก (พื้นเรือนโบราณโดยมากเป็นฟาก); โดยปริยายใช้ในลักษณะที่พูดคํา เถียงคําไม่หยุดปากว่า เถียงคําไม่ตกฟาก.
๒.
"อ้างจาก: ศานติ อีกทีได้ยินพ่อเล่าให้แม่ฟังว่า นั่งกินข้าวกลางวันที่สโมสรนายทหารที่สนามบิน มี พล.อ.โท มานพ สุริยะ นั่งอยู่ด้วย เป็นเพื่อนกัน ตอนนั้นท่านเป็นนักบินลองเครื่อง เครื่องที่ซ่อมเสร็จ พล.อ.โท มานพ ก็มักจะเอาไปบิน คนบินก็ต้องไว้ใจคนซ่อม คนซ่อมก็ต้องไว้้ใจคนบิน ประกอบกับทั้งสองคนจบจากอเมริกาด้วยกัน (พล.อ.โท มานพ จบจาก West Point) ระหว่างทานอาหารมีนักบินญี่ปุ่นยศนาวาเอกเข้ามาหา (ใช้สโมสรร่วมกัน) บอก พล.อ.โท มานพ ว่าอยากชวนให้ไปดูอะไรหน่อย ไม่ทราบว่าท่านไม่ไว้ใจญี่ปุ่นหรือเห็นท่าทีไม่ค่อยดี เลยชวนพ่อไปด้วย ญี่ปุ่นพาขึ้นเครื่องบิน ดูเหมือนจะไปแถวโคกกระเทียม แล้วบินลงต่ำชี้ให้ดูลานหญ้ายาวๆท่าทางเป็น runway ถามสองคนว่านั่นอะไร ต่างก็ตีหน้าตาย พูดว่าท่าทางยังกับเป็นสนามบิน สนามบินอะไร ไม่ทราบแถวนี้ไม่น่าจะมีสนามบิน ตกลงเป็นสนามบินที่เสรีไทยไปสร้างไว้ พ่อมาเล่าให้แม่ฟังบอกว่าใจไม่ดี คิดว่าจะโดนยิงทิ้งซะแล้ว "
"อ้างจาก: เพ็ญชมพู พันตรี ควง เล่าว่า อย่างสนามบินลับของเราก็เหมือนกัน พวกญี่ปุ่นมาประท้วงตั้งแต่เช้า เอาแผนที่ออกมากางให้ดู แล้วชี้ว่านี่สนามบินลับอยู่ทางเหนือ ความจริงท่านก็ทราบว่าเป็นสนามบินลับที่พวกเสรีไทยเขาทำขึ้น แต่ท่านบอกว่าไม่จริงกระมัง เขาก็ยืนยันว่าจริงซี เขาถ่ายรูปมาด้วย ท่านก็ว่าถ้ายังงั้นพรุ่งนี้ตั้งกรรมการผสมไปตรวจ แล้วก็ตกลงตั้งกรรมการผสมไทยญี่ปุ่นขึ้น
แล้วท่านก็วิ่งไปบอกหลวงประดิษฐ์ ฯ ว่า นี่.....อาจารย์ ต้องรีบจัดการปลูกพืชอะไรไว้นะ พรุ่งนี้กรรมการผสมจะไปตรวจ ถ้าเขาจับได้ผมไม่รู้ด้วยนะ ฝ่ายหลวงประดิษฐ์ ฯ ก็ส่งวิทยุสั่งการให้ปลูกต้นกัญชา ต้นอะไร รดน้ำกันใหญ่ พวกกรรมการผสมไปดูก็เห็นมีพืชปลูกอยู่จริง ๆ เรื่องก็เลิกกันไป "
๓.
"อ้างจาก: ศานติ พ่อกับผมนอนหงายดูเครื่องบิน เห็นเปิดประตูใต้ท้องปล่อยระเบิดลงมาชุดละ ๗ ลูก พ่อบอกว่า เราไม่เป็นไรหรอกเพราะปล่อยเหนือหัว จะไปแย่ที่คนอื่น วันนั้นสถานีรถไฟหัวรถโดนหนัก มีระเบิดเวลาดังอยู่ตลอดคืน "
อังศุมาลินกับแม่อรแหงนมองขึ้นไปบนท้องฟ้า เห็นเครื่องบินสามลำบินผ่านหัวไป แม่อรพูดด้วยความกังวลว่า "ตรงนี้จะปลอดภัยแน่หรือลูก เครื่องบินอยู่บนหัวแบบนี้" อังศุมาลินจึงอธิบายว่า "ถ้าเครื่องบินอยู่ตรงกลางหัวเราแบบนี้รับรองว่าเราไม่เป็นไรแน่ค่ะ หนูรู้มาว่าลูกระเบิดที่ถูกทิ้งลงมาจะวิ่งไปข้างหน้าเครื่องบินเสมอ"
จากบทละครเรื่องคู่กรรม เวอร์ชั่นที่กำลังฉายอยู่ที่ช่องห้า
......................
Posted by: ppsan
« on: 27 February 2022, 17:29:00 »
เทาชมพู
.....
บันเทิงใจในบ้าน
เมื่อคุณยายยังเด็ก กรุงเทพและธนบุรีมีไฟฟ้าใช้แล้ว แต่ยังไม่ทั่วถึง แม้แต่บนเรือนหมู่ของคุณยายก็มีเฉพาะเรือนใหญ่ๆ ส่วนเรือนเล็กๆ และเรือนบริวารในสวนยังคงใช้ตะเกียงกันอยู่ เช่นตะเกียงลานและตะเกียงน้ำมัน ไฟฟ้าบนบ้านของคุณยายไม่ได้สว่างไสวอย่างไฟฟ้าสมัยนี้ แต่เป็นหลอดไฟห้อยลงมาจากเพดาน ส่องแสงออกแดงๆ ค่อนข้างมัว เพราะแรงเทียนไม่มากนัก แต่ก็ยังดีเพราะให้ความสว่างได้ทั้งห้อง ผิดกับตะเกียงที่ส่องสว่างได้เฉพาะบางส่วนของห้องที่ตะเกียงตั้งอยู่เท่านั้น
ในเมื่อไฟฟ้าไม่สว่างพอที่จะอ่านหนังสือได้อย่างตอนกลางวัน ในตอนกลางคืนคุณยายจึงถูกห้ามอ่านหรือท่องหนังสือ เพราะเพ่งสายตามากจะทำให้สายตาเสื่อมได้เร็ว ส่วนเรื่องเครื่องใช้ที่ต้องอาศัยไฟฟ้าเช่นวิทยุไม่ต้องพูดถึง เพราะยุคนั้นยังไม่มี ไฟฟ้ามีไว้ให้แสงสว่างอย่างเดียว
ในเมื่อไม่มีโทรทัศน์ ไม่มีวิทยุ ออกไปไหนก็ไม่ได้ เพราะค่ำลงมองออกไปนอกบ้านก็มีแต่ความมืด ชาวบ้านต่างก็เข้าบ้านกันหมดตั้งแต่พลบค่ำ ไม่มีใครไปเที่ยวนอกบ้านกัน ถ้าอย่างนั้นแล้วแต่ละบ้านที่มีเด็กๆเขาหาความบันเทิงกันอย่างไร คำตอบก็คือสมัยนั้นเด็กๆเข้านอนแต่หัวค่ำกว่าสมัยนี้มาก กินข้าวเย็นตอนหกโมง พอสองทุ่มคุณยายก็เข้านอนแล้ว เพื่อจะตื่นตั้งแต่เช้าตรู่ พอฟ้าเริ่มสางๆทุกบ้านก็ตื่นกันหมดแล้วมาหุงหาอาหาร เตรียมใส่บาตร ส่วนชาวสวนนั้นต้องตื่นพร้อมไก่ คือตั้งแต่ฟ้ายังไม่สาง เพื่อจะไปทำงาน
.....
SRISOLIAN
ผมได้พบประวัติของคุณทิพย์วาณี สนิทวงศ์ เพิ่มเติมจากที่คุณเทาชมพูนำมาลงไว้ ทำให้ได้ทราบว่า เมื่อคุณตาคุณยายยังเด็ก เป็นเรื่องราวที่เขียนขึ้นอันเนื่องจากการนอนไม่หลับในเวลากลางคืน กอปรกับการเป็นคนช่างซักช่างถามของผู้เขียนเป็นส่วนตัว คุณป้า คุณลุง คุณอา บรรดาญาติที่ใกล้ชิดก็เป็นผู้เล่าเรื่องราวในครั้งอดีตโดยตรง จึงทำให้เรื่องนี้มีชีวิตชีวา ในชั้นแรกเขียนให้น้องๆ อ่าน พอน้องโตขึ้น ก็เขียนให้เด็กข้างบ้านอ่าน และก็มีเสียงเรียกร้องให้เขียนต่อๆ กันอีกหลายตอน และเพิ่งทราบว่าคุณทิพย์วาณี เคยเป็นโปลิโอแต่ก็ได้ใช้สมุนไพรนวดรักษาจนดีขึ้น ด้วยความที่ญาติข้างแม่เป็นหมอยามาก่อน
.....
siamese
บรรยากาศเมื่อ ๖๓ ปีก่อน ภาพนี้ถ่ายโดยช่างภาพ Dimitri แห่งนิตยสาร LIFE (ถ่ายเมื่อ ค.ศ. 1950) เป็นภาพเด็กน้อย ๒ ท่านกับแสงไฟ ดูเหมือนจะเป็นตะเกียงแก๊สนะครับ
.....
ศานติ อดีตศัลยแพทย์ช่องอกเส้นเลือด (เกษียณ) ปัจจุบันเป็นช่างไม้
ใช่ครับ ตะเกียงแกส acetylene ใช้กันทั่วไปโดยเฉพาะหาบเร่ แผงลอยตอนกลางคืน ใช้ก้อน calcium carbide ใส่ในหม้อทองเหลือง แล้วเติมน้ำลงไป เกิดแกส acetylene ขึ้นมาทางท่อที่มีปลายแบบนมหนู เอาไม้ขีดจุดให้ลุก
อ่านที่คุณเทาชมพูเล่าถึงสมัยก่อน ทำให้ผมย้อนคิดไปถึงสมัยเรียนชั้นประถมตอนสงครามโลกครั้งที่สองเริ่ม ญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกที่เมืองไทย ๖ หรือ ๗ แห่งในเวลาใกล้เคียงกับที่โจมตี Pearl Harbor พ่อผมเป็นห่วงเพราะแม่ผมเป็นฝรั่ง ไม่แน่ใจว่าญี่ปุ่นจะจับฝรั่งที่อยู่เมืองไทยเข้าค่ายเชลยหรือไม่ พลอากาศโทเพิ่ม ลิมปิสวัสดิ์แนะนำให้พ่อส่งครอบครัวไปอยู่กับคุณพ่อคุณแม่ของท่านที่เรือนแพที่จังหวัดสิงห์บุรี เพื่อให้ไกลหูไกลตาทหารญี่ปุ่นหน่อย แม่พาผมกันน้องๆพร้อมพี่เลี้ยงขึ้นเรือแดงไปสิงห์บุรี จำได้ว่าแม่นั่งชิดกราบเรือข้างซ้าย ไปได้สักครึ่งทางมีคนในเรือบอกว่าเรือทหารญี่ปุ่นกำลังสวนทางมา มีคนไทยใจดีบอกแม่ผมว่าให้มานั่งกลางเรือจะดีกว่า สักพักมีเรือยนตร์ปักธงอาทิตย์อุทัยมีทหารเต็มลำสวนมาทางด้านที่เดิมแม่นั่งอยู่ ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ถึงแม่จะไม่ขยับที่ก็คงไม่มีเรื่อง แต่ทุกวันนี้เวลาคิดถึงน้ำใจชาวบ้านไทยที่อุตส่่าห์ตั้งใจป้องกันฝรั่งแปลกหน้าให้พ้นภัย ก็อดตื้นตันใจไม่ได้
พักอยู่กับคุณปู่คุณย่าได้วันสองวันก็พอดีหาบ้านเช่าได้ แม่เอาผมไปฝากโรงเรียนข้างบ้าน จัดว่าเป็นการเปิดหูเปิดตาให้กับเด็กชาวกรุงอย่างผมมาก เรียนเซ็นต์คาเบรียล ป.๒ นั่งม้ายาวๆแถวละสี่คน มีโต๊ะให้ใช้เขียน ใช้ปากกาจิ้มหมืก ถ้าภาษาอังกฤษก็ต้องใช้ปากกาคอแร้งจะได้เขียนเส้นหนักเส้นเบาได้ ถ้าภาษาไทยก็ต้องใช้ปากกาเบอร์ ๕ ที่ปลายตัด ต้องมีหมึกสีแดงไว้ขีดเส้นคู่สองเส้นใต้คำตอบวิชาเลขคณิต นั่งผัน verb พร้อมๆกันทั้งชั้น แต่พอไปสิงห์บุรี นั่งพับเพียบกับพื้น มีโต๊ะยาวใช้เขียน ใช้กระดานชะนวน ดินสอหิน ลบง่ายดี ไม่ต้องกังวลเรื่องภาษาอังกฤษเลย
ครูให้การบ้านคัดไทย วันรุ่งขึ้นเอากระดานชนวนยื่นให้ครู ครูเอ็ดลั่นห้องว่า “บอกให้คัดเป็นการบ้าน ไม่ใช่ให้คนใช้เขียนให้” ผมไม่เข้าใจว่าทำไมครูถึงเกิดโมโหขึ้นมา ต่อมาสักพักครูบอกให้นักเรียนคัดไทยในห้อง ครูมายืนดูผมคัด ได้ยินครูรำพึงว่า “เออ เขียนเองจริง” หลังจากนั้นไม่โดนเอ็ดอีกเลย ตกลงที่มาสเตอร์ รร. เซ็นต์คาเบรียลเคี่ยวเข็นเรื่องการคัดไทยเลยมาได้ผลที่สิงห์บุรี (เด็กเซ็นต์คาเบรียลสมัยนั้นเรียกครูว่า มะเซ่อ เช่น มะเซ่อเสงี่ยม คิดว่าเป็นคำเพี้ยนมาจาก master)
อยู่สิงห์บุรีได้ไม่นานก็กลับกรุงเทพฯ เพราะพ่อเห็นว่าปลอดภัย ญี่ปุ่นไม่ได้จับฝรั่งขังค่ายเชลย
.....
เทาชมพู
อยากให้อาจารย์หมอศานติเล่าความหลังสมัยเด็กในกระทู้นี้บ้างค่ะ
.....
(ต่อ) เวลาตั้งแต่ย่ำค่ำไปจนสองทุ่ม เป็นเวลาเด็กฟังนิทานจากผู้ใหญ่ คุณยายฟังนิทานจากพี่เลี้ยงบ้าง จากผู้ใหญ่ในบ้านบ้าง เรื่องที่เล่าก็มักจะมาจากเรื่องที่พระท่านเทศน์ให้ฟัง คือชาดกเรื่องต่างๆ หรือไม่เป็นเรื่องเล่าสืบต่อกันมา หรือเป็นนิทานพื้นบ้าน อย่างเรื่องตาม่องล่าย พระนางสร้อยดอกหมาก
เรื่องไหนสนุกเด็กๆก็ขอให้ผู้ใหญ่เล่าซ้ำไปซ้ำมา จนจำได้ขึ้นใจ เรื่องไหนน่ากลัวคุณยายก็เก็บเอาไปกลัวเสียมากมาย เช่นเรื่องอ้ายย่ามแดง หรือเรื่องนางพรายน้ำที่อาศัยอยู่ก้นคลอง ถ้าเด็กคนไหนแอบลงไปว่ายน้ำตอนค่ำๆมืดๆ พรายจะมาฉุดขาให้จมดิ่งลงไปใต้ท้องน้ำ ไม่ได้กลับขึ้นมาอีก จนคุณยายโตขึ้นถึงได้รู้ว่า เป็นวิธีห้ามของผู้ใหญ่มิให้เล่นน้ำตอนค่ำมืด เพราะน้ำเย็นจะทำให้เป็นตะคิวที่ขา ว่ายไม่ไหว แล้วก็จะจมน้ำตายได้ง่ายๆโดยไม่มีใครรู้ว่าเด็กหายไปไหน
บางบ้านมีลูกหลายคน เป็นเด็กโตแล้วแต่ยังไม่ถึงขั้นหนุ่มสาว อย่างบ้านของคุณตา คุณพ่อของคุณตาสร้างความบันเทิงในบ้าน ด้วยการหัดลูกๆให้ตั้งวงมโหรี เล่นกันเองในบ้านตอนค่ำๆ แล้วแต่ใครจะอยากเล่นดนตรีอะไรก็ไปเรียนอย่างนั้นมา น้องสาวของคุณตาไปเรียนซอสามสาย น้องชายเรียนระนาด คนอื่นๆก็ไปหัดอย่างอื่น ส่วนคุณตาไม่ชอบหัดเครื่องดนตรีพวกนี้ ก็ถูกจับไปตีฉิ่ง ซึ่งดูเหมือนง่ายกว่าเพื่อน แต่เอาเข้าจริงก็ยาก เพราะต้องควบคุมจังหวะทั้งวงให้ลงตัวกัน ถ้าตีผิดจังหวะ วงจะล่มลงไปได้ง่ายๆ ในตอนแรกเมื่อหัดเล่นกันใหม่ๆ วงมโหรีก็ล้มลุกคลุกคลาน เพราะเล่นกันได้เพลงเดียว ต่อมาฝึกกันบ่อยเข้า ก็ค่อยชำนาญขึ้นจนกระทั่งเล่นได้รอดตลอดเพลง เมื่อลูกๆเล่นได้ดี คุณพ่อของคุณตาก็พอใจ ชักชวนเพื่อนมาฟังมโหรีประจำบ้านที่เล่นโดยลูกๆ เด็กๆเล่นได้ดีก็จะได้รับรางวัลจากเพื่อนๆของคุณพ่อเป็นกำลังใจ
"เทาชมพู"
..........
เทาชมพู
*****
คลอง
คุณยายเกิดในบ้านริมคลอง เหมือนเด็กอื่นๆ เพราะบ้านสมัยนั้นอยู่ริมคลองเหมือนบ้านสมัยนี้อยู่ริมถนน คลองแต่ละคลองกว้างมาก น้ำใสน่าว่ายเล่น มีคำกล่าวว่าเด็กไทยว่ายน้ำเป็นก่อนเดินเสียอีก คำนี้อาจจะเกินความจริงไปหน่อย แต่ก็เป็นความจริงว่าเด็กทุกคนว่ายน้ำกันเก่งทั้งนั้น คุณยายยังไม่เคยเจอเด็กคนไหนที่ว่ายน้ำไม่เป็นเลย
ชีวิตคนยุคนั้นผูกพันกับแม่น้ำลำคลองตั้งแต่เช้าไปจนดึก หรือเรียกว่า 24 ชั่วโมงก็ว่าได้ เมื่อคุณยายตื่นขึ้นมาตอนเช้า ก็จะลงไปที่ท่าน้ำ นั่งรอพระสงฆ์ท่านพายเรือมารับบิณฑบาต ไม่ได้เดินมาจากวัด เด็กผู้ชายในบ้าน ตื่นนอนมาก็ลงมาอาบน้ำกันที่ท่าน้ำ กระโดดน้ำกันตูมๆ ก่อนกลับขึ้นบ้านเพื่อจะไปโรงเรียน แต่คุณยายเป็นเด็กผู้หญิง จึงอาบน้ำอยู่บนเรือน มีห้องน้ำที่กั้นเป็นส่วนสัดไว้ตรงมุมหนึ่งของนอกชาน เช่นเดียวกับพวกพี่สาวๆในบ้าน
อย่างไรก็ตาม สาวๆชาวบ้านที่ไม่มีห้องน้ำบนบ้าน ก็นิยมอาบน้ำกันที่ท่าน้ำ พวกเธอนุ่งกระโจมอกลงมา ลงว่ายน้ำแล้วขึ้นไปใช้สบู่ถูกเนื้อถูตัวอยู่บนขั้นบันไดท่าน้ำ แล้วจึงค่อยลงน้ำล้างคราบสบู่ให้สะอาดอีกที จากนั้นก็ผลัดผ้าจากผืนที่เปียกเป็นแห้ง กลับขึ้นเรือนไป ทำกันประจำไม่มีใครเห็นเป็นของแปลก และไม่มีใครไปเฝ้าดูด้วย
.....
ศานติ อดีตศัลยแพทย์ช่องอกเส้นเลือด (เกษียณ) ปัจจุบันเป็นช่างไม้
พูดถึงเด็กไทยว่ายน้ำเก่งชวนให้นึกถึงที่พ่อเคยเล่าให้ฟัง สมัยเด็กพ่ออยู่เรือนแพที่แปดริ้วจนอายุได้สิบกว่าขวบแล้วถึงมากรุงเทพฯ (เอาไว้เล่าวันหลัง) ตอนอยู่แปดริ้ว ปู่ผมเป็นแพททย์แผนโบราณแต่เสียชีวิตตั้งแต่พ่อยังเล็ก เล่ากันว่าเพราะแกะฝีที่หน้า เหลือแต่ย่าทำขนมขายเลี้ยงครอบครัว ลูก ๕ คน พ่อบอกว่าบ้านเป็นแพอยู่ข้างแม่น้ำ ผมคิดว่าคงเป็นแม่น้ำบางปะกง ลงเล่นน้ำแทบทุกวัน มีซุงไม้ผูกเป็นแพล่องลงตามแม่น้ำเป็นประจำ เด็กชอบดำน้ำลอดแพไปโผล่อีกข้าง วันหนึ่งพ่อกับเพื่อนดำน้ำจะลอดแพอีก ไม่รู้ว่าแพกว้างกว่าปกติหรือเกิดหลงทางใต้แพ แต่หาทางออกไม่ได้ เกือบจมน้ำตาย หลังจากนั้นทุกครั้งที่เป็นไข้หรือเจ็บหนักจะเพ้อว่าติดอยู่ใต้แพแทบทุกครั้ง
.....
เทาชมพู
ดำลงไปใต้แพ แล้วลอดไม่พ้น โผล่ขึ้นมาเกือบไม่ได้นี่น่ากลัวมากทีเดียวค่ะ
.....
ศานติ อดีตศัลยแพทย์ช่องอกเส้นเลือด (เกษียณ) ปัจจุบันเป็นช่างไม้
เล่าเรื่องพ่อต่อ
วันหนึ่งมีญาติซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้อง ชื่อ หลวงปฏิบัติอากร (แป๋ะ สุวรรณทรัพย์) มาเยี่ยมย่าผม บอกย่าว่า “เด็กคู่นี้โตขึ้นทุกวัน น่าจะส่งไปเรียนหนังสือที่บางกอก ขืนอยู่อย่างนี้ ต่อไปจะไม่ทันเขา และจะได้เป็นที่พื่งต่อไปภายหน้า” แนะนำให้ไปอยู่กับญาติห่างๆ ชื่อหลวงรักษานิติศาสตร์ (เพิ่ม ชวานนท์) เป็นทนายมีชื่อ บ้านอยู่ถนนพระสุเมรุ มีซอยไปลงคลองบางลำพู พ่อกับลุงก็เลยมาอยู่เป็นเด็กในบ้าน โดยท่านเป็นผู้ปกครอง คุณหลวงรักษาฯส่งให้เรียน รร.วัดบวรฯ แล้วต่อมาเข้า รร.วัดเทพศิรินทร์ ในบ้านยังมีเด็กโตอีกหลายคน รวมทั้ง น.ต. หลวงเปรื่อง ประจนศึก .น. ซึ่งกำลังเรียน รร.นายเรือ อยู่ นับว่าคุณหลวงรักษาฯ เป็นผู้ปกครองกับเลี้ยงดูเด็กหลายคนให้ได้มีการศึกษา ได้ดีไปหลายคน ตอนค่ำพ่อมีหน้าที่อ่านหนังสือพิมพ์กับอ่านเรื่องราวเกี่ยวกับศาลหรือคดีให้ฟังระหว่างที่คุณหลวงเอนหลังสูบยาฝิ่นอยู่
สมัยนั้นการสูบยาฝิ่นไม่ผิดกฎหมาย แต่ต้องสูบในโรงยา (คงเป็นเพราะรัฐบาลต้องการควบคุมการสูบฝิ่น) แต่คุณหลวงไม่ต้องการสูบในโรงยาเพราะอยู่บ้านสบายกว่า ตกลงเลยเป็นหน้าที่ของพ่อที่จะไปซื้อยาจากโรงยา แล้วหลบตำรวจที่เฝ้าโรงยาเอากลับมาบ้าน (หมดอายุความแล้ว ๕๕๕) พ่อได้ดีก็เพราะหลวงรักษาฯ มีอยู่ตอนหนึ่งพ่อหนีโรงเรียนทั้งอาทิตย์ คุณหลวงจับได้ เฆี่ยน ๗ ที (วันละที) แล้วบอกว่าถ้าจับได้อีกจะเพิ่มเป็นเท่าตัว พ่อบอกว่าเข็ด
ตอนจะจบ ม.๘ (สมัยนั้น เท่ากับ ม.๖ สมัยนี้) คุณหลวงแนะนำให้ลองสอบชิงทุนเล่าเรียนหลวง สมัยนั้นในหลวงให้ทุนไปเรียนนอกได้ปีละหนึ่งคน คนที่สอบได้ที่หนึ่งจะไปเรียนอเมริกา อังกฤษ หรือ ฝรั่งเศส ก็ได้ จะเรียนทางไหนก็ต้องไปหาคนสนับสนุนเอาเอง เช่นอยากไปเรียนทางทหารก็ต้องไปติดต่อกับกระทรวงกลาโหมขอให้เขารับอยู่ในสังกัดของกระทรวง พ่อบอกว่าไปสอบได้ที่ดีแต่ไม่ดีพอ (ดูเหมือนผู้ที่ได้รับทุนคือ พลอากาศโทเพิ่ม ลิมปิสวัสดิ์) เลยเรียน ม.๘ ซ้ำ นั่งทำโจทย์อยู่ในห้องพักครูอยู่ตลอดปี (เท่าที่ผมจำได้พ่อบอกว่าเขามีระเบียบว่าถ้าอายุไม่เกินขอบเขตกับคะแนนครั้งแรกดี มีสิทธิ์สอบในปีต่อไปได้) พอปีต่อไปก็สอบชิงทุนอีก ได้ที่ดีขึ้นแต่ก็ดีไม่พอ (ผมคิดว่าปีนั้นศาสตราจารย์ จำรัส ฉายะพงษ์ ได้ทุน) เลยเริ่มเรียน ม.๘ เป็นปีที่สาม พอดีกรมอากาศยาน กองทัพบกประกาศให้ทุนไปเรียนวิศวกรรม ๓ ทุน พ่อมานึกดูก็เห็นว่าไม่ว่าจะเรียนซ้ำกี่ปี ก็คงจะมีคนเก่งกว่าอยู่เรื่อยไป เลยไปสอบชิงทุนกรมอากาศยาน (สมัยนั้นยังไม่ได้แยกมาเป็นกองทัพอากาศ) โชคดีติดหนึ่งในสาม อีกสองคนคือ มรว.สุกสม เกษมสันต์ กับ ศาสตราจารย์หมอ อวย เกตุสิงห์ มีการตรวจร่างกาย แพทย์ที่ทำการตรวจเป็นห่วงว่าอาจารย์หมออวยผอมไปกลัวจะแข็งแรงไม่พอ อาจารย์เลยต้องเปลี่ยนวิถึชีวิตไปรับทุน Humboldt ของเยอรมันในระยะต่อมา ตกลงไปเรียนอเมริกาทุนกรมอากาศยานกันเพียงสองคน ต่อมา พล อ.โท เพิ่ม ย้ายสังกัดจากกระทรวงกลาโหมมาขึ้นกับกรมอากาศยาน แล้วเข้าเรียนมหาวิทยาลัยด้วยกันสามคน สมัยนั้นเขาส่งให้เรียน high school อีกสองปีก่อนให้เข้ามหาวิทยาลัย แต่ มรว.สุกสม กับ พ่อ มีครูดีช่วยบอกไปทางผู้ดูแลนักเรียนไทยที่วอชิงตันว่าไม่น่าต้องเรียนถึงสองปี ปีเดียวก็พอ ม่ายงั้นพ่อคงเป็นนักเรียน ม.๘ อาชีพแน่
.....
เทาชมพู
มารออ่านว่าคุณพ่อของอาจารย์ไปเรียนที่อเมริกา เข้าเรียนที่ไหน ชีวิตที่นั่นเป็นอย่างไรบ้างนะคะ ยุคนั้นคงมีนักเรียนไทยน้อยมาก
.....
siamese
"อ้างจาก: ศานติ พูดถึงเด็กไทยว่ายน้ำเก่งชวนให้นึกถึงที่พ่อเคยเล่าให้ฟัง สมัยเด็กพ่ออยู่เรือนแพที่แปดริ้วจนอายุได้สิบกว่าขวบแล้วถึงมากรุงเทพฯ (เอาไว้เล่าวันหลัง) ตอนอยู่แปดริ้ว ปู่ผมเป็นแพททย์แผนโบราณแต่เสียชีวิตตั้งแต่พ่อยังเล็ก เล่ากันว่าเพราะแกะฝีที่หน้า เหลือแต่ย่าทำขนมขายเลี้ยงครอบครัว ลูก ๕ คน พ่อบอกว่าบ้านเป็นแพอยู่ข้างแม่น้ำ ผมคิดว่าคงเป็นแม่น้ำบางปะกง ลงเล่นน้ำแทบทุกวัน มีซุงไม้ผูกเป็นแพล่องลงตามแม่น้ำเป็นประจำ เด็กชอบดำน้ำลอดแพไปโผล่อีกข้าง วันหนึ่งพ่อกับเพื่อนดำน้ำจะลอดแพอีก ไม่รู้ว่าแพกว้างกว่าปกติหรือเกิดหลงทางใต้แพ แต่หาทางออกไม่ได้ เกือบจมน้ำตาย หลังจากนั้นทุกครั้งที่เป็นไข้หรือเจ็บหนักจะเพ้อว่าติดอยู่ใต้แพแทบทุกครั้ง"
เด็กลุ่มน้ำบางปะกงอ่านแล้วนึกถึงคำบอกเล่าของรุ่นแม่ รุ่นยายที่เล่าให้ฟังถึงความสนุกสนานของเด็กริมน้ำที่มีความซน ผู้ใหญ่เมื่อ ๗๐ ปีก่อนเล่าให้ฟังเสมอว่าในวัยเด็กนั้นชอบเล่นน้ำในแม่น้ำบางปะกงมาก เล่นไปก็กลัวจระเข้ไปว่าจะมางับเอาเด็กไปกิน เมื่อดำน้ำไปก็จะมีเสียงใต้น้ำ (เสียงปลาลิ้นหมามันร้อง) จับกุ้งแม้น้ำโคนต้นเสาได้ตัวใหญ่ ๆ
เรื่องดำน้ำนี่ลีลาก็ไม่แพ้ใคร เรือข้าว (เรือเอี๊ยมจุ๊น) ขนาดใหญ่ ท้าประลองกันลอดใต้ท้องเรือไปโผล่อีกฝั่งได้ (นึกแล้วน่าเสียวไส้ หากว่ายน้ำไม่แข็ง ไม่ยอมโผล่ ก็คงไปโผล่ปากอ่าวเป็นแน่) แต่ก็ผ่านมากันได้ ถึงหน้าแล้วก็เอาเรือเอี๊ยมจุ๊นไปล่มน้ำจืดที่คลองเจ้า (คลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต) เอาน้ำมาใช้ และขายบ้างถ้าคนจะซื้อ
ตอนนี้วิถีท้องน้ำว่างเปล่า การคมนาคมสะดวก ทุกอย่างจางหายไปพร้อมกับสายน้ำ ซุงไม้ผูกแพที่คุณศานติเล่ามาผมก็ไม่เคยเห็น เรือเอี๊ยมจุ๊นไปล่มน้ำจืดก็ไม่เคยไป ปล่อยให้ทั้งหมดอยู่กับอดีตอันน่าสนุกหาไหนปาน
.....
ศานติ อดีตศัลยแพทย์ช่องอกเส้นเลือด (เกษียณ) ปัจจุบันเป็นช่างไม้
ตอนพ่อผมไปเรียนนอกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๙ มีนักเรียนไทยเรียนอยู่ ๒๓ คน (ดูจาก Report on the Government Students and His Majesty the King’s Own Students in the U.S.A. -- Oct. 1926 - September 1927) ลอกชื่อมาเป็นภาษาอังกฤษเพื่อกันเขียนภาษาไทยผิด กับ เผื่อมีใครสนใจว่าสมัยก่อนที่เรายังไม่ได้ถอดอักษรไทยเป็นอักษรโรมันแบบถ่ายเสียง (อย่างที่ทำกันสมัยนี้) ว่านักเรียนไทยเขาสะกดชื่อกันอย่างไร เพราะสมัยนั้นนิยมเขียนให้อ่านแล้วรู้ว่ารากศัพท์เดิม (บาลี สันสกฤต) เป็นอย่างไร
Ministry of Agriculture Nai Lumchiag Salikorn Nai Prayote Purnasri Department of Aviation Nai Mont Sinhseni M.C. Visishta Svasti Ministry of Commerce and Communications M.R. Chittin Kasemsri Nai Varakich Banhara Ministry of Finance Nai Chirt Yamabhaya Government Electrical Department Nai Kosaiya Sukhavanija Ministry of the Interior Nai Chamras Chayabongse Nai Khao na Pomphejara Nai Sunh Vasudhara Nai Thanad Navanugraha Ministry of Justice Nai Banyong Makara Bhiromya Ministry of Public Instruction Mau Pyn Muangman Mau Waht Yemprayura Department of Royal State Railways Nai Chalem Sukhakit M.C. Smargom Ministry of War Nai Bun Mar Prabandhayodhin M.L. Chuan Chuen Kambhu Nai Perm Limpisvasti M.L. Sukshom Kashemsanta Nai Vichian Vibulyamonkal M.L. Camron Sudasna M.C. Swasti-Pradisdh Privy Purse Department M.C. Akas Rabibongs M.C. Nondiyavat Svasti M.C. Jotisi Devakul M.C. Chakrabandhu M.C. Prasobsukh
นอกจากนั้นยังมีนักเรียนทุนส่วนตัวที่อยู่ในการดูแลของผู้ดูแลนักเรียนไทย
Private Students Under the Care of Students’ Department Boonrod Jayakora Boon Chuay Indrambarya Miss Chamnong Viravaidya Luang Choola M.L. Dej Sudasna See Sirisinha Miss Swai Bunyarat
ผมคิดว่านักเรียนไทยแทบทุกคนเมื่อมาถึงสหรัฐฯ ก็เข้าเรียนชั้นมัธยมปลายอีกก่อนจะเข้ามหาวิทยาลัย โดยมากเขาส่งเข้าโรงเรียนประจำเอกชนที่มีชื่อ (private school) เช่น Wilbraham Academy (Chirt Yamabhaya), Williston Academy (Chamras Chayabongse), Swavely School (Banyong Makara Bhiromya, M.C. Smargom), Peddie School (M.L. Sukshom Kashemsanta, M.C. Chakrabandhu), Mercersburg Academy (Vichian Vibulyamongola), Tabor Academy (M.R. Chittin Kasemsri) โรงเรียนพวกนี้ยังอยู่ เปลี่ยนเป็น co-ed ตามกาลไปบางแห่ง ค่าเล่าเรียนสูงลิ่ว มีหลายคนที่ตอนพักฤดูร้อนเขาไปเรียนพิเศษที่ค่ายชื่อ Camp Red Cloud มีการติวในวิชาที่อ่อน เช่น อังกฤษ ประวัติศาสตร์ หรือ ฟิสิคส์ (อดเที่ยว หรือ ถึงมีเวลาก็คงไม่มีเงิน) ดั้งเดิมกรมอากาศยานกำหนดให้ มรว.สุกสม กับพ่อผม เรียน high school สองปีก่อนเข้ามหาวิทยาลัย แต่พอไปติวที่ Camp Red Cloud เขาให้ลองสอบเข้ามหาวิทยาลัย (College Board Examination) ทั้งสองได้คะแนนดีมาก ครูเลยเสนอว่าควรให้เข้ามหาวิทยาลัยเลย ส่วนจำรัส ฉายะพงษ์คะแนนดี แต่ครูเป็นห่วงเรื่องสุขภาพเกรงว่าจะแข็งแรงไม่พอเรียนมหาวิทยาลัย เลยเรียนที่ Williston Academy อีกปี
มรว.สุกสม กับพ่อผม เข้าเรียน MIT ปี ๒๔๗๐ หลักสูตร์วิศวกรรมอากาศยาน แต่สมัยนั้น MIT ยังไม่ออกปริญญาทาง Aeronautical Engineering อาจารย์เลยแนะนำวิชาให้เรียนเพื่อจะได้ปริญญาทาง Mechanical Engineering ในขณะเดียวกัน เพิ่ม ลิมปิสวัสดื์ ซึ่งได้ทุนเล่าเรียนหลวงไปเรียนที่อังกฤษย้ายมาเรียนที่ MIT พ่อเล่าให้ฟังว่าเลือกเรียนกันคนละสาขา มรว. สุกสม เรียนทาง Electronics ส่วน เพิ่ม เรียนทางออกแบบเครื่องยนตร์อากาศยาน พ่อเรียนทางออกแบบเครื่องบิน ระหว่างเล่นฟุตบอลล์ เพิ่ม กับ พ่อคุยกันเรื่องเรียน ปรากฎว่าต่างคนต่างไม่ชอบวิชาขอตน เอยากจะสลับเรียนกัน พอดีกับที่คุณพระเวชยันตรังสฤษดิ์ ซึ่งเป็นแม่กองเทฆนิค กรมช่างอากาศไปที่บอสตัน ท่านเลยสั่งให้พ่อเรียนทางออกแบบเครื่องยนตร์ ให้อาว์เพิ่มเรียนทางออกแบบเครื่องบิน ระหว่างหน้าร้อนทั้งสามคนทำงานในโรงสร้างเครื่องบินต่างแห่งกัน ตอนจบได้ปริญญาตรี ทั้งสามคนเริ่มเรียนปริญญาโทได้ ๑ เทอม กรมอากาศยานมีคำสั่งให้คนที่ได้คะแนนสูงสุดทำปริญญาโทต่อ อีกสองคนให้ฝึกงานในโรงงานสร้างเครื่องบิน สร้างเครื่องยนตร์ เป็นเวลา ๑ ปี อาว์เพิ่มได้คะแนนสูงที่สุด เลยทำปริญญาโทต่อ พ่อไปทำงานที่บริษัท Curtis-Wright บริษัทสร้างเครื่องบินสร้างใบพัด
ระหว่างที่รับราชการอยู่ในกรมช่างอากาศจนกระทั้งลาออกมาทำงานบริษัทตอนหลังสงคราม บริษัท Curtis-Wright ส่งวารสารของบริษัทมาให้เป็นประจำ เมื่อพ่อเสียไปแล้ววารสารก็ยังคงมา ผมเลยเขียนจดหมายไปถึงบรรณาธิการของวารสารบอกให้เขาเลิกส่งเพราะพ่อเสียแล้ว ต่อมาอีกสักเดือนมีจดหมายจากอเมริกามาหลายฉะบับ จากประธานแผนกใบพัด ประธานแผนกเครื่องยนตร์ ฯลฯ มาถึงแม่เพื่อแสดงความเสียใจ ผมถามแม่ว่ารู้จักคนใหญ่คนโตบริษัท Curtis-Wright ด้วยเหรอ แม่บอกว่าพวกนี้เริ่มทำงานบริษัทพร้อมๆกับที่พ่อไปฝึกงาน ก็ติดต่อกันมาตลอด บางทีมาเมืองไทยพ่อก็ต้อนรับ แม่ก็พาภริยาเที่ยว
แม่ผมเก่ง สมัยก่อนตอนที่โรงยาฝิ่นยังไม่ผิดกฎหมาย ฝรั่งอยากดูประดับความรู้ แม่ก็พาไปดู แต่แวะ สน.ลุมพินีก่อน ขอนายร้อยเวรให้มีจ่าตำรวจนำทางเข้าโรงยาแถวถนนพระราม ๔ ผมเคยขอไปด้วยแต่แม่ไม่ยอม บอกว่าอายุน้อยไป (๑๕ - ๑๖) พออายุมากขึ้นก็อดดูเพราะโดนปิดไปหมดแล้ว แม่บอกว่าไม่มีอะไรน่าดู เป็นโรงยาว ยกพื้นสองข้าง มีผนังกั้นเป็นช่องๆ คนสูบก็นอนครึ่งหลับครึ่งตื่น หนุนหัวด้วยหมอนเครื่องเคลือบดินเผา มีหญิงแก่ๆคอยเอาธูปจึ้ให้ฝิ่นติดไฟ บอกว่าดูแล้วน่าเวทนา
พูดถึงสมัยเรียน พ่อเล่าให้ฟังว่าเป็นช่วงที่สมเด็จพระราชาบิดากรมหลวงสงขลาฯ ทรงศึกษาการสาธารณะสุขอยู่ที่ฮาร์วาร์ดพอดี เวลามีการเลี้ยงนักเรียนไทยที่อพาร์ตเมนต์ของท่าน ทรงสั่งห้ามพูดภาษาไทยกัน ต้องพูดภาษาอังกฤษ พ่อบอกว่าไม่แน่ใจว่าทรงห้ามเพราะต้องการให้ฝึกอังกฤษกันในระหว่างคนไทยด้วยกัน หรือทรงสงสารนักเรียนหลายๆคนที่ใช้ราชาศัพท์ไม่คล่อง ไม่อยากให้ขายหน้าเชื้อพระวงศ์ที่ร่วมอยู่ด้วย พ่อเล่าว่าตอนนั้น ร.๙ ยังเพิ่งเริ่มคลาน สมเด็จพระราชบิดาเลยเอาเชือกผูกข้อพระบาทไว้กับขาโต๊ะ จะได้ไปไม่ได้ไกล กลัวนักเรียนจะสะดุด
ไปค้นเจอรูปเก่าๆ หนุ่มสามคนบนเรือเดินสมุทร์ ผมว่าคงตอนสามคนไปเรียนเมืองนอกด้วยกัน จากซ้ายไปขวาของผู้อ่าน คือ พ่อผม มรว.สุกสม เกษมสันต์ กับ จำรัส ฉายะพงษ์
.....
เทาชมพู
คุณพ่อหล่อระดับพระเอกหนังสมัยนั้นเชียวค่ะ
พยายามถอดชื่อและนามสกุลเป็นไทย Ministry of Agriculture Nai Lumchiag Salikorn ถอดไม่ถูก Nai Prayote Purnasri นายประโยชน์ พรรณศรี Department of Aviation Nai Mont Sinhseni นายมนต์ สิงหเสนี M.C. Visishta Svasti หม่อมเจ้าวิศิษฏ? สวัสดิ(วัตน์?) Ministry of Commerce and Communications M.R. Chittin Kasemsri ม.ร.ว. จิตติน เกษมศรี Nai Varakich Banhara นายวรกิจบรรหาร Ministry of Finance Nai Chirt Yamabhaya นายเชิด ยมาภัย Government Electrical Department Nai Kosaiya Sukhavanija นายโกไศย สุขะวณิช Ministry of the Interior Nai Chamras Chayabongse นายจำรัส ชัยพงศ์ Nai Khao na Pomphejara นายขาว ? ณ ป้อมเพ็ชร์ Nai Sunh Vasudhara นายสัณห์ วสุธาร Nai Thanad Navanugraha นายถนัด นาวานุเคราะห์
.....
ศานติ อดีตศัลยแพทย์ช่องอกเส้นเลือด (เกษียณ) ปัจจุบันเป็นช่างไม้
Nai Lumchiag Salikorn นายลำเจียก สาลีกร มีชื่อในกระทรวงเกษตร ดูเหมือนจะเป็นอธิบดีกรม Nai Prayote Purnasri นายประโยชน์ บูรณศิริ ฮืม Nai Chamras Chayabongse นายจำรัส ฉายะพงษ์ อดีตนายกสภามหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า
(http://202.28.17.19/historicalhall/index.php/joomla-overview/what-is-new-in-1-5/2010-11-04-02-19-21) Mau Pyn Muangman หลวงพิณพากย์พิทยเภท อดีตหัวหน้าแผนกรังสีวิทยา ศิริราช คณบดีแพทยศาสตร์ ศิริราช คุณพ่อของ ศาสตราจารย์ นพ.เทพนม Miss Chamnong Viravaidya จำนงค์ วีระไวทยะ คุณหญิงพิณพากย์พิทยเภท อดีตหัวหน้า รร.พยาบาลศิริราช ดูเหมือนจะเป็นป้าหรือน้าของ ดร.มีชัย See Sirisinha ศาสตราจารย์ สี สิริสิงห คุณพ่อของ ศาสตราจารย์ สถิตย์
นักเรียนในหัวข้อ Privy Purse ซึ่งเป็นหม่อมเจ้าทุกคน เข้าใจว่าภาษาไทยแปลว่า พระคลังข้างที่ คือได้ทุนจากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์
เรื่องหล่อ ใจผมว่า จำรัส ฉายะพงษ์ หล่อที่สุด แม่บอกว่ามีสาวๆติดนับไม่ถ้วน (จำรัส เป็นคนแนะนำให้แม่ผมรู้จักกับพ่อ) มรว.สุกสม ก็หล่อดี พ่อผมท่าทางตื่นหน่อยๆ
มาลองคิดดู จะเอาอะไรมาก เด็กต่างจังหวัด ไม่เจนเวทีเท่าอีกสองคน เอารูปไปเทียบกับรูปตอนกลับจากนอกต่างกันมาก สงสัยแม่ผมคงมีส่วนช่วยให้สังคมเป็นมากขึ้น
.......................
Posted by: ppsan
« on: 27 February 2022, 17:27:07 »
เทาชมพู
เดินทาง
โลกของคุณยายจำกัดอยู่ที่บ้านกับโรงเรียน ถ้าหากว่าไปเที่ยวนอกบ้านก็แค่ในกรุงเทพ การเดินทางไปต่างจังหวัดเป็นเรื่องใหญ่ แม้แต่ในจังหวัดรอบๆกรุงเทพ ถ้าจะไปก็ต้องเตรียมตัวล่วงหน้ากันหลายวัน เพราะต้องขนข้าวของเครื่องใช้ เครื่องครัว แม่ครัวและคนในบ้านไปด้วยหลายคน เกือบจะเท่ากับย้ายบ้านก็ว่าได้
ครั้งหนึ่งคุณป้าของคุณยายเดินทางไปนครปฐมเพื่อไปไหว้พระปฐมเจดีย์ พาคุณยายไปด้วย คุณป้าต้องเตรียมเสื่อ หมอน มุ้ง ไปด้วยเพราะต้องค้างคืนระหว่างทาง คุณป้าเอาแม่ครัวไปด้วยเพื่อหุงหาอาหารกินกันระหว่างทาง เพราะไม่มีร้านอาหารที่จะแวะกินได้ ต้องทำกันเอง แม่ครัวก็ขนเตาไฟ หม้อข้าว ฟืน ข้าวสาร ของแห้ง จานชาม ขันน้ำ ลงไปในเรือ คุณป้าเลือกคนติดตามไปด้วย นอกจากลูกหลานก็มีคนรับใช้ผู้ชายที่เป็นชายฉกรรจ์ 2 คน เพื่อช่วยกันแจวและถ่อเรือหัวท้าย
.....
SRISOLIAN
ยังเข้ามาอ่านอย่างต่อเนื่องครับ อ่านไปยิ้มไปตอนการเดินทางที่คุณเทาชมพูนำมาลงนั้น นึกภาพตามไปคงเห็นขบวนเดินทางที่คนเยอะน่าดู ทั้งตัวผู้เดินทางเอง บริวาร ข้าวของเครื่องใช้ ชวนให้เห็นว่าการเดินทางไกลเป็นเรื่องที่พิเศษจริงๆ และในสมัยก่อนคงต้องเตรียมการขนานใหญ่เพื่อความอยู่รอดระหว่างการเดินทาง บรรดาน้ำพริกต่างๆ คงจะเป็นอาหารที่ดูจะเหมาะสมกับการเดินทางไกลมากที่สุด
.....
เทาชมพู
ก็คงอย่างนั้นละค่ะ เป็นเรื่องใหญ่น่าตื่นเต้นมากสำหรับเด็กๆ
.....
ถึงวันเดินทาง คุณยายถูกปลุกให้ตื่นแต่เช้าเพราะต้องเดินทางตลอดวัน อาบน้ำแต่งตัวเสร็จไปลงเรือประทุนลำใหญ่ กว้างพอที่คุณลุง คุณป้า ลูกๆ หลานๆ พี่เลี้ยง จะนั่งรวมกันได้ ภายในนั้นปูเสื่อหลายผืนเต็มตลอดเนื้อที่ ให้เด็กๆนั่งๆนอนๆและเล่นกัน ส่วนเครื่องครัวอยู่ตอนท้ายของเรือ แม่ครัวแยกไปนั่งอยู่ตรงนั้น ท้ายเรือจริงๆคือคนแจวเรือ และมีคนนั่งหัวเรืออีกคนหนึ่ง ภายในเรือไม่ร้อนเพราะมีประทุนบังแดด และลมโกรกเข้ามาได้จากหัวเรือและท้ายเรือ
เรือแล่นออกจากบ้าน ไปออกปากคลองสู่แม่น้ำเจ้าพระยา จากนั้นก็แจวเลียบแม่น้ำไปออกคลองบางกอกน้อย เพื่อจะไปทางทิศตะวันตก สองข้างแม่น้ำมีเรือนแพแน่นขนัด ริมคลองใหญ่ๆก็มีเรือนแพจอดอยู่เต็มเช่นกัน บางแพก็เป็นบ้านอยู่อาศัย บางแพก็เปิดข้างหน้าเป็นร้านขายของ คุณยายรู้สึกสนุกเมื่อเห็นตลาดน้ำมีผู้คนจอแจ แม่ค้าพายเรือขายของสารพัดอย่างทั้งของกินของใช้ แต่เรือประทุนของคุณป้าบรรทุกของกินของใช้มาหมดแล้ว ไม่ต้องซื้อเพิ่มเติม จึงแล่นผ่านไปเฉยๆ ไม่นานก็พ้นจากคลองใหญ่สู่คลองที่เล็กลงกว่านั้น
บรรยากาศในคลองใหญ่และคลองเล็กไม่เหมือนกัน คลองใหญ่อย่างคลองบางกอกน้อยคึกคักน่าสนุก มีผู้คนพายเรือสัญจรไปมาหนาแน่น มีตลาดน้ำอยู่เป็นระยะตามแพต่างๆคล้ายๆกับริมแม่น้ำเจ้าพระยา และมีวัดตั้งอยู่ใกล้ๆกัน ทุกวัดหันหน้าลงน้ำ มีศาลาท่าน้ำที่คนจอดเรือเดินขึ้นลงไม่ขาดสาย จนคุณยายอยากจะแวะขึ้นไปดูวัดกับเขาบ้าง
แต่เมื่อเรือแล่นไกลคลองใหญ่ มาเข้าคลองที่เล็กกว่า สภาพก็เปลี่ยนไป คลองเล็กค่อนข้างเงียบเชียบ มีเรือกสวนทึบสองข้างทาง เป็นที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน มีเด็กๆกระโดดน้ำทิ้งตัวจากรากไทรริมน้ำดังตูมๆ บางคนก็ใจกล้าว่ายตามเรือที่พายผ่าน จนว่ายทันก็เกาะขอบเรือไป จนเรือผ่านไปไกลเขาจึงปล่อยมือว่ายกลับไปบ้านเขา คุณยายอยากจะลงไปว่ายน้ำเล่นกับเด็กพวกนั้นจริงๆ
คุณยายมองเห็นคลองเล็กๆแยกลึกเข้าไปอีกคลองเหล่านี้ บางแห่งก็เล็กขนาดเรือลำเล็กพายสวนกันได้เท่านั้น เรือใหญ่ของคุณป้าผ่านเข้าไปไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ทุกหนทุกแห่งมีคลองเชื่อมประสานถึงกันหมด ชาวบ้านพายเรือหากันได้ทั่วถึง ไม่จำเป็นต้องออกไปคลองใหญ่
เรือประทุนออกจากคลองแล้วมาถึงแม่น้ำใหญ่อีกสายหนึ่ง ทีแรกคุณยายคิดว่าเรือกลับมาที่แม่น้ำเจ้าพระยาอีก แต่คุณป้าบอกว่าไม่ใช่ มันคือแม่น้ำท่าจีน ในฤดูที่คุณยายเดินทางไป น้ำในแม่น้ำขึ้นเปี่ยมฝั่ง ไหลสวนทางกับเรือ ทำให้คนแจวเรือแจวไปได้ช้ามาก จึงต้องค้างคืนระหว่างทาง ก่อนจะถึงนครปฐมในวันรุ่งขึ้น
ก่อนออกเดินทาง ผู้ใหญ่ต้องกำหนดเส้นทาง และกะเวลาล่วงหน้าเสียก่อนว่าจะแวะพักกินข้าว และค้างคืนที่ไหน ไม่ใช่อยากแวะที่ไหนก็แวะ เพราะเมื่อออกพ้นเมืองธนบุรีแล้ว แม่น้ำลำคลองบางสายก็มีช่วงเปลี่ยว ไม่มีชาวบ้านพายเรือผ่านไปมา มีแต่โจรผู้ร้ายที่มีอาวุธ เข้ามาปล้นสะดมเรือต่างถิ่น คุณป้าเล่าว่าตอนคุณป้าเด็กๆ เคยได้ยินเรื่องโจรผู้ร้ายสำคัญชื่ออ้ายอ่วมอกโรย เป็นที่หวาดกลัวของชาวบ้านมาก แม้ว่าสมเด็จเจ้าพระยาท่านปราบอ้ายอ่วมอกโรยลงได้นานหลายสิบปีแล้ว คุณป้าก็ยังกลัวอยู่นั่นเอง เมื่อเดินทาง คุณป้าจึงกำชับคนแจวเรือให้แวะจอดเรือพักเที่ยง ที่ศาลาวัดเท่านั้น เพราะเป็นหมู่บ้านมีชาวบ้านอาศัยอยู่ใกล้ๆ พออุ่นใจได้ แม่ครัวเตรียมหุงข้าวในเรือนั่นเอง ให้ทันเวลาเที่ยง เพราะหุงข้าวสมัยนั้นกินเวลานานมาก ไหนจะต้องเช็ดน้ำ ดงข้าว จนกว่าข้าวในหม้อจะระอุสุกทั่วกันดี ถ้าเป็นชาวบ้านเดินทางไกล ก็มักคั่วข้าวตากข้าวตูใส่ไถ้คาดเอวเอาไปกินกันแห้งๆกลางทาง เพราะไม่สะดวกที่จะหอบหม้อและเตาไปด้วย แต่คุณป้ามากันหลายคน เอาแม่ครัวมาด้วย จึงมีข้าวสวยร้อนๆกินตอนมื้อเที่ยงและเย็น
พอเที่ยงคนแจวเรือก็แวะที่ศาลาท่าน้ำของวัด ซึ่งมีบ้านคนปลูกอยู่ใกล้ๆ ไม่เปลี่ยว เอาไม้กระดานพาดจากเรือให้เด็กๆเดินขึ้นจากเรือไปนั่งกินข้าวที่ศาลา แม่ครัวตำน้ำพริกให้คลุกข้าวกิน ใกล้ๆกันมีผักหลายชนิดเช่นกระถิน และใบไม้ที่กินได้ ขึ้นอยู่เองไม่มีใครปลูก คุณยายชวนพี่ๆน้องๆไปเด็ดผักสดๆมาจิ้มน้ำพริกกิน รู้สึกอร่อยมากกว่ากินที่บ้านเสียอีก กินเสร็จแล้วก็เข้าไปไหว้พระในโบสถ์ มีโอ่งดินเผาใส่น้ำฝนตั้งอยู่ พร้อมกระบวย ให้คนผ่านไปมาตักน้ำฝนเย็นชื่นใจกินกันได้
เรื่องพักค้างคืนตามทางเป็นเรื่องใหญ่ ถ้าไม่รู้ว่าจะไปพักที่ไหนก็เดินทางไม่ได้ เส้นทางเรือไปนครปฐมไม่มีโรงแรมให้พักค้างคืน มีทางเดียวคือพักตามบ้านคนรู้จัก ก่อนเดินทางประมาณ 1 เดือน คุณลุงจึงถามเพื่อนฝูงว่ามีใครมีญาติอยู่ใกล้ๆนครปฐมบ้างไหม พบว่าเพื่อนคนหนึ่งมีญาติอยู่ตามทางก่อนถึงนครไชยศรี เขาก็เขียนจดหมายไปบอกญาติให้รู้ล่วงหน้าไว้ และให้คุณลุงถือจดหมายอีกฉบับหนึ่งติดตัวมาด้วยเป็นหลักฐาน
ตกเย็นเรือมาถึงหมู่บ้านริมน้ำแห่งหนึ่ง คุณลุงถามจากชาวบ้านที่พายเรือผ่านมาว่าบ้านญาติของเพื่อนอยู่ไหน เมื่อรู้ก็ให้คนแจวเรือเบนหัวเรือเข้าจอดที่ท่าน้ำ คุณลุงกับคุณป้าขึ้นจากเรือไปก่อนให้เด็กรออยู่ในเรือ สักพักก็กลับมา มีเจ้าของบ้านตามมาด้วย เขาจัดที่ให้คุณลุงกับคุณป้าและลูกหลานค้างบนเรือน ส่วนคนอื่นๆค้างกันในเรือ คุณยายจึงต้องหอบหมอนและเสื่อขึ้นไปนอนบนนอกชาน ถึงเวลาอาหาร แม่ครัวก็จัดสำรับจากเรือมาให้เด็กๆ แล้วยกอีกสำรับหนึ่งไปให้คุณลุงกับคุณป้ากินกับเจ้าของบ้าน
คุณป้าอธิบายให้คุณยายฟังว่า ต้องพักกับคนรู้จักจะได้ปลอดภัย ถ้าหากว่าไม่เจอบ้านคนรู้จัก ก็ต้องอาศัยจอดเรือหน้าบ้านกำนันผู้ใหญ่บ้าน ให้ช่วยคุ้มครอง ถ้าหากว่าไปจอดเรือในที่เปลี่ยว กลางคืนอาจมีโจรผู้ร้ายเข้ามาลักของในเรือได้
วันรุ่งขึ้น คุณลุงกับคุณป้าลาเจ้าของบ้านมาลงเรือ คุณยายเริ่มหายตื่นเต้นจากนั่งเรือแล้ว ก็เลยหลับไป เพราะเมื่อคืนแปลกที่เลยนอนไม่ค่อยหลับ มาตื่นอีกครั้งเมื่อเรือเข้าคลองเรียกว่าคลองเจดีย์บูชา เห็นบ้านเรือนคนหนาตาขึ้น มีบ้านไม้สองชั้นหลังคาปั้นหยาอย่างในกรุงเทพด้วย เรือจอดก่อนถึงสะพานสวยมีรูปยักษ์แบกอยู่ข้างล่าง ตรงนั้นมีเรือจอแจเพราะเป็นตลาด มองไปเห็นเจดีย์ใหญ่มหึมาอยู่ตรงสุดถนนที่ตรงกับคลอง คุณยายก็รู้ว่ามาถึงพระปฐมเจดีย์แล้ว จบเรื่องเดินทางกันแค่นี้
"เทาชมพู"
.....
เพ็ญชมพู
"อ้างจาก: เทาชมพู มาตื่นอีกครั้งเมื่อเรือเข้าคลองเรียกว่าคลองเจดีย์บูชา เห็นบ้านเรือนคนหนาตาขึ้น มีบ้านไม้สองชั้นหลังคาปั้นหยาอย่างในกรุงเทพด้วย เรือจอดก่อนถึงสะพานสวยมีรูปยักษ์แบกอยู่ข้างล่าง ตรงนั้นมีเรือจอแจเพราะเป็นตลาด มองไปเห็นเจดีย์ใหญ่มหึมาอยู่ตรงสุดถนนที่ตรงกับคลอง คุณยายก็รู้ว่ามาถึงพระปฐมเจดีย์แล้ว"
ภาพประกอบ
.....
siamese
สะพานนี้เห็นยักษ์แบก ชัดเจนครับ
.....
เทาชมพู
ทุกวันนี้เรือหายไปจากคลองเจดีย์บูชาหมดแล้ว แต่ยักษ์ยังแบกสะพานอยู่ค่ะ ขอบคุณสำหรับภาพประกอบค่ะ คุณเพ็ญชมพู และคุณ siamese
*******************
บริวาร
คุณยายเกิดมาในเรือนหมู่ขนาดใหญ่ เป็นบ้านทรงไทยหลายสิบหลัง เชื่อมต่อกันด้วยนอกชาน ทำให้วิ่งจากบ้านนั้นไปหาบ้านนี้ได้สะดวก โดยไม่ต้องลงไปที่พื้นดินเลย หน้าบ้านเป็นคลองเช่นเดียวกับบ้านอื่นๆในละแวกนั้นที่ปลูกอยู่ริมคลอง ส่วนหลังบ้านเป็นสวนผลไม้สุดลูกหูลูกตาล้อมรอบบ้าน มีผลไม้ทุกอย่างตั้งแต่ทุเรียน ขนุน ส้มโอ ละมุด มะเฟือง มะไฟ ฯลฯเพราะที่ดินริมคลองติดแม่น้ำเป็นดินดีมาก ปลูกอะไรก็งาม ส่วนมะม่วง และชมพู่เป็นผลไม้ดาษดื่น บ้านไหนๆก็มีกันทั้งนั้น
สวนผลไม้เป็นรายได้ของเจ้าของบ้าน ต้องอาศัยแรงคนทำงานในสวน ตั้งแต่ลอกท้องร่อง วิดน้ำรดต้นไม้ นอนเฝ้าสวนในหน้าทุเรียน ดูแลและเก็บผลไม้ให้พ่อค้าแม่ค้าที่มาซื้อถึงสวน ขนเข่งผลไม้ลงเรือ ฯลฯ ในบ้านคุณยายจึงมีบริวารมากมายหลายสิบคน เพื่อเป็นแรงงานประจำบ้าน พวกนี้อยู่กันทั้งครอบครัว มีลูกออกมาก็อาศัยอยู่กับพ่อแม่จนโต แล้วก็กลายเป็นบริวารรุ่นต่อๆมา เมื่อคุณยายเกิด มีคนในบ้านหลายคนที่อยู่กันมาตั้งแต่สมัยคุณทวดของคุณยาย บางคนก็โตมาพร้อมกับคุณปู่ของคุณยายซึ่งเป็นหัวหน้าครอบครัว
คนงานเหล่านี้ไม่ใช่ทาส เพราะสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงเลิกทาสมานานแล้วตั้งแต่สมัยคุณพ่อของคุณยายยังเล็ก ทาสบางคนพอเป็นไทแก่ตัวก็โยกย้ายออกไปทำมาหากินเลี้ยงตัวเอง แต่บางคนก็ยังอาศัยอยู่ในบ้านนายต่อไปในฐานะบริวาร จะลาออกไปเมื่อใดก็ได้ แต่พวกนี้ไม่ค่อยมีใครออกไปไหน ยังสมัครใจอยู่บ้านเดิมจนกระทั่งแก่ตายไปเอง
คุณยายเรียกคนเหล่านี้ว่า "ตา" กับ "ยาย" ตามด้วยชื่อเขา ไม่ใช่เพราะเขาเป็นคนแก่วัยปู่ย่าตายาย แต่เป็นคำเรียกบริวารในสมัยนั้น คำนี้แตกต่างจาก "คุณตา" และ" คุณยาย" ซึ่งหมายถึงญาติผู้ใหญ่
บริวารบางคนมีหน้าที่ประจำ เช่นเป็นคนแจวเรือประจำบ้าน ถ้าบ้านไหนมีเรือหลายลำ ก็มีคนแจวเรือประจำกันเรือละคน เพราะนายหลายคน นั่งเรือไปและกลับคนละเวลากัน อีกแห่งหนึ่งคือครัวของบ้าน ในเมื่อมีหลายครอบครัวในเรือนหมู่ โรงครัวจึงต้องมีคนทำงานหลายคน แม่ครัวเป็นหัวหน้าใหญ่ มีลูกมือหลายคนทั้งหญิงและชาย ทำหน้าที่ช่วยงานต่างๆในครัว เช่นผ่าฟืน ขูดมะพร้าว หั่นผัก หั่นเนื้อ ฯลฯ เพราะงานทำกับข้าวแต่ละมื้อเป็นงานใหญ่กินเวลามาก ทำมื้อกลางวันเสร็จแล้วก็เตรียมตัวทำมื้อเย็นต่อไป เพราะมื้อเย็นถือเป็นมื้อหลักของบ้าน ต้องเตรียมกันนาน ไม่ใช่สำหรับเจ้าของบ้าน แต่สำหรับบริวารในบ้านด้วย แม่ครัวไม่สามารถหุงข้าวได้ทีละหม้อเพราะจะไม่พอกิน ต้องหุงด้วยกระทะใบบัว ซึ่งหุงยากที่จะให้ข้าวสุกเสมอกันทั้งกระทะ คนเป็นแม่ครัวจึงต้องมีฝีมือจริงๆ ถือเป็นบริวารชั้นดีของบ้าน
ในเมื่อบ้านคุณยายเป็นสวน จึงต้องมีลูกมือทำสวนหลายคน คอยดูแลสวน และเก็บผลไม้ซึ่งเรียกกันว่าลูกไม้จากต้นใส่เข่งเตรียมไว้ให้พ่อค้าแม่ค้าที่พายเรือมารับถึงสวน ในหน้าที่ผลไม้ออกมาก ในสวนปลูกเรือนเล็กๆ มุงจากเอาไว้เหมือนบ้านหลังเล็กๆ มีผนังสามด้าน ด้านหน้าเปิดโล่ง สำหรับเก็บผลไม้ที่ต้องรีบเก็บจากต้นมารอพ่อค้าแม่ค้าไว้ที่นั่น คนทำสวนก็ต้องช่วยกันเก็บและขนลูกไม้กันไปไว้ตามเรือนเหล่านี้ ตลอดวันไปจนค่ำ ถ้าเจ้าของบ้านไม่ลงมาควบคุมเอง ก็ต้องมีหัวหน้าคนสวนทำหน้าที่นี้
บริวารบางคนก็อาศัยอยู่ในเรือนหมู่ ใต้ชายคาเดียวกับนาย คุณยายมีพี่เลี้ยงชื่อยายเพียน อยู่กับคุณยายตลอด 24 ชั่วโมง ทำงานทุกวันไม่มีวันหยุด ตอนเล็กๆคุณยายไปโรงเรียนใหม่ๆ ยายเพียนก็ไปนั่งเฝ้าอยู่ตลอดวัน แต่พวกเรือนครัวปลูกเรือนเล็กๆอยู่แยกออกไปจากเรือนหมู่ของนาย มีนอกชานเชื่อมให้เดินถึงกันได้
พวกคนสวนปลูกเรือนอยู่ในสวน อยู่กับลูกเมีย เป็นหน้าที่ของนายที่จะต้องเลี้ยงลูกเมียของบริวารด้วย คนเหล่านี้ก็ทำงานให้นายเช่นเดียวกัน แต่เด็กๆเมื่อโตขึ้นอาจจะขอแยกออกไปทำงานข้างนอกเพื่อเลี้ยงตัวเองได้ เด็กผู้หญิงเมื่อโตเป็นสาวก็แต่งงานแยกไปอยู่บ้านสามีได้ ไม่มีใครว่า
พี่เลี้ยงของคุณยายได้รับเงินเดือน เดือนละ 10 บาท ถือว่าเป็นค่าจ้างค่อนข้างแพงสำหรับบริวาร ส่วนคนแจวเรือได้เบี้ยเลี้ยงรายวัน วันละ 1 สลึง ตอนเย็นๆเขาจะขึ้นมารับเบี้ยเลี้ยง โดยคลานเข้ามารับกับคุณย่าของคุณยายซึ่งเป็นเจ้าของบ้านฝ่ายหญิง หน้าที่หารายได้ และควบคุมค่าใช้จ่ายในบ้านเป็นหน้าที่ของคุณย่า ส่วนคุณปู่จะมอบเงินจากเงินเดือนให้คุณย่านำไปใช้จ่ายในบ้าน แต่คุณย่าก็ต้องหารายได้จากสวนเพิ่มเติมด้วย ถึงจะพอเลี้ยงลูกหลานและบริวารจำนวนมากให้อยู่ได้สบาย
ความสัมพันธ์ระหว่างนายกับบริวารในสมัยนั้น เป็นความผูกพันกันอย่างคนในครอบครัว ไม่ห่างเหิน เป็นแค่นายจ้างและลูกจ้าง อย่างคนทำงานในบริษัทหรือโรงงานในสมัยนี้ นอกจากจ่ายค่าจ้าง นายยังสามารถอบรมสั่งสอนตักเตือน ห้ามปรามและควบคุมความประพฤติของลูกจ้างได้ ตากรับ คนแจวเรือที่ทำหน้าที่ส่งคุณยายและพี่ๆน้องๆไปโรงเรียนเป็นคนชอบกินเหล้า ได้เงินเท่าไรก็ไปซื้อเหล้ากินหมด คุณย่าจึงต้องระวังไม่จ่ายเงินให้มากเกินไป มิฉะนั้นจะเอาไปกินเหล้าเมามาย พาลวิวาทกับลูกเมีย เมื่อตากรับคลานขึ้นมารับเงิน คุณย่าก็จะแถมเทศนาไปให้อีกกัณฑ์ใหญ่ทุกวัน ตากรับก็นั่งฟัง กัดกรามแน่น ตาแดงก่ำ หน้าตาถมึงทึง จนคุณยายซึ่งตอนนั้นอายุประมาณ 10 ขวบ กลัวว่าตากรับจะฆ่าคุณย่า เพราะตากรับเป็นคนรูปร่างล่ำสัน หน้าตาดุดันเหมือนโจร ส่วนคุณย่าก็เป็นหญิงชราร่างผอมบางนิดเดียว ไม่มีทางป้องกันตัวเอง ถ้าไม่นับหลานเล็กๆอย่างคุณยายที่นั่งอยู่ด้วย ก็ถือว่าคุณย่านั่งอยู่คนเดียว
คุณยายกลัวไปเปล่าๆปลี้ๆ เพราะไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้น ตากรับก็นั่งกัดฟัน ฟังอย่างสงบเสงี่ยม จนคุณย่าเทศน์จบ ตากรับก็ก้มลงกราบแล้วคลานถอยกลับไปพร้อมกับเงิน เป็นอยู่เช่นนี้ทุกวัน จนกระทั่งตายจากกันไป
"เทาชมพู"
...............
เทาชมพู
.....
ภรรยา
สังคมในสมัยคุณยายยังเด็กเป็นสังคมที่ผู้ชายมีภรรยาได้หลายคนพร้อมกัน อยู่ใต้ชายคาเดียวกัน เป็นเรื่องถูกต้องตามกฎหมาย ไม่มีใครเห็นเป็นเรื่องแปลก คุณลุงของคุณยายที่อยู่อีกเรือนหนึ่งก็มีภรรยา 2 คนคือคุณป้า และภรรยารองอีกคนหนึ่ง เป็นญาติห่างๆกันมาก่อนจะมาเป็นภรรยา
คุณป้าเองก็ไม่ได้รังเกียจภรรยารอง เพราะมีเธอไว้ก็แบ่งเบาภาระในบ้านได้มาก คุณป้าจะต้องช่วยคุณย่าดูแลสวนผลไม้ คิดเงินซื้อขายกับพ่อค้าแม่ค้า รับแขกเพื่อนๆของคุณปู่และคุณลุงที่มาเยี่ยมบ้าน ไปงานต่างๆเช่นงานแต่งงาน งานศพ งานบวช ฯลฯ กับคุณลุง แทบไม่มีเวลาว่างเลยสักชั่วโมงเดียว จึงต้องการคนที่ไว้ใจได้สักคนหนึ่งช่วยดูแลลูกๆ ภรรยารองของคุณลุงก็ทำหน้าที่นี้ได้อย่างดี
ภรรยารองของคุณลุงทำหน้าที่คล้ายแม่บ้าน คือดูแลเด็กๆลูกของคุณลุงคุณป้า และดูแลเรื่องอาหารการกินภายในบ้าน คือเป็นหัวหน้าของแม่ครัวอีกทีหนึ่ง คุณป้ามีงานเต็มมือทั้งวัน บางทีก็มีแขกมาหา บางทีก็ออกไปธุระนอกบ้าน แต่ภรรยารองจะอยู่ประจำในบ้านไม่ออกไปไหน สำหรับคนภายนอก เช่น เพื่อนบ้านและเพื่อนฝูงญาติพี่น้องของคุณลุงก็รับรู้ว่านี่คือภรรยาอีกคนหนึ่งของคุณลุง ทุกคนก็ต้อนรับเธอเป็นเรื่องปกติ เธอไม่ต้องซ่อนเร้นปิดบัง และไม่รู้สึกว่าตัวเองฐานะต่ำต้อยเพราะไม่ใช่ภรรยาหลวง
ผู้หญิงจำนวนมากในสมัยนั้น ทั้งที่มีชาติสกุลดี หลายคนเป็นลูกสาวขุนนาง ต่างก็เป็นภรรยารองกันได้โดยไม่ถือเป็นเรื่องแปลก และที่แปลกกว่านั้นก็คือมีภรรยาหลวงจำนวนไม่น้อยที่สมัครใจไปสู่ขอหญิงสาวที่กำเนิดดี มีการอบรมดีเหล่านี้มาเป็นภรรยารองให้สามีของตน เพราะเห็นว่าไหนๆ สามีก็คงจะมีภรรยาหลายคนอยู่แล้ว แทนที่จะเอาผู้หญิงแปลกหน้าไม่รู้จักหัวนอนปลายเท้าเข้ามาในบ้าน ก็ไปคัดเลือกมาให้เองดีกว่า จะได้เลือกคนที่ดูแล้วว่าเข้ากันได้ และไม่มีปัญหาในการอยู่ร่วมบ้าน
ภรรยาหลวงบางคนก็ยกน้องสาวตัวเองให้สามีเสียเลย เพื่อจะได้ไว้ใจให้ช่วยดูแลลูกๆและดูแลบ้านช่องได้สนิทใจ ดีกว่าไปเอาคนอื่นๆที่ไม่ใช่ญาติเข้ามา เมื่อน้องสาวมีลูก พี่สาวก็ไม่รังเกียจเพราะเป็นหลานป้าแท้ๆของเธอเอง เช่นเดียวกับน้องสาวก็ไม่รังเกียจลูกๆของพี่สาว เพราะเป็นหลานน้าแท้ๆของเธอเอง
.....
Jalito
เรื่องภรรยาหลวง ภรรยารอง ในสมัยก่อนก็คงจะไม่สงบเรียบร้อยไปทุกครอบครัว เป็นไปได้ในครอบครัวที่หัวหน้าครอบครัวมีบารมีสูง เอาอยู่ บางครอบครัวก็คงมีคลื่นใต้น้ำบ้าง อาจจะเบาหรือรุนแรงก็แล้วแต่ ใครก็อยากเป็นเบอร์หนึ่ง สังคมไทยปัจจุบันยอมรับ'หนึ่งสำหรับหนึ่ง' ถ้าเกินกว่านี้ก็อยู่ในสภาพซ่อนเร้น ธรรมชาติกำหนดหน้าที่ทางเพศของชาย-หญิง (ผู้-เมีย)ไว้ต่างกัน ฝ่ายชายมีหน้าที่รุกหรือแสวงหา ซึ่งต่างกับหญิง แต่ความสามารถด้านอื่นๆชายหญิงมีเท่าเทียมกัน สตรียุคปัจจุบันจึงไม่ยอมให้บุรุษเอาเปรียบ จึงเกิดเรื่องราวเป็นข่าวหน้าหนึ่งตามที่ทราบๆ เรื่องความสัมพันธ์ชายหญิงจึงสามารถเอามาเขียนเป็นนิยายได้ไม่มีวันหมด
.....
Jalito
ขออนุญาตอาจารย์ย้อนหลังเข้ามาในห้องครับ ปกติจะเวียนฟังอยู่ทีระเบียงหน้าห้องโน้นหน้าห้องนี้ นาน..นับปีเหมือนกัน
อยากขอทรรศนะของท่านอาจารย์เรื่องครอบครัวไทยโบราณหลายภรรยาแบบครอบครัวคุณยายน่ะครับ
.....
เทาชมพู
เห็นด้วยกับคุณ jalito ค่ะว่า ในครอบครัวที่มีคลื่นใต้น้ำ (หรือแม้แต่คลื่นบนน้ำอย่างเปิดเผย) ระหว่างเมียหลวงกับเมียน้อยก็มีอยู่เหมือนกัน เมียน้อยที่คับแค้นใจก็มี เรื่อยไปจนถึงลูกๆ ที่ไม่เท่าเทียมกับลูกเมียหลวงก็มีไม่น้อย เราถึงมีสำนวนว่า "ลูกเมียน้อย" ที่หมายถึงไม่เทียมหน้าเทียมตาผู้อื่น แต่เรื่องทำนองนี้รู้กันเยอะแล้ว ปัจจุบันหาดูได้จากละครทีวีหลายๆเรื่อง ดิฉันก็เลยไม่นำเสนอในกระทู้ให้ซ้ำซากเปล่าๆ เรื่องที่เลือกมาเล่าคือนำเสนอบทบาทเมียน้อยที่ปัจจุบันเราไม่ค่อยรู้จักกันแล้ว ได้แก่เมียน้อยที่ได้รับการยอมรับในครอบครัว มีความเป็นอยู่สบายและมั่นคงพอสมควร ในที่นี้ใช้คำว่า "ภรรยารอง" เพื่อจะได้รู้สึกว่าเป็นคนละความหมายกับ "เมียน้อย" ที่ถูกประทับตราในทางลบ จริงๆแล้วภรรยารองก็จัดเข้าประเภทเมียน้อยน่ะแหละค่ะ
ส่วนคำถามของคุณ Jalito ที่ต้องการทราบทรรศนะ ดิฉันคิดว่าสภาพครอบครัวในยุคสมัยหนึ่งก็เป็นไปตามค่านิยมในยุคสมัยนั้น สมัยของคุณยายเมื่อประมาณ 100 ปีก่อน เป็นยุคที่ผู้หญิงในสังคมเมืองหลวงไม่มีทางเลือกมากนัก เพราะค่านิยมกำหนดให้ว่า ตอนเด็กๆเธออยู่ในความดูแลของพ่อแม่ โตเป็นสาวก็ต้องอยู่ในความดูแลของสามี พอแก่ตัวลงก็อยู่ในความดูแลของลูก (ที่สังคมเรียกว่ามีหน้าที่กตัญญูต่อพ่อแม่)
ในเมื่อสังคมสมัยนั้นถือว่า ชายมีภรรยาได้หลายคนพร้อมกันอย่างถูกต้อง ผู้หญิงก็เลยมีทางเลือก 2 ทางว่าจะเป็นเมียหลวงหรือเมียน้อย ทางเลือกที่สามคืออยู่เป็นโสด มีผู้หญิงน้อยคนมากสมัครใจจะเลือกทางนี้ เพราะแปลว่าจะต้องอยู่ในความดูแลของญาติ เช่นพี่ชายน้องชาย หรือหลานๆ เมื่อเธอชราลง แน่ละว่าเธอย่อมไม่ได้รับความเอาใจใส่มากเท่ามีครอบครัวตัวเองอยู่แล้ว
ถ้าคุณ Jalito ถามว่าผู้หญิงเมื่อ 100 ปีก่อนไม่มีทางทำมาหากินเลี้ยงตัวเองหรือ ดิฉันก็ขอตอบว่ามี เพราะคุณย่าและคุณป้าของคุณยาย เป็นตัวอย่างที่ดีของผู้หญิงที่สามารถสร้างกิจการ ช่วยหารายได้เพิ่มจากเงินเดือนของสามีมาเลี้ยงครอบครัวและบริวารได้ แต่ทั้งคุณย่าและคุณป้าก็ไม่ได้อยู่เป็นโสด จำต้องอาศัยบารมีของสามีเป็นความมั่นคงทางสังคม เป็นรั้วกันคนรังแกเอารัดเอาเปรียบ เพราะผู้หญิงไม่สามารถปกป้องตัวเองได้มากเท่ามีสามีปกป้อง เมียน้อยจำนวนมากที่สมัครใจเป็นเมียน้อยก็เพราะเหตุผลเดียวกัน คือมีสามีไว้เลี้ยงดู สบายกว่าต้องดิ้นรนเลี้ยงตัวเอง
ทรรศนะนี้ ในปัจจุบันเบาบางลงไปมากเมื่อผู้หญิงเรียนหนังสือ ประกอบอาชีพ มีรายได้ไม่น้อยกว่าผู้ชาย ช่วยตัวเองได้ ดำเนินชีวิตได้ตามลำพัง ไม่ต้องพึ่งพาใคร แต่ผู้หญิงที่อยากเป็นอย่างเมื่อ 100 ปีก่อนก็ยังมี บางคนอาจต้องการยกฐานะตัวเอง บางคนไม่ต้องการเงินแต่ต้องการพึ่งพิงทางใจ เราจึงมีปัญหาเมียหลวงเมียน้อยให้เห็นกันบ่อยๆไม่เฉพาะแต่ในละครทีวี ในหน้าหนังสือพิมพ์ก็มีเป็นประจำค่ะ
.....
เทาชมพู
(ต่อ)
ตอนคุณยายเล็กๆ ผู้ชายผู้หญิงไม่มีโอกาสพบปะกันง่ายๆอย่างสมัยนี้ ผู้หญิงที่ผู้ชายเห็นอยู่ทุกวันถ้าไม่ใช่ญาติก็คือบริวารในบ้าน นำไปสู่ความใกล้ชิด และพอใจ จนกลายเมียน้อยอีกแบบหนึ่ง เรียกว่าเมียบ่าว เมื่อเป็นแล้ว เมียบ่าวก็ยังทำหน้าที่รับใช้ต่อไป แต่สบายขึ้นกว่าเดิม เช่นมีห้องหรือเรือนของตัวเอง ความเป็นอยู่อาจจะดีขึ้นถ้าหากว่ามีลูกกับนายผู้ชาย แต่เมียบ่าวก็จะไม่ได้เลื่อนขึ้นเป็นเมียหลวงอยู่ดี
ถ้าเมียบ่าวมีลูกออกมา ทางบ้านก็เลี้ยงดูกันไป ถ้าหากว่าไม่มีลูกกับนาย เมื่อแก่ตัวลง เมียบ่าวก็อาจจะกลับเป็นบ่าวเฉยๆ เหมือนเมื่อตอนต้นก็ได้ ขึ้นอยู่กับความเมตตาปรานีของฝ่ายชายว่าจะอุปการะต่อไปหรือไม่ และมากน้อยแค่ไหน
คุณยายรู้จักท่านผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง มีภรรยาหลายคนอาศัยอยู่ในบ้านเดียวกัน รวมทั้งเมียบ่าวด้วย มีลูกออกมา ภรรยาหลวงของท่านก็ให้อยู่อาศัยในบ้าน จ่ายค่ากินค่าอยู่ให้ แต่ลูกจากเมียบ่าวไม่ได้รับการศึกษา ไม่มีความเป็นอยู่ดีเท่าลูกเมียหลวง เมื่อสามีผู้เป็นหลักของบ้านถึงแก่กรรม ภรรยาหลวงต้องประหยัดค่าใช้จ่ายเพราะไม่มีคนหาเลี้ยง ก็ให้เมียบ่าวและลูกๆออกไปจากบ้าน เพื่อจะได้ไม่สิ้นเปลืองเงิน
ลูกเมียบ่าวทั้งๆมีสิทธิ์ใช้นามสกุลของบิดา ซึ่งเป็นนามสกุลใหญ่โต แต่มีความเป็นอยู่ยากจน และไม่ได้ติดต่อกับญาติพี่น้องลูกเมียหลวงซึ่งมักจะเป็นใหญ่เป็นโตในราชการตามบิดา ลูกหลานในชั้นหลังก็ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นญาติกันได้ทางไหนอย่างไร "เทาชมพู"
.....
เทาชมพู
นึกไม่ออกว่าจะเขียนอะไรอีกแล้วค่ะ ใครอยากทราบเรื่องอะไรก็ช่วยโพสต์ถามมาก็แล้วกัน
.....
Jalito
ขอบพระคุณท่านอาจารย์ครับ พอดีเกิดในยุคสังคมผัวเดียวเมียเดียว เลยมองภาพอย่างที่คุณยายเล่าไม่ออกว่าจะมีความสุขสงบยังไง ผู้ชายที่เป็นชนชั้นล่างที่จะมากเมียได้ เห็นจะมีก็แต่กลุ่มอาชีพ รถไฟ เรือเมล์ ลิเก ตำรวจ หรือนักเล่นที่ต้องจรไปเรื่อย ในยุคปัจจุบันที่เห็นมีพิเศษ น่าทึ่งก็คุณเต๊กกอ'ขุนแผนเมืองพระปฐม' ไม่ทราบว่าวันนี้ยังอยู่ดีหรือเป็นไงบ้าง
.....
เทาชมพู
คุณ Jalito คงนึกภาพสังคม polygamy (มีคู่สมรสหลายคนในเวลาเดียวกัน)ไม่ออก ผู้ชายสมัยคุณยายยังเด็ก ไม่ได้มีแค่รถไฟ เรือเมล์ ลิเก ตำรวจ เท่านั้นค่ะที่มีเมียหลายคน ผู้ชายที่อยู่บ้านไม่ไปไหนนอกจากที่ทำงาน ก็มีเมียสองหรือสามคนในบ้าน เป็นเรื่องธรรมดา แม้แต่ชาวบ้านทั่วไปก็มีกันสำนวนไทยที่สะท้อนสภาพสังคมแบบนี้ มีหลายสำนวนด้วยกัน - เมียสองต้องห้าม - มีดอยู่ในเรือนให้นับว่าพร้า ข้าอยู่ในเรือนให้นับว่าเมีย - พระยาเทครัว ฯลฯ
เอาเพลงกล่อมเด็กมาฝากค่ะ น่าจะเกิดในช่วงรัชกาลที่ 2 ไม่เก่ากว่านั้น เพราะมีชื่อ การะฝัด ซึ่งหมายถึงจอห์น ครอเฟิด ทูตอังกฤษที่มาเจริญทางพระราชไมตรีในรัชกาลที่ 2
โม่งเม่งเอย โม่งเม่งการะฝัด รูปร่างสันทัด มีเมียสองคน เมียน้อยชื่อแม่ด้วง เมียหลวงชื่อแม่มล อยู่ด้วยกันสองคน มิได้เว้นสักเวลา ต่อมาแม่ด้วงผอมลง แม่มลก็ทรงโศกา รีบหาหยูกหายา เถิดเจ้าการะฝัดเอย
เมียน้อยเมียหลวงบ้านนี้รักกันดี ขลุกอยู่ด้วยกันไม่เว้นสักเวลา พอเมียน้อยป่วยเมียหลวงก็ร้องไห้ แสดงว่าบ้านนายการะฝัดนี่เห็นทีจะสงบราบรื่นน่าอิจฉามาก
......................
Posted by: ppsan
« on: 27 February 2022, 16:36:11 »
เมื่อคุณตา คุณยายยังเด็ก
http://www.reurnthai.com/index.php?topic=5510.0
เมื่อคุณตา คุณยายยังเด็ก โดยคุณทิพย์วาณี สนิทวงศ์ ณ อยุธยา
SRISOLIAN
ผมเคยอ่านหนังสือ เมื่อคุณตาคุณยายยังเด็ก รู้สึกประทับใจในความเรียบง่ายของชีวิตคนไทยในสมัยอดีตช่วงรัชกาลที่ 6-8 มีท่านใดพอจะทราบประวัติของคุณทิพย์วาณี สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้ประพันธ์บ้างครับ และปัจจุบันท่านยังมีชีวิตอยู่หรือเปล่าครับ ผมติดตามอ่านเรื่องนี้มาตั้งแต่ครั้งสตรีสารภาคพิเศษ จนรวมเล่มมาเป็นเล่มที่ 1-4 ครับ นับเป็นวรรณกรรมที่ทรงคุณค่ามากครับ
.....
เทาชมพู
คุณทิพย์วาณี สนิทวงศ์ ณ อยุธยา เป็นธิดาของหลวงจรูญสนิทวงศ์(หม่อมหลวงจรูญ สนิทวงศ์) ผู้เป็นบุตรของเจ้าพระยาวงษานุประพัทธ์ (หม่อมราชวงศ์สท้าน สนิทวงศ์) กับท่านผู้หญิงวงศานุประพัทธ์ (ตาด สิงหเสนี) คุณหลวงจรูญเป็นคนไทยที่สำเร็จวิชาวิศวกรรมการรถไฟจากประเทศอังกฤษ กลับมารับราชการกรมรถไฟหลวง
เป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายช่างกลอำนวยการโรงงาน โรงงานมักกะสัน ในปี พ.ศ. 2473 ในรัชกาลที่ 6 ท่านได้รับพระราชทานบรรดาศัราชทินนามเป็น หลวงจรูญสนิทวงศ์
หม่อมหลวงจรูญ สนิทวงศ์ สมรสกับหม่อมหลวงรวง มีธิดาชื่อ อรุณ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา (ท่านผู้หญิงอรุณ กิติยากร ณ อยุธยา) ซึ่งสมรสกับหม่อมราชวงศ์กัลยาณกิติ์ กิติยากร พระเชษฐาในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
ส่วนคุณทิพย์วาณี สนิทวงศ์ ณ อยุธยา เป็นธิดาเกิดจากหม่อมหลวงฟ่อน(ไม่ทราบนามสกุล)
คุณทิพย์วาณีเกิดเมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ.2475 เป็นศิษย์เก่าโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย แล้วศึกษาภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน เป็นการเพิ่มเติม ประกอบอาชีพเป็นเจ้าของร้านผดุงชีพ ขายงานจำพวกศิลปหัตถกรรม ที่ถนนจักรพงษ์ กรุงเทพมหานคร ท่านชอบการเขียนสารคดีเกี่ยวกับศิลปหัตกรรมของไทยมาตั้งแต่เป็นนักเรียน ได้เขียนเรื่อง ตุ๊กตาชาววัง หัวโขน ปลาตะเพียน ฯลฯ พิมพ์อัดสำเนาแจกแก่กลุ่มบุคคลเป็นกลุ่ม ๆ ไป โดยมากเป็นลูกค้าที่ซื้องานศิลปหัตถกรรมจากร้านหนังสือ เมื่อคุณตาคุณยายยังเด็ก ได้รับรางวัลการประกวดหนังสือระหว่างชาติ ครั้งแรก พ.ศ. ๒๕๑๕ (International Book Year ค.ศ. ๑๙๗๒) ที่คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม กระทรวงศึกษาธิการจัดขึ้น ในโครงการระหว่างชาติว่าด้วยการพัฒนาหนังสือ ตามมติขององค์การยูเนสโก สหประชาชาติ
คุณทิพย์วาณีถึงแก่กรรมเมื่อพ.ศ. 2547 ค่ะ อัฐิบรรจุไว้ที่วัดชนะสงคราม บริเวณด้านหลังพระอุโบสถ
.....
SRISOLIAN
ขอขอบคุณคุณเทาชมพูที่กรุณาหาคำตอบมาให้อย่างรวดเร็ว ขอถามเพิ่มเติมว่ามีหนังสือที่ระลึกอนุสรณ์งานศพของคุณทิพย์วาณี สนิทวงศ์ ณ อยุธยา หรือเปล่าครับ อยากศึกษาประวัติของท่าน เพราะตั้งแต่ติดตามอ่านมาไม่เคยเห็นภาพของท่านเลยครับ
.....
เทาชมพู
ไม่เคยเห็นหนังสือที่ระลึกงานศพของคุณทิพย์วาณีค่ะ ไม่แน่ใจว่ามีหรือไม่
.....
เทาชมพู
ชอบเรื่องนี้มาก คุณทิพย์วาณีใช้ภาษาง่ายๆ แต่บรรยายภาพได้ละเอียดลออเห็นจริงตามไปด้วย ราวกับเดินตามเธอไปเยี่ยมเยียนสถานที่ต่างๆที่เธอบรรยายไว้ เป็นวิถีชีวิตไทยที่ห่างหายไปจากโลกปัจจุบันแล้ว แต่ก็ยังมีค่าควรแก่การระลึกถึงและดำเนินรอยตาม
สำหรับคนที่ไม่เคยอ่าน ขอยกบางตอนมาให้อ่านกัน ตามที่ไปพบในอินทรเนตรค่ะ
..........
แม่บ้านที่ดี
วันหนึ่งคุณแม่ของคุณยายพาไปเยี่ยมเพื่อน เมื่อคุณยายเข้าไปในบ้านก็กวาดสายตาดูในบ้านแล้วชอบใจมาก เพราะบ้านนี้สะอาดมากจริงๆ เครื่องใช้ที่เป็นเงินหรือทองเหลืองขัดเสียขาวและสุกราวกับทอง ทุกอย่างแลดูใหม่เอี่ยมอ่องไปทั้งนั้น เจ้าของบ้านยังไม่ออกมา คุณแม่กระซิบกับคุณยายว่า "บ้านนี้เขาสะอาดมาก ให้ดูเป็นตัวอย่างลูกผู้หญิงต้องละเอียดลออและเอาอย่างนี้จึงจะดี แล้วยังมีอะไรดีๆอีกหลายอย่างทีเดียว" เมื่อเจ้าของบ้านออกมา แต่งตัวสะอาดเอี่ยมออกมาต้อนรับ แล้วแนะนำให้คุณยายเรียกคุณป้า คุณป้าคนนี้มีลูกมากมาย ขนาดเดียวกับคุณยายก็มี แต่งตัวสะอาดทุกคนและเรียบร้อยหมด คุณป้ากำลังระดมลูกๆให้แกะมะขามอยู่ คุณยายจึงเข้าช่วยด้วย ช่วยกันแกะเปลือกมะขาม และแกะเม็ดออกด้วย เม็ดมะขามมากมายใส่อ่างไว้ต่างหาก มะขามนี้แกะแล้วทำเป็นปั้นใหญ่ๆ เก็บตุนไว้ทำกับข้าวตลอดปี เม็ดมะขามก็ไม่ทิ้ง เก็บไว้ ถ้าจะกินใบมะขามอ่อนในหน้าที่ไม่มีใบมะขามอ่อน ก็จะเอาเม็ดมะขามนี้ใส่อ่างดินแล้วรดน้ำ ไม่กี่วันก็จะมีใบมะขามอ่อนมาทำแกงต้มโคล้งกินได้แล้ว
ลูกสาวของคุณป้าคนหนึ่งคุยระหว่างแกะเม็ดมะขามว่า "คุณแม่ฉันทำอะไรเองทุกอย่าง ไม่ค่อยได้ซื้อ หน้าที่มีผลไม้อะไรมากๆก็จะเก็บตุนไว้เผื่อเวลาหมดหน้าเสมอ มะม่วงมีมากก็ทำมะม่วงกวนเก็บไว้ ที่นี่มีของกินมากมายไม่เคยอดอยาก เพราะคุณแม่มีลูกมาก ต้องทำอาหารคราวละมากๆ และไม่ให้มีอะไรเหลือเศษได้เลย หน้าแตงโม ก็ให้ลูกกินแต่เนื้อแตงโม เปลือกก็เก็บไว้ทำแกงเลียงบ้าง แกงส้มบ้าง บางทีก็ดองให้กินมื้อต่อไปอีก ไม่ปล่อยอะไรให้เสียเปล่าได้เลย"
คุณยายคิดในใจว่าคุณป้านี่ช่างเป็นแม่บ้านที่ดีแท้ๆ ก็พอดีพี่อีกคนหนึ่งเล่าว่า "แม้แต่เปลือกมะนาวที่ใช้ทำกับข้าวแล้วก็ยังเก็บไว้ดองให้ลูกกินกับข้าวต้มได้อีก เปลือกมะนาวนี้ใช้ล้างมือได้สะอาดหมดคาวได้ดี ผิวมะกรูดเอาไปตำน้ำพริก แล้วก็เอาเนื้อและน้ำมะกรูดมาสระผมได้อีก สระแล้วสะอาด ผมดำเป้นมันลื่นอีกด้วย"
แกะมะขามเสร็จแล้วคุณป้าก็เรียกลูกๆขึ้นไปข้างบน แล้วส่งกรรไกรกับผ้าขาวมากมายให้แล้วบอกกับลูกสาวว่า "ตัดริมผ้านี้เก็บไว้" แล้วพี่ก็เอากรรไกรมาตัดริมผ้ายาวตลอดผืนทั้งสองข้าง แล้วม้วนๆเอาไว้เป็นกลุ่ม ขณะที่ตัดผ้าก็ชี้แจงให้ฟังว่า "ริมผ้านี้เส้นด้ายเหนียวกว่าเนื้อผ้า เราต้องตัดเก็บไว้ทำด้ายเนา เก็บไว้ใช้ได้นานๆ เลาะออกมาใช้ทีละเส้นๆ ไม่ต้องไปซื้อด้ายเย็บผ้ามาเนา เพราะแพงกว่าริมผ้ามาก เศษผ้าทุกชิ้นคุณแม่เก็บไว้หมด เอาไว้ซ่อมแซมเสื้อผ้า บางทีเราอาจทำขาดหรือมีอุบัติเหตุ เราจะได้มีผ้าที่มีสีดอกเหมือนกันซ่อมได้ แล้วมองไม่เห็นรอยผ้า ก่อนจะเอาเสื้อผ้าที่ขาดไปเป็นผ้าเช็ดชาม ผ้าถูเรือน คุณแม่ก็ต้องให้ลูกตัดเอากิ๊บ กระดุมที่ยังดีๆอยู่เก็บไว้หมดเอาไว้ซ่อมตัวอื่นได้ ทั้งเวลาใช้ถูเรือนก็ไม่ขูดกระดาน" ว่าแล้วก็ไปหยิบกระปุกไม้กลึงที่มีกระดุมสารพัดสีสารพัดขนาดออกมาให้ดู
เมื่อลากลับแล้ว คุณแม่ของคุณยายบอกว่า "เห็นไหมเล่าลูกว่าบ้านนี้ เขาเป็นแม่บ้านที่ดียังไง เขาจึงได้มีกินมีใช้สุขสบาย เงินทองไม่รั่วไหล ทั้งๆที่เดิมก็ไม่ได้เป็นคนมั่งมีมาก่อนเลย ลูกก็มากมาย เอาไว้เป็นตัวอย่างนะ" แล้วคุณยายก็รับคำ และในใจก็คิดว่า อยากมาเที่ยวบ้านนี้อีกจริงๆ
..........
น้ำฝน
เมื่อสมัยคุณตาคุณยายยังเป็นเด็ก ๆ อยู่นั้น กรุงเทพฯ มีน้ำประปาใช้บ้างแล้ว แต่ยังไม่ทั่วถึงกันนัก ส่วนมากยังอาศัยดื่มน้ำฝน และน้ำตามแม่น้ำและลำคลองกันอยู่ บางบ้านที่อยู่ใกล้ถนน ก็อาศัยน้ำประปาตามก๊อกสาธารณะ ที่รัฐบาลทำไว้ให้ประชาชนใช้กันเปล่า ๆ ก๊อกเหล่านี้มีเป็นระยะ ๆบ้านใครอยู่ใกล้ก็สบายมาตักตวงเอาไปใช้ในบ้านของตนได้ง่าย บ้านที่อยู่ห่างออกไปก็เอาถังเอาปี๊บมารองหิ้วไปหรือหาบเอาไปเอง แต่มีบางบ้านซื้อน้ำมาจากพวกนี้เป็นหาบ ๆ ไว้ใช้กัน
คุณตามีเพื่อนนักเรียนที่อายุมากกว่า ตัวโตกว่าเพราะเข้าโรงเรียนเมื่อโต กลางวันก็มาโรงเรียน กลับไปบ้านก็ช่วยพ่อแม่ทำงานค้าขาย ตอนกลางคืนก็รับจ้างหาบน้ำรองน้ำประปาจากก๊อกสาธารณะใส่โอ่งตามบ้านใกล้ เมื่อยังไม่โตก็หาบน้ำที่ปี๊บยังไม่เต็ม โตขึ้นก็เพิ่มอีกให้เต็มปี๊บได้ พ่อของเขาแข็งแรงหาบคราวละ ๔ ปี๊บ ข้างหน้า ๒ ปี๊บ ข้งหลัง ๒ ปี๊บ หาบเสียไม้คานแอ่นทีเดียว
หน้าร้อนคนใช้น้ำกันมากน้ำขายดี รองน้ำหาบไม่ทันคนใช้ ต้องเอาปี๊บไปคอยรองน้ำตลอดคืน หาบกลางคืนดีแดดไม่ร้อน ช่วยไม่ให้เหนื่อยง่าย หน้าฝนคนไปใช้น้ำฝนกันหมด น้ำประปาขายไม่ค่อยดี รายได้ตกต่ำเก็บเงินไม่ได้มากเหมือนหน้าร้อน
ทั้งคุณตาและคุณยายเมื่อเด็ก ๆ ชอบเล่นน้ำฝนจริง พอฝนตกชักอยากจะขยับออกไปเล่นน้ำฝน ผู้ใหญ่รู้ทันมักจะห้ามไว้ว่า "ให้มันตกหนักกว่านี้ค่อยเล่น ตกนิด ๆ หน่อย ๆ จะไปดีอะไร เล่นแล้วก็ต้องล้างบ้านขัดบ้านเสียเลยซี"
เพราะฉะนั้นเวลาหน้าฝน คุณยายและคุณตาก็ต้องช่วยกันรองน้ำฝนตักใส่โอ่งให้เต็มทุกโอ่งเสียก่อนจึงจะเล่นน้ำฝนได้
ระหว่างที่เล่นน้ำฝนก็ต้องขัดถูบันได นอกชานพื้นลานบ้านให้สะอาดไปด้วย ใช้กระดวงที่ทำจากมะพร้าวแก่ ๆ กะลาเล็ก ๆ ผ่าซีกขัดจนกระดานและพื้นขาวสะอาดทุก ๆ แห่งทีเดียว มีผ้าผ่อนอะไรที่พอจะซักได้ ก็เอาออกมาซักกันให้เต็มที่ ไม่ต้องเสียดายน้ำ ผู้ใหญ่มักบอกว่า "เทวดาท่านอุตส่าห์ส่งน้ำมาให้เราใช้แล้ว ต้องรีบกักตุนไว้ใช้ฝนตกมาก ๆ พื้นกระดานพื้นหินน่ายดี ขัดล้างตะไคร่และความสกปรกออกได้ง่าย" หน้าฝนบ้านจึงสะอาด
พวกคนแก่ชอบดื่มน้ำฝนกันนัก เพราะสะอาดและหวาน ต้องเก็บน้ำฝนไว้ดื่มในหน้าแล้ง ถ้าหน้าหนาวหรือหน้าแล้งเกิดฝนตก เป็นฝนหลงฤดูมาก็จะดีใจมาก เพราะจะได้มีน้ำฝนมาเพิ่มโอ่งให้เต็ม แต่น้ำฝนตกใหม่ ๆ น้ำยังใช้รองไว้กินยังไม่ได้ เพราะหลังคายังสกปรกอยู่ มีฝุ่นละอองตกค้าง ต้องปล่อยให้ฝนชะล้างความสกปรกออกไปเสียก่อน จึงรองไว้กินได้ ต้นไม้ต้นหญ้าก็พลอยสดชื่นขึ้นเพราะได้ฝน
คุณปู่ของคุณยายบอกว่า "ในกระบวนน้ำดื่มทั้งหมด น้ำฝนเป็นยอดน้ำที่เทวดาจัดส่งลงมาให้มนุษย์ทีเดียวละ ทั้งหวานทั้งสะอาด ยิ่งในโอ่งดินเก็บไว้กินหน้าร้อนแล้วยิ่งวิเศษสุด ทั้งเย็นและหอมกลิ่นดินเผาชื่นใจนัก"
ตามบ้านจึงมักมีคณโฑดินเผาหรือหม้อดินเผาสำหรับใส่น้ำฝนไว้รับแขกและดื่มเองแทบทุกบ้าน ดินเผานี้ทำให้น้ำเย็นเหมือนแช่น้ำแข็ง หน้าร้อนมาก ๆ คนจึงชอบไปนั่งคุยหรือพักผ่อนข้าง ๆ โอ่งน้ำและถือโอกาสเอาหลังพิงโอ่งไปด้วยเพื่อคลายความร้อน
คนที่มีบ้านอยู่ริมแม่น้ำหรือคลอง หน้าแล้งก็เอาน้ำแม่น้ำหรือคลองใส่โอ่ง แล้วเอาสารส้มมากวน ๆ ให้ตกตะกอน แล้วใช้ซักผ้าหรือหุงข้าวต้มแกงกันจะใช้น้ำก็ต้องประหยัด ๆ กันหน่อย
ฝนแรกหลังจากอากาศร้อนและแห้งแล้งมานาน น้ำในโอ่งขอดแห้ง ในคลองก็ขอดเหลือแต่โคลนแล้ว พอฝนแรกตกน่าชื่นใจและน่าดูมาก คุณแม่ของคุณยายจะรีบเกณฑ์เด็ก ๆ ช่วยกันล้างโอ่งเปล่าให้สะอาดทุกใบ แล้วรอให้น้ำสะอาดเสียก่อน ช่วยกันรองน้ำฝนเสียยกใหญ่ มันช่างชื่นใจเสียจริง ๆ ดับร้อนได้ดีมาก ได้ซักผ้ากันเต็มที่ ไม่ต้องประหยัดน้ำกันแล้ว เพราะต้องซักผ้าล้างชามอย่างประหยัดน้ำกันมานาน
เรื่องน้ำในหน้าแล้งนี้ก็เหมือนกัน คุณแม่ของคุณยายสั่งนักหนาห้ามไม่ให้เอาน้ำถูเรือนหรือน้ำที่ดื่มเหลือในถ้วยในขันสาดทิ้งไปเสียเปล่า ๆ โดยไม่ได้ประโยชน์อะไร ให้มารดน้ำตามโคนต้นไม้หรือในกระถางต้นไม้ยังได้ประโยชน์ดีกว่า ลูก ๆ จะล้างหน้าบ้วนปากสีฟันก็ให้ไปล้างที่แถวที่มีต้นไม้ จะได้ไม่เสียน้ำไปเปล่า ๆ
คุณตาคนที่เป็นหมอยาก็ต้องการใช้น้ำฝนกลางหาวมาไว้ใช้ทำยาตาเก็บไว้ น้ำฝนกลางหาวคือน้ำฝนที่รองด้วยอ่างที่ล้างสะอาดรองน้ำฝนกลางแจ้งตอนที่ฝนตกหนักในหน้าฝน น้ำนี้เป็นน้ำที่สะอาดบริสุทธิ์ที่สุด จึงเหมาะสำหรับทำยาหยอดตานัก จะมีโอกาสเก็บได้ในหน้าฝนเท่านั้น แล้วยังต้องเก็บไว้ผสมยาต่าง ๆ อีกด้วย ตามบ้านทุก ๆ บ้านจึงต้องมีรางน้ำสังกะสีเพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ตลอดปี โดยไม่ต้องพึ่งน้ำประปา
..........
sirinawadee
อ่านครั้งแรกในสตรีสารภาคพิเศษตอนเรียนประถมค่ะ ดูเหมือนว่าในการรวมเล่ม บางตอนหายไป เท่าที่จำได้ก็มีเรื่องของทาส เรื่องของอีตู้ที่ไล่ฟันคน
ปัจจุบันมีถึงเล่ม 4 เท่านั้นใช่ไหมคะ
.....
เทาชมพู
ค่ะ หนังสือมี 4 เล่ม เรื่องของอีตู้ที่ไล่ฟันคนไม่ได้รวมอยู่ในหนังสือฉบับรวมเล่ม
วรรณกรรมเยาวชนที่เล่าเรื่องในอดีตได้สนุก มีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่ถูกต้องแม่นยำอย่างนี้หาได้ยากมากค่ะ ขอนำมาลงให้อ่านกันอีกเรื่อง
..........
ของแสลง
เมื่อสมัยคุณตาคุณยายยังเป็นเด็ก ๆ อยู่ ถ้าเกิดเจ็บป่วยเป็นอะไรไปนิดหน่อยก็ตาม คนนั้นจะต้องถูกจำกัดอาหาร ให้กินแต่อาหารอ่อน ๆ ที่ย่อยง่าย ห้ามกินอาหารที่คิดว่าแสลงต่าง ๆ จนกว่าจะหายเป็นปกติ
ถ้าใครท้องเสีย หรือเป็นบิด จะต้องกินข้าวต้มเปื่อย ๆ หรือข้าวเปียก กับปลาแห้งป่น หมูหยอง กุ้งแห้งป่น หรือปลาดุกย่างจิ้มน้ำปลา จะไปวิ่งเล่นหรือกระโดดโลดเต้นไม่ได้ เดี๋ยวจะหายยาก ถ้าเป็นไข้หวัด แล้วมีอาการไอก็จะห้ามอาหารทอดทุกชนิด ไข่เจียว ไข่ดาวก็ไม่ได้ ต้องเปลี่ยนเป็นไข่ต้ม ไข่ตุ๋นหรือไข่เค็ม อาหารทุกอย่างต้องปิ้งและต้มห้ามทอดเป็นอันขาด เพราะจะทำให้ไอมากขึ้น เมื่อไข้สร่างก็จะห้ามกินแตงโม แตงไทยหรือผลไม้ที่เย็น
ผู้ที่เป็นไข้หวัดหรือไอ จะดื่มน้ำแข็งไม่ได้ เพราะจะทำให้เป็นมากขึ้น ต้องดื่มแต่น้ำร้อน ๆ ชาร้อน น้ำข้าวร้อน ๆ หรือบางทีก็น้ำมะตูมร้อน ๆ ที่เรียกว่า"น้ำชูบาน" ทำด้วยมะตูมสุก ๆ ต้มใส่น้ำตาลนิดหน่อย บางครั้งก็เอาเนื้อมะตูมไปราดน้ำผึ้งให้กินเป็นของหวาน แล้วเอาที่เหลือคือเปลือกและเม็ดและเนื้อที่ติดมาต้มทำน้ำชูบาน
อีกอย่างหนึ่งก็คือนำมะตูมอ่อนที่หั่นเป็นแว่น ๆ ย่างไฟจนหอมแล้วชงน้ำร้อนให้ดื่ม หอม ๆ ดี แต่สู้น้ำชูบานไม่ได้
ถ้าใครเป็นแผลพุพอง แผลหกล้มถลอก หรืออุบัติเหตุอะไรก็ตาม จะถูกห้ามไม่ให้กินข้าวโพดข้าวเหนียว ขนมทุกชนิดที่ทำจากแป้งข้าวเหนียว กินได้แต่แป้งข้าวเจ้าและข้าวสาลีเท่านั้น เพราะจะทำให้แผลกลัดหนอง หายยาก แผลที่จวนหายแล้วกลับกลัดหนองขึ้นมาอีก แผลเล็กกลายเป็นแผลใหญ่ขึ้นมา คุณยายรู้สึกว่า ที่ผู้ใหญ่ห้ามนี้เป็นเรื่องจริง ๆ เพราะเคยพิสูจน์มาหลายครั้งแล้ว ครั้งหนึ่งคุณยายหกล้มหัวเข่าแตกเป็นแผลแห้งจวนจะหายดีแล้ว แต่ยังไม่หายสนิท คุณแม่ทำข้าวเหนียวมะม่วง อยากจะกินเหลือเกิน ก็บอกว่าแผลหายดีแล้ว จึงกินข้าวเหนียวมะม่วงมากไป พอรุ่งขึ้นเช้าก็ปวดและกลัดหนองขึ้นมาอีก ต้องกลับไปเดินขาเขยกอีก
อาหารอร่อย ๆ ดี ๆ ที่ชอบต้องอดไปเพราะเจ็บป่วยมีบ่อย ๆ กำลังเป็นแผลพุพอง ต้องอดข้าวต้มกุ้ง กุ้งทอดที่มีมันสีแดงเยิ้มคลุกข้าวอร่อย แม้แต่กุ้งเผาจิ้มน้ำปลาก็ไม่ได้ อาหารทะเล หอยนางรม ปลาทอดอร่อย ๆจิ้มน้ำปลามะนาวต้องอดหมด ต้องภาวนาขอให้หายเร็ว ๆ จะได้กินอาหารอร่อย ๆ อาหารพวกนี้ถูกหาว่าคาวจัด กินแล้วทำให้คันแล้วก็เป็นจริง ๆ ด้วย
หน้าลำไย ลิ้นจี่ หรือขนุน ก็ต้องจำกัดให้กิน เด็ก ๆ กินอะไรไม่รู้จักประมาณ กินจนไม่สบาย ลำไยกินมากไปก็ตาแฉะ เพราะร้อนเกินไป เด็ก ๆ ที่เป็นแผลพุพอง แผลจะเยิ้มมาก ลิ้นจี่ก็ย่อยยากถ้าธาตุไม่แข็งพอ เพราะมักทำให้ปวดท้อง ขนุนก็เหมือนกันย่อยยาก ทุเรียนนั้นร้อนมากห้ามกินตอนกลางคืน เพราะจะทำให้ร้อนจนนอนไม่หลับ
คุณตาเคยไม่เชื่อฟัง แอบกินขนุนเสียมากมาย ทั้งที่ท้องไม่ดีกินยาจวนจะหายอยู่แล้ว กลับเป็นมากขึ้นอีก เลยจับได้ว่าแอบไปกินขนุนมา จึงต้องกินยาอีกมากมายกว่าจะหายดี
อาหารต่าง ๆ เหล่านี้แสลงจริง ๆ คุณตาและคุณยายลองมาแล้วแทบทั้งนั้น แต่แรกก็คิดว่าผู้ใหญ่นี้ใจร้ายใจดำ หวงไม่ให้กินอาหารอร่อย ๆ เมื่อเห็นฤทธิ์แล้วจึงรู้ว่าผู้ใหญ่นี้คิดถูก
หมอบอกว่า ถ้าไม่สบายให้กินอาหารอ่อน ๆ ย่อยง่าย ๆ ไว้เป็นดีที่สุด จะรักษาโรคให้หายได้เร็วกว่าให้กินอาหารได้ตามใจเด็ก ๆ แต่อันที่จริงคุณยายนั้นชอบข้าวเปียกกับปลาดุกย่าง บางครั้งถึงกับภาวนาไม่อยากให้หาย เพราะจะอดกินข้าวเปียกกับปลาดุกย่างจิ้มน้ำปลาอร่อย ๆ ต่อไป ต้องมากินข้าวสวย เด็ก ๆ และคนแก่ที่ฟันไม่ดีกินอาหารอ่อน ๆ ย่อยง่าย ๆ ดีเหมือนกัน
.....
SRISOLIAN
ถ้าผมจำไม่ผิดฉบับรวมเล่มตั้งแต่เล่ม 1-4 ยังพอหาซื้อได้ที่ศูนย์หนังสือจุฬาครับ ส่วนตอนที่นอกเหนือจากทั้ง 4 เล่มนี้ จะอยู่ในสตรีสารภาคพิเศษเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ยังมีภาพประกอบแสนน่ารักของ "ปีนัง" อีกด้วยครับ สำหรับตอนต่างๆ ที่น่าสนใจ เช่น เขามอ หมอยา ล่าจระเข้ เรือไม้ซาง การนอน น้ำปรุง ฯลฯ เป็นต้น
.....
sirinawadee
หนังสือชุดนี้คล้ายๆ กับเรื่องบ้านเล็กอยู่อย่างหนึ่งคือ บรรยายอาหารการกินได้ชวนหิวมากค่ะ
เสียดายตอนที่ไม่ได้นำมารวมเล่มจังค่ะ เรื่องดีๆ ที่น่าอ่านทั้งนั้น
.....
Hanako
เปิดเจอกระทู้นี้ทำให้กดสั่งซื้อหนังสือชุดนี้มาอ่านอีกรอบ เพราะนึกได้ค่ะว่า สมัยที่อ่านนั้น ตัวเองยังเด็กมาก แม้จะชื่นชมและประทับใจแต่ก็ยังทำอะไรไม่เป็นมากนัก จะประทับใจอย่างเดียวแต่ไม่ได้เอามาประยุกต์ใช้ในชีวิตจริงปัจจุบันบ้างก็เห็นจะเสียดายคุณค่าที่แท้จริงของหนังสือเล่มนี้ไป เลยสั่งซื้อมาอ่านใหม่ รอบนี้จะอ่านแบบเป็นเหมือน...คู่มือสามัญประจำบ้าน เลยค่ะ
อิอิ เจอกันแน่กับตำราอาหาร สารพัดประยุกต์และประหยัด รู้คุณค่าทุกๆสิ่งในครัวเรือนตามฉบับของแม่บ้านไทยๆขนานแท้
.....
Rangson Boontham
ขอเสริมด้วยภาพปกหนังสือทั้ง 4 เล่มที่มีอยู่ครับ
ประทับใจหนังสือชุดนี้มากครับ ทั้งเรื่องราวของคุณทิพย์วาณีและภาพประกอบของคุณปีนัง ชอบทุกตอนเลย ตอนเด็กๆ อ่านตอน เขามอ แล้วอดใจไม่ไหว ต้องไปหาซื้อไม้ดัดต้นเล็กๆ มาปลูกไว้ดูเล่นบ้าง
.....
เทาชมพู
อยากอ่านตอนที่หลงเหลืออยู่ในสตรีสาร น่าจะมีใครนำมารวมเล่มเป็นเล่มที่ 5 นะคะ เสียดายมาก ว่าเมื่อไม่มีคุณทิพย์วาณีแล้ว ก็ไม่มีใครเขียนเรื่องทำนองนี้อีก
.....
SRISOLIAN
ผมคิดว่าท่านใดที่ยังเก็บสตรีสารภาคพิเศษเอาไว้ (ในช่วงปีพ.ศ.2525-2530) ก็อาจช่วยกันทยอยลงในกระทู้นี้ก็ได้ครับ จะได้เป็นการแบ่งปันความรู้กัน นอกจากนี้ผมยังเคยอ่านเจอในนิตยสารสำหรับเด็กอย่าง "สวนเด็ก" ก็เคยลงด้วยเหมือนกันครับ...ช่วยๆ กันแกะรอยและรวบรวมตอนอื่นๆ ที่ยังหลงเหลืออยู่ตามหนังสือต่าง ๆ รวบรวมเป็น "เมื่อคุณตาคุณยายยังเด็ก เล่ม 5" (ฉบับเรือนไทยอุทิศ) กันนะครับ
.....
เทาชมพู
ดิฉันยังห่วงอยู่อย่างหนึ่งคือเรื่องลิขสิทธิ์ ถึงแม้คุณทิพย์วาณีถึงแก่กรรมไปแล้ว แต่ไม่ทราบว่าทายาทของท่านที่ได้รับมรดกลิขสิทธิ์นี้เป็นใคร จะยอมให้เราเอาผลงานมาลงทั้งหมดหรือเปล่า
เท่าที่เอามาลงได้บางส่วน ข้างบนนี้ ก็เอามาจากอินเทอร์เน็ตซึ่งมีเว็บอื่นลงอยู่แล้วค่ะ
แต่กำลังหวังก็คือ สนพ.ที่เคยพิมพ์ เมื่อคุณตาคุณยายยังเด็ก จะสนใจรวบรวมเรื่องอื่นๆของท่านที่ยังไม่ได้ตีพิมพ์รวมเล่ม เพื่อเป็นหนังสือดีๆให้เยาวชนอ่านอีกครั้ง ผู้สนใจคงจะไปหาได้จากหอสมุดแห่งชาติค่ะ
.........................
|