Smile Siam มาร่วมกันคืน "สยามเมืองยิ้ม" กลับสู่บ้านเรากันนะครับ ...

เรื่องราวน่าอ่าน => นวนิยายที่น่าอ่านอย่างยิ่ง => Topic started by: นักประพันธ์ on 29 February 2020, 07:50:08

Title: กรงกรรม บทประพันธ์ของ จุฬามณี
Post by: นักประพันธ์ on 29 February 2020, 07:50:08
กรงกรรม  บทประพันธ์ของ จุฬามณี


นวนิยาย เรื่องนี้เขียนขึ้นจากจินตนาการ โดยใช้ฉากเป็นสถานที่จริง หากชื่อตัวละครหรือเหตุการณ์ไปเกี่ยวข้องกับบุคคลใด ผู้เขียนขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วย


ตอนที่ 1 : ปฐมบท ของ ปฐมบท

               ๑

          พ.ศ. ๒๕๑๐ ณ ตลาดอำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์
 
          หลังสิ้นเสียงหวูดรถไฟ อึดใจใหญ่ๆ รถสามล้อถีบที่มีชายหนุ่มกับหญิงสาวเป็นผู้โดยสารก็มาหยุดที่หน้าร้านค้าส่ง ชายหนุ่มวัย ๒๓ ปีอยู่ในชุดเครื่องแบบทหารเกณฑ์สีเทาอุ้มเป้สัมภาระรีบกระโดดลงจากรถ เขามองเข้าไปในร้านสองคูหาซึ่งเป็นบ้านของตนด้วยสีหน้าเต็มไปด้วยความกังวล หญิงสาวที่นั่งอยู่เคียงกันก้าวตามลงมา เธอมองเข้าไปในร้าน ก็พบว่าบรรดาลูกค้าที่กำลังเลือกซื้อสินค้าต่างก็หันมามองที่เขาและตัวเธอ แทบจะเป็นตาเดียวกัน แน่นอนว่าคนเหล่านั้นไม่สามารถเห็นสายตาของหญิงสาวที่อยู่ใน ชุดกางเกงเอวสูงสีเขียว เสื้อตัดจากผ้าชีฟองพื้นสีเหลืองดอกสีดำจับจีบรอบคอสอดชายเสื้ออยู่ในกางเกง เพราะเธอคาดแว่นกันแดดปิดบังสายตาไว้...

          “นี่เหรอบ้านของพี่” ปากที่เคลือบลิปสติกสีแดงสดเอ่ยถาม

          “ใช่...บ้านพี่”

          “ร้านใหญ่โตดีนะ ลูกค้าเยอะเสียด้วย” ริมฝีปากหนาอูมได้รูป คลี่เพียงแย้ม ไหล่ระหงไหวเล็กน้อย ทำให้ใบหน้าแต่งแต้มสีสันในกรอบผมหยิกยาวดูเก๋ไก๋ตามสมัยนิยม

          หลังจากที่ชายหนุ่มจ่ายค่ารถสามล้อ เขาสูดลมหายใจเข้าปอด ก่อนจะเดินนำหญิงสาวเข้าไปในร้าน

          “เฮียใช้ เอ่อ” บุญปลูกลูกจ้างสาววัย ๑๖ ปีร้องทักด้วยสีหน้าเคลือบแคลงสงสัย

          “ปลูก ม้าอยู่ไหน” เพื่อแก้ ‘เขิน’ กับ สายตาสอดรู้สอดเห็นของ คนถามและลูกค้าที่เขาพอคุ้นหน้าค่าตาอยู่บ้าง เขาจึงต้องชิงถามทั้งที่รู้ว่าช่วงเวลานี้แม่ของตนจะต้องนั่งอยู่ตรงไหน...

          ไม่ทันรอเอาคำตอบ...เขาก็หันมาพยักหน้ากับหญิงสาวที่เดินตามมาด้วย ให้เดิน ตามมา...

          ชายหญิงทั้งคู่เดินเข้าร้านไปแล้ว ส่วนกระเป๋าผ้าใบใหญ่ ยังคงวางไว้ที่หน้าร้าน เช่นเดียวกับกลิ่นน้ำหอม ที่ยังคงฟุ้งตลบจนบุญปลูกต้องทำจมูกฟุตฟิต ครุ่นคิดว่ามันเหม็นหรือหอมกันแน่
         
          “ม้า...หวัดดี” เขาก็วางกระเป๋าเป้ลงที่พื้น แล้วยกมือขึ้นไหว้...

          “ตี๋ใหญ่...แกพาใครมาด้วย”

          “เรณู เรณูสวัสดีแม่ของพี่เสียซิ”

          “สวัสดีค่ะ...ม้า”

          แค่ ได้กลิ่นหอมฟุ้ง เห็นเสื้อผ้าที่สวมใส่ นางย้อยก็พอเดาได้ว่า   หญิงสาวที่เดินตามลูกชายมานั้นเป็นใคร? ระหว่างลูกชายของตนหญิงสาวนั้นมีฐานะอะไร สัญชาตญาณของความเป็นแม่ และอุปนิสัยที่ได้ชื่อว่าเป็นคน ‘ปากไว’ นางย้อยจึงถามกลับไปด้วยน้ำเสียงห้วน ๆ ว่า 

            “ใคร ใครเป็นม้าของเธอ ไม่ต้องมานับญาติกับฉันหรอกนะยะ”

          พอได้ยินวาจาของหญิงวัย ๔๐ กว่าๆ หญิงสาวที่ยืนด้านหลังชายหนุ่มก็เบะปาก...เชิดหน้า ที่แต่งแต้มสีสันสะดุดตาขึ้น...

เมื่อเห็น กิริยา ท้าทายอำนาจของตนอย่างโจ่งแจ้ง นางย้อยที่นั่งอยู่หลังโต๊ะบัญชีก็ผุดลุกขึ้น ถลึงตา แล้วก็แผดเสียงดังอย่างไม่คิดอับอายใครทั้งสิ้น...   

            “ตี๋ใหญ่...แกพาใครมาด้วย...พากันมาทางไหน เอามันออกไปทางนั้นเลยนะ” 

          สิ้นประกาศิตจากแม่ของชายหนุ่ม หญิงสาวนามว่า ‘เรณู’ ก็ใช้สองมือจับหมับที่ต้นแขนของชายหนุ่ม บอกให้รู้ว่า เธอจะยึดเขาเป็นเกาะป้องกันตัว...

          ตี๋ใหญ่ของนางย้อย หรือพลทหารปฐม อัศวรุ่งเรืองกิจ รู้ทันทีว่า ‘ศึก’ กำลัง จะเกิด...เพราะแม่ของเขานั้น ไม่มีวันยอมรับเรณูมาเป็นศรีสะใภ้อย่างแน่นอน...และเขาก็รู้ว่าเรณูจะไม่ยอม ถอยแม้แต่ก้าวเดียวเช่นกัน...

          เรณูบอกกับเขาว่า ‘ถ้าไม่เข้าถ้ำเสือ มันก็จะไม่ได้ลูกเสืออย่างที่ควรจะได้แน่’

          เรณูไม่กลัวคำขู่ของเขาเลยสักนิด เขาบอกกับเรณูเสมอว่า แม่ของเขานั้น ‘ร้าย’ ถึงเพียงไหน...

          แต่เรณูหาได้หวั่นเกรง...หญิงสาวบอกกับเขาว่า ‘พร้อมรบ’ เพื่อความรัก เพื่อลูกในท้องที่กำลังจะลืมตาดูโลก ต่อให้ต้องบุกน้ำ ลุยไฟ เดินฝ่าดงหนาม เธอก็ไม่หวั่น

   “ไม่กลับ หนูไม่กลับ หนูจะอยู่ที่นี่...กับผัวของหนู”
   
   “หน้าด้าน”

   “พี่ใช้ บอกแม่พี่ไปซิ ว่า หนูท้อง...หนูท้องกับพี่เขาแล้ว จะกลับไปได้อย่างไร”

   “อะไรนะ...แกท้อง!”

   “ม้า ผมทำเรณูท้อง เรณูท้องได้ ๒ เดือนแล้ว”

   “ต๊าย! อีผู้หญิงใจง่าย อี...อี ดูซิ ดูแต่งเนื้อแต่งตัว...ถามจริง ๆ เถอะ แกทำงาน ทำการอะไร”

   “บอกแม่พี่ไปซิพี่ใช้” เรณูโยนกลองไปให้ปฐม...

   “เอ่อ...เรณูเขา...เอ่อ”

   “ไม่ต้องบอกก็รู้หรอกว่าสารรูปอย่างอีนี่ จะทำงานอะไรได้ แต่งเนื้อแต่งตัว แต่งหน้าทาปาก อย่างนี้ มันต้องเป็นกะหรี่แน่ ๆ”

   “กะหรี่” เรณูทวนคำนั้นเบา ๆ เบะปากเล็กน้อยเหมือนยอมรับความจริง...ความจริงที่น่าภาค ภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง

   “ตี๋ใหญ่!”

   “ไม่ใช่อย่างนั้นหรอกม้า”

   “ก็มันยอมรับ...แล้วนี่พามันมาจากที่ไหน.”

   “ตาคลี”

   “แน่ ๆ เลย อยู่ตาคลี ทำงานรับแขกอยู่ในบาร์แน่ ๆ”

   “รู้ เหมือนกันว่าอยู่ตาคลี ต้องทำงานรับแขกอยู่ในบาร์”

   “หยุดเถอะ” ปฐมหันมาหญิงสาวที่ยืนอยู่ข้างตน แต่เรณูหาได้หวั่นเกรงในน้ำเสียงที่ดังขึ้นกว่าเดิมนั้นสักนิด

          ฝ่ายแม่ของเขาเองตอนนี้ก็หน้าแดง ดวงตาวามวับ จ้องมองหญิงสาวที่เกาะเขาอยู่อย่างจะกินเลือดกินเนื้อ...ดีแต่ ว่าเรณูยังคงสวมแว่นกันแดดปิดบังสายตา แม่จึงไม่เห็นแรงท้าทาย...

          “ผมขอตัวพาเรณูขึ้นห้องพักผ่อนก่อนนะม้า...ขึ้นรถไฟมาตั้งแต่เช้า เหนื่อย ร้อน อยากอาบน้ำ” เขารีบตัดบท...

          “ไม่ได้...แกจะให้มันอยู่ที่นี่ไม่ได้”

          เรณูเชิดหน้าขึ้น...

          “เขาเป็นเมียของผม เป็นแม่ของลูกผม ผมจะให้เขาไปอยู่ที่ไหนละม้า”

          “ไม่รู้...รู้แต่ว่า มันจะอยู่ร่วมชายคากับม้าไม่ได้”

          ปฐมยืนอึ้ง...สีหน้าเต็มไปด้วยความหนักใจ ส่วนเรณูขยับตัวเดินไปหยิบจับสินค้าบนชั้น แล้วแสร้งอ่านฉลาก รอการตัดสินใจของปฐม...โดยใจนั้นหาได้หวาดหวั่นสักนิด...เพราะเธอมั่นใจว่าได้เตรียมการตั้งรับกับแม่ผัวคนนี้มาแล้วเป็นอย่างดี

          บุญปลูกที่จด ๆ จ้อง ๆ อยู่ รีบฉวยโอกาสทำลายความตึงเครียด...โดยการร้องบอกว่า “เถ้าแก่เนี้ย ป้ามอนแกจะกลับแล้ว ออกมาคิดเงินให้แกด้วย”

          เมื่อไม่สามารถไล่หญิงสาวที่ติดตามลูกชายมา ให้พ้นทางชีวิตไปได้ นางย้อยก็บอกกับลูกชายว่า...

          “ถ้าไม่รู้จะให้มันไปอยู่ที่ไหน ก็ให้มันไปอยู่ที่บ้านในตรอกโน่น”

          “แต่ว่าบ้านหลังนั้น มันเป็นบ้านร้าง”

          “ร้าง ก็ปัดกวาดเช็ดถู อยู่ได้ก็อยู่ อยู่ไม่ได้ จะไปอยู่ที่ไหนก็ไป...ไป พากันไปจากร้านนี้ได้แล้ว เกะกะขวางทางทำมาหากิน”

          สิ้นเสียงนางแม่ผัว...ลูกสะใภ้ก็ลุกขึ้นจากเก้าอี้หัวโล้น...แล้วเดินนำปฐม ออกไปที่หน้าร้าน...เขาคว้ากระเป๋าแล้วถามหากุญแจรั้ว กุญแจบ้าน... 
          นางย้อยเปิดลิ้นชัก หยิบกุญแจส่งไปให้แล้วถามว่า “แล้วนี่จะกลับเข้าค่ายเมื่อไหร่”

          “อีกห้าวันครับ”

          “เอามันกลับไปเข้าซ่องเข้าบาร์ที่มันเคยอยู่ด้วยนะ อย่าทิ้งไว้ให้เป็นเสนียดสายตาของม้า”

          “แต่”

          “แกอย่าลืมว่าแกมีคู่หมั้นคู่หมาย...ตอนนี้ ทางนั้น ยังไม่รู้เรื่องบัดสีนี้ เราต้องรีบแก้ปัญหากันเสียก่อน”

          “แต่เรณูท้องนะม้า”

          “ท้องได้ ก็แท้งได้...แล้วคนอย่างอีนี่ ม้าไม่เชื่อหรอกว่ามันจะไม่เคยรีดเด็กออกจากท้อง”

          ปฐมถอนหายใจอย่างแรง...ส่ายหน้าเบา ๆ ...ครั้นพอจะขยับตัวก้าวขา...แม่ของเขาก็เอ่ยขึ้นว่า

          “เอามันไปไว้ที่บ้านนั้น ให้มันเก็บกวาดบ้าน แล้วแกก็กลับมาหาม้าด้วย เราต้องมีเรื่องคุยกันอีกยาว”

         ปฐมทำหน้าเหนื่อยหน่ายใจ  ก่อนจะหันหลัง  เดินไปหาเมียที่ยืนชะเง้อชะแง้ มองร้านรวงสองฟากถนนที่ขนานไปกับแม่น้ำน่าน ด้วยทีท่าสนใจเสียเต็มประดา

*************

          บ้านไม้สองชั้นใต้ถุนสูงโล่งในตรอก ห่างจากตลาดพอสมควร มีอาณาบริเวณพอให้ปลูก ต้นไม้ ดอกไม้ให้ความร่มรื่น...แม่ได้บ้านหลังนี้พร้อมที่ดินมาจากการรับ จำนอง  พอเจ้าของบ้านไม่สามารถส่งดอกเบี้ย ดอกเบี้ยก็ทบต้น สุดท้ายแม่จึงต้องยึดบ้านหลังนี้ไว้ หลังได้กรรมสิทธิ์ แม่ให้เจ้าของเดิมย้ายบ้านออกทันที ท่ามกลางเสียงแช่งชักหักกระดูก กล่าวหาว่าแม่หน้าเลือด ใจดำอำมหิต แต่แม่ก็หาได้สนใจ เสียงที่แว่วมาให้ได้ยิน...แม่เปรยว่า ‘กู ไม่ได้โกงใคร ก่อนที่จะเอาเงินไป ลูกหนี้ของกูทุกคน รู้อยู่แล้วว่าสัญญาเงินกู้นั้นมีข้อความว่าอย่างไร...เมื่อทุกคนเต็มใจเซ็นชื่อ เต็มใจแปะโป้ง ก็ต้องยอมรับผลกรรมที่จะตามมา’

          เบื้องต้นแม่ปล่อยให้ข้าราชการที่มาจากต่างถิ่นเช่าอาศัย พอข้าราชการคนนั้นย้ายไป บ้านหลังนี้จึงปล่อยร้าง หาคนเช่าไม่ได้...แม่ตั้งใจไว้ว่า หลังจากที่เขาปลดทหารในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า จะยกให้เป็นเรือนหอของเขา ซึ่งเป็นลูกชายคนโต กับ ‘พิไล’ ลูกสาวคนเล็กเถ้าแก่เจ้าของโรงสีคนตำบล     ทับกฤชที่เกิดจากเมียคนไทย เหมือนกับแม่ของเขาที่เป็นคนไทย ได้สามีเป็นลูกชายคนจีนโพ้นทะเล แต่เมื่อรูปการเป็นอย่างนี้เสียแล้ว...แผนแต่งงานกับลูกเศรษฐีมีเงินจึงต้องล่มไป...

          พอเห็นตัวบ้าน...ความหลังก็ผุดขึ้นมา...

          ‘พิไล’ ผู้หญิงไทยเชื้อสายจีนที่เขารู้สึกพอใจตั้งแต่ผู้ใหญ่แนะนำให้รู้จักกัน พิไลเป็นผู้หญิงตัวเล็ก มารยาทเรียบร้อย แต่งตัวด้วยเสื้อผ้าสีสันสบายตา ความรู้ของพิไลก็มีถึงชั้น มศ.๕  หญิงสาวถนัดค้าขาย เก่งเรื่องบัญชี เป็นหูเป็นตาเป็นมือเป็นเท้าให้กับเถ้าแก่ฮง เจ้าของโรงสีใหญ่ผู้พ่อ...และที่สำคัญฐานะทางบ้านของเจ้าหล่อนเหนือสาวอื่น ใดในตลาดทับกฤช...

          แต่ทำไม ทำไมเขาจึงได้หมดรัก หมดความพึงใจในตัวพิไล และปล่อยให้เรณูเข้ามาแทนที่จนเต็มหัวใจ

          เพราะถ้าเปรียบพิไลเป็นเพชร เรณูก็เป็นถ่าน...แต่เขาก็รักและสงสารเรณู ผู้หญิงมากตำหนิในสายตาของคนรอบ ๆ ตัว จนทิ้งขว้างไม่ลง

          “บ้านน่าอยู่จัง...แบบนี้คือบ้านในฝันของหนูเลยพี่” พอเห็นตัวบ้าน เรณูก็ยืนอยู่ข้างเขาก็ยิ้มฝัน...

          ตอนนี้หญิงสาวปลดแว่นกันแดดมาเหน็บไว้ที่คอเสื้อแล้ว...เขาจึงได้เห็นลูก นัยน์ตา เต้นระยิบระยับชวนให้สงสาร...

          เรณูบอกกับเขาว่า เธอเกิดในครอบครัวยากจนข้นแค้น มีพี่น้องนับทั้งตัวเธอด้วย มีจำนวนสิบคน...ความรู้ก็มีเพียงชั้นประถม ๔ บ้านของเธออยู่ตำบลเกรียงไกร อำเภอเมือง ระหว่างโดยสารรถไฟมาจากสถานีบ้านตาคลี มาที่สถานีชุมแสง ถึงบึงบอระเพ็ด เรณูยังชี้ไปยังทิศทางที่บ้านของตัวเองตั้งอยู่ให้เขามองตามปลายนิ้วไป นอกจากทำนาแล้ว ที่บ้านของเรณูก็ยังมีอาชีพทำประมง เพราะอยู่ติดกับบึงน้ำจืดขนาดใหญ่

          สงครามเวียดนาม ประเทศไทยเป็นมหามิตรกับประเทศสหรัฐอเมริกาอย่างเต็มตัว...กองบิน ๔ ตาคลีเป็นหนึ่งในฐานทัพที่กองทัพสหรัฐฯ เข้ามาตั้งฐานปฏิบัติการ เมื่อมีทหารผมสีทอง มีเงิน มีทอง คนไทยจึงต่างชักชวนกันมา‘ขุดทอง’ แม่ ของเธออยากร่ำรวยเหมือนคนอื่นบ้าง จึงบีบบังคับให้เธอนั่งรถไฟมาตาคลีกับคนในหมู่บ้าน  โดยไม่ได้สนใจความรู้สึกของเธอเลยสักนิด...

          พอ มาอยู่ตาคลี ครั้นจะมัวสนิมสร้อยเหมือนสาวน้อยไร้เดียงสา   เธอก็ถูกสาวใหญ่ที่อยู่มาก่อนข่มเหง...เพื่อเอาตัวให้รอดปลอดภัยและอยู่ อย่างมีความสุข เธอจึงต้องสร้างเกราะคุ้มครองตัวเองให้แกร่งขึ้น  จนกลาย เป็นความกร้าน...อย่างที่คนทั่วไปมองเห็น เขาพบเธอครั้งแรก เขาไม่ได้รู้สึกหลงใหลอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน...

          แต่ พอได้รู้จักกัน ได้มีโอกาสพูดคุย ดื่มกิน และร่วมหลับนอนบ่อยครั้งเข้า เขากลับหลงใหลในจริตมารยาหญิง จนเพื่อน ๆ ในกองร้อย เย้าว่า ดูเหมือนเขานั้นหลงเรณู จนโงหัวไม่ขึ้น ประหนึ่งว่า ‘ถูกของ!’

          “บ้านหลังนี้ แม่ตั้งใจไว้ว่าจะยกให้เป็นเรือนหอของพี่กับ..”

          “อีพิไล” น้ำเสียงของเรณูกระด้างหูทันที

          “ทำไมต้องเรียกเค้าอีด้วย...เค้าไม่ได้ทำอะไรให้หนูซักหน่อย”

         อันที่จริง เรณูอายุมากกว่าปฐมถึงสามปี แต่ด้วยเป็นผู้หญิงที่สูงเพียงร้อยหกสิบต้นๆ และยังแต่งหน้าแต่งตัวด้วยแพรพรรณสีสันสดใส ประกอบกับอาชีพของตน ทำให้เรณูเอ่ยสรรพนามแทนตนว่า ‘หนู’ เรียกปฐมลูกพ่อจีนแม่ไทยว่า ‘พี่’ ได้อย่างไม่รู้สึกตะขิดตะขวงใจ

          “ไม่รู้ ไม่อยากได้ยินพี่ใช้เอ่ยถึงมัน...หนูเกลียดมัน”

          “เกลียด ทั้งที่ไม่เคยเห็นหน้ากันเนี่ยนะ”

        ใจจริงเรณูอยากจะบอกว่า ‘ทำไมจะไม่เคยเห็นละ’ แต่ หญิงสาว ก็กลืนประโยคนั้นลงคอ แล้วพูดด้วยน้ำเสียงออดอ้อนว่า

          “ตอนนี้ พี่เป็นของหนู เรือนหอนี้ หนูเข้ามาครอบครองแล้ว ต่อไป พี่ห้ามเอาชื่อมันมาพูดในบ้านนี้อีกเด็ดขาด นะจ๊ะ”

          “ถ้าอย่างนั้น ก็เข้าไปทำความสะอาดบ้าน”

        เปิด ประตูบ้านแล้ว เรณูก็คว้าไม้กวาด ผ้าขี้ริ้วปัดกวาดเช็ดถูอย่างคล่องแคล่ว ไม่อิดออดอ้างว่าตนกำลังท้องไส้ เรณูจะบ่นก็เพียงว่า บ้านหลังนี้อยู่ห่างจากแม่น้ำน่านพอสมควร...แต่ว่าเรณูก็บอกว่า เรื่องหาบน้ำจากแม่น้ำขึ้นมาใส่ตุ่มแกว่งสารส้มไว้ใช้สอยและดื่มกิน ไม่ใช่เรื่องใหญ่สำหรับเธอ

         หลังเห็นบ้านสะอาดเอี่ยม...เขาก็บอกกับเรณูว่า “เดี๋ยวพี่จะกลับไปที่ร้าน จะไปขนเครื่องนอนมา”

          “เครื่องครัวด้วยนะ สำรวจแล้ว ในครัวมีเตากับถ่านเท่านั้น น้ำมันก๊าดก็ไม่มี มีตะเกียงแค่สองลูก”

          “หิวอะไรไหม”

          “อยากกินขนมครก ซื้อมาด้วยนะ ถ้าไม่มีก็เอากุยช่ายทอด รีบไปรีบกลับล่ะ เอ๊ะ หรือจะไปด้วยดี จะได้ช่วยถือของกลับมา”

          “ไม่ ต้องหรอก...พี่มีเรื่องต้องคุยกับม้า แล้วอีกอย่างถ้าหนูไปด้วยกัน เดี๋ยวม้าอารมณ์เสียพาลไม่ได้ของอะไรติดมือกลับมาสักอย่าง เย็นนี้ถ้ายังไม่พร้อมหุงหาข้าวปลากิน เดี๋ยวพี่จะพาไปกินที่ตลาด...ที่ชุมแสงนี่ของกินเยอะแยะ”
 
***********

   หลังจากที่ลูกชายพา ‘อีเรณู’ ออกไป...นางย้อยที่นั่งอยู่หลังโต๊ะบัญชี ก็ครุ่นคิดหาวิธี ‘กำจัด’  มารความสุขไปให้พ้นทาง...นางคิดวิธีชั่วช้าไว้หลายทางทีเดียว...แต่จะลงมือเลยยังไม่ได้...ทุกอย่างมันต้องรอเวลา

    “ม้า”

   “นั่ง”

   หลัง ลูกชายที่อยู่ในชุดกางเกงขาสั้นสีเขียวขี้ม้า เสื้อคอกลมลายพรางทรุดตัวลง นั่ง...นางย้อยที่ยังมีหน้าตาบึ้งตึงก็หยิบปากกาทำบัญชีต่อ...

   “ม้า...ผม ขอขึ้นไปเอาพวกเครื่องนอนกับของใช้ในครัวไปไว้ที่บ้านหลังนั้นนะ” เมื่อเห็นว่าแม่แสร้งยุ่งทั้งที่มีเรื่องจะคุย เขาจึงต้องขัดจังหวะ...
         
   “นังนั่นท้องได้กี่เดือนแล้วนะ” มือเขียนไป ตาอยู่กับสมุด แต่ปากก็ถาม...ถามเหมือนไม่ได้ใส่ใจ...
         
   “ประจำเดือดขาดมาสองเดือนแล้วม้า” เขาบอกย้ำอีกครั้ง...

             “แน่ใจรึว่าท้องกับแก” ประโยคนี้นางย้อยเงยหน้าขึ้นสบตาลูกชาย
         
   “แน่ใจ” เสียงของเขาไม่ดังนัก

             “ถ้าเด็กออกมาหัวแดง ตาสีน้ำข้าวเป็นลูกฝรั่งล่ะ แกจะทำอย่างไร ม้ากับเตี่ย และน้อง ๆ จะเอาหน้าไปไว้ที่ไหน แกคิดบ้างหรือเปล่า”
         
   “ลูกผมจริง ๆ ม้า...ตั้งแต่ยุ่งกับผม เขาก็ไม่ได้...เอ่อ”
         
   “ไม่ได้ให้ใครเช่า ไม่ได้รับแขกอีกเลย...แล้วนี่ มันไม่ได้เอาโรคภัยไข้เจ็บมาให้แกด้วยรึ”
         
   “ปกติดีม้า”
         
   “ม้าว่า ถ้าจะให้ดี แค่เดือนสองเดือน ทำแท้งเสียดีกว่า อย่าลืมนะ ว่าเรายังหมั้นอยู่กับพิไล”
         
   ปฐมถอนหายใจออกมา...สายตาเบนไปจับที่บันได...เพื่อให้แม่  หมดหวัง เขาจึงต้องบอกความจริงไปว่า

   “ก่อนจะกลับมาบ้าน ผมจดหมายไปบอกพิไลว่าผมคงแต่งงานกับเค้าไม่ได้แล้ว”
         
   “บอกไปแล้ว!... แก บ้ารึเปล่า!”
         
   “ผมรู้ว่าผมผิด ผมไม่อยากให้เค้ารอ...ทองหมั้นก็ยกให้เขาไปเลย เพราะเราเป็นฝ่ายผิด”
         
   พอได้ยินดังนั้น เลือดร้อนฉีดขึ้นหน้านางย้อย อารมณ์โกรธที่พุ่งขึ้นมาจนสุดจะกลั้นไว้

   “ไอ้ควาย...มึงนี่มัน...โอ๊ย กูอยากตาย...ทำไมถึงได้โง่เง่าเต่าตุ่นอย่างนี้นะ...ไม่ กูจะไม่ยอมเสียทองหมั้นหีบนั้นไปอย่างเด็ดขาด”

   ลองได้ขึ้นเสียง ขึ้นมึง ขึ้นกูและด่าทอแบบนี้ ลูกชายรู้ว่าแม่โกรธ จริง ๆ แต่จะให้เขาทำอย่างไรได้...
         
   เขาเบือนหน้าหนีสายตาของแม่...ซึ่งจ้องเขาอยู่ และดูท่ากำลังคิดแก้ปัญหา...
         
   “เอาอย่างนี้...ไปตามอาซามาจากโรงสี ให้มันมาเฝ้าร้าน...แล้วแกไปช่วยงานเตี่ยแทนมันก่อน”

   นางย้อยมีลูกชายกับนายหลักเซ้ง แซ่แบ้ หรือ ‘เจ๊กเซ้ง’ ถึง สี่ คน...
         
   คนโต ชื่อจริง ปฐม มีชื่อเล่นเป็นภาษาจีนว่า ‘ใช้’ แปลว่า ‘โชคลาภ’
         
   คนที่สองซึ่งกำลังบวชพระทดแทนคุณมารดาบิดาอยู่นั้นชื่อ ประสงค์ มีชื่อเล่นว่า ‘ตง’ แปลว่า ‘กลาง’
         
   คนที่สาม ชื่อ กมล มีชื่อเล่นว่า ‘ซา’ ที่แปลว่า ‘สาม’
         
   คนที่สี่เรียนหนังสืออยู่ที่ปากน้ำโพ ชื่อ มงคล มีชื่อเล่นว่า ‘สี่’
         
   ลูกชายทั้งสี่คนนี่แหละ ที่เปลี่ยนสถานะของนางย้อย คน หนองนมวัว ลูกสาวชาวนา ให้เป็น ‘เถ้าแก่เนี้ย’ ในปัจจุบัน เพราะหลังจากที่นางย้อยคลอดปฐม ‘นางลิ้ม’ อาม่าหรือย่าของเจ๊กเซ้ง ก็มองหลานสะใภ้คนไทยด้วยสายตาที่เปลี่ยนไป...

          จากที่เคยดูแคลน รังแครังคัด ก็กลับมีเมตตา ยกย่อง จัดหาหยูกยามาบำรุงร่างกาย

          หลังคลอดลูกคนที่สอง จากที่ต้องอยู่บ้านหลังโรงสีที่ตลาดทับกฤช ช่วยเลี้ยงหมู เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ นางลิ้ม ก็ให้ ‘นายหลักไห้ แซ่แบ้’ และ ‘นางซกเพ้ง แซ่จึง’ ซึ่งเป็นพ่อแม่ของเจ๊กเซ้ง รับนางย้อยเข้ามาช่วยค้าขายอยู่ที่ร้านโชห่วยในตลาดปากน้ำโพ...

          ที่นั่น แม้จะเหนื่อยยากลำบากกาย ลำบากใจ ยิ่งกว่าตอนเลี้ยงหมู อยู่ทับกฤช แต่ที่นั่นก็ทำให้นางย้อยเรียนรู้วิธีการค้าขายอย่างมืออาชีพ...

          กระทั่งนางย้อยคลอดลูกคนที่สี่...หลังจากนางลิ้มถึงแก่กรรมไปแล้ว  นายหลักไห้ ก็ให้ทุนรอนบุตรชายคนเล็ก
พาครอบครัวขยับขยายมาเปิดร้าน โชห่วยอยู่ที่ตลาดชุมแสง...

          ที่นี่นางเป็นเจ้าของเต็มตัว นางจึงทุ่มเทแรงกาย เฟ้นสติปัญญาที่มี ทำทุกวิถีทางที่จะทำให้การค้าเจริญรุ่งเรือง ทรัพย์สินเพิ่มพูน...โดยนาง ตั้งใจไว้ว่าในบรรดาลูกสะใภ้ของนายหลักไห้ และนางซกเพ้งนั้น นางจะต้องขึ้นชื่อว่า เป็นคนเก่งที่สุด แม้ว่านางจะเป็นคนไทยแท้ก็ตามที...

          “ตามมันมาทำไม ผมเฝ้าแทนให้ก็ได้”

          “ม้าไม่ไว้ใจแก” นางย้อยบอกลูกชายตามตรง...

          “แล้วผมเคยยักยอกเงินม้าหรือเปล่า”

          “ตะก่อนอาจจะไม่เคย แต่ตอนนี้แกมีเมียเป็นกะหรี่ไปแล้ว...แกอาจจะเห็นเมียกะหรี่ดีกว่าพ่อแม่พี่ น้องก็ได้” นางย้อยจงใจ ‘กด’ เรณู ให้ ต่ำต้อย...กดดันให้ลูกชายทิ้งผู้หญิงไร้ค่าเสีย...เพราะถ้าไม่ได้แต่งกับ พิไลตามที่ได้ตั้งใจไว้ สะใภ้คนแรกของนางจะต้องดีกว่า ‘อีเรณู’ ปากแดงอย่างกับกินเลือดนกสด นั่น ...

          “ม้า”

          “ไป ไปตามไอ้ซามา เอาจักรยานไป” นางย้อยขึ้นเสียง

          “ให้บุญปลูกมันไปตามซิ...ผมจะขนเสื่อสาดหมอนมุ้งไปให้เรณูมัน”

          “อีปลูกมันยุ่ง วันนี้ไอ้ป้อมมันลา เมียมันคลอดลูก...แกนั่นแหละไป” ป้อมนั้นเป็นพี่ชายของบุญปลูก

          หลังลูกชายลุกขึ้นคว้าจักรยานที่จอดอยู่หน้าร้านไปโรงสีแล้ว   นางย้อยก็ปิดเก๊ะ ลั่นกุญแจ เดินไปหลังบ้าน ล้างหน้าล้างตาเปลี่ยนเสื้อผ้า...โดยใจนั้นก็ครุ่นคิดหาทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นไปด้วย...

 **********************

           พอเห็นพี่ชายคนโตซึ่งเป็นทหารเกณฑ์อยู่ที่กองบิน ๔ ตาคลี  ถีบรถจักรยานเข้ามาในโรงสีข้าว...กมลที่นั่ง อยู่หลังโต๊ะบัญชีก็ละมือจากบัญชีตรงหน้า ยิ้มให้แล้วเอ่ยทักแข่งกับเสียง เครื่องจักรที่กำลังทำงาน โดยแต่ละจุดนั้นก็มีคนงานลูกหลานคนจีน คนไทย ยืนประจำการทำหน้าที่ของตน

   “ได้ข่าวว่าพาสาวกลับมาด้วย” ...

   “ใครบอก” หัวคิ้วของปฐมขมวดเข้าหากัน

   “เฮีย ก็รู้ว่าตลาดชุมแสงมันแคบจะตาย...แค่หย่อนขาลงรถไฟมา คนในตลาดก็รู้กันแล้วว่าใครมากับใคร...พอรถสามล้อเคลื่อนจากสถานีรถไฟ คนก็รู้กันทั้งตลาดแล้วว่า ใครจะไปหาใคร แล้วก็มาชุมแสงด้วยธุระอะไร” พูดหยอกพี่ชายคนโตพลางยิ้มขำ...แต่สีหน้าพี่ชายยังคงบึ้งตึง...กมลเห็นดัง นั้นจึงปรับเสียงให้เป็นปกติ

   “ม้า ว่าอย่างไรบ้าง”

   “เรื่องยาว...แกกลับไปเฝ้าร้านให้ม้าหน่อย ม้าจะไปไหนก็ไม่รู้”

   “แล้ว ทำไมม้าไม่ให้เฮียเฝ้าละ...ผมอยู่ในนี้ ตัวมีแต่เหงื่อ มีแต่ฝุ่นเกาะ...เหนอะหนะจะแย่แล้ว เข้าใกล้ใครได้ที่ไหน”
         
   “ก็รีบกลับไปอาบน้ำซิ...ไป ๆ รีบไป...ม้าอารมณ์ไม่ค่อยดี...ขืนชักช้าจะยิ่งไปกันใหญ่”
 
   พอ ลูกชายคนที่สามอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้า ลงมานั่งเฝ้าร้านให้แล้ว นางย้อยก็รีบเดินออกจากร้าน โดยไม่ยอมตอบคำถามของลูกชายว่า กำลังจะไปไหน และจะกลับมาเมื่อไหร่...นางย้อยบอกกับลูกชายเพียงว่า

          “ดูแลร้านให้ดี อย่าให้ตั่วเฮียแกเฝ้าเก๊ะเด็ดขาด ตอนนี้ม้าไม่ไว้ใจมันหรอก”

          “ตั่วเฮียไม่เคยมีนิสัยยักยอกเงินทองนะม้า”

          “มันกล้าเอาเมียกะหรี่เข้าบ้าน ทำให้พ่อแม่ ทำให้น้อง ๆ ขายขี้หน้า มันก็ไม่ใช่ตั่วเฮียคนเดิมของแกแล้ว...ม้าไปละ”

          เดินมาถึงวัด นางย้อยก็พบว่า พระลูกชายนั่งอ่านหนังสืออยู่ที่ศาลาข้างรั้ว...แม้จะขึ้นชื่อว่าเป็น คนโลภมาก อยากได้ใคร่ดี อยากมีอยากเป็น โดยไม่นึกถึงจิตใจของคนอื่น แต่เรื่องเข้าพระเข้าเจ้า นางย้อยปฏิบัติได้อย่างไม่ขัดไม่เขิน...เมื่อพระลูกชายนั่งอยู่บนเก้าอี้... นางย้อยก็ทรุดตัวลงนั่งที่พื้นไม้ยกสูงจากพื้นดินประมาณหนึ่งศอกอย่างไม่ กลัวว่ากางเกงสีกรมท่า ที่ตนสวมอยู่จะเปรอะเปื้อน

          “มีเรื่องใหญ่แล้วพระ” นางย้อยเข้าเรื่องสำคัญทันที

          “เรื่องอะไรรึโยม” หลังจากบวชได้ครบพรรษา พระลูกชายก็ขออยู่ต่ออีกสักพัก ทั้งที่งานในโรงสีและที่ร้านค้าขาดคนช่วยงาน เพราะปฐม ติดทหาร แต่นางย้อยก็ไม่ได้รบเร้าให้พระลาสิกขามาช่วยกันทำมาหากินอย่างที่เจ๊กเซ้ง ผู้ไม่มีศรัทธาในพระพุทธศาสนาต้องการ...นางเป็นคนไทย นางเชื่อว่า บุญกุศลจากการเกาะชายผ้าเหลืองของลูกชายนั้นเป็นบุญใหญ่...จะทำให้บาปกรรม ที่เผลอไผลทำลงไปเมื่อครั้งเป็นมนุษย์ไม่ส่งผลยามเมื่อหลับตาลาละโลก...

          นางปรารถนาความสุข ความเจริญรุ่งเรือง และสวรรค์ เช่นคนไทย   ทั่ว ๆ ไป...

          “ก็...ตั่วเฮียของพระนะซิ...พาเมียมาจากตาคลี...โยมเห็นสภาพแล้วพูดได้คำ เดียวว่า ของขึ้น” แล้วนางย้อยก็เล่าถึงเหตุการณ์เมื่อก่อนหน้าโดยไม่มีคำหยาบโลน แล้วก็สรุปลงที่ว่า “โยม...เห็นว่า ทางออกของปัญหานี้ก็พอมี เพราะจะว่าไปแล้ว พิไล เขาก็อายุน้อยกว่าพระ”

          พอได้ยินดังนั้น พระประสงค์ก็นิ่วหน้า...ท่านพอเดาใจโยมแม่ออก ที่ร้อนใจทิ้งร้านมาหาท่านที่วัด ทั้งที่เห็นหน้ากันตอนบิณฑบาตรอยู่ทุกเช้า โยมแม่ต้องการอะไร...ท่านถอนหายใจเบา ๆ พร้อมกับฟังความด้วยใจเต้นแรงขึ้น

          “นี่ เดี๋ยวโยมจะนั่งเรือหางยาวไปทับกฤชต่อ...โยมใจร้อน โยมรอให้ถึงพรุ่งนี้ไม่ไหวแล้ว โยมก็เลยจะมาปรึกษาพระก่อน ว่าถ้าเปลี่ยนเจ้าบ่าว
จากตั่วเฮีย มาเป็นพระ พระจะยินดีไหม”

          ‘ควรจะยินดีไหม’ คำถามนี้วิ่งพล่านอยู่ในอารมณ์ของภิกษุหนุ่ม...และคำตอบที่ได้คือ ไม่ยินดี ไม่ปรารถนา...

          เพราะท่านมีหญิงสาวที่ท่านหมายตาแล้ว...แม้สาวเจ้าจะจนยาก แต่ก็ขยันหมั่นเพียร มีใจศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า ตื่นแต่เช้ามา   ใส่บาตรให้ได้เห็นหน้าเกือบทุกวัน...พระประสงค์ตั้งใจไว้ว่า หลังคัดเลือกทหาร หากจับได้ใบดำ ท่านก็จะลาสิกขา...แล้วขอให้แม่ไปสู่ขอผู้หญิงคนที่ท่านพอตาพอใจมาสร้าง ชีวิตใหม่ด้วยกัน แม้ฐานะของเจ้าหล่อนจะสู้ พิไลว่าที่สะใภ้ใหญ่ไม่ได้ แม่ก็คงไม่ว่าอะไร เพราะพื้นของแม่นั้นก็ลูกคนไทยเคยทำนามาเหมือนกัน

          จะปฏิเสธอย่างไรดี... พิไลอายุมากกว่ากมล แล้วแม่เคยบอกไว้ว่า ลูกทุกคนของแม่จะต้องบวชพระ คัดเลือกทหาร และจะต้องแต่งงานโดยไม่ข้ามพี่ข้ามน้อง...

          “อาตมาคิดว่า โยมแม่อย่าเพิ่ง ให้อาตมา ตอบคำถามนี้เลยนะ มันเอ่อ เอ่อ มันตอบยาก”

          พอได้ยินดังนั้น นางย้อยนิ่งอึ้ง...ครุ่นคิดถึงเรื่อง ‘อาบัติ’ แต่ ด้วยเป็นคนตัดสินใจทำอะไรแล้วจะต้องทำอย่างรวดเร็วทำให้ได้ และ ทำจนสำเร็จ...นางย้อยจึง พูดเป็นนัยทิ้งท้ายไว้ว่า

“ถ้าอย่างนั้น โยมแม่ก็ขอตัวไปทับกฤชก่อน...ส่วนเรื่องอนาคต ท่านสึกแล้วก็ค่อยว่ากัน แต่ว่าท่านต้องระลึกไว้ด้วยว่า คนที่เห็นกรวดเป็นเพชร วันหน้ามันจะต้องเสียใจ เสียดายซะเอง...โยมขอตัวก่อนนะ”

******************


Title: Re: กรงกรรม บทประพันธ์ของ จุฬามณี
Post by: นักประพันธ์ on 29 February 2020, 09:34:26
ตอนที่ 2 : เราทุกคนต่างมีอดีต

         ๒
         
   ยืนทรงตัวบนตลิ่งได้แล้ว นางย้อยก็บอกกับคนขับเรือหางยาวที่จ้างมาส่งว่า

   “อย่าลืมขึ้นไปบอกอาซาด้วยนะว่า คืนนี้อั๊วจะค้างที่ทับกฤช วันพรุ่งนี้ถึงจะกลับรถไฟเที่ยวแรก”

     นางพิกุลแม่ของพิไล พอเห็นนางย้อยเดินขึ้นมาจากตีนท่าก็กระวีกระวาดออกมาต้อนรับ...สีหน้านั้นแช่มชื่นเบิกบานดูไร้ความทุกข์ร้อนอย่างที่นางย้อยชินตา

   “ลมอะไรหอบเจ๊มาในเวลานี้”

   “มีเรื่องร้อนใจ”

   “เรื่องอะไรรึ”

   “เถ้าแก่อยู่ไหม”

   “ไม่ อยู่ วันนี้กลับไปนอนที่บ้านแม่ใหญ่ ทางนั้นสุขภาพไม่ค่อยดีแล้ว ต้องคอยให้กำลังใจกันมากหน่อย” เพราะสนิทสนมกัน เป็นลูกไทยได้ผัวเจ๊กเหมือนกัน จึงไม่จำเป็นต้องปิดบังเรื่องคับอกว่าตนเองนั้นเป็นเพียง ‘เมียน้อย’ แต่อย่างใด

   หลัง เข้ามานั่งในบ้านสองชั้นครึ่งอิฐครึ่งไม้ที่เป็นทั้งบ้านพักและสำนักงาน ระหว่างยกแก้วน้ำขึ้นดื่ม นางย้อยก็สอดสายตาหาว่าที่สะใภ้ของตน...พอไม่เห็นเงา นางย้อยจึงถามถึง...

   “แม่พิกุล หนูพิไลไปไหนละ”

   “ไปกับเตี่ยเขา พรุ่งนี้กลับ...ผมยาว อยากตัดผม อยากไปดูหนัง อยากไปซื้อผ้ามาตัดใส่เล่น”

   “เอ่อ แล้ว จดหมายจากตาคลีมาถึงหรือยัง”

   “จดหมายอะไร”

   “จดหมายจากอาใช้นะซิ มาถึงหรือยัง”

   “วันก่อนไปรษณีย์มา...น่าจะถึงแล้วนะ มีอะไรหรือเปล่า”

   น้ำเสียงและสีหน้าของนางพิกุลยังเป็นปกติ ก็แสดงว่า พิไลอ่านจดหมายแล้ว แต่ยังไม่ได้บอกพ่อแม่ได้รับรู้เรื่องที่ปฐมเขียนจดหมายมาถอนหมั้น...
 
   “พรุ่งนี้ พิไลจะกลับถึงบ้านกี่โมง”

   “กลับรถไฟเที่ยวแรกซะมั้ง...เอาแน่ไม่ได้หรอก ดีไม่ดีก็อาจจะกลับตอนบ่าย เจ๊มีอะไรกับนังหมวยมันรึเปล่า”

   “เรื่องก็มาถึงขั้นนี้แล้ว ปิดบังไป มันก็ไม่มีประโยชน์ สู้หาทางแก้ปัญหากันดีกว่า”

   “เรื่องร้อนใจที่ว่าไว้ ก่อนหน้าใช่ไหม”

   “เรื่อง อาใช้ คู่หมั้นของหนูพิไลนั่นแหละ...ฉันรีบมาจากชุมแสงเพราะร้อนใจ กลัวทางนี้จะหาว่าฉันกับเฮีย สมรู้ร่วมคิดกับไอ้ลูกเฮงซวยนั่น”

   “เจ๊กำลังพูดเรื่องอะไร”

   “วันนี้ไอ้ใช้ กลับมาจากตาคลี มันพาเมียมาด้วย...แล้วมันก็บอกว่า มันจดหมายบอกหนูพิไลแล้ว”

   พอได้ยินดังนั้นนางพิกุลยกมือทาบอกทันที...นางย้อยจึงต้องเล่ารายละเอียดปลีกย่อยเกี่ยวกับ ‘สะใภ้ใหญ่’ ตาม ความรู้สึกของตนเองอีกยืดยาว แล้วก็สรุปว่า... “เมื่อคนของฉันมันเห็นกรวดดีกว่าเพชรไปแล้ว...บอกตามตรง ฉันเสียดายผู้หญิงดีพร้อมอย่างหนูพิไลเหลือเกิน แล้วเราสองคนก็นะ...เข้าอกเข้าใจกันเป็นอย่างดี รู้จักกันมานานเน ฉันเสียดายหากจะไม่ได้เป็นทองแผ่นเดียวกันอย่างที่เคยตั้งใจไว้”

   “แล้ว เจ๊จะทำอย่างไร” พอรู้ว่าที่ลูกสาวหน้าตาเศร้าหมอง กินข้าวกินปลาไม่ได้ หลังได้รับจดหมาย จนต้องขอไปเปิดหูเปิดตาที่ปากน้ำโพทั้งที่ไม่ค่อยจะกินเส้นกับพี่สาวลูกบ้าน แม่ใหญ่ เกิดจากสาเหตุใด นางพิกุลพลอยเป็นทุกข์กับลูกไปด้วย

   คู่หมั้นเป็นอื่น...หม้ายขันหมาก...รู้ไปถึงไหนจะอายไปถึงนั่น...

   หลังฟังทางออกของปัญหาแล้ว นางพิกุลถึงกับนั่งนิ่ง...เพราะเรื่องเปลี่ยน ตัวเจ้าบ่าว จากพี่ชายมาเป็นน้องชาย นางตัดสินใจเองไม่ได้...เถ้าแก่ฮงต้องเห็นดีเห็นงามด้วย...และที่สำคัญ ครั้งนี้ ถ้าพิไลไม่ยอม นางก็คงบังคับลูกสาวไม่ได้อย่างแน่นอน

   “ฉันรับรองเลยว่า ถ้าหนูพิไลตกลง เรื่องแบบครั้งนี้ จะไม่เกิดขึ้นอีก”

   “พระยังไม่ได้คัดเลือกทหารไม่ใช่รึ...ถ้าติดทหารแล้วไปคว้าเมียขัดใจแม่มาอีก ลูกสาวฉันจะเอาหน้าไปไว้ที่ไหน”

   “ก็แต่งเสียตั้งแต่ก่อนเกณฑ์ทหารซิ”

   “แต่พระท่านยังไม่สึก”

   “ถ้าหนูพิไลตกลง เรื่องสึกไม่ใช่เรื่องใหญ่หรอก ฉันตามใจให้บวชหนีงานเป็นปี ๆ พอสึกออกมาก็ต้องตามใจฉันบ้าง”

   “แต่เด็กมันไม่ได้รักกัน”

   “อยู่กันไป ก็รักกันไปเอง”

   “แล้วเจ๊แน่ใจนะว่า คนรองนี้ยังไม่มีคู่รัก” นางพิกุลรู้สึกกระดากปากที่จะเอ่ยถึง ‘พระ’ ตรง ๆ

   “ถ้ามี แล้วจะบวชได้เป็นปีๆ รึ...ใช่ไหมแม่พิกุล”

   นางพิกุลนิ่งคิด...

   “อย่างไรทางนี้ก็ต้องปรึกษากันดูอีกที ถึงจะให้คำตอบได้...แต่เอาเป็นว่า ฉันจะช่วยพูดกับเถ้าแก่ให้...ส่วนพิไลก็คงต้องขอเวลาเกลี้ยกล่อมหน่อย”

   “แล้ว ฉันจะได้คำตอบเมื่อไหร่...บอกตรง ๆ ถ้าไม่ติดว่า ทางนี้ไม่มีคนเฝ้าบ้าน ฉันจะชวนแม่พิกุลนั่งเรือไปหาพิไลที่ปากน้ำโพซะเย็นนี้เลย ถ้าฉันพูดเอง หนูพิไลคงไม่ปฏิเสธหรอก”

   “ใจเย็น ๆ เจ๊...แค่นี้ฉันก็รู้แล้วว่าเจ๊ อยากได้พิไลมันไปเป็นสะใภ้มากน้อยแค่ไหน”

 ****************

    หลังจากปฐมเดินออกไปจากบ้าน เรณูก็ลงจากเรือนมาเก็บกวาดพื้นดินที่ใต้ถุนบ้าน...พอรู้สึกเหนื่อยเรณูก็ ทรุดตัวลงนั่งบนร้านแล้วชะเง้อไปยังต้นทาง รอจนอ่อนใจ และความเหน็ดเหนื่อยจากการเดินทาง ประกอบกับต้องมาออกแรงทำงานบ้าน ทำให้เรณูเอนตัวลงนอนพัก กระทั่งผล็อยหลับไป พอสะดุ้งตื่นก็เห็นว่าเป็นเวลาบ่ายคล้อย...แต่ปฐมนั้นก็ยังไม่กลับมา...เรณู ผุดลุกขึ้นนั่ง มองไปยังต้นทางอีกครั้ง...

   จะเดินไปตาม หรือจะรออย่างไม่มีจุดหมายอยู่อย่างนี้...เป็นเรื่องที่เรณูชั่งใจ

   ถ้า เขากำลังวุ่นวายช่วยงานแม่อยู่ แม่ก็จะว่าเอาได้ แต่ถ้าแม่จงใจใช้งาน ตั้งใจไม่ปล่อยให้กลับมาอยู่ดูแลเธอที่เพิ่งมาใหม่ละ...คิดได้ดังนั้น เรณูก็ลุกขึ้น เดินไปยังโอ่งข้างบ้าน ตักน้ำมาล้างหน้าแล้วก็เดินขึ้นเรือน คว้ากระเป๋าเครื่องสำอางออกมา...

   แป้ง ตลับทรงกลมสีดำถูกหยิบขึ้นมาแล้วประกบมือเข้าด้วยกันให้ตลับแป้งอยู่ตรงกลาง มือที่พนมนั้นอยู่ระดับอก เรณูหลับตา ปากพรึมพรำคาถาที่ท่องจำได้ขึ้นใจ...อึดใจใหญ่ ๆ เรณูก็ลืมตาเปิดตลับแป้ง หยิบฟองน้ำแตะแป้งแล้วนำมาลูบไล้ที่ใบหน้าของตน...

   ‘แป้งนี้ใช้ทุกครั้งหลังล้างหน้า...ทุกเช้า และก่อนจะนอนกับมัน...รับรองว่า มันไม่หลุดมือมึงไปไหนแน่’ เสียงของอาจารย์ก้อน บ้านอยู่เชิงเขาท้ายตลาดตาคลีกังวานในห้วงความจำของเรณู...

   หลัง ละเลงลิปสติกปลุกเสกทั่วริมฝีปากอีกอย่างหนึ่ง เรณูก็แสยะยิ้มด้วยทีท่ามั่นใจ...เพราะในที่สุด ปฐมหนุ่มร่างสูงผิวขาวหน้าตาหล่อเหลา     ลูกชายคนโตของนางย้อย ก็อยู่ในอุ้งมือของเธอ...ทั้งที่ใคร ๆ ก็บอกว่า ไม่มีทางที่ผู้หญิงทำงานบาร์อย่างเธอจับตัวเขาไว้ได้...

   เรณู ยังจำครั้งแรกที่พบกับปฐมได้ดี เช้าวันนั้น เธอตื่นไปช่วยแม่ครัวประจำบาร์ ซื้อกับข้าวที่ตลาด...ส่วนปฐมนั้นนั่งรถจี๊ปมากับจ่าเที่ยงซึ่งอยู่แผนก สูทกรรม หญิงสาวยืนอยู่หน้าแผงผักที่อยู่ติดกับร้านเขียงหมู เขาเดินเข้ามาหยุดอยู่ข้าง ๆ ตอนนั้นเธอหันไปมองหน้าเขา รู้สึกใจคอวาบหวิว เพราะจมูกโด่ง ปากรูปกระจับ รับกับใบหน้ารูปไข่ ไหนจะผิวพรรณขาวผ่องและส่วนสูงเกือบร้อยแปดสิบเซนติเมตร ทำให้ร่างสมส่วนนั้นดูสง่าผ่าเผยตรึงสายตา...เรณูยอมรับว่ามันเป็นรักแรกพบ ... รักทั้งที่ไม่มีสิทธิ์จะรัก ทว่าหัวใจมันหลุดลอยติดตามตัวเขาไปจนยากจะเรียกคืน

   กลับมาที่บาร์แล้วเรณูก็ยังเหม่อลอย ฝันถึงเขา ใจไม่อยู่กับเนื้อ กับตัว บังคับหัวใจไม่ให้คิดถึงเขาไม่ได้

   พอพี่ประนอม ‘เจ๊ใหญ่’ รุ่นพี่ ถามว่าเป็นอะไร เรณูก็ตอบไปอย่างที่เคยตอบว่า ‘คิดถึงบ้าน’

   “ถุย คิดถึงบ้าน...ไม่ใช่ม้าง...หลงรูปตัวผู้อีกละซิ ...เล่ามา ว่าติดใจใคร มันทำอีท่าไหน ถึงเล่นเอามึงเพ้อได้”

   “ทหารเกณฑ์น่ะพี่ เจอที่ตลาด...เขาหน้าตาดีดูมีสง่าราศีผิดที่เคยเห็น”

   “ไม่ ว่าจะทหารเกณฑ์หรือนายสิบ พวกเรากับพวกมันก็ห่างกันเหมือนหมากับเครื่องบินนั่นแหละ...ฝันถึงได้ แต่อย่าฝันนาน อย่าฝันลม ๆ แล้ง ๆ มันไม่มีประโยชน์ เพราะทหารไทยพวกนี้ มันจะคุยกับเราดีก็เฉพาะตอนที่มันเสี้ยนกับตอนมันเมาเท่านั้นแหละ พอสติสตังมันครบถ้วน มันก็เห็นเราเป็นอีตัวไร้หัวใจอยู่วันยังค่ำ”

   เรณูนิ่งคิดตาม...ก่อนจะเปลี่ยนคำถาม “พี่ไม่เคยตกหลุมรักใครเลยเหรอ”

   “ถึงกูจะเป็นหญิงคนชั่ว แต่กูก็มีหัวใจ”

   “แล้วพี่มาว่าฉันทำไม”

   “กูก็แค่อยากให้มึงเจียมตัวเจียมใจมึงไว้ มึงจะได้ไม่เจ็บ...อีตัวอย่างพวกเรา มีรักเมื่อไหร่ก็เจ็บเมื่อนั้น”

   เรณูไม่อยากเจ็บ ไม่อยากจน ไม่อยากมีชีวิตอยู่ที่นี่ไปจนแก่ตาย เรณูอยากไปให้พ้น ๆ จากชีวิตที่เต็มไปด้วยคาวโลกีย์ ไปมีชีวิตใหม่ มี
ครอบครัวที่สมบูรณ์เหมือนผู้หญิงทั่ว ๆ ไป...

   แล้ววันหนึ่ง เรณูก็พบว่า ปฐมมานั่งดื่มกินฟังเพลงที่บาร์กับเพื่อนทหารเกณฑ์...สาวน้อยสาวใหญ่ ต่างสะกิดกันดูเขา แล้วหนึ่งในนั้นก็บอกว่า

   “ไอ้นี่กูรู้จักกำพืดมันดี...บ้านมันอยู่ตลาดชุมแสง”

   “อ้าว บ้านเดียวกับพี่...แล้วเขารู้หรือเปล่าว่าพี่มาขายนาแปลงน้อยอยู่ที่นี่”

   “อีเวร เรื่องแบบนี้ มันจำเป็นต้องโพนทะนาให้คนแถวบ้านมึงรู้ด้วยไหม”

   “ฉันบอกว่า มาเย็บจักร อยู่ที่ปากน้ำโพ เช้าเย็บ เย็นเย็บ...บางทีก็เย็บคืนยันรุ่ง ถึงได้มีเงินมีทองกลับมาเยอะแยะ”

   เรณูได้ยินดังนั้นจึงถามว่า “กำพืดเขาเป็นอย่างไรเหรอพี่ติ๋ม”

   “แม่ มันชื่ออีย้อย บ้านมันรวย พ่อมันเป็นเจ๊ก เป็นเจ้าของโรงสี   แม่มันคนไทย แม่มันสวย แม่มันขายของโชห่วยอยู่ในตลาด เป็นร้านค้าส่ง มันเป็นพี่ชายคนโต มีน้องชายอีกสามคน...มันได้ขาว ได้สูง เหมือนพ่อมัน ส่วนเครื่องหน้า มันได้แม่มันมา ขนตางอนเช้ง ตามันสองชั้นผิดลูกคนจีนทั่วไป”

   “ก็แสดงว่าแม่เขาสวย เขาถึงได้หล่อ”

   “แม่มันตอนเป็นสาวคงจะสวยแหละ สวยแต่เลววววววววววววววว”

   ตอนนี้หัวคิ้วของเรณูขมวดเข้าหากัน... ไม่คิดไม่ถึงว่า ‘เทพบุตร’ จะมีแม่เป็น ‘นางมาร’

   หลังจากนั้น พี่ติ๋มก็พรั่งพรูเรื่องของ ‘อีย้อย’ อีกยืดยาว...

   “ที่ พี่ต้องมาอยู่ที่นี่ก็เพราะแม่มันนี่แหละ” คนเล่าพอนึกถึงความหลัง น้ำตาก็คลอลูกนัยน์ตา...ผู้หญิงทุกคนที่นี่มีความ หลัง...ความหลังที่ไม่ได้สวยงามนัก...และน้อยคนนักจะยอมเล่าเรื่องจริงอย่าง หมดเปลือก...และเรณูก็เป็นหนึ่งในนั้น

 ***********************

   นาง พิกุลจัดห้องชั้นล่างให้นางย้อยพักผ่อน...หลังอาบน้ำเปลี่ยนมานุ่งผ้าถุงสวม เสื้อของนางพิกุลอย่างไม่ได้นึกรังเกียจกัน นางพิกุลก็ตาม     นางย้อยไปนั่งกินข้าว...สำรับกับข้าวที่วางอยู่บนโต๊ะไม้สัก มีปลาหมอปิ้ง น้ำพริกตาแดง ผักต้ม ไข่เป็ดต้ม และมีแกงส้มดอกแคอีกชาม...

          “ทำอะไรเยอะแยะ”

          “ปกติ เถ้าแก่กินแต่หมูแต่ไก่ กินแต่ของจืด ๆ เจ๊มาหาฉันก็มีเพื่อนกินของพวกนี้”

          นางย้อยยิ้มน้อย ๆ ระหว่างเคี้ยวข้าว ความหลังที่ยากจะลืมไปจากใจได้ก็ผุดขึ้นมา...และความหลังนี้ทำให้นางย้อย ต้องพยายามเฟ้นหาสะใภ้ เพราะลึก ๆ นางก็กลัวว่าเวรกรรมที่เผลอทำลงไปด้วยอารมณ์ชั่ววูบนั้นมันจะตามมาส่งผล...

 ********************************

          ย้อนกลับไปเมื่อปี ๒๔๘๓ ช่วงที่นางย้อยยังเป็นสาวรุ่น...เสร็จงานนา พ่อกับแม่พานางกับน้องสาวคือนาง แย้มมาเที่ยวดูงานแข่งเรือยาว ไหว้พระประจำปีวัดเขาจอมคีรีนาคพรต ที่ชาวบ้านเรียกกันว่า ‘งานวัดเขา’

          วันนั้นเป็นครั้งแรกที่นางพบกับอาตี๋หนุ่มหน้าหยก นามว่า ‘เซ้ง’ เขา ขายไอติมตัดอยู่ใต้ร่มไม้...ตอนนั้นนางผละจากพ่อแม่ที่ยืนดูแข่งเรือยาว มาเดินดูของกินของใช้กับน้องสาว...ตาสองคู่ประสานกันนิ่งค้าง...แล้วจู่ๆ นางแย้มก็บอกว่า “พี่ย้อย ฉันอยากกินไอติม”

          หลังเขาตัดไอติมห่อใบตองส่งให้นางแย้ม เขาก็ถามนางย้อยว่า    “ลื้อไม่กินด้วยรึ ไม่เอาสักอันรึ”

          ตอนนั้นนางย้อยนึกขวางกับสายตาของเขา จึงแกล้งบอกไปว่า    “ฉันไม่มีกะตังค์”

          “ไอหยา...ไม่น่าเป็นไปได้”

          “ก็เป็นไปแล้ว ไม่มีตังค์ พ่อให้เงินติดตัวมาแค่นั้น แล้วนังนี่มันก็ใช้ไปแล้ว”

          “ถ้าอั๊วให้ลื้อกินโดยไม่คิดตังค์ละ ลื้อจะเอาไหม”

          ตอนนั้นนางย้อยสบตากับนางแย้ม...นางย้อยอมยิ้มใบหน้าแดง ระเรื่อ...เพราะรู้ว่าความสวยของตนนั้นเข้าตาอาตี๋ลูกคนจีนเข้าให้แล้ว...

          “ถ้ารับไอติมลื้อ แล้วจะเป็นหนี้บุญคุณกันไหมล่ะ”

          “ไม่เป็น ไม่เป็น แค่ไอติมอันเดียว จะเป็นได้ไง”

          “ลื้อจะขาดทุนไหมล่ะ”

          “ไม่ขาดหรอก เอาไป อั๊วยินดี” ว่าแล้วเขาก็หยิบไอติมแท่งสีชมพู  ห่อใบตองส่งให้...นางย้อยรับมาถือไว้...

          “กินเลยซี่ เดี๋ยวละลายหมด”

          นางย้อยจำต้องยืนผินหลังให้เขาแล้วกินไอติม...กระทั่งพอไอติม หมดแท่งเขาก็บอกว่า “เอาผ้าขี้ริ้วเช็ดมือสักหน่อย เหนียวมือแย่” เขาส่งผ้าดิบสีขาวชื้นน้ำมาให้...นางแย้มเป็นฝ่ายรับมาเช็ดมือก่อนแล้วส่ง ให้พี่สาว

          ระหว่างที่นางย้อยเช็ดมือ เขาก็ถามว่า “บ้านลื้ออยู่ที่ไหน”

          นางย้อยกับนางแย้มสบตากัน...ตอนนั้นหน้านางย้อยแดงขึ้นกว่าเดิม...ไม่อาจบอก กับเขาได้ว่า ตนเองอยู่ที่ไหน นางแย้มเห็นอาการพี่สาวเป็นดังนั้น ก็บอกไปว่า “บ้าน พวกเราอยู่หนองนมวัว...รู้จักไหม”

          “หนองนมวัว อยู่ที่ไหน ไม่เคยได้ยิน”

          “อำเภอลาดยาวละ รู้จักไหม” นางแย้มยังคงต่อปากต่อคำ

          “เคยได้ยินอยู่บ้าง จากปากน้ำโพนี่ไปทางทิศตะวันตกใช่ไหม”

          “ใช่...ไปทางนั้นแหละ ว่าง ๆ ไปเที่ยวบ้านพวกฉันได้นะ...ถึง หนองนมวัวแล้ว ถามชื่อ อีย้อย อีแย้ม ลูกตาหยัด ยายอยู่ ใคร ๆ ก็รู้จัก”

          “ย้อย แย้ม คนไหน ย้อย คนไหน แย้ม”

          “ทายซิว่าใครย้อย ใครแย้ม”

          “คนนี้ย้อย คนนี้แย้ม”

          นางแย้มไหวไหล่แล้วบอกกับพี่สาวว่า “ไป...เดี๋ยวพ่อกับแม่จะรอ”

          “อ้าว แล้วไม่บอกกับอั๊วก่อนรึว่าใครย้อยใครแย้ม”

          “อยากรู้ว่าใครชื่ออะไร ก็ตามไปถามคนหนองนมวัวแล้วกัน” ตอนนั้นนางแย้มยังมีแก่ใจหันหลังกลับไปล้อเล่น

          อีกหนึ่งเดือนต่อมา นางย้อยไม่คิดว่า อาตี๋ขายไอติม จะตามมาที่หนองนมวัว ตอนนั้นเป็นเวลาเที่ยง นางกำลังนั่งเปิบข้าวอยู่ในครัวกับแม่อยู่และนางแย้ม เสียงหมาที่ใต้ถุนเห่ากันให้ขรม...นางแย้มลุกออกไปดู แล้วเดินยิ้มแป้นกลับมา...

          “ใครมา” แม่ถามแล้วชุบมือกับน้ำในกะละมังเคลือบลายดอก...แสดงว่าอิ่มแล้ว...ตอนนั้น นางแย้มตาเป็นประกายไม่ยอมตอบ...

          “กูถามว่าใครมา”

          “เจ๊กมาขายของ...แม่ลงไปดูเขาหน่อยเถอะ...ฉันให้เขานั่งรออยู่บนร้านใต้ร่ม มะขาม”

          “ขายอะไร”

          “ผ้าห่ม ผ้านุ่ง มุ้ง เสื้อใส่ทำงาน”

          “จะซื้อมาทำไม ไป ไปบอกเขาว่า ที่บ้านเรามีหมดแล้ว...เขาจะได้ไม่เสียเวลารอ”

          “ไม่เอา ฉันจะกินข้าว...พี่ย้อยนั่นแหละ อิ่มแล้วลุกไปที”

          “อีนี่ กูเพิ่งกินไปได้คำเดียว จะอิ่มได้ไง”

          “ฉันบอกให้ลุกไป...ไปซิ” สีหน้านางแย้มยังเต็มไปด้วยเล่ห์กระเท่ห์ ริมฝีปากขมุบขมิบ นางย้อยจำต้องชุบมือแล้วลุกจากสำรับไป...

          พอเห็นว่า ‘ใครมา’ นาง ย้อยก็ถึงกับก้าวขาเดินไม่ออก...ตอนนั้น นางย้อยจำได้ดีว่า นางอยู่ที่นอกชาน เจ๊กเซ้งนั่งอยู่บนร้าน ข้างร้าน  มีรถจักรยาน ที่ท้ายรถมีห่อผ้าห่อใหญ่ เขาใช้งอบจีนวีลม  ใบหน้าของเขา ชื้นเหงื่อ...พอเขาเงยหน้ามาเห็นนาง เขาก็ยิ้มกว้าง...นางย้อยเกือบจะยิ้มตอบ ดีแต่ความอายทำให้หุบปากได้ทัน...นางย้อยก้าวหลบสายตาของเขามาหน่อย สูดลมหายใจเข้าปอด...ก่อนจะหันไปที่โอ่งน้ำ หยิบขันตักน้ำแล้วถือลงไปรับหน้าเขา

          ”กินน้ำก่อน”

          อันที่จริงเขาจะรับขันที่อยู่ในมือ แต่นางย้อย รีบวางไว้บนร้าน...  เขาจึงต้องคว้าขันจากพื้นกระดานแล้วยกขึ้นดื่ม ‘ชื่นใจ’ ตาของเขาเป็นประกายเปิดเผย

          “มาได้อย่างไร”

          “ก็มาขายของ...เอาของมาขาย ขี่จักรยานมาเรื่อย ๆ มาตั้งแต่เมื่อวาน เมื่อคืนค้างที่วัด”

          “ขายได้ไหม”

          “พอได้ ยุบไปเยอะเหมือนกัน”

          “กินน้ำแล้วก็ไปขายต่อนะ ขายให้หมด จะได้รีบกลับบ้าน”

          “พักอีกสักเดี๋ยวได้ไหม ยังอยากเห็นหน้าให้ชื่นใจ”

          ตอนนั้นนางย้อยอยากจะหายตัวได้ แต่ก็ทำได้เพียงอมยิ้ม จะสบตาของเขาให้เต็มตาก็ไม่กล้า กลัวเขาจะว่าเอาได้...

          “บ้านแม่ย้อยหลังใหญ่หลังโตเนอะ” ตอนหลังเขามาบอกกับนางย้อยว่า ที่รู้ว่านางชื่อย้อย เพราะเขาถามเอากับบ้านคนอื่นมาแล้ว...และเหตุที่เขาซักถามหาบ้านนางย้อย นางแย้ม นี่แหละ ทำให้คนหนองนมวัวไปลือกันครืนว่า ‘อีย้อยมีลูกเจ๊กจากปากน้ำโพมาติดพัน’

เรื่อง ลูกเจ๊ก ลูกลาว หรือ ลูกมอญนั้นไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดสำหรับหนองนมวัว...ที่นั่นมีคนหลายเชื้อชาติอยู่อาศัยปะปนกัน แต่ถ้าเป็นพวกเจ๊กพวกจีนก็จะมาจากเกาะไหหลำเสียเป็นส่วนใหญ่...คนหนองนมวัว จึงคุ้นกับคำว่า ‘โก’  ‘เด’ มากกว่า ‘เฮีย’ หรือ ‘เตี่ย’

          “ก็ธรรมดา บ้านใคร ๆ ก็หลังเท่านี้”

          “อั๊วผ่านมาหลายบ้าน ไม่มีบ้านหลังใหญ่เท่าหลังนี้หรอก”

          “แล้ว โก จะไปไหนต่อ” นางย้อยพูดด้วยน้ำเสียงปกติ...

          “อั๊ว ไม่ใช่ คนไหหลำ อั๊วเป็นแต้จิ๋ว ไม่ต้องเรียกอั๊วว่า โกหรอกนะ...อั๊วชื่อ หลักเซ้ง แซ่แบ้ เป็นลูกจีนเกิดที่เมืองไทย...ตอนนี้อั๊วเป็นคนไทยเหมือนลื้อนั่นแหละอาย้อย”

          “หลักเซ้ง”

          “เรียกอั๊วว่า อาเซ้ง เฉย ๆ ก็ได้...อาย้อย อั๊วยังเป็นโสด ยังไม่ได้แต่งงานหรอกนะ”

          พอเขาบอกสถานภาพของตนชัดเจน นางย้อยเริ่มหน้าแดงระเรื่อขึ้นมา ไม่รู้จะหาคำพูดอะไรมาต่อปากต่อคำกับเขา พอดีกับที่นางแย้มลงจากเรือนมาพร้อมจานข้าวโปะปลาหมอปิ้งมาห้าตัว...พอมาถึง ก็บอกว่า

          “โก กินข้าวกลางวันซะก่อนนะ ไม่ใช่ของเหลือเดนหรอกนะ ปิ้งไว้เยอะ ยังอุ่น ๆ อยู่เลย”

          “แต่อั๊ว...เอ่อ”

          “ไม่ต้องอ้างว่ากินมาแล้วหรอก เหงื่อกาฬแตกแบบนี้ ดูก็รู้ว่า ยังไม่ได้กินข้าวกลางวัน กินซะก่อนจะเป็นลมไป”

          “ลื้อมีน้ำใจ”

          “ก็โกเคยเลี้ยงไอติมพี่สาวอั๊ว แล้วก็ยังมีใจตามมาถึงหนองนมวัวอีก พวกอั๊วจะใจจืดใจดำกับไกได้อย่างไรละ...ใช่ไหมโก”

          “เขาเป็นจีนแต้จิ๋ว ต้องเรียก เขาว่า เฮีย เฮียเซ้ง” นางย้อยแก้ให้

          “โหว...เผลอ ประเดี๋ยวเดียว ถามชื่อถามแซ่กันเรียบร้อยเลยรึ”

          นางย้อยค้อนให้น้องสาวที่ดูจะแก่แดดแก่ลม...นางแย้มทำหน้า เจ้าเล่ห์อีกครั้งก่อนจะบอกว่า

          “ช่วงที่เฮียกินข้าว ฉันขอแก้ห่อผ้า ดูของที่เฮียเอามาขายหน่อยนะ...เผื่อเจออะไรถูกใจจะได้ช่วยซื้อไว้”

          วันนั้นสองศรีพี่น้องช่วยไปตะโกนเรียกชาวบ้านหนองนมวัวมาดู  ผ้าห่ม มุ้ง เสื้อใส่ทำงาน ผ้านุ่ง และ ผ้าขาวม้า จนของเจ๊กเซ้งเอามาขายได้เกือบหมด...สุดท้าย...ก่อนที่เจ๊กเซ้งจะขี่จักรยาน กลับปากน้ำโพด้วยใจที่เบิกบาน เขาก็ดึงผ้านุ่งที่เหลือเพียงถุงเดียว ส่งมาให้นางย้อยพร้อมกับบอกว่า

          “ถือว่าเป็นสินน้ำใจจากอั๊วแล้วกันนะอาย้อย...ถ้าไม่ได้ลื้อกับแม่แย้ม อั๊วคงขายได้ไม่กี่ชิ้น”

          “เฮียจะขาดทุนเอา”

          “ไม่หรอก...ไม่ขาดหรอก อั๊วมาวันนี้ อั๊วได้กำไรกลับไปอื้อซ่าเลย”

         ************************

          นางพิกุลนั่งฟังเรื่องราวหนหลังของนางย้อยด้วยตาเป็นประกาย...เพราะขึ้นชื่อ ว่า ‘ความรัก’ เบื้องต้น มันทำให้จิตใจของคน ผ่องใส ทำให้เลือดสูบฉีดแรงขึ้น และทำให้กระปรี้กระเปร่า

          “แล้วอีกนานไหมกว่าจะลงเอยกัน”

          “อาเฮียเขาก็เทียวไล้เทียวขื่อ ขี่จักรยานเอาของไปขายแถว ๆ นั้นอยู่เรื่อย ๆ มาทีไรก็มีโน่นมีนี่ติดมือมาฝากสังข์พ่อ...เริ่มต้นก็ไฟแช็ก ชิ้นสุดท้ายก่อนสังข์พ่อจะล้มป่วยก็เป็นตะเกียงทองเหลือง”

          “โห ทุ่มทุนเน้อ”

          “ไม่ทุ่มได้อย่างไรละ พอสังข์พ่อรู้ว่า อาเฮียดูท่าจะมาชอบเจ๊ แกก็ขวางเต็มที่เหมือนกัน แกบอกว่า ไม่อยากให้ไปเป็นสะใภ้คนจีน ไม่อยากให้ ไปจากหนองนมวัว...อยากให้ได้คนบ้านเดียวกัน จะได้ไม่ต้องไปอยู่ไกลหู ไกลตาพี่ ๆ น้อง ๆ แกว่าจะชั่วดีถี่ห่าง แต่งกับคนแถวนี้ บารมีพี่ชาย บารมีพ่อยังคุ้มกะลาหัวได้ แล้วแกอยากให้อยู่เป็นเพื่อนกับแม่แย้ม เพราะแม่แย้มชอบพออยู่กับทิดเทืองลูกเศรษฐีใหญ่ คนที่นั่นแหละ”

          “แล้วเจ๊ไม่มีใครคนมาชอบมั่งเหรอ”

          “มี เยอะแยะ แต่มันไม่ถูกใจ เห็นแล้วก็เฉย ๆ ที่ผู้ใหญ่ชักนำมาให้ดูหน้าดูตัว เจ๊ก็หลบเลี่ยงเอา สังข์พ่อก็ไม่ได้บังคับเข็ญใจอะไร แกว่าปลูกเรือนต้องตามใจผู้อยู่ แกรักเจ๊กับแม่แย้มมาก เพราะมีลูกสาวแค่สองคน”

          “แล้วอีกกี่ปีละ กว่าจะได้แต่งงานแต่งการกัน”

          “ก็ปีกว่า...เขาก็พาเตี่ยพาแม่ของเขามาสู่ขอ...แต่งกันง่าย ๆ มอบสินสอดทองหมั้น ผูกข้อมือกันแล้วก็กลับมายกน้ำชาที่บ้านของเขาที่ ปากน้ำโพ”

          “ก่อนหน้านั้น เจ๊ได้มาเที่ยวดูบ้านอาเฮียบ้างหรือเปล่า”

          “ไม่เคยมาหรอก แต่พอรู้ว่า อยู่ตรงไหน ทำมาหากินอะไร...ตอนนั้นบอก เลยว่า รู้ทั้งรู้ว่าเป็นลูกสะใภ้คนจีน มันไม่เหมือนเป็นลูกสะใภ้คนไทยหรอก แต่ใจมันไม่กลัว มันขอให้ได้อยู่กับเขาเป็นพอ...แต่พอแต่งมาแล้วก็อย่างที่เธอรู้เธอเห็นนั่น แหละพิกุล”

          “ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ละ”

          “ย้อนกลับไปได้ก็แต่ง...แต่ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ เจ๊จะไม่ยอมกลับไปอยู่ที่ร้านโชห่วยในตลาดอย่างเด็ดขาด อยู่หั่นหยวกเลี้ยงหมู สับปลาเลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ ที่ทับกฤชอย่างตอนแรกนะดีที่สุดแล้ว”

 ***************************

          วันรุ่งขึ้น นางย้อยตื่นแต่เช้ามารอรถไฟกลับชุมแสง...นางพิกุลเดินมาส่งที่สถานีรถไฟทับกฤช พร้อมด้วยปลาเค็มตัวใหญ่พวงใหญ่...ระหว่างนั่งรอรถไฟ จนกระทั่งนั่งรถไฟกลับมาชุมแสง ความหลังที่คิดว่าจะลืมไปแล้วก็ผุดขึ้นมาให้จิตใจของนางย้อยเศร้าหมองอีก...

          หลังจากยกน้ำชา ให้อากง อาม่า เตี่ยและแม่ของเขา ตามประเพณีจีน...อาม่าก็ประกาศิตว่า... “ให้อาเซ้งพาเมียมันไปอยู่ช่วยงานโรงสีที่ทับกฤช อย่าให้มันเอาเมียมาอยู่ใกล้ ๆ อั๊ว เห็นหน้ามันแล้ว อั๊วใจคอไม่ดี กลืนข้าวไม่ลงแน่”

          บ้านตระกูลแบ้ ‘นางลิ้ม’ ยัง คงเป็นใหญ่ที่สุด...อากงก็แก่มากแล้ว ไม่ยินดียินร้ายกับเรื่องของลูกหลาน...เหลือแต่นางลิ้มที่ยังเปล่งแสงอวด บารมีเศรษฐีใหญ่จากเมืองจีนคับบ้าน... ‘นางซกเพ้ง’ ลูกสะใภ้ใหญ่แม่ของเจ๊กเซ้งที่ถือว่าเป็นขี้ข้าประจำบ้านนั้น พลอยถูกตำหนิเรื่องตามใจลูกชายคนสุดท้องให้แต่งเมียคนไทยไปด้วย...นางย้อย ได้ยินว่านางแม่ผัวตอบไปว่า “ก็ตี๋น้อยมันรักของมัน”

          “รักมันกินไม่ได้ แล้วอีไม่ประสีประสาเรื่องค้าเรื่องขาย ไม่รู้ ธรรมเนียมจีน ไหว้เจ้าเผากระดาษก็ไม่เป็น หลานเหลนอั๊วจะกลายพันธุ์กันหมด ก็เพราะอี”

          “ก็ค่อย ๆ สั่งสอนกันไป”

          “แล้ววันหน้าอาเซ้งจะรู้เองว่า เลือกเมียผิด!...ไป ไปบอกให้มันพากันไปอยู่ที่ทับกฤช ให้อีทำงานหนักๆ ทนไม่ไหว เดี๋ยวอีก็กลับบ้านอีไปเอง”

          ‘ทนไม่ไหวเดี๋ยวอีก็กลับบ้านอีไปเอง’ คำนี้ก้องอยู่ในความทรงจำของนางย้อย...คนอย่างนางตัดสินใจแล้ว ไม่มีวันถอยกลับ แค่เรื่องลำบากกาย มันคงไม่ถึงตาย นาของพ่อตั้งหลายทุ่ง หลังจากที่พี่ชายออกเรือนกันไปหมด นางยังช่วยพ่อทำมาได้...อยู่โรงสี งานมันจะหนักสักแค่ไหนเชียว...

          พอเห็นสภาพโรงสีที่ยังถือเป็นกงสีของครอบครัว นางย้อยก็ถึงกับถอนหายใจเบา ๆ คนงานที่ต้องหุงข้าวเลี้ยงนั้นมีเป็นสิบ ไหนจะต้องเลี้ยงหมูที่มีกลิ่นเหม็นทั้งวันทั้งคืน ไหนจะเป็ดไก่ที่เต็มไปด้วยตัวไรที่นางแพ้จนผื่นขึ้นเต็มตัวไปหมด นางต้องสับปลา ทุบหอยเลี้ยงเป็ดมานับจำนวนไม่ถ้วน...ตื่นแต่เช้ามืดเพื่อหุง ข้าวและนอนดึกเกือบทุกวัน

          นางย้อยเกือบจะทนไม่ไหวอย่างที่ถูกปรามาสไว้ ดีแต่ว่าคำหวานหูของสามี...ทำให้นางมีแรงฮึดสู้ต่อ...

          “ทนหน่อยนะอาย้อย...มีลูกชายด้วยกันสักคนสองคน เดี๋ยวอาม่าก็ใจอ่อนให้กลับไปอยู่ในตลาด ถึงเวลานั้น...เราก็จะสบายกว่าอยู่ที่นี่”

          แต่พอได้กลับไปอยู่ที่ตลาดจริง ๆ นางย้อยกลับคิดว่า ลำบากอยู่ที่นี่ยังจะดีเสียกว่า!

*************************************


Title: Re: กรงกรรม บทประพันธ์ของ จุฬามณี
Post by: นักประพันธ์ on 29 February 2020, 09:37:55
ตอนที่ 3 : สวยแต่เลว

         ๓
         
 
   ระหว่างที่ปัดกวาดทำความสะอาดชั้นสินค้า เก็บ กวาดร้าน หวังเอาใจแม่ผัวที่หายหัวไปทับกฤชตั้งแต่เมื่อวาน...เรณูก็มาสะดุด ที่รูปถ่ายติดผนังของแม่ผัว พ่อผัว รวมถึงรูปลูกชายที่ยืนเรียงกันสี่คนใส่กรอบติดฝาบ้านไว้...

   ทุกคนหน้าตาหน่วยก้านใช้ได้ทีเดียว...

   คน โต เป็นของเธอแล้ว คนรอง และ คนที่สี่เธอยังไม่เห็นหน้า...ส่วนคนที่สาม เมื่อวานหลังออกจากบ้านมาตามหาปฐม...เธอก็ได้รู้ว่าปฐมไปเฝ้าคนงานอยู่ที่ โรงสี ส่วนนางย้อยนั้น พอดีคนขับเรือหางยาวกลับมาบอกว่าไปทับกฤช ซึ่งเป็นตำบลที่ตั้งบ้านของพิไล คู่หมายของปฐม...เรณูเดาได้ว่านางย้อยไปที่นั่นทำไม...ส่วนคนที่นั่งเฝ้าร้าน แทนนั้น เมื่อวานระหว่างที่พูดคุยกัน เรณูก็มั่นใจได้ว่า ‘ซา’ หรือกมล ก็น่าจะเป็นพวก ‘ไก่อ่อน’ เหมือน พี่ชายคนโต แต่ที่ประทับใจเรณู คือ ใบหน้าของเขานั้นเปื้อนยิ้มอยู่ตลอดเวลา ดูเป็นคนจิตใจดี อารมณ์ดี มองโลกในแง่ดี เข้ากับคนง่าย ไม่ถือตัวถือตนว่าเป็นลูกอาเสี่ย และดูเหมือนชีวิตไม่มีทุกข์มีร้อนแต่อย่างใด...

    เรณูไพล่คิดไปถึง ‘วรรณา’ น้องสาวคนเล็กที่ตนส่งเสียให้เรียนตัดเย็บเสื้อผ้าอยู่ที่ปากน้ำโพ...ถ้าวรรณาได้ผู้ชายดี ๆ แบบกมล ชีวิตของวรรณาคงจะมีความสุข ...แม้อนาคตของตนจะยังดูเลือนรางสำหรับที่นี่ แต่เรณูก็ฝันแทนน้องสาวไปเสียแล้ว ก็ความฝันทำให้คนมีแรงสู้ชีวิตไม่ใช่หรอกรึ...เรณูให้กำลังใจตัวเอง

   “ซ้อ ๆ ม้ากลับมาแล้ว” เสียงของกมลทำให้เรณูต้องสูดลมหายใจเข้าปอดตั้งสติ...

   ถ้านางย้อยเห็นว่า หลังจากที่หายไปเพียงชั่วคืน เธอก็อาจหาญเข้ามาป้วน เปี้ยนอยู่ที่นี่ รับรองว่านางจะต้องออกงิ้วเหมือนเมื่อวานเป็นแน่ คิดได้ดังนั้นเรณูก็เม้มริมฝีปาก เลิกคิ้ว สูดลมหายใจ เรียกความมั่นใจให้ตนเอง...

   “ต๊าย อีเรณู ใครใช้ให้มึงมาวุ่นวายอยู่ที่ร้านของกู” พอเห็นเรณูถือ ไม้ขนไก่ยืนอยู่...นางย้อยก็แผดเสียงทันที...

   เรณู ยิ้มแหย ๆ ...ทำเหมือนเขินที่ถูกจับได้ว่ามาลักกินขโมยกินของในบ้านของเขา...เมื่อ อาการของเรณูเป็นดังนั้น อารมณ์ของนางย้อยก็ยิ่ง     พลุ่งพล่าน...

   “มึงกลับไปอยู่ในที่ของมึงเลยนะ อย่ามาสลัดเสนียดใส่ร้านกู”

   “ม้า ม้า ใจเย็น” กมลรีบห้ามศึก...

   “ไอ้ซา ทำไมมึงให้มันเข้ามาในร้าน กูบอกมึงแล้วใช่ไหมว่า ให้ดูแลร้านให้ดี ๆ มึงนี่เนอะ ไว้ใจไม่ได้เลย”

   “ผมก็ดูร้านอย่างดี ตามที่ม้าสั่ง...ไม่ได้ลุกไปไหนเลย”

   “แล้วมึงให้อีนี่ มันเข้ามาเต๊ะท่าเป็น...เป็นเจ้าข้าวเจ้าของร้านได้อย่างไร”

   “อาซ้อเขามาช่วยทำความสะอาดร้าน...ม้าเห็นไหมว่า ข้าวของเป็นระเบียบระบบขึ้นเยอะเลย”

   “ซ้อ ใครซ้อมึง”

   “ก็เขาเป็นเมียตั่วเฮีย ก็ต้องเป็นอาซ้อ”

   “มัน แค่เป็นนางบำเรอพี่ชายมึงทำนั้น มันไม่ใช่สะใภ้กู ไม่ใช่พี่สะใภ้พวกมึง เพราะฉะนั้น มึงอย่าไปเรียกมันว่าซ้อ...แล้วบอกกับคนอื่น ๆ ด้วยว่าอย่านับถือว่ามันเป็นพี่สะใภ้เด็ดขาด บ้านเราจะต้องไม่มีสะใภ้อย่างมัน”

   “นับ ไม่นับ ก็เป็นไปแล้ว” เรณูทนไม่ไหว จึงขัดขึ้นมาด้วยใบหน้าอวดดื้อถือดี...และใบหน้า ท่าทาง น้ำเสียงแบบนี้ เรณูก็มั่นใจว่า มันจะยิ่งทำให้ไฟในอกของนางย้อยลุกโชนยิ่งขึ้น...

   “อีหน้าด้าน...เกิดมากูไม่เคยพบไม่เคยเห็นคนหน้าด้านไร้ยางอายอย่างมึง ด่าอะไรดีมึงถึงจะเจ็บ จะอาย จะสำนึก”

   “แล้วม้าจะด่าไปทำไม ด่าแล้วได้ประโยชน์อะไรไหม”

   “อีเรณู”

   “ก็ จริงไหมล่ะ ใครก็รู้กันทั้งชุมแสงแล้วว่า หนูมาที่นี่ในฐานะเมียที่อุ้มท้องลูกให้พี่ใช้ ลูกชายของม้า อุ้มท้องหลานให้ม้า ม้าด่าหนู เอาหนูออกประจาน ถามจริง ๆ เถอะ ม้าไม่อายคนเขาบ้างหรือ ใครได้ยินก็หัวเราะกันทั้งนั้น”

          “อีเรณู”

          ตอนนั้นกมลแอบยิ้มเพราะไม่คิดว่าคำยอกย้อนที่ดูสุภาพของเรณูจะทำให้แม่ ‘ไปไม่ถูก’

          “หนูพูดความจริง ความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย แต่คนที่รู้ว่าความจริงเป็นอย่างไร แล้วไม่ยอมรับความจริง ระวังนะ ระวังจะอกแตกตาย”

          “อีเรณู อีเวร มึงแช่งกู”

          “แช่งตรงไหน อะไร อย่างไง หนูก็พูดไปตามเนื้อผ้า...ใครได้ยินก็รู้ว่าหนูพูดอะไร”

          “ซ้อ ๆ เอ๊ย ๆ เจ๊ ผมว่าเจ๊ กลับบ้านไปก่อนเถอะ”

          “เจ๊ ก็ไม่ควรใช้เรียกมัน...คนอย่างอีนี่ ห้ามไปนับญาติกับมัน”

          “ซา งั้น พี่กลับไปบ้านก่อนนะ ถ้าพี่ใช้มา หรือเจอพี่ใช้ก่อนแกจะกลับบ้าน ก็บอกกับแกด้วยว่า พี่รออยู่ที่บ้าน...แล้วถ้าเจอก่อนเที่ยง ก็บอกด้วยว่า เที่ยงนี้ พี่อยากกินส้มตำแซ่บ ๆ ...ไปแล้วจ้ะม้า” ว่าแล้วเรณูก็ยกมือไหว้ลา ทั้งที่ไม้ขนไก่ยังอยู่ในมือ

          “ไปแล้วก็ไม่ต้องกลับมาแถวนี้อีกเลยนะ...ไป ชิ้ว ๆ”

          เรณูเดินออกไปแล้ว นางย้อยยังคงยืนตาขวางมองตามหลัง กระทั่งร่างของเรณูลับตา นางย้อยก็ถอนหายใจ แล้วเดินไปทรุดตัวลงนั่งบนเก้าอี้...สายตานั้นเต็มไปด้วยความอาฆาตมาดร้าย...

          “ม้า...มาเหนื่อย ๆ กินน้ำชานะ เดี๋ยวผมจะไปชงน้ำชาให้” กมลรีบเปลี่ยน เรื่อง...ก่อนจะผลุบหายไปทางหลังบ้าน...ส่วนบุญปลูกนั้น ทำได้เพียงพยายามกลั้นขำ...แต่แล้วบุญปลูกก็ต้องสะดุ้งเมื่อนางย้อยเรียกให้ เข้าไปหา...
 
          “เมื่อวาน ตอนเย็น อีเดินมาที่ร้าน มาตามหาผัวอี...พอดีกับที่พี่ ทิดหนองคนเรือที่เถ้าแก่จ้างไปทับกฤชกลับมาบอกว่า เถ้าแก่เนี้ยไปค้างที่ทับกฤช”

          “แล้วอย่างไรต่อ”

          “ก็เห็นคุยกับเฮียซา คุยกันอยู่นาน แล้วต่อมา เฮียใช้ก็กลับมาจากโรงสี ก็พากันขึ้นไปขนที่นอนหมอนมุ้งเสื่อเสื้อผ้าของเฮียลงมา แล้วก็พากันเข้าไปหลังร้าน ขนพวกเครื่องครัวออกมากอง”

          “ขนไปแค่นั้น”

          “แล้วเฮียใช้ก็ให้ซ้อ เอ้ย เมียอี เลือกของที่จำเป็น ไปใช้น่ะ”

          “มันเอาอะไรไปบ้าง”

          “ใส่กะละมังไป เยอะแหละ ถามเฮียซาดูเอาแล้วกัน...หนูไม่ค่อยได้สนใจหรอก”

          ตอนที่บุญปลูกรายงานถึงเหตุการณ์เมื่อวาน กมลที่อยู่หลังบ้านแอบฟังความอยู่...พอถือป้านน้ำชาออกมา เขาก็บอกว่า

          “ม้า ๆ น้ำชาได้แล้ว”

          “มันขนอะไรไปบำรุงบำเรอเมียกะหรี่มันบ้าง”

          “ม้า...ไปพูดถึงเขาอย่างนั้นได้อย่างไร”

          “ก็มันเป็นกะหรี่จริง ๆ”

          “แต่ตอนนี้เขามาเป็นเมียตั่วเฮียแล้ว  ด่าเขา ประจานเขา ก็เหมือน ยืนตบหน้าตัวเองกลางตลาดนะม้า”

          “ไม่ต้องมาสอนกู”

          “งั้น กินน้ำชาหน่อยนะ จะได้ใจเย็น ๆ”

          พอลูกชายรินน้ำชาส่งให้ดื่ม...ใจที่เต้นแรงก็ค่อย ๆ เย็นลง... ใช่แล้ว ด่ามัน ประจานมัน ก็เหมือนยืนตบหน้าตัวเองกลางตลาดให้คนหัวเราะเยาะอย่างที่ลูกชายว่า...แต่ ถ้าไม่ทำอะไรเลย มันก็จะยิ่งได้ใจนะซิ...และที่สำคัญ ถ้ายอมมันสักคน ลูกคนอื่น ๆ ก็พลอยคิดว่า จะไปคว้าผู้หญิงระยำตำบอนที่ไหนมาเป็นเมีย เป็นสะใภ้ของนาง เหมือนพี่ชายมันทำก็ได้...
 
          ตอนแรกเรณูตั้งใจจะเดินกลับบ้านไปเตรียมเครื่องส้มตำไว้รอท่าปฐม...แต่พอ เห็นร้านก๋วยเตี๋ยวและสีหน้ายิ้มๆ ของคนที่คงจะได้ยินได้เห็นเหตุการณ์เมื่อครู่ หรือเมื่อวานนี้ เรณูจึงเชิดหน้าขึ้น ปั้นหน้าว่าไม่สะทกสะท้านสายตาใครทั้งนั้นแล้วเดินเข้าไปทรุดตัวลงนั่งพร้อม กับสั่งเส้นใหญ่ต้มยำ พออาเฮียเจ้าของร้านเอาชามก๋วยเตี๋ยวมาวาง เรณูก็เริ่มผูกมิตรด้วยการชวนคุย

          “เฮียใช้บอกว่า ร้านนี้อร่อยที่สุดในชุมแสง...”

          “อาใช้ก็พูดเกินไป”

          เรณูที่ใช้ช้อนตักน้ำซุปขึ้นชิม แล้วบอกว่า “อร่อยจริงๆ เฮีย...เป็นบุญปากของฉันจริง ๆ ที่ได้กินของอร่อย ๆ แบบนี้”

          หลังจากกินก๋วยเตี๋ยวหมดชาม เรณูก็เดินไปซื้อข้าวเม่าทอดไปกินที่บ้าน...ทีนี้แม่ค้าเป็นผู้หญิงไทยอายุ คราวน้า ดูท่าจะปากยื่นปากยาวได้ที่...   

          “จริงหรือเปล่าอีหนู ที่เขาว่ากันว่า เอ็งน่ะมาจากตาคลี”

          “มาจากตาคลีจริง ๆ จ้ะน้า แต่ฉันไม่ได้เป็นกะหรี่อยู่ที่นั่นหรอกนะ...บ้านฉันอยู่แค่ตำบลเกรียงไกร บึงบอระเพ็ดนี่เอง ฉันไปช่วยงานญาติ ๆ ของฉัน ทำงานครัวอยู่ในบาร์ แล้วก็เจอเฮียใช้ที่นั่น ทีนี้แม่ผัวของฉันพอรู้ว่าฉันมาจากตาคลี ก็เหมาเอาว่า ฉันต้องเป็นอีตัว...ฉันจะอธิบายให้ใครฟังได้ทั้งตลาดละ เพราะแกเสียงดังขนาดนั้น เฮียใช้เขารู้ดีว่าอะไรเป็นอะไร ถ้าฉัน ชั่วช้าถึงเพียงนั้น เขาจะเอาฉันทำเมียออกหน้าออกตา พาเข้าบ้านมารึ แล้วฉันก็กำลังอุ้มท้องลูกของเขาด้วย เขาก็ต้องรับผิดชอบ ฉันเอง จะผิดก็ตรงที่ ใจง่ายไม่ได้ตกแต่งเสียก่อน...ทีนี้เขาจะว่าอะไรก็ได้ ใช่ไหมน้า ฉันตากหน้า สู้สายตาคนก็เพราะฉันกำลังจะเป็นแม่คน ฉันสู้อดทดก็เพื่ออนาคตลูกของฉัน ถ้าไม่อดทน ลูกก็จะไม่มีพ่อ ใช่ไหมน้า”

          “มันก็จริงของเอ็ง”

          “อย่างไร น้าก็ช่วยแก้ข่าวให้ฉันบ้างนะ...วันหน้าฉันได้ดิบได้ดีอยู่ที่ชุมแสง ฉันจะไม่ลืมบุญของคุณครั้งนี้ของน้าเลยจ้ะ”

          “ให้มันจริงเถอะ”

          “จริงซิจ๊ะ...นี่ฉันก็กำลังมองหาทำเล เปิดร้านขายของอยู่ เห็นเขาเปิดร้านขายผ้าขายของกัน เห็นแล้วอยากทำบ้าง...คือ ทุนรอนฉันก็พอมีอยู่นะ ช่องทางหาของมาขาย ฉันก็พอรู้”

         ช่วง ที่เรณูพูดยืดยาว นางแม่ค้าข้าวเม่าทอดก็พิจารณาเสื้อผ้า ทองหยองเครื่องประดับตัว และกิริยาท่าทางของหญิงสาวไปด้วย เรณูอาจจะแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าสีฉูดฉาด แต่งหน้าจัดเกินคนทั่วไป แต่ผิวพรรณกิริยาท่าทางนั้นไม่ได้ส่อไปในทางเป็นหญิงคนชั่วไร้สกุลเลยสัก นิด...คำพูดคำจารึก็หวานหูเป็นธรรมชาติ

          “อ้าวรึ แล้วหาได้รึยัง ถ้ายัง น้าจะแนะนำร้านให้ เจ้าของเก่าเขาจะย้ายไปอยู่ตะพานหิน เขาหาคนเซ้งร้านเขาอยู่”

          “ร้านไหนรึน้า เดี๋ยวฉันจะเดินไปดูเลย”

          พอรู้ว่าร้านไหนจะให้เซ้ง เรณูก็รีบเดินไปยังร้านนั้น...ถามไถ่ราคาค่าเซ้งร้าน เรณูก็คำนวณอยู่ในใจว่า เงินเก็บ กับทองคำที่พอมีอยู่ ถ้าเอาออกมาลงทุน มันจะเสี่ยงไปไหม...ถ้าขาดทุนมันก็ต้องกลับมานับหนึ่งใหม่ แต่ถ้าได้กำไร ลงหลักปักฐานได้ เธอก็จะไม่ใช่อีเรณูอดีตกะหรี่ตาคลีอีกต่อไป...

          มันน่าจะลองเสี่ยง เพราะการเสี่ยงครั้งนี้ เธอไม่ได้เสี่ยงตามลำพัง เหมือนเมื่อครั้ง บ่ายหน้าออกจากบ้านไปอยู่ตาคลีเสียเมื่อไหร่ละ...
 
          หลัง จากดื่มชา ได้อาบน้ำผลัดผ้า นั่งนับเงินจนใจเย็นแล้ว นางย้อยก็บอกให้กมลไปสลับตำแหน่งกับตั่วเฮียของเขา...แล้วให้ปฐมมาหานางที่ ร้านก่อนจะกลับบ้านไปหาเมีย...

          สำหรับบุตรชายทั้งสี่คน คำพูดของแม่ถือว่าเป็น ‘ประกาศิต’ นาง ย้อยเล่าให้ลูกชายทั้งสี่คนฟังเสมอว่า กว่าจะมีวันนี้ได้นั้น ตนและพ่อของพวกเขาลำบากกันถึงเพียงไหน...แม้จะได้ทุนรอนมาจากอากงอาม่าของ พวกเขามาเปิดร้านค้าส่ง เน้นขายของให้พวกร้านโชห่วย แต่ก็ได้มาไม่มาก

... ช่วงแรก ๆ ลูกก็ยังเล็ก ยังต้องเรียนหนังสือ ช่วยงานกันได้ไม่เต็มที่ เจ๊กเซ้งนั้นยังต้องหาบของลงเรือขึ้นล่องแม่น้ำน่าน แม่น้ำยม เข้าไปตามลำคลอง กระทั่งจอดเรือแล้ว หาบของไปตามบ้านเรือนเพื่อเอาสินค้าที่มีเสนอขาย ชาวบ้านชาวช่องนั้นก็ไม่ได้ร่ำรวยมีเงินกันทุกบ้าน บางปีฝนแล้ง บางปี  น้ำท่วม ดังนั้นจึงต้องขายด้วยระบบ ‘ให้เซ็นไว้ก่อน’ แล้วตามเก็บตอนที่ได้ข้าวได้ของพร้อมดอกเบี้ย ...บ้างก็จ่ายเป็นเงิน บ้างก็จ่ายเป็นข้าวเปลือก บ้างก็หนีหนี้หายสูญ

          ทำ กันมาอยู่อย่างนี้สิบปีกว่า กระทั่งเก็บเงินได้ก้อนใหญ่ ญาติ เจ๊กเซ้งเสนอให้เซ้งโรงสีต่อเพราะหมดแรงจะทำ นางเห็นว่า มีลูกชายถึงสี่คน ลำพังร้านค้าร้านเดียวลูกหลานจะลำบาก จึงได้รวบรวมเงินที่มีผสมกับเงินขายที่นาทุ่งหนองนมวัวที่พ่อยกให้ ให้กับนางแย้ม มาเซ้งโรงสีหาเงินเข้าบ้านอีกทาง...

          ปฐมนั้นถือเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญเพราะเป็นพี่ชายคนโต ซึ่งเข้าใจธรรมเนียมจีนเป็นอย่างดีว่า ต้องมีภาระเป็นผู้สืบทอดตระกูลให้รุ่งเรืองสืบไป เมื่อครั้งที่ปฐมต้องเกณฑ์ทหาร นางย้อยก็คิดจะเสียเงินให้สัสดี แต่ว่าปฐม  ขอเสี่ยง เพราะเสียดายเงิน พอลูกชายจับได้ใบแดง นางย้อยก็มานึกเสียดายว่า ถ้ายอมจ่ายเงินก้อนเล็ก ๆ ก็ยังจะมีแรงงานไว้ใช้อีกสองปี แล้วยิ่งเวลานี้    นางย้อยก็ยิ่งนึกอยากย้อนวันเวลากลับไป ถ้าปฐมไม่ไปเป็นทหารที่ตาคลี เขาก็จะไม่ได้เจอะเจอกับอีเรณูจนต้องเสีย อนาคต เสียโอกาสดีๆ อย่างที่เป็น

          หลังปฐมทรุดตัวลงนั่ง นางย้อยก็พูดด้วยหน้าบึ้ง ๆ ว่า “ก่อนม้าจะไปทับกฤช ม้าไปหาพระตงก่อน”

          “ม้าไปหาพระทำไม มีอะไรกับพระรึ”

          “ม้าจะให้พระสึกออกมาแต่งงานกับหนูพิไลแทนแก”

          “ม้า”

          “นึกเสียดายขึ้นมาแล้วละซิ”

          ปฐมนิ่งเงียบ...ไม่ตอบคำถามนั้น

          “ตามธรรมเนียมจีนแล้วแกมีภาระเป็นผู้สืบทอดสกุล สมบัติส่วนใหญ่ของพ่อของแม่จะต้องเป็นของแก แต่เมื่อแกเอาเมียพรรค์อย่างนั้นเข้าบ้านมา แกก็ต้องปลงใจด้วยว่า ม้าไม่ใช่คนจีนแท้ ๆ ม้าเป็นคนไทย...เพราะฉะนั้น ต่อไปม้าจะตัดสินใจทำอะไรตามที่ม้าเห็นสมควร ตามที่ม้าพอใจแล้วกัน”

          สายตาของปฐมยังคงจ้องอยู่ที่สมุดบัญชีบนโต๊ะแค่จุดเดียว...

          “หน้าแกหมองไปนะ...ไหนว่า ไม่ได้ฝึกหนักเหมือนตอนเข้าไปใหม่ ๆ อีกแล้ว”

          “ก็ยังต้องตากแดดเหมือนเดิมแหละม้า”

          “เข้าเรื่องเลยแล้วกัน...บ้านหลังที่แกพาอีเรณูไปอยู่ ม้าจะยกให้เป็นเรือนหอของหนูพิไลกับ...พระ”

          “ม้า”

          “วันสองวันนี้ เรื่องหนูพิไลก็คงสรุปได้หรอกว่าจะแต่งกับพระตงได้เมื่อไหร่...เอาเป็นว่า ถ้าแกไม่พามันกลับตาคลี ม้าก็มีทางเลือกให้มัน ให้แก อีกทาง คือ ให้แกพามันไปอยู่ที่บ้านสวนหลังโรงสี ให้มันช่วยเลี้ยงหมู เลี้ยงไก่อยู่ที่นั่นไป”

          “แต่ที่บ้านสวนหลังโรงสีมัน มันทรุดโทรม แล้วก็เหม็นขี้หมู”

          “แล้วจะให้มันนอนให้ลมโกรก รอแกกลับมาอย่างนั้นรึ”

          “ก็เขากำลังท้อง จะให้เขาลำบากนักไม่ได้หรอกม้า”

          “ตอนที่ม้าท้องแก ท้องน้องแก ม้ายังต้องหั่นหยวกเลี้ยงหมูตั้งแต่เช้ายันค่ำ...น้ำท่าหาบขึ้นมาจากแม่น้ำ จนเต็มทุกโอ่งไม่เห็นแท้งไปสักท้อง พวกแกออกมาแข็งแรงทุกคน”

          “แต่ยุคสมัยมันเปลี่ยนไปแล้วนะม้า”

          “แกจะจัดการเอง หรือจะให้ม้าจัดการก็เลือกเอา...ถ้าให้ม้าจัดการ มันก็มีแต่แตกกับหักเท่านั้นแหละ ที่ม้าให้แกจัดการ ก็เพราะม้ายังนึกถึงความดีของแกอยู่บ้างหรอกนะ ไม่อยากจะหักหาญน้ำใจแกมากไปกว่านี้”

          “ม้า...ขอบ้านหลังนั้นให้ผมเถอะนะ”

          “ไม่...บอกเลยก็ได้ ถ้ามันคลอดลูกมาแล้ว หน้าตาลูกมันกระเดียดมาทางเรา บางทีม้าอาจจะเมตตามันมากขึ้นมาบ้างก็ได้ แต่ว่าตอนนี้ ม้าพูดได้คำเดียวว่า ถ้าทนอยู่ในที่ ที่ม้าให้อยู่ได้ ก็อยู่ อยู่ไม่ได้ จะพากันไปอยู่ที่ไหนก็ เชิญ”
         
          ปฐมแบกใบหน้าอมทุกข์กลับมาที่บ้าน...เรณูเห็นหน้าของเขาก็พอเดาออกว่า ทางนางย้อยคงกดดันเขามาอีกแน่ ๆ

          “พี่ใช้...มาแล้ว” เรณูที่อยู่ในชุดเสื้อคอกระเช้า สวมผ้านุ่งสีน้ำเงินเข้ม ยิ้มหวานเข้าหา... ประคองเขาไปลงนั่งลงบนร้านกระดานที่ถูจนสะอาดเอี่ยมไว้รอท่า...

          “นั่งก่อน เดี๋ยวหนูขึ้นไปตักน้ำให้กิน”

          “ไม่ต้องหรอก ไม่หิว”

          “กินอะไรมาหรือยัง วันนี้จะทำส้มตำให้กิน อยากกินเลยไหม ขึ้นไปตำให้กินเลยนะ”

          ปฐมถอนหายใจออกมาอย่างแรง

          “มีเรื่องอะไรไม่สบายใจหรือเปล่า มีอะไรก็พูดกันมาตรง ๆ เราเป็นผัวเมียกันแล้ว เป็นเหมือนคนคนเดียวกัน มีปัญหาอะไร เราก็ต้องช่วยกันแก้ไข”

          ปฐมหันมามองหน้าเรณู หญิงสาวยิ้มหวานให้เขา เป็นยิ้มที่ทำให้เขารู้สึกชื่นใจ...เรื่องที่หนักอึ้งอยู่ในใจก็คลายออกไป อย่างประหลาด

          “คือ ม้า จะ เอ่อ จะ ยกบ้านหลังนี้ให้เป็นเรือนหอของพระตง”

          “น้องคนรองของพี่น่ะเหรอ แล้วจะแต่งกับใครละ”

          “แต่งกับพิไล”

          “หือ” เรณูไม่คิดว่า นางย้อยจะคิดแผนแก้ลำได้รวดเร็วถึงเพียงนี้

          “ม้าจะให้เราย้ายไปอยู่บ้านสวนหลังโรงสี”

          “ย้ายก็ย้ายซิ...ตรงไหนหนูก็อยู่ได้ ขอให้ได้อยู่กับพี่ใช้ เท่านั้นเป็นพอ”

          “คือ ที่บ้านหลังนั้นเป็นเพียงเพิงหมาแหงนอยู่ติดกับเล้าหมู ทำโรงสีต้องเลี้ยงหมูด้วย แล้วเตี่ยก็เลี้ยงไก่เนื้อด้วย...เราไปอยู่ที่นั่นก็ต้องช่วยเตี่ยช่วยคนงาน ดูแลงานที่นั่น หนูจะทนกลิ่นขี้หมูไหวรึ กำลังท้องกำลังไส้อย่างนี้มันจะไม่ดีกับลูก”

          เรณูซ่อนความเจ็บใจไว้ในสีหน้า แต่เมื่อถูกกดดันให้จนมุม...เธอก็จำเป็นต้องลุกขึ้นสู้...เพราะเธอเลือกที่ จะเดินเข้าสนามรบมาเอง เธอจะต้องสู้ ให้ได้ชัยชนะกลับไป เธอจะต้องกลับไปหัวเราะให้เสียงดังคับบาร์...หญิงสาวจึงตัดสินใจบอกเขาไป ว่า...

          “อันที่จริงหนูก็มีแผนชีวิตใหม่ของเราจะบอกพี่อยู่เหมือนกัน...วันนี้หนูไป สำรวจตลาดมาละ เห็นว่ามีร้านขายผ้าจะให้เซ้งร้านต่อ เขาจะย้ายไปอยู่ที่ตะพานหิน”

          “แล้วไง”

          “หนูอยากทำ” แล้วเรณูก็บอกถึงจำนวนเงินที่ต้องใช้...ปฐมนิ่งคิด...เพราะถึงเป็นลูกของ เถ้าแก่ร้านค้าส่งของโชห่วย เป็นเจ้าของโรงสี แต่เขาก็ยังต้องใช้เงินกงสี แล้วแม่ก็ไม่ได้ให้เงินเขาใช้จนเหลือเก็บ ตอนนี้นอกจากเงินเดือนทหารเกณฑ์ที่ได้ไม่กี่บาท เขายังมีสร้อยคอทองคำหนักสองบาทที่  แม่ซื้อให้คล้องพระแค่เส้น เดียวเท่านั้น และทองเส้นนั้นพอเขาไปเป็นทหาร แม่ ก็ขอเอาไปเก็บไว้ให้เสียอีก...

          “แต่เราไม่มีทุน พี่มีเงินติดตัวไม่มาก หนูก็รู้นี่”

          “หนูพอมี...แต่หนูเป็นเมียพี่แล้ว หนูก็ต้องถามพี่ก่อนว่าจะเอาอย่างไรดี”

          “พี่ก็ต้องกลับเข้าค่าย หนูจะทำไหวรึ เดี๋ยวก็ท้องใหญ่ขึ้น ๆ แล้วหนูก็ไม่เคยค้าเคยขายด้วย...ถ้ายุ่ง ๆ คนเดียวมันเอาไม่อยู่หรอก และที่สำคัญ เราต้องเผื่อใจไว้ด้วยว่า การค้ามันอาจจะทำให้เราขาดทุนก็ได้”

          เรณูนิ่งคิด...ที่เขาพูดก็ถูก

          “พี่ว่า หนูกลับไปรอพี่อยู่ที่บ้านของหนูก่อนดีไหม...พี่ปลดทหารแล้วเราค่อยกลับมา อยู่ด้วยกันที่นี่”

          ไม่ว่าจะเป็นบ้านที่เกรียงไกร หรือบาร์ที่ตาคลี เรณูก็กลับไปไม่ได้...หญิงสาวสูดลมหายใจเข้าปอดเชิดหน้าขึ้นก่อนจะบอกว่า

          “ถ้าอย่างนั้นหนูรอพี่อยู่ที่บ้านหลังโรงสีแล้วกัน...หนูทนลำบากได้”

        ได้ ยินเรณูพูดดังนั้น ปฐมจึงบอกว่า

          “พอพี่ปลดทหาร หนูคลอดลูกแล้ว บางทีแม่ของพี่อาจจะใจเย็นลงกว่านี้ก็เป็นได้ ตอนนี้หนูต้องอดทนให้มาก ๆนะ เพื่ออนาคตลูกของเราสองคน”
         
          คืนนั้นหลังจากที่ปฐมนอนหลับไปแล้ว เรณูที่ยังนอนลืมตาโพลงก็ครุ่นคิดถึงคำพูดของ ‘พี่ติ๋ม’...

          “แม่ มันตอนเป็นสาวคงจะสวยแหละ สวยแต่ เลว และที่พี่ต้องมาอยู่ที่นี่ ก็เพราะแม่มันนี่แหละ...แม่ของมันนอกจากจะค้าขายของสารพัดอย่าง ก็ยังปล่อยเงินให้กู้ด้วย ปล่อยของให้เชื่อ ให้ติดไว้ก่อน แล้วก็คิดดอกแพง ๆ น้ำปลาขวดเดียว แลกกับข้าวเปลือกหนึ่งถัง คนมันไม่มีจะกิน มันก็เอา พอถึงหน้าได้ข้าว มันก็พากันไปโกยข้าวเปลือกมาใส่ยุ้ง เก็บไว้สีเป็นข้าวสารขาย...มันไม่ได้ทำนาสักกระแบะ แต่ข้าวมันมีเต็มยุ้ง ข้าวสารมันมีเต็มร้าน พอหลายปีเข้า มันก็ซื้อโรงสี ลูกชายมันมีสามคนสี่คน มันก็ไม่ได้เรียนหนังสือหรอก   ใช้งานอย่างกับทาส...มันถึงได้ดูแข็งแรงหล่อเหลาอย่างที่เห็น”

          “แล้วที่พี่ว่า พี่ต้องมาอยู่ที่นี่ก็เพราะแม่มัน หมายความว่าอย่างไร”

          “แม่พี่ล้มป่วย พ่อไปกู้เงินมันมารักษาแม่ กู้มาใช้จ่าย เชื่อของในร้านมันมาเลี้ยงลูก พ่อพี่ไม่รู้หนังสือหรอก มันให้พ่อพิมพ์ลายนิ้วมือใส่กระดาษเปล่า พอแม่พี่ตาย มันก็เอากระดาษแผ่นนั้นซึ่งกลายเป็นสัญญาจำนองบ้านไปแจ้งความ ว่าพ่อเอาบ้านเข้าจำนองกับมัน มันก็ยึดบ้านพี่...แล้วก็ไล่เจ้าของเดิมออกจากบ้านในทันที”

          “ขนาดนั้นเลยเหรอ แล้วพี่ไปอยู่ที่ไหนกัน”

          “ไปอาศัยบ้านพี่สะใภ้ อยู่ที่เกยไชย ที่นั่นพ่อพี่ตกต้นตาลมาหลังเสีย เดินไม่ได้ ช่วงนั้น ลำบากมาก สุดท้าย พอมีคนชวนพี่มาอยู่ที่นี่ พี่ก็มา”

          “แล้วพี่บอกกับที่บ้านพี่ว่าอย่างไร”

          “บอกว่ามาทำงานเป็นเด็กหน้าร้านที่ปากน้ำโพ...คนแถวนั้นรู้ว่า พี่โกหก แต่พี่ก็ไม่ค่อยได้กลับไปหรอก”

          “แล้วตอนนี้พ่อพี่เป็นอย่างไรบ้าง ใครดูแล”

          “ตายไปนานแล้ว สรุปว่าเพราะมันนั่นแหละ ทำให้พี่เป็นคนบ้านแตกสาแหรกขาด พี่น้องไปกันคนละทิศละทาง...ฟังกิตติศัพท์เรื่องแม่ของมันแล้ว ยังอยากจะได้ลูกมันมาเป็นผัวอยู่ไหม”

          ‘ยังอยากจะได้ลูกมันมาเป็นผัวอยู่ไหม’ ...เป็นคำถามที่เรณูถามตัวเองนับครั้งไม่ถ้วน...แต่สุดท้าย ความรัก ความหลง หรือเวรกรรมแต่ปางก่อน ทำให้เรณูที่ตัดใจจากเขาไม่ได้ เธอยังระริกระรี้ ดีดดิ้นเป็นปลากระดี่ได้น้ำ เมื่อเขากับเพื่อน ๆ มานั่งดื่มกินที่บาร์ หรือว่าตั้งใจบังเอิญไปพบเขาที่ตลาดสดในตอนเช้า...แล้วกลับมารำพึงรำพันถึง พี่ติ๋มหมั่นไส้จึงบอกว่า

          “พี่ประนอม อาการคันของอีเรณู หนูว่าต้องให้ไอ้ใช้ มันเกาสักที ถึงจะหาย”

          “หางตาเขายังไม่แลมัน แล้วเขาจะเกาให้มันรึ” ประนอมทับถม...แล้วคนอื่นๆ ก็หัวเราะกันครืน...

          และเสียงหัวเราะเยาะเย้ยนั้น ทำให้เรณูต้องพูดไปว่า “ถ้าวันข้างหน้า หนูเอามันมาทำผัวหนูได้ พวกพี่ ๆ จะให้อะไรหนู”

          “ฝันลม ๆ แล้ง ๆ อีกแล้ว อีเรณู...เมื่อไหร่มึงจะตื่นเสียที”

          “หนูถามจริง ๆ”

          “ถ้ามึงเอาไอ้ใช้มาทำผัวมึงได้ แม้เพียงคืนเดียว ครั้งเดียว ทีเดียว กูให้มึงร้อยหนึ่งเลย” พี่ประนอมผู้ป๊อบปูล่าในหมู่ทหารฝรั่ง คนใจป้ำ ‘หย่อนเหยื่อ’ มาก่อนใคร

          ส่วนคนที่สอง ที่โยนเหยื่อก้อนโตกว่า คือพี่ติ๋ม

           “แต่ถ้ามึงได้มันเป็นผัว แล้วมันพามึงเข้าบ้านไปเจอแม่มัน กูจะให้ทองคำมึงหนึ่งบาท...แล้วถ้ามึงอยู่บ้านมันได้พอปี กูจะปูผ้าขาวแล้วกราบมึงงาม ๆ สามที” นึกถึงคำพูดพี่ติ๋มแล้วเรณูก็คลำที่คอตัวเองที่มีทองเส้นนั้น คล้องอยู่...นอกจากมันจะทำให้เธอนึกถึงเพื่อน ๆ ที่ตาคลี มันก็ยังทำให้เธอนึกถึงคำว่า ‘โซ่ทองคล้องใจ’ นั่นก็คือลูกที่ถือกำเนิดขึ้นมา

          แม้ว่ามันจะเกิดขึ้นเพราะความรักความหลงจากแม่ของมันเพียงฝ่ายเดียว...แต่ เรณูเชื่อมั่นว่า ความดีที่ตนเองพอมีอยู่ น่าจะทำให้เขารักเธอได้บ้าง แม้ว่า ‘มนต์คาถา’ เสื่อมคลายไปแล้ว...

         
          เช้าวันรุ่งขึ้น เรณูตื่นมาต้มข้าวต้ม คั่วถั่วลิสง เจียวไข่ไก่แล้วก็ ตำพริกหอมกระเทียมเผาเหยาะน้ำปลาแก้เลี่ยน ตั้งสำรับ ปลุกให้เขาลุกขึ้นมาล้างหน้า แล้วกินข้าว...ระหว่างที่นั่งกินข้าวเช้าอยู่ด้วยกัน เขาบอกกับเรณูว่า

          “เดี๋ยววันนี้พี่จะพาหนูไปไหว้เจ้าที่ศาล แล้วจะพาไปดูบ้านหลังโรงสี”

          “เมื่อวานตอนไปดูร้าน หนูไปไหว้ศาลเจ้ามาแล้ว...ขอพร ขอโชค ขอลาภ ขอให้ได้อยู่ที่ชุมแสงอย่างคนมีฐานะเรียบร้อยแล้วจ้ะ”

          “เร็วจริง ๆ”

          “ไปดูบ้านหลังโรงสีเลยก็ได้ ถ้ามันเก่า มันผุ พี่ก็ซ่อมแซมให้หนูซะก่อนพี่จะกลับ”

          “มันไม่ได้ผุจนต้องซ่อมหรอก แต่มันเหม็นขี้หมู...แล้วมันก็ไกลจากแม่น้ำพอสมควร”

          เรณูอยากจะยกมือกุมขมับให้เขาเห็น แต่หญิงสาวทำได้เพียงพูดว่า

          “ลำบากแค่ไหนหนูก็จะรอพี่อยู่ที่นี่ ขออย่างเดียว พี่กลับเข้าค่ายไปแล้ว พี่อย่าออกมาเที่ยวที่บาร์อีกนะ...หนูไม่อยากใช้ผัวร่วมกับอีพวกนั้นให้มัน หัวเราะว่าหนูโง่”

          “จะเอาเงินที่ไหนไปเที่ยวละ เงินเดือนพี่ ก็ให้หนูเก็บไว้จนหมดตัวแล้ว”

          “ไม่รู้...พูดกันไว้ก่อน”

          “พี่คงคิดถึงหนูแย่เลย”

          พอเห็นสายตากรุ้มกริ่มของเขา เรณูก็ยิ้มเอียงอาย...หลังจากอิ่มข้าวล้างถ้วยจานคว่ำแล้ว...จากที่จะต้องไป โรงสีทันที...แรงดำฤษณาหรือจะเป็นเพราะแรงราคะตามประสาวัยหนุ่ม เรณูก็ไม่อาจเดาได้ ทำให้เขาชวนเรณูกลับเข้าห้องนอนทั้งที่พระอาทิตย์แผดแสงจ้า...

         
ฟาก พิไลหลังจากที่นอนครุ่นคิดมาทั้งคืน ระหว่างมื้ออาหารเช้าซึ่งเป็นข้าวต้ม กับบรรดาพวกผัดผัก ปลานึ่งซีอิ๊ว หญิงสาวก็เอ่ยขึ้นมาว่า

          “เรื่องแต่งกับเฮียตง...หนูตกลง”

          “ตกลงได้ก็ดี” เถ้าแก่ฮงยิ้มขึ้นมาได้...

          “แต่หนูก็ต้องมีข้อแม้กับทางเขาข้อสองข้อนะเตี่ย นะแม่...ข้อแรก หนูขอทองหมั้นใหม่...ขอเท่าเดิมที่เฮียใช้ให้มา”

          “ไอ้หยา” เถ้าแก่ฮงอุทาน เช่นเดียวกับนางพิกุลที่ชะงักตะเกียบค้างเพราะคิดไม่ถึงว่าพิไลจะมีลูกเล่น แบบนี้

          “มันอาจจะดูมากไป จนเขาอาจจะไม่เล่นด้วย แต่เตี่ยกับแม่ ต้องคิดให้ดี ถึงหนูไม่แต่งกับเฮียตง ทอง ๑๐ บาทของเฮียใช้ มันก็เป็นของหนูอยู่แล้ว จดหมายถอนหมั้นก็มีเป็นหลักฐานว่าเขาเป็นคนผิดสัญญา...เพราะฉะนั้น ถ้าจะให้หนูแต่งกับคนน้อง หนูต้องได้ทองอีก ๑๐ บาท...ถ้าให้ได้ หนูก็แต่ง ให้ไม่ได้ ลูกชายเพื่อนเตี่ยที่ยังเป็นโสดมีอยู่เยอะแยะ ใช่ไหมเตี่ย”

          “ก็ถูกของอีนะ อาพิกุล ...ลื้อนี่มันฉลาดสมเป็นลูกเตี่ยจริง ๆ อาพิไล”

          พิไลยิ้มเย็น...ส่วนนางพิกุลนั้นหน้านิ่วคิ้วขมวดเพราะกลัวทางนั้นจะหาว่า ‘เล่นแง่’ และ ‘เค็มเหมือนเกลือ’

          “อีกข้อ ถ้าแต่งเข้าไปแล้ว หนูจะต้องมีศักดิ์ มีสิทธิ์เหมือนสะใภ้ใหญ่ทุกประการ กิจการร้านค้า ต้องตกทอดเป็นของเฮียตง.”

          “มันจะมากไปไหม...บ้านเรือนในตรอกที่เป็นเรือนหอเขาก็จะยกให้ ให้แยกมากินมานอนเป็นสัดเป็นส่วน” นางพิกุลค้าน

          “ถ้าให้หนูได้ตามที่หนูขอ หนูก็ตกลง ถ้าให้หนูไม่ได้...ลูกชายเพื่อนเตี่ยที่ยังเป็นโสดมีอยู่เยอะแยะ ใช่ไหมเตี่ย”

          “อืม” เถ้าแก่ฮงรับคำอย่างงง ๆ ...

          “แล้วที่สำคัญ แม่ เตี่ย หนูเข้าไปก่อน หนูมีความรู้ หนูมั่นใจว่า สติปัญญาที่หนูมีอยู่ จะทำให้กิจการของเขาเจริญรุ่งเรือง พอเขารวยขึ้นมาแล้ว คนมาทีหลัง มาชุบมือเปิบ มันจะยุติธรรมกับหนู กับลูกของหนูไหม”

******************


Title: Re: กรงกรรม บทประพันธ์ของ จุฬามณี
Post by: นักประพันธ์ on 29 February 2020, 11:22:11
ตอนที่ 4 : สาวจนยาก นามจันตา

         ๔
 
          สาวจนยากผู้มีใจศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้าที่ พระประสงค์มองเห็นชื่อ ‘จันตา’ หญิงสาวเป็นชาว ‘ไท-ยวน’ คนเมืองลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ จันตามีหน้าตาจิ้มลิ้มพริ้มเพรา ผิวพรรณผุดผ่อง อากัปกิริยาสุภาพเรียบร้อย... หญิงสาวเพิ่งมาเป็นลูกจ้างอยู่ในร้านสังฆภัณฑ์ หลังจากที่พระประสงค์บวชได้ไม่กี่วัน...อาม่าแม่เจ้าของร้านเป็นคนใจบุญ ทุก ๆ เช้า จะต้องตื่นมาหุงข้าวทำกับข้าวใส่บาตรพระ...เมื่อออกบิณฑบาตพบอาม่าก็จะพบจัน ตานั่งหรือยืนอยู่กับอาม่า...

          ทุก ๆ เช้า สายตาของพระภิกษุหนุ่มกับสีกาประสานกัน ไม่มีคำจำนรรจาใด ๆ ...พระประสงค์นั้นสำรวมระวังสายตาเป็นอย่างดี แต่ถึงกระนั้นอาม่าก็ดูออกว่า พระกับสีกานั้นมีใจให้กัน บางวันอาม่ารู้สึกไม่สบายตัวก็จะให้จันตาตื่นมาหุงหาข้าวใส่บาตรตามลำพัง และถ้าวันไหนที่ฝนตกหนัก ๆ   พระออกบิณฑบาตรไม่ได้อาม่าก็จะให้จันตา หิ้วปิ่นโตไปส่งข้าวถึงในวัด...   พอหลังเที่ยงก็ให้จันตาตามไปเก็บปิ่นโตกลับ เมื่อทั้งสองเห็นกันบ่อย ๆ แม้จะมีโอกาสพูดคุยกันไม่กี่ครั้ง ไม่กี่คำ แต่ภาษาหัวใจ ที่ออกมาทางสายตานั้นมันมากเกินหมื่นคำอธิบาย...

          พระประสงค์ที่นั่งอยู่บนไม้นั่งใต้ร่มโพธิ์โดยมีไม้กวาดทางมะพร้าววางอยู่บน ตักถอนหายใจอย่างแรง...เรื่องที่พี่ชายคนโตพาเมียฝีปากกล้าเข้าบ้านมาสร้าง ความผิดหวังให้แม่ กลายเป็นเรื่องโด่งดังเข้ามาถึงในวัด และที่ว่ากันว่า ปากคนนั้นยาวกว่าปากกา ก็เห็นเป็นจริง เพียงสองคืนเท่านั้น เรื่องที่แม่จะให้ท่านลาสิกขาไปแต่งกับคู่หมั้นของพี่ชายก็ดังไปทั่วตลาดชุม แสง

          เมื่อเช้าระหว่างบิณฑบาตร ท่านเห็นใบหน้าเศร้าสร้อยของจันตาก็รู้สึกสงสารเป็นอย่างยิ่ง... ถ้าท่านปลอบจันตาได้ ท่านก็จะบอกว่า ‘ให้คิดเสียว่าเราไม่มีวาสนาต่อกัน’ แต่ว่าเมื่อท่านทบทวนประโยคนั้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ท่านก็เข้าใจบทกลอนจากนิราศอิเหนาของกวีเอกสุนทรภู่ ได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น...

          ‘จะหักอื่นขืนหักก็จักได้ หักอาลัยนี้ไม่หลุดสุดจะหัก สารพัดตัดขาดประหลาดนัก แต่ตัดรักนี้ไม่ขาดประหลาดใจ’

 

          พอ อ่านจดหมายที่พิกุลฝากคนเรือนำมาให้จบ นางย้อยก็ถึงกับกัดฟันกรอด...แม้เนื้อจดหมายจะพูดว่า ยินดี ยินยอมทำความต้องการของนาง แต่ข้อเรียกร้องที่พิไลยื่นเสนอมานั้น มันมากเกินไป...

          ทองหมั้นน้ำหนัก ๑๐ บาท ชุดใหม่... ส่วนของเดิมนั้นถือเป็นค่าทำขวัญ...

          และ ในอนาคต ร้านค้าแห่งนี้จะต้องเป็นของประสงค์...ซึ่งหมายถึง ทรัพย์สมบัติที่ปฐมพึงมีสิทธิ์ได้ตามธรรมเนียมนั้นจะต้องไปตกอยู่ในมือของ น้องชายคนรองเพราะความโง่เขลาเบาปัญญาของตน...

          แม้จะเกลียดชังเรณู แต่ลึก ๆ แล้วนางย้อยก็รักลูกชายคนโตมากกว่าลูกคนไหน

...เขาเป็นรักแรกของนาง เขาทำให้ความยากลำบากตอนอยู่ทับกฤชเริ่มจาง

...เขาเหมือนแสงสว่างที่ยังความมืดมิดในครานั้นนั้นมลาย...เขาทำให้ใจของนางเข้มแข็งยิ่งขึ้น

...ถ้าไม่มีเขามาเพิ่มความหวัง นางอาจจะยอมแพ้ต่อความยากลำบาก หอบผ้ากลับหนองนมวัวไปแล้ว

          ยามนั่งร้องไห้เพราะความคับแค้นใจที่โง่เง่า หลงเชื่อว่าความรักนั้นจะทำให้ชีวิตมีความสุข ก็ได้มือ น้อย ๆ ของปฐมเช็ดน้ำตาให้... ‘ม้าร้องไห้ทำไม ม้าเจ็บตรงไหน ใครทำม้าเจ็บ’ เสียงเล็ก ๆ ยังคงห่อหุ้มหัวใจอย่างไม่มีเสื่อมคลาย...

          แล้วนี่นางกำลังจะทำร้ายผู้เป็นแก้วตาดวงใจของนางเสียเอง...นางจะมีหน้าไปพบ บรรพบุรุษของเจ๊กเซ้งได้อย่างไร...

          ความคับแค้นใจ ทำให้ทำนบน้ำตาของนางย้อยพังทลาย...แต่พอเห็นบุญปลูกเดินมาหา นางย้อยก็รีบเช็ดน้ำตา แล้วเดินไปเข้าห้องน้ำที่หลังบ้าน...

          เดินกลับมาแล้ว นางย้อยก็บอกกับบุญปลูกว่า “บอกไอ้ป้อมให้ไปตามเถ้าแก่ที่โรงสีให้หน่อย อั๊วมีเรื่องจะปรึกษา”

          อึดใจใหญ่เถ้าแก่เซ้งคู่ทุกข์คู่ยากของนางย้อยก็เดินเข้ามาในร้าน เนื้อตัวนั้นยังคงมอมแมมเพราะทำงานหนักตั้งแต่เช้าจรดเย็น กลิ่นขี้หมูยังคงติดตัวอย่างที่นางย้อยคุ้นชิน แต่นางไม่เคยนึกรังเกียจเลยสักนิด แม้กาลเวลาจะทำให้รูปร่างหน้าตาของเขาจะเปลี่ยนไป แต่ความรักความห่วงใยที่มีให้กันไม่เคยเสื่อมคลาย... ความรัก ความซื่อสัตย์ ความดี และความขยันขันแข็งของเขาก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้ นางย้อยสู้ชีวิตในทุกวิถีทางจนมีวันนี้มาได้...

          พอเห็นสามี นางย้อยก็ร้องไห้ออกมาอย่างไม่อาย...

          “ลื้อเป็นอะไรรึอาย้อย...ใครทำอะไรลื้อ”

          นางย้อยยังคงสะอึกสะอื้นไม่ตอบคำถามในทันที กระทั่งน้ำตานั้นไหลจนชุ่มโชก นางย้อยก็บอกว่า

          “ฉันมีเรื่องจะปรึกษา” แล้วนางย้อยก็อ่านจดหมายของพิไลให้ฟัง...

          “ถ้าฉันทำตามความต้องการของอี ฉันคงจะรู้สึกผิดไปจนวันตาย...ฉันจะเอาหน้าไปพบกับบรรพบุรุษของเฮียได้อย่าง ไร...เฮียเข้าใจฉันไหม”

          “อั๊วเข้าใจ อั๊วเข้าใจลื้อ...อั๊วรู้ว่าลื้อน่ะรักตี๋ใหญ่มากกว่าลูกคนไหนๆ ...ตี๋ใหญ่มันว่านอนสอนง่าย เลี้ยงง่าย แล้วอยู่กับลื้อมาตั้งแต่ลื้อยังลำบากอยู่ทับกฤช”

คำว่า ‘ทับกฤช’ ทำให้น้ำตาของนางย้อยหยดลงมาอีก...

          “อาย้อย แต่ว่าตี๋ใหญ่มันเลือกทางเดินของมันเอง...มันก็จะต้องได้รับผลกรรมของมัน...แล้วจะว่าไปแล้ว ร้านนี้ถ้าวันหนึ่งเรายกให้อาตงไป ก็ใช่ว่า
 สมบัติของเราจะหมดซะเมื่อไหร่ โรงสีเราก็ยังมี ทำเงินได้มากกว่าที่นี่เสียอีก”

          “แต่ฉันรู้สึกเหมือนว่ากำลังถูกทางพิไลมันเอามีดมาจี้ชิงทรัพย์”

          “รึลื้อจะปฏิเสธทางพิไลไป อั๊วว่ามันก็ไม่น่าเกลียดหรอกน่า เรียกร้องมากไปแบบนี้ เหมือนเขาก็ไม่อยากจะแต่งกับลูกของเรา”

          “แต่อั๊วไปคุยกับทางแม่พิกุลเป็นมั่นเป็นเหมาะไปแล้ว อั๊วไม่อยากเสียคน...แล้วอีกอย่าง...ข้อดีของพิไลมันก็มีมาก”

          “ถ้าอย่างนั้นลื้อก็ตัดสินใจได้แล้วว่าจะทำอย่างไร ลื้อตัดสินใจอย่างไร อั๊วก็เคารพการตัดสินใจของลื้อ”

          “เฮีย” นางย้อยเช็ดน้ำตาอีก...

          “เอาน่า...สำหรับอั๊ว ความคิดของลื้อน้ะ ถูกต้องเสมอ”


 
          เมื่อ เจ๊กเซ้งเห็นดีเห็นงาม นางย้อยก็ให้เขาเฝ้าร้านแทน...ร้านนี้ไม่เคยไว้ใจลูกจ้าง...ถ้าจะไปธุระไม่ ว่าใกล้หรือไกล ถ้าไม่เป็นเจ๊กเซ้งก็ต้องเป็นลูกชายคนใดคนหนึ่งที่ต้องเฝ้าเก๊ะเงิน เงินทุกบาททุกสตางค์หากจะต้องออกจากกระเป๋าจะต้องมีเหตุผลในการใช้เสมอ

          เดินเข้าเขตวัดมาแล้ว นางย้อยก็สูดลมหายใจเข้าปอดเรียกความมั่นใจ...

          เสียง เจ๊กเซ้งยังคงก้องอยู่ในหู “ให้อาตงสึกมาแต่งงานเสียได้ก็ดี บวชไปนาน ๆ ไม่เห็นจะมีประโยชน์อะไร เอาเวลามาหาเงินหาทองเสียยังดีกว่า”

          เรื่อง ของความเชื่อที่ขัดกันนั้น ไม่เคยเป็นปัญหาสำหรับชีวิตคู่...ถึงคราวไหว้เจ้าเผากระดาษตามธรรมเนียม แม้จะไม่ค่อยเชื่อถือ แต่นางย้อยก็ทำตามคำสอนสั่งของนางลิ้มและนางซกเพ้งผู้เป็นแม่ผัวอย่างไม่อิด ออด...หากพอนางย้อยจะทำบุญสุนทานเป็นเงินก้อนใหญ่ก้อนโตบ้าง เจ๊กเซ้งก็ไม่ได้ขัดข้องแต่อย่างใด...ยกเว้นเรื่องที่ลูกชายคนรองหนีงานมา บวชเรื่องเดียวที่เจ๊กเซ้งออกปากว่า ‘ไม่มีประโยชน์’

          พอเห็นโยมแม่เดินเข้าเขตวัด พระประสงค์ก็รีบลุกขึ้น คว้าจีวรมาห่มก่อนจะเดินให้พ้นจากกุฏิออกมารับหน้า ที่เก้าอี้ใต้ร่มไม้...

          “พระ โยมมีเรื่องสำคัญจะปรึกษา” ทรุดตัวลงนั่งตรงกันข้ามแล้วนางย้อยก็เข้าเรื่องทันที...

          พระ ประสงค์สังเกตเห็นว่าตาของแม่นั้นแดงช้ำเหมือนผ่านการร้องไห้ก่อนมาที่ นี่...ซึ่งเรื่องร้องไห้กับแม่นั้น ท่านแทบจะไม่เคยเห็น ท่านจึงถามว่า
          “มีอะไรรึโยม”

          “อย่าหาว่าโยมเป็นมารเลยนะพระ...โยมอยากให้พระกลับไปอยู่บ้าน ในเร็ววันนี้” นั่นคือคำพูดที่นางย้อยคิดระหว่างเดินมาที่วัด...

          “ขออยู่ต่ออีกสักพักไม่ได้รึ เกณฑ์ทหารก่อนไม่ได้รึโยม” นั่นคือคำพูดที่พระประสงค์เตรียมรอไว้เช่นกัน

          เพราะถ้ายังอยู่ในผ้าเหลือง อย่างน้อยก็ยังประวิงเวลา ทำให้ทั้งตน และจันตานั้นได้ทำใจได้มากขึ้น... ถ้าโยมแม่มาเร่งรัดให้สึกภายในวันนี้ วันพรุ่งนี้...อีกไม่เท่าไหร่ งานแต่งจะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน...

          ท่านยังไม่พร้อมจะแต่งงาน โดยเฉพาะกับคนที่ท่านไม่ได้รัก

          “เอาตรง ๆ เลยแล้วกัน ทางพิไล เขาก็ใจร้อน เขาว่า ถ้ารอนานไปกว่านี้ เขาเกรงว่าจะมีปัญหาเหมือนคราวตั่วเฮีย”

          พระประสงค์นิ่งเงียบ...

          “ช้าหรือเร็วท่านก็ต้องสึก แล้วที่บวชมาแล้ว ก็ตั้งหลายเดือน...ตอนนี้ บอกตรง ๆ เลยว่า ทางบ้านยุ่งเป็นอย่างมาก ที่ร้านหาคนช่วยเปลี่ยนเฝ้าเก๊ะไม่ได้ จะให้อาซามาเฝ้าแทนม้าบ้าง เตี่ยอยู่ทางโรงสีก็วิ่งวุ่น ไอ้สี่ก็อ้างแต่ว่าเรียนยุ่งให้กลับมาช่วยกันบ้าง ก็ไม่ยอมกลับ...เห็นใจโยมเถอะนะ”

          เมื่อจนด้วยเหตุผลที่โยมแม่ไม่เคยอ้าง...พระประสงค์จำต้องถามกลับไปว่า “แล้วโยมอยากให้พระสึกวันไหน”

          “ก็ต้องไปถามหลวงพ่อก่อนว่าฤกษ์ดีวันไหน แต่ใจของโยมคือ อยากให้สึกออกมาอย่างเร็วที่สุด”



          เห็นสภาพบ้านเพิงหมาแหงนที่หลังโรงสีแล้วเรณูก็ลอบถอนหายใจออกมา...หลังกลืน น้ำลายลงคอแทนการถ่มถุยไล่กลิ่นเหม็นของขี้หมู เรณูก็สูดลมหายใจเข้าปอดเรียกความเข้มแข็ง...เมื่อเลือกจะเปลี่ยนทางเดิน ชีวิตโดยให้ความรัก ความพอใจนำทาง เธอก็จะต้องสู้ให้มากกว่าตอนที่อยู่ตาคลี เพราะเดิมพันในครั้งนี้มันไม่ใช่แค่ ให้พี่ติ๋มปูผ้ากราบงามๆ สามที หรือเศษเงินพนันที่พวกเพื่อนๆ จะต้องยื่นให้...มันหมายถึงชีวิตที่เหลืออยู่ของเธอ...เธอจะต้องเอาดีให้ได้ เธอจะต้องเปลี่ยนชีวิตให้ได้ และ ‘เขา’ จะต้องยอมรับเธอ อย่างที่มันควรจะเป็น!

          “พออยู่ได้ไหม”

          “ก็บอกกับพี่ใช้ไปแล้วว่า ถ้ามีพี่ อยู่ที่ไหน หนูก็อยู่ได้...พี่นั่นแหละ ปลดจากทหารมาแล้วจะอยู่ที่นี่ได้ไหม”

          “แต่ก่อนช่วงหมูออกลูก ต้องคอยเฝ้าดูทั้งวันทั้งคืนนะ ถ้าไม่เฝ้า เดี๋ยวแม่มันนอนทับ... ถ้าปล่อยให้เตี่ยทำคนเดียวก็สงสารเตี่ย”

          เรณูรู้สึกว่าเตี่ยของเขานั้นเป็นคนขยันขันแข็งและไม่ใช่คนพูดมาก...ตอนที่ เขาพาเธอมาแนะนำ หลังเธอยกมือไหว้ เตี่ยก็ยิ้มแย้มแจ่มใสต้อนรับ ไม่แสดงอาการไม่พอใจที่เห็นเธอมาเป็นลูกสะใภ้แต่อย่างใด...ผิดกับแม่ของเขา อย่างสิ้นเชิง ทั้งที่เขาก็บอกให้เรณูรู้ว่า เตี่ยนั้นเชื่อฟังแม่เหมือนหนูกลัวแมว...

          เรณูจึงอุ่นใจขึ้นมาหน่อยว่า อย่างน้อย ที่บ้านสวนหลังโรงสีนี้ ก็ยังมีเตี่ยของเขาให้ความคุ้มครอง...

          ส่วนคนงานอีกสองครอบครัวนั้น มีกระท่อมแยกอยู่ห่างกันพอประมาณ...

         สวน หลังโรงสีนั้นมากมายไปด้วยต้นมะม่วง ต้นกล้วย ไผ่...ส่วนผลไม้อื่น ๆ นั้น มีอย่างละประปราย หลังสำรวจข้าวของที่อยู่ในห้องเก็บ เรณูก็พบว่า ในห้องนั้นมี ข้าวของเครื่องใช้เยอะแยะมากมาย...

          “เจ้าของโรงสีเดิม เมียเขาเคยทำขนมขาย”

          “ขนมอะไร”

          “สารพัดอย่าง ขนมขี้หนู ข้าวต้มมัด ขายตอนเช้าบ้าง ตอนเย็นบ้าง แล้วแต่อารมณ์เขา”

          พอปฐมพูดจบ เรณูก็รู้สึกว่ามีแสงสว่างอยู่ที่ปลายอุโมงค์...ทำขนมขาย...ใช้เงินทุนไม่ มาก อุปกรณ์ทำขนมมี กระจาดมี กระด้งมี สาแหรกมี ไม้คานมี สรุปว่ามีหาบแม้จะเก่าคร่ำคร่าก็ตามที วัตถุดิบในสวนพอมี...เธอจะต้องทำขนมขาย...เธอจะต้องทำให้แม่ผัวของเธอเห็น ว่า เธอก็มีเลือดนักสู้ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าใคร


          หลังเก็บกวาดเช็ดถูห้องพักที่มีเตียงทำไม้ยกพื้นเรียบ ๆ และตู้ใส่มุ้ง หนอนเก่า จนเอี่ยมสะอาด...เรณูก็เปรยให้ปฐมฟังว่า

          “ตอนที่พี่กลับเข้าค่าย ถ้าหนูจะทำขนมขาย พี่ว่าอะไรไหม”

          “หือ” สีหน้าเขาเต็มไปด้วยความประหลาดใจ...

          “หนูยังไม่ได้เล่าให้พี่ฟังว่า ตอนหนูเด็ก ๆ แม่หนูทำขนมขายตามตลาดนัดแถว ๆ บ้านด้วยนะ แม่ทำพวกตะโก้ วุ้น เปียกปูน ขนมถ้วย ทำได้เกือบทุกอย่าง หนูช่วยแม่ทำแล้วก็หาบไปขายกับแกด้วย”

          เรณูไม่ได้เล่าให้ปฐมฟังว่า ตลาดนัดที่วัดทับกฤช เธอก็เคยไปนั่งขาย...ที่นั่นเธอถึงได้เห็น ‘คุณหนูพิไล’ ลูก สาวเถ้าแก่ฮง คู่หมั้นของเขา...เรณูยังจำได้ดีถึงใบหน้าที่เชิดขึ้นมองคนด้วยหางตา ดูไว้ตัว...ตอนนั้นเธอเพิ่งเรียนจบชั้นประถม...เพิ่งจะแตกเนื้อสาว ขี้ไคลยังไม่หมดคอ...แต่คุณหนูพิไลนั้นงามระหง ใส่เสื้อผ้าสวยงามดูเป็นสาว ทั้งที่อายุเพิ่งจะสิบขวบ

... นึกถึงอดีตแล้ว ริมฝีปากของเรณูก็คลี่ออก ตอนนั้นใครจะรู้บ้างว่า วันนี้เธอจะมาแย่งคู่หมั้นของคุณหนูคนสวยมาครอบครอง ใครจะรู้ว่าจะต้องมาเป็นคู่สะใภ้กัน และในอนาคตเรณูก็มั่นใจว่า เธอกับพิไลนั้นจะต้องมีเรื่องแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นกันอยู่อีกหลายเรื่องแน่ นอน!


         
          จันตานั่งเหม่อลอยหลังจากรู้ข่าวว่า อีกไม่กี่วันพระประสงค์จะสึกแล้วไปแต่งงานกับคู่หมั้นของพี่ชายตนเอง...อา ม่าที่นั่งอยู่บนเก้าอี้โยกพลางฟังข่าวทางวิทยุ...กระแอม แล้วบอกว่า

          “อาจันตา คิดซิว่า เราไม่ใช่เนื้อคู่กัน แล้วคนดี ๆ อย่างลื้อน่ะ เดี๋ยวก็มีคนมาเห็นคุณค่าเอง...ให้ลื้อรักษาเนื้อรักษาตัวให้ดีเถอะ”

          จันตาหันมายิ้มให้อาม่าแล้วหันหลังกลับ นั่งถัดถูพื้นเรือนต่อ...

          “แต่อาม่าคิดว่าก็เป็นเรื่องดีนะ ที่ความรักของลื้อกับพระตงไม่สมหวัง”

          “หนูยังไม่ได้บอกอาม่าเลยว่าหนูรักกับพระ” จันตารีบแก้ต่างให้ตัวเอง

          “อั๊วดูออกหรอกน่า...อั๊วแก่ปูนนี้แล้ว เห็นรัก เห็นเกลียด เห็นเลิก เห็นลาจาก มาเยอะแยะ”

          “แล้วที่อาม่าบอกว่า ดีแล้ว มันดีอย่างไง”

          “บอบบางอย่างลื้อ ไม่ทันแม่ผัวอย่างอาย้อยหรอก...ลื้อแต่งเข้าไป ลื้อก็จะไปเป็นสะใภ้ทาส ให้เขาโขกสับจิกหัวใช้อยู่แต่หลังร้าน ทำแต่งานบ้าน แล้วใช้เศษเงินที่เขาปันมาให้นิด ๆ หน่อย ๆ ...อย่างลื้อ อาม่าว่ามองพวกข้าราชการดีกว่า”

          “ทำไมต้องเป็นพวกข้าราชการ”

          “ลื้อมันเหมือนดอกกล้วยไม้ ใครเห็นก็รู้สึกสดชื่น สบายตา ลื้อสวยมากนะอาจันตา เหมาะที่จะพาไปอวดโฉมให้คนอื่นเห็น”

          ฟังอาม่าแล้วจันตาก็หันหลังกลับไปถูพื้นต่อ โดยอาม่าไม่เห็นหรอกว่า ผ้าขี้ริ้วในมือของจันตานั้น ถูหยดน้ำตาของตนที่หยดลงมาด้วย...


          จันตามาอยู่ที่นี่ในฐานะ คนทำงานบ้าน และดูแลอาม่าโดยเฉพาะ หญิงสาวไม่ได้เข้าไปวุ่นวายอยู่หน้าร้านเหมือนลูกจ้างคนอื่น จันตานั้นกินนอนอยู่ประจำ  ได้เงินเดือนไม่มาก ดีแต่ว่าเจอนายจ้างดี และที่นี่ก็ไม่มีลูกชายของนายจ้างมากวนใจเหมือนตอนอยู่ที่อุตรดิตถ์...

          บ้านของจันตามีอาชีพทำไร่ ทำนา หลังทำนาก็จะปลูกหอมแดง    พ่อแม่ของจันตามีลูกหลายคน จันตาเป็นคนที่สาม  จันตาสู้งานหนักในไร่ในนาไม่เก่งเท่าพี่เท่าน้อง หญิงสาวจะเป็นลม มีผืนขึ้นผิวหนังเมื่อต้องทำงานกลางแดด จันตาถนัดงานทอผ้า ถักไม้กวาด ทำน้ำตาลน้ำอ้อย ทำอาหารได้อร่อย...แต่ว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ทำให้ความยากจนนั้นบรรเทาลงไป ได้...ความสวยของ  จันตาทำให้ผู้ใหญ่บ้านมาขอพ่อ ส่งจันตาเข้าประกวดเทพีฤดูหนาวที่สนามหน้าโรงเรียนเทศบาลศรีพนมมาศพิทยากร...

          จันตาอิด ๆ ออด ๆ เพราะรู้สึกเขินอายตามประสาคนอ่อนต่อโลก สุดท้ายเมื่อใคร ๆ ก็เห็นดีเห็นงาม จันตาจึงยอมขึ้นเวที

          ปีนั้นจันตาได้ตำแหน่งเทพีฤดูหนาวมาครอง ความงามที่เคยซ่อนเร้นอยู่แต่ในบ้าน ในไร่ ในป่าก็มีคนมาเห็น...

          และความงามนั้นก็นำมาซึ่งความเจ็บปวดอย่างที่จันตาไม่เคยคิดว่าชีวิตนี้จะ ต้องพบเจอ...

          เขาเป็นนายทหาร หน้าตาคมคาย เขาเพิ่งย้ายมาอยู่ในค่ายทหารปืนใหญ่...เขาเห็นจันตาแล้วบอกกับจันตาว่า เขาตกหลุมรักผู้หญิงที่สวยที่สุดในเมืองลับแลเสียแล้ว เขามีรถเก๋งเป็นพาหนะคู่ใจ จึงเทียวไล้เที่ยวขื่อแวะมาหาที่บ้าน

      ... ตอนนั้น โลกทั้งใบของจันตาเป็นสีชมพู...และรถเก๋งคันนั้นก็พาจันตานั่งชูคอออกจาก บ้านไปไหนมาไหนกับเขาเพียงสองคนตามประสาคนรักกันอยู่บ่อยครั้ง โดยที่พ่อแม่ ญาติพี่น้องก็ไว้เนื้อเชื่อใจ เขาซึ่งเป็นชายชาติทหาร เขาพาจันตาไปดูหนัง ไปซื้อผ้าตัดเสื้อ ไปกินอาหารนอกบ้าน กระทั่งวันหนึ่ง ความรักสุกงอมได้ที่ เขาพาจันตาเข้าโรงแรม...

          หลังจากนั้นจันตาก็รู้สึกว่าเขาเปลี่ยนไป...จากที่เคยมาหาวันเว้นวัน เขาเริ่มอ้างงาน จนกระทั่งเขาหายไปเป็นเดือน จันตาให้พ่อพาไปหาเขาถึงในค่าย...ที่นั่นจันตาพบว่า เขามีเมีย มีลูกชายหญิงอย่างละคน...ซึ่งเมียของเขารับราชการอยู่ที่จังหวัดบ้านเกิดของเขา

          ตอนนั้นโลกทั้งใบถล่มลงมา ความหวังที่จะได้เป็นคุณนายนายทหาร ยกระดับชีวิตพังครืน...แต่ที่โหดร้ายหนักกว่านั้นคือ จันตาตั้งท้อง พอเขารู้เรื่อง เขาก็บอกว่า “ทางเดียวที่จะช่วยได้ คือให้เงิน ไปทำแท้ง”

          พ่อรับเงินของเขามาแล้ว ก็บังคับจันตาไปทำแท้งตามความต้องการของเขา หลังจากนั้นก็ให้จันตาหนีอายมาทำงานอยู่ที่ตลาดอุตรดิตถ์ ความงามของจันตานั้นนำความยุ่งยากมาสู่จันตาอีกครั้ง เมื่ออาเฮียลูกชายเจ้าของร้านซึ่งมีเมียอยู่แล้วพยายามเข้าหา...ดีแต่ว่าอาซ้อมาเห็นซะก่อน แต่ถึงกระนั้น   อาซ้อก็กล่าวหาจันตาว่าให้ท่าอาเฮีย...
 
          อาซ้อให้จันตาย้ายไปทำงานอยู่ที่บ้านของญาติคนหนึ่ง จนกระทั่งอาม่าจากชุมแสงไปเยี่ยมญาติคนนั้น...บุญกุศลที่จันตาทำไว้แต่ชาติ ปางไหน จันตาก็ไม่อาจเดาได้ ทำให้ความทุกข์ของจันตาคลายลงไปได้มาก

          อา ม่าเป็นคนจิตใจดี มีปิยะวาจา ผิดกับหญิงชราชาวจีนที่จันตาเคยพบเห็น อาม่าเข้าวัดทำบุญ ใส่บาตรทุกวัน ทำให้พลอยได้บุญ อุทิศบุญให้เลือดเนื้อที่ตนได้ทำลายทิ้งไปด้วยความไม่ได้ตั้งใจ...ความเจ็บ ปวดคราวนั้นจันตาไม่เคยลืมเลือน มันไม่ได้เจ็บแค่กาย แต่มันเจ็บร้าวไปทั้งหัวใจ...

          จันตาสาบานกับตนเองว่า จะไม่เผลอใจไปรักใครและไว้เนื้อเชื่อใจผู้ชายหน้าไหนง่าย ๆ อีก...

          กระทั่ง ได้เจอกับพระประสงค์ซึ่งดูดีมีสง่าราศีเพราะบุญผ้าเหลืองจับ แต่ถึงกระนั้นจันตาก็บอกกับตัวเองว่า จะปล่อยใจให้เขาไปอย่างง่าย ๆ ไม่ได้ แต่พอได้เห็นกันทุกวัน จันตาก็เริ่มหวั่นไหว แต่ผ้าเหลืองที่ขวางกั้นอยู่มันก็ยากที่เขาจะเผยความรู้สึกออกมาตรง ๆ แต่จันตาก็รู้ว่ามีความเสน่หาจนล้นหัวใจของพระ

          กระทั่ง มีข่าวลือว่า เขาจะต้องสึกแล้วไปแต่งงานกับคู่หมั้นของพี่ชายที่พาเมียตั้งท้องอ่อน ๆ เข้ามาอยู่ในบ้าน จันตายอมรับกับตัวเองว่ารู้สึกเจ็บแปลบกับใจที่วูบวาบไปความรัก แต่ก็ไม่ได้มากมายอะไร

          ความ สวย ความสาวและวัยของจันตา ก็คงจะทำให้มีโอกาสเจอคนดี ๆ อย่างที่อาม่าบอกไว้...ส่วนจะเป็นใครนั้น จันตาก็ได้แต่ภาวนาระหว่างทำบุญสวดมนต์กับอาม่าว่าขอให้พบเจอ คนเป็นโสด คนดี และคนที่รักเธอจริง ๆ ส่วนอดีตของเธอที่อุตรดิตถ์นั้น จันตาสัญญากับตัวเองว่าจะไม่เผลอเล่าให้ใครล่วงรู้แล้วหัวเราะเยาะอย่างเด็ด ขาด!
 


          ประสงค์ เป็นคนชอบอ่านหนังสือ ชอบอยู่เงียบ ๆ เขาอ่านหนังสือได้ทุกประเภท เขาเป็นคนช่างคิดช่างฝัน ดังนั้นตอนที่เขาบวชอยู่วัด เขาจึงไม่  ย่อท้อต่อการอ่านพระไตรปิฎกหรือท่องหนังสือสวดมนต์...

          ถ้าไม่พบจันตา เขาก็รู้สึกว่าบวชแล้วจิตใจสงบดี เห็นหนทางพ้นทุกข์...แต่พอจันตาเข้ามาในครองจักษุ...ประสงค์ก็ระลึกรู้ซึ้งกับคำว่า ‘มารผจญ’ ทำให้ใจจิตใจ ทำให้ผ้าเหลืองร้อนรุ่มนั้นเป็นเช่นไร...

          แผนชีวิตถูกกำหนดขึ้นภายในใจ...ว่าหลังคัดเลือกทหารแล้ว หลังจากที่ปฐมแต่งงานกับพิไล เขาจะให้แม่ไปสู่ขอจันตาให้กับเขาบ้าง แต่คำกล่าวที่ว่า ไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอน หรือที่เรียกว่า ‘อนิจจัง’ นั้นก็ยังเห็นเป็นจริง...

          หลังจากที่รู้ว่าจะต้องตัดใจจากจันตาเพื่อเข้าพิธีแต่งงานกับพิไล ประสงค์ที่ลาสิกขากลับมาอยู่บ้าน ก็กินไม่ได้นอนไม่หลับ...หลับตาทีไรก็เห็นแต่ภาพดวงหน้างดงามนั้นเศร้าสร้อย เพราะมีเขาเป็นต้นเหตุ...

          เพื่อให้ความรู้สึกผิดบาปในใจนั้นคลาย ระคนกับบังคับ ‘ความคิดถึง’ ไม่ให้บังเกิดในดวงจิตไม่ได้ พอได้จังหวะ เขาจึงบอกกับบุญปลูกว่า จะออกไปร้านหนังสือที่อยู่อีกซอย

          ประสงค์ เดินมาหยุดที่หน้าร้านสังฆภัณฑ์ ซึ่งอยู่คนละซอยกับบ้านของเขา...สอดสายตาเข้าไปในร้าน เด็กในร้านเดินออกมารับหน้า...ประสงค์ไม่อ้อมค้อม...

          “จันตาอยู่ไหม”

          “อยู่หลังบ้าน อาเฮียมีอะไรกับเขารึ”

          “ขอพบเขาหน่อย ตามเขามาหาเฮียหน่อย”

         เด็ก สาวหายไปอึดใจ จันตาที่อยู่ในชุดผ้านุ่งสีชมพูเสื้อสีลูกไม้สีขาวก็เดินออกมา...หญิงสาว ยิ้มน้อย ๆ เมื่อเห็นหน้าเขา...สายตามีคำถามว่า เขามีธุระอะไรกับตน...

          “จันตา” เป็นครั้งแรกที่ประสงค์มีโอกาสมองจันตาจนเต็ม ๆ ตา ส่วนจันตานั้นพยายามหลบสายตาของเขาเช่นเดิม เพราะถึงสบตาของเขาไป อนาคตมันก็ยากจะเปลี่ยน สู้ทำให้เขาเห็นว่า เธอยังอยู่ดีมีสุข และไม่ได้เจ็บปวดกับการที่เขาจะแต่งงานเสียดีกว่า 

          “คือ...เฮีย เอ่อ”

          “เฮียจะแต่งงานเมื่อไหร่” จันตาเป็นฝ่ายทำลายความกระอักกระอ่วนใจของเขา

          “จันตา คือ...เฮีย”

          “ดีใจด้วยนะ สึกปุ๊บก็แต่งงานเลย จะเข้าไปคุยกับอาม่าไหม...เมื่อกี้อาม่ายังบ่นถึงอยู่เลย” จันตาพูดยืดยาวและดูเป็นกันเอง ดูเป็นน้องเป็นพี่...ประสงค์ส่ายหน้าเบา ๆ ...ยังไม่ทันที่เขาจะคิดทำอะไรต่อ...เสียงกระดิ่งจักรยานก็ดังขึ้น... ประสงค์หันไปทางต้นเสียง ก็พบกมลเป็นคนทำให้เสียงกระดิ่งนั้นดัง...

          “มาทำอะไรแถวนี้เฮีย” เขาเบรกจนล้อมีเสียงดังเอี๊ยด...

          “เอ่อ”

          กมลหันไปมองหญิงสาวที่ยืนอยู่กับพี่ชาย...พอเดาออกว่า พี่ชายคงจะมาหาสาวงามที่หนุ่มชุมแสงเอาไปร่ำลือว่าสวยบาดจิตบาดใจ...

          “ลื้อจะไปไหน มาทำอะไรแถวนี้”

          “ออกมาหาก๋วยเตี๋ยวกิน...ไปกินด้วยกันไหม”

          “ดีเหมือนกัน”

          “งั้นซ้อนท้าย...เร็ว หิวไส้จะขาดแล้ว”

          “ร้านหัวมุมนั้นใช่ไหม เดี๋ยวเดินตามไป...ไปก่อนเลย”

          กมลยิ้มให้หญิงสาวที่พอรู้อยู่บ้างว่า ชื่ออะไร มาจากจังหวัดไหน แต่เขาก็ไม่ได้สนใจจะจีบ...เพราะตัวเขาเองยังไม่ได้บวช ยังไม่ได้เกณฑ์ทหาร มีคนรักไปตอนนี้ ก็เสียเวลาเปล่า...สู้ทำงานช่วยเตี่ยช่วยแม่ไปก่อนดีกว่า

          และที่สำคัญเขารู้ว่า แม่ไม่มีทางให้เขา มองผู้หญิงที่มีฐานะต่ำต้อยเป็นแค่เด็กในร้านอย่างแน่นอน...

          แต่ว่าเจ้าหล่อน ก็สวยสมคำร่ำลือจริง ๆ ...
         
          กมลเคลื่อนรถจักรยานออกไปแล้ว ประสงค์ก็หันมาถามจันตาว่า “ออกไปกินก๋วยเตี๋ยวด้วยกันได้ไหม”

          จันตาส่ายหน้าเบา ๆ ...

          “ถ้าซื้อเอามาให้ละ ก๋วยเตี๋ยวแห้งใส่ห่อ หรือเป็นขนม จะรับได้ไหม”

          “อย่าดีกว่า อยู่ที่นี่มีของกินเยอะแยะ แล้วอีกอย่าง  เฮียกำลังจะแต่งงาน เฮียเข้าใจที่ฉันพูดนะ”

          “พอเข้าใจ”

          “ฉันขอตัวก่อนนะ...ทิ้งอาม่าไว้คนเดียว ไม่ดี” ว่าแล้วจันตาก็เดินกลับเข้าหลังร้านไป ประสงค์มองตามไปแล้วถอนหายใจออกมา เรื่องหัวใจของเขากับจันตาก็เป็นอันสรุปว่า ‘เราไม่มีวาสนาต่อกัน’

 
          ประสงค์กลืนเส้นก๋วยเตี๋ยวไม่ลงคอ...ผิดกับกมลที่ต่อชามที่สามไปแล้วและมี แนวโน้มว่าจะต่ออีกชาม...ประสงค์เหล่ตามองน้องชายคนรองจากตนแล้วส่ายหน้าเบา ๆ

          “เฮีย ถามอะไรหน่อย...เฮีย ชอบ แม่ดอกเอื้องเหนือคนนั้นเหรอ”

          “ก็น่ารักดี”

          “ถ้าไม่ได้ถูกบังคับแต่งกับเจ๊พิไลนี่กะว่าจะเอาจริงใช่ป่ะ”

          ประสงค์ถอนหายใจอย่างแรงแล้วก็ยกแก้วน้ำขึ้นดื่ม...เขาบอกกับกมลว่าขอตัวไป ดูหนังสือก่อน ว่าแล้วเขาก็ลุกขึ้นแล้วเดินข้ามถนนไป...กมลมองตามพี่ชาย...เบนสายตาไปที่ ร้านข้าวเม่าทอด...หลังจ่ายเงินค่าก๋วยเตี๋ยวเขาก็เดินไปนั่นทันที

          “น้ำมันบัวหมดยั้งป้า”

          “แหม จ้องแต่จะขายของของตัวเอง ไม่คิดจะช่วยป้าซื้อบ้างเลยเหรอ”

          “เย็นแล้ว ซื้อหนึ่งแถมหนึ่งปะละ...ถ้าให้ได้ เอาแพนึง” หนึ่งแพมีสามลูก...มีแป้งเทินอยู่ข้างบน...

          “แถมให้ลูกนึงแล้วกันนะ...ช่วย ๆ กันไป”

          ระหว่างแม่ค้าจัดข้าวเม่าใส่กระทง กมลก็หยิบเศษแป้งมา กัด  กรุบ ๆ ...

          “นี่ ถามอะไรหน่อยซิ...ศึกในบ้านเป็นอย่างไรบ้าง ไปถึงไหนแล้ว”

          “มีอะไรที่ป้าจะยังไม่รู้อีกรึ...จริง ๆ ผมต้องถามป้ามากกว่า เรื่องในบ้านผมน่ะ ไปถึงไหนแล้วมากกว่า” น้ำเสียงทีเล่นทีจริงทำให้ คู่สนทนาต้องค้อนให้
          “แหม คารมพ่อก็เนอะ”

          “แถมให้ผมอีกลูกนะ ผมจะบอกป้าให้หมดเลยว่าที่บ้านของผมมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง”

          นางแม่ค้ารีบหยิบกล้วยอีกลูกใส่กระทงให้ แต่ถึงกระนั้นกมลก็ยังไม่ยอมจ่ายเงิน เขาก็ยังคงคว้าเศษแป้งเคี้ยวเล่นหน้าตาเฉย กระทั่งนางแม่ค้าส่งสายตาวาว เขาก็เลยยิ้มแล้วบอกว่า

          “ซ้อใหญ่ไปอยู่บ้านหลังโรงสี ช่วยคุมคนงานเลี้ยงหมู ซ้อรองกำลังจะแต่งเข้าบ้าน มีเรือนในตรอกเป็นเรือนหอ  ตั่วเฮียกลับเข้าค่ายไปแล้ว เฮียรองก็สึกมาช่วยม้าอยู่ที่ร้าน ผมก็ช่วยเตี่ยอยู่ที่โรงสี ทำงานหนักแทบไม่เห็นเดือนไม่เห็นตะวัน ไม่ได้ไปเที่ยวจีบสาวที่ไหนได้เลย... ส่วนอาสี่ก็เรียนอยู่ที่ปากน้ำโพ ก็มีแค่นี้”

          “แล้วซ้อคนสวยนั่นอีทนเลี้ยงหมูได้รึ แต่งตัวสวยเสียขนาดนั้น เล็บมืองี้ทั้งยาวแล้วก็ทาสีแดงซะน่ากลัว”

          “ทนได้หรือไม่ได้ก็ไม่รู้ แต่ที่รู้ ๆ อีเป็นคนสะอาดเกินคน สะอาดจนเตี่ยตะลึง”

          “สะอาดอย่างไร”

          “ก็พออีย้ายไปอยู่ที่บ้านหลังโรงสี อีก็เก็บกวาดจัดวางของใช้ที่กองสุม ๆ ไว้จนเป็นระเบียบเรียบร้อย หญ้ารอบ ๆ บ้านอีดายเกลี้ยง น้ำเต็มโอ่งทุกโอ่ง...เสื้อผ้าชุดทำงานของเตี่ย ของอั๊ว อีก็เก็บมาซักให้หมด...นึกไม่ถึงจริง ๆ ว่าอีจะเป็นคนแบบนี้”

          “ตอนแรกป้าก็นึกว่าจะสวยแต่รูป ไม่น่ากลับตาลปัตรไปได้เนอะ...แล้วนี่ แม่ย้อยไม่นึกเอ็นดูขึ้นมาบ้างรึ”

          “ไม่รู้เหมือนกัน ช่วงนี้ยังยุ่ง ๆ เตรียมงานแต่งเฮียตง ก็เลยไม่มีเวลามาสนใจใคร...แต่หมดเรื่องยุ่ง ๆ แล้ว บางที บ้านแบ้ของผมอาจจะมีเรื่องให้ป้าเก็บมาคุยกันเล่นอีกก็ได้...ป้าอดใจรออีก นิดนะ”

*******


Title: Re: กรงกรรม บทประพันธ์ของ จุฬามณี
Post by: นักประพันธ์ on 29 February 2020, 13:00:26
ตอนที่ 5 : ตะโก้เผือก


         ๕


         พอเห็นจานใส่ห่อขนมจำนวนสิบห่อวางอยู่บนโต๊ะบัญชี นางย้อยที่เดินออกมาจากในครัวหลังบ้านก็ถามบุญปลูกว่า

          “ขนมอะไร ใครเอามาวางตรงนี้”

          “เฮียซาเอามา บอกว่า เอามาให้เถ้าแก่เนี้ยชิม”

          “แล้ว มันไปไหนแล้ว” ปกติแล้วกมลและเจ๊กเซ้งจะกลับมานอนที่ชั้นบนของร้านนี้...นอกเสียจากช่วงหมู ออกลูกก็จะต้องผลัดกันไปนอนเฝ้าระวังไม่ให้แม่หมูนอนทับลูกหมู เพราะไม่ไว้ใจคนงาน...พอเช้ามา หลังจากไปพบปะพูดคุยกับเพื่อนฝูงที่ร้านกาแฟตรงตลาดสด เจ๊กเซ้งก็รีบไปที่โรงสี  ส่วนกมลนั้นจะตื่นสายหน่อย เขาจะไปโรงสีพร้อมปิ่นโตใส่ข้าวเช้า  ข้าวกลางวันของเตี่ยและของเขา ส่วนประสงค์ที่กำลังจะเป็นเจ้าบ่าวในอีกไม่ กี่วันข้างหน้า นางย้อยให้เฝ้าหน้าร้านเพราะตนเองนั้นยังวุ่นวายกับการเตรียมของใช้ในงาน แต่ง

          “ขี่จักรยานกลับโรงสีไปแล้วจ้ะ”

         นาง ย้อยทรุดตัวลงนั่ง หยิบห่อขนมมาดึงไม้กลัดออก...พบว่าเป็นตะโก้เผือกหน้ากะทิมันย่องชวนให้ น้ำลายไหล...บุญปลูกที่สังเกตการณ์อยู่ใกล้ ๆ รีบบอกว่าจะไปเอาช้อนมาให้ พอได้ช้อนแล้วนางย้อยก็ค่อย ๆ ละเลียดขนมหวานเข้าปาก...กระทั่งหมดไปสามห่อ

          ”รสชาติใช้ได้กลมกล่อมดี อาซามันซื้อของใครมา”

         บุญปลูกส่ายหน้า...ก่อนจะรับส่วนที่เหลือไปแบ่งปันให้ประสงค์ กับ ป้อม...



          วัน ถัดมา ช่วงสาย ๆ บนโต๊ะบัญชีมีขนมเปียกปูนใบเตยโรยมะพร้าวทึนทึกขูดอยู่อีกสิบห่อ...นางย้อย นิ่วหน้า...บุญปลูกบอกว่า กมลนำมาและก็กลับไปแล้ว หลังชิมนางย้ายก็รู้สึกว่าอร่อยถูกปาก จึงจัดการหมดไปสามห่อ...

          วันนั้นอึดใจใหญ่ ๆ ที่หน้าร้านก็ปรากฏร่างของแม่ค้าขายขนมข้าวเม่าทอด...นางถือหม้อมาแบ่งซื้อ ‘น้ำมันบัว’ สำหรับ ทอดขนม ๓ กิโลกรัม ระหว่างรอบุญปลูกเทน้ำมันจากปี๊บชั่งกิโลให้ นางก็เดินมาจ่ายเงินที่โต๊ะ นางย้อย ...พอเห็นห่อขนม นางก็พูดว่า

          “ขนมของแม่เรณูรสชาติใช้ได้เลยเนอะ”

          “อะไรนะ!” นางย้อยถามเสียงเข้ม สีหน้าเริ่มเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด

          “ขนมของแม่เรณู รสชาติถูกปากไหม” ใบหน้าคนถามนั้นยังแช่มชื่น

          “ขนมแม่เรณู” นางย้อยชักสีหน้าว่าไม่เชื่อหูตัวเอง

          “ใช่ขนมเปียกปูนใบเตยหรือเปล่าละ...ฉันว่าฉันจำสีใบตองจำความยาวของไม้กลัดได้”

          “ใช่...แล้ว อะไร อย่างไง ฉันงง”

          “อะไร อย่างไง งงอะไร ฉันก็งงเหมือนกัน”

          “คือ ลื้อรู้ได้ไง ว่านี่เป็นขนมของแม่เรณู...เอ๊ย อีเรณู”

          “ก็เมื่อเช้า แม่เรณู เขามาเอาเดินแจกให้ชิมจนทั่วตลาด”

          “แจกให้ชิม” นางย้อยไม่อยากจะเชื่อหูตัวเอง

          “ก็เขาอยากให้คนกิน ติชม กันก่อนจะทำขาย เห็นว่าอย่างนั้น...แม่ย้อยไม่รู้หรือไง”

        ทีนี้เอง อารมณ์ของนางย้อยก็พลุ่งพล่านขึ้นมา...เพราะมันไม่ใช่แค่เรณูที่ ‘ลูบคม’ แต่มันรวมถึงคนของนางที่อยู่ทางโรงสีนั้นด้วย... นางย้อยเชิดหน้าขึ้นแล้วถามว่า 

          “เอาแค่น้ำมันบัวใช่ไหม แป้ง น้ำตาล เอาอีกรึเปล่า”

          “ยังหรอก ยังมีอยู่ เอาแค่น้ำมัน”

         นางย้อยรีบบอกจำนวนเงิน นางแม่ค้าข้าวเม่าส่งแบงก์สิบมาให้ นาง ย้อยหยิบเงินทอน แล้วก็เปิดสมุดบัญชีเหมือนว่ามีงานต้องสะสางอย่างเร่งด่วน...พอนางแม่ค้าฯ เดินกลับไป นางย้อยก็เรียกหาบุญปลูกที่หลบไปจัดของช่วยลูกค้าอยู่กับประสงค์ที่หน้า ร้าน

          ”อีปลูก มึงมาเอาขนมที่เหลือนี่ไปทิ้งให้หมามันแดกให้หมด”

         บุญปลูกทำหน้าแหย ๆ ปนรู้สึกเสียดาย

          “แต่ถ้ามึงจะแดกแทนหมาก็เรื่องของมึงนะ ...อาตง ๆ ลื้อมาเฝ้าเก๊ะซิ ม้าจะไปโรงสีหน่อย”

        หลังนางย้อยเดินลับตาไปแล้ว บุญปลูกกับป้อม มองขนมในจานด้วยสีหน้าว่า จะแดกแทนหมาดีไหม?

 
        พอ เห็นแม่กางร่มเดินฉับ ๆ มาแต่ไกล กมลก็บอกกับคนงานว่า “ถ้าม้าถามถึง ก็บอกว่า อั๊วไปไหนไม่รู้นะ” ว่าแล้วเขาก็ผละไปซ่อนตัว...

        นางย้อยเดินมาถึงก็กวาดตามองหาลูกชาย แต่ก็หาไม่เจอ...แต่นางเห็นว่าจักรยานคู่ใจนั้นจอดอยู่...ส่วนตาผัว นางย้อยเดาว่า คงอยู่ที่เล้าหมูเพราะเมื่อคืนเขาบอกว่า หมูท้องแก่จะออกลูก...

          “ไอ้ซามันหายหัวไปไหน”

        คนที่อยู่ตรงนั้นมองหน้ากัน เป็นบื้อเป็นใบ้

          “กูถามว่าไอ้ซามันหายหัวไหน  ทำไมไม่มีใครตอบ...”

          “อาซา...เอ่อ...ไปไหนวะ”

          “ไม่รู้เหมือนกัน เมื่อกี้ยังเห็นอยู่เลย...ไปไหนเสียแล้วละ”

          “ไอ้ซา! ไอ้ซา! ไอ้ซา” นางย้อยตะโกนแข่งกับเสียงเครื่องจักร...แต่ว่าก็ไร้เงาของลูกชาย นางถอนหายใจอย่างแรง...แล้วก็เดินฉับ ๆ ไปทางหลังโรงสี...ไปถึงเรือนพักที่ให้ลูกชายคนโตพาเมียมาอยู่ก็เห็นว่าเงียบ เชียบ...แต่ที่สะดุดตานางย้อยคือ บริเวณนั้น ตั้งแต่ทางเดินไปจนถึงตัวเรือนทรงเพิงหมาแหงนยกพื้นสูงแค่เอว กั้นห้องไว้สาม สี่ห้องนั้นเอี่ยมโล่งดูสบายตา...

          ข้าวของที่เคยระเกะระกะที่ใต้ถุนเตี้ย ๆ นั้นก็ถูกจัดวางเป็นระเบียบ พื้นใต้ถุนปราศจากเศษใบไม้ใบหญ้าขยะมูลฝอย...พอเดินไปด้านหลังที่ต่อหลังคา ยื่นมาทำเป็นครัว...นางย้อยก็เห็นหม้ออะลูมิเนียมที่แขวนอยู่ตูดมันเลื่อม ...ถ้วยชามบนชั้นก็วางคว่ำเป็นระเบียบ ที่รอบ ๆ เตาก็เอี่ยมสะอาดไม่มีขี้เถ้า ไหสำหรับดับถ่านที่วางอยู่ติดกับปี๊บใส่ถ่านรวมถึงสิ่งของเครื่องใช้ ทุกอย่างนั้นก็ดูวางได้เหมาะเจาะลงตัว...

          “อีเรณูมันหายไปไหนของมัน” นางย้อยหมุนคว้างไปจนทั่ว...มองไปทางบ้านคนงานก็เห็นแต่นังผู้หญิงที่มี หน้าที่เลี้ยงหมูเลี้ยงไก่นั่งไกวเปลอยู่...นางย้อยมองไปในสวน...เห็นว่าทาง ทิศเหนือลม มีกระท่อมสร้างใหม่เกิดขึ้นอีกหลัง...นางย้อยเดินไปทางนั้นทันที...พอเข้าไป ใกล้นางย้อยก็ได้กลิ่นควันไฟ กลิ่นหอมของขนมลอยมาปะทะจมูก...พอเดินไปถึง ก็กลับพบนางแจ่มเมียคนงานคนหนึ่ง นั่งอยู่บนร้าน โดยนางแจ่มก็มีหน้าที่ช่วยเลี้ยงหมูเลี้ยงไก่เหมือนกัน ส่วนเรณูนั้นยืนอยู่...

          พอเห็นนางย้อย เรณูก็ยิ้มหวานให้...นางย้อยเดินหน้าบึ้งเข้าไปหา...

          “ม้า” เรณูเอ่ยทัก...

          นางย้อยรู้สึกเหนื่อยที่จะทะเลาะกับเรณู...แต่ถ้านิ่งเฉย ก็จะกลายเป็นว่านาง ‘ยอมรับ’ ว่าเป็น ‘ม้า’ เป็นแม่ผัวของเรณูเสียอีก...

          “กูบอกแล้วใช่ไหมว่าอย่ามาเรียกกูว่า ม้า ว่า แม่”

          “แล้วจะให้เรียกว่าอะไรละจ๊ะ”

          นั่นซิจะให้เรียกว่าอะไร...คิดอยู่อึดใจ นางย้อยก็บอกว่า “เรียกอย่างที่อีปลูกมันเรียกแล้วกัน”

          “เรียกว่าอะไรละจ๊ะ” น้ำเสียงและสีหน้านั้นดูไร้เดียงสาปนอวดดื้อจนน่าหมั่นไส้

          “อีแจ่ม มึงบอกมันไปซิ ว่าพวกมึงกับอีปลูกเรียกกูว่าอะไร” นางย้อยหันไปเอ็ดตะโรให้เมียคนงาน...

          “ฉันกับคนอื่น ๆ เรียกเถ้าแก่เนี้ยจ้ะซ้อ”

          “อีแจ่ม! ใครสอนให้มึงเรียกมันว่าซ้อ...ไอ้ซาไม่ได้บอกพวกมึงหรือไงว่าอีนี่ มันไม่ใช่ลูกสะใภ้กู”

          แจ่มหดหัว...ไม่กล้าสบตา...

          “จำไว้เลยนะ พวกมึงอย่าให้กูได้ยินว่าใครเรียกอีนี่ว่าอาซ้อเด็ดขาด...เพราะมันเป็นแค่ นางบำเรอลูกกู...จะเรียกอะไรก็เรียกไป...รู้ไหม” นางย้อยประกาศกร้าว...เรณูไหวไหล่ส่ายหัวน้อย ๆ แล้วหันกลับไปเปิด ‘ลังถึง’ ที่ชาวบ้านชอบเรียกกันว่า ‘ซึ้ง’

          เห็นอาการกวนประสาทของเรณูดังนั้นนางย้อยก็เชิดหน้าขึ้น...     “อีเรณูมึงทำอะไร”

          “ทำขนมจ้ะเถ้าแก่เนี้ย”

          “ขนมอะไร”

          “ขนมตาลจ้ะเถ้าแก่เนี้ย”

          “มึงเอาลูกตาลมาจากที่ไหน”

          “ญาติของแจ่มที่อยู่เกยไชยเอามาให้จ้ะ เถ้าแก่เนี้ย” เรณูยังคงหันหลังยืนมองลังถึงบนเตาที่โชยกลิ่นหอมออกมา...โดยหญิงสาวมั่นใจ ว่าเดี๋ยวระเบิดได้ลงอีกลูกหนึ่งแน่ ๆ ...

          “อีณู! กูคุยกับมึง มึงก็หันมาคุยกับกูซิ”
 
         ริมฝีปากของเรณูเบะออกหลังจากที่เดาอารมณ์ของนางย้อยถูก...หญิงสาวเกลื่อนสีหน้าให้เป็นเหมือนสลด แล้วหันกลับมา

          “จะคุยกับฉันหรือจ๊ะ เถ้าแก่เนี้ย”

          “กวนประสาทจริง ๆ นะมึง”

        ตอนนั้นแจ่มเห็นท่าไม่ดี จึงค่อย ๆ กระเถิบลงจากร้าน แล้วก็ย่องกลับที่อยู่ของตน...

        เรณูทำเหลือกตามองข้างบน ทำหน้าไม่เข้าใจที่นางย้อยพูด...

          “กูอยากรู้ว่า มึงถือดีอย่างไรถึงได้มาปลูกกระท่อมตรงนี้...ใครอนุญาตให้มึงปลูก”

          “เถ้าแก่กับคุณชายซาให้คนงานปลูกให้จ้ะเถ้าแก่เนี้ย”

          “ทำไมถึงต้องทำให้มึง”

          “ก็ตรงนี้มันอยู่เหนือลม แล้วมันก็ไกลจากโรงสี ไกลจากคอกหมู...ทำ ขนมใกล้ ๆ ขี้หมู ใกล้ ๆ กับฝุ่นละอองใครเขาจะไปกินลงละจ๊ะ...นี่หนูก็บอกกับคนในตลาดว่า โรงงานผลิตขนมของหนู สะอาดเอี่ยม แม้จะอยู่ใกล้กับสิ่งโสโครกก็ตามที แล้วถ้าใครไม่เชื่อก็มาดูได้เลย หนูพร้อมเปิดโรงงานให้ดูขั้นตอนการผลิตตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนความ”

        นางย้อยรู้สึกเหนื่อย...

          “แล้วนี่มึงเอาทุนที่ไหนไปทำขนมแจกเขา...หน้าใหญ่ใจโต แจกให้เขากินทั่วตลาด...รวยอะไรมา”

          “ก็พอมีอยู่บ้างจ้ะ เถ้าแก่เนี้ย”

          นางย้อยก็เพิ่งสังเกตเห็นว่าที่คอของเรณูนั้นมีทองอยู่เส้น ที่นิ้วมือก็แหวนทองอยู่วง...

          “เงินจากการขายของที่แม่มึงให้ติดตัวมึงมานะเหรอ”

          “หนู ทำงานบาร์ก็จริง แต่หนูทำงานอยู่ในครัวจ้ะเถ้าแก่เนี้ย แล้วเถ้าแก่เนี้ยรู้ไหมจ๊ะว่าที่บาร์น่ะ เป็นศูนย์รวมของผู้หญิงที่มาจากทั่วสารทิศ เพราะฉะนั้น อย่าหาว่าหนูอวดเลยนะจ๊ะ...สรรพวิชาความรู้ของหนูนี่มีเพียบ...หนูจบ ป.๔ ก็จริงนะ แต่หนูอ่านภาษาอังกฤษออก...พูดได้บ้าง ฟังพอรู้เรื่อง และที่สำคัญสำเนียงของหนูนี่เหมือนเจ้าของภาษาเพราะหนูเรียนกับเจ้าของโดย ตรง...อย่างกล้วยนี่ ฝรั่งเรียกว่า บานาน่า...มะพร้าวก็ โคโคนัท กระท่อมนี่เรียกว่า ฮัท สรรพนามแทนตัวหนูนี่ ไอ และแทนตัวคนที่คุยด้วย อย่างเถ้าแก่เนี้ย ที่กำลังคุยอยู่กับหนู คือ ยู...เยส โน โอเค อันเดอร์สแตน หนูพอฟังออก แล้วเพลงอังกฤษ หนูก็ร้องได้นะ...อยากฟังไหมจ๊ะ หนูจะร้องให้ฟัง...เอาเพลง ไฟว์ ฮันเดรส ไมล์ (๕๐๐ Miles by Joan Baez) แล้วกันเนอะ”

          นางย้อยได้ยินดังนั้นก็แบะปากให้... “ไม่ต้อง ๆ ...เชื่อที่มึงโม้ กูก็ออกลูกเป็นควายแล้ว”

          “เล่าให้ฟัง จะได้รู้จักกันมากขึ้น ก็หาว่าหนูตอแหลอีก”

          “กูยังไม่ได้พูดนะ ว่ามึงตอแหล มึงว่าตัวเองนะ”

          “หนูรู้ว่า โม้ กับ ตอแหล ความหมายเดียวกัน”

          “แล้วนี่ใครอนุญาตให้มึงเอาของพวกนี้มาใช้...กูจำได้ว่ามันเป็นของ ของกู” นางย้อยรีบเปลี่ยนเรื่อง...

          “แล้วจะให้มันอยู่เฉย ๆ ทำไมละจ๊ะ...เอาออกมาใช้ เอาออกมาขัด แล้วเห็นไหมว่ามันดูมีค่าขึ้นแค่ไหน”

          “แต่มันเป็นของของกู มึงต้องขอกูก่อนถึงจะถูก...ไม่ใช่ลักมาใช้แบบนี้”

          “งั้น หนูขอยืมของพวกนี้ใช้เลยแล้วกันนะจ๊ะ...แตงค์กิ้ว...เอ๊ย ขอบคุณจ้ะ” ว่าแล้วเรณูก็ยกมือพนมระดับอกแล้วค้อมหัว นางย้อยส่ายหน้าเบา ๆ ...

          “อุ๊ย ขนมตาลสุกพอดีเลย...เถ้าแก่เนี้ยต้องชิมให้หนูหน่อยนะจ๊ะ หนูอยากรู้ว่า ฝีมือหนูมันใช้ได้ไหม”

          “ไม่ชิม”

          “ว้า...นะ จ๊ะ ช่วยชิมให้หนูหน่อย...หนูอยากรู้ว่าฝีมือของหนูจะถูกปากถูกลิ้นคนชุมแสงหรือ เปล่า...ช่วยชิมแล้วติชมหน่อยได้ไหมจ๊ะเถ้าแก่เนี้ย ทำออกขายจริง ๆ จะได้มีแต่คนติดใจรอกิน”

          นางย้อยถอนหายใจอย่างแรง รู้สึกว่ายิ่งคุยกับ ‘อีนี่’ ก็ ยิ่งเหนื่อย ...หน้ามันไม่สลด ด่ามันก็ไม่เจ็บ จะว่ามันโง่มันก็ฉลาดเป็นกรด...แล้วนางย้อยก็คิดว่า ทำไมปฐมถึงได้ตาต่ำ ดูไม่ออกว่าเมียมันไม่เต็มบาทหรือเกินบาท...    คิดได้ดังนั้นนางย้อยก็ชักสีหน้าเหน็ดเหนื่อยใจ...ฝ่าย เรณูนั้นก็หันไปยกลังถึงชั้นบนลงมาวางบนแคร่ไม้ไผ่ที่มีกระทงใบตองที่แช่ม นั่งเย็บไว้ให้...สีสันและกลิ่นนั้นทำให้นางย้อยรู้สึกน้ำลายไหล อยากลิ้มรส แต่นางย้อยก็ทำได้เพียงพูดว่า 

          “ไม่ต้องเอามาให้กูชิมนะ กูไม่กินของมึงหรอก แล้ว เวลามึงทำอะไร ก็ไม่ต้องให้ไอ้ซามันเอาไปให้กูกินอีก...ถ้าเอาไป กูจะเทให้หมามันกินให้หมด...  รู้ไหม”

          “ทำไมละจ๊ะ ทำไมไม่กินของที่หนูทำ...เถ้าแก่เนี้ยก็เห็นว่า โรงงานทำขนมของหนูสะอาดสะอ้านแค่ไหน” เรณูจงใจใช้คำว่า ‘โรงงาน’ ให้มันดูใหญ่โตเกินจริง และดูว่างานนี้เธอเอาจริงแน่ ไม่ใช่ทำเล่น ๆ
 
          “กูเกลียดมึงนะซิ อีนี่ ถามอะไรโง่ ๆ” ว่าแล้วนางย้อยก็หันหลังเดินกลับไปยังโรงสี...

          เรณูเหยียดยิ้ม...แล้วก็ถอน หายใจออกมา ใจนั้นคิดว่า เธอจะต้องทำให้นางย้อยใจอ่อน ยอมรับเธอเป็นลูกสะใภ้ เป็น ‘อาซ้อ’ ให้ เหมือนกับที่เจ๊กเซ้งและกมลยอมรับ จนกระทั่งให้ความร่วมมือให้คนงานสร้าง กระท่อม รวมถึงจัดหาของใช้สอย อุปกรณ์ วัตถุดิบทำขนมบางอย่างที่มีอยู่ในร้านของนางย้อยมาให้เพิ่มเติม หลังจากที่เธอปรึกษา บอกเล่าถึงแผนชีวิตของตน
 
 
          เดิน กลับมาถึงโรงสี นางย้อยก็เห็นเจ๊กเซ้งกับกมลกำลังนั่งกินข้าวอยู่ด้วยกัน...ส่วนพวกคนงานก็ แยกย้ายกลับไปกินข้าวที่บ้านพัก บ้างก็กินข้าวที่ใส่ปิ่นโตมาจากบ้าน...

          พอเห็นแม่เดินหน้าตามุ่ยกลับมา กมลก็ยิ้มกว้างต้อนรับ...ทั้งที่   หวั่นใจเกรงว่าเรณูจะพาดพิงเรื่องที่ตัวเอง ‘ขโมย’ ของจากที่ร้านมาให้ทำขนมให้ตนได้กินและเตรียมออกขายในเร็ววันนี้

          “ไอ้ซา...มึงกับกูมีเรื่องต้องคุยกันยาว”

          “กินข้าวมายั้งม้า...เที่ยงพอดีเลย กินด้วยกันก่อน นั่ง ๆ” กมลทำเป็นใจดีสู้เสือ

          “หงุดหงิด ไม่หิว”

          “หงุดหงิดเรื่องอะไร”

          “ก็ มึง กับเตี่ยมึงนะซิ สมรู้ร่วมคิดกันหลอกกู...เฮียนะเฮีย รู้ทั้งรู้ว่า ฉันเกลียดมัน เฮียก็ยังไปญาติดีกับมัน ทำแบบนี้มันเท่ากับตบหน้าฉันนะเฮีย”

          “ตบหน้าอะไรอาย้อย อีก็เป็นเมียอาตี๋ใหญ่ อุ้มท้องหลานให้เรานะ”

          “มั่นใจได้อย่างไรว่า ลูกในท้องมันเป็นหลานเรา...ออกมาเป็นลูกฝาหรั่ง แม่จะหัวเราะให้ฟันโยก แล้วจะเฉดหัวมันออกไปจากชุมแสงทันที”

          “ม้า ๆ นั่งก่อน...กินน้ำก่อน...อย่าไปพูดถึงเรื่องที่มันยังไม่เกิดขึ้นเลย” กมลลุกขึ้นไปดึงแขนแม่มาทรุดตัวลงนั่งบนเก้าอี้ตัวที่อยู่หัวโต๊ะ...เจ๊กเซ้ง
นั้นเปิบข้าวกับปลาทอดจิ้มพริกน้ำปลาใส่หอมซอยต่อ...

          “ไอ้ซา...กูบอกมึงแล้วใช่ไหมว่า ไม่ให้คนอื่นเรียกอีเรณูว่าอาซ้อ”

          “บอกผม บอกให้ผมบอก พี่ ๆ น้อง ๆ เท่านั้นนี่ม้า”

          “พวกคนงานก็ด้วย ห้ามเรียกมันว่าอาซ้อ มึงนี่กวนประสาทกูจริง”

          “ครับ ต่อไปคงไม่มีใครเรียกเขาว่าซ้อแล้ว”

          “แล้วมึง น่ะ กล้าดีอย่างไร เอาขนมของมันไปหลอกให้กูกินถึงสองวัน”

          “หลอกที่ไหน...ถือไปวางไว้ให้กิน...ก็ของมันอร่อย ก็อยากให้ม้ากิน...ทำคุณบูชาโทษแท้ ๆ เลย”

          “ไม่ต้องมาพูดดี”

          “ม้า...หงุดหงิดไปแล้วมันได้อะไรขึ้นมา...ใครรู้เข้าก็เอาไปนินทา สาวไส้ให้กากินน่ะม้า อายเขานะ”

          “กูไม่สน ไม่ต้องมาสอนกู”

          “โมโห หิวหรือเปล่าเนี่ย...กินข้าวไหม หิวข้าวแน่ ๆ เลย เดี๋ยวคดให้...กินข้าวหน่อยนะม้า” ว่าแล้วเขาก็หันไปแบ่งข้าวจากปิ่นโตใส่จานให้แม่ ข้าวสวยในปิ่นโตสองชั้นอัดมาจนแน่น อีกสามชั้นเป็นกับข้าว นางย้อยจำได้ดีว่าเมื่อเช้านางทำอะไรใส่ปิ่นโตมา...ทว่าในชามมีแกงป่าปลาเนื้ออ่อน ใส่เครื่องเคราครบ สีสันน่ากิน...ใครมันทำ?

          “แล้วแกงนี่ ใครทำมา เมื่อเช้ากูไม่ได้ทำมาให้ เอามาจากไหน”

          “เอ่อ...พี่แจ่มทำ แบ่งมาให้...ใช่ไหมเตี่ย”

          “ใช่ อาแจ่มมันทำแบ่งมาให้” เพื่อตัดรำคาญเจ๊กเซ้งจำต้องเออออไปด้วย ทั้งที่แกเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่าใครทำมา...

        สำหรับ แก เมียกับลูกจัดหาอะไรให้กิน แกก็กิน กินอิ่ม สูบยาให้ใจเย็นแล้วแกก็ออกไปทำงานต่อ เหนื่อยก็นั่งพักสูบยา ครุ่นคิดว่าจะทำอย่างไรให้งานมันสำเร็จ มีเงินมากกว่าเมื่อวาน ชีวิตของแกตั้งแต่มีเมียก็วนเวียนอยู่อย่างนี้...และตั้งแต่ลูกชายมาช่วยรับ ผิดชอบเรื่องโรงสี แกก็ไม่ค่อยได้ใช้เสียงบัญชาการอย่างแต่ก่อน นอกเสียจากมีปัญหาเกิดขึ้นแล้วลูกแก้ไขไม่ได้ แกถึงจะต้องลงมาดูเอง...

        พอบอกว่าเป็นของนางแจ่ม นางย้อยจึงตักกินอย่างเอร็ดอร่อย...อร่อยจนลืมกับข้าวที่ตัวเองทำมาเลย


 
          “อ้าว จะแต่งคนรอง แล้วคนโตที่ติดทหาร แต่งไปแล้วรึ แต่งไปตั้งแต่เมื่อไหร่ ทำไมฉันไม่เห็นรู้เรื่อง” หลังจากที่นางย้อยบอกเล่าเรื่องที่ประสงค์ลูกชายที่บวชพระเพิ่งสึกมาจะแต่งงานในต้นเดือนหน้าให้รับรู้     นางศรีแม่ค้าร้านของชำที่มาจากตำบลรอบนอก ก็ซักถามถึงปฐม

          “เขามีเมียไปแล้ว” นางย้อยพูดไม่เต็มเสียงนัก

          “อ้าวเหรอ...ตั้งแต่เมื่อไหร่ละ”

          “เอาอะไรอีกไหม จะได้คิดเงิน” บนโต๊ะจะมีสมุดฉีกหรือบิล ปากกา ดินสอ วางไว้คู่กับลูกคิด...

          “แบบนี้ก็จะมีสะใภ้สองคนแล้วนะซิ...แล้วลูกชายคนที่สามละ ไปไหนรึ มาวันนี้ไม่เห็นหน้า ฉันชอบคนที่สามของพี่...ชื่ออะไรนะ นิสัยดี คุยสนุก ตลกดี” นางศรียังอยากคุย เพราะนานนับสิบวันถึงจะเอาเรือเข้าเมืองมาซื้อของไปขาย...

          “เขาชื่อซา...ซาที่แปลว่า สาม...อาซาช่วยพ่อเขาที่โรงสี ส่วนอาตงคนรอง สึกมาก็ให้มาช่วยตรงนี้ก่อน”

          “แล้วอาซามีคู่รักหรือยัง”

          “เพิ่งจะสิบแปดสิบเก้า จะรีบมีไปไหน ยังไม่ได้บวชเลย”

          “นี่แม่ย้อยกะจะให้ลูกบวชหมดทุกคนเลยรึ”

          “ฉัน เป็นคนไทย...พี่ชายฉันก็บวชก่อนออกเรือนทุกคน...ฉันก็เลยประกาศว่าก่อนจะมี เมีย ต้องบวชให้ฉันเสียก่อน คัดเลือกทหารให้เสร็จซะก่อน มันจะได้ไม่มีภาระ ห่วงหน้าพะวงหลัง” เรื่องบวชก็พออ้างได้ แต่ภาระที่ว่าจริง ๆ แล้วนางย้อยอยากเก็บลูกไว้ใช้งานมากกว่า

          “หลานสาวฉันสิบแปดพอดี...สวยด้วยนะ” นางศรี วกกลับไปยังเรื่องที่ติดอยู่ที่ปลายลิ้น

          “หลานสาวแม่ศรีจริง ๆ รึ” นางย้อยนึกสนุกไปด้วย เพราะคำว่า หลานสาวของแม่ศรีนั่นหมายความว่าจะต้องมีฐานะพอประมาณ เพราะ นางศรีนั้นทองหยองมีเต็มตัว แถมไม่เคยติดไม่เคยเซ็น จ่ายเงินสดทุกครั้งที่มาซื้อของไปขาย

          “หลานสาวฉันจริง ๆ สองปีก่อนก็มาคว้าตำแหน่งธิดาเจ้าพ่อชุมแสงไปครอง”

          “ถ้าอย่างนั้นก็สวยนะซิ”

          “พ่อเขาเป็นกำนัน หวงอย่างกับจงอางหวงไข่...คนเล็กด้วย” นางศรีตอบไม่ตรงคำถาม

          “แบบ นั้นอาซาฉันก็คงหมดสิทธิ์ เพราะ ลูกเจ๊กในตลาด คงไม่คู่ควร ระดับลูกสาวกำนัน มันต้องมองหาลูกเขยที่ระดับเดียวกัน รึไม่ก็พวกทำงานบนอำเภอ”

          “แหม แม่ย้อยก็พูดเกินไป...ทางแม่ย้อยนั่นแหละ จะแบ่งลูกชายไปทางนั้นได้บ้างหรือเปล่า พี่กำนันเขาอยากแต่งเข้าบ้าน...เพราะแม่เพียงเพ็ญเป็นลูกสาวคนเล็ก แกกับเมียก็หวังพึ่งพิงยามแก่เฒ่า”

          “ลูกฉัน มันก็ทำนาไม่เป็นเสียด้วยซิ”

          “แม่ย้อยก็มีที่นาแถว ๆ ชุมแสงนี่อยู่ไม่น้อยเหมือนกันไม่ใช่รึ ทำไมทำนาไม่เป็น”

          “ก็ ให้เขาเช่าเก็บค่าเช่ากินไป...ไม่มีมือไม่มีแรงจะทำหรอก” นาบางผืนของนางย้อยนั้น ได้มาเพราะเจ้าของเอามาจำนองแล้วหลุดจำนอง...ผืนเล็กบ้างผืนใหญ่บ้าง นางย้อยก็เก็บสะสมไว้ บางผืนก็ตั้งใจซื้อไว้เอง เพราะพื้นเดิมของตนเป็นลูกชาวนาเป็นเศรษฐีที่ดิน แม้จะมีร้านรวงมีโรงสี แต่มันก็ยังไม่อุ่นใจเท่ามีที่ดิน ซึ่งนับวันก็จะมีราคาสูงขึ้น...ที่นาหนองนมวัวที่สังข์พ่อยกให้นั้น ลึก ๆ นางย้อยก็ไม่ได้อยากขาย แต่ตอนนั้นอยากได้โรงสีจึงต้องยอม
ปล่อยให้น้องสาวไป...

          “แต่ว่าไปแล้ว พี่กำนันเขาก็ไม่ได้มีเฉพาะที่นาหรอกนะ...แกมีโรงเลื่อย โรงเผาถ่านด้วย”

          ทีนี้เองนางย้อยตาวาว...

          “เป็นกำนัน มีที่ดิน มีโรงเลื่อย โรงถ่าน แบบนี้ลูกฉันหมดสิทธิ์”

          “มันก็ต้องลองดู...นี่ถ้าฉันไม่เห็นว่าทางนี้นิสัยใจคอเป็นอย่างไร ฉันไม่ออกปากหรอกนะ...เจอเขาครั้งก่อน ฉันยังเก็บกลับไปเล่าให้นัง เพียงเพ็ญมันฟัง ว่าอาเจอผู้ชายหน้าตาดี นิสัยดี อยากแนะนำให้รู้จักกันไว้”

          “แล้วเขาว่าอย่างไร”

          “เป็นผู้หญิง จะว่าอะไร ก็เขินอายไป...อ้อนี่” ว่าแล้วนางศรีก็เปิดกระเป๋าสตางค์ ค้นหารูปถ่ายของหลานสาวมาส่งให้นางย้อย...

          “หน้าตาเขาเป็นแบบนี้...พอได้ไหม”

          “สวย คม” รูปถ่ายนั้นขนาดสองนิ้วเป็นรูปขาวดำ ถ่ายที่ร้านถ่ายรูป จึงทำผมแต่งหน้าติดขนตาเสียเหมือนดารา...นางย้อยพินิจอยู่นาน แล้วนางศรีก็พูดว่า

          “ถ้าฉันจะขอรูปของอาซากลับไปให้เพียงเพ็ญมันดูสักบาน แม่ย้อยจะว่าอะไรไหม พอมีให้ฉันบ้างไหม”

 
          “เป็นไง สวยไหม” นางย้อยเลื่อนรูปของ ‘ว่าที่’ ลูกสะใภ้อีกคนไป ‘อวด’ บุญปลูกยิ้มเจื่อน ๆ แล้วพูดสั้น ๆ ว่า “สวย...สวยดี”

          “เห็นว่าเป็นธิดาเจ้าพ่องานงิ้วชุมแสงเมื่อสองปีก่อน ลูกสาวกำนันเสียด้วย...ถ้าไอ้ซามันถูกใจ เห็นที หลังแต่งอาตง คงต้องหาทางให้ดูตัวกัน...นี่ถ้าเขาไม่ใช่เนื้อคู่กัน แม่ศรีก็คงไม่มองเห็นถึงความเหมาะสมหรอก...คนมีวาสนาต่อกันนะปลูก...เดี๋ยว เทวดาก็อุ้มสมเอง...ดูซิรู้จักกันมาตั้งนานนม เพิ่งจะมาเอ่ยปากว่าอยากได้ไอ้ซาไปเป็นหลานเขย...คงจะมองดูอยู่นานเหมือน กัน”

          บุญปลูกค่อย ๆ ถอยออกมา...นางย้อยมองตามหลังไป...ทำไมนางจะ ไม่รู้ละ ว่าบุญปลูกนั้นมีใจให้กมล แต่นางย้อยก็พยายามกำชับกำชาคนของตนว่า ถ้าจะเล่น จะหยอก ก็เอาแต่ให้พอดี อย่าให้เกินคำว่า พี่น้องจนฝ่ายหญิงคิดไปไกล เพราะถึงอย่างไรแล้ว  บุญปลูกแม้จะขยันขันแข็ง เชื่อฟังคำสั่ง และอดทนกับอารมณ์ของนางได้ แต่บุญปลูกผู้มีพ่อจีนแม่ไทย ร่างสันทัด ผิวออกจะคล้ำ ผมหยักศก ก็เป็นได้แค่ เด็กในร้านที่ไม่เหมาะสมคู่ควรกับลูกชายของนางอย่างแน่นอน...

          ตามสายตาของนางย้อยนั้น กมลวางตัวเป็นพี่ชายของบุญปลูกได้อย่างสุจริตใจ แต่บุญปลูกนี่ซิ...อารมณ์ของผู้หญิงย่อมคิดฝันถึง ‘เทพบุตร’ หรือผู้ชายที่จะมายกระดับฐานะของตน...การที่เลื่อนรูปของเพียงเพ็ญ ให้ บุญปลูกรวมถึงพูดถึงแผนการในอนาคตนั้น ก็เพื่อให้บุญปลูกนั้น ‘ทำใจ’ ‘เจียมตัว’ และก็ต้องมองคนที่มันคู่ควรเหมาะสมกับตนที่มีอยู่เกลื่อนกลาดตลาดชุมแสง...
 


          เย็นวันนั้นพอลูกชายกับสามีกลับมาบ้าน อาบน้ำอาบท่าเปลี่ยนเสื้อผ้าลงมากินข้าวพร้อมหน้าพร้อมตา...นางย้อยที่ทำกับ ข้าวตั้งสำรับรอท่าก็หยิบรูปของเพียงเพ็ญมาให้ลูกชายที่ดู...

          “ใครรึม้า...สวยดี สวยเหมือนเพชราเลยนะเนี่ย”

          “ก็ม้ารู้ไง ว่าลื้อ ชอบเพชรา...ม้าก็เลยต้องหาผู้หญิงที่เหมือนเพชรามาให้เลือก” ยามอารมณ์ดี ๆ นางย้อยก็ใช้สรรพนามแทนตัวลูกชายว่า ‘ลื้อ’ แต่ถ้าหงุดหงิด ทำเรื่องขัดใจ ก็ขึ้น ‘มึง’ บ้าง ‘แก’ บ้าง ไปตามอารมณ์

          เขาส่งรูปนั้นไปให้เตี่ยกับพี่ชายดูต่อ...

          “สวยดี” เจ๊กเซ้งบอกแค่นั้น ส่วนประสงค์ไม่ออกความคิดเห็นอะไร เพราะรู้ว่า ลองแม่อยากได้ กมลก็คงขัดไม่ได้

          “อีเป็นลูกสาวกำนัน อีชื่อเพียงเพ็ญ เป็นอดีตธิดาเจ้าพ่อชุมแสงเมื่อสองปีก่อน”

          “ฮ้า...ขนาดนั้นเลยรึ ทำไมผมจำไม่ได้ละม้า ผมก็เที่ยวงานงิ้วทุกปี...รอดหูรอดตาผมไปได้อย่างไง”

          “มันยังไม่ถึงเวลาจะเห็นกัน มันก็ต้องคลาดคลากันไปก่อน”

          “แล้วนี่ม้าไปรู้จักอีได้อย่างไร”

          “หลานสาวแม่ศรีคนตำบลฆะมัง...วันนี้แกนึกอย่างไรก็ไม่รู้ เอารูปมาให้ดู แล้วก็เล่านั่นเล่านี่ให้ฟัง แล้วสุดท้ายแม่ศรีเขาบอกว่าเขาถูกชะตากับแก อยากได้แกไปเป็นหลานเขย...เขาดูมานานแล้ว เขาถามว่ายินดีจะแต่งเข้าบ้านผู้หญิงไหม เพราะแม่เพียงเพ็ญ อีเป็นลูกสาวคนเล็ก...พ่อแม่เขาหวังฝากผีฝากไข้”

          “พอรู้ว่าเป็นลูกสาวกำนัน เป็นลูกสาวคนเล็กด้วย ม้าก็เลยรีบตกลง รับว่ายินดีเลยซินะ”

          “ม้าก็อยากให้แกได้ดี...ให้หาเอง เดี๋ยวก็หา” นางย้อยได้สติว่าจะเป็นการทับถมปฐมจึงชะงัก

          “ตามใจม้าแล้วกัน...แต่ถ้าเจอกันแล้ว ไม่ได้สวยอย่างในรูปนี้ ผมมีสิทธิ์ปฏิเสธได้นะม้า”

          “แม่ศรีเขาก็สวย หลานสาวเขาก็ต้องสวย แล้วถ้าไม่สวยจริงจะได้เป็นธิดาเจ้าพ่อรึ...นางฟ้าเรี่ยดินมาให้เชยชม แล้วอย่าทำเป็นโง่หน่อยเลย...แล้วนี่เขาก็เป็นเจ้าของโรงเลื่อย โรงเผาถ่านด้วยนะ มีที่นาตั้งไม่รู้กี่ทุ่งกี่แห่ง”

          “แต่ผมทำนาไม่เป็นนะม้า”

          “มันเรียนรู้กันได้...ทำไม่ได้ก็ให้เขาเช่าเก็บค่าเช่ากินไป แกก็หาหนทางค้าขาย ทางฆะมังคนก็เยอะอยู่เหมือนกัน”

          “ค่อยว่ากัน...คงอีกนาน ผมยังไม่ได้บวช ยังไม่ได้เกณฑ์ทหารเลย อีกหลายปี เขาอาจจะรอไม่ไหว”

          “เอาแค่บวชก็ได้ ส่วนเรื่องทหาร ม้าคงจะเสียเงินให้กับสัสดีเหมือนที่จะเสียให้อาตงนี่แหละ...ไปสุ่มจับแล้ว ติดขึ้นมาเสียเวลาทำมาหากิน แล้วดีไม่ดี พ้นหูพ้นตาไปแล้ว จะเสียอนาคตเอาซะอีก”

          “ไม่ต้องวกกลับไปหาตั่วเฮียเขาหรอกม้า เขาไม่ได้อยู่ตรงนี้”

          “อีเรณูมันจะเริ่มทำขนมขายเมื่อไหร่ละ น้ำตาล แป้ง มันซื้อจากที่ร้านไหน...เอ๊ะ ทำไมมันไม่มาเอาของที่ร้านเรา เอาเงินไปให้คนอื่นทำไม”

          กมลไม่คิดว่าแม่จะคิดสะระตะถึงขนาดนี้...เขายกมือเกาหัวชักสีหน้า...ก่อนแก้ ว่า

          “ถ้าเขามาซื้อที่นี่แล้วม้าจะขายให้เขาหรือเปล่าละ... ถ้ามาซื้อแล้ว ด่าด่าด่า เขาก็คงไม่กล้าเข้ามาหรอก”

          “ก็ให้อีแจ่มมันมาซื้อซิ”

          “เดี๋ยวผมถือไปให้เขาก็ได้...ต้องไปที่นั่นทุกวันอยู่แล้ว”

          “แล้วก็เก็บเงินมันมาให้ครบทุกบาททุกสตางค์นะ ห้ามให้มันเซ็น ห้ามแถม ห้ามตักเกินกิโลอย่างเด็ดขาด คิดจะทำการค้า ต้องทำให้ได้กำไร จะ   หยวน ๆ กันไม่ได้”

          “ครับ ๆ ผมรู้ว่าเงินทองไม่มีพี่ไม่มีน้องครับ...เตี่ย ม้า เฮีย กินข้าวกันดีกว่า...อิ่มแล้วผมจะออกไปดูหนังสักหน่อยนะ...ไปด้วยกันไหมเฮีย”

*******************


Title: Re: กรงกรรม บทประพันธ์ของ จุฬามณี
Post by: นักประพันธ์ on 29 February 2020, 16:06:44
ตอนที่ 6 : พบรัก....


            ๖
 
         
          ที่ ชุมแสงมีโรงภาพยนตร์ถึงสองโรง...โรงหนึ่งฉายวันละสองรอบ...หลังกินข้าวเย็น ที่บ้านเรียบร้อย รอบสองทุ่มจะคราคล่ำไปด้วยผู้คนทั้งที่อยู่ในตลาดและที่อยู่รอบนอก เสร็จงานไร่ งานนาก็เข้ามาพักผ่อนหาความบันเทิง...นางป๋วยฮวยแม้จะมีอายุมากแล้ว แต่ก็เข้าใจโลก เข้าใจว่าวัยของจันตานั้นยังต้องการอะไร...

          “ถ้าจะออกไปเปิดหูเปิดตาดูหนังบ้าง อาม่าก็ไม่ว่าอะไรหรอกนะจันตา”

          คำว่า ‘หนัง’ ยังคงกระทบความรู้สึกของจันตา...แต่หญิงสาวก็ทำได้เพียงยิ้มเศร้า ๆ แทนที่พูดอะไรยืดยาวให้อาม่าล่วงรู้ความในใจมากกว่าไปกว่าที่เห็น

          “ถ้าลื้อเสียดายเงิน อาม่าจะออกให้”

          “ไม่รู้จะไปดูกับใคร” เด็กหน้าร้านนั้นเป็นเด็กไปกลับ จันตาจึงอยู่กับอาม่าตลอดเวลา...

          เมื่ออยู่กับคนแก่ ข้อเสียคือก็ต้องฟังคนแก่พูดอย่างเดียว...ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องในอดีตเสีย ด้วย...แต่ข้อดีนั้นมีมากกว่า เพราะถึงแม้ว่าอาม่าจะเดินเหินได้เชื่องช้าแต่ว่าความจำของอาม่ายังดีอยู่ และความรู้ของอาม่าก็มีมากมาย เวลาทำอาหารคาวหวานใส่บาตร อาหารสำหรับกินกันในครอบครัว อาม่าจะบอกให้จันตาทำตามลำดับขั้นตอนจนกระทั่งจันตาชำนาญ...ยิ่งอยู่กับอา ม่านานเท่าไหร่จันตาก็ได้ ‘สูตร’ อาหาร จีน รวมถึงรู้ธรรมเนียมและประเพณีจีนจากอาม่าไปมากเท่านั้น...

          นอกจากนั้นอาม่า ยังมีความรู้เรื่องยาสมุนไพรจีนเป็นอย่างดี อาม่าไม่มีโรคร้ายแรงอะไร จะมีก็แต่โรคปวดเมื่อยตามประสาคนแก่ อาม่าชอบให้หมอนวดมาบีบนวดในช่วงบ่าย ๆ แล้ววันดีคืนดี อาม่าก็จะให้หมอนวดช่วยสอนจันตาบีบนวดตัวอาม่าแทน หมอนวดก็ไม่ได้หวงวิชาแต่อย่างใด...อาม่า บอกกับจันตาว่า ถ้าวันหนึ่งไม่รู้จะทำอะไรกิน มีแค่สองมือ กับทักษะที่หมั่นฝึกฝนก็จะสามารถยึดเป็นอาชีพได้

          จันตาเป็นคนไม่เถียงคน แต่ก็ไม่ถึงกับนิ่งเงียบจนน่ารำคาญ...อาม่าจึงรักและเอ็นดูจันตาเป็นพิเศษ

          “ถ้าอย่างนั้นเวลาแจ้นี้ไปดู ลื้อก็ไปกับเขา แจ้ซังอีไม่ชอบดูหนัง อานี้มันชอบ...ไปเป็นเพื่อนอีก็ดีนะ”

          หมุ่ยซัง แซ่เตียว นั้นเป็นลูกสาวลำดับที่เจ็ด หมุ่ยนี้ แซ่เตียว เป็นคนสุดท้อง ทั้งสองอายุสามสิบปลาย ๆ ไม่ยอมแต่งงานทั้งคู่...อาม่าเองก็ไม่ได้บังคับขืนใจเพราะเข้าใจว่าการครอง ตัวเป็นโสดนั้นก็มีข้อดี คือไม่มีห่วง ไม่มีภาระ และอาม่าก็บอกว่า เขาไม่มีกรรมของเขา...

          สมบัติ ของทั้งสองสาวใหญ่คือร้านสังฆภัณฑ์กับภาระที่ต้องดูแลอาม่า ดูแลกันและกัน ส่วนพี่น้องคนอื่น ๆ หลังแต่งงานอาม่าก็ให้แยกย้ายกันไป อาม่ามีลูกชายหลายคน ต่างก็แยกย้ายไปทำมาหากินตามหัวเมืองอื่น ๆ มีลูกชายคนโต แยกไปเปิดร้านสังฆภัณฑ์อยู่ที่ห้องแถวคนละซอยในตลาดเดียวกัน ไปมาหาสู่กันได้

          อา ม่าบอกกับจันตาว่า อาม่ามาอยู่เมืองไทยเสียนาน บางทีอาม่าก็ต้องยอมให้วัฒนธรรมไทยกลืนความเป็นคนจีนไปบ้าง ขืนมัวยึดแต่ว่าของตนเองนั้นดี แล้วเพ่งโทษวัฒนธรรมชาติที่ตนอยู่อาศัย ชีวิตก็จะมีแต่ความทุกข์...เรื่องกดลูกสะใภ้ไว้ใช้ อาม่ามองว่ามันจะก็แต่ความทุกข์ทั้งลูกสะใภ้ ลูกชาย และลูกสาวที่ไม่ยอมแยกเรือน...สู้ให้ลูกชายขยับขยายไปเปิดร้านใหม่อยู่ใกล้ ๆ กันดีกว่า...

          ฟัง ความคิดของอาม่าแล้วจันตาก็รู้สึกว่า ตัวเองนั้นยังมีบุญที่เจอคนดี และจันตาก็สัญญากับตัวเองว่า ยามเมื่อตัวเองแก่ตัวไป จะเป็นคนแก่ที่มีเหตุผล เข้าใจโลก เหมือนที่อาม่าเป็นให้ได้...

          “จันตา ถ้าลื้อมัวดักดานอยู่แต่ในบ้านกับอาม่า ไม่ออกไปให้คนเห็น อาม่าตายไป ลื้อจะทำอย่างไง...ออกไปเถอะนะ แถว ๆ โรงหนัง มีหนุ่ม ๆ
 มาเที่ยวกันเยอะแยะ ออกไปอวดโฉมเสียบ้าง” อาม่ายังคงเร้าหรือ

          “ทำไมอาม่าถึงอยากให้หนูแต่งงาน ทำไมอาม่าไม่อยากให้หนูอยู่เป็นโสดเหมือนพวกแจ้ ๆ เขาละ”

          “นังสองคนนั่น มันพึ่งพาตัวเองได้...กิจการมันมี สมบัติมันมี หลานมันมี มันไม่อยากมีผัว มันก็อยู่ของมันได้ แต่ลื้อไม่ใช่...ลื้อต้องมีคู่ชีวิต คู่คิด มันถึงจะดีกว่ามาคิดรับใช้อาม่า รับใช้คนอื่นอยู่อย่างนี้...และที่สำคัญลื้อ อย่าลืมว่าเวลานี้ลื้ออยู่ไกลบ้านเกิด อยู่ไกลจากพ่อแม่ญาติพี่น้องของลื้อนะ”

          “แล้วถ้าเจอคนไม่ดีละ...เจอคนหลอกลวง เจอคนที่เขารังเกียจ คนจน รังเกียจว่าหนูเป็นลาว”

          “ลาวอะไรที่ไหน เกิดเมืองไทยก็เป็นคนไทยทุกคน...แล้วถ้ากลัวเจอคนไม่ดี ลื้อก็ต้องดูกันให้นานๆ  คนไม่ดี เดี๋ยวมันก็ต้องแสดงธาตุแท้ของมันออกมา ส่วนข้อที่ว่ากลัวว่าเขารังเกียจว่าจน ถ้าลื้อคิดอย่างนั้นคนจนก็สูญพันธุ์กันไปหมดแล้วซิใช่ไหม...จะยากดีมีจนก็ขอ ให้รักกันจริง ๆ ขยันทำมาหากินเดี๋ยวก็สร้างเนื้อสร้างตัวได้... ไปนะ ออกไปเปิดหูเปิดตา...ออกไปดูโลก ไปเห็นเดือนเห็นตะวันบ้าง อย่าทำตัวซังกะตาย เดี๋ยวอาม่าบอกแจ้นี้มันให้...ออกจากบ้านไปเที่ยวสัปดาห์ละครั้งก็ยังดี... อยู่แต่ในบ้านเดี๋ยวเฉาตายซะก่อน”

          เห็นว่าอาม่าหวังดีจริง ๆ จันตาจึงยอมจำนน...
 
           “อาหมุ่ยนี้ จับจันตามันแต่งตัวหน่อย มันจะได้มีคนมอง มันจะได้มีผัวดี ๆ ออกเรือนไปสร้างเนื้อสร้างตัว...ม้าชอบมัน อยากเอาบุญกับมัน” เมื่อแม่กระซิบอย่างนั้น หมุ่ยนี้จึงจับจันตาแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าเก่าเก็บของตนกับพี่สาว...หน้าตาที่ เกลี้ยงเกลาไร้สีสัน ก็ถูกแต่งแต้มพอให้รู้สึกสดชื่น...

          หมุ่ยนี้พาเดินมาถึงหน้าโรงหนัง...แม้จะมีภาพทับซ้อนกับอดีต แต่จันตาก็รู้สึกเบิกบานอย่างที่อาม่าว่าไว้...

          หมุ่ย นี้ เป็นคนเสียงดัง เป็นคนแต่งตัวทันสมัย แกรู้จักคนทั้งตลาด รู้จักตั้งแต่เด็กหนุ่มเด็กสาว คนรุ่นเดียวกัน จนถึงรุ่นพี่...แกทักคนโน้นที คนนี้ที หรือไม่แกก็จะได้รับการทักทายจากคนอื่น ๆ จนกระทั่งได้ตั๋วหนังมา แล้วแกก็สะกิดให้จันตาได้เห็นผู้ชายคนหนึ่งซึ่งยืนรอเข้าโรงหนังอยู่ตาม ลำพัง

          “ใครหรือเจ๊”

          “ปลัดอำเภอคนใหม่...ยังหนุ่มยังแน่น...เห็นไหม เพิ่งมาได้ไม่ถึงเดือน”

          จันตาพิจารณาสรีระที่เรียกว่า สันทัดสมส่วนของเขา รวมถึงใบหน้าเหลี่ยม ผิวเหลือง ก็สรุปความว่า เขาหน้าตาดี แต่ไม่ถึงกับดีจัด เพียงแต่การแต่งเนื้อแต่งตัวนั้นทำให้เขาเป็นที่สะดุดตา เพราะหนุ่มชุมแสงส่วนใหญ่ยามออกจากบ้านมาเดินเที่ยวก็ยังคงนุ่งกางเกงขาสั้น สวมเสื้อยืดสีขาวตราห่านลากรองเท้าแตะกัน...

          เสี้ยวนาทีที่จันตามองเขาอยู่นั้นเหมือนเขาจะรู้ตัว...แล้วจันตาก็เห็นว่า เขายิ้มกว้าง...จันตารีบหลบสายตาของเขาแล้วหูก็ได้ยินหมุ่ยนี้พูดว่า

          “อั๊วมากับเด็กที่บ้าน คุณปลัดมาคนเดียวรึ”

          ตอนแรกจันตาคิดว่าเขาจะตะโกนตอบกลับมา แต่เขากลับเลือกเดินเข้ามาหา แล้วพูดว่า “ผมเพิ่งมาอยู่ ยังไม่มีเพื่อน  จะมากับใครได้ละครับ”

          “จันตา...นี่คุณปลัด...คุณปลัดชื่ออะไรนะ จำได้ว่าลงท้ายว่า กร”

          “ชื่อ จินกรครับ”

          “ใช่ ชื่อแปลกดี ไม่ค่อยเหมือนใคร...จันตาไหว้คุณปลัดเสียซิ...ปลัดจินกร จำชื่อให้แม่น ๆ นะ เจอกันอีกจะได้ทักถูก”

          จันตายกมือไหว้ ยิ้มน้อย ๆ ให้ แล้วหลบสายตาของเขา...ซึ่งจันตาดูออกว่าเป็นสายตาของคนเจ้าชู้ เช่นเดียวกับนายทหารซึ่งเป็นรักแรกของจันตา...จันตาเอียงข้างมองดูใบปิดหนัง ที่ข้างฝาฟังความ...เรื่องที่ทั้งคู่ก็จะคุยกันเป็นเรื่องทั่ว ๆ ไป ไม่มีพาดพิงมาถึงตน กระทั่ง ได้เวลาประตูโรงหนังเปิด...ต่างก็แยกย้ายไปยังที่นั่งตามหมายเลขบนตั๋ว

          ในมือของกมลมีข้าวโพดคั่วกับถั่วลิสงต้ม หลังทรุดตัวลงนั่ง เขาก็หันไปทางด้านซ้ายมือ...แล้วเขาก็เห็นว่าผู้หญิงที่หันมาสบตากับเขา เป็นใคร...

          “มาดูหนังเหมือนกันเหรอ” เขาทักจันตาเบา ๆ ...เสียงของเขาทำให้หมุ่ยนี้ก้มตัวหันมามอง...

          “อ้าว อาซา มาดูหนังเหมือนกัน มาคนเดียวรึ”

          “มาคนเดียวแจ้...อาเฮียแกไม่ยอมมาด้วย บอกว่าง่วงนอน”

          “ตั้งแต่สึกมา ออกมาดูหนังบ้างหรือยัง”

          “ยังเลย อยู่แต่บ้าน อ่านแต่หนังสือ หมกตัวอยู่แต่ในห้อง”

          “เตรียมตัวจะเป็นเจ้าบ่าวมั้ง ต้องศึกษาทฤษฎีเยอะหน่อย” ว่าแล้วหมุ่ยนี้ก็หัวเราะ

          จันตาไม่คิดว่าจะได้ยินหมุ่ยนี้พูดออกมาแบบนี้...

          “อ่านแต่หนังสือนิยาย มันจะมีเรื่องพวกนี้ไหมล่ะแจ้ ผมก็อ่านไม่เป็น ไม่รู้ว่าในนั้นมีอะไรบ้าง ชอบดูเป็นภาพเป็นเสียงแบบนี้มากกว่า”

          “บางเล่มก็มี...มีเยอะด้วย”

          พอดีกับบนจอผ้าใบเริ่มมีภาพเคลื่อนไหวพร้อมเสียงอึกทึก ทำให้ทั้งคู่ต้องหยุดคุยกัน...จันตารู้สึกว่าหายใจโล่งขึ้นเพราะช่วงที่ทั้ง คู่คุยกันโดยมีตัวเองนั่งอยู่ตรงกลางนั้น เสียงของเขาเหมือนกระซิบอยู่ที่หูของตน...

          พอหนังฉาย จันตาก็เหลือบตามามอง พบว่าตาของเขาจ้องเรื่องราวตรงหน้า...หญิงสาวเห็นว่า จมูกของเขาได้รูป สวยกว่าจมูกของประสงค์ ริมฝีปากบาง หน้าของเขานั้นรูปไข่ เขาเป็นคนมีเส้นผมตรงละใบหน้า...ใบหน้าของเขาเหมือนใบหน้าผู้หญิงมากกว่า ผู้ชายไทยทั่ว ๆ ไป...แล้วจันตาก็รู้สึกว่าตั้งแต่เขาหยุดคุยกับหมุ่ยนี้ เขาก็ไม่ได้หยุดเคี้ยวของกินเล่นที่ถือติดมือเข้ามาสักนาที และที่จันตารู้สึกว่าเขาออกประหลาดคน ตรงที่เขาไม่ชวนเธอหรือชวนหมุ่ยนี้ขบเคี้ยวของเหล่านั้นด้วย...

          จันตาหัวเราะเมื่อเรื่องบนจอชวนให้หัวเราะ...กมลเหลือบตาไปมอง...เห็นสัน จมูก และริมฝีปากที่คลี่ออกรวมถึงฟันที่เรียงเป็นระเบียบ เขายอมรับว่าใจของเขาปั่นป่วนขึ้นมาเสียอย่างนั้น ไหนจะกลิ่นกายสาวซึ่งจะว่าไปแล้ว เขาก็ไม่เคยคุ้น...ทำให้เลือดในกายมันสูบฉีดรู้สึกวูบวาบอย่างที่ไม่เคยเป็น มาก่อน...กมลสูดลมหายใจตั้งสติ แล้วก็ไม่หันไปทางซ้ายมืออีก...จนกระทั่งหนังจบ...เขาให้หมุ่ยนี้กับจันตา ลุกขึ้นก่อน เขาลุกขึ้นทีหลัง แล้วเดินตามทั้งคู่ออกจากโรงหนัง...

          พอถึงหน้าโรงหนัง เขาก็เห็นว่ามีชายหนุ่มยืนยิ้มให้สองสาวเหมือนยืนคอยอยู่ หัวคิ้วของกมลขมวดเข้าหากัน...

          “จะกลับกันเลยรึเปล่าครับ ผมจะเดินไปส่ง” ชายคนนั้นเอ่ยปากถาม

          “กลับกันเลย” หมุ่ยนี้เป็นฝ่ายตอบ

          “เชิญครับ” เขาหันมาส่งสายตาวาววับให้กับจันตา จันตาสบตาของเขาหรือเปล่ากมลก็ไม่อาจเห็นได้ แต่ทีท่าที่เดินไปด้วยกันระหว่าง หมุ่ยนี้สาวแก่เทื้อ จันตาสาวน้อย และเขาคนนั้น แม้เด็กทารกก็ดูออกว่า ชายหนุ่มสนใจใคร...

          กมลถอนหายใจเบา ๆ พลางคิดว่า ประสงค์คิดถูกแล้วที่ไม่ยอมมาด้วยกัน...
 


          ขนม ตาลที่ทำเมื่อตอนเที่ยงของเมื่อวาน เรณูทำให้เจ๊กเซ้ง กมล กับพวกคนงานกินกันเล่น ๆ เพราะว่าวัตถุดิบทั้งหมดนั้นกมลเป็นคนนำมาจากที่ร้าน เรณูสังเกตเห็นว่า กมลนั้นเป็นคน กินง่าย กินจุ และเป็นคนไม่หวงกิน เรณูบอกกับเขาว่าถ้าอยากจะกินอะไรก็ให้บอก และถ้าจะให้ดี อยากกินเร็วๆ ก็ต้องมีวัตถุดิบมาให้ด้วย เขาบอกว่า ถ้าจะทำก็ต้องทำเยอะๆ ทำเผื่อแผ่พวกคนงานด้วย ข้อนั้นเรณูที่เป็นคนไทย เติบโตมากับครอบครัวใหญ่นั้นเห็นด้วย

          ‘เผื่อแผ่’ กันไป แล้วสุดท้ายก็จะกลายเป็น ‘พรรคพวก’

          ตอนนี้เรณูมั่นใจว่าเวลานี้ตนทำให้พวกคนงานในโรงสีนั้นรักใคร่ได้แล้ว...

          นางย้อยพลาดเองที่ ‘เฉดหัว’ ให้เธอมาอยู่ที่นี่

          ส่วน ขนมตะโก้เผือกกับขนมเปียกปูนใบเตยที่ทำออกขายในเช้าวันนี้ เรณูกวนใส่ถาดไว้ตั้งแต่ช่วงหัวค่ำ...หญิงสาวทำอย่างละ ๒ ถาด ถาดหนึ่งตัดแบ่ง ๓๖ ชิ้น...ขายชิ้นละ ๑ สลึง...ถ้าขายหมด ๔ ถาดโดยไม่ได้แจกจ่ายใครเลย จะได้เงิน ๓๖ บาท เรณูตั้งใจไว้ว่าจะทำขนมหลาย ๆ อย่างสลับสับเปลี่ยนกันไปวันละสองอย่าง กันคนกินเบื่อ เบื้องต้นจะขายที่ตลาดเช้า ถ้าขายไม่หมดก็จะเดินเร่ขายตามบ้านเรือน ตามตรอกซอกซอย...แต่ถ้ายังขายไม่หมดอีก เรณูตั้งใจจะขอครูเข้าไปขายที่โรงเรียน...ขายเสร็จแล้วกลับมาบ้าน เพื่อเตรียมทำของไว้ขายในวันพรุ่งนี้อีก...แต่ถ้าขายดีเรณูก็กะไว้ว่าจะ เพิ่มเป็นอย่างละ ๓ ถาดต่อวัน กำรี้กำไรรายได้ไม่มากเท่ากับตอนที่ทำงานอยู่ในบาร์ แต่ถ้าเก็บเล็กผสมน้อยไปเรื่อย ๆ อนาคตมันต้องสวยงามกว่าอย่างแน่นอน

          เรณู สูดลมหายใจเข้าปอดก่อนยกหาบขึ้นบ่า...บ่าที่เคยช่วยแม่หาบน้ำ หาบขนมไปขายกับแม่ตั้งแต่จำความได้...สองเท้าก้าวย่างออกจาก บ้านเพิงหมาแหงนตั้งแต่ฟ้ายังไม่ทันสาง ตลอดทางมีเสียงไก่ขันรับกันเป็นระยะเป็นเพื่อนคลายความหวาดกลัว ใจนั้นเปี่ยมไปด้วยความหวังว่าจะขายจนหมด...หวังว่าเมื่อปฐมกลับมาเห็นว่าเมียที่แม่ของเขาเห็นว่า ต่ำต้อยด้อยค่าดังเม็ดกรวด แท้จริงแล้วแข็งแกร่งยิ่งกว่าเพชร เหมาะสมมีค่าพอที่จะเป็นแม่ให้ลูกของเขา แม้ว่าจะได้เขามาครอบครองด้วยวิธีการสกปรกก็ตามที

          ถึงตลาดเช้า เรณูก็เริ่มเปิดการขาย...เริ่มจากทักทายพวกแม่ค้าที่พากันมานั่งรอลูกค้า โอภาปราศรัยด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม...แน่นอนว่า แม้จะตกลงปลงใจจะยึดทำขนมถาดตัดเป็นชิ้น ๆ แล้วห่อด้วยใบตองเป็นอาชีพ แต่ตัวแม่ค้าที่เคยอยู่ ‘บาร์’ ใน ตาคลีมาก่อนนั้น ไม่ยอมลดเรื่องแต่งตัวแต่อย่างใด...หน้าขาวนวลด้วยแป้งตลับ ปากนั้นยังคงแดงสด เปลือกตามีสีสันอ่อน ๆ ขับใบหน้าให้สดใส คิ้วกันจนโก่งและเขียนจนโค้งอย่างมืออาชีพ อย่างเดียวที่เรณูไม่ได้ทำ คือ ติดขนตาปลอมออกมาด้วย

          “งามจริงนะแม่คุณ...งามเสียจนขนมจืดหมดแล้ว” นี่แหละปากแม่ค้า

          “แหมพี่ ถ้าแม่ค้าสวยพริ้งก็เป็นเครื่องค้ำประกันว่าขนมนั้นหวานหอมอย่างแน่นอน... ว่าไหม”

          “แล้วทำมาแค่สี่ถาด มันจะพอขายรึ”

          “ไม่ได้ทำวันเดียวนี่นา...วันนี้สี่ถาด พรุ่งนี้อาจจะทำแปดถาด มะรืนอาจจะก้าวกระโดดไปสิบหกถาดเลยก็ได้”

          “ทำเยอะขนาดนั้น จะทำไหวรึ”

          “ไหวไม่ไหว ก็ยังไม่รู้ แต่ที่รู้ ๆ วันนี้ อีสี่ถาดนี้ต้องไม่เหลือกลับบ้าน” แม้จะ ‘มั่นใจ’ ว่าอย่างไรก็ขายได้ แต่ด้วยเป็นวันแรกก็อด ‘หวั่นใจ’ ไม่ได้เช่นกัน

          หลังจาก ลับฝีปากกันพอหอมปากหอมคอ พอให้หายง่วงซึม...ลูกค้าก็เริ่มทยอยเข้ามา...บ้างก็เข้ามาเพราะสะดุดตารูป ร่างหน้าตาของแม่ค้า บ้างก็เข้ามาเพราะเสียงเชื้อเชิญ และมีหลายเจ้าที่เข้ามาเพราะ ‘ชิม’ ของแจกให้ชิม ไปแล้วเกิด ‘ติดใจ’

          “ห่อละสลึงเดียวเท่านั้นจ้า...รับประกันความสด สะอาด และความอร่อย”

          “ถ้าซื้อยกถาดละ”

          “จะซื้อไปทำอะไรยกถาดละพี่สาว”

          “เผื่อทำบุญเลี้ยงพระ เลี้ยงคน จะได้ไม่ต้องทำเอง”

          ข้อนี้เรณูลืมคิดไป...

          “ก็พอลดให้ได้จ้า แต่ถ้าจะเอาถาดกลับไปบ้าน ก็ต้องมัดจำค่าถาดนะ แล้วตอนสั่งให้ทำต้องมัดจำค่าขนมไว้ด้วย”


          พอฟ้าสาง...พระภิกษุก็เริ่มออกบิณฑบาต จำนวนพระนั้นมีมากมาย หากจะใส่หมดทุกองค์...เห็นทีทุนหายกำไรหด...สุดท้ายเรณูก็เลือกหยิบส่วนที่ จะทำให้ได้กำไรออกมาถาดละห่อ สี่ถาดก็สี่ห่อ ยกมือที่มีขนมขึ้นจบ พร้อมอธิษฐาน ขอให้กุศลผลบุญที่ทำในวันนี้ ส่งผลให้ตนเองนั้นร่ำรวย สุขสบาย ตราบจนกว่าจะสิ้นลมหายใจ...


 
          ร้านของนางย้อยนั้นเปิดตั้งแต่ฟ้ายังไม่ทันสางและจะเริ่มเก็บร้าน ปิดร้าน ราว ๆ ห้าโมงเย็น... โดยคนที่ลุกมาเปิดร้านเป็นเจ๊กเซ้งหรือลูกชายที่อยู่ในบ้าน ส่วนนางย้อย พอตื่นแล้วก็รีบหุงข้าว ทำกับข้าว เตรียมใส่ปิ่นโตให้ลูกให้ผัวถือออกไปกินที่โรงสี...แต่ถ้าวันไหนนางย้อยไม่ อยู่บ้าน ลูกผัวก็ฝากท้องไว้กับร้านอาหารที่มีอยู่รอบตลาด...รึถ้าใครอยากกินอะไรเป็น พิเศษก็มาขอเงินไปซื้อกิน...แต่ว่านางย้อยก็ไม่ได้ให้เงินลูกชายที่อยู่ใน บ้านใช้เป็นรายเดือนเหมือนลูกคนเล็กที่อาศัยอยู่บ้าน ‘อาแปะ’ ที่ปากน้ำโพเพื่อเรียนหนังสือ

          วันนี้ ช่วงที่รอให้ข้าวเดือด นางย้อยก็เดินออกมาที่หน้าร้าน...ประสงค์นั้นเฝ้าเก๊ะพร้อมกับจัดร้าน รอบุญปลูกกับป้อมที่จะพากันมาประมาณเจ็ดโมงครึ่งเกือบแปดโมง...ส่วนกมลที่ไปดู หนังกลับมาจนดึกนั้นยังไม่ตื่น นางย้อยก็ไม่ได้ว่าอะไร เพราะงานของเขานั้นอยู่ที่โรงสี


          “อ้าว ซ้อ...วันนี้ทำอะไรกิน”

          “ว่าจะผัดถั่วงอก แกงจืดวุ้นเส้น แล้วก็แกงพะแนงหมูอีกสักอย่าง”

          เมื่อมีเงิน ย่อมกินดีอยู่ดี เพื่อให้มีเรี่ยวแรงทำงานหาเงิน...

          นาง ย้อยนั้นชอบกินอาหารไทยมันๆ เผ็ด ๆ พริกแกงก็ใส่ปลาร้า ชอบกินขนมหวาน ชอบกินผลไม้รสหวาน ส่วนเจ๊กเซ้งนั้นกินรสจืด...ถ้ารู้ว่ากับข้าวถ้วยไหนมีปลาร้าแกก็จะไม่กิน แกชอบกินพวกเต้าหู้ยี้ เต้าเจี้ยว กินซอสถั่วเหลือง แล้วแกก็กินน้ำพริกผักจิ้มไม่เป็น...ลูกสี่คนนั้นกินได้ทุกอย่างที่วางอยู่ บนโต๊ะ...อาหารที่บ้านจึงต้องทำหลากหลายชนิดเพื่อเอาใจทุกคนที่ถือเป็น เรี่ยวแรงของบ้าน...

          “แล้วนี่ นึกอย่างไร ให้สะใภ้ใหญ่หาบขนมขายละแม่ย้อย”

          พอได้ยินคู่สนทนาถามความ ‘ในใจ’ เหมือนไม่รู้ความ ‘ในบ้าน’ นางย้อยก็รู้สึกเหมือนโดนทุบเข้าที่หน้าอก เพราะคนในตลาดชุมแสงนั้นรู้ว่าบ้านตระกูลแบ้มีฐานะความเป็นอยู่อย่างไร สะใภ้ของตระกูลแบ้นั้นจะต้องประพฤติตัวเช่นไรถึงจะคู่ควรเหมาะสม...

          เป็นจริงอย่างที่กมลว่าไว้ บางทีการด่าว่าเรณูก็เหมือนตบหน้าตัวเองกลางตลาด เหมือนสาวไส้ให้กากิน...เรื่องที่เกิดขึ้นนี้มันไม่ใช่เรื่องเฉพาะคนในบ้าน แต่เป็นเรื่องที่คนนอกบ้านมองเห็น อยากรู้ความเป็นไปและเก็บเอาไปซุบซิบ นินทา...

          จะตอบว่าอย่างไรดี ถึงจะไม่ทำให้ตัวเองนั้น ไม่กลายเป็นแม่ผัวใจร้ายในสายตาของคนทั่ว ๆ ไป

          “ก็ เขา อยากทำอย่างนั้น” นางย้อยตอบไม่เต็มเสียง...เหมือนตัดบท แต่คนสนิทกัน คุ้นกันยังไม่ยอมเลิก...ยังอยากรู้

          “แล้วทำไมไม่ให้เขามาช่วยกันค้าขายอยู่ที่นี่ละ...ขายดีขนาดนี้ ให้ออกไปหาบไปเร่อย่างตะก่อนทำไมกัน ร้านรวงก็มี”

          “อยากให้เขาฝึกตัวเองก่อน อีเป็นลูกคนไทย ถ้าให้เข้ามายุ่งในร้านเลย จะสบายเกินไป...ฉันคิดอย่างนี้” นางย้อยรู้สึกโล่งใจที่หาทางออกให้คำถามนั้นได้...

          “อย่างนั้นหรอกรึ...เข้าใจคิดดีนะ”

          นางย้อยค่อย ๆ ระบายลมหายใจออกมา...

          “อี ขายของเก่งนะ ตะกี้เดินผ่าน อีเรียกลูกค้าซื้อเสียงหวานจ๋อยเลย ขายจวนจะหมดแล้ว...มือไม้เสื้อผ้าหน้าตาของอีเอี่ยมดี ขนมก็มีผ้าขาวบางปิดด้วย อาคนนี้ ต่อไปอีจะร่ำรวย เป็นเถ้าแก่เนี้ยเพราะขนมหวาน”

          หลัง จากคู่สนทนาจ่ายเงินค่าของและเดินกลับร้านของตนไปแล้ว นางย้อยก็มองไปทางตลาดสดด้วยสีหน้าหนักใจ...เพราะถ้าแต่งพิไลเข้าบ้าน แล้วพิไลเข้ามาช่วยขายของอยู่ในร้านนี้ทันที ก็จะมีข้อเปรียบเทียบให้เห็นกันระหว่างสะใภ้คนโตกับสะใภ้รอง นางจะตอบคำถาม แก้เสียงซุบซิบนินทาว่าอย่างไร...หัวคิ้วของนางย้อย ขมวดเข้าหากัน


 
          เจ็ดโมงกว่า ๆ ขนมสี่ถาดก็หมดเกลี้ยง...ส่งผลให้แม่ค้ายิ้มปากบาน...ยิ้มของเรณูนั้นเป็น ยิ้มทั้งปากและตา เป็นยิ้มเปิดเผย...สายตาที่มองคนนั้น จะมองตรง ๆ มองอย่างไม่กลัวเกรง ไม่เขินอาย มองอย่างคนเจ้าชู้มอง อาการทางใบหน้าเมื่อเป็นดังนี้ เพื่อน ๆ ในบาร์จึงสรุปกันว่า อีเรณูมัน ‘สวยพิศ’ คืออยู่ด้วยนาน ๆ คุยด้วยแล้วจะ ‘ติดใจ’ หลงใหลใน ‘เสน่ห์’ อย่างไม่รู้ตัว...

          “เรณู พรุ่งนี้เธอก็ทำมาเพิ่มอีกสักหน่อย” แม่ค้าขายข้าวเหนียวสังขยาเจ้าประจำที่ยังขายของตนไม่หมดแนะนำ

          “ทำมาเยอะ ถ้าขายไม่หมด ฉันก็ต้องหาบไปทั่วตลาดนะซิ ทำน้อย ๆ ให้คนแย่งกันซื้อแบบนี้น่าจะดีกว่า”

        ก่อนหน้านั้น มีคนมาซื้อ มาคุยด้วยแล้วถามไถ่ว่ามาจากที่ไหน บางคนพอรู้ว่าเป็น ‘สะใภ้’ ของนางย้อย เจ้าของร้านค้าส่งใหญ่โต ก็ถาม ตรง ๆ ว่า ‘เถ้าแก่ย้อย แม่ผัวเธอ นึกอย่างไร ให้เธอมาขายขนมหาบเร่’ ประโยค นี้ เรณูตอบไม่ได้ในทันที...หญิงสาวได้แต่ยิ้ม...แล้วเปลี่ยนเรื่องคุย โดยใจก็คิดว่า ตอนนี้ เธอไม่ใช่ เรณู ลูกแม่เรไร ผู้มีพี่น้องเป็นโขยงอีกแล้ว...จะทำอะไรก็ต้องนึกถึงหน้าแม่ผัวด้วย... แต่อีกใจก็ค้านว่า ถึงจะหาบเร่กระเดียดกระจาดไปทั่ว แต่มันก็เป็นอาชีพสุจริต...ใยจะต้องสนใจความรู้สึกของใคร ในเมื่อนางย้อยก็ไม่ได้สนใจความรู้สึกของเธอเลยสักนิด...ทำได้ กระทั่งเฉดหัวออกจากบ้านหลังงามใกล้ ๆ ตลาดไปอยู่บ้านซอมซ่อติดเล้าหมู ต้องทนดมขี้หมูทั้งวันทั้งคืน คงหวังให้เธอทนไม่ได้ แล้วเก็บผ้ากลับไป...

          “แล้วพรุ่งนี้จะทำขนมอะไร”

          “ว่าจะเปลี่ยนเป็นเปียกปูน...แล้วก็ทำตะโก้สาคู”

          “ทำขนมชั้น ขนมถั่วกวน ขนมปิ้ง ขนมหม้อแกงเป็นไหม”

          “พอทำได้ แต่หม้อแกง ขนมปิ้งมันยุ่งยากกว่า...แต่ถ้ามีคนอยากกินก็จะลองทำดู”

          หลังยกหาบเปล่าขึ้นบ่า เรณูก็คิดว่า ควรจะเดินไปซื้อของที่ร้านไหน...ถ้าไปร้านอื่น...มันก็จะข้ามหน้าข้ามตาแม่ผัวเธอซะอีก แต่ถ้าไปร้านนั้น    คงต้องได้ปะทะคารมกันอีกแน่ ๆ ...
 
          เมื่อแม่ห้ามเรียก ‘ซ้อ’ ห้ามเรียก ‘เจ๊’ กมลจึงต้องเรียกเรณูว่า ‘พี่’

          “พี่เรณูขายหมดไหม” กมลร้องทักเมื่อเดินมาพบว่าเรณูกำลังยกหาบขึ้นบ่า

          “หมด หมดเกลี้ยงเลย”

          “อุตส่าห์จะออกมาอุดหนุนสักสองห่อ เอาฤกษ์เอาชัย”

          “ที่บ้านยังมี เทใส่ถาดเต็มแล้ว ก็ยังเหลือ ก็เลยเทใส่จานไว้ให้ซา ให้เตี่ยกิน”

          กมลยิ้มกริ่มขึ้นมาทันที...

          “แล้วนี่จะไปไหน จะกลับบ้านเลยรึเปล่า”

          “ว่าจะไปซื้อแป้งสาคู น้ำตาล ซื้อของไว้เตรียมทำพรุ่งนี้ จะไปซื้อที่ไหนดี”

          “ก็ที่ร้านแม่ผมซิ”

          เรณูทำหน้าเมื่อย...

          “ไปเถอะ...ยิ่งหนี มันก็ยิ่งห่าง สู้เห็นกันทุกวัน คุยกันแล้ว อาจจะทะเลาะกัน แต่บางทีมันก็จะทำให้คุ้นกันขึ้นมาก็ได้”

          “คมกริบเลย...คิดได้เองรึเปล่า”

          “ผมไม่ใช่หนอนหนังสือแบบเฮียตงเขาหรอก...แต่อาจจะฟังมาจากวิทยุหรือจำจาก หนังมาก็ได้นะ...ไป ๆ พี่...จะซื้ออะไรก็ซื้อที่บ้านนั่นแหละ...เข้าถ้ำเสือไปเลย...สนุกดี” ว่าแล้วเขาก็ยิ้มหวานให้กำลังใจ...แต่เขาไม่กลับไปด้วย เพราะต้องการไปกินกาแฟร้อนกับไข่ลวกที่ร้านหัวมุม


          พอเรณูหาบกระจาดไปถึงที่ร้าน ก็พบน้องชายอีกคนของปฐมกำลังง่วนจัดของอยู่ ระหว่างประสงค์กับเรณูยังไม่มีใครแนะนำให้ทั้งสองรู้จักกัน ประสงค์ก็ไม่รู้ว่าเรณูเป็นใคร...

          “รับอะไรดี” เขาหันมาถาม...

          “แป้งสาคูเม็ดเล็กมีไหม”

          “มี เอาเท่าไหร่”

          หลังเรณูบอกจำนวนที่ต้องการไปแล้ว พ่อค้าก็กุลีกุจอไปตักใส่ถุงกระดาษขึ้นตราชั่ง... ช่วงนั้นเรณูก็มองเข้าไปในบ้านไม่พบเงาของนางย้อยกับเจ๊กเซ้ง...

          “เอาอะไรอีกไหม”

          “น้ำตาลทรายสองโล น้ำตาลปี๊บหนึ่งโล แป้งข้าวจ้าวอีกหนึ่งโล แป้งมันครึ่งโล เกลือถุงเล็กถุงหนึ่ง แล้วมีปูนแดงมีไหม เอาสลึงนึง”

          เขายิ้ม เมื่อลูกค้าสาวหน้าตาแฉล้มสั่งของยาวเหยียดรวดเดียว...แล้วพอเห็นหาบที่ วางอยู่ หัวคิ้วของเขาก็ขมวดเข้าหากัน...

          “เอ่อใช่...ซ้อเรณูรึเปล่า”

          “ใช่...ใช่จ้ะ” ริมฝีปากของเรณูแย้ม ดวงตาเป็นประกายฉ่ำเพราะรู้สึกดีใจที่ได้ยินคำว่า ‘ซ้อ’

          “เป็นไงขนมขายดีไหม” ประสงค์กับกมลนั้นนอนห้องเดียวกัน พออยู่กันตามลำพัง กมลก็บอกเล่าเรื่องปฐมกับเรณูให้ฟังอย่างละเอียด...

          “ขายดีเกินคาด...พรุ่งนี้ว่าจะทำเพิ่มสักอย่างละสามถาด...ทำมากกว่านี้กลัว ขายไม่หมด ทุนหายกำไรหด”

          “ผมเอาใจช่วยนะซ้อ” บอกแล้วเขาก็หันไปตักของใส่ถุงให้...

          “แล้ว  เอ่อ...รู้ได้ไงว่า เป็นพี่”

          “ก็...เห็นหาบ ถึงนึกขึ้นได้ แล้ว ซา มันก็บอกเล่าเรื่องของพี่ให้ฟังคร่าว ๆ” เขาตอบพลางชั่งตวง...

          “แล้วนี่ แม่ไปไหน” เรณูอดจะถามถึงนางย้อยไม่ได้...เพราะเจ็ดโมงเกือบแปดโมงเช้า จะว่าสายแล้วก็ได้

          “ไปปากน้ำโพกับเตี่ย เพิ่งเดินไปสถานีรถไฟเมื่อตะกี้นี้เอง คล้อยหลังไป ซ้อก็มา”

          “ไปทำอะไรกัน” เรณูซักเพื่อจะหยั่งเชิงว่า น้องของปฐมคนนี้ มีนิสัยใจคอเป็นอย่างไร...แต่เบื้องต้นเรณูก็รู้สึกชื่นใจที่เขาแสดงความ เป็นมิตร ยกย่องนับถือ ให้เกียรติตน

          “ก็ไปซื้อของมาเข้าร้าน แล้วก็ไปส่งข่าวญาติ ๆ ทางโน้นเรื่องงานแต่งของผม ไปเยี่ยมอาสี่ด้วย...พอออกจากบ้านแล้วก็มีธุระยาวเป็นหางว่าว”

          “เสียดาย วันนี้ขายดี ไม่งั้น จะเอาขนมมาให้เธอชิม”

          “ผมได้กินแล้ว ทั้งสองวันที่อาซามันเอามานั่นแหละ อร่อยดีซ้อ แต่อันใหญ่ไปนิดนะ ผมเป็นคนไม่ค่อยชอบกินของหวาน...อ้อซ้อ ผมรับนิตยสารบางกอก สกุลไทย ศรีสยาม ...ในนั้นมีคอลัมน์ขนมอาหารไทย ซ้อจะเอาไปดูบ้างไหม”

          “น่าสนเหมือนกัน”

          “เดี๋ยวว่าง ๆ ผมจะตัดคอลัมน์พวกนี้ฝากซาไปให้นะ...เผื่อจะเจอช่องทางทำอะไรใหม่ ๆ”

          เรณูรู้สึกว่าหัวใจของตัวเองนั้นชุ่มชื่นอย่างประหลาด...กระทั่งตอนที่เขา คิดเงินเสร็จ โดยการเขียนลงกระดาษ บอกราคาไว้ด้านท้ายบรรทัด...เขาก็บอกว่า “เดี๋ยวผมให้ไปในราคาทุนนะซ้อ”

          “ของซื้อของขาย คิดมาเหอะ พี่เข้าใจ”

          พอดีกับที่กมลเดินกลับมา... “อ้าว...ยังอยู่รึ...นึกว่ากลับไปแล้ว”

          ตอนนั้นของที่เรณูซื้อ ลงไปอยู่ในกระจาดทั้งสองข้างแล้ว เพียงแต่ยังไม่ได้เอากระด้งปิดไว้...กมลจึงมองเห็น

          “กำลังคิดเงิน.”

          “เฮีย...แถมให้พี่เขาบ้างหรือเปล่า”

          “ให้ไปในราคาทุน”

          “ม้าไปปากน้ำโพหรือยัง” ถามแล้วกมลก็มองเข้าไปในบ้าน

          “ไปแล้ว ไปก่อนซ้อเขาจะมา”

          “วิเศษเลย” ว่าแล้วกมลก็รีบเดินไปตักน้ำตาล ตักแป้ง ใส่ถุงกระดาษให้มากกว่าที่เรณูซื้อเสียอีก

          “เอานี่ไปด้วยนะพี่...ให้ไปฟรี ๆ เลย ไม่เกี่ยวกับที่ซื้อ...อย่าคิดอะไรมาก...ไม่ได้ให้เปล่าหรอก แค่พี่ทำเพิ่มจากส่วนทำขายแล้วก็เทใส่ถาดใส่จาน แบ่งไว้ให้ผมให้เตี่ยให้คนงานกินกันบ้างเท่านั้น...ถือว่าช่วย ๆ กันนะ”

          พอได้ยินดังนั้น เรณูก็ยิ้มออกมาพร้อมกับมีน้ำตาคลอลูกนัยน์ตาเพราะซึ้งใจว่า ‘มิตรกระจิตมิตรกะใจ’ ที่หยิบยื่นให้พวกเขาก่อน มันไม่ได้สูญเปล่า...

****************

Title: Re: กรงกรรม บทประพันธ์ของ จุฬามณี
Post by: นักประพันธ์ on 29 February 2020, 16:48:59
ตอนที่ 7 : 500 ไมล์


            ๗
 
          “หาบอะไรกลับไปละแม่” หมุ่ยนี้ร้องทักแม่ค้าขายขนมหวานที่ตนเพิ่งช่วยซื้อมาเมื่อตอนไปเดินตลาดเช้า ซึ่งเป็นกิจวัตรสร้างสุขประจำวันอีกอย่างหนึ่งของหมุ่ยนี้

          เรณูหยุดก้าวขา ยิ้มหวานให้...แล้วตอบด้วยเสียงแช่มชื่นว่า “แป้งกับน้ำตาลจ้ะเจ๊”

          “ขายดีใช่ไหม”

          “ขายหมดเกลี้ยงเลยจ้ะ เลยมีแรงทำต่อ”

          “แต่ขนมเธออร่อยจริง ๆ ...แม่แจ้ ยังชมเลยว่า ฝีมือใช้ได้”

          พอหมุ่ยนี้บอกอย่างนั้น เรณูก็ยิ้มแล้วค้อมศีรษะเป็นเชิงขอบคุณให้กับแม่ของเจ้าของร้านสังฆภัณฑ์ ซึ่งนั่งอยู่บนเก้าอี้หัวโล้นอยู่ที่หน้าร้าน

          “พรุ่งนี้จะทำขนมแบบเดิมหรือเปล่า”

          “ว่าจะทำเปียกปูน กับตะโก้สาคู”

          “เก็บไว้ให้อย่างละ ๖ ห่อแล้วกันนะ ตอนเช้าถ้าแจ้ไม่ไปเอาเองก็จะให้เด็กไปเอามาใส่บาตรพระ”

          “จ้ะ...ขอบคุณมากนะจ๊ะ...ฉันไปก่อนนะจ๊ะ”

          ตอนที่เรณูเอ่ยลา...จันตาที่เดินไปซื้อสมุนไพรจีนมาตุ๋นไก่ ที่หมุ่ยนี้ซื้อมาจากตลาดสด เดินกลับมาพอดี...เรณูยิ้มให้ จันตายิ้มบาง ๆ ตอบกลับ...พอเรณูคล้อยหลัง จันตามาถึง...หมุ่ยนี้ก็บอกกับมารดาที่มีหนังสือพิมพ์จีนอยู่ในมือว่า “คนนี้แหละม้า สะใภ้ใหญ่ของพี่ย้อย”

          “อ้าว แล้ว ทำไม อีถึงต้องมาหาบขนมขาย ทำไม ไม่ใช่ช่วยกันอยู่ที่ร้าน แล้วนี่เขาหาบของไปไหน”

          “ได้ยินมาว่า พี่ย้อยเขาไม่ชอบอี เพราะตี๋ใหญ่มันไปได้อีมาจากตาคลี พี่ย้อยแกรังเกียจว่าอีเคยทำงานอยู่ในบาร์  คลุกคลีอยู่กับพวกทหารฝรั่ง ก็เลยให้ไปอยู่บ้านที่หลังโรงสี ผัวอีกลับไปเป็นทหารเกณฑ์เหมือนเดิม อีอยู่ทางนี้อีก็ทำขนมขาย วันนี้ทำวันแรก อั๊วฟังเรื่องของอีแล้ว อยากอุดหนุนให้กำลังใจกัน...ก็เลยซื้อมา ๔ ห่อ...แต่ถ้าม้าว่าอร่อย พรุ่งนี้อั๊วก็จะช่วยอีซื้อใส่บาตรพระเพิ่มอีกหน่อยแล้วกัน”

          อาม่ามองจันตาที่มองตามหลังผู้หญิงคนนั้นไป พอลูกสาวเดินเข้าไปหลังร้าน อาม่าก็บอกว่า

          “จันตา วันหน้าอาม่าไม่อยู่แล้ว ถ้าลื้อไม่รู้จะทำมาหากินอะไร ลื้อก็ทำขนมที่อาม่าสอนลื้อไว้ ออกขายนะ ทำเหมือนกับที่สะใภ้อาย้อยอีทำนี่แหละ”

          “อาม่า” จันตารู้สึกใจหาย...เพราะช่วงหลัง ๆ อาม่าดูจะเป็นห่วงเป็นใย และพูดเป็นเชิงสั่งเสียอยู่บ่อยครั้ง...

          “อาม่าแก่แล้ว...ลูกหลานของอาม่า อาม่าไม่ห่วงใครแล้ว ตอนนี้ ห่วงเดียวของอาม่าก็คือลื้อ”

          จันตาน้ำตาหยดติ๋งลงมา แล้วหญิงสาวก็ทรุดตัวลงกอดขาอาม่าซบหน้าแล้วร้องไห้...

          “อาม่าอย่าเพิ่งไปไหน อาม่ายังแข็งแรง ยังต้องอยู่กับแจ้ กับหนู ไปอีกนาน อาม่าอย่าพูดแบบนี้อีกนะ หนูใจคอไม่ดี”

          มือเหี่ยวย่นลูบหัวจันตาเบา ๆ จันตาสัมผัสถึงความรักจากคนที่ไม่ใช่พ่อแม่แต่ให้ความรักความอาทรกับตนก็ ยิ่งน้ำตาไหลออกมาอย่างพร่างพรู...พอหมุ่ยนี้เดินกลับมา...นางก็บอกว่า “เป็นอะไรกัน ทำไมร้องห่มร้องไห้”
 


          ‘วรรณา’ สู้ อุตส่าห์นั่งรถไฟจากสถานีบึงบอระเพ็ดไปที่อำเภอตาคลี เพื่อไปส่งข่าวเรื่องแม่ป่วยหนักให้พี่สาวรับรู้ แต่พอไปถึง คนในบาร์ก็บอกว่า เรณูมาอยู่บ้านผัวซึ่งเป็นทหารเกณฑ์ยังไม่ปลดประจำการณ์ที่ตลาดชุมแสงเสียแล้ว

          พอรู้ว่าเรณูย้ายไปอยู่ที่ไหน วันรุ่งขึ้น วรรณาก็นั่งรถไฟจากตาคลี ‘ขึ้นเหนือ’ ซึ่งจะต้องผ่านสถานีปากน้ำโพที่ตัวเองเพิ่งโดยสาร ‘ล่องใต้’ มา เมื่อวาน...พอรถไฟมาถึงสถานีปากน้ำโพ ซึ่งอยู่ฝั่งทิศตะวันออกของแม่น้ำน่าน เยื้อง ๆ กับตลาดปากน้ำโพที่อยู่ฝั่งทิศตะวันตกของต้นแม่น้ำเจ้าพระยา วรรณาก็ถอนหายใจเบา ๆ เพราะถ้าลงที่สถานีนี้ เธอก็สามารถนั่งเรือข้ามฟากกลับเข้าโรงเรียนสอนตัดผ้า ที่เธอมาอยู่อาศัยหาความรู้และใช้แรงงานแลกกับที่พักและอาหารสามมื้อไปด้วย

          ขณะที่มองของกินในถาด ในตะกร้า ในมือของพ่อค้าแม่ค้าที่ชูกันสลอนผ่านหน้าต่างยั่วน้ำลายช่วงที่รถหยุด รับ-ส่งผู้โดยสาร วรรณาก็ต้องสะดุ้งเมื่อได้ยินเสียงของผู้ชาย...ซึ่งนั่งลงข้าง ๆ แล้วเอียงหน้ามาถาม จนปากจะถึงใบหน้าของเธอ...“ที่ว่างใช่ไหม นั่งด้วยนะ”

          วรรณาหันมามอง สบตากรุ้มกริ่มของเขา แล้วก็ขยับหนีไปจนชิดหน้าต่าง...

          “จะไปไหนเหรอ”

        วรรณาหันมาค้อนให้ หน้าบึ้ง แล้วก็หันไปมองด้านนอกต่อ...

          “เอ้า...ถามก็ไม่ตอบ...ไม่ได้เอาปากมาด้วยหรือไง”

          “ไปธุระ” วรรณาตอบไปด้วยเสียงห้วน ๆ

          “ธุระอะไร ที่ไหน”

          วรรณานั่งนิ่ง...กระทั่งรถไฟได้เคลื่อนออกจากสถานี...เสียงหวูดรถไฟดังพร้อม กับเสียงล้อเหล็กบดกับรางที่ทอดยาว...คนที่นั่งตรงกันข้าม เป็นชายหญิงวัยกลางคนขึ้นมาจากสถานีลพบุรี จุดหมายที่ได้คุยกันเมื่อก่อนหน้า คือทั้งคู่จะไปเยี่ยมญาติที่พิษณุโลก...วรรณาไม่ใช่คนช่างซักช่างถาม ข้อสนทนาระหว่างนั่งรถไฟมานานนับชั่วโมงจึงมีแค่นั้น...กระทั่งมีชายหนุ่ม ขึ้นมานั่งข้าง ๆ แทน ป้าคนหนึ่งซึ่งขึ้นมาจากสถานีเขาทอง แล้วลงจากรถเมื่อถึงสถานีปากน้ำโพ...

          เขาเห็นวรรณามองออกไปนอกหนาต่าง เขาก็ก้มตัวมองออกไปบ้าง... “มองหาอะไร”

          วรรณาหันมาค้อนให้เขา กระเถิบหนีไปจนไม่มีที่ให้ขยับ... เขายิ้มให้ตาเป็นประกาย ฟันของเขาเรียงเสมอกันสวยงาม หน้าตาของเขาดีทีเดียว แต่วรรณารู้ว่ามันเป็นยิ้มที่แฝงไว้ด้วยเล่ห์กลของผู้ชายเจ้าชู้ไก่แจ้...

          “จริง ๆ เราก็รู้จักกัน ทำไมเรา ถึงไม่คุยกันละ มีเรื่องอะไรไม่สบายใจรึเปล่า”

          “แม่ป่วย ไม่มีเงินรักษา” วรรณาตัดบทด้วยเสียงห้วน ๆ คิดว่าเขาจะไม่ซักถามอีก

          “ป่วยเป็นโรคอะไร”

          “เป็นหมอรึไง”

          “ไม่ได้เป็น...ตัวเองก็รู้ว่าเราเรียนช่างยนต์ ให้ซ่อมรถ ก็พอซ่อมได้นะ”

          “ไม่ได้เป็นหมอ ก็ไม่ต้องซัก...นั่งเงียบ ๆ ไป อยากอยู่เงียบ ๆ”

          “ดุชะมัด...วัน ๆ ยิ้มบ้างหรือเปล่า” เขายังไม่เลิกเซ้าซี้...วรรณาถอนหายใจอย่างแรง...ป้าคนที่นั่งอยู่ตรงกันข้าม คงจะสังเกตเห็นหนุ่มสาวจีบกันแล้วเขินแทน จึงยิ้มบาง ๆ ใบหน้าของวรรณาเลยยิ่งแดงซ่านขึ้นมา

          “ยังไม่ได้บอกเลยว่าแม่ป่วยเป็นอะไร”

          “ไม่รู้...แต่อาการไม่ดีหรอก”

          “อ้าว...แล้วไม่ได้พาไปหาหมอรึ”

          “พาไป หมอก็ไม่รู้ว่าเป็นอะไร ให้แต่ยาแก้ปวด แล้วอาการก็ทรุด  ลง” วรรณาเว้นประโยคที่ว่า ‘จนต้องเรียกรวมลูกหลาน’

          “แล้วนี่จะไปไหน”

          ตอนที่เขาถาม รถไฟเคลื่อนขบวนมาถึงถิ่นฐานบ้านช่องของตน...วรรณามองไปทางบ้านของตนที่ตอนนี้ พี่ ๆ ของเธอมาจนครบหมดแล้ว ขาดก็แต่พี่เรณูคนเดียว แล้วถอนหายใจออกมา... “ไปชุมแสง”

          “ไปที่เดียวกัน เราก็ไปชุมแสง...เธอไปทำอะไรที่นั่น”

          “แล้วเอ่อ...นาย ไปทำอะไรที่นั่น” ด้วยเพียงแต่เคยเห็นกัน...ไม่เคยคุยกัน วรรณาจึงไม่รู้ว่าจะใช้สรรพนามเรียกเขาอย่างไรถึงจะเหมาะสมกับฐานะ ‘ลูกหลานตระกูลแบ้’

          “บ้านเราอยู่ที่นั่น เราคนชุมแสง”

          วรรณาแทบไม่เชื่อหูตัวเอง เพราะตั้งแต่แม่พามาฝากให้อยู่ที่โรงเรียนสอนตัดเย็บเสื้อผ้า เป็นลูกมือเป็นเด็กรับใช้ในร้าน ตั้งแต่จบ ป.๗ เธอก็เห็นเขาขี่รถมอเตอร์ไซค์ ถีบจักรยาน เดินอยู่ในตลาดปากน้ำโพแล้ว...เขาเป็นคนชุมแสงหรอกรึ...
 
          รถไฟ จอดรอสับหลีกที่สถานีทับกฤชเป็นเวลานานมาก...พ่อค้าแม่ค้าจึงฉวยโอกาสนั้น เดินขึ้นตู้รถไฟมาขายของ...เริ่มต้นที่ฝักบัว กับรากบัวเชื่อมมันอาจจะเป็นของแปลก สำหรับคนต่างถิ่น แต่สำหรับวรรณาที่เติบโตมากับบึงบอระเพ็ด...หญิงสาวจึงเมินหน้าหนี...ถัดมา เป็นแม่ค้าขายข้าวเหนียวไก่ย่าง กลิ่นของมันหอมยั่วน้ำลายจนวรรณาต้องเมินหน้าหนีอีกเช่นกันด้วยรู้ดีว่าเงิน ในกระเป๋าของตนมีอย่างจำกัด...หญิงสาวมองไปด้านนอกไม่สบตาคนขายแต่กระนั้น กลิ่นของนกระจาบทอดที่ร้อยตอกมาเป็นพวง กุ้งทอดเป็นแพอยู่ในกระทง รวมถึงปลาเห็ดร้อยเป็นพวงที่พ่อค้าแม่ค้า ดาหน้ากันมาร้องเรียกให้ช่วยซื้อ นั้นก็ทำให้วรรณาต้องน้ำลายลงคอครั้งแล้วครั้งเล่า...

          กระทั่ง...เขาใช้ข้อศอกของเขากระทุ้งแล้วบอกว่า “เอาโอเลี้ยงนะ เราเลี้ยงเอง”

          “เกรงใจ” แม้จะรู้สึกกระหาย แต่วรรณาก็ต้องอดทน...เพราะอีกแค่สองสถานีก็จะถึงจุดหมายแล้ว

          “เอาโอเลี้ยงสอง” เขาสั่ง

          พ่อค้าเร่ส่งกระป๋องนมเปิดฝาเจาะรูร้อยด้วยเชือกกล้วยซึ่งบรรจุน้ำแข็งและโอเลี้ยงพร้อมหลอดส่งมาให้...เขารับมาถือไว้ก่อนจะส่งเหรียญบาทสองเหรียญไปให้ พ่อค้า แล้วยื่นกระป๋องใส่โอเลี้ยงให้วรรณา หญิงสาวชักสีหน้าว่าเกรงใจ...

          “รับไปเหอะ...แด่มิตรภาพ”

          วรรณาจำต้องรับโอเลี้ยงจากมือของเขามา แต่ก็ยังไม่ได้กินในทันที...สายตาของวรรณานั้นเหม่อมองไปยังข้างทาง มองไปยังบ้านที่รถไฟวิ่งเลยมาแล้ว ป่านนี้อาการของแม่จะเป็นอย่างไรบ้าง...ถ้าแม่ตาย  ‘ไอ้ป๊อก’ มัน จะอยู่กับใคร? ให้ไปอยู่กับพ่อมัน...พี่สายทองก็คงไม่ยอม...จะให้อยู่กับพี่สะใภ้ในบ้าน หลังเดิม นางก็เป็นคนเค็มจัด แถมมีลูกเป็นโขยง...ไอ้ป๊อกมันคงไม่มีความสุข...หมดบุญแม่เสียแล้ว บ้านหลังนั้นก็คงจะไม่ใช่บ้านของเธออีกต่อไป...คนที่ลำบากสุดก็คงจะเป็น ไอ้ป๊อกเพราะมันเพิ่งจะอยู่แค่ชั้น ป. ๑

          “กินซะที...น้ำแข็งละลายหมดแล้ว” คนข้าง ๆ ยังไม่เลิกเซ้าซี้...วรรณาได้ยินดังนั้นจึงจัดการน้ำโอเลี้ยงจนเกลี้ยง เหลือไว้แต่น้ำแข็งที่รอละลาย...
 

          ลงจากรถไฟมาแล้ว...วรรณาก็เดินไปหารถสามล้อถีบที่จอดอยู่...ส่วนเขานั้นยัง คุมเชิงอยู่ใกล้ ๆ ...พอวรรณานั่งรถสามล้อไปแล้ว เขาก็ยิ้มออกมา...เพราะร้านที่วรรณาถามเขาระหว่างอยู่บนรถไฟ ก็คือบ้านของเขาเอง...และวันนี้ที่เขากลับมาบ้านเพราะ ‘อาอึ้ม’ หรือ ป้าสะใภ้ของเขา ที่เขาอาศัยอยู่ด้วย ให้มาแจ้งข่าวกับแม่ เรื่องเช่าซื้อตึกแถวที่เพิ่งขึ้นใหม่ เผื่อเก็บไว้ทำการค้า หรือเก็บไว้ปล่อยให้คนอื่นเช่าไปก่อน...

          พอรถสามล้อถีบที่มีวรรณานั่งโดยสารเคลื่อนจากไป เขาก็ขึ้นรถสามล้ออีกคัน...พอใกล้ ๆ ถึงบ้าน เขาก็ให้รถจอด ลงจากรถแล้วเดินเข้าไป บุญปลูกเห็นเขาก็อุทานออกมา...วรรณาที่ยืนอยู่กับประสงค์และบุญปลูกหันมาหา เขา...

          “อ้าว มาอย่างไร” ประสงค์ทักน้องชายคนเล็ก

          “อึ้ม ให้มาส่งข่าวให้ม้ารู้เรื่องตึกสร้างใหม่”

          วรรณาหน้ามุ่ย รู้สึกเคืองที่เขาไม่ยอมบอกกับเธอว่าเขาเป็นลูกชายร้านนี้...หลังจากที่เธอบอก ชื่อร้านไปแล้ว...เขาเห็นดังนั้นจึงอมยิ้มที่ทำให้วรรณาประหลาดใจได้...แต่ วรรณาก็เมินหน้าหนีสายตาของเขา...

          “ม้า กับ เตี่ย ก็นั่งรถไฟไปปากน้ำโพ เมื่อเช้า จะไปส่งข่าวให้อาม่า กับพวกอาแปะ รู้เรื่องเฮีย จะแต่งงาน”

          “แต่งงาน ! ...แต่งกับใคร เมื่อไหร่”

          “เรื่องมันยาว...เดี๋ยวค่อยเล่า” เพราะมีวรรณา ผู้ซึ่งมาแจ้งว่าเป็นน้องสาวของเรณูอยู่ด้วย ประสงค์จึงยังไม่บอกเรื่องราวร้อน ๆ เมื่อก่อนหน้านั้น ให้น้องชายรับรู้...

          “แล้วนี่...ตกลงมาธุระอะไร” ตอนอยู่บนรถไฟ เขาถามวรรณาว่าจะมาทำอะไรที่ ‘ร้านนี้’ วรรณาก็ไม่ได้บอกเขาเหมือนกัน บอกแต่ว่า ‘มาธุระ’ ...วรรณาคงไม่คิดว่าจะเป็นเรื่อง ‘จุดไต้ตำตอ’

          “มาหาพี่สาวเขา” ประสงค์เป็นฝ่ายตอนแทน ตอนนั้นบุญปลูกผละเข้าไปดูลูกค้าแล้ว...

          “ใครละพี่สาวเขา” คนที่เพิ่งมาใหม่ยังคงงงงวย...เพราะพี่สาวของเจ้าหล่อนจะมาอยู่ที่ร้านนี้ ซึ่งเป็นบ้านเขาได้อย่างไรกัน

          “พี่เรณู เมียตั่วเฮีย เขาเป็นอาซ้อของพวกเรา เป็นพี่สาวของน้องเขา...นี่เขามาถามหาพี่สาวเขา”

          “ตั่วเฮียมีเมียแล้ว!” นับเป็นอีกเรื่องที่สร้างความประหลาดให้กับมงคล...
 
          พอรู้ต้นสายปลายเหตุคร่าว ๆ มงคลก็เสนอตัวเป็นคนพาวรรณาไปหา ‘พี่เรณู’ ของเจ้าหล่อน ซึ่งเป็น ‘อาซ้อ’ ของ เขา...เขาเดินเคียงคู่มากับวรรณา  หญิงสาวเป็นผู้หญิงวัยเดียวกับเขา อายุ ๑๗ ย่าง ๑๘ ปี ร่างกายบอบบาง เสื้อกางเกงที่สวมใส่นั้นทันสมัย เพราะเจ้าหล่อนอยู่กับโรงเรียนสอนตัดผ้า...

          ‘นารีรัตน์’ เพื่อน ร่วมชั้นเรียนของเขา และเป็นอดีตคนรักของเขา เป็นลูกสาวโรงเรียนสอนตัดเสื้อแห่งนั้น ความสัมพันธ์ ของเขากับนารีรัตน์ เพิ่งจะขาดลง เมื่อนารีรัตน์ตัดสินใจเข้าไปเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยที่เชียงใหม่...ส่วน เขานั้นเลือกที่จะเรียนวิชาช่างยนต์ที่โรงเรียนการช่างนครสวรรค์

          หญิงสาวบอกกับเขาว่า น่าจะเป็นเพื่อนที่ดีต่อกันเท่านั้น และถ้าวันหนึ่งข้างหน้าความรู้สึกดี ๆ ที่เคยมีให้กันมันยังเหมือนเดิม...ถึงเวลานั้น ก็ค่อยว่ากันอีกที...ซึ่งมงคลรู้ดีว่า มันจะไม่มีวันนั้นอย่างแน่นอน...เพราะหลังจากที่นารีรัตน์จากไป...ใจของเขาก็ไม่ได้คิดถึงเจ้าหล่อนสักเท่าไหร่

          “ตลกดีเนอะ...จุดใต้ตำตอแท้ ๆ เลย เรากลายเป็นญาติเกี่ยวดองกันเฉยเลย” เขาชวนคุย...

          “เดินเร็วหน่อยได้ไหม” วรรณาที่รีบเดินหันมาบอกเขา...

          “จะถึงแล้ว...ข้างหน้าโน่นไง...เห็นปล่องโรงสีนั่นไหม”

          ไม่ใช่แค่ปล่องโรงสีที่เห็นอยู่ตรงหน้าแต่จมูกของวรรณาได้กลิ่นของขี้หมูลอย อบอวลมาด้วย...

          “นี่อาซา พี่ชายคนที่สามของเรา” มงคลบอกกับวรรณาเมื่อพบว่ากมลที่นั่งอยู่ ยิ้มให้เขาและหญิงสาวที่มาด้วยกัน

          วรรรณายกมือไหว้...แต่ไม่ได้กล่าวคำว่า ‘สวัสดี’ แต่ อย่างใด เพราะจะว่าไปแล้ว กมลเองก็ไม่ได้ดูแก่กว่าตนเองสักเท่าไหร่... แต่เมื่อเขาแนะนำว่าเป็น พี่ชายของเขา เธอจึงต้องแสดงอาการอ่อนน้อมไว้ก่อน...

          “ใครรึ” ตอนนั้นกมลคิดว่า ‘นี่ ตี๋เล็ก พาเมียเข้าบ้านมาให้ม้าปวดหัวเหมือนตี๋ใหญ่อีกคนหนึ่งรึ’ แต่พอได้คำตอบเขาก็เลิกคิ้ว...แล้วยิ้มกริ่มออกมา

          “น้องอาซ้อ เขามาหาอาซ้อ...เธอชื่ออะไรนะ ใช่ชื่อวรรณาป่ะ”

          “ใช่ หนูชื่อวรรณา เป็นน้องพี่เรณู” ประโยคนี้วรรณารวบรัดไปตอบกมล เขาทำหน้ารับรู้

          “พี่เรณูอยู่ที่ไหนจ๊ะ” วรรณารีบเข้าเรื่องของตนเอง เพราอยากจะกลับให้ทันรถไฟเที่ยวบ่าย...

          “อยู่หลังบ้าน...มีเรื่องอะไรกันรึ”

          “หลังบ้านตรงไหน” วรรณาชะเง้อไปทางที่เขาบอก...

          “แม่เขาป่วยหนัก เขามาตามอาซ้อกลับไปเยี่ยม” มงคลรีบบอกธุระร้อน ๆ ของหญิงสาว ได้ยินดังนั้น กมลก็รีบลุกขึ้นแล้วเดินนำวรรณาและมงคลไปหาเรณูที่ง่วนอยู่กับงานที่บ้าน เพิงหมาแหงน...

          โชคของเรณูยังดีที่ยังไม่ได้ผ่ามะพร้าวแล้วขูดไว้เพื่อทำขนม...พอทราบเรื่อง จากวรรณา เรณูก็รีบเก็บเสื้อผ้าใส่กระเป๋าผ้าใบย่อม...ก่อนจะพาน้องสาวเดินมาหากมลที่ โรงสี ส่วนมงคลนั้นหลังจากที่ได้ทำความรู้จักกับเรณูแล้ว เขาก็ขอตัวกลับบ้านไปกินข้าว ไปพักผ่อน ปล่อยให้พี่น้องคุยกันตามลำพัง...

          “อาซา พี่มีเรื่องจะรบกวนหน่อย...คือ พี่อยากจำนำสายสร้อยเส้นนี้ไว้กับเธอก่อนได้ไหม พี่ไม่อยากไปร้านทอง” เรณูวางสร้อยคอหนักหนึ่งบาทลงบนโต๊ะ เขามองดูทองแล้วเงยหน้ามองพี่สะใภ้...

          “พี่จะเอาเท่าไหร่”

          “ทองหนักหนึ่งบาท พี่ขอ ๓๐๐ ได้ไหม ติดตัวไว้ก่อน เผื่อต้องใช้...แล้วกลับมาแล้วพี่จะรีบหาเงินมาไถ่คืนให้เร็วที่สุด”

          “ผมให้ไป ๔๐๐ เลยแล้วกัน เผื่อเหลือเผื่อขาดนะ มีเมื่อไหร่ค่อยเอามาไถ่ แต่ว่า ผมต้องกลับไปเอาเงินที่บ้านนะ พี่รอที่นี่ก่อนแล้วกัน”

          แม้ว่าแม่จะไม่ได้ให้เงินไว้ใช้เป็นรายเดือนเช่นน้องชายคนเล็ก แต่ทุกปีช่วงก่อนปีใหม่ แม่จะให้เงินพิเศษให้เขากับพี่ ๆ ไว้ตัดเสื้อกางเกงใส่เที่ยว เขาเองยังไม่นึกอยากหล่ออยากโก้เก๋อย่างพี่ชายคนโต คนรอง เขาก็เก็บเงินไว้ แล้วช่วงตรุษจีนแม่ก็ยังให้เงินอั่งเปาพวกเขาอีก แม้จะไม่มาก แต่ว่าพอหลายปีเข้า มันก็มีอยู่ถึงหลักพันบาท...

          หลังกมลขี่รถจักรยานกลับไปที่ร้านค้า วรรณาก็เปรยขึ้นมาว่า “น้องผัวพี่คนนี้ดูจิตใจดีจังเลยเนอะ”

          “จิตใจดี คุยตลกด้วย...พี่คุยกับเขาแล้ว อยากให้เขาเห็นแก...อยากให้แกเห็นเขา อยากได้เขามาเป็นน้องเขย”

          “อ้าว เขายังไม่มีแฟนเหรอ”

          “อีแจ่ม เมียคนงานมันบอกว่า ไม่มีนะ เห็นทำแต่งาน เขาเป็นคนชอบดูหนัง ชอบกิน กินเก่ง ดีแต่ว่าไม่อ้วน เขายังเหมือนคนไม่เป็นหนุ่มเต็มตัวด้วย แต่เขาเป็นคนขยัน งานการที่นี่เขาเป็นหูเป็นตาแทนพ่อเขาได้ ซื้อข้าวเปลือกแทนได้ ขายข้าวแทนได้ รับข้าวไว้สีได้ คุมคนงานได้ คนงานก็รักเขา แจ่มว่าเขาไม่ดุด่าใคร ...แล้วตั้งแต่พี่มาอยู่ที่นี่ ก็ได้เขานี่แหละให้ความช่วยเหลือมาตลอด พี่ใช้ฝากฝังพี่ไว้กับเขาด้วยมั้ง...เพราะตอนนั้น คนที่เฝ้าร้านค้า อยู่น่ะ เขาชื่อตง ยังบวชพระอยู่เลย”

          วรรณานิ่งฟัง...

          “แล้ว แกละ มากับน้องคนเล็กของเขาได้อย่างไร”

          “เรื่องบังเอิญน่ะ ใครจะไปรู้ว่า จะมาเจอกันบนรถไฟ ที่สถานีปากน้ำโพ แล้วหนูก็ถามเขาว่าร้านค้าป้าย้อยไปทางไหน เขาก็บอกไม่ไกลหรอก พวกสามล้อมันรู้ แล้วพอหนูนั่งรถมา เขาก็นั่งรถสามล้อตามมา...อ้อ ลืมบอกไป ว่า จริง ๆ แล้ว หนูเห็นเขามานานแล้ว รู้ว่า เขาชื่อสี่ เป็นพวกลูกหลานเศรษฐีในตลาด บ้านช่องใหญ่โตมีกิจการหลายอย่าง เขาเอง ก็ขี่จักรยาน ขี่รถเครื่องแรมเบตต้าร่อนอยู่ในตลาด แล้วเขาเรียนหนังสือชั้นเดียวกับนารีรัตน์ลูกสาวคนเล็กของเจ๊หุย เหมือนเขาจะชอบ ๆ กัน มารับกันไปดูหนังบ่อย ๆ แล้วปีนี้ นารีรัตน์เขาไปเรียนที่เชียงใหม่ก็ห่าง ๆ กันไป หนูเคยถามนารีรัตน์ว่าเป็นแฟนกันหรือเปล่า...เขาบอกว่า เหมือนเป็น แต่ไม่ได้เป็น เป็นเพื่อนคนพิเศษ แล้วนารีรัตน์เขาก็ว่า อาสี่นี่เจ้าชู้จะตายไป เห็นผู้หญิงสวยหน่อยไม่ได้ เป็นต้องเข้าไปจีบไว้ก่อน...เมื่อกี้ตอนนั่งรถไฟมาด้วยกัน เขาก็ทำท่าชีกอใส่หนู แต่หนูไม่เล่นด้วย เพราะรู้อยู่แล้วว่าเขาเจ้าชู้ยักษ์...เขาเองเขาก็รู้ว่าหนูน่ะเป็นเด็กใน โรงเรียนสอนตัดผ้า เพราะตอนที่เขามารับมาส่งนารีรัตน์เขาก็เคยเห็นหนู...แต่เราไม่เคยคุยกัน หรอก”

        เพราะเรณูเลี้ยงมาตั้งแต่เกิดและเป็นผู้หญิงเหมือนกัน วรรณาจึงคุยยืดยาว...

          “แกก็สวยขึ้นมากนะ ปีนี้เท่าไหร่แล้ว”

          “๑๗ ย่าง ๑๘ รุ่น ๆ เดียวกับเขาแหละ”

          “แล้วมีหนุ่ม ๆ เข้าจีบบ้างหรือยัง”

          “วัน ๆ อยู่แต่ในร้าน ไม่ได้ออกไปเจอใครเลย”

          “ก็ยังเห็นอาสี่ขี่รถร่อนไปร่อนมาได้นี่”

          “ก็อยู่หน้าร้าน เดินไปซื้อของที่ตลาดบ้าง ก็พอได้เห็นกัน หนูน่ะโรงหนังก็ไม่ค่อยได้ไป เงินไม่ค่อยมี...แล้วเจ๊หุยเขาก็หวงด้วย...เขาว่า ถ้าเสียคน แม่จะว่าเขาเอาได้...หนูก็เลยต้องทำตัวดี ๆ มาอาศัยเขาอยู่ ถึงจะทำงานช่วยเขาแลกที่อยู่ก็เหอะ  แต่หนูก็ไม่อยากให้เขาเกลียดหนูหรอก”

          “คิดได้อย่างนั้นก็ดีแล้ว...แล้วนี่ เรียนไปถึงไหนแล้ว”

          “ก็ทำได้หมดแล้วแหละ แต่ยังไม่รู้จะขยับไปทำอะไร...ก็อยู่ที่นั่นเอาทักษะ เอาวิชาไปก่อน”

          “ตอนแรกพี่ก็กะจะเอาเงินที่มี เซ้งร้านขายผ้า แล้วจะให้แกมาอยู่ด้วยกัน มารับจ้างตัดผ้าอยู่ที่นี่...ส่วนพี่ก็ขายผ้าสำเร็จไป ...แต่พี่ใช้ผัวพี่น่ะ เขาบอกว่า อย่าเพิ่งเลย...เขาอยากให้พี่ออกลูกเสียก่อน แล้วรอให้เขาปลดทหารก่อนค่อยว่ากัน...ครั้นจะอยู่เฉย ๆ เงินทองก็ร่อยหรอ พี่ก็เลยทำขนมขาย วันนี้เพิ่งออกขายวันแรกเองนะ ขายดีมาก ชุมแสงคนเยอะ เช้ามาไม่รู้มาจากไหนกัน”

          “แล้วพี่ไปเจอกับผัวพี่ได้ไง”

          “เจอกันที่ตลาดตอนเช้า เขาเป็นทหารเกณฑ์อยู่แผนกอาหาร ต้องตามจ่าเที่ยงไปซื้ออาหาร พี่คุ้นกับจ่าเที่ยงดี เพราะแกทำบังกะโลให้พวก...พวก ไอ้กันมันเช่า  ตอนหลัง พี่ใช้เขาก็ตามจ่าเที่ยงไปเที่ยวที่บาร์กับพวกเพื่อนเขา ก็เห็นกัน คุยกัน”

          “แล้ว...เขาไม่ ไม่ เอ่อ ไม่รังเกียจว่าพี่เคยทำงานอยู่ในบาร์เหรอ”

          “เขา” เรณูจะพูดได้อย่างไรว่า เขารังเกียจหรือเปล่าไม่รู้ แต่ที่แน่ ๆ เขาไม่ได้รักเธอเหมือนที่เธอรักเขาหรอก เธอได้เขามาเพราะเล่ห์กลมนตรา เพราะอยากเอาชนะคำสบประมาทของพวกรุ่นพี่ในบาร์ต่างหาก...แต่เรณูจะบอกกับ น้องสาวตามจริงไม่ได้ เหมือนที่เธอยอมรับกับคนอื่นว่ามาจากตาคลีจริง ๆ ทำงานในบาร์จริง ๆ แต่เธอทำงานในครัวไม่ได้ให้ใครเขาเช่า...เธอรู้ว่า อาจจะมีคนอย่างนางย้อยที่ไม่เชื่อคำพูดของเธอ แต่เรื่องอะไรที่จะต้องไปยอมรับตรง ๆ ปล่อยให้มันเป็น คำถามคาใจว่าจริงหรือไม่จริง เป็นหรือไม่เป็น กันอยู่อย่างนี้แหละดีแล้ว

          “ถ้าเขารังเกียจ เขาจะพาพี่เข้าบ้านเขาเหรอ แกนี่ก็ถามได้เนอะ”

          ยังไม่ทันที่วรรณาจะถามอะไรต่อ กมลก็ปั่นจักรยานมาพร้อมกับรถสามล้อถีบหนึ่งคัน...พอมาถึง เขาก็ส่งเงินจำนวนสี่ร้อยให้เรณู แล้วก็บอกว่า

          “ผมไม่อยากให้พี่เดินไปสถานี ก็เลย ให้ลุงแกมารับตรงนี้เลย แล้วค่ารถผมออกให้แล้วนะ”

          “ขอบใจมาก ๆ นะซา...พี่ไปละนะ...เสร็จเรื่องแล้วจะรีบกลับให้เร็วที่สุด”

 
          ขึ้นรถไฟมาแล้ว...เรณูก็ซื้อข้าวเหนียวเนื้อทอดสองห่อ ไก่ย่างสองไม้ โอเลี้ยงอีกสองกระป๋องให้น้องสาวและตนเองกินระหว่างที่รถไฟวิ่งล่อง ใต้...ซึ่งจะต้องผ่าน สถานีคลองปลากด สถานีทับกฤช  และเธอจะต้องลงที่สถานีปากน้ำโพ แล้วพากันเดินกลับบ้าน...

          “ทำไมซื้อซะเยอะแยะเลย ไหนว่า เงินไม่ค่อยมี จนต้องเอาทองจำนำ”

          “อยากลองใจคนเล่น”

          “อะไรนะ”

          “ใส่ทองไปบ้าน ดีไม่ดี คนอื่นเห็นก็จะตาลุกวาว แล้วยืมไปจำนำซะอีก...จะซ่อนไว้ในกระเป๋าเดี๋ยวก็เรี่ยหายไป สู้ฝากเขาไว้ แล้วถือเงินมาดีกว่า...และที่สำคัญก็จะได้รู้ว่า อาซาน่ะเขาดีกับเราแค่ไหนด้วย แกก็เห็นแล้วนี่ว่าเขาน่ารักอย่างที่พี่ว่าไว้ไหมล่ะ”

          “พี่นี่ คิดได้แปลกดีนะ”

          “อย่าลืมซิว่า พี่เจออะไรมาบ้าง...แล้วพี่ยี่สิบสี่แล้วนะ อายุมากกว่าแกกี่ปี”

          “เจ็ดปี”

          “แล้วเป็นเจ็ดปีที่ชีวิตพี่เหมือนตกอยู่ในขุมนรกด้วย...มีลูกก็ไม่ได้เลี้ยง มีลูก ลูกก็ไม่รู้ว่าเป็นแม่ ไม่ได้เรียกพี่ว่าแม่...ต้องเรียกแม่ว่าพี่ แล้วก็ต้องระเหเร่ร่อนไปหากินในที่อย่างนั้น ใครเห็นก็มองด้วยสายตาเหยียดหยาม” พูดแล้วน้ำตาก็คลอลูกนัยน์ตา...แต่เรณูก็กะพริบไล่มันออกไปอย่างเร็วพร้อม กับสูดลมหายใจเข้าปอดเรียกความมั่นใจ...แต่ถึงกระนั้นความคับแค้นใจใช่ว่าจะ คลาย เมื่อได้ช่องระบาย...มันจึงพร่างพรูออกมา...

          “ได้ยินเสียงหวูดรถไฟทีไร ได้ยินเสียงล้อรถไฟบดกับกับรางเมื่อใด...พี่จะนึกถึงเพลง ๕๐๐ ไมล์ ตลอด”

          “นึกถึง ทำไม ทำไมต้องนึกถึง”

          “If you miss the train I’m on, you will know that I am gone.  หากเธอพลาดรถไฟขบวนนี้ โปรดรู้ไว้ว่าฉันได้จากไปแล้ว… “ เรณู  พรึมพรำภาษาอังกฤษแล้วแปลเป็นภาษาไทยที่ท่องจำจนขึ้นใจเบา ๆ ...

          “You can hear the whistle blow a hundred miles, ทว่า เธอยังคงได้ยินเสียงกระซิบของฉันที่ห่างออกไปนับร้อย ๆ ไมล์...๑๐๐ ไมล์ที่หนึ่ง ๑๐๐ ไมล์ที่สอง ๑๐๐ ไมล์ที่สาม ๑๐๐ ไมล์ที่สี่ ...เธอยังคงได้ยินเสียงกระซิบของฉันที่ห่างออกไปนับร้อย ๆ ไมล์...Lord I’m ๕๐๐ miles from my home. พระเจ้า ฉันจากบ้านมาไกล ถึง ๕๐๐ ไมล์ ...ฉันไม่เหลืออะไรอีกแล้ว ฉันไม่อาจกลับไปที่บ้านได้อีกแล้ว.”

          พอได้ยินเนื้อเพลงและคำแปลบางวรรคด้วยน้ำเสียงเศร้าๆ ของพี่สาวแม้จะไม่เข้าใจทั้งหมดแต่วรรณาก็รู้สึกคอแข็งขึ้นมา...กระทั่งเรณู พูดด้วยเสียงเครือ ๆ ว่า “ณา...พี่เดินมาไกลเกินกว่าจะย้อนกลับไปสดใสไร้เดียงสาแบบแกได้อีกแล้ว...แก จะเข้าใจที่พี่พูดไหม”...

          “เข้าใจ” วรรณาน้ำตาไหลเพราะรู้ดีว่าเมื่อแปดปีก่อน ที่บ้าน มีเหตุการณ์อะไรเกิดอะไรขึ้นกับเรณู!


 
          พอแม่ไม่อยู่ทำกับข้าวให้กิน สามหนุ่มก็สรุปกันว่าจะออกไปหาของกินนอกบ้าน ช่วงที่รอให้ประสงค์เก็บร้านปิดร้านและอาบน้ำ...มงคลก็ถามกมลว่า
          “เฮีย เมื่อตอนบ่าย ๆ เรา ไป ศาลเจ้ามา...เจอสาวสวย...สวยมาก ๆ  เฮียรู้จักไหม” ด้วยไปเรียนหนังสืออยู่ในเมืองปากน้ำโพ ตั้งแต่จบประถมสี่ทำให้ มงคลนั้นดูสำอางผิดพี่ชายทั้งสามคนและที่สำคัญ เขาจะไม่แทน ตัวเองว่า ‘อั๊ว’ ว่า ‘ผม’ กับพี่ชาย...และพวกพี่ชายก็ไม่ได้ถือสาอะไร เพราะกฏของบ้าน ที่แม่ตั้งไว้ คือพี่น้องห้ามพูดกัน กู-มึง เท่านั้น

          “ใคร” กมลที่นอนไขว่ห้างกระดิกเท้าฟังวิทยุอยู่ ถามเบาๆ

          “มากับอาม่าร้านสังฆภัณฑ์”

          “มีตั้งหลายร้าน” แค่บอกว่าคนสวยประจำร้านสังฆภัณฑ์ กมลก็รู้แล้วว่ามงคลหมายถึงใคร แต่เขาแสร้งไม่รู้

          “อาม่าป๋วยฮวยน่ะ”

          “อ๋อ...นึกว่าใคร”

          “สวยเนอะ”

          “สาวเหนือ เห็นว่ามาจากอุตรดิตถ์”

          “ถึงว่าผิวพรรณหน้าตาไม่เหมือนคนทางบ้านเรา”

          “จะบอกอะไรให้นะ เหมือนเฮียรองของแก ก็สีจะชอบเขา ๆ อยู่เหมือนกัน”

          “อะไรนะ”

          “ก็...อาม่าป๋วยฮวยเขาใส่บาตรทุกวัน คนของเราก็บวชพระบิณฑบาตทุกวัน เห็นกันทุกวัน...แต่เรื่องก็มาพลิกไปอย่างที่แกเพิ่งรู้ไปนั่นแหละ”

          “คนไม่ใช่เนื้อคู่กัน...ก็เลยไม่ได้กัน...” มงคลสรุปอย่างไม่ใส่ใจ...

          “เนื้อคู่ เขาอาจจะเป็นปลัดอำเภอก็ได้...วันก่อนที่โรงหนัง ปลัดที่เพิ่งย้ายมาใหม่ มองอีตาเป็นมันเลย...ถ้าให้เลือกระหว่างลูกเจ๊กขายของในตลาดกับตำแหน่งคุณนาย เขาก็คงเลือกอย่างหลัง แกว่าไหมล่ะ”

          “แต่ถ้าลูกเจ๊กตั้งใจจะจีบเขาให้ได้ มันก็คงไม่ใช่เรื่องยากหรอกมั้ง”

*****************************************************


Title: Re: กรงกรรม บทประพันธ์ของ จุฬามณี
Post by: นักประพันธ์ on 29 February 2020, 18:25:05
ตอนที่ 8 : กรรม ในอดีตของนางย้อย


            ๘
 
         
          กว่า จะติดต่อสินค้าจากร้านค้าส่ง เรียบร้อย...กว่าจะคุยกันถึงเรื่องตึกที่กำลัง จะขึ้นใหม่จนได้ข้อสรุปก็บ่ายคล้อย นางย้อยรู้สึกที่ปวดเมื่อยตามร่างกายก็ขออนุญาต ‘นางหลักฮวง’ คู่ สะใภ้ ซึ่งเป็นเจ้าของบ้านตึกแถว ไปยังห้องของลูกชายคนเล็ก เพื่อนอนพักผ่อน...เพราะตอนเย็นนั้น นางหลักฮวงภรรยาพี่ชายคนโตของ  เจ๊กเซ็งนั้น ชวนไปรับประทานอาหารเย็นที่ภัตตาคารไท่เฮงด้วยกันสักมื้อ นางย้อยกับเจ๊กเซ้งจึงต้องค้างที่ปากน้ำโพหนึ่งคืน    แทนไปค้างที่ทับกฤช เพื่อคุยเรื่องงานแต่งของลูกชายคนรอง ให้เสร็จสิ้น...

          พอเข้าห้องของลูกชายมาแล้ว นางย้อยก็กวาดสายตาไปรอบ ๆ ...แล้วก็ส่ายหน้าเบา ๆ ...

          ในบรรดาลูกชายสี่คน มงคลไม่เอางานบ้านงานเรือน...เตียงก็ไม่ยอมเก็บ ผ้าผ่อนพับไม่เป็น ที่ใส่แล้วก็โยนไว้ไม่ตรงตะกร้า หนังสืออุปกรณ์การเรียน เครื่องดนตรี กีฬา ก็วางไม่เป็นระเบียบ...ผิดกับพวกพี่ ๆ ของเขา ถึงแม้ภาพรวมจะยังไม่ถูกใจนาง แต่ห้องหับเสื้อผ้าในห้องลูกชายทั้งสามคน ก็ยังวางเป็นระเบียบมากกว่าน้องคนเล็ก...

          นางย้อยนึกอยากมี ‘ลูกสาว’ เอาไว้ ‘เป็นเพื่อน’ เอาไว้ ‘ฝากผีฝากไข้’ อย่างนางแย้มผู้เป็นน้องสาว ซึ่งมีลูกสาวคนเล็กชื่อ ‘พะยอม’ พะยอมเป็นคนไม่มีปากไม่มีเสียง นางแย้มบอกให้ทำอะไรกับก็ทำ งานบ้านงานเรือน เรียบกริบ แต่งเนื้อตัวเรียบร้อย หน้าตาน่ารักเหมือนตุ๊กตา...

          ‘ไม่มีลูกสาว แก่ตัวไป ก็พึ่งลูกสะใภ้เอา...มีลูกชายตั้งสี่คน มันต้องมีสักสะใภ้หรอก ที่ให้พึ่งให้พิงได้’ เสียงนางแย้มน้องสาว เมื่อครั้งกลับไปเยี่ยมบ้านที่หนองนมวัวยังแว่วอยู่ในหู...ตอนนั้นนางย้อย ถอนหายใจหนัก ๆ ...เพราะรู้อยู่แก่ใจว่า ‘สะใภ้’ อย่างไรก็ไม่ใช่ ‘ลูกสาว’

          คน จีนอาจจะไว้เนื้อเชื่อใจลูกสะใภ้ ถือว่าเป็นสมบัติอีกชิ้นในตระกูล โดยเฉพาะสะใภ้ใหญ่...จะใช้สอย สั่งสอน ทุบตี อย่างไรก็ได้ แต่สำหรับคนไทย ‘สะใภ้’ กับ ‘แม่ผัว’ เหมือนกับ ‘ขมิ้นกับปูน’...ไม่มีวันจะเข้ากันได้ง่าย ๆ

          สำหรับคนไทย บ้านที่มีลูกสะใภ้ดี ไม่แข็งขืน ไม่ปีนเกลียวกับแม่ผัวนั้น นับหลังคาเรือนได้...

          นางย้อยเองเป็นคนไทยแท้ ๆ แต่งเข้าบ้านคนจีน แม้จะรู้ธรรมเนียมว่า เป็นสะใภ้บ้านคนจีน มีปากก็ต้องทำเหมือนไม่มี แต่ด้วยคุ้นชินกับบ้านที่แม่เสียงดังฟังชัดกว่าพ่อ...คุ้นชินกับเรือนที่ ผู้หญิงเป็นใหญ่ยามเมื่ออยู่กันตามลำพังเฉพาะคนในเรือน...ใจของนางย้อยจะ เดือดพลั่ก ๆ ทุกครั้งที่เห็น นางลิ้มผู้เป็นอาม่าของเจ๊กเซ้ง และนางซกเพ้ง แม่ของเจ๊กเซ้ง ใช้สอยนางหลักฮวงสะใภ้ใหญ่ ชนิดหัวไม่ได้วาง หางไม่ได้เว้น ประหนึ่งว่าเป็นทาสในเรือน...

          นางย้อยเคยถามนางหลักฮวงว่า ‘อาซ้อทนได้อย่างไรกัน ทั้งเลี้ยงลูก ทั้งทำงานบ้าน ทั้งขายของ...ทั้งรับใช้คนทั้งบ้านอย่างกับขี้ข้า’

          ‘ใคร ๆ เขาก็ทำกันอย่างนี้...’ นั่นคือคำตอบ...คำตอบที่ทำให้ นางย้อยรู้สึกว่ามันไม่ยุติธรรมกับลูกสะใภ้

          หลังแต่งงานกับเจ๊กเซ้งแล้ว นางย้อยรู้สึกโล่งอกที่นางลิ้มบอกให้  เจ๊กเซ้งไปช่วยงานที่โรงสี และให้ตนเองนั้นไปอยู่ช่วยเลี้ยงหมู เลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่ที่ทับกฤช ถึงแม้จะเหนื่อยยากลำบากกายเพราะเป็นตำบลที่ไม่มีอะไรเจริญหูเจริญตา ไม่มีของกินหรูหราเหมือนอยู่ที่บ้านหลังนี้ แต่ที่นั่น นางกับเจ๊กเซ้งก็อยู่กันตามลำพัง...เหนื่อยจากงานหนัก นางก็เอนตัวลงนอน...พอมีแรงก็ลุกมาทำงานต่อ

          ช่วง ที่แพ้ท้องลูกคนแรก นางย้อยยังจำได้ดี...ว่าอาการแพ้ท้องของนางนั้นรุนแรงแค่ไหน...นางเวียนหัว ตลอดวัน กินข้าวไม่ได้ อาเจียนจนหมดเรี่ยวหมดแรง เป็นอยู่อย่างนั้นถึงสองเดือนเต็ม ๆ ...ตอนที่นอนหายใจ พะงาบ ๆ นั้นไม่มีใครมาต่อว่าต่อขานให้ต้องเจ็บช้ำน้ำใจ...เหมือนตอนท้อง
ลูกคนที่สาม...

          นางยังจำแรงกดดัน แรงบีบคั้น ในคราวที่แพ้ทองกมลได้ดี...

          หลังจากที่นางคลอด ประสงค์แล้ว นางลิ้มก็ ‘บัญชา’ ให้ เจ๊กเซ้งหลานชายคนเล็ก พาเมียและลูกกลับมาอยู่ที่บ้านหลังนี้ ซึ่งยังเป็นห้องแถวเรือนไม้ขนาดสี่ คูหา...ด้านหลังเรือนมีที่ว่างพอปลูกผักสวนครัวพอให้เก็บกินได้...ตอนนั้น นางลิ้มแม้อายุจะขึ้นต้นด้วยเลขแปด...ยังไม่ล้มป่วยเป็น ‘โรคอัมพาต’ ฤทธิ์เดชของนางลิ้มยังคงเต็มเปี่ยม

          ทุก ๆ วัน นอกจากจะต้องเลี้ยงลูกสองคน นางย้อยยังต้องคอยอยู่ปรนนิบัติ เป็นมือเป็นเท้าให้นางลิ้ม...ไม่ว่านางลิ้ม จะอยากได้อะไร อยากกินอะไร นางจะใช้ ‘ปาก’ สั่ง การ...ทำให้ช้า ทำไม่ถูกใจ ทำไม่ดี นางก็จะ เหน็บแนมให้เจ็บช้ำน้ำใจ...และพอหน้าของนางย้อยงอง้ำ...นางลิ้มก็จะพูดกระทบ กระเทียบแดกดันนางซกเพ็ง เรื่องที่นางย้อยเป็นคนไทยไม่รู้ธรรมเนียมจีนเสียทุกครั้งไป

          ‘อั๊ว ก็บอกแล้ว สั่งไว้แล้ว ว่าอย่าเอาผู้หญิงไทยมาทำสะใภ้อย่างเด็ดขาด ก็ไม่เชื่อฟังกัน คนไทยมันขี้เกียจสันหลังยาว รักสบาย งานหนักไม่เอา งานเบาไม่สู้ ค้าขายก็ไม่เป็น พอสั่งสอนเข้าหน่อยก็หน้าเง้าหน้างอ หยิบจับอะไรให้ก็กระแทกกระทั้นไม่มีน้ำอดน้ำทนฯ’

          ก็จะไม่ให้กระแทกกระทั้นได้อย่างไรเล่า เพราะนางย้อยรู้ว่าตน ไม่เคยทำอะไรถูกใจนางลิ้มเลยสักอย่าง...

          ทำกับข้าว ทำขนม ตาม ‘สูตร’ ที่ นางลิ้มบอก นางลิ้มก็ว่า รสมือไม่มี ไม่อร่อย...จัดของเซ่นไหว้วางไว้หน้าตี่จู้เอี๊ยให้ก็ไม่พอตา...ซักผ้าให้ใส่ก็ว่าซักไม่เอี่ยม รีดผ้าไม่เรียบ ถ้วยจานชามก็ที่ล้างจนแวววาวก็ว่ายังมีกลิ่นคาว   ไหนจะหม้อไหอลูมิเนียมกระทะเหล็กที่ขัดเสียจนเกือบจะทะลุ... บ่อยครั้งที่นางลิ้มใช้นางย้อยให้เก็บของจากตู้มาล้างเช็ดทำความสะอาดแล้ว เก็บกลับไปใหม่

      ... มีอยู่ครั้งหนึ่งนางย้อยเผลอทำจานกระเบื้องของเก่าแก่ จากเมืองจีนหลุดมือตกแตก นางลิ้มตาเขียว ทุบตีและหยิกจนต้นแขนเขียวช้ำ...พอนางย้อยเดินหนีเอาตัวรอด เสียงด่าทอก็ไล่ตามหลัง...ครั้นพอเจ๊กเซ็งกลับมาเห็น นางลิ้มก็ชิงเล่าเรื่อง เอาดีใส่ตนเสียก่อน...

          นางย้อยรู้สึกว่านางกำลังถูกกลั่นแกล้ง...โขกสับให้ทนไม่ได้เพื่อจะได้หอบ ผ้ากลับบ้านไปในที่สุด...แต่นางก็สู้อดทน...เพราะความรัก เพราะความดีของเจ๊กเซ้ง และเพราะนางเป็นแม่ นางต้องทนเพื่ออนาคตของลูกสองคนที่เพิ่งลืมตาดูโลก...

          กระทั่งนางตั้งท้องลูกคนที่สาม...นางย้อยแพ้ท้องอย่างหนักเช่นเคย...แต่คราวนี้ นางกลับถูกนางลิ้มเหน็บแนมว่า ‘สำออย...เรียกร้องความสนใจ’

          คราวนั้นนางอยากกินทุเรียนเป็นอย่างมาก นางขอให้เจ๊กเซ้งซื้อมาให้... พอนางลิ้มเห็นทุเรียน ก็บอกว่า ‘เอาออกไปจากบ้าน อั๊วเดี๋ยวนี้เลย ลื้อก็รู้ว่า อั๊วเกลียดทุเรียน อั๊วได้กลิ่นทุเรียนไม่ได้...อั๊วเวียนหัว...ลื้อจะฆ่าอั๊วให้ตายทางอ้อม หรือไงอาเซ้ง...’

          เป็นอันว่า นางย้อยได้แต่นึกอยากกินอยู่อย่างนั้น เพราะนางลิ้ม สั่งไว้ว่า ‘คนที่อยู่ในบ้านหลังนี้ ห้ามกินทุเรียนอย่างเด็ดขาดเพราะหายใจออกมากลิ่นมันออกมาด้วย...’

          แม้จะขอออกไปกินนอกบ้าน นางลิ้มยังไม่ยอม นั่นเป็นการทำร้ายจิตใจนางย้อยเป็นที่สุด...

          กระทั่งวันหนึ่ง ‘อาใช้’ กับ ‘อาตง’ ป่วยพร้อมกัน...นางย้อยต้องอยู่โยงเฝ้าไข้คอยเช็ดตัวลูกทั้งวันทั้งคืน... เพราะเจ๊กเซ้งไปกับเรือสินค้า...นางย้อยเคลิ้มหลับไปเมื่อรุ่งสาง...เสียง ประตูห้องนอนก็ดังกระชั้นพร้อมเสียงด่าว่า ขี้เกียจสันหลังยาว อ้างลูกป่วย จะหนีงาน นางลิ้มบอกว่านางย้อยฉลาด แต่นางลิ้มก็รู้ทัน...นางย้อยกัดฟันฝืนความง่วง ฝืนอาการที่คล้ายจะเป็นไข้ ลุกขึ้นมาหุงข้าว ซักผ้า และทำความสะอาดบ้านด้วยใจที่เต็มไปด้วยความแค้น...ใจของนางย้อยในเวลานั้น เหมือนเตาเผาถ่านที่มีความร้อนระอุ รอวันระเบิด...นางสาปแช่งให้นางลิ้มตายวัน ตายพรุ่ง นางอยากเอายาพิษให้นางลิ้มกิน อยากผลักให้ตกบันได อยากเอาหมอนกดหน้าปิดจมูกตอนที่นางลิ้มหลับแล้ว นางย้อยก็ยังต้องนวดเฟ้นให้...

          และในที่สุด...หลังจากนางย้อยคลอดกมลได้เพียงสองเดือน นางลิ้มก็ล้มป่วยเป็นอัมพาต ช่วงนั้นนางย้อยรู้สึกสาแก่ใจ สะใจที่ ‘อีแก่พูดมาก ปากดี พูดไม่ได้’ แต่ว่านางย้อยก็เหนื่อยมากขึ้น เพราะต้องดูแลลูกเล็ก สองคน ลูกอ่อนหนึ่งคนและคนป่วยที่ต้องเช็ดขี้เช็ดเยี่ยว เช็ดตัว อาบน้ำ ป้อนน้ำ ป้อนข้าวอีกหนึ่งคน และเป็นคนที่นางย้อยเกลียดชังเสียด้วย...

          ทางเดียวที่จะทำให้ภาระหมดไป...นั่นก็คือ ทำให้นางลิ้มตายไปเสียโดยไว เพื่อความทุกข์ยากของตนจะได้หมดไปเสีย

 
          นางย้อยนึกถึงครั้งที่ตัวเองตัดสินใจใช้มือ ‘บีบจมูก’ ของนางลิ้มให้ ‘สิ้นลม’ พ้น ทุกขเวทนา พ้นจากเวรกรรมที่นางย้อยก็ไม่รู้เหมือนกันว่านางลิ้มทำมาแต่ชาติปางไหนแล้ว เหงื่อกาฬแตกจนต้องลุกจากที่นอนมายืนเกาะขอบหน้าต่าง...เหม่อมองออกไปข้าง นอก...

          เวรกรรมที่เผลอไผลทำลงไปนั้น นางย้อยไม่รู้ว่ามันจะหวนกลับมาหาตนเมื่อไหร่...

          แต่กุศลผลบุญจากการที่นางบวชลูกชายถึงสองคนและตั้งใจจะบวชอีกสองคน ก็น่าจะทำให้กรรมนั้นบรรเทาเบาบางลงได้บ้าง...

          ถ้าย้อนกลับไปได้ นางจะ ‘อดทน’ ให้นางลิ้มค่อย ๆ เหี่ยวเฉาและสิ้นลมปราณไปตามเวลาของมัน นางจะไม่ไปตัดกรรมของเขา และสร้างกรรมใหม่ขึ้นมาเสียเอง... และกรรมประเภทลูกสะใภ้ฆ่าแม่ผัวนี้ นางย้อยรู้สึกว่า มันกำลังงวดเข้ามาหาตัวทุกขณะ...แต่นางจะต้องเฟ้นปัญญาหนีกรรมที่ไม่ได้ตั้งใจก่อนี้ให้จงได้...

         
          เช้าวันรุ่งขึ้น ขณะที่นางย้อยนั่งอยู่ในขบวนรถไฟ...ช่วงที่รถไฟถึงบึงบอระเพ็ด แม่ค้าขายฝักบัวที่เดินเร่ขายไปตามโบกี้ ก็มาหยุดคุยกับหญิงวัยกลางคนสองคน ที่นั่งอยู่ตรงกันข้าม...

          “ได้ข่าวว่าพี่เรไรตายเสียแล้ว” นางแม่ค้าเกริ่นแบบนั้น

          “อืม ตายตั้งแต่เมื่อวานตอนย่ำค่ำ”

          “เมื่อคืนก็ยังไม่ทันได้สวดกันละซิ”

          “ยัง...ฉุกละหุก สวดคืนนี้แหละ นี่ก็จะต้องกลับมาให้ทันฟังพระสวด...เขาเอาศพตั้งไว้ที่บ้าน สามวันแล้วเผา”

          “ทำไมถึงตั้งนานนักละเหว...เงินทองก็ไม่ค่อยจะมีกันไม่ใช่รึ”

          “ลูกเขาเป็นสิบ ๆ คน...ก็คงช่วยกันคนละเล็กละน้อย...เหลือแค่ศพแม่ศพเดียวก็คงต้องเต็มที่ หน่อย”

          “อีคนที่ไปอยู่ตาคลี คงจะมีท่ากว่าใครเขาหรอกมั้ง”

          “อีเรณูนะเหรอ”

          ตอนแรกนางย้อยไม่สนใจฟัง แต่พอได้ยินคำว่า ‘อีเรณู’ สายตาที่มองไปนอกหน้าต่างก็เหลือบกลับมาดูคนกลุ่มนั้นแล้วก็เหลือบกลับไปมอง ข้างนอก ฟังความต่อไป เพราะคนชื่อ ‘เรณู’ นั้น คงไม่บังเอิญมาชื่อพ้องกับ อีเรณูคนที่เพิ่งเหยียบย่างเข้ามาที่บ้านของนางหรอก...ส่วนเจ๊กเซ็งนั้นพอ รถไฟเคลื่อนจากสถานีปากน้ำโพ แกก็ผ็อยหลับไปเสียแล้ว

          “อีคนนี้ มีท่ากว่าพี่ ๆ น้อง ๆ มันหน่อย ก็อย่างว่าหากินอยู่กับฝรั่ง... เห็นเขาว่ากันว่า พอมันมาถึง ไม่เท่าไหร่ พี่เรไรก็ขาดใจตาย”

          “อพิโถ-อพิถัง...คงรอกัน” นางแม่ค้าดูจะไม่เดินต่อไปข้างหน้าเสียแล้ว

          “ก็คงเป็นอย่างนั้นแหละ เห็นว่ามาเป็นคนสุดท้าย...นึกแล้วก็สงสารแก ไม่รู้โรคเวรโรคกรรมอะไร...บ้างก็ว่า แกทุบหัวปลาไว้เยอะ...บ้างก็ว่าแกเคยฆ่าเต่า...หักแข้งหักขาปู”

          “ใครมันก็ทำกันทั้งนั้น...มัวแต่กลัวเวรกลัวกรรม พอดีเห็นจะอดตายกันหมด” คนที่นั่งเงียบมาตลอดเอ่ยออกมาบ้าง

          “แล้วแกเป็นไง ขายของบนรถไฟ ขายดีไหม”

          “ก็พอได้  เอ้อ ...แล้ว ลูกอีเรณูละ กี่ขวบแล้ว” นางแม่ค้าไม่ยอมคุยเรื่องของตน

          “เข้าป.๑ แล้ว”

          “พี่เรไรมาตายไปแบบนี้ มันจะอยู่กับใครเขาได้...รึแม่มันจะเอาไปเลี้ยงซะเอง”

          “คงไม่หรอก...ใครจะเอาลูกไปรู้ไปเห็นเรื่องบัดสีในบาร์ละ ใช่ไหม แต่เห็นสะใภ้ฉันมันว่า ไอ้ป๊อกน่ะ ตั้งแต่มันเข้าป. ๑ มันก็ไปเป็นเด็กวัด อาศัยข้าวก้นบาตร เพื่อเรียนหนังสือซะก่อนแล้ว”

          “ถ้าอย่างนั้นอีเรณูมันก็คงให้อยู่วัดต่อไป...นั่นแหละ” พอนางแม่ค้าสรุป รถไฟก็ถึงสถานีทับกฤชพอดี...นางย้อยหันไปปลุกเจ๊กเซ้งเพราะต้องลงที่สถานี นี้ เพื่อรีบไปคุยเรื่องงานแต่งลูกชายคนรองกับพิไลให้เสร็จสิ้น...หลังจากนั้น ตอนบ่ายจะได้นั่งรถไฟกลับชุมแสง... ส่วนเรื่องของอีเรณูนั้น เสร็จงานศพแม่ของมัน...คงได้เห็นดีกัน...เพราะถ้ายังเก็บเอาไว้ในบ้าน รู้ไปถึงไหนก็คงอายไปถึงนั่น...ทั้งมีผัวมีลูกมาแล้ว ทั้งเคยทำงานในบาร์ และหน้าอย่างนั้น   คงต้องมีเรื่องบัดสีปิดบังไว้อีกไม่น้อยแน่

          พอ จะถึงสถานีทับกฤช เจ๊กเซ้งลุกขึ้นแล้วเดินนำนางย้อยมาที่ประตู...ช่วงที่รถไฟ ชะลอความเร็วเพื่อหยุดที่สถานี เจ๊กเซ้งก็ยืนคาบันไดขั้นแรกแล้ว พอเสียงห้ามล้อดังขึ้นพร้อมกับรถหยุด...ขณะที่เจ๊กเซ้งจะก้าวขาลง แรงดันจากข้างหลัง ก็ทำให้แกกับนางย้อยเสียหลักล้มลงไปข้างล่าง หน้าคะมำ ร่างเกยทับกัน และพอนางย้อยลุกขึ้นได้ นางก็หันไปทางประตูรถ ซึ่งคนนับสิบที่ต่อคิวจะลงจากรถไฟ ต่างส่ายหน้ากันดิก...

          “ใคร ๆ มันถีบกู” นางย้อยตะเบ็งเสียงถามกลับไป...

          “ฉันเปล่านะ”

          “ข้าก็เปล่า” มีเสียงปฏิเสธตอบกลับมา...แล้วทั้งหมดก็กรูกันลงจากรถ ทิ้งนางย้อยมองไปบนรถด้วยสีหน้าเคร่งเครียด ใจนั้นเดือดดาลเป็นอย่างมาก...

          “ลื้อเสียหลักหรือเปล่า” เจ๊กเซ้งยังมองโลกในแง่ดี

          “เสียที่ไหน มันมีคนถีบ” ว่าแล้วนางย้อยก็รีบเดินขึ้นไปบนตู้ขบวนอีกครั้ง...กวาดตามองไปรอบ ๆ ก็เห็นแต่คนแปลกหน้าที่ต่างมองสบตา นางย้อยแล้วยิ้มแหย ๆ ...

          “มีใครเห็นบ้าง ว่าใครมันถีบฉัน”

          บางคนส่ายหน้า บางคนก็หันไปมองข้างนอก ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้...

          สุดท้ายนางย้อยก็บอกว่า “ใครบอกได้ ว่าใครมันถีบฉัน ฉันจะให้เงินสิบบาท”

          “ฉันเห็น” มีคนรีบยกมือในทันที...

          “ใคร บอกมาเร็ว ใครมันถีบฉัน”

          “ผู้หญิงใส่เสื้อสีแดง เดินไปตู้โน่นแล้ว...มันเดินไปทางตู้ท้ายขบวน”

          นางย้อยจะตามไปดู แต่ว่าเจ๊กเซ้งรีบมาดึงไว้...

          “ไม่เอาน่าอาย้อย เราไม่ได้เป็นอะไรมาก ไป ๆ อย่าเสียเวลาเลย”

          “แต่มันจะฆ่าเรานะ ถ้ารถยังวิ่งอยู่ เราไม่ตกลงไปคอหักตายรึ...ฉันจะแจ้งตำรวจรถไฟจับมัน”

          “รถไฟจะออกแล้ว จับมันไม่ได้หรอก...เร็ว ๆ ลง ๆ”

          ตอน นั้นเสียงหวูดรถไฟดังขึ้น...นางคนที่บอกว่าใครเป็นคนทำ รีบกรากเข้ามาหาพร้อมกับบอกว่า  “แล้วเงินสิบบาทของฉันละ”

          นางย้อยนั้นเป็นคนจริง...พอถูกทวง นางก็รีบล้วงกระเป๋าเสื้อหยิบแบงก์สิบส่ง ไปให้...เงินหลุดมือนางย้อยไปแล้ว เจ๊กเซ้งก็รีบรั้งนางย้อยลงจากรถ
เมื่อ ตั้งหลักได้แล้ว นางย้อยก็ยังยืนนิ่ง มองกราดไปยังตู้ขบวนที่ ค่อย ๆ เคลื่อนผ่านหน้าไป...กระทั่งถึงตู้สุดท้าย นางคนเสื้อแดง ก็โผล่หน้าต่างมาพร้อมแลบลิ้น ถลึงตายิ้มเยาะให้...

          “อี...อีอ่อน อีแตงอ่อน” กว่าที่นางย้อยจะนึกชื่อออกก็กินเวลาไปอึดใจ ยังไม่ทันที่นางย้อยจะด่าทอระบายอารมณ์ นางแตงอ่อนที่อยู่บนตู้รถโดยสารก็แผดเสียง ดังกังวานว่า...

          “คนอย่างพวกมึง กูขอสาปแช่งให้ไม่ได้ตายดี...อีย้อย ไอ้เซ้ง มึงจำคำของกูไว้”



 
          เมื่อวาน...พอเห็นเรณูกับวรรณาเดินมาด้วยกัน ป๊อกที่ปีนต้นมะขามใหญ่ดูต้นทางก็รีบลงจากต้นไม้ แล้ววิ่งหน้าตั้งจนจุกผมที่รวบตึงไว้ด้านหน้าหลุดลุ่ย...ป๊อกเรียกเรณูว่า ‘พี่เรณู’ เช่นเดียวกับที่เรียก ‘พี่วรรณา’...และเรียกนางเรไรว่า ‘แม่’

          เรณูอยากจะทรุดเข่าลงแล้วสวมกอดป๊อกให้สมกับที่คิดถึง แต่หญิงสาวก็ทำได้เพียงมองแล้วยิ้ม เพราะป๊อก วิ่งไปกอดขาของวรรณาที่คุ้นเคยกันมากกว่าตนแทน...

          “พี่ณา ทำไมถึงมากันช้าจัง เมื่อวานตอนเย็น หนูปีนต้นไม้รอดูอยู่จนค่ำ”

          “แม่อาการเป็นอย่างไรบ้าง”

          “เหมือนเดิม...ไป พี่รีบไปเถอะ” ว่าแล้วป๊อกก็จูงมือวรรณาให้เดินกลับบ้านโดยไม่ได้สนใจเรณูสักนิด...เรณูมอง ตามไป แล้วถอนหายใจหนัก ๆ เฝ้าแต่หวังว่าเมื่อเขาโตขึ้น เขาก็จะรู้เองว่า เรื่องทั้งหมดมีความเป็นมาอย่างไร

          พอสองพี่น้องถึงบ้าน...ญาติพี่น้อง เพื่อนบ้านที่นั่งออกันอยู่ที่ใต้ถุน ก็บอกว่า “เร็ว อีณู อีณา รีบขึ้นไปดูแม่มึง”

          พอโผล่เข้าไปในเรือน ก็เห็นพี่สาว พี่ชาย น้องชาย ลูกเขยและลูกสะใภ้ของแม่ รวมถึงหลาน ๆ นั่งล้อมวงดูอาการของแม่ บ้างก็มีน้ำตาคลอลูกนัยน์ตา เรณูยกมือไหว้กราด แล้วก็คลานเข่าเข้าไปหา...

          “แม่ แม่ อีเรณูมันกลับมาแล้ว” นางสายทองพี่สาวใหญ่นั่งอยู่ตรงหัวนอน ก้มลงกระซิบบอก...

          เรณูกวาดตามองสภาพ ของแม่ซึ่งไม่ได้เห็นกันเกือบครึ่งปีแล้ว รู้สึกแน่นไปทั่วหน้าอก...แม่ผอมลงไปจนผิดตา...วรรณาบอกกับเรณูระหว่างที่นั่งรถไฟมา

          “ตอนแรกแม่เขาก็ปวดหัวทุกวัน ต่อมาแข้งขามือไม้ก็ชา แล้วพวกพี่ ๆ ก็พาหมอมานวด พาไปรดน้ำมนต์ หายากลางบ้าน ยาหม้อมาให้กิน แต่อาการแกก็ไม่ดีขึ้น จนกระทั่ง พาไปที่สุขศาลา ทางนั้นก็ให้แต่ยาแก้ปวดมากิน...กินไปก็ไม่ดีขึ้น ทรุดลง เรื่อย ๆ จนตาพร่า หูไม่ค่อยได้ยิน ปากเบี้ยว...กินไม่ได้ ขับถ่ายก็ต้องอุ้มนั่งกระโถน”

          เห็นสภาพของแม่แล้ว เรณูรู้ดีว่า แม่คงอยู่ได้อีกไม่นานอย่างที่วรรณาได้บอกไว้ หญิงสาวคลานเข้าไปหา ก้มลงไปจนริมฝีปากแนบกับใบหู...

          “แม่ แม่ แม่ได้ยินเสียงฉันไหม...อีเรณูไงแม่”

          ฟากนางสายทองที่นั่งอยู่อีกฝั่งก็บอกว่า “แม่ อีเรณูมันมาแล้วนะ”

          “เออู” เสียงของแม่อู้อี้ ตานั้นยังลืมไม่ขึ้น...เรณูจับมือของแม่มากุมไว้...พยายามกลั้นน้ำตาไม่ให้ ไหล...แต่มันก็ยากระงับ...เพราะมือของแม่นี้ แม้จะเคยทุบตีในคราวที่ทำอะไรไม่ถูกใจหรือดื้อด้านตามประสา แต่มือของแม่นี้ ก็เคยลูบหัวลูบหลังปลอบประโลมตอนที่เรณูทุกข์ร้อนใจเป็นที่สุด...

          “จ๋า แม่ได้ยินฉันเนอะ ฉันมาแล้วแม่...วันนี้ พอรู้ว่าแม่ไม่สบาย ฉันก็รีบมาเลย...มาคราวนี้ฉันไม่มีเสื้อมาฝากแม่นะ ฉันรีบน่ะ...แต่มาคราวหน้า ฉันจะหาผ้าดอก ๆ ที่แม่ชอบมาฝากแม่นะ”

          ตอนนั้นแม่ที่หลับตาอยู่ มีน้ำตาไหลลงมาทางหางตา บอกให้รู้ว่า รับรู้ทุกถ้อยคำที่ลูกสาวพูดด้วย...

          “เออู”
          “จ๋าแม่  แม่จะเอาอะไร แม่อยากได้อะไร  แม่บอกฉันได้เลยนะ”

          “อูแอไอ้อ๊อกอันอีอีนะ...แอ้อ่วงอัน” ‘ดูแลไอ้ป๊อกมันดีๆ นะ แม่ห่วงมัน’

          “จ๊ะแม่ ฉันจะดูแลมันอย่างดีเลย แม่ไม่ต้องห่วงมันนะ ตอนนี้ฉันไม่ได้อยู่ตาคลีแล้วนะแม่ ฉันย้ายมาอยู่ชุมแสงแล้ว ฉันมีงานมีการทำเป็นหลักแหล่งแล้วนะแม่...ฉันเอาวิชาทำขนมที่แม่สอนฉัน ตั้งแต่ฉันเป็นเด็ก ไปทำมาหากินแล้วนะแม่ ใครกินขนมฝีมือฉัน ก็บอกว่าอร่อยกันทั้งนั้นเลย”  เรณูพูดไปทั้งที่น้ำตาไหลอาบแก้มไป แต่ถึงกระนั้นน้ำเสียงก็ไม่สั่นเครือให้คนเป็นแม่รู้ว่า ใจของตนนั้นกำลังจะขาดตามกันไป...

          มือเหี่ยวแห้งของแม่ บีบตอบกลับมือของเรณูแรงขึ้น... ปากก็ พรึมพรำว่า “อี อี...อีอาก” ‘ดี ดี...ดีมาก’

          “ไอ้ป๊อก...มานี่ มาหาแม่” เรณูหันไปเรียก ‘ลูกชายคนเล็ก’ ของแม่ ที่แม่บอกกับคนทั่ว ๆ ไปว่าเป็น ‘ลูกหลง’ ทั้งที่ตอนที่เธอคลอดป๊อกนั้น แม่อายุเกือบหกสิบปีแล้ว...แม่พยายามปกป้องเธออย่างเต็มกำลัง และแม่ก็ยังพยายามระงับรอยร้าว ระหว่าง ‘พี่สาว’ กับ ‘น้องสาว’ โดยป้องเธอไว้และหาทางออกให้ แม้ว่าทางออกนั้นมันจะไม่ได้ทำให้ชีวิตเธอดีขึ้นก็ตาม

          ป๊อกที่นั่งพิงวรรณาอยู่รีบขยับเข้าไปหาเรณู...

          “ป๊อก กราบแม่ซะนะ...บอกกับแม่ว่าแกโตขึ้น แกจะเป็นเด็กดี แกจะบวชพระให้แม่เขาด้วย...บอกไปซิ”

          คำพูดของเรณูนั้นยาวเกินไป ป๊อกทำหน้างง ๆ แต่ถึงกระนั้น เขาก็ขยับเข้าไปจนชิดกับร่างที่นอนอยู่แล้วก้มลงกราบ ไปที่อกแล้วเงยหน้าขึ้น

          “แม่ แม่ โตขึ้นหนูจะเป็นเด็กดี หนูจะบวชพระให้แม่ด้วยนะ”

          “แม่ไม่ต้องห่วงหนูนะ” เรณูกำกับ ป๊อกพูดตาม...มือของแม่บีบมือของเรณูแน่นขึ้นเป็นเชิงว่ารับรู้...แล้วป๊อก ก็ถอยออก เรณูก้มลงไปกราบที่อก แล้วก็กระซิบที่ข้างหูของแม่ว่า

          “แม่ หากหนูทำผิดต่อแม่ด้วยเรื่องใด ๆ ก็ตาม แม่ยกโทษให้หนูด้วยนะ...แม่อโหสิกรรมให้หนูนะ...ชาติหน้ามีจริง หนูขอเกิดมาเป็นลูกของแม่อีกนะ” ท่อนสุดท้ายเรณูระงับความอาดูรไว้ไม่ได้...

          หลังจากที่เรณูขยับออกมา ลูกและหลานรวมถึงเขยสะใภ้เกือบสามสิบคนก็ทยอยเข้าไปกราบขอขมา...ขออโหสิกรรม

          หลังพระอาทิตย์ตกดิน ขณะพระตีกลองย่ำค่ำ หลังสวดมนต์ทำวัตรเย็นแล้ว ลมหายใจของแม่ก็ขาดลง ทิ้งไว้เพียงภาพความทรงจำไว้ในใจลูก ๆ ทุกคน...
 


          พอ ลงจากรถสามล้อ นางย้อยก็เดินเข้าบ้านด้วยอาการโขยกเขยก บุญปลูกที่อยู่ใกล้ที่สุดจะเข้าประคอง แต่นางย้อยโบกมือ... ประสงค์ที่นั่งอยู่หลังโต๊ะบัญชีรีบถาม “ม้า ทำไมเดินอย่างนั้น”

          “ตกรถไฟ...แค่รู้สึกเคล็ดขัดยอก...ทายาตั้งแต่เมื่อวานแล้ว เดี๋ยวก็หาย...นี่ไอ้สี่มันกลับปากน้ำโพหรือยัง”

          “ยัง...วันนี้ไปช่วยงานที่โรงสี”

          “ไปช่วยหรือไปนอน ไอ้นี่มันขี้เกียจสันหลังยาว รักสนุก สบายจนเคยตัว ห้องหับมัน ม้าเปิดเข้าไปลมแทบจับ สกปรกรกรุงรัง ม้าเห็นแล้วเหนื่อยใจ...ไอ้ตอนอยากได้ ก็อ้อนจะเอาให้ได้ อ้างว่าจำเป็น พอได้มาแล้วก็ไม่รักษาให้ดี คนอย่างนี้ ม้านึกไม่ออกจริง ๆ ว่าแก่ตัวไปจะเป็นอย่างไร จะอยู่กับใครเขาได้”

          “เตี่ยละม้า” ประสงค์รีบเปลี่ยนเรื่อง

         “นั่งรถไปโรงสีแล้ว” ว่าแล้วนางย้อยก็ถอนหายใจออกมาเหมือนมีเรื่องเหนื่อยหน่ายใจ...

          นาง ย้อยเหนื่อยหน่ายใจจริง ๆ เพราะนอกจากทางเถ้าแก่ฮงกับ นางพิกุลจะเรียกค่าสินสอดทองหมั้นเป็นทองคำหนัก ๑๐ บาท  เงินหนึ่งหมื่นบาท ทางนั้นยังขอให้ทางนี้จัดหาที่นอนขนาด ๖ ฟุต ๓ ท่อน พร้อมเตียงไม้สักให้หนึ่งหลัง และเครื่องครัวอีกหนึ่งชุด โต๊ะจีนเลี้ยงฉลองพิธีมงคลสมรสก็ระบุมาว่าต้องมีวงดนตรีขับกล่อมด้วย สุดท้ายที่นางย้อยรู้สึกว่ามันมากไป นั่นคือ จะให้ออกค่าโรงแรมให้กับญาติ ๆ ของฝ่ายนั้นด้วย ...นางย้อยก็เลยบอกไปว่า ให้กลับกันไปพร้อมกับเรือที่เหมาไปทับกฤชและรับเจ้าสาวมาทำพิธีที่ชุมแสงไว้ แล้วกัน...ถ้าใครจะพักโรงแรมก็ออกกันเอง...เพราะโรงแรมที่ชุมแสงมีตั้งหลาย แห่ง

          นางย้อยเริ่มเห็นแล้วว่า ‘สะใภ้’ ที่เข้าบ้านมาเองอย่างเรณู กับสะใภ้ที่ผู้ใหญ่เห็นดีเห็นงาม รับรู้และทำถูกต้องตามประเพณีนั้นแตกต่าง กันเพียงใด...พิไลไม่ใช่สาวน้อยไร้เดียงสา มันเค็มกว่าที่นางย้อยคิด...ระหว่างนั่งรถไฟกลับมา นางย้อยก็คิดเล่น ๆ ว่า พิไลมันมาอยู่ที่นี่ ก็คงจ้องจะฮุบร้านนี้ ตามที่
ได้ตกลงยินยอมไว้ตั้งแต่ทีแรก...

          ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง ๆ นางจะหมดความสำคัญทันที...นางจะไม่มีวันยอมให้อำนาจของนางต้องหมดสิ้นไปเพราะ ‘สัจจะ’ นั่นหรอก... เมื่อเอาเหลี่ยมเอาคมมาด้วย ก็ต้องเจอกันสักตั้ง

          “ตง”
          “ครับ”

          “ถ้าม้าจะพูดอะไรเรื่องพิไลให้แกฟัง ก็ขอให้แกรู้ไว้นะว่า ม้านั้นพูดเพราะรักแก รักลูก ห่วงลูกทุกคนนะ”

          “มีอะไรหรือม้า”

          “ม้ารู้สึกว่า พิไล อีเค็ม อีงกเหลือเกิน ม้ากลัวว่าแต่งมันเข้ามาแล้ว ระบบกงสีของบ้านเราจะปั่นป่วน”

        ฟัง แม่พูดแล้วประสงค์ก็นิ่งเงียบ... เพราะเขาไม่ได้รักพิไล เมื่อไม่รัก จึงนึกไม่ออกว่า จะพูดเข้าข้างอย่างไร เพื่อทำให้แม่สบายใจขึ้นมาได้...

          “ม้ายังไม่ได้บอกกับแกว่า หลังจากที่เปลี่ยนตัวเจ้าบ่าวจากตี๋ใหญ่เป็นแก เขาเรียกร้องอะไรบ้าง”

          พอ ได้ฟังรายละเอียดที่พิไลเรียกร้อง ตั้งแต่ทองหมั้น เงินสินสอด และสิทธิ์เท่าสะใภ้ใหญ่ รวมถึงร้านนี้จะต้องตกเป็นของเขาแทนปฐมซึ่งเป็นพี่ชายคนโต...ประสงค์ก็ รู้สึกแน่นหน้าอก เพราะมันไม่ยุติธรรมกับแม่และปฐมจริง ๆ ...

          “ม้า รู้สึกว่าม้าคิดผิด ที่คิดจะเอาอีมาเป็นสะใภ้ แต่มันก็สายไปเสียแล้ว...ทางเดียวที่ม้าจะป้องกันแก้ไขได้คือ คุยกับแกซะให้รู้เรื่อง...เพราะ วันหนึ่งข้างหน้า พี่น้องจะได้ไม่หมางใจกันเพราะเรื่องทรัพย์สินเงินทอง”

          “ม้าจะทำอย่างไร”
                   
          “แต่งกันแล้ว แกก็พากันไปอยู่ที่บ้านในตรอกนั้น เช้ามาหุงหากินกันแล้ว ก็มาช่วยกันที่ร้านนี้ทั้งสองคนนั่นแหละ ข้าวกลางวันกินกับม้า ตอนเย็นก็กลับไปกินกันที่บ้าน ทางโรงสีให้อาซามันดูแลไป แล้วอีกไม่กี่เดือนตั่วเฮียก็จะกลับมาช่วยมัน...ม้าจะตั้งเงินเดือนให้แกกับ เมียแก เบื้องต้นก็คงจะให้ได้มากกว่าอีปลูกไอ้ป้อมแต่ไม่ถึงคนละสองเท่าของพวกนั้น หรอกนะ...แล้วเก๊ะนี้ ถ้าไม่จำเป็น แกอย่าให้เมียแกนั่งแทนเด็ดขาด บัญชีแกต้องทำเอง...เงินทองนอกจากลูกกับผัวแล้วม้าไม่ไว้ใจใครทั้งนั้น”

          “ม้า” ประสงค์ทำได้เพียงอุทานเบา ๆ

          “แม่ อย่างไรก็เป็นแม่ พี่น้องอย่างไรก็พี่น้อง ตัดไม่ตายขายไม่ขาด แต่เมียมันเป็นคนอื่น...ถ้ามีลูกมีเต้าด้วยกันแล้วค่อยว่ากันอีกที...ม้าไม่ อยากให้มันมาวุ่นว่ายในบ้านมากนัก จนคนอื่นอึดอัด”

          “แล้วแต่ม้าเห็นสมควร”

          “แล้ว ไม่ต้องเอาเรื่องนี้ไปบอกมันละ...ป้องกันอะไรแทนม้าได้ แกก็ทำไป กันมันไว้อย่าให้มันสร้างปัญหา อย่าให้มันมีปัญหากับพี่ ๆ น้อง ๆ ของแก...ส่วนวิธีการอย่างไร ม้าเชื่อว่าคนอ่านหนังสือมามาก ๆ อย่างแก คงอ่านคนออก แล้วก็คิดได้เอง...แล้วถ้ามันไม่เป็นอย่างที่ม้าคิด ม้าจะขยับขยายไปทำอย่างอื่นแทน แล้วยกร้านนี้ให้แกอย่างที่รับปากกับมันไว้...แต่ว่าต้องหลังจากที่แกกับมัน มีลูกแล้วนะ ตัดปัญหาไปเลย”

          “แล้วตั่วเฮียละม้า จะเข้าใจไหม”

          “ต้อง เข้าใจ เพราะมันเลือกทางเดินชีวิตของมันเอง...แต่ม้าก็ยังมีทางออกให้มันหรอก มันกลับมา ม้าจะให้ช่วยอาซาดูแลโรงสีไป  อาซาดูบัญชีคุมเรื่องซื้อขายข้าวเปลือกไป ตั่วเฮียให้คุมคนงานในโรงสี กับช่วยเตี่ยเลี้ยงหมูเลี้ยงไก่ไป...เขามีเมียแล้ว ม้าก็จะตั้งเงินเดือนให้เขาเหมือนที่ตั้งให้แกนี่แหละ...แกว่าม้ายุติธรรม ไหม”

          ประสงค์นิ่งเงียบ...

          “อา ตง เป็นแม่คน มันไม่ง่ายหรอกนะ...เมื่อเป็นเมียก็ต้องทำหน้าที่ของเมีย หน้าที่ของสะใภ้ เมื่อเป็นแม่คน นอกจากจะต้องเลี้ยงลูกให้เติบโต มีการศึกษา มีหน้าที่การงาน แล้วก็จะต้องเลี้ยงให้เป็นคนดี ทรัพย์สมบัติที่มีก็จะต้องแบ่งปันกันไปให้ยุติธรรมที่สุด...เวลานอนตาย ก็จะได้นอนตายตาหลับ...ไม่มีห่วง ไม่ให้ใครเอาไปครหาได้” พรรณนาถ้อยคำจรรโลงใจไป น้ำตาก็รื้อหัวตานางย้อยไป...

          “แล้วเรื่องตึกที่ปากน้ำโพละม้า ได้ข้อสรุปว่าไง”

          “ทำเล ดี ปรึกษากับเตี่ยแกแล้ว น่าจะเอาไว้ เผื่อไอ้สี่มันเรียนจบ มันจะได้เปิดร้านเปิดอะไรของมันไป...ดีไม่ดี ม้าอาจจะกลับไปอยู่ที่ปากโพก็ได้นะ เพราะพี่น้องที่หนองนมวัวจะได้ไปมาหาสู่กันง่ายกว่าที่นี่”

          “ม้า” เมื่อเห็นแผนชีวิตของแม่ที่ทำทุกอย่างเพื่อความสุขของลูกหลาน ประสงค์ก็รู้สึกรักแม่ยิ่งขึ้นผสมปนเปกับความรู้สึกว่า ‘ใจหาย’ ปีนี้ สถานภาพทางบ้านของเขากำลังจะเปลี่ยนแปลงไป จะไม่มีเฉพาะแค่ พี่ ๆ น้อง ๆ อีกแล้ว ‘วงศ์’ จะใหญ่ขึ้นเพราะมีสะใภ้ แล้วก็ต้องมีลูกมีหลาน มีการแบ่งแยกทรัพย์สมบัติ แบ่งแยกหน้าที่การงาน แบ่งแยกอาหารการกินให้ชัดเจน

          “แล้ว ที่นั่นใกล้มดใกล้หมอดี แต่คงไม่ใช่เวลานี้หรอก...เวลานี้ ที่ชุมแสง ม้ายังต้องมีเรื่องให้ต้องจัดการอีกเยอะ...โดยเฉพาะเรื่องของอีเรณู.”

          “ม้า เรื่อง พี่เรณู ม้าปล่อยวางได้ ม้าก็ปล่อย...ม้าจะได้ไม่เป็นทุกข์”

          “ปล่อยได้ที่ไหนละ ม้าเพิ่งรู้มาว่าก่อนมันจะไปขายตัวอยู่ที่ตาคลี  มันมีผัวมีลูกมาแล้ว...นี่มันไปงานศพแม่มันใช่ไหม...ถ้าใช่ กลับมา เมื่อไหร่เห็นดีกันแน่”

******************************


Title: Re: กรงกรรม บทประพันธ์ของ จุฬามณี
Post by: นักประพันธ์ on 29 February 2020, 19:18:46
ตอนที่ 9 : ไม้แข็ง-ไม้นวม


            ๙
 
 
          หลัง แม่สิ้นลม...สายทองซึ่งเป็นพี่สาวคนโตก็ต้องทำหน้าที่นำน้อง ๆ จัดงานศพของแม่...ทั้งที่แม่ตายในเรือนที่แม่ได้ยกให้น้องชายคนรองจากเรณู ครอบครองไปแล้ว...โดยสายทองบอกกับน้อง ๆ ที่มีถึงเก้าคนว่า

          “เงินค่าทำศพแม่ ใครจะช่วยเท่าไหร่ก็เอาเงินมาวางไว้แล้วกัน กูจะจดไว้”

          “ฉันมีไม่มากหรอกนะ” พี่สาวคนที่สองเริ่มออกตัว...

          พอมีคนออกตัว คนอื่น ๆ ก็พลอยออกตัวไปด้วย...

          สุดท้ายเรณูจึงต้องบอกว่า “ก็ทำกันเท่าที่มี งานเราก็อย่าให้มันใหญ่โต จนคนตายต้องขายคนเป็น”

          “มันก็ไม่มีเงิน จะให้หน้าใหญ่อยู่แล้ว” สายทองตอบกลับมาด้วยเสียงสะบัด ๆ เรณูทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ ก่อนจะดึงกระเป๋าใส่เงินออกมาจากกางเกง แล้ววางเงินแบงก์ร้อยจำนวนห้าใบ ลงไปเป็นคนแรก...

          “ฉันลงให้เท่านี้แล้วกัน”  ลงเงินไปแล้ว เรณูก็ดึงวรรณาออกมาที่ในครัว...เรณูควักเงินให้วรรณาสามร้อยบาท...

          “นี่ของแก เอาไปลงกับพวกเขาซะ...พี่ให้”

          วรรณาชักสีหน้าลำบากใจ

          “งั้นหนูยืมแล้วกันนะ วันหน้า ถ้าหนูมี หนูจะคืนให้พี่”

          “ไม่ต้องคืนหรอก...เอาไปเถอะ เอาไปลงให้คนอื่นมันเห็นว่า ถึงแกจะเป็นคนเล็ก ยังไม่มีงานมีการทำ แกก็ไม่ได้นิ่งดูดาย เกี่ยงว่าไม่มี ไม่ใช่เรื่องของตน ส่วนคนอื่น ใครจะลงกันเท่าไหร่ ก็เรื่องของพวกเขา...ให้พวกเขาทะเลาะกันเอง”

          ฟังเหตุผลของเรณูแล้ว วรรณาก็เดินถือเงินมาวางไว้ ท่ามกลางเสียงถกเถียง ควรจะให้ลงกองกลางตามความสมัครใจหรือว่า บังคับให้ลง...
วางเงินแล้ววรรณาก็เลี่ยงออกมา...พบว่าเรณูค้นถ้วยจานชามจากตู้ออกมาวางไว้แล้ว...

          “มาช่วยกันรื้อค้นของใช้ออกมาเตรียมตั้งครัว”

        คืน นั้นแม้จะยังไม่มีงานสวดพระอภิธรรมหน้าศพ แต่ญาติมิตร เพื่อนบ้าน ต่างก็มาช่วยกันต่อโลง อยู่เป็นเพื่อนศพโดยการเล่นการพนันจนแน่นใต้ถุนเรือน...หลังขนเครื่องครัวลง ไปตั้งครัวที่เพิงข้างบ้าน เรณูก็ติดเตาหุงข้าวหม้อใหญ่ ต้มฟักมะนาวดอง หลนปลาร้า ตำน้ำพริก หาผักหาหญ้าที่พอเก็บได้รอบ ๆ บ้านมาเตรียมไว้เลี้ยงคนแก้ขัดกันไปก่อน ส่วนพรุ่งนี้เช้าเรณูบอกกับน้องชายให้เตรียมไปตัดบอนมาแกงเพื่อทุ่นค่าใช้ จ่ายที่ยังไม่รู้ว่าจะต้องหมดเงินกันถึงเท่าไหร่

        หลังจัดแจงหาของใช้ในครัวให้ ‘แม่งาน’ ซึ่ง เป็นลูกพี่ลูกน้องของ แม่ เรณูก็เดินขึ้นมาบนเรือนที่มีโลงศพของแม่ตั้งอยู่...วรรณานั่งอยู่กับสะใภ้ คนที่วรรณาว่าเค็มจัด เค็มจนวรรณาคิดว่า ต่อไปบ้านหลังนี้จะไม่ใช่บ้านของแม่ที่ลูกทุกคนมีสิทธิ์มาอาศัยอยู่ได้อีก ต่อไป...พอเรณูทรุดตัวลงนั่ง น้องสะใภ้ก็ถามว่า “แล้วเรื่องไอ้ป๊อก พี่เรณูจะเอาอย่างไร”

        เรณูรู้อยู่แล้วว่าจะต้องได้รับคำถามนี้จากน้องชายและน้องสะใภ้ที่เป็นเจ้าของเรือนนี้แล้วแน่ ๆ ...

          “พี่จะเอามันไปอยู่ด้วยกันที่ชุมแสง”

          “ก็ดี...อยู่ที่นี่ก็อด ๆ อยาก ๆ ลูกเต้าฉันก็ตั้งสามคน”

          “พี่เข้าใจ...ขอบใจที่ช่วยแม่เลี้ยงดูมันมานะ”

          “ไม่มีแม่แล้ว พี่ก็ยังไปมาหาสู่ มาเยี่ยมมาเยียนกันได้นะ” แน่นอนว่า ก่อนหน้านั้น เรณูไม่เคยกลับบ้านมือเปล่า ของกินแปลก ๆ อย่างแอปเปิ้ล อย่างอาหารกระป๋องที่พวกเมียเช่าฉกฉวยของผัวฝรั่งออกมาขาย เรณูหิ้วติดมือมา ด้วยทุกครั้ง...นอกจากนั้นเรณูยังโละเสื้อผ้าที่ตนเองใส่จนเบื่อแล้วมาให้ น้องสะใภ้คนนี้อยู่เรื่อย ๆ หลังให้เงินแม่ไว้ใช้ เรณูก็จะยังยัดเงินให้น้องสะใภ้ โดยบอกว่า เอาไว้ซื้อขนมให้ไอ้ป๊อกมันกินบ้าง

          คืนนั้นเรณู วรรณา และป๊อกกางมุ้งนอนด้วยกันในห้อง...เรณูบอกกับป๊อกให้เตรียมใจว่าต้องย้าย โรงเรียน ย้ายไปที่อยู่กับตนที่ชุมแสง แต่ป๊อกก็บอกกับเรณูว่า “หนูขอไปอยู่วัดกับหลวงพ่อได้ไหม”

          หลวงพ่อนั้น มีศักดิ์เป็นลูกผู้พี่ของนางเรไร...ตั้งแต่เข้าเรียนป๊อกก็ไปนอนที่ วัด หลวงพ่อออกบิณฑบาตก็ถือปิ่นโตตามหลัง ข้าวกลางวันป๊อกก็กลับมากินที่วัด ตอนเย็นกลับมาจากโรงเรียนก็ช่วยหลวงพ่อถูศาลาแลกค่าขนมทุกวัน แต่หลวงพ่อก็ไม่ได้มีให้ทุกวัน  และสำคัญที่วัดไม่ได้มีเด็กผู้ชายแค่ป๊อกคนเดียว อยู่วัดป๊อกไม่เหงาเพราะมีเพื่อนเล่น กินอิ่ม นอนหลับ และสะดวกใจกว่าอยู่ที่บ้านซึ่งมีแต่เด็กผู้หญิง

          เรณูนอนนิ่ง...คิดถึงผลดี ผลเสีย คิดถึงอนาคตที่ยังไม่แน่นอนของตน สุดท้ายวรรณาก็บอกว่า

          “ให้ป๊อกมันอยู่ที่นี่ไปก่อนแล้วกัน ย้ายโรงเรียนกลางคัน มันยุ่งยาก...แล้วหลวงพ่อก็รักมัน อยู่ที่นี่ พี่ ๆ มันก็มีตั้งเยอะแยะ ไม่มีใครเขาทิ้งมันหรอก”

         
          เสียงเอ็ดตะโรของคนเล่นไฮโลที่ใต้ถุนเรือนทำให้เรณูนอนไม่หลับ...หญิงสาวลุก จากที่นอนไปยืนเกาะขอบหน้าต่าง มองไปทางทิศตะวันออกของบ้าน... เบื้องหน้านั้นมีทางรถไฟพาดผ่าน ถัดจากรางรถไฟเป็นบึงบอระเพ็ด...ช่วงหน้าน้ำมีปลาชุกชุม พอหน้าแล้งน้ำลดแม่กับพ่อก็ไปอาศัยที่ปลูกผักพอให้เก็บกิน พ่อนั้นเป็นทั้งพรานปลา พรานนก ทุก ๆ เช้า พ่อจะพายเรือออกไปกู้ลอบยืน กู้ข่าย เอาปลามาให้แม่ทำน้ำปลา ทำปลาร้า ปลาย่าง ปลาแห้ง และส่วนหนึ่งพ่อก็ล่องเรือไปตามลำน้ำน่านที่อยู่ทางทิศตะวันตกของบ้าน เอาไปขายที่ตลาดปากน้ำโพ ได้เงินมาแล้วนอกจากแบ่งปันให้แม่เอาไว้เลี้ยงลูก ส่วนหนึ่งก็จะเป็นค่าเหล้าของพ่อ...

          พ่อชอบกินเหล้า แต่กินแล้วไม่ใช่คนดุร้ายตีลูกตีเมียเหมือนคนกินเหล้าบางคน พ่อกินเหล้าแล้วจะอารมณ์ดี...มีงานศพแบบนี้พ่อจะไปอยู่เป็นเพื่อนศพเพื่อกินเหล้า...ป่านนี้ พ่อกับแม่ คงได้เจอกันในที่แห่งใดแห่งหนึ่งไปแล้ว...

เรณู หน้าหม่นเศร้า เมื่อนึกถึงเหตุการณ์เมื่อครั้งอดีต...วันนั้นเป็นช่วงปลายฤดูหนาว บัวสายในบึงบอระเพ็ด ชูดอกสีแดงระดาระดาษ นกกา บินว่อนร้องระงม เหนือผิวน้ำมีไอหมอกลอยกรุ่นต้องแสงอรุณ เรณูออกจากบ้านไปเพื่อเก็บสายบัวมาต้มกะทิ...พี่ทิดดำหนุ่มวัยสามสิบปลาย ๆ ผัวของ พี่สายทองนุ่งผ้าขาวม้าผืนเดียวถือข้องใส่ปลาเดินกลับจากกู้ลอบ ตอนนั้นเรณูอายุแค่ ๑๖ ปี ร่างอวบอัด นมตั้งเต้าเต่งตึง ด้วยเป็นเวลาเช้าตรู่เรณูจึงสวมเพียงผ้านุ่งและเสื้อคอกระเช้าตัวบางเบา... พี่ดำเห็นเรณูเข้าก็ร้องทัก ถามไถ่ด้วยสายตาแพรวพราวว่าเรณูจะไปไหน...ความไร้เดียงสาไม่ทันระมัดระวังตัวของสาวน้อย ทำให้เรณูตอบไปตามจริง ความจริงที่เหมือนเชื้อเชิญให้เขาตามไปเก็บสายบัวด้วยกัน...

          เมื่อนั่งอยู่ในลำเรือที่ค่อย ๆ พายขยับไปหาดอกบัวสีแดง เรือก็ โครงเครง เรณูรู้สึกตกใจเป็นอย่างมาก ตอนนั้นเรณูนึกว่าเป็นจระเข้มาหนุนเรือเพื่อจัดการเหยื่อบนผิวน้ำ...แต่พอ เรือล่ม พี่ดำก็เข้ามาสวมกอดสัมผัสไปที่จุดกระสันตั้งแต่ทรวงอกไล่ต่ำลงไปจนเรณูตั้ง ตัวไม่ติด...ตอนนั้นเรณูร้อง  ห้ามเสียงหลง และเสียงก็กระเส่าลงเรื่อย ๆ เพราะลึก ๆ แล้ว เลือดในกายของเรณูก็รุ่มร้อนทุกครั้งที่เห็นสรีระเนื้อหนั่นของพี่เขย...วัน นั้นเรณูทอดกายให้เขาเชยชมที่หลังพงหญ้า...เรณูรู้สึกถึงความเสียวซ่าน ปลดปล่อยความอึดอัดในวัยสาว รู้ซึ้งถึงอารมณ์คู่ผัวตัวเมีย จนลืมผิดชอบชั่วดี

          เมื่อ มีครั้งแรกก็มีครั้งต่อ ๆ มา ตามแต่ทั้งคู่จะหาวิธีหลบหลีกสายตาของผู้ใหญ่และคนใกล้ตัวมาได้ และในที่สุดเรณูก็ตั้งท้อง...พี่ดำหวังจะเก็บเรณูไว้เป็นเมียอีกคน แต่พี่สายทองไม่ยอม...เรื่องนี้ทำให้บ้านหลังนี้ร้อนเป็นไฟ พี่สายทองจะให้เรณูทำแท้งแล้วต้องไปจากที่นี่ เรณูไม่ยอมเพราะกลัวบาปกรรม แม่จึงให้เรณูไปอยู่กับคนรู้จักกันที่ตำบลหัวหวาย อำเภอตาคลี

   พอใกล้คลอดแม่ก็ไปอยู่เฝ้า พอเรณูคลอดป๊อก แม่ก็อุ้มป๊อกกลับมาที่บ้าน โดยแม่บอกกับคนอื่น ๆ ว่าป๊อกเป็นลูกหลง...ทั้งที่คนอื่น ๆ ก็รู้ว่าอะไรเป็นอะไร

          ส่วนเรณูนั้นก็มีญาติชักนำให้ไปเป็นลูกจ้างร้านโชห่วยในตลาดตาคลี กระทั่งปี ๒๕๐๗ กองทัพสหรัฐเข้ามาใช้ประเทศไทยเป็นฐานทัพในการปฏิบัติการทางอากาศในสงคราม เวียดนาม โดยเฉพาะที่สนามบินตาคลี ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญแห่งหนึ่ง คราวนั้นตาคลี คลาคล่ำไปด้วยทหารจาก  แดนไกล วิถีชีวิต ระบบธุรกิจเปลี่ยนไปรองรับกำลังซื้อที่มีอย่างมหาศาล     

          ผับ บาร์ สถานเริงรมย์ บังกะโล ผุดขึ้นมากมาย ผู้คนหลั่งไหลมาจากทั่วสารทิศ และช่วงนั้นพ่อของเรณูก็ล้มป่วย แม่ต้องการเงินไปรักษาพ่อ จึงมาขอเบิกจากเถ้าแก่ไปก่อน นั่นเป็นเหตุผลอันสวยงามที่ทำให้เรณูตัดสินใจกระโจนเข้าสู่วงการน้ำกาม... กลายเป็นผู้หญิงกร้าน แกร่ง และไม่ได้คิดเกรงกลัวต่อสิ่งใด กระทั่งเรณูพบกับปฐม...

          ความรักวิ่งเข้าชนหัวใจของเรณูอีกครั้ง...เอาชนะเขาด้วยความสาว ความสวย และคุณสมบัติที่ผู้หญิงดี ๆ ทั่วไปพึงมีไม่ได้ เรณูก็ต้องใช่เล่ห์กล มนตรา ซึ่งเป็นวิธีสกปรกเข้าช่วย...และเรื่องสุดท้ายที่เรณูหลอกเขาก็คือ เรื่อง ‘ตั้งท้อง’



 
“นะ ม้า...ซื้อให้ผมเถอะนะ ผมสัญญาว่า พอได้กล้องแล้ว กลับไปจะเก็บกวาดห้องให้เป็นระเบียบเรียบร้อยไม่ให้อาอึ้ม เอามาบ่น มาว่าได้” จริง ๆ แล้วนางหลักฮวงคู่สะใภ้นั้นไม่ได้ ‘ฟ้อง’ เป็นแต่นางย้อยที่ ‘อ้าง’ เอง เพราะน่าจะทำให้เรื่องมีน้ำหนักยิ่งขึ้น

          “มันไม่ใช่ของจำเป็น...สิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ” นางย้อยยืนกระต่ายขาเดียว...ทั้งที่ใจนั้นอ่อนยวบตั้งแต่เจอลูกอ้อนครั้งแรก

          “เพื่อนผมใคร ๆ เขาก็มีกัน กล้องถ่ายรูปสามารถเอามาหากินได้นะ รับจ้างเขาถ่ายรูปได้ ญาติเราตั้งเท่าไหร่ เริ่มจากงานแต่งเฮียตงนี่เลยม้า เดี๋ยว
ผมกลับมาถ่ายให้ ม้าจะได้ไม่ต้องไปเสียเงินจ้างคนอื่นเขา”
 
          “รู้ไหมว่างานแต่งคราวนี้ใช้เงินเท่าไหร่...ไหนจะต้องเก็บเงินไว้เช่าซื้อตึกนั่นอีก...มีแต่เรื่องใช้เงินทั้งนั้น”

          “กล้อง ถ่ายรูปมันกี่บาทที่ไหนกันละม้า  ซื้อให้ผมเถอะนะ ซื้ออะไรให้ผมแล้ว ผมเคยทิ้งขว้างที่ไหน กีต้าร์ผมก็เล่นได้ ฮาร์โมนิก้าผมก็เป่าได้ เมื่อคืนก็เป่าให้ม้าฟังตั้งหลายเพลง”

          “เพลงอะไร ฟังไม่รู้เรื่อง หนวกหูชะมัด”

          “หนวกหูแต่ม้าก็หลับปุ๋ย เรียกเท่าไหร่ก็ไม่ยอมตื่น” ที่เขายังไม่ยอมกลับปากน้ำโพ เพราะจะอยู่ ‘อ้อน’ เอา กล้องนี่ถ่ายรูปนี่แหละ อ้อนมาหลายวัน ยอมทำตามใจแม่ ช่วยพี่ ๆ ทำงานอยู่หลายวัน แม่ก็ยังใจแข็ง...กระทั่งเมื่อคืนเขานึกครึ้มใจ หยิบฮาร์โมนิก้าอันเก่าที่เอามาทิ้งไว้ให้พี่ชายฝึกเป่าเล่นแทนขลุ่ย เดินเข้าห้องไปเป่ากล่อม...หวังให้แม่ใจอ่อนเหมือนนางผีเสื้อสมุทรได้ยินเสียง ขลุ่ยของพระอภัยมณี แต่ว่าแม่ก็หลับปุ๋ยเขย่าเรียกเท่าไหร่ก็ไม่ยอมขานรับ...

          “หลับเพราะรำคาญหรอก.”

          “นะม้าขอกล้องถ่ายรูปนะ...นะนะนะ”

         เจ๊ก เซ้งนั่งกินข้าวไปพลางส่ายหน้าเบา ๆ...แล้วในที่สุด แกก็ตัดรำคาญโดยการตัดสินใจแทนเมียเสียเอง

          “ซื้อ ๆ ให้มันไป อย่างไรเราก็ต้องใช้ในเร็ววันอย่างที่มันว่า”

          “เย้...เตี่ย ใจดีชะมัดเลย เห็นไหมม้า เตี่ยตกลงแล้ว เหลือแต่ม้าแหละ อย่าใจแข็งนักเลยนะ”

          ตอน นั้นนางย้อยเหลือบตามองหน้าคนช่วยหาเงินอีกสองคน...ประสงค์อ่านตาของแม่ก็ รู้ใจ เขาพยักหน้า ส่วนกมลที่รู้ว่ากล้องตัวนั้นตนจะมีสิทธิ์ได้ใช้ด้วยเพราะมงคลไม่ใช่คนหวงของ ก็พยักหน้าเช่นกัน...

          พอ คนหาเงินเข้าบ้านอีกสามคนตกลง นางย้อยจึงบอกว่า “เงินทองในบ้าน ม้าไม่ได้หาคนเดียวนะสี่...พี่เขาก็ช่วยกันหา ทำงานหนักกันแค่ไหน แกก็เห็น...เพราะฉะนั้น จะใช้อะไรเกินความจำเป็น ม้าก็ต้องถามความเห็นของพวกเขาก่อน”

          พอ แม่บอกอย่างนั้นมงคลก็ยิ้มออกมา...เขาหันไปถามประสงค์กับมงคลว่าอนุญาตไหม พอทั้งคู่ บอกว่า “อืม ก็ดี” นางย้อยจึงบอกว่า

          “ให้ก็ได้ แต่แกต้องสัญญากับม้าก่อนว่า จะตั้งใจเรียนให้มากขึ้นกว่าเดิม จะไม่เที่ยวเตร่ให้อาแปะอาอึ้ม อาม่า ต้องหนักใจอีก”

          นาง ซกเพ้งแม่ของเจ๊กเซ้งนั้นยังอยู่ในบ้านหลังนั้น แต่ว่านางก็ไม่เอาธุระอะไรกับลูกหลานแล้ว วัน ๆ ก็หมกตัวอยู่แต่ในห้อง สวดมนต์ไหว้พระไปตามประสาไม้ใกล้ฝั่ง...ผิดกับนางลิ้ม อาม่าของเจ๊งเซ้ง ที่ทำกับลูก ๆ หลาน ๆ อย่างกับคนละคน...

          “สัญญา...ม้า สัญญาว่าจะเรียนจบด้วยคะแนนเปอร์เซ็นต์สูง ๆ ชนิดไม่เป็นสองรองใคร”

        นาง ย้อยได้ฟังวาจาเกินจริง ก็ส่ายหน้าเบาๆ ก่อนจะบอกว่า “อ้อ...แล้วเรื่องผู้หญิง ลื้อก็ดูให้มันดี ๆ หน่อยนะ ไปอยู่ถึงโน่นแล้ว มองพวก ลูกเจ้าของห้าง เจ้าของร้านไว้ พวกต่ำกว่าเรา อย่าไปมอง อย่าไปสนใจ รู้ไหม”

          “ข้อนั้นผมรู้ดีหรอกม้า สบายใจได้”

          “รู้ดีก็พลาดได้ ดูอย่างตั่วเฮียของแกเป็นตัวอย่าง”

          พอเห็นว่าแม่จะวกกลับไปหาเรื่องของเรณู กมลก็รีบคีบผัดผักบุ้งใส่จานให้แล้วบอกว่า “ม้า...กินข้าว เย็นหมดแล้ว”
 


          พอ เห็นสายยูพร้อมแม่กุญแจบนประตูห้องมีเพิ่มมาอีกหนึ่งอัน... หัวคิ้วของเรณูก็ขมวดเข้าหากัน...ใจนั้นรู้ดีว่านางย้อยคงแผลงฤทธิ์อีกเป็น แน่ หญิงสาวเดินไปหาแจ่มที่กระท่อม...ปรับน้ำเสียงและสีหน้าให้เป็นปกติ...

          “แจ่ม ใครเอากุญแจมาติดประตูรึ”

          “เถ้าแก่เนี้ยจ้ะพี่”

          “มีชะแลงไหม” เรณูถามเสียงเย็น...

          “อย่างัดเลย ไปคุยกับเขาก่อนดีกว่า”

          “ตั้งใจหาเรื่องกันชัด ๆ เลย”

          ตอน นั้นเป็นเวลาค่ำแล้ว เรณูเดินกลับมาที่หน้าห้อง หยิบพวงปลาเค็มที่ตั้งใจซื้อมาฝากนางย้อยติดมือไปด้วย พอไปถึงที่ร้านก็พบว่าร้านนั้นปิดประตูด้านหน้าแล้ว เรณูร้องเรียกพร้อมกับเคาะประตู...อึดใจประสงค์ก็เปิดประตูให้...ไฟฟ้าแรงเทียนต่ำบนเพดานตรงโต๊ะบัญชี สว่างพอประมาณ...

          “ตง แม่อยู่ไหม”

          “ขึ้นชั้นบนไปแล้ว...มีอะไรหรือซ้อ”

          “จะมาขอกุญแจไขเข้าบ้าน” สีหน้าและน้ำเสียงของเรณูนั้นดูไม่ทุกข์ ไม่ร้อน และไม่หวาดหวั่นแต่อย่างใด...

          “เดี๋ยวผมขึ้นไปถามให้นะ รอแป๊บ” เรื่องที่แม่สั่งให้คนงานเอาสายยูกับกุญแจไปคล้องปิดห้องของเรณูไว้นั้น กมล บอกกับประสงค์ไว้แล้ว เขารู้แล้วว่า ‘สงคราม’ ระหว่าง แม่ผัวลูกสะใภ้อย่างไรก็เกิดขึ้นแน่นอน...อึดใจประสงค์ก็เดินลงมาโดยเขา พยายามเกลื่อนสีหน้าให้เป็นปกติ...

          “ม้าบอกว่าพรุ่งนี้จะเอาไปให้เอง”

          “อ้าว คืนนี้ พี่จะนอนที่ไหนละ”

          ไม่มีคำตอบจากประสงค์ สุดท้ายเรณูก็บอกว่า “ถ้าอย่างนั้น เอาปลาเค็มฝากไว้ให้เถ้าแก่เนี้ยด้วยนะ ปลาช่อนจากบึงบอระเพ็ดตัวใหญ่กว่าปลาแถว ๆ นี้ เห็นแล้วก็นึกถึง...พี่ไปละ” ว่าแล้วเรณูก็ผละจากไป...ประสงค์มองตามไปแล้วถอนหายใจออกมา

 
          แม้ใจจะเดือดพลั่กๆ แต่เรณูก็ได้สติว่า หากใช้อารมณ์ ความรุนแรง มีหวังคงได้แตกหัก...เมื่อนางย้อยเล่นไม้แข็ง เธอจะใช้ไม้นวม...ให้มันรู้ไปว่าใครมันจะแน่กว่ากัน...เดินพ้นจากซอยซึ่ง เป็นที่ตั้งของเรือนแถวของนางย้อยมาแล้ว เรณูก็ยังนึกไม่ออกว่าจะไปทางไหน นอนตากยุงอยู่หน้าห้อง นอนบนแคร่ทำขนม หรือขออาศัยบ้านแจ่มนอน นับเป็นทางออก แต่เรณูคิดว่า ตนมีทางออกที่ดีกว่านั้น...สายตาของเรณูมองเห็นโรงหนัง เพื่อฆ่าเวลาให้หมดไปก่อนที่ฟ้าจะสาง เรณูจึงเดินไปทันที...

          ก่อนจะทรุดตัวลงนั่งบนเก้าอี้ตามแสงจากไฟฉายของเด็กเดินตั๋ว เรณูก็พบว่า ที่นั่งข้าง ๆ ตนนั้นเป็นที่นั่งหมุ่ยนี้ ถัดจากหมุ่ยนี้เป็นหญิงสาวและชายหนุ่มที่เหลือบมองเรณูเพียงแค่แวบเดียวเท่า นั้น

          “หนังฉายไปครึ่งเรื่องแล้ว เข้ามาทำไมเนี่ย” หมุ่ยนี้กระซิบถาม หลังจากเรณูนั่งลง...

          “เข้าบ้านไม่ได้จ้ะ” เรณูหันไปกระซิบบอก

          “อ้าว ทำไมละ...กุญแจบ้านหายรึ”

          “เปล่าหรอก กุญแจไม่หาย แต่แม่ผัวหนู เขาเอากุญแจอีกดอกหนึ่งไปคล้องไว้ ไม่ให้หนูเข้าห้อง”

          “อะไรนะ”

          “เจ๊ฟังไม่ผิดหรอกจ้ะ หนูกลับไปงานศพแม่ที่เกรียงไกรมา กลับมาแกก็ปิดห้องไม่ให้เข้า ไม่รู้เป็นอะไรของแก พอเดินไปถามที่ร้าน ตงมาเปิดประตูรับหน้า แล้วตงก็ขึ้นไปขอกุญแจให้ แกบอกกับตงมาว่า พรุ่งนี้จะเอาไปให้ที่โรงสีเอง”

          “แบบนี้มันหาเรื่องกันชัด ๆ ...ทำไมถึงทำกันได้ถึงเพียงนี้นะ แล้วคืนนี้จะนอนที่ไหนได้ละเนี่ย”

          “หนังจบ คงกลับไปนอนหน้าห้องพักที่โรงสีนั่นแหละจ้ะ”

          “ยุงได้หามเอา”

          “เดี๋ยวจะสุมกาบมะพร้าวไล่ยุงไว้ คงพอบรรเทาไปได้บ้าง”

          “เอาอย่างนี้ไหม นอนบ้านแจ้ก่อน ที่บ้านมีแต่ผู้หญิง ใครก็เอาไปว่าไม่ได้หรอก”

          เรณูนิ่งคิด...

          “นอนกับจันตามันได้ ห้องจันตากว้างขวาง...จันตา คืนนี้เดี๋ยวให้เรณูเขานอนด้วยสักคืนนะ”

          จันตาแม้ไม่ได้ยินเรื่องที่หมุ่ยนี้กับเรณูคุยกันทั้งหมด แต่หญิงสาวก็พยักหน้า...เรณูจึงตอบตกลง โดยหญิงสาวบอกกับหมุ่ยนี้ว่า

          “นอนก็ได้จ้ะ แต่สักตีสี่ หนูก็จะต้องขอตัวออกจากบ้านเจ๊นะจ๊ะ”

          “กลับไปทำอะไรตั้งแต่เช้ามืด”

          “หนูยังไม่ได้กลับบ้านที่โรงสีหรอก หนูจะแกล้งไปนอนเฝ้าที่หน้าร้านแกนั่นแหละ ใครผ่านไปผ่านมาเห็นเข้า...ทีนี้เอง” จบประโยคเรณูก็ยิ้มอย่างคนเจ้าเล่ห์ หมุ่ยนี้นิ่งคิดตามแล้วยิ้มออกมาได้เหมือนกัน...

          “ใช่ ทีนี้เอง...เรื่องคงดังไปทั่วชุมแสง”
 
          พอออกมาจากโรงหนัง เรณูถึงได้รู้ว่าหมุ่ยนี้ไม่ได้มาดูหนังลำพังกับเด็กใน ร้าน แต่มีปลัดอำเภอมาดูด้วย...ตามสายตาของเรณู ปลัดจินกรนั้น   ดูท่าจะให้หมุ่ยนี้เป็นแม่สื่อให้...พอเห็นหน้าจันตาชัด ๆ รู้ประวัติความเป็นมาของจันตาคร่าว ๆ จาก หมุ่ยนี้ เรณูก็สรุปได้ว่า หน้าสวยหวานปานนี้ ใครละ จะไม่อยากได้ไปประดับเรือน...ถ้าจะมีตำหนิก็ตรงที่หญิงสาวยากจน ถึงได้ออกจากบ้านมาขายแรงงานเหมือนกับที่เรณูเคยทำมาแล้ว

          ปลัดจินกรกลับบ้านพักของตนเองไปแล้ว หมุ่ยนี้ก็เปิดประตูพาเรณูเข้าบ้าน...หลังล้างหน้าเปลี่ยนเสื้อผ้าเป็นผ้า นุ่งกับเสื้อของจันตา...หมุ่ยนี้ก็ให้จันตาพาเรณูเข้าห้องนอน และยังกำชับให้จันตาลุกขึ้นมาเปิดประตูให้เรณูเมื่อเวลาก่อนฟ้าสางด้วย

          “พี่จะรีบไปไหนตั้งแต่มืดแต่ดึก ของก็ไม่ได้ทำขายไม่ใช่เหรอ” จันตารู้สึกข้องใจ...

          “อยู่บ้านนี้ เป็นไง ดีไหม” เรณูเปลี่ยนไปถามจันตาแทนจะต้องตอบคำถาม...

          “ดี อาม่า ดีกับฉันมาก เจ๊หมุ่ยนี้กับพี่สาวก็ดี”

          “เจอเจ้านายดี ก็ดีไป ตะก่อนพี่เป็นลูกจ้างอยู่ในร้านที่ตาคลี...รู้ไหมว่าพี่เจออะไรบ้าง”

          จันตานิ่งฟัง...

          “พี่ไม่มีห้องส่วนตัวแบบนี้หรอก นอนรวม ๆ กันกับพวกลูกจ้างคนอื่น ๆ กับข้าวกับปลาก็กินแบบอด ๆ อยาก ๆ มีแต่ผัดผัก มีแต่เต้าเจี้ยว เต้าหู้ยี้ มีแต่น้ำปลา...ทำงานตั้งแต่เช้าตรู่จนค่ำมืด เพราะของขายดีมาก แต่ให้ค่าแรงแค่นิดเดียว...แถมลูกชายเจ้าของร้านก็ชอบหาเศษหาเลย...เผลอเป็น จับนม จับตูด”

          “ก็หุ่นพี่น่าจับ” จันตาพูดออกไปด้วยหน้ายิ้ม ๆ

          “อยากจับไหมล่ะ” เรณูที่นั่งอยู่ข้าง ๆ จันตาถามพร้อมทำตาวาว ๆ จันตาส่ายหน้าเบา ๆ พลางยิ้มหวาน


          “ปลัด เขาดูท่าจะชอบเธอใช่ไหม เจ๊หมุ่ยนี้รู้เห็นเป็นใจใช่ไหม”

          จันตาพยักหน้า...

          “อย่าหาว่าพี่อย่างนั้นอย่างนี้เลยนะ ในฐานะที่พี่ผ่านโลกมามากกว่าเธอ พี่จะเตือนไว้ว่า คนพวกนี้ขี้มักเจ้าชู้ อย่าได้ไว้ใจไปไหน มาไหน กับเขาตามลำพังเด็ดขาด”

          คำพูดของเรณูนั้นยิ่งกว่าเข็มทิ่มแทงจิตใจของจันตา...เพราะความ ‘อ่อนต่อโลก’ จึงได้กลายเป็น ‘เหยื่อ’ โดยไม่รู้ตัว... แถมถูกตราหน้าว่า ‘โง่’ ‘หน้าด้าน’ และ ‘ไร้ยางอาย’ ซึ่งเป็นเหมือนรอยมีดที่กรีดลึกลงไปในหัวใจของจันตาจนยากลืมเลือน...

        จันตาแข็งใจเกลื่อนสีหน้าให้เป็นปกติ แล้วถามกลับไปว่า “ทำไมเหรอพี่”

          “ผู้ชายน่ะ ไอ้ตอนอยากได้ มันก็ดิ้นรนจะเอาให้ได้ ให้มันทำอะไรมันก็ยอม พอมันได้เราแล้ว มันก็เป็นอีกอย่าง พี่เห็นมาเยอะแล้ว อีกอย่างพี่ไม่ได้ดูถูกเธอนะจันตา คือเราต้องไม่ลืมว่า เราเป็นใคร เขาเป็นใคร เผื่อใจไว้บ้าง แผนพลิกขึ้นมาจะได้ไม่เจ็บ”

          “ก็จริง”

          “ถ้าเขารักเธอจริง อยากได้เธอไปเป็นคุณนายจริง ๆ เขาต้องพิสูจน์ตัวเองให้มากกว่าคนอื่น ๆ”

          “จะให้เขาพิสูจน์อย่างไรละพี่” จันตานึกอยากลองภูมิของคู่สนทนา

          “ตอนนี้เธอรู้หรือยังว่าบ้านช่องพื้นเพเขาคนที่ไหน มีลูกมีเมียอยู่ข้างหลังหรือเปล่า เขาคิดจะพาพ่อแม่มาดูตัวเธอหรือเปล่า เขาพูดถึงเรื่องแต่งงานบ้างไหม ออกเงินซื้อเสื้อผ้าของกินให้บ้างไหม และเขากล้าจะบอกกับคนที่ทำงานของเขาไหมว่าเขาชอบเธอ และไม่ฉวยโอกาสจาบจ้วงล้วงเกินเธอเมื่อมีโอกาส...เขาให้เกียรติเธอไหม...ก็ ประมาณนี้แหละ”

          “ขอบใจจ้ะพี่ ฉันจะจำคำเตือนของพี่ไว้”

          “เธอน่าจะรุ่นเดียวกับนังวรรณาน้องสาวของพี่ เห็นเธอแล้วก็นึกถึงมัน ห่วงเธอเหมือนห่วงมัน...เสียดายไม่ได้รู้จักกันก่อนหน้านั้น ไม่อย่างนั้นจะพามาแนะนำให้รู้จักกันไว้”

          “เราคงเคยทำบุญมาร่วมกันหรอกพี่ ถึงได้มาเจอกันที่นี่...หนูว่าอีกไม่นานหรอก หนูก็ต้องได้เจอเขา”

          เรณูยิ้มแล้วหาว...พลางหันซ้ายหันขวา มองหาหมอน หาผ้าห่ม...   จันตาเห็นดังนั้นจึงลุกไปที่มุมห้อง หยิบมายื่นให้แล้วก็ถามตอนดึงมุ้งลงว่า   

          “พี่จะไม่บอกฉันจริง ๆ รึว่าพรุ่งนี้พี่จะรีบไปไหนแต่เช้ามืด”


                   
          ออก มาจากร้านสังฆภัณฑ์แล้วเรณูก็เดินหลบหลีกยามประจำตลาดไปยังหน้าร้านของนาง ย้อย นั่งทนให้ยุงกัดอยู่อึดใจใหญ่ คนก็เริ่มเปิดร้านเปิดบ้านออกทำมาหากิน...พอเห็นว่ามีแม่ค้าตลาดสดกลุ่ม หนึ่งพากันหาบของเดินมา เรณูก็ล้มตัวลงนอนคุดคู้ โดยใช้แขนหนุนต่างหมอน...

          “ใครละน่ะ...ใครมานอนอยู่กงนั้น”

          เรณูเหยียดยิ้มก่อนจะแกล้งสลึมสลือลุกขึ้นนั่ง แล้วเกาแขนเกาเท้าของตน...

          “เอ๊ะ นี่มันอีเรณูลูกสะใภ้พี่ย้อยนี่...ใช่ไหม”

          “ใช่จ้ะป้า”

          “แล้วเอ็งทำไมมานอนอยู่กงนี้...บ้านช่องมี ทำไมไม่ไปนอน”

          “เอ่อ...คือ...เอ่อ” เรณูประวิงเวลา เพราะมั่นใจว่าอย่างไรแล้ว  พวกแม่ค้าชาวตลาดยังไม่อยากไปประจำแผงของตนแน่ ๆ ...

          “ฉันมารอเอากุญแจบ้านฉันจ้ะ”

          “แล้วมารอตั้งแต่เมื่อไหร่ ทำไมไม่เรียกเขาให้เปิดประตูเอากุญแจให้”

          “เรียกแล้ว เขาบอกว่า ตอนเช้าถึงจะให้” มันเป็นความจริง แม้จะไม่ทั้งหมดก็ตามที...แต่มันก็คล้ายกัน คือนางย้อยไม่ได้สนใจว่าคืนนี้เธอจะไปนอนที่ไหน...เพราะฉะนั้น ก็สมควรที่จะต้องถูกย้อนเกล็ดเอาบ้าง...มันถึงจะสาสมกัน

          “เรียกแล้ว แต่ไม่ยอมให้...มันอย่างไรกันละเหว่”

          “คืออย่างนี้จ้ะป้า...ฉันกลับมาจากงานศพแม่ฉัน ก็ดิ่งไปที่บ้าน แล้วที่หน้าห้องฉัน ปกติมีสายยูแค่ตัวเดียวคือของฉัน แต่ตอนนี้มันมีสายยูมีกุญแจมาเพิ่มอีกตัว...คนงานบอกว่า แม่ผัวฉันเขาให้คนเอามาติดเพิ่ม...ฉันก็เลยเข้าบ้านไม่ได้”

          “นี่มันกะจะไม่ให้เอ็งเข้าไปในบ้านนั้นอีกละซิท่า”

          “ให้เข้าจ้ะ แต่ว่า พรุ่งนี้ถึงจะให้เข้า ฉันไม่รู้จะไปนอนที่ไหน ก็เลยนอนรออยู่ตรงนี้แหละ...ทนยุงกัดเอาหน่อย ก็ยังอุ่นใจว่ามีแขกยามอยู่เป็นเพื่อน”

          “โถแม่คุณ...มานี่ เอา ยาหม่องของป้าไปทาซะนะ...ผิวพรรณดี ๆ เสียหมด เอาไปเลยป้าให้...ป้าไปกันก่อนนะ”

          “จ้ะป้า ขอบใจนะจ๊ะ” เรณูยกมือไหว้ แล้วน้ำตาเอ่อคลอลูกนัยน์ตาขึ้นมาจริง ๆ ...


         
          ถือกระโถนลงมาจากห้องนอน เข้าห้องน้ำ เทกระโถน ล้างหน้าล้างตาแล้วนางย้อยก็มาเปิดฝาชีที่วางครอบสำรับบนโต๊ะ เตรียมเก็บถ้วยจานชามล้าง เตรียมติดเตาหุงข้าว ตามความเคยชิน...ประสงค์ที่ตามลงมา ร้องทักแม่แล้วจะผละไปเปิดประตูร้านตามหน้าที่...

          “ตง ใครเอาปลาเกลือมา”

          “พี่เรณูเอามาฝากจากบ้านเขา...ต้มข้าวต้มกุ๊ยนะม้า ทอดปลากินกับข้าวต้มนะ ตัวใหญ่เนื้อเยอะดี ผมนอนน้ำลายไหลอยากกินตั้งแต่เมื่อคืน”

          เพราะมีแต่ลูกชาย นางย้อยจึงคุ้นชินกับคำพูดของลูก ๆ ทำนองว่า อยากให้แม่ทำอะไรให้กิน และแม่อย่างนางย้อย แม้จะเหนื่อยยากจากการทำมาหากิน ก็พร้อมจะ ‘เนรมิต’ ของกิน ตามความต้องการของลูก ของผัว...ด้วยคิดเพียงว่า ลูกกินอิ่ม นอนหลับ แม่ก็พลอยมีความสุขไปด้วย แต่สำหรับคำขอครั้งนี้ นางย้อยปฏิเสธเสียงเครียดทันควัน... “ไม่...จะไปอยากกินของมันทำไม”

          “เขามีแก่ใจเอามาฝากแล้ว...ก็รับไว้เถอะม้า” ประสงค์กับกมลนั้นปรึกษากันแล้วว่าจะพยายามช่วยกันโน้มน้าวใจให้แม่นั้นคลาย ความเกลียดชังเรณู...เพราะถ้าแม่ยังเป็นไฟอยู่อย่างนี้ อนาคตมันก็ไม่ดีกับทั้งตัวแม่เอง กับพี่ชายของพวกเขา ไหนจะหลานที่กำลังจะลืมตาดูโลกนั่นอีก...

          “ใครจะกินก็กิน แต่กูไม่กินของมัน”

          ประสงค์ส่ายหน้า โดยใจก็คิดว่า แม่ยอมทำให้กิน แม้จะยังไม่กินของของพี่เรณู ก็ถือว่าแม่อ่อนข้อลงมาบ้างแล้ว

          พอประสงค์เปิดประตูร้าน เขาก็ต้องผงะเมื่อเห็นว่า บรรดาเพื่อนบ้านต่างยืนออกันอยู่ และต่างก็มองมาที่เขาด้วยสายตาขุ่นเคือง...

          “มีอะไรกันรึเปล่า” เขาทักกลับไป...

          “อาตง แม่ลื้อตื่นหรือยัง”

          “ตื่นแล้ว กำลังก่อไฟหุงข้าว”

          แม้ครัวจะอยู่หลังบ้าน แต่เสียงพูดคุยกันดังผิดปกติ ทำให้นางย้อยต้องละมือแล้วเดินออกมา พอเห็นสีหน้าและสายตาเพื่อนบ้านนางย้อยก็ถามว่า

          “มีอะไรกันรึ”

          หลังได้ยินคำถาม คนที่ปากกล้าหน่อยก็เอ่ยขึ้นว่า

          “ตะกี้ที่ตลาดสดเขาคุยกันว่า เมื่อคืนแม่ย้อยปล่อยให้สะใภ้ใหญ่นอนตากยุงรอกุญแจอยู่ที่หน้าร้านทั้งคืน”

          “อะไรนะ” นางย้อยถามเสียงเครียด

          “ก็เมื่อคืน เรณูมันนอนตากยุงรอกุญแจจากแม่ย้อยอยู่ที่หน้าร้านนี้ เขาว่ากันว่า ยุงกัดมันจนเนื้อตัวแดงไปหมด...ทำไมแม่ย้อยถึงได้ใจร้ายใจดำกับคนกำลังท้อง กำลังไส้ได้ถึงเพียงนี้”

          ได้ยินดังนั้น นางย้อยก็หันซ้ายหันขวา มองหาคนต้นเรื่องคู่กรณี...พอไม่เห็นก็ถามว่า “แล้วตอนนี้มันอยู่ที่ไหน”

          “นังหมายแม่ค้าขายผลไม้เขารู้เข้า เขาสมเพชมัน เขาก็เลยเดินมาตามมันให้ไปนอนพักอยู่ที่ร้านเขาก่อน” คนพูดหน้ามุ่ย ดูเป็นเดือดเป็นร้อนแทนเรณูเป็นอย่างมาก...

          นางย้อยกลืนน้ำลายลงคอ แล้วเชิดหน้าขึ้น ก่อนจะบอกว่า

          “อาตง ลื้อไปตามมันมาหาม้าด่วน...อีนี่หาเรื่องเดือดร้อนให้กูแต่เช้าเลย เห็นทีจะอยู่ด้วยกันยาก”

          หลัง ประสงค์เดินไปทางตลาดสด...นางย้อยก็เสียมารยาท หันหลังเดินกลับเข้าหลังร้าน โดยไม่มีคำกล่าวลา...ส่วนเพื่อนบ้านผู้หวังดี ได้แต่มองหน้ากัน แล้วส่ายหน้าเบา ๆ

******************************


Title: Re: กรงกรรม บทประพันธ์ของ จุฬามณี
Post by: นักประพันธ์ on 29 February 2020, 20:19:09
ตอนที่ 10 : ใครทำใครก่อน


            ๑๐
 
 
          พอเห็นประสงค์เดินมา เรณูก็รีบลุกขึ้นแล้วเดินไปหา...ท่ามกลางสายตา ‘สอดรู้’ ของบรรดาพ่อค้าแม่ค้าในบริเวณนั้น

          “อยากให้แม่เธอด่าพี่ที่ตลาดหรือว่าที่โรงสีละ” เรณูไม่อ้อมค้อม แต่ก็พูดเสียงไม่ดังนัก ประสงค์ทำหน้าหนักใจ...

          “ถ้าอย่างนั้นก็กลับไปบอกแกว่า พี่กลับโรงสีไปแล้ว...แบบนี้ดีกว่าไหม”

          “ก็น่าจะดี...แต่อย่างไร พี่ก็ผิดนะ ที่ประจานแม่ผมกับคนทั้งตลาดแบบนี้”

          “ใครทำใครก่อนละ” เรณูเสียงแข็งขึ้นมา...

          “พวกผมก็ผิด ที่ไม่คิดช่วยพี่ไว้ก่อนหน้านั้น”

          “พวกเธอเป็นลูก จะไปขวางความคิดของแม่ได้อย่างไร ใช่ไหม”

          “ก็ใช่”

          “เอาเป็นว่า ถ้ามันไม่มากไป พี่จะยอมอ่อนข้อให้ ยอมให้โขกสับ ยอมเป็นไก่รองบ่อน แต่ถ้ามันตึงเกินไป...พี่ก็จะสู้ในแบบของพี่...พี่ไปละนะ” ว่าแล้วเรณูก็หันไปหาคน อื่น ๆ ยิ้มหวานให้แล้วก็บอกว่า “ป้า ๆ น้า ๆ จ๊ะ ฉันกลับโรงสีก่อนนะจ๊ะ แม่ผัวฉัน ให้อาตงเอากุญแจมาให้แล้วจ้า”

          ประสงค์ได้ยินดังนั้นก็รู้สึกโล่งอก...ทึ่งกับปฏิภาณไหวพริบของหญิงสาว... ‘เรณู’

         
          ประสงค์กลับมาถึงร้าน พบเตี่ยกับน้องชายลงมาจากข้างบนแล้ว...กมลที่เปิดร้านยกของออกมาวาง มองหน้าพี่ชายแล้วส่ายหน้าเบา ๆ หลังบ้านแม่กำลังเล่าเรื่องของเรณูให้เตี่ยฟังพร้อมกับก่นด่าไปด้วย...

          “พี่เรณูเขาไปไหนเสียแล้วละ” กมลเอ่ยถาม

        "แกกลับไปรอที่โรงสีแล้ว...แกว่าจะดุด่ากันก็ให้ตามไปที่โน่น จะได้ไม่ขายหน้าประชาชี” ...

          “อะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิด” กมลทำท่าคิดหนัก

          “ขายขี้หน้าชะมัดเลย” ว่าแล้วประสงค์ก็เดินเข้าไปหาแม่ที่ในครัว

          “ม้า เรณูเขากลับโรงสีไปแล้ว...ขอกุญแจบ้านเขาให้ผมนะ...เปิด ๆ ให้เขาไปซะ”

          “ไม่...มันกล้าลูบคมกู มันจะอยู่ร่วมแผ่นดินเดียวกับกูไม่ได้”

          “เขากำลังท้องลูกของตั่วเฮียนะม้า...อย่างไรเขาก็ได้ชื่อว่าเป็นสะใภ้บ้าน เรา” ประสงค์พยายามเอาน้ำเย็นเข้าลูบ...แต่นางย้อยก็ยังเสียงแข็ง...กมลเดินตาม เข้ามาสมทบ...

          “กูไม่นับมันเป็นสะใภ้กู” ดวงตานางย้อยแข็งกร้าว...หม้อข้าวบนเตาอั่งโล่ที่เดือดอยู่ ก็ยังเดือดไม่เท่าอารมณ์ในอกของนาง...

          “ม้า เอากุญแจมาเถอะนะ...อั๊วขอเถอะ อย่ามีเรื่องกันเลย” กมลช่วยอีกแรง

          “แต่กูอยากมี ไหน ๆ คนชุมแสงมันก็มองกูเป็นคนไม่ดีไปแล้ว พวกมันจะได้รู้ว่าเวลากูร้าย กูร้ายได้ถึงเพียงไหน”

          “ม้า...นะ อั๊วขอ...อย่าให้ต้องมีเรื่องมีราวกันเลยนะ ต่างคนต่างอยู่กันไป” กมลยังพยายามตะล่อม

          “แต่มันหลอกพี่มึง หลอกกู หลอกพวกมึง หลอกพวกเราทั้งโคตร มันมีลูกมีผัวแล้ว มันเป็นผู้หญิงขายตัว มันควรจะต้องไปจากที่นี่” ทุกถ้อยทุกคำที่หลุดออกมานั้น มันออกมาจากใจที่รู้สึกเจ็บช้ำ รู้สึกว่าถูกเรณูกระทำก่อน...พอได้ระบาย น้ำตาจึงไหลออกมาจากหางตาของนางย้อย ด้วย...ถึงเรื่องมันจะเลยเถิดมาถึงขนาดนี้แล้ว อย่างไรนางก็ยังสงสารปฐม อยากให้ลูกชายมีเมียที่ดี มีอนาคตที่ดีกว่านี้...เพราะผู้หญิงตอแหลดอกทองอย่างเรณู ไม่มีวันทำให้ชีวิตของเขาพบเจอความสุขความเจริญแน่ ๆ นางย้อยเชื่ออย่างนั้น

          “เขาก็คงมีเหตุจำเป็นของเขา...เขาคงไม่ได้ตั้งใจหลอกใครหรอกม้า”

          “ซามันพูดถูกนะม้า”

          “กูอยากรู้เหลือเกินว่าอาใช้มันรู้เรื่องที่อีนี่มีลูกมีผัวมาก่อนไหม ถ้ามันไม่รู้...ก็แสดงว่ามันจงใจหลอก ถ้ามันหลอกได้ เรื่องหนึ่งแล้ว เรื่องอื่นจะเชื่อมันได้ไหม ลูกในท้องมัน จะใช่ลูกพี่พวกมึงรึเปล่า พวกมึงคิดกันบ้างไหม...เงินทองหามาได้ต้องเอาไปเลี้ยงลูกเลี้ยงหลานนอกไส้ มันสนุกนักหรือไง”

          ทุกคนนิ่งเงียบ...นางย้อยหันไปคนหม้อข้าวที่กำลังเดือดพล่านพลางเช็ด น้ำตา... พอเห็นว่าแม่ได้ระบายจนคลายความคับแค้นใจแล้ว กมลจึงบอกว่า

           “ขอกุญแจบ้านเขานะม้า นะม้า ผมขอ...เห็นแก่ผมนะม้า”

          นางย้อยนิ่งเงียบ...ประสงค์จึงพยักหน้าให้เตี่ยช่วยพูดบ้าง...

          “อาย้อย...ให้กุญแจอาซามันไปเถอะนะ เรื่องจะได้จบ ๆ กันไป...   ด่ากัน ทะเลาะกัน ชาวบ้านได้ยินก็ได้แต่เก็บเอาไปนั่งหัวร่อ...เรื่องลูกในท้องของอี จะใช่หรือไม่ใช่ลูกอาใช้ เดี๋ยวอีกไม่กี่เดือนเราก็รู้กัน...ตอนนี้ เราเย็นไว้ก่อน ถึงเวลามันออกมา หน้าตาเด็กมันไม่มาทางเรา อั๊วจะจัดการเอง.”

          นางย้อยนิ่งคิด...และในที่สุดนางย้อยก็ต้องยอมอ่อนข้อ... “อาซาลื้อเอากุญแจไปให้มัน แล้วก็เอาปลาของมันไปคืนมันด้วย...อาตง ถ้าลื้ออยากกินปลาทอด ลื้อก็ออกไปซื้อมา เลือกหาเอาที่ตัวใหญ่กว่าที่มันเอามาให้ด้วยนะ”

          “ได้ม้า ผมจะรีบไปรีบกลับ” ว่าแล้วประสงค์ก็รีบออกไป...

          ส่วนกมล หลังแม่บอกที่เก็บกุญแจแล้ว เขาก็ถือพวงปลาเค็มพวงใหญ่เดินไปคว้าจักรยานปั่นออกไปจากบ้าน...นางย้อยนั่ง นิ่งอยู่หน้าเตา...เจ๊กเซ้งที่นั่งจิบน้ำชาจึงขยับเข้าไปหา ทรุดนั่งยองข้าง ๆ กัน แล้วบอกว่า

          “ลื้อ กับ อั๊วลำบากกันมาเยอะแล้วนะอาย้อย  อย่าใช้ชีวิตในบั้นปลายให้มันยากลำบากกันอีกเลย...เรื่องลูก ๆ ของเรา บางที เราก็ต้องปล่อยให้มันมีชีวิตไปตามเวรตามกรรมของมันเองบ้าง ลื้อเข้าใจที่อั๊วพูดไหม”

          ได้ยินดังนั้น นางย้อยก็ปล่อยโฮออกมา แล้วก็พูดทั้งน้ำตานองหน้าว่า “แต่ฉันสงสารลูก ฉันสงสารอาใช้”


         
          เสียงกริ่งจักรยาน ทำให้หมุ่ยนี้กับจันตาที่เพิ่งเดินกลับจากตลาดสด หันหลังไปมองต้นเสียง...

          กมลยิ้มหวานให้กับสาวใหญ่กับสาวน้อยแล้วเบรกรถดังเอี๊ยด...

          “ไปซื้ออะไรแต่เช้า แจ้”...เขาเป็นคนปากไวและพร้อมจะพูดคุยกับคนก่อนเสมอ

          “นอนไม่หลับ เมื่อเช้ามืดแจ้ได้ยินเสียงไก่มันขันว่า... ‘ตื่นเร็ว ๆ มีเรื่องร้อน ๆ ที่ตลาด...ตื่นเร็ว ๆ ๆ ๆ ๆ ’” ท้ายประโยคหมุ่ยนี้ทำเสียงเลียนแบบเสียงไก่ขัน ทำให้จันตาถึงกับอมยิ้ม

          “ไก่บ้านไหนน้อ” ถามทั้งที่ยังค่อมจักรยานอยู่ สายตานั้นแม้จะอยู่กับคู่สนทนาแต่มันก็อด ‘วอกแวก’ ไปหาสาวน้อยผมยาวสลวย ยืนอยู่ด้านหลังหมุ่ยนี้ นั่นไม่ได้ ...

          “ไก่ที่โรงสีเถ้าแก่เซ้ง”

          “เดี๋ยวสาย ๆ มันตายแน่ ๆ ไก่เนรคุณ...เรื่องในบ้านแท้ ๆ เที่ยวได้โพนทะนาไปทั่ว”

          หัวเราะกับมุกตลกของเขาแล้วหมุ่ยนี้ก็ถามว่า “แล้วนี่จะไปไหนแต่เช้า...เอาปลาไปไหน”

          “ไปโรงสี เอาปลาไปให้พี่เรณู”

          “ซื้อปลาไปให้ซ้อเธอ”

          “เปล่า ซ้อเขาเอามาฝากม้า แต่ม้าไม่กิน ให้ส่งกลับเจ้าของ...พร้อมกับกุญแจห้อง” กมลจำต้องเผยเรื่องในบ้านออกมาเสียเอง...

          “ถ้าอย่างนั้นก็รีบไป เขาจะได้เข้าห้อง อาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้า... อ้อ บอกเขาด้วยว่า ถ้าว่าง ๆ ไม่ได้ทำอะไรก็มานั่งคุยกันที่ร้านได้นะ”

          “แล้วไปสนิทสนมกันตั้งแต่เมื่อไหร่ ถึงได้ชวนมาเที่ยวเล่นที่บ้าน”

          “จันตาบอกอาตงไปซิว่า เรารู้จักเรณูตั้งแต่เมื่อไหร่”

          จันตาส่ายหน้ายิ้มๆ ...เป็นยิ้มที่ทำให้ ใจของกมลรู้สึกหวั่นไหวเสียอย่างนั้น...

          “จะบอกให้ก็ได้ เมื่อคืนนี้ แจ้เจอเรณูที่โรงหนัง เรณูเล่าเรื่องกุญแจบ้านให้ฟัง แจ้เห็นว่า เขาหาที่นอนไม่ได้ก็เลย ให้มานอนกับจันตา”

          “แล้วคนอื่นไปเห็นเขานอนที่หน้าร้านได้อย่างไร”

          “เขาเพิ่งลุกไปเมื่อตอนตีสี่นี่เอง ใช่ไหมจันตา”

          “ใช่จ้ะ.”

          “แบบนี้เรียกว่าสมรู้ร่วมคิดกันใช่ไหม ทำไมแจ้ไม่ห้ามเขาเสียก่อน” เขาแสร้งทำเสียงขุ่น ๆ ...

          “บางทีแจ้ก็อยากดูหนัง ดูลิเก นอกวิก นอกโรง บ้างเหมือนกัน”

          “ผู้หญิงนี่ร้ายลึกทุกคน” กมลว่าให้...หมุ่ยนี้ไหวไหล่เหยียดยิ้ม...แล้วกมลก็บอกว่า “งั้นผมไปโรงสีก่อนนะแจ้...ไปละ”

          พอรถของกมลเคลื่อนจากไป หมุ่ยนี้ก็พูดขึ้นมาลอย ๆ ว่า “ถ้าดูไม่ผิด แจ้ว่า อาซา ดูท่าจะชอบเด็กที่บ้านแจ้เข้าให้แล้ว”

          “ดูตรงไหน...ไม่เห็นเขาจะแสดงอาการอะไรเลย”

          “คุยกับแจ้ แต่ตาเขามันมองข้ามหัวแจ้ไปหาเธอ...หน้าก็แดงๆ เขินๆ แล้วที่เขาบอกว่า ‘ไปละ’ แจ้รู้สึกว่าเขาไม่ได้อยากบอกแจ้...แต่เขาอยากบอกเธอมากกว่า”

          จันตาได้แต่ยิ้มเขิน...แล้วก็ต้องเดินหนีเมื่อหมุ่ยนี้ถามว่า “ระหว่างคุณปลัดกับอาซา เธอว่าใครน่ารักกว่ากัน”

 *******

 
          “พี่ก็อยากรู้เหมือนกันว่า แม่ของเธอเขาโกรธเคืองอะไรพี่ ถึงกับต้องติดกุญแจเพิ่มไม่ให้พี่เข้าห้อง”

          “ม้าเขาไปได้ยินมาว่า พี่มีลูกมีผัวมาก่อนจะเจอตั่วเฮีย”

          “ใครบอกเขา”

          “แกได้ยินคนบนรถไฟคุยกัน  ม้าเขาว่าอย่างนั้น...จริงหรือเปล่าละพี่”

          เรณูนิ่งเงียบ...ยังไม่ทันจะตอบ กมลที่ยังค่อมจักรยานอยู่ก็ถามว่า “แล้วตั่วเฮียผมรู้เรื่องนี้หรือเปล่า”

          เพราะเห็นว่าเขาเป็นมิตรไม่คิดร้าย...เรณูจึงต้องเปิดใจให้เขารู้ประวัติ ความเป็นมาของเธอบ้าง...เพราะถ้าเขา ‘เข้าใจ’ เขาน่าจะ ‘ปกป้อง’ เธอ ได้บ้าง

          “ไม่รู้...พี่ยังไม่ได้บอกเขาหรอก แต่ในอนาคตก็คงต้องบอก  หลังแม่พี่ตาย ลูกพี่ก็ไม่มีใครเลี้ยง ตอนแรกพี่จะเอาเขามาอยู่ที่นี่ด้วย แต่พอดีเขาเลือกที่จะอยู่วัดกับหลวงพ่อ ซึ่งเป็นญาติกันซะก่อน...เมื่อวาน ถ้าพามาด้วยก็คง”

          “แล้วพ่อของเขาละ”

          “พี่ท้องกับพี่เขยตั้งแต่อายุ ๑๗...พอพี่สาวพี่รู้ บ้านแทบจะลุกเป็นไฟ แม่พี่ให้พี่หลบไปอยู่หัวหวาย จนคลอด แล้วแม่พี่ก็ไปรับลูกพี่มาเลี้ยง ลูกพี่ไม่ได้เรียกพี่ว่าแม่หรอกซา เรียกพี่ว่าพี่...แม่พี่เขาเอามาเลี้ยงตั้งแต่มันเกิด บอกกับคนอื่นว่ามันเป็นลูกหลง หลังคลอดมันแล้ว พี่ก็ไปเป็นเด็กหน้าร้านที่ตาคลี แบบร้านเธอนี่แหละ แล้วก็มาทำงานที่บาร์ จนเจอกับพี่ใช้”

          พอได้ยินคำตอบที่รู้สึกว่ามันไม่ใช่ ‘เรื่องแต่ง’ แน่ ๆ  กมลก็ถอนหายใจออกมาอย่างแรง...

          “พี่รู้ตัว ว่าพี่ไม่ใช่ผู้หญิงดิบดีอะไร...แต่พี่บอกเธอกับเธอได้คำเดียวว่าพี่รักพี่ชายของเธอจริง ๆ ไม่ได้คิดมาหลอกลวง ไม่ได้คิดมาปอกลอกเอาอะไร นอกจากอยากอยู่กับคนที่พี่รัก อยากตั้งต้นชีวิตใหม่ เท่านั้นจริง ๆ ซา”

          “แล้วตั่วเฮียผมรักพี่หรือเปล่า”

          “รัก ไม่รัก พี่ไม่รู้ แต่พอเขารู้ว่าพี่ท้อง...เขาก็เต็มใจรับผิดชอบ แล้วพาพี่มาที่นี่” เรณูจงใจตอบให้เขาตีความเอาเอง

          กมล นึกถึงห้วงเวลาสั้น ๆ ที่มองเห็นสายตาของปฐมที่มองดูเรณู และคำพูดฝากฝั่งเมียไว้กับเขาก่อนจะกลับเข้าค่าย ก็พอคล้อยตามได้ว่า เฮียใช้คงจะรักเรณูอยู่บ้าง เพราะว่าไปแล้ว ถึงเรณูจะไม่ได้สวยงามอ่อนหวานอย่างจันตา แต่พออยู่ใกล้ๆ เขาก็รับรู้ได้ว่า ผู้หญิงคนนี้ มีเสน่ห์พอตัว  ยามคุยด้วยก็ไม่รู้สึกเบื่อ งานบ้านงานเรือนก็คล่องแคล่ว...

          “ซา...วันหนึ่งถ้าซารักใครมาก ๆ ซาจะมองข้ามตำหนิของเขา ข้อผิดพลาดในอดีตของเขาได้ไหม”

          กมลไม่คิดว่าจะเจอคำถาม ถามกลับแบบนี้ เขานิ่ง คิดตาม...

          “ซายังไม่เคยรักใคร ชนิดตายแทนได้เลยใช่ไหม”

          “ยังไม่เคย”

          “ความสุขของคนที่มีความรัก คือได้อยู่กับคนที่เรารักนะซา ทุกข์มันก็ทนได้ ถ้าใจมันสมปรารถนา”

          กมลยังคงนิ่งเงียบ...เรณูเห็นดังนั้นจึงหัวเราะ ยิ้มเศร้า ๆ แล้วบอกว่า “พี่เอาเรื่องซับซ้อนมาคุยกับซาหรือเปล่า”

          “เปล่า แต่ที่ผม ยังไม่เข้าใจ อาจจะเป็นเพราะว่า ผมยังไม่ได้รักใครอย่างที่พี่รัก ก็เท่านั้นเอง”

          “วันหนึ่ง ถ้าซามีปัญหาหัวใจ ซาปรึกษากับพี่ได้นะ...ถึงพี่จะเรียนหนังสือมาน้อย แต่พี่มั่นใจว่า พี่เจอคนมาเยอะ”

          “พี่ฉลาดล้ำลึกเกินกว่าที่ใคร ๆ จะหยั่งถึง...ดูแต่เรื่องวันนี้ ผมยอมพี่จริง ๆ”

          “สัญชาตญาณเอาตัวรอดของมนุษย์น่ะซา ไม่ได้เก่งกาจอะไรหรอก” บอกเขาแล้วเรณูก็สูดลมหายใจเข้าปอด

          “เดี๋ยวพี่เอาเงินสี่ร้อยคืนให้นะ พี่เอาไปแล้ว ไม่ได้ใช้หรอก”

          “คืนผมมาแค่สามร้อยก็พอ อีกร้อยนึง ผมช่วยทำบุญกับงานศพแม่พี่แล้วกัน”

          “มันไม่ดี มั้งซา พี่ว่ามันมากไป”

          “รับไปเถอะ...เผื่อวันหนึ่ง ผมมีปัญหาหัวใจ ผมจะได้ไม่ต้องเกรงใจเมื่อต้องมาปรึกษาพี่...พี่ว่าคิดแบบนี้ดีไหมล่ะ” รอยยิ้มสว่างผุดขึ้นใบหน้าของเขาบอกถึงความจริงใจ...

          “ขอบใจมาก แต่คนดี ๆ แบบซา พี่มั่นใจว่า คงไม่มีทางมีปัญหาหัวใจหรอก”

          “ก็ไม่แน่หรอกพี่”

          “แล้วนี่ ไม่ถูกใจใครบ้างเลยรึไง”

          “ตอนนี้ม้าก็กำลังเล็ง ๆ ไว้ให้”

          “ว่าจะแนะนำน้องสาวให้สักหน่อย แบบนี้ก็หมดหวังซะแล้ว”

          “ยังไม่หมดหรอก แต่อย่าหวังเอาเค้ามาเกี่ยวดองกับคนบ้านนี้เลยพี่”

          “พี่ก็ลืมไป ว่าพวกพี่เป็นใคร”

          “ผมไม่ได้หมายความแบบนั้น...ผมแค่คิดว่า เรื่องความรัก ไม่ต้องมีใครต้องไปชักนำมันหรอก ถ้าคนเป็นเนื้อคู่กัน เดี๋ยวมันก็มีเหตุให้มันมาเจอกันเองแหละ...มั้ง”

          “แต่ซาก็ยอมให้แม่คลุมถุงชน”

          “ไม่ได้คลุมพี่ แค่ม้าภูมิใจนำเสนอ...แต่ผมก็มีสิทธิ์ปฏิเสธได้ ถ้ามันไม่ใช่ ถ้าใจมันไม่ชอบ”

          “พูดแบบนี้เหมือนเจอคนถูกใจแล้ว”

          “คน ที่รู้สึกพอตาก็พอมี...แต่ก็ยังไม่มีหรอกพี่ ยังไม่เจอ...ผมไปทำงานก่อนนะ” ว่าแล้วเขาก็ทำท่าจะขี่จักรยานวนกลับไปทางโรงสี แต่ว่าเขาก็ชะงักเท้า

          “อ้อ หมุ่ยนี้บอกว่า ถ้าว่าง ๆ ไม่มีอะไรทำ ก็ไปนั่งเล่นนอนเล่นที่ร้านแกได้นะ” บอกแล้วเขาก็ขี่จักรยานออกไป

          เรณูนึกขึ้นมาได้ว่า ยังไม่ได้คืนเงินให้เขา จึงตะโกนตามหลังไปว่า “พี่ยังไม่ได้ให้เงินเธอเลยซา”

          เขาตะโกนตอบกลับมาว่า “ผมเอาทองมาคืนพี่ก่อน พี่ค่อยให้ผมก็ได้”

          เรณูยืนยิ้มค้าง แล้วหัวคิ้วก็ขมวดเข้าหากัน สงสัยว่าเขารับฝากข้อความจากหมุ่ยนี้มาได้อย่างไร...สลัดหัว ไล่เรื่องที่ สงสัยแล้วก็ยกปลาเค็มพวงนั้นขึ้นมาดู...เมื่อนางย้อยยังไม่ยอมกินของ ของเธอ ก็เท่ากับยังไม่ยอมรับในตัวเธอ...แล้วจะทำอย่างไร ถึงจะเอาชนะใจนางย้อยได้ จะทำอย่างไรดี...

 *******************************

          เหตุการณ์ในเช้าวันนั้นเงียบหายไปจากตลาด...และเช้าในวันต่อ ๆ มา เรณูก็ตื่นขึ้นมาหาบขนมไปขาย ตั้งต้นเก็บหอมรอมริบใหม่...เพราะเงินค่าทำศพของแม่ ไม่ใช่แค่ห้าร้อยที่ลงไปคราวแรก หรืออีกสามร้อยบาทที่ให้วรรณาไปลงกองกลาง... มันมีค่าใช้จ่ายจุกจิกเข้ามาตบ ๆ รวมแล้วอีกเท่าตัว...แต่ถึงกระนั้นเงินเก็บของเรณูที่เคยมีเงินดอลล่าร์ผ่านมือ ก็ยังมีมากพอที่จะเซ้งร้านขายผ้าตามแผนเดิม แต่ว่าเรณูก็ต้องรอให้ ‘ปัญหา’ ที่ตนผูกไว้ตั้งแต่ทีแรก ‘ผ่านพ้น’ ไปเสียก่อน...

          กลับมาจากขายขนม เรณูก็ ผ่าฟืนไว้นึ่งขนม ส่วนถ่านที่ใช้ทำขนมหม้อแกง ก็เหมาซื้อเอาจากเรือบรรทุกถ่านที่มาเร่ขายอยู่ ที่ท่าน้ำหน้าตลาดเพราะถึงเผาถ่านเป็นแต่ก็ไม่มีไม้ให้เผา...หญิงสาวปัดกวาด เช็ดถูบ้านเรือน  ซักผ้า หาบน้ำจากแม่น้ำน่านมาเติมโอ่งทุกวัน แล้ววันหนึ่ง เรณูก็เดินไปหาแจ่มด้วยใบหน้าเหยเก...แจ่มเห็นก็ตกอกตกใจ

          “เป็นอะไรพี่เรณู”

          “สงสัยว่าพี่จะแท้งลูก”

          “อ้าว...เฮ้ย...เกิดขึ้นได้อย่างไร”

          “วันก่อนพอหาบน้ำขึ้นจากตลิ่ง มันก็เสียวแปลบขึ้นมา มาวันนี้เลือดมันไหลไม่หยุดเลย...แจ่ม พี่คงไม่ได้ออกไปขายของสักสองสามวันนะ ถ้าแจ่มไปตลาด ก็ไปบอกป้าหมายร้านขายผลไม้ กับน้าที่ขายขนข้าวเม่าทอดให้พี่ด้วยว่า พี่แท้งลูก  พักฟื้นจนดีขึ้นแล้ว พี่จะกลับไปขายใหม่”

          แผนทำทีว่าทำงานหนักจนแท้งลูกเกิดขึ้น แล้วแผนใช้คนกระจายข่าว ของเรณูเริ่มขึ้นตามมาในทันที

          “จ้ะพี่ ได้จ้ะ...แล้วพี่มีหยูกยากินหรือยัง”

          “ยัง...อ้อ...งั้นแจ่มไปซื้อยาขับเลือดขับลมมาให้พี่ได้เลยไหมจ๊ะ”

          หลังให้เงินแจ่มออกไปตลาด เรณูก็ถอนหายใจออกมา... เพราะปัญหาเรื่องท้องหมดไป เหลือก็เพียงเรื่องตั้งท้องใหม่ แล้วลงหลักปักฐานให้มั่นคงที่ชุมแสง...


 
          ระหว่างที่พิไลลองชุดแต่งงาน ทั้งชุดจีนสำหรับพิธียกน้ำชา และชุดฝรั่งสำหรับ พิธีการกินเลี้ยง ที่สั่งให้ทางร้านตัดตามแบบจากนิตยสาร...วรรณาที่ยืน คอยอยู่ มองพิไลด้วยสายตายินดีผสมริษยา...ยินดีกับวันสำคัญที่สุดของผู้หญิง ริษยาที่ผู้หญิงคนนี้จะได้แต่งงานกับผู้ชายที่มีฐานะเสมอกัน...

          หลังเก็บชุดใส่ถุงกระดาษให้ลูกค้า วรรณาก็ถือมาที่หน้าร้าน

          “เรียบร้อยแล้วค่ะเจ๊” วรรณวางถุงใบใหญ่ไว้บนเคาน์เตอร์ นางหุยรีบเลื่อนไปให้ลูกค้าที่ยืนรออยู่...

          “ขอแสดงความยินดีด้วยอีกครั้งนะ...ถ่ายรูปแล้วก็อย่าลืมอัดมาให้ฉัน เก็บไว้ให้ลูกค้าดูบ้างนะ”

          “ได้จ้ะ...ไป พิไล”

          สองแม่ลูกพากันออกจากร้านไป...นางหุยหันมายิ้มหวานให้วรรณา แล้วไหวไหล่...

          “โล่งอก ใช่ไหมเจ๊” เพราะกว่าที่ชุดแต่งงานสองชุด จะลงตัว ถูกใจสองแม่ลูก ก็แก้กันแล้วแก้กันอีก...กระทั่งใกล้ถึงวันมงคลในอีกสามวันข้างหน้า...แม้จะ ยังไม่ถูกใจทั้งหมด ยังมีติตรงนั้นนิด ติตรงนี้หน่อย แต่ว่าที่เจ้าสาวก็ยินดีจะรับชุดกลับไปเพราะไม่อยากนั่งเรือเข้ามาในตลาด อีก...

          “ก็ชุดแต่งงานนี่นะ ชีวิตนึงใช้ครั้งเดียว ทีเดียว เขาก็ต้องได้ใส่ชุดที่ถูกใจที่สุด”

          “แล้วถ้าแต่งใหม่ ใช้ชุดเดิมอีกได้ไหม”

          “มีใครเขาทำกันละ...เธอนี่ก็นะ ไป ๆ ตั้งข้าวให้หน่อย หิวจะแย่แล้ว กว่าจะได้เงิน ปากเปียกปากแฉะ”

          ได้ยินดังนั้นวรรณาจึงเดินเข้าครัวไป แต่ยังไม่ทันที่นางหุยจะเดินตาม เข้าไป ที่หน้าร้านก็มีนางง้อ เจ้าของร้านเสริมสวยเพื่อนร่วมสมาคมเดินเข้ามาตาม เรื่องที่เคยได้คุยกันไว้ และนางหุยก็ผัดผ่อน จนกระทั่งเขามาตามเอาคำตอบ

          “ซ้อ ว่าไง เรื่องที่เราเคยคุยกันไว้...ลูกสาวตกลงไหม”

        อัน ที่จริงลูกสาวที่เรียนอยู่เชียงใหม่ยังไม่ได้รับรู้ รับทราบแต่อย่างใด เพราะนางหุยไม่ได้เขียนจดหมายไปบอก...และถึงเขียนไป นางหุยก็มั่นใจว่า ลูกสาวจะต้องปฏิเสธกลับมาอย่างแน่นอน...

          “อีตอบกลับมาแล้ว อีติดเรียน กลับมาประกวดให้ไม่ได้หรอก ซ้อหาคนอื่นเถอะนะ...ซ้อรู้จักคนเยอะ แล้วบ้านเราก็มีคนสวยเยอะแยะ”

          “แต่สวยพร้อมแบบลูกสาวอาซ้อมันหายากนา” ‘พร้อม’ ที่นางง้อว่า ก็คือ ฐานะทางบ้าน และการศึกษา

          “เค้าติดเรียนจริง ๆ” นางหุยปฏิเสธด้วยใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใสอย่างคนที่คุ้นเคยกับการสมาคม ทั้งที่รู้สึกหิวข้าวจนแสบท้อง... ‘แขก’ ยังชวนคุยเรื่องสัพเพเหระอีกยืดยาว กระทั่งวรรณาเดินออกมาจากหลังร้าน...พอเห็นว่าเจ๊หุยติดแขก วรรณาก็ผละจะหันหลังกลับ แต่พอดีสายตาประสานกับสายตาของเจ๊หุย...ส่งสัญญาว่าให้ช่วยกันไล่แขกกลับไปหน่อย อั๊วหิวข้าว...วรรณาหันกลับมาบอกเสียงดัง ๆ ว่า “เจ๊ ตั้งข้าวเสร็จแล้วค่ะ”

          “ซ้อทานข้าวมาหรือยัง ทานข้าวด้วยกันไหม”

          “เรียบร้อยแล้ว อั๊วก็นะ ชวนซ้อคุยเพลิน...ขอตัวกลับก่อนแล้วกัน เสียดายจริง ๆ” พูดจบนางง้อก็ขยับจะออกจากร้านแต่แล้วก็ชะงักเท้า แล้วหันกลับมา

          “อาซ้อ แล้วคนนี้ อีเป็นใคร”

          “นักเรียน” นางหุยเลือกที่จะให้เกียรติวรรณามากกว่าบอกว่า เป็นแค่เด็กในร้าน...

          “อั๊วว่า หน้าตาผิวพรรณอีพอขึ้นเวทีได้อยู่นะ”

          “เวทีอะไรเจ๊” วรรณารีบถามทันที

          “ก็เวทีประกวดนางสาวสี่แควที่จะจัดในเดือนธันวาคมนี้นะซิ...เจ๊ว่าผู้หญิงที่เจ๊ตามหามานาน ก็คือลื้อนี่แหละ”

          “เด็กเขาชื่อวรรณาจ้ะอาซ้อ” นางหุยบอกเหมือนแกล้ง แล้วก็หัวเราะขำ วรรณาทำหน้าปุเลี่ยน ๆ หลังจากนั้นก็ยืนฟังเสียงโอ้โลมปฎิโลมจากนางง้ออีกพักใหญ่...
 

          เมื่อตัดสินใจเองไม่ได้ เช้าวันรุ่งขึ้น วรรณาก็นั่งเรือข้ามฟากมาที่สถานีรถไฟปากน้ำโพ จุดหมายปลายทางคือ ‘ชุมแสง’...

          ระหว่างที่มองไปยังต้นทาง ที่นั่งข้าง ๆ ก็มีเขาคนเดิม หย่อนก้นลงแล้วก็ขยับมาจนชิด วรรณาหันไปหา เบ้หน้าให้ ก่อนจะบอกว่า

          “นั่งห่าง ๆ กันก็ได้ ที่เหลือตั้งเยอะแยะ”

          “จะไปชุมแสงอีกแล้วเหรอ ไปคราวนี้ มีธุระอะไร” เขายังไม่ยอมขยับอย่างที่ควรจะเป็น

          “ฉันบอกว่า นั่งห่าง ๆ ฉันหน่อยก็ได้...ใครเห็นเข้า เขาจะเอาไปพูดกันได้” วรรณาเสียงดังขึ้น

          “พูดว่าอะไร”

          เมื่อเห็นว่าเขาไม่ยอมขยับ วรรณาจึงลุกขึ้นเสียเอง แต่ว่าเขาก็ฉุดแขนไว้แล้วชิงพูดว่า...

          “ขยับ ก็ได้ หวงตัวไปได้ เพื่อนกันแท้ ๆ” เขาละมือ แล้วขยับมาอีกฝั่งของม้านั่ง วรรณาก็ทรุดนั่งตามเดิม...

          “วันนี้ดูสวยขึ้นหรือเปล่า”

          แม้จะรู้สึกวูบวาบไปกับคำพูดของเขา วรรณาก็ยังคงชักสีหน้าบึ้งตึง เพราะพี่เรณูย้ำหนักย้ำหนาเรื่องให้ระวังคารม ‘ผู้ชาย’ ไว้ให้ดี...เพราะผู้หญิงอ่อนต่อโลกอ่อนประสบการณ์นั้น พลาดท่าเสียทีเพราะคารมหวานๆ กันมานักต่อนักแล้ว

          “ได้ข่าวว่ามีคนไปทาบให้เข้าประกวดนางสาวสี่แคว”

          พอเขาพูดจบ วรรณาก็หันมามองใบหน้าเจ้าเล่ห์ของเขา

          “รู้ได้อย่างไร”

          “แหม...อา อี๊คนที่ไปทาบทามตัวเองน่ะ บ้านเขาอยู่ตรงกันข้ามกับบ้านเรา แล้วลูกชายเขาก็เพื่อนเรา...พอเขากลับไป เขาคุยใหญ่เลย ว่าเจอว่าที่นางสาวสี่แควคนใหม่แล้ว...แล้วเขาก็ว่า ในอนาคตเขาจะพานางสาวสี่แควคนนี้ไปประกวดนางสาวไทยต่อ พอได้ตำแหน่งนางสาวไทย...ก็จะเป็นนางงามจักรวาลคนที่สองของประเทศไทยถัดจาก อาภัสรา.”

          แม้จะรู้สึกเขิน ที่ถูกหยอกเย้า แต่วรรณาก็ทำได้เพียงหันไปทางซ้ายแล้วยิ้มเขิน ๆ แล้วก็ยืดคอขึ้น ทำเหมือนไม่ได้ใส่ใจกับคำพูดของเขา

          “เอา อย่างนี้ดีกว่า ช่วงรอรถไฟมา...พอดีเรามีกล้องติดมือมาด้วย เราขอถ่ายรูปว่าที่นางงามจักรวาลคนที่สองของประเทศไทยไว้เป็นที่ระลึกก่อนดี กว่า เดี๋ยวไปโด่งไปดังแล้วหาตัวกันไม่เจอ”

          “บ้า...ไม่เอา”

          “น่านะ ลุกมา เร็ว ๆ ขอถ่ายรูปไว้บานนึง เป็นที่ระลึก...อยากลองกล้องด้วย อยากรู้ด้วยว่าหน้าเธอจะขึ้นกล้องไหม...มาลุก เร็ว ๆ”

          เมื่อเห็นว่ามันก็ไม่ได้เสียหายอะไร วรรณาจึงยอมลุกไปยืนเป็นนางแบบให้เขากดชัตเตอร์เก็บภาพไว้แต่โดยดี...และภาพนี้ก็ไม่ใช่ภาพสุดท้ายที่เธอมีโอกาสเป็นแบบให้กับเขา... ‘มงคล’
 

ลง จากรถไฟแล้ว วรรณาก็รีบเดินไปขึ้นสามล้อถีบ บอกจุดหมายโดยไม่สนใจกล่าวลามงคล ที่ลงรถไฟตามหลังมา...พอถึงโรงสี วรรณาก็ยกมือไหว้กมลแล้วเลี่ยงไปพบเรณูที่ ด้านหลังโรงสี...ตอนนั้นเรณูกำลังปิ้งขนมหม้อแกงอยู่...กลิ่นของมันหอมตลบ อบอวลไปทั่ว...

          “ทำอะไรอยู่พี่...ว้าว หม้อแกง...น้ำลายไหลเลย” กรรมวิธีทำขนมหม้อแกงนั้นยุ่งยากกว่าขนมตะโก้ ขนมเปียกปูน ที่ใช้วิธีการกวนแล้วเทใส่ถาด ยากกว่าขนมกล้วย ขนมตาล ขนมถ้วย ที่ใช้วิธีการนึ่ง...ขนมหม้อแกงนั้นต้องพิถีพิถันและใจเย็นตั้งแต่ตอนผสมไข่ไก่ น้ำตาลปี๊บ กะทิ เกลือ แป้งข้าวจ้าว
 ถั่วเขียวแช่น้ำบดแล้วนึ่ง เข้าด้วยกัน แล้วกวนด้วยไฟอ่อน และขึ้นตอนสุดท้ายที่ต้องใจเย็นเป็นอย่างมาก ก็คือตอนนำขนมที่กวนแล้วใส่ถาดปิ้งและอบโดยสังกะสี ปิด แล้ววางถ่านไว้ด้านบน

          “มาทำไมยะ” หน้าของเรณูมันย่อง...ผมเผ้ากระเซอะกระเซิง...แต่พอจะออกจากบ้าน เรณูก็คือเรณู คือต้องแต่งหน้า เขียนคิ้วทาปากแดง ใส่
เสื้อผ้าสีฉูดฉาด จนกลายเป็นเอกลักษณ์ที่คนจำได้...

          “มีเรื่องมาปรึกษา...แล้วนี่ทำเยอะขนาดนี้เลยเหรอ” ใจหนึ่งวรรณาก็อยากเข้าเรื่องของตนแต่อีกใจก็ยังสนใจงานของพี่สาว

          “เศรษฐีใหญ่เขาจะแต่งลูกสาวเขาก็เลยสั่งทำไปเลี้ยงพระ เลี้ยงคนวันพรุ่งนี้”

          “แบบนี้ก็ไม่มีเหลือให้หนูชิมสักชิ้นหนึ่งซินะ”

          “มี...ใส่ถาดเล็ก ๆ ไว้ เพราะต้องทำเผื่อ เตี่ย กับ ซา เขาด้วย”

          “ดูท่า พี่จะรักน้องผัวพี่คนนี้มากเลยนะ”

          “เขาดีกับเรา เราก็ต้องดีกับเขาตอบ...แล้วก็เขานี่แหละ ที่ช่วยเหลือมาตลอด ขนาดถั่วเขียวทำขนมนี่ เขายังไม่ให้พี่หาบกลับมาเองเลย บางวันเขาก็มาช่วยปอกมะพร้าวไว้ให้...เขาว่าทำแลกขนมกิน อ้าว ตกลงมาธุระอะไร มีอะไรก็ว่ามา”

          “ฉันจะมาถามพี่ว่า ฉันจะลงประกวดนางสาวสี่แคว ดีไหม”

          “หือ” เรณูหันจากหน้าเตา มามองหน้าน้องสาวจนเต็มตาอีกครั้ง

          “เจ๊ง้อ เพื่อนเจ๊หุยเขามาชวนฉันไปประกวดนะพี่ เจ๊หุยเขาเห็นดีเห็นงามด้วย เขาว่าครั้งหนึ่งในชีวิต ไม่มีอะไรจะเสียหรอก แต่ฉันไม่แน่ใจ ก็เลยมาปรึกษาพี่ก่อนดีกว่า”

          “ลุยไปเลย ได้ตำแหน่งหรือไม่ได้ ไม่สำคัญหรอก ที่สำคัญคือถ้าต้องเสียเงินเพื่อผลักดันตัวเองละก็ ไม่เอานะ”

          “เรื่องเงินไม่เสียหรอกพี่ ชุดก็ที่ร้าน แล้วเจ๊ง้อเขาก็เป็นช่างแต่งหน้าอยู่แล้ว...เพียงแต่ฉันตกลงเท่านั้นก็พอ”

          หลังเรณูเห็นดีเห็นงาม วรรณาก็ต้องมาช่วยเรณูหั่นหอมแดงเพื่อเจียวโรยหน้าขนม...ระหว่างนั้นวรรณาก็ เอ่ยถึงมงคลที่บังเอิญนั่งรถไฟมาด้วยกัน...เขาบอกกับวรรณาว่า เขาจะมาเป็นตากล้องงานแต่งพี่ชายคนรองของเขากับลูกสาวโรงสีใหญ่คนทับกฤช... ซึ่งบังเอิญเป็นลูกค้าที่ร้านเจ๊หุยพอดี

          “งานนี้ พี่ต้องไปแสดงความยินดี เป็นสักขีพยานด้วยหรือเปล่า”

          แล้วเรณูก็เล่าถึงปัญหา หลังจากที่กลับมาจากงานศพของแม่ให้วรรณาฟัง...วรรณา ถอนหายใจเบา ๆ ก่อนจะถามว่า

          “แล้วงานแต่งเฮียตง เฮียใช้ผัวพี่เขาไม่กลับมาเหรอ”

          “ไม่รู้ว่า เขารู้หรือเปล่า แต่พี่เดาว่า ถึงเขารู้ เขาก็คงไม่ไป...เพราะ อีพิไล ว่าที่น้องสะใภ้เขา เป็นอดีตคู่หมั้นของเขาเอง... ถ้าเป็นแกเป็นเขา แกจะไปไหมล่ะ”

***************************************


Title: Re: กรงกรรม บทประพันธ์ของ จุฬามณี
Post by: นักประพันธ์ on 01 March 2020, 16:12:48
ตอนที่ 11 : ทองเก๊ สักวันมันจะต้องเผยธาตุแท้ออกมา


                  ๑๑


หลังจากที่ลูกค้ามารับขนมไปหมดแล้ว เรณูก็อาบน้ำแต่งตัว พาวรรณาเดินเข้าไปในตลาด เรณูอยากให้วรรณาไปเห็นว่าที่ตลาดชุมแสงมีผู้คนเดินจับจ่ายซื้อของกันมากเพียงใด กับต้องการให้ไปรู้จักกับหมุ่ยนี้ จันตา 'มิตร' ของตนเอาไว้ เพราะในความเป็น 'มิตร' นั้น  หาเราเห็นข้อดีของกันและกัน ไม่คิดเอาเปรียบกัน คิดช่วยเหลือกัน มิตรสัมพันธ์ย่อมยั่งยืน

เรณูมีขนมหม้อแกงติดมือมาเป็นของฝาก พอหมุ่ยนี้กับหมุ่ยซังผู้เป็นพี่สาวและจันตาเห็นขนมจำนวนสิบห่อ ต่างก็ขอบอกขอบใจเรณูเป็นการใหญ่ แต่ถึงกระนั้นหมุ่ยนี้ที่รู้ดีว่าเรณูนั้นอยู่ในฐานะที่ด้อยกว่าตนก็ต้องบอกว่า

"ของซื้อของขายเอามาทำไมเยอะแยะ ทุนหายกำไรหดหมด"

"ของที่ถือมาที่นี่ทุนไม่หาย มีแต่ได้กำไร แล้วอีกอย่างหนูมาฝากท้องไว้กับอาม่าหลายมื้อแล้ว เกรงใจเหมือนกัน"

"เกรงใจทำไม เธอมาที่นี่ทีไรจันตากับอาม่าก็มีเพื่อนคุยเพิ่ม"

หลังจากของหมดหาบ เรณูจะแวะมาทักทายจันตา หรือถ้าวันไหนฝนตกตอนเช้าคนไม่ออกตลาดขายไม่หมด ระหว่างที่เดินหาบขนมเร่ขายไปตามห้างร้าน บ้านเรือนสถานที่ ราชการบริเวณนี้ พอรู้สึกหิวน้ำเรณูก็จะแวะมาขอน้ำกิน นั่งพักจนหายเหนื่อยแล้วเดินต่อไป มาบ่อยเข้าก็กลายเป็นความสนิทสนม จนเรียกเข้าบ้านมานั่งกินข้าวกลางวันด้วยกัน ถามไถ่สารทุกข์สุขดิบกันจนกลายเป็นความคุ้นเคย

"วรรณาที่เธอว่ากำลังเรียนตัดผ้าอยู่น่ะเหรอ" หมุ่ยซังเป็นคนพูดน้อย แต่ความจำนั้นดีเลิศ

"ใช่ วันนี้มาขออนุญาตไปขึ้นประกวดนางงาม เวทีนางสาวสี่แคว"

"พี่เรณูอย่าไปบอกเขาซิ หนูอาย"

"แหม...มาจนถึงขนาดนี้แล้วจะอายอะไร" เรณูว่าให้

"ก็หนูสวยซะที่ไหนล่ะ"

"ไหนหันหน้ามาหาแจ้ดูให้ชัด ๆ หน่อยสิ" หมุ่ยนี้ผู้มีสายตาคมเหมือนเหยี่ยวร้องบอก

วรรณาหันมาหา หมุ่ยนี้พินิจพิจารณาแล้วสรุปว่า ถ้าเปรียบเทียบกับจันตาที่ยืนยิ้มหวานตรงหน้า วรรณาถือว่า 'ไม่สวย' แต่ถ้ามองให้ดี วรรณานั้นออกไปทาง 'คมขำ' แต่งหน้าทำผมแต่งตัวอีกหน่อย ถูกแสงไฟสาดอีกนิด อาจจะเด่นสะดุดตาขึ้นมา ถ้าจะว่าสวยแบบที่คนไทยชอบพูดเปรียบเปรยให้เห็นภาพกัน ก็คือวรรณานั้น 'สวยผาด' เช่นเดียวกับเรณูผู้จัดจ้านครบเครื่อง ส่วนจันตานั้น 'สวยพิศ'

พอถูกมองอย่างพินิจพิเคราะห์ ตามประสาผู้หญิงที่ยังโตไม่เต็มตัว ผิวหน้าของวรรณาก็แดงระเรื่อ

"สวยพอขึ้นเวทีได้ไหม แจ้" เรณูอยากได้คำตอบ

"ขึ้นได้ แต่จะได้ตำแหน่งรึเปล่าก็ต้องไปดูหน้า ดูหุ่น คู่แข่งกันอีกที"

พอหมุ่ยนี้บอกอย่างนั้นก็คนอื่น ๆ ก็พากันหัวเราะ แต่คนที่หัวเราะกึ่ง ๆ ยิ้มแหย ๆ ก็คือจันตา  คำว่า 'นางงาม' เป็นเรื่องแสลงใจอีกเรื่องของจันตา หญิงสาวไม่เคยคิดจะปริปากบอกเรื่องนี้กับใคร แม้จะมีคนมาเห็นแล้วพูดบ่อย ๆ ว่า จันตานั้นสวยงามจนน่าพาไปขึ้นเวทีประกวด แต่จันตาก็จะบอกสั้น ๆ ไปว่า "หนูขี้อาย หนูขึ้นไม่ได้หรอก"


"คิดซะว่าหาประสบการณ์" หมุ่ยซังให้กำลังใจวรรณา

"หนูก็คิดอย่างนั้นแหละ เจ๊ เลยยอมให้มันเอาขาอ่อนดำ ๆ ของมันออกไปอวดผู้คนเขาซะหน่อย"  คำว่า 'ขาอ่อนดำ ๆ' ทำให้จันตาหัวเราะออกมาได้ แต่วรรณาหน้ามุ่ยแล้วค้อนให้พี่สาวอีกครั้ง

"เมื่อกี้เห็นว่าเรียนตัดผ้า เรียนจบหรือยัง" หมุ่ยซังเปลี่ยนเรื่องคุย

"จบแล้วค่ะ"

"ที่เคยบอกว่าอยากเปิดร้านขายเสื้อผ้า ร้านตัดผ้า ก็เพราะอยากเอามันมาอยู่ด้วยกันนี่แหละ" เรณูพูดต่อ

"เห็นพี่น้องรักกัน คิดดูแลกันก็รู้สึกดี มีอะไรให้ช่วยก็บอกนะ" หมุ่ยซังพูดตรง ๆ

"ถ้าตอนนี้จะให้ช่วยตัดเสื้อให้ใส่สักตัว ตัดได้ไหม ที่นี่มีสายวัดตัว แบบเสื้อในหนังสือก็มี" หมุ่ยนี้ถาม

"ก็น่าจะได้ค่ะ"

"บอกไปเลยว่าหนูทำได้ค่ะ จะทำอะไรก็ต้องมั่นใจหน่อย" เรณูบอกน้อง  วรรณาเบ้หน้าให้พี่สาว แล้วก็หันมาหาหมุ่ยนี้

"หนูทำได้ค่ะ แล้วก็ทำได้ดีด้วย ตัดได้สวยด้วยค่ะ เจ๊  พอใจหรือยังคะคุณพี่เรณู"

***********

พอเจ้าภาพยกของสำรับของหวานออกมาเลี้ยงแขก นางย้อยมองเห็นขนมหม้อแกงสี่ชิ้นวางอยู่ในจานก็น้ำลายไหล แต่ครั้นจะหยิบมาตักกิน นางย้อยก็รู้ว่าเจ้าภาพสั่งซื้อมาจากเรณู นางย้อยจึงเลี่ยงไปหยิบขนมทองหยิยทองหยอดมาวางตรงหน้าแทน

"พี่ย้อย หม้อแกงนี่อร่อย ชิมสักหน่อยซิ"  คนที่ไม่รู้ตื้นลึกหนาบางคะยั้ยคะยอ แต่คนในวงที่รู้อะไรลึก ๆ ต่างเหลือบตามองกัน แล้วจ้องดูว่านางย้อยจะแตะขนมหม้อแกงหรือไม่ หรือจะตอบว่าอย่างไร

"เอาเหอะ" นางย้อยตอบยิ้ม ๆ  ในรอยยิ้มนั้นยังมีรอยแค้นที่ยากจะให้อภัย เรื่องที่เรณูให้แจ่มมาบอกกับชาวบ้านร้านตลาดว่าแท้งลูกเพราะทำงานหนักนั้น นางย้องหาได้เชื่อสักนิดไม่ แค่ได้ยินว่า 'เรณูมันแท้งลูกเพราะหาบน้ำขึ้นมาจากตลิ่ง' นางย้อยก็นึกเอะใจว่า มันอาจจะไม่เคยท้องเลยก็ได้ แต่มันอ้างว่าท้องเพื่อจะให้ลูกชายของนางต้องรับผิดชอบและพามันมาอยู่ที่นี่ แต่ครั้นจะตีโพยตีพายไป หรือทำเป็นรู้ทันเท่ามารยาหญิงของมันก็ไม่มีประโยชน์อะไร ในเมื่อเวลานี้ใคร ๆ ต่างนิยมชมชื่น เข้าข้างเห็นใจมันไปเสียหมด แม้แต่คนในบ้านโดยเฉพาะกมลที่เป็นคนคอยซื้อข้าวซื้อของจากที่ร้าน แล้วขนไปให้มันทำขนมออกขาย

วันหนึ่งแจ่มมาเดินตลาด นางย้อยเห็นเข้า ก็เรียกนางแจ่มมาถามถึงพฤติกรรมของเรณู เผื่อจะมี 'ช่องทาง' ให้ 'เล่นงาน' โดยเฉพาะผู้หญิงกร้านโลก เคยคลุกคลีอยู่กับคาวโลกีย์แล้วห่างผัวนั้น จะมีอะไรน่าจะเป็นไปได้ ถ้าไม่ใช่เรื่องคบชู้สู่ชาย

นางแจ่มก็เล่าอย่างซื่อ ๆ ว่า "พี่เรณูเขาขยันขันแข็งดี ตื่นมาก็แต่มืดแต่ดึก ทำงานบ้านแล้วก็หาบของมาขาย พอกลับไปก็เตรียมของทำขนม ทำงานบ้าน ไม่เคยออกไปไหนมาไหนยามค่ำมืดดึกดื่น เขาเป็นคนมีน้ำใจ ทำกับข้าวก็ทำหม้อใหญ่แบ่งปันไปทั่ว พอใครมีอะไร ได้อะไรมาก็เลยหิ้วมาให้พี่เขาทำ เขาก็ทำอย่างไม่อิดออด"

ได้ยินดังนั้นนางย้อยก็คิดว่า ถ้ามันเป็นทองเก๊ สักวันธาตุแท้ของมันก็ต้องเผยออกมา

แต่กลายเป็นว่า ความที่มันปากดี เจ้าสำบัดสำนวนตีฝีปากในเชิงทีเล่นทีจริงแบบคนเจนโลก มันก็เลยได้ใจคนไปทั้งตลาดเสียอีก โดยเฉพาะคนที่นั่งอยู่ในวงเดียวกันที่ทำทีมีน้ำใจชวนกินหม้อแกง เหมือนไม่รู้ว่านางนั้นเกลียดเรณูมันแค่ไหน เกลียดจนไม่อยากเห็นหน้า รู้สึกแขยงหากจะต้องพูดจาวิสาสะ แล้วทุกวันทุกคืนนางย้อยก็คิดวิธีกำจัดมันไปให้พ้นทาง หลายทางคิดออก แต่ตรองอีกที มันก็โหดร้ายกับลูกผู้หญิงด้วยกันเกินไป แต่ทางสุดท้ายที่มัน 'เปิดช่อง' ให้นางย้อยคิดว่า มันก็น่าจะต้องลองดู เพราะเมื่อไม่มี 'ลูก' เป็น 'โซ่ทองคล้องใจ' เสียแล้ว เรื่องพรากปฐมไปทางอื่น พรากผัวพรากเมียคงไม่ทำให้มีบาปกรรมติดตัวมากนัก

"แล้วนี่พ่อปฐมเขาลากลับมางานแต่งน้องชายของเขาได้รึเปล่า แม่ย้อย"

"เพิ่งจะกลับมาเอง ลาไม่ได้หรอก" นางย้อยตอบไปด้วยเสียงเรียบ ๆ ทั้งที่ใจก็ไวอย่างรู้ทางกันว่า อีกเดี๋ยวก็คงจะไพล่ไปถามถึงนางเรณู

"พรุ่งนี้เรือจะออกกี่โมง พวกฉันจะได้ออกจากบ้านไปที่ท่าน้ำกันถูก"

ทีนี้เองนางย้อยรู้สึกจุกจิกกวนใจขึ้นมา นางก็เลยบอกไปว่า

"ฉันก็บอกไปหลายครั้งแล้วนะ ว่าเรือออกตั้งแต่ตีห้า เพราะจะต้องไปทำพิธีเลี้ยงพระเช้า รดน้ำสังข์ก่อน ไม่รู้ละ ถ้าใครไปไม่ทันก็รอกินเลี้ยงที่ศาลาประชาคมในตอนเย็นแล้วกัน" ว่าแล้วนางย้อยก็จับจานขนม แล้วขยับออกจากตรงหน้าตัว บอกให้รู้ว่าอิ่มแล้ว

แต่คนที่ลองแหย่นั้นดูออกว่าไม่ได้อิ่มหรอก แค่หมดอารมณ์จะกินต่างหาก

**********

เช้าวันนั้นเรณูรู้สึกว่าตลาดเงียบกว่าปกติ เพราะงานแต่งของพิไลกับประสงค์นั้นทำพิธีแบบไทยผสมจีน คือตอนเช้าทำบุญเลี้ยงพระ ยกขันหมาก ผูกข้อมือ ยกน้ำชา และตอนเย็นก็พากันมาเลี้ยงฉลองมงคลสมรสที่ศาลาประชาคม มีวงดนตรีครื้นเครง ประกาศว่าคนทั้งชุมแสงยอนดีต้อนรับ 'สะใภ้ใหม่'  คนจีนในสมาคมและคนไทยที่คุ้นเคยกับเจ๊กเซ้งและนางย้อยจึงต่างพากันแต่งตัวลงเรือที่จ้างเหมาไว้ถึงสองลำตั้งแต่ค่อนแจ้ง ส่วนที่ไม่สะดวกเดินทางไป ก็มาเดินตลาดเช่นเคย พอเห็นเรณูนั่งขายขนม พวกเขาก็ทำให้เรณูรู้สึกรำคาญใจ แต่หญิงสาวก็ต้องปั้นหน้ายิ้มแย้มผ่องใส ทั้งที่ใจนั้นหดหู่...หดหู่ทั้งที่รู้ทั้งรู้ว่า ตัวเองนั้นต่างกับพิไลเพียงใด

เขามันเป็นคุณหนูลูกเถ้าแก่โรงสีใหญ่ หน้าตาจิ้มลิ้มพริ้มเพรา พรั่งพร้อมด้วยการศึกษา ส่วนเธอมันก็แค่ลูกชาวนาที่ต้องเช่านาเขาทำ มีแม่ยึดหาบเร่ขายขนมช่วงหมดฤดูทำนา มีพ่อหาปลาหานก ช่วยกันหาเงินเข้าบ้านมาอีกทาง การศึกษารึก็แค่ ป.๔ พออ่านออกเขียนได้ ไหนจะประวัติที่ด่างพร้อยนั่นอีก หอบผ้าตามลูกเขามา เขาจึงไม่คิดยกย่องยอมรับว่าเป็น 'สะใภ้'

"อ้าว วันนี้ไม่ไปทับกฤชกับเขาหรอกรึ"

"ไม่ได้ไปหรอกจ้ะ ขายของดีกว่า"

"วันนี้ขนมเหลอเยอะเลยเนอะ อย่างว่า เมื่อวานบ้านเหนือเขาเพิ่งมีงานแต่งไป คนก็ไปกินทางนั้นกันแล้ว แล้วเธอก็ยังทำหม้อแกงซ้ำกันอีก"

"แค่สี่ถาดเอง ช่วยฉันซื้อสักอันสองอันไหมจ๊ะ"

"เอ้า...ก็ได้ ช่วย ๆ กันไป เห็นหน้าเธอทีไร ทำไมมันรู้สึกเวทนาก็ไม่รู้ ว่าอิ่ม ๆ ไม่อยากกิน แต่ก็อดไม่ได้ซะที มีของดีอะไรหรือเปล่า"

'ของดี' ได้ยินดังนั้น เรณูก็ยิ้มแล้วส่ายหน้าดิก

พอคนที่หนึ่งไป อีกคนก็เข้ามา "เห็นเขาว่ากันว่า เรือนหออาตง ป้าย้อยซ่อมแซมใหม่ใส่เครื่องเรือนซะผิดจากที่เคยเป็นเรือนร้างเลยรึ"

"ฉันก็ยังไม่ได้ผ่านไปดูเหมือนกันจ้ะ พี่"

"ป้าย้อยนี่ก็นะ ลำเอียงอย่างไม่ได้สนใจเสียงใครเขาเลย ดูสิ สะใภ้ใหญ่ให้อยู่บ้านซอมซ่อหลังโรงสี ส่วนสะใภ้รองมีเรือนหอให้อยู่เสียดิบดี"

"วันนี้จะรับกี่อันดี พี่" เรณูไม่อยากต่อความให้ต้อง 'เข้าตัว'

"เอามาสองห่อแล้วกัน ขนมเธอมันอร่อย แต่กินทุกวันมันก็เบื่อ ลองเปลี่ยนทำอย่างอื่นบ้างสิ"

"พี่อยากกินอะไรล่ะ แนะนำฉันได้ ฉันทำได้ฉันก็จะทำ ทำไม่ได้ก็จะได้หัด"

"ทำสาคูไส้หมูเป็นไหม อีร้านโน่นมันทำไม่อร่อย แป้งแข็งปาหัวหมาแตก"

"แต่เขาทำมานานแล้ว ไปแข่งกับเขา เขาจะเขม่นเอาได้"

"ของอย่างนี้ใครดีใครได้ เธอ"

"ตกลงสองห่อเนอะ"

เสียงพูดทำนองนี้เริ่มต้นแต่เช้าตรู่ยันตลาดวาย สุดท้ายขนมหม้อแกงเหลือหนึ่งถาด พระอาทิตย์แผดแสงจ้าจนเริ่มร้อนกาย สุดท้ายเรณูก็ยกหาบขึ้นบ่า ตัดสินใจเดินเร่ขายไปตามบ้านเรือน ขายไปเรื่อย ๆ ถ้ามันเหลือก็จะไปนั่งหลบร้อนรอขายให้พวกที่มากับรถไฟ

ยังไม่ทันถึงสถานีรถไฟ ขนมถาดนั้นก็หมด ใจที่รู้สึกอ่อนล้าก็มีพลังเพิ่มขึ้นมาอีก เรณูหาบหาบเปล่ากลับบ้านจนมาถึงหน้าโรงแรมไม้สองชั้น หูของเรณูก็ได้ยินเสียงร้องเรียกที่ดังมาจากหน้า 'ล็อบบี้'  พอหันไปเห็นว่าเป็นเสียงของใคร เรณูก็ยิ้มกว้างตาเป็นประกายสดใส หัวใจลืมเรื่องโศก โดยเฉพาะประโยคที่ว่า "ของในหาบน้องศรี ถ้าพี่จะเหมาหมด น้องจะคิดค่าตัวเท่าไหร่"


เรณูวางหาบลงแล้วโผเข้าสวมกอดประนอมกับติ๋มที่ยืนยิ้มปากบาน เล่นหูเล่นตาอยู่หน้าโรงแรม คนที่เดินผ่านไปผ่านมาต่างเหลือบมองจ้องมองแล้วยิ้มน้อย ๆ เพราะการแต่งเนื้อแต่งตัวและทรงผมของผู้หญิงแปลกหน้าทั้งสองคนนั้น มัน 'ส่อ'  ประนอมพี่ใหญ่ดัดผมหยิกฟู มีต่างหูทรงกลมใหญ่สีเขียว สวมมินิสเกิร์ต เสื้อคอบัวแขนยาวสีแดงแป๊ด ส่วนติ๋มซอยผมสั้นแต่คาดผ้าเป็นโบ สวมกางเกงขาสั้นสีชมพู เสื้อลายดอกเขียวส้มคอกว้างตัดด้วยผ้าเบาบาง ทั้งสองสวมรองเท้าหนังมันเงาส้นหนา ประนอมสีฟ้า ติ๋มสีเขียวสะดุดตา

"คิดถึงจังเลย พี่นอม พี่ติ๋ม มากันได้อย่างไร"

"นั่งรถไฟมา เพิ่งมาถึงเมื่อตะกี้ ว่าจะเดินไปหาแกที่ร้านอีย้อย แกก็ดันเดินผ่านมาเสียก่อน" ติ๋มนั้นเป็นเจ้าถิ่นจึงรู้ที่อยู่ที่กินรู้จักถนนหนทาง

"มาธุระอะไรกันหรือเปล่า"

"อีติ๋มมันอยากจะมาทำบุญกระดูกให้แม่ของมัน ส่วนพี่อยากจะพักผ่อนบ้าง ก็เลยถือโอกาสตามมันมาเยี่ยมหล่อน เป็นไงสบายดีไหม"

"สบายดี พี่" เรณูตอบไม่เต็มเสียงนัก

"ไม่ใช่ม้าง..." ประนอมนั้นอายุสามสิบต้น ๆ  ผ่านร้อนผ่านหนาวมาอย่างโชกโชน แค่เห็นสีหน้าแววตาของเรณูก็รู้แล้วว่า 'ไม่มีความสุขนัก' 

"หนูรู้ว่าหน้าตาหนูปิดหัวใจหนูไม่มิดหรอก"

"ถอนตัวยังทันนะโว้ย อย่ามาเสียเวลาหาบคอนอยู่เลย พี่ว่าหากินแนวนอนอย่างเดิมดีกว่าม้าง..." ประนอมพยายามโน้มน้าวใจ

"หนูไม่หันหลังกลับไปแล้ว พี่ หนูตัดสินใจแล้ว"

"อยากจะให้กูปูผ้ากราบมึงใช่ไหมล่ะ" ติ๋มนั้นยังไม่ลืมข้อพนันขันต่อที่เคยลั่นวาจาไว้ ที่ว่าถ้าเรณูมาอยู่ที่นี่ครบหนึ่งปี เธอจะปูผ้าขาวแล้วกราบงาม ๆ สามที เพราะรู้ว่ายากที่นางย้อยจะยอมรับสะใภ้อย่างเรณูได้ เมื่อไม่ยอมรับปัญหามันก็ต้องตามมาไม่จบไม่สิ้น จนเรณูทนนางย้อยไม่ได้แน่

"เปล่า พี่ก็...หนูไม่ได้มาที่นี่เพราะอยากเอาชนะพี่หรอกนะ"

"แล้วทองของกูที่มึงได้มาล่ะ"

"มันก็แค่เป็นส่วนหนึ่งของแรงจูงใจ ทำให้หนูกล้าเดินหน้าเท่านั้นเอง" เรณูยิ้มเจ้าเล่ห์

"แล้วนี่ทำไมมึงถึงต้องมาหาบของขายอยู่บนถนน"

"เรื่องมันยาว พี่" ว่าแล้วเรณูก็ถอนหายใจออกมา

"กูบอกมึงแล้ว ว่าเล่นกับอีย้อยมันไม่ได้ง่ายหรอกนะ ผิดคำกูไหมล่ะ"

"ก็จริง" เรณูตอบเบา ๆ

"ไป...งั้นวางหาบไว้ตรงนี้ก่อน ขึ้นไปคุยกันบนห้องดีกว่า ยืนคุยกันอย่างนี้กูเมื่อยขา ปวดหลัง" ประนอมเป็นฝ่ายตัดบท

**********

หลังรับรู้ว่าตั้งแต่เรณูมาถึงชุมแสงแล้วต้องเจอกับอะไรบ้าง ติ๋มที่นั่งอยู่บนเตียงก็บอกกับเรณูที่นั่งอยู่บนเก้าอี้ริมหน้าต่างว่า

"ตอนนี้มึงไม่มีลูกจะอ้างแล้ว ผัวมึงก็ไม่อยู่ ถ้าอีย้อยมันจะเล่นงานมึง มันก็เอาได้แล้วนะโว้ย มึงอย่าลืมนะว่าตอนนี้มึงตัวคนเดียวนะ"

"หนูก็ระวัง ๆ ตัวเหมือนกัน"

"มึงระวังได้ แต่มึงต้องไม่ลืมว่ามึงเป็นผู้หญิง แล้วที่นี่ก็ถิ่นมัน มันมีเงิน มันรู้ว่าจะหาคนที่ไหนมาจัดการมึง โดยที่ใครไม่สงสัยอะไรเลย ที่กูเตือนมึง เพราะกูคนที่นี่" ติ๋มเสียงเครียด

"เขาคงไม่ร้ายกาจขนาดนั้นหรอก แล้วหนูก็ไม่เคยไปด่าว่าอะไรเขา มากสุดก็แค่ยอกย้อน"

"ไอ้ที่มึงทำไปแล้วนั่นแหละ มันเหมือนไปลูบคมมัน  หน็อย...คิดได้นะมึง นอนรอมันหน้าร้านให้ยุงกัดให้ชาวบ้านมารุมว่ามัน นี่ถ้ามันรู้ก่อนหน้า มันให้พวกจับกังมาจับมึงไปใส่กระสอบถ่วงน้ำ กว่าญาติโกมึงจะสงสัยว่ามึงหายไปไหน มึงก็เหลือแต่กระดูกแล้ว"

ฟังคำเตือนของติ๋มแล้วเรณูนิ่งอึ้ง ครุ่นคิดตาม

"กูว่าหลังงานแต่งไอ้ตง มันหันมาลุยกับมึงแน่ ๆ มึงระวังไว้เลย"

"อีติ๋ม มึงก็พูดให้มันเครียด" ประนอมที่นอนพังพาบหลับตาฟังความอยู่บนเตียงเอ่ยขัดเบา ๆ

"เครียดสิดี พี่นอม เหลิงแล้วมันอันตราย"

"เตี่ยกับน้อง ๆ พี่ใช้ พวกคนงานที่โรงสีก็ดีกับหนูทุกคน หนูคิดว่าหนูน่าจะเอาความดีมัดใจพวกนั้นไว้ได้"

"แต่มึงต้องไม่ลืมว่าเขาผัวเมียกัน แม่ลูกกันนะ อีณู"

"แล้วพี่ใช้ล่ะ เขาออกจากค่ายมาเที่ยวที่บาร์บ้างหรือเปล่า" เรณูเปลี่ยนเรื่อง เพราะปัญหาที่ติ๋มเอ่ยถึงนั้น มันเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเกิด และอาจจะไม่เกิดขึ้นก็ได้ มันจึงยังไม่มีประโยชน์ที่จะไปคิดกังวล แต่เรณูก็ตระหนักมากขึ้นว่าตอนนี้เธอตกที่นั่งอันตรายจริง ๆ

"บาร์ที่เราอยู่มันไม่มา แต่บาร์อื่นกูไม่รู้ ขึ้นชื่อว่าผู้ชาย อีณู มึงอย่าไปไว้ใจมันเลย ดีไม่ดี มึงมัวจะเอาชนะใจแม่มันอยู่ทางนี้ มันอยู่ทางโน้นก็เป็นอื่นไปซะแล้ว ถึงมันไม่หน้ามืดตามัวเอาอย่างพวกเรา ๆ สาว ๆ ลูกแม่ค้าในตลาด ลูกสาวจ่าในค่ายก็เยอะแยะไป แล้วมันก็หน้าตาดีหน่วยก้านดีซะขนาดนั้น กูเห็นมันกูยังอยากได้เลย ติดว่ามึงจองไว้ก่อน ไม่งั้นละ มึง"

เรณูนิ่งคิด แต่ก็ไม่ได้บอกกับทั้งคู่ไปหรอกว่า เธอมั่นใจว่า 'ของดี' ที่เธอแอบไปทำมาน่าจะเอาเขาอยู่ แต่ก็นั่นแหละ 'ของดี' ที่ว่า  มันก็ไม่ใช่ 'ของแท้' และใจคนมันก็ยากแท้หยั่งถึง แต่ในเวลานี้กังวลใจไปมันก็ไม่มีประโยชน์ คิดได้ดังนั้นแล้วเรณูก็ถามว่า

"ลืมไปเลย มันจวนจะเที่ยงแล้ว พี่กินข้าวกันมาหรือยัง"

"กินพวกของกินเล่นบนรถไฟมาแล้ว แต่มันก็ไม่ได้เรียกว่าข้าวหรอกนะ" ติ๋มเล่นลิ้น

"สรุปว่าหิวข้าวหรือเปล่า ถ้าหิวก็ไป หนูเลี้ยงเอง ก๋วยเตี๋ยวตรงร้านริมน้ำอร่อย"

"สรุปว่ามึงจะชวนกูไปกินข้าวหรือกินก๋วยเตี๋ยว มึงเอาให้แน่ อีฉิบหายทำกูสับสน" ติ๋มว่าให้


สามสาวพากันเดินทอดน่องผ่านร้านรวงไปยังร้านก๋วยเตี๋ยวที่อยู่ตรงเรือนแถวริมแม่น้ำน่าน ปกติเรณูเดินคนเดียวแม้จะมีคนมองจนหันหลังกลับก็รู้สึกเฉย ๆ แต่พอประนอมกับติ๋มที่แต่งตัวด้วยเสื้อผ้าล้ำสมัย แต่งหน้าทำผมเหมือนหลุดมาจากโปสเตอร์หนัง เรณูรู้สึกว่ามันยิ่งเป็นจุดรวมสายตาของคนอื่น ๆ  เรณูจึงเข้าใจนางย้อยเมื่อเห็นสารรูปของเธอเมื่อวันที่มาถึง แต่ถ้าให้ลดเรื่องแต่งหน้าทาปาก เรื่องแต่งตัวลง เรณูก็รู้สึกว่าขาดความมั่นใจ

"เรณู เอ็งมากับใครล่ะน่ะ" แม่ค้าข้าวเม่าทอดตะโกนถาม จุดประสงค์ที่แอบแฝงคือจะเรียกช่วยซื้อของนั่นแหละ

"เพื่อนฉันจ้ะ มาเยี่ยมฉัน"

"แต่งตัวเปิ๊ดสะก๊าดจนพวกสามล้อถีบมันน้ำลายไหลเป็นทางแล้วมั้ง"

ตอนนั้นทั้งประนอมและติ๋มต่างก็สวมแว่นกันแดด เมื่อได้ยิน ทั้งสองเชิดหน้าขึ้นน้อย ๆ  จะว่าชินก็ชิน แต่อีกใจก็รู้ว่า ใครจะมองว่า 'เป็น' อะไรก็ช่าง ในเวลานี้ถือว่ามีเงิน และเงินก็เป็นใหญ่พอที่จะทำให้คนมองข้ามรูปโฉมแล้วเปลี่ยนเป็นมิตรได้เหมือนกัน

"ข้าวเม่าขายอย่างไร" ติ๋มเริ่มใช้เงินนำทาง

"อีคนนี้หน้าตาคุ้น ๆ "

"หน้าฉันโหลจ้ะ น้า  เอามาสองแพเนอะ พอไหม หรือจะคนละแพ"

ติ๋มไม่ยอมรับว่าเกิดและโตที่นี่ เพราะวันที่เดินทางออกไปจากชุมแสง กับวันนี้ 'รูปลักษณ์' ของติ๋มนั้นเปลี่ยนไปเป็นอย่างมากแล้ว จะยอมรับให้ต้องท้าวความกันให้เสียเวลาอีกทำไม

"สองแพก็พอ" ประนอมสรุป   นางแม่ค้าจึงหันไปหยิบข้าวเม่าใส่กระทง พลางเอ่ยถามว่า

"เรณู วันนี้เอ็งจะไปงานกินเลี้ยงเขาหรือเปล่า"

"ไม่ไปหรอก น้า"

"กินเลี้ยงอะไร" ติ๋มถามแทรก

"กินเลี้ยงฉลองงานแต่งของน้องผัวเขาไง  เอ๊ะ...เป็นพี่สะใภ้ทำไมไม่ไปดีใจกับเขา หรือว่าเขาไม่ชวน" 

"น้าก็รู้ว่าแม่ผัวฉัน เขาไม่ชอบฉัน เขาจะชวนฉันไปทำไมล่ะ"

"มันก็จริง แล้วนี่แต่งสะใภ้รองเข้าบ้าน จัดงานซะเอิกเกริก สะใภ้ใหญ่อย่างเอ็งจะปั้นหน้าอย่างไรล่ะเนี่ย"

"ไม่เห็นจะต้องปั้นอย่างไรเลย"

"ทำใจได้มันก็ดี แต่น้าบอกกง ๆ น้าสงสารเอ็งนะ"

ติ๋มได้ยินเรื่องที่คุยกัน ดูจะกวนใจเรณู จึงตัดรำคาญด้วยการยื่นแบงกสิบไปให้เป็นค่าขนม

"เหรียญไม่มีรึ แม่คุณ แค่สองบาทเอง"

"มีแต่แบงก์ร้อย ถ้าไม่มีทอน ฉันกินฟรีนะ"

ระหว่างง่วนหาเงินเหรียญทอน ปากนางแม่ค้าก็ว่า "ไปรวยอะไรกันมาเน้อ พกแบงก์สิบแบงก์ร้อยเป็นฟ่อน ๆ"

"ขายนาแปลงน้อยอยู่ตาคลีจ้ะ อยากไปมั่งไหมล่ะ"

"อยากน่ะอยากอยู่ แต่ติดที่ว่ากลัวมันจะขายไม่ออก เพราะมันแก่แล้ว แล้วมันก็มีเจ้าของคาโด่อยู่ด้วย"

"ยิ่งแก่แล้ว ใช้งานมาแล้ว ถือว่ามีประสบการณ์เยอะ พวกไอ้กันมันยิ่งชอบนะ น้า"

"อย่ามาพูดให้คนแก่ดีใจ"

"ไปไหมล่ะ ฉันพูดจริง ๆ นะ แบบน้านี่ ที่นั่นป๊อปปูล่าร์มาก"

"ถ้าไปแล้วใครจะขายข้าวเม่าล่ะ แม่คุณ  เอ้า...ได้เงินทอนแล้ว ขอบใจนะจ๊ะ แม่เนื้อทอง"

**********

ระหว่างที่นั่งละเลียดก๋วยเตี๋ยวเข้าปาก ติ๋มก็เอ่ยขึ้นมาว่า "ไอ้ตงแต่งเมียแล้ว อีย้อยจะให้เมียไอ้ตงไปอยู่ที่ไหน"

"ก็อยู่บ้านเก่าของพี่ เขาซ่อมแซมปรับปรุงให้เป็นเรือนหอ แล้วซาบอกว่า แม่เค้าจะให้มาช่วยขายของที่ร้าน แล้วตั้งเงินเดือนให้ใช้"

"มันก็จริงอย่างที่ป้าข้าวเม่าแกว่านะ เรณู แต่งสะใภ้รองซะเอิกเกริก มีเรือนหอให้อยู่พร้อม แล้วสะใภ้ใหญ่จะทำหน้าอย่างไร" ประนอมถามด้วยสีหน้าครุ่นคิด

"จะทำอย่างไรล่ะ พี่  อยู่ไปแบบที่เคยอยู่นี่แหละ รอให้พี่ใช้ปลดทหารกลับมาก่อน ค่อยคิดหาหนทางขยับขยาย เหลือแค่สี่ห้าเดือนเท่านั้นเอง"

"สะใภ้รองช่วยขายของอยู่ที่ร้าน สะใภ้ใหญ่หาบมาขายที่หน้าตลาดสด แล้วก็หาบเร่ไปตามบ้าน" ติ๋มพึมพำส่ายหน้าแล้วก็ถอนหายใจออกมาก่อนจะบอกว่า

"มันไม่ยุติธรรมจริง ๆ  ยิ่งมันยกย่องเชิดชูสะใภ้รองมากเท่าไหร่ มันก็จะยิ่งเหมือนกดมึงให้ตกต่ำมากเท่านั้น แล้วทีนี้ พอใครไปถามอีย้อย มันก็จะอ้างได้ว่า เป็นเพราะมึงมาของมึงเอง แล้วก็มาจากตาคลีเสียด้วย"

"ก็มันเป็นเรื่องจริงนี่ พี่  ประวัติฉันมันไม่ดี"

"อีย้อยมันเกลียดมึงเข้าไส้ด้วย ถ้ามึงมีลูกกับไอ้ใช้จริง ๆ  สมบัติพัสถาน มันก็คงไม่แบ่งปันให้หรอก"

"คิดมากนะ อีติ๋ม ยิ่งพูดมาก อีณูมันก็ยิ่งเครียด"

"อ้าว พี่  มันเครียดซะตอนนี้ ตอนที่เรายังอยู่ เรายังช่วยมันหาทางออกได้บ้างนะ ถ้าเรากลับไปแล้ว มันก็เครียดมันก็คิดแก้ปัญหาอยู่คนเดียว แล้วถ้าแก้แบบโง่ ๆ อีก ก็พาให้ชิบหายวายป่วงได้นะ พี่"

"แล้วมึงจะให้มันทำอย่างไร"

ติ๋มชักสีหน้าครุ่นคิด ก่อนจะหันซ้ายหันขวา พอเห็นว่าโต๊ะข้าง ๆ ปลอดคน เจ้าของร้านเดินไปล้างจาน ติ๋มก็พูดเสียงเบาว่า

"ก็ให้อีณูมันทำอย่างที่มันเคยทำสิ พี่"

"เออใช่ จริง ๆ ด้วย  ถ้าอีย้อยมันเกลียดมึงนัก มึงก็ต้องทำให้มันรักมึงให้จงได้"

หัวคิ้วของเรณูขมวดเข้าหากันก่อนจะถามว่า "พี่หมายความว่าไง"

"อีณู มึงอย่าลืมนะว่า กูกับอีติ๋มหากินอยู่ที่ตาคลีมาก่อนมึงจะมา เรื่องที่มึงแอบไปหาไอ้หมอก้อน อย่าคิดนะว่าพวกกูไม่รู้กัน"

"พี่นอม...พี่ติ๋ม...หนู..."

"กูรู้ว่ามึงรักไอ้ใช้มันมาก มึงถึงได้กล้าใช้ของต่ำ แล้วที่พวกกูยอมเสียเงินเสียทองให้มึงก็เพราะพวกกูอยากเห็นมึงมีชีวิตใหม่ที่ดีขึ้นกว่าชีวิตพวกกูหรอก กูไม่ได้โง่"

"หนูขอโทษ ตอนนั้นหนูคิดแค่ว่าอยากเอาชนะพี่ใช้เขา หนูไม่ได้คิดจะหลอกเอาเงินเอาทองจากพวกพี่เลยนะ"

"กูเข้าใจว่าความรักมันเข้าตามึง กูไม่ถือมึงหรอก ที่กูให้กันมาก็เพราะอยากให้มึงเก็บไว้ทำทุน เผื่อมึงมาแล้วเจอช่องทางดี ๆ  พวกกูสองคนหมดหนทางทำมาหากินจะมาพึ่งมึงได้มั่ง"

เพราะความซาบซึ้งใจทำให้เรณูยิ้มออกพร้อมกับน้ำตาคลอเบ้า

"ไม่ต้องมาบีบน้ำตา กิน ๆ เข้าไป เดี๋ยวต้องไปวัด นัดแนะกับหลวงพ่อเรื่องทำบุญอีก" ติ๋มตัดบท


ระหว่างเดินไปวัดก็ต้องผ่านสถานที่จัดงานเลี้ยงฉลองมงคลสมรสของลูกชายคนรองของนางย้อย ซึ่งได้จ้างโต๊ะจีนจากภัตตาคารมาลง และมีวงดนตรีลูกทุ่งคอมโบ้มาเล่นขับกล่อม มีฟลอร์ให้ลุกจากโต๊ะมาเต้นรำด้านหน้าเวที มีเครื่องปั่นไฟฟ้าติดไฟสีประดับประดาโดยรอบ ติ๋มก็ถึงกับร้องอุทานว่า

"แม่เจ้าโว้ย นี่มันงานช้างเลยนี่หว่า"

ภาพตรงหน้าเหมือนเข็มทิ่มแทงใจของเรณู คำพูดที่ได้ยินมาตั้งแต่ตอนเช้าก้องอยู่ในหู

'ป้าย้อยนี่ก็นะ ลำเอียง ดูสิ สะใภ้ใหญ่ให้อยู่บ้านซอมซ่อหลังโรงสี ส่วนสะใภ้รองมีเรือนหอให้อยู่เสียดิบดี' 

'แต่งสะใภ้รองเข้าบ้าน จัดงานซะเอิกเกริก สะใภ้ใหญ่อย่างเอ็งจะปั้นหน้าอย่างไรล่ะเนี่ย'

'สะใภ้รองช่วยขายของอยู่ที่ร้าน สะใภ้ใหญ่หาบมาขายที่หน้าตลาดสด แล้วก็หาบเร่ไปตามบ้าน'

'ยิ่งมันยกย่องเชิดชูสะใภ้รองมากเท่าไหร่ มันก็จะยิ่งเหมือนกดมึงให้ตกต่ำมากเท่านั้น'

'มันไม่ยุติธรรม...มันไม่ยุติธรรม'

แรงริษยาทำให้เรณูรู้สึกแน่นหน้าอก ดวงตามีหยาดน้ำตาคลอลูกนัยน์ตา ใจนั้นครุ่นคิดว่านี่เพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น แล้ววันอื่น ๆ ล่ะ นางย้อยจะชูอีพิไลขึ้นและกดอีเรณูให้ต่ำต้อยลงถึงเพียงใด

"คืนนี้เราออกมาซ้อมเต้นตะลุงกันไหม พี่นอม"

"น่าสนอยู่เหมือนกันว่ะ คนคงจะเยอะมาก"

"มาไหม อีณู" ติ๋มหันไปถามเรณูที่หน้าเจื่อนลงอย่างเห็นได้ชัด

"มันไม่มาหรอก จะให้มันมาให้แสลงใจทำไมล่ะ" ประนอมดูจะเข้าใจ 'ความรู้สึก' ของเรณูเป็นอย่างดี

ติ๋มเห็นดังนั้น จึงบอกว่า "เห็นอย่างนี้แล้ว มึงคิดได้หรือยัง"

ติ๋มหมายถึงเรื่องที่จะให้เรณู 'ทำเสน่ห์' มัดใจนางย้อยที่ได้คุยกันก่อนนั้น

"ฉันไม่อยากสร้างบาปสร้างกรรมอีก แค่เรื่องพี่ใช้ ฉันยังไม่รู้เลยว่า ถ้าความแตกขึ้นมา เขาจะว่าอย่างไร"

"ลำพังไอ้ใช้คงไม่เท่าไหร่หรอก เพราะข้าวสารมันกลายเป็นข้าวสุกซะแล้ว แต่ถ้าอีย้อยมันรู้ มึงเตรียมหอบผ้ากลับไปขายนาแปลงน้อยที่ตาคลีเหมือนเดิมเถอะ อีณู"


**************************************







Title: Re: กรงกรรม บทประพันธ์ของ จุฬามณี
Post by: นักประพันธ์ on 01 March 2020, 16:14:03
ตอนที่ 12 : พิไล...มาแล้วจ้า


                  ๑๒


พอเห็นสภาพเรือนหอซึ่งเป็นบ้านไม้เก่าที่ถูกซ่อมแซมแค่บางส่วน ในช่วงที่เผลอคน พิไลจึงกระซิบบอกนางพิกุลว่า

"แม่ เดี๋ยวแม่เอาทองหมั้นบางส่วนกลับไปเก็บไว้ที่บ้านให้ฉันด้วยนะ เห็นบ้านแล้วฉันไม่อุ่นใจ"

นอกจากจะไม่อุ่นใจในสภาพบ้าน พิไลยังไม่พอใจในสภาพเรือนหอ เครื่องเรือน สภาพครัว และห้องส้วมที่อยู่นอกตัวบ้าน เพราะบ้านที่ทับกฤชนั้นเป็นบ้านครึ่งตึกครึ่งไม้ทันสมัย แม้จะลำบากเรื่องช่วยเตี่ยค้าขาย แต่พิไลไม่เคยลำบากเรื่องอยู่เรื่องกิน พิไลไม่เก่งเรื่องงานบ้านและงานครัว อยู่ที่บ้านนางพิกุลจะรับหน้าที่ทำความสะอาดบ้าน เสื้อผ้า และทำอาหารให้ลูกให้ผัวด้วยความเต็มใจยิ่ง

พิไลจึงสบายจนเคยตัว วัน ๆ คิดแต่เรื่องแต่งตัวให้สวยงามทันสมัย คิดแต่เรื่องยักยอกเงินของเตี่ยมาเข้าพกเข้าห่อเก็บไว้ เพราะรู้ว่าแม้เตี่ยจะรัก แต่ตนเองก็เป็นลูกผู้หญิง และเป็นเพียงลูกเมียน้อย ทรัพย์สมบัตินั้นยากที่จะตกทอดมาถึงตน และที่ยอมรับหมั้นลูกชายคนโตของนางย้อยคราวนั้น นอกจากพึงพอใจในรูปโฉมของปฐม พิไลยังรู้ดีว่าตามธรรมเนียมจีน ลูกชายคนโตจะได้สืบทอดมรดกกิจการส่วนใหญ่ เรื่องกดขี่ลูกสะใภ้ของคนจีนโดยเฉพาะเมียของลูกชายคนโตที่พอแต่งเข้าไปแล้วต้องปรนนิบัติพัดวีตั้งแต่พ่อแม่สามียันน้อง ๆ ทุกคน มันหมดยุคหมดสมัยแล้ว นางย้อยเองก็เป็นคนไทยแท้ น่าจะเข้าใจหัวอกลูกสะใภ้คนจีนดี

แต่เมื่อการณ์พลิกจากปฐมเป็นประสงค์ซึ่งเป็นลูกชายคนรอง พิไลจึงคิดแล้วคิดอีก สุดท้ายพิไลก็ได้แง่ที่จะปฏิเสธ นั่นก็คือขอยึดทองหมั้นของปฐมไว้เป็นสมบัติของตน และต้องจัดหาทองหมั้นของประสงค์มาให้ใหม่

ข้อสุดท้ายที่พิไลไม่คิดว่านางย้อยจะยินยอมง่าย ๆ ก็คือ เรื่องร้านค้าซึ่งเป็นบ่อเงินบ่อทองของนางย้อย ที่ตามหลักแล้วจะต้องตกเป็นของลูกชายคนโต แต่พิไลก็ขอเป็นกรณีพิเศษให้เป็นของประสงค์ ซึ่งเท่ากับเป็นของตนและลูกเต้าที่จะเกิดมานั่นเอง

เมื่อนางย้อยยินยอมตกลง พิไลยังยุให้เตี่ยกับแม่เล่นแง่เล็ก ๆ น้อย ๆ  ตั้งแต่เรือนหอ เครื่องเรือน โต๊ะจีน วงดนตรี รวมถึงโรงแรมให้ญาติ ๆ ของเธอเข้าพักในค่ำคืนเลี้ยงฉลองมงคลสมรส ซึ่งนางย้อยก็มีทั้ง 'ยินยอม' และ 'แข็งขืน' ในบางเรื่อง  แต่พิไลก็รู้ว่าที่ยอมมานั้น นางย้อยก็เสียไปไม่ใช่น้อยแล้วเหมือนกัน

เช้าวันนี้ที่ชุมแสง เป็นเช้าที่พิไลยังคงนอนนิ่งอยู่บนที่นอนขนาดหกฟุตบนเตียงไม้สักมีมุ้งครอบเรียบร้อย ข้างตัวคือประสงค์ผู้เป็นสามีของตน เขายังคงหลับใหลเพราะเหน็ดเหนื่อยจากงานพิธีกรรมตั้งแต่เช้ามืดของเมื่อวาน และเมามายจากฤทธิ์ของสุราที่เพื่อนฝูงญาติมิตรส่งมาให้เขาดื่มย้อมใจเพื่อที่คืนแรกของวันส่งตัวเจ้าบ่าวจะได้ไม่เขินอายเจ้าสาว ทว่าฤทธิ์ของเหล้าโรงก็ทำให้เจ้าบ่าวต้องถูกหามปีกเข้าห้องหอแทน และเขาก็หลับสนิทจนถึงเวลานี้

พิไลนอนลืมตาโพลง ครุ่นคิดถึงชีวิตใหม่ที่ชุมแสง ซึ่งมีข้อตกลงกันไว้ว่า เธอกับประสงค์นั้นจะมีหน้าที่ช่วยงานในร้าน รับเงินเดือนจากนางย้อยทั้งสองคน แล้วกว่าร้านนั้นจะกลายเป็นของประสงค์ตามที่ได้ตกลงกันไว้ เธอไม่กลายเป็นลูกจ้างบรรดาศักดิ์ไปจนแก่เลยรึ เพราะนางย้อยก็เพิ่งจะสี่สิบกว่า ๆ ยังมีเรี่ยวแรงทำงานเก็บเงินเข้า 'กงสี' อีกหลายปี

พิไลครุ่นคิดหาวิธีเข้าไปครอบครองกิจการที่เป็นสิทธิ์ของสามีของตนตามข้อตกลงให้เร็วที่สุด เพราะถ้านางย้อยเกิดเปลี่ยนใจหรือเล่นแง่ แรงงานสองแรงที่ทุ่มเทลงไปทำให้เงินใน 'กงสี' เพิ่มพูน คนไม่ได้ออกแรงทำงานก็มีสิทธิ์ใช้จ่ายสบายไป ซึ่งมันมิได้ยุติธรรมกับประสงค์และเธอเลยสักนิด

**********

กลิ่นควันทำให้ประสงค์ค่อย ๆ ปรือตา เขารู้สึกหนักอึ้งไปทั้งศีรษะ เสียงไอที่ดังมาจากในครัว รวมถึงความร้อนของตัวบ้านเพราะแดดแผดแสงแรงกล้า ทำให้เขาค่อย ๆ ขยับลุกขึ้นนั่ง พอก้มมองดูตัวเองก็เห็นว่า เขายังอยู่ในชุดกางเกงขายาว เสื้อเขิ้ตแขนยาว ปราศจากสูท เนกไท เข็มขัด และถุงเท้า

ที่นอนข้างตัวว่างเปล่า เหลือเพียงรอยยับของผ้าปูที่นอนและกลีบกุหลาบที่ถูกโปรยไว้ตอนทำพิธีส่งตัวเข้าห้องหอ ก่อนออกไปเลี้ยงฉลองมงคลสมรสนั้นยับยู่ยี่

เขาเปิดมุ้ง ลงจากเตียง เดินโซเซไปยังห้องครัวที่อยู่ทางหลังเรือน ยืนเกาะขอบประตู ก็เห็นพิไลซึ่งอยู่ในชุดผ้านุ่งสีกรมท่า เสื้อลูกไม้คอกลมสีชมพู ผิวต้นแขนนั้นขาวละเอียด นั่งอยู่หน้าเตาอั้งโล่

"ทำอะไร" แม้จะเห็นว่าหญิงสาวกำลังพยายามก่อไฟ เขาก็จำต้องทักทายด้วยประโยคที่เรียกว่ารู้ทั้งรู้

พิไลหันมามองเขา เขายิ้มน้อย ๆ เพราะใบหน้าขาวนั้นมีสีดำของถ่านติดอยู่ที่ปลายจมูกและบริเวณแก้ม พิไลคงไม่รู้ตัวว่าเผลอใช้มือลูบหน้าที่ชื้นเหงื่อของตน จนทำให้หน้าขาวสะอาดนั้น มอมเป็นหน้าลูกแมว

"ก่อไฟหุงข้าวต้มให้เฮีย"

"หุงข้าวต้ม กินกับอะไรล่ะ"

"ยังไม่รู้เลย เห็นมีข้าวสารอยู่ในถัง ก็เลยจะหุงไว้ก่อน"

คุยกันแค่นั้น ประสงค์ก็เดินผ่านครัวไปทางบันไดหลังบ้านเพื่อไปห้องส้วม อึดใจใหญ่ ๆ เขาก็กลับมาด้วยใบหน้าชื้นน้ำ ร่างกำยำปราศจากเสื้อที่ใส่ออกไป พิไลมองหุ่นของเขาเห็นเพียงว่าขาวจัด มีไรขนที่หน้าอกก็หลบวูบ มือนั้นพัดวีเตาต่อไป ใบหน้านั้นมีเหงื่อผุดมากกว่าเดิม

"อ้าว ไฟยังไม่ติดอีกเหรอ"

"ฉันติดเตาไม่เป็น"

"อะไรนะ" ประสงค์ไม่อยากจะเชื่อหูตัวเองเหมือนกัน

"คือ...ตอนอยู่ที่บ้าน ฉันไม่ค่อยได้เข้าครัวหรอก ส่วนใหญ่เป็นหน้าที่ของแม่" พิไลยอมรับตรง ๆ 

ประสงค์ทำหน้างง ๆ แล้วเขาก็เดินไปที่โอ่งมังกร เปิดฝาโอ่ง หยิบขันอะลูมิเนียมตักน้ำมากินเพราะรู้สึกกระหาย วางขันลงแล้วเขาก็วางเสื้อที่พาดไว้บนไหล่ลงบนฝาโอ่ง แล้วเดินเข้าไปทรุดตัวลงนั่งยองข้าง ๆ หญิงสาวรีบขยับเก้าอี้รองนั่งตัวสูงเพียงคืบหนี เพื่อให้เขาเข้ามาที่หน้าเตาได้โดยสะดวก

"ก่อไฟไม่เป็นจริง ๆ รึเนี่ย" ถามแล้วเขาก็พ่นลมออกจากปาก กลิ่นเหล้านั้นยังคงมีอยู่กับลมที่ออกมาจากคอและจมูกของเขา แต่พิไลกลับไม่รู้สึกเหม็นแต่อย่างใด อาจจะเป็นเพราะว่าวันนี้ และวันต่อ ๆ ไป เขาและเธอก็จะเป็นเหมือนคนคนเดียวกัน ต้องดูแลสุขทุกข์ของกันและกันตราบจนแก่เฒ่า ตายจากกันไป อย่างที่ผู้หลักผู้ใหญ่ให้ศีลให้พรว่า

'ให้ถือไม้เท้ายอดทองกระบองยอดเพชร'

'หนักนิดเบาหน่อยก็ให้อภัยกัน'

'รักกันไปชั่วลูกชั่วหลาน'

แม้ว่าการแต่งงานครั้งนี้ มันไม่ได้เริ่มต้นด้วยความรักก็ตามที

"ถ้าเป็น...ก็คงติดไปนานแล้วแหละ" พิไลบอกเสียงเรียบ ๆ  สีหน้านั้นเริ่มมีความหนักใจ

"แล้วหุงข้าวทำกับข้าวเป็นหรือเปล่า"

"ก็พอได้ แต่ไม่เก่งหรอกนะ บอกกันไว้ก่อน"

ประสงค์นิ่งเงียบ ภวังค์นั้นใจไพล่ไปนึกถึง 'จันตา' คนงามที่มาจากเมืองลับแล เจ้าหล่อนคงจะเก่งงานในครัวเพราะเป็นลูกจ้างจะต้องทำทุกอย่างเป็น  แล้วสติก็ระลึกว่า คิดถึงเจ้าหล่อนไปก็หาได้มีประโยชน์ไม่ เขาจึงหันมาใส่ใจกับงานตรงหน้า

เขาดึงกะละมังใส่ขี้เถ้าที่สอดไว้ใต้ม้าไม้สำหรับวางเตาอั้งโล่ หยิบถ่านจากเตาออกมาวางไว้ในกะละมังใบนั้น ดึงปี๊บใส่ถ่านซึ่งมีไม้เชื้อฟืนและขี้ไต้วางอยู่ด้วย เขาหยิบไม้เชื้อฟืนมาวางไขว้กัน บิขี้ไต้ออกมาวางบนไม้ จุดไม้ขีดไฟลนขี้ไต้ พอไฟติด เขาก็หยิบไม้เชื้อฟืนมาวางไขว้โหย่ง ๆ ปิดไว้อีกที

พอไม้เชื้อฟืนติดไฟ เขาก็เริ่มวางถ่านไว้โดยรอบ หยิบพัดมาวีลมใส่ใต้เตา อึดใจเดียวพอหมดควัน ไฟก็ติดถ่านแดงโร่

"แค่นี้เอง มันยากเสียที่ไหน"

พิไลนิ่งเงียบ ตาจ้องมองมือขาวของเขา จดจำขั้นตอน เพราะก่อนจะถึงวันแต่งงาน แม่ก็บอกแล้วว่า ทำไม่เป็นก็ต้องทำให้เป็น ไม่อยากทำก็ต้องทำ เพราะเรื่องพวกนี้มันเป็นหน้าที่ของ 'เมีย' ของ 'แม่' ทุกคน จะเกี่ยงคนอื่นอย่างที่เคยเกี่ยงไม่ได้อีกแล้ว

"ไหนข้าวอยู่ไหน เตรียมเอามาตั้งบนเตา"

พิไลลุกขึ้นไปคว้าหม้อข้าว เดินไปยังถังเหล็กมีฝาปิดที่ใส่ข้าวสารซึ่งตั้งอยู่ติดกับตู้กับข้าว เปิดฝาถังตักข้าวใส่หม้อถึงสองกระป๋องนม  พอประสงค์เห็นดังนั้นจึงรีบบอกว่า

"เธอ มันมากไปแล้ว ข้าวต้มมันไม่เหมือนข้าวสวย"

"แล้วเท่าไหร่ถึงจะพอดีล่ะ เฮีย"

"แค่กระป๋องเดียวพอ"

พิไลเทข้าวในหม้อลงถังไปใหม่ แล้วตวงขึ้นมาหนึ่งกระป๋องนมตามที่เขาบอก พอได้ข้าวมาแล้วก็มาเปิดโอ่งตักน้ำใส่หม้อข้าว ใช้มือคน ๆ แล้วมองหาที่เทน้ำทิ้ง หญิงสาวก็เดินออกไประเบียงหลังบ้าน เทน้ำลงดินไป

ประสงค์มองตามไปด้วยความรู้สึกขัดลูกนัยน์ตา เพราะน้ำซาวข้าว แม่จะเทใส่กะละมังเก็บไว้ล้างจาน เขายกมือเกาหัว แล้วก็บอกกับพิไลว่า

"เดี๋ยวเฮียจะไปในตลาดนะ อยากได้อะไรไหม อยากกินอะไรเป็นพิเศษไหม" เมื่อพิไลเรียกเขาว่า 'เฮีย'  เขาก็ต้องแทนตัวเองว่า 'เฮีย' ไปโดยปริยาย

"แล้วแต่เฮียแล้วกัน ฉันกินอะไรก็ได้" อันที่จริง พิไลไม่ใช่คนกินง่ายอยู่ง่าย แต่ว่าเธอก็ยังนึกไม่ออกว่า เช้านี้จะทำอะไรให้สามีกิน หรือตนนั้นอยากกินอะไร เพราะตั้งแต่เกิดมา พออยากกินอะไรแม่ก็ทำให้กิน หรือมีกินโดยที่ไม่เคยต้องคิดอะไรเลย

**********

"พิไลล่ะ" พอเห็นลูกชายนุ่งกางเกงตัวเมื่อวาน แต่เปลี่ยนเสื้อจากเสื้อเชิ้ตแขนยาวเป็นเสื้อตราห่าน สวมรองเท้าแตะเดินเข้ามาในร้าน หน้าตาดูอ่อนระโหยโรยแรง นางย้อยก็ถามถึงเมียของเขาทันที

"หุงข้าวอยู่ที่บ้าน ผมมาหากับข้าวไปกิน"

นางย้อยไม่รู้สึกแปลกใจที่สายโด่งขนาดนี้แล้ว ผัวหนุ่มเมียสาวเพิ่งจะลุกขึ้นมาหุงข้าวกิน เพราะ 'ครัวใหม่' ย่อมขลุกขลักเป็นธรรมดา อยู่ไปสักพักปรับตัวได้แล้ว ทุกอย่างก็คงลงตัว ลื่นไหลไปตามครรลอง ดำเนินชีวิตคู่ไปตามระบบที่นางได้ขีดเส้นไว้ให้คร่าว ๆ

"ทำอะไรกินกันล่ะ"

"กำลังหุงข้าวต้มกุ๊ย ผมมาดูปลาเค็ม ไข่เค็ม หัวไช้โป๊เอาไปผัดกับไข่ แล้วก็ถั่วลิสงเอาไปคั่ว"

ในบรรดาลูกชายทั้งสี่คนนั้น ประสงค์พอช่วยแบ่งเบางานครัวได้มากกว่าคนอื่น ๆ  เขาหุงข้าวทำอาหารง่าย ๆ แทนแม่ได้

"ของในร้านอยากได้อะไรก็หยิบไป" เห็นว่าเพิ่งเป็นวันแรก ครั้งแรก นางย้อยจึงละคำว่า 'แล้วก็ลงบัญชีไว้ สิ้นเดือนค่อยคิดกัน'

เมื่อแม่ออกปากให้ ประสงค์จึงหยิบของกินของใช้ เช่น สบู่ ยาสีฟัน แปรงสีฟัน ยาสระผม แฟ้บ แป้งหอม ไฟฉาย และถ่านไฟฉายลงในตะกร้า โดยก่อนจะหยิบเขาก็บอกว่า "ผมขอเอาไปใช้นะ ม้า"

นางย้อยเห็นดังนั้น ก็รู้แล้วว่า ต่อไปจะมีคำว่า 'ของของพ่อแม่' กับ 'ของของลูก' เกิดขึ้นในครอบครัวที่เคยเป็นหนึ่งเดียว มันเป็นวัฏจักรที่หนีไม่พ้น และเพื่อให้ลูกคลายความกังวลใจเรื่องหน้าที่การงาน กับรู้ว่าช่วงนี้เป็นช่วง 'ข้าวใหม่ปลามัน' นางย้อยจึงบอกว่า

"ม้าว่า วันนี้แกกับพิไลยังไม่ต้องมาช่วยม้าที่ร้านหรอกนะ อยู่จัดบ้านจัดช่องกันซะให้เรียบร้อยก่อนก็ได้ พรุ่งนี้ค่อยพากันมา แต่ถ้าจะยังอยากพักอีกสักวันสองวัน ม้าก็ไม่ได้ว่าอะไรนะ"

ระหว่างที่เดินถือของกินใส่ตะกร้ากลับไปที่บ้าน ประสงค์ก็เดินมาทันเรณูที่หาบของขายพลางหยุดคุยกับบรรดาลูกค้าระหว่างทางกลับโรงสี

"พี่เรณู ขายหมดไหม"

"เหลือไม่ถึงสิบห่อ จะไปขายต่อก็ขี้เกียจเดินละ เดี๋ยวแจกคนงานกินกันไป"

"งั้นผมขอซื้อ"

เรณูมองของในมือของประสงค์ก็เดาได้ว่า เขาคงเพิ่งกลับมาจากตลาด เรณูวางหาบลง แล้วหยิบขนมในห่อใส่ตะกร้าของเขาจำนวนหกห่อ ที่เหลือเรณูตั้งใจจะเอาไปแบ่งปันให้กับกมลและเจ๊กเซ้ง

"แบ่งเอาไปกิน ไม่ต้องให้เงินพี่หรอก" เรณูแสดงน้ำใจ

"แต่ของซื้อของขาย"

"วันนี้พี่ยังไม่อยากขาย เอาไปเหอะ รับไป"

"แต่มันเยอะ ผมเกรงใจ"

"ไม่เป็นไรหรอก แค่บอกอาซ้อว่าเป็นขนมของพี่ก็พอแล้ว" เรณูแสร้งยกย่องทั้งที่ใจนั้นไม่เคยคิดจะญาติดีด้วย

ประสงค์กับเรณูเดินไปคนละทาง แล้วเรณูก็หยุดก้าวขา หันหลังกลับไปมองประสงค์ที่เดินจ้ำพรวด ๆ กลับบ้าน พลางคิดว่าถ้าพิไลมันรู้ว่าขนมหกห่อเธอเป็นคนทำ มันจะกินลงหรือเปล่านะ

**********

กลับมาถึงบ้านเขาก็ถือตะกร้าเดินขึ้นบนเรือน พบว่าพิไลกำลังเก็บมุ้ง พับผ้าห่มอยู่ในห้อง สายตาประสานกันแล้วพิไลก็เป็นฝ่ายหลบสายตาของเขา เขาก็เลยเดินไปทางในครัว พอไปถึงเขาก็เห็นข้าวต้มในหม้อนั้นอืดแห้งติดอยู่ในหม้อ ไม่เป็นข้าวต้มกุ๊ยอย่างที่เขาเคยกิน เขาส่ายหน้าเบา ๆ ยิ้มน้อย ๆ  พิไลเดินตามมา มองของในตะกร้า

"ได้อะไรมากินบ้างล่ะ เฮีย"

"อาซ้อให้ขนมมาหกห่อ"

"อาซ้อ...ใคร"

"พี่เรณู เมียตั่วเฮียไง เขาอยู่บ้านหลังโรงสีแล้วทำขนมขายที่ตลาดเช้า ตะกี้เดินกลับมาทันเขาจะกลับบ้าน เห็นเขายังหาบขนมขาย เลยถามซื้อ แต่เขาไม่ขาย เขาให้มา"

พิไลกลืนน้ำลายแล้วยืดคอขึ้น ใจหนึ่งเห็นห่อขนมก็รู้สึกหิว อยากกิน แต่อีกใจมันเป็นขนมฝีมือของ 'อีเรณู' ผู้หญิงที่มาแย่งคนรัก แย่งโอกาสของตนไป แต่ท้องมันหิวเกินกว่าจะมัวถือโกรธเคือง  พอประสงค์นั่งลงแล้ววางตะกร้า พิไลนั่งลงตามแล้วคว้าห่อขนมมาเปิดดู เป็นขนมตะโก้เผือกที่ตนชอบกิน พิไลก็พูดเบา ๆ ว่า

"น่ากินจัง เขาขายห่อละเท่าไหร่"

"ห่อละสลึง จะกินขนมรองท้องรอกับข้าวไปก่อนก็ได้นะ"

"แล้วเฮียจะกินด้วยกันไหมล่ะ" พิไลยังไม่ได้ลุกไปหยิบช้อนที่อยู่ในตะกร้าใส่ช้อนติดอยู่กับตู้กับข้าว

"เอาไว้ก่อน เดี๋ยวทำกับข้าวก่อนดีกว่า"

"จะทำอะไร"

หลังจาระไนให้พิไลรู้ว่าจะทำอะไรกินกับข้าวต้มบ้าง เขาก็ลงมือทำทันที  พิไลลุกขึ้นไปหยิบช้อนมาตักขนมเข้าปาก พอลิ้มรสก็รู้สึกว่า ขนมนั้นหวานกลมกล่อม สายตาของพิไลมองเห็นประสงค์หยิบจับอะไรต่อมิอะไรดูคล่องแคล่ว ด้วยความสงสัยพิไลจึงถามเขาว่า

"ดูเฮียท่าจะทำอาหารเก่งนะ"

"ไม่เก่งหรอก ก็ทำพอแก้ขัดตอนม้าไม่อยู่บ้านได้บ้าง ถ้าเอาอร่อยก็คงไม่ได้หรอก"

"ก็ยังดูดีกว่าฉัน"

"ก็ค่อย ๆ ฝึกหัดไป ม้าบอกว่า ของแบบนี้มันไม่มีใครทำเป็นตั้งแต่เกิดหรอก"

"แล้วลูกคนอื่น ทำกันเป็นหรือเปล่าล่ะ"

ประสงค์ส่ายหน้า ก่อนจะบอกว่า

"ตั่วเฮียทำอาหารไทย ๆ อย่างพวกแกงป่า แกงเผ็ดอร่อยนะ แต่ไม่ค่อยจะทำ ส่วนอาซามันรู้ว่าอะไรอร่อย ร้านไหนทำอาหารอร่อย แต่มันบอกว่า ถ้าให้มันทำเอง มันทำไม่เป็น แล้วอาสี่ก็กินอย่างเดียว จานชามก็ยังล้างไม่เป็นเลย"

"แล้วเฮียชอบกินอะไร"

"ถามทำไม เขาหันมาถาม ดวงตานั้นมีประกายวิบวับ  พิไลเห็นแล้ว หน้าแดงซ่านขึ้นมา

"ก็...จะได้ฝึกไว้" ตอบแล้วก็พยายามเกลื่อนสีหน้าให้เป็นปกติ

"ถ้าเอาที่ชอบ ก็พวกแกงกะทิ แกงส้ม แกงเลียง ทำได้ไหมล่ะ"

"ทำได้แต่พวกของต้ม ๆ ผัด ๆ ทอด ๆ  แล้วก็พวกของนึ่ง อย่างปลานึ่งเพราะว่าเตี่ยชอบกิน แต่น้ำพริกไม่ถนัดนะ เตี่ยไม่ค่อยชอบกิน โดยเฉพาะน้ำพริกปลาร้า หรืออาหารที่มีปลาร้า"

"ปลาร้าเฮียก็กินได้  ตริง ๆ ทำอะไรมาก็กินได้หมดแหละ ไม่ต้องกังวลไปหรอก" ปากพูดไป มือเขาก็คั่วถั่วลิสงไปด้วย

"เฮีย แล้วฉันก็ไม่เคยหาบน้ำนะ ที่นี่พอมีคนรับจ้างหาบใช่ไหม"

"มี ญาติบุญปลูกเขารับจ้างหาบ"

เรื่องหาบน้ำมาใส่โอ่งนั้น พวกเขาก็ไม่ได้หาบเหมือนกัน แม่จ้างคนหาบมาให้ใช้  ตอนเป็นเด็ก ๆ พวกเขาก็พากันไปอาบน้ำที่ท่าน้ำ ว่ายน้ำเล่นกันสนุกสนาน แต่พอโตขึ้นหน้าที่การงานในร้านมากขึ้น ปลีกตัวไปท่าน้ำตั้งแต่หัววันไม่ได้ ครั้นจะไปตอนพลบค่ำแม่ก็เป็นห่วงเกรงเรื่องงูเงี้ยวเขี้ยวขอและผีน้ำ แม่ก็เลยให้อาบเสียที่บ้านแทน

"ใครคือบุญปลูก"

"บุญปลูกกับป้อมเป็นพี่น้องกัน เป็นเด็กที่ร้าน เดี๋ยวก็เห็นหรอก"

"แล้วฉันก็ไม่ชอบซักผ้า ถ้าจะจ้างเขาซักล่ะ เฮียจะว่าอะไรไหม"

"หือ" ข้อนี้เขาไม่คิดว่าจะได้ยิน เพราะงานซักผ้านั้นเป็นงานของ 'ลูกผู้หญิง' พวกเขาเองพอโต ๆ มา แม่ก็ให้ซักกันเอง นอกเสียจาก 'ชุดเก่ง' เสื้อผ้าสำหรับใส่ออกงาน แม่ถึงจะซักและรีดให้หลังจากปิดร้านแล้ว

"ถูบ้านด้วยนะ จ้างหาบน้ำ ซักผ้า ถูบ้านด้วยเลย คือตอนอยู่ที่บ้านมีคนงานทำให้" อันที่จริงตอนอยู่บ้านไม่ได้มีคนงานทำให้ แต่ครั้นจะบอกว่าแม่ทำให้ ตัวเองก็จะดูแย่ลงไปอีก

ประสงค์ทำหน้าหนักใจ อดคิดไปถึงคำบอกเล่าของกมลไม่ได้  'พี่เรณูเขาขยันขันแข็ง งานบ้านงานเรือนนี่เรียบกริบ  วัน ๆ ไม่เห็นแกหยุดมือ เดี๋ยวก็ทำนั่น เดี๋ยวก็ทำโน่น กับข้าวก็ทำอร่อย ทำได้หมดทุกอย่างที่เราอยากกิน'

นึกถึง 'เรณู' ก็อดเปรียบเทียบกับ 'พิไล' ไม่ได้  นี่ถ้าแม่รู้ว่าสิ่งที่ว่าเป็นเพชรนั้น แท้จริงแล้วอาจไม่ใช่ก็ได้ แม่จะรู้สึกอย่างไร

**********


เมื่อวาน หลังไปติดต่อกับทางวัดเรื่องที่จะมาทำบุญ โดยการถวายสังฆทานปิ่นโต อุทิศให้กับแม่ของติ๋มที่ล่วงลับไปแล้วในตอนเช้าวันรุ่งขึ้นซึ่งเป็นเช้าวันนี้ เรณูก็พาประนอมกับติ๋มกลับมาตลาดเพื่อซื้อปิ่นโต ๔ เถา ซื้อผลไม้ ซื้อของมาเตรียมทำอาหารใส่ปิ่นโต

พอเห็นกระท่อมหลังเล็กที่ถูกใช้เป็นสถานที่ทำขนมพร้อมกับข้าวของเครื่องใช้ ประนอมก็เอ่ยชมเรณูว่า

"กูไม่คิดเลยว่า มึงจะเก่งกาจขนาดทำขนมได้"

"ไม่ได้อยากเก่งหรอก พี่นอม แต่แม่พาทำก็ต้องทำ ทำไม่ได้แกก็ตีเอา  ด่าเอา จิกใช้เอาจนได้ แม่ฉันใจดี แต่ปากจัด"

"ลูกเป็นสิบคน ไม่ปากจัดได้ไง แม่พี่ก็เหมือนกันแหละ ด่าเป็นทำนองเสนาะเลย มึง"

"แล้วนี่ลูกมึง มึงจะให้อยู่วัดไปอย่างนั้นอีกนานแค่ไหน" พอเอ่ยถึงเรื่องของแม่ ติ๋มก็นึกถึงเรื่องลูกของเรณูขึ้นมา

"รอให้พี่ใช้กลับมาก่อน ถ้าฉันไม่เล่า แม่เขาก็คงเล่า ถ้าเขาไม่ถือโทษโกรธเกลียดฉัน พอจังหวะดี ๆ ฉันจะไปรับมาอยู่ด้วย"

"แล้วถ้าไอ้ใช้มันโกรธเกลียดมึง จนขอเลิกกับมึงล่ะ" ติ๋มซัก

"พี่ก็รู้"

"เออ กูลืมไป  แล้ว...ถ้าของมันเสื่อมล่ะ"

"ให้วันนั้นมาถึงก่อนแล้วค่อยว่ากัน"

"เรื่องลูกกับผัวเก่าก็ดี เรื่องที่มึงท้องแล้วแท้งไปก็ดี กูว่ามึงทำใจไว้บ้างเหอะ อีย้อยมันจะต้องหาเรื่องให้มึงกับไอ้ใช้เลิกกันจนได้แน่ ๆ  ลูกมันยังหนุ่มยังแน่น ยังมีโอกาสใส่ตะกร้าล้างน้ำ"

"อีติ๋มมึงก็พูดอย่างกับว่าอีณูมันเป็นสิ่งสกปรกโสโครก" ประนอมขัด

"อีย้อยมันคิดอย่างนั้นแหละ เชื่อฉันสิ"

"ถ้าเลิกกันจริง ฉันก็พอมีลู่ทางของฉันแล้ว อยู่บ้านนี้ไม่ได้ ฉันก็หาเช่าบ้านคนอื่นอยู่ แล้วทำขนมขายไป หรือไม่ก็หาเซ้งร้านขายผ้า เอาอีวรรณามารับตัดผ้า เอาลูกมาอยู่เรียนหนังสือด้วยกัน"

"ก็เท่ากับว่ามึงแพ้" ติ๋มยิ้มเย็น

เรณูนิ่งคิด ติ๋มเห็นดังนั้นจึงบอกว่า

"อีณู มึงแพ้ไม่ได้นะ กูจะบอกอะไรให้ก็ได้ ฟังจากที่มึงเล่า มันก็สาแก่ใจกูอยู่นะ"

หัวคิ้วของเรณูขมวดเข้าหากัน

"ที่กูยอมให้ทองมึงมา มึงไม่คิดรึว่าจริง ๆ แล้วกูก็เสียดาย กว่าจะหามาได้ กูต้องไปนอนกับไอ้พวกนั้นกี่คนกี่ครั้ง"

"แล้วพี่ใจป้ำให้ฉันมาทำไม"

"กูรู้ไงว่าถ้ามึงทำสำเร็จ คนอย่างอีย้อยไม่มีความสุขแน่ ๆ  จะว่ากูยืมมือมึงฆ่ามันทางอ้อมก็ได้"

"พี่ติ๋ม" เรณูไม่คิดว่าติ๋มจะคิดซับซ้อนถึงเพียงนี้

"เพราะฉะนั้น มีวิธีใดที่จะช่วยมึงให้สู้กับมันกูจะทำ เพราะกูเกลียดมัน กูอยากเห็นมันไม่มีความสุข อยากให้มันชิบหายวายป่วง อยากให้กรรมที่มันทำให้กูต้องเป็นคนบ้านแตกสาแหรกขาด ย้อนกลับมาหามันบ้าง"

"อีติ๋ม เวรระงับด้วยการไม่จองเวรนะ มึง" ประนอมที่นิ่งฟังอยู่ ขัดขึ้นมา

"พี่นอม ถึงฉันไม่จองเวรกับมัน เวรกรรมที่มันทำก็ต้องย้อนกลับมาทำมันเองแหละ พี่ พี่คิดดู ไอ้พวกเราก็อยู่ถึงตาคลี ทำไมไอ้ใช้ลูกมันถึงได้ตามไปเจอเราที่โน่นล่ะ ก็เพราะกรรมที่มันทำไว้ไง บันดาลชักนำมันไป ชักนำให้มันต้องเจอกับอีเรณู แล้วมันก็เป็นอย่างที่เห็น พี่ว่าฉันคิดถูกไหมล่ะ ว่าคนอย่างมันต้องเจอกับคนอย่างอีเรณู มันถึงจะสาสมกัน อีณูมึงจะยกธงขาวไม่ได้นะ"



เรณูที่นั่งขัดถาดขนมเหม่อลอย คิดถึงคำพูดของติ๋ม คิดถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ร้อยรัดกันเข้ามาเป็นวงกลม ทำให้เธอเข้ามาอยู่ใน 'บ้าน' หลังนี้ หรือ 'กรง' เดียวกันกับนางย้อย แล้วถามตนเองว่าควรจะสู้ต่อไปหรือจะถอยดี เพราะถ้าสู้ต่อ ก็จะสู้เพื่อความรักของตน ไม่ใช่เพื่อความแค้นของพี่ติ๋ม การทำให้นางย้อยไม่มีความสุข มันก็เป็นผลพลอยได้เท่านั้น พี่ติ๋มจะบอกหรือไม่บอกความในใจ เธอก็จะต้องมีวิถีชีวิตของเธอแบบนี้

ล้างของเสร็จพอดีกับที่แว่วเสียงหวูดรถไฟ รถไฟขบวนนี้คงพาพี่ประนอมกับพี่ติ๋มกลับไปตาคลี คิดถึงตาคลีก็อดนึกถึงปฐมขึ้นมาไม่ได้ ถ้าเขากลับมา เขาจะทำอย่างไรกับเรื่องที่เธอเคยมีลูกมาแล้ว!

**********     
 
พอกมลกับมงคลลงมาจากห้องนอน นางย้อยก็รีบบอกให้ทั้งสองคนช่วยกันเฝ้าร้าน กมลถามว่านางจะไปไหน นางย้อยก็บอกเพียงว่า "ไปธุระ"

ธุระของนางย้อยก็คือที่โรงสี เมื่อมีช่องทางที่จะเล่นงานเรณูให้กระเจิง นางย้อยตั้งใจไว้ว่าจะไม่อดทนรออะไรอีกแล้ว มันจะต้องแตกหักกันไปข้าง มันจะต้องไปจากชีวิตของปฐม นางย้อยตั้งใจไว้อย่างนั้น

เมื่อเห็นนางย้อยเดินกางร่มสีแดงสดเข้ามาหา เรณูที่กำลังนั่งปอกมะพร้าวไว้ทำขนม ละช่วงการฟันเปลือกมะพร้าวแล้วสูดลมหายใจเข้าปอดตั้งสติ เพราะเดาไม่ออกว่าแม่ผัวจะมาด้วยเรื่องอะไร

"อีเรณู ชาวบ้านร้านตลาดเขาพูดกันว่า พอกูไม่อยู่ มึงก็พาเพื่อนกะหรี่ของมึงเข้ามามั่วสุมในบ้านของกู"

"ใครเพื่อนกะหรี่"

"อย่าทำเป็นไขสือหน่อยเลย คนเขาเห็นกันทั้งชุมแสง กูนี่หน้าชาไปหมด มึงหยามกูมากไปแล้ว ทำเหมือนบ้านของกูเป็นซ่องโสเภณี เห็นทีจะอยู่ด้วยกันไม่ได้แล้ว"

เรณูถอนหายใจออกมาเบา ๆ นิ่งเงียบ ครุ่นคิดหาทางต่อกรกับเรื่องไม่น่าจะเป็นเรื่องครั้งนี้

"อ้าว...เงียบ  ทำไมไม่เถียง"

"เถียงไปก็หาว่าหนูแก้ตัว ใช่ไหมล่ะ"

"เก็บของของมึงออกจากบ้านกูไปซะ จะไปอยู่ที่ไหนก็ไป"

"หนูไม่ไป หนูจะอยู่รอผัวหนูที่นี่"

"ไม่ต้องรอมันหรอก มันกลับมาไม่เจอมึง เดี๋ยวกูก็หาเมียใหม่ให้มันได้ หาได้สวยกว่ามึงดีกว่ามึงเป็นร้อยเท่าพันเท่า"

"แล้ว...ถ้าเขาไม่กลับมาล่ะจ๊ะ"

"มึงหมายความว่าไง"

"แม่ก็น่าจะเคยได้ยินที่เขาว่ากันว่า ความรักมันทำให้คนตาบอด หูหนวก และโง่เป็นควายมาบ้างใช่ไหม"

"แล้วมันเกี่ยวอะไรกับเรื่องที่มันจะกลับหรือไม่กลับ"

"ก็เพราะเขารักหนูไง เขารักหนู หนูอยู่ที่ไหนเขาก็อยู่ที่นั่นแหละ"

"มึงพูดแบบนี้ มึงหมายความว่าไง"

"ถ้าเขาไม่รักหนู เขาไม่พาหนูมาถึงที่นี่หรอก แม่  ใช่ไหมล่ะ เอาซี หนูขนของกลับไปก็ได้ แต่หนูบอกไว้เลยว่า แม่จะไม่ได้เห็นเขาอีกแม้แต่เงา"

"มึงขู่กู"

"ถ้าคิดว่าขู่ก็ขู่ และคนอย่างอีเรณูทำได้จริงด้วย" ดวงตาของเรณูแข็งกร้าวขึ้นมา หัวคิ้วของนางย้อยขมวดเข้าหากัน

"มึงทำอะไรลูกกู"

"ไม่ได้ทำอะไร ถ้าทำก็คงเป็นปรนนิบัติ ปรนเปรอ เอาใจ ถึงจิตถึงใจ ถึงพริกถึงขิง ตามประสาไก่แก่แม่ปลาช่อน"

"อี้...กูแขยงมึงจริง ๆ มึงมันเลวจนกูไม่รู้จะหาอะไรมาเปรียบ ไม่รู้จะด่าอย่างไรถึงจะถึงซังของมึง"

"คนอย่างหนูด่าไม่เจ็บหรอก แม่  เพราะชีวิตนี้โดนด่ามาเยอะแล้ว ถ้าด่าแล้วเจ็บ แล้วตาย หนูตายไปนานแล้ว เพราะฉะนั้น ต่างคนต่างอยู่เถอะ หนูอยู่ในที่ของหนู แม่ก็อยู่ในที่ของแม่ไป"

"แต่ที่นี่มันที่ของกู มึงไม่ต้องสะเออะมาบอกกูหรอก"

"หนูรู้ว่าหนูมาอาศัยใบบุญของแม่อยู่ แต่แม่อย่าลืมว่าหนูก็ขึ้นชื่อว่าเป็นลูกสะใภ้แม่คนหนึ่งเหมือนกัน เอาซี อยากเห็นหนูทำอะไรให้คนชุมแสงมองแม่ว่าเลวร้ายอีกไหมล่ะ หนูทำได้นะ"

"มึงจะทำอะไร"

เรณูเชิดหน้าขึ้น พอดีกับที่เจ๊กเซ้งที่อยู่ที่เล้าหมูได้ยินเสียงเอะอะ แกก็รีบเดินมา พอมาถึงแกก็บอกว่า

"อาย้อย ลื้อจะมาหาเรื่องอีทำไมกัน ปล่อยให้อีอยู่ของอีไป ต่างคนต่างอยู่เถอะ ฟังอั๊วบ้าง"

"ฉันไม่ฟัง ฉันจะเอามันออกจากบ้านเราให้ได้"

"อีมีความผิดอะไร"

"ใช่ เตี่ย หนูมีความผิดอะไร แค่เพื่อนหนูมาเที่ยวหา แม่เขาก็หาว่าเพื่อนหนูเป็นกะหรี่"

"แล้วเป็นรึเปล่าล่ะ"

"หนูถามแม่หน่อยเถอะ กะหรี่ในสารบบความคิดของแม่น่ะ ต้องเป็นผู้หญิงที่เขียนคิ้วแต่งหน้าทาปากแดงใช่ไหม  ถ้าใช่ หนูจะได้ไปบอกกับคนพวกนี้ว่า แต่งหน้าแต่งตัวแบบนี้ แม่ผัวหนูเขามองว่าเป็นกะหรี่"

"อีเรณู" นางย้อยกัดฟันกรอด ดวงตาวาวโรจน์ ส่วนเรณูผินหน้ามาหา ยิ้มแล้วเชิดหน้าขึ้นอย่างท้าทาย ใจนั้นสรุปได้แล้วว่า จะเดินหน้า 'เล่น' กับมันอย่างไรถึงจะ 'เลว' ได้สาสมกับที่มันต้องการให้ 'เลว' 

***************************************







Title: Re: กรงกรรม บทประพันธ์ของ จุฬามณี
Post by: นักประพันธ์ on 01 March 2020, 16:15:55
ตอนที่ 13 : เราไม่ได้ทำอะไรมัน


            ๑๓


พอกมลกับมงคลลงมาจากห้องนอน...นางย้อยก็รีบบอกให้ทั้งสองคนช่วยกันเฝ้าร้าน กมลถามว่านางจะไปไหน นางย้อยก็บอกเพียงว่า “ไปธุระ” ธุระของนางย้อยก็คือที่โรงสี...เมื่อมีช่องทางที่จะเล่นงานเรณูให้กระเจิง นางย้อยตั้งใจไว้ว่า จะไม่อดทนรออะไรอีกแล้ว...มันจะต้องแตกหักกันไปข้าง มันจะต้องไปจากชีวิตของปฐม...นางย้อยตั้งใจไว้อย่างนั้น


เมื่อเห็นนางย้อยเดินกางร่มสีแดงสดเข้ามาหา...เรณูที่กำลังนั่งปอกมะพร้าวไว้ทำขนม ละช่วงการฟันเปลือกมะพร้าวแล้วสูดลมหายใจเข้าปอด ตั้งสติ...เพราะเดาไม่ออกว่านางจะมาด้วยเรื่องอะไร...

“อีเรณู...ชาวบ้านร้านตลาดเขาพูดกันว่า พอกูไม่อยู่ มึงก็พาเพื่อนกะหรี่ของมึงเข้ามามั่วสุมในบ้านของกู...”

“ใครเพื่อนกะหรี่”

“อย่าทำเป็นไขสือหน่อยเลย คนเขาเห็นกันทั้งชุมแสง กูนี่หน้าชาไปหมด มึงหยามกูมากไปแล้ว ทำเหมือนบ้านของกูเป็นซ่องโสเภณี เห็นทีจะอยู่ด้วยกันไม่ได้แล้ว”

เรณูถอนหายใจออกมาเบา ๆ นิ่งเงียบ ครุ่นคิดหาทางต่อกรกับเรื่องไม่น่าจะเป็นเรื่องครั้งนี้

“อ้าว เงียบ ทำไมไม่เถียง”

“เถียงไป ก็หาว่าฉันแก้ตัว ใช่ไหมล่ะ”

“เก็บของของมึงออกจากบ้านกูไปซะ จะไปอยู่ที่ไหนก็ไป”

“ฉันไม่ไป ฉันจะอยู่รอผัวฉันที่นี่”

“ไม่ต้องรอมันหรอก มันกลับมาไม่เจอมึง เดี๋ยวกูก็หาเมียใหม่ให้มันได้ หาได้สวยกว่ามึง ดีกว่ามึงเป็นร้อยเท่าพันเท่า”

“แล้ว ถ้าเขาไม่กลับมาล่ะจ้ะ...”

“มึงหมายความว่าไง”

“แม่ก็น่าจะเคยได้ยินที่เขาว่ากันว่า ความรักมันทำให้คนตาบอด หูหนวก และโง่เป็นควายมาบ้างใช่ไหม”

“แล้วมันเกี่ยวอะไรกับเรื่องที่มันจะกลับหรือไม่กลับ”

“ก็เพราะเขารักหนูไง เขารักหนู หนูอยู่ที่ไหน เขาก็อยู่ที่นั่นแหละ”

“มึงพูดแบบนี้ มึงหมายความว่าไง”

“ถ้าเขาไม่รักหนู เขาไม่พาหนูมาถึงที่นี่หรอกแม่ ใช่ไหมล่ะ...เอาซี่ หนูขนของกลับไปก็ได้ แต่หนูบอกไว้เลยว่า แม่จะไม่ได้เห็นเขาอีก...แม้แต่เงา”

“มึงขู่กู”

“ถ้าคิดว่าขู่ก็ขู่ และคนอย่างอีเรณู ทำได้จริงด้วย...” ดวงตาของเรณูแข็งกร้าวขึ้นมา หัวคิ้วของนางย้อยขมวดเข้าหากัน

“มึงทำอะไรลูกกู”

“ไม่ได้ทำอะไร...ถ้าทำ ก็คงเป็นปรนนิบัติ ปรนเปรอ เอาใจ ถึงจิต ถึงใจ ถึงพริก ถึงขิง ตามประสาไก่แก่แม่ปลาช่อน”

“อี้ กูแขยงมึงจริง ๆ มึงมันเลวจนกูไม่รู้จะหาอะไรมาเปรียบ ไม่รู้จะด่าอย่างไรถึงจะถึงซังของมึง...”

“คนอย่างหนู ด่าไม่เจ็บหรอกแม่...เพราะชีวิตนี้ โดนด่ามาเยอะแล้ว ถ้าด่าแล้วเจ็บ แล้วตาย หนูตายไปนานแล้ว เพราะฉะนั้น ต่างคนต่างอยู่เถอะ...หนูอยู่ในที่ของหนู แม่ก็อยู่ในที่ของแม่ไป...”

“แต่ที่นี่มันที่ของกู มึงไม่ต้องสะเออะมาบอกกูหรอก”

“หนูรู้ว่าหนูมาอาศัยใบบุญของแม่อยู่ แต่แม่อย่าลืมว่าหนูก็ขึ้นชื่อว่าเป็นลูกสะใภ้แม่คนหนึ่งเหมือนกัน เอาซี่ อยากเห็นหนูทำอะไรให้คนชุมแสงมองแม่ว่าเลวร้ายอีกไหมล่ะ หนูทำได้นะ”

“มึงจะทำอะไร” เรณูเชิดหน้าขึ้น พอดีกับที่เจ๊กเซ้งที่อยู่ที่เล้าหมูได้ยินเสียงเอะอะ แกก็รีบเดินมา พอมาถึงแกก็บอกว่า

“อาย้อย ลื้อจะมาหาเรื่องอีทำไมกัน...ปล่อยให้อีอยู่ของอีไป ต่างคนต่างอยู่เถอะ ฟังอั๊วบ้าง”

“อั๊วไม่ฟัง อั๊วจะเอามันออกจากบ้านเราให้ได้”

“อีมีความผิดอะไร”

“ใช่เตี่ย หนูมีความผิดอะไร แค่เพื่อนหนูมาเที่ยวหา แม่เขาก็หาว่าเพื่อนหนูเป็นกะหรี่”

“แล้วเป็นรึเปล่าล่ะ”

“หนูถามแม่หน่อยเถอะ กะหรี่ในสารบบความคิดของแม่น่ะ ต้องเป็นผู้หญิงที่เขียนคิ้วแต่งหน้าทาปากแดงใช่ไหม ถ้าใช่ ...หนูจะได้ไปบอกกับคนพวกนี้ว่า แต่งหน้าแต่งตัวแบบนี้ แม่ผัวหนูเขามองว่าเป็นกะหรี่”

“อีเรณู” นางย้อยกัดฟันกรอด ดวงตาวาวโรจน์...ส่วนเรณูผินหน้ามาหายิ้มแล้วเชิดหน้าขึ้นอย่างท้าทาย...ใจนั้นสรุปได้แล้วว่า จะเดินหน้า ‘เล่น’ กับมันอย่างไร ถึงจะ ‘เลว’ ได้สาสมกับที่มันต้องการให้ ‘เลว’....



*(เริ่มตอนที่ 13)

“จ๋า แม่...” เรณูที่นั่งให้นางย้อยยืนค้ำหัวอยู่ที่เดิม ยิ้มเย็น ดวงตานั้น เต้นหลุกหลิกอย่างคนที่อวดดื้อถือดี ยั่วอารมณ์นางย้อยมากขึ้น...

“เฮียดูมัน ดูหน้าตามัน มันวอนมือวอนตีนอั๊วแค่ไหน”

“ก็ลื้อมาด่าอีก่อน”

“เฮียเข้าข้างมันเหรอ...เข้าข้างมันใช่ไหม” นางย้อยหันไปขึ้นเสียงกับเจ๊กเซ้ง

“ไม่ใช่...อั๊วก็ว่าไปตามที่อั๊วเห็น...อาย้อย อั๊วบอกลื้อแล้วว่า เราอย่าใช้ชีวิตในบั้นปลายให้มันยุ่งยากลำบากนักเลย ลื้อฟังอั๊วบ้าง”

“แต่อั๊วเกลียดมัน! อั๊วเกลียดมัน!” ความคับแค้นใจ อยากเอาชนะ ทำให้น้ำตาไหลนางย้อยไหลออกมา โดยลืมไปว่า ตอนนี้ยืนอยู่ตรงหน้า ‘ศัตรู’

“แต่อีเป็นลูกสะใภ้เราไปแล้ว...แล้วอีก็ไม่ได้ชั่วช้าเลวทรามอย่างที่ลื้อเข้าใจ ลื้อเห็นไหมว่า อีเป็นคนอย่างไร บ้านช่องห้องหับ อาหารการกิน อีทำได้ดีเยี่ยม ลื้อเปิดใจยอมรับอีบ้าง”

“ไม่...อั๊วจะไม่มีญาติดีกับมัน...มันหลอกลูกอั๊ว มันคิดเข้าบ้านแบ้เพื่อมากอบโกย...มันคิดว่าพวกเราโง่ รู้ไม่ทันมัน”

“หนูเข้ามาเพราะความรักจ้ะแม่” เรณูเสียงเย็นลง

“กูไม่มีวันเชื่อ...คนสิ้นไร้ไม้ตอกอย่างมึง รักใครไม่เป็นหรอก มึงรักตี๋ใหญ่ เพราะมันเป็นลูกกู เพราะมันมีเงิน แต่มึงอย่าหวังเลยว่า มึงจะได้เงินจากกูไป...มึงอย่าหวัง...”

“หนูสาบานได้ ว่าก่อนหน้านั้น หนูไม่เคยคิดอยากได้เงินทองของแม่...ของเตี่ย หรือของพี่ใช้...เตี่ย ก็เห็น แม่ก็เห็นว่า หนูมีหนทางเลี้ยงปากเลี้ยงท้องของหนูได้...”

“แล้วทำไมมึงถึงไม่เอาอาชีพนี้ หาเลี้ยงปากเลี้ยงท้องมึงซะก่อนหน้านั้นละ”

“ชีวิตคนเรามันเลือกเกิดไม่ได้นี่แม่ แล้วตอนนั้นฉันก็ยังเด็ก ยังโง่ ยังไม่ประสีประสา ยังคิดอะไรไม่ได้ แต่ตอนนี้ ฉันรู้แล้วว่า ฉันก็เป็นคน และฉันจะต้องอยู่อย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรีเหมือนคนอื่นเขาบ้าง...”

นางย้อยนิ่งอึ้ง...

“แม่ ไม่มีผู้หญิงคนไหนอยากเป็นกะหรี่หรอกนะ...ไม่มีหรอก” พูดไปแล้ว ความคับแค้นใจก็ทำให้เรณูถึงกับกลั้นน้ำตาไว้ไม่ไหวเหมือนกัน หญิงสาวซบหน้าลงกับเข่าแล้วร้องไห้สะอึกสะอื้น อาการนั้นเหมือนเป็นการยอมรับแล้วว่า ‘เคย’ เป็นกะหรี่อย่างที่นางย้อยว่าไว้จริง ๆ...

เมื่อเห็นอาการของเรณูเป็นดังนั้น แม้จะรู้สึกเห็นใจ แต่นางย้อยก็รู้สึกสาแก่ใจ ที่สุดท้ายเรณูก็พลาดจนได้...

“เห็นไหมล่ะ เฮีย มันยอมรับแล้วว่า มันเคยเป็นกะหรี่มาก่อน เพราะฉะนั้น มันไม่คู่ควรกับลูกของเราเลยสักนิด”

“หนูยอมรับตรงไหน” เรณูเงยหน้ามาเถียงทั้งที่น้ำตายังกลบเปลือกตา

“ก็ตะกี้นี้เอง มึงพูดออกมา”

“เตี่ยได้ยินอย่างนั้นรึเปล่า” เรณูหาพวก...

“อาย้อย...ลื้อ อย่าไปบีบบังคับให้อีต้องยอมรับเลย เรื่องมันแล้วไปแล้ว ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะขุดคุ้ยขึ้นมาอีกแล้ว”

“อยากรู้นักว่า เรื่องที่มันเคยมีลูกมาแล้ว ตี๋ใหญ่มันรู้เรื่องหรือเปล่า...แล้วเรื่องที่มันอ้างว่าท้องสองเดือนก่อนจะแท้งไปนะ เรื่องหลอกลวงด้วยรึเปล่า” นางย้อยวกกลับไปหาเรื่องที่ยังคาใจ เรณูเชิดหน้าขึ้น...แล้วสายตาของเรณูก็เห็นว่า ที่ทางเดินมายังกระท่อมของตน ประสงค์กับพิไลกำลังพากันเดินมา...

เรณูได้จังหวะ หลบฉาก...

“แม่ เตี่ย อาตงกับเมียเขามาน่ะ”

นางย้อยหันไปทางด้านหลังทันที...เรณูเห็นดังนั้นจึงรีบลุกขึ้น แล้วเดินไปทางห้องส้วมที่อยู่หลังบ้านเพิงหมาแหงนของตน... โดยใจก็คิดว่า ไม่ได้หนี แต่บางที ก็ต้องตั้งหลักเรียกสติกันก่อน...

******************************

ประสงค์กับพิไลเดินมาถึงและเห็น ได้ยินตั้งแต่ตอนที่เรณูก้มหน้าซบเข่าแล้วร้องไห้...ทั้งคู่หยุดชะงักฟังความ เมื่อเห็นว่า เรื่องจะเลยเถิดไปกันใหญ่ ประสงค์จึงเดินนำพิไลเข้ามาเพื่อหวังสงบศึก...และเขาก็ไม่คิดว่าเรณูจะไหวตัวโดยการเดินเลี่ยงไปเข้าห้องส้วม...พอแม่ของเขาหันกลับไปมอง เห็นว่าเรณูลุกหนีไปแล้ว ก็ได้แต่เข่นเขี้ยวเคี้ยวฟัน...

“มาทำอะไรที่นี่รึม้า” ประสงค์พยายามเอาน้ำเย็นเข้าลูบเหมือนเดิม

นางย้อยเชิดหน้าขึ้น สูดลมหายใจเข้าปอด ก่อนจะพยายามฝืนน้ำเสียงให้เป็นปกติว่า “มีเรื่องคุยกับอีเรณูมันนิดหน่อย...ลื้อล่ะ พากันมาทำอะไรที่นี่”

“หนูอยากเห็นโรงสีน่ะม้า ก็เลยให้เฮียพามา...” อยากรู้ อยากเห็น จะได้ประเมิน ประมาณได้ว่า ถ้าปล่อยทางนี้ให้ลูกคนอื่น ๆ ไป มันจะคุ้มกับที่จะได้ร้านโชห่วยมาหรือไม่ นั่นคือความในใจแท้จริงของพิไล...

“เล็กนิดเดียว สู้ของเตี่ยเธอไม่ได้หรอก”

“เล็กก็ใหญ่ได้จ้ะม้า...แต่หนูว่าไม่เล็กเลยนะ ที่ดินเยอะแยะเลย มีทั้งเล้าหมู เล้าไก่ ยุ้งข้าวก็หลายหลัง สวนด้านหลังอีก...แล้วตรงนี้นี่ใครทำอะไร”
พิไลหมายถึงกระท่อมที่นางย้อยกับเจ๊กเซ้งยืนกันอยู่

“ที่ทำขนมของ...แม่เรณูเขาน่ะ” แม้จะเกลียดชัง แต่นางย้อยก็ได้สติว่า อย่างไรเรณูก็เป็นเมียของปฐมที่พิไลควรจะนับถือ...ถ้าส่งเสริมให้พิไลปีนเกลียวคู่สะใภ้เสียแล้ว นางย้อยก็ไม่มั่นใจนักว่าจะมีประโยชน์อะไรกับตนหรือเปล่า สู้ดูพฤติกรรมของพิไลไปก่อนดีกว่า แต่ท่าทางที่กวาดตามองไปรอบ ๆ บริเวณนี้ นางย้อยก็พออ่านออกหรอกว่า ให้ผัวพามาสำรวจตรวจตราทรัพย์สินของนาง... คนเค็ม คนงก อย่างไรมันก็ต้องนึกถึง เงินทอง สมบัติ เป็นที่ตั้งไว้ก่อนคิดถึงกาลควรไม่ควร

“อาซ้อเขาไปไหนเสียล่ะ ยังไม่ได้เจอกันเลย...”

ตอนที่เรณู เรียกนางว่า “แม่” นางย้อยก็ไม่ได้ห้ามปรามอีก เพราะรู้ว่าเรณูจงใจทำให้ตนนั้น ‘พื้นเสีย’ แต่ครั้น ได้ยินพิไลให้ความเคารพยกย่องเรณูตาม

ฐานะ นางย้อยก็ไม่อยากได้ยินอีก...

“ไปห้องส้วมแล้ว อีปวดท้อง” เจ๊กเซ้งรีบบอกแทนนางย้อยที่นิ่งเงียบเหมือนกำลังข่มอารมณ์ให้เย็นลง

“ตง ลื้อก็พานังหนูเดินเล่นดูอะไรไปก่อนนะ เตี่ยมีงาน เตี่ยขอตัวก่อน” ว่าแล้วเจ๊กเซ้งก็ผละไป...

“แล้วนี่จะไปไหนกันต่อหรือเปล่า” พอเจ๊กเซ้งผละไป นางย้อยก็ต้องข่มใจคุยกับลูกชายและลูกสะใภ้

“นอกจากที่นี่แล้ว ก็ว่าจะพาพิไลเดินดูตลาด แล้วจะไปศาลเจ้าน่ะม้า...”

“ก็ดี...เจอใครที่ไม่ได้ไปงานแต่งเรา ก็แนะนำพิไลให้รู้จักพวกเขาด้วยแล้วกัน มาอยู่ใหม่ ๆ อ่อนน้อมถ่อมตนไว้ก่อน อย่าให้ใครเอาไปพูดได้ว่า เป็นคนมือไม้แข็ง...”

คำสอนเหมือนคำสบประมาท ว่าอย่าเป็นคนไม่มีสกุล พ่อแม่ไม่สั่งไม่สอน ทำให้พิไลคอแข็งขึ้นมา แต่พิไลก็พยายามปรับเสียงให้เป็นปกติแล้วตอบไปว่า

“จ้ะ เรื่องนี้ ม้าไม่ต้องห่วงหนูหรอก”

“งั้นก็พากันเดินดูอะไรไปนะ ม้ากลับร้านก่อน...” ว่าแล้วนางย้อยก็กางร่มแล้วเดินจากไป...พิไลเงยหน้ามองประสงค์แล้วบอกว่า

“ฉันอยากไปดูเล้าหมู เฮียพาไปหน่อยซิ”

“แต่มันสกปรกเลอะเทอะ”

“สกปรกก็ต้องดู ฉันจะได้รู้ว่า บ้านเฮียทำอะไรกันบ้าง...”

*********************

พอเห็นจำนวนหมู จำนวนเป็ด และไก่ ที่เลี้ยงไว้เก็บไข่ขายทุกวัน กับเลี้ยงไว้ส่งเชือดช่วงเทศกาลตรุษจีน พิไลก็คำนวณรายได้ของที่นี่ไว้ในใจ ไหนจะของในสวน จำพวกกล้วย มะพร้าว และพืชผักผลไม้อื่น ๆ ที่ขึ้นเป็นดงใหญ่อยู่ด้านหลัง...

และถ้าทายไม่ผิด มะพร้าวที่แม่เรณูเอามาทำขนม ก็คงเป็นมะพร้าวจากสวนหลังบ้านนี่แหละ ทั้งใบตอง ใบเตย ทั้งฟืนทำขนม ไม่ต้องไปซื้อไปหาแบบนี้ ได้กำไรไปเต็ม ๆ...


พอเดินออกมาจากสวน พิไลก็ให้ประสงค์พาไปทำความรู้จักกับเรณูที่กำลังขูดมะพร้าวอยู่บนแคร่

“ซ้อ...นี่พิไลเมียผม”

เรณูหันมามอง ยิ้มให้...พิไลยิ้มตอบ ไม่ยกมือไหว้...ซึ่งเรณูก็พอเดาออกอยู่แล้ว จึงไม่ได้คิดจะละจากกะลามะพร้าวในมือรอรับไหว้แต่อย่างใด...

“เดินไปไหนกันมาล่ะ” เรณูเอ่ยถาม

“พิไลเขาอยากเห็นสวน”

“ที่ทับกฤชไม่มีรึไง...” เรณูเริ่มลองหยั่ง...ด้วยสีหน้ายิ้ม ๆ

“ไม่มีหรอก มีแต่โรงสี...แล้วนี่ซ้อทำขนมอะไร”

“ขนมชั้น”

“วันนี้กินตะโก้เผือกแล้วอร่อยมาก พรุ่งนี้ จะออกไปอุดหนุนนะซ้อ”

“เอากี่ห่อล่ะ จะได้เก็บไว้ให้”

“ห่อละแค่สลึงเดียว เอากี่ห่อดีเฮีย...” พิไลอยากให้ประสงค์มีส่วนร่วมด้วย...

“แล้วแต่ซิ...เฮียไม่ค่อยชอบกินขนมหวานน่ะ...”

“งั้น เอาแค่สี่ห่อแล้วกัน...จะเอาเงินไว้ก่อนก็ได้นะซ้อ”

“หมูไปไก่มา ยื่นหมูยื่นแมวดีกว่า...” เรณูยิ้ม แล้วหันไปขูดมะพร้าวต่อ...

“ถ้าว่าง ๆ ฉันมาเรียนทำขนมกับซ้อได้ไหม หวงวิชาหรือเปล่า”

“จะเรียนไปทำไมกัน อยากกินก็ซื้อกินเอาดีกว่า ห่อละไม่กี่สตางค์หรอก อย่ามาเสียเวลานั่งหลังขดหลังแข็งเลย”

“ก็ทำพอแค่ทำเป็น มีความรู้ติดตัวไว้ ก็น่าจะเป็นเรื่องดี”

“ถ้าไม่คิดจะทำขายแข่ง ก็จะสอนให้ แต่บอกไว้ก่อนนะว่าทำขนมมันไม่ง่ายหรอกนะ...ต้องอดทน แล้วก็ต้องเป็นคนใจเย็นด้วย...”

“เรื่องนั้นไม่มีปัญหาหรอกซ้อ ขอให้ซ้อ สอนเถอะ ฉันพร้อมจะเรียน”

“งั้นวันนี้ก็เริ่มจาก ขูดมะพร้าว ก่อนเลยดีไหม ขูดมะพร้าวนี่มันก็ไม่ง่ายนะ ขูดแรงไปก็คั้นน้ำไม่ออก...”

พิไลมองมะพร้าวที่ผ่าแล้วในกะละมังเคลือบสีขาวแล้วรู้สึกว่ามันมากไป...หญิงสาวจึงบอกว่า

“วันนี้เห็นทีจะยังเรียนไม่ได้หรอก เฮียจะพาไปเดินดูตลาด แล้วก็พาไปทำความรู้จักกับคนที่ตลาดที่ไม่ได้ไปงานแต่งเรา...ใช่ไหมเฮีย”

**************************

ระหว่างที่เดินกลับมาที่ร้าน หัวสมองของนางย้อยยังครุ่นคิดถึงคำพูดของเรณูที่มั่นใจซะเหลือเกินว่าปฐมนั้นหลงใหลไชชอนตน และจะต้องเชื่อฟังมันจนไม่สนใจเสียงของแม่บังเกิดเกล้า...

‘หลงใหล’ จนหน้ามืดตามัว หูหนวกตาบอด โง่เป็นควาย ใครจะจูงไปทางไหนก็ได้...

อาการแบบนี้ มันเป็นอาการของคน ‘โดนเสน่ห์’

รึว่า อีเรณูมันทำเสน่ห์ใส่...ตี๋ใหญ่ถึงได้เปลี่ยนไปอย่างกับคนละคน...

หน้าดำคร่ำเครียด...หน้าหมองคล้ำ เวลาพูดด้วยก็ไม่ยอมสบตา ขาดความมั่นใจในตัวเอง ผิดปฐมคนเดิม...มันจะต้องใช่แน่ ๆ....

นางย้อยกัดฟันกรอด...แม้ว่าวันนี้ ‘เหตุ’ จะยังไม่ชัด แต่มันก็เริ่มเห็นเค้ารางแล้วว่า ทำไมตี๋ใหญ่ถึงได้กล้าคว้าเอามันมาอยู่ด้วยที่ชุมแสง โดยไม่สนใจความรู้สึกของพ่อแม่ น้อง ๆ และเสียงติฉินนินทาของชาวบ้าน...ทิ้งโอกาสดี ๆ ทิ้งอาหารเลิศรส ลดตัวกินของโสมมได้ ก็เพราะมันมีเบื้องหลังอย่างนี้…มันจะต้องเกิดด้วยเหตุอย่างนี้ แน่ ๆ

วันนี้ แม้จะเอามันออกไปจากบ้านไม่ได้ แต่นางย้อยก็เชื่อมั่นว่า กดดันมันมาก ๆ สุดท้าย คนสารเลวอย่างมันจะต้องไปจากที่นี่ ‘จนได้’



“ม้า ไปไหนมา...หน้าตาบึ้งตึงเชียว...” พอเห็นแม่ส่งร่มให้บุญปลูกหุบและเดินเข้ามาในร้าน กมลก็ร้องถามด้วยน้ำเสียงสนุก ๆ...แต่ว่านางย้อยก็ยังยืนหอบ สีหน้าเคร่งเครียด ไม่ตอบคำถามของลูกชายในทันที...

กมลแม้จะไม่ใช่คนอ่านหนังสือ แต่เขาก็เป็นคนชอบดูหนัง ฟังเพลง ชอบร้อง ชอบรำ ชอบสมาคม เป็นคนที่สุนทรียภาพทางอารมณ์สูง เขาจึงไวต่อความรู้สึกของคนรอบ ๆ ตัว...

“ผม เดาว่าไปโรงสีมาใช่ไหม...”

“อาซา ต่อไป มึงอย่าไปญาติดีกับมันอีก เพราะมึง เพราะเตี่ยมึง ถือหางมัน มันถึงได้เหลิงอยู่อย่างนี้”

“ไปหาเรื่องอะไรเขามาอีกละม้า”

“นี่มึงว่าแม่มึงเป็นคนพาลงั้นรึ”

“ม้าก็... มานั่ง มา ยืนแล้วเมื่อย” ว่าแล้วเขาก็ลุกขึ้นมาประคองแม่ให้เข้าไปนั่งแทนที่ตนเอง...พอแม่นั่งลงแล้ว เขาก็ถามว่า “เล่ามา อยากรู้”

“เรื่องเพื่อนกะหรี่ของมัน...แต่ตีมันไม่แตก เตี่ยมึงช่วยรับหน้าไว้ เห็นแก่เตี่ยมึงหรอก ถึงยังต้องปล่อยให้มันลอยหน้าต่อไป...”

พอได้ยินดังนั้น กมลก็ส่ายหน้าเบา ๆ

“ไอ้ซา นี่ไอ้สี่มันหายหัวไปไหน”

“เอากล้องไปร้านถ่ายรูป มันว่าจะเอาฟิล์มไปล้างไปอัดภาพอะไรของมันน่ะ...”

“ไอ้ลูกคนนี้มีแต่เรื่องใช้เงิน”

“ก็รูปงานแต่งเฮียตง ล้าง ๆ อัด ๆ มาซะ จะได้ดูกันเลย...ไม่ต้องรอให้มันเอาไปทำที่ปากน้ำโพ มันว่าอย่างนั้น”

“ไอ้ซา...แม่มีเรื่องสงสัยอีกเรื่อง...” พูดไปแล้วนางย้อยก็มองไปหาบุญปลูก และ ป้อม ที่นั่งอยู่หน้าร้าน...เห็นว่าไม่ได้ยินกันแน่ นางย้อยจึงบอกว่า

“มึงว่าตั่วเฮียของมึงเปลี่ยนไปมากไหม...”

“เปลี่ยนอย่างไรละม้า”

“ม้าว่ามันเหมือนคนโดนของ”

“อะไรนะม้า” กมลไม่อยากจะเชื่อหูตัวเองเหมือนกัน

“ม้าว่า มันกลับมาคราวนี้ มันเหมือนคนโดนของ แล้วคนที่ทำของใส่มัน ก็ไม่ใช่ใครหรอก อีเรณูนั่นแหละ...”

กมลเป่าลมออกจากปากทันที...ตามความคิดของเขา ถามว่าเป็นไปได้ไหม มันก็เป็นไปได้...ความรัก มันสามารถทำให้คนหน้ามืดตามัวเห็นผิดเป็นชอบและทำอะไรโง่ ๆ ได้...

“รู้อย่างนี้แล้ว มึงยังจะปกป้องมันอีกไหม...ที่ตั่วเฮียห่วงใยมัน ฝากฝังมันไว้กับมึง มันไม่ได้เกิดจากความรักแต่อย่างใด...มันเกิดจากฤทธิ์เสน่ห์ยาแฝด...”

“แต่เราก็ไม่มีหลักฐาน หาข้อพิสูจน์ไม่ได้นะม้า...” แม้จะคล้อยตาม แต่กมลก็ยังไม่ปักใจเชื่อ...

“รึมึงกับเตี่ยมึงโดนของมันไปด้วย...เข้าข้างมันตะพึด”

“ของเขิงอะไรล่ะม้า...”

“ก็กินขนมมัน กับข้าวที่มันทำให้กินตอนกลางวัน กูอยู่ทางนี้ อย่าคิดนะว่ากูไม่รู้ไม่เห็นทางโน้น...”

“คนเขามีน้ำใจ ก็กินรักษาน้ำใจกันไปม้า...”

นางย้อยส่ายหน้าระอา... แล้วบอกว่า “กูจะต้องหาคนยืนยันให้ได้ว่ามันทำหรือไม่ทำ และจะต้องแก้ไขให้ได้ด้วย...”

“ม้าจะทำอย่างไร”

“ม้ารู้ว่าใครจะช่วยเราได้...เอ็งเฝ้าร้านต่อ...ม้าจะไปธุระ”

“แต่ผมยังไม่ได้กินข้าวกลางวันเลยนะม้า ม้าเฝ้าร้านแป๊บนึงก่อน ขอกินข้าว เข้าส้วมบ้าง”

“งั้นรีบไป...”

“ออกไปกินผัดไทยนะม้า เบื่อจะกินข้าว”

“แล้วข้าวที่กูหุงหาไว้ล่ะ...”

“เดี๋ยวกลับมากินอีกรอบก็ได้ม้า เคยเหลือทิ้งรึ” ว่าแล้วกมลก็เดินมาเปิดเก๊ะแล้วคว้าเหรียญออกไป...โดยนางย้อยตะโกนตามหลังให้เขาซื้อโอยัวะมาให้ด้วย...

************

พอกมลเดินไปแล้ว ป้อมที่จด ๆ จ้อง ๆ หาโอกาสอยู่ ก็เดินเข้ามา...

“เถ้าแก่เนี้ย เรื่องที่ให้ผมไปสืบ ได้เรื่องมาแล้วนะ” เมื่อวันแต่งงานของประสงค์ นางย้อยปิดร้าน บุญปลูกไปร่วมงาน ส่วนป้อม นางย้อยให้ไปดงขุย ถิ่นที่อยู่ของนางแตงอ่อน...อดีตเจ้าของไร่เจ้าของนา ที่นางย้อยยึดมาเป็นของตน...

ก็จะไม่ให้ยึดอย่างไรเล่า ติดการพนันทั้งผัวทั้งเมีย เอาที่มาจำนองแล้วก็ตามมาขอเงินเพิ่มครั้งแล้วครั้งเล่า จนเงินที่เอาไปรวมดอกเบี้ยเท่ากับราคาที่ดิน นางย้อยจึงถือสัญญาพาตำรวจไปยึด

ตอนนั้นนางแตงอ่อน ด่านางย้อยเสียยกใหญ่ หาว่า นางขี้โกง เปลี่ยนแปลงตัวเลขในสัญญาบ้างละ คิดดอกเบี้ยโหดบ้างละ แต่นางย้อยหาได้สนใจ เพราะ ‘ค้าเงิน’ กับคนพวกนี้มามาก แล้วนางย้อยก็สรุปอยู่ในใจว่า คนบางคนไม่ได้ยากจนอย่างเดียว ต้องมีความตอแหลอยู่ในตัวด้วย โดยเฉพาะนางแตงอ่อน ที่ด่าประจานนางย้อยจนเหนื่อย เห็นว่านางย้อยไม่ใจอ่อน ก็เปลี่ยนมาเป็นร้องไห้อ้อนวอนขอความเห็นใจ ขอที่ดินขอบ้านอยู่อาศัยทำมาหากินต่อ โดยจะจ่ายค่าเช่าให้เป็นรายปี

นางย้อยเห็นว่า คนเราเมื่อผีพนันเข้าสิงเสียแล้ว มันไม่มีทางกลับตัวกลับใจได้ จึงไม่ยินยอม นางแตงอ่อนต้องเก็บของออกจากบ้านพร้อมก่นด่าและแช่งชักหักกระดูกนางกับเจ๊กเซ้งอย่างไม่มีชิ้นดี ผิดกับตอนมาอ้อนวอนกราบกรานขอเป็น ‘ลูกหนี้’...

‘อีย้อย ไอ้เซ้ง อีคนฉิบหาย ไอ้คนจัญไร พวกมึงตัดแข้งตัดขาไม่ให้กูมีที่ทางทำมาหากิน ขอให้มึงหมดทางทำมาหากินเหมือนกูบ้าง ขอให้มึงถูกตัดแข้งตัดขาไปไหนมาไหนไม่ได้ ขอให้มึงหูหนวกตาบอด วิงวอนขอความเห็นใจจากใคร ใครเค้าก็ไม่ฟังเสียงมึง ขอให้ครอบครัวของมึงจงฉิบหายวายป่วง ทำอะไรก็ไม่เจริญฯ’

ตอนนั้นนางย้อยทำได้เพียงเชิดหน้าขึ้น แล้วบอกกับเจ๊กเซ้งผู้เป็นสามี ซึ่งเป็นคนใจอ่อนว่า ‘อย่าไปฟังมันนะเฮีย เราไม่ได้ทำอะไรมัน แต่มันนั่นแหละที่ทำตัวของมันเอง แต่ยังไม่คิดสำนึก...’

เรื่องของนางแตงอ่อนกับครอบครัว หายไปจากความคิดของนางย้อยนานเกือบสิบปี กระทั่งวันที่นางถูกถีบตูดลงมาจากรถไฟ...นางย้อยจึงต้องให้ป้อม ไปตามสืบเสาะดูว่า ตอนนี้นางแตงอ่อน อยู่ที่ไหน ทำอะไร และถ้ามีโอกาสเอาคืน นางย้อยเอาแน่นอน...เพราะเล่นกับใครไม่เล่น มาเล่นกับ ‘อีย้อย’

“วันที่ป้าแตงอ่อน ถีบเถ้าแก่ตกรถไฟน่ะ วันนั้นแกนั่งรถกลับมาจากกรุงเทพฯ...แม่ของป้าเขาป่วย เขามาเยี่ยมแม่เขา...แล้วแกก็กลับกรุงเทพฯ ไปแล้ว...”

“ตอนนี้มันทำมาหากินอะไรกัน”

“เห็นว่า ผัวแกทำงานก่อสร้าง ป้าแตงอ่อน ขายกล้วยแขก ลูกเต้าก็ขนกันเข้ากรุงเทพฯไปหมด...อีกนานแหละกว่าจะได้กลับมาอีก...”

นางย้อยครุ่นคิดถึงเรื่องกลับมาเจอกันโดยบังเอิญแล้วเจ็บใจไม่หาย แต่เมื่อนางแตงอ่อนไปอยู่ไกลกันเสียอย่างนั้น ก็ต้องปล่อยมันไปมีชีวิตไปตามเวรตามกรรมของมัน โดยนางย้อยหวังไว้ในใจว่า สักวันมันจะสำนึกได้ว่า ไม่ใช่ใครที่ไหนทำร้ายมัน มันต่างหากที่ทำตัวของมันเอง...

หมดเรื่องของนางแตงอ่อนไปแล้ว นางย้อยวกกลับไปหาเรื่องที่ยังค้างคาอยู่ในใจ

“ป้อม แล้วมึงพอรู้จัก คนแก้ของบ้างไหม” ตอนแรกนางย้อยกะไปปรึกษากับพระที่วัด แต่พอเห็นป้อม ก็นึกทางแก้ปัญหาเสียอีกทาง

“มีอะไรหรือเถ้าแก่”

“กูสงสัยว่าอาใช้ มันจะถูกเมียมันทำของใส่...รู้แล้วก็อย่าพูดไปนะ...ยังไม่มีหลักฐาน ยังไม่มีใครยืนยันได้ แต่กลิ่นมันไม่ค่อยดี มึงรู้จักใครก็พากูไปที” นางย้อยถามซ้ำ

ป้อมนิ่งคิด... “เคยได้ยินว่าที่เกยไชย แถว ๆ ปากแม่น้ำยม มีหมอเก่งอยู่คน...”

“เดี๋ยว ไอ้ซามันกลับมาเฝ้าร้าน เราเหมาเรือหางยาวก็ไปกันเลย กูใจร้อน แล้วก็ไม่ต้องบอกใครล่ะ...”

ป้อมรับคำ นางย้อยให้สินน้ำใจเป็นเงินห้าบาท ...เพราะป้อมนอกจากจะเป็นคนปากหนักแล้ว เรื่องใจร้ายใจดำมันก็ไม่เป็นสองรองใคร มันเป็นคนทื่อ ๆ ตรง ๆ ให้ไปเก็บเงินค่าเช่านา ตามดอกเบี้ยเป็นเงินกู้เป็นข้าวเปลือก เป็นของในไร่ มันทำสำเร็จลุล่วงเกือบทุกครั้ง และถ้าครั้งไหน มันทำไม่ได้ ถ้าเรื่องต้องถึงนางย้อย เป็นอันว่าลูกหนี้รายนั้นมีแต่แตกกับหักกันเท่านั้น

นางย้อยเกลียดคนที่ไม่รักษาคำพูดเป็นที่สุด...

****************************************

เห็นว่าน้องชายหายไปนาน กมลจึงเดินออกมาตาม ตั้งใจจะชวนไปนั่งกินผัดไทยเจ้าอร่อยด้วยกัน เขาเดินผ่านหน้าร้านสังฆภัณฑ์ ก็อดสอดส่ายสายตาเข้าไปในร้านไม่ได้...เพราะลึก ๆ ใจของเขาก็รู้สึกแช่มชื่นอย่างประหลาดเมื่อเห็นหน้าแม่สาวจันตา ผู้หญิงหน้าหวานสายตานิ่งสนิทคนนั้น...

แต่เขาก็ไม่เห็นเจ้าหล่อน...และถึงเห็น สาวเจ้าก็ไม่มองเขาหรอก...คิดดังนั้นแล้วเขาก็เดินหน้าต่อ

“ไปไหนรึอาซา” เจ้าของร้านขายผ้าที่ยืนอยู่หน้าร้านร้องทักเขา....เขาหยุดชะงักแล้วบอกว่า

“จะไปหาอาสี่ที่ร้านถ่ายรูป มันเอารูปมาล้างนะอาอี๊” ตอบพลางสายตาของเขาก็มองเข้าไปข้างใน พบลูกค้าสองคนกำลังยืนเลือกผ้ากันอยู่กับเด็กในร้าน...

คนเป็นสาวผมหยักศกละต้นคอ หันมามองเขา ตาสองคู่ประสานกัน แล้วฝ่ายหญิงก็เป็นฝ่ายหลบสายตาของเขา...ทำทีไปสนใจผ้าต่อ...เขาเหลือบกลับมามองเจ้าของร้าน แล้วบอกว่า “ไปก่อนนะอี๊...”

“แหม รีบไปไหน จะถามซักหน่อยว่า ลื้อจะแต่งงานเมื่อไหร่”

เขาชะงักเท้าแล้วหันมาตอบว่า “ตอบเลยก็ได้ว่า อีกสองปี...”

“ถ้างั้นลื้อก็มีแฟนแล้วซี่ คนที่ไหนล่ะ”

“ยังไม่มี แต่อีกสองปี แม่ก็คงหาให้แหละ ไปแล้วนะ...จะไปกินผัดไทย”

“ตกลงจะไปกินผัดไทยหรือจะไปร้านถ่ายรูป”

“ไปร้านถ่ายรูปก่อน แล้วก็จะไปกินผัดไทย...”

พอเดินมาถึงร้านถ่ายรูป เขาก็ชะเง้อมองอยู่หน้าร้าน แต่ว่าไม่เห็นน้องชายของเขา...เจ้าของร้านอยู่ในห้องถ่ายรูป น่าจะกำลังทำงานเพราะเขาเห็นมีรองเท้าผู้หญิง ถอดอยู่หน้าร้านสองคู่...

“เฮีย อั๊ว อาซา นะ อาสี่มันมาที่นี่รึเปล่า” เขาตะโกนถาม...

“มา แต่ออกไปแล้ว” มีเสียงตะโกนตอบกลับมา

“ไปนานหรือยัง”

“แป๊บนะ...เสร็จแล้ว ๆ”

อึดใจอาเฮียเจ้าของร้านก็เดินนำหมุ่ยนี้กับจันตาออกมา...พอหมุ่ยนี้เห็นเขาก็ยิ้มแป้น...ส่วนจันตาสบตาของเขาแล้วก็หลบสายตาของเขาเหมือนเคย

“อ้าว แจ้ มาถ่ายรูปเหรอ ถ่ายไปทำอะไร”

“ถ่ายเอาไว้แจกหนุ่มๆ” บอกแล้วหมุ่ยนี้ก็หัวเราะ...กมลส่ายหน้าเบา ๆ แล้วเขาก็คิดได้ว่า คนที่มาถ่ายรูปน่าจะเป็นจันตามากกว่า...นึกแล้วก็ใจแป้วขึ้นมา

“หนุ่มคนไหนน้อ จะโชคดีได้รูปแจ้ไว้ดูต่างหน้า...” เขาหยอกกลับไป

“ลื้ออยากโชคดีไหมล่ะ ถ้าอยากโชคดีเดี๋ยวได้รูปแล้ว แจ้ให้ลื้อบานหนึ่งพร้อมเซ็นข้างหลังรูปให้ด้วย...”

กมลยกมือเกาต้นคอ ทำหน้าคิดหนัก...

“ลื้อไม่ตอบ แจ้ถือว่าลื้อตกลงนะ...”

“ครับ เก็บไว้ก็ได้ เผื่อวันหน้าจะแลกข้าวกินได้บ้าง...ไปแล้วแจ้...”

“อ้าว ลื้อยังไม่ได้เอาคำตอบเลยว่า อาสี่มันไปนานหรือยัง” เฮียเจ้าของร้านแทรกเข้ามา

“มันคงกลับบ้านไปแล้วแหละเฮีย หรือไม่ มันก็เถลไถลไปบ้านเพื่อนฝูงมัน...”

“แล้วลื้อหามันทำไมล่ะ” หมุ่ยนี้ยังอยากคุย

“จะชวนมันไปกินผัดไทย...”

“แจ้ก็อยากกินผัดไทยเหมือนกัน...งั้นไปด้วยกันก็ได้...”

“อั๊วไม่เลี้ยงแจ้นะ มีเงินมาจำกัด”

“แหม...แจ้ก็ไม่ให้ลื้อเลี้ยงแจ้หรอกน่า...ไป ๆ จันตา ไปกินผัดไทยกันดีกว่า... “

จันตา หรือ ‘ตุ๊กตา’ ประจำร้านยิ้มแหยๆ ให้หมุ่ยนี้ ไม่ปฏิเสธไม่ตอบรับ... สบตาของกมลแล้วก็เดินตามหมุ่ยนี้มาสวมรองเท้า ตอนนั้นกมลยังยืนอยู่ที่เดิม ซึ่งไม่ห่างจากรองเท้าของจันตามากนัก ทำให้จมูกของเขาได้กลิ่นหอมของเนื้อสาว พอสูดเข้าไปแล้ว เขารู้สึกว่ามันซาบซ่านไปทั้งทรวง... ‘จันตา’

***************************************

ช่วงที่นั่งรอให้ลูกชายมาเฝ้าร้านแทนเพื่อที่จะไปเกยไชย นางศรีจากตำบลฆะมัง นุ่งโสร่ง เสื้อลูกไม้สีเหลืองดูภูมิฐาน ก็เดินเข้ามาพร้อมกับรอยยิ้มเห็นฟัน

กระดำกระด่างเพราะนางศรีนั้นเคี้ยวหมาก...

“นึกว่าวันนี้จะไม่เจอแม่ย้อยซะแล้ว...”

“ถ้ามาช้าอีกนิด ก็คลาดกันหละ...จะไปธุระพอดี...”

“ไปไหนล่ะ เมื่อวานก็เพิ่งแต่งลูกชายไม่ใช่รึ”

“ไป เอ่อ...ก็ไปเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ นี่แหละ” นางย้อยเอาตัวรอดไป แล้วก็วกกลับมาหาเรื่องเฉพาะหน้า

“นั่งก่อนแม่ศรี พอดี ฉันรอลูกชายมาเปลี่ยน”

“คนชื่อซาหรือเปล่า” ทรุดตัวลงนั่งแล้วนางศรีก็ถามต่อ

“คนนั้นแหละ...ออกไปกินผัดไทยเดี๋ยวมา...”

“วันนี้แม่หลานสาวฉันก็ติดเรือมากับแม่เขาด้วยนะ จำได้ไหม นังเพียงเพ็ญที่ฉันเคยทิ้งรูปไว้”

“อ้าว เรอะ แล้วไปไหนเสียล่ะ” นางย้อยถามพลางชะเง้อข้ามหัวนางศรีไป เผื่อว่า ‘ว่าที่’ สะใภ้อีกคน จะอยู่นอกร้าน แต่ว่าก็ไม่เห็น...

“เดี๋ยวตามมา ไปเลือกซื้อผ้าตัดเสื้อกันน่ะ พอดี ใกล้จะลอยกระทงแล้ว...สาว ๆ สมัยนี้ พอจะเที่ยวก็ใส่เสื้อซ้ำไม่ได้...ตัดกันจริงตัดกันจัง...แต่ก่อนพวกเรากว่าจะได้เสื้อผ้าแต่ละตัว ใส่ของเก่าจนเปื่อย พ่อแม่ถึงจะยอมให้เปลี่ยน แม่ย้อยโชคดีมีแต่ลูกชายไม่หมดค่าผ้าค่าแต่งตัวแบบลูกสาว”

“แต่ค่าแต่งเมียให้มันก็เล่นเอาตัวเบาเหมือนกัน...” ว่าแล้วนางย้อยก็ถอนหายใจออกมาอย่างแรง

“เรือร่มในหนองทองจะไปไหน...ที่แต่งกันไปนั่นก็สมน้ำสมเนื้อกันดีไม่ใช่รึ”

“ก็พอได้...แต่แต่งกับคนจีนด้วยกัน ก็ต้องแต่งเข้าบ้าน...คนจีนไม่เหมือนคนไทยหรอกแม่ศรี เขาเกื้อหนุนมาแค่ตอนยกน้ำชา รับไหว้เท่านั้นแหละ หลังจากนั้นจะไปข้องเกี่ยวอะไรกับเขา ก็ยากแล้ว”

“อ้าว เรอะ...ฉันมันคนไทยแท้ ฉันไม่รู้หรอก...แล้วนี่ถ้าแต่งเข้ามาหมดสี่สะใภ้ จะแบ่งปันกันอย่างไรล่ะ”

“ฉันก็คนไทยได้ผัวเจ๊ก ฉันกะหนุนมันให้สุดกำลังนั่นแหละ คนที่สี่ก็ส่งเรียนไป ไม่รู้จะไปอย่างไรต่อ ก็เหลือแค่สามคน ก็คงให้ช่วย ๆ กันในนี้แหละ รึถ้าจะแตกตัวไปทำอะไร ก็ต้องให้ทุน ให้รอนไป ให้วิธีหาเงินไป ให้เสี่ยงน้อยที่สุด”

“แม่ย้อยยังไม่ลืม เรื่องที่ฉันขอแบ่งคนที่สามไปทางฆะมังใช่ไหม”

“ไม่ลืมหรอก รูปของนังหนู ฉันก็ให้อาซาเขาดูแล้ว”

“แล้วเขาว่าอย่างไรบ้างล่ะ รู้สึกถูกใจบ้างไหม”

“เขาก็ว่าสวยดี ...สวยเหมือนเพชรา...แต่เขาก็บอกนะ ถ้าตัวจริงไม่สวยอย่างในรูป เขาก็มีสิทธิ์ปฏิเสธนะ”

ได้ยินดังนั้น นางศรีก็ตบเขาฉาด...

“ฉันละชอบคารมพ่อคนนี้จริงเชียว...เมื่อไหร่ถึงจะกลับมาเหว่” ว่าแล้วนางศรีก็หันหลังกลับไปมอง แต่ก็ยังไม่เห็นเงา

นางย้อยชะเง้อมองไป ก็รู้สึกร้อนรุ่มเพราะเรื่องที่ตนจะไปทำก็รีบร้อนอยากรู้เหมือนกัน...

“ไอ้ป้อม...ป้อม แก ไปตามอาซาที่ร้านผัดไทยหน่อยซิ ไปนานแล้ว เงียบไปเลย...” นางย้อยตะโกนบอกป้อม

“เดี๋ยวหนูไปตามให้ก็ได้เถ้าแก่” บุญปลูกที่แอบฟังความอยู่ ร้องบอก...

พอบุญปลูกเดินไป...นางศรีก็ชวนคุยต่อ

“แล้วคนรองกับสะใภ้ที่แต่งไปอยู่ที่ไหนกันล่ะ”

นางย้อยรู้สึกว่าคนถามเสียมารยาท แต่ว่า คนระดับนางศรีนั้นจะตะคอกใส่หรือทำหน้าบึ้งให้ ก็ใช่ที่ นางย้อยจึงต้องบอกไปคร่าว ๆ... เพราะถึงแม้ว่านางศรีจะเอา ‘เหยื่อ’ คือ ‘สมบัติ’ ของ กำนันมา ‘อ่อย’ ก็ใช่ว่า นางศรีจะไม่ดูวิธีคิดของคนทางนี้ เพราะคนไทยกับคนไทย เงินต้องต่อเงินเท่านั้น...นางย้อยพออ่านใจนางศรีออก...นางย้อยก็เลยไพล่ไปคุยเรื่องที่ไร่ที่นาของตนที่ให้เขาเช่า เก็บค่าเช่าอยู่ตรงโน้นบ้าง ตรงนี้บ้าง ข่มนางศรีไป...

กระทั่งที่หน้าร้านปรากฏร่างเพียงเพ็ญ หลานสาวนางศรีพร้อมผู้เป็นแม่...

“มา ๆ เข้ามาข้างใน....” นางศรีเรียกเองเสร็จสรรพ...นางย้อยจึงรีบลุกขึ้นหาเก้าอี้มาเสริมอีกสองตัว...ส่วนเรื่องน้ำท่าสำหรับลูกค้านั้น ไม่เคยตักให้กิน นอกเสียจากหิวจริง ๆ ร้องขอถึงจะตักมาให้ ไม่เหมือนสมัยที่นางย้อยเป็นสาว ๆ ที่เวลาใครไปใครมาก็ต้องเรียกขึ้นเรือน ตักน้ำออกมาต้อนรับ พอเป็นร้านค้าแบบนี้ ถ้าไม่ใช่คนเดินสินค้าที่มากับเรือก็ไม่ต้องดูแลน้ำท่ากัน

หลังกระพุ่มมือนบไหว้แล้วเพียงเพ็ญก็ยิ้มให้นางย้อย...นางย้อยยิ้มตอบพลางพิจารณาใบหน้าพร้อมกันทั้งแม่ทั้งลูกและอา...ว่าไปแล้วเพียงเพ็ญคงจะเหมือนพ่อมากกว่าแม่ เพราะดวงตานั้นคล้าย ๆ ดวงตาของนางศรี คือตาโตเหมือนแขกและขนตางอน...หัวคิ้วถ้าไม่ได้กันแต่งก็คงแทบจะชนกันเป็นแน่

“นี่รึ แม่หนูเพียงเพ็ญ...สวยสมคำร่ำลือ”

“นี่แหละ เพียงเพ็ญ ส่วนแม่เขาชื่อแม่สมพร พ่อกำนันชื่อศร...ฉันละดีใจเหลือเกินที่ได้ชักนำให้มารู้จักกันไว้”

“ฉันก็ยินดีที่รู้จักวงศ์วานว่านเครือแม่ศรีเหมือนกัน”

“ได้ยินอาศรีพูดถึงแม่ย้อยบ่อย ๆ ดีใจที่ได้มาเจอตัวเหมือนกัน” นางสมพรที่ผอมบางกว่านางศรีพูดบ้าง

ขณะที่ผู้ใหญ่สนทนากัน เพียงเพ็ญนั้นก็ทำได้เพียงเหลือบตามองไปรอบ ๆ ตัว แล้วก็ไปสะดุดกับรูปถ่ายของสี่หนุ่มที่ยืนเรียงกัน...อาศรีบอกว่า ลูกชายคนที่สามของนางย้อย เป็นคนที่อาศรีมาทาบทามไว้...วันนี้พ่อก็ ‘บังคับ’ ให้มาที่นี่ เพื่อมาดูตัวและมาทำความรู้จักกันไว้ ถ้าเห็นแล้วไม่ถูกใจ ไม่ต้องชะตา ก็ให้สะกิดอาศรีว่าไม่ต้อง ‘สาน’ อะไรต่อ...

แต่พอเห็นร้าน เห็นบ้าน เห็นรูปถ่ายแม้จะไกลตาสักหน่อย เพียงเพ็ญก็นึกอยากจะสะกิดอาศรีอย่างที่พ่อ ‘เปิดทาง’ ไว้...แต่ยังไม่ทันจะขยับมือ เพียงเพ็ญก็หันหลังไปเพราะได้ยินเสียงของผู้ชายพูดว่า “ม้า โอยัวะ มาแล้ว”

*********************


Title: Re: กรงกรรม บทประพันธ์ของ จุฬามณี
Post by: นักประพันธ์ on 01 March 2020, 16:17:47
ตอนที่ 14 : อีสาวคนดีชื่อว่าเพียงเพ็ญ

            ๑๔


คนที่เข้ามาใหม่ เป็นชายหนุ่มคนที่เพียงเพ็ญเผลอสบตาเขาที่ร้านขายผ้า เขาเป็นคนผิวขาว ร่างสูง สมส่วน สวมเสื้อยืดคอกลมสีขาว กางเกงขาสั้นสีกรมท่า สวมรองเท้าแตะ หน้าของเขารูปไข่ ผมปรกหน้าผาก ปากบางได้รูป จมูกโด่งเป็นสัน ตาของเขาเล็กเรียวแต่ไม่ถึงกับหยี เค้าหน้าของเขาเหมือนนางย้อย...

สบตากันแวบเดียว เพียงเพ็ญหันกลับมา แล้วเบือนสายตาไปมองสินค้าประดามี....

“อ้าว ม้ามีแขก...อ้าว นึกว่าใคร ป้าศรีนี่เอง ไม่เจอกันซะนานเลย นึกว่าจะไม่มาร้านนี้ซะแล้ว”

“ไม่มาได้อย่างไรละพ่อ...ก็ปากพ่อดีซะขนาดนี้ ไปร้านอื่นก็ไม่สนุกเหมือนมาที่นี่ แต่มาทีไรก็ไม่เจอพ่อสักที อาละคิดถึง” ชายหนุ่มเรียกนางว่า ‘ป้า’ แต่นางศรีเปลี่ยนมาแทนตัวเองว่า ‘อา’ เพราะมีจุดมุ่งหมาย...

“ม้า ให้ไปอยู่โยงที่โรงสีน่ะ คลุกฝุ่นมอมแมมจนไม่อยากเอาหน้าไปให้ใครเห็นแล้ว”

“คลุกแล้วก็ยังเห็นเนื้อทองนพคุณ...อ้าว มาทำความรู้จักกันไว้ก่อน นี่แม่สมพร พี่สะใภ้อา...แม่ของหนูเพียงเพ็ญหลานสาวอาเอง”

ด้วยในมือของเขามีพวงเหล็กใส่แก้วโอวยั๊วะ หรือกาแฟร้อนใส่นม...ที่ยืมมาจากร้านหน้าปากตรอก ทำให้เขาไม่สะดวกที่จะยกมือไหว้ในทันที...แต่ถึกระนั้นเขาก็ยกทั้งมือและพวงแก้วนั้นมาพนมและค้อมศีรษะอย่างเก้ ๆ กัง ๆ...เพราะเดาเรื่องได้ว่า ที่มากันพร้อมหน้าพร้อมตาในวันนี้ มีจุดประสงค์อะไรกัน...

“จำเริญ ๆ เถอะพ่อคุณ” นางสมพรพิจารณาดูหน้าตาและสรีระของเขาบ้าง...

“ครับ” เขารู้สึกเขิน ๆ

“อ้าว ๆ โอวยั๊วะของแม่เธอ ส่งมา เดี๋ยวอาส่งต่อให้”

“จะกินอะไรกันไหม เดี๋ยวให้อาซาออกไปซื้อมาให้...” นางย้อยรีบถามตามมารยาท

“เออ...ขอเป็นน้ำเปล่าก็พอ...” นางศรีบอก...

“งั้นเดี๋ยวผมไปตักให้นะ” ว่าแล้วเขาเดินผ่านหลังของนางสมพรกับเพียงเพ็ญ ไปยังหลังบ้าน...

“แม่ย้อยก็จัดการกาแฟซะก่อนเดี๋ยวจะเย็นหมด...”

นางย้อยยิ้ม ๆ แล้วคนกาแฟกับน้ำเชื่อมให้เข้ากัน...

“กินตอนนี้ ไม่ตาแข็งรึ...”

“ก็เพราะมันจะหลับนี่แหละ ถึงต้องกิน เมื่อคืนก็อยู่จนดึกดื่น...เช้ามาก็ตื่นแต่เช้า”

“แล้วทำไมไม่นอนกลางวันล่ะ”

“ถ้าไม่ได้เจ็บไข้ได้ป่วย ...ฉันนอนกลางวันไม่เป็น”

“ลืมไป คนค้าคนขาย ไม่เหมือนพวกทำไร่ทำนาอย่างพวกฉัน กลางวันก็เอนหลังกันละ”

“สมัยเป็นสาว ตอนทำนา แดดร้อน ๆ ก็เข้าร่มไม้เหมือนกัน...แล้วแม่ศรีขายของ นอนกลางวันได้รึ”

“คนไม่ได้มากมายอะไรอย่างที่นี่หรอก เขาก็มากันเฉพาะตอนเช้า ๆ เย็น ๆ เท่านั้นแหละ ช่วงหน้านา ฉันก็ปิดร้านไปทำนาเหมือนกัน...ขายเอาพอแก้เบื่อเท่านั้นแหละ...”

“แม่ศรีทำนาด้วยรึ นึกว่าขายของอย่างเดียว”

“ทำซิ เกิดเป็นชาวนาไม่ทำนาได้ไง...กินข้าวนาคนอื่น มันไม่ชื่นใจเหมือนกินข้าวในนาของตัวเอง”

“อ้าว เราก็คุยกันแต่เรื่องของเรา...” นางย้อยเห็นว่าดูจะกันนางสมพร และเพียงเพ็ญที่นิ่งเงียบมองนั่นมองนี่ไปจากวงสนทนา จึงรีบตัดบท...พอดีกับลูกชายถือถาดใส่แก้วน้ำมาวาง...

“กินน้ำกันก่อน...” บอกแล้วนางย้อยก็เหลือบตาดูนาฬิกา แล้วยกแก้วกาแฟขึ้นดื่ม เช่นเดียวกับแขกก็หยิบแก้วน้ำดื่มบ้าง...ป้อมที่เป็นเหมือน ‘นกรู้’ จึงเดิน

มาบอกว่า

“เถ้าแก่เนี้ย เรือเขาพร้อมนานแล้วนะ”

“อ้าว ไอ้ฉัน ก็มัวแต่ชวนแม่ย้อยคุยเพลินเลย...”

“ฉันก็ยังอยากคุยกับแม่ศรี แม่สมพรต่อ แต่ว่า ติดธุระสำคัญ โอกาสดี ๆ แวะมาคุยกันอีกนะ แม่ศรีคุยสนุกดี”

“จะกลับมาตอนไหนละม้า” กมลเอ่ยถาม...

“ไปแค่เกยไชย คงไม่ทันค่ำหรอก เดี๋ยวกลับมาหุงหาให้กิน ไม่ต้องห่วง...”

นางย้อยเห็นว่าจะไม่ทันการณ์ จึงรีบบอกว่า

“แม่สมพร แม่ศรี ฉันขอตัวก่อนนะ หนูเพียงเพ็ญ อาขอตัวก่อนนะ โอกาสดี ๆ แวะมาคุยกันใหม่ รึอยากได้อะไร ก็ถามเฮียเขาได้เลย อาซาลดราคาให้น้องเขาบ้างนะลูก เราคนกันเอง...”

********************

แม่คว้ากระเป๋าเงินในเก๊ะเดินออกจากร้านไปแล้ว เขาก็ทรุดตัวลงนั่งแทนที่...นางศรีขอตัวออกไปบ้วนน้ำหมากแล้วก็อยู่กับบุญปลูกพร้อมกับให้บุญปลุกจัดของที่จดใส่กระดาษมา...ที่หน้าโต๊ะบัญชีจึงเหลือแต่นางสมพร กับ ลูกสาวที่ตอนนี้ผินหน้าหลบเขาเสียแล้ว...

“อายุเท่าไหร่ละพ่อ” นางสมพรเป็นฝ่ายชวนคุย

“สิบแปดย่างสิบเก้าครับ”

“ขยันขันแข็งดีนะ ทำมาค้าขายแทนแม่ได้”

“ครับ” เพราะยังไม่คุ้น กับรู้สึกเกร็ง ๆ เขิน ๆ ด้วยรู้ว่าวันนี้แม่และตัวหญิงสาวนั้นมาเพื่อ ‘ดูตัว’ เขาจึงรับคำสั้น ๆ...

“เพียงเพ็ญ อยากได้อะไรไหมลูก ลุกขึ้นดูหรือถามพี่เขาซิ” ด้วยเป็นคนไทยแท้ ๆ นางสมพรจึงไม่คุ้นกับ คำว่า ‘เฮีย’ ที่นางย้อยบอกไว้เมื่อครู่...

“เดี๋ยวไปซื้อเอาที่ร้านอาศรีก็ได้แม่...อาศรีก็รับไปจากที่นี่” เพียงเพ็ญตอบเสียงชัดถ้อยชัดคำ ดูมั่นใจในตัวเอง...หญิงสาวไม่สบตากับเขาอีก...ตอนนั้นเขานึกอยากให้มีลูกค้าเข้าร้านมาให้ดูยุ่ง ๆ เพราะรู้สึกอึดอัด...แต่ว่าก็ไม่มีใครมาช่วย นางศรีก็พ่นน้ำลายคุยกับบุญปลูกอย่างออกรสออกชาติ...

“เมื่อกี้นี้ ผมเห็น อา ที่ร้านขายผ้า...” กมลจำต้องเปิดฉากชวนคุย

“พาเพียงเพ็ญเขามาซื้อผ้าไปตัดเสื้อเที่ยวลอยกระทงกันน่ะ...พ่อซาเคยไปฆะมังไหม”

“เคยนั่งเรือผ่าน แต่ไม่เคยแวะ...”

“วันหลังไปเที่ยวซิ วันลอยกระทงที่วัดเขาจัดงานใหญ่ คนเยอะนะ มีการละเล่นเยอะแยะเลย ”

อันที่จริงกมลควรจะถามว่ามีอะไรครับ หรือทำทีว่าตื่นเต้นกับงานที่นั่น แต่เขาก็ตอบไปสั้น ๆ ว่า “ที่นี่ก็มีงานครับ”

“ใช่ ที่ไหน ๆ ก็มี แม่...” เพียงเพ็ญเสียงห้วนและหน้าบึ้งขึ้นมา...

“ใช่ แม่ก็ลืมว่าที่ไหน ๆ ก็มี ที่ชวนก็เผื่อพ่ออยากจะไปเปลี่ยนบรรยากาศบ้าง”

“หนูขอตัวเดินเล่นหน่อยนะ อยากดูอะไรหน่อย” ว่าแล้วหญิงสาวก็ลุกขึ้นแล้วเดินออกไปจากร้าน นางสมพรมองตามหลังลูกสาวไป แล้วหันมายิ้มให้กมล กมลยิ้มแหยตอบ...รู้สึกแปลก ๆ รู้สึกไม่กระชุ่มกระชวยเหมือนตอนที่อยู่กับจันตา...

*****************

เพราะมีลูกค้าเข้ามาในร้าน ทำให้นางสมพรต้องขอตัวเหมือนกัน และพอเดินตามหาลูกสาวจนพบ นางสมพรก็ร้องเรียก...เพียงเพ็ญที่ยืนดูหนังสืออยู่หันมาหาแม่ หน้าตานั้นบึ้งตึงอย่างเห็นได้ชัด...

“อาศรีซื้อของเสร็จหรือยัง หนูอยากกลับบ้านแล้ว”

“กำลังเข็นมาลงเรือ รออีกหน่อย...”

เพียงเพ็ญแสร้งเปิดนิตยสารอ่าน คนเป็นแม่ที่ยืนอยู่ใกล้ ๆ ถามว่า “เป็นไงบ้างล่ะ นึกชอบไหม”

“เฉย ๆ งั้น ๆ ไม่เห็นจะหล่อเหลาอะไรเลย ผิวเหลือง ๆ ซีด ๆ ผอมแห้ง...”

“ดูคล่องแคล่วเอางานเอาการดีนะ แม่ชอบ”

“แต่หนูไม่ชอบ หนูบอกพ่อ บอกแม่ ไปแล้วว่าหนูไม่อยากเป็นสะใภ้เจ๊ก หนูแขยงเสียงซดน้ำแกง เกลียดเสียงเคี้ยวแจ๊บ ๆ ไม่ชอบเสียงขากสเลด คุยกันเสียงดังโหวกเหวก พูดก็ไม่ค่อยชัด หนูอยู่ด้วยไม่ได้หรอก”

“อย่ามาหาข้ออ้างหน่อยเลย”

“ก็มันจริงไหมล่ะ”

“คนบ้านนี้อาจจะไม่เป็นอย่างนั้นก็ได้ แม่เขาก็เป็นคนไทย เมื่อกี้แม่มองไปหลังบ้าน ก็สะอาดสะอ้านดี อย่ามาหาเรื่องติไม่เข้าเรื่องเลย”

“แต่หนูไม่ชอบเขา และไม่มีวันจะชอบได้ด้วย” หน้าตาคมขำนั้นบึ้งตึง...น้ำเสียงนั้นไม่ได้เกรงกลัวผู้เป็นแม่เลยสักนิด

“งั้นหนูก็หาคนที่ดีกว่า คนที่หนูชอบมาละกัน แม่เหนื่อยกับหนูเหลือเกินแล้ว”

“แล้วคนที่หนูชอบ มันไม่ดีตรงไหน ทำไมแม่...ทำไมแม่ไม่ช่วยพูดกับพ่อบ้างล่ะ”

นางสมพรชักสีหน้าเหนื่อยหน่ายใจ...ที่ลูกสาวไม่ยอมเข้าใจว่าตนนั้นเป็นเพียง ‘ช้างเท้าหลัง’ ผัวว่าอะไรก็ต้องว่าตามแม้จะไม่เห็นดีเห็นงามด้วย แต่เรื่องที่ลูกสาวคนเล็กผู้มีนิสัยเอาแต่ใจตัว ดันไปชอบกับไอ้ทิดก้าน ลูกชาวนายากจนคนบ้านใต้ มีอาชีพรับจ้าง เป็นนักร้องเชียร์รำวงตามงานวัด ผู้มีหน้าตาคมสัน ผิวคล้ำ ร่างกำยำสมส่วน ปากดี รักสนุก เป็นเรื่องที่นางนั้นไม่เห็นดีเห็นงามด้วยกับลูกสาว...

เพราะเงินค่าสินสอดทองหมั้นอย่างที่ควรจะได้ ทางนั้นไม่มีปัญญาหามาให้แน่ แต่งไปแล้วก็ต้องเข้ามาอยู่ในเรือน เพราะเพียงเพ็ญเป็นลูกคนเล็ก พ่อแม่หวังฝากผีฝากไข้ ทิดก้านนั้นมีนิสัยขี้เหล้าเมายาพวกมากลากกันไป และเป็นนักเลงประจำถิ่นนั้น พาลจะผลาญให้ทรัพย์สมบัติที่มีนั้นหมดสิ้นไปเสียอีก

...ทางเดียวที่จะทำได้คือ ต้องหาคนที่คู่ควรเหมาะสมให้ และนางศรีผู้เป็นอาของเพียงเพ็ญก็เสนอตัว ลูกชายของนางย้อยมาเป็นตัวเลือก พอกำนันศร ได้ฟัง ได้เห็นรูปถ่าย จึงให้นางพาลูกสาวมาดูตัวกันไว้...ถ้าไปด้วยกันได้ ทางกำนันจะให้นางศรีนั้นออกหน้าเป็นแม่สื่ออย่างเต็มที่...

สำหรับนางแล้ว นางพึงพอใจชายหนุ่มเป็นอย่างมาก หน้าตาหุ่นรูปทรงผิวพรรณเขางาม ท่าทางเป็นคนเอางานเอาการเชื่อฟังพ่อแม่ดี...แต่นางลูกสาวก็มาเป็นเสียอย่างนี้ ตะบึงตะบอนจนเขาก็คงจะดูออกหรอก ว่าไม่ชอบเขาสักเท่าไหร่...แต่เอาเถอะ เรื่องนี้ผู้ใหญ่คุยกัน มันก็ยังพอมีหวัง...ส่วนนางนั้นกำนันศรกำชับว่า ช่วงนี้อย่าได้ปล่อยให้นังลูกสาวคลาดสายตาเด็ดขาด...คนมันไม่รักดี... คิดเองไม่ได้ ก็ต้องบังคับเคี่ยวเข็ญกันไปจนกว่ามันจะเป็นฝั่งเป็นฝา...

*********************

มงคลเดินกลับมาถึงบ้านด้วยอาการอ่อนระโหยโรยแรง...พอมาถึงเขาก็เดินเข้าไปหลังร้าน แล้วล้มตัวลงนอนบนม้าตัวยาวแล้วหลับตา...โดยไม่สนใจว่าหน้าร้านนั้นจะยุ่งกันสักเพียงใด...พอลูกค้าซาไปแล้ว กมลจึงเดินเข้ามาดู...เขาส่ายหน้าเบา ๆ ก่อนจะถามเสียงดัง ๆ ว่า

“ลื้อหายไปไหนมา เดินไปตามที่ร้านถ่ายรูปก็ไม่เจอ”

“ไปบ้านไอ้แดงมา”

“บ้านไอ้แดง!” กมลร้องเสียงดัง เพราะรู้ว่าบ้านของแดงเพื่อนร่วมชั้นเรียนกับมงคลนั้นเป็น เปิดเป็นซ่องโสเภณี และแม่ก็ย้ำกับพวกเขาว่า อย่าไปที่นั่นอย่างเด็ดขาด เพราะกลัวจะติดโรคร้าย กลัวเสียชื่อเสียง เขาถอนหายใจออกมาอย่างแรง...และที่ใกล้ๆ กันก็ยังมีบ่อนการพนันที่แม่บอกว่าจะทำให้เสียคนได้

“ทำเป็นตกอกตกใจไปได้ ...ก็แค่ไปเยี่ยมเพื่อน... แล้วม้าไปไหน” เขาลืมตาอธิบายแล้วถามกลับ

“ไปเกยไชย เย็น ๆ กลับ...แต่เดี๋ยวนะ แค่ไปเยี่ยมเพื่อนทำไมลื้อถึงได้ดูหมดเรี่ยวหมดแรงแบบนี้...”

“อากาศร้อนอบอ้าวซะขนาดนี้...ฮู้ กลางวันแสก ๆ ใครจะไปมีอารมณ์”

“ให้มันจริงเถอะ...”

“จะเอาเงินไหนไปจ่ายค่าตัวพวกนั้นล่ะ ที่ราคาถูก ๆ ก็เหนียงยานหมดแล้ว ที่เป็นดาวเด่นก็หกสิบเจ็ดสิบ บางคนเป็นร้อย แล้วอีกอย่าง จะว่าไปแล้ว ที่นี่ก็สวยสู้ที่ปากน้ำโพไม่ได้...”

“แสดงว่าอยู่ที่โน่นลื้อเที่ยว”

“เรื่องแบบนี้มันก็ต้องรู้ไว้บ้าง เรามันลูกผู้ชายนะเฮีย กำไรชีวิตทั้งนั้น เฮียนั่นแหละ อยู่แต่บ้าน หัดไปเปิดหูเปิดตามั่ง เดี๋ยวมีเมียแล้วจะทำอะไรไม่เป็น เมียมันจะมีชู้เอานา”

“ไอ้บ้า...”

“แนะนำดีๆ ก็ยังจะมาด่า...พรุ่งนี้ได้รูปแล้วเราก็จะกลับปากน้ำโพแล้วนะ...อยู่ก็ไม่มีอะไรทำ เซ็งชะมัด” เป็นเพราะ เป็นลูกคนเล็ก และไปเรียนในเมืองตั้งแต่จบชั้นประถมสี่ ทำให้เขาไม่มีหน้าที่ใด ๆ ต้องรับผิดชอบเหมือนพี่ ๆ กลับมาบ้านช่วงปิดเทอมหรือวันหยุด เขาก็เอาแต่เที่ยวเตร่เถลไถลไม่ได้ช่วยงานที่โรงสีหรือที่ร้านค้าเป็นเรื่องเป็นราวแต่อย่างใด...

“แล้วจะกลับมาอีกเมื่อไหร่ ลอยกระทงกลับมาไหม”

“ไม่รู้ ดูก่อน มีอะไรรึเปล่า”

“ไม่มีหรอก ถามดู...” เรื่องที่นางสมพรชวนไปเที่ยวที่ฆะมังนั้นยังคาใจเขาอยู่...เพราะถ้าขัดผู้ใหญ่ไม่ได้ เขาก็ควรไปรู้ไปเห็นว่าทางนั้นเป็นอย่างไรบ้าง...

มงคลหลับตา หายใจเข้าสั้น ๆ ยาว ๆ แล้วก็ม่อยหลับไป...กมลส่ายหน้าเบา ๆ แล้วเดินออกมาที่หน้าร้าน บุญปลูกหน้าตาบึ้งตึง...ไม่ยิ้มไม่แย้มไม่เล่นหัวอย่างเคย กมลเห็นดังนั้นจึงถามเพราะคิดว่าเจ็บไข้...

“ไม่ได้เป็นอะไรหรอกเฮีย แค่เบื่อ ๆ เซ็ง ๆ” อารมณ์หดหู่นั้นมันเกิดจากคนถามและผู้หญิงที่ชื่อเพียงเพ็ญ แต่บุญปลูกจะบอกตรง ๆ ไม่ได้...

“ถ้าเลี้ยงน้ำแข็งไสสักถ้วยจะหายเซ็งไหม ถ้าหาย ก็ไปเอามาคนละถ้วย เดี๋ยวเฮียตามไปจ่ายเงินเขาเอง...”

******************

พอทรุดตัวลงนั่งพับเพียบในห้องของ ‘พ่อหมอ’ นางย้อยก็บอกให้ป้อมออกไปนั่งรอที่นอกชาน...เพราะเรื่องบางเรื่องนั้น รู้มากคน ก็มากความ...หลังจากที่ป้อมเดินออกไปแล้ว นางย้อยก็หันไปหาพ่อหมอ ซึ่งมีผมขาวโพลนทั้งหัว นุ่งขาวห่มขาวไว้หนวดไว้เคราดูหน้าเกรงขาม นางย้อยประเมินด้วยสายตาแล้ว แกน่าจะมีอายุเจ็ดสิบต้น ๆ แกนั่งอยู่หน้าโต๊ะหมู่บูชาที่เต็มไปด้วยรูปปั้นเทวรูป พานใส่เครื่องรางของขลัง ขันน้ำมนต์ และที่นางย้อยก็ไม่รู้ว่ามีอะไรบ้าง วางให้ระเกะระกะ

“มีอะไรรึ”

“ฉัน สงสัยว่า ลูกชายของฉันจะถูกผู้หญิงทำของใส่...”

“ผู้หญิงคนที่ไหน”

แล้วนางย้อยก็เล่าเรื่องทั้งหมดที่เกิดขึ้นคร่าว ๆ แล้วสรุปว่า “พอจะช่วยได้ไหมจ๊ะ...”

พ่อหมอบอกให้นางย้อยควักเงินมาตั้งขันบูชาครู เป็นเงินถึง หกสลึง พอใส่เงินลงในพานที่มีดอกไม้ ธูป เทียน และหมากพลู ซึ่งเป็นของที่มีอยู่ในพานอยู่แล้ว พ่อหมอก็ให้นางย้อยยกพานขึ้นจบ บอกกล่าวว่า ‘ทุกข์มาด้วยเรื่องอะไร’

...หลังจากที่นางย้อยส่งพานไปให้ พ่อหมอก็ถือพานหันหน้าเข้าโต๊ะหมู่ พึมพำบทสวด...อึดใจใหญ่ ๆ ตัวพ่อหมอก็สั่นน้อย ๆ เสียงที่สั่นอยู่แล้วสั่นหนักกว่าเดิม...พอหมอวางพานลงแล้ว หันไปคว้าขันน้ำมนต์มาวางตรงหน้า แล้วบอกให้นางย้อยใช้ไม้ขีดจุดเทียนขี้ผึ้งที่อยู่ติดปากขัน...พอนางย้อยจุดแล้ว...หยดน้ำตาเทียนก็หยดใส่น้ำ...พ่อหมอเพ่งมองเทียนที่หยดลงน้ำนั้นแล้วพูดว่า

“มึงอยากรู้ว่าลูกชายมึง ‘ถูกของ’ ใช่หรือเปล่า”

“ใช่...จ้ะ”

“อืม...ของเขาแรงซะด้วย แต่เขาไม่ได้กะเอาถึงตายหรอก แค่หลงใหลชั่วพักชั่วครู่”

“ชั่วพักชั่วครู่ อีกนานแค่ไหนจ๊ะ”

“ตรงนั้น กูก็ไม่รู้....” พ่อหมอยังเพ่งมองน้ำในขันอยู่อย่างนั้น ไม่ได้เงยหน้าขึ้นมาสบตานางย้อยแต่อย่างใด...

“แล้วมีวิธีแก้ไขไหมจ๊ะ”

“อีคนที่ทำ ตอนนี้ มันอยู่ในบ้านมึงแล้วใช่ไหม”

“ไม่ได้อยู่ในบ้าน อยู่ที่โรงสี แต่ก็ถือว่าเป็นเขตบ้านฉันนั่นแหละ”

“ให้มันอยู่ไปก่อนนะ อย่าเพิ่งไล่มันไปไหน อีคนนี้มันเป็นคนใจเด็ด มันเป็นคนรักแรง เกลียดแรง มันเป็นคนชอบเอาชนะคนซะด้วย...มันอยากได้อะไร มันจะต้องเอาให้ได้”

นางย้อยรู้สึก ‘เชื่อ’ ไปแล้ว ว่าพ่อหมอนั้นแน่จริง ๆ

“ทำไม ฉันถึงไล่มันไปไม่ได้ล่ะ ทั้งที่มันก็เลวปานนั้น”

“กูบอกไปแล้ว ว่ามันรักแรงเกลียดแรง มันรักของมันมาก มันก็อยากได้ อยากครอบครองเป็นธรรมดา แต่เนื้อใจมันก็ไม่ใช่คนเลวทรามชั่วช้าอะไรหรอก...ความดีของมันก็มี ใช่ไหม...”

“ก็ใช่...แล้วจะให้ฉันทำอย่างไร ฉันอยากช่วยลูก”

“มึงต้องเอาตัวลูกชายของมึงมาทำพิธีที่นี่”

“ไม่มีทางอื่นเลยรึจ๊ะ”

“ไม่มี ต้องพามันมา จะบอกมันอย่างไรก็เรื่องของมึง มาถึงกูแล้ว เดี๋ยวกูจัดการเอง...”

“โดยด่วนเลยหรือเปล่าจ๊ะ”

“ยิ่งเอาไว้นาน มึงก็ยิ่งทุกข์”

“เอ่อ...” นางครุ่นคิดหาคำถามต่อ...และพอนึกได้ว่า เรื่องร้าย ๆ บางเรื่อง ต้องแก้ปัญหาด้วยวิธีหนามยอกเอาหนามบ่ง นางย้อยหันซ้ายหันขวา แล้วถามว่า


“มีวิธี ทำให้อีผู้หญิงมีอันเป็นไปไหม ฉันเกลียดมัน ฉันอยากให้มันตายห่าไปซะ...”

คราวนี้เอง พ่อหมอช้อนตามองนางย้อยแล้วบอกว่า

“เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร...สายวิชากูไม่เคยฆ่าคน มีแต่ช่วยคน”

นางย้อยรู้สึกหน้าชา...แต่ก็ไม่ได้รู้สึกผิดแต่อย่างใด...ก็เมื่อมันเล่นทางนี้แล้ว ก็ต้องใช้ทางนี้เล่นงานมันกลับถึงจะสาสมกันไม่ใช่รึ...

“มึงมีอะไรจะถามอีกไหม”

“ไม่มีจ้ะ...”

“มึงเอง ก็ระวังตัวให้ดี...เจ้ากรรมนายเวรมึง จ้องจะเล่นงานมึงอยู่เหมือนกัน...”

“เจ้ากรรมนายเวรฉัน!”

“มึงทำอะไรเอาไว้บ้างล่ะ”

นางย้อยขนลุกเกลียว นึกถึงนางลิ้มขึ้นมาแล้วรู้สึกเย็นยะเยือก...นางย้อยคิดถามอยู่ในใจว่า บุญจากการบวชลูกชายนั้นไม่ได้ทำให้นางลิ้มลดความอาฆาตพยาบาทเลยรึ... เพราะมันเป็น ‘ตราบาป’ เดียวที่อยู่ในใจนางย้อย จนรู้สึกหวั่นเกรง ‘ลูกสะใภ้’ แต่ละคนที่กำลังเข้ามาในชีวิต... นางย้อยจึงแก้ตัวไปว่า

“ฉันไม่ได้ตั้งใจ ตอนนั้น มันเหลืออดจริง ๆ”

“จะด้วยเหตุอะไรก็แล้วแต่ ทำกรรมแล้ว ช้าหรือเร็ว กรรมย่อมส่งผล กูบอกมึงได้แค่นี้แหละ”

“ไม่มีทางแก้เลยรึไง ฉันเองก็บวชลูกตั้งสองคน ทำบุญก็อุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้เขาตลอด และตั้งใจจะบวชอีกสองคนในเร็ว ๆ นี้...บุญกฐิน ผ้าป่า ฉันก็ไม่เคยขาดสักปี...”

“บุญก็อยู่ส่วนบุญ บาปมันก็อยู่ส่วนบาป...แต่มึงคิดถูกแล้ว ที่คิดทำบุญล้างบาป ล้างไม่ได้ หนักก็จะเป็นเบา...มีอะไรจะถามกูอีกไหม...”

“เอ่อ นอกจากอีเรณูแล้ว จะมีสะใภ้คนไหนมาสร้างปัญหาให้อีกไหม”

“ถ้ามึงยังไม่รู้ กูก็ไม่รู้...”

“อ้าว ...เอ่อ...คือฉันทำมาค้าขาย มีอะไรจะให้ฉันบูชากลับไปบ้างไหม...” แม้จะมีความทุกข์ใจเรื่องลูก เรื่องบาปกรรมที่เคยพลาดพลั้งทำลงไป แต่นางย้อยก็ยังเต็มเปี่ยมไปด้วยความโลภเช่นปุถุชนทั่วไป...แม้แต่เงินค่าขันครู นางย้อยก็ยังคิดจะใช้ให้คุ้มค่าที่เสียเวลาดั้นด้นมา...

“เดี๋ยวกูไปแล้ว มึงคุยกับ ‘คนกลาง’ มันเองแล้วกัน” คนกลางหรือตัวพ่อหมอนั้นไม่ใช่แค่เป็นคน ‘ทรงเจ้าเข้าผี’ หากแต่ยังเป็น ‘หมอยาแผนโบราณ’ ด้วย ป้อมบอกกับนางย้อยว่า ใครเป็นอะไรมา ถ้าแกรักษาได้ แกก็รักษา ถ้ารักษาไม่ได้ แกก็บอกให้กลับไปทำใจ...ทำบุญทำกุศล สุดแต่ว่าคน ๆ นั้น เจ็บป่วย ด้วยเหตุอะไร เพราะโรคภัยไข้เจ็บที่เกิดขึ้นกับคนเรานั้น มันมีทั้งโรคที่เกิดจากผลกรรมในชาตินี้และโรคที่เกิดจากผลกรรมแต่ชาติปางก่อน ซึ่งสุดวิสัยที่แกจะหยั่งรู้ทั้งหมดหรือแก้ไขได้...

นางย้อยถอนหายใจออกมา พ่อหมอก็วางขันน้ำมนต์ไว้ตามเดิม หันหน้าเข้าหาโต๊ะหมู่ พึมพำคาถาอีกพักใหญ่ แล้วร่างนั้นก็สั่นน้อยๆ อีกครั้ง...

******************************

เห็นสภาพร้านค้าสองคูหาแล้วพิไลก็ลอบถอนหายใจออกมา แล้วก็นึกว่า โชคยังดี ที่นางย้อยให้แยกบ้านไปต่างหาก ไม่อย่างนั้น เธอจะทนอุดอู้กินอยู่หลับนอนอยู่ในเรือนไม้ห้องแถวนี้ไม่ได้แน่ ๆ...

“นั่นห้องใคร” ประสงค์พาเมียขึ้นไปชั้นบนเพื่อไปเก็บผ้าผ่อนของใช้ของตนไปไว้ที่เรือนหอ...พอขึ้นบันไดมาแล้วพิไลก็มองเห็นห้องทั้งหมดสี่ห้อง สองห้องนั้นมีกุญแจล็อกแน่นหนา...ส่วนสองห้องไม่มีกุญแจคล้องไว้แต่อย่างใด

“ห้องพ่อกับแม่ ห้องใหญ่ไว้นอน ห้องเล็กเอาไว้เก็บของ”

คำว่า ‘เก็บของ’ นั้นพิไลเดาว่า คงจะเป็นพวกทรัพย์สินเงินทอง หรือข้าวของเครื่องใช้มีราคา แม่บอกกับพิไลว่า นอกจากค้าขายแล้ว นางย้อยยังปล่อยเงินกู้ รับจำนำของมีค่า อย่างพวกทองคำ เข็มขัดเงินเข็มขัดนาก รับซื้อพวกเครื่องทองเหลืองถ้วยโถโอชามเก่ามาเก็บไว้ พิไลอยากเห็นของพวกนั้นเป็นที่สุด...เพราะนอกจากเสื้อผ้า รองเท้า ทองคำประดับตัว พิไลก็ยังชอบเครื่องกังไส เครื่องสังคโลก เครื่องทองเหลือง เพราะที่บ้านของแม่ใหญ่นั้นมีเป็นตู้ ๆ ไปครั้งใดพิไลก็จะได้แต่ยืนมอง...แล้วคิดว่าวันหนึ่ง เธอจะต้องมีของพวกนี้เก็บสะสมไว้ประดับบารมีบ้าง...

เดินเข้ามาในห้องนอนเดิมของประสงค์แล้วพิไลก็กวาดสายตามองไปรอบ ๆ ห้อง ในห้องมีเตียงใหญ่หนึ่งเตียง... มีตู้ไม้สองหลัง มีโต๊ะไม้สักสำหรับเขียนหนังสือหนึ่งตัวและมีเก้าอี้มีพนักอีกหนึ่งตัว...บนโต๊ะมีหนังสือนิยายรวมเล่มวางเป็นตั้ง ๆ ข้างๆ โต๊ะมีนิตยสารเรียงเทินกันเป็นระเบียบแยกหัวเรียบร้อย บ่งบอกว่าเจ้าของนั้นรักและหวงหนังสือเป็นอย่างมาก...

พิไลไม่ใช่คนอ่านหนังสือ แต่ก็ไม่รังเกียจหนังสือแต่อย่างใด...

“ปกติเฮียอยู่ห้องนี้กับใคร...”

“ตั่วเฮีย แต่ตอนนี้ ก็เหมือนอยู่คนเดียวแล้ว...”

“ถ้าอย่างนั้นก็เอาเสื้อผ้าไว้ที่นี่บ้างก็ได้ เผื่อวันหน้าเราไม่อยากกลับบ้าน หรือต้องอยู่เฝ้าร้าน เราจะได้มีเสื้อผ้าเปลี่ยน” จริง ๆ พิไลอยากจะบอกว่า
‘ถึงอย่างไรร้านนี้ก็ต้องเป็นของเรา เราจะขนของของเรา ออกไปทำไมล่ะ...เพราะคนที่ต้องขนของออกไปก็คือ ปฐม และ กมล...’

“แล้วหนังสือนี่ของใคร...”

“ของเฮียเอง เฮียชอบอ่านหนังสือ เธอล่ะชอบอ่านหนังสือไหม”

“พออ่านได้บ้าง แต่ถ้าถามว่าชอบอ่านไหม ตอบว่าไม่ชอบแล้วกัน แต่เฮียจะขนไปก็ได้นะ...เพราะถ้าเฮียอ่านให้ฉันฟังเหมือนฟังละครวิทยุ ฉันก็ยินดีฟังเสียงเฮีย...” แม้ว่าจะไม่ได้รักกันก่อนแต่งงาน แต่พิไลก็รู้ว่า ควรจะทำตัวอย่างไรเพื่อให้เขารักและต้องเกรงใจตนเอง...

************

เรือนของกำนันศรเป็นเรือนไม้ใต้ถุนสูง ตั้งอยู่ทิศตะวันออกของแม่น้ำน่าน เวลาไปไหนมาไหนนอกจากเรือหางยาวแกยังมีม้าคู่บุญชื่อ ‘ไอ้ทองดี’ อาวุธและเครื่องประดับที่คุ้นตาคนแถว ๆ นั้นก็คือ ตะพดหัวเงินและหมวกกะโล่ และที่ซ่อนเร้นไว้ในชายผ้าก็คือปืนสั้น .38 อีกกระบอก แกจะเป็นคนเดินช้า ๆ เดินเหมือนเสือย่างกรายจนสิงห์สาลาสัตว์ต่างหวั่นเกรง

ที่ดินติดกับบริเวณบ้าน เป็นโรงเลื่อย โรงเผาถ่าน ด้านหลังเป็นบ้านพักคนงานที่เป็นเรือนแถว...กิจการนี้สืบถอดมาตั้งแต่สมัยพ่อของแกที่เป็นกำนันเช่นกัน
ห้องของเพียงเพ็ญอยู่ทิศตะวันออกของบ้าน เปิดหน้าต่างออกไปจะไม่เห็นแม่น้ำน่าน เห็นแต่สวนหลังบ้าน ห้องนั้นติดลูกกรงเหล็กแน่นหนากันทั้งคนในและคนข้างนอก...ยามค่ำคืนหน้าห้องก็ยังมีนางแรมซึ่งเป็นญาติห่าง ๆ ของกำนันศร กางมุ้งนอนเฝ้า...เมื่อตอนเป็นเด็ก ๆ นั้นเพียงเพ็ญรู้สึกอบอุ่นใจ รู้สึกว่าตนเองนั้นเป็น ‘คุณหนู’ โก้หรูสุขสบายที่สุดในถิ่นนั้น แต่พอมีความรัก นางแรมหรือป้าแรมกลายเป็นตัวอุปสรรคจนเพียงเพ็ญนึกแช่งชักหักกระดูกให้แกตายไปเสียโดยไว...แต่นางแรมก็ดูจะอายุยืน แกไม่ต้องออกไร่ออกนา มีหน้าที่ทำงานบ้าน เลี้ยงลูกสาวให้กำนันตั้งแต่ยังเล็ก ๆ จนกระทั่งแยกเรือนกันหมดเหลือก็แต่เพียงเพ็ญ ร้อยวันพันปีนางแรมไม่เคยเจ็บไข้ได้ป่วย แถมแกยังเป็นคนนอนหูเร็วยิ่งกว่าหมาที่ใต้ถุนเรือนซะอีก...เช้ามาแกจะตื่นแต่เช้า รีบหุงข้าวหาปลาเตรียมไว้ให้พ่อกำนันกิน ก่อนพาคนงานออกไปทำงาน หรือออกไปธุระ...

กลับมาจากตลาดแล้ว เพียงเพ็ญก็ถือถุงกระดาษใส่ผ้า ใส่หนังสือเข้าห้อง...ยืนเกาะลูกกรง มองออกไปทางสวนหลังบ้าน ครุ่นคิดถึง ‘พี่ทิดก้าน’ ที่ฝากจดหมายมากับไอ้จุก ลูกของคนงานในโรงไม้มาให้...

‘คืนนี้ ก่อนสองยาม พี่จะมารอน้องเพ็ญตรงที่เก่าของเรานะจ๊ะ...คิดถึงน้องเพ็ญทุกลมหายใจเข้าออก พี่ทิดก้าน’

ตัวอักษรเล่นหัวเล่นหางสวยงาม ทำให้เพียงเพ็ญอ่านซ้ำแล้วซ้ำเล่า

‘ที่เก่า’ ที่พี่ทิดก้านพูดถึงก็คือ หลังกองฟาง ที่ติดกับต้นมะม่วงต้นใหญ่...ที่ตรงนั้นเป็นที่ที่เพียงเพ็ญ ลงจากเรือนทางบันไดหลังบ้าน และเดินเร้นกายไปโดยที่คนบนเรือนจะไม่มีวันเห็น...แต่ปัญหาของเพียงเพ็ญก็คือ คนที่นอนเฝ้าอยู่หน้าห้องนั่นแหละ...ถ้าบอกว่าไปห้องส้วม ในห้องก็มีกระโถน หรือไม่ ป้าแรมก็จะตามลงไปด้วย...แต่ถึงอย่างไร คืนนี้เพียงเพ็ญก็จะต้องออกไปพบพี่ทิดก้าน ยอดดวงใจของเพียงเพ็ญให้ได้...

**********
“อีหนู พ่อซา เป็นอย่างไรบ้าง” ขณะที่นั่งล้อมวงกินข้าวเย็นด้วยกัน ผู้เป็นพ่อก็เอ่ยปากถาม...เพียงเพ็ญเชิดหน้าขึ้น...ก่อนจะบอกว่า

“หนูบอกแม่ไปแล้วนี่ แม่ยังไม่ได้บอกพ่ออีกหรือ” พอถูกพาดพิง นางสมพรก็แสร้งขยำปลาปิ้งกับน้ำพริกเผา ฟังพ่อลูกคุยกัน เพราะรู้ดีว่าตนนั้นไม่มีสิทธิ์มีเสียงอะไรอยู่แล้ว

“พ่ออยากฟังความเห็นจากปากของเอ็ง...”

“ก็...ดูสำอาง แล้วเขาก็ ดูไม่ได้สนใจหนูสักเท่าไหร่หรอก...”

“แม่เอ็งเขาว่า ดูขยันขันแข็งคล่องแคล่วดี แล้วเขาก็ไม่ได้ขายแต่ของอย่างเดียว ทำงานช่วยเตี่ยเขาที่โรงสีด้วย คนแบบนี้ พ่อว่าหาไม่ง่ายนะ...หน้าตาดี ขายของเป็น ใช้แรงงานได้ คุมคนงานได้...แล้วก็มีฐานะพอเหมาะพอสมกับเรา”

ประเด็นสำคัญอยู่ตรงท้ายประโยค ทำให้เพียงเพ็ญต้องเชิดหน้าขึ้นอีกครั้ง แล้วบอกว่า

“แล้วความรู้สึกของหนูละพ่อ หนูไม่ได้รักเขา หนูไม่รู้สึกถูกชะตากับเขาสักนิด”

“เอ็งตัดใจจากไอ้ก้านมันซะ รักษาเนื้อรักษาตัวให้ดี เรื่องแต่งกันเมื่อไหร่ เดี๋ยวผู้ใหญ่จะคุยกันเอง...ดูพี่สาวเอ็งเป็นตัวอย่าง เพราะมันเชื่อพ่อ ออกเรือนไป นั่งเฝ้ากำปั่นเงินกันทุกคน มีใครแต่งไปแล้วลำบากบ้างไหม”

“แต่ถ้าได้อยู่กับพี่ทิดก้าน หนูก็ยังคุมกำปั่นเงินได้เหมือนเดิมแหละ”

กำนันศรส่ายหน้าเบา ๆ ชุบมือกับกะละมัง แล้วพูดเบา ๆ ว่า

“พ่อเห็นคนมาเยอะ พ่อมองคนไม่ผิดหรอก คนอย่าง ไอ้ก้าน มีร้อยก็หมดร้อย ดีไม่ดี มันจะไม่ผลาญแค่สมบัติของเรา แต่มันจะทำให้เอ็งน้ำตาเช็ดหัวเข่าด้วย...” ว่าแล้วกำนันศรก็ลุกขึ้นแล้วเดินไปที่นอกชานเพื่อสูบยาเส้น...เพียงเพ็ญมองตามหลังพ่อไปแล้วน้ำตาก็ค่อย ๆ ไหล ในใจนั้นมีอีกประโยคที่อยากจะบอกกับพ่อว่า

‘หนูรู้ว่าพ่อหวังดี...แต่หนูเป็นเมียพี่ทิดก้านเขาไปเสียแล้ว ซิพ่อ’

******************************


Title: Re: กรงกรรม บทประพันธ์ของ จุฬามณี
Post by: นักประพันธ์ on 01 March 2020, 18:00:49
ตอนที่ 15 : ก้าน-เพียงเพ็ญ


            ๑๕

คืนนั้นพอนาฬิกาที่ข้างฝาบอกเวลาสี่ทุ่มกว่า ๆ ฝนที่ตั้งเค้ามาตั้งแต่ตอนเย็นก็โปรยปรายลง...นางแรมมุดออกจากมุ้งไปที่นอกชานหลังบ้านเพื่อรองน้ำใส่โอ่ง เพียงเพ็ญเดินเป็นเสือติดจั่นอยู่ในห้อง...ไม่รู้ว่า ป่านนี้ ทางพี่ทิดก้านจะเป็นอย่างไรบ้าง เพียงเพ็ญภาวนาให้เขาไม่มาตามนัด เพราะไม่อยากให้เขาต้องเปียกฝนรอ แต่คำภาวนาของเพียงเพ็ญไม่มีผล...

เสียงฟ้าคำราม เสียงฝนกระทบหลังคาสังกะสีดังกึกก้อง...หญิงสาวเปิดหน้าต่างมองไปทางจุดนัดพบ...ประกายฟ้าแลบทำให้เห็นเงาต้นไม้ และกองฟาง...ลมพัดโกรกหน้าต่างเข้ามา เพียงเพ็ญเพ่งมองอีกครั้งก็พบว่าพี่ทิดก้านวิ่งออกมาจากด้านหลังกองฟาง หญิงสาวคลี่ยิ้ม เขาวิ่งมาจนถึงใต้หน้าต่าง แล้วส่งสัญญาณให้เพียงเพ็ญรู้ว่า เขาจะรออยู่ที่ใต้ถุนเรือน...เพียงเพ็ญรับรู้ ก่อนจะปิดหน้าต่างลง...เดินไปเปิดประตู ก็มองเห็นป้าแรมนั่งตำหมากอยู่ข้างมุ้งเสียแล้ว...

“จะออกไปไหนรึ”

“จะออกไปฉี่”

“กระโถนก็มี ฉี่ในกระโถนก็ได้ ไม่ต้องลงไปหรอก”

“ฉันปวดหนักด้วย...”

“งั้น เดี๋ยวป้าไปเป็นเพื่อน ขอตำหมากแป๊บ...”

“ไม่ต้องหรอก ขอไฟฉายฉันก็พอ...”

“ไม่ได้หรอก ถ้าพ่อกำนันรู้ว่าป้าปล่อยให้หนูลงจากเรือนในช่วงกลางค่ำกลางคืนคนเดียว เช้ามาพ่อกำนันเอาป้าตาย...เห็นใจป้าเถอะนะ”

เพื่อไม่ให้เป็นที่ผิดสังเกตเพียงเพ็ญจึงบอกว่า “ตามใจ...งั้นป้าตามหนูมานะ หนูไม่ไหวแล้ว” ว่าแล้วเพียงเพ็ญก็เดินออกไปทางนอกชานหลังบ้าน ทั้งที่ฝนยังลงเม็ดไม่ขาดสาย โดยไม่สนใจว่าร่มกับไฟฉาย...พอลงจากเรือน ก็รีบมุดมาที่ใต้ถุน เพียงเพ็ญก็กระซิบเรียก “พี่ก้าน ๆ”

อึดใจร่างของก้านก็มาอยู่ห่างกันเพียงคืบ

“พี่กลับไปก่อนนะ คืนนี้ฉันไม่สะดวก เอาไว้วันหลังค่อยว่ากัน” คำบอกกล่าวนั้นแทนที่จะผลักให้ก้านรีบกลับบ้าน เขากลับดึงเพียงเพ็ญเข้าไปกอดรัดหาความอบอุ่น เพียงเพ็ญดิ้นพอประมาณโดยสายตานั้นก็หันไปมองทางบันไดหลังบ้านด้วย...

เพราะถึงแม้จะสาแก่ใจที่ทำตามใจตัวเองได้ แต่เพียงเพ็ญก็รู้ดีว่า มันไม่งามนักที่ปล่อยเนื้อปล่อยตัวซ้ำแล้วซ้ำเล่าให้กับคำว่า ‘รัก’ แต่เขาก็ทำให้เธอร้อนรุ่มเสียทุกครั้งที่เจอกัน ทว่ายามไม่ได้เห็นหน้ากัน ใจนั้นก็เป็นทุกข์เป็นร้อนยิ่งกว่าเพราะกลัวว่าเขาจะกลายเป็นอื่น...

“ไม่ได้พี่ เดี๋ยวป้าแรมตามลงมา”

“ก็ตอนนี้แกยังไม่ลงมา ก็ขอพี่ชื่นใจหน่อยเถอะ คิดถึงจะแย่แล้ว” ปลายจมูกและริมฝีปากของเขาระเรื่อย ดูดซับสูดความหอมหวานไปตามใบหน้าและต้นคอไล่ลงมาที่ทรวงอกจนเพียงเพ็ญอ่อนระทวย เวียนขึ้นมาที่ริมฝีปาก มือคู่นั้นก็เคล้นคลึงไปตามเรือนร่างอ้อนแอ้นอย่างหนักหน่วง...

“ฉันช้ำหมดแล้ว...” เพียงเพ็ญกระซิบตอบ...

“เนื้อเอ็งหอมเหลือเกิน รู้ไหมว่าพี่คิดถึงตัวเอ็งแค่ไหน”

“เบา ๆ หน่อยพี่...” เพียงเพ็ญเสียงกระเส่า...แล้วหญิงสาวก็ได้สติ...เมื่อนางแรมลงบันไดมาร้องเรียกพร้อมกับสาดไฟฉายไปทั่ว พอขานรับแล้วเพียงเพ็ญก็ผลักชายหนุ่ม แล้วรีบเดินไปหา ส่วนก้านรีบโผไปหลบหลังสุ่มไก่ ใจนั้นที่ร้อนรุ่มเพราะข่าวที่ได้จากร้านนางศรีนั้นยังไม่ได้รับคำยืนว่าจริงเท็จ

... เถ้าแก่ใหญ่ในตลาดชุมแสงทาบทามมาทางกำนันศรแล้ว และกำนันก็คงตกลงปลงใจอย่างไม่อิดออด

แต่เขาจะยอมให้ ‘เมีย’ ของเขากลายเป็นเมียของอื่นไม่ได้ เมื่อเข้าตามตรอกออกทางประตู หมายทำให้ถูกต้องตามประเพณี แต่ก็สู้แรงเงินของหนุ่มบ้านไกลไม่ได้ มันก็ต้องใช้วิธีการ ‘ฉุด’

*******************

เพราะก้านนั้นเป็นคน ‘พวกมาก’ พอเหล้าเข้าปากแล้ว ก็ ‘ปากพล่อย’ เรื่องที่ควรจะเป็นความลับ เลยไม่เป็นความลับ...ดีแต่ว่าเรื่องที่ ‘ได้เสีย’ กันแล้วนั้น ก้านยังเก็บงำไว้ได้ แต่เรื่องลักลอบพบกันในตอนที่ผู้ใหญ่ในเรือนของเพียงเพ็ญเผลอไผลนั้น เพื่อนฝูงต่างรู้กันดี...

พอฝนเหือด เพื่อน ๆ ของก้านที่ตั้งวงกินเหล้า ร้องเพลงรอกันอยู่ที่กระท่อมข้างบ้านไม้ใต้ถุนสูงหลังกะทัดรัดของเขา ก็เห็นก้านที่อยู่ในชุดกางเกงขาก๊วยเสื้อตราห่าน มีผ้าข้าวม้า คลุมหัวเดินตากฝนกลับมา...

ไอ้คนที่เป็น ‘ต้นเพลง’ เห็นดังนั้นจึงให้สัญญาณให้คนเคาะกลอง กับคนตีฉิ่ง แล้วมันก็เริ่มต้นเพลง ‘เก็บเงินแต่งงาน’ ของ ‘เมืองมนต์ สมบัติเจริญ’ ทันที

‘พี่อุตส่าห์ทำงาน ก็เพื่อน้อง หวังเก็บเงินเก็บทอง เอามาหมั้นแม่ขวัญใจ ถึงงานจะหนัก แม้จะเหนื่อยสักเท่าไหร่ จะตากแดดผิวเกรียมไหม้ ก็หวังให้ได้เงินมา...ถ้ารวบรวมเงินได้ สักหนึ่งก้อน พี่จะไปมาหมั้น แม่ขวัญบังอร อย่าได้ตัดรอน นะหล่อนจ๋า...ช่วยบอกพ่อแม่ พี่จนแท้นะขวัญตา นึกว่าช่วยกรุณา อย่าเรียกราคาให้แพง...เดือนหก จะยกขันหมากมา พร้อมกระทั่งเงินตรา มีใบละร้อยแดงแดง เรียกเท่าไหร่ จะหามาให้ไม่เปลี่ยนแปลง จะขายข้าว มาจัดแจง กำใบแดงแดง มาแต่ง งานฯ’

เพลงบาดใจจบ...ก้านวางจอกเหล้าที่ไอ้คนตีฉิ่งส่งมาให้คลายหนาวลง...

“ตัวเบาเลยซิพี่ทิด” หนุ่มต้นเพลงรีบถาม

“เบากับผีอะไร ฝนดันตกซะก่อน...”

“แบบนี้ เรื่องไอ้หนุ่มชุมแสงก็ยังไม่รู้ซิว่าเป็นเรื่องจริงหรือเปล่า”

“มันก็คงจะจริงหรอก วันนี้แม่เพิ่งไปชุมแสงกับอาศรีมา...” ว่าแล้วก้านก็ถอนหายใจอย่างแรง

“แล้ว ถ้าเขาจับแม่เพียงเพ็ญไปแต่งกับลูกเจ๊กซะแล้ว พี่ทิดของฉัน จะทำอย่างไรล่ะ”

ดวงตาของก้านวาวโรจน์ขึ้นมา... แผนแรกที่คิดไว้คือ ‘ฉุด’ แม้จะเสี่ยงกินลูกปืนของพ่อกำนัน มันก็เป็นแผนเดียว ถ้าทำสำเร็จเขาก็จะได้ครอบครองเพียงเพ็ญไปโดยปริยาย...ส่วนแผนถัดมาคือ สกัดกั้นไม่ให้ไอ้หนุ่มหน้าจืดนั่นหรือไอ้หนุ่มหน้าไหน มาเป็นเจ้าบ่าวของแม่เพียงเพ็ญ...ข้อนี้มันจะทำให้เขาอยู่รอดปลอดภัย และพอเวลาเนิ่นนานไป พ่อกำนันก็คงใจอ่อนเห็นแก่ความรักของเขากับแม่ลูกสาวคนเล็กจนได้...

ก้านนิ่งคิดหาทางออก...ก่อนจะบอกว่า “พวกเอ็งไปสืบกับทางอาศรีให้ได้ว่า ไอ้ลูกเจ๊กชุมแสงมันมีชื่อแซ่อะไรเป็นลูกเต้าเหล่าใคร...ให้กูหน่อย”

“ถ้ารู้แล้ว พี่จะทำอะไรมัน”

“ให้รู้ก่อนแล้วกัน แล้วพวกมึงก็อย่าได้พูดมากไปล่ะ...เกิดไอ้นั่นมันตายห่าไปซะก่อนแต่ง จะเดือดร้อนกันหมด”

เพียงแค่นั้นก็เป็นอันรู้กันว่า ศัตรูหัวใจ ของพี่ทิดก้าน อาจจะถึงแก่ความตาย หากว่า ไม่คิดถอย...

เรื่องที่เพียงเพ็ญลักลอบพบเจอกับก้าน ใช่ว่ากำนันศรจะไม่รู้ แต่ครั้นจะเอ็ดอึงไป ด้วยเป็นฝ่ายผู้หญิงก็จะมีแต่เสียกับเสีย ทางเดียวที่ทำได้ คือ กำชับกำชานางแรมให้ช่วยเข้มงวด คอยติดตามอย่าให้เพียงเพ็ญได้คาดสายตาอีก เพราะถึงข้าวสารจะกลายเป็นข้าวสุกไปเสียแล้ว ก็ใช่ว่า ยังไม่มีหนทางแก้ไข...

เช้าวันรุ่งขึ้น กำนันศรรีบไปยังบ้านของนางศรีที่อยู่ไม่ห่างกันนัก ลูกสาวของนางศรีที่ออกเรือนไปแล้ว เฝ้าหน้าร้านขายของ...

“แม่ทำกับข้าวอยู่ในบ้านจ้ะลุงกำนัน...”

กำนันศรก็รีบเดินไปหา นางศรีพอเห็นพี่ชายเดินมาก็รีบละมือ ลงจากครัวหลังเรือน ออกมารับหน้า...

“ทำอะไรกินรึ...”

“แกงหมูเทโพ ทำทีไรก็คิดถึงสังข์แม่... เดี๋ยวเสร็จแล้วจะให้ไอ้ศักดิ์มันถือไปให้นะ” ศักดิ์นั้นเป็นลูกเขยของนางศรี...

“อืม...”

“มีอะไรถึงได้มาแต่เช้าตรู่”

“เรื่องนั้นแหละ...ข้าร้อนใจ อยากให้มันเป็นฝั่งเป็นฝาเสียโดยไว”

“เราเป็นฝ่ายผู้หญิงนะพี่กำนัน ออกตัวมากไป มันจะไม่งาม...เขาจะระแวงเอาได้ว่า ของ ๆ เรามันมีตำหนิอะไรรึเปล่าถึงได้เร่งเร้านัก”

กำนันศรเหลือบตามองไปรอบ ๆ ก่อนจะบอกว่า “ตำหนิ มันมีแน่...แล้วข้าก็กลัวมันจะท้องป่องขึ้นมาซะก่อนนะซิ อีลูกคนนี้ มันผ่าเหล่าผ่ากอ”

ก้านก็เคยมาเป็นคนงานในโรงไม้โรงถ่านของกำนันมาก่อน พอกำนันเห็นหนุ่มสาวส่งสายตาให้กัน กำนันก็รีบกันก้านออกไปจากบริเวณบ้านโดยอ้างว่า แรงงานเกินงานเสียแล้ว หลังจากนั้นก้านก็ไปบวชพระ บิณฑบาตผ่านบ้าน ลูกสาวมีใจให้พระ จึงลุกขึ้นมาตักบาตรทุกวัน กระทั่งรับกฐิน ก้านก็สึกมาอยู่ที่บ้าน...

และคืนหนึ่งกำนันลุกมาเข้าส้วมก็เห็นว่า นังลูกสาวลงจากเรือนมาหาไอ้ทิดก้านที่กองฟางหลังบ้านตั้งแต่เมื่อใดกำนันก็ไม่อาจทราบได้...และถ้าเดาไม่ผิด มันคงไม่ใช่ครั้งแรก เพราะกว่าที่ทั้งคู่จะผละจากกัน ไอ้ทิดก้านก็กอดรัดแสดงความเป็นเจ้าข้าวเจ้าของโดยที่ลูกสาวของตนไม่ได้ปัดป้องแต่อย่างใด

...พอเห็นเหตุการณ์บัดสีตำตาแล้วกำนันจึงได้ ‘ล้อมคอก’ ให้แน่นหนายิ่งขึ้น...คำพูดเหมือน ‘รับรู้’ แต่ ‘ไม่ยอมรับ’ เกิดขึ้นบนเรือน ลำพังพ่อแม่ลูก และนางแรม ทันที...แต่เพียงเพ็ญก็หาได้คล้อยตามแม่น้ำทั้งห้าที่ชักมาให้เห็นว่า คบหากับก้านไป รังแต่จะดึงตนเองให้ตกต่ำ สุดท้ายกำนันก็เลยต้องนำเรื่องคับอกนั้นมาปรึกษานางศรีผู้เป็นน้องสาวให้คิดกันช่วยหาทางแก้ปัญหานี้...

“แล้วจะให้ฉันทำอย่างไร ทางนั้น เขาก็ว่า จะเอาลูกเขาไว้บวชก่อน ปีสองปีนั่นแหละถึงจะแต่งงานกันได้ เพราะไอ้คนที่สอง ก็เพิ่งแต่งไปกับลูกเถ้าแก่ที่ทับกฤชเมื่อวันก่อน คงจะหมดไปหลายเงิน...”

“ทำให้มันเร็วขึ้นได้ไหม...สินสอดทองหมั้น ไม่ใช่เรื่องจำเป็น ขอให้รีบตกลงเท่านั้น”

“ฉันจะไปพูดอย่างไร” หัวคิ้วของนางศรีขมวดเข้าหากัน...

“ปีหน้าสักเดือนยี่ รึไม่ก็เดือนสี่ ไม่เร็วหรอกนะ...ช่วงนี้ข้าก็กำชับทั้งนังพร นังแรม ให้จับตามองมันไว้ให้ดี...”

นางศรีครุ่นคิด... พลางถามอีกรอบว่า “เราจะอ้างอย่างไรกันดี ถึงจะไม่น่าเกลียด”

“เอาอย่างนี้ บอกไปว่า ช่วงนี้ข้าเจ็บไข้ออดๆ แอด ๆ เลยอยากเห็นนังหนู มันเป็นฝั่งเป็นฝาเร็ว ๆ เอ็งว่ามันจะน่าเชื่อถือไหม”

“ก็น่าจะเป็นข้ออ้างที่ไม่เลว แต่ฉันว่า ทางที่ดี พี่กำนันก็ลองแวะเวียนไปที่ร้านแม่ย้อยกับฉันดูบ้าง...ทำทีว่าฉันติดเรือพี่กำนันที่จะเข้าไปอำเภอ ไปตลาด ได้เห็นกันแล้ว ทำความรู้จักกันแล้ว มันก็น่าจะพูดกันได้ง่ายขึ้น...อ้อ ตอนนั้น พี่กำนันก็แกล้งไอถี่ ๆ หน่อยก็ได้...ทำให้เหมือนคนป่วย มันน่าจะพอให้เชื่อถือได้บ้างนะ ฉันว่า”

ฟังความคิดของน้องสาวแล้วกำนันศรก็พยักเบาๆ

“เว้นสักวันสองวัน เราค่อยเข้าไปในเมืองกัน ไปวันนี้เลย มันน่าเกลียด...”

**************

กลิ่นควันไฟและเสียงไอโขรก ๆ จากครัวทำให้ก้านต้องผุดลุกขึ้นนั่ง...พอเปิดมุ้งเดินออกมาก็พบว่าแม่ซึ่งย่างเข้าสู่วัยชราของตนนั้นกำลังก่อไฟเตรียมหุงข้าวอยู่....

“ทำไม แม่ไม่ปลุกฉันล่ะ” ว่าแล้วก้านก็คว้าขันที่คว่ำไว้บนฝาโอ่งตักน้ำมาลูบหน้า...คว้าแปรงสีฟันยาสีฟันที่วางไว้ข้างโอ่งมาสีฟันอย่างเร่งรีบ...

ไม่มีคำตอบจากนางคนเป็นแม่...

“อ้าว แม่ ยังไม่ได้หุงข้าว...สงสัยฉันกินไม่ทันแล้ว มันสายแล้ว” วันนี้นั้นก้านรับจ้างเกี่ยวข้าวไว้ จึงต้องรีบออกจากบ้านไปให้ทันคนอื่น...

“เพิ่งรู้ว่าข้าวสารมันไม่พอหุง ก็เลยลงไปตำซะพักใหญ่ กว่าจะได้ทะนานเล่นเอาเหงื่อชุ่ม...แต่ข้าวเย็นก็ยังเหลือ รองท้องไปก่อน เดี๋ยวตอนกลางวันแม่ทำใส่ปิ่นโตตามไปให้” ว่าแล้วนางแม่ก็ไอโครก ๆ ขึ้นมาอีก

“งั้นเดี๋ยว ฉันหาบข้าวเปลือกไปที่โรงสีให้นะ...แม่ก็ตำกินไปสักวันสองวันก่อน”

“ไอ้ทิด เหล้ายาปลาปิ้งเพลา ๆ บ้างเถอะนะ...เป็นหนุ่มเป็นแน่น ริเรื่องพวกนี้ ไปขอลูกสาวบ้านไหนไม่มีใครเขาเอาหรอก”

“ถึงไม่กินเหล้า ก็ไม่มีใครอยากได้เราไปเป็นลูกเขยหรอกแม่....”

ว่าแล้วก้านก็ถอนหายใจออกมาอย่างแรง...ครุ่นคิดถึงเรื่อง ‘ฉุด’ แม่เพียงเพ็ญลูกสาวกำนันขึ้นมาอีก...แต่อีกใจก็นึกเป็นห่วงว่า ถ้ามุทะลุเอาแต่ใจตัว เพลี่ยงพล้ำขึ้นมา แม่อยู่ทางนี้คนเดียวก็จะลำบากอีก และเสียงไอของแม่ก็ทำให้เขาต้องถามแม่ว่า

“แล้วแม่กินหยูกกินยาบ้างหรือเปล่า” ยาที่ก้านพูดถึงเป็นยาตำรับโบราณที่บอกต่อ ๆ กันมาว่ารักษาอาการไอเรื้อรังได้...

“กินแล้ว แต่มันก็ยังไอ...” นางแม่บอกอย่างปลง ๆ

ก้านครุ่นคิดแล้วบอกว่า “งั้นเดี๋ยววันนี้ ฉันจะเบิกค่าแรงแล้วเข้าตลาดไปซื้อยามาให้...แม่ทนไอไปสักวันก่อนนะ...”

“อย่าเลยไอ้ทิด ว่าไปมันก็ดีขึ้นแล้ว เอ็งเก็บเงินไว้เถอะ มันยังต้องมีเรื่องต้องใช้อีกเยอะ...ไอ้ยาขนานนี้ มันไม่ได้ผล เดี๋ยวแม่จะลองขนานใหม่”

“เหอะแม่...ฉันกลับค่ำ ๆ หน่อยแล้วกัน อย่างไรแม่ก็รอกินข้าวเย็นกับฉันด้วยนะ...” ว่าแล้วก้านก็รีบไปคว้าจานข้าวเย็นมาวางแล้วใช้มือบี้น้ำพริกแมงดาในถ้วยมาขยำกับข้าว...นางแม่มองอาการรีบร้อนของลูกชายเพื่อที่จะไปรับจ้างหาเงินมาใช้จ่ายในบ้าน แล้วน้ำตาก็คลอลูกนัยน์ตา...

ถึงแม้ว่ามันจะเป็นลูกชายที่ไม่ได้เรื่องได้ราวในสายตาของคนอื่น ๆ แต่ไอ้ทิดก้านมันก็เป็นลูกที่ดีของนางเสมอ...และนางก็หวังใจว่า ความดีของมันจะทำให้อนาคตของมันเจอแต่เรื่องดี ๆ...

*********


“เรณูเมื่อวาน แม่ผัวเอ็งไปทำอะไรที่เกยไชยล่ะ” พอว่างเว้นจากลูกค้า...แม่ค้าขายผักกาดขาว ผักคะน้า ผักกวางตุ้ง ที่นั่งอยู่ติดกันก็หันมาถาม...หัวคิ้วของเรณูขมวดเข้าหากัน

“พี่รู้มาได้ไงล่ะ”

“อ้าว ก็ผัวพี่มันเป็นคนขับเรือหางยาว เมื่อวานตอนบ่าย ๆ มันพาแม่ผัวเอ็งกับไอ้ป้อมไปบ้านหมอมี....”

“หมอมี...คือใครหรือจ๊ะพี่” เรณูรีบซัก

“หมอมี หมอยากลางบ้าน คนทรงเจ้าเข้าผี ดูดวง สะเดาะเคราะห์ เสริมดวงชะตา แก้คุณไสย ถอนเสน่ห์ ไงล่ะ”

‘ถอนเสน่ห์’ คำ ๆ นี้ ทำให้เรณูรู้สึกเย็นวาบขึ้นมา... แล้วเรณูก็เอะใจว่า เมื่อวานนี้ระหว่างที่ปะทะคารมกันนั้น ตนเองเผลอหลุดปากออกไป...จนนางย้อยเริ่มคลำทางถูกเป็นแน่...

นึกแล้วก็อยากจะตบปากตัวเองนัก...ป่านนี้นางย้อยคงกำลังหาทางแก้ไข หรือไม่ก็จัดการแก้ไขสำเร็จไปแล้วก็ได้...

ใจของเรณูเริ่มร้อนรุ่ม...เพราะเดาไม่ได้ว่า ถ้าปฐมหลุดจากอำนาจมนต์ดำของหมอก้อนแล้ว เขาจะเป็นอย่างไร...จะจัดการกับเธออย่างไร

และถ้านางย้อยรู้ว่าเธอทำเสน่ห์ใส่ลูกชายของนาง วันนี้นางย้อยจะไปหาเธอที่โรงสีอีกรึเปล่า ดีไม่ดี วันนี้อาจจะเป็นวันสุดท้ายของเธอที่ชุมแสงก็ได้...คนทำผิดเริ่มเดือดเนื้อร้อนใจไปสารพัด

“ต๊าย...เรณู ๆ คู่สะใภ้เธอมาเดินตลาดแล้ว” เสียงจากแม่ค้าขายผัก ดึงสติเรณูกลับมา หญิงสาวมองไปยังร่างสวยสดเหมือนดอกกุหลาบแรกแย้มดูสดชื่นสบายตาแล้วรู้สึกริษยา ...ไม่ใช่แค่เสื้อกางเกงใหม่เอี่ยมที่ตัดเข้าชุดอย่างประณีตทันสมัย แต่ที่ข้อมือ นิ้วมือ และ ที่คอของพิไลนั้นก็สะดุดตาด้วยทองรูปพรรณเข้าชุดกันด้วย...

พิไลเดินทักทาย แนะนำตัวกับแม่ค้า ว่าตนเองนั้นเป็นใคร แล้วเดินมาหยุดที่หน้าหาบของเรณู...

“ขายดีไหมซ้อ” น้ำเสียงและรอยยิ้มนั้นไม่ได้ทำให้เรณูรู้สึกสดชื่นเลยสักนิด...แต่เรณูก็ฝืนน้ำเสียงให้เป็นปกติตอบกลับไปว่า “ก็พอได้”

“ตะโก้เผือกที่ฉันสั่งไว้ล่ะ 4 ห่อ เก็บไว้ให้หรือเปล่า”

เรณูเปิดกระด้งที่มีถาดขนมวางอยู่ด้านบน หยิบห่อขนมในกระจาดที่กันเอาไว้ออกมา...

“บาทเดียวใช่ไหม”

“บาทเดียว...”

“เหลือเยอะเลยนี่ งั้นช่วยซื้ออีกบาทแล้วกัน อ้อ ซื้อสองบาท แถมสักห่อได้ไหม”

ถ้าเป็นคนอื่นเรณูคงไม่ให้...แต่เมื่อพิไลกล้า ‘ขอ’ เรณูจึงบอกว่า

“คนกันเอง ได้ซิ แต่ว่าถือไปหมดเหรอ ตะกร้าก็ไม่ได้เอามา”

“เลิกขาย แล้วเอาไปส่งที่ร้านแม่ได้รึเปล่าล่ะ วันนี้มาช่วยแม่ขายของวันแรก...”

เรณูกลืนน้ำลายลงคอ ข่มใจ อดกลั้นความรู้สึกว่ากำลังถูก ‘เปรียบเทียบ’ และ ‘กด’ ให้ต่ำต้อยไว้...ยิ่งตนเองนั่งบนเก้าอี้ตัวเตี้ยๆ อยู่หลังหาบ กับพิไลยืนเด่นเป็นสง่าก็ยิ่งเห็นชัด “ได้ซิ ทำไมจะไม่ได้ล่ะ...”

“อ่ะ สองบาท ฉันไปก่อนนะ อ้อ..ขอห่อที่แถมไปก่อนแล้วกัน...เห็นแล้วน้ำลายไหล” คว้าขนมแล้วพิไลก็เดินจากไปทันที...เรณูมองตามหลังไป...โดยหูก็ได้ยินนางแม่ค้าขายผักพูดว่า “คู่สะใภ้ของเธอดูท่าจะไม่ธรรมดาเลยนะ”

******************

ขณะที่ประสงค์กำลังจัดร้านตามหน้าที่ พิไลก็เดินเข้าไปในร้าน วางขนมห่อนั้นลงบนโต๊ะบัญชีแล้วก็เดินไปยังหลังบ้าน พบว่านางย้อยกำลังหุงข้าวทำกับข้าว...แม้จะไม่ชอบเข้าครัว แต่พิไลก็รู้ดีว่า ไม่มีแม่ผัวคนไหน รักใคร่พึงพอใจลูกสะใภ้ที่หุงหาข้าวปลาให้ลูกชายของตนกินไม่เป็น...

“ม้า...ทำอะไรอยู่จ๊ะ มีอะไรให้หนูช่วยไหม”

นางย้อยหันมาทางต้นเสียง พินิจดูเสื้อผ้าหน้าผมของลูกสะใภ้แล้วก็รู้สึกหนักใจ...เพราะถ้าให้ช่วยหุงหาอาหาร กลิ่นก็จะติดเนื้อติดตัวเสียอีก...แต่ถ้าไม่ให้ช่วย วันหน้าก็จะไหว้วานให้ทำอะไรไม่ได้เสียอีก

“กำลังจะแกงฟักทอง...ถ้าจะช่วย ช่วยปอกฟักทองให้หน่อย...” เพราะมีแต่ลูกชาย นางย้อยจึงรู้สึกแปลก ๆ เมื่อต้องเอ่ยปาก ‘ใช้’ ลูกสะใภ้ ...และคำว่า ‘สะใภ้’ ก็ทำให้นางย้อยรู้สึกเสียวสันหลังเสียร่ำไป...

เพราะถ้าตึงเกินไป ก็จะกินแหนงแคลงใจกันไปชั่วลูกชั่วหลาน แต่ถ้าหย่อนเกินไป สะใภ้ก็จะขึ้นหน้า ได้ใจ เหลิงว่าใจดี ไม่มีปากเสียอีก...เป็นแม่คนว่ายากแล้ว แต่เป็น แม่ผัว นั้น นางย้อยรู้สึกว่ามันยากกว่า

“ได้จ้ะ” ว่าแล้วพิไลก็เดินไปคว้าฟักทองพร้อมกับมีดบาง แล้วเดินออกไปทางหลังบ้านที่ได้มาสำรวจตั้งแต่เมื่อวานแล้ว... ระหว่างที่นั่งปอกเปลือก พิไลก็ชวนนางย้อยคุยไปด้วย...

“ตะกี้หนูไปเดินดูอะไรที่ตลาดสดมา หนูเจออาซ้อใหญ่ด้วย...เห็นว่าขนมเหลือเยอะ หนูก็เลยช่วยซื้อมากินสองบาท”

“ทำไมซื้อซะเยอะแยะ...”

“ก็ สงสารแกนะม้า...นั่งหน้าแห้งหน้าเหี่ยว...เหมือนมีเรื่องไม่สบายใจ”

นางย้อยนิ่งฟัง ครุ่นคิดถึงคำพูดของพ่อหมอแล้วใจก็ขุ่นขึ้นมา...มันจะนั่งหน้าแห้งหน้าเหี่ยว ก็เรื่องของมัน หลังจากที่ปฐมกลับมา แก้เสน่ห์แล้ว มันจะต้องระเห็จไปจากที่นี่...

พอเห็นว่านางย้อยไม่ต่อปากต่อคำ...พิไลก็เหยียดริมฝีปาก แล้ว พูดต่อว่า “สงสัยคงจะคิดถึงตั่วเฮียนะม้า”

“ปอกเสร็จแล้ว ก็หั่นด้วยเลยนะ” นางย้อยเปลี่ยนเรื่อง....

พิไลรับคำ ชั่วอึดใจ นางย้อยก็ได้ยินเสียงร้อง...พอลุกไปดูก็พบว่า มีดบาดมือพิไลเสียแล้ว....

**************

เดินเข้ามาถึงร้านถ่ายรูป มงคลที่เตรียมตัวกลับปากน้ำโพ ก็ได้ยิน เสียงเพลง ‘แซ่ซี้อ้ายลื้อเจ็กนั้ง’ ของ สุรพล สมบัติเจริญ ดังแว่วมาจากหลังร้าน นอกจากนั้นเขายังพบ หมุ่ยนี้นั่งยิ้มแป้นให้เขาประหนึ่งว่าเป็นเมียเจ้าของร้าน...

“มาเอารูปหรือสี่ เสร็จแล้ว แจ้ เสียมารยาท ดูไปแล้ว ไม่ว่ากันนะ”

“ไม่เป็นไรหรอกแจ้ แค่ดูไม่สึกหรอหรอก...แล้วแจ้ล่ะมาทำอะไร”

“มารอรูปเหมือนกัน...”

มงคลพลิกอัลบั้มรูปดูไปเรื่อย ๆ แล้วก็ต้องชะงักมือ เมื่อถึงรูปของ ‘วรรณา’ ที่ถ่ายที่สถานีรถไฟปากน้ำโพ

“เธอรู้จักวรรณาด้วยเหรอ”

“อ้าว แจ้รู้จักวรรณาด้วยเหรอ” มงคลย้อนถาม...

“รู้ซี่ ก็อีมาหาพี่สาวอี แล้วพี่สาวอีก็พามาที่ร้านแจ้ นี่อียังเอาผ้ากลับไปตัดให้เลย ไม่รู้จะเสร็จเมื่อไหร่...”

“จะฝากอะไรไปถึงอีไหมละ อั๊วจะกลับปากน้ำโพวันนี้แหละ”

“ฝากบอกว่า แจ้รอเสื้ออยู่แล้วกัน แล้วลื้อจะไปดูอีประกวดนางสาวสี่แควหรือเปล่าล่ะ...ถ้าไป ก็ถ่ายรูปอีมาด้วยนะ ถ่ายมาเยอะ ๆ”

“ออกค่าฟิล์ม ค่าล้าง ค่าอัดให้อั๊วไหมล่ะ ถ้าออกให้ อั๊วจะถ่ายให้หมดม้วนเลย”

หมุ่ยนี้ทำหน้าคิดหนัก...ก่อนจะบอกว่า “หารสองได้ไหมล่ะ...”

“ก็ได้...ก็ยังดีกว่าไม่ได้เลย” เพราะตัวเขาเองก็ตั้งใจไว้ว่าจะเสนอตัวให้เจ๊ง้อ จ้างตัวเองไปถ่ายรูปอยู่แล้ว...

“ได้แล้วของลื้อ” อาเฮียเจ้าของร้านถือซองใส่รูปของหมุ่ยนี้ออกมาจากห้องด้านหลัง...หมุ่ยนี้ยื่นมือไปรับแล้วดึงรูปออกมาดู ในซองนั้นมีทั้งรูปของตน และรูปของจันตา...

“ใครเหรอ แจ้” มงคลที่เหลือบตาไปมอง ร้องถาม

“ว่าที่พี่สะใภ้ลื้อไง”

“จริงรึ...”

“แจ้ล้อเล่น...”

“อ้อนึกออกละ เห็นเฮียซาเคยบอกว่า คนนี้เฮียรองอีเหล่ๆ อยู่ แต่ว่าอีเป็นแฟนกับปลัดอำเภอนี่นา”

“ยังไม่ได้เป็น แค่มอง ๆ กันอยู่ เท่านั้น อียังไม่มีแฟน”

“ยังไม่มีแฟน งั้นอั๊วก็จีบได้ซิ”

“ถ้าเป็นลื้อ แจ้ขวางเต็มที่เลย...”

“ทำไมละแจ้ อั๊วมันไม่ดีตรงไหน”

“ลื้อมีแฟนอยู่ที่ปากน้ำโพแล้ว แจ้รู้หรอกน่า”

“ยังไม่มี...”

“ไม่มี ก็ไม่ให้จีบ...ถ้าเป็นอาซาก็ว่าไปอย่าง”

“ฮั่นแน่ จะกันท่าไว้ให้เฮียซ่าใช่ไหม”

“อาจันตาอีเป็นคนน่ารัก อาซาก็คนน่ารัก แจ้เลยอยากให้เขาทั้งสองคนรักกัน”

“รักกันได้ที่ไหนละแจ้...”

“ทำไมล่ะ...”

“ก็เฮียซาของอั๊ว เขามีคู่หมายของเขาแล้ว...”

“เหรอ ทำไมอั๊วไม่เห็นรู้เรื่อง คู่หมายของอีเป็นคนที่ไหน ลูกเต้าเหล่าใครรึ”

“เป็นลูกสาวคนเล็กของกำนันตำบลฆะมัง...มีชื่อว่าเพียงเพ็ญ...อีสวยกว่า จันตานี่อีกนะ”

“อาซาไม่เห็นบอกอั๊วเลย”

“แจ้...หาว่าอั๊วโกหกรึไง”

“เปล่า อั๊วไม่ได้หา” หมุ่ยนี้กลืนอีกประโยคลงคอไว้ ‘แต่อั๊วรู้สึกได้ว่าอาซานั้นน่ะ ชอบจันตาอยู่นี่นา’

**********************

จากฆะมังมาตลาดชุมแสง นอกจากใช้เรือล่องมาตามลำน้ำน่าน ก็ยังมีทางเกวียนอีกทาง...หลังเลิกงานเกี่ยวข้าว ก้านเบิกเงินมาจากเจ้าของนา แล้วก้านก็ยืมจักรยานของพวกหมู่ ปั่นมายังตลาดชุมแสง แม้ว่าทางจะเป็นหลุมเป็นบ่อตลอดทาง แต่ด้วยเดินทางจนชำนาญ เรื่องมืดค่ำจึงไม่เป็นอุปสรรคสำหรับเขา...

พอถึงตลาดชุมแสง เขาก็รีบปั่นจักรยานไปหยุดที่ร้านขายยาแผนโบราณ บอกเล่าอาการของแม่ ซึ่งมีทั้งไอจนหอบและกินข้าวไม่ได้ ผอมแห้งแรงน้อย นอนไม่หลับเพราะกลางคืนจะไออยู่ตลอดเวลา

ระหว่างที่เจ้าของร้านหันไปจัดยาให้...ก้านหันไปที่หน้าร้าน พบชายหนุ่มรุ่นราวคราวเดียวกับตน เดินเข้ามาในร้านแล้วหยุดอยู่ข้าง ๆ ตน...แต่พอมองหน้าเขาชัด ๆ ก้านคิดว่าเด็กหนุ่มคนนี้ น่าจะอายุน้อยกว่าตน...

“อาแปะ...จัดยาแก้ไอ ยาบำรุงร่างกายให้อั๊วหน่อย...”

“ใครเป็นอะไรล่ะอาซา” อาแปะเจ้าของร้านหันเงยหน้ามาถาม...

“เตี่ย...ไอโขลก ๆ ทั้งคืน ไอจนนอนไม่ได้ ม้ารำคาญเลยให้มาดูยาไปให้แกกินซะหน่อย”

“เป็นมานานหรือยัง”

“ช่วงหลัง ๆ มานี้ ไอตลอดเลย สองสามเดือนแล้วนะ”

“บอกอีให้เบาๆ สูบยามั่งนะ มันไม่ดีกับปอดกับระบบทางเดินหายใจ”

“ห้ามแล้ว ฟังที่ไหน แกบอกว่า ใคร ๆ ก็สูบกันทั้งนั้น”

“อ้าว ของลื้อได้แล้ว...” อาแปะบอกกับก้าน แล้วก็บอกกับกมลต่อ “อาซาเจ้านี้ก็อาการคล้าย ๆ กับเตี่ยลื้อ แต่ว่าคนที่ไอคือแม่ของเขา ไอจนกินไม่ได้นอนไม่หลับ ผอมแห้งแรงน้อย ตลกดีนะ อยู่กันคนละที่ แต่อาการป่วยดันเหมือนกันได้”

ก้านมองยาตรงหน้าแล้วถามราคา พอรู้ราคา หน้าของเขาถอดสี...ก่อนจะบอกว่า

“คือ ผมมีเงินมาไม่พอ มีมาแค่ 20 บาท ถ้าจะขอเอายาออกบ้าง ให้เหลือ 20 บาทได้ไหม”

“ได้ซี่...”

“ไม่ต้องหรอกแปะ คิดเขาแค่ 20 นั่นแหละ อีก 4 บาท เดี๋ยวเอาที่อั๊ว”

ก้านไม่คิดว่าจะเจอคนดีมีน้ำใจถึงเพียงนี้...แม้จะรู้สึกตื้นตัน แต่เขาก็รู้สึกเกรงใจเป็นอย่างมาก “มันเอ่อ ไม่ดีมั้งน้องชาย ให้อาแปะเอายาออกเถอะ”

“อย่าเอาออกเลยพี่ชาย รับน้ำใจจากผมไปเถอะ เตี่ยผมก็ป่วยเหมือนกัน นอนฟังเตี่ยไอทั้งคืน ก็สงสารเตี่ย...พี่ชายก็คงเหมือนกัน คิดซะว่า ผมซื้อยาให้แม่พี่ชายแล้วกันนะ...รับไว้เถอะ”

“รับไว้เถอะพ่อหนุ่ม เดี๋ยวอั๊วลดให้ สองบาทแล้วกัน ช่วยกันคนละครึ่งกับอาซามัน ลื้อจะได้สบายใจ” อาแปะแสดงน้ำใจบ้าง....ก้านยกมือไหว้กมล แต่เขารีบจับมือของก้านไว้...

“ไม่ต้อง ๆ ไม่เป็นไร อั๊วยินดี แล้วนี่ พี่ชายมาจากไหน” เพราะเสื้อผ้าและกลิ่นตัว ทำให้กมลแน่ใจว่าเขาไม่ใช่คนในย่านนี้แน่ ๆ

“มาจากฆะมัง”

‘ฆะมัง’ กมลรู้สึกเย็นวาบขึ้นมา แล้วเขาก็บอกให้ก้านรีบกลับบ้านไปซะก่อนจะมืดค่ำ...

*********************


Title: Re: กรงกรรม บทประพันธ์ของ จุฬามณี
Post by: นักประพันธ์ on 01 March 2020, 18:03:03
ตอนที่ 16 : อะไรจะเกิดก็ให้มันเกิด


            ๑๖


พิไลลองใจด้วยการซื้อขนมของเรณูมาวางไว้ให้บนโต๊ะอยู่สามวัน ก็รู้แล้วว่า นางย้อยนั้นเกลียดเรณูจนไม่ยอมกินขนมที่ตนซื้อใส่จานวางไว้ให้ แต่พิไลก็ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ ไม่ซักถามเหตุผล หลังจากที่เห็นว่า หลังเที่ยงแล้ว นางย้อยก็เรียกให้ป้อม หรือบุญปลูกมาเอาจานขนมออกไปแบ่งกันกิน...

แต่พอสบโอกาส พิไลจึงถามบุญปลูกว่า... “ปลูก ทำไม ม้า เขาถึงไม่กินขนมของพี่เรณู เขาล่ะ”

“ก็คนเกลียดกัน คงกลืนไม่ลง...”

“ทำไมถึงเกลียดจนไม่ยอมกิน ยอมกลืน ขนมที่แสนจะอร่อยล่ะ เรื่องมันเป็นมาอย่างไรรึ”

เรื่องบางเรื่องนั้นพิไล พอรู้อยู่แล้ว แต่ถ้าจะให้ดี ควรที่จะรู้ ตั้งแต่เรณูย่างเท้าเข้ามาที่นี่ จากปากคนที่นี่ น่าจะดีที่สุด...

บุญปลูกนั้นไม่ได้เฉลียวใจสักนิดว่า กำลังถูกล้วงข้อมูล จึงคายเรื่องที่รู้เห็นมาให้พิไลฟังจนหมดสิ้น รวมถึงเรื่องที่ป้อมพานางย้อยไปเกยไชย เพื่อไปให้คนทรงดูว่า ปฐมนั้นถูกเรณูทำของใส่จริงหรือไม่....

เมื่อรู้ความลับของนางย้อย กับ ซ้อใหญ่ แล้ว พิไลยิ้มกริ่ม...ครุ่นคิดแผนการเข้าไปนั่งเป็นลูกสะใภ้ยอดดวงใจของนางย้อยในทันที...เพราะนอกจากร้านโชห่วยที่พิไลรอวันครอบครอง พิไลยังอยากได้ที่ดิน โรงสี และทรัพย์สมบัติในห้องเก็บของของนางย้อยนั่นด้วย...

สมบัติของนางย้อยจะต้องเป็นของประสงค์ ลูกชายคนรองของนางย้อย สามีของพิไล ของลูกพิไลเท่านั้น ลูกหลานสายอื่น ๆ จะต้องออกไปดิ้นรนกันตัวเป็นเกลียวอยู่ข้างนอกโน่น...พิไลตั้งปณิธานไว้อย่างนั้น...

ฟากนางย้อย นอกจากจะนับวันให้ปฐมเดินทางกลับมาบ้าน ครุ่นคิดคำพูดที่จะพาปฐมไปหาพ่อหมอ หลังจากที่เสน่ห์หลุดแล้ว ปฐมปลดทหารมาแล้ว นางย้อยก็ยังคิดแผนพรากให้ปฐมไปจากชุมแสงสักพัก

ส่วยอีเรณู มันมาจากตรงไหน มันก็ต้องกลับไปตรงนั้น...ชีวิตของปฐม นางจะขีดเส้นให้เขาเดินเอง...

นอกจากหมกมุ่นเรื่องของปฐม นางย้อยก็เฝ้าจับตามองพิไลอยู่ด้วย...สามสี่วันที่แต่งเข้ามา พิไลยังน่ารัก จ๊ะจ๋า เอาใจ มือไม้ไม่อยู่สุข ข้าวของในร้านจัดวางเป็นระเบียบ แยกเป็นหมวดหมู่ ปัดกวาดเช็ดถูมุมอับ แต่งร้านจนลูกค้ารู้สึกผิดหูผิดตา...และที่สำคัญเงินทุกบาททุกสตางค์ยังเดินเอามาให้ที่เก๊ะ ไม่มีเม้มเข้าพกเข้าห่ออย่างที่นางย้อยนึกระแวง...

แต่ถึงอย่างไรพิไลก็ยังมีเรื่องให้นางย้อยรู้สึกไม่พอตา พิไลเป็นคนใช้เงินมือเติบ นึกอยากกิน อยากซื้ออะไรก็ซื้อ และซื้อทีละเยอะ ๆ ด้วย...จนป้อมกับบุญปลูกพลอยอิ่มหนำสำราญ เพราะถ้าพิไลได้กิน ทุกคนในร้านก็จะได้กินด้วย...

พอเห็นดังนั้น นางย้อยจึงอดปากไว้ไม่ได้ “นังหนู เงินทองใช้ให้มันประหยัดๆ หน่อยนะลูก...เก็บหอมรอมริบเก็บไว้ใช้ในยามยากบ้างนะ”

“หนูก็กำลังพยายามเขียมอยู่ม้า แต่ว่า มันอดไม่ได้ ก็ที่นี่ มีแต่ของน่ากินทั้งนั้นเลย ม้าอย่าลืมนะว่า หนูมาจากทับกฤช ที่นั่นมันต้องอยู่อย่างอดอยากปากแห้ง...มีเงินก็ไม่ได้ใช้ จะใช้เงินทีก็ต้องถ่อไปถึงปากน้ำโพโน่น...แล้วที่ซื้อให้ป้อมกับปลูกกินมั่ง คือหนูยึดคำสอนของเตี่ยที่ว่า ถ้าคนงานเราอิ่ม เราก็อิ่ม”

ฟังเหตุผลของพิไล ก็พอเข้าใจ แต่ทุกข้อทุกเรื่องที่นางย้อยติติงไปตามประสาคนปากไว พิไลเป็นต้องมีเหตุผลย้อนกลับมาตลอด...ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง จ้างเด็กซักผ้า ถูบ้าน และไม่ยอมหุงหาอาหารเช้า-เย็น กินกันเอง...

“คิดซะว่าช่วยเด็กมันม้า มันจะได้มีเงินไปโรงเรียน แล้วอีกอย่าง มันก็ลูก ๆ หลานๆ บุญปลูกมัน ช่วย ๆ กันไป...แล้วเรื่องที่หนูไม่หุงข้าวทำกับข้าว ก็เช้ามา เฮียก็ต้องตื่นมาร้านแต่เช้าอยู่แล้ว หนูมาช่วยม้าทำที่นี่เลยดีกว่า กินทั้งเช้า เที่ยง เย็นมากลับไปหุงหากินอีก ก็เหลือทิ้งแบะแบน สู้กินกับม้า หรือซื้อกินกันซะดีกว่า หนูว่าประหยัดกว่ากันเยอะ แล้วเฮียเองก็กินข้าวอย่างกับแมวดม ขนมนมเนยก็ไม่ค่อยกิน เอาแต่ซื้อหนังสืออ่านกับสวดมนต์ไหว้พระ...”

*************
ควันและกลิ่นธูปจาก ‘ตี่จู้เอี๊ย’ ที่พิไลจุดไหว้เจ้าที่ตั้งแต่เดินเข้ามาในร้าน ทำให้นางย้อยที่นั่งอยู่ที่หลังโต๊ะบัญชี นึกถึงคำพูดของพ่อหมอที่เกยไชย ‘มึงเอง ก็ระวังตัวให้ดี...เจ้ากรรมนายเวร มึงจ้องจะเล่นงานมึงอยู่เหมือนกัน...มึงทำอะไรเอาไว้...จะด้วยเหตุอะไรก็แล้วแต่ ช้าหรือเร็ว กรรมย่อมส่งผล...กูบอกมึงได้แค่นี้’

นางย้อยสูดลมหายใจเข้าปอด แล้วก็คิดเข้าข้างตนเอง อย่างคนที่เคยมีแต่ความเชื่อมั่นในความคิดของตนว่า

‘อะไรจะเกิด ก็ให้มันเกิด’

เผลอสติทำผิดพลาดไปแล้ว ก็ก้มหน้ารอรับผลกรรมไป และผลของกรรมนั้นบางทีมันอาจจะไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิดล่วงหน้าไว้ก็ได้ เพราะลูกชายสี่คน สะใภ้สี่คน รวมถึงหลาน ๆ ที่จะเกิดตามมาอีกเป็นโขยง น่าจะมีอยู่บ้างหรอก ที่จะให้พึ่งพาอาศัยได้...

“พี่ย้อยอยู่ไหม ฉันมาหาพี่ย้อย...”

เสียงจากหน้าร้านทำให้นางย้อยชะเง้อไปมอง...ก็พบหญิงวัยกลางคน หน้าตามันย่อง มีงอบติดอยู่บนหัว นุ่งผ้าโสร่ง สวมเสื้อคอกระเช้า คลุมทับด้วยเสื้อแขนยาวสีกรมท่า

“ม้า มีคนมาหา” พิไลที่จัดของอยู่หน้าร้าน ตะโกนบอก

พอหญิงแปลกหน้าเดินเท้าเปล่ามาหยุดที่โต๊ะบัญชี นางย้อยก็เห็นว่าในมือของนางมีห่อผ้ามาด้วย

“มีอะไรกับฉันรึ”

“ฉันจะเอาของมาขาย”

“อะไร”

คนแปลกหน้าทรุดตัวลงนั่งโดยที่ไม่ได้เชื้อเชิญ แล้วก็แก้ห่อผ้าออก เผยให้เห็นขันและพานทองเหลืองตอกลายขนาด 8 นิ้ว พร้อมทัพพีเข้าชุดกัน...

“มีคนบอกว่าที่นี่รับซื้อของเก่า ใช่ไหม”

“รับ...เฉพาะคนที่คุ้นเคยกันเท่านั้น คนแปลกหน้า ฉันไม่กล้าเล่นด้วยหรอก”

“ทำไมล่ะ”

“กลัวเป็นของโจร ฉันจะพลอยเดือดร้อนไปด้วย”

“ช่วยฉันหน่อยเถอะนะแม่คุณ ไม่ใช่ของโจรหรอก”

“แล้วได้มาอย่างไร”

พิไลเร่มาทำงานเช็ดถูบริเวณนั้นเพื่อฟังความไปด้วย....

“เอ่อ...”

“เอาไปที่อื่นเถอะ...ลายแบบนี้ฉันมีแล้ว”

“ช่วยฉันเถอะนะ ผัวฉันมันไม่สบาย ฉันจะเอาเงินไปซื้อยาให้ผัวฉัน”

“มันก็มาอีหรอบนี้ทั้งนั้นแหละ...” ของพวกนี้ ต้องทำเหมือนไม่อยากได้...แล้วราคาจะไม่แพง...นั่นเป็นวิธีของนางย้อย

“จริงพี่ ไม่ใช่ของลักของขโมยมาหรอก ของเก่าเก็บของแม่ผัวฉันเอง ลูกชายแกป่วย แกให้เอามาขาย จะได้เอาเงินไปรักษาลูกของแก”

“แล้วคิดเท่าไหร่ล่ะ”

พอได้ยินราคา นางย้อยก็บอกว่า “สำหรับคนไม่คุ้นเคยกัน ฉันให้ได้แค่ครึ่งเดียว”

“ขออีกยี่สิบบาท ได้ไหม”

“ไปที่อื่นเถอะ ให้ได้เท่านั้นแหละ สมัยนี้เงินทองมันหายาก แล้วลายแบบนี้ฉันก็มีตั้งหลายใบแล้วด้วย”

หญิงคนนั้นนิ่งคิด ก่อนจะตัดสินใจรับเงินตามที่นางย้อยให้ทีแรก...

หลังหญิงคนนั้นจากไป พิไลก็เดินมาหาแล้วจับของลูบคลำ...ปากก็บอกว่า “ม้านี่เยี่ยมยอดเลย...”

“ของพวกนี้ มันเป็นของร้อน กดราคาได้ก็กด จำเอาไว้” นางย้อยพูดแล้วก็บิดกุญแจล็อกเก๊ะ คว้าของที่ได้มาใหม่แล้วเดินไปยังหลังร้าน ขึ้นชั้นบนไป พิไลมองตามแล้วยิ้มเย็น...โดยใจก็คิดว่า เก็บสะสมไปเถอะ สุดท้ายของพวกนี้มันก็จะกลายเป็นของของอีพิไลนี่แหละ...

ลงมาจากชั้นบน นางย้อยก็พบว่าที่หน้าร้านมีนางศรี ยืนให้บุญปลูกจัดของให้อยู่...นางศรีเห็นนางย้อยก็หันมายิ้มให้กระดำกระด่าง

“เอ ขายดีนี่” นางย้อยทัก

“เปล่าหรอก พอดี พี่กำนันเขามาธุระที่อำเภอ ฉันก็เลยติดเรือเขามาด้วย...” นางศรีบอกแล้วเดินเข้ามาข้างในอย่างคุ้นเคย

“วันนี้ฉันสอยมะรุมมาฝากด้วย...ของไม่มีค่ามีราคาอะไรหรอก...”

“ของดีเลยแหละ ขอบใจมาก”

“ลูกสะใภ้คนนี้หน้าตาสะสวย ผิวขาวอย่างกับหยวก...ได้หลานคงสวย แม่สะใภ้ใหญ่ก็คงสวยไม่แพ้กันหรอกมั้ง”

นางย้อยได้แต่ยิ้ม ๆ ไม่ตอบเรื่องสะใภ้ใหญ่ ส่วนหลานที่นางศรีพูดถึง ถ้าพิไลมีลูก นางย้อยก็จะมีหลานที่มั่นใจได้ว่าเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของตน ไม่ใช่หลาน ลูกของนังเรณูที่แท้งไปนั่น และแท้งจริงหรือเปล่า หรือตั้งท้องจริงหรือเปล่า ก็ยังเป็นปัญหาคาใจนางย้อยจนถึงตอนนี้

นางศรีนั่งคุยอยู่อึดใจใหญ่ ๆ ที่หน้าร้านก็ปรากฏร่างของกำนันศร...

“พ่อกำนันเข้ามาข้างในก่อน...กำลังคุยกับแม่ย้อยเขาเลย”

พอกำนันเดินเข้ามา นางย้อยเห็นลักษณะผึ่งผาย มีสง่าราศี ก็ยกมือขึ้นไหว้ ...ไหว้เพราะว่ากำนันนั้นอายุมากกว่า เป็นผู้ชาย และมีตำแหน่งหน้าที่การงานที่ใคร ๆ ต่างนับหน้าถือตา นอกจากนั้น ที่คอของกำนันศรยังมีสร้อยทองคำน่าจะหนักถึงห้าบาท มีพระเลี่ยมทององค์ใหญ่พอเหมาะกับสร้อย แล้วที่นิ้วชี้ก็ยังมีแหวนทองหัวทับทิมเม็ดเป้งอีกวง ยิ่งทำให้นางย้อยรู้สึกได้ว่า ‘ควรไหว้’

หลังทรุดตัวลงนั่ง กำนันศรก็ที่ถอดหมวกกะโล่วางบนตักแล้วก็เบือนหน้าหนีไปไอ...และด้วยแกเป็นคนตัวใหญ่ เสียงไอของแกจึงดังก้องร้าน...

“พิไล ดูหาน้ำหาท่ามาเลี้ยงแขกทีลูก” นางย้อยรีบบอกลูกสะใภ้

พิไลก็เร็วพอที่จะรู้จัก ‘เสนอหน้า’ คือ นบไหว้ ผู้ใหญ่ทั้งสองเอง แล้วก็รีบผลุบไปทางหลังบ้าน...อึดใจพิไลก็ถือถาดใส่แก้วน้ำออกมา...แล้วเลี่ยงไปหยิบผ้าขี้ริ้วเช็ดข้าวเช็ดของ จัดวางให้เป็นระเบียบอยู่ใกล้ๆ จนพอจะได้ยินว่า ผู้ใหญ่คุยอะไรกัน

“ไอ้ฉัน เอง มันไม่มีลูกสาว พอมีสะใภ้ แรก ๆ ก็รู้สึกแปลก ๆ แต่ตอนนี้เริ่มชินแล้ว...แล้วนังหนูนี่มันก็ลูกเพื่อนกันด้วย เลยเหมือนลูกสาวของตัวเอง”

“คนกันเองพอเป็นทองแผ่นเดียวกันมันก็เข้ากันได้ง่าย...แม่ย้อยเอาตรง ๆ นะ ที่ชวนพี่กำนันมาบ้านแม่ย้อยในวันนี้ ก็เพราะอยากจะคุยเรื่องสะใภ้ที่สาม

ของแม่ย้อยที่เราเคยคุย ๆ กันไว้นั่นแหละ” นางศรีเกริ่นนำ

“ว่ามาเลยแม่ศรี...”

“แม่ย้อย อย่าหาว่า ทางเราใจร้อนอะไรเลยนะ...” กำนันเริ่มเรื่องเอง พร้อมกับไอโขลก ๆ ไปด้วย...

“คือ ไอ้ฉันก็จะหกสิบแล้ว ใกล้จะเกษียณเต็มที...แล้วมาปีนี้ก็เจ็บออดๆ แอด ๆ สามวันดีสี่วันไข้...ไม่รู้จะตายวันตายพรุ่ง” ว่าแล้วกำนันก็เบือนหน้าไปไออีก...ไอจนนางย้อยรู้สึกเหนื่อยแทน...

“คือห่วงเดียวของฉันก็คือ นังคนเล็กที่แม่ศรีพามาวันนั้นแหละ ฉันอยากเห็นมันเป็นฝั่งเป็นฝาโดยเร็ว อยากสอนงานมอบกิจการถ่ายเทอำนาจให้ลูกเขยไว้ก่อน เอาตรงๆ พูดอย่างไม่อายกันเลย คือ นังลูกสาวฉัน มันไม่เป็นโล้เป็นพายอะไรเลย ปล่อยให้สุขสบายทำแต่งานบ้านซะจนเคยตัว...ฉันเป็นอะไรไปเสียก่อน จะลำบากกันทั้งเรือน ฉันได้ยินกิตติศัพท์พ่อซาลูกของแม่ย้อยจากแม่ศรีแล้ว ฉันก็นึกรักนึกเอ็นดู อยากได้ไปเป็นลูกชาย”

“พ่อกำนันก็ยังดูแข็งแรง...คงไม่เป็นอะไรไปง่าย ๆ หรอก” นางย้อยรีบหาทางออกตัว

“โรคภัยไข้เจ็บมันเร็ว ไม่ประมาทไว้เป็นดี...”

“แต่ฉันตั้งใจไว้ว่า จะต้องบวชเขาซะก่อน ฉันคนไทยนะพ่อกำนัน อยากเกาะชายผ้าเหลืองขึ้นสวรรค์”

“ฉันรู้ว่าแม่ย้อยอยากเก็บลูกไว้บวชก่อน แต่แม่ย้อยก็ได้บวชลูกมาตั้งสองคนแล้ว ปิดอบายภูมิเรียบร้อยแล้ว....คนนี้ถ้าจะไม่ได้บวชสักคน คนที่สี่ก็ยังมีไม่ใช่รึ...”

“ขอฉันปรึกษากันก่อนนะ...ตกลงใจไปเลย ไม่ได้หรอก”

“รึแม่ย้อยรังเกียจลูกสาวฉัน ไม่ชอบใจที่ต้องแต่ง แล้วยกลูกชาย ให้ฉันไปใช้”

“ไม่ ๆ จะรังเกียจอะไร ถือว่าเป็นบุญของอาซาต่างหาก จู่ ๆ จะว่าไปก็เหมือนมีราชรถมาเกย...ได้ทั้งเมียได้ทั้งไร่นาสาโท แต่ปัญหาคือ ลูกชายฉัน มันทำนาไม่เป็น มันจะให้พ่อกำนันได้พึ่งพิงรึเปล่าก็ไม่รู้”

“เรื่องนาไม่ใช่ปัญหาหรอก นาฉันเยอะก็จริง แต่ฉันก็ไม่ได้ลงแรงทำเองหรอก ได้แต่บัญชาการไป...งานหลวงมันก็ยุ่งพอตัว”

“แล้วอีกเรื่อง คือ ฉันก็เพิ่งแต่งคนรองไปเมื่อไม่กี่วัน บอกตรง ๆ ว่า ตอนนี้ ตัวเบาหวิวเลย” สาระสำคัญของนางย้อยคือตรงนี้ เพราะรู้ว่า ถ้าจะเอาเรือไปล่มในหนอง เรือจะต้องมีเงินมีทองไปด้วย...ถ้าอยากได้ลูกชายของนางไปเป็นเขยขนาดนี้ ก็ต้องลดราคาลูกสาวลงบ้าง มันถึงจะพอหมดข้ออ้างไปได้...

******************

ทางมาโรงสีมีตั้งหลายทาง แต่เขารู้สึกอยากผ่านไปเห็นร้านสังฆภัณฑ์ ...เพราะเมื่อเช้า ระหว่างที่เปิดวิทยุฟังเพลง เสียงเพลง ‘รักแฟนคนเดียว’ ของ เมืองมนต์ สมบัติเจริญ ที่ลอยลมมา ดันมีวรรคหนึ่งที่ทำให้เขารู้สึกครึ้มอกครึ้มใจ...จนใจไหวอยากปล่อยใจทำตามเนื้อเพลงขึ้นมา...

‘...เดินผ่านบ้านน้อง ยังจำของน้องได้ น้องได้ตากเสื้อไว้ มีสีแดง และสีเขียว ไม่ได้พบหน้า เพียงเห็นผ้าชื่นใจจริงเชียว ความรักผูกมัดเป็นเกลียว ไม่เห็นวันเดียวพี่ก็คิดถึง...’

และแรงอยากเห็นหน้า คล้ายกับว่า รู้สึก ‘คิดถึง’ สาวหน้าหวานนามจันตา ก็ทำให้ไม่ได้แค่ เห็นร้าน เห็นผ้าสีแดง สีเขียวอย่างเนื้อเพลงว่าไว้หรอก...พอถึงหน้าร้าน หมุ่ยนี้ที่จุดธูปปักไหว้เจ้าที่เจ้าทางเสร็จพอดี ก็ร้องเรียกให้เขาหยุดรถ...

“มีอะไรหรือแจ้”

“รูปได้แล้วนะ...แต่ไม่รู้จะให้ไปดีหรือเปล่า”

“ทำไมจะไม่ให้ล่ะ”

“ก็กลัวเอาไปแลกข้าวกินไม่ได้นะซิ...”

“ทำไมจะแลกไม่ได้...”

“ก็ถ่ายออกมาแล้ว อาเฮียอีบอกว่า ถ้าลื้อจะเอาสวยก็ไม่เหมือน แต่ถ้าเอาเหมือนก็...อย่างที่ลื้อเห็น”

“ไม่สวยก็เอาแจ้...เก็บไว้หัวเตียงน่าจะกันปีศาจร้ายได้”

“อาซา” หมุ่ยนี้เสียงสูง

“อั๊วล้อเล่น...แหม ๆ รูปนางฟ้านางสวรรค์ วางไว้หัวเตียงก็มีแต่ฝันดีแหละแจ้...”

“พูดแบบนี้ค่อยน่าให้หน่อยนะ รอแป๊บนะ...แป๊บเดียว” ว่าแล้วหมุ่ยนี้ก็เดินหายไปทางหลังบ้าน เขาชะเง้อมองตามไปก็ไม่เห็น ‘หน้า’ ของจันตา...ขณะมองไปอีกฝั่งของร้าน...กลิ่นหอมที่รู้สึกคุ้นจมูกก็โชยมา...พอหันกลับมามอง ก็เห็นว่า เป็นจันตาเดินมาหาเขา...

“แจ้ ให้เอารูปมาให้จ้ะ”

“อ้าว แล้วแจ้ไปไหน”

“เข้าส้วม...” ว่าแล้ว จันตาก็ส่งซองกระดาษให้เขา ตอนนั้นเขาไม่ได้เปิดซองออกต่อหน้าของจันตาหรอก...

จันตาเองหลังจากส่งรูปให้เขาแล้ว ใบหน้าของหญิงสาวก็แดงระเรื่อ มีความเขินอายอย่างเห็นได้ชัด เขาเองก็เขิน แล้วเขาก็แก้เขินด้วยการพูดว่า

“อั๊วไปก่อนนะ...สายแล้ว...อ้อ...ถามแจ้ให้ด้วยว่า วันนี้มีลิเกมาติดวิกที่โรงหนัง แจ้จะไปไหม ถ้าจะไป เจอกันหน้าโรงหนังนะ...สักสองทุ่ม”

“จ้ะ เดี๋ยวจะบอกให้”

“ไปแล้วนะ...สายแล้ว” ตอนนั้นเขารู้สึกว่า ไม่ได้อยากไปเลยสักนิด...แต่ก็ไม่รู้จะหาเรื่องอะไรมาคุยกับหญิงสาว

และพอมาถึงโรงสี เปิดซองกระดาษ...ก็เห็นรูปถ่ายสองบาน...บานหนึ่งเป็นของหมุ่ยนี้ ด้านหลังเขียน ชื่อ–แซ่ เป็นภาษาจีน ระบุวันเดือนปี

ส่วนอีกรูปอีกบานเป็นของจันตา...เขียนชื่อ-นามสกุล วันเดือนปี พินิจแล้วก็คือลายมือของหมุ่ยนี้ และที่ทำให้เขารู้สึกครึ้มใจอยู่จนถึงตอนนี้ คือ มีภาษาจีนที่เขาพออ่านออก เขียนไว้ว่า ‘แซ่ซี้ อ้ายลื้อ เจ๊กนั้ง’ ซึ่งเป็นชื่อเพลงอันลือลั่นของ สุรพล สมบัติเจริญ เตี่ยเคยบอกกับเขาว่า แปลแบบพิสดาร ก็คือ ‘ชาตินี้รักเธอคนเดียว’

‘ชาตินี้รักเธอคนเดียว’ กมลทวนประโยคนี้เบา ๆ แล้วถามตัวเองว่า มันหมายถึงใคร? หมุ่ยนี้กำลังจะบอกอะไร หมุ่ยนี้อ่านใจเขาออกอย่างนั้นหรือ หรือ หมุ่ยนี้อ่านใจของจันตาออก...

***********

“ซา” เสียงของเรณูทำให้กมลสะดุ้ง เขารีบคว่ำรูปถ่ายของจันตาทันที...เรณูถือกระเป๋าใบย่อมเดินเข้ามา...

“พี่จะกลับบ้านหน่อยนะ...ลูกพี่ไม่สบาย”

“ใครมาส่งข่าว” กมลซัก เพราะเอาเข้าจริงๆ ที่แม่พูดก็ถูก พี่เรณูเข้ามาด้วยเจตนาไม่บริสุทธิ์ มีลูกมีผัวมาแล้ว แถมเคยทำงานที่ตาคลีมาก่อน ไหนจะเรื่องทำเสน่ห์ แม่บอกว่า พ่อหมอยืนยันว่าพี่เรณูทำจริง ๆ ...ความรู้สึกดี ๆ ที่มีให้กันมันจึงถอยไปไม่น้อย...ความไว้เนื้อเชื่อใจ เชื่อคำพูดกัน เหลือไม่เท่าเดิม

“เอ่อ...เมื่อเช้า ตอนหาบของขาย คนที่บ้าน เขามาธุระที่ชุมแสง เขาบอกว่าป็อก ลูกชายพี่ เป็นไข้มาหลายวันแล้ว ไม่ได้ไปโรงเรียนด้วย พี่เป็นห่วง...”

อันที่จริงกมลอยากจะซักว่า คนแถวบ้านมาธุระอะไร ก็ดูจะเป็นการละลาบละล้วง เขาจึงถามตัดบทว่า “พี่จะไปกี่วัน”

“ยังไม่รู้เลย ถ้าอาการดีขึ้น พี่ก็จะรีบกลับมาขายของ ถ้าเฮียใช้มาพอดี บอกเฮียให้ด้วยนะ พี่ไปแล้วนะ”

“ให้ผมไปส่งไหม”

“ไม่ต้องหรอก ซาทำงานเถอะ กว่ารถไฟจะมา พี่เดินถึงสถานีพอดี...”

เดินออกจากโรงสีมาแล้ว เรณูก็ถอนหายใจออกมา...เธอรู้ว่า ตั้งแต่วันที่นางย้อยมาหาเรื่องที่โรงสี กมลก็มีน้ำเสียงและสีหน้าเปลี่ยนไป...เขาคงจะฟังคำของแม่เขา แต่เขาก็ไม่ผิดหรอก คนผิดก็คือเธอนี่แหละ ก่อกรรมสร้างเรื่องไว้เอง ก็ต้องรับผลของกรรมนั้น...แต่นั่งรอให้ผลกรรมที่ทำลงไปนั้น มาลงโทษตัวเอง โดยไม่คิดป้องกันแก้ไขอะไรเลย ก็คงจะไม่ใช่อีเรณูแล้วหละ

***********

มาถึงบาร์ที่เคยทำงาน เรณูก็ดึงติ๋มกับประนอม มาที่ม้านั่งใต้ร่มไม้หลังร้าน เพื่อเล่าเรื่องทางชุมแสงให้ฟัง...

พอได้ฟังแล้ว ติ๋มก็หัวเราะลั่น...ก่อนจะบอกว่า “เป็นไง เจอฤทธิ์มันเข้าแล้ว...กูว่าแล้วว่าคนอย่างมัน ไม่ยอมแพ้ง่าย ๆ หรอก”

“คำก็กะหรี่สองคำก็กะหรี่ ตอนนั้นสติ ฉัน มันเลยหลุด เลยพลาด” เรณูเล่าไปแล้วก็รู้สึกหนักใจ

“ทีนี้มึงจะทำอย่างไร”

“ก็จะไปถามหมอก้อน ว่าหมอมีทางเกยไชยแก้เสน่ห์ไปหรือยัง หรือมีทางป้องกันอะไรได้บ้าง ขึ้นหลังเสือไปแล้ว ลงไม่ได้หรอก ใช่ไหมพี่”

“ถ้ามันแก้ไปเรียบร้อยแล้ว มึงจะทำอย่างไรต่อไป”

“ก็ให้รู้ก่อนว่ามันแก้ไปแล้วหรือยัง ถ้าแก้แล้วก็จบ แต่ถ้ายัง ก็สู้กันอีกสักตั้ง ละมั้ง”

ทั้งสามพากันขึ้นรถสามล้อถีบไปยังบ้านหมอก้อนทันที...หลังจากทั้งหมดทรุดตัวลงกราบ หมอก้อนที่อยู่ในชุดสีดำหน้าตาหมองคล้ำ ผมสีดอกเลาใส่ครีมใส่ผมหวีจนเรียบแปล้ ก็บอกว่า

“ดูมึงโทรมไปเยอะเลยนะอีเรณู”

“ก็มันริจะเป็นคนดี นะพ่อ มันก็เลยโทรมอย่างที่เห็นนี่แหละ” ติ๋มบอก

“ตอนนี้ทำอะไรอยู่ล่ะ”

“ทำขนมขายอยู่ที่ชุมแสงจ้ะ...”

“อืม...ดีแล้ว ..แล้วนี่ทุกข์ร้อนอะไรกันมาล่ะ ถึงได้เรียงหน้ากันมาแบบนี้”

“ทางแม่ผู้ชายเขาจับได้ว่า ฉันทำของใส่ลูกชายเขา เขาก็เลยไปหาหมอทางเกยไชย...ชื่อหมอมี”

“ไอ้มี กูรู้จักมันดี...”

“แล้วพ่อรู้หรือยังว่า ของที่ทำ หลุดไปหรือยัง”

พอเรณูเอ่ยถาม หมอก้อนก็พยักหน้าไปทางพานใส่หมากพลูและดอกไม้ธูปเทียนที่วางไว้อยู่แล้ว....เรณูจำต้องควักเงินค่าขันครูถึงห้าบาทใส่ลงไป แล้วยกพานขึ้นจบ...บอกเล่าเรื่องทุกข์ร้อนใจ....ส่งพานให้หมอก้อนแล้ว หมอก้อนก็ยกพานขึ้นเหนือหัวพึมพำคาถามเบา ๆ....อึดใจเดียว แกก็วางพานลง ดวงตาของแกแดงผิดปกติ...น้ำเสียงนั้นเปลี่ยนไปเล็กน้อย...

“มีอะไรอยากรู้ก็ว่ามา”

เรณูบอกเล่าเรื่องทางชุมแสงให้ฟังคร่าว ๆ แล้วก็ถามว่า “ฉันอยากรู้ว่า ของที่พ่อทำไป หลุดหรือยัง...ถ้าหลุดแล้วจะแก้ไขอย่างไรได้...”

ร่างทรงหลับตาเพียงคู่...แล้วก็บอกว่า “ของที่มึงทำไป ยังอยู่...ถ้ามันจะแก้ มันจะต้องเอาตัวลูกชายของมันไปให้ไอ้มีทำให้ที่บ้าน ตอนนี้ มันก็ยังรัก ยังหลงมึง เหมือนเดิม แต่มึงต้องไม่ให้มัน ไปกับแม่มัน ไม่งั้น จบเห่...เพราะสายวิชชาเขาก็แน่จริง”

เรณูรู้สึกโล่งอก...แต่เมื่อเสียค่าครูไปแล้วก็อดอยากรู้ไม่ได้ว่า ‘ควร’ จะทำอย่างไรต่อไป...

“ถ้ามึงยังรักมัน ยังอยากได้มัน มึงก็พยายามกันมันไว้ อย่าให้มันไปหาไอ้มี กูบอกได้เท่านี้”

“ถ้าเขาไปหาหมอมีแล้ว เขาจะเป็นอย่างไร เขาจะลืมฉัน เกลียดฉัน โกรธฉัน ไล่ฉันออกจากบ้านเขาเลยไหม”

“เรื่องในอนาคต กูไม่เห็นหรอก...ใจคนมันยากแท้หยั่งถึง มึงเข้าใจที่กูพูดไหม”

“อยากได้คำอธิบายเพิ่มเติม”

“คนเรา มันอาจจะรักกัน หลงใหลกัน ด้วยรูปโฉม เสน่ห์ปลายจวัก วาจา และคุณงามความดีของกัน ก็ได้นี่...ถ้ามึงมีตรงนั้นเป็นของคู่ตัว ของๆ กูจะอยู่หรือไม่อยู่ มันก็ไม่สำคัญหรอก สำคัญที่ว่า ถ้าใจและกายมันผูกพันกันแล้ว ความผิดบาปที่เริ่มต้นไว้ ถ้ามันไม่ได้เลวร้ายเกินไป มันก็ให้อภัยกันได้...ใช่ไหมละ”

“ก็ใช่...ลำพังใจของเขา ฉันคิดว่าไม่เท่าไหร่หรอก แต่แม่ของเขา เกลียดฉันอย่างกับอะไรดี...เพราะประวัติฉันมันไม่สวย”

“ตรงนั้นกูช่วยอะไรไม่ได้ เพราะอดีตมึง ก็เรื่องของมึง...กูไม่ได้บันดาลให้มึงต้องเป็นอย่างนั้น”

“เอาแบบนี้ไหมล่ะ อีเรณู มึงก็ทำอย่างที่กูเคยแนะนำมึงดีไหม” ติ๋มสอดเข้ามา

เรณูนิ่งคิด...ใช่แล้ว ถ้าจับได้แค่หาง ไม่ได้หัว ตัวมันก็ดิ้น มันต้องรวบทั้งหัวทั้งหางถึงจะถูก...ตอนนี้ปฐมยังอยู่ทางนี้ ยังมีเวลาที่จะทำให้นางย้อยเปลี่ยนจากเกลียดมาเป็นรักได้...มันยังไม่สายเกินแก้

“เอ่อ...พ่อ ถ้าหนู จะถามพ่อว่า ถ้าหนูจะทำเสน่ห์ใส่แม่ผัวหนูล่ะ จะได้ไหม”

“ได้ ...แต่ที่กูเห็น มันเกลียดมึงจนไม่ยอมกินอะไรของมึง มันจะเข้าทางมึงได้ไง”

“มันก็ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเลยไม่ใช่รึ อีเรณู มึงขยันทำนั่นทำนี่ไปให้มันกิน สักวัน มันก็พลาดจนได้แหละ...” ติ๋มยังคง ยุยง...

เรณูนิ่งคิด...ไม่ได้คิดว่า จะทำหรือไม่ทำ แต่คิดเสียดายเงินค่าทำต่างหาก...และเหมือนติ๋มจะรู้ใจ ติ๋มจึงบอกว่า

“ทำไปเถอะอีณู ค่าวิชาเดี๋ยวกูออกให้เอง...”

“แต่มันหลายเงินนะพี่”

“กูเสียให้มึงได้ กูเคยบอกมึงแล้วไง ทางใด ที่จะทำให้อีย้อยเดือดเนื้อร้อนใจได้ กูละสนุกนัก”

ประนอมที่นิ่งฟังอยู่ ถอนหายใจเบา ๆ เพราะรู้สึกว่า เรื่องมันชักจะไปกันใหญ่...ด้วยเป็นพี่ใหญ่สุด ประนอมจึงบอกว่า

“ถ้าเล่นต่อ แล้วมันมีแต่ความทุกข์ใจ มึงก็ถอยดีกว่าไหมอีณู ให้แม่มันเอามันไปแก้ซะ แล้วค่อยดูว่ามันจะทำอย่างไรกับมึงไม่ดีกว่ารึ เพราะตอนนี้อย่างไรมันก็ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นผัวมึง ส่วนมึงใคร ๆ ก็รู้ทั้งชุมแสงว่าเป็นเมียมัน”

เรณูนิ่งคิด...สับสนปนเปกันไปหมด...เล่นต่อ กับ ถอย...ถอยได้ไหม เพราะเวลานี้เธอเดินมาไกลเกินกว่าจะถอยหลังกลับแล้ว...ถ้านางย้อยรักและเมตตา เข้าใจว่าทำไมชีวิตเธอถึงต้องเป็นอย่างนี้ ทำไมเธอต้องตัดสินใจทำอย่างนี้ เธอก็ยังพอมีโอกาสอยู่กับคนที่เธอรัก และมีทางเดินชีวิตใหม่ได้ แต่นี่...

“อ้าว ตัดสินใจซิ...” ติ๋มเร่งเร้า

“ถ้ามึงจะทำ กูจ่ายให้ ถ้าไม่ทำ ก็จะได้พากันกลับ...”

“แต่ฉันกลัว”

“กลัวอะไรล่ะ มึงไม่ได้ฆ่าใครตายซะหน่อย แค่ทำให้มันรักมันชอบเท่านั้นเอง เพราะถ้ามันเกลียดมึงมากเท่าไหร่ ผัวมึง ก็จะไม่ได้อะไรเลย มึงว่ามันยุติธรรมกับไอ้ใช้ไหมล่ะ มันก็ลูกเหมือนกัน”

“ก็จริงของพี่”

“แม่ผัวลำเอียงแบบนี้ ต้องย้อนเกร็ดเสียให้เข็ด ตกลงทำนะ...” เรณูยังไม่ทันจะตกลง ติ๋มก็ควักเงินแบงก์สิบสองใบใส่ลงไปในพาน...

**************

ค่ำนั้นเรณูเปิดโรงแรมนอน และติ๋มก็ติดต่อให้จ่าเที่ยง ช่วยให้ปฐมออกจากในค่ายฯ มาหาเมียที่โรงแรม...

พอปฐมมาถึง เขาก็กระโจนเข้าใส่เรณู กอดรัดฟัดเหวี่ยงประหนึ่งคนที่ขาดน้ำขาดอาหารมาแรมเดือน...หลังจากอิ่มเอมในรสเสน่หา...เรณูที่นอนหนุนแขนก่ายเกยอยู่ในอ้อมกอดของเขา ก็เล่าเรื่องตอนที่เขากลับมาแล้ว ให้เขาได้รับรู้...เริ่มจากเรื่องที่ตนทำขนมขาย...

“ไม่รู้เลยนะเนี่ยว่า ทำขนมเป็น...”

“อร่อยด้วยแหละ...ใคร ๆ ก็ชม”

“เก่งไปซะทุกอย่างแบบนี้ จะไม่ให้คิดถึงได้ไง”

“ไม่ได้ออกไปเที่ยวที่ไหนเลยจริง ๆ นะ”

“จริงซิ...รักหนู คิดถึงแต่หนูจนจะเป็นบ้า” ว่าแล้วเขาก็จูบที่หน้าผากชื้นเหงื่อของเรณูอีกหนึ่งฟอด...เรณูจูบแก้มเขาตอบแล้วก็เล่าเรื่องแม่ของเขา แต่งสะใภ้รองเข้าบ้าน โดยจัดงานเสียใหญ่โต...เป็นที่เลื่องลือจนถึงตอนนี้

“ไม่ได้แต่งแบบเขา หนูเสียใจหรือเปล่า”

“ก็รู้สึกน้อยใจบ้าง แต่เมื่อวาสนามันมีแค่นี้ จะไปทำอะไรได้ล่ะ แล้วอีกอย่าง แค่ได้อยู่กับพี่ใช้ตลอดไป หนูก็พอใจแล้วแหละ พี่นั่นแหละ จะน้อยใจหรือเปล่า ที่ไม่ได้จัดงานใหญ่โตแบบอาตง”

“ไม่แต่งก็ไม่เปลืองไม่ใช่เหรอ....”

“จะพูดว่าได้มาฟรี ๆ ใช่ไหมล่ะ”

“ฟรีที่ไหน...เสียเหงื่อจนหมดตัวแล้วเนี่ย” ว่าแล้วเขาก็กระชับวงแขนดึงร่างเรณูให้แนบกับตัวเขาอีก สัมผัสทางกายนั้น ทำให้เรณูรู้สึกว่าเขาพึงใจและมีความสุขในเรือนกายของตนเป็นอย่างดี

“พี่ใช้...หนูมีอีกเรื่องจะเล่าให้ฟัง...คือ...หนูแท้งลูกไปแล้วนะ”

“อ้าว เหรอ ถึงว่าทำไมท้องไม่ใหญ่เสียที”

“ก็หาบน้ำขึ้นมาจากตลิ่ง...แล้วก็ลื่นล้ม”

“ช่างมันเหอะ เขาไม่มีบุญจะมาเป็นลูกเรา เขาก็ไป...เราทำใหม่ก็ได้นี่ อีกไม่กี่เดือนก็ปลดกลับไปอยู่บ้านแล้ว จะมีอีกกี่คนก็ได้”

“แล้วอีกเรื่อง เรื่องนี้ ถ้าพี่รู้ พี่จะโกรธเกลียดฉัน จะเลิกกับฉันก็ได้นะ...”

เรณูปล่อยให้ความเงียบเข้าครอบงำเพียงครู่ พอเขาขยับมือซ้ายบีบเบา ๆ ที่ไหล่ส่งสัญญาณให้เรณูพูดต่อ เรณูก็บอกว่า

“คือ ก่อนที่หนูจะมาอยู่ที่ตาคลี...หนูเคยท้องกับพี่เขย”

“หือ...”

“เรื่องมันเป็นอย่างนี้พี่...” แล้วเรณูก็เล่าชีวิตหนหลังให้เขาฟัง จนถึงเรื่องที่แม่ของเขาไปบังเอิญรู้เข้า แล้วเรื่องเดิมบานปลายจนคิดไล่ตนเองออกจากบ้านด้วยการล็อกห้อง และเรณูก็แก้ลำด้วยการไปนอนที่หน้าร้านจนกลายเป็นเรื่องเป็นราวดังไปทั้งตลาด...ปฐมที่หลับตาฟัง ถอนหายใจออกมา...ไม่ตอบว่าอะไร...เรณูเลยไม่รู้ว่า เขาไม่ถือสา ไม่ใส่ใจกับอดีตของเธอ หรือเป็นเพราะฤทธิ์เสน่ห์ยาแฝด ที่ทำให้ลุ่มหลงจนไม่เห็นตำหนิใด ๆ

“พี่คิดอะไรอยู่...บอกฉันหน่อยได้ไหม”

“ก็มันเป็นเรื่องในอดีตไม่ใช่รึ...แล้วก็แล้วกันไป ส่วนเรื่องแม่ หนูก็ต้องเข้าใจว่าเป็นเพราะ แม่รักพี่ หวังดีกับพี่”

“แล้วจะให้หนูทำอย่างไรกับแม่ของพี่”

“หนูต้องอดทน ถ้าหนูรักพี่ ก็ต้องอดทนให้มาก ๆ รู้ไหม แม่เป็นคนปากร้ายใจดี...เดี๋ยวเรามีลูกด้วยกันใหม่ ถ้าได้ลูกชายด้วยนะ รับรองเลยว่า เขาก็จะกลับมาดีกับเราเอง แต่เราต้องอดทนผ่านช่วงนี้ไปให้ได้...”

“แต่ก่อนจะมาที่นี่ ฉันกับแม่พี่ก็มีเรื่องกันอีกนะ...พี่ติ๋มเขากลับไปทำบุญให้แม่เขา พี่นอมไปด้วย เขาไปหาฉันที่บ้านโรงสี แม่แกก็เลยหาว่าพาเพื่อนกะหรี่เข้าบ้าน...ด่าฉันซะไม่มีชิ้นดีเลย สุดท้าย เขาหาว่าฉันทำเสน่ห์ใส่พี่...แล้วเขาก็ไปเกยไชย หมอที่เกยไชยก็ว่า ฉันทำของใส่พี่จริง ๆ ตอนนี้แม่พี่ รอพี่กลับไปชุมแสง จะพาไปแก้เสน่ห์”

“แล้วหนูทำจริงหรือเปล่าล่ะ”

“แล้วพี่คิดว่าหนูทำเสน่ห์ใส่พี่หรือเปล่าล่ะ”

“ไม่รู้เหมือนกัน...”

“หนูไม่ได้ทำหรอกจ้ะ” เมื่อเริ่มต้นตอแหลไปแล้ว ก็ต้องตอหลดตอแหลให้ตลอดรอดฝั่ง...ครั้นจะเอ่ยปากสาบดสาบานเรณูก็รู้อยู่แก่ใจดีว่า ตนนั้นเลวทรามและชั่วช้าเพียงใด...

“ไม่ได้ทำ แล้วทำไม พี่ถึงหลงใหล คิดถึงหนูจนจะขาดใจตายแบบนี้...รู้ไหมว่าพี่นับวัน นับเดือน รอเวลาให้ถึงวันหยุดพักเลยนะ วันนี้พอจ่าเที่ยงบอกว่า หนูมารอพี่อยู่ที่นี่ พี่แทบจะวิ่งจากค่ายมาหาหนูเลย...”

“หนูก็คิดถึงพี่จนจะขาดใจตายเหมือนกัน...” บอกเขาแล้วเรณูก็รัดวงแขนแนบลำตัวบดเบียดกับเขาหนักขึ้น ๆ จนกระทั่งเพลิงราคะลุกโชนขึ้นมาอีกครั้ง....

******************************


Title: Re: กรงกรรม บทประพันธ์ของ จุฬามณี
Post by: นักประพันธ์ on 01 March 2020, 21:01:46
ตอนที่ 17 : รักนี้มีอุปสรรค


            ๑๗


ค่ำวันนั้น พอกมลกลับมาบ้าน ระหว่างที่นั่งรอให้เจ๊กเซ้งอาบน้ำก่อนจะกินข้าวเย็นพร้อมกัน นางย้อยก็ถามกมลว่า

“มีคนบอกกับม้า ว่าเห็นอีเรณูมันขึ้นรถไฟ ล่องใต้ไป มันไปไหนรึ”

“เห็นว่าลูกป่วย...เลยกลับไปดู”

หัวคิ้วของนางย้อยขมวดเข้าหากัน...ใจนั้นคิดว่าเป็นข้ออ้างจะเถลไถลไปเที่ยวไหนๆ มากกว่า...ครั้นคิดว่าไม่มีประโยชน์ที่จะเอ่ยถึงให้ใจขุ่นมัว นางย้อยจึงพูดเรื่องที่ได้ตั้งใจไว้ก่อนหน้า...

“วันนี้ พ่อกำนันของหนูเพียงเพ็ญมากับอาศรี...ดูท่าแล้ว อยากได้ลื้อไปเป็นเขยจริง ๆ”

“แล้วเขาว่าอย่างไรบ้าง”

“กำนันศรเขาบอกว่า เขาป่วยออดๆ แอด ๆ อยากแต่งลูกคนเล็กไว ๆ เพราะจะได้ถ่ายเทงานการให้ลูกเขยดูแล...”

“แต่ผมยังไม่ได้บวชนี่ม้า”

“เขาว่า เขาคิดราคาค่าสินสอดไม่แพง...”

“ม้าก็เลยรีบตกลง”

“ยัง...ม้าผลัดเขาไปว่า ขอถามความสมัครใจจากลื้อก่อน...เพราะบางที ลื้ออาจจะนึกอยากบวชก่อนเบียด...ถ้าลื้อตั้งใจไว้อย่างนั้น ม้าก็จะตามใจลื้อ เพราะม้าก็อยากเกาะชายผ้าเหลืองขึ้นสวรรค์ก่อน...”

“เรื่องบวช ผมเฉย ๆ...คนเราไม่ต้องบวช ก็เป็นคนดีได้...ดูเตี่ยเป็นตัวอย่าง”

“มันก็จริง แต่ว่า เกิดมาเป็นผู้ชายแล้ว มันก็ต้องลองดู วันหน้า มันจะได้คุยกับคนอื่นเขารู้เรื่อง”

“แล้วตอนนี้อั๊วคุยกับคนไม่รู้เรื่องหรือม้า”

นางย้อยทำปากขมุบขมิบ กมลจึงหัวเราะเบา ๆ ที่แหย่แม่ได้...

“อาซา ลื้อ มอง ๆ ใคร อยู่บ้างหรือเปล่า”

แวบแรกนั้นเขานึกถึงจันตา แต่ถ้าบอกแม่ไป แน่นอนว่า ถ้าเปรียบเทียบระหว่างจันตากับเพียงเพ็ญ จันตาสู้เพียงเพ็ญไม่ได้แน่ ๆ แล้วแม่ก็คงจะขวางเต็มกำลัง...

“มองนะพอมี แต่รักชอบกัน แบบแฟน ยังไม่มีหรอก...แต่ผม ก็ไม่ได้อยากรีบแต่งนะม้า...”

นางย้อยมองหน้าลูกชาย....แล้วก็บอกว่า “ม้าก็ยังไม่อยากให้ลื้อแต่งหรอก...”

“ทำไมล่ะ”

“ไปกันหมด ม้าก็เหงานะซิ ยิ่งลื้อต้องแต่งแล้วออกไปอยู่ที่บ้านเมียลื้อด้วย...” พอบอกความในใจแล้วน้ำตาก็ชื้นหัวตาของนางย้อย...เพราะบ้านที่เคยมีลูก ๆ วิ่งไล่เตะต่อยกัน ทุ่มเถียงกัน แย่งกันกิน แย่งกันใช้ แย่งความรักจากแม่ ตามประสา มีแต่เด็กผู้ชายกำลังจะเปลี่ยนแปลง

“เฮียตง แกก็อยู่...แล้วถ้าแต่ง ก็แค่ฆะมังนี่เองม้า ต่อไปถนนหนทางดีก็ไปมาหาสู่กันได้สะดวก”

นางย้อยใช้นิ้วชี้แตะหางตาที่เอ่อออกมา แล้วบอกว่า “อาตงมันไม่ใช่คนช่างพูดเหมือนลื้อ แล้วเมียมัน ม้าบอกตรงๆ ม้ายังไม่ไว้ใจสักเท่าไหร่”

“เขาแสดงทีท่าอย่างไรล่ะ”

“ยังสรุปไม่ได้หรอก ต้องดูกันไปนาน ๆ ก่อน..ตอนนี้ม้าก็ขัดตาขัดใจ เรื่องใช้เงินมือเติบ กับไม่ยอมทำงานบ้านงานช่องเอง...ส่วนงานในร้าน รู้งานดี ขายของจ๊ะจ๋าถามไถ่ใส่ใจลูกค้าดี...เรื่องเงินก็ยังเก็บมาให้ที่เก๊ะ แต่ถ้าให้เฝ้าเก๊ะเลย ม้าก็ยังไม่ไว้ใจหรอก แล้วพี่ชายลื้อ มันก็หัวอ่อน ดูท่าแล้ว วันหน้าเมียชี้นกเป็นนก ชี้ไม้เป็นไม้แน่ๆ”

“ม้าก็ต้องทำใจ แล้วก็ต้องปล่อยวาง...มัวแต่ระแวง ม้าก็จะทุกข์ใจอยู่อย่างนี้”

“ที่ม้าคิดไว้ ม้าว่าจะรอให้อาใช้มันปลดทหารมาก่อน...แล้วถ้าจะแต่งลื้อ ก็น่าจะสักเดือนหกปีหน้า...” นางย้อยรีบเปลี่ยนเรื่อง

“สรุปว่า ผมต้องแต่งกับเขาใช่ไหม”

“ก็คิดดูแล้ว แต่งแล้ว มันมีแต่ได้กับได้ แล้วจะไม่แต่งได้ไงล่ะ”...

“แต่เราไม่ได้รักกันเลยนะม้า...เขาเองก็เหมือนไม่ค่อยชอบผมสักเท่าไหร่”

“แล้วพิไลกับอาตงเขารักกันมาก่อนรึเปล่าล่ะ ก็ไม่ได้รักกัน แต่งไปแล้วไม่กี่วัน เห็นคุยกันหนุงหนิงอย่างกับรู้จักมาเป็นสิบปี...”

กมลเหลือกตามองบนแล้วถอนหายใจออกมาเบา ๆ...

****************

ลึก ๆ แล้วหมุ่ยนี้นั้นอยากให้จันตารักกับกมล...เพราะถ้าลงเอยกันได้ จันตาจะยังอยู่ที่ชุมแสง ยังอยู่ในสายตา มีปัญหาอะไรก็ยังปกป้องกันได้ แต่เมื่อหมุ่ยนี้รู้ว่ากมลนั้นมีคู่หมายเป็นลูกสาวกำนันตำบลฆะมังซะแล้ว หมุ่ยนี้จึงได้บอกกับจันตาว่า

“ที่แจ้อยากให้เธอเป็นแฟนกับอาซา แจ้ขอเปลี่ยนใจแล้วนะ”

“ทำไมถึงเปลี่ยนใจเสียละเจ๊”

“ตอนนี้อาซาอีมีคู่หมั้นคู่หมายแล้ว เป็นถึงลูกสาวกำนันตำบลฆะมัง...แจ้รู้มาว่าทางฝ่ายหญิงมีฐานะพอตัว”

จันตานิ่งฟัง...

“ผู้ใหญ่เห็นดีเห็นงามกันน่ะ อาซาคงขัดผู้ใหญ่ไม่ได้หรอก...”

“ได้แต่งกับคนมีฐานะเท่าเทียมกัน...ก็ดีแล้วนี่เจ๊”

“ลื้อไม่รู้สึกผิดหวัง ไม่เสียใจ บ้างเลยรึไง”

“ก็หนูยังไม่ได้คิดอะไรกับเขา จะไปรู้สึกอะไรละเจ๊” อันที่จริงจันตาที่อยู่อย่างเจียมตัวเจียมใจรู้สึกเจ็บ แต่มันไม่รุนแรงอะไร อาจจะเป็นเพราะแผลคราวก่อนนั้น ก็ยังไม่หายดี ใจมันยังรู้สึกขยาดกับความรัก กับผู้ชาย กับคำของคน

“ลื้อนี่มันอย่างไร กับคุณปลัด ก็ว่าไม่คิดอะไร กับ อาซา ที่แจ้ชอบ ก็ไม่คิดอะไร...หมายความว่าไง”

“ก็หนูมันจน...เป็นคนจน ต้องเจียมตัวซิเจ๊”

“แหม...จนอะไรกัน ลื้อก็มีมือมีตีนครบ วิชาความรู้รอบตัวก็มีไม่น้อยกว่าใคร มีสามีนำทางหน่อย ลื้อจะกลายเป็นคนรวยคนหนึ่ง”

“แล้วถ้าหนูจะอยู่อย่างไม่มีสามีตลอดไป ละเจ๊”

“ดอกไม้มันต้องบานให้แมลงตอม โลกมันถึงจะรื่นรมย์...”

“เจ๊ซัง กับเจ๊ ก็ยังอยู่เป็นโสดกันมาได้...ทำไมหนูจะเป็นโสดบ้างไม่ได้”

“มันไม่เหมือนกัน...อย่าเอามาเปรียบเทียบ...ไม่รู้ละ อย่างไร ตอนนี้ อาซามันไม่ใช่หนึ่งในตัวเลือกแล้ว...ลื้อก็ต้องคุยกับคุณปลัดเขาให้เยอะๆหน่อย ๆ เขามีไมตรีมาแล้ว เหลือแต่ลื้อแหละจะรับไมตรีเขาอย่างไรให้ดูไม่น่าเกลียด”

“แล้วเจ๊ให้รูปหนูกับอาซาไปทำไม”

“ก็แจ้ดูออกว่า อาซามันชอบลื้อ ก็ให้มันเอาเก็บไปฝันถึงบ้าง....เผื่อมันจะมีแรงฮึดสู้กับม้ามันขึ้นมา อยากแกล้งมันเล่น ๆ น่ะ ไป ๆ อาบน้ำแต่งตัว เดี๋ยว วันนี้ ไปดูลิเกกัน...เจ๊ใช้ไอ้จุกมันถือจดหมายน้อยไปให้คุณปลัดที่บ้านพักเขาแล้ว คืนนี้เขาต้องมาแน่ ๆ...”

“ไม่ไปได้ไหมเจ๊...ไม่อยากดูลิเก”

“ใครว่าจะไปแค่ดูลิเกล่ะ อั๊วจะพาลื้อไปให้อาซามันเห็นว่า ถ้ามันไม่เอาลื้อ ก็มีคนอื่นเขาจะเอาลื้อ” หมุ่ยนี้กระซิบบอกจันตาเบา ๆ จันตาฟังแล้วก็ยิ้มขำ...

**********************

อันที่จริงกมลไม่ชอบดูลิเก เขาชอบดูหนัง ฟังเพลง ดูรำวงมากกว่า แต่ด้วยอยู่บ้านก็ รู้สึกเหงา กับลึก ๆ เขาอยากใกล้ชิดกับจันตาให้มากขึ้น...เขาก็เลยเผลอปากชวนหมุ่ยนี้ผ่านจันตาออกไป...เพราะถ้าหมุ่ยนี้มา จันตาก็จะต้องมาด้วย...

เขาไปถึงเวลานัดหมาย ก็พบว่า ปลัดหนุ่มคนนั้น ยืนอยู่หน้าโรงหนัง กมลมองเห็นปลัดจินกรก่อน เขาจึงหลบไปหาซื้อขนมกินท่ามกลางเสียงแตรวงที่โหมโรง เรียกคนดูอยู่หน้าโรงหนัง...

พอขนมในมือหมด กมลก็เห็นหมุ่ยนี้เดินมากับจันตา...ปลัดหนุ่มยิ้มกว้างให้สองสาวแล้วเดินเข้าไปทักทาย...หมุ่ยนี้ยังคงเป็นตัวกลางหรือเป็น ‘ไม้กันหมา’ ที่ดี กมลที่หลบมองอยู่รู้สึกได้ว่า จันตานั้นได้แต่เพียงยืนยิ้มปั้นหน้าสดชื่นฟังความ ส่วนปลัดมองหน้าจันตาเผยความรู้สึกว่าชอบอย่างเปิดเผยเหมือนตอนที่เขาเห็นครั้งแรก

...และสุดท้ายกมลก็คิดได้ว่า ในที่สุดแล้ว เขาก็จะต้องแต่งงานกับเพียงเพ็ญตามความต้องการของผู้ใหญ่

ฉะนั้นมันจึงไม่มีประโยชน์อะไรที่จะ พบหน้าจันตาเพื่อสานความสัมพันธ์อีก...เขาก้าวเท้าเดินกลับบ้าน หากวันพรุ่งนี้หมุ่ยนี้ถามเขาว่า ทำไมถึงไม่มาตามนัด...เขาจะบอกว่าเผลอหลับไปเพราะอ่อนเพลียจากการทำงานหนักมาตลอดทั้งวัน...

**********

เรณูอยู่ที่ตาคลีถึงสองคืน...และเป็นสองคืนที่เรณูมั่นใจว่า ใจของปฐมนั้นอยู่กับตน เพราะเขาเฝ้าคลอเคลีย มีอารมณ์พิศวาสในเรือนกายของตนตลอดเวลา...เรณูบอกกับเขาว่า ช่วงที่ยังไม่ปลดทหาร ถ้าเขายังไม่อยากกลับบ้านไปให้รำคาญใจ ก็นัดพบกันที่ตาคลีแบบนี้ไปก่อนก็ได้...ตอนแรกเหมือนเขาลังเล แต่พอเรณูบอกว่า ถ้ามันจะเป็นการยืดเวลาของความสุขออกไปได้อีกหน่อย มันก็เป็นเรื่องที่ควรทำไม่ใช่รึ เขาก็พยักหน้าเห็นดีด้วย...

กลับมาจากตาคลีแล้ว เรณูก็กลับมาทำขนมขายเหมือนเดิม พอลูกค้าถามว่าหายไปไหนมาเสียหลายวัน เรณูก็บอกว่า “ไปเยี่ยมบ้าน”

“ใครเป็นอะไรอีกล่ะ” คนชอบซัก ยังจำได้ว่า คราวก่อนที่เรณูกลับไปบ้าน เพราะแม่ป่วยหนักกระทั่งเสียชีวิต

“เอ่อ คราวนี้น้องชายจ้ะ ลูกหลงของแม่ เกือบจะเป็นลูกของฉันได้เลยแหละ...แม่ตายแล้วก็ไปอยู่วัด พอเจ็บป่วยหลวงพ่อก็เลยลำบาก ต้องกลับไปดูกันหน่อย”

พอหาทางออกได้แล้ว ความทุกข์ก็เข้ามาครอบงำจิตใจเรณูอีก...เรื่องของป็อกคงจะต้องบอกกับคนอื่น ๆ อยู่อย่างนี้ตลอดไป...คงยากที่จะได้ยินป็อกเรียกตนเองว่า ‘แม่’

ช่วงสาย ๆ วันนั้น ระหว่างที่นั่งอยู่หลังหาบ เรณูเห็นพิไลเดินหน้าแฉล้มมีตะกร้าใบย่อมเดินตลาด...พอพิไลเห็นเรณู หญิงสาวก็คลี่ยิ้มหวานให้ แต่เรณูกลับรู้สึกว่าเป็นการยิ้มเยาะเสียมากกว่า...

“หายไปไหนมาเสียหลายวันเลยซ้อ...”

“กลับไปดูน้องชาย ไม่สบาย”

“เป็นอะไรล่ะ”

“เป็นไข้”

“อายุเท่าไหร่ ถึงต้องกลับไปดูแลกัน”

“เจ็ดขวบ”

“เอ๊ะ ทำไมน้องอายุน้อยจัง...นึกว่ารุ่นหนุ่มแล้ว...” พิไลนั้นยังไม่รู้เรื่องที่ว่าเรณูมีลูกมาก่อนแล้ว เพราะเรื่องนี้บุญปลูกก็ไม่รู้ ประสงค์ก็ไม่ได้เล่าให้ฟัง...

“ลูกหลงของแม่...แม่เสียแล้วไม่มีใครดู...”

“เออ...แล้วแม่อายุเท่าไหร่เหรอ ตอนที่เสีย เหมือนเพิ่งเสียใช่ไหม”

“หกสิบกว่า ๆ”

“คนห้าสิบกว่า ๆ ยังท้องได้อีกรึ”

“วันนี้ถือตะกร้าเดินตลาดเลย ได้อะไรหรือยังล่ะ” เรณูรีบเปลี่ยนเรื่อง

“ก็ถือติดมาอย่างนั้นแหละ ยังไม่เจออะไรน่าซื้อหรอก...แต่เอาเป็นว่า ช่วยซื้อขนม สองบาทแล้วกัน”

“สองบาท ก็ตั้งแปดห่อแน่ะ ใครกินกันเยอะแยะเลย...”

“ก็แบ่งปันปลูกกับป้อมด้วยน่ะ ม้าน่ะเขาไม่กินหรอกนะ...” พิไลพูดไปแล้ว ก็ทำเหมือนนึกขึ้นมาว่าไม่ควรพูด...เรณูได้ยินกลับรู้สึกเฉย ๆ...หญิงสาวรีบตักขนมใส่ใบตองห่อให้...

“ฉันให้ไปสิบห่อแล้วกัน บอกแม่ด้วยว่า อีกสองห่อน่ะ ฉันฝากไปให้...”

“แต่เขาไม่กินขนมของซ้อนะ...” เมื่อหลุดปากไปแล้ว ก็จำต้องตอกย้ำให้รู้ว่านางย้อยนั้นยังรังเกียจตัวเรณูแค่ไหน

“ถ้าซ้อยังซื้อฉันอยู่ทุกวันแบบนี้ ฉันก็จะตื๊อแกอยู่อย่างนี้เหมือนกัน เผื่อแกจะเปลี่ยนใจ แต่ถ้าแกไม่กิน ใครจะกินก็ได้นะ”

“ทำถั่วแปบขายบ้างซิ ฉันอยากกินถั่วแปบ...ขอแป้งเหนียวๆ ถั่วเยอะๆ นะ มะพร้าวทึนทึกนะ”

พอพิไลอธิบายเรณูก็นึกขึ้นมาได้ว่า เมื่อครั้งที่ช่วยแม่หาบขนมไปขายที่ทับกฤชนั้น พิไลเคยมาซื้อถั่วแปบของแม่ไปกิน

พิไลคงจำไม่ได้หรอกว่า เธอนั้นนั่งอยู่หลังหาบแม่ค้า หาบนั้นด้วย...



วันรุ่งขึ้นนางย้อยมองถั่วแปบในจาน มีน้ำตาลทรายผสมงาคั่ววางแนมมาด้วย แล้วถามว่า...

“ใครทำขายรึ...หน้าตาน่ากินดี” ที่น่ากินเพราะชิ้นไม่ใหญ่และมะพร้าวทึนทึกขูดกับถั่วเขียวซีกนั้น มีปริมาณที่เท่า ๆ กัน...

“ไม่รู้เหมือนกัน” เมื่อวานพอบอกว่า เรณูฝากขนมตะโก้เผือกมาให้ นางย้อยก็ไม่กินเหมือนเดิม พอตอนเช้าพิไลก็บอกกับเรณูว่า เมื่อวานขนมที่ฝากไป นางย้อยไม่กิน เรณูจึงบอกว่า วันนี้จะฝากถั่วแปบไป แต่อย่าบอกแกแล้วกันว่าเป็นฝีมือของตน เพราะอยากให้แกลองชิมขนมฝีมือตนบ้าง...และเรณูก็อยากรู้ว่า ถ้ากินขนมโดยไม่มีอคติแล้ว คนกินจะรู้สึกอย่างไรกับรสชาติของขนม...พิไลเองก็อยากรู้ว่า ถ้านางย้อยได้กินขนมฝีมือเรณูแล้วจะเป็นเช่นไร จึงยอมช่วยโกหก...

พอนางย้อยได้กินไปคำ สองคำ กระทั่งหมดจาน พิไลก็ขยับเข้ามาถาม...

“อร่อยใช้ได้ไหมม้า...”

“อร่อยดี ตอนเคี้ยวรู้สึกว่าทุกอย่างมันพอดีกันไปหมด...”

“พรุ่งนี้เห็นเขาว่า จะทำขนมต้มมาขาย เดี๋ยวหนูจะซื้อมาให้ม้าลองชิมนะ”

“อ้าว แล้วไม่ช่วย อีเรณูมันซื้ออีกรึ”

“กินของแก ทุกวันก็เบื่อบ้างซิม้า...ช่วยกันหลาย ๆ เจ้า จะได้ผูกใจเขาไว้ได้” พิไลมีทางออก...

“อืม ถ้าพรุ่งนี้ เขาทำขนมต้มแล้วอร่อยแบบนี้อีก ก็ซื้อเขาประจำเลยแล้วกัน”

“เขาบอกว่า ถ้าอยากกินอะไรก็บอกเขาได้นะม้า เขาทำได้เขาจะทำ เขาอยากให้ลูกค้ากินในแบบที่อยากกิน ไม่ซ้ำซากจำเจน่ะ...”

“อยากกินข้าวโปง...ถ้าเขาทำได้ก็บอกให้เขาทำนะ...”

“จ้ะม้า...”

“อ้อ อย่างไรก็อย่าลืมบอกให้เขามาอุดหนุนของที่ร้านเราบ้างนะ การค้ามันต้องช่วยกันไปมา มันถึงจะอยู่รอดทั้งสองฝ่าย”

พิไลได้ยินแล้วยิ้มกริ่ม โดยไม่ได้รู้สักนิดว่า เป็นเพราะขนมที่ตัวเองถือมานั่นแหละที่ทำให้นางย้อย หลงใหล รักใคร่ เอ็นดูเรณู เหมือนกับว่า ไม่เคย โกรธ เกลียด กันมาก่อน...

********************


หลังเคี้ยวและกลืนขนมข้าวโปงหมดไปหกลูก...นางย้อยก็รู้สึกติดอกติดใจในรสชาติ จนกระทั่งนึกอยากจะเห็นหน้าคนทำ...

“พิไล พิไล...”

“จ๋า ม้า...” พิไลจ๊ะจ๋าอ่อนโยน และเอาอกเอาใจจนนางย้อยรู้สึกคลายความระแวงไปไม่น้อย...

“ขนมข้าวโปงของเขา อร่อยกว่าถั่วแปบอีกนะ...ตอนเคี้ยวนี่ซ่านไปทั่วปากเลย...” อันที่จริงไม่ใช่แค่ซาบซ่านแต่นางย้อยยังรู้สึกขนลุกขนชันขึ้นมาด้วย แต่นางย้อยก็ไม่ได้บอกไปทั้งหมด

“แล้วม้าอยากจะกินอะไรอีกไหม... ลองให้เขาทำขนมแดกงาดูบ้างไหม...”

“ม้าชักอยากเห็นหน้าคนทำเสียแล้วซิ...พรุ่งนี้ให้เขามาที่ร้านได้ไหม...”

“เอ่อ...เดี๋ยวจะบอกเขาให้นะม้า...เขาขายดี ขายหมดแล้วก็รีบกลับไปเลย”

“งั้นเหรอ...”

“จ๊ะ ขนมเขาขายดี ยิ่งหน้าเกี่ยวข้าวแบบนี้ด้วย...คนมาตลาดกันแต่เช้ามืด ยิ่งขายดี นี่หนูสั่งเขาไว้หรอกเขาถึงขยักไว้ให้...”

“แล้ว ขนมของอีเรณูล่ะ ขายดีไหม”

“ก็พอขายได้ม้า...”

“ไม่ช่วยมันซื้อมาเหมือนก่อน มันไม่ว่าเอารึ”

“ก็บอกเขาไปตรง ๆ ว่า ช่วยเจ้าอื่นบ้าง...ใครจะไปกินของซ้ำ ๆ บ่อย ๆ ได้ละ ม้าว่าไหม”

“ว่าไป ม้าก็นึกอยากกินหม้อแกงของมันนะ เห็นที่งานแต่งคนบ้านเหนือวันนั้น สีสัน หน้าตา น่ากิน กลิ่นงี้หอม ติดจมูกเลย...ใคร ๆ ก็ชมว่าของมันอร่อย นึกแล้วก็ยังน้ำลายไหล...”

พิไลกะพริบตาปริบ ๆ เพราะไม่คิดว่า จะได้ยินแม่ผัวพูดถึงสะใภ้ใหญ่ด้วยน้ำเสียงอย่างนี้...

“หนูจะบอกให้เขาทำให้เอาไหมม้า ถ้าม้าอยากกิน” พิไลรีบเอาใจ

“ก็ลองบอกให้มันทำมาซิ อุดหนุนมันได้ก็อุดหนุนมันบ้าง...ว่าไปแล้ว ม้าก็สงสารมันเหมือนกัน...นั่งตากหน้าอยู่ตรงนั้น ใครรู้ใครเห็นก็เอาไปซุบซิบนินทาว่าม้าลำเอียง...”

ยิ่งประโยคนี้ยิ่งทำให้พิไลรู้สึกแปลกใจหนักเข้าไปอีก...

พอนางย้อยเผลอ พิไลก็บอกกับประสงค์ว่า “เฮีย ไม่รู้เกิดอะไรขึ้น วันนี้ม้า พูดถึงอาซ้อด้วยน้ำเสียงหวานหูขึ้น...”

“หวานหูอย่างไร”

“จู่ ๆ ก็นึกอยากกินขนมหม้อแกงฝีมืออาซ้อขึ้นมา แล้วก็บอกว่า นึกสงสารที่อาซ้อต้องไปตากหน้าขายของอยู่ที่ตลาดเช้าทุกวัน...”

ประสงค์นิ่งฟัง...ไม่ออกความคิดเห็น แต่ใจนั้น ก็อดสงสัยไม่ได้ว่า ‘เกิดอะไรขึ้น’

************************

“เห็นพี่ทำขนมโน่นนี่นั่นแล้ว หนูก็อยากทำขนมทำของกินของบ้านหนูบ้าง” พอเคี้ยวขนมข้าวโปงที่เรณูใส่กระทงมาฝาก จันตาก็เปรยขึ้นมา...

“อยากทำอะไรล่ะ...”

“อยากกินข้าวแคบ...”

“ทำอย่างไร...”

จันตาอธิบายคร่าว ๆ

“ฟังแล้วน่าสน...ขอเจ๊นี้ไปทำที่บ้านพี่ซิ...จะได้สอนพี่ไว้ด้วย”

“ฉันต้องดูแลอาม่า”

หมุ่ยนี้เดินเข้ามาในครัวได้ยินพอดี...จึงถามว่า “อยากจะไปไหนกันล่ะ”

“จันตาเขาอยากอวดฝีมือทำข้าวแคบ...เขาว่าวิธีการคล้าย ๆ กับ ข้าวเกรียบปากหม้อบ้านเรา แต่ว่า แผ่นบางกว่าแล้วก็ต้องตากให้แห้ง เก็บไว้กินได้นานเป็นเดือน ๆ...”

“น่าสนนะ...วันไหนดี...” แล้วหมุ่ยนี้ก็กรอกตาครุ่นคิด...ก่อนจะบอกว่า “ถ้าเป็นวันเสาร์ หรือวันอาทิตย์ เธอจะสะดวกไหมล่ะเรณู...”

“ทำไมต้องเป็นวันเสาร์ หรือวันอาทิตย์ด้วยล่ะ” เรณูซัก...

“ก็แจ้จะไปด้วย แล้วก็จะชวนคุณปลัดจินกรเขาไปด้วย...อยู่บ้านก็เบื่อ หาอะไรตื่นเต้นทำมั่ง”

พอมีชื่อปลัดจินกร ทำให้เรณูต้องเหลือบตามองจันตาก่อนถามว่า “แล้วเจ๊ไม่ขายของ...”

“ให้อาแจ้กับลูกน้องเขาขายกันไป”

“แล้วทำไมจะต้องชวนปลัดจินกรไปด้วยล่ะ...เขามาเกี่ยวอะไรกับข้าวแคบด้วย...”

“ก็...อยากแกล้งคนแถว ๆ นั้น...”

“ใครเหรอ”

“เจ๊...” จันตาไม่อยากให้หมุ่ยนี้เล่าเรื่องกมลให้เรณูได้รับรู้ แต่หมุ่ยนี้หาได้สนใจ

“อาซานะซิ นี่แจ้ก็เพิ่งรู้ว่าเขามีคู่หมั้นคู่หมายเป็นถึงลูกสาวกำนันตำบลฆะมัง เชียวนะ”

“อ้าวเหรอ ทำไมหนูไม่เห็นรู้เรื่องเลยล่ะ”

“อาสี่มันบอก เห็นว่าผู้ใหญ่คุยกันแล้วแหละ เรือล่มในหนองทองจะไปไหนเสีย เข้าใจไหม...”

เรณูครุ่นคิดถึงคำบอกเล่าของกมลที่เคยบอกกับตนไว้ว่าเขามีคนที่นางย้อยเล็งไว้ให้แล้ว ก็พยักหน้าเบา ๆ แต่ถึงอย่างไรเรณูก็อดสงสัยไม่ได้...

“แล้วอาซามาเกี่ยวอะไรกับเรื่องของ ข้าวแคบ และคุณปลัดด้วย...”

“ก็แจ้ ดูออกว่าอาซาอีชอบ อาจันตาของแจ้”

“อ้าวเหรอ...จริงเหรอ” ถามหมุ่ยนี้แล้วเรณูก็หันมามองหน้าของจันตาที่เบือนหน้าหนีสายตาของเรณู...

“จริงไม่จริง เดี๋ยว เธอก็เห็นหรอกว่า วันที่ปลัดไปบ้านของเธอพร้อมกับจันตา อาซามันจะปั้นหน้าอย่างไร...”

**********************

ด้วยความอยากรู้ว่าเป็นเรื่องจริงเท็จประการใด พอกลับมาถึงโรงสี วางหาบลงแล้วเรณูก็เอ่ยปากชวนกมลคุยเรื่องที่ค้างคาใจ...เริ่มต้นเรณูก็แย็บไปว่า

“ไม่บอกไม่เล่ากันเลยน้า”

“ไม่บอกไม่เล่าอะไรหรือซ้อ”

“ก็เรื่องที่เธอจะแต่งงานกับลูกสาวกำนันตำบลฆะมังนะซิ...”

“แล้วซ้อไปรู้เรื่องนี้มาจากไหน...”

“ได้ยินคนที่ตลาดคุยกัน” เรณูจำต้องอ้างแบบที่ใคร ๆ ก็มักเอามาอ้างกัน

กมลทำหน้าหนักใจ ก่อนจะส่ายหน้าแล้วเขาก็บอกว่า “เรื่องนี้เพิ่งคุยกันในบ้านแท้ๆ ทำไมมันกระจายไปเร็วจัง”

“แล้วจะแต่งกันเมื่อไหร่”

“อย่างเร็วสุดก็เดือนหกปีหน้านะซ้อ...แต่งแล้ว ก็ต้องย้ายไปอยู่บ้านเขา...เพราะเขาเป็นลูกสาวคนเล็ก และที่สำคัญผมต้องไปเป็นชาวนานะซ้อ...คิดแล้วก็เก็กซิม” อันที่จริงเขาไม่ได้ปวดหัวหรือหนักใจเรื่องที่จะต้องไปเป็นชาวนา แต่เขาหนักใจที่ต้องจากถิ่นฐานบ้านเกิด จากวิถีชีวิตที่คุ้นเคย จากความสะดวกสบายไปอยู่บ้านของเมีย ซึ่งไม่ได้รักใคร่กันมาก่อน แถมต้องไปอยู่ภายใต้ใบบุญของพ่อตาที่เป็นถึงกำนัน ที่เคยได้ยินได้ฟังมาว่า คนพวกนี้จะ ‘ดุ’ เป็นอย่างมาก...

พอได้ฟังแล้วเรณูก็รู้สึกใจหายเหมือนกัน...เพราะถ้ากมลไปเสียคน ‘มิตร’ ในยามยากของเธอก็จะหายไปด้วย ประสงค์นั้นเรณูไม่คาดหวังว่าจะช่วยเธออะไรได้ เพราะพิไลนั้น เรณูพอมองออกหรอกว่า ลึก ๆ แล้วก็พยายาม ‘ข่ม’ เธออยู่ในที

แล้ว ‘ของ’ หมอก้อนที่ได้โอกาส ‘ปล่อย’ ไปแล้ว เรณูก็ไม่มั่นใจว่าจะได้ผล...เพราะมันไม่ได้ให้กินกับมือ ได้เห็นกับตาเหมือนตอนที่จัดการกับปฐม...

“เธอไปสักคน แล้วใครจะดูแลทางนี้ล่ะ”

“ก็ที่จะให้แต่งเดือนหกก็จะรอให้ตั่วเฮียปลดทหารมาก่อนไง...ตั่วเฮียก็คงดูแลที่นี่ไป หรือไม่ ก็เฮียรองต้องมาดูที่นี่”

“อ้าว ทำไมเป็นอย่างนั้นล่ะ อาตงทำไมต้องมาช่วยงานที่นี่อีก”

“ตอนนี้ที่ร้าน คนขายจะมากกว่าคนซื้อแล้วซ้อ”

“แล้วทำไม ไม่ให้อาตง ออกมาช่วยงานที่นี่ ซะตั้งแต่ตอนนี้เลยล่ะ” เรณูซักอีก

“เอ่อ...” กมลไม่อาจบอกได้ว่า ตอนนี้ ม้ายังไม่ไว้ใจ พิไล...

“เอ่อ...ก็ผมยังอยู่ไง เตี่ยก็ยังช่วยอีกคน...ก็ให้เฮียเขาอยู่ตรงนั้นแหละ เพราะอาซ้อพิไลก็ยังไม่ค่อยรู้งาน”

“แล้ว ถ้าเฮียใช้กลับมา ทำไมต้องให้เฮียตงมาวุ่นวายที่นี่ล่ะ...” เรณูแกล้งซักต่อ ด้วยคิดว่า ถ้านางย้อยมีความยุติธรรมพอ กิจการตรงนี้ ถ้าไม่มีกมลมันจะกลายเป็นของปฐมไปโดยปริยาย...

“เรื่องในอนาคตนะซ้อ ทุกอย่างมันแล้วแต่ม้าจะเห็นสมควร...”

“อาสี่ล่ะ...”

“ไปเรียนแล้ว ก็คงไปหาอะไรทำของมันไปตามประสา แล้วม้าก็จะไปซื้อตึกไว้ทางโน้นด้วย เผื่อมันมีลู่ทางของมัน”

“เธอก็ไปอยู่บ้านเมียเธอเลย...ไม่ได้กลับมายุ่งกับกิจการทางนี้อีกแล้ว”

“อาจจะไม่ได้แต่งกันก็ได้ซ้อ”

“ทำไมล่ะ...ไหนว่าเดือนหก”

“ก็มันอีกตั้งหลายเดือน อะไร ๆ ก็อาจจะเปลี่ยนแปลงได้นี่นา ผมเอง จริง ๆ แล้วก็น่าจะบวชเสียก่อนแต่ง ไหนจะคัดเลือกทหารอีก...เขาอาจจะรอผมไม่ไหวก็ได้”

“ถามจริง ๆ นะซา เธอมีคนที่เธอรู้สึกชอบเป็นพิเศษแล้วใช่ไหม”

“ยังไม่มีหรอกซ้อ”

“ดวงตาของเธอมันปิดหัวใจเธอไม่มิดนะ...” เรณูได้จังหวะกะเทาะหัวใจของกมล เพราะอยากจะรู้เหมือนกันว่าที่ หมุ่ยนี้คิดเห็นนั้นเป็นจริงหรือเปล่า

“แล้วตอนนี้ ซ้อเห็นใครในใจผมละครับ...” คำพูดของเรณูเหมือนกับจอบที่มาขุดดินปิดหลุมถ่าน...ความรู้สึกห่อเหี่ยวอุดอู้อยู่ในใจของเขาก็เหมือนความร้อนที่หาทางระบาย...ดวงตาของเขาเป็นประกายหลังจากที่ได้ถามเรณูออกไป

“พี่เดาว่า จันตา...ใช่ไหม”

กมลมองหน้าเรณูแล้วหลบสายตามองไปข้างนอก เรณูจึงถามซ้ำ “ใช่จันตาไหม พี่ทายถูกหรือเปล่า”

“ทำไมคิดว่าเป็นเขาล่ะ...”

“ก็เธอถามพี่เองนี่ว่าเห็นใครในใจของเธอ...พี่ก็ตอบไปตามความรู้สึกแรกที่มันผุดขึ้นมา...ก็แค่นั้นแหละ จันตาใช่ไหม พี่ทายถูกไหมล่ะ”

“จันตาเขามีแฟนแล้ว ผมจะไปคิดอะไรกับเขาทำไมละซ้อ”

“ใครล่ะแฟนเขา”

“ปลัดจินกร...หมุ่ยนี้เขาเป็นแม่สื่อให้อยู่...ซ้อก็น่าจะรู้เห็นอยู่บ้างมั้ง”

“ถ้าชอบเขาจริง คิดจะสู้ พี่ว่า เธอก็น่าจะสู้เขาได้อยู่นะ”

“สู้น่ะสู้ได้ แต่ผมกับเขามันมีทางจะลงเอยกันได้ง่าย ๆ ไหมล่ะ”

พอเขาย้อนถามกลับ เรณูก็เข้าใจทันที...เพราะถ้าเปรียบเทียบจันตากับลูกสาวกำนันตำบลฆะมัง จันตาสู้ไม่ได้แน่ ๆ แล้วนางย้อยก็คงขัดขวางความรักของกมลอย่างเต็มกำลัง...ทางเดียวที่จะช่วยกมลได้ก็คือ ปลอบใจและพูดให้เขาตัดใจเสียเร็วไว เพราะความรัก ความรู้สึกดี ๆ เมื่อมันเกิดขึ้นกับใครสักคนแล้ว มันไม่ได้ครอบครองให้สมรัก ใจมันก็จะมีแต่ความทุกข์...ทรมาน

********************


Title: Re: กรงกรรม บทประพันธ์ของ จุฬามณี
Post by: นักประพันธ์ on 01 March 2020, 21:03:28
ตอนที่ 18 : มงคล วรรณา มาลา


            ๑๘


“อาอี๊...ผมเอารูปงานแต่งของพี่ชายผมมาให้ให้ครับ...” มงคลบอกนางหุย เมื่อเดินเข้ามาในร้านตัดผ้า...

“ใครพี่ชายเธอ”

“เจ้าสาวชื่อพิไล คนทับกฤชน่ะครับ อาซ้อเขาบอกว่า เขาตัดชุดที่ร้านนี้”

“อ๋อ...หนูพิไล เขาแต่งงานกับพี่ชายเธอหรอกรึ โลกกลมดีจังเลย...”

พอรับรูปถ่ายขนาด 3 x 5 นิ้ว ภาพขาวดำ ซึ่งเป็นรูปเจ้าบ่าวอยู่ในชุดสูทกับเจ้าสาวอยู่ในชุดแต่งงานแบบจีนและแบบฝรั่งอย่างละรูปมาดู นางหุยก็ถามมงคลว่า “สองรูปนี่เท่าไหร่”

“ไม่เป็นไรครับ...”

“ขอบใจมาก”

“วรรณาอยู่ไหมครับ”

“อยู่นะ อยู่หลังร้าน...”

“เรียกเขามาพบผมหน่อยได้ไหมครับ...”

นางหุยเดินเข้าไปทางหลังร้าน ซึ่งเป็นส่วนที่ตัดเย็บเสื้อผ้า เป็นห้องเรียน และด้านหลังสุดเป็นส่วนของครัว...อึดใจใหญ่ ๆ วรรณาก็เดินออกมา...

“มีอะไรกับฉันรึ”

“คิดถึง...” เป็นเพราะนางหุยไม่ได้ตามออกมาด้วย มงคลจึงได้โอกาส...

แม้จะรู้สึกเขิน แต่วรรณาก็พยายามเกลื่อนสีหน้าให้เป็นปกติ แล้วเบะปากให้เขา มงคลมองหน้าวรรณาแล้วยิ้มกริ่มก่อนจะบอกว่า

“เอารูปของเธอมาให้...ถ่ายออกมาแล้ว บอกเลยว่า สวยกว่าตัวจริงอีกนะ” ว่าแล้วเขาก็ตบกระเป๋าเสื้อ

วรรณานั้นอยากเห็นรูปที่เขาว่า ‘สวยกว่าตัวจริง’ เป็นอย่างมาก แต่เมื่อเขายักท่า วรรณาจึงบอกว่า “ไหนล่ะ เอามาซิ”

“ค่ำนี้ไปดูหนังด้วยกันได้ไหม...”

“ไม่ได้หรอก...ไม่เคยออกจากร้านไปไหนตอนกลางค่ำกลางคืน...”

“ไม่พาไปทำอะไรหรอกน่า”

วรรณาเบะปากให้เป็นคำตอบ

“แล้ววันเสาร์หรือวันอาทิตย์ล่ะ ช่วงกลางวันออกไปดูหนังด้วยกันได้ไหม” มงคลยังไม่เลิกตอแย

“ไม่ได้เหมือนกัน...” วรรณาตอบไปด้วยน้ำเสียงรำคาญ

“ไม่ใช่กลางคืนซะหน่อย...”

“ก็ไม่เคยไป...ไม่นึกอยากไป แล้วก็ไม่มีตังค์จะไปด้วย”

“แล้วถ้าเราเลี้ยงล่ะ ไปได้ไหม...”

“ไม่ไป...”

“ทำไมล่ะ...ไปดูหนังเป็นเพื่อนเราหน่อย เราไม่มีเพื่อน เราเหงา เราเลี้ยงตัวเองก็ได้ นะนะ...”

“เร็วเอารูปมา จะกลับไปทำงานต่อ...”

“ไม่ไปดูหนังกับเขา ก็ไม่ให้รูปหรอก...”

“ไม่ให้ ก็ไม่เอาก็ได้”

“ไม่อยากเห็นจริง ๆ อ่ะ สวยนะ สวยกว่าตัวจริง นี่ถ้าแต่งหน้าทำผมซะหน่อยนะ...พิศมัย ก็ทำอะไรไม่ได้”

“เร็วอย่าโยกโย้” วรรณาเสียงห้วน...

“หมุ่ยนี้บอกว่า ถ้าได้เสื้อแล้วก็เอาไปให้แกด้วยนะ...”

“เสร็จแล้วหละ แต่ยังไม่ว่างเอาไปให้เขา...แล้วนายจะกลับชุมแสงเมื่อไหร่...จะได้ฝากเอาให้อาเจ๊เขา...”

“ไม่มีกำหนด แต่น่าจะหลังจากงานประกวดนางสาวสี่แควนะ...” สายตาของเขาเต้นระริก ใบหน้าของวรรณาก็แดงซ่านขึ้นมา เพราะรู้สึกเขินอาย...

“จะเอารูปนางสาวสี่แควไปให้หมุ่ยนี้ดูด้วยน่ะ...”

วรรณายืนนิ่งฟัง เขามองหน้าจ้องตา วรรณารีบเบือนหน้าหนีสายตาของเขา... เพราะเป็นผู้หญิงสู้สายตาผู้ชายก็เหมือน ‘เล่นด้วย’

“เอ้า รูป...” ว่าแล้วเขาก็ดึงซองกระดาษในกระเป๋ายื่นให้ วรรณยื่นมือไปรับแล้วถามว่า “เท่าไหร่”

“ฟรี...”

“ขอบใจนะ...ไปกลับบ้านไปได้แล้ว คุยนาน ๆ น่าเกลียด”

“รู้หรอกน่า...ว่าหัวโบราณ...ไปแล้วนะ คิดถึงกันบ้างนะ” เขาพูดยิ้ม ๆ ทำเหมือนไม่อยากจะไป วรรณเบะปากให้ แล้วเขาก็ผละออกไป แต่กว่าจะลับตาได้ เขาก็หันมา ยิ้มและโบกมือให้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า...วรรณาหน้าแดงซ่านขึ้นมา ยอมรับว่า วูบไหวกับกิริยาของเขา...

หลังจากดึงรูปออกมาจากซองกระดาษ วรรณาก็เห็นว่า เขาอัดรูปมาให้เธอเสียหลายบาน...และรูปสุดท้ายนั้นเป็นรูปของเขาซึ่งอยู่ในชุดเสื้อยืดคอปกพอดีตัว สวมกางเกงขายาว ใส่รองเท้าหนังหุ้มส้นเรียบร้อย เขาเต๊ะท่าอยู่กับจักรยานคันหนึ่ง...ด้านหลังเป็นฉากเรือนแถวไม้สองชั้น...น่าจะเป็นที่ตลาดชุมแสง...และด้านหลังรูปก็มีข้อความว่า

‘ให้วรรณาไว้ดูยามคิดถึงกัน...มงคล(สี่) พ.ย.๒๕๑๐’

**************

พอวรรณาปฏิเสธที่จะออกมาดูหนังกับเขา มงคลที่เดินออกจากร้านของนางหุยมาแล้วก็ไหวไหล่...ใจของเขานั้นหาได้ยี่หระกับ ผู้หญิงที่ ‘เล่นตัว’ กับเขาสักนิด เมื่อวรรณาปฏิเสธไมตรีของเขา เขาก็มีที่หมายใหม่ในทันที...เพราะในตลาดปากน้ำโพนี้ เขาหว่านเสน่ห์ไว้ทั่ว...ที่เขาตอแยทำท่าเหมือนหลงใหลในความสวยงามของวรรณาก็เป็นเพราะอยากเอาชนะ เหมือนที่เขาเคยทำกับผู้หญิงมานักต่อนัก และพอบรรลุเป้าหมาย ก็คือ ‘ร่างกาย’ ที่ทอดให้เขาเชยชม ในโรงแรม หรือตามที่รกร้างข้างทาง ผู้หญิงเหล่านั้นก็จะกลายเป็นเพียงคนที่เขาแค่เคยรู้จักในทันที...

มงคลเดินอ้อยอิ่งผ่านหน้าโรงเรียนสอนเสริมสวย...พรางปรายตามองเข้าไปในร้าน

‘มาลา’ ที่ยืนอยู่หน้ากระจกหันมาสบตา...เขาแย้มริมฝีปากให้ แล้วสะบัดหน้าเบา ๆ เพียงแค่นั้น มาลาก็รู้แล้วว่า จะต้องเดินตามเขา มาพูดคุยกัน...

พอพ้นหัวมุมเรือนแถว เขาก็หยุดรอหญิงสาว อึดใจใหญ่ ๆ มาลาก็เดินเข้ามาหา...ใบหน้ายิ้มแย้มดวงตานั้นเป็นประกาย

“วันนี้ ว่างพอจะไปดูหนังด้วยกันไหม”

“วันนี้เหรอ” มาลาชักสีหน้าครุ่นคิด...

“ถ้าไม่ว่าง ก็ไม่เป็นไร ...เฮียไปดูคนเดียวก็ได้”

“ว่าง ซิ ว่าง...ทีแรกก็นึกว่าเฮียจะไม่อยากไปดูหนังกับหนูอีกแล้ว...” เพราะครั้งแรกที่ไปด้วยกัน มือไม้ของมงคลนั้นยุ่มย่ามอย่างกับหนวดปลาหมึก มาลาสาวจาก ตำบลเขากะลา แกะมือของเขาออกจากไหล่ จากมือ และต้องคอยหลบปลายจมูกของเขาอยู่ตลอดเวลา...กระทั่งหญิงสาวตัดสินใจลุกหนีเดินออกมาจากโรงหนัง...โดยที่เขาไม่ได้ตามมางอนง้อแต่อย่างใด

ตั้งแต่วันนั้น เขาก็ไม่มาตอแยอีก...ใจของมาลาร้อนรุ่มเพราะคิดว่าเขาจะต้องโกรธที่ตนเล่นตัว...แต่วันนี้พอเขากลับมาพร้อมกับสายตาเสน่หา มาลาก็แทบจะถลาตามเขาออกมาจากในร้านที่ตนเองฝึกงานอยู่...เพราะรู้แล้วว่า ความคิดถึงนั้นมันทรมานเพียงใด...

***************


“ม้า...ม้า...ม้า”

“หือ...” นางย้อยที่นั่งอยู่หลังโต๊ะบัญชีสะดุ้งเมื่อพิไลวางกาน้ำชาลง แล้วร้องเรียก

“ม้าเป็นอะไร หมู่นี้ดูเหม่อลอย คิดอะไรอยู่หรือจ๊ะ”

“คิด...เอ่อ...ไม่ได้คิดอะไรหรอก...” ว่าแล้วนางย้อยก็ถอนหายใจออกมา พิไลสังเกตเห็นว่าใบหน้าของนางย้อยนั้นหมองคล้ำ ดวงตาอิดโรยเหมือนคนนอนไม่หลับ ครุ่นคิดหาทางออกกับปัญหาบางอย่างอยู่ตลอดเวลา...

“คิดเรื่องอาซาหรือเปล่า” พอเห็นหนทางที่จะเข้าครอบครองกิจการโรงสี พิไลจึงรีบฉวยโอกาสทันที

นางย้อยเหลือบตามองพิไล แล้วถอนหายใจออกมา...ความในใจนั้นยังคงเก็บงำไว้เช่นเดิม

“หรือว่า คิดเรื่อง ตั่วเฮีย...” คำว่า ‘ตั่วเฮีย’ นั้นแม้จะเอ่ยออกมาด้วยน้ำเสียงราบเรียบเต็มไปด้วยความยกย่องนับถือตามธรรมเนียม แต่ลึก ๆ คำนั้นก็ยังเป็นการสะกิดความรู้สึกเจ็บของพิไลอยู่ไม่วาย

...เป็นเพราะอีเรณูมันเล่นของสกปรก...เขาจึงต้องกลายเป็นของมัน มันทำให้ความรักและแผนชีวิตของพิไลพังครืนจนตั้งตัวรับมือแทบไม่ทัน ...วันหน้า ชีวิตของมันก็จะต้องพังไม่เป็นท่า ด้วยน้ำมือของพิไลเช่นกัน...พิไลแอบตั้งเป้าไว้อย่างนั้น

“นี่อาตงไปไหน”

“ไปท่าเรือ รอรับของ กับป้อม...” ตรวจรับสินค้าแล้ว เขากับป้อมก็จะช่วยกันขนไปเก็บไว้ในโกดังที่โรงสี...

“อืม...”

“ม้า เรื่องอาซา ม้าอย่าหาว่าหนู อย่างนั้นอย่างนี้เลยนะ”

“อย่างนั้น อย่างนี้ อะไร ทำไม” หัวคิ้วของนางย้อยขมวดเข้าหากัน

“ก็อย่าหาว่า ...ว่าหนู สาระแนละกัน คือ ถ้าม้าเห็นว่าอาซากับลูกสาวกำนัน ดูเหมาะสมกัน ม้าก็ให้อาซารีบแต่งเถอะ ม้า...อย่ารอไปถึงเดือนหกปีหน้าเลย มันนานมากนะม้า”

“นานแล้ว ทำไม”

“ก็ ถ้ามีคนไปสู่ขอลูกสาวเขา ตัดหน้าเราไปซะก่อนละม้า...โอกาสที่จะเป็นทองแผ่นเดียวกับกำนันก็จะหายไปทันที”

“ไม่เป็นก็ดี เพราะอาซามันก็ยังไม่ได้บวช...แล้วมันก็อายุเท่านี้เอง”

“ม้าก็รู้นี่ว่า ทางนั้นเขารวยและกว้างขวาง แค่ไหน...หนูคิดว่าที่เขาเลือกเรา ก็เพราะเห็นว่า เรา เอ่อ ด้อย กว่าเขาหน่อย พอที่จะ ดึง อาซาไปเป็นลูกชายของเขาได้หรอก แต่ถ้ามีคนที่เหนือกว่าเราผ่านเข้ามาแทนล่ะ หนูว่า เขาก็จะต้องรีบตกลงแน่ ๆ”

“ถ้าเขามีคนที่ดีกว่าอาซา เขาก็คงไม่เร่มาหาเราหรอก”

“ทางเราก็มีดี ดีมากด้วย แต่ ดีกว่าเรามันก็มีนี่ม้า แต่เขาให้โอกาสเราก่อน เพราะอาศรีแกคงถูกใจอาซา แต่ถ้าเราเล่นตัวจนทำให้เขารู้สึกอับอายที่เหมือนเอาลูกสาวมาเร่ขายเหมือนของไม่มีราคา เขาก็อาจจะเปลี่ยนใจได้นะม้า...”

นางย้อยนิ่งคิดตาม...เพราะที่พิไลพูดมามันก็ถูก...เป็นเพราะนางศรีชอบอาซา จึงได้ออกหน้าเป็นแม่สื่อ ชักนำให้กำนันเดินเข้ามาหาถึงที่นี่ ทั้งที่เป็นฝ่ายหญิง แต่นางกับลูกก็ยังยักท่า ผลัดนั่นผลัดนี่เหมือนไม่อยากรับไมตรีของเขา...เขาก็อาจเข้าใจได้ว่า เป็นการปฏิเสธโดยละม่อม...

แต่ว่าอีกแปดเดือน มันก็ไม่ได้นานสักเท่าไหร่...นางย้อยคิดเข้าข้างตัวเองเหมือนเดิม

“ม้า...ม้ากังวลว่า ถ้าอาซาแต่งไปแล้ว จะไม่มีคนช่วยงานเตี่ยที่โรงสีใช่ไหม เพราะตั่วเฮียก็ยังไม่ปลดทหาร”

“อือ...”

“ก็ อาเฮียไงม้า...เฮียตงก็ยังอยู่ทั้งคน...”

“แต่อาตงจะต้องอยู่ช่วยงานที่ร้านนี้”

“ม้า อย่าลืมซิ ว่าตอนนี้ ร้านนี้ มีหนูเข้ามาช่วยอีกแรงแล้ว...คนงานก็อีกสองคน...ถ้าอาซาแต่งไปกับลูกสาวกำนัน ก็ให้เฮียตงไปอยู่โยงที่โน่นก็ได้...”

นางย้อยนิ่งคิด...แล้วนิ่งเงียบ... พิไลเห็นว่า นางย้อยคงจะไม่ใจอ่อนง่าย ๆ หญิงสาวจึงค่อย ๆ เลี่ยงออกไป...โดยใจก็ครุ่นคิดว่า มันจะต้องมีหนทาง ‘เขี่ย’ กมลไปให้พ้นทาง เพื่อที่สามีของตนจะได้ไปครอบครองกิจการโรงสีนั่นแทนโดยเร็วพลัน

--------------

ตั้งแต่มาอยู่ชุมแสง และเป็นแม่ค้าขายขนมตอนเช้า เรณูไม่เคยเห็นนางย้อยมาเดินตลาดเช้า...แต่วันนี้ พอเห็นนางย้อยเดินยิ้มแย้มทักทายพูดคุยกับบรรดาแม่ค้าบนแผงในตลาดและที่วางหาบอยู่กับพื้น...เรณูก็แสยะยิ้ม...เพราะมั่นใจได้ว่า ขนมหม้อแกงที่พิไลมาสั่งไว้เมื่อวันก่อนนั้น ‘ออกฤทธิ์’ อย่างแน่นอน...

อึดใจใหญ่ ๆ นางย้อยก็เร่...จากด้านในชายคาตลาด เดินออกมายังบริเวณแถวหาบของแม่ค้า...เสียงทักทายถามไถ่หยอกเย้าดังมาเข้าหูของเรณู...

“ร้อยวันพันปีไม่เคยเห็น พี่ย้อยออกมาเดินตลาดเช้า...วันนี้นึกครึ้มใจอะไรล่ะ”

“ไม่ได้ครึ้มใจอะไร ก็แค่อยากออกมาดูนั่นดูนี่บ้าง...”

“...มาตั้งนานแล้ว ไม่เห็นได้อะไรสักอย่าง ช่วยฉันซื้อผักกาดเขียวหน่อยเถอะ”

“นึกไม่ออกว่าจะทำอะไรกิน”

“แกงส้มไง โน่นปลาช่อนเจ้าโน้น เพิ่งมา ตัวใหญ่เบิ้มเลย”

“โอ๊ย...ฉันไม่ฆ่าปลามานานเนแล้ว”

“ก็ให้เขาทำให้ ก็ได้นี่”

“ชี้ให้เขาทำ มันก็บาป”

แล้วเรณูก็ได้ยินเสียงแม่ค้าอีกคนแย้งขึ้นมาว่า “แม่ย้อย รู้จักเรื่องบาปกรรมด้วยรึ”

“อ้าว...ทำไมจะไม่รู้ล่ะ ลูกฉันบวชตั้งสองคนนะ...แล้วฉันก็ฟังเทศน์ฟังธรรมตั้งแต่หัวเท่ากำปั้น” น้ำเสียงนั้นไม่มีความขึ้งโกรธแต่อย่างใด...

และอึดใจ เรณูก็เงยหน้ามองนางย้อยที่เดินมาหยุดอยู่ที่หน้าหาบ...ตาสองคู่ประสานกัน แล้วเรณูก็ยิ้มแหย ๆ ให้...เพราะตั้งแต่วันที่นางย้อยไปหาที่โรงสีเพื่อด่าทอ...ขับไล่ไสส่งให้ไปให้พ้นจากชีวิตของปฐม...เรณูก็ไม่ได้พบนางย้อยอีกเลย...

สายตาของนางย้อยนั้นว่างเปล่า ไม่มีแรงเกลียดชังซุกซ่อนอยู่ภายในใจเหมือนที่เคยเห็น...

และที่ทำให้บรรดาแม่ค้าในบริเวณต้องชักสีหน้าแปลกใจ เมื่อได้ยินนางย้อยทักเรณูขึ้นก่อนว่า “วันนี้ทำอะไรมาขาย”

“ทำถั่วแปบจ้ะ...”

“เหลือเยอะเลยนี่...ขายไม่หมดจะทำอย่างไร”

“ก็คงต้องหาบเร่ไปตามตรอกซอกซอย แหละจ้ะ...” ตอบนางย้อยไปด้วยน้ำเสียงเรียบ ๆ แล้ว เรณูก็นิ่งเงียบ...แสร้งก้มหน้าปัดแมลงวันที่มาตอมขนมโดยหูก็พยายามเงี่ยฟังว่านางย้อยจะพูดเรื่องอะไรกับตนอีก

...เรณูได้ยินเพียงเสียงถอนลมหายใจ แล้วนางย้อยก็เดินจากไป...เรณูมองตามหลังไป แล้วหูก็ได้ยินแม่ค้าขายผักที่นั่งอยู่ติดกันถามขึ้นว่า

“แม่ผัวเอ็งกินยาผิดขนานหรือเปล่าเรณู”

***********

เดินกลับมาจากตลาด นางย้อยก็พบเจ๊กเซ้งนั่งดื่มน้ำชาอยู่ที่โต๊ะอาหาร...นางย้อยมองไปทางบนบ้านเห็นว่ายังไม่มีวี่แววว่าลูกชายคนที่สามจะตื่นนอน นางย้อยจึงพูดว่า

“เฮีย อั๊วมีเรื่องจะปรึกษาหน่อย...”

“ปรึกษาเรื่องอะไร”

นางย้อยทรุดตัวลงนั่งบนเก้าอี้แล้วบอกว่า “อั๊ว...ไม่สบายใจเรื่องอาเรณู...”

พอได้ยินดังนั้น เจ๊กเซ้งก็ถอนหายใจออกมาอย่างแรง...เพราะคิดว่า เป็นเพราะนางย้อยไปเดินตลาดแล้วเห็นหน้าเรณู อารมณ์เกลียดชัง ก็เลยพลุ่งพล่านขึ้นมาอีก

“ปล่อยอีไปเหอะน่า ต่างคนต่างอยู่เถอะ”

“ปล่อยอีไปได้อย่างไรล่ะ อีนั่งตากหน้าอยู่ตรงนั้น ก็เหมือนนั่งประจานเรา...อั๊วเห็นแล้ว อั๊วรู้สึกไม่สบายใจ”

หัวคิ้วของเจ๊กเซ้งขมวดเข้าหากัน ก่อนจะถามเหมือนไม่เชื่อหูตัวเองว่า “ลื้อว่าอะไรนะ”

“อั๊ว ไม่อยากให้อีไปนั่งขายขนมอยู่ตรงนั้น หรือหาบของขายไปตามตรอกซอกซอย...ให้เราพลอยขายขี้หน้าชาวบ้านไปด้วย...” เผยความในใจแล้ว สีหน้าหนักใจของนางย้อยก็ดีขึ้น...

เจ๊กเซ้งนั่งนิ่งมองหน้า... ในใจเต็มไปด้วยความสงสัยว่า มันเกิดอะไรขึ้น มีอะไรมาดลบันดาลใจให้เมียของตนเปลี่ยนไปได้ถึงเพียงนี้...แต่ว่านางย้อยก็ไม่ยอมพูดอะไรต่อ หลังปล่อยให้ความเงียบเข้าครอบงำอยู่อึดใจใหญ่ ๆ เจ๊กเซ้งก็เอ่ยถามว่า

“ทำไมลื้อ ถึงเพิ่งคิดได้”

“อาเฮีย!” นางย้อยเสียงสูง

“มีใครมาต่อว่าลื้อ รึเปล่า”

“ไม่มีใครพูดอะไรหรอก อั๊วคิดได้ของอั๊วเอง...”

“ไม่ให้อีขายของ แล้วลื้อจะให้อีทำอะไร...จะให้อีอยู่บ้านเฉย ๆ รึไง อีคงไม่ยอมหรอก ถ้าจะให้อีทำงานที่โรงสี งานมันก็หนักเกินไป แล้วงานที่คอกหมู มันก็มอมแมมและเหม็นเกินจะทนด้วย”

“อั๊วอยากให้อีมาช่วยงานที่ร้าน หรือไม่ เราก็ต้องหาลู่ทางเช่าห้อง เช่าแผง ให้อีทำมาค้าขายให้เป็นเรื่องเป็นราว...”

“นี่...อั๊วหูไม่ได้ฝาดใช่ไหมอาย้อย”

“อั๊วพูดจริง ๆ อั๊วสงสารอี...แล้วอีกอย่าง อั๊วก็อยากชดเชยอะไรต่อมิอะไรให้ตี๋ใหญ่มันบ้าง...มีเมียก็ไม่ได้เสียเงินแต่งงานสักสตางค์แดงเดียว...ร้านนี้ที่ควรจะเป็นของมัน ก็ต้องยกให้อาตง...อั๊วบอกตรง ๆ อั๊วรู้สึกว่า อั๊วเป็นแม่ที่ใช้ไม่ได้เอาเสียเลย...”

เจ๊กเซ้งนิ่งคิด...

“เรื่องนี้ รู้แค่สองคนก่อนนะเฮีย อย่าเพิ่งพูดให้อาตง กับอาซา หรือใครรู้ไปล่ะ...”

“ทำไมรึ”

“หาทางออกให้เรณูมันได้แล้ว ค่อยบอกดีกว่า...พูดให้รู้ตอนนี้ เดี๋ยว เอ่อ...เดี๋ยว จะมีคนขัดเอา”

“ใครมันจะกล้าขัดความคิดลื้อ”

“อาพิไลไงล่ะ...ถ้าอั๊วยกย่องยอมรับอาเรณู เปิดร้านเปิดรวงให้ทำมาหากิน มันจะต้องเต้นเร่า ๆ แน่ ๆ...คนอย่างอีนี่มันไม่อยากให้ใครได้ดีเกินหน้ามันหรอก...”

**************

เมื่อเห็น หมุ่ยนี้ ปลัดจินกร และ จันตา พากันมาที่โรงสีพร้อมกับเรณู เพื่อใช้สถานที่ทำ ‘ข้าวแคบ’ อาหารท้องถิ่นบ้านเกิดของจันตา ไม่ใช่แค่กมลที่รู้สึกว่าปั้นหน้าได้ให้เป็นปกติได้ยาก แม้แต่ประสงค์ที่เพิ่งขนของเข้าเก็บในโกดังเสร็จ ออกมาเห็นพอดี ก็หน้าเจื่อน ๆ เพราะ...เพราะเมื่อเห็นหน้าจันตา ความรู้สึก ‘เสียดาย’ ก็ยังตามมาจู่โจมความรู้สึก...

เมื่อทั้งขบวนพากันไปที่กระท่อมของเรณูแล้ว... ประสงค์ก็ทรุดตัวลงนั่งมองน้องชายที่ยังคงมองคนกลุ่มนั้นอยู่...

“คิดอะไรรึ...”

“เจ็บจมูก...” ว่าแล้วกมลก็ใช้มือข้างขวาบีบปลายจมูกของตนเบา ๆ... แค่นั้นประสงค์ก็รู้ว่า อาการนั้นมีนัยอะไร... ‘จันตาอาจหาญพาผู้ชายมาเหยียบถึงปลายจมูกของกมล’


แม้จะไม่ได้เรื่องไม่ได้ราวเรื่องหุงหาข้าวปลาอาหารและงานบ้านงานเรือน แต่เรื่องกินเรื่องอยู่ เรื่องเสื้อผ้าของประสงค์ พิไลเอาอกเอาใจเขาเป็นอย่างดี...เห็นผัวทำงานจนเหงื่อแตกเต็มใบหน้า พิไลก็จะส่งผ้าขนหนูสะอาดมาให้ซับเหงื่อ...หรือไม่ก็เดินไปตักน้ำฝนในโอ่งแล้วหยดยาอุทัยทิพย์มาส่งให้ดื่มเพื่อดับกระหาย วันนี้พอประสงค์เดินตามป้อมกลับมาที่ร้าน พิไลที่นั่งอยู่หน้าร้านก็ร้องทัก... “หิวน้ำไหมเฮีย...”

ประสงค์ส่ายหน้าก่อนจะถามว่า “แล้วกินข้าวกลางวันหรือยัง”

“ยัง รอเฮีย...วันนี้เราออกไปหาก๋วยเตี๋ยวเย็นตาโฟกินกันไหม”

“แล้วที่ม้าทำไว้ให้ล่ะ”

“กินคนละชามก็ได้ ถ้าไม่อิ่ม ก็ค่อยกลับมากินของม้า ไปนะ ไปเลยแล้วกัน...” ว่าแล้วพิไลก็ฉุดแขนของประสงค์ให้เดินตามตนไป...

ระหว่างที่ละเลียดเส้นก๊วยเตี๋ยวเข้าปาก พิไลที่ยังมีเรื่องของกมลคาอยู่ในใจ ก็เริ่มชวนประสงค์พูดคุย...เพื่อหาช่องทาง ทำให้กมลแต่งงานไปอยู่ที่ฆะมังเสียโดยเร็ว

“เฮีย...เฮีย พอรู้ว่า อาซา เขามอง ๆ ลูกสาวบ้านไหนไว้บ้างไหม”

“ถามทำไม”

“เห็นเขาถูกจับคลุมถุงชน ก็เลย อยากรู้ว่า ถ้าม้าให้หาเมียได้ตามใจ เขาจะเลือกใครมาเป็นคู่สะใภ้ของฉัน...”

ประสงค์นิ่งคิด แล้วก็บอกสั้น ๆ ว่า “ไม่รู้ซิ”

“พี่น้องกัน...แล้วก็เป็นผู้ชายเหมือนกัน มันต้องเผยเรื่องในใจให้รู้บ้างหละ เฮียอย่าปิดฉันเลยนะ...ที่ฉันถาม เพราะฉันหวังดีกับอาซาหรอก...”

ประสงค์ชะงักมือที่มีตะเกียบแล้วเงยหน้าสบตาของพิไล...

“คือ แบบนี้ เรื่อง อาซากับอาเพียงเพ็ญลูกสาวกำนันตำบลฆะมังน่ะ...ฉันมาคิด ๆ ดูแล้ว เหมือนทางเรา จะเล่นตัวไปนะ...ฉันเกรงว่าทางนั้นจะรู้สึกละอายที่เหมือนเอาลูกสาวมาเร่ขายแล้วเราก็ทำเป็นเล่นตัว ทีนี้ เขาก็จะตั้งแง่เอาบ้าง หรือดีไม่ดี มีคนที่คู่ควรเหมาะสมกัน ชิงตัดหน้ามาสู่ขอไปก่อน โอกาสดี ๆ ของอาซาก็จะหลุดลอยไป บอกตรง ๆ ว่าถ้าเป็นอย่างนั้น ฉันรู้สึกเสียดายแทน”

ประสงค์นิ่งคิดตามคำของพิไล...

“สรุปว่า อาซา มองสาวบ้านไหนอยู่รึเฮีย...บอกให้ฉันรู้หน่อย จะได้เปรียบเทียบกันว่า มันจะคุ้มค่ากับการเสียโอกาสดี ๆ ไปไหม” พิไลยังไม่เลิกตะล่อม พอฟังเหตุผลของเมียนั้นดูเข้าที ประสงค์จึงบอกว่า

“ที่เห็น ๆ ก็ เหมือนว่า อาซาจะชอบ ลูกจ้างร้านสังฆภัณฑ์...ที่มาจากอุตรดิตถ์อยู่น่ะ”

“จริงเหรอเฮีย...”

“แต่อาซาคงไม่มีหวังแล้วแหละ” แล้วประสงค์ก็เล่าถึงเหตุการณ์ที่โรงสีเมื่อตอนสาย ๆ ให้พิไลได้ฟังคร่าว ๆ พิไลซักถามพอเป็นพิธี โดยในใจก็คิดว่า เรื่องที่อาซาหมายตาผู้หญิงที่มีฐานะด้อยกว่า... น่าจะทำให้นางย้อยรีบเร่งให้เขาแต่งงานกับเพียงเพ็ญในเร็ววันอย่างแน่นอน...

พอสบโอกาสในช่วงที่ช่วยนางย้อยทำอาหารเย็น...พิไลที่นั่งหั่นหมูให้แม่ผัวทำแกงพะแนง...ก็เปรยขึ้นว่า...

“ม้า หนูมีเรื่องอะไรจะเล่าให้ฟัง...”

นางย้อยที่หาเครื่องแกงโยนใส่ครกเพื่อให้พิไลตำ หลังจากหั่นหมูเสร็จชะงักมือ...

“เรื่องอาซาน่ะม้า...หนูรู้แล้วว่า เพราะอะไรอาซาถึงไม่อยากแต่งงานกับลูกสาวกำนันศร” พิไลบอกแค่นั้นแล้วก็ก้มหน้าหั่นหมูต่อ พอหูได้ยินคำถามว่า

“เพราะอะไร” พิไลแสยะยิ้มแล้วแสร้งชะเง้อไปทางหน้าร้าน ก่อนจะบอกว่า

“ เพราะ เอ่อ อาซาเขาไปชอบเด็กในร้านสังฆภัณฑ์น่ะม้า...เห็นเขาร่ำลือกันว่า อีเป็นคนสวยบาดจิตบาดใจ ม้าก็คงเคยได้ยินเรื่องหน้าตาของอีมาบ้างมั้ง...”

“ร้านไหน”

“ร้านอาแจ้หมุ่ยนี้...”

คำว่า หมุ่ยนี้ ทำให้นางย้อยนึกถึงลูกจ้างของหมุ่ยนี้ที่ชื่อจันตาซึ่งเป็นสาวสวยมาจากเมืองลับแลอุตรดิตถ์ จันตาที่คอยติดสอยห้อยตามนางป๋วยฮวยไปวัดในวันพระนั้น นางย้อยคุ้นหน้าเป็นอย่างดี...

ตอนที่เห็นจันตาครั้งแรก นางย้อยยังนึกเอ็นดูในความน่ารักของเจ้าหล่อน จนนึกอยากได้จันตามาเป็นลูกสะใภ้ของตน แต่พอรู้ว่าจันตาไม่ใช่หลานสาวของนางป๋วยฮวย แต่เป็นเพียงเด็กในร้านที่นางป๋วยฮวยได้ตัวมาจากทางเหนือ นางย้อยก็เลิกล้มเลิกความคิดนั้นทันที...

ลูกสะใภ้ของนาง จะต้องมีฐานะเท่าเทียมกัน ถ้าด้อยกว่า ก็ต้องเป็นลูกชาวนาที่มีไร่นาสาโท หรือไม่ก็ต้องมีการศึกษาซึ่งจะเป็นใบเบิกทางในการหาเลี้ยงชีพได้ในอนาคต แต่จันตานั้นไม่มีอะไรสักอย่างที่คู่ควรกับลูกชายของนาง...ความน่าเอ็นดูนั้นจึงกลายเป็นเพียงแค่รู้สึกสบายตาเมื่อได้เห็นหน้าเท่านั้น...

นางย้อยจึงไม่รู้สึกแปลกใจเลยสักนิดว่าทำไม กมลถึงได้ถูกชะตากับจันตา...

และคำพูดอีกยืดยาวของพิไลก็ทำให้นางย้อยเริ่มเห็นว่า ขืนชักช้ารอไปจนถึงเดือนหกของปีหน้า ดีไม่ดี กมลอาจจะฮึดสู้เพื่อหัวใจของตนเองก็เป็นได้...

ค่ำวันนั้น ระหว่างที่กมลกำลังอาบน้ำอยู่ นางย้อยก็ถามเจ๊กเซ้งขึ้นว่า “เรื่องที่ให้ไปถามนังเรณูได้เรื่องไหม”

“ได้...อี บอกว่า ถ้าอีไม่ได้ขายขนม อีก็อยากเซ้งร้านขายเสื้อผ้า แล้วอีกอย่าง น้องสาวอีที่ชื่อวรรณา ก็เรียนตัดเย็บสำเร็จแล้วด้วย อีอยากดึงให้น้องอีมาอยู่ด้วยกัน...”

“แล้วอีถามกลับรึเปล่าว่า เฮียอยากรู้ไปทำไม”

“ไม่ได้ถามหรอก...อ้อ วันนี้ อี พาอาหมุ่ยนี้ กับ ลูกจ้างคนหน้าตาดี ๆ มาทำข้าวแคบที่โรงสีด้วยนะ”

“อะไรคือข้าวแคบ”

“ที่อาเรณูอีถือมาให้ชิม หน้าตามันก็คล้าย ๆ กับข้าวเกรียบปากหม้อนั่นแหละ เป็นแผ่นแป้งเหมือนก๋วยเตี๋ยวเส้นใหญ่ แล้วจิ้มกับน้ำจิ้มเผ็ด ๆ เปรี้ยว ๆ อร่อยดีเหมือนกัน”

“เลยไม่ได้กินกับข้าวที่อั๊วทำไปให้เลยซินะ”

“กินอะไร มันก็ไม่เหมือนกินข้าวหรอกน่า แล้วฝีมือใครก็สู้ฝีมือแม่ย้อยไม่ได้หรอก”

“แล้วลูกจ้างอาหมุ่ยนี้ ใช่คนชื่อจันตารึเปล่า”

“ใช่มั้ง อั๊วก็ไม่รู้เหมือนกัน...ไม่ได้ถาม รู้แต่ว่า อีหน้าตาน่ารักดี”

“แล้วพวกนั้นนึกอย่างไร ถึงพากันไปทำข้าวแคบข้าวเคิบที่โรงสีของเรา”

“คือ ไอ้ข้าวแคบนี่มันก็เหมือนข้าวเกรียบนี่แหละ แซะออกมาจากปากหม้อแล้วจะกินเลยก็ได้ จะเก็บไว้กินวันหลังก็ต้องเอาไปวางบนตับหญ้าคาแล้วก็ตากแดดให้แห้ง...คือที่โรงสีบ้านเรามันกว้างขวางดี แล้วอาเรณูอีก็อยากทำเป็น ก็เลยให้อาจันตาอีมาสอน...อ้อ...ไม่ได้มาแต่หมุ่ยนี้กับจันตาหรอกนะ มีคุณปลัดหนุ่มมาด้วยอีกคน อั๊วก็จำชื่อเขาไม่ได้”

พอได้ยินดังนั้น หัวคิ้วของนางย้อยก็ขมวดเข้าหากัน...

“แต่อาซามันบอกว่า อาปลัดคนนี้ เขามาติดพันอาจันตานะ”

“แล้ว อาจันตาอีเล่นด้วยหรือเปล่าล่ะ”

“ถ้าไม่เล่นด้วย จะมาด้วยกันได้อย่างไรล่ะ”

“แล้วตอนที่เขาทำข้าวแคบกัน อาซามันอยู่ที่ไหน มันมีปฏิกิริยาอะไรไหม”

“มันก็ทำงานอยู่ที่โรงสีเหมือนที่เคยทำ พวกนั้นก็อยู่ที่กระท่อมนั่นแหละ ทำเสร็จแล้ว อาเรณูอีก็ถือมาให้ชิม...”

แม้จะรู้สึกโล่งอก แต่นางย้อยก็ยังไม่วางใจนัก...เพราะตราบใดที่จันตายังเป็นโสด กมลก็ยังมีโอกาส...และเวลาอีกตั้งหลายเดือน ไม่ใช่แค่กมลฝ่ายเดียวที่มีโอกาส ทางกำนันศรก็มีโอกาสเหมือนกัน คิดได้ดังนั้นแล้ว นางย้อยก็สรุปในใจว่า ถ้านางศรีมาเอาคำตอบในอีกไม่กี่วันข้างหน้า นางก็จะบอกว่าพร้อมให้อาซาแต่งออกไปอยู่ที่ฆะมัง

ส่วนงานที่โรงสี คงให้อาตงไปดูแทน แล้วงานของอาตงก็ให้เรณูมาทำแทน...

***********************************


Title: Re: กรงกรรม บทประพันธ์ของ จุฬามณี
Post by: นักประพันธ์ on 01 March 2020, 22:36:51
ตอนที่ 19 : ลูบคม


            ๑๙


แม้จะถูกกำนันศรสั่งห้าม ไม่ให้มาป้วนเปี้ยนในบริเวณบ้านเหมือนอย่างที่เคย แต่ทิดก้านก็หาได้เชื่อฟัง เขายังคงเทียวไล้เทียวขื่อไปที่บ้านของกำนันศรอย่างไม่เกรงกลัวหัวตะพดและประกาศิตของกำนันแต่อย่างใด

โดยเขาอ้างกับกำนัน นางสมพร และนางแรมที่คอยกันท่าเขาไม่ให้พบกับเพียงเพ็ญว่า

“ผมแวะมาเที่ยวหาคนเคยทำงานด้วยกัน มันผิดด้วยรึพ่อกำนัน”

“ถ้ามาแค่นั้น มันก็ไม่ผิด...แต่ถ้าคิดจะมาในเขตเรือนนี้ เพื่อทำรุ่มร่ามกับลูกสาวข้า ข้าก็บอกเอ็งไปแล้วว่า ข้าไม่ชอบ ไม่สนับสนุน”

“ข้อนั้นผมรู้ดีว่าผมมันไม่คู่ควรกับลูกสาวพ่อกำนัน”

“เจียมตัวไว้ มันก็ดี...” กำนันศรบอกสั้น ๆ แต่ก้านตีความไปว่า ‘เจียมกะลาหัวได้ก็เป็นดี’

ยิ่งคิดก็ยิ่งแค้น และยิ่งอยากเอาชนะ...

ในหัวของก้านในเวลานี้ มีแต่คำว่า ‘ฉุด’ ซึ่งหมายถึง พากันหนีแล้วกลับมาขมาในทีหลังนั่นเอง

แต่กำนันศรก็เหมือนนกรู้...แกได้พูดดักทางก้านไว้ว่า

“ถ้าเอ็งคิดจะฉุดคร่าลูกสาวข้าไป...หรือคิดหนีตามกันไป เอ็งก็ต้องพากันไปให้สุดหล้าฟ้าเขียว ไปให้พ้นรัศมีลูกปืนข้านะไอ้ก้าน...”

“ผมไม่กล้าทำอย่างนั้นหรอกพ่อกำนัน”

“ถ้าเอ็งทำ...ศพเอ็งจะไม่ได้เผาแน่ ส่วนอีลูกไม่รักดี ข้าใส่ตะกร้าล้างน้ำได้ รึอย่างง่ายสุด ก็ตัดหางปล่อยวัด ปล่อยมันไปตามยะถากรรม...คนไม่เคยตกยากลำบากอย่างมัน จะทนอยู่กับเอ็งได้สักกี่น้ำ...”

ก้านกัดฟันกรอด....พ่อกำนันปิดประตูเขาไปเสียทุกทาง...เหลือทางเดียวตามที่คิดไว้ คือ กำจัดศัตรูหัวใจให้พ้นทาง...เมื่อไม่ได้ครอบครองให้สมรัก เขาก็จะกันท่ามันทุกคนอยู่อย่างนี้....

**************


อาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้า ลงมานั่งที่โต๊ะอาหารซึ่งมีเตี่ยกับแม่นั่งรออยู่...กมลก็บอกว่า “เตี่ย ม้า กินข้าว”

นางย้อยสังเกตเห็นว่าสีหน้าลูกชายไม่ค่อยสดชื่นนัก จึงเอ่ยปากถามว่า “ไม่สบายหรือเปล่า หน้าตาไม่สดชื่น”

“สบายดีม้า” ว่าแล้วเขาก็ตักข้าวเข้าปาก...พยายามทำท่าว่าอร่อยเหมือนทุก ๆ มื้อที่เคยกินข้าวพร้อมหน้ากัน

“แน่ใจนะ...” นางย้อยถามอีกครั้ง... กมลสบตาแม่ แล้วบอกว่า

“แค่รู้สึกเหงา ๆ นะม้า...ตะก่อน เคยล้อมโต๊ะกินกันวงใหญ่ เดี๋ยวนี้ เหลือผมคนเดียวเอง...มันเลยรู้สึกกร่อย ๆ”

นางย้อยกับเจ๊กเซ้งลอบมองหน้ากัน.... แล้วนางย้อยก็สรุปได้ว่า ลักษณะซึมเศร้าของกมลนั้น ไม่ได้เกิดจากอารมณ์คิดถึงพี่น้อง แต่เกิดจากเรื่องบาดตาตำใจที่เกิดขึ้นในวันนี้แน่ ๆ...แต่ครั้นจะปลอบประโลมบ่งบอกว่ารับรู้เรื่องตื้นลึกภายในใจของเขา นางย้อยก็จำต้องเลี่ยง เพราะถ้า รับรู้ ก็เท่ากับ ยอมรับ ว่าลูกชายนั้น มีใจให้ แม่จันตาคนสวยจากเมืองลับแล...

“พรุ่งนี้เช้า กินแล้ว แก ต้องไป ฆะมัง กับม้ากับเตี่ยนะ”

“ไปทำไมม้า...”

“ไปดูหลักฐานบ้านเขาช่องพ่อกำนันเขาสักหน่อย ถ้าเห็นว่าเป็นจริง ดีจริง อย่างที่ว่าไว้ ก็จะได้ให้คำตอบเขาซะเลย”

“คำตอบอะไร”

“เรื่องแต่งงานของแก ม้าคิดว่า น่าจะหาฤกษ์แต่งในเดือนสิบสองนี่ซะเลย”

“อะไรนะม้า!...ไหนว่า จะรอให้ถึงเดือนหกปีหน้าไง...”

“แต่งเดือนสิบสองปีนี้ หรือ เดือนหกปีหน้า อย่างไรมันก็ต้องแต่งไม่ใช่รึ...”

“แต่ว่า ผมยังไม่อยากแต่งงาน...”

“ทำไมถึงไม่อยากแต่ง”

“ก็...ม้าบอกเองไม่ใช่รึ ว่า ยังไม่อยากให้แต่ง...ลูกเต้าไปกันหมดม้าก็จะเหงา”

“ตอนนี้ม้าเปลี่ยนใจอยากให้แต่งแล้ว...โอกาสดี ๆ มีเข้ามา ก็น่าจะรีบฉกฉวยไว้”

“เอ่อ...แล้วใครจะช่วยงานโรงสีล่ะม้า ตั่วเฮียก็ยังไม่ปลดทหารเลยนะ แล้วเตี่ยก็สุขภาพไม่ค่อยดี...” บอกแล้วเขาปรายตาไปมองผู้เป็นพ่อหวังให้ช่วยพูดให้บ้าง...แต่ว่าพ่อกลับซดน้ำแกงทำเหมือนไม่ได้ยิน ไม่เห็นสายตาของเขา

แสดงว่า แม่กับพ่อของเขาจะต้องปรึกษากันมาแล้ว และพ่อก็คงไม่ขัดใจแม่เหมือนเคย...

“ที่โรงสี ม้าจะให้อาตงมันไปทำแทนแก...”

“ม้าไว้ใจให้อาซ้อนั่งคุมเก๊ะเงินแล้วรึ”

“ยัง ยังไม่ไว้ใจหรอก...แต่ ม้าจะให้อาเรณูมันมาช่วยเป็นหูเป็นตาด้วยอีกคน...”

“อะไรนะม้า!”

“ลื้อฟังไม่ผิดหรอก ม้าจะให้เรณู เลิกขายขนม แล้วมาช่วยงานที่ร้าน...ถ้าแววอีดี ม้าคิดว่า พอตั่วเฮียของลื้อมันปลดทหารมา ม้าจะหาเซ้งร้านให้มันสองคนช่วยกันทำ ช่วยกันสร้างเนื้อสร้างตัวให้มีฐานะเทียมคนอื่น ๆ เขา...”

“นี่ผม ไม่ได้ฟังผิดไปใช่ไหมม้า”

**************


เช้าวันรุ่งขึ้น...พอประสงค์เดินมาเปิดร้าน จัดของ รอป้อม กับบุญปลุก นางย้อยก็เรียกลูกชายให้ไปนั่งคุยกันที่โต๊ะในครัว...

“มีอะไรหรือม้า...”

“เดี๋ยวสาย ๆ ม้า เตี่ยลื้อ อาซา จะไปฆะมัง กันนะ”

ประสงค์นั่งนิ่ง สายตามีคำถาม ว่าไปธุระอะไรกัน นางย้อยอธิบายเหตุให้ประสงค์ฟังคร่าว ๆ ซึ่งประสงค์ก็เข้าใจทันทีว่า เป็นเพราะคำพูดของพิไล แม่จึงต้องรีบให้กมลเข้าสู่ประตูวิวาห์ก่อนกำหนด...และพอได้ฟังทางออกของปัญหา หลังจากเลื่อนกำหนดงานแต่งของกมลให้เร็วขึ้น ประสงค์ก็ทำเสียงตกใจเช่นคนอื่น ๆ

“ม้า จะให้พี่เรณูเลิกขายขนม แล้วมาช่วยงานที่ร้านแทนผม”

“อืม...แต่ต้องเป็นหลังจากอาซามันแต่งงานไปแล้วนะ ตอนนี้ก็ให้มันขายขนมไปก่อน รึจะให้มันมาทดลองขายของดูก่อนดี ม้าก็ก็ยังคิดอยู่ ส่วนแกก็เตรียมตัวไปรับผิดชอบแทนอาซาได้เลย จะเอาอย่างไรดี สับตำแหน่งกันซะก่อนเลยดีไหม ติดขัดอะไร ก็ยังมีอาซาให้ถามได้”

“ม้าคิดดีแล้วรึ...” ที่ถามไปอย่างนั้น เพราะประสงค์รู้ดีว่า ถ้าเรณูมาช่วยขายของ พิไลจะต้อง ‘เต้น’ เป็นเจ้าเข้าแน่ ๆ...และที่สำคัญ อะไรก็ไม่เท่ากับว่า แม่ของเขา นึกเอ็นดู สงสาร และเห็นใจ จนนึกอยากช่วยเหลือเรณูได้อย่างไร...พิไลก็คงจะคิดเช่นเดียวกับเขา...

“คิดดีแล้ว...ปรึกษา เตี่ยลื้อ และอาซามันแล้ว...”

“แล้ว ม้าไม่โกรธเคืองอาซ้อแล้วรึไง” เมื่อเห็นว่าแม่ ‘เปลี่ยนไป’ ประสงค์จึงต้องเรียกเรณูตามฐานะ...ธรรมเนียมจีน

“โกรธ โกรธเคืองแล้วจะมีประโยชน์อะไร...ให้อีไปตากหน้าขายของอยู่ตรงนั้น ก็เท่ากับว่า ประจานหน้าเรา...สู้ให้อีมาช่วยขายของที่นี่ซะเลยดีกว่า คนจะได้มองเราดีขึ้น แล้วพอลื้อไปแทนอาซา อีมาแทนลื้อ ทุกอย่างมันก็เหมาะเจาะลงตัวดี...”

“แล้วอาซ้อรู้เรื่องนี้หรือยัง”

“ยัง ยังไม่ได้บอกอีหรอก รอกลับมาจากฆะมังก่อน...”

ประสงค์นิ่งตรองเหตุผลของแม่ แม้จะฟังดูเข้าที แต่มันก็ไม่น่าจะเป็นไปได้รวดเร็วปานนี้...

คนเกลียดกัน จนไม่อยากเห็นหน้า ไม่อยากพูดถึง จู่ ๆ จะเห็นอกเห็นใจกันได้อย่างไร?...มีอะไรมาดลจิตดลใจ?

“อาตง เรื่องอาเรณูจะเข้ามาช่วยงานที่ร้านนี้แทนแก อย่างไรเรื่องนี้ แกก็อย่าเพิ่งบอกให้เมียแกรู้นะ...”

“ทำไมรึม้า...”

“บางที ม้าอาจจะเปลี่ยนแผนก็ได้ รอให้เรื่องทางฆะมังมันสรุปก่อนแล้วกัน แล้วอีกอย่าง ลึก ๆ ม้าก็กังวลว่า เมียแกจะไม่พอใจเรื่องนี้ เพราะร้านนี้อย่างไรมันก็จะต้องเป็นของแกกับเมียแกในวันหน้า...แต่ว่า ตราบใดที่แกกับพิไลยังไม่มีลูกมีเต้าด้วยกัน ม้าก็ยังไม่อุ่นใจ ยังไม่ยินดีจะยกอะไรให้เสร็จเด็ดขาดตามที่เคยพูดไว้หรอกนะ...”

********

นับตั้งแต่เหยียบย่างเข้ามาช่วยค้าขาย วันนี้เป็นวันแรกที่ ‘แม่ผัว’ ไม่ได้ทำตัวเป็น ปู่โสมเฝ้าทรัพย์นั่งเฝ้าเก๊ะเงิน ระแวดระวังสมบัติจับตาดูพฤติกรรมของตน...พิไลมองตามหลังคนทั้งสามคนเดินไปยังท่าน้ำเพื่อนั่งรอไปฆะมัง ก็ยิ้มกริ่มออกมา...เพราะจากที่เคย ‘ขอ’ แบบ ‘หักคอ’ ไปซื้อขนม ซื้อของเข้ามากินวันต่อวันนั้น พิไลรู้สึกว่า มันยังได้น้อยไป กับเวลาและแรงกายที่ทุ่มเทลงไปให้...

วันนี้เมื่อ ‘แมว’ ไม่อยู่ พิไลตั้งใจไว้ว่า ถ้าหยิบเงินจากเก๊ะมาเข้าพกเข้าห่อสัก ร้อย หรือ ครึ่งร้อย นางย้อยจะไม่มีทางจับได้อย่างแน่นอน...

พิไลแสร้งง่วนจัดของ อยู่ใกล้ๆ เก๊ะ เพื่อรอจังหวะให้ประสงค์เผลอ หรือ เดินไปทางหลังบ้านอยู่อึดใจใหญ่ ๆ จนได้จังหวะที่ปลอดคนแล้ว ประสงค์ลุกออกไปเข้าห้องน้ำ...พิไลรีบกรากไปแทนที่ แต่ว่าเก๊ะตรงที่ใส่แบงก์ก็ล็อคกุญแจไว้...

นี่เขาก็ไม่ไว้ใจเธออย่างนั้นหรือ...

พิไลรู้สึกเดือดพลั่ก ๆ อยู่ในใจ

แต่เมื่อคิดทำการลงไปแล้ว ไม่ได้แบงก์สิบ ได้เหรียญในตะกร้าที่วางอยู่บนโต๊ะก็ยังดี...

หลังจากหยิบเหรียญ 1 บาท เหรียญ 50 สตางค์ เหรียญ 25 สตางค์ใส่กระเป๋าแล้ว พิไลก็เดินเข้าไปทางหลังบ้าน...เพื่อกินน้ำลดความตื่นเต้น...พอเดินออกมา ก็พบเรณูยืนคุยอยู่กับบุญปลูกที่หน้าร้าน...พิไลรีบเดินไปหาทันที...

“วันนี้ขายดีไหมซ้อ... วันนี้ไม่ได้ไปช่วยซื้อ ไม่ว่ากันนะ...คือกินทุกวันก็รู้สึกเบื่อน่ะ...”

“พี่เข้าใจ...ตอนแรกก็คิดว่าขนมหม้อแกงจะต้องเหลือแบะแบนให้ต้องหาบเร่ขายไปเรื่อยเหมือนทุก ๆ วัน...แต่พอ แม่ กับเตี่ยเดินออกไปเห็น...แม่ก็เหมาไปหมดเลย”

“เหมาไปหมดเลย” พิไลรู้สึกแปลกใจเป็นอย่างมาก

ประสงค์เดินออกมาจากหลังบ้านได้ยินพอดี...

“ใช่ พี่ก็ยังแปลกใจว่า เกิดอะไรขึ้น จู่ ๆ แม่ก็ญาติดีกับพี่ เมื่อวานมั้ง ก็ไปชวนคุย มาวันนี้ ก็ยังช่วยซื้อขนมไปแจกคนทางฆะมังให้ได้กินด้วย พี่จะแถมให้ ลดราคาให้ ก็ไม่ยอม ให้เงินพี่มาครบถ้วน...แล้วก็บอกพี่ว่า ให้มาช่วยอดหนุนที่ร้านบ้าง...พี่ก็เลยต้องแวะมาซื้อของที่นี่ก่อนจะกลับบ้าน...นี่นะ ไม่ใช่เฉพาะพี่หรอกที่แปลกใจ เพื่อนแม่ค้าหาบติด ๆ กัน ก็ยังถามพี่ว่าแม่แกกินยาผิดขนานหรือเปล่า...”

ทั้งประสงค์และพิไลนิ่งเงียบ เรณูที่ ‘รู้อยู่แก่ใจ’ ว่าที่นางย้อยเปลี่ยนไปนั้นเพราะอะไร ก็รีบเปลี่ยนเรื่องคุย เพราะที่ตั้งใจเดินมาคุยเสียก่อนนั้นไม่ใช่เพื่ออวดว่านางย้อยนั้นเปลี่ยนไปดีกับตนแล้ว

แต่การนี้เป็นไปเพื่อกลบเกลื่อนความสงสัยภายในใจของคนทั้งคู่และคนอื่น ๆ ที่จะต้องเกิดขึ้นในอนาคต...เพราะอีกไม่กี่วันหรอก เมื่อนางย้อย ‘หลง’ ซะแล้ว ย่อมประเคนแต่ของดี ๆ มาให้ตนอย่างแน่นอน!

************


“ไอ้ทิด ไอ้ทิด ลุกได้แล้วลูก สายโด่งแล้ว” เสียงของแม่ ทำให้ก้าน ที่เมื่อคืนดื่มหนักไปหน่อยรู้สึกตัว...แต่ถึงกระนั้นเขาก็รู้สึกปวดหัวและเปลือกตานั้นก็ยังคงหนักอึ้ง...จนกระทั่งแม่เดินมาเก็บมุ้งแล้วดึงผ้าห่มออกจากตัว...

“สายแล้วลูก ออกไปเกี่ยวข้าวกันได้แล้ว ลุก ๆ”

ยาขนานนั้นทำให้นางกุ่นหายจากอาการไอเรื้อรังเหมือนปลิดทิ้ง...และพอไม่ไอ ก็กินข้าวได้ จึงมีเรี่ยวแรงสู้กับงานรับจ้างเกี่ยวข้าวที่กำลังชุก ช่วยลูกชายหาเงินเข้าบ้านอีกแรง พอมีคนถามว่า นางกุ่นหายไอด้วยยาขนานไหน นางกุ่นก็จะบอกว่าลูกชายไปเจียดยามาจากร้านขายยาที่ตลาดชุมแสง...ใช้ยาถูกกับโรคเข้า...ร้ายก็กลายเป็นดี

สำหรับก้านนั้น พอมีใครถามว่าไปเจียดยามาจากร้านไหน เพื่อที่ยามเจ็บไข้ได้ป่วยจะได้ไปที่ร้านนั้นบ้าง ใจของเขาก็อดนึกถึง ‘บุญคุณ’ ของไอ้หนุ่มคนนั้น เสียทุกครั้ง...จนกระทั่งกลายเป็นความตั้งใจว่าจะนำ ‘ปลาเกลือ’ ที่ได้ทำไว้ ไปฝากเป็นสินน้ำใจ...เพราะถ้าไอ้หนุ่มคนนั้น ไม่แสดงน้ำใจก่อน ซินแซก็คงไม่ให้ยารักษาแม่มาเต็มสูตร...ทุกข์ของเขาก็จะไม่ได้คลายอย่างที่เป็นอยู่

ก้านลุกขึ้นนั่งแล้วสูดลมหายใจเข้าปอด...ก่อนจะค่อย ๆ เผยอเปลือกขึ้นแล้วตามองไปยังนอกบ้านที่เต็มไปด้วยแสงแดดที่ขับไล่มวลอากาศหนาวเย็นให้คลาย...

“เป็นหนุ่มเป็นแน่น บวชแล้ว เรียนแล้ว น่าจะคิดได้นะ ว่าเหล้าน่ะมันไม่ใช่ของดี”

“ผมรู้ว่าเหล้ามันไม่ใช่ของดี แต่คนเรามันก็ต้องมีสังคมนะแม่” ก้านเถียงไปอย่างข้าง ๆ คู ๆ เหมือนทุกครั้งที่แม่พยายาม ‘รั้ง’ ให้เดินให้ตรงทาง

“สังคม ๆ สุดท้ายก็คงไม่แคล้วตาย เพราะเหล้าเหมือนพ่อของเอ็งหรอก”

ก้านถอนหายใจออกมา แล้วรีบลุกขึ้นไปคว้าขันน้ำ จ้วงน้ำล้างจากโอ่ง คว้าแปรงและยาสีฟันไปนั่งสีฟันอยู่ที่นอกชาน
นางกุ่นเดินเข้าไปในครัว ตั้งสำรับซึ่งเป็นน้ำพริกขี้กา ผักต้ม ผักสด และปลาปิ้ง รอท่าลูกชาย

ก้านยังไม่ทันจะเปิบข้าวหมดจาน...ไอ้หวัง เพื่อนเกลอ คน ‘สังคม’ เดียวกัน ก็วิ่งหน้าตั้งเข้ามาในเขตลานบ้าน

“พี่ทิด ๆ ๆ ๆ”

“อะไรของมึงวะ” ก้านกลืนคำข้าวแล้วตะเบ็งถามกลับไป ไอ้หวังที่วิ่งมาถึงตีนบันได ล้างเท้าแล้วก็ก้าวพรวด ๆ สองสามทีขึ้นบันไดก็ถึงสำรับที่ก้านกับนางกุ่นนั่งอยู่...

“กินข้าวกันรึ...”

“อืม กินด้วยกันไหมล่ะ”

“ฉันอิ่มแล้ว...แล้วที่ฉันรีบวิ่งมานี่ ฉันมีข่าว ระ ระ ร้าย...มาแจ้งให้พี่ทิดทราบ”

“ข่าวอะไรวะ” ก้านวางจานข้าวลงทันที

ไอ้หวังมองไปทางนางกุ่น แล้วบอกเสียงเบา ๆ ว่า

“เถ้าแก่ใหญ่ว่าที่ดองของพ่อกำนัน พากันมาจากชุมแสงแล้วจ้ะพี่... ไอ้ที่เป็นข่าวลือ น่าจะไม่ใช่ข่าวลืออีกต่อไปแล้วนะ”

“เขามากันทางไหน”

“มากันทางเรือ มากันตั้งแต่เช้าเลยพี่...อาศรีถึงกับผละงานในนา กลับมาต้อนรับกันเลยทีเดียว...”

สีหน้าของก้านเคร่งเครียด...นางกุ่น พอรู้อยู่ว่า ความรักของลูกชายกับลูกสาวคนเล็กของกำนันศร กำลังเป็นช่วงหน้าสิ่วหน้าขวาน จึงบอกกับลูกชายว่า

“ไอ้ทิด จะคิดทำการอะไร เอ็งก็นึกถึงแม่มั่งนะ...ไม่มีเอ็งสักคน แม่ก็จะลำบาก”

“แต่ถ้าพี่ทิดไม่คิดทำอะไรเลย พี่ทิดก็จะต้องเสียเมีย เอ๊ย แม่เพียงเพ็ญไปเหมือนกันนะป้า”

************

ไม่เฉพาะก้านที่เดินพล่านเป็นเสือติดจั่น... แม้เพียงเพ็ญเอง พอรู้ว่า ‘ทางนั้น’ พากันมาถึงบ้านโดยที่ไม่ได้นัดหมาย ก็ร้อนรุ่ม เดินกลับไปกลับมาอยู่ในห้อง สีหน้านั้นเต็มไปด้วยความเคร่งเครียด...ก็จะไม่ให้เครียดได้อย่างไรเล่า... เมื่อวานนี้เพิ่งเอะใจ ว่า ‘ประจำเดือน’ ขาดหาย ไปถึงสิบห้าวัน...ยังไม่ทันจะสรุปแน่ชัด ว่า ‘ท้อง’ หรือ ‘ไม่ท้อง’ หรือจะแก้ปัญหาครั้งนี้อย่างไร ทางนั้น ก็ด่วนมาถึงที่นี่...

และอาการรีบร้อนมากัน ตั้งแต่เช้าตรู่ แม้ไม่ได้ออกไปนั่งฟังผู้ใหญ่คุยกัน ก็เดาได้ไม่ยาก ว่าจะต้องมาดูลู่ทางเป็นแน่

...บ้านช่องใหญ่โต ที่ทางกว้างขวาง มีกิจการ มีไร่นาสาโท มีตำแหน่งเป็นที่นับหน้าถือตาชาวบ้าน แถมยังจะได้แต่งเข้าบ้านมาครอบครองกิจการทั้งหมด...ใครปฏิเสธก็โง่เกินไปละ...


เสียงเคาะประตู ทำให้เพียงเพ็ญสูดลมหายใจตั้งสติ...

“เพียงเพ็ญ ทำอะไรอยู่รึ พ่อให้ออกมารับแขกสักหน่อย”

“หนูก็บอกป้าแรม ไปแล้วว่าหนูปวดท้อง...ปวดหัว ครั่นเนื้อครั่นตัว ยังจะให้หนูออกไปทำไมอีก”

“เขามาถึงบ้านแล้วนะลูก ออกมารับหน้าเขาหน่อย...” นางคนเป็นแม่ยังคงเอาน้ำเย็นเข้าลูบเหมือนที่เคยใช้...

“ไม่ หนูไม่ไป...หนูจะนอน” การปฏิเสธไม่ออกไปพบหน้า ก็เป็นการบอกให้รู้ว่า ไม่เต็มใจ ไม่ยินดี และไม่ต้องการรับรู้ เรื่องที่ผู้ใหญ่กำลังจะตกลงกัน...

“รึต้องให้พ่อมาตามเอง...”

เพียงเพ็ญนิ่งเงียบ...สายตาแข็งกร้าวมองไปยังประตู...และสุดท้าย เพียงเพ็ญก็เลือกที่จะกล่าวอย่างท้าทายว่า

“ถ้าพ่อ ไม่เชื่อว่าหนูป่วยไข้ ก็ให้พ่อมาตามหนูเอง”

******************

หลังจากพา นางย้อย เจ๊กเซ้ง กมล เดินสำรวจ กิจการ อันได้แก่ โรงเลื่อยไม้ โรงเผาถ่าน ของตน กำนันศรกับนางศรีก็พาเดินกลับมายังบริเวณใต้ถุนเรือนที่สะอาดเอี่ยม...

บนร้านขนาดใหญ่ ปูเสื่อตั้งสำรับมื้อกลางวันที่นางสมพร นางแรมเร่งรีบช่วยกันจัดหาไว้ต้อนรับ ‘แขก’

กำนันศรมองกราด เห็นหน้าเมีย ก็รู้ว่า นังลูกสาวคงจะแผลงฤทธิ์ไม่ยอมลงมาเป็นแน่...

“เถ้าแก่เซ้ง แม่ย้อย พ่อซา จะเข้าห้องส้วมก่อนไหม...ถ้าจะเข้า จะได้ให้แม่ศรีพาไป...”

“เข้าสักหน่อยก็ดีเหมือนกัน...อาเฮียล่ะ ปวดไหม” นางย้อยที่ปวดเบาอยู่บ่อย ๆ หันไปถามเจ๊กเซ้ง เจ๊งเซ้งซึ่งเป็นคนพูดน้อย ส่ายหน้า เช่นเดียวกับกมล...วันนี้ เขาได้แต่นิ่งเงียบ ฟังผู้ใหญ่คุยกัน และตอบเมื่อถูกถาม...เพราะมั่นใจว่า ทางเดินที่จะต้องเดินมานี้ มีปัญหา รออยู่อย่างแน่นอน...อาการดื้อแพ่งไม่ยอมออกมาพบหน้า ‘แขก’ ซึ่งเป็นว่าที่พ่อแม่ของสามีในอนาคต ของเพียงเพ็ญ มันจะต้องมีเงื่อนงำอยู่ข้างหลังอย่างแน่นอน...

รึเจ้าหล่อนอาจจะมีคนรักอยู่แล้ว...เพราะครั้งแรกที่เห็นกัน สายตานั้นมันมีอารมณ์กรุ่นโกรธขัดเคืองใจซ่อนอยู่

************************

“เอาอย่างไรดีวะไอ้หวัง...” ก้านผละจากงานรับจ้างเกี่ยวข้าวที่ได้ตั้งใจไว้ แล้วสาวเท้าพรวด ๆ มายังทิศทางที่บ้านกำนันศรตั้งอยู่....หวังเดินตามต้อย ๆ เพราะอยากรู้ว่า ‘ลูกพี่’ ของตนจะแก้ปัญหานี้อย่างไรเหมือนกัน

“ไปให้มันเห็นว่า มีหมาตัวหนึ่งหวงก้างดีกว่าไหมพี่... อะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิด”

“พ่อกำนันเอากูตายแน่ ๆ”

“ถ้าอย่างนั้นจะทำอย่างไรดี” ทั้งสองหยุดอยู่ที่ใต้ร่มไม้ ก้านมองไปทางแม่น้ำน่านที่ไหลเอื่อย...สีหน้าเต็มไปด้วยการใช้ความคิดแก้ปัญหา...ซึ่งยากจะแก้ได้ตกได้ง่าย ๆ

“เอ็งว่ามันมาทางเรือหางยาวใช่ไหม แสดงว่า ตอนนี้เรือของมันก็ต้องจอดอยู่ที่ท่าน้ำนะซิ...”

“ไม่ใช่เรือของมันหรอกพี่ น่าจะเป็นพวกเรือจ้างมากกว่า...”

“งั้นก็พอจะมีวิธีประกาศให้พวกมันรู้ว่า ถิ่นนี้ อันตราย!” ว่าแล้วก้านก็พาหวังเดินลัดเลาะไปตามทางเดินริมแม่น้ำน่านด้วยอาการเร่งรีบ พอถึงเขตบ้านของกำนัน ก้านก็นำหวังยอบตัวลงต่ำ แล้วคืบคลานไปตามดงหญ้า...กระทั่งถึงจุดที่มองเห็นเรือยาวจอดอยู่....แต่ว่าที่ศาลาท่าน้ำ ก็มีเจ้าของเรือนั่งเฝ้าอยู่...แผนล่มเรือบอกให้รู้เป็นนัยว่า เขาไม่ยอมเสียเพียงเพ็ญไปง่าย ๆ จึงใช้การไม่ได้...

“เอาไงดีพี่...ไอ้เจ้าของเรือมันเฝ้าอยู่อย่างนี้ บุ่มบ่ามทำอะไรลงไป มีคดีติดตัวแน่”

“กูจน แต่กูไม่ได้โง่นะไอ้หวัง...” กระซิบบอกไปแล้ว ก้านก็สูดลมหายใจเข้าปอด...มองไปยังเรือนของกำนัน พยายามเพ่งมองไปที่หน้าต่างห้องนอนของเพียงเพ็ญ ก็ไม่เห็นเงาของสาวเจ้า บางทีเจ้าหล่อนอาจจะกำลังระริกระรี้ อยู่กับ ‘ว่าที่’ ยินดีที่จะได้เป็นสะใภ้เจ๊กก็เป็นไปได้

ลมเพชรหึง เริ่มตีขึ้นหน้า...

“มันอยู่ที่ใต้ถุนเรือนน่ะพี่ น่าจะกำลังกินข้าวกันอยู่...”

ใจของก้านนั้นคิดจะลุยไปประจันหน้ากัน...ให้เพียงเพ็ญและกำนันศรได้รู้ว่า เขารัก เขาหวง เขาไม่ยอมสูญเสีย แย้มพรายเรื่องว่า ได้ ‘กินในที่ลับ’ ไปแล้ว ก้านมั่นใจว่าทางนั้นจะต้องถอยทัพแน่ ๆ แต่พ่อกำนันก็คงจะโกรธเกลียดเขายิ่งขึ้น และแม้นไม่ได้ ลูกชายเถ้าแก่ชุมแสงเป็นเขยขวัญ พ่อกำนันก็คงเสาะหาชายอื่นที่คู่ควรอยู่ดี...

ก้านถอนหายใจออกมาอย่างแรง...พอดีกับสายตานั้นเห็นว่านางแรมเดินฝ่าแดดมายังท่าน้ำ...เหมือนมาร้องเรียกให้คนเรือเข้าไปกินข้าวด้วยกัน...ก้านนิ่งรออยู่อึดใจ แล้วคนเรือก็เดินตามนางแรมไป...ก้านหันมาหาหวัง ให้หวังนั่งรออยู่ตรงนั้น แล้วตนก็ค่อย ๆ คืบคลานลงไปยังตีนท่า...


คืบคลานกลับมาแล้ว หวังก็บอกกับก้านว่า “พี่ทิดตะกี้ ผมเห็น เพียงเพ็ญมันโผล่หน้าต่างมา...”

“มันไม่ได้อยู่ข้างล่างกับพวกนั้นหรอกรึ”

“ไม่เห็นนะพี่...”

ก้านยิ้มน้อย ๆ ออกมา...อาการดื้อแพ่ง ไม่ยอมรับหน้าแขกของเพียงเพ็ญก็น่าจะเป็นการประกาศให้ ‘แขก’ รู้ว่า ตนเองนั้นไม่ยินดี ที่จะเป็นทองแผ่นเดียวกัน ใจที่เหมือนผืนดินแห้งผากของก้านก็พลันชุ่มฉ่ำขึ้นมาอย่างประหลาด....

“พี่ลงไปทำอะไรมา”

“เอ็งอย่ารู้เลย...ไป” ว่าแล้วก้านก็คลานนำหวัง เดินหลบออกจากที่ซ่อน แต่หวังนั้นยังอยากรู้จุดหมายปลายทาง

“ไปไหน..”

“ไปเกี่ยวข้าวซิ แล้วก็ต้องรีบไปให้เร็วที่สุด ให้คนที่ทุ่งนาเป็นพยานว่า ตอนที่เกิดเรื่อง! เราอยู่ที่ไหน”

“พี่นี่ฉลาดจริง ๆ” หวังเอ่ยชม

“กูบอกมึงแล้ว กูแค่จน แต่กูไม่ได้โง่”

---------------------

พอพากันเดินกลับมาส่งแขกกลับชุมแสงไปแล้ว กำนันก็เดินอาด ๆ นำนางสมพร นางแรม นางศรี กลับมาที่เรือน

นางศรีขอตัวกลับบ้าน นางสมพรกับนางแรมมองตามหลังกำนันไป แล้วชักสีหน้าว่าลำบากใจกับเรื่องที่จะต้องเกิดขึ้นในอนาคต


เสียงเคาะประตูปึง ๆ ดูหนักมือ ทำให้เพียงเพ็ญที่เปิดวิทยุฟัง พลางอ่านนิตยสารฆ่าเวลาเงยหน้ามอง...

เรื่องอะไรที่จะต้องลุกลี้ลุกลนไปเปิดให้ หรือส่งเสียงถามให้คนหน้าประตูรู้ว่าเธอเกรงกลัวด้วยล่ะ...

“อีหนู! ๆ เปิดประตูให้พ่อหน่อย...เร็ว ๆ” เสียงนั้นดังก้อง เพียงเพ็ญแสยะยิ้มแล้วตอบกลับไปว่า “เดี๋ยว!”

ตอบรับไปแล้ว เพียงเพ็ญก็ขยี้ผมให้ยุ่งเหยิง แล้วเดินไปยังขันน้ำที่วางอยู่บนโต๊ะข้างหัวเตียง ใช้ปลายนิ้วจุ่มแล้วสะบัดใส่ใบหน้าของตน...

“เป็นอะไร? ทำไม ถึงไม่ออกไปรับหน้าแม่ย้อยเขาหน่อย ทำอย่างนี้ มันเท่ากับไม่ไว้หน้าพ่อแม่สักนิด”

“หนูก็บอกแม่ไปแล้วว่าหนูไม่สบาย” แก้ตัวไปด้วยเสียงแหบแห้ง แล้วเพียงเพ็ญก็เดินกลับไปทรุดตัวลงนั่งบนที่นอน เล่นละครให้เหมือนกับว่า กำลังจะตายจริง ๆ

“เป็นอะไร เมื่อเช้าก็ยังดี ๆ อยู่”

“คลื่นไส้ มวนท้อง พะอืดพะอม ปวดหัว” ว่าแล้วเพียงเพ็ญก็ทำท่าขย้อนกรดในกระเพาะก่อนจะรีบหันไปหากระโถนที่วางอยู่ที่ข้างเสาเตียง...

เห็นอาการลูกสาวเป็นดังนั้น ความโกรธขึ้งก็คลายลง...แต่ถึงกระนั้นกำนันศรก็ยังไม่เชื่อที่สายตาเห็นทั้งหมด... หลังจากที่ลูกสาวผินหน้ากลับมาด้วยทีท่าอ่อนระโหยโรยแรง...กำนันศรก็บอกว่า

“งานแต่งของแก กับพ่อซา ได้ฤกษ์แล้วนะ...”

“อะไรนะ!”

“วันศุกร์ ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 12 เป็นฤกษ์ดี...”

เพียงเพ็ญจ้องตาของพ่อเขม็ง เหมือนว่าห้องทั้งห้องมันหมุนคว้าง...พอตั้งสติได้เพียงเพ็ญก็หันไปยังปฏิทินที่แขวนอยู่ แล้วกรากเข้าไปหาด้วยอาการร้อนรน...และพอเห็นว่า เป็นวันไหน เพียงเพ็ญก็หันกลับมา

“สัปดาห์หน้านี่...”

“ใช่ ก่อนวันลอยกระทง 5 วัน”

“ทำไม พ่อไม่ถามหนูก่อน ว่าหนู พร้อมจะแต่งงานหรือยัง”

“ก็ไอ้ตอนที่กูเรียกให้ออกไปคุย ทำไมมึง ถึงไม่ออกไปล่ะ...ทีคราวนี้ทำปากดีว่าทำไมไม่ถามมึงก่อน”

“พ่อ!...”

“แก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว กูตกลงกับผู้ใหญ่ทางนั้นไปเรียบร้อยแล้ว”

“หนูไม่ได้รักเขา เป็นตายร้ายดีอย่างไรหนูก็ไม่แต่ง” เพียงเพ็ญเสียงแข็งขึ้น แต่กำนันศรหาได้สนใจ

“เดี๋ยวอาศรีจะให้คนไปรับช่างตัดชุดเจ้าสาวมาจากชุมแสง...พรุ่งนี้น่าจะมาละ สินสอดทองหมั้นแม้ไม่มากเท่าพี่ ๆ ของมึง แต่ก็สมน้ำสมเนื้อสมฐานะเรา แล้วมันก็ไม่น้อย เกินไปสำหรับลูกสาวคนเล็กของกำนันศรหรอก...”

“พ่อ” เสียงของเพียงเพ็ญผะแผ่ว จะนับว่าเป็นความขอความเห็นใจเป็นครั้งสุดท้ายก็ได้...

“หนู...เอ่อ...หนู...ไม่แต่งได้ไหม หนูยังไม่พร้อม” พูดแล้วเพียงเพ็ญก็รู้สึกปั่นป่วนในกระเพาะขึ้น...สีหน้านั้นบูดเบี้ยว

“ไป ออกไปให้ป้าแรมหาข้าวหาปลาให้กินซะ ไม่กินข้าวเช้า ข้าวกลางวัน มันถึงได้เป็นอย่างนี้...” ว่าแล้วผู้เป็นพ่อก็เดินออกไป เพียงเพ็ญรีบคว้ากระโถนแล้วก็โก่งคออาเจียนเสียจนอ่อนแรง...

พอเงยหน้าขึ้นมา หัวคิ้วของเพียงเพ็ญก็ขมวดเข้าหากัน ดูท่าแล้ว ไม่ใช่ปวดท้องเพราะไม่ได้กินข้าวซะแล้ว แม้จะยังเป็นสาว แม้จะไม่เคยท้องไส้ แต่ก็ใช่จะไม่รู้ว่าอาการของคนมีผัวแล้วแพ้ท้องนั้นเป็นอย่างไร...น้ำตาไหลเอ่อมากลบเปลือกตา แล้วเพียงเพ็ญก็สูดลมหายใจเข้าปอด มองปฏิทิน ใจนั้นก็ครุ่นคิดว่า ลูกในท้องจะต้องไม่เป็นลูกหลงพ่อ...พ่อของลูกในท้องจะต้องเป็นสามีในชีวิตจริง ๆ ของเธอเท่านั้น...

******************

เรือหางยาวแล่นฉิวออกจากท่าน้ำบ้านกำนันศร ล่องมาตามลำน้ำน่านค่อย ๆ ไหลเอื่อยเพราะว่าเครื่องยนต์นั้นได้ดับลง เจ้าของเรืองพยายามฉุดสตาร์ทเรียกกำลังเครื่องยนต์ให้ทำงานเท่าไหร่ก็ไม่ติด...ทำให้นางย้อยที่นั่งอยู่ตรงกลางลำเรือต้องร้องถาม

“ไหนเอ็งว่า เครื่องเรือของเอ็งใหม่เอี่ยมไง ทำไม มันถึงดับได้”

“นั่นนะซิเถ้าแก่เนี๊ย เอี่ยมอ่องแบบนี้ ทำไมมันถึงได้ดับได้”

“น้ำมันหมดรึเปล่า” กมลเอ่ยถาม

“เมื่อเช้าเติมมาจนเต็มถัง แล้วจากชุมแสงมาฆะมังแค่นี้ ไม่น่าจะกินน้ำมันจนหมดหรอก”

“เปิดฝาน้ำมันดูซิพี่ชาย” กมลแนะนำ ชายเจ้าของเรือ เปิดฝาถังน้ำมันแล้วนิ่วหน้า ก่อนจะยอมรับว่า

“น้ำมันหมดจริง ๆ ด้วย ผมก็ไม่ได้เอากระติกใส่น้ำมันสำรองติดเรือมาซะด้วยซิ”

“ฉิบหายแล้ว” นางย้อยสบถออกมาเพราะรู้สึกร้อนแดดทั้งที่มีผ้าข้าวม้าของเจ๊กเซ้งคลุมหัวอยู่...และอีกใจก็รู้สึกห่วงร้านที่ทิ้งไว้ให้ประสงค์คอยดูแล...เพราะยิ่งปล่อยปละละเลยเก๊ะเงินนานเท่าไหร่ มันก็จะยิ่งเป็นการเปิดโอกาสให้พิไลหยิบฉวยเงินในเก๊ะไปใช้มากขึ้นเท่านั้น...

“คงต้องรอให้มีเรือผ่านมา แล้วขอแบ่งน้ำมันจากเขาแหละเถ้าแก่เนี๊ย”

“ถ้ามันไม่มีใครผ่านมาล่ะ เอ็งจะทำอย่างไร จะให้กูคอยอยู่อย่างนี้รึ”

“ถ้างั้นเราก็พายเรือไปเรื่อย ๆ ก่อน...เจอเมื่อไหร่ก็ค่อยว่ากัน” กมลหาทางออก...เพราะถ้าหยุดนิ่งอยู่อย่างนี้ หรือขึ้นไปรอบนตลิ่ง มันก็ไม่ได้มั่นใจว่าจะพบทางออกของปัญหา...

“ผมว่า มันจะต้องมีคนย่องมาเปิดน้ำมันทิ้งตอนที่ผมไปกินข้าวแน่ ๆ...”

“เอ็งว่าอะไรนะ” นางย้อยถามซ้ำ...

“ผมว่า น้ำมันในถังมันไม่ได้หมดหรอกเถ้าแก่เนี๊ย มันหายไปเพราะมีคนย่องมาเปิดทิ้งแน่ๆ ...”

นางย้อยกัดฟันกรอด...เพราะถ้าเป็นอย่างนั้นจริง ๆ ก็เท่ากับว่า มีใครสักคนไม่อยากเห็นกมลไปเป็นเขย บ้านฆะมัง

************************************


Title: Re: กรงกรรม บทประพันธ์ของ จุฬามณี
Post by: นักประพันธ์ on 01 March 2020, 22:39:28
ตอนที่ 20 : หัวอกไอ้ก้าน


            ๒๐


หลังจากได้น้ำมันจากเรือบรรทุกสินค้าที่แล่นมาจากอำเภอบางมูลนากเติมเครื่องยนต์ นางย้อยก็สั่งให้ เจ้าของเรือหันหัวเรือกลับไปมายังบ้านของกำนันศร...

“อย่าไปเลยนะม้า มันอาจจะไม่ใช่ อย่างที่ม้าเดาก็ได้”

“ทำไม จะไม่ใช่ ก็ไอ้นี่มันยืนยันว่า อย่างไรน้ำมันของมันไม่มีทางหมด ที่น้ำมันหายไป มันจะต้องมีคนจงใจแกล้งเรา... ไปเร็ว กลับไป เสียเวลา เสียเงินอีกนิด จะเป็นไรไป...”

“เตี่ยช่วยพูดกับม้าหน่อยซิ” กมลหันไปหาคนช่วยรั้งอารมณ์ของแม่ที่นั่งตากแดดอยู่กลางแม่น้ำอยู่เกือบชั่วโมงจนพื้นอารมณ์ยิ่งเสียหนักเข้าไปอีก

“อาย้อย...”

“เฮีย...คราวนี้อั๊วไม่ฟังเฮียแล้ว คิดดูนะ ถ้าทางนั้นไม่จับตัวคนทำผิดมาลงโทษ หรือไม่รู้ว่ามีคนคิดไม่ดีกับพวกเรา วันหน้า อาซามาอยู่ที่นี่ มันจะอยู่อย่างไร เกิดเป็นอะไรขึ้นมา ใครจะช่วยลูกเราได้”

“ลื้อคิดมากไปหรือเปล่า...มันจะเอิกเกริกไปนะอาย้อย” เจ๊กเซ้งใช้น้ำเย็นเข้าลูบ

หน้านางย้อยยังงอเง้าเช่นเดิม...

“อั๊วว่าไม่ต้อง ย้อนไปหรอกนะ ย้อนไปแล้ว ทางกำนันเขาจะกลุ้มใจเปล่า ๆ วันแต่งงาน ค่อยบอกเขาก็ได้ หรือไม่ ถ้าพรุ่งนี้อาศรี อีเข้าตลาด เราก็ฝากบอกอาศรีไปก็ได้ ช่วงนี้ เขาก็ยังจะต้องมาชุมแสงบ่อย ๆ หรอกน่า”

“ใช่ ม้า อย่างไร ทางนั้นก็คงจะต้องเข้ามาชุมแสง เพื่อซื้อข้าวซื้อของเตรียมงาน ปรึกษาเรื่องงานกับเรา...กลับบ้านเถอะนะ บ่ายคล้อยแล้ว ย้อนกลับไปกลับมา จะมืดค่ำเอาได้”

พอถูกทั้งเจ๊กเซ้งและกมลช่วยกัน ‘รั้ง’ นางย้อยก็ถอนหายใจหนัก ๆ แล้วก็จำยอม คล้อยตาม ทั้งที่ใจนั้นยังเต็มไปด้วยความเคลือบแคลงว่า ใครมันอยู่เบื้องหลัง และมันจะยอมหยุดอยู่แค่นี้หรือไม่...

ข่าวเรื่องเพียงเพ็ญจะแต่งงานกับลูกเจ๊กจากตลาดชุมแสงในสัปดาห์หน้าแพร่สะพัดไปอย่างรวดเร็ว ไอ้หวังที่ไปสืบความจากนางศรี รีบกลับมาหาก้านที่เดินพล่านรออยู่ที่บ้าน เพราะเวลาที่จะสูญเสียนางอันเป็นที่รัก และเป็นความหวังของตน งวดเข้ามาทุกขณะ...

“อาศรี บอกว่า มันชื่อ ไอ้ซา เป็นลูกชายเจ๊กเซ้ง แม่ชื่อย้อย ร้านอัศวรุ่งเรืองพานิช เปิดร้านขายส่งพวกของโชห่วยอยู่ในตลาด อายุอานามก็พอ ๆ กับฉันนี่แหละ ยังไม่ได้บวชเลยด้วยซ้ำ...”

ก้านฟังแล้วนิ่งคิด...ตั้งแต่รู้กำหนดการที่แพร่กระจายเหมือนไฟลามทุ่ง เขาก็ทุรนทุราย จนเกี่ยวข้าวต่อไปไม่ได้...สุดท้าย เขาก็บอกกับเจ้าของนาและหลอกแม่ว่า เขาปวดท้อง ขอกลับบ้านไปพัก...พ้นจากสายตาของคนอื่นๆ แล้ว เขาก็เดินมาที่สวนหลังบ้านของกำนันศร พยายามมองหาเพียงเพ็ญ เผื่อเจ้าหล่อนจะลงจากเรือนมาบ้าง แต่ว่าก็ไม่เห็นแม้เงา สุดท้ายเขาจึงเดินไปยังบันไดหลังบ้าน ชะเง้อมองไปบนเรือน จะบุ่มบ่ามขึ้นเรือนไปเลยหรือร้องเรียกคนบนเรือนให้ออกมาหา กำนันศรก็เคยประกาศิตไว้ว่า เรือนหลังนี้ ถ้าไม่มีเรื่องจำเป็นเอ็งห้ามเข้ามาเหยียบ...

แต่วันนี้ เวลานี้ มันสุดจะทนนิ่งเฉย ได้อีกต่อไป

“อ้าว ไอ้ก้าน มาอย่างไร” นางแรมเดินออกมาเห็น ร้องถามด้วยเสียงไม่ดังนัก

“ผ่านมา น่ะป้า เพียงเพ็ญอยู่ไหม”

“อยู่ในห้อง ไม่สบาย”

“เรียกน้องเขามาพบผมหน่อยได้ไหม”

“พ่อกำนันเขาสั่งไว้...เข้าใจที่ป้าพูดนะ”

“แต่ผมมีเรื่องจะคุยกับเขา ผมอยากรู้ว่า เขาจะแต่งงานในสัปดาห์หน้าจริง ๆ หรือเปล่า”

“จริง วันศุกร์หน้า แต่งแน่นอน...อ้อ พ่อกำนันสั่งไว้ว่า งานแต่งนังหนู เอ็งอย่ามาทำเรื่องให้มันวุ่นวายให้เสียฤกษ์เสียยามเขาล่ะ...”

“แต่เรารักกันนะป้า...”

นางแรมส่ายหน้าเบา ๆ แล้วถอนหายใจออกมาอย่างแรง ก่อนจะบอก เหมือนกับที่ใครหลาย ๆ คนบอกกับเขา

“ป้ารู้ ป้าเข้าใจ...แต่ว่า ทุกอย่างมันต้องดูที่ความเหมาะสมด้วย พ่อกำนัน เขาก็บอกอยู่ไม่ใช่รึว่า เอ็งน่ะ เป็นใคร นังหนูมันเป็นใคร ไปเถอะไอ้ก้าน กลับบ้านเอ็งไป...คิดซะว่า ไม่มีวาสนาต่อกัน ไม่ใช่เนื้อคู่กันเถอะนะ อย่าดิ้นรนให้มันยุ่งยากไปเลย ตัดใจเสียเถอะ ป้าขอสักครั้ง”

ก้านหน้าม่อย แล้วก็ รับคำว่า “ครับ” ก่อนจะหันหลังเดินกลับบ้าน แต่พอลับสายตานางแรม เขาก็เร้นกายกลับไปยังทิศทางห้องของเพียงเพ็ญ คว้าก้อนหินขนาดย่อมได้สองสามก้อน เขาก็โยนไปที่ข้างฝาเรือนโดยทิ้งระยะห่างเพื่อไม่ให้คนบนเรือนที่เขาไม่ประสงค์พบหน้ารับรู้...

อึดใจใหญ่ ๆ เพียงเพ็ญก็เดินมาเกาะลูกกรงหน้าต่างที่ขวางคนภายในเรือนกับโลกภายนอก...ขวางความสัมพันธ์ของเขาและเธอไว้...เห็นภาพนั้นแล้ว ก้านก็นึกถึงคำว่า ‘นกน้อยในกรงทอง’ นกที่เจ้าของค่อนข้างหวงแหน...แต่เขาก็เคยลักลอบคว้าลูกนกตัวนั้นมาเชยชมให้สมรักเสียแล้ว

“พี่ก้าน...พี่ก้าน”

“ลงมาหาพี่หน่อยได้ไหม พี่จะรอที่หลังห้องส้วมนะ”

“ได้ รอฉันแป๊บ” ว่าแล้วเพียงเพ็ญก็ผลุบหาย...ก้านรีบวิ่งไปยังห้องส้วม ด้วยเป็นเวลาโพล้เพล้ นางแรมนางสมพรที่อยู่บนเรือนจึงยังไม่เข้มงวดกวดขัน ส่วนพ่อกำนันนั้นก็ยังไม่กลับจากกิจธุระเรื่องบอกกล่าวให้ชาวบ้านให้รับรู้ว่า กำลังจะแต่งลูกสาวในอีกไม่กี่วันข้างหน้า...

ส้วมนั้นมีเสาสี่ต้น มุงหลังคาด้วยสังกะสี ตีสังกะสีปิดไว้ทั้งสี่ด้าน มีคอห่าน และโอ่งน้ำ ส่วนโอ่งอาบน้ำ นั้นอยู่ใกล้ๆ กับตัวบ้าน และบนนอกชานบนเรือน ช่วงหลัง ๆ เพียงเพ็ญจะถูกห้าม ไม่ให้ลงไปอาบน้ำที่ท่าน้ำ หรือโอ่งข้างบ้าน เจ้าหล่อนจะต้องอาบน้ำบนเรือนเท่านั้น...พ่อกำนันกำชับให้นางแรมตามดูลูกสาวทุกอิริยาบถ โดยเฉพาะช่วงหน้าสิ่วหน้าขวานแบบนี้...

วิ่งเข้าห้องส้วมมาแล้ว เพียงเพ็ญก็พบว่าก้านเข้ามารอตนอยู่ด้านใน ไม่ได้อยู่หลังส้วมอย่างที่ได้บอกแต่แรก...

“พี่ก้าน...” ก้านกระชับวงแขนที่กอดรัดสาวเจ้าแล้วพรมจูบไปทั่วใบหน้าซอกคอเพราะความคิดถึง เพียงเพ็ญไม่ได้ขัดขืนแต่อย่างใด

“พี่ได้ข่าวว่าเอ็งจะแต่งงานในสัปดาห์หน้าแล้วใช่ไหม”

“จ้ะพี่...เราจะทำอย่างไรกันดี”

“หนีไปด้วยกันไหม” ก้านตอบไปอย่างกำปั้นทุบดิน ทั้งที่ใจนั้น ก็นึกหวาดเกรง คำขู่ของกำนันศรอยู่ไม่น้อย...

“ฉันทำอย่างนั้นไม่ได้หรอกพี่...”

“เอ็งไม่รักพี่รึไง พี่ขาดเอ็งไม่ได้นะเพ็ญ”

“รัก...รักมากด้วย...”

“งั้นไปด้วยกันนะ”

“ไปทางไหน ไปที่ไหน ไปอย่างไรล่ะ แล้วพี่คิดรึว่า พี่จะพาฉันหนีเงื้อมมือของพ่อพ้น...” ไม่ใช่แค่กลัวว่าจะหนีไม่พ้น

ระหว่างวัน เพียงเพ็ญได้ตรองแล้วว่า ขืนหนีไปได้ด้วยกัน ชีวิตในวันหน้าของตนนั้น รังจะมีแต่ความยากลำบาก พ่อไม่ได้มีเธอ เป็นลูกสาวแค่คนเดียว พ่อตัดเลือดก้อนนี้ทิ้งได้อย่างแน่นอน แล้วดีไม่ดี ถ้าหนีไม่พ้น ก้านนั้นแหละที่จะเป็นอันตรายถึงชีวิต...

จากกันทั้งที่ยังเป็น มันก็ยังมีโอกาสได้เห็นหน้า และถ้ารักกันจริง ๆ ก็ยังมีโอกาสกลับมาอยู่ด้วยกัน...

แต่ปัญหาของเพียงเพ็ญในเวลานี้ มันยิ่งใหญ่กว่า รักแล้วไม่ได้อยู่กับคนรักให้สมรัก...

ปัญหาเรื่องท้องไส้ ก็เป็นเรื่องใหญ่เหมือนกัน แต่งสัปดาห์หน้า มันก็ยังโบ๊ยไปได้ว่า กมลเป็นพ่อของลูกในท้อง แต่ถ้าแต่งช้ากว่านี้ เรื่องงามหน้าคงได้เกิดประจาน และพ่อก็จะต้องเลือกให้เธอทำแท้ง แทนที่จะให้เธอได้แต่งอยู่กับก้านเป็นแน่

“พ้นไม่พ้นก็หนีไปด้วยก่อน...ข้าวสารเป็นข้าวสุกให้ชาวบ้านรับรู้ซะแล้ว พ่อกำนันต้องเข้าใจ”

“ฉันทำอย่างนั้นไม่ได้หรอกพี่ พี่ก็รู้ว่า พ่อบอกไว้แล้วนี่ ว่าถ้าหนีไปไม่พ้น พี่นั่นแหละ ที่จะต้องตาย ฉันทนเห็นพี่ตายไปต่อหน้าต่อตาไม่ได้หรอก”

“แต่พี่ไม่อยากเสียเอ็งไป”

“ตัดใจเสียเถอะนะพี่...”

“เอ็งไม่ได้รักพี่ใช่ไหม...”

“รักซิ ถ้าไม่รัก ฉันจะยอมเป็นเมียพี่รึ”

“งั้นหนีไปด้วยกัน นะ หนีไปด้วยกัน งานนี้พี่คิดว่า ตายเป็นตาย”

เพียงเพ็ญส่ายหน้าดิก...เพราะคิดไว้แล้วว่า จะไม่มีวันหนีตามก้านไปอย่างแน่นอน ที่เสียสาวไปจนท้อง ก็มีคนมารับเป็นพ่อเสียแล้ว เรื่องอะไรจะต้อง ดิ้นรนไปอย่างไม่รู้อนาคตล่ะ...

“ตัดใจจากฉันเสียเถอะนะพี่ก้าน...คิดซะว่าเราทำบุญด้วยกันมาแค่นี้...”

พอได้ยินดังนั้นก้านก็กระชับวงแขนแน่นขึ้นไปอีก เพียงเพ็ญเองก็กอดเขาจนแน่นเช่นกัน เพราะไม่รู้ว่า มันจะเป็นกอดกันครั้งสุดท้ายรึเปล่า...

กระทั่งเวลาอาลัยอาวรณ์ผ่านไป...ทั้งคู่ก็ได้ยินเสียงของนางแรมที่ดังมาจากนอกชานบ้าน...

“เพียงเพ็ญหนูอยู่ในห้องน้ำหรือเปล่า....”

“อยู่จ๊ะป้า ฉันปวดท้อง เหมือนท้องจะเสีย แต่ดีขึ้นแล้ว” เพียงเพ็ญตะโกนตอบไป

“เสร็จแล้วก็รีบขึ้นบ้านนะ พ่อกำนันมาแล้ว รอกินข้าวเย็นอยู่”

“จ้ะ”

ก้านคลายอ้อมกอด แต่ว่าปลายจมูกยังคงซุกอยู่ที่ซอกคอพวงแก้มของหญิงสาว...

“ฉันต้องขึ้นเรือนแล้วนะพี่ พี่รักษาเนื้อรักษาตัวให้ดีนะ บางที บางที ปัญหาของเรามันอาจจะมีทางออกก็ได้”

“ทางออกทางไหน”

“ไม่รู้ แต่ที่รู้ ๆ ฉันรักพี่ และฉันก็...” เพียงเพ็ญลังเลที่จะบอกกับก้านไปว่า ‘ฉันท้องกับพี่ มีเลือดเนื้อเชื้อไขของพี่อยู่ในท้องแล้ว’
“ก็อะไร”

“ฉันไม่ได้รักคนที่ฉันจะแต่งงานด้วย ฉะนั้น แต่งกันได้ ก็เลิกกันได้นี่ ใช่ไหมพี่ก้าน”

“ใช่ แต่งได้ก็เลิกได้...”

“แล้ว พี่จะรอฉันได้รึเปล่า”

“ได้ พี่รอได้” ก้านตอบไปอย่างไม่ลังเล

“พี่จะรังเกียจ ฉันหรือเปล่า ถึงตอนนั้นฉันจะกลายเป็นแม่ม่ายผัวทิ้ง”

“ไม่ พี่ไม่รังเกียจ พี่ไม่อายใครทั้งนั้น ขอให้พี่ได้อยู่กับเอ็งไปจนแก่เฒ่าเถอะ”

“พี่ก้าน ฉันมีเรื่องสำคัญอีกเรื่องจะบอกกับพี่ คือ ฉัน ฉันว่า ตอนนี้ ฉันท้องกับพี่แล้ว”

“ฮะ อะไรนะ”



เพียงเพ็ญกลับขึ้นเรือนไปแล้ว ก้านลับเลี่ยงออกมาจากห้องส้วม ลัดเลาะพงไม้ริมน้ำ กลับมารอหวังอยู่ที่บ้านด้วยใจร้อนรุ่ม...ยิ่งรู้ว่าเพียงเพ็ญท้องกับเขา เขาก็ยิ่งรู้สึกว่า มันไม่ยุติธรรมที่จะต้องเห็นเมียของตนไปเข้าห้องหอกับชายอื่น

ทางเดียวที่จะทำให้ชายอื่นที่ว่า หมดโอกาสเข้าห้องหอกับเมียของตน ก็คือ ทำให้มันตายไปเสียก่อน...

เพราะถ้าไอ้หมอนั่นตาย เพียงเพ็ญตั้งท้องประจานหน้าพ่อแม่ ถึงเวลานั้น พ่อกำนันก็คงจะเห็นว่า ได้ลูกเขยเป็นหมาวัดอย่างเขา ก็ยังดีกว่าปล่อยให้ลูกสาวท้องไม่มีพ่อแน่ ๆ

“แล้วพี่ทิดจะเอาอย่างไรต่อไป” เสียงของหวัง ดึงสติของก้านกลับมา ก้านมองหน้าคนหาข่าวแล้วหันซ้ายหันขวา...ครุ่นคิดว่าจะบอกหวังถึงแผนการที่อยู่ในใจดีหรือไม่ เพราะถ้าหวังเก็บความไว้ไม่ได้ อนาคตมันจะวิบัติ

“ไม่เอาอย่างไรหรอก...”

“ไฮ้ ไอ้เรารึอุตส่าห์รีบไปสืบให้ นึกว่าจะมีอะไรเด็ด ๆ”

“กูมาคิดดูแล้ว กูทำอย่างที่เคยคิดไว้ไม่ได้หรอก กูเป็นอะไรไป แม่กูจะลำบาก”

“มันก็จริง” หวังทำหน้าเมื่อย

“ขอบใจเอ็งมากนะ”

“เปลี่ยนเป็นเหล้าสักขวดครึ่งขวดได้ไหมพี่ กินย้อมใจสักหน่อย เผื่อจะกล้าขึ้น...” หวังยังหวังว่า เรื่องที่ก้านคิดทำนั้นจะเป็นเรื่องสนุกตามประสาวัยคะนอง

“วันหลังแล้วกัน วันนี้กูรู้สึกครั่นเนื้อครั่นตัวว่ะ แต่กูเลี้ยงเหล้ามึงกั๊กนึงแล้วกัน...แต่มึงเมาแล้วก็อย่าได้พูดเรื่องอะไรของกูไปนะ...ถ้ามีคนถามถึงกู มึงก็บอกแค่ว่า กูกำลังจะเฉาตาย รู้ไหม”

“รู้...ฉันจนเหมือนพี่ก็จริง แต่ฉันไม่ได้โง่หรอกน่า”

***************************


ก้านยังคงนั่งซึมกะทือ อยู่บนร้านใต้ร่มมะม่วงใหญ่ โดยไม่สนใจ ยุงที่บินว่อนกัดแขนขาหน้าตา ใจนั้นครุ่นคิดถึงแผนการ ‘กำจัด’ ไอ้คนที่เป็นมารความสุขของตน... มันไม่ได้เพียงแต่จะแย่ง หญิงคนรัก แย่งโอกาสเปลี่ยนสถานะ แต่มันกำลังจะแย่งความเป็น ‘พ่อ’ ของเขาไปด้วย...

ถ้าไม่มีมันสักคน เพียงเพ็ญจะต้องท้องไม่มีพ่อ ถึงเวลานั้น เขาจะแสดงตัวรับเป็นพ่อของลูกในท้อง ทำให้กำนันศร ไม่ต้องอับอายขายขี้หน้า...กำนันศรจะต้องโอนอ่อนผ่อนตาม เพราะนอกจากข้าวสารจะกลายเป็นข้าวสุก เรื่องมันก็เลยเถิดจนมีลูกมีเต้าด้วยกันแล้ว

ถ้าไม่มีตัวเจ้าบ่าว ก็จะไม่มีงานแต่งเกิดขึ้น ก้านสรุป



“ทิด ขึ้นมากินข้าวกินปลาได้แล้วลูก แม่ตั้งสำรับเสร็จแล้ว” เสียงเรียกของแม่ที่อยู่ตรงนอกชานบ้าน ทำให้ก้านสะดุ้ง

“แม่กินก่อนเลย ผมยังไม่หิว”

“ไม่หิวก็ต้องกิน อดข้าว แล้วมันจะได้ประโยชน์อะไร มา ๆ มากินเป็นเพื่อนแม่หน่อยนะ แม่กินคนเดียวมันไม่อร่อย วันนี้แม่ได้ปลาช่อนมาทำต้มยำ มีทั้งพุงทั้งไข่ที่เอ็งชอบด้วยนะ” นางกุ่นพอรู้ว่า อาการซึมเศร้าของลูกชายนั้นเกิดจากเรื่องอะไร จึงพยายามเซ้าซี้... ก้านไม่อยากขัดใจแม่ เขาจึงลุกขึ้นและเดินขึ้นเรือนหลังเก่าโย้เย้ มากินข้าวกับแม่ไปด้วยอาการซังกะตาย

“จะทำอะไร ก็ต้องคิดหน้าคิดหลังให้ดีนะทิด อย่าลืมนะว่า แม่ไม่เหลือใครแล้ว” นางกุ่นเปรยออกมา...

“ผมรู้” ก้านตอบไปด้วยเสียงห้วน ๆ

“รู้ก็ดี บวชแล้ว เรียนแล้ว ก็ถือว่าโตแล้ว อย่าหุนหันพลันแล่นคิดเอาแต่อารมณ์ตัวเองเป็นใหญ่นะ”

“พรุ่งนี้ ผมจะไม่ไปเกี่ยวข้าวนะแม่” ก้านรีบเปลี่ยนเรื่อง

“แล้วจะไปไหน”

“ตั้งใจจะเข้าตลาด เอาปลาเกลือไปให้ซินแซที่เจียดยาให้แม่มาสักหน่อย ทิ้งไว้ให้แห้งกว่านี้มันจะไม่อร่อย”

“วันหลังก็ได้มั้ง”

“อยากไปเปิดหูเปิดตาด้วย บอกกง ๆ ช่วงนี้ ผมไม่มีกะจิตกะใจจะทำอะไร บางทีอาจจะดูหนังสักเรื่องให้ใจมันคลายหดหู่...”

นางกุ่นมองหน้าลูกชาย แต่ก้านไม่ยอมสบตาของแม่ เขารีบเปิบข้าวเข้าปาก นางกุ่นจึงบอกว่า “เปลี่ยนที่เปลี่ยนทางบ้างก็ดี...”

“ถ้ามีใครถามถึงผม แม่ก็บอกไปว่า ผมไม่สบายนอนอยู่ที่บ้านนะ...”

“ทำไม เอ็งคิดจะทำอะไร”

“ไม่ได้คิดจะทำอะไรหรอก แต่ช่วงนี้ ถ้าใครเป็นอะไรขึ้นมา ผมนั่นแหละจะกลายเป็นจำเลย แม่เข้าใจที่ผมพูดใช่ไหม”

“ไอ้ทิด ผู้หญิงมันไม่ได้มีแค่นังเพียงเพ็ญนะ นังบังอร ดูท่าแล้วมันก็ชอบเอ็งอยู่ไม่น้อย” บังอรนั้นเป็นลูกนางอบ นายอาจ ซึ่งมีไร่มีนาพอสมควร แต่ว่าก้านไม่นึกพิศวาสบังอรสักนิด เพราะถ้าเปรียบเพียงเพ็ญเป็นดอกฟ้าที่ต้องเงยหน้าขึ้นมอง บังอรก็เป็นเพียงดอกหญ้าประดับดินที่ต้องก้มมองเท่านั้น และที่สำคัญ ‘ใจ’ เขานั่นแหละ ที่เคยเอาชนะใจแม่ดอกฟ้าได้แล้ว ก็อยากที่จะวิ่งเข้าเส้นชัยที่หมายมั่นให้ได้ด้วย...

“ไอ้หวังมันกะลิ้มกะเหลี่ยอยู่” ก้านออกตัว

“แต่ผู้หญิงมันชอบเอ็ง ใคร ๆ ก็ดูออก”

“ผมทำร้ายจิตใจเพื่อนไม่ได้หรอกแม่...”

“สุดท้ายมันก็จะไม่เหลือใคร...สู้ตัดใจให้ไว และรีบฉวยโอกาสกับคนที่เสมอกันไม่ดีกว่ารึ”

“ให้ถึงเวลานั้นก่อนแล้วกัน ถ้าไอ้หวังมันยังเอาชนะใจอีบังอรไม่ได้ ก็ค่อยว่ากันอีกที”

สองแม่ลูกกินข้าวกันเงียบ ๆ กระทั่ง ก้านกินอิ่ม ลุกขึ้นไปล้างปาก...แล้วไปคว้าผ้าขาวม้าที่วางไว้ตรงหัวบันไดพลางบอกกับแม่ว่า

“เดี๋ยวผมจะออกไปบ้านอาสิทธิ์หน่อยนะ” นายสิทธิ์นั้นเป็นอาของก้าน เป็นเจ้าของคณะแตรวง จึงทำให้ก้านมีความสามารถทางด้านดนตรีและใช้แก้วเสียงที่เหมือนสวรรค์ประทานมา ชดเชยกับความยากจน ร้องเพลงเป็นรายได้อีกทาง

และแตรวงของอาสิทธิ์นี้ก็ทำให้ก้านผู้ด้อยฐานะเป็นดาวเด่น จนสาวเพียงเพ็ญหันมามองเช่นเดียวกับสาวน้อยสาวใหญ่ในย่านนั้น

“จนป่านนี้แล้ว จะไปทำอะไร”

“อยากไปปรับทุกข์กับอาสักหน่อย ไปแล้วนะ ไม่ต้องรอนะ เข้านอนได้เลย คงกลับดึกหน่อย” ว่าแล้วก้าน ก็ลงจากเรือนไป โดยนางกุ่นก็ได้แต่มองตามไปด้วยใจที่เปี่ยมไปด้วยความกังวล...เพราะรู้ว่าที่เห็นลูกชายดูนิ่ง ๆ นั้น ใช่ว่าข้างในจะสงบ

*********

อาสิทธิ์ของก้านเป็นลูกคนเล็กของปู่ ได้เมียมีฐานะดีกว่า นอกจากทำนาแล้วอาสิทธิ์ยังเป็นเจ้าของคณะแตรวงรับจ้างเล่นตามงานบวช งานแต่ง งานทำบุญขึ้นบ้านใหม่ งานมงคลทั้งหลาย รวมไปถึงงานอวมงคลอย่างแห่ศพไปเผา

ก้านไปถึงบ้านของอาสิทธิ์ในเวลาที่ถือว่า ‘ดึก’ สำหรับคนบ้านนอก พอไปถึงก้านก็ไปตะโกนเรียกแข่งกับเสียงหมาที่เห่ากันขรม เพราะถ้าไม่ส่งเสียงไปก่อน ย่อมไม่ปลอดภัยสำหรับคนในชนบท สิทธิ์ขานรับแล้วถือตะเกียงรั้วออกมารับหลานชายเข้าไปในบ้าน

“อา ผมมีเรื่องจะปรึกษา ไปตรงนั้นกับผมหน่อย” ก้านปฏิเสธที่จะขึ้นเรือน เพราะไม่อยากให้เมียและลูก ๆ ของอารับรู้เรื่องของตนให้มากความ...

“มีอะไรรึ” นายสิทธิ์เดินนำหลานมาที่แคร่หน้ายุ้งข้าว

“เรื่องผมกับเพียงเพ็ญ”

ก่อนหน้านั้น อาสิทธิ์เป็นผู้ยุยงให้หลานชายผู้มีหน้าตาหล่อเหลาคารมคมคาย ขวัญใจสาวน้อยสาวใหญ่ รวบหัวรวบหางลูกสาวคนเล็กของกำนันศร เพราะถ้าเอาฐานะกับความเหมาะสมมาวัดกัน ก้านหมดประตูสู้แน่ ๆ แต่พอเรื่องมาถึงขั้นนี้แล้ว นายสิทธิ์นิ่งฟังด้วยสีหน้าเคร่งเครียด...

“ลำพังเสียเขาไป ผมก็พอทำใจได้นะอา แต่นี่ผมต้องเสียลูกไปด้วย”

“แล้วมึงคิดจะแก้ไขอย่างไร”

“ผมจะมาขอยืม ปืน อา” ด้วยหากินอยู่กับรื่นเริง แน่นอนว่ามันก็ต้องมีอันธพาลประจำถิ่นมาก่อกวน ไหนเวลาที่จะต้องเดินทางไปบ้านงาน ไปวัด ทั้งทางรถ ทางเรือ ที่ต้องผ่าน ‘ดงโจร’ อีก อาสิทธิ์จึงต้องมีเขี้ยวเล็บไว้ป้องกันตัว...

“ไอ้ก้าน” เสียงถามเพื่อให้แน่ใจนั้นผะแผ่ว

“ผมขอปืนสั้น ที่อาเพิ่งได้มาได้ไหม...” ปืนกระบอกนั้นเป็นปืนไม่มีทะเบียน หรือเรียกภาษาชาวบ้านว่า ‘ปืนเถื่อน’

“มึงคิดจะทำอะไร”

“ถ้ามีมัน ผมก็จะไม่ได้เป็นลูกเขยพ่อกำนัน... ผมตั้งใจว่า หลังจากจัดการมันแล้ว ผมจะโยนปืนลงแม่น้ำแล้วก็รีบกลับบ้าน”

“แล้วถ้ามึง พลาด”

“ถ้าพลาด อย่างมากก็ติดคุก”

“แม่มึงจะอยู่อย่างไร”

“ผมคงต้องฝากอาดูแลแม่ ผมว่าถ้าพลาดจนติดคุก ก็ไม่กี่ปีหรอก...แต่ถ้ามันสำเร็จ...อาอย่าลืมซิ ว่าผลมันจะเป็นอย่างไร ตอนนี้เพ็ญมันท้องกับผมแล้ว พ่อกำนันต้องปล่อยให้เลยตามเลยแน่ ๆ”

“แล้วทำไม มึงถึงไม่ไปคุยกับทางกำนันซะก่อน”

“อาคิดรึว่า คนอย่างพ่อกำนัน จะยอมแพ้อะไรง่าย ๆ ยิ่งงานแต่งถูกกำหนดในเร็ววันอย่างนี้ด้วย ผมว่าดีไม่ดี เขาก็รู้ว่าลูกสาวเขาเสียทีให้ผม และท้องกับผมแล้ว ทุกอย่างมันถึงได้ดูรวบรัดอย่างนี้...นะอา ช่วยผมสักครั้งเถอะ บุญคุณของอาครั้งนี้ ผมจะไม่ลืมเลย”

ผู้เป็นอานิ่งคิด แล้วถอนหายใจออกมา... “ถ้ามึงพลาด เรื่องปืน มึงอย่าสาวมาถึงกูล่ะ บอกว่าเป็นของเก่าเก็บของพ่อมึง จัดการมันแล้ว มึงก็ทิ้งปืนลงน้ำแม่น้ำไปซะ แล้วก่อนจะลงมือ มึงก็วางแผนหาทางหนีทีไล่ให้ดีซะก่อนนะ...”

“ครับ”

“แล้วงานนี้ มึงไม่ต้องแพร่งพรายให้ใครรู้อีกนะ...ความลับมันจะได้เป็นความลับตลอดไป”



เช้าวันรุ่งขึ้น ก้านเปลี่ยนแผนเข้าตลาดชุมแสง โดยการออกไปรับจ้างเกี่ยวข้าวกับแม่อีกวัน พอหลังเที่ยง ก้านก็บอกนางอบเจ้าของนาว่าเขายังคงปวดท้อง ขอกลับบ้านไปพักผ่อน บังอรดูเป็นห่วงเป็นใยเขาอย่างออกนอกหน้า...แต่ก้านก็บอกเพียงว่า พักผ่อนวันสองวันคงดีขึ้น ลับตาคนมาแล้ว เขาก็รีบวิ่งกลับบ้าน

ถึงบ้าน ก้านก็รีบอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้า คว้าปืนสั้นที่ซ่อนไว้ในตู้ใบเล็กข้างที่นอนเหน็บเอว พอจะลงจากเรือน ก้านก็นึกได้ว่า จะเอา ‘ปลาเกลือ’ ไปเป็นสินน้ำใจให้กับซินแซ และไอ้หนุ่มคนนั้น...เขาวกกลับไปครัว คว้าพวงปลาที่แขวนไว้ที่ข้างฝา...กลิ่นควันในครัวทำให้เขานึกถึงแม่...แล้วก้านก็เปรยเบา ๆ เพื่อปลุกใจตัวเองว่า ‘แม่ ถ้าผมทำงานนี้สำเร็จ ชีวิตของเราจะดีขึ้นกว่านี้ ผมจึงจำเป็นต้องทำอย่างนี้’

เจ้าของร้านขายยา เงยหน้าขึ้นเมื่อเห็นชายหนุ่มมีผ้าขาวม้าเคียนหัว เดินเข้ามาในร้านพร้อมกับปลาเค็มสองพวง...

“ลื้อนั่นเอง”

“หมอจำผมได้ด้วย”

“จำได้ซิ แม่ลื้อหายดีหรือยัง”

ได้ยินดังนั้นก้านก็นิ่วหน้าแปลกใจ เพราะวันนั้น เขามาถึงที่นี่ก็โพล้เพล้จนเริ่มเข้าไต้เข้าไฟ ไม่น่าที่หมอยาจะจำหน้าเขาได้

“แม่ดีขึ้นมากแล้ว แต่ว่า ทำไม หมอถึงจำผมได้”

“ไม่รู้เหมือนกัน แต่ จำได้ละกัน แต่ รึอาจจะเป็นเพราะว่า ลื้อหน้าตาคมคาย สะดุดตาดี ลื้อก็มาจากฆะมังใช่ไหมล่ะ”

“ใช่ครับ วันนี้ ผมนำปลาเกลือมาฝาก”

“เอามาให้ลำบากทำไม...”

“ก็ถือว่าเป็นสินน้ำใจที่หมอช่วยรักษาแม่ผมจนหายดี”

“อั๊วไม่ได้ช่วยเปล่านี่นา คิดเงินลื้อ ได้กำไรมาแล้ว...”

“รับปลาผมไว้เถอะนะ ผมตั้งใจเอามาแล้ว” ว่าแล้วก้านก็ส่งปลาหนึ่งพวงข้ามตู้ใส่สินค้าไปให้

“ก็ได้...ขอบใจนะ พรุ่งนี้เช้าอั๊วจะทอดกินกับข้าวต้มร้อน ๆ คงจะอร่อยมาก แต่อั๊วเกรงใจลื้อจัง คราวหน้าคราวหลังไม่ต้องเอาอะไรมาอีกนะ”

“แล้วไอ้หนุ่มคนนั้นล่ะ คนที่ช่วยออกค่ายาให้ผม 2 บาท ผมมีปลามาฝากเขาเหมือนกัน บ้านเขาอยู่ตรงไหน”

“อาซานะเหรอ”

‘อาซา’ ชื่อนี้ทำให้ก้านรู้สึกเย็บวาบไปทั่วสรรพางค์กาย... ในหัวสมองที่ครุ่นคิด วางแผน กำจัด ‘ไอ้ซา’ มาตลอดการเดินเท้าจากฆะมัง มาที่ตลาดชุมแสงนั้น มีคำถามผุดขึ้นว่า หวังว่ามันจะไม่ใช่คนคนเดียวกัน...เพราะชื่อคนจีนนั้นก็จะคล้าย ๆ กันอยู่แล้ว

“ไม่รู้ซิ...รู้แต่ว่า เขาช่วยออกเงินให้ผม 2 บาท ผมอยากเจอเขา ผมจะเจอเขาได้ที่ไหน”

“ร้านเถ้าแก่เซ้ง อาย้อย ออกจากซอยนี้ไปเลี้ยวซ้าย ผ่านตลาดสด ซอยแรกเลย ชื่อ ร้านอัศวรุ่งเรืองพานิช ถ้าหาไม่เจอก็ถามคนแถว ๆ นั้นได้เลย”



ระหว่างที่ก้านเดินมาปากซอย ต้องผ่านร้านขายเครื่องสังฆภัณฑ์ที่ตั้งอยู่เรียงราย เจ้าของร้าน และลูกจ้าง ต่างเชื้อเชิญให้เขาเข้าไปในร้าน ก้านที่คุ้นเคยกับสีเหลืองทองของผ้ากาสาวพัสตร์ ได้แต่ส่ายหน้าเบา ๆ พอเดินมาถึงปากซอย มองข้ามแม่น้ำน่านไปก็มองเห็นหลังคาวัด ใจที่คะนองเกรี้ยวกราดก่อนนั้น ค่อย ๆ ฝ่อลง...

ใบหน้า น้ำเสียง และ ‘น้ำใจ’ ของชายหนุ่มคนนั้นยังคงติดตาตรึงใจ...

‘ไม่ต้องหรอกแปะ คิดเขาแค่ 20 นั่นแหละ อีก 4 บาท เดี๋ยวเอาที่อั๊ว’

‘มันเอ่อ ไม่ดีมั้งน้องชาย ให้อาแปะเอายาออกเถอะ’

‘อย่าเอาออกเลยพี่ชาย รับน้ำใจจากผมไปเถอะ เตี่ยผมก็ป่วยเหมือนกัน นอนฟังเตี่ยไอทั้งคืน ก็สงสารเตี่ย...พี่ชายก็คงเหมือนกัน คิดซะว่า ผมซื้อยาให้แม่พี่ชายแล้วกันนะ...รับไว้เถอะ’

‘รับไว้เถอะพ่อหนุ่ม เดี๋ยวอั๊วลดให้ 2 บาทแล้วกัน ช่วยกันคนละครึ่งกับอาตี๋มัน ลื้อจะได้สบายใจ’

ก้านนึกถึงตอนที่เขาจะยกมือไหว้ขอบคุณ ...แต่ ‘อาซา’ ก็รีบจับมือของเขาไว้เสียก่อน แล้วก็พูดว่า

“ไม่ต้อง ๆ ไม่เป็นไร ผมยินดี แล้วนี่ พี่ชายมาจากไหน”

‘มาจากฆะมัง’

‘ฆะมัง...ฆะมัง ไกลอยู่เหมือนกันนะ พี่ชายมาอย่างไร แล้วจะกลับอย่างไร อ้อ เอาจักรยานมา งั้นรีบกลับเถอะ ค่ำมืดดึกดื่น มันจะยิ่งลำบาก...’

คำว่า ‘ฆะมัง’ ยังคงก้องอยู่ในสามัญสำนึกของก้าน...เขามองปลาเค็มในมือ แล้วถามตัวเองว่า ถ้าเขาอาจหาญถือปลาเค็มไปให้อาซาคนที่เขาจะมา ‘คร่าชีวิต’ มันก็เท่ากับว่า เขาเต็มใจยก เพียงเพ็ญ นางผู้เป็นยอดดวงให้อาซาด้วยเช่นกัน...

เขาจะทำอย่างไรกับปลาเค็มพวงนี้ดี...เขาจะทำอย่างไรดี?

****************************


Title: Re: กรงกรรม บทประพันธ์ของ จุฬามณี
Post by: นักประพันธ์ on 02 March 2020, 00:05:45
ตอนที่ 21 : ความดีเป็นเกาะคุ้มครองตัว


            ๒๑


วันรุ่งขึ้น แรกทีเดียว กำนันศรจะให้นางศรีมารับช่างตัดชุดเจ้าสาวไปวัดตัวเพียงเพ็ญที่บ้านแล้วขับเรือมาส่ง แต่พอเพียงเพ็ญรู้เรื่องเข้า หญิงสาวบอกว่า ขอมาหาช่างที่ตลาดชุมแสงด้วยตนเองดีกว่า เพราะจะได้มีโอกาสเลือกผ้าตัดชุดได้มากขึ้น... กำนันศรรู้สึกดีใจละคนแปลกใจที่เห็นลูกสาวละพยศได้เร็วกว่าที่คิด แต่ก็ใช่จะวางใจ เขาสั่งกำชับนางศรีกับนางสมพร และคนขับเรือให้ช่วยกันจับตาดูเพียงเพ็ญให้ดี นอกจากนั้น กำนันศรก็ยังให้คนของตนอีกจำนวนหนึ่ง เฝ้าดูพฤติกรรมของก้าน

พอรู้ว่าเช้าวันนั้น ก้านออกไปเกี่ยวข้าวพร้อมกับแม่ กำนันศรก็คลายกังวล ว่าระหว่างก้านกับเพียงเพ็ญจะไม่มีการนัดแนะ หนีตามกันอย่างที่ระแวง...

เที่ยงวันนั้น ระหว่างที่ปล่อยให้หลานสาวและพี่สะใภ้ เลือกผ้าเลือกแบบ อยู่กับช่างตัดผ้า นางศรีก็เดินมาหานางย้อยที่กำลังวุ่นวายอยู่กับการเตรียมงานงานแต่งลูกชายคนที่สามอยู่เหมือนกัน...

“แม่ศรี มาก็ดีแล้ว” นางย้อยยังไม่ลืมเรื่องคาใจ นางศรีได้ยินดังนั้นก็รู้สึกหวั่นใจ ตามประสาเพราะฝ่ายของตนนั้นมี ‘ชะนัก’ ติดหลังอยู่ แต่พอได้ยินเรื่องที่นางย้อย ‘ฟ้อง’ หัวคิ้วของนางศรีก็ขมวดเข้าหากัน...

“แน่ใจนะว่า เจ้าของเรือเติมน้ำมันไปเต็มถัง”

“แน่เสียยิ่งกว่าแน่...”

“ใครกันนะ มันช่างกล้า...” นางศรี ละคำว่า ‘ล้วงคองูเห่า’ ไว้ในใจ โดยลึก ๆ ก็พอรู้ว่า ใคร? ที่มัน ‘ช่างกล้า’ หยามชื่อเสียงของกำนันศร แต่จะพูดออกไปได้อย่างไร เพราะถ้าความแตกขึ้นมา แผนการที่ดำเนินมาจนถึงขั้นนี้แล้วคงได้พังทลาย

“เรื่องนี้ ทางพ่อกำนัน ทางแม่ศรีต้องไปสืบให้ได้เรื่องนะ หาตัวคนทำผิดมาให้ได้...บอกตรง ๆ ว่า พอฉันรู้ว่ามีคนคิดไม่ดีกับพวกฉัน ตั้งแต่เหยียบย่างไปที่นั่น ฉันก็นึกห่วงอาซาขึ้นมา”

“โอ๊ย ไม่มีอะไรหรอกแม่ย้อย คนที่โน่นจิตใจดีมีศีลธรรมกันทุกคน”

“จิตใจดี แต่พอเผลอไปกินข้าวก็เปิดน้ำมันเรือทิ้งนี่นะ” นางย้อยย้อนด้วยเสียงสะบัด

“ฉันกับพี่กำนันรับรองว่า อาซาไปอยู่ที่โน่นจะไม่มีปัญหาอะไร” นางศรีตอบไปอย่างกำปั้นทุบดิน

“แล้วถ้ามีล่ะ”

“ไม่มีหรอก...เฮ๊ย เราอย่ามาพูดเรื่องที่มันยังไม่เกิดขึ้นเลยแม่ย้อย”

“แต่ฉันนึกเป็นห่วงลูก จะว่าไปแล้ว มันก็เกิดและโตในตลาด กลัวว่ามันจะไม่ทันเล่ห์เหลี่ยมของคนตามท้องไร่ท้องนาเขา”

ได้ยินดังนั้นนางศรีก็นึกค่อนขอดอยู่ในใจว่า ‘ฝ่ายตัวเป็นผู้ชายแท้ ๆ จะห่วงอะไรนักหนา’ แต่นางศรีก็ไม่ได้พูดออกมา และเพื่อเปลี่ยนอารมณ์ของนางย้อย นางศรีจึงต้องเปลี่ยนเรื่องคุย

“คิดมากนะ...ใจเย็นๆ ฉันรับรองว่า ไม่มีอะไร ก็ไม่มีอะไรซิ อ้อ แล้วนี่จัดแจงเรื่องชุดเจ้าบ่าว เครื่องขันหมากหรือยัง...”

“จัดแจงแล้ว”

นอกจากชุดเจ้าบ่าวที่กมลตัดสินใจใช้ชุดของประสงค์ที่เพิ่งเก็บเข้าตู้ไปแล้ว นางย้อยก็ยังจัดแจงเรื่องขนมเครื่องขันหมาก โดยการให้บุญปลูกไปเรียกเรณูที่นั่งอยู่หลังหาบหน้าตลาดสดเข้ามาพบแล้วสอบถามเรณูว่า จะสามารถช่วยเรื่องขนมตามตำราได้หรือไม่ พอรู้ว่านางย้อยต้องการอะไรบ้าง เรณูก็ตกปากรับคำว่า จะทำให้โดยไม่คิดค่าแรงเพราะเห็นแก่กมล และถ้าขนมชนิดไหนที่ทำไม่ได้ ก็จะเป็นธุระซื้อหาให้เอง

หลังจากที่เรณูรับภาระเรื่องขนมไปแล้ว นางย้อยก็ออกปากชวนให้เรณูไปงานร่วมงานแต่งของกมลด้วยกัน...

ตอนนั้นเอง พิไล เริ่มรู้สึกแปลกใจยิ่งขึ้น เพราะเมื่อวาน ก่อนจะไปฆะมัง นางย้อยก็เหมาขนมหม้อแกงไปฝากคนทางนั้นจนหมดเกลี้ยง...มาวันนี้ก็ยังเรียกมาไหว้วาน จ้างวาน ให้ทำขนมให้ด้วยน้ำเสียงรื่นหู

...มันเกิดอะไรขึ้น คนเคยเกลียดกันจนกระทั่งไม่อยากแม้จะได้ยินชื่อเสียง ลุกขึ้นมาเดินไปหากัน พูดคุยกัน ญาติดีต่อกัน เหมือนไม่มีเรื่องเคยบาดหมางใจกัน...

เรื่องที่เคลือบแคลงสงสัยนั้น พิไลยังคงเก็บไว้กับอก ไม่เปรยให้ประสงค์ได้รับรู้ และพิไลก็ตั้งใจไว้ว่า นับแต่นี้ จะต้องจับตามองทั้งนางย้อยและเรณูให้มากขึ้น...

กระทั่งนางศรีขอตัวออกไปดูเพียงเพ็ญที่ร้านตัดผ้า พิไลก็ที่จัดของพลางฟังความไปด้วย ก็เดินเข้ามาหาแล้วถามว่า

“งานแต่งอาซา จะต้องแจ้งให้เตี่ยกับแม่หนูไปด้วยหรือเปล่า”

นางย้อยนิ่งคิด ก่อนจะบอกว่า “ใจหนึ่งก็อยากแจ้ง แต่อีกใจก็รู้สึกเกรงใจ....”

“เราเป็นครอบครัวเดียวกัน จะต้องเกรงใจอะไรม้า บอกเขาไปเถอะ มาไม่มาก็อีกเรื่อง”

“ถ้าอย่างนั้น ลื้อก็ช่วยเขียนจดหมายฝากเรือสินค้าไปแล้วกัน รีบ ๆ หน่อยนะ มีเวลาแค่สัปดาห์เดียว”

“แล้วญาติของเตี่ยทางปากน้ำโพล่ะ”

“ฉุกละหุกแบบนี้ บอกไป เขาก็ไม่มากันหรอก บอกตรง ๆ ว่า ม้ารู้สึกว่า อะไร ๆ มันยุ่งไปหมด นี่ก็ยังไม่รู้ว่าคิดผิดหรือเปล่า ที่รีบร้อนกำหนดวันแต่งเสียจนกระชั้นจนหายใจหายคอไม่ทัน”

เห็นว่าเรื่องจะเข้าตัว พิไลจึงรีบบอกว่า “โอ๊ย คิดไม่ผิดหรอกม้า...ก็อย่างที่หนูบอกนั้นแหละ โอกาสมีแล้ว ก็รีบฉวยไว้ พลาดจากเขาขึ้นมาแล้วจะมาเสียใจทีหลัง...อ้อ ม้างานนี้อย่างไร ก็ต้องส่งข่าวให้ อาสี่ มาถ่ายรูปงานแต่งให้อาซานะ...เดี๋ยวพอไม่มีรูปงานแต่ง เหมือนอาเฮีย วันหลังอาซาจะนึกน้อยใจเอาได้”

แม้จะรู้สึก ขวางหู ขวางตา รู้สึกรำคาญน้ำเสียง ความเจ้ากี้เจ้าการของลูกสะใภ้คนนี้ แต่นางย้อยก็เห็นว่า ความคิดของพิไลนั้นเข้าที นางย้อยจึงตัดบทไปว่า
“งั้นลื้อก็ช่วยจัดการให้ม้าหน่อยแล้วกัน ช่วงนี้ ม้า รู้สึก งง ๆ รู้สึกตื้อ ๆ อย่างไรก็ไม่รู้”

“พักผ่อนนอนหลับไม่พอ หรือเปล่าม้า...คือ หนูรู้สึกว่า หน้าตาม้าไม่ค่อยจะสดใสเหมือนก่อน...”

พอได้ยินดังนั้น นางย้อยก็หยิบกระจกส่องหน้าที่คว่ำไว้บนโต๊ะบัญชีมาดูหน้าตัวเอง... หัวคิ้วขมวดเข้าหากัน ใจนั้นไม่รู้สึกว่า สีหน้าของตนนั้นก็ปกติดี ดูจะมีเลือดฝาดอีกต่างหาก...พินิจดูใบหน้าตัวเองแล้ว จู่ ๆ อารมณ์หนึ่งก็แทรกเข้ามา มันรู้สึกอยากกินของหวาน อยากกินขนมหม้อแกง ฝีมือของเรณู...คว่ำกระจกลงแล้วนางย้อยก็บอกพิไลว่า

“พิไล ลื้อไปบอกไอ้ป้อมหน่อยซิ ให้มันไปที่โรงสีหน่อย ไปบอกอีเรณูให้ที ว่าพรุ่งนี้ ทำขนมหม้อแกงมาให้ม้ากินหน่อย นึกถึงขนมมันทีไร ม้าก็รู้สึกเปรี้ยวปากจนน้ำลายไหลโกรก...”

***********

ชุดสูทของประสงค์แม้จะยังใหม่เอี่ยม แต่ส่วนเอวกางเกงก็คับไปและช่วงขานั้นก็สั้นเต่อ กมลจึงได้นำไปให้ช่างตัดเสื้อผ้าบุรุษช่วยแก้ให้ ระหว่างเดินกลับมาที่ร้าน ป้าคนขายข้าวเม่า ก็ร้องเรียก...

“แหม พอจะได้เป็นเจ้าบ่าว ก็ทำเป็นไม่รู้จักกันเลยน้า...”

กมลฉีกยิ้มแล้วเดินเข้าไปหา เหมือนเดิมว่า เขาคว้าแป้งร่วง ๆ มาเคี้ยวกินหน้าตาเฉย

“ขายดีไหมป้า”

“ทำไมรีบร้อนแต่งนักล่ะ บวชก็ยังไม่ได้บวช ทหารก็ยังไม่ได้เกณฑ์...”

“เหลือเยอะเลยนะ คนกิน ไปไหนกันหมด”

“เขาว่ากันว่า เงินต่อเงินใช่ไหม”

“น้ำมันบัวหมดหรือยังป้า...ถ้าหมดแล้วบอกนะ จะให้พี่ป้อมเอามาส่ง ป้าไม่ต้องไปถึงที่ร้านหรอก บริการถึงที่”

พอเห็นว่า กมลไม่ยอมไขข้อข้องใจ นางแม่ค้า ก็ค้อนให้...

“จะไปงานแต่งผมไหมล่ะ แม่เขาจ้างเรือไว้ตั้งสองลำ”

“ถ้าไป ใครจะขายของล่ะ”

“ก็หยุดสักวันซิ...นะ ไปเป็นเกียรติกับผมหน่อย ชีวิตนี้คงไม่ได้แต่งงานบ่อย ๆ หรอก”

“แล้วทำไมถึงได้รีบร้อนแต่งนักเล่า อายุก็แค่นี้เอง”

“ก็ เห็นเขา มีเมียกัน ก็นึกอยากจะมีกับเขามั่ง ประมาณนั้นแหละ...”

“มีเมียดีก็ดี”

“แล้วถ้ามีเมียไม่ดีล่ะ”

“ก็ไม่ดีนะซิ...พ่อก็ถามได้ แต่เมียพ่อคนนี้ คงจะดีอยู่หรอก เรือล่มในหนองทองจะไปไหนใช่ไหม”

“นั่นซิ ทองจะไปไหน ถามใครดีล่ะ” กมลแสร้งหันซ้ายหันขวา ยิ้มกวนอารมณ์คู่สนทนา

“ศุกร์ ขึ้น 9 ค่ำ ใช่ไหม...ขอคิดดูก่อนนะ”

“ถ้าป้าไม่ไป วันนี้ผมไม่ช่วยซื้อ แล้วก็จะไม่ช่วยซื้อตลอดไป...”

“แหม ไปอยู่ฆะมังแล้ว อย่างกับจะกลับง่าย ๆ นักแหละ ตกลงเอากี่แพ”

“ไปรึเปล่าล่ะ” กมลแสร้งทำหน้าบึ้ง

“ไปก็ได้...แหม แค่นี้ก็ต้องมีข้อแลกเปลี่ยน ว่าไป พ่อไม่อยู่สักคน ป้าคงเหงาแย่”



ระหว่างที่กมลยืนลับฝีปากอยู่กับแม่ค้าข้าวเม่า ก้านที่ยืนชั่งใจอยู่ว่า ควรจะทำอย่างไรกับ ‘พวงปลาเค็ม’ ในมือ ก็นิ่วหน้า...เพราะผู้ชายที่เดินมาหยุดอยู่ที่ร้านขายข้าวเม่าทอดนั้น เหมือนไอ้หนุ่มคนนั้น ซึ่งเขาก็เพิ่งรู้ว่ามัน ชื่อ ‘ซา’ จะว่า มันเป็นคนมีบุญคุณกับเขาก็ได้ ถ้าไม่ได้มัน แม่ก็จะไม่ได้ยาไปครบตำรับ

แต่มันก็ทำให้แผนชีวิตของเขาพังทลาย แม้จะไม่ได้ตั้งใจก็ตาม

ถ้าไม่มีมันสักคน...

ถ้ามันได้แต่งเข้าบ้านกำนัน

มันก็จะได้ครอบครองสมบัติพัสถานที่กำลังจะเป็นของเขา...

มันก็จะกลายเป็นพ่อของลูกของเขาไปโดยปริยาย

และที่ก้านคิดไม่ถึง คือ กมลที่ยืนหันหลังอยู่นั้น เกิดรู้สึกว่า มีใครมองตนอยู่จึงเหลียวหลังกลับ...แล้วหัวคิ้วของกมลก็ขมวดเข้าหากัน...ครุ่นคิดว่า เคยเห็นหน้าชายหนุ่มที่มีผ้าข้าวม้าโพกหัวคนนี้ที่ไหน ชั่วอึดใจแค่นั้น กมลก็ยิ้มออกมา ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับที่ก้านกำลังจะเมินหน้าหนี...

“พี่ชาย...พี่ชาย” กมลที่มีกระทงข้าวเม่าอยู่ในมือร้องเรียกก้าน ก้านหยุดชะงักแล้วสูดลมหายใจเข้าปอด...ชั่งใจว่าระหว่างเดินไปเลย ทำเป็นไม่รู้ ไม่เห็น ไม่ได้ยิน เสียก็ได้ แต่ว่าเสียงนั้น ก็เป็นเสียงที่เต็มไปด้วยความเป็น ‘มิตร’

และคำว่า ‘มิตร’ นี้ ทั้งพ่อและอาสิทธิ์พร่ำบอกกับเขาเสมอว่า ถ้าเจอ ‘มิตรดี’ ก็ควรรักษาไว้ให้ดี...และที่สำคัญของความเป็นคนนั้น โดยเฉพาะในมงคลสูตร ข้อที่หนึ่ง ก็คือ อย่าคบหา ‘มิตรชั่ว’

“พี่ชาย ๆ” กมลกรากเข้าไปหาก้านที่กำลังจะผละหนี ก้านชะงักเท้าแล้วหันกลับมา ยิ้มแหยๆ ให้

“จำผมได้ไหม...”

ก้านหน้าเจื่อน ๆ ก่อนจะบอกว่า

“จำได้ จำได้ น้องชาย คนที่ช่วยออกเงินค่ายาให้พี่” คำตอบนี้ของก้านเสมือนแสงสว่าง ทำให้ใจที่เกือบมืดบอดนั้นพลันสุกใสขึ้นมา...

“แม่พี่เป็นอย่างไรบ้าง ดีขึ้นไหม”

“ดีขึ้น ๆ ทำงานได้แล้วด้วย พ่อน้องชายล่ะเป็นอย่างไร”
ด้วยยังปรับอารมณ์ตัวเองไม่ทัน น้ำเสียงของก้านจึงยังตะกุกตะกัก ผิดเวลาที่เขาออดอ้อนบรรดา ‘แม่ยก’ ของบนเวทีรำวง

“ดีขึ้นเหมือนกัน แต่ก็ยังมีไออยู่ แล้วนี่พี่ชายมาทำอะไร มาซื้ออะไร” ถามแล้วกมลก็มองพวงปลาเค็มในมือของก้าน

ก้านได้สติ ก้มมองพวงปลาเค็มในมือแล้วบอกว่า

“วันนี้นึกอยากดูหนังก็เลยมาตลาด มีปลาเกลืออยู่ ก็เลย เอามาฝากหมอ กับ เอ่อ ๆ ตั้งใจจะเอามาฝากน้องชายด้วย”

“ฝากผม ฝากทำไม...”

“เอ่อ...ถือว่า เป็นสินน้ำใจน่ะ มันไม่ได้มีราคาค่างวดอะไรหรอก นี่เอาไปให้หมอแล้วพวงหนึ่ง ก็เหลือแต่ของน้องชาย พี่ก็กำลังจะเดินไปที่ร้านพอดี”

“โห ปลาตัวใหญ่แล้วเยอะเสียด้วย ผมเกรงใจจัง”

“ไม่ต้องเกรงใจหรอก รับไปเถอะนะ...” ว่าแล้วก้านก็ยื่นพวงปลาเค็มในมือให้กมล กมลลังเลที่จะรับเพราะรู้สึกว่า มันมากไป ประกอบกับตอนที่คิดช่วยเหลือ เขาไม่ได้คิดหวังตอบแทนผลใด ๆ ความสุขตอนที่ได้ช่วยเหลือ เขาก็รับตอนนั้นไปแล้ว... เขาจึงส่ายหน้าเบาๆ

“ผมรับปลาของพี่ไม่ได้หรอก ผมเกรงใจ แต่ผมจะตอบแทนเป็นเงินแล้วกันนะ” ว่าแล้วกมลก็ควักแบงก์สิบออกมาจากกระเป๋าเสื้อ...พร้อมกับยื่นมือไปคว้าพวงปลามาถือไว้ด้วยมือข้างซ้ายที่มีกระทงข้าวเม่า...

“พี่รับเงินนี้ไปนะ มันไม่มากหรอก อาจจะน้อยกว่าราคาปลาของพี่อีก...”

“พี่คงรับไว้ไม่ได้...”

“รับไปเถอะนะ ผมรับปลามาเฉย ๆ ผมไม่สบายใจ...อ้อ เอาอย่างนี้แล้วกัน ถ้าพี่ลำบากใจ พี่ก็รับเงินนี้ไว้ แล้วซื้อขนมไปฝากแม่พี่ละกันนะ...ถือว่าผมซื้อขนมฝากไปให้แม่ของพี่กิน รับไว้เถอะนะ...” กมลรีบคะยั้นคะยอ...ก้านมีสีหน้าลำบากใจ ลังเลใจ และรู้สึกหนักใจมากทับทวี...

และยังไม่ทันที่ก้านจะตัดสินใจทำอะไร เขาก็ได้ยินเสียงของนางศรีที่เดินมาพอดี...

“ไอ้ก้าน เอ็งมาทำอะไรที่นี่ แล้วพ่อซามายืนทำอะไรอยู่ตรงนี้”

*******************

นางศรีกำลังเดินมาหาเพียงเพ็ญกับนางสมพรที่ร้านตัดเสื้อ หยุดะงักแล้วหยีตามองสองหนุ่มที่ยืนอยู่ตรงหน้า พอเห็นถนัดสายตา นางศรีก็รีบเดินเข้ามาหาพร้อมกับร้องทัก เพราะหวั่นใจว่า ก้านจะมาทำให้เสียเรื่อง! ที่กำลังจะลงเอยด้วยดี

“ไอ้ก้าน เอ็งมาทำอะไรที่นี่ แล้วพ่อซามายืนทำอะไรอยู่ตรงนี้”

สองหนุ่มหันไปทางต้นเสียง... ตอนนั้นเงินแบงก์สิบอยู่ในมือของก้าน และปลาเค็มพวงนั้นก็อยู่ในมือของกมลแล้ว...

“อาศรี” กมลเอ่ยทักขึ้นก่อน ส่วนก้านเชิดหน้าขึ้นสูดลมหายใจเข้าปอดตั้งสติหาข้อแก้ตัว

“รู้จักกันด้วยรึ”

คำถามนั้น ทำให้สองหนุ่มหันมามองหน้ากัน ใช่แล้ว กมลยังไม่รู้ว่า ชายหนุ่มตรงหน้ามีชื่อเสียงเรียงนามว่าอะไร รู้แต่ว่า เขาเป็นคนฆะมังเช่นเดียวกับนางศรี...เขาจึงอึกอัก “เอ่อ...”

“พี่ชื่อ ก้าน น้องชายก็คงชื่อซา ใช่ไหม” ตั้งสติได้แล้ว ก้านก็รีบหันไปหากมล กมลรับคำว่าครับ พร้อมกับยิ้มให้

“เพิ่งรู้จักกันรึ...” นางศรียังไม่คลายสงสัย

“คือ แบบนี้อา...” กมลจึงเล่าเรื่องคร่าว ๆ ให้นางศรีฟัง

นางศรีไม่อยากจะเชื่อว่า โลกมันจะกลมถึงเพียงนี้...แต่ดูท่าแล้วกมลคงยังไม่รู้ว่าก้านนั้นคือคนรักของเพียงเพ็ญ และเป็นคนที่ทางกำนันศรระแวงว่าจะทำงานพิธีการแต่งงานที่จะเกิดขึ้นนั้นปั่นป่วน

นางศรีจึงรีบถามก้านว่า “ก้าน แล้วเอ็งมาทำอะไรรึ”

“เอ่อ มาซื้อยาให้แม่”

“วันนี้ ไม่ได้ไปรับจ้างเกี่ยวข้าวหรอกรึ”

“ไปมาแค่ครึ่งวัน พอดีนึกขึ้นมาได้ว่า ยาของแม่หมด...”

“แล้วได้ยาหรือยัง”

“ยังเลย”

“งั้นก็รีบไปซิ เดี๋ยวจะมืดค่ำซะก่อน”

ได้ยินดังนั้น มุมปากของก้านก็กระตุก เพราะเดาใจได้ว่า นางศรีนั้นคงจะระแวงว่าตนจะทำให้เสียเรื่อง...แต่ก้านที่เกิดปลงใจได้แล้วว่า ‘เวรควรระงับด้วยการไม่จองเวร’ และวาสนาของตนนั้นมีแค่นี้ เป็นได้แค่นี้ ก็ปั้นหน้าเป็นปกติ แล้วก็เอ่ยกับกมลว่า

“น้องชาย พี่ก็ขอตัวก่อนนะ...วันหน้าหวังว่าคงจะได้เจอกันอีกนะ”

“เช่นกันครับ...”

“ขอบใจสำหรับเงินสิบบาทนะ บุญคุณของนายในครั้งนี้ เห็นทีพี่จะไม่ลืมไปจนชั่วชีวิต!”

“โอ๊ย อย่าคิดเรื่องบุญคุณเลยพี่ ปลาพวงนี้ ผมก็รู้สึกตื้นตันใจจะแย่แล้วเหมือนกัน”

นางศรีเห็นว่า เรื่องจะยืดยาวจึงรีบตัดบทว่า “พ่อซา เมื่อกี้ แม่ของพ่อบ่นถึงน่ะ...”

ด้วยแดดยามบ่ายนั้นยังคงร้อนผิว กมลที่สวมเสื้อยืดคอเชิ๊ตและกางเกงขาสั้นจึงบอกว่า

“พี่ก้าน ถ้าอย่างนั้น ผมขอตัวก่อนนะ อาศรี งั้นผมไปแล้วนะ...”

ทั้งนางศรีและก้านมองตามหลังของกมลไป แล้วนางศรีก็หันกลับมาหาก้านที่ยังยืนนิ่งอยู่...

“แล้วนี่ ร้านขายยาอยู่ตรงไหน”

ก้านชี้ไปในซอย...นางศรีเห็นว่า ร้านยานั้น อยู่คนละซอยกับร้านที่เพียงเพ็ญไปตัดชุดจึงคลายกังวล...แต่พอก้านจะผละไป นางศรีก็นึกขึ้นมาได้ว่า ยังมีเรื่องคาใจที่จะต้องสะสาง...

“เดี๋ยว...”

ก้านชะงักแล้วหันมาหา...

“เอ็งรู้ใช่ไหมว่า อาซา คือคือคู่หมั้นคู่หมายของนังหนู”

“ก็เพิ่งรู้” ก้านตอบห้วนๆ

“เพิ่งรู้ หรือว่า รู้ ตั้งแต่เมื่อวานแล้ว”

“รู้ ตั้งแต่เมื่อวาน” ก้านยอมรับตามตรง สีหน้านั้นเรียบเฉย จนนางศรีเดาอารมณ์ไม่ได้

“แล้วเมื่อวาน ใครเปิดน้ำมันเรือของเขาทิ้ง”

“เรื่องนั้น ผมไม่รู้”

“ความลับ มันไม่มีในโลกหรอกนะไอ้ทิด จะทำอะไร ก็คิดหน้าคิดหลังให้ดี ๆ คนบ้านเดียวกัน อย่างไรมันก็ต้องเห็นกันไปอีกนาน”

“อาอยากจะบอกอะไรกับผมอีก”

“เรื่องมันก็มาจนถึงขนาดนี้แล้ว อย่างไรก็ปล่อยนังหนูมันไปเถอะนะ มันเองก็ดูเหมือนจะรู้แล้วว่าอะไรควร อะไรไม่ควร”

“แล้วอะไรไม่ควร” ก้านแกล้งเล่นลิ้น นางศรีมองหน้าก้านแล้วก็บอกด้วยน้ำเสียงละมุนละม่อมว่า

“อาขอเถอะนะ เรื่องน้ำมัน พ่อกำนันยังไม่รู้ และอาก็จะไม่บอก ถ้าทิดสัญญาว่างานแต่งที่จะถึงนี้จะไม่มีเหตุให้ผู้ใหญ่ปั่นป่วนอีก”

“แล้วถ้าผมให้ไม่ได้ล่ะ ผลมันจะเป็นอย่างไร”

“ทิดเป็นคนฉลาด ก็น่าจะรู้ว่า ดิ้นรนไปแล้ว สุดท้าย ผลมันจะเป็นอย่างไร ตัดใจแล้วก็ตั้งจิตไว้ที่ปรารถนาดีต่อกันเถอะนะ...ทิดก็เห็นแล้วนี่ ว่าพ่อซาน่ะเขาเป็นคนดีและคู่ควรกับนังหนูมันแค่ไหน...”

ก้านอยากจะถามว่า ‘แล้วอาศรีรู้หรือยังว่านังหนูของอาท้องกับผม’ แต่เขาก็กลืนประโยคนั้นลงคอ...เพราะเมื่อ ‘กรรมดี’ ที่จะเรียกว่า ‘บุญ’ ของอาซายังมี และมีมากจนเขาไม่อาจเทียบรัศมี เห็นทีเขาก็ควรไปตามยถากรรมของเขา อย่างที่ญาติผู้ใหญ่ของเพียงเพ็ญต้องการ

และเพื่อต้องการให้นางศรีเห็นว่าเขายินดีปลดปล่อยเพียงเพ็ญให้กับกมลไปแต่โดยดี ก้านจึงบอกกับนางศรีว่า

“ถ้าอย่างนั้น อาศรีก็บอกคนของอา ว่าให้ลบผมไปจากหัวใจ และอย่าบอกให้อาซามันรู้ว่า ผมเคยเป็นใครละกัน...ผมไปละ”

ว่าแล้วก้านก็เดินเข้าซอยไป โดยมีนางศรีมองตามหลังด้วยใจที่ยากจะบอกความรู้สึก...

***************

ระหว่างที่อยู่ในร้านตัดผ้านั้น เพียงเพ็ญมีอาการคลื่นเหียน และอาเจียนออกมาถึงสองครั้งสองครา...ช่างตัดเสื้อเห็นว่าเจ้าสาวนั้นดูท่าจะไม่สบายจึงรีบวัดตัว หลังเลือกแบบ เลือกผ้าเสร็จเรียบร้อย แล้วก็แนะนำนางสมพรให้พาลูกสาวไปซื้อหาหยูกยากินบรรเทาอาการ ‘เมาเรือ’ ที่นางสมพรกล่าวอ้างแทนลูกสาว

พาลูกสาวเดินพ้นจากร้านตัดผ้ามาแล้ว นางสมพรก็ถามว่า “ไหวไหม จะต้องไปที่ร้านขายยาไหม”

“ไปก็ดีเหมือนกัน...เหมือนยาลมที่บ้านเราจะหมด” ตั้งแต่ ‘รู้สึกตัว’ ว่า ตนน่าจะท้องกับก้าน เพียงเพ็ญเริ่มมีอาการแพ้ท้องประจานหน้าตัวเองหนักขึ้น ๆ แม้จะรักก้าน แต่เพียงเพ็ญก็รักหน้าตัวเองมากกว่า ขืนมีอาการพะอืดพะอมกลางงานแต่ง ทีนี้เอง คนคงได้เอาไปลือกันทั้งบางจนแผนที่วางไว้จะพังทลายไปเสียก่อน!

ระหว่างที่นั่งรอแม่อยู่ที่หน้าร้าน เพียงเพ็ญที่รู้สึกอ่อนแรงก็เอนตัวพิงประตูบานเฟี๊ยมแล้วหลับตา...ก่อนที่แม่จะเข้าไปในร้านเพียงลำพัง เพียงเพ็ญกัดฟันบอกกับแม่ว่า

‘แม่ หนูว่า หนู น่าจะท้องกับพี่ก้าน’

‘ฮ้า! อะไรนะ’

‘แม่ไม่ต้องตกใจไปหรอก ถึงหนูจะท้องกับเขา แต่หนูก็ไม่โง่ หนีงานแต่งกับอาซาของแม่ หนีตามเขาไปหรอก’

‘แล้ว เอ็งคิดจะทำอย่างไร’

‘หนูจะเก็บเด็กไว้ แล้วก็แต่งกับเขาอย่างที่มันควรจะเป็นนั่นแหละ แต่แต่งแล้ว ชีวิตจะต้องเป็นของหนูนะแม่ ต่อไปหนูจะทำอะไร พ่อกับแม่ต้องแล้วแต่ใจหนู เพราะหนูก็ช่วยกู้หน้าให้พ่อแม่อย่างที่ต้องการแล้ว’

ตอนนั้นแม่นิ่งอึ้ง เพราะคงจะงุนงงกับเรื่องที่ได้รับรู้ และแม่นั้นก็ไม่ค่อยปราดเปรื่องสักเท่าไหร่ เพียงเพ็ญจึงกล่าวต่อไปว่า

'งานนี้ ถือเป็นความลับของ เรา พ่อแม่ลูกแล้วกัน อ้อ ไปร้านขายยา แม้ก็บอกเขาไปว่า ช่วยจัดยาสำหรับคนแพ้ท้องให้หน่อยแล้วกัน เพราะถ้าดันไปโอ้กอ้ากกลางงานขึ้นมา คนทั้งบางเขาจะเอาไปนินทาได้...’

เพียงเพ็ญค่อย ๆ ผ่อนลมหายใจออกมา...พอรู้สึกดีขึ้น หญิงสาวก็ลืมตา แล้วก็ต้องเบิ่งตากว้าง เมื่อเห็นว่า ผู้ชายอยู่ในชุดกางเกงขายาวเสื้อเชิ้ตแขนยาวลายสก็อตสีแดงดำ มีผ้าโพกหัวนั้น คือ พี่ก้าน...

ก้านยืนมองเพียงเพ็ญด้วยสายตาไม่ยินดียินร้าย จนเพียงเพ็ญรู้สึกแปลกใจ...

“พี่ก้าน”

ก้านมองเข้าไปในร้านขายยาก็เห็นนางสมพรยืนอยู่หน้าตู้ยา โดยมีหมอยาเจ้าเดิมกำลังง่วนจัดยาให้อยู่ ก้านจะผละหนี แต่ว่าเจ้าของร้านขายยาก็เหลือบมาเห็นก้านเสียก่อน แล้วแกก็ปากไวพอตัว “อ้าว ไอ้หนุ่ม เจออาซาไหม”

“เจอครับ”

“ดีแล้ว ให้ปลากันเรียบร้อยแล้วนะ...อ้อ นี่ก็คนฆะมังเหมือนกัน คงจะรู้จักกันหรอกมั้ง” อาแปะหันมาบอกนางสมพรด้วย...นางสมพรมองก้านด้วยสีหน้าเจื่อนๆ ก้านนั้น แรกทีเดียวตั้งใจจะซื้อยาไปให้แม่เพิ่ม แต่ถ้าต้องอยู่ต่อไป เขาอาจจะเปลี่ยนใจ! ทำตามความตั้งใจเดิม คิดได้ดังนั้น เขาก็ออกเดิน โดยไม่บอกลา ไม่สบตา ไม่ถามไถ่แต่อย่างใด เห็นอาการของเขาเป็นอย่างนั้นเพียงเพ็ญก็รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องผิดปกติ...

เกิดอะไรขึ้น แล้วเขามาชุมแสงเพื่อมาหาอาซาทำไม?...

“พี่ก้าน ๆ” เพียงเพ็ญยืนขึ้นแล้วตะโกนเรียก ก้านหยุดชะงัก แต่ก็ไม่ได้หันหลังกลับอย่างที่ควรจะเป็น

“พี่จะไปไหน”

ก้านไม่ตอบในทันที...เขายืนนิ่งอยู่อย่างนั้น เพียงเพ็ญจึงต้องถามอีกครั้ง

“พี่จะไปไหน”

“ไปตามทางของพี่ ขอให้โชคดีนะ” พูดตัดสัมพันธ์ด้วยวาจาต่อหน้าสาวเจ้าแล้วน้ำตาของก้านก็เอ่อล้นออกมา และก่อนที่น้ำตาจะประจานความรู้สึกผิดหวัง สูญสิ้น... ก้านก็เดินลิ่ว ๆ ลับตาของเพียงเพ็ญที่มีน้ำตากลบเปลือกตาเหมือนกัน...

****************

ก้านส่งปืนที่ห่อผ้าขาวคืนให้กับอาสิทธิ์...ผู้เป็นอามองหน้าหลานแล้วถามว่า “อะไรดลใจให้มึงเปลี่ยนใจ”

“ความดีของมัน” แล้วก้านก็เล่าเรื่องที่บังเอิญพบกันเมื่อก่อนหน้านั้นให้อาสิทธิ์ได้รับรู้...

อาสิทธิ์ยิ้มออก แล้วตบไหล่หลานชายเบา ๆ “คิดได้อย่างนั้น กูก็โล่งอก ต่อไป ก็ต่างคนต่างอยู่ ส่วนลูกของมึง ก็ให้ไอ้หมอนั่นมันเลี้ยงไป”

“อา...ผมคิดว่าผมจะไปจากฆะมังสักพัก”

“มึงจะไปไหน”

“ไปที่ไหนก็ได้ ที่มันจะได้ไม่ยินเสียงเครื่องไฟงานแต่ง ไม่ได้ยินเสียงซุบซิบของชาวบ้าน”

“มึงจะไปสักกี่วัน”

“ยังไม่รู้เลยอา ตอนนี้เท่าที่นึกออก ผมว่าจะเข้าไปหางานทำที่เมืองหลวง คือเมื่อตอนสงกรานต์ น้าเหวกแกก็ชวนผมไปทำงานด้วยกันน่ะ แกว่าที่นั่นงานมีเยอะแยะ...มีทั้งงานก่อสร้าง งานโรงงาน งานรับจ้างทั่ว ๆ ไป...ผมมาคิด ๆ ดูแล้ว บางทีไปคราวนี้ เผื่อจะเจอลู่ทางชีวิตใหม่...ถ้ามันดีกว่า ย่ำอยู่กับที่นี่ ผมก็จะอพยพโยกย้ายไปเลย แต่อีกใจผมก็นึกอยากจะไปอยู่กับพี่ทิดสินที่ท่าน้ำอ้อยสักพัก...เพราะมันก็แค่นี้เอง คิดถึงแม่ก็กลับมาได้ง่าย ๆ”

นายสิทธิ์นิ่งฟัง...สีหน้านั้นครุ่นคิด...ถ้าก้านไปสักคน คณะแตรวงของตนก็จะต้องซวนเซ เพราะก้านนั้นเป็นถึงนักร้องแม่เหล็กประจำวง...แต่นายสิทธิ์ก็เข้าใจความรู้สึกของก้านที่คงไม่อยากเห็นภาพบาดตาตำใจ และไหนจะเสียงหัวเราะเยาะของชาวบ้านที่เคยค่อนว่าก้านนั้นไม่เจียมกะลาหัว

“แล้วแม่มึงล่ะ มึงจะทิ้งไว้อย่างไร” เพราะรู้ว่าก้านนั้นห่วงใยนางกุ่น นายสิทธิ์จึงถามจี้ใจดำออกไป

“พวกพี่ ๆ ผมก็ยังอยู่...” ก้านตอบไปด้วยสีหน้าหนักใจ เพราะถึงแม้จะมีพี่สาว พี่ชาย อยู่ในถิ่นนี้ แต่ทั้งหมดก็แค่พอมีพอกินไป มีภาระลูกเต้าเป็นโขยง...และก่อนหน้านั้น เป็นเขาเองด้วย ที่รับปากว่าจะดูแล รับเลี้ยงแม่ ไปจนถึงที่สุด คนอื่น ๆ จึงหมดห่วง ไม่คิดรับภาระใด ๆ ของแม่

“ถ้างั้น เอาอย่างนี้ ช่วงนี้ แม่มึงยังดี ๆ ก็ให้แกอยู่ไปตามประสาก่อน กลางคืนกูจะให้อีเปียมันไปนอนเป็นเพื่อน มึงทำใจได้แล้ว มึงก็กลับมา ถ้าไม่กลับ แม่มึงเกิดเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมา ถึงเวลานั้นก็ค่อยว่ากันอีกที”

“บุญคุณของอาในครั้งนี้ผมจะไม่ลืมเลย” ว่าแล้วก้านก็ยกมือพนมนบไหว้...

“แต่กูว่า มึงอย่าไปทำงานกับไอ้เหวก หรือไปอยู่กับไอ้ทิดสินมันเลยนะ”

“แล้วอาจะให้ผมไปอยู่ที่ไหน”

“มึงจำ ไอ้หนั่น เพื่อนกูได้ไหม สี่ปีก่อนที่มันมาเจอมึง แล้วมันอยากได้มึงไปอยู่ที่วงดนตรีกับมัน มึงไปอยู่กับมันนะ ประเหมาะเคราะห์ดี บุญพาวาสนาส่ง ดีไม่ดี มึงจะได้เป็นนักร้องอัดแผ่นเสียง เพราะหน้าตามึงน่ะหล่อกว่าสังข์ทองเป็นไหน ๆ”

“ผมไม่ฝันไปไกลขนาดนั้นหรอกอา”

“ฝันหรือไม่ฝัน มันก็ต้องสู้กันสักตั้ง มึงก็เห็นแล้วนี่ ที่มึงหวังจะได้ มันยังพลาดได้เลย อะไรมันก็ไม่แน่หรอกนะมึง บางที ที่สวรรค์เขาขีดให้ชะตาชีวิตมึงเป็นอย่างที่เป็นอย่างวันนี้ เพื่อวันพรุ่งนี้ มึงอาจจะดีกว่านี้ ก็ได้...ไป กลับไปเก็บผ้า ลาแม่มึง ลาเพื่อนฝูงมึงซะ พรุ่งนี้เช้าไปขึ้นรถไฟเข้าเมืองหลวงกัน กูจะไปส่งมึงเอง”

“เอาจริง ๆ รึอา” ก้านยังกล้า ๆ กลัว ๆ เพราะตั้งแต่จำความได้ ก็เห็นว่าอาของตนนั้น อยู่แต่ที่ชุมแสงกับขึ้น ๆ ล่อง ๆ อยู่แต่ในนครสวรรค์และพิจิตรเท่านั้น นี่อาสิทธิ์จะพาเขาเข้ากรุงเทพฯ เพื่อไปเป็นนักร้องนักดนตรีอาชีพ มันจะเป็นไปได้รึ และถ้าไปแล้ว มันเป็นไม่ได้ มันจะไม่ยิ่งขายหน้าหนักกว่าเดิมหรืออย่างไร...ก้านมีสีหน้าหนักใจ และก็ปลงใจเมื่อสิทธิ์บอกว่า

“อุบ๊ะ ไอ้นี่ ถ้ามึงเป็นหลานกู มึงอย่าเป็นคนขี้ขลาดตาขาว ปอดแหกตั้งแต่ยังไม่ทันจะสู้ มึงต้องไป ต้องเปลี่ยนชีวิตให้ไอ้ศรมันนึกเสียดายที่ไม่ยอมยกลูกสาวให้มึง...”

********************************


Title: Re: กรงกรรม บทประพันธ์ของ จุฬามณี
Post by: นักประพันธ์ on 02 March 2020, 00:08:10
ตอนที่ 22 : แสลงใจ


            ๒๒



หลังจากเจ๊หุยเดินเข้าไปตามให้ออกมาพบหน้าเขา แม้จะรู้สึกดีใจที่เห็นมงคลมาหา...แต่วรรณาก็ยังคงปั้นหน้าเรียบเฉย น้ำเสียงที่ถามไถ่นั้นห้วน ๆ ไร้เสน่ห์หญิง แต่มงคลกลับรู้สึกท้าทายดี

“มีธุระอะไร”

“เห็นหน้ากันจะยิ้มแย้ม แสดงอาการดีใจ หรือทักทายกันให้มันดีกว่านี้หน่อยก็ไม่ได้เนอะ”

“แค่นี้ก็ดีแล้ว...ตกลงมีอะไรรึ” หางเสียงนั้นลื่นหูขึ้นมาหน่อย ใบหน้านั้นกลั้นยิ้มไว้เชิง

“จะกลับไปงานแต่งเฮียซา เลยจะแวะมาเอาเสื้อไปให้แจ้หมุ่ยนี้”

“เฮียซาจะแต่งงาน!”

“วันศุกร์ที่จะถึงนี้แล้ว”

“ทำไมรวดเร็วนักล่ะ”

“ไม่รู้เหมือนกัน ถ้าอยากรู้ วันพฤหัสฯนี้ก็ไปชุมแสงด้วยกันซิ ไปไหมล่ะ...ไปเยี่ยมพี่สาวของเธอด้วย”

“ไม่ไปหรอก...ถ้าจะไป ก็คงไม่ไปกับนายหรอก”

“กลัวอะไรเรานักหนารึ” เขาขยับเข้ามาใกล้อีกนิด วรรณารีบขยับหนี มงคลยิ้มน้อย ๆ ที่แกล้งสาวน้อยได้...

“กลัวขี้ปากชาวบ้าน” วรรณายอมรับตรง ๆ

“พี่เราได้กัน เราก็เหมือนพี่น้องกันนั่นแหละ...ใช่ไหม”

“ไม่ใช่”

“ไม่ใช่ได้ไง ถ้ามีหลาน เราก็เป็นอา เธอก็เป็นน้า ไม่ใช่รึ”

“รอแปบนะ ไปเอาถุงใส่ผ้าก่อน” ตัดบทแล้ววรรณาก็หมุนตัวเดินกลับเข้าไปในร้าน มงคลรออยู่อึดใจใหญ่ ๆ วรรณาก็เดินออกมา แล้วก็ยื่นถุงกระดาษให้มงคล 3 ใบ

“ทำไมมันเยอะจังเลย”

“สามเจ้า เขียนชื่อไว้แล้ว เก็บเงินมาหมดแล้ว อ้อ ถ้าพี่เรณูใส่ชุดนี้ไปงานแต่งเฮียซา ก็ถ่ายรูปมาให้ด้วยนะ อยากดูว่าจะใส่ออกมาแล้วจะสวยแค่ไหนน่ะ”

“สวยเหมือนคนตัดใช่ไหม”

“ไป ๆ กลับไปได้แล้ว งานยุ่ง”

“ไปก็ได้ คิดถึง แล้วจะมาหาใหม่นะ” ว่าแล้วมงคลก็ยกมือขึ้นสะบัดเบา ๆ ‘บ้ายบาย’ ยิ้มเจ้าเล่ห์แล้วหมุนตัวออกจากร้านไป วรรณาเบะปากให้เขา แล้วก็กัดริมฝีปากตัวเองแก้เขินเบา ๆ

***************

พิไลที่นั่งจัดของอยู่หน้าร้านกับบุญปลุก ตาเบิ่งตากว้างเมื่อเห็นปฐมที่อยู่ในชุดเครื่องแบบทหารเกณฑ์สีเทา สวมหมวกเบเร่ต์เดินผึ่งผายสะพายกระเป๋าเป้เข้ามา...หญิงสาวลุกขึ้นยืนมองดูเขา ซึ่งอยู่ในชุดที่ไม่เคยเห็น แล้วดวงตาก็แข็งกร้าวขึ้นก่อนก่อนจะเมินหน้าหนี...

ลึก ๆ ในใจนั้นพิไลก็ยัง ‘รัก’ และอาลัยในตัวของปฐมอยู่ไม่น้อย แต่เมื่อเขาทรยศหักหลังทำตัวน่ารังเกียจ ความรักที่เคยมีจึงได้กลายเป็นความ ‘แค้น’ ที่พิไลคิดว่า วันหนึ่งมันจะต้องถูกชำระ แม้ความผิดนั้นเขาจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม ส่วน ‘อีเรณู’ ตัวการสำคัญที่ใช้วิธีสกปรกแย่งชิงเขาไปจากเธอ พิไลตั้งใจไว้ว่ามันจะอยู่ดีมีสุขครอบครองปฐมตลอดไปไม่ได้...

ทางใดที่จะทำให้มันทั้งคู่แยกกัน หรือฉิบหายวายป่วง พิไลจะทำ!

ฝ่ายปฐมเอง ก็ลืมทำใจไว้ว่ากลับบ้านคราวนี้จะต้องประจันหน้ากับพิไล ‘อดีต’ คู่หมั้นคู่หมายของเขา...พอตาทั้งคู่สบกันแล้วฝ่ายหญิงเมินหน้าหนี ทำให้ปฐมนึกออกว่า เขาและพิไลนั้นมีอดีตอันหอมหวานด้วยกัน...

ตั้งแต่จำความได้ แม่กับนางพิกุลเป็นเพื่อนสนิทกันไปมาหาสู่กันเสมอ เขามักติดสอยห้อยตามแม่ไปที่บ้านของพิกุล พิไลเป็นเสมือนน้องสาว เป็นเพื่อนเล่น เป็นความผูกพันที่กลายเป็นความรักไปโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว จนกระทั่งผู้ใหญ่มองเห็นว่าเหมาะสม จึงได้ทำการหมั้นหมายไว้ให้

...หลังหมั้นหมาย ความรู้สึกว่ากำลังจะเป็นคนคนเดียวกันก็มีมากยิ่งขึ้น พอมีงานวัด งานทำบุญตามประเพณี เขาจะต้องนั่งรถไฟไปที่ทับกฤช เพื่อไปทำบุญตักบาตรร่วมขัน ใช้เวลาที่มีน้อยนิดนั้น แสดงออกถึงความหวานชื่น กลางคืน ยามดูมหรสพก็อิงแอบแนบชิดตามประสาคนรักกัน กระทั่งเขาจับได้ใบแดง จดหมายฉบับแรกซึ่งเป็นตัวแทนของความคิดถึงจึงได้เริ่มขึ้น จนถึงฉบับสุดท้ายเป็นฉบับที่สารภาพผิด เพราะผู้หญิงที่เขาเห็นเป็น ‘ดอกไม้ริมทาง’ นั้นตั้งท้อง โดยใจก็พร้อมย้อมรับผิดชอบที่ได้ทำลงไป โดยการพาเข้ามาอยู่ที่บ้านจนกระทั่งมีปัญหาตามมาจนถึงขณะนี้...

“พิไล” เมื่อเห็นว่าพิไลเชิดหน้าขึ้นแล้วเมินหน้าหนี ปฐมจึงเอ่ยทักหญิงสาวก่อน

พอปฐมที่หน้าเจื่อน ๆ ปั้นหน้าเป็นปกติทักทายเธอก่อนได้ พิไลก็ปั้นหน้าเป็นปกติได้ หญิงสาวจึงตอบเขาไปว่า “เฮีย”

“ม้าล่ะ...” นั่นเป็นคำถามแก้เก้อ

“อยู่ข้างใน”

“อาตงล่ะ”

“อยู่ที่โรงสี...อาซาก็อยู่ที่โรงสี เป็นช่วงเปลี่ยนมือ ต้องรีบมอบหมายงานกันให้เสร็จสิ้น”

“จะแต่งพรุ่งนี้แล้ว ยังต้องทำงานอีกรึ”

“ก็...เอ่อ แต่งแล้ว อาซาเขาต้องไปอยู่ที่บ้านเมียเขา” อันที่จริง หลังแต่งงาน กมลจะกลับมาช่วยทำงานต่อก็ได้ แต่พิไลเห็นว่า จะเป็นการยากลำบากไป ๆ กลับ ๆ หญิงสาวจึงเร่งเร้าให้ประสงค์รีบรับงานมาทำแทนทั้งหมด โดยอ้างว่า ผัวหนุ่มเมียสาวจะได้ใช้ช่วงเวลาข้าวใหม่ปลามันด้วยกัน โดยไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลัง ซึ่งก็ไม่มีใครค้านความคิดของพิไลแต่อย่างใด

“อาซาจะย้ายไปอยู่ฆะมังรึ”

“จ้ะ ย้าย...เอ่อ แล้วนี่ อาเฮียรู้ได้ไง ว่าอาซาจะแต่งงาน”

“เรณูจดหมายไปบอก พอรู้ก็รีบลามาเลย...”

พิไลพยักหน้ารับรู้ ก่อนจะบอกว่า “งั้นอาเฮียเข้าไปหาม้าเถอะ...ม้าคงดีใจที่เห็นเฮียมา”

ตาของทั้งคู่สบกันอีกครั้ง แต่ครั้งนี้ปฐมเห็นว่าดวงตาของหญิงสาวนั้น ‘ว่างเปล่า’ ผิดจากที่เคยเห็น และผิดจากเมื่อครู่...ฝ่ายพิไลเอง พอปฐมเดินเข้าไปในร้านแล้ว หญิงสาวก็กะพริบเปลือกตาถี่ ๆ สูดลมหายใจเข้าปอดเรียกสติว่าบัดนี้เธอนั้นเป็นน้องสะใภ้ของเขาไปแล้ว ไม่ใช่ภรรยาของเขาอย่างที่เคยฝันถึง และ หมดสิทธิ์ที่จะเป็นตลอดไป..



ไม่ใช่แต่นางย้อยที่รู้สึกดีใจที่เห็นปฐมกลับมา เรณูที่มาช่วยจัดแจงเครื่องขันหมากทำขนมขันหมากอยู่ที่ในครัวก็รู้สึกดีใจเป็นอย่างมากที่จดหมายไปถึงเร็ว และเขาก็กลับมาทัน...เพราะตอนที่นางย้อยเรียกมาคุยเรื่องขนมขันหมาก เรณูก็มั่นใจได้ว่า ‘ของ’ ของหมอก้อนสำแดงฤทธิ์เดชแล้ว...กลับถึงโรงสี เรณูก็ถามหากระดาษกับปากกาจากแจ่ม แต่แจ่มมีแต่กระดาษกับดินสอ เรณูจึงเดินไปขอยืมปากกาจากเจ๊กเซ้งมาเขียนจดหมายถึงปฐมอย่างเร่งด่วน เนื้อความในจดหมาย บอกเล่าเรื่องว่ากมลจะแต่งงานกับลูกสาวกำนันตำบลฆะมังในวันศุกร์ที่จะถึงนี้ เรณูอยากให้เขาลากลับมางานแต่งน้องชายคนนี้เป็นอย่างมาก และที่สำคัญเรณูได้เล่าไปว่า ตั้งแต่กลับมาจากตาคลี ‘แม่ย้อย’ นั้นมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง
.
..เรณูอยากให้เขากลับมาเห็น ‘ฟ้าหลังฝน’ ด้วยตาของตัวเอง...

พอเดินเข้าไปยังโถงหลังร้านซึ่งเป็นส่วนครัว ที่นั่งกินข้าว และที่เก็บสินค้า ปฐมก็เห็นว่า นางย้อยนั่งอยู่บนเก้าอี้โดยมีเรณูยงโย่ยงหยกอยู่ที่เตา บนโต๊ะกว้างนั้นมีข้าวของเครื่องขันหมากวางอยู่เต็มไปหมด...เขาเห็นดังนั้นจึงค่อย ๆ ก้าวเข้าไปจู่โจมกอดรัดที่เอวของแม่ที่นั่งหันหลังให้ แม่นั้นตกใจเพราะนานแล้วที่ไม่มีลูกคนไหน ๆ เล่นกับนางแบบนี้ แต่พอเห็นว่าเป็นลูกชายคนโต นางย้อยก็ยิ้มดีใจ น้ำตารื้นหัวตา...

“ทำอะไรกันอยู่ม้า”

“ลื้อมาได้อย่างไร”

“ขึ้นรถไฟ มาซิม้า”

“รู้แล้วว่ามารถไฟ แต่ว่า ลื้อมาได้จังหวะพอดี เหมือนรู้ว่าพรุ่งนี้อาซามันจะแต่งงาน”

“ฮ้า! อาซาจะแต่งงาน! แต่งกับใคร? ทำไมถึงรวดเร็วจังเลยม้า” เพราะเห็นว่าแม่ ‘เปลี่ยนไป’ แล้วจริง ๆ ปฐมจึงกล้าเย้าแหย่เล่นเหมือนเคย...

“แต่งกับลูกสาวกำนันตำบลฆะมัง แต่ว่าแต่งแล้ว จะต้องไปอยู่บ้านเขา คิดแล้วก็ใจหาย”

“เดี๋ยวผมก็กลับมา อีกห้าหกเดือนเท่านั้น...” ตอนนั้นสายตาของเขา จับอยู่ที่เรณูซึ่งง่วนกวนขนมอยู่หน้าเตา...

“แล้วนี่ ม้าให้เรณูทำอะไร” ประสงค์แสร้งลืม ๆ ไปว่า เมื่อกลับมาคราวก่อนนั้น แม่ นั้นมีปฏิกิริยาอย่างไรเมื่อเห็นเขาพาเรณูเข้าบ้าน...

“ให้ทำขนมขันหมากเพิ่มน่ะ”

“ขนมอะไรบ้าง”

“จ่ามงกุฎ เสน่ห์จันทร์ ทองเอก ชื่อมันเป็นมงคลดี ตอนแรก ไปจ้างคนอื่นเขาทำ แต่เมื่อวานคนทำ ดันไม่สบาย แม่เรณูเขาก็เลยอาสาทำให้...”

ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง เม็ดขนุน ขนมชั้น ขนมกง ขนมหม้อแกง นั้นเรณูได้ทำที่กระท่อมของตน แต่ขนมทั้งสามชนิดนี้ นางย้อย อยากเห็นกรรมวิธีว่ายุ่งยากแค่ไหน จึงให้เรณูมาทำที่นี่

...ซึ่งก่อนหน้านั้น พิไลก็แวะเวียนเข้ามายืนดู พลางพูดคุยไปด้วยว่าอยากทำเป็นบ้าง แต่ก็รู้สึกว่ามันซับซ้อนและใช้เวลานานจนกว่าจะอดทนไหว และที่สำคัญ แม้พิไลอยากได้เครื่องทองเหลืองของสะสมประดามีของนางย้อยจนตัวสั่นนั้น ก็หาได้นึกอยากขัดถาด พาน โตกสำหรับเครื่องใส่ขันหมากที่จะใช้ในวันพรุ่งนี้ หญิงสาวจึงรีบอาสาออกไปดูแลหน้าร้าน แล้วให้บุญปลูกมาช่วยนางย้อยตั้งแต่เตรียมการขนลงมาจากห้องเก็บของ และวิ่งออกไปซื้อข้าวของเครื่องใช้ที่นางย้อยต้องการ

วันนี้พอเรณูมาทำขนม นางย้อยก็จดจ่ออยู่กับเรณู เดินเข้าเดินออกระหว่างเก๊ะกับหลังร้าน ดูสนอกสนใจเป็นอย่างมาก แม้พิไลจะรู้สึกขัดลูกนัยน์ตา แต่ว่ามันก็เป็นการเปิดโอกาสให้พิไลได้ ‘เม้ม’ เศษเงินที่ลูกค้ามาซื้อของเล็ก ๆ น้อย ๆ เข้ากระเป๋าของตน...และพิไลก็มั่นใจอีกอย่างหนึ่งว่า กว่าที่ปฐมจะปลดประจำการมารับช่วงทำงานแทนประสงค์ เวลานั้น ‘รากฐาน’ ของประสงค์ที่หยั่งลงไปในงานโรงสี คงยากที่ถอดถอนออกมา...

พิไลจะต้องได้กิจการร้านค้าและโรงสีนั้น ส่วนปฐมกับเรณู กว่าจะถึงวันนั้น พิไลก็คงจะหาทางออกชีวิตใหม่ให้กับทั้งคู่ได้...

ปฐมลุกจากเก้าอี้แล้วเดินไปทรุดตัวลงนั่งยองข้างเรณูที่นั่งอยู่บนม้านั่ง...หญิงสาวหันมาหาเขา แล้วยิ้มให้ ตาที่สบกันมีประกายของความคิดถึงอยู่เปี่ยมล้น แล้วก็ปฐมก็ถามเรณูว่า ส่วนผสมของขนมที่กำลังกวนอยู่นั้นมีอะไรบ้าง เรณูตอบพลางใช้พายกวนไปในกระทะทองเหลือง เพราะขนมพวกนี้เวลาทำต้องใจเย็น ต้องอดทน เพราะต้องใช้ไฟอ่อนกวนแป้งผสมน้ำตาลน้ำกะทิ ไข่แดง จนแห้งชื้นดั่งดินเหนียว เห็นดังนั้น นางย้อยจึงลุกขึ้นแล้วเดินออกมายังหน้าร้าน เพราะเข้าใจว่าลูกสาวลูกชาย เมื่อมีผัวมีเมีย ความสำคัญของพ่อแม่ก็จะค่อย ๆ ลดลง

ปฐมมองตามหลังแม่ไป แล้วหันมาโหย่งตัวจูบที่ใบหน้ามันย่องของเรณู...พร้อมกับบอกว่า “คิดถึงจังเลย...”
เรณูที่คิดว่านางย้อยยังนั่งอยู่ร้องอุ๊ย แล้วเบี่ยงตัวหนีพลางเหลือบมองด้านหลังเมื่อเขาจะจูบซ้ำ “เดี๋ยวคนเห็น”

“ไม่มีหรอก...ม้าออกไปแล้ว”

“ไม่มี ก็ไม่ได้ ประเจิดประเจ้อ”

“ทำไม ไม่คิดถึงพี่เหรอไง”

“คิดถึงซิ...คิดถึงใจจะขาด แต่ว่าตัวหนูเหนอะหนะ เหม็นกลิ่นควันไฟ เหม็นกลิ่นเหงื่อ วันนี้ตั้งแต่เช้ายังไม่ได้หยุดมือเลย”

“แล้วนี่อีกนานไหมกว่าจะเสร็จ...”

“บ่าย ๆ โน่นแหละ”

“โฮ...บ่าย ๆ เลยเหรอ...” ปฐมชักสีหน้าว่าทนกับแรงกำหนัดไม่ไหวแล้ว...

“เดินทางมาเหนื่อยไหม”

“ไม่เหนื่อยหรอก ไม่ได้เดินนี่ นั่งรถมาเฉย ๆ”

“มองใครบนรถไฟหรือเปล่า”

“เจอคนก็ต้องมองซิ แต่มองแล้ว ก็ไม่เห็นจะมีใครสวยเหมือนเมียของพี่คนนี้เลย” ว่าแล้วเขาก็ยื่นปลายจมูกไปหาแก้มสีชมพูเปล่งปลั่งของเรณูอีกครั้ง ทีนี้เรณูไม่ได้เบี่ยงตัวหลบ เพราะรู้ดีว่า ยามที่ผู้ชายมีความต้องการ ถ้าเล่นตัวมากนัก เขาก็จะหงุดหงิดงุ่นง่านพาลอารมณ์ขุ่นมัว...

“ทำเร็ว ๆ นะ คิดถึงจะแย่แล้ว...” ปลายจมูกนั้นคลอเคลียอยู่ที่พวงแก้ม ริมฝีปากก็ขยับกระซิบเบา ๆ

“ไปเปลี่ยนเสื้อผ้าแล้วอาบน้ำ...จะได้สบายตัว”

“แค่อาบน้ำมันไม่สบายตัวหรอก มันต้องทำอย่างอื่นด้วย” เขาทำเสียงกระเส่าพร้อมส่งสายตาหวานหยด เรณูย่นจมูกให้โดยหน้าก็แดงระเรื่อเพราะภายในใจก็เริ่มปั่นป่วนเพราะแรงเสน่หาเช่นกัน

แต่ยังไม่ทันที่ทั้งคู่จะพูดอะไรกันต่อ ทั้งปฐมกับเรณูก็ต้องหันไปทางหน้าร้านเพราะได้ยินเสียงกระแอม...ซึ่งเจ้าคนต้นเสียงนั้นก็คือมงคล...ที่โผล่หน้าเจ้าเล่ห์มาพร้อมกับคำถามว่า “ทำอะไรกันน่ะ”

“อ้าว มาเหมือนกันรึ”

“ก็มาขบวนเดียวกันกับเฮียนั่นแหละ ลงรถไฟมา เห็นหลังเฮียไว ๆ จะเรียกก็เรียกไม่ทัน ไม่รู้จะรีบเดินไปไหน...แต่ตอนนี้รู้ละ ว่าจะรีบเดินไปไหน...”

ปฐมกับเรณูสบตากันเขิน ๆ แล้วเรณูก็หันไปกวนขนมต่อ...ส่วนปฐมก็ขยับออกห่างแล้วถามน้องชายคนเล็กว่า“แล้วทำไม ลื้อเพิ่งมาถึง”

“ก็มัวแวะร้านอาแจ๊หมุ่ยนี้อยู่นะซิ เอาชุดที่วรรณาน้องอาซ้อตัด มาส่งให้...ส่วนถุงนี้ของอาซ้อ...ไปละ ไม่ขัดจังหวะละ จู๋จี๋กันตามสบาย”

**************

เดินออกมาหน้าร้าน มงคลก็ย่อตัวกอดแม่จากข้างหลังแล้วใช้ใบหน้าเกลือกกลิ้งไปบนไหล่ทั้งสองข้าง ปากก็บอกว่า “คิดถึงม้าจังเลย...”

“คิดถึงม้าหรือคิดถึงเงินม้า” นางย้อยที่นั่งอยู่บนเก้าอี้แสร้งแข็งขืนทั้งที่รู้สึกมีความสุขจากลูกอ้อนของเขาซึ่งมีมากกว่ากมลและปฐม ส่วนประสงค์นั้นเขาจะเป็นคนเฉย ๆ เก็บงำความรู้สึก ได้ดีกว่าคนอื่น ๆ...

“เงิน ก็คิดถึง แต่คิดถึงม้ามากกว่า จริง ๆ นะ...”

จูบที่หลังหนัก ๆ เขาก็คลายอ้อมแขนแล้วเดินมาทรุดตัวลงนั่งบนเก้าอี้ข้างโต๊ะ...นางย้อยมองหน้าลูกชายวัยหนุ่มจนเต็มตาแล้วพูดว่า

“ลื้อไปทำอะไรมา หน้าตาเนื้อตัวถึงได้ดำเมี่ยมแบบนี้”

“ก็ตากแดดเล่น...เอ่อ เล่นฟุตบอลกับเพื่อนๆ”

“น้ำท่าอย่าลงเล่นนะ รู้ไหม”

“รู้น่า” ตอนเด็ก ๆ นั้น เขาเคยเล่นน้ำในแม่น้ำน่านกับเพื่อน ๆ จมน้ำเกือบตายไปแล้วหนึ่งครั้ง แม้จะว่ายน้ำเป็นแต่แม่ก็ยังนึกเป็นห่วงอยู่ดี เมื่อแม่ถามว่าไปทำอะไรมาตัวถึงดำขึ้น เขาจึงไม่กล้ายอมรับความจริงว่า หนีโรงเรียนไปเที่ยวเล่นบ้านเพื่อนที่อยู่ตำบลตะเคียนเลื่อน แล้วก็กระโดดแม่น้ำเจ้าพระยาเล่นน้ำกันตามประสาวัยคะนอง

“ม้า พรุ่งนี้ มีกำหนดการอย่างไรบ้าง แล้วทำไม ม้าถึงได้รีบร้อนให้อาเฮียแต่งงานนักล่ะ ไหนว่าจะแต่งปีหน้า”

“แต่งปีหน้า หรือแต่งปีนี้ พรุ่งนี้ อย่างไรมันก็ต้องแต่ง ก็แต่ง ๆ ไปซะให้มันจบ ๆ ไป” นางย้อยตอบอย่างขอไปที แต่มงคลกลับไม่เชื่อ

“มันน่าจะมีอะไรมากกว่านั้นม้าง บอกมาเถอะม้า”

“กลัวใครจะมาขอเจ้าสาวตัดหน้าไปก่อนน่ะ แล้วอีกอย่างอาเฮียของลื้อก็...”

“กลัวเฮียซาพาสาวอื่นหนีไปซะก่อนรึม้า”

“ประมาณนั้นแหละ...”

“ใครกันน้อทำให้เฮียซาตกหลุมรักได้ แสดงว่าต้องสวยมากแน่ ๆ แต่ว่าคงจะยากจนใช่ไหมม้า”

“แม่จันตาคนงานร้านสังฆภัณฑ์”

“อาจันตา ใครเห็นอี ไม่ชอบก็บ้าแล้ว ตาโต ผิวขาว ผมยาว เอวบางร่างน้อย ผมเห็นผมยังชอบเลย”

“ก็ได้แต่แค่ชอบนั่นแหละ มากกว่านั้นไม่ได้...ม้าจะบอกอะไรให้นะ จะหาเมียก็ดูให้มันดี ๆ” เตือนลูกชายคนเล็กไปแล้วก็นึกได้ว่า เมียของลูกชายคนโต ซึ่งตอนนี้ดูจะด้อยกว่าสะใภ้คนอื่น ๆ นั่งอยู่หลังบ้าน เสียงที่เกือบจะดังกังวานนั้นจึงลดลงโดยเร็ว...

“รู้หรอกน่า ว่าม้าน่ะชอบลูกสะใภ้รวย ๆ บอกผมไม่รู้จักกี่รอบแล้ว”

“แกไปถึงขนาดนั้นแล้ว มันจะต้องหาให้ดีกว่าที่ม้าหาให้...รู้ไหม” แม้จะเคยบอกไปแล้วแต่นางย้อยก็ต้องย้ำเพราะรู้สึกเป็นห่วง กังวลว่ายิ่งลูกไปเห็นโลกกว้างก็จะยิ่งมีโอกาสเจอผู้หญิงที่ไม่คู่ควรเหมาะสมกัน

“รู้น่า...ม้า ตกลง พรุ่งนี้ อะไรอย่างไง ยังไม่ได้ตอบเลยนะ”

“ม้า เตี่ย อาซา แล้วก็ผู้ใหญ่อีกสองสามคนจะนั่งเรือหางยาวไปกันแต่เช้าตรู่ ไปให้ทันทำบุญเลี้ยงพระตอนเช้า ส่วนพวกที่จะไปแห่ขันหมากก็ไปเรือลำใหญ่ เหมาไว้สองลำ นัดออกอย่างช้าเจ็ดโมงเช้า แกไปพร้อมกับม้านั่นแหละ ต้องไปถ่ายรูปด้วย พรุ่งนี้ต้องตื่นประมาณตีสี่นะ”

มงคลทำหน้าเมื่อยก่อนจะถามว่า “แล้วร้านล่ะเปิดหรือเปล่า”

“ปิด ไปกันให้หมดนี่แหละ”

“งานช้าง แต่งแล้ว เฮียก็อยู่ที่โน่นเลยใช่ไหมม้า” มงคลยังคงนั่งซักความเป็นมาเป็นไปอยู่พักใหญ่จนกระทั่งรู้สึกหิว เขาจึงเอ่ยปากขอเงินไปกินก๋วยเตี๋ยวราดหน้า...นางย้อยหยิบเงินให้อย่างไม่อิดออด แถมยังบอกให้มงคลถามปฐมและเรณูว่าจะกินด้วยหรือเปล่า ถ้ากินก็ให้เขาซื้อกลับมาฝากด้วย


หลังจากลองสวมใส่ชุดใหม่ที่มงคลถือมาแล้ว รู้สึกถูกใจ หมุ่ยนี้ก็ให้จันตาซักขึ้นราวทันที

“เสื้อกับกระโปรงมาได้จังหวะพอดี พรุ่งนี้เธอก็ใส่ไปงานแต่งอาซาซะเลยนะ”

“ไม่ไปได้ไหม”

“ไปเถอะน่า คุณปลัดเขาก็ไป” ปลัดจินกรนั้นไปในฐานะแขกของกำนันศร ไปทำหน้าที่นายทะเบียนให้คู่บ่าวสาวจดทะเบียนสมรสท่ามกลางแขกผู้มีเกียรติ...และเขาก็จะลงเรือไปพร้อมกัน จันตาทำหน้าเมื่อย หมุ่ยนี้จึงบอกว่า

“เธอต้องไป เพื่อให้อาซามันเห็นว่า เธอน่ะ อนาคตคุณนายปลัดแน่ ๆ ส่วนมันก็แค่ลูกเขยกำนัน”

“หนูไม่ได้คิดเคืองแค้นอะไรเขานะ”

“แต่แจ้เคือง แหม มาทำตาหวานใส่เธอ แล้วไปแต่งกับคนอื่นหน้าตาเฉย มันหยามกันชัด ๆ”

จันตาส่ายหน้าเบา ๆ พลางคิดถึงปลัดจินกรที่เช้าถึงเย็นถึง จนกลายเป็นขวัญใจของคนที่บ้านนี้...เขาบอกกับจันตาว่า

‘เห็นคนอื่นเขาแต่งงานกัน ผมก็ชักอยากแต่งบ้างแล้ว’ ตอนนั้นจันตาไม่ได้ต่อปากต่อคำ ได้แต่หน้าแดงซ่านขึ้นมา...

เขาจึงถามว่า ‘จันตาไม่อยากรู้รึว่า ผมอยากแต่งงานกับใคร’

เมื่อเขาเซ้าซี้เพื่อบอกความในใจ จันตาจึงได้โอกาสถามกลับ ‘กับใครล่ะคะ’

‘กับจันตาไง’

แม้จะเป็นคำตอบที่พอรู้อยู่แล้ว แต่จันตาก็เตรียมคำตอบไว้แล้วเช่นกัน

‘แต่ว่า ฉัน....ฉัน ไม่ได้คู่ควรกับคุณปลัดเลยนะคะ เป็นแค่ลูกจ้าง เงินเดือนไม่กี่สตางค์ ไม่มีอนาคต ฐานะทางบ้านก็ยากจน สมบัติพัสถานอะไรก็ไม่มี’

‘ตรงนั้นผมไม่คิดมาก’

‘แต่ทางบ้านคุณปลัดคงไม่ยอมหรอก’

‘ออกมาจากบ้านมาทำงานแล้ว ชีวิตก็เป็นของผม และผมก็เห็นแล้วว่า จันตาเป็นผู้หญิงที่คู่ควรกับผม เพราะผมอยู่ด้วยแล้วรู้สึกมีความสุข’

‘ค่ะ’

‘ถ้าจันตาไม่ขัดข้อง ตอนปีใหม่ ผมจะกลับบ้านไปบอกพ่อแม่ให้ได้รับรู้ ผมคุยกับพี่หมุ่ยนี้แล้ว พี่เขาว่า ถ้ารักจันตา จริง ๆ ถ้าจะแต่งงานกัน พี่เขาก็จะเป็นญาติฝ่ายเจ้าสาวให้ ให้ทำพิธีเสียที่นี่ เพียงแต่พี่หมุ่ยนี้ ขอให้ผมคุยกับจันตาซะก่อน ตกลงแต่งงานกับผมนะครับ’

ตอนนั้นจันตานั่งนิ่ง...ครุ่นคิดไปถึงคืนวันส่งตัว เจ้าบ่าวผู้มีการศึกษาแถมดูจะหัวโบราณจะต้องเจอกับความผิดหวัง ...ก็รู้สึกหวั่นใจ...แต่ของแบบนี้ มันไม่ลองก็ไม่รู้...บางทีเขาอาจจะไม่ได้คิดถือสาเรื่องพวกนี้ก็ได้ หรือถ้าเขาตะขิดตะขวงใจไม่พอใจเรื่อง ‘พรหมจรรย์’ ของเธอ เหมือนอย่างนางเอกในหนังในนิยายบางเรื่อง จันตาก็จะบอกกับเขาว่า ตอนเด็ก ๆ เคยตกควาย ตกต้นไม้อะไรก็ว่าไป แต่ถ้าถึงตอนนั้น เขาก็แต่งงานกับเธอไปแล้ว...เรื่องแค่นี้ คงไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายทำให้ชีวิตรักพังลงมาหรอก...จันตาคิดเข้าข้างตนเอง เพื่อให้รู้สึกผ่อนคลาย...

‘เงียบไปเลย ผมรอคำตอบอยู่นะ’

‘ฉันเอ่อ...เอ่อ’

‘รึจันตาไม่ได้ชอบผม’

ตอนนั้นจันตามองสบตาของเขา ความรู้สึกของตนเองนั้น คือ แค่ ‘ชอบ’ อย่างที่เขาถาม แต่ถ้า ‘รัก’ มันก็ยังไม่ใช่ โดยเฉพาะถ้าเปรียบกับผู้ชายคนแรกซึ่งทั้งรักและหลงจนไม่ได้เผื่อใจว่าจู่ ๆ วิมานจะทลายแถมยังมีตราบาปติดตัว

และถ้าเปรียบปลัดจินกรกับคนที่เข้ามาป้วนเปี้ยนในหัวใจรายล่าสุดอย่างกมล จันตายอมรับว่า รู้สึกดี ๆ กับกมลมากกว่า แต่มันก็ไม่มีประโยชน์อะไรจะไปฝันถึงอนาคตร่วมกับคนที่เขากำลังจะแต่งงาน

แต่ถ้าให้โกหกปลัดจินกร จันตาก็รู้สึกว่า พูดได้ยาก แต่เมื่อเขาเร่งเร้าเอาคำตอบ จันตาก็จำต้องตอบไปว่า ‘อย่างไรคุณปลัด ไปเรียนให้พ่อแม่คุณปลัดทราบก่อนดีกว่าค่ะ ว่ามาชอบฉันอยู่ ถ้าท่านไม่ห้ามปราม หรือเห็นดีเห็นงาม พร้อมมาสู่ขอ ฉันก็ยินดีแต่งงานกับคุณปลัด’

ตอนนั้นปลัดจินกรแสดงอาการดีใจจนออกนอกหน้า ฝ่ายจันตาเมื่อ พูดไปแล้ว ก็รอลุ้นว่า อนาคตของตนนั้นจะได้เป็นคุณนายอย่างที่หมุ่ยนี้หมายมั่นไว้รึเปล่า แต่ถ้าไม่ได้เป็น ด้วยเหตุผลเรื่องฐานะที่ได้เดาทางไว้ จันตาก็บอกกับตัวเองว่า จะไม่เสียใจเลยสักนิด

**********

ขณะที่เรณูกำลังปั้นขนมเสน่ห์จันทร์อยู่นั้น นางย้อยเดินเข้ามาดู เห็นถุงเสื้อที่มงคลถือมา ก็ถือวิสาสะเปิดออกดู...พอเห็นชุดเดรสยาวประมาณเข่า เห็นงานตัดเย็บ นางย้อยที่ค่อนข้างจะพิถีพิถันเรื่องการแต่งกาย ก็ถึงกับเอ่ยปากชมช่างเย็บผ้า...

“เรณู...น้องสาวเธอ ฝีมือดีนี่...” ตั้งแต่ ‘ญาติดี’ กัน สรรพนามที่เรียกเรณูก็เปลี่ยนเป็น ‘เธอ’ ไม่ขึ้นมึงขึ้นกูอย่างแต่ก่อน และไม่มีคำว่า ‘อี’ นำหน้าชื่อ เรณูเองก็หัวเร็วพอจะเรียก ‘ม้า’ ตามพิไล ซึ่งนางย้อยก็ไม่ได้ห้ามปรามแต่อย่างใด

“วรรณามันเรียนอยู่หลายปี ตอนนี้ยังเป็นลูกมือฝึกงานอยู่ที่นั่นจ้ะ”

“ฝีมือดีแบบนี้ น่าจะเปิดร้านได้แล้วนะ”

“ก็อยากเปิดให้มันอยู่ แต่ติดที่ทุน” เรณูก็มองนางย้อยที่ยืนนิ่งมองผ้าในมือ แสยะยิ้มแล้วก็หันมาปั้นขนมต่อ

“อยากเปิดร้านให้น้องสาวรึ...”

พอได้ยินคำถาม ดวงตาของเรณูก็มีประกายของชัยชนะ...เรณูรีบตอบกลับไปว่า

“ที่หนูส่งนังวรรณามันเรียนตัดเย็บเสื้อผ้า เพราะหนูก็มีฝันของหนู...หนูชอบแต่งตัว ชอบมองผู้หญิงแต่งตัวสวย ๆ หนูก็เลยอยากมีร้านขายเสื้อผ้าผู้หญิง อยากมีช่างตัดผ้าอยู่ในร้านด้วย...นี่มันก็เรียนจบมานานแล้ว แต่หนูยังไม่มีทุนจะทำตามที่ได้ฝันไว้กับมัน มันก็เลยอยู่ที่โรงเรียนช่วยงานเขาก๊อก ๆ แก๊ก ๆ พอได้ค่าขนมไป”

เรณูพูดยืดยาวแล้วก็หันไปปั้นขนม...นางย้อยนิ่งฟัง สีหน้าครุ่นคิด

“เดี๋ยวลุกไปล้างมือ แล้วลองใส่ชุดนี้ให้ดูหน่อยซิ อยากเห็นว่าเธอใส่แล้วจะเป็นอย่างไง”

อะไรที่เป็นความต้องการของนางย้อย เรณูจะปฏิบัติทันที...หญิงสาวรีบละงาน แล้วลุกขึ้นไปล้างมือ ก่อนจะเดินกลับมาคว้าเสื้อจากมือนางย้อยเดินไปเข้าห้องน้ำ...แต่พอออกมาจากห้องน้ำเพื่อให้นางย้อยช่วยรูดซิปด้านหลังให้ เรณูก็ไม่เห็นนางย้อย หญิงสาวจึงเดินออกมาหาที่หน้าร้าน...นางย้อยส่งบิลและเงินทอนให้บุญปลูกเอาไปให้ลูกค้าที่อยู่กับพิไลที่หน้าร้าน...บุญปลูกเห็นเรณู ก็ปากเร็วพอที่จะบอกว่า “พี่เรณู สวยจังเลย”

นางย้อยหันมาก็เห็นว่า ชุดเมกซี่เดรสคอกลมแขนยาวกระโปรงยาวคลุมเข่าพื้นสีครามแต่งแต้มดอกกุหลาบสีแดงพร้อมใบสีเขียวเล็ก ๆ ทั่วทั้งตัวที่เรณูสวมอยู่นั้น ทำให้เรณูที่ช่วงหลัง ๆ นุ่งแต่ผ้าถุง แต่งหน้าอ่อนลงจากที่เคยเจอกันครั้งแรกนั้น ดูงดงามขึ้นผิดตา...

พอบุญปลูกเอ่ยชม เรณูก็ยิ้มหวานแล้วหมุนตัวอวดสรีระอวบอัดของตน ซึ่งนางย้อยก็เห็นว่า ช่วงหน้าอก ไหล่ หลัง เอวและสะโพกของเรณูนั้นได้รูปสมส่วน ผิดกับหุ่นของพิไลที่ผอมบางและเตี้ยกว่าเรณูเป็นคืบ แต่พิไลนั้นแต่งตัวเป็น เมื่อรู้ว่าตัวเตี้ยก็จะสวมรองเท้าพื้นสูง ๆ และใส่เสื้อเปิดแขน เปิดคอ ปิดปมด้อยของตน

บุญปลูกเดินถือเงินทอนออกไปแล้ว พิไลก็เดินกลับเข้ามา พอเห็นเรณูในชุดใหม่ พิไลก็เอ่ยปากชมทั้งที่ใจนั้นรู้สึกขวางตาเสียมากกว่า

“ชุดที่น้องสาวซ้อตัดให้ใช่ไหม สวยจังเลยซ้อ”

“ใช่...จ้ะ มาพิไล มาช่วยรูปซิปให้หน่อย”

แม้จะเป็นฝ่ายเรียก แต่เรณูกลับเป็นฝ่ายเดินไปหาพิไลแล้วหันหลังให้เพราะอยากให้นางย้อยมองเห็นตนได้ถนัดตา...

“ฝีมือดีนี่ จะมาชุมแสงอีกเมื่อไหร่ละ จะได้ให้ตัดให้มั่ง...”

“ถ้าอยากให้มันมา ก็ไม่ยากหรอก ตอนอาสี่กลับไปก็ฝากให้อาสี่ไปส่งข่าว ถ้ารู้ว่ามาแล้วจะได้งาน ได้เงิน ก็คงรีบมาหละ...นี่มันตัดให้เจ๊หมุ่ยนี้กับจันตาด้วย ยังไม่เห็นเลยว่า เป็นอย่างไร เดี๋ยวทำขนมเสร็จแล้วแวะไปดูหน่อยดีกว่า เจ๊หมุ่ยนี้บอกไว้ว่า ถ้าตัดออกมาสวยถูกใจ ก็จะให้ตัดอีก หรือไม่ ก็จะแนะนำคนอื่นให้” เรณูพูดอวดน้องสาวยืดยาว...

นางย้อยที่นิ่งฟังสองสะใภ้คุยกันเอ่ยขึ้นว่า “พรุ่งนี้เธอก็ใส่ชุดนี้ไปซิ”

“ยังไม่ได้ซักเลยม้า”

“ใส่ไปเหอะ ใส่แล้วสวยดี ใส่ไปอวดให้คนเห็นเลย...เผื่อมีใครถาม น้องเธอก็จะได้งานเพิ่ม”

“ม้านี่หัวเร็วจังเลย ถ้าอย่างนั้น พรุ่งนี้หนูใส่ไปเลยนะ...” เรณูยิ้มหวานให้นางย้อย แล้วบอกให้พิไลรูดซิบลงให้แล้วขอตัวกลับไปทำขนมต่อ เพราะตอนนี้ปฐมนั้นไป ‘รอท่า’ อยู่ที่บ้านโรงสีแล้ว...

พอเรณูเข้าไปหลังร้าน นางย้อยก็บิดกุญแจล็อกเก๊ะ แล้วเดินตามเข้าไป พิไลเดินตามไปแอบมองดู ก็เห็นว่า นางย้อยเดินขึ้นบันไดไปข้างบน...พิไลชักสีหน้าแปลกใจ ครุ่นคิดว่ามันเกิดอะไรขึ้น? ทำไม? นางย้อยถึงได้เอ็นดูเรณูถึงเพียงนี้...แต่พิไลก็คิดไม่ออก...

*******************************


Title: Re: กรงกรรม บทประพันธ์ของ จุฬามณี
Post by: นักประพันธ์ on 02 March 2020, 11:12:38
ตอนที่ 23 : สามสะใภ้


            ๒๓


พอจัดขนมใส่พานโตกโปร่งทองเหลืองขนาด 18 นิ้วแล้วปิดทับด้วยผ้าขาวบาง เก็บล้างเครื่องครัวที่นำออกมาใช้เรียบร้อย เรณูก็ถามนางย้อยว่ามีงานอะไรให้ทำอีกไหม นางย้อยมองถาดใส่ขนม มองเครื่องขันหมากในกล่องกระดาษที่เตรียมไปจัดใส่ถาดใส่พานที่บ้านงานแล้ว ก็บอกว่า

“พรุ่งนี้ ตอนลำเลียงของไปลงเรือก็ดูประคองพานขนมกันไปให้ดีล่ะ ของพวกนี้ก็เหมือนกัน อย่าโยน อย่าให้ใครข้าม ต้นกล้วยต้นอ้อยที่ไอ้ป้อมมันจะเอามาตอนเช้า เธอต้องช่วยเป็นธุระให้ฉันนะ...”

“จ้ะ...ถ้าอย่างนั้น หนูกลับบ้านก่อนนะจ๊ะ”

“ไม่เอาค่าแรงค่าออนจริง ๆ หรือ”

“ไม่หรอกม้า อาซาก็เหมือนน้องชายหนูนะ”

“แต่เธอต้องหยุดขายขนมมาช่วยงานถึงสองวันสามวัน ไหนจะพรุ่งนี้อีกวัน”

“หนูเต็มใจจ้ะ” เรณูตอบไปจากใจจริง นางย้อยพยักหน้า...เรณูจึงเดินไปหยิบถุงกระดาษที่วางอยู่บนเก้าอี้ แต่พอจะก้าวขาออกไป นางย้อยก็เรียกไว้อีก เรณูหันกลับมา นางย้อยมองไปทางหน้าร้าน แล้วก็หันมาหาเรณูแล้วพูดเสียงเบา ๆ เหมือนกลัวพิไลจะได้ยินว่า

“เมื่อกี้เห็นเธอลองชุดแล้ว คอเธอมันโล่ง ๆ ฉันว่า ถ้าใส่สายสร้อยสักหน่อย มันจะทำให้เธอดูดีขึ้น”

แม้จะมีทองหยองอยู่บ้าง แต่เรณูที่เป็นเพียงแม่ค้าหาบขนมออกจากบ้านมาตั้งแต่เช้ามืด ก็ไม่คิดจะใส่ล่อตาล่อใจใคร...พอนางย้อยแนะนำอย่างนั้น เรณูจึงยิ้มแหย ๆ แล้วรับคำว่า ‘จ้ะ’ สั้น ๆ

ปกติคนที่พร้อมโอนอ่อนผ่อนตามคำพูดของตน จะเป็นที่พึงใจของนางย้อยอยู่แล้ว ประกอบกับอำนาจของมนต์ดำซึ่งได้ทำหน้าที่เปลี่ยนจิตใจ ให้รัก ให้หลง ให้เห็นดีเห็นงามบังคับอยู่ นางย้อยจึงรู้สึกเวทนาสงสาร เห็นใจ และเมตตาเรณู มากยิ่งขึ้น..

“เอ้านี่” ว่าแล้วนางย้อยก็ส่งถุงกำมะหยี่สีแดงในมือที่กำไว้ ให้เรณู...

“อะไรม้า” เรณูไม่ได้รับถุงนั้นในทันที

“สายสร้อยทองสองบาท ข้อมืออีกบาท ฉันให้เธอใส่ไปงานพรุ่งนี้”

“ให้ หรือ ให้ยืม” เรณูถามซ้ำ

“ให้ไปเลย แต่ไม่ต้องบอกใครนะ” ใครที่นางย้อยพูดถึงด้วยเสียงกระซิบก็คือ ‘พิไล’ นั้นเอง...

เบื้องต้นเรณูรู้สึกดีใจ แต่อีกใจ เรณูที่เคยต่อสู้ดิ้นรนมาด้วยกำลังกายของตนตั้งแต่เกิดก็รู้สึก ‘ผิด’ ขึ้นมา

เพราะผิดครั้งแรกนั้น ทำไปด้วยความอยากเอาใจชนะแม่ผัว อยากอยู่กับชายคนรักโดยไม่มีอุปสรรคเท่านั้น แต่ถ้ารับของของนางย้อยมาถือครอง โดยที่สติเจ้าของไม่สมบูรณ์ มันก็เป็นเหมือนการใช้วิธีการสกปรกปล้นจี้เอาทรัพย์ ซึ่งถ้าใครมารู้ทีหลัง ก็คงยากจะให้อภัยในความผิดนี้..เรณูจึงรีบปฏิเสธโดยการกำมือแน่น เพราะถ้ารับของจากนางย้อยมา มันก็เหมือนถลำตัวไปกับของสกปรกมากยิ่งขึ้น

“เอ่อ...มันไม่ดีมั้งม้า...”

“รับไปเถอะ เป็นสะใภ้ใหญ่ ไม่มีทองหยองติดตัว คนจะว่าฉันเอาได้”

“ของหนูก็พอมีอยู่จ้ะม้า”

“เส้นนี้ใหญ่กว่าแน่ ๆ รับไป เร็ว ๆ” ว่าแล้วนางย้อยก็ยัดเยียดถุงสีแดงนั้นใส่มือของเรณู...

เรณูยิ้มแหยๆ ไม่ยอมแบมือ นางย้อยเห็นดังนั้นยิ่งรู้สึกว่าจะต้องให้ ให้ได้ จึงบอกเสียงเข้มว่า “ผู้ใหญ่ให้ของ ก็รับไปซิ”

พอถุงแดงมาอยู่ในมือ เรณูก็รู้สึกหนักอึ้งไปหมด...สุดท้ายเรณูก็ต้องบอกว่า “งั้นวันมะรืนหนูเอามาคืนม้านะ ขอยืมใส่ก่อนละกัน...”

“งั้นก็ได้...”

เรณูหย่อนถุงแดงใส่กระเป๋ากระดาษแล้วเดินออกจากร้านไป นางย้อยที่มองตามหลังไปส่ายหน้ายิ้มน้อย ๆ ความรู้สึกพึงใจ พอใจ เห็นใจ ที่มีอยู่แล้ว ก็มีมากขึ้นอีก...เพราะถ้าเปรียบกับพิไลที่ได้ทองหมั้นของปฐมไปและทองแต่งงานกับประสงค์ไปยี่สิบบาท เงินค่าสินสอด เงินค่าจัดงานอีกไม่น้อย เปรียบกับทองแปดบาท เงินอีกแปดพัน ที่จะต้องแต่งกมลในวันพรุ่งนี้ มันยังน้อยไปสำหรับเรณูด้วยซ้ำ...

**************

เมื่อเห็นว่าสำรับที่จัดหามาให้นั้นไม่พร่องไปสักนิด แถมเพียงเพ็ญยังยกออกมาวางไว้ที่หน้าห้อง นางแรมก็รู้สึกหนักใจเป็นอย่างมาก เพราะยิ่งเข้าใกล้วันทำพิธี อาการแพ้ท้องของเพียงเพ็ญก็หนักขึ้น ๆ จนร่างกายผ่ายผอมลงไปถนัดตา

แม้จัดหาของเปรี้ยวมาให้กินแก้คลื่นเหียน เพียงเพ็ญก็กินไม่ได้เหมือนคนแพ้ท้องทั่ว ๆ ไป เมื่อเห็นสภาพเจ้าสาวเป็นอย่างนี้ ทั้งกำนันศร นางสมพร นางแรม รวมถึงนางศรีที่รู้กันว่าเพียงเพ็ญนั้นท้องกับก้าน ต่างก็มีสีหน้าหนักใจ...กลัวว่าเจ้าสาวจะโก่งคออาเจียนกลางงานพิธีจนทางนั้นสงสัย...

“ไม่ดีขึ้นเลยรึไง...”

เพียงเพ็ญที่นอนตะแคงหมดเรี่ยวหมดแรง ดวงตาแดงช้ำส่ายหน้าเบา ๆ นางแรมมองดูแล้วครุ่นคิดถึง ‘ผลกรรม’ ทั้งที่ ‘เพิ่งเริ่มต้นก่อ’ แล้วก็รู้สึกหวั่นใจ อีกไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น พิธีก็จะเริ่มขึ้น หากเจ้าสาวยังไม่มีเรี่ยวแรง หน้าซีดเป็นไก่ต้ม และมีอาการผะอืดผะอมจนนั่งอยู่กับที่ไม่ได้ งานนี้คงจะได้เป็นขี้ปากคนทั้งบางไปอีกนาน...

นึกถึงเวรกรรม แล้วนางแรมก็พาลไปนึกถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในบ้านขึ้นมา...หันซ้ายหันขวา ในห้องเพียงเพ็ญก็ไม่มีพระพุทธรูปสักองค์...

“นังหนู พอลุกไว้ไหม...”

“มีอะไรหรือป้า”

“แข็งใจออกไปข้างนอก ไปจุดธูปบอกกล่าว ผีบ้านผีเรือน ผีบรรพบุรุษสักหน่อย แล้วก็ไปห้องพระจุดธูปเทียนไหว้พระอีกนิด...”

“โอ๊ย ป้า คนแพ้ท้องมันก็เป็นเรื่องของร่างกาย มันจะไปเกี่ยวอะไรกับผีบ้านผีเรือน พระพุทธเจ้าล่ะ”

“เสียงดังไป เดี๋ยวคนที่ข้างใต้ถุนเรือน ก็ได้ยินกันหรอก” ด้วยเป็นวันสุกดิบ หรือ เรียกตามประสาชาวบ้านว่า ‘วันทำของ’ งานแต่งลูกสาวคนเล็กคนสุดท้ายของกำนันศรจึงถือว่าเป็นงานใหญ่ แม่ครัวที่มาช่วยกันทำอาหารเลี้ยงญาติพี่น้องของตน ของฝ่ายเจ้าบ่าว และแขกเหรื่อ จึงมีหลายสิบชีวิต ชนิดที่ว่าใครถนัดทำอาหารคาวหรือหวานต้องถูกตามตัวมาเป็นแม่งาน นอนเฝ้าเตาอยู่ใต้ถุนเรือนที่ปรับเป็นโรงครัว และไหนจะพวกขี้เหล้าเมายาที่ถือโอกาสนี้ออกจากบ้านมาล้มทับเจ้าภาพเศรษฐีใหญ่

“ได้ยิน ก็ได้ยินไป” แม้จะดื้อดึงแต่เสียงปรามนั้นก็ทำให้เสียงของเพียงเพ็ญอ่อยลง...

นางแรมนิ่งไปอึดใจ แล้วเพียงเพ็ญก็ทะลึ่งพรวดลุกขึ้นนั่ง...ทำท่าผะอืดผะอม นางแรมเห็นดังนั้นจึงรีบคว้ากระโถนส่งให้ แต่ด้วยไม่ได้กินอะไรไปเลย มันจึงมีเพียงน้ำลายเหนียว ๆ ขย้อนออกมา...

“นะ ลองวิธีนี้ ดูสักหน่อย...บางที เป็นเพราะเราทำผิด ผีสางฟ้าดินเลยลงโทษ”

ได้ยินดังนั้นเพียงเพ็ญก็ค้อนให้นางแรม แต่มันก็เป็นหนทางเดียว ที่เพียงเพ็ญจะทำเพื่อรักษาหน้าตัวเอง หน้าพ่อแม่ และที่สำคัญพิธีการงานแต่งนั้นจะต้องเสร็จสิ้นไปด้วยดี เพราะถ้าจะยกเลิกงานในตอนนี้ หรือเปลี่ยนตัวเจ้าบ่าวเป็นพ่อของเด็กในท้อง เพียงเพ็ญก็ไม่รู้ว่า ตอนนี้ก้านนั้นหายไปไหน...


หลังจากจุดธูปขอขมากรรมต่อผีบ้านผีเรือนผีบรรพบุรุษแล้ว นางแรมก็ประคองเพียงเพ็ญมายังห้องพระ ส่งไม้ขีดให้หญิงสาวจุดเทียนและธูปขอพรให้อาการแพ้ท้องนี้ทุเลา...

แม้จะไม่เลื่อมใสศรัทธา เชื่อมั่นว่าเป็นทางที่ทำให้ความเจ็บไข้ได้ป่วยอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของร่างกายนั้นบรรเทาลง แต่เมื่อไม่มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่านี้ เพียงเพ็ญจึงแข็งใจทำจนเสร็จตามความต้องการของนางแรม...

พอกลับมาถึงห้อง ล้มตัวลงนอน เพียงเพ็ญก็รู้สึกว่าตัวเบาสบายจนกระทั่งเคลิ้มหลับไป และตื่นเมื่อนางแรมเข้ามาปลุกให้อาบน้ำ เตรียมแต่งหน้า ทำผม แต่งตัวรอท่าเจ้าบ่าวที่จะต้องเดินทางมาร่วมพิธีทำบุญเลี้ยงพระในตอนเช้า

“เป็นไง รู้สึกดีขึ้นไหม” นางแรมถามระหว่างที่ใช้ผ้าซับน้ำบนเรือนผมให้...

“ดีขึ้นแล้วป้า...”

“เห็นไหมล่ะ ของแบบนี้ มันมีจริง เจ้าประคู้นเจ้าพ่อเจ้าแม่ เจ้าทุ่งเจ้าท่าเจ้าป่าเจ้าเขา ผีบ้านผีเรือน ถ้านังหนูหายเป็นปกติจนงานเสร็จสิ้น ลูกช้างจะถวายหัวหมูหัว ไก่ตัว เหล้าสองขวด”

เพียงเพ็ญได้ยินแล้วส่ายหน้าเบา ๆ เพราะรู้ว่า ที่ต้องมีเหล้าขาวด้วยนั้น คนบนบานต้องการเก็บไว้ใส่โหลยาดองซะมากกว่า แต่เพียงเพ็ญก็ไม่ได้พูดอะไรออกไป...ด้วยใจนึกกังวลว่า หลังพิธีกรรมเสร็จสิ้นตนกับกมล หรือ ‘พ่อซา’ ของอาศรี ก็จะกลายเป็นผัวเมียกันอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แล้วคนที่ไม่เคยรักกัน รู้สึกเกลียดขี้หน้ากัน แถมตัวเองก็ยังตั้งท้องลูกของก้านอยู่อย่างนี้ จะมีชีวิตอยู่ด้วยกันไปได้สักกี่วันล่ะ...

กมลที่อยู่ในชุดสูทกรมท่า เนคไทสีชมพู นั่งพับเพียบหลังตรง รอเจ้าสาวอยู่หน้าพระสงฆ์จำนวนแปดรูปที่เดินเรียงขึ้นเรือนมาพร้อมกับวงปี่พาทย์บรรเลงเพลงสาธุการ พอเพลงรับพระจบ ก็ต่อด้วยเพลงมหาฤกษ์-มหาชัย โดยระหว่างนั้นมัคนายกก็บอกให้เขาขยับตัว ยกถาดใส่เหยือกน้ำ-แก้วน้ำ พานหมากพลูบุหรี่ประเคนให้พระสงฆ์ไปพลาง...

เสร็จกิจกับพระสงฆ์ เขาก็ถอยมานั่งรอเจ้าสาวอยู่ที่เดิม ท่ามกลางความกระสับกระส่ายของแขกเหรื่อที่นั่งรายรอบในโถงกลางบ้าน เพราะตั้งแต่เช้า ยังไม่มีใครเห็นเงาของเจ้าสาวคนสวย...

อึดใจใหญ่ ๆ แม่ที่นั่งอยู่ด้านหลังของเขาก็กระซิบบอกว่า เจ้าสาวมาแล้ว เขาหันไปมองต้นทางก็พบ เพียงเพ็ญซึ่งอยู่ชุดไทยศิวาลัย นุ่งผ้าสวมเสื้อแขนกระบอกสีเขียวใบแค ห่มทับด้วยสไบลายฉลุโทนสีเหลืองเลื่อมประภัสสร เกล้าผมมวยต่ำติดปิ่นใบไม้ไหวซึ่งน่าจะเป็นทองคำแท้ แต่งแต้มสีสันบนใบหน้ากลบร่องรอยของความอิดโรยจากอาการป่วยไข้ ซึ่งกำนันศรบอกกับเขาว่า เพียงเพ็ญนั้นเป็นไข้ตั้งแต่กลับมาจากตัดชุดเจ้าสาว นับเนื่องจนถึงวันนี้ก็เกือบสัปดาห์...อาการป่วยของเจ้าสาวจึงทำให้ความงดงามแจ่มใสเหมือนดอกไม้แรกแย้มในยามเช้า กลายเป็นดอกไม้บานต้องแดดลมในยามบ่าย ท่วงท่าเดินมาพร้อมกับนางแรมจึงดูอ่อนแรงอย่างเห็นได้ชัด

หลังทรุดตัวลงนั่ง เจ้าสาวก็เชิดหน้าขึ้น ไม่หันมาหาเจ้าบ่าว ไม่มีรอยยิ้มให้กัน หรือให้ใครทั้งนั้น

พิธีกรรมกับพระสงฆ์จบลงไปอย่างซังกะตาย ดีแต่ระหว่างพระท่านฉันภัตตราหารอยู่นั้น เพียงเพ็ญขอตัวกลับเข้าห้องเพราะยังมีอาการวิงเวียนศีรษะ กมลที่นั่งฟังดนตรีไทยเดิม คลอด้วยเสียงซุบซิบอยู่ตามลำพังจึงไม่รู้สึกอึดอัดเหมือนตอนที่ประกอบพิธีอยู่ด้วยกัน...กระทั่งพระฉันของหวานเรียบร้อย ยกสำรับเก็บ เจ้าสาวจึงถูกตามตัวให้ออกมาทำพิธีเจิมหน้าผาก ถวายจตุปัจจัยเครื่องไทยทาน ฟังสัมโมทนียกถาจากองค์ประธานสงฆ์ เรื่องฆราวาสธรรม หรือธรรมของผู้ครองเรือนสั้น ๆ แล้ว ก็จับเครื่องกรวดน้ำทองเหลืองด้วยกันอย่างแกน ๆ เหมือนตอนตักบาตรและยกสำรับประเคนพระเมื่อก่อนหน้า หลังพระสงฆ์ลงจากเรือน เพลงส่งพระจากวงปี่พาทย์จบลง...เพียงเพ็ญที่มีสีหน้าหน้าเฉยเมยก็ลุกขึ้นแล้วกลับเข้าห้องโดยไม่มีคำพูดใด ๆ กับเขาตลอดพิธีการ

แม้จะรู้สึกไม่พอตา ไม่พอใจกับกิริยาของเจ้าสาว แต่นางย้อยก็นิ่งเงียบ ไม่ปริปากเผยความในใจให้กับเจ๊กเซ้งหรือผู้ใหญ่ฝ่ายตนที่ติดตามมาทำพิธีในช่วงเช้าสองสามคนได้รับรู้... กระทั่งตอนที่นั่งล้อมวงกินข้าวรอเรือแห่ขันหมากมาถึง มงคลที่ทำหน้าที่เป็นตากล้องก็พูดขึ้นมาลอย ๆ ว่า

“งานใหญ่ คนเยอะ แต่มันดูกร่อย ๆ อย่างไรก็ไม่รู้นะม้า”

กร่อย ๆ ของมงคลน่าจะหมายถึง ปฏิสัมพันธ์ของคู่บ่าวสาวที่ดูไร้ชีวิตชีวา...

นางย้อยมองหน้ากมลที่กำลังตักอาหารเข้าปากด้วยสีหน้านิ่ง ๆ ทำเหมือนไม่ได้ยินที่น้องชายพูด นางย้อยก็ได้แต่นึกสงสารลูกขึ้นมาจับใจ...แต่เมื่อกาลมันล่วงมาจนถึงตอนนี้แล้ว ก็ได้แต่ทำใจว่า ต่อไป อะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิด!

*************

ปกติยามขายของ เรณูจะรวบผมตึงไว้ที่ท้ายทอย หรือไม่ก็กลางกระหม่อม แต่วันนี้ เรณูปล่อยผมดัดเกลียวแสกข้างให้ยาวประบ่าแต่งหน้ากลบจุดด้อยอย่างโหนกแก้มคางเหลี่ยม โดยเฉพาะริมฝีปากหนา เรณูก็วาดจนได้รูปยิ้มแย้มอวดฟันที่เรียงเสมอกันพร้อมกับโอภาปราศรัยเสนาะหูหยอกเอินกันได้ ทำให้เช้าตรู่วันนั้น แขกเหรื่อที่นางย้อยเรียนเชิญให้ไปสักขีพยานงานแต่งของกมลกับเพียงเพ็ญ ต่างรู้สึกแช่มชื่นเบิกบาน เพราะตัวแทนเจ้าภาพดูเป็นกันเอง...

ฝ่ายพิไลนั้นแม้จะแต่งตัวสวยงาม แต่แบบเสื้อกับกางเกงสีชมพูอ่อนนั้นดูเรียบร้อย และพิไลเองก็ไม่ใช่คนระริกระรื่นหน้าชื่นอย่างเรณู หญิงสาวยังมีมาดของลูกสาวเถ้าแก่ทับกฤชติดอยู่...ความสนใจของคนในลำเรือจึงอยู่ที่เรณู...

ระหว่างที่เรือโดยสารสองชั้นที่นางย้อยเหมามาแล่นขึ้นเหนือไปตามลำน้ำน่าน เรณูกล้ารำกล้าร้องทำตัวสนุกสนานไปกับคณะแตรวง โดยไม่สนใจว่าปฐมนั้นจะพอใจหรือไม่ หญิงสาวรู้แต่ว่ายามเมื่อมีความสุข ยามสนุกก็ต้องปล่อยความรู้สึกให้เต็มที่ แต่อาการเช่นนั้นของเรณูกลับยิ่งทำให้ปฐมที่เป็นคนร้องไม่ได้ รำไม่เป็น ไม่รู้จักใช้มุกตลก เช่นเดียวกับประสงค์นั้น มองเรณูอย่างรู้สึกทึ่งและนึกนิยมชมชื่นในปฏิสัมพันธ์ของเรณูกับคนทั้งบางมากยิ่งขึ้น...

นอกจากชุดใหม่ของเรณูจะทำให้เรณูกลายเป็นจุดเด่น แต่สร้อยคอทองคำของเรณูนั้นยังทำให้พิไลจับตามอง กระทั่งต้องเอ่ยถามประสงค์ที่นั่งอยู่ด้วยกันว่า

“ซ้อไปเอาทองที่ไหนมาใส่”

“ไม่รู้ซิ”

หัวคิ้วของพิไลขมวดเข้าหากัน...ครุ่นคิดว่า ผู้หญิงอย่างเรณูจะเอาทองหยองที่ไหนมาแต่งตัว

จนกระทั่งบุญปลูกที่ไปจับกลุ่มปรบมือเชียร์รำวงอยู่ที่ท้ายเรือเดินกลับมาทรุดตัวลงนั่งเก้าอี้แถวหน้า พิไลจึงสะกิดถาม

“ปลูก ตะก่อนเคยเห็นอาซ้อใส่ทองหรือเปล่า”

บุญปลูกชักสีหน้าครุ่นคิดแล้วก็ส่ายหน้าเบา ๆ แต่แล้วบุญปลูกก็บอกว่า

“เมื่อเช้า ป้าเม่าแซวซ้อเรณูว่า สงสัยจะขายขนมได้กำไรดีถึงได้มีทองเส้นเท่าโซ่ใส่...อาซ้อตอบว่า ไม่ใช่ทองของตัวเองนะ แต่เป็นทองที่มีคนให้หยิบยืมมา”

“ใครจะให้หยิบยืมของมีค่าขนาดนั้น”

“ไม่รู้เหมือนกัน...ซ้อไม่ได้ตอบว่าใครให้หยิบยืมมา”

ประสงค์ที่นั่งอยู่ติดกับพิไลได้ยิน จึงค่อย ๆ หันกลับไปดูเรณูอีกครั้ง และถ้าจำไม่ผิดทองเส้นนั้นรวมถึงสร้อยข้อมือที่ตัวเรณู น่าจะเป็นของแม่เขา แต่เขาก็ไม่ได้พูดอะไรออกไป...เพราะไม่อยากให้พิไลร้อนรนไปมากกว่านี้

ฝ่ายพิไลนั้น แม้จะไม่มีใครยืนยันได้ว่าทองเส้นนั้นเป็นของใคร แต่พิไลก็พอเดาออกว่า ใครเป็นคนให้ทองเรณูยืมใส่มาอวดคนในงาน...และพิไลก็คิดอีกว่า ขอให้เป็นแค่การให้ยืมเถอะ...ถ้าให้เลยละก็ พิไลไม่ยอมเด็ดขาด!

***************

จันตาที่นั่งอยู่ชิดกาบเรือ มองสายน้ำที่ถูกแหวกออกเพราะแรงฝีจักรเคลื่อนเรือไปข้างหน้าแล้วรู้สึกวิงเวียนศีรษะจนกระทั่งทำท่าคลื่นเหียน พักเดียวจันตาก็ลุกขึ้นโก่งคออาเจียนลงน้ำ โดยมีปลัดจินกรที่นั่งอยู่ด้วยกันยืนขึ้นลูบหลังให้แล้วเรียกหาน้ำมาให้ล้างปาก...หมุ่ยนี้ที่อยู่ท้ายเรือรีบเอายาหม่องมาให้ปลัดแล้วบอกให้ช่วยดูแลจันตาที่มีอาการเมาเรืออีกที คนอื่น ๆ เห็นภาพการเอาใจใส่ของหนุ่มข้าราชการอนาคตไกลที่มีต่อสาวสวยที่เป็นเพียงลูกจ้างในร้านสังฆภัณฑ์ก็มีความรู้สึกต่างกัน

บ้างก็คิดว่าไม่เหมาะสมเพราะฐานะผู้ชายดีกว่า บ้างก็คิดว่าเป็นวาสนาของผู้หญิง บ้างก็คิดว่าผู้ชายหน้าตาแย่กว่าผู้หญิง บ้างก็มองเห็นถึงความเหมาะสมกัน เพราะความรักเป็นเรื่องปกติของคนหนุ่มคนสาว เป็นเรื่องของคนสองคนเท่านั้น

แต่สำหรับประสงค์ ภาพนั้นก็ยังทำให้รู้สึกเจ็บแปลบหัวใจ...หลังจากแต่งงานกับพิไลจนถึงเวลานี้ เขาเฝ้าถามความรู้สึกตนเองว่า ‘รัก’ พิไล เท่าที่เคยรักจันตาหรือยัง ก็ได้คำตอบว่า ‘ยัง’

ตอนที่รู้สึกว่า ‘รัก’ จันตานั้น มันรักตั้งแต่เห็นหน้า และเฝ้าคิดถึงใบหน้า ท่าทาง น้ำเสียง...จำแม้กระทั่งว่าพูดอะไรกันไปกี่คำ กี่ครั้ง...เร่งวันเร่งคืนให้หมุนเปลี่ยนเพื่อจะได้พบหน้า...คิดถึงแต่อนาคตว่าจะทำอย่างไรถึงจะได้อยู่เคียงกัน

แต่กับพิไล มันไม่เคยมีความรู้สึกอย่างนั้น ใจมันระลึกอย่างเดียวว่า ที่มาอยู่ด้วยกันนั้น มันเป็น ‘หน้าที่’ เป็นความผูกพัน ที่มีความรู้สึกรำคาญ ความระแวง ปะปนอยู่ด้วย ข้อดีของพิไลก็มี แต่ข้อเสียชวนให้นึกตำหนิอย่างที่แม่ชอบเปรย ๆ ออกมายามรู้สึกไม่พอตาก็มีไม่น้อย เขาเป็นสามีจะเออออเข้าข้างแม่ พิไลก็เป็นเมีย เวลาที่พิไลพูดถึงแม่ในทางไม่ดีให้ฟัง เขาก็ไม่อยากได้ยิน

แต่พิไลก็ทำหน้าที่ของเมียได้ดี แม้จะไม่ได้รักกันมาก่อน แต่พออยู่ด้วยกันแล้ว เขาก็สัมผัสได้ว่าพิไลนั้นยึดเขาเป็นที่พึ่ง ยึดเขาเป็นสมบัติของตน จึงได้ เคี่ยวเข็ญ เจ้ากี้เจ้าการ เสมือนเป็นคนคนเดียวกันเพราะพิไลคิดฝากชีวิตและอนาคตของตนไว้กับเขาผู้ได้ชื่อว่าเป็น ‘สามี’ และที่สำคัญ ยามอยู่ตามลำพังในบ้าน ในที่รโหฐาน เขามั่นใจว่าพิไลรักเขามากมาย เพราะพิไลจะเฝ้าปรนนิบัติเอาใจใส่แสดงออกในทางพิศวาสอย่างไม่มีขัดเขิน...

สำหรับเขากับพิไล ก็สรุปว่า แม้ไม่ได้รักกันมาก่อนแต่งงาน ก็สามารถรักกันได้ในที่สุด อย่างที่ผู้ใหญ่บอกไว้

แล้วกมลกับเพียงเพ็ญที่ไม่ได้รักกันมาก่อน จะรักกันได้ในเร็ววันรึเปล่า เป็นเรื่องที่ประสงค์ครุ่นคิดพลางมองบนตลิ่งที่มีต้นไม้เขียวขจี...

งานแต่งของประสงค์นั้นทำพิธีแบบไทยจีน คือ ทำบุญเลี้ยงพระในภาคเช้า ยกขันหมาก และไหว้ฟ้าดิน ยกน้ำชาให้กับพ่อแม่ญาติผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่าย ตอนกลางคืนยังมีกินเลี้ยงฉลองงานมงคลสมรส จัดให้มีโต๊ะจีนในภาคค่ำ มีวงดนตรีคอมโบ้ให้แขกที่ถูกเชิญมาร่วมงานได้เต้นรำกันอย่างสนุกสนานสมฐานะลูกเถ้าแก่ใหญ่จากตำบลทับกฤช และ อำเภอชุมแสงแต่งงานกัน...

ส่วนงานของกมลที่จัดอย่างฉุกละหุกนั้นมีเพียงพิธีสงฆ์ในภาคเช้า ยกขันหมากในตอนสาย ๆ รดน้ำสังข์ ผูกข้อมือรับซองช่วยงานเพื่อให้เจ้าบ่าวเจ้าสาวเก็บไว้ทำทุนตามธรรมเนียม นอกจากนั้น งานนี้ กำนันศรยังจัดให้มีพิธีจดทะเบียนสมรสในงานไปด้วยเลย ส่งตัวเจ้าบ่าวเจ้าสาวเข้าห้องหอที่เป็นห้องนอนเดิมของเพียงเพ็ญ โดยเปลี่ยนชุดเครื่องนอนใหม่ทั้งหมด แล้วก็เลี้ยงแขกที่มาร่วมงานด้วยอาหารไทยที่แม่ครัวฝีมือเอกทำขึ้นอย่างสุดฝีมือ ใช้แตรวงที่แห่ขันหมากนั่นแหละทำหน้าที่สร้างความสนุกสนาน ก่อนจะแยกย้ายกันกลับบ้าน...

ถ้าเปรียบเทียบงานสองงาน งานของกมลก็ถือว่าเล็กกว่า แต่ถ้าเทียบกับงานแต่งของชาวบ้านในถิ่นนี้ งานนี้ถือว่าเป็น ‘งานช้าง’ เพราะกำนันศรนั้นรู้จักข้าราชการบนอำเภอ นายตำรวจ พ่อค้าคู่ค้าทางธุรกิจ รวมถึงผู้ใหญ่บ้านหมู่อื่น ๆ ที่ท่าน้ำหน้าบ้านจึงมีเรือลำน้อยลำใหญ่จอดอยู่เป็นแพ แต่กำนันศรก็สั่งให้คนงานกันที่ไว้สำหรับเรือขันหมากที่จะมาถึงในช่วงสาย...

เห็นกิจการบ้านช่องของกำนันศรที่กมลจะได้เข้ามาครอบครองพิไลก็รู้สึกยิ้มกริ่ม เมื่อฐานะทางนี้มั่นคง กมลก็คงไม่กลับไปแบ่งสันปันส่วนจากพี่ ๆ น้อง ๆ อีก...มงคลนั้นนางย้อยก็บอกว่าส่งให้เรียนหนังสือแล้วก็คงจะมีช่องทางทำมาหากินอย่างอื่น คงไม่กลับไปยุ่งกับสมบัติพ่อแม่หรือถ้ายุ่งก็น่าจะเป็นส่วนน้อย ดังนั้นก็เหลือเพียงปฐมคนเดียวเท่านั้นที่ยังเป็นตัวหารที่สำคัญ แต่ก่อนแต่งงานพิไลก็ใช้เล่ห์ขออภิสิทธิ์เรื่องลูกคนแรกของปฐมมาให้ประสงค์เสียส่วนหนึ่งแล้ว...

“เห็นไหมเฮีย ว่ากิจการบ้านช่องเขาใหญ่โตแค่ไหน นี่นะเฮีย ถ้าฉันไม่รบเร้า ถ้าม้าไม่เชื่อฉัน กมลก็ไม่ได้มาเป็นอาเสี่ยอยู่ที่นี่หรอก...”

เพราะอยากมีความดีความชอบ พิไลจึงต้องกระซิบบอกประสงค์ให้ได้รับรู้

...ประสงค์ที่ยังสวดมนต์ไหว้พระเกือบทุกค่ำเช้า มองกวาดไปทั่ว เห็นอย่างที่พิไลเห็น แต่เขาก็รู้สึกพลอยยินดีที่เห็นน้องชายได้ดิบได้ดี ไม่มีความอิจฉาริษยา คิดแข่งแสงแข่งบุญ เพราะรู้ว่าสมบัติทั้งหมดนั้นเป็นของนอกกาย ยิ่งมีมากเท่าไหร่ก็ใช่ว่าจะมีแต่ความสุขเพียงอย่างเดียว

ฝ่ายเรณูนั้น พอเห็นสถานที่กิจการบ้านช่องของกำนันศร ก็เปรยให้ปฐมได้ยินว่า “เป็นบุญของอาซาจริง ๆ”

ปฐมกวาดตามองไปทั่วเช่นกัน ความรู้สึก ‘ริษยา’ นั้นมีตามประสาปุถุชน แต่เขาที่เป็นลูกชายคนโตก็ถูกอบรมสั่งสอนมาตลอดว่า จะต้องทำมีภาระผู้สืบฐานะกิจการของครอบครัวเลี้ยงดูพ่อแม่ เรื่องแต่งออกมาอยู่บ้านเมียอย่างกมลเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว และที่สำคัญที่สุด เขาได้อยู่กับผู้หญิงที่เขาอยู่ด้วยนานวันเข้าก็รู้สึกว่า ‘ยิ่งรัก’ นี่ซิ...มันน่าจะเป็นเรื่องวิเศษในชิวิตของลูกผู้ชายคนหนึ่งได้เหมือนกัน

- งานแต่งของเพียงเพ็ญกับกมลนำความยินดีมาให้บังอร (((*** ตอนก่อนหน้านั้นให้บังอรชื่อแตงอ่อน ลูกนางอบ นายอาจ เจ้าของนาที่ก้านไปรับจ้างเกี่ยวข้าว /แต่ว่าดันไปซ้ำกับชื่อ นางแตงอ่อน คนที่ถีบนางย้อยตกรถไฟ //จึงขอเปลี่ยนจ้า// ตัวละครเยอะ ไรเตอร์งงมากกกกกกก//ขออภัยอย่างแรง))) เป็นอย่างมาก เพราะงานนี้ทำให้ก้านกลายเป็นคนไม่มีพันธะทางใจ ความหวังที่เคยริบหรี่จึงมีมากขึ้น ๆ แผนถัดไปคือ สืบถามนายสิทธิ์ให้ได้ว่าพาก้านไปอยู่ที่ไหน และจะต้องดึงตัวก้านกลับมาให้ได้ ...โดยเวลานี้บังอรก็เฝ้าทำคะแนนกับนางกุ่นรอไปพลาง ๆ เพราะเมื่อก้านกลับมาเห็นความดีของตน ก้านก็คงจะรู้เองว่า ใครเป็นคนที่คู่ควร...

ฝ่ายไอ้หวังนั้นได้ เฝ้าสังเกตการณ์เตรียมรายงานให้ก้านที่หายไปกับนายสิทธิ์ได้รู้...ซึ่งหวังก็ไม่รู้ว่าจะมีวันที่ก้านกลับมาอีกหรือเปล่า แต่ก้านก็บอกกับเขาว่า อย่าได้ไปบอกกับใครว่าเขาจะไปทำงานอยู่วงดนตรี โดยหวังจะไปเป็นนักร้องอัดแผ่นเสียง เพราะถ้าไม่ได้เป็นอย่างที่พูด รังก็จะมีแต่ความอับอายขายหน้ายามต้องปีกหักกลับมา

“ข้างบนเป็นอย่างไรบ้าง” พอเห็นบังอรเดินลงมาจากบนเรือนที่กำลังวุ่นวาย ผูกข้อไม้ข้อมือ รับซอง...ไอ้หวังที่หน้าแดงตาแดงเพราะฤทธิ์เหล้าโรงก็ถามทันที

“เจ้าสาวหน้าไม่สะเบยเหมือนคนไม่ถ่ายท้องมาสามสี่วัน...แต่ยังดีนะ ที่ยังนั่งบนตั่งให้คนรดน้ำสังข์ได้...ถ้าต้องถึงกับนอนละก็” ว่าแล้วบังอรก็ไหวไหล่

“อีบังอร อีบ้า อีปากหมา”

“ฉันพูดเล่นน่า...”

“งานมงคล พูดเล่นแบบนี้ในบ้านเขา มีคนเอาไปบอกพ่อกำนัน มึงนั่นแหละจะปากแตก”

ที่บังอรพูดไปแบบนั้นเพราะลึก ๆ เต็มไปด้วยอิจฉาในวาสนาของเพียงเพ็ญ...และเกลียดที่เพียงเพ็ญได้หัวใจของก้านไป เพื่อกลบเกลื่อนความปากพล่อยของตน บังอรจึงเปลี่ยนเรื่อง

“คิดถึงพี่ก้านจัง ถ้าอยู่ แกจะปั้นหน้าอย่างไร”

“ก็คง...เมาหัวราน้ำ ดีไม่ดี ได้ยินเสียงเครื่องไฟแบบนี้...ถ้าไม่ผูกคอตาย ก็...” หวังกลืนคำว่า ‘ก็คงหาปืนมายิงเจ้าบ่าวตาย’ ไว้ได้

“งั้นไปเสียแบบนั้นก็ดีแล้วแหละ...แล้วนี่ พี่หวังไม่รู้จริง ๆ หรือว่า อาสิทธิ์พาพี่ก้านไปอยู่ที่ไหน”

“ไม่รู้ ถ้ารู้ก็บอกไปแล้วซิ เมียแกก็ยังไม่รู้เลย...ป้ากุ่นก็ไม่รู้ รู้แต่ว่าพากันนั่งรถไฟเข้าเมืองหลวง”

“ถ้าอาสิทธิ์กลับมา ได้เรื่องอย่างไรแล้วก็บอกฉันด้วยนะ...”

“มึงจะอยากรู้ไปทำไม”

“อ้าว ก็ถ้าป้ากุ่นเจ็บไข้เป็นอะไรขึ้นมา จะได้ส่งข่าวไปบอกให้แกรู้ได้ไงพี่...พี่ก็รู้ ว่าพี่ก้านแกรักแม่แกจะตายไป”

หลังจัดการกับขนมจีนน้ำยาและอาหารที่ทางเจ้าภาพทำเลี้ยงแขกนับสิบชนิดอย่างละนิดอย่างละหน่อย หมุ่ยนี้ก็พาจันตาออกสำรวจบริเวณบ้านของกำนันศร จนกระทั่งไปหยุดอยู่ที่โรงเลื่อยขนาดใหญ่ที่อยู่ทางทิศตะวันตกของบ้าน...จันตามองเข้าไปข้างใน แล้วหันกลับมามองบ้านหลังใหญ่ทางทิศตะวันออกที่คลาคล่ำไปด้วยแขกเหรื่อของเจ้าสาวเจ้าบ่าวแล้วนึกถึงงานแต่งของตนเอง ที่จะหมุ่ยนี้รับปากกับปลัดจินกรว่าจะรับเป็นญาติฝ่ายเจ้าสาวให้ ...

จันตาคิดว่ามันจะเป็นเพียงงานแต่งเล็ก ๆ เพราะญาติฝ่ายเจ้าบ่าวก็อยู่ที่จังหวัดลพบุรี พ่อแม่ญาติพี่น้องของตน จันตาก็กะว่าแต่งแล้วจะส่งข่าวไปให้รับรู้เท่านั้น เพราะก่อนจะหนีอายออกจากบ้านมานั้น ทุกคนก็ดูจะโล่งอกที่จันตาพ้นมาจากบ้านเสียได้ มาอยู่ทางนี้ ก็ไม่เคยมีใครเขียนจดหมายมาหา มีเพียงจันตาที่ส่งตั๋วแลกเงินไปทางไปรษณีย์ไปให้พ่อแม่ใช้เป็นครั้งคราว

“คิดอะไรอยู่รึ” หมุ่ยนี้เดินมาหยุดแล้วมองตามสายตาของจันตาไป...

“คิดถึงอดีตและก็คิดถึงอนาคตของตนเองจ้ะ”

“อดีตเธอเป็นอย่างไรบ้างล่ะ... มีเรื่องความรงความรักอะไรกับเขาบ้างไหม เล่าให้แจ้ฟังบ้าง”

จันตายิ้มแหย ๆ แล้วถามกลับมาแทนคำตอบ..

“แล้วแจ้เคยมีความรักบ้างไหมจ๊ะ” พอออกมาจากบ้าน จันตาก็รู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น ความเป็น นายเงิน กับลูกน้องนั้นค่อยๆ ละลายไป เพราะหมุ่ยนี้ไม่ใช่คนถือตัวแต่อย่างใด...

“แจ้ไม่เคยมีหรอก เป็นเด็กปุ๊บ ก็แก่เทื้อ เอ๊ย โตเป็นเถ้าแก่เลย วัน ๆ คิดแต่เรื่องกำไรขาดทุน...”

“แต่เวลาเจ๊คุยกับผู้ชาย คือ ดูแบบ แบบ เอ่อ”

“แหม แจ้มีอาป๊า มีพี่น้องผู้ชายเยอะแยะ เพื่อนฝูงก็มี ผู้ชายก็คนเหมือนเรา ก็ไม่เห็นจะต้องไปเกร็งเวลาคุยกัน แต่อย่างว่าแหละนะ สำหรับจันตากับแจ้มันสวยกันคนละแบบ” พูดจบแล้วหมุ่ยนี้ก็หัวเราะกับมุกของตัวเอง

“แล้ว มีคนเคยจีบเจ๊ไหมจ๊ะ” จันตายังคงปัดเรื่องให้พ้นตัว

“มีซิ แต่ว่า ใจแจ้มันเฉย ๆ ไม่รู้สึกหวั่นไหวอะไร แล้วอีกอย่าง แจ้ซังอีก็คอยกันท่า อยากให้อยู่เป็นเพื่อนกันด้วย ก็เลยเถิดมาจนถึงตอนนี้แหละ จะว่าเป็นเรื่องของโชคชะตาวาสนาก็ได้มั้ง ดวงคนมันจะไม่มีผัว เสนอหน้าดิ้นรนให้ตายก็ไม่มีหรอก แต่ดวงคนจะมี ต่อให้อยู่ก้นครัวก็ยังมีคนตามเข้าไปเห็น” หมุ่ยนี้หมายถึงคู่สนทนา จันตาจึงค้อนให้

แล้วสายตาของหมุ่ยนี้กับจันตาก็เห็นเรณูเดินฝ่าแดดลมจนกระโปรงปลิวเข้ามาหา...

“มาทำอะไรกันอยู่ตรงนี้”

“มาดูกิจการของเถ้าแก่น้อยคนใหม่นะซิ โรงเลื่อยเขาใหญ่โตดีนะ...ใหญ่กว่าโรงสีที่ชุมแสงอีกมั้ง...” หมุ่ยนี้เป็นฝ่ายตอบ เรณูจึงมองตามเข้าไปบ้าง แล้วก็ถอนหายใจเบา ๆ ก่อนจะพูดว่า “จะอยู่ด้วยกันไปได้สักกี่น้ำก็ไม่รู้...”

จันตานิ่งฟัง... ส่วนหมุ่ยนี้ถามกลับทันที “ทำไม มีอะไรเหรอ”

“ตะกี้ ฉันได้ยินคนทีนี่เขาซุบซิบกันว่า ที่เจ้าสาวหน้าบึ้งตึงทำเหมือนถูกปืนจี้ให้เข้าพิธีเนี่ย เป็นเพราะ เค้ามีแฟนของเค้าอยู่แล้ว เป็นคนที่นี่แหละ แต่ว่ายากจนข้นแค้น ไม่คู่ควรกัน พ่อกำนันก็เลยบังคับให้เค้าแต่งกับอาซาของเรา”

“แต่งแล้วก็แล้วไปซิ ชีวิตมันต้องเดินไปข้างหน้า...”

“ดูท่าจะไม่แล้วหรอก เพราะว่ากันว่า อีคนนี้เป็นคนเอาแต่ใจตัวเองสุด ๆ เพราะเป็นลูกสาวคนเล็ก... นึก ๆ ไปแล้วก็สงสารอาซาเหมือนกัน คนดี ๆ ทำไมจะต้องมาเจอกับเมียนิสัยไม่ดีด้วยก็ไม่รู้” พูดไปแล้ว เรณูก็ตบปากตัวเองเบา ๆ หมุ่ยนี้หัวเราะ แล้วเรณูก็พูดว่า

“ฉันเองก็ไม่ได้ดีไปกว่าเพียงเพ็ญสักเท่าไหร่หรอกเนอะ...ยังมีหน้าไปว่าเขาอีก”

จันตามองไปทางบ้านหลังใหญ่แล้วก็ถอนหายใจออกมาเบา ๆ รู้สึกกลัวว่าในอนาคต ญาติของคุณปลัดจะพูดในทางลับหลังแบบนี้บ้าง

“อาสี่ ๆ ทางนี้” เสียงของหมุ่ยนี้ที่ตะโกนก้อง ทำให้ความคิดกังวลของจันตาชะงัก...มงคลที่เดินมาทางชายคาแล้วเหมือนมองหาใครบางคน ยิ้มกว้าง แล้วเดินตัดลานมาหา เพราะหมุ่ยนี้ได้บอกกับเขาไว้ว่า ถ้าเสร็จธุระข้างบนเรือนแล้วให้ลงมาถ่ายรูปให้ด้วย

“รอจนจะหมดอารมณ์สวยแล้วเนี่ย” พอมงคลเดินมาถึงหมุ่ยนี้ก็หยอกเขาทันที มงคลเบะปากแต่สายตานั้นจับอยู่ใบหน้าของจันตา ไม่แปลกใจเลยว่า ทำไมกมลถึงได้หลงรักจนม้าต้องให้รีบแต่งมาอยู่ที่นี่...

“อาแจ้จะถ่ายเดี่ยวหรือถ่ายหมู่”

“ถ่ายหมู่ซิยะ บานเดียวอยู่กันครบ ประหยัดคุ้ม”

“ก็นึกว่าอาแจ้จะถ่ายเดี่ยวเอาไว้อัดแจกหนุ่ม ๆ บ้างนะซิ”

“แจ้คงจะไม่ละ แต่เดี๋ยวลื้อถ่ายให้จันตาไว้ละกัน...แต่ไม่ต้องอัดเก็บไว้ดูเองล่ะ จันตาเค้ามีเจ้าของแล้ว...”

“ใครตีทะเบียนเป็นเจ้าของรึครับ”

“ก็นายทะเบียนบนเรือน ปลัดจินกรน่ะ...ว่าที่ของเขา...รู้ไว้ซะด้วย” พอหมุ่ยนี้โอ่แบบนั้น จันตาก็กระตุกแขนเบา ๆ เพราะไม่อยากให้หมุ่ยนี้พูดมากไปจนกลายเป็นอวดจนน่าหมั่นไส้ เพราะถ้าที่หวังที่ฝันไว้ ‘พลาด’ ขึ้นมา คนจะเหยียบซ้ำเอาได้

******************************


Title: Re: กรงกรรม บทประพันธ์ของ จุฬามณี
Post by: นักประพันธ์ on 02 March 2020, 11:15:13
ตอนที่ 24 : เขยใหม่ ชีวิตใหม่


            ๒๔



สถานภาพ ‘เขยใหม่’ ที่กมลเพิ่งจะได้มา ทำให้เขาต้องขยันขันแข็งเอางานเอาการมากขึ้นกว่าเดิม เพราะถ้าเขยใหม่ทำให้พ่อตาแม่ยายที่มาอาศัยอยู่ด้วย มีอคติตั้งแต่วันแรก ๆ ชีวิตใหม่ในเรือนกว้างใหญ่ก็คงยากจะมีความสุข...

เพราะความสุขที่หวังจะได้จากตัวเมียนั้น กมลรับรู้ตั้งแต่คืนแรกที่อยู่ด้วยกันว่า คงเป็นไปได้ยาก เพียงเพ็ญนั้นสร้างกำแพงบางๆ ไว้ เริ่มตั้งแต่หญิงสาวไม่ยอมพูดกับเขาแม้จนคำเดียวตลอดจนพิธีเสร็จสิ้น...หลังจากที่ทำพิธีปูที่นอนส่งตัวเข้าหอเสร็จแล้ว ผู้ใหญ่ออกจากห้อง ทิ้งให้เจ้าบ่าวเจ้าสาวอยู่กันตามลำพัง เพียงเพ็ญที่นั่งหน้าบึ้งอยู่บนที่นอนก็บอกกับเขาว่า

“เปลี่ยนชุดแล้ว ก็ลงไปช่วยคนงานเก็บของนะ...” เป็นประโยคแรกที่เพียงเพ็ญคุยกับเขา

ไม่มีคำเรียกขาน ว่า ‘พี่’ หรือ ‘เฮีย’ ‘อาเฮีย’ แต่อย่างใด

...เขาพยักหน้าแล้วก็หันไปหากระเป๋าผ้าใบใหญ่ที่เก็บลงเรือมาด้วย...เปิดกระเป๋ารูดซิป หยิบผ้าขาวม้าออกมาผลัดกางเกงเปลี่ยนเป็นกางเกงขาสั้น สวมเสื้อยืดคอกลมสีขาว แล้วเขาก็ออกจากห้องไปล้างหน้าเข้าห้องส้วม แล้วก็ช่วยคนงานเก็บโต๊ะพับ ขนเก้าอี้เหล็กแบบพับได้ขึ้นเกวียนเอาไปส่งคืนวัด โดยนางสมพรซึ่ง ‘ม้า’ ของเขา บอกกับเขาว่า ต่อไปจะต้องเรียกกำนันศรว่า ‘พ่อ’ และเรียกนางสมพรว่า ‘แม่’ นั้นได้บอกกับเขาว่า

“ไม่ต้องทำหรอกพ่อซา ให้คนงานทำไปเถอะ”

“ไม่เป็นไร ช่วยกันจะได้เสร็จเร็ว ๆ” ไม่ใช่แค่อยากให้งานเก็บโต๊ะเก้าอี้ หม้อ เตา ชาน ชาม ถาด กะละมัง ส่งคืนวัดเสร็จไปโดยเร็ว เขาเองก็อยากถือโอกาสนี้ หลบหน้าคนในห้องหอ และเพื่อจะได้ทำความรู้จักกับ ‘คนงาน’ ที่วันหน้าจะต้องกลายมาเป็นลูกน้องเขาด้วย...

กลับมาจากวัดตอนพลบค่ำ นางแรมก็บอกให้เขา รีบอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าเพื่อที่จะได้กินข้าวเย็นด้วยกัน โดยนางแรมจัดแจงนำผ้าข้าวม้าและเสื้อกับกางเกงของเขามาวางให้พร้อมสรรพ โดยที่เขาไม่ต้องเข้าไปในห้อง เขาจึงนุ่งผ้าขาวม้าอาบน้ำที่โอ่งข้างบ้านแล้วก็เปลี่ยนมานุ่งกางเกงขาก๊วยสวมเสื้อยืดสีขาว ไม่ได้ตบแป้งหอมให้รู้สึกสดชื่นเหมือนตอนที่อยู่บ้าน

อาหารเย็นมื้อนั้น มีกำนันศรที่ยังไม่สร่างเมา นางสมพร นางแรม นั่งร่วมวง ส่วนเพียงเพ็ญนั้นยังคงทำตัวเป็นนางห้องอยู่เช่นเดิม เขาไม่ได้ถามใครหรอกว่าทำไมเพียงเพ็ญไม่ออกมากินข้าวด้วยกัน มีแต่นางสมพรออกตัวว่า เพียงเพ็ญยังคงมีอาการไข้ก็เลยนอนซมอยู่ในห้องเช่นเดิม

หลังกินข้าวอิ่ม เขาก็รู้สึกง่วงนอนเต็มกำลัง เพราะเมื่อคืน เขานอนไม่กี่ชั่วโมง มงคลอยากให้เขาลองชุดให้ดู และชวนคุยอะไรเรื่อยเปื่อยหยอกเย้าเล่าเรื่องใต้สะดือตามประสาพี่น้อง พอเคลิ้มหลับ แม่ก็ร้องเรียกให้ลุกขึ้นอาบน้ำแต่งตัวออกจากร้านมานั่งเรือหางยาวฝ่าคลื่นน้ำลมหนาวมาที่นี่

จะนับว่าเป็นครั้งแรกในชีวิตของเขาเลยก็ได้ ที่ต้องจากถิ่นฐานบ้านช่องที่คุ้นชินจนแทบจะหลับตาเดินได้ทั่วตลาด โดยไม่รู้ว่าจะมีโอกาสกลับมาอยู่อีกเมื่อไหร่ ตอนนั้นเขาเหลียวหลังกลับไปมองตลาดชุมแสงที่กว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตา แล้วรู้สึกใจหายจนน้ำตาคลอลูกนัยน์ตาโดยไม่รู้ตัว แล้วเขาก็หันกลับมามองข้างหน้า ใจก็คิดว่า ชีวิตคนเราทุกคนนั้น ไม่มีใครหนี ‘ความเปลี่ยนแปลง’ พ้น

ความเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้เขาไม่รู้หรอกว่า จะพาอนาคตเป็นไปอย่างไร

แต่เขาก็รู้สึกได้ว่า วันนี้เขา ‘โต’ ขึ้น พรวดพราดเหมือนต้นหญ้าในช่วงต้นฤดูฝน...

พอกมลจะผลักประตูห้องหอเข้าไป เขาก็คิดได้ว่า ควรที่จะส่งเสียงให้คนในห้องได้รู้ตัวก่อน เขาจึงเคาะเบา ๆ แล้วผลักประตูเข้าไป เพียงเพ็ญที่อยู่ในชุดนอนแบบเสื้อกางเกงสีชมพูทันสมัยเข้าชุดกัน พอเห็นเขา เพียงเพ็ญก็ลุกขึ้นนั่ง มองเขาแล้วก็บอกว่า “ที่นอนของเอ่อ...ของเฮีย อยู่ตรงโน่น”

เขามองตามนิ้วมือที่เพียงเพ็ญชี้บอก ก็พบที่นอนสามแบะปูทับด้วยผ้าสีชมพูลายดอก บนนั้นมีหมอนและผ้าห่มพับเทินกันอยู่ ตรงหัวนอนมีมุ้งสีขาวมัดมุมแล้วสองมุม...ซึ่งเขาจะต้องกางมุงเองอีกสองมุม ข้างที่นอนติดข้างฝา กระเป๋าผ้าของเขายังคงวางอยู่ที่เดิม แต่ก็มีรอยรื้อค้น

ยังไม่ทันที่เขาจะถามว่า ทำไมไม่ให้เขานอนบนเตียงด้วยกัน เพียงเพ็ญก็รีบบอกว่า “พอดี ฉันไม่สบายเป็นไข้ ถ้านอนด้วยกัน เดี๋ยวเฮียจะติดไข้ไปจากฉันได้นะ อากาศเย็น ๆ แบบนี้ ถ้าไม่เปิดหน้าต่างยุงก็ไม่มีหรอก จะไม่กางมุ้งก็ได้นะ”

เมื่อเพียงเพ็ญพูดยืดยาวเขาจึงพูดขึ้นบ้าง

“งั้นกางดีกว่า”

ว่าแล้วเขาเดินไปคลี่มุ้ง ดึงมุมหลังมุ้งที่มีเชือกติดอยู่ไปมัดกับตะปูที่ตอกไว้บนไม้ลูกตั้งข้างฝา...

เพียงเพ็ญมองเขาแล้วก็บอกว่า “ปกติ ฉันชอบจุดตะเกียงนอน เพราะฉันชอบอ่านหนังสือก่อนนอน ถ้าคืนนี้ จะจุดทิ้งไว้ จะเป็นอะไรไหม”

“ไม่เป็นอะไรหรอก แต่ควันตะเกียงจะทำให้มุ้งดำ”

“ดำก็ซักบ่อย ๆ เอา...แล้วเฮียนอนกรนหรือเปล่า”

“ไม่รู้เหมือนกัน”

“ถ้ากรน มีห้องข้าง ๆ นี่นะ จะไปนอนที่นั่นก็ได้นะ จะได้ไม่รบกวนฉัน แต่รกหน่อยเพราะเป็นห้องเก็บเสื้อผ้าของฉัน”

กมลไม่คิดว่าจะได้ยินคำพูดแบบนี้ แต่เขาก็ใจเย็นพอจะบอกว่า

“ถ้าอย่างนั้นก็ลองนอนดูก่อนละกัน ถ้ากรนค่อยว่ากันอีกที...” ว่าแล้วเขาก็มุดมุ้งเข้าไปกันมุ้ง แล้วล้มตัวลงนอน

เบื้องต้นเขานอนหงาย พอไม่หลับเขาก็นอนตะแคงมาหาเตียงใหญ่ เพียงเพ็ญยังคงนั่งนิ่ง ไม่ได้อ่านหนังสือหรือทำอะไร เหมือนหญิงสาวกำลังใช้ความคิด...และเพื่อทำความรู้จักกันให้มากขึ้น เขาจึงเป็นฝ่ายเปิดฉากชวนคุย เหมือนที่นอนคุยกันคนละเตียงกับมงคลเมื่อคืนนี้

“แล้วนี่ กินข้าวหรือยัง กินข้าวได้หรือเปล่า” เขาก็ไม่รู้จะใช้สรรพนามแทนตัวเพียงเพ็ญว่าอย่างไร... เฮียตง พูดแทนตัวเองกับซ้อพิไลว่า
‘เฮีย’ เรียกพิไลว่า ‘พิไล…เธอ’

‘เฮีย’ กับ ‘เพียงเพ็ญ...เธอ’ เขาก็คงจะใช้สรรพนามแบบนั้น...

“กินแล้ว” ก่อนหน้าที่กมลจะกลับมาจากวัด เพียงเพ็ญกับ นางแรม นางสมพรทุ่มเถียงกันเรื่องที่นอนหลังเล็กนี้แล้ว แต่เพียงเพ็ญที่เป็นเจ้าของห้องเสียงแข็งกว่า แล้วก็มีข้ออ้างว่าตนไม่สบาย นางแรมจึงต้องจัดหาเครื่องนอนมาให้ นางแรมแนะนำว่า ควรจะออกไปกินข้าวด้วยกัน แต่เพียงเพ็ญบอกว่าไม่หิว นางแรมก็เลยยกข้าวต้มมาให้กินในห้อง เพียงเพ็ญกินกับผักกาดเค็มไปได้สองสามคำก็รู้สึกอิ่ม และมีอาการผะอืดผะอมขึ้นมา แต่อาการไม่หนักเหมือนก่อนแต่งงาน นางแรมเห็นอาการของเพียงเพ็ญดีขึ้น ตั้งแต่บนบานเสร็จถึงปัจจุบัน ก็บอกว่า ‘พรุ่งนี้เห็นทีจะต้องแก้บนนะ’

เพียงเพ็ญแกล้งถามไปว่า ‘ถ้าพ่อซาของอาศรี เขาถามป้าว่า แก้บนเรื่องอะไร ป้าจะบอกว่าอย่างไง’

‘ก็บอกว่า บนให้ทุกอย่างผ่านไปด้วยดีนะซิ แต่ว่า หนูจะไม่ให้พ่อซาเขานอนด้วยจริง ๆ รึ ป้าว่าถ้าให้เขานอนกับพื้นห้อง มันน่าเกลียดมากเลยนะ’

‘ถ้าน่าเกลียด ก็ให้พ่อซาไปนอนห้องเล็ก’

‘ห้องเล็กยิ่งน่าเกลียดเข้าไปใหญ่’

‘ป้าเก็บถาดออกไปเหอะ ต่อไปจะเป็นธุระของหนูกับเขาเอง...’

‘คิดจะทำอะไรรึเปล่า’ นางแรมรู้ดีว่า กำนันศรเหมือนชนะลูกสาวคนเล็กหัวดื้อแล้ว หาได้ชนะอย่างขาดลอย...มันยังมีคลื่นใต้น้ำที่จะทำให้น้ำกระเพื่อมใส่ตลิ่งตามมาอย่างแน่นอน...

‘สำเร็จแล้ว เดี๋ยวป้าก็รู้เอง...’ เพียงเพ็ญตัดบทแล้วนางแรมก็ออกจากห้องไป...

ถามคำถามแรกไปแล้ว ได้รับตอบกลับมาสั้น ๆ กมลคิดว่า ไม่ควรจะยุติการสนทนาแค่นั้น...เขาจึงถามอีกคำถาม

“แล้วนี่ไปหาหมอหรือยัง”

“ยัง”

“แล้วเอายาจากที่ไหนมากิน...” กมลคิดว่ามันน่าจะเป็นคำถามที่ควรถามมากที่สุด

“ยาหม้อ ยากลางบ้าน” เพียงเพ็ญตอบเสียงห้วน...แล้วหญิงสาวก็หักด้ามพร้าด้วยเข่าโดยการพูดต่อว่า “โตแล้ว รู้รักษาตัวรอดหรอกน่า...”

กมลนิ่งเงียบ แล้วก็พลิกตัวเข้าหาข้างฝา...นอน ‘ครุ่นคิด’ อยู่นานสองนาน ก่อนจะค่อย ๆ ผล็อยหลับไปเพราะอ่อนเพลีย

********

พอได้ยินเสียงกมลกรนเบา ๆ เพียงเพ็ญที่จู่ ๆ ก็รู้สึกอยากกินของเปรี้ยวจนน้ำลายแตกซ่านก็คว้าไฟฉายค่อย ๆ ลงจากเตียงโหย่งตัวออกจากห้อง ที่หน้าห้องไม่มีมุ้งของนางแรมเหมือนเคย เพียงเพ็ญจุดตะเกียงรั้วอีกใบ แล้วถือตะเกียงแทนไฟฉายเดินเท้าเบาไปในครัว ติดกับครัวเป็นห้องนางแรม นางแรมเป็นคนนอนหูเบา พอมีเสียงก็ถามว่า “ใครรึ”

“หนูเองป้า” เพียงเพ็ญตอบเบา ๆ แล้วก็เดินไปเปิดไห ล้วงมะขามเปียกมานั่งกินโดยไม่ได้จิ้มเกลือแต่อย่างใด...

“กินอะไร” นางแรมมุดมุ้งออกมาเกาะประตูครัวถาม...

“จู่ ๆ ก็นึกอยากเปรี้ยว...” ก่อนหน้านั้นเพียงเพ็ญไม่มีความรู้สึกอยากเปรี้ยวอยากหวานหรืออยากกินอะไรแบบที่คนแพ้ท้องส่วนใหญ่เป็นกัน แต่พอพิธีวิวาห์ผ่านพ้น อาการเหล่านั้นก็กลับเข้ามา...

“กินมาก ๆ ระวังท้องเสีย” นางแรมรีบห้าม เมื่อเห็นว่าเพียงเพ็ญจะหยิบมะขามเปียกออกมาอีก...

“ป้าหนูหิวข้าว มีอะไรกินไหม”

“มีแกงส้ม กินได้ไหมล่ะ”

พอเพียงเพ็ญพยักหน้า นางแรมก็เดินเข้ามาหาสำรับให้ พอเห็นเพียงเพ็ญนั่งกินข้าวได้ผิดปกติจากที่เคยกินเหมือนแมวดม นางแรมก็บอกว่า

“มันเกิดอะไรขึ้นละเหว่ บทจะกินได้ ก็กินเอา ๆ กินแต่น้อย ๆ ค่อย ๆ กิน มันจะปวดท้อง”

“มันหิวน่ะป้า...พรุ่งนี้ ป้าแกงไก่ใส่กล้วยให้ฉันกินหน่อยนะ นึกแล้วน้ำลายไหลโกรก ๆ เลยเนี่ย...”

“อืม...” นางแรมรับคำพลางดูเพียงเพ็ญคดข้าวกินเหมือนตายอดตายอยากก็ถามว่า “แล้วพ่อซา ว่าอย่างไร”

“ไม่ว่าอะไร นอนหลับปุ๋ยบนที่นอนหลังเล็กไปแล้ว...ว่าไป เขาก็น่ารักดีนะป้า ดูท่าจะเป็นคนเข้าใจอะไรง่าย ๆ ดี”

“ให้มันจริงเถอะ” นางแรมย้อนกลับด้วยสีหน้าเต็มไปด้วยความกังวล...

**********

พอเห็นหน้าลูกชายคนโตมาลากลับเข้าค่าย นางย้อยก็พยายามนึกว่าตนเองนั้นมีเรื่องอะไรจะคุยกับเขา แต่พยายามนึกเท่าไหร่ก็นึกไม่ออก นางย้อยจึงเกาหัวเบา ๆ สีหน้าดูงงงวยอย่างเห็นได้ชัด

“ม้า ม้าเป็นอะไร”

“มีเรื่องอะไรจะคุยกับแก แต่ม้าลืม นึกเท่าไหร่ก็นึกไม่ออก แต่ช่างมันเหอะ...” เรื่องที่นางย้อยพยายามนึกก็คือเรื่องที่จะพาเขาไปหาหมอมีที่เกยไชย เพื่อถอนเสน่ห์ที่เรณูทำไว้ แต่ด้วยอำนาจคุณไสยของหมอก้อนจากตาคลีนั้นแรงกว่า เพราะมันเพิ่งเริ่มต้นสำแดงฤทธิ์เดชจึงทำให้นางย้อย หลง-ลืม เรื่องคิดพรากปฐมกับเรณูออกจากกันชั่วขณะ

“ม้าพักผ่อนเยอะ ๆ นะ กลับมาคราวนี้ ดูม้าผอมไปเยอะเลย”

“ผอมได้ไง ก็กินเท่าที่เคยกินอยู่ทุกวัน ทั้งคาวทั้งหวาน”

“ไม่ผอมก็ไม่ผอม...ม้า ผมฝากเรณูด้วยนะ” กลับมาจากงานแต่งของกมล เมื่อวานเขาก็ ‘หมก’ อยู่กับเรณูทั้งคืนทั้งวัน จนถึงเช้าวันนี้ ไม่ได้เดินมาหานางย้อยที่ร้าน เพราะคิดว่าแม่ที่ปิดร้านอีกวัน คงต้องการพักผ่อนเช่นกัน ส่วนเตี่ยของเขานั้นทำงานไม่มีวันหยุด เมื่อวานก็รีบไปที่โรงสีแต่เช้าเช่นเดียวกับวันนี้...

ส่วนวันนี้ เรณูบอกกับเขาว่า รู้สึกไม่สบายก็เลยไม่ได้เดินมาส่งเขาขึ้นรถไฟกลับตาคลี เขาจึงมาลาแม่เพียงลำพัง...

“ทำไมจะต้องฝากมันด้วยล่ะ มันก็อยู่ดีมีสุขดีนี่”

“ผมดีใจนะ ที่เห็นม้ายอมรับและเมตตาเขาบ้างแล้ว”

“มันก็มีดีของมัน ดูซิ ม้าให้ทอง มันก็ไม่เอา เห็นว่าจะเอามาคืน แต่ม้าไม่รับคืนหรอก ให้แล้วให้เลย...”

“จริง ๆ หรือม้า”

“ม้าแกคำไหนคำนั้น แต่งเมียอาตงหมดไปเท่าไหร่ แต่งอาซาหมดเท่าไหร่ แล้วอาเรณูมันก็เมียแกเหมือนกัน ม้าน่ะรักลูกเท่ากันทุกคน ไม่อยากให้ใครเอาไปว่าได้ ว่าเป็นคนลำเอียง จนยามตายก็ต้องนอนตะแคงตัวตายหรอกนะ”

“ม้า...” ปฐมรู้สึกตื้นตันจนน้ำตาคลอ

“นี่ม้าก็คิดว่าจะดูเปิดร้านขายผ้าให้มัน” แล้วนางย้อยก็เล่าเรื่องน้องสาวของเรณูที่ชื่อวรรณาให้ปฐมฟังคร่าว ๆ

“ม้าจะถามแกก่อนว่า จะเปิดให้มันดีไหม เพราะร้านนี้ วันหน้ามันก็จะต้องเป็นของอาตงมัน แกกลับมาก็ไปดูโรงสีแทนมัน อาตงก็มาอยู่ตรงนี้ ม้าจะคุมที่นี่ไปสักพัก ม้าคิดแบบนี้”

“สักพักน่ะ นานแค่ไหนม้า”

“ก็นานจน ทำไม่ไหวนั่นแหละ” ว่าแล้วนางย้อยก็หัวเราะเบา ๆ กับความเจ้าเล่ห์ของตน ...

“ก็แล้วแต่ม้า จะเห็นสมควรแล้วกัน”

“ตอนแรกม้าว่า จะแค่หาเซ้งร้านให้เรณูมัน แต่เมื่อคืน ม้ามาคิด ๆ ดูแล้ว ม้าอยากซื้อร้านแล้วไปอยู่กับเรณูกับแกซะเลยดีกว่า”

“ทำไมล่ะม้า...”

“แกเป็นลูกชายคนโต แกต้องดูแลพ่อแม่ตามธรรมเนียม”

“ผมเข้าใจ แต่อาตงมันก็ลูก แล้วที่นี่ ม้าก็อยู่กันมานานนม”

“ม้าไม่อยากอยู่กับอีพิไล ม้าขี้เกียจหุงข้าวให้มันกิน” แล้วนางย้อยก็เล่าเรื่องความขี้เกียจของพิไลให้ปฐมได้รับรู้ พร้อมกับเปรียบเทียบกับเรณูที่เรียกมาใช้งานทำขนมแค่วันสองวันให้ปฐมได้เห็น ปฐมได้ยินแม่เอ่ยชื่นชมเรณูไม่ขาดปากก็ยิ้มกริ่ม เพราะแววตาของแม่นั้นดูมีความสุข...

แม่มีความสุข เขาก็ความสุข...อะไรที่แม่เห็นดี พวกเขาก็ว่าดี ไม่เคยขัดกันมาแต่ไหนแต่ไร เพราะที่พ่อแม่เหนื่อยยากกันมามาก เป็นเพราะรักพวกเขามากนั่นเอง...พวกเขารู้กันดี

****************

“มีธุระอะไรกับฉันรึ” วรรณาเอ่ยถามมงคลที่ยืนรออยู่ด้วยสีหน้าเรียบเฉย น้ำเสียงราบเรียบไม่มีอาการดีใจที่ได้เห็นหน้ากันสักนิด...

“ไม่มี มาหาไม่ได้หรือไง”

“ได้ แต่ไม่ดีหรอก ฉันมาอาศัยเขาอยู่ ต้องทำตัวดีๆ เขาจะได้ไม่หนักใจ ตกลงมีอะไรว่ามา”

“พี่สาวเธอฝากบอกว่า เสื้อที่ตัดไปให้น่ะ ถูกใจคนใส่มาก”

“จริง ๆ นะ”

“อัดรูปมาให้ด้วย จะดูรึเปล่าล่ะ”

“ดูซิ ไหน ๆ” อารามดีใจทำให้วรรณาขยับเข้ามาเข้าใกล้เขาอีกนิด แล้วก็เห็นว่าในกระเป๋าที่อกเสื้อของเขา มีรูปถ่ายอยู่ข้างใน...

“พูดให้มันลื่นหูกว่านี้หน่อย”

“พูดอย่างไรล่ะ”

“เฮียสี่ ขอฉันดูรูปหน่อยค่ะ พูดแบบนี้”

“ไม่...”

“ถ้าอย่างนั้นก็ไม่ต้องดู”

“ไม่เห็นจะง้อเลย”

“มีข่าวดี มาบอกด้วยนะ อยากฟังไหมล่ะ ถ้าอยากฟังก็...” ว่าแล้วมงคลก็ยกไหล่ขึ้น วรรณาเบะปากให้เขา ด้วยเห็นว่าขืนมัวแต่โยกโย้ ไม่เอาใจเขาสักนิด เขาก็จะถ่วงเวลาให้นานไป วรรณาจึงบอกว่า

“เฮียสี่ ฉันอยากรู้ข่าวดี โปรดบอกฉันหน่อยเถอะนะ แล้วฉันก็อยากดูรูปจนใจจะขาด ให้ฉันดูหน่อยนะคะ...แบบนี้ได้ไหม”

“ก็แค่นั้น” ว่าแล้วเขาก็ดึงรูปออกจากกระเป๋าเสื้อแล้วส่งไปให้ วรรณารีบดูรูปบนสุด ก็เห็นเป็นรูปของเรณูยืนจับชายกระโปรงโพสต์ท่าทำเก๋อย่างกับนางแบบในนิตยสาร เห็นดังนั้นวรรณาก็อมยิ้ม...รูปถัดไปเป็นรูปหมู่ มีเรณู หมุ่ยนี้ และจันตาที่ยืนอยู่ด้วยกัน ด้านหลังเป็นอาคารหลังใหญ่...ใบที่สามเป็นรูปของเรณูกับผู้ชายซึ่งวรรณาไม่รู้ว่าเป็นใคร

“คนนี้ใครเหรอ”

“พี่เขยเธอนั่นแหละ พี่ชายเรา...ชื่อเฮียใช้...”

วรรณาพินิจดูรูปนั้นอยู่นานทีเดียว เห็นอาการที่เรณูเกาะแขนของ ‘เฮียใช้’ แล้วยิ้มจนปากบาน วรรณาก็สัมผัสได้ว่าเรณูนั้นน่าจะมีความสุขดี... และรูปสุดท้ายเป็นรูปรวมญาติพี่น้องถ่ายกับเจ้าบ่าวเจ้าสาวบนเรือน หนึ่งในนั้นมีมงคล และเรณูยืนอยู่ด้วย...ก็เท่ากับว่า เรณูเป็นที่ยอมรับของแม่ผัวแล้วอย่างนั้นหรือ แต่วรรณาก็ไม่ได้ถามออกไป...

“แล้วข่าวดีล่ะ”

“พี่สาวเธอให้รีบขึ้นไปหาด่วนเลย มีลูกค้าเห็นฝีมือ เลยอยากให้ตัดชุดให้กันอีกหลายคน” อันที่จริงไม่เฉพาะเรณูที่สั่งเขามา แต่เป็นแม่ของเขาที่สอบถามเขาว่า รู้จักมักจี่สนิทสนมกับน้องสาวของเรณูจนฝากของมาให้กันได้อย่างไร และสุดท้าย พอเขาเล่ารายละเอียดคร่าว ๆ แม่เขาก็ฝากให้เขาส่งข่าวให้วรรณาไปที่ชุมแสงโดยด่วน เพราะอยากจะให้วรรณาตัดชุดให้บ้าง...นอกจากนั้นแม่ของเขาก็ยังถามเขาว่า คิดจีบวรรณาบ้างหรือเปล่า เขาก็บอกไปตามตรงว่า จีบเล่น ๆ แต่ วรรณาไม่ยอมเล่นด้วย...

“จริง ๆ รึ”

“นี่เห็นเราเป็นคนขี้โกหกอย่างนั้นรึ” บอกแล้วเขาก็แสร้งทำหน้าบึ้ง

“เปล่า...ไม่ได้ว่าอะไรซักหน่อย”

“พูดอะไรก็จริง ๆ นะ จริง ๆ รึ...น้อยใจเป็นนะโว้ย”

“ขอโทษแล้วกัน ขอบคุณมากสำหรับรูปถ่าย ไม่คิดเงินใช่ไหม”

“ไม่คิดหรอก แต่ว่าจะไปดูหนังด้วยกันได้เมื่อไหร่” มงคลยังไม่เลิกตอแย

“ยังไม่รู้เลย”

“แล้วจะไปชุมแสงเมื่อไหร่ จะไปก่อนหรือหลังขึ้นเวที...”

วรรณาทำท่าครุ่นคิดแล้วก็หันไปมองนาฬิกา... “คิดว่าจะไปวันนี้แหละ...ไปด้วยกันไหมล่ะ”

“ไม่หรอก เพิ่งกลับมา เงินยังเต็มกระเป๋า”

เขายังชวนวรรณาคุยอีกสองสามประโยค วรรณาที่ปล่อยใจไปถึงชุมแสงแล้ว เห็นสมควรแก่เวลาจึงไล่เขากลับไปโดยละม่อม...เหมือนเดิมว่า แม้จะเดินออกมาจากร้านแล้วแต่เขาก็ยังหันมา ยกมือ ‘บ้ายบาย’ พร้อมยักคิ้วหลิ่วตาทำท่าโปรยเสน่ห์ให้...วรรณาเบะปากให้เขา แล้วก็ยิ้มน้อย ๆ เมื่อเขาหันหน้าไปมองถนน...

ฝ่ายมงคล พอจะเดินผ่านโรงเรียนสอนเสริมสวยก็นึกขึ้นมาได้ว่า ตอนนี้เขากำลังหลบหน้า ‘มาลา’ อยู่ คิดได้ดังนั้นเขาก็รีบเดินข้ามถนนแล้ววิ่งกลับบ้านทันที...

มาลาที่เห็นตั้งแต่มงคลเดินมาร้านเจ๊หุย ยืนมองมงคลที่เดินข้ามถนนแล้วรีบสาวเท้ากลับไปยังบ้านตัวเอง ก็สูดลมหายใจเข้าปอดไล่ความน้อยใจ แต่มันก็อยากจะไล่สำเร็จ เพราะตั้งแต่ ‘เสียสาว’ ให้เขาไป เขาก็เปลี่ยนเป็นมงคลคนใหม่ทันที และถ้าเดาไม่ผิด ‘เหยื่อ’ รายใหม่ของเขาก็คงจะเป็น ‘วรรณา’ เด็กในร้านตัดผ้า...มาลาเห็นเขามาหาวรรณาหลายครั้งหลายหนแล้ว...แต่ไม่รู้ว่าวรรณานั้นติดกับดักของเขาเหมือนกับเธอหรือยัง...ถ้ายัง มาลาก็นึกอยากจะเตือนไว้

บอกกล่าวขออนุญาตเจ๊หุยแล้ว วรรณาก็เก็บกระเป๋าเดินออกจากร้าน จุดหมายคือ ท่าเรือข้ามฟาก เพื่อไปยังสถานีรถไฟปากน้ำโพ...แต่พอเดินผ่านโรงเรียนสอนเสริมสวย วรรณาก็ต้องชะงักเท้าเพราะเสียงเรียก พอหันไปคนเรียกที่หน้าตาสะสวยเพราะการเสริมแต่งตามประสาเด็กที่อยู่ในร้านเสริมสวยอยู่กับกระจกทั้งวัน...วรรณาก็ย่นหัวคิ้ว...

“รู้จักเราด้วยเหรอ”

“รู้ซิ...” มาลานั้นเพิ่งมาอยู่ วรรณาเองก็ไม่ค่อยออกจากร้านไปไหน ๆ ไม่ค่อยเสวนากับใคร เจ๊หุยนั้นพยายามบอกกับวรรณาว่าอาชีพอย่างเราๆ นั้น การคบค้าสมาคมกับพวกผู้หญิงด้วยกันเป็นเรื่องสำคัญ เพราะถ้าคุ้นเคยกันแล้ว วันหนึ่งเขาก็จะมาเป็นลูกค้าของเรา...วรรณาได้แต่นิ่งฟังทฤษฎีเรื่องทำมาค้าขายเงียบ ๆ เช่นเดิม

“เราชื่อมาลา มาจากเขากะลา”

“แล้วเธอรู้จักชื่อเราได้ไง แล้วมีอะไรกับเรารึเปล่า”

“เมื่อกี้เฮียสี่มาหาเธอเหรอ...”

“อืม...มาหาเรา”

“ธุระอะไรล่ะ พอบอกได้ไหม”

วรรณารู้สึกว่า มาลากำลังละลาบละล้วง กับเดาได้ว่า ‘เฮียสี่’ คงจะมาโปรยเสน่ห์กับมาลาไว้เป็นแน่ สาวเจ้าถึงได้มาไล่เบี้ยเอาคำตอบจากตน...แม้น้ำเสียงนั้นจะยังลื่นหู วรรณาก็เดาอารมณ์ของคนพูดได้ไม่ยาก...

“บอกได้...พี่สาวฉัน กับพี่ชายเขา เป็นผัวเมียกันน่ะ เขาไปบ้านที่ชุมแสงมา ก็เลยเอาข่าวจากพี่สาวมาบอก แค่นี้แหละ ไม่มีอะไรหรอก”

“ไม่มีอะไรแน่นะ”

วรรณาไหวไหล่ เพราะบริสุทธิ์ใจ แต่ถ้าหงอ ๆ ก็ไม่ใช่วรรณาหรอก..

“ไม่มีอะไรจริง ๆ แล้วมีอะไร จะถามอีกไหม เราจะรีบไปรอรถไฟ เราจะไปชุมแสง”

“แล้วไปด้วยกันหรือเปล่า”

“ไปคนเดียว...ไปละ” วรรณาตัดบท แล้วผละเดิน แต่แล้ววรรณาก็ชะงักเท้า เมื่อได้ยินมาลาพูดตามหลังมาว่า

“กับเฮียสี่ ระวังตัวไว้บ้างนะวรรณา เตือนเพราะหวังดีหรอก ไม่อยากให้น้ำตาเช็ดหัวเข่า”

วรรณาเบะปาก แล้วหันมาบอกว่า “ขอบใจที่หวังดี...ไปละ”

*****************

ลงจากรถไฟวรรณาก็นั่งรถจักรยานสามล้อไปยังโรงสีทันที พอไปถึงวรรณาก็เห็นว่า คนงานกำลังจะแยกย้ายกันกลับบ้าน วรรณายกมือไหว้ประสงค์ เขารับไหว้ บอกธุระของตนแล้ววรรณาก็ขอตัวไปหาเรณู

พอเห็นน้องสาวเดินมา เรณูที่นั่งกวนขนมหมอแก้งอยู่ก็ยิ้มให้ วรรณายกมือไหว้...

“ลมอะไรหอบแกมาในเวลานี้”

“ก็พี่สั่ง สี่ไป ให้หนูมาหาไม่ใช่รึ”

“ก็ทำไมไม่มาตอนเช้าล่ะ ถ้ารถไฟเกิดเสียเวลา มาถึงนี่มืดค่ำ ๆ มันอันตรายนะแก”

“อยากได้เงินเร็ว ๆ น่ะ...เอ๊ะ...มีทองเส้นเบ้อเริ่มเทิ่มใส่ซะด้วย แสดงว่าขายขนม ได้กำไรดี” พอน้องสาวทักอย่างนั้น ทักเหมือนที่ใครหลายๆ คนทัก โดยเฉพาะพิไล ซึ่งทักไว้เมื่อตอนเช้าว่า ‘เอ๊ะ ทองนี่ยังไม่ได้คืนเจ้าของเขาอีกรึ’

‘ถ้าคืนแล้วจะอยู่บนคอนี่รึ’ ย้อนพิไลกลับไปอย่างนั้นเพราะรู้สึกว่าพิไลชักจะดูเดือดร้อนกับเรื่องของตนจนออกนอกหน้าเสียแล้ว... เพราะตอนที่เรณูเอาทองไปคืนนางย้อย นางย้อย บอกกับเรณูว่า...

‘ทองแค่สามบาทเธอรับไว้เถอะ ฉันมาทบทวนดูแล้ว แต่งพิไลให้อาตง แต่งเพียงเพ็ญให้อาซา เสียไปมากกว่านี้อีก เธอก็เป็นสะใภ้ฉันคนหนึ่ง แถมเป็นสะใภ้ใหญ่ด้วย ฉันควรจะให้อะไรกับเธอบ้าง แล้วเรื่องทอง ฉันก็บอกกับเตี่ย กับอาใช้มันแล้ว ว่าจะยกให้เธอเลย มันก็ดีใจไปแล้ว ว่าฉันเมตตาเธอ ฉันคงไม่รับคืนแล้วหละ เก็บไป พยายามรักษาไว้ให้ถึงที่สุด ทองแต่งงานน่ะ มันเป็นสมบัติชิ้นแรกของผู้หญิงที่ออกเรือนมาอยู่กับผัว เก็บรักษาเอาไว้ส่งต่อให้ลูกสาว หรือลูกสะใภ้คนโต...รู้ไหม’

เห็นว่าเหตุผลที่ทำให้ใจรู้สึกตื้นตันเข้าที เรณูจึงยินดีรับทองไว้

แต่ช่วงบ่ายของวันที่ปฐมกลับตาคลี เรื่องไม่ได้จบแค่เรื่องทองสามบาท ยังมีเรื่อง เซ้งร้านเปิดร้านขายผ้าตัดผ้าที่นางย้อยเปิดอกคุย

‘ฉันมาคิด ๆ ดู แล้วก็ปรึกษากับเตี่ย กับ อาใช้แล้วเหมือนกัน ฉันจะเปิดร้านขายผ้าให้เธออย่างที่เธออยากได้ เธอจะได้ไม่ต้องมาตากหน้า นั่งหลังหาบ หาบขนมขายไปตามบ้าน แต่ว่าไอ้งานพวกนี้ ไม่ใช่ว่าฉันไม่เคยทำ ทำกันมาหนักกว่านี้อีก แต่ว่ายุคสมัยมันเปลี่ยนไปแล้ว ฉันเดินมาถึงจุดนี้แล้ว ก็ไม่อยากเห็นเธอกลับไปเริ่มต้นใหม่แบบนั้น ให้คนอื่นเอาฉันไปนินทาลับหลัง...นี่ฉันก็สั่งอาสี่มันไปแล้วว่า ให้ไปบอกน้องสาวเธอให้มาหาหน่อย อยากคุยด้วยและก็อยากเห็นฝีมือให้มากกว่านี้ นอกจากเสื้อผ้าผู้ใหญ่ เสื้อผ้าผู้หญิงแล้ว น้องเธอมันน่าช่วยตัดชุดเด็กนักเรียนได้อีก ตัดโดยไม่ต้องรอให้ลูกค้ามาสั่งให้ตัด แต่ตัดรอไว้เลย เพราะต่อไปเด็ก ๆ มันก็ต้องเข้าเรียนกันทุกคน...แล้วก็จะมีเด็กอีกไม่น้อยที่จะได้เรียนต่อจนจบ มศ.3 มศ.5 ทีนี้แม่มันพามาตัดชุดนักเรียน ก็จะได้เห็นว่า ร้านเธอมีทุกอย่างครบหมด...ไม่ต้องไปที่ไหน

ตอนนี้ฉันกำลังดู ๆ ร้าน ดูทำเลให้อยู่นะ ถ้าไม่เซ้งต่อ เช่าเขาทำ ก็จะซื้อเลย...เพราะบางที ฉันอาจจะต้องย้ายไปอยู่ด้วย แต่เรื่องย้ายหรือไม่ย้าย ยังไม่ได้สรุปหรอกนะ ไม่ต้องกังวลไป แต่ก็ต้องบอกไว้ก่อน เพราะใจหนึ่ง ฉันก็อยากพาเตี่ยกลับไปอยู่ตึกที่ปากน้ำโพ ไปค้าขายก๊อก ๆ แก๊ก ๆ แก้เบื่อในบั้นปลาย เพราะถ้ายังอยู่ที่นี่ เตี่ยก็คงไม่ทิ้งงานโรงสี งานเลี้ยงหมูได้หรอก แต่ต้องดูก่อนว่าอาใช้ปลดทหารกลับมาแล้ว มันจะดูแลโรงสีได้ดีแค่ไหนเหมือนกัน ทุกอย่าง มันยังถือว่าเป็นแค่แผนชีวิต...’

ตอนนั้นเอง ที่เรณู รู้แล้วว่า ที่เขาว่ากันว่า นางย้อยมีหัวในทางค้าขาย ไม่เป็นสองรองใครนั้นเป็นอย่างไร...แต่งานนี้ เรณูก็คิดว่า อย่างไรพิไลก็ต้องโดดขวางแน่ ๆ...

เพราะที่นางย้อยให้เธอกับปฐมนั้น นอกจากให้เพราะเหมาะสมแล้ว เรณูรู้อยู่แก่ใจว่า นางย้อยให้เพราะฤทธิ์ของคุณไสยด้วย เรณูจึงกลัวว่าวันหนึ่งความลับแตก หรือมีใครหาทางแก้ไขของสกปรกได้สำเร็จ วิมานที่นางย้อยประเคนให้มาอย่างไม่ได้คิดฝันไว้ก่อนนี้จะพังทลายไปกับตา...อาการดีใจ สาแก่ใจ ยามเมื่อเห็นพิไลเริ่มร้อนรนเพราะกำลังเห็นคนอื่นได้ดีเกินหน้า จึงถูกกระตุกเบาๆ

...เมื่อเช้าเรณูจึงต้องบอกกับพิไลไปอีกประโยค ‘ทองนี่บอกเลยก็ได้...ตอนแรกม้าแค่ให้ยืมมาใส่กันอายน่ะ แต่ตอนนี้ ม้าเขาบอกว่า ให้เลย เพราะ ตอนแต่งเธอกับอาตง เธอก็ได้ไปเยอะแล้ว แต่งเพียงเพ็ญไปเมื่อวันก่อนก็ได้ไปไม่น้อยเหมือนกัน ฉันก็สะใภ้เหมือนกัน ม้าบอกว่า ก็เลยต้องให้ติดตัวไว้บ้าง ไม่อยากให้ใครมาว่าลับหลังว่าเป็นคนลำเอียง’

‘อย่างนั้นหรอกรึ’ พิไลพูดแค่นั้นแล้วก็เดินหน้าบึ้งกลับเข้าร้าน ไม่ช่วยอุดหนุนขนมเหมือนเคย...



“เอ้า ถามก็ไม่ตอบ ใจลอยไปไหนเจ๊” เสียงของวรรณาทำให้เรณูที่ตกภวังค์ได้สติ...

“แกถามอะไรนะ”

“หนูถามว่า ขายขนมได้กำไรดีใช่ไหมถึงมีเงินซื้อทองใส่ หรือว่า ผัวพี่ซื้อให้”

“แม่ผัวให้มาน่ะ”

“อะไรนะ!”

“ฟังไม่ผิดหรอก แม่ผัวเขาเมตตาให้มา...พี่ไปช่วยเขาทำขนมขันหมากให้อาซาน่ะ เขาเห็นคอโล่ง ๆ ก็เลยสงสาร”

“เกิดอะไรขึ้น จู่ ๆ ทำไม กลับมาดีกับพี่ขนาดนี้”

พอได้ยินคำถามเรณูที่รู้อยู่แก่ใจ ว่าทำอะไรลงไป ได้แต่ส่ายหน้าเบา ๆ เหมือนกับตอนที่คนอื่น ๆ รู้เรื่องเข้า แล้วก็ถามคำถามนี้...แต่เมื่อทำไปแล้ว แล้วมันก็กลายเป็นดีมาจนถึงขนาดนี้ เรณูจะย้อนกลับไปแก้ไขอะไรได้อีก ที่จะทำได้ ก็คือทำความดีชดเชยหักล้างกับความผิดที่ได้ทำลงไป...เพราะวันหน้าหากความจริงถูกเปิดเผย เผื่อโทษหนักจะกลายเป็นเบาลงมาบ้าง

************************************


Title: Re: กรงกรรม บทประพันธ์ของ จุฬามณี
Post by: นักประพันธ์ on 02 March 2020, 11:17:21
ตอนที่ 25 : แบ่งสันปันส่วน


            ๒๕


พอประสงค์มารับพิไลกลับบ้าน นางย้อยก็เรียกทั้งประสงค์และพิไลมานั่งคุยที่โต๊ะบัญชี...

“มีอะไรหรือม้า” พิไลทรุดตัวลงนั่งแล้ว ประสงค์ก็เอ่ยถาม

“มีเรื่องจะบอกไว้....เรื่องแรก ก็เรื่องทองที่ม้าให้เรณูมันไปสามบาท...ม้าให้มันไปเพราะมันก็ลูกสะใภ้ม้าคนหนึ่งเหมือนกัน ถ้าไม่ให้อะไรมันเลย คนอื่นก็จะว่าม้าเอาได้...”

“ครับ” ประสงค์รับคำว่า รับทราบ เข้าใจ แต่อารมณ์ขุ่นข้องหมองใจ ไม่พอใจ ไม่เข้าใจ และริษยา ทำให้พิไลปั้นหน้าให้เป็นปกติได้ยาก หญิงสาวไม่พูดอะไร ได้แต่เชิดหน้าขึ้น ฟังความต่อ...เพราะวันนี้ ตอนที่ลูกค้าซา ๆ นางย้อยก็ล็อกเก๊ะ กันเงินทอนใส่ตะกร้าไว้ให้ส่วนหนึ่งแล้วก็บอกว่าจะออกไปธุระ...ธุระของนางย้อยนั้นคือไปคุยกับเจ้าของห้องแถวที่อยู่ในซอยขายแต่เสื้อผ้า พิไลเดาได้ว่า ธุระของนางย้อยก็คงไม่พ้นเรื่องร้านใหม่ของเรณูซึ่งมีเสียงซุบซิบสะท้อนกลับมาเข้าหูพิไลแล้ว

“ลื้อล่ะ อาพิไล รู้สึกอย่างไรกับเรื่องนี้”

“ก็ทองเป็นของม้า ม้ามีสิทธิ์จะให้ใครก็ได้นี่...จ๊ะ”

“เข้าใจอย่างนั้น ม้าก็สบายใจ อีกเรื่อง ก็เรื่องอาเรณู เรื่องนี้ม้าเคยพูดกับอาตงไปบ้างแล้ว แต่คราวนี้จะพูดต่อหน้าพิไลด้วย เพราะถือว่าเป็นคนบ้านเดียวกัน จะได้เข้าใจตรงกัน...”

พิไลยืดอกตั้งใจฟัง...โดยใจก็นึกขุ่นมัวเพิ่มมากขึ้น เพราะ สามีของเธอรู้เรื่อง แต่ไม่ยอมแพร่งพรายให้เธอรู้อะไรเลยสักนิด...ก็ใช่นะซิ เธอมันก็แค่ ลูกสะใภ้ อย่างไรมันก็เป็นคนอื่น...

“พออาซามันไปอยู่ฆะมังแล้ว ตอนแรกม้าจะให้เรณูมันเลิกทำขนมขาย มาช่วยงานที่ร้านแทนอาตงที่ต้องไปอยู่แทนอาซา รอให้อาใช้มันปลดจากทหารมา...แต่มาคิด ๆ ดูแล้ว เห็นเรณูมันสนใจเรื่องเสื้อผ้า แล้วมันก็มีน้องสาวเรียนตัดผ้าอยู่แล้ว ม้าก็เลยต้องเปลี่ยนแผน...”

พิไลเริ่มรู้สึกหายใจไม่สะดวก...

“ม้าจะหาเซ้งร้านให้มันเปิดร้านขายเสื้อผ้า รออาใช้น่ะ”

“ม้าจะลงทุนให้ซ้อเขาเหรอ” พิไลรีบถาม

“มันบอกม้าว่า มันพอมีเงินอยู่บ้าง”

“มี แล้วทำไมไม่ซื้อทองใส่เองล่ะ”

“มันคนละเรื่องกับทอง ทองนั้นม้าเต็มใจให้มันเอง ให้เพราะมันก็เป็นสะใภ้ งานแต่งมัน ก็ไม่ได้จัดใหญ่โตเหมือนคนอื่น สินสอดก็ไม่ได้เสียให้มันมากมาย เหมือนคนอื่น”

พิไลรู้ว่านางย้อยว่ากระทบตน อารมณ์จึงเดือดพล่านขึ้น จนต้องย้อนกลับไปด้วยเสียงห้วน ๆ ว่า

“ก็เขาเข้ามาอย่างไม่ถูกต้อง เขาก็ไม่ควรจะได้รับอะไรอย่างที่คนอื่นได้ ก็ถูกต้องแล้วนี่ม้า...”

ประสงค์เห็นว่าพิไลจะพูดมากจึงใช้ศอกกระทุ้งเบา ๆ นางย้อยเห็นอาการของลูกชายเป็นดังนั้นก็พูดต่อว่า

“เอาตรง ๆ เลยก็ได้ ลื้อสองคนแต่งงานกัน ได้บ้านไปแล้ว อาใช้ มันยังไม่มีเรือนหอ ถ้ามันมาอยู่ที่นี่ บ้านก็คับแคบ แล้วอีกอย่าง อนาคตร้านนี้บ้านนี้ ก็จะต้องเป็นของลื้อสองคน เพราะฉะนั้น ม้าก็จะต้องหาที่อยู่ไว้รออาใช้มันด้วย เรื่องสำคัญอีกเรื่อง ที่อาเรณูไปหาบของขายแบบนั้น คนอื่นก็เอาเตี่ยเอาม้าไปนินทา พวกแกก็รู้ ก็ได้ยินไม่ใช่รึ ให้มันขายผ้ารอผัวมันกลับมา น่าจะดีที่สุด”

“ผมเข้าใจม้า”

“แล้วม้าจะเปิดร้านให้ซ้อเมื่อไหร่” พิไลถามแทรกอีก

“ก็อีกสักพัก แต่ต้องบอกพวกลื้อให้เข้าใจก่อน เดี๋ยวจะมาหาว่าม้าไม่ยุติธรรม”

“แล้วถ้าเฮียใช้กลับมาจากทหาร ม้าก็จะให้เฮียตงกลับมาช่วยที่ร้านอย่างนั้นใช่ไหม...”

“ก็ต้องเป็นอย่างนั้น”

“แล้วม้าก็จะตั้งเงินเดือนให้กับเฮียใช้เหมือนที่ตั้งให้เฮียตงใช่ไหม”

“พิไล” ประสงค์ปรามเมียเบา ๆ

“ใช่ อาตงกับอาใช้ ม้าจะให้เงินเดือนเท่า ๆ กัน ส่วนของพวกลื้อสองคนถ้ามีลูกมีเต้าเพิ่มมา ม้าก็จะเพิ่มเงินเดือนให้อีก แต่ตอนนี้เอาไปเท่านี้ก่อน”

“ก็เท่ากับว่าตอนนี้ม้าจะลงทุนให้อาซ้อเขาไปเลยน่ะซิ ทำได้เท่าไหร่ อาซ้อก็ได้ไปเต็ม ๆ หนูว่า มันไม่ยุติธรรมกับพวกหนูสองคนนะม้า...”

“พิไล” ประสงค์เสียงดังขึ้นกว่าเดิม แต่พิไลหาได้สนใจ

“จะได้กำไรหรือขาดทุนยังไม่รู้หรอกพิไล เพราะมันเป็นร้านที่เพิ่งเปิดใหม่ แล้วซอยนั้นน่ะ ร้านขายผ้ามีเป็นสิบยี่สิบร้าน มันก็ถือว่ายังเสี่ยงอยู่...แต่ถ้ามันขยัน มีหัวเอาตัวรอดไปได้ ก็ต้องยอมให้มันไปบ้าง...แล้วมันก็ไม่ใช่ใครที่ไหน มันก็เป็นคนในบ้านแบ้คนหนึ่ง มีศักดิ์ มีสิทธิ์ มีเสียงเป็นลูกม้าคนหนึ่งเหมือนกัน...”

“เหมือนจู่ ๆ เข้ามาชุบมือเปิบมากกว่า”

“หรือว่าลื้อจะให้มันมารับจ้างทำงานอยู่ที่นี่เหมือนกับลื้อเอาไหมล่ะ เป็นสะใภ้เหมือนกัน กินเงินเดือนเท่ากัน”

เมื่อถูกนางย้อยย้อนกลับมาอย่างนั้น พิไลที่คิดสะระตะได้เร็วพอ ก็เสียงอ่อยว่า

“เอาอย่างที่ม้าคิดไว้แต่แรกนั่นแหละ ไปอยู่ตรงนั้นแหละดีแล้ว ที่นี่คนเยอะ เข้ามาก็วุ่นวายเกะกะกันเปล่า ๆ"

นางย้อยยิ้มน้อย ๆ ที่อ่านใจของพิไลออก แต่พิไลก็ยังไม่วายใคร่รู้ความในใจของนางย้อย

“แล้วอาซาล่ะ อาซาแต่งไปแล้ว ม้าจะให้อะไรอาซา”

“อาซาน่ะรึ ถ้ามันอยู่กับเมียมันได้ตลอดรอดฝั่ง ม้าก็จะยกที่นาที่บ้านดอนให้มันบ้าง เพราะมันก็ทำงานช่วยม้ามานาน ส่วนอาสี่ต้องดูสถานการณ์ไปก่อนเพราะมันยังเรียนไม่จบ อนาคตมันยังไม่แน่นอน”

“แล้วโรงสี ม้าก็จะยกให้เฮียใช้คนเดียวใช่ไหม”

“ยัง...ยังไม่ยกอะไรให้ใครทั้งนั้น...เพราะตราบใดที่เตี่ยพวกลื้อยังทำงานงก ๆ ม้ายังทำงานไม่ได้หยุด เงินที่หามาได้ยังจะต้องเป็นเงินกองกลางอยู่...”

พิไลนิ่งเงียบ นางย้อยจึงพูดต่ออีกหน่อยว่า “ลื้อไม่ต้องกลัวว่าม้าจะลำเอียงหรอกพิไล ม้าเคยเป็นสะใภ้คนจีนที่มีลูกชายเป็นโขยงมาก่อน ม้ารู้ว่าพ่อแม่ที่ดี ควรจะทำอะไร ตอนไหน ถึงจะไม่เป็นพ่อแม่ที่ไม่ถูกลูก ๆ เอาไปว่าลับหลังได้...”

***************

ออกมาจากร้านของนางย้อย พิไลก็ชวนประสงค์แวะกินก๋วยเตี๋ยวราดหน้า...ระหว่างที่นั่งรออาหาร ประสงค์ขอตัวไปดูหนังสือ พิไลเห็นเรณูเดินมากับวรรณา ตาสองคู่สบกัน แล้วพิไลก็เป็นฝ่ายเบือนหน้าหนี เรณูเห็นดังนั้นก็ยิ้มเย็นก่อนพาน้องสาวเดินเข้าไปหา ทำเหมือนไม่เห็นสีหน้าและอากัปกิริยาเช่นนั้น...

“อาซ้อ นี่วรรณาน้องสาวฉัน วรรณานี่อาซ้อรอง ชื่อพิไล” เรณูเป็นฝ่ายแนะนำทั้งสองให้รู้จักกัน วรรณายกมือไหว้ พิไลรับไหว้แบบขอไปที...หน้าตายังคงไม่บึ้งตึงบ่งบอกอารมณ์ วรรณาเห็นดังนั้น จึงคิดว่า ถ้าเท้าความว่า จริง ๆ แล้วเธอเคยเจอพิไลตอนไปรับชุดเจ้าสาวก็คงเปล่าประโยชน์ วรรณาลดมือแล้วก็ยืนนิ่ง ปล่อยให้เป็นเรื่องของเรณูไป

“หน้าตาไม่ดีเลย เป็นอะไรรึเปล่า”

“มีเรื่องหงุดหงิดนิดหน่อย” ยิ่งเห็นทองคำที่คอเรณู ใจพิไลก็ยิ่งขุ่น...แม้เหตุผลของนางย้อยจะเข้าที แต่จู่ ๆ คนขี้งกเขี้ยวลากดินอย่างนางย้อยยอมเสีย ‘ทอง’ ทั้งที่ไม่ใช่เรื่องจำเป็นจะต้องเสีย มันเป็นเรื่องผิดวิสัยนางย้อยเป็นอย่างมาก...

“เรื่องอะไรรึ”

“เรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ น่ะ จู่ ๆ มันก็มีมือดีมาชุบมือเปิบ ทั้งที่ไม่ได้ทำอะไรเลย อาซ้อว่ามันน่าเจ็บใจไหมล่ะ”

เรณูยืนอึ้ง พิไลเห็นดังนั้นจึงเหยียดริมฝีปากแล้วรีบเปลี่ยนเรื่อง “แล้วนี่ จะไปไหนกัน”

“พานังวรรณามาหาข้าวกิน”

“ปกติก็เห็นหุงกินเองไม่ใช่รึ”

“นาน ๆ น้องจะมาหาสักที ก็อยากพาออกมาเปิดหูเปิดตามั่ง”

“ต่อไป ก็จะมาอยู่ด้วยกันแล้วนี่...”

“รู้แล้วรึ”

“รู้แล้ว ม้าบอกตะกี้นี้เอง หวังว่าคงจะขนมาแค่น้องสาวคนนี้นะ ไม่ใช่ตามกันมาอีกเป็นโขยงล่ะ” พิไลทำเสียงดูแคลน เรณูจึงเข้าใจได้ทันทีว่าพิไลอารมณ์บูดหน้าบึ้ง ด้วยเรื่องอะไร แต่เรื่องจะยอมให้แขวะอยู่ฝ่ายเดียวก็เห็นจะไม่ใช่ ‘อีเรณู’ ซะละ

เพราะเมื่อลึก ๆ ก็ไม่ได้อยากญาติดีด้วยอยู่แล้ว มีโอกาสเปิดหน้าทำศึกกันซะ มันก็น่าจะสนุกอยู่ไม่น้อย เพราะตอนนี้นางย้อยก็มาเป็น ‘พวก’ของตนแล้ว

“ถ้าจะขนมากันเป็นโขยง ก็เพราะที่ชุมแสงมันหาอยู่หากินง่ายหรอก รึไม่จริง”

“จริง แต่ก็น่าจะยากกว่าที่ตาคลีนะ เพราะมาอยู่ชุมแสงต้องหาบต้องคอน ไม่มีช่องทางหากินแนวนอนเหมือนที่นั่น”

เห็นท่าไม่ดี วรรณาจึงจับแขนพี่สาวเป็นเชิงปราม “ไปเถอะพี่เรณูฉันหิวแล้ว...”

แต่เรณูอารมณ์ขึ้นเสียแล้วจึงปัดมือของวรรณาออกแล้วพูดเสียงห้วนว่า...

“กูอยากกินราดหน้า...พิไลขอนั่งด้วยนะ” ว่าแล้วเรณูก็ทรุดตัวลงนั่ง แล้วก็บอกกับวรรณาว่า “มึงก็นั่งซิ”

พิไลเห็นดังนั้นจึงหันไปบอกกับอาเฮียเจ้าของร้านว่า “เฮีย ของอั๊วสองจาน เปลี่ยนเป็นใส่ห่อนะ”

“อั๊วทำเสร็จแล้ว จะยกไปให้พอดีเลย...”

“ถ้างั้นเฮียเอามาให้หนู” เรณูรีบบอกไป โดยตั้งใจจะไม่ให้พิไลเปลี่ยนใจ...

พิไลหันมาถลึงตาให้ เรณูจึงบอกว่า “ขอบใจที่ไม่ต้องให้รอนานนะ...”

พิไลลุกออกจากโต๊ะไปยืนรอราดหน้าที่หน้าเตา พอได้แล้วก็เดินไปหาประสงค์ที่ร้านหนังสือ....ประสงค์มองมาทางร้านราดหน้าก็เห็นว่าโต๊ะที่พิไลนั่งอยู่ก่อน มีเรณูกับน้องสาวนั่งอยู่...เขาจึงพูดว่า

“นั่นอาซ้อนี่...ทำไมไม่นั่งกินซะด้วยกัน”

“เห็นหน้ามันแล้วกินไม่ลง” ว่าแล้วพิไลก็ผละเดินนำกลับบ้าน ประสงค์ถอนหายใจออกมา แล้วเดินตามพิไลไป...

พอเดินตามกันมาทัน ประสงค์ก็ถามพิไลว่า “มีอะไรกันรึ”

“ถ้าฉันอยากมี เฮียก็คงไม่อยากให้มีหรอก ใช่ไหม”

“มีอะไรก็พูดมา”

“เห็นหน้ามันแล้ว หมั่นไส้น่ะ ...เฮีย ฉันว่านะ เรื่องนี้มันจะต้องมีอะไรอยู่เบื้องหลังแน่ ๆ”

“เรื่องอะไร”

“เรื่องม้ากับอีเรณูไง”

“ทำไมไปเรียกเขาแบบนั้น”

“ก็คนมันเกลียดขี้หน้า ทำไมจะเรียกไม่ได้”

ประสงค์เดาใจได้ว่า ทำไมพิไลถึงได้เกลียดเรณู...เพราะถ้าไม่มีเรณูเป็นมือที่สาม ปีหน้าตำแหน่งสะใภ้ใหญ่ก็จะเป็นของพิไล...แม้จะเข้าใจ แต่ประสงค์ก็รู้สึกน้อยใจว่าเมียของตนยังลืมเรื่องที่ผ่านไปแล้วไม่ได้ เขายืนเงียบ...พิไลเห็นดังนั้นจึงบอกว่า

“คงไม่ต้องให้ฉันอธิบายนะว่า ทำไมฉันถึงเกลียดมัน” ว่าแล้วพิไลก็ผละเดินต่อไปสองเก้า แล้วก็ชะงักเท้า...

“อ้อ ลืมไป เฮีย มีคนเคยบอกกับฉันว่า ก่อนหน้านั้นน่ะ ที่เฮียใช้ เป็นอย่างนี้ ก็เพราะ อีเรณูมันทำเสน่ห์ยาแฝดใส่ มันใช่เรื่องจริงหรือเปล่า”

“ใครบอก”

“ฉันรู้ก็แล้วกัน...ใช่ไหม” พิไลไม่ยอมบอกว่า บุญปลูกเป็นคนเล่าเพราะไม่อยากให้บุญปลูกมาเดือดร้อนทีหลัง

“เฮียไม่รู้...”

“เฮียรู้เรื่องในบ้านเฮียทุกเรื่องแหละ แต่เฮียเลือกที่จะปิดบังฉัน เฮียไม่เคยเห็นฉันเป็นคนในบ้าน...เฮียเห็นฉันเป็นคนอื่นอยู่ตลอดเวลา ทั้งที่ฉันเป็นเมียของเฮีย...”

“ชักจะไปกันใหญ่แล้ว”

“เรื่องทองที่คออีเรณู เฮียรู้ว่าม้าให้มันไป เฮียก็เงียบ เรื่องที่ม้าจะโยกมันมาทำงานในร้านแทนเฮีย เฮียรู้ เฮียก็ไม่คิดจะบอกฉัน รวมถึงเรื่อง ที่ม้าจะไปเซ้งร้านนี่อีก...เฮียรู้ก่อนแล้ว แต่เฮียก็ไม่พูดให้ฉันฟัง เฮียไม่เห็นฉันเป็นเมีย เป็นคู่คิด เฮียเห็นฉันเป็นคนนอกบ้าน ฉันพูดถูกไหมล่ะ”

ประสงค์ถอนหายใจอย่างแรงเพราะ ไม่รู้จะแก้ตัวอย่างไร...

“บอกไว้เลย ถ้าเฮียรู้เห็นอะไรไม่ชอบมาพล แล้วเอาแต่เงียบ ไม่ปรึกษาฉัน ต่อไปเฮียนั่นแหละ จะไม่เหลืออะไรเลย”

“ไม่เหลืออะไรได้ไง ม้าก็บอกไว้แล้วว่าร้านนั้นจะเป็นของเรา”

“แต่ถ้าเทียบกับโรงสี ที่ไหนมีค่ามากกว่ากัน ที่ดินที่โรงสีตั้งเท่าไหร่ เฮียคิดบ้างไหมว่า ที่ตกปากรับคำจะยกให้เรามันก็แค่ส่วนน้อย... แล้วแม่เฮียน่ะ ไม่โง่หรอก ดีไม่ดีอาจจะเล่นตุกติก ยกร้านนี้ให้เราจริง แต่ก็อาจจะไปเปิดร้านใหม่แข่งกับเราแล้วก็ดึงลูกค้าเก่าไปจนหมด เงินอยู่ในมือ ม้าจะทำอะไรก็ได้...”

“ม้าไม่ทำอย่างนั้นหรอก”

“ฉันก็พูดไว้ก่อน เฮียอย่าลืมว่า อย่างไรเฮียก็เป็นแค่ลูกชายคนรอง ไม่ใช่ลูกชายคนโตของม้า ปากก็ว่ารักลูกเท่ากันทุกคน แต่คนจีนน่ะ ลูกชายคนโตเป็นคนโปรดมีอะไรก็ถวายหัวให้หมด”

ประสงค์ส่ายหน้าเบา ๆ พิไลสูดลมหายใจเข้าปอด แล้วก็บอกว่า

“อีกเรื่องที่ฉันสงสัย ก็คือ ทำไม ม้าถึงได้เปลี่ยนไปได้ถึงเพียงนี้ งานนี้มันจะต้องมีอะไรอยู่เบื้องหลังแน่ ๆ”

“เบื้องหลังอะไร”

“เสน่ห์เล่ห์กลไง ถ้ามันเคยทำกับเฮียใช้ได้ มันก็ทำกับม้าได้”

“คิดมากน่า อาซ้อเขาจะทำอย่างนั้นไปทำไม”

“ทำแล้วมันได้อะไรบ้าง เฮียก็เห็นอยู่”

ประสงค์ส่ายหน้าเบา ๆ แสดงอาการไม่เชื่อในข้อสงสัยของพิไล...

“คอยดูก็แล้วกันว่าฉันคิดผิดหรือคิดถูก” ว่าแล้วพิไลก็หมุนตัว แล้วเดินนำประสงค์กลับบ้านไป โดยใจก็ครุ่นคิดหาวิธีการตามหาความจริงในเรื่องที่สงสัยนี้ จนกินราดหน้าที่ซื้อไปไม่ลง...

*************

“พี่ก็ไม่น่าไปชวนเขาทะเลาะ” วรรณารู้สึกใจคอไม่ดีจึงได้ท้วงขึ้น...

“ทะเลาะอะไรกัน ก็แค่คุยกันตามประสา คนมีแม่ผัวคนเดียวกัน...”

“ถ้าคุยกันดี ๆ แล้วเขาจะลุกหนีไปแบบนั้นเหรอ”

“คนมันขี้อิจฉาริษยาน่ะ มันไม่อยากเห็นใครได้ดีเกินหน้ามันหรอก แกรู้ไหม อีนี่มันเหลี่ยมจัดแค่ไหน พอมันพลาดจากเฮียใช้แล้ว มันก็ยึดทองหมั้นของเฮียใช้ แต่งกับอาตงมันก็ขอทองหมั้นใหม่ แล้วตอนจัดงานแต่ง มันก็เรียกร้องนั่นนี่ไปไม่ใช่น้อยเลย มันเห็นกูขายขนมอยู่ในตลาดเช้า มันก็แต่งตัวสวยงามเดินมาข่ม ให้คนทั้งตลาดเห็นว่าพี่มึงเป็นได้แค่แม่ค้านั่งอยู่กับหาบไม่มีทางได้เป็นเถ้าแก่เนี๊ยอยู่ในร้านอย่างมันหรอก ทั้งที่ความจริง กูน่ะเป็นสะใภ้ใหญ่...”

“แต่พี่อย่าลืมว่าพี่แย่งแฟนเขามานะ”

“อีวรรณา!”

“ก็เขาหมั้นหมายกันมาก่อนไม่ใช่รึ”

“ผู้ชายน่ะ มันใกล้ไหน มันก็ต้องกินนั่น มันได้พี่มึงเป็นเมียแล้ว มึงจะให้มันทิ้งกู มาแต่งกับมันรึไง แล้วตอนมันจะเอากู มันก็ไม่ได้บอกกับกูนี่ ว่ามันมีคู่หมั้นคู่หมายแล้ว...”

“ถ้าบอก แล้วพี่จะไม่เล่นด้วย ว่างั้นเถอะ”

เรณูยกไหล่เป็นคำตอบ

“คิดแล้วปวดหัว...นี่ฉันชักไม่อยากมาอยู่กับพี่แล้วซิ”

“ถ้าอยากเป็นขี้ข้าเขาทั้งชาติ มึงก็ไม่ต้องมา กูขายคนเดียวได้ ช่างตัดผ้า กูหาเอาแถวนี้ได้” ว่าแล้วเรณูก็ตักราดหน้าเข้าปาก วรรณามองพี่สาวแล้วถอนหายใจอย่างแรง เรณูมองหน้าน้องสาวแล้วบอกว่า

“วรรณา ชีวิตกู ไม่เคยได้ ไม่เคยมีอะไรง่าย ๆ เหมือนคนอื่นหรอก ถ้ากูอายคน กลัวคน ไม่สู้คน ไม่ทันเล่ห์คน กูตายห่าไปนานแล้ว”

คิดถึงเรื่องในอดีต แล้วเรณูก็น้ำตาคลอลูกนัยย์ตา...เมื่อดันทุรังเดินมาได้จนถึงขนาดนี้แล้ว เป็นตายร้ายดีอย่างไร อีเรณูก็จะไม่ถอย...

************

เช้าวันรุ่งขึ้น เรณูพาวรรณาถือหนังสือภาพ สมุดจดงาน และสายวัดตัวออกมาช่วยขายขนมที่หน้าตลาดด้วย โดยระหว่างที่วรรณานั่งเฝ้าหาบแทนตน เรณูก็เอาหนังสือภาพแฟชั่น และรูปถ่ายที่ถ่ายกับหมุ่ยนี้ จันตา ซึ่งเป็นผลงานตัดเย็บโดยฝีมือวรรณา ออกโฆษณาจนทั่วตลาด...โดยเรณูบอกว่า ถ้ามีใครสนใจจะตัดชุดสวย ๆ ก็ให้รีบไปซื้อผ้าแล้วไปวัดตัวที่ร้านนางย้อยในตอนสาย ๆ

ที่เรณูทำอย่างนั้นเพราะต้องการทำให้ วรรณาและพิไลเห็นว่า อย่างไรแล้ว ร้านขายเสื้อผ้า ร้านตัดผ้าของตนที่จะใช้ชื่อ ‘เรณูบูติค’ นั้น ไปรอดแน่นอน และที่สำคัญ งานนี้จะต้องทำรายได้มาให้เรณูเป็นกอบเป็นกำ...ไอ้เรื่องที่นางย้อยแนะนำไว้ เรณูก็รับฟัง ส่วนเรื่องขายขนม เรณูตั้งใจไว้ว่าจะไม่เลิกขาย เพียงแต่ปรับมาขายขนมอย่างอื่นที่หน้าร้านแทน ส่วนในร้านก็ยกให้เป็นหน้าที่ของวรรณาไป...

คนส่วนใหญ่ ชื่นชอบอัธยาศัยของเรณูกันอยู่แล้ว พอเรณูกรีดกรายเดินโฆษณาอาชีพใหม่ของตนที่จะเริ่มต้นในเร็ววันนี้ ต่างก็ให้ความสนใจ โดยเฉพาะเรื่องทุนรอน ซึ่งเรณูก็บอกไปอย่างเสียงดังฟังชัดว่า “งานนี้แม่ผัวหนูเขาช่วย”

“ทำไมถึงช่วยได้ล่ะ ทั้งที่ก่อนหน้า...”

“ฉันก็สะใภ้เขานี่ป้า...”

“แถมเป็นสะใภ้ที่เคยนอนตากยุงพิสูจน์ตัวเองมาแล้วด้วย”

“แหม ป้า...อะไรที่มันไม่น่าจดจำ ก็แกล้งลืมมันบ้างก็ได้”

แล้วทั้งหมดก็พากันหัวเราะคิก ๆ คัก ๆ เมื่อนึกถึงความหลัง...

ฝ่ายวรรณานั้นแม้จะดีใจกับชีวิตใหม่ของตนที่จะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้ แต่ลึก ๆ ก็รู้สึกกังวลใจว่าเรื่องระหว่างเรณูกับพิไล คงจะไม่จบง่าย ๆ แน่ แต่วรรณาก็เดาไม่ได้ว่า มันจะเกิดเรื่องอะไรขึ้นกับสะใภ้คู่นี้

**********

เช้าวันนั้นพิไลบอกประสงค์ว่า รู้สึกครั่นเนื้อครั่นตัวเหมือนจะเป็นไข้ ขออยู่บ้านพักผ่อน ให้ประสงค์มาบอกลางานนางย้อยให้ที...แต่พอสาย ๆ คะเนว่าป้อมต้องออกมาขนของจากโกดังที่โรงสีไปที่หน้าร้าน พิไลก็มาดักรอพบที่ระหว่างทาง...

“พี่ป้อม ฉันมีเรื่องจะถามอะไรหน่อย ปลูกมันเคยบอกว่า พี่ป้อมเคยพาม้าไปที่เกยไชยใช่ไหม...”

ป้อมนั้นเป็นคนปากหนัก...แต่เรื่องนั้นก็เผลอบอกกับบุญปลูกไปจริง ๆ แล้วบุญปลูกก็คงเผลอเล่าให้พิไลฟังทั้งที่ได้กำชับไปแล้วว่า รู้เห็นอะไรก็อย่าพูดมากไป...

“มีอะไรหรือซ้อ” ป้อมถามกลับ

“ฉันอยากรู้ว่า เรื่องที่อาซ้อทำของใส่ตั่วเฮียน่ะ ม้าไปหาหมอที่เกยไชย แล้วหมอเขาว่าอย่างไรบ้าง พี่ป้อมไปกับม้า พี่ป้อมต้องรู้...”

“ผมไปด้วยก็จริง แต่ผมไม่รู้หรอกว่าเขาคุยอะไรกัน เถ้าแก่เนี๊ยให้ผมออกมารอข้างนอก”

“แล้วหมอคนนี้ เขาเก่งจริงหรือเปล่า”

“หมอมี เก่งจริง ๆ แล้วซ้อมีอะไรรึ”

“ฉันมีเรื่องไม่สบายใจ อยากจะไปปรึกษากับหมอเขาหน่อย ถ้าจะไปเกยไชย ต้องไปอย่างไร”

“นั่งเรือหางยาวที่ท่าน้ำไป บ้านหมอมีที่เกยไชยพวกคนเรือมันรู้จักทุกคนแหละ”

พิไลนิ่งคิด...หากจะต้องเดินทางไปเกยไชยตามลำพัง ใจหนึ่งก็นึกกลัว แต่อีกใจ ถ้ามัวชักช้า เรื่องมันก็ต้องคาใจอยู่อย่างนี้...แต่เมื่อคิดถึงผลดีผลเสียที่จะตามมาแล้ว พิไลก็ตัดสินใจว่าจะไป...โดยก่อนจะแยกย้ายกับป้อม พิไลก็ให้ค่าขนมป้อมไปสองบาท พร้อมกับบอกว่า

“พี่ป้อมอย่าบอกม้านะว่า ฉันเอาเรื่องนี้มาถามมาพูดด้วย”

หัวคิ้วของป้อมขมวดเข้าหากัน...

“คือบอกตามตรงเลยก็ได้ ฉันสงสัยว่า ซ้อใหญ่จะทำเสน่ห์ใส่ม้า ม้าถึงได้เปลี่ยนไปจนถึงขนาดนี้...พี่ป้อมก็เห็นไม่ใช่รึ ว่าตะก่อน ม้าเกลียดซ้อใหญ่แค่ไหน แล้วตอนนี้แกรักแกหลงอาซ้อใหญ่แค่ไหน เคยด่าทอทุกคำ ก็กลายมาพูดดีด้วย แล้วก็ให้ทองหยองกัน แล้วจะยังไปเซ้งร้านให้อีก มันน่าสงสัยไหมล่ะ”

ป้อมเริ่มคล้อยตาม...

“นั่นแหละ คือเหตุที่ฉันไม่อยากให้ม้ารู้ แล้ว เฮียตงเองก็ไม่เชื่อฉัน หาว่าฉันคิดมาก ฉันต้องหาคนยืนยันให้ได้ว่า อาซ้อทำจริงหรือเปล่า...พี่เข้าใจฉันแล้วใช่ไหม”

************

พิไลกลับมาเปลี่ยนเสื้อผ้าเป็นชุดเสื้อแขนยาวกางเกงขาวยาวสีดำ มีผ้าโพกหัวกันแดด เก็บทองหยองที่ใส่ติดตัวอยู่ประจำลงหีบ ล็อกห้องล็อกบ้านแล้วเดินไปยังท่าเรือ ที่ท่าเรือนี้ แยกเป็นท่าจอดเรือเทียบสินค้า จอดเรือโดยสาร และจอดเรือสำหรับคนเดินทางมายังตลาด...ตั้งแต่มาอยู่ชุมแสง พิไลไม่ค่อยได้สนใจชีวิตคนที่ท่าเรือสักเท่าไหร่ เพราะเห็นว่าส่วนใหญ่จะมีแต่ผู้ชาย ซึ่งแต่งตัวมอซอ เป็นพวกกุลีรับจ้างแบกหามขนของก็มีไม่น้อย แต่วันนี้พอจะต้องไปเกยไชยตามลำพังพิไลก็จำต้องเดินลงมา ระหว่างที่ชะเง้อมองดูเรือหางยาวที่น่าจะไว้ใจได้ ก็มีชายวัยกลางคนเดินสวนขึ้นมา...ปากของเขาคาบมวนยา มีผ้าขาวม้าโพกหัว ใส่เสื้อสีกรมท่า กางเกงขาก๊วย ไม่สวมรองเท้า...หลังจากเดินผ่านไปแล้ว ชายคนนั้นก็หันมา “คุณหนู”

พิไลหันไปมอง

“คุณหนูจำผมได้ไหม”

พิไลนิ่วหน้า แล้วก็ยิ้มแหย ๆ ให้ “คุ้น ๆ หน้า”

“น้าเชิดไง ตะก่อนผมก็อยู่ที่โรงสีของเถ้าแก่ฮง พอแม่แต่งเมียให้ ผมก็ย้ายกลับมาอยู่บ้านสิบปีกว่าได้แล้วมั้ง”

“อ๋อ พอนึกออกแล้ว แล้วน้าเชิด ทำงานทำการอะไร” อันที่จริงนายเชิดอาจจะอายุมากกว่านางพิกุลแม่ของพิไลด้วยซ้ำ แต่เมื่อเป็นคนงาน พิไลจึงเรียก น้า บ้าง อา บ้าง ไปตามเรื่อง...

“ก็...ทำนา ปลูกผัก ขับเรือรับจ้าง ถ้ามีงานพวกแบกหาม รับจ้างทั่ว ๆ ไป มีคนเรียกใช้ ผมก็ผละงานมาทำ...”

“ถ้าอย่างนั้น ก็ขับเรือให้ฉันไปที่เกยไชยได้นะซิ”

“คุณหนูจะไปทำอะไรที่นั่น”

“ไป...เอ่อ บ้านหมอมี...คือฉันแต่งงานมาอยู่ที่นี่หลายเดือนแล้ว ไม่มีลูกสักที เลยอยากไปปรึกษาหมอเขาหน่อย เผื่อมีทางช่วยเหลือกัน รู้จักหมอมีที่เกยไชยไหมล่ะ”

“แล้วคุณหนูจะไปคนเดียวรึ”

“อาเฮียเขาต้องเฝ้าร้าน ร้านแม่ย้อย รู้จักไหม”

“รู้จัก ๆ ไม่มีใครที่นี่ ไม่รู้จัก ร้านนี้หรอก แต่งมาอยู่ที่นี่เองรึ...”

“ถ้าอย่างนั้นพาฉันไปเกยไชยหน่อยนะ ฉันกำลังคิดอยู่ว่าจะหาใครที่พอไว้ใจได้ เป็นโชคของฉันจริง ๆ”

ตกลงราคาค่าเรือกันแล้ว พิไลก็เดินตามนายเชิดลงเรือด้วยความรู้สึกอุ่นใจมากขึ้น

เรือของนายเชิดแล่นมาถึงท่าน้ำหน้าบ้านหมอมี ก็พบว่าบริเวณนั้นมีเรือพายเรือหางยาวจอดอยู่กันเป็นแพ เหมือนว่าที่บ้านกำลังมีงาน พิไลเห็นดังนั้นจึงคิดว่า งานนี้ คงจะเสียเที่ยวแล้วเป็นแน่ แต่เพื่อให้แน่ใจ พิไลจำต้องขึ้นไปถามไถ่ ให้ได้เรื่องราว

“น้าเชิดรออยู่ที่นี่ก็ได้นะ หรือจะขึ้นบนตลิ่งก่อน...ก็ได้ จะได้ไม่ร้อนแดด”

นายเชิดรอพิไลที่ใต้ร่มไม้อยู่อึดใจใหญ่ ๆ พิไลก็เดินหน้าเมื่อยกลับมา...

“ได้เรื่องไหมคุณหนู”

“เขากำลังจัดงานศพหมอมีกันน่ะ”

“อ้าว...แกเป็นอะไรตาย”

“เป็นลมปัจจุบัน...” ว่าแล้วพิไลก็ถอนหายใจออกมาอย่างแรง....เหม่อมองไปอีกฟากของแม่น้ำ แล้วเบือนสายตากลับมามองนายเชิด...

“น้าเชิดพอจะรู้จักหมอแบบ หมอมีอีกไหม เอาแบบเก่ง ๆ นะ”

นายเชิดทำทำท่าครุ่นคิด... แล้วก็บอกว่า

“เดี๋ยวผมจะถามพวก ๆ กันให้...แต่คุณหนูอยากได้เก่งทางไหน หมอมีนี่เป็นหมอยาแท้ ๆ ทำไมถึงตายง่ายตายดายจัง”

“เอาแบบแก้คุณไสยทำคุณไสยได้ก็ได้นะ...”

“เดี๋ยวผมจะลองสืบดูให้”

“อ้อ แต่อย่าไปบอกใครนะว่าเป็นฉันให้ตามหา...ฉันไม่อยากให้ เฮีย หรือ แม่ย้อยรู้...เดี๋ยวจะหาว่าฉันงมงาย”

“ได้ ๆ ครับ”

แน่นอนว่า เพื่อที่ ‘ความลับ’ จะต้องเป็น ‘ความลับ’ และพิไลก็หวังจะใช้ ‘ข้าเก่า’ ทำงานอื่น ๆ ให้อีก วันนั้นพิไลจึงต้องจ่ายเงินให้นายเชิดมากกว่าค่าเรือที่ได้ตกลงกันไว้...

**********

พอรู้จากจ่าเที่ยงว่าปฐมกลับมาจากชุมแสงแล้ว ติ๋มก็บอกกับจ่าเที่ยงให้ปฐมออกมาพบที่บาร์ เพราะอยากรู้ว่าความเป็นไปของเรณู...พอปฐมมาถึง ติ๋มก็เดินนำปฐมไปที่ใต้ร่มไม้ใหญ่หลังร้าน...ปฐมถามถึงประนอม

“แกไปเที่ยวปากน้ำโพกับผัวแก คนนี้เงินหนา เลี้ยงดูอย่างดี จ่ายให้ไม่อั้น”

“แล้วพี่ติ๋มมีธุระอะไรกับผม”

“ได้ข่าวว่ากลับไปบ้านที่ชุมแสงมา...อยากรู้ว่า ตอนนี้เรณูเป็นอย่างไรบ้าง บอกตรง ๆ ว่าพี่รู้สึกเป็นห่วงมัน กลัวมันจะตีกับแม่ของเธอจนบ้านแตก”

“ตอนนี้ไม่ตีกันแล้วพี่ ดีกันแล้ว”

“จริง ๆ หรือ”

“จริง ๆ ครับ...ผมเองก็งงเหมือนกัน” แล้วปฐมก็เล่าเรื่องทางชุมแสงให้ติ๋มฟังคร่าว ๆ แล้วตบท้ายที่ว่า

“ตอนนี้ม้าก็จะ เปิดร้านขายผ้าให้เรณู เรณูจะเอาวรรณามาช่วยด้วย ปลดทหารไปผมก็ไปอยู่กับเรณูที่ร้านนั้นแหละ แล้วก็ทำงานในโรงสีช่วยเตี่ยไป”

“แล้วก็จะมีลูกด้วยกันสองคนสามคน”

“ก็คงเป็นแบบนั้นแหละครับ สูตรสำเร็จของชีวิตคน”

“เห็น มันไปดี ก็ดีใจกับมัน...อย่างไรก็ฝากดูแลมันด้วยนะ...หนักนิดเบาหน่อย ก็อภัยให้มันล่ะ ถึงมันจะเป็นคนจนยาก แต่มันก็มีดีของมัน”

ติ๋มยังชวนปฐมคุยอีกพักใหญ่ ๆ แล้วปฐมก็ขอตัวกลับเข้าค่าย...ติ๋มมองตามหลังปฐมไปพลางกัดริมฝีปากล่าง ชักสีหน้าครุ่นคิด ถ้านางย้อยโดนของที่เรณูทำไปแล้ว ต่อไปเรณูรวมถึงนางย้อยก็จะอยู่ดีมีสุข เพราะเรณูนั้นไม่ได้ตั้งใจเข้าบ้านนางย้อยด้วยเจตนาทำให้ชีวิตนางย้อยวุ่นวาย ฉิบหาย วายวอด อยู่ร้อน นอนทุกข์...ซึ่งไม่ตรงกับความประสงค์ของเธอ...ถอนหายใจออกมาอย่างแรง แล้วติ๋มก็บอกกับตัวเองว่า

‘อีเรณูมันเหนื่อยยากมานานละ ช่วงนี้ ปล่อยให้มันสุขสบายไปสักพักก็แล้วกัน!’

******************************


Title: Re: กรงกรรม บทประพันธ์ของ จุฬามณี
Post by: นักประพันธ์ on 02 March 2020, 11:19:25
ตอนที่ 26 : คนดวงตก


            ๒๖


ในยามตะวันชิงพลบ กมลที่นั่งอยู่ที่ศาลาท่าน้ำริมแม่น้ำน่าน รู้สึกคิดถึงบ้านที่ชุมแสงอย่างจับหัวใจ...บ้านหลังใหญ่ที่มาอยู่นี้ ตั้งอยู่บนพื้นที่กว้างขวางห่างจากบ้านคนอื่นๆ ผิดกับเรือนแถวในตลาดชุมแสงที่สามารถเคาะข้างฝาคุยกับเพื่อนบ้านได้ทั้งซ้ายและขวา หน้าบ้านเป็นตลาดใหญ่จึงคลาคล่ำไปด้วยผู้คนตั้งแต่เช้าจรดค่ำ แต่ที่นี่ข้ามฝั่งแม่น้ำไปก็มีเพียงดงไม้ใหญ่และทุ่งนาสุดลูกหูลูกตา บนต้นไม้มีเสียงร้องของหริ่งเรไรดังกังวานชวนให้ยิ่งรู้สึกวังเวง...พรุ่งนี้จะเป็นวันเพ็ญเดือนสิบสองหรือ ‘วันลอยกระทง’ ก่อนหน้านั้นนางศรีได้เคยเอ่ยปากชวนให้กมลมาเที่ยวงานวัดที่ฆะมัง

...ตอนนั้นกมลแบ่งรับแบ่งสู้....เพราะคิดว่างานลอยกระทงมีอยู่ทั่วไป หรือถ้าอยากลอย ก็ลอยตรงไหนก็ได้

แต่กลายเป็นว่า วันลอยกระทงปีนี้ เขามาเป็น ‘เขย’ อยู่ที่ฆะมังเสียแล้ว...

ชีวิตคนเรานั้นไม่ได้มีอะไรแน่นอนเลยจริง ๆ กมลคิดไปถึงตอนที่ปฐมต้องจากบ้านไปเป็นทหารเกณฑ์ คิดถึงตอนเรณูถูกปฐมทิ้งไว้กับแม่ผัวที่จงเกลียดจงชัง คิดขับไล่ไสส่งไปให้พ้นทาง คิดถึงถึงชีวิตของพิไลที่ต้องย้ายจากบ้านที่ทับกฤชมาอยู่กับประสงค์ คิดถึงชีวิตของจันตาสาวน้อยที่มาจากเมืองเหนือ

และที่สำคัญ เขาคิดถึงชีวิตของแม่ ซึ่งพื้นเพเป็นคน ตำบลหนองนมวัว อำเภอลาดยาว แต่โชคชะตาวาสนาก็พัดพาให้แม่ต้องจากถิ่นฐานบ้านเกิด จากพ่อแม่พี่น้องมาเป็นสะใภ้คนจีน ต้องมาอยู่ไกลถึงชุมแสงอย่างไร้ญาติขาดมิตร ยากที่จะกลับไปมาหาสู่กันได้อย่างสะดวก

คิดถึงชีวิตใครอีกหลาย ๆ คนที่พบเจอกับความเปลี่ยนแปลงจากการพลัดที่นา คาที่อยู่ แล้วก็รู้สึกเรื่องแบบนี้มันเป็นเรื่องธรรมดา สามารถเกิดได้กับคนทุก ๆ คน เพียงแต่ใครจะปรับตัวปรับใจผ่านช่วงเวลานี้ได้เร็วกว่ากัน

สำหรับเขา จากฆะมัง ไปชุมแสง ถ้าเดินเท้าก็ใช้เวลาชั่วโมงกว่า ๆ เท่านั้น เพียงแต่เขายังไม่คุ้นกับคน และสถานที่แห่งนี้ เขาจึงรู้สึกว่าวันคืนที่มันล่วงไปนั้น เต็มไปด้วยความเดียวดาย เพราะคนที่น่าจะช่วยให้เขาคุ้นกับคน สถานที่ และวิถีชีวิต ก็ทำตัวเหินห่าง หลายวันหลายคืน เขายังไม่ได้สัมผัสกับคำพูดที่ผู้ใหญ่บอกว่า ‘อยู่ด้วยกันก็จะรักกันไปเอง’

เพราะเพียงเพ็ญนั้นยังคงนอนอยู่บนเตียงและให้เขานอนอยู่บนพื้นห้องเช่นเดิม...ดีแต่ว่า เรื่องเสื้อผ้า อาหารการกิน ที่หลับที่นอน หญิงสาวมีนางแรมเป็นผู้ช่วยทำตัวเป็นเจ้าบ้านที่ดีจึงลดความประดักประเดิดใจไปได้ไม่น้อย ส่วนเรื่องหน้าที่งานการที่เขาจะต้องออกไปรับผิดชอบนั้น ก็ได้ ‘อาแปะซ้ง’ ซึ่งเป็น ‘หลงจู๊’ หรือผู้จัดการ ทั้งเรื่องโรงเลื่อย โรงไม้ โรงเผาถ่าน ให้คำแนะนำ กิจการนาไร่ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงเก็บเกี่ยวมีนางสมพร ทำหน้าที่คอยดูควบคุมดูแล...เพราะกำนันศรนั้น ต้องออกพื้นที่กับเข้ามาราชการที่อำเภออยู่เป็นประจำ.

..ก่อนที่ตกลงแต่งงาน ตอนที่ผู้ใหญ่คุยกัน กำนันศรออกตัวไว้ว่า หวังฝากทรัพย์สมบัติไว้กับเขา เพราะลูกสาวคนเล็กไม่เป็นโล้ไม่เป็นพาย ไม่สนใจกิจการงานของครอบครัว ซึ่งกำนันศรก็บอกให้เขารู้อยู่แล้วว่า แต่งมาแล้ว ต้องมาเป็นมือเป็นเท้า เป็นหูเป็นตา เป็นเรี่ยวแรง เสมือนเป็นลูกชายอีกคน...

ด้วยเป็นช่วงกำลังเก็บเกี่ยว เขาจึงต้องออกจากบ้านไปกับนางสมพรเพื่อเรียนรู้งานในนาข้าว แม้ว่านางสมพรจะเป็นแค่คนคอยบงการให้คนงานลงแรงทำกัน แต่เขาเป็นผู้ชาย และคุ้นเคยกับการทำงานมาตลอดชีวิต เขาจึงยืนดูนั่งเฝ้าเพียงอย่างเดียวไม่ได้ เตี่ยก็พร่ำสอนเขามาตลอดว่า อย่าได้ไว้ใจลูกจ้างทั้งหมด เพราะถ้าขาดเขา เราจะอยู่ไม่ได้ เขาจึงต้องลงมือฝึกนาบข้าวในตอนเช้ามืด เพื่อให้ต้นข้าวนั้นล้มแล้วลงแขกเกี่ยวในตอนเช้า ส่วนกำข้าวที่หลุดจากมือวางเรียงรายตากแดดอยู่บนตอซังที่เอนราบจะถูกหอบรวมกันมัดฟ่อน แล้วขนขึ้นลาน โดยใช้ควายเทียมเกวียน ส่วนตรงไหนที่เป็นดินโคลนก็ต้องใช้ ‘หลาว’ ทำจากไม้ตัดปลายแหลมทั้งสองด้านหาบขึ้นลาน วางเรียงเทินกันและช่วยกันนวด แยกข้าวเปลือกกับฟางออกจากกันโดยใช้ควายย่ำ...

ตัวเขาแม้อยู่กับข้าวเปลือกมาตลอดชีวิต แต่สัมมาอาชีพของเขา จะยุ่งเกี่ยวกับ ข้าวเปลือกที่ต้องสีเป็นข้าวสาร เหลือแกลบและรำเท่านั้น เขาไม่เคยรู้เลยว่า กว่าที่ข้าวสารเมล็ดขาวสวยนั้นจะถึงปากคนกินนั้น คนเพาะปลูกต้องเหนื่อยยากเพียงใด...จนกระทั่งลงมาเรียนรู้ในช่วงที่มาเป็นเขยใหม่

กมลนึกถึงช่วงต้นฤดูทำนา ที่ต้องไถดะ ไถแปร ทำเทือก โดยใช้ควายเป็นตัวฉุดลากคันไถ แล้วหว่านกล้า ปักดำ เขายังไม่รู้เลยว่า เขาจะเหนื่อยกับมันถึงเพียงไหน...แต่เตี่ยก็สอนเขาเสมอว่า เหนื่อยแรงเสียแรงตอนที่ยังหนุ่มแน่น เดี๋ยวก็ได้แรงคืน และถ้าขยันอดออม รู้จักทำมาหากิน แรงที่ลงไปก็จะตอบแทนเป็นทรัพย์สินเงินทอง เกียรติยศ เพื่อตกทอดไปยังลูกหลานให้ได้ชื่นใจในบั้นปลายชีวิต อย่างที่เตี่ยและม้ากำลังเป็นอยู่

“อ้าว พ่อซา อาบน้ำหรือยัง” เสียงของนางแรมที่ตะโกนถามมาทำให้ กมลหันไปมองที่บนนอกชานบ้าน

“เดี๋ยวอาบป้า”

“อาบแล้วก็รีบขึ้นเรือนมากินข้าว มืดค่ำ ยุงที่ท่าน้ำ มันเยอะนะ”

“ครับ...” ว่าแล้วเขาก็หยิบผ้าข้าวม้าที่วางอยู่ข้างตัว ผลัดเปลี่ยนชุดที่สวมอยู่ หยิบขันใส่สบู่ยาสระผม แล้วเดินลงไปยังตีนท่า...

อาบน้ำทาแป้งแล้วเขาก็ออกจากห้องเล็กซึ่งเป็นห้องเก็บเสื้อผ้า เดินเข้ามาในครัวแล้วมองหาเพียงเพ็ญ...ผู้ได้ชื่อว่า เป็น ‘เมีย’ ของเขา

แม้จะยังไม่เคย ‘หลับนอน’ อยู่ในมุ้งหลังเดียวกันก็ตามที โดยเพียงเพ็ญอ้างกับเขาว่า ‘ขอเวลาฉันสักพักนะเฮีย ฉันยังรู้สึกไม่ค่อยดี’ หรือไม่ก็ ‘วันนี้เหมือนฉันจะไม่สบาย...เฮียนอนที่เดิมไปก่อนนะ อย่ามานอนเบียดกันให้อึดอัดเลย’

เมื่อเป็นความต้องการของเจ้าหล่อน เขาจะทำอะไรได้...และถ้านำเรื่องที่เมียไม่ยอมให้นอนด้วยไปปรึกษากับมงคล เขาต้องถูกว่าเป็นคนงี่เง่าเต่าล้านปีอย่างแน่นอน แต่เรื่องของคนสองคน มันเป็นเรื่องในมุ้ง จะบอกกล่าวให้คนอื่นได้รับรู้ ก็รู้สึกละอาย โดยเขาหวังใจไว้ว่า เมื่อเพียงเพ็ญพร้อม หญิงสาวก็คงเป็นฝ่ายให้เขาเข้านอนในมุ้งเดียวกัน

“เพ็ญ หายไปไหนหรือป้า” ในความสัมพันธ์แม้มีกำแพงบาง ๆ กั้นไว้ แต่เขาก็รู้สึกว่า ทั้งเขาและเจ้าหล่อน ต่างเป็น ‘เจ้าของ’ กันและกัน

“ไปบ้านอาศรี บ่นอยากกินขนมไพ่”

“ขนมอะไรนะป้า”

“คนที่อื่นอาจจะเรียกขนมโก๋ หรือ โก๋ไพ่ แต่คนแถวนี้เขาเรียกกันว่าขนมไพ่สั้น ๆ น่ะ”

กมลทำหน้าเข้าใจ แต่ก็ไม่ได้บอกว่า ที่บ้านเขาเรียก ‘ขนมโกพ่าย’

“พรุ่งนี้ไปทำบุญด้วยกันไหม” พรุ่งนี้เป็นวันพระใหญ่ และทางวัดก็จัดงานลอยกระทง กลางคืนมีมหรสพมาให้สร้างความสนุกสนาน พรุ่งนี้ชาวบ้านส่วนใหญ่ จึงพร้อมใจกันหยุดงาน ทำบุญและพักผ่อนหย่อนใจ กมลชักสีหน้าครุ่นคิด เพราะใจหนึ่งก็อยากกลับบ้าน...แต่ยังไม่ทันจะตอบ นางแรมก็บอกว่า

“นะ ไปทำบุญด้วยกัน นังหนูมันก็ไป ไปกันหมดบ้านนี่แหละ”

“ผมว่าจะกลับบ้าน” นอกจากจะมีรถจักรยาน ม้า เรือหมู เรือหางยาว เป็นพาหนะ กำนันก็ยังมีเรือกระแซงไว้บรรทุกไม้ ถ่าน หรือบรรทุกพืชผลทางเกษตรอย่างข้าวเปลือก ล่องไปส่งสินค้า...

“ไปอย่างไร”

“ว่าจะไปเรือเมล์” เรือโดยสารจากทางบ้านเหนือล่องไปชุมแสง มีไป-กลับวันละเที่ยว แม้จะต้องใช้เวลารออย่างเนิ่นนานแต่ก็ถือว่าเป็นเรื่องสะดวกที่สุดสำหรับกมล...

“อย่าเพิ่งไปเลย แหม มาอยู่ยังไม่ถึงสัปดาห์เลย...ไปทำบุญด้วยกันก่อน”

“แต่ผมคิดถึงบ้าน แล้วก็ตั้งใจจะกลับไปเอารูปงานแต่งมาให้ดูกันด้วย” เขาจำเป็นต้องหาข้ออ้างเพิ่ม

“เอาอย่างนี้ ถ้าจะไป ก็เอาเรือหางยาวไป พรุ่งนี้พ่อกำนันไปวัด คนงานก็หยุด เรือว่างแน่ ๆ”

“ผมขับเรือหางยาวไม่เป็น”

“งั้นเดี๋ยวพรุ่งนี้ ให้ไอ้แก่นมันไปด้วย แล้วให้มันสอน วันหน้าวันหลังจะได้ไม่ต้องง้อมัน...”

“ก็ดี...แล้วป้าอยากได้อะไรที่ชุมแสงไหม ผมจะได้หามาให้” เมื่อนางแรมแสดงความมีน้ำใจมา กมลจึงต้องหาหนทางตอบแทนน้ำใจนั้น...

“ไม่มี ชีวิตป้าไม่เคยอยากได้อะไรกับเขาหรอก...แต่ถ้าสะดวกใจจะหาอะไรมาให้ ป้าก็ขอถ่านไฟฉายละกัน เอาไว้ใส่วิทยุฟังข่าวฟังเพลงให้บ้านมันไม่เงียบเหงา จะได้ทำงานเพลินๆ...” ไม่ใช่แค่เฉพาะเวลาทำงาน แต่เพียงเพ็ญบอกกับเขาว่า แม้แต่เวลานอนนางแรมก็เปิดวิทยุเบา ไว้ข้างหมอนจนกระทั่งสถานีหยุดทำการถึงจะปิด หรือไม่ก็ปล่อยทิ้งไว้อย่างนั้นจนกระทั่งได้เวลาเปิดทำการใหม่

“ได้ครับ...ผมจะยกกล่องมาให้นะ เอาตราแพะหรือตรากบ”

“เอาตรากบ... อ้อ อย่างไรก็รีบไปรีบกลับนะ กินข้าวเย็นแล้วจะได้ไปลอยกระทงด้วยกันกับนังหนู”

กมลได้แต่ยิ้มแหย ๆ โดยใจก็คิดว่า ป้าแรมอยากให้ลอยด้วยกัน แต่เพียงเพ็ญนั้นอยากลอยกับเขารึเปล่าก็ไม่รู้....

******

ระหว่างที่เพียงเพ็ญนั่งกินขนมไพ่อยู่ที่ร้านของนางศรี บังอรก็เดินถือขวดใส่น้ำมันก๊าดเข้ามา...พอเห็นเพียงเพ็ญ บังอรก็ยิ้มให้ เพียงเพ็ญยิ้มตอบ แล้วทักไปว่า “มาซื้ออะไรล่ะ”

“มาซื้อน้ำมันก๊าดจ้ะ”

“อ้าว เพิ่งซื้อไปเมื่อวาน หมดแล้วรึ” นางศรีเอ่ยถาม

“ไม่ใช่ของฉันหรอกน้า ของป้ากุ่นน่ะ” บอกแล้วบังอรก็เหลือบตาดูสีหน้าเพียงเพ็ญแล้วพูดต่อ

“ฉันเห็นแกอยู่คนเดียว ฉันก็นึกเป็นห่วง แล้วแกบอกว่า รอให้อีเปียมาจะให้มันมาซื้อน้ำมัน ฉันเห็นว่า กว่าอีเปียจะมาคงจะค่ำมืดก็เลยอาสามาแทน”

นางศรีได้ยินดังนั้นก็ได้โอกาสที่จะพูดเพื่อให้เพียงเพ็ญระลึกไว้ว่า เมื่อก้านพลาดจากตนแล้วก็ยังมีบังอรพร้อมปลอบใจ

"ถ้าไอ้ก้านมันกลับมา รู้ว่าเอ็งดูแลแม่มันเป็นอย่างดี มันก็คงรู้สึกดีกับเอ็งนะบังอร...”

บังอรยิ้ม ๆ นางศรีจึงถามต่อว่า “แล้วนี่ ได้ข่าวมันบ้างรึยัง ไอ้สิทธิ์มันกลับมาแล้วไม่ใช่รึ มันว่าอย่างไรบ้าง”

“อาสิทธิ์บอกว่า พาไปฝากงานอยู่วงดนตรีที่กรุงเทพฯ”

“มันไปเป็นนักร้องเลยรึ”

“ก็เสียงแกดีซะขนาดนั้น ก็คงเป็นอย่างนั้น แต่ฉันก็ไม่ค่อยรู้เรื่องพวกวงดนตรีอะไรนี่สักเท่าไหร่นะ”

“พี่ก้านไปอยู่วงอะไร” เพียงเพ็ญถามแทรกเข้ามา...บังอรหันมาหาแล้วก็บอกว่า

“อาสิทธิ์บอกอยู่เหมือนกัน แต่ฉันจำไม่ได้ แต่ถ้าอยากรู้ เดี๋ยวฉันถามอาสิทธิ์แล้วจะจดมาให้นะ...” อันที่จริงบังอรรู้ทั้งชื่อวงดนตรีและที่อยู่สำหรับส่งจดหมาย แต่หญิงสาวจงใจจะถ่วงเวลาไว้ เพราะถ้าเพียงเพ็ญอยากได้จริง ๆ ก็จะต้องดิ้นรนสืบถามจากคนอื่นอีกที...

“จะอยากรู้ไปทำไม” นางศรีขัดขึ้นมา เพียงเพ็ญเชิดหน้าขึ้น...อากับหลานสาวสบตากัน แล้วนางศรีก็บอกว่า "จะมืดค่ำแล้ว กลับบ้านไปดูลูก ดูผัวได้แล้ว”

“งั้นอา ก็คิดเงินค่าขนม”

“ไม่เอาหรอก แล้วเอ็งจะไม่ดูถืออะไรไปฝากพ่อซาเขาซักหน่อยรึ”

“ขนมแบบนี้ เขาคงไม่นึกอยากกินหรอกอา...ฉันไปละนะ” ว่าแล้วเพียงเพ็ญที่ ‘หายอยาก’ จากขนมไพ่ ก็ลุกขึ้นแล้วเดินจากไป

บังอรเห็นกระดาษแก้วที่ห่อขนมถูกทิ้งให้เกลื่อนกลาด ก็ถามนางศรีว่า “นี่พี่เพ็ญเขากินคนเดียวเลยรึ”

“อืม...”

“เป็นสิบอันเนี่ยนะ! มีแต่คนแพ้ท้องเท่านั้นแหละที่กินได้ขนาดนี้”

เป็นเพราะว่าแต่งยังไม่ถึงสัปดาห์ ขืนรับว่าหลานสาวแพ้ท้องใครจะไปเชื่อว่าท้องกับเจ้าบ่าว นางศรีจึงบอกว่า

“ไม่รู้มัน ...มาเอาขวดมา มึงเองก็รีบกลับบ้านเหมือนกัน กลางค่ำกลางคืนเป็นสาวเป็นแส้ มาเดินทะเร่อทะร่าเดี๋ยวก็ได้ถูกฉุดเข้าข้างทางไปหรอก"

“ใครมันจะฉุดฉันละน้า”

“มีหรือไม่มี ก็ต้องระวังตัวไว้ก่อน พลาดขึ้นมามันแก้ไขอะไรไม่ได้นะมึง...”

“ก็จริง”

“แล้วนี่ เที่ยวขึ้น ๆ ลง ๆ บ้านยายกุ่น มึงไม่กลัวชาวบ้านเขาเอาไปพูด ว่าอยากเป็นสะใภ้เขาหรอกรึ”

“ที่ขึ้น ๆ ลง ๆ ก็เพราะอยากเป็นสะใภ้เขานั่นแหละอา...” ว่าแล้วบังอรก็หัวเราะกิ๊ก เพราะนางศรีนั้นขึ้งตาให้...

**********************

เปิดประตูห้องเข้าไป เพียงเพ็ญก็เห็นว่ากมลนอนไขว่ห้างยกมือก่ายหน้าผาก หลับตาฟังข่าวจากวิทยุ...พอได้ยินเสียงประตู เขาก็ลดมือและขาลงแต่ก็ยังไม่ลืมตา...

“กินข้าวหรือยังเฮีย”

พอได้ยินคำถาม เขาก็ลืมตาแล้วบอกว่า “เรียบร้อยแล้ว เธอล่ะ กินหรือยัง”

“ยังไม่หิว”

“อาบน้ำหรือยัง”

“เดี๋ยวอาบ” ว่าแล้วเพียงเพ็ญก็เดินไปทรุดตัวลงนั่งบนที่เตียง วางตัวกับกมลเหมือนไม่ใช่เมีย แต่กมลก็ไม่ได้ถือสาแต่อย่างใด เขาขยับตัวลุกขึ้นนั่ง แล้วบอกกับเพียงเพ็ญว่า

“พรุ่งนี้เฮียจะกลับชุมแสง...จะเอาอะไรไหม อยากได้ยาอะไรหรือเปล่า”

เพียงเพ็ญส่ายหน้า “ป้าแรมบอกแล้ว เห็นว่าจะให้ไอ้แก่นหัดขับเรือให้ด้วยนี่”

“อืม...”

“ถ้าเฮียอยู่ที่นี่ แล้วรู้สึกเหงาๆ เบื่อ ๆ ก็พักอยู่ที่บ้านสักสองสามวันก็ได้นะ หายคิดถึงแล้วก็ค่อยกลับมาก็ได้ เรื่องงานในนาไม่ต้องไปห่วงมันมากนักหรอก ตอนที่เฮียยังไม่มา คนที่นี่เขาก็ทำกันได้”

“มันคงไม่ดี”

“ไปเหอะ เดี๋ยวฉันบอกกับพ่อให้เอง เฮียจะได้ ไม่ต้องลำบากใจตอนบอกกับแก...”

************

เมื่อเพียงเพ็ญ ‘แนะ’ อย่างนั้น เขาก็ จำต้อง ‘แกล้ง’ ทำตาม เพราะอยากจะลองดูว่า พ่อกำนัน กับแม่สมพรจะว่าอย่างไรหรือเปล่า ในตอนเช้าก่อนจะไปวัด พอทั้งคู่รู้เรื่อง ก็ไม่ได้ทักท้วงแต่อย่างใด โดยพ่อกำนันก็เปรย ๆ ว่า ‘หายคิดถึงบ้านแล้วค่อยกลับมา...แต่อย่าไปหลายวันนักละ ผัวเมียอยู่ไกลกันนัก ไม่ดี’

คนสองคนแต่งงานกันโดยไม่ได้รักกันมาก่อน เมื่อยังไม่ได้ผูกพันทางกาย ใจก็ย่อมไม่ผูกพัน อยู่ใกล้หรือไกลมันก็ไม่ได้ต่างกัน กมลคิดอย่างนั้น แต่ก็ไม่ได้พูดอะไรออกไป

นางแรมจัดการบอกให้ไอ้แก่น หนุ่มรุ่น ๆ ขับเรือไปส่ง และตามไปยืนสั่งการที่ตลิ่งว่า

“ไอ้แก่น มึงก็สอนเฮียเขาขับเรือด้วยนะ ส่งเขาแล้วมึงก็รีบกลับล่ะ อย่าเถลไถล...”

“ฉันจะไปเถลไถลที่ไหนได้ เงินก็ไม่มีติดตัวซักบาท...” แก่นนั้นเป็นลูกคนงานโรงเลื่อย พ่อแม่ทำงานอยู่ที่นั่น ลูกเกิดมา ก็ทำงานกินเงินเดือนพ่อกำนันต่อไป...ไม่ใช่ญาติจึงเหมือนญาติ แก่นมีน้องชายชื่อจุก จุกนั้นยังไม่ได้โกนจุก เรียนหนังสืออยู่ชั้น ป.2

ขณะที่กมลกำลังจะก้าวลงไปยังตีนท่า เขาก็ได้ยินเสียงของจุก ที่วิ่งหน้าตั้งมา... “ไอ้แก่น กูไปด้วย”

“มึงจะไปทำไม” นางแรมร้องขัด

“ก็เรือมันว่างอยู่นี่ป้า จะอยู่บ้านทำไมล่ะ” จุกเถียง

“ให้มันไปด้วยเถอะป้า ให้มันไปเปิดหูเปิดตามั่ง” แก่นหาเพื่อนกลับ

“สมบัติแค่นั่งเรือไปตามแม่น้ำเนี่ยนะ เปิดหูเปิดตา...” ว่าแล้วนางแรมที่ร้อยวันพันปีที่หมกตัวอยู่แต่บ้านไม่ยอมออกไปไหน ก็พ่นน้ำหมาก...


ถึงชุมแสง กมลเห็นว่า เมื่อแก่นและจุกอยากมา ‘เปิดหูเปิดตา’ เขาจึงให้ทั้งสองเดินตามขึ้นมาบนตลาด...หาซื้อขนมให้กิน และซื้อให้ติดมือกลับไปฝากพ่อแม่ นอกจากนั้นเขายังซื้อเสื้อกับกางเกงให้จุกอย่างละตัว ส่วนแก่นเขาซื้อเสื้อยืดคอปกให้ เพราะคืนนี้ แก่นจะได้ใส่ไปเที่ยวงานลอยกระทง สองพี่น้องพอได้ของจากเขาแล้วก็ยกมือไหว้ปรก ๆ แสดงความขอบคุณตื้นตันกับน้ำใจของเขา...แก่นถามเขาว่าจะกลับเมื่อไหร่ จะได้มารับ แต่กมลรู้สึกเกรงใจก็เลยบอกว่า จะกลับเรือโดยสาร ซึ่งยังไม่รู้ว่าเป็นวันไหน

แก่นพาจุกขับเรือกลับฆะมังไปแล้ว กมลก็เดินกลับมาที่ร้าน พบบุญปลุก ป้อม อยู่หน้าร้าน ส่วนประสงค์นั่งเฝ้าเก๊ะเงิน...แม่ กับ พิไลไม่อยู่...ประสงค์บอกกับเขาว่า

“อาซ้อกลับไปทำบุญที่ทับกฤช ส่วนแม่ไปวัดกับซ้อเรณู”

กมลรู้สึกแปลกใจเป็นอย่างมาก เพราะแค่ทั้งคู่กลับมาญาติดีกัน จนกระทั่งใช้สอยให้ทำขนมขันหมาก ชวนไปร่วมงานแต่งของเขา ก็เป็นเรื่องเหลือเชื่อแล้ว แต่ถึงกับไปวัดไปทำบุญด้วยกัน ยิ่งสร้างความประหลาดใจให้มากขึ้นไปอีก

“ไม่ใช่แค่พากันไปทำบุญนะ ลื้อยังไม่รู้มั้ง ว่า ม้าน่ะ กำลังจะเปิดร้านตัดผ้าให้อาซ้อด้วย”

แล้วประสงค์ก็ขยายความเรื่องร้านขายผ้าของเรณูคร่าว ๆ โดยไม่ได้พูดให้กมลฟังหรอกว่า เรื่องนี้ ทำให้พิไลถึงกับกระฟัดกระเฟียด คิดว่าแม่ของตนนั้นถูกเรณูทำของใส่เหมือนกับที่เรณูเคยทำใส่ปฐม เพราะถ้าพูดมากไป เรื่องก็คงไม่จบง่าย ๆ แล้วอีกอย่าง การที่แม่กับเรณูเข้ากันได้ ก็เป็นผลดีกับแม่ เพราะเรณูนั้นขยันเอาอกเอาใจ ทำขนม ทำกับข้าวมาเผื่อแผ่ เห็นแม่ กินข้าวปลาอาหารได้ ยิ้มแย้มแจ่มใส เขาเองก็พลอยมีความสุข ส่วนเรื่องที่พิไล ‘เต้น’ เขาคิดว่า ถ้าเขาไม่เต้นตาม พิไลก็คงจะเลิกราไปเอง เพราะผลประโยชน์ที่เสียให้เรณูกับพี่ชายนั้น ว่ากันตามจริง มันก็สมเหตุสมผลที่แม่ยกมากล่าวอ้าง

“แล้วลื้อล่ะ แต่งงานแล้วเป็นอย่างไรบ้าง ทำไมไม่พาเมียมาด้วย” ประสงค์วกกลับมาหาเรื่องของกมล

“ก็...ดี...ตามประสา”

“แต่หน้าตาของลื้อ มันบอกว่า ลื้อ มีเรื่องไม่สบายใจ ที่โน่นเป็นอย่างไรบ้าง”

“ก็ไม่มีอะไร เพียงแต่มันแปลกที่ แล้วก็คิดถึงม้า คิดถึงบ้านน่ะ ที่โน่นมันเงียบ ๆ กลางคืนก็วังเวงอย่างกับป่าช้า บอกไม่ถูก...”

ประสงค์ไม่ถามอะไรต่อ...กมลจึงถามถึงรูปถ่ายที่มงคลอัดไว้ให้ ประสงค์บอกอยู่บนโต๊ะหลังบ้าน เขาเดินเข้าไปเปิดดู...เห็นว่า รูปเจ้าบ่าวเจ้าสาวเกือบทุกบานนั้น ทั้งคู่หาได้ยิ้มแย้มยินดีกับงานสำคัญในชีวิต และรูปที่ทำให้เขารู้สึกเจ็บแปลบหัวใจ ก็คือ รูปถ่ายของจันตาที่ถ่ายคู่กับปลัดจินกร แม้จะมีเพียงรูปเดียว...สีหน้าของปลัดนั้นดูมีความสุขมาก ส่วนจันตาเองนั้นแม้จะมีใบหน้าเรียบเฉย แต่ใบหน้ารูปไข่ที่มีเครื่องหน้าเหมาะเจาะลงตัวนั้นก็ดูอิ่มเอมใจที่มีปลัดหนุ่มนั้นอยู่เคียงข้าง...

**************

พิไลอ้างกับประสงค์และนางย้อยว่าอยากกลับไปทำบุญกับแม่ แต่ความจริงแล้ว นายเชิดได้ส่งข่าวบอกกับพิไลว่าที่โคกหม้อ-พันลาน มี ‘หมอเบี้ยว’ ที่เก่งพอ ๆ กับหมอมี...พิไลเห็นว่าช่วงทำบุญใหญ่วันลอยกระทงมีข้ออ้างจะกลับบ้าน จึงรีบใช้เหตุนั้น...หญิงสาวบอกกับประสงค์ว่า จะไปทับกฤชทางเรือกับ ‘น้าเชิด’ ลูกน้องเก่าของเถ้าแก่ฮงซึ่งเพิ่งจะเห็นกันเมื่อวันก่อน

พิไลถึงบ้านของหมอเบี้ยวในตอนบ่ายๆ ของวันโกน...สภาพบ้านของหมอเบี้ยวนั้นเป็นกระท่อมซอมซ่อแตกต่างจากบ้านหมอมีอย่างสิ้นเชิง...เห็นดังนั้นพิไลจึงไม่รู้สึกเลื่อมใสศรัทธา เพราะถ้าเก่งกาจจริง แน่นอนว่า ย่อมมีลาภสักการะจากคนที่มาให้ช่วยเหลือมากมาย แต่นี่...

“น้าเชิดแน่ใจนะว่า หมอเบี้ยวนี่แกเก่งจริง ทำไม...บ้านช่องถึงได้...”

“เขาว่ากันว่า แกเป็นคน สมถะ น่ะ คุณหนู...”

“อย่างนั้นรึ” พิไลชักสีหน้าว่าไม่เชื่อ แต่เมื่อมาแล้ว ก็ต้องลอง...พอเดินถึงตีนบันไดกลิ่นฉุนของธูปหรืออาจเป็นกำยานก็เตะจมูกจนพิไลต้องยกมือแตะปลายจมูก

“มาถึงแล้วก็พากันขึ้นมาซิ” มีเสียงแหบ ๆ ดังมาจากบนเรือน พิไลพยักหน้าให้นายเชิดขึ้นไปด้วยกันเพราะรู้สึกกลัว

พิไลขึ้นเรือนโดยให้นายเชิดขึ้นไปก่อน พอถึงนอกชาน นายเชิดก็พยักหน้าให้พิไลขึ้นตามมา พอพิไลขึ้นไปถึงก็เห็นร่างซูบผอมของหมอเบี้ยวที่นุ่งโสร่งอีสานไม่สวมเสื้อนอนเอนกายอยู่กับหมอนขวางเก่าคร่ำคร่า...อายุของแกน่าจะราว ๆ เจ็ดสิบปี แกสูบยาพ่นควันแล้วมองมาหา ด้วยสายตาว่างเปล่า...

“มีอะไรกันรึ”

แม้จะไม่อยากให้นายเชิดรับรู้ แต่พิไลก็รู้สึกหวาดกลัว เกินกว่าจะอยู่กับหมอเบี้ยวตามลำพัง...

“เอ่อ...”

“พูดมา...”

“บอกแกไปซิคุณหนู”

“เอ่อ...คือ เรื่องของฉัน มันเป็นมาอย่างนี้จ๊ะ ตอนแรกฉันหมั้นหมายอยู่กับเฮียใช้ ลูกชายคนโตของแม่ย้อย แล้วต่อมาเฮียใช้ ไปติดทหาร แล้วพาผู้หญิงที่ตาคลีกลับบ้านมาด้วย ผู้หญิงคนนั้นทำงานในบาร์ แกจดหมายมาถอนหมั้นฉัน แม่ย้อยรู้เข้าก็โกรธมาก เลยให้ฉันแต่งกับลูกชายคนรองของแก แล้วตอนหลัง เรามารู้กันว่า เมียเฮียใช้มันทำเสน่ห์ใส่เฮียใช้น่ะ...”

“รู้ ได้อย่างไง”

“ก็แม่ย้อย เขามาหาหมอมี หมอมีบอกว่าเฮียใช้โดนของ”

“ไอ้มีเองรึ มันตายไปแล้วนี่...” ว่าแล้วหมอเบี้ยวก็หัวเราะเบา ๆ

“จ้ะ หมอมีตายแล้ว ฉันก็เลยต้องมาหาพ่อหมอ...”

“แล้วมึงอยากให้กูช่วยอะไรมึง...”

“ตอนนี้ ฉันสงสัยว่าอีคู่สะใภ้ตัวแสบของฉัน มันทำของใส่แม่ผัวฉันรึเปล่า เพราะตอนนี้แกรักแกหลงมันเหลือเกิน ฉันกลัวว่า แกจะยกนั่นยกนี่ให้มันหมด”

“สรุป ก็คือมึงห่วงสมบัติ”

“เรื่องนั้นก็ด้วย...ก็ก่อนหน้านั้น แม่ผัวฉันเกลียดมันจะตาย ทะเลาะกัน ด่ากัน แต่จู่ ๆ ก็เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด พ่อหมอพอจะมีทางช่วยฉันได้ไหมจ๊ะ...”

“แก้ของรึ...”

“ฉันเดาว่า คนทั้งคู่โดนของ แต่ก็ไม่มีใครยืนยันหรอกจ๊ะ...ก็ตามที่เล่านั่นแหละ จู่ ๆ เฮียใช้ที่รักฉันมากก็เปลี่ยนไป แม่ย้อยที่เคยเกลียดอีเรณูอย่างกับอะไรดี ก็เปลี่ยนไป ไม่โดนของแล้วจะเป็นอะไรไปได้”

“ก็น่าจะโดนของนั่นแหละ แต่ว่า ของที่ไหน” หมอเบี้ยวมีสีหน้าครุ่นคิด

“ฉันก็ไม่รู้...”

หมอเบี้ยวขยับตัวนั่งตรง แล้วมองหน้าของพิไล...

“มึงมีค่าจ้างให้กูไหมล่ะ ค่าวิชชากูแพงนะ”

“เท่าไหร่จ๊ะ”

หมอเบี้ยวมองหน้านายเชิด แล้วก็มองหน้าพิไลก่อนจะบอกอย่างชัดถ้อยชัดคำว่า “สองร้อย”

“โอ้โฮ ทำไมมันถึงได้...”

พิไลพูดไม่ทันจบหมอเบี้ยวก็บอกว่า “ถ้าไม่สู้ราคา ก็กลับกันไปซะ”

พิไลหันมาหานายเชิดแล้วถามว่า “ไหน น้าเชิดบอกว่าแกสมถะ...”

“ก็คนอื่นบอกมาอีกที”

พิไลชักสีหน้าครุ่นคิด ระหว่างนั้น หมอเบี้ยวก็เปิดฝากระป๋องขนมคุ้กกี้ซึ่งถูกเปลี่ยนมาใส่ยาเส้น กระดาษมวนยา แล้วก็ไม้ขีดไฟ ทำท่ามวนยาด้วยอาการใจเย็น ปล่อยให้ ‘ลูกค้า’ ชั่งน้ำหนักดูว่า จะเสียเงินหรือจะปล่อยให้ปัญหามันคาใจอยู่อย่างนั้น

“ค่อย ๆ คิด กูไม่รีบ...กูรู้ว่า เงินมันเยอะ มึงย่อมเสียดายเป็นธรรมดา”

“แต่ถ้ามันได้ผล มันก็ไม่แพงหรอก ฉันจ่ายให้ครึ่งหนึ่งก่อนได้ไหมล่ะ ถ้าแก้ได้ ฉันจะให้อีกครึ่ง” เรื่องต่อลองพิไลนั้นไม่เป็นสองรองใครเหมือนกัน...

“ถ้ามึงไม่สู้ราคา มึงก็กลับกันไปซะ”

“ถ้าฉันจ่ายไปแล้ว ฉันจะมั่นใจได้อย่างไรละว่า มันจะได้ผล”

“ก่อนหน้านั้น มึงรู้ไหม ว่าไอ้มีมันตายด้วยสาเหตุอะไร”

“โรคลมปัจจุบัน”

พอพิไลบอกอย่างนั้นหมอเบี้ยวก็หัวเราะเสียงแหบ ๆ...ก่อนจะจุดมวนยาแล้วอัดควันเข้าปอด...สีหน้านั้นเต็มไปด้วยความมั่นใจ

“มึงรู้ไหม กูได้ค่าจ้าง สู้กับไอ้มี ด้วยเงินเท่าไหร่”

“อะไรนะ”

“ใครก็จับมือกูดมไม่ได้หรอก ของแบบนี้ มันไม่มีหลักฐานอะไร” ว่าแล้วหมอเบี้ยวก็หัวเราะเสียงดัง...พิไลลอบสบตากับนายเชิด...

“ตัดสินใจเถอะคุณหนู ยอมเสียเงินแค่สองร้อย แต่ถ้าแม่ผัวคุณหนูกลับมาเป็นปกติ คุณหนูจะได้มากกว่านะ”

“สองร้อยนี่สองคนได้ไหม ทั้งเฮียใช้ด้วย แม่ผัวหนูด้วย” พิไลยังไม่วายขอต่อลอง

“คนละสองร้อย...ถ้ามึงยอมจ่าย กูจะรับประกันว่ามันจะต้องได้ผล”

“ก็ได้ ฉันยอมจ่าย แต่ถ้าไม่ได้ผลล่ะ...พ่อหมอจะรับผิดชอบอย่างไร”

“รับผิดชอบด้วยชีวิตกูนี่แหละ...”

“หมายความว่าไง” พิไลรีบถาม

“มึงเคยได้ยินที่คนโบราณเขาพูดกันว่าหมองูตายเพราะงูไหมล่ะ ถ้าฝั่งนั้นเป็นสายแข็ง มันก็ไม่ต่างกับเอาไม้ซีกไปงัดไม้ซุงหรอก งัดไม่ได้ ไม้ซีกมันก็หัก...กูก็อาจจะตาย! เหมือนที่ไอ้มีมันตายนั่นแหละ...”

“ผมพอเข้าใจที่หมอเบี้ยวพูดแล้วคุณหนู”

“ได้ ถ้าอย่างนั้นฉันยอมจ่าย แต่เฉพาะของแม่ผัวฉันก่อนนะ ถ้าได้ผลของเฮียใช้ค่อยว่ากันอีกที”

พิไลจำต้องเปิดกระเป๋าถือใบเล็ก หยิบเงินส่งไปให้ หมอเบี้ยวมองเงินนั้นแล้วเปิดฝากระป๋อง บอกให้พิไลหยิบเงินใส่ พอปิดกระป๋องแล้ว แกก็ลุกขึ้น คว้าผ้าข้าวม้าที่พาดอยู่ที่ข้างฝา แล้วเดินเข้าไปในห้องที่ตีกั้นด้วยฟาก ซึ่งเป็นต้นทางของกลิ่นธูป... แกหายไปพักใหญ่ ๆ แล้วก็เดินออกมาพร้อมกับใบหน้าเต็มไปด้วยเม็ดเหงื่อ แววตานั้นดูอ่อนล้าอย่างเห็นได้ชัด...

พิไลที่ชะเง้อมองดู ลุ้นกับผลงานรีบถาม... “ว่าไงพ่อหมอ”

หมอเบี้ยวไม่ตอบคำถาม แต่เปิดฝากระป๋องแทน... “มึงเอาเงินของมึงคืนไป แล้วก็กลับไปซะ”

“หมายความว่า”

“กูช่วยอะไรมึงไม่ได้ กูก็เก็บเงินมึงมาใช้ไม่ได้”

“ช่วยพูดให้มันกระจ่างกว่านี้หน่อยได้ไหม”

“สายวิชาของเขาแรงจริง ๆ แล้วนังแม่ผัวมึงน่ะ มันดวงตกด้วย มันก็เลยกลายเป็นประเภทผีซ้ำด้ามพลอย ทางเดียวที่จะบอกมึงได้ก็คือ มึงต้องปล่อยเวลาไว้สักระยะ อะไรที่จะต้องเสีย มันก็ต้องยอมเสียไปบ้าง เพราะคนเราแต่ละคนก็มีเวรมีกรรมเฉพาะตัว...เขาทำเรื่องของเขามา เขาก็ต้องชดใช้ของเขา มึงเข้าใจที่กูพูดไหม”

พิไลส่ายหน้า...หมอเบี้ยวไม่อธิบายอะไรต่อ ไม่ยอมตอบคำถามใด ๆ อีก แกบอกให้พิไลเก็บเงินแล้วพากันกลับไป พิไลนั้นแม้จะรู้สึกเสียเวลา แต่ก็ไม่ได้เสียเที่ยวซะทีเดียว อย่างน้อยก็รู้ว่า อีเรณูนั้นเล่นคุณไสยจริง ๆ เพียงแต่ต้องสืบให้รู้ว่า มันทำจากที่ไหน และจะหาใครมาแก้ไขเรื่องสกปรกนี้...เป็นเรื่องที่พิไลครุ่นคิดตั้งแต่นั่งเรือจากบ้านหมอเบี้ยวจนถึงบ้านที่ทับกฤช...

***************************


Title: Re: กรงกรรม บทประพันธ์ของ จุฬามณี
Post by: นักประพันธ์ on 02 March 2020, 14:47:36
ตอนที่ 27 : เรื่องของเขา เรื่องของเรา


            ๒๗


แม้จะเป็นคนขี้งก อยากได้ อยากมี อยากเป็น แต่พิไลก็รู้จักที่จะใช้เงินให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด ถ้าจ่ายเพื่อความสุข ความสบาย พิไลพร้อมจ่าย ดังนั้นพิไลจึงจ่ายเงินให้นายเชิดมากกว่าที่ตกลงกันไว้ โดยกำชับว่า อย่าได้แพร่งพรายเรื่องนี้ให้ใครรู้ และนายเชิดก็ต้องพยายามสืบเสาะหาคนดีมีวิชชามาให้ด้วย...

หลังนายเชิดขับเรือกลับชุมแสง พิไลเดินเข้าบ้าน...พบแม่ก็ยกมือไหว้แล้วสวมกอดให้คลายความคิดถึง...

“มาอย่างไรไปอย่างไร อยู่ทางโน้นสบายดีไหม”

“สบายดีจ้ะแม่ ว่าจะกลับมาทำบุญกับแม่...แล้วนี่เตี่ยไปไหน”

“ไปบ้านโน้น” บ้านโน้น คือบ้านในตลาดที่มีแม่ใหญ่อยู่กับพี่ ๆ ซึ่งพิไลรู้สึกริษยา ยามเมื่อรู้ว่าลูกเมียเอกนั้นมักจะ ‘ได้’ และ ‘เป็น’ อะไรๆ ที่ดีกว่า ลูกเมียเล็กเช่นตนเอง

“ทิ้งให้แม่อยู่คนเดียวเนี่ยนะ”

“ก็อยู่กับคนงาน...หนูก็รู้ว่าเตี่ยสุขภาพไม่ค่อยดี อยู่ที่โน่นใกล้มดใกล้หมอ แต่หลังลอยกระทงก็คงกลับ”

“แล้วแม่เหงาไหมล่ะ”

“ไม่เหงาหรอก จะมีก็แต่คิดถึงหนูนั่นแหละ บอกตรง ๆ ว่าแม่เป็นห่วง”

“ไม่ต้องห่วงหนูหรอก หนูโตแล้ว” แล้วพิไลก็เล่าเรื่องทางโน้นตั้งแต่วันแต่งงาน จนถึงปัจจุบันให้แม่ฟังคร่าว ๆ...จนกระทั่งถึงเรื่องสำคัญที่ทำให้แม่ถึงกับตาโต...

“โอ้โฮ มันเล่นแรงขนาดนั้นเลยรึ ทำไมมันร้ายกาจขนาดนี้”

“ก็คนมันยากจนน่ะแม่ มันก็คงอยากได้ อยากมี อยากเป็น จนไม่คิดถึง ผิด ชอบ ชั่ว ดีอะไรหรอก แต่หนูจะไม่ยอมให้มันได้เสวยสุขง่าย ๆ หรอกนะ ที่หนูต้องรีบกลับมาบ้าน ก็เพราะหนูจะหาวิธีช่วยแม่ย้อย ช่วยเฮียใช้เขาด้วย แม่พอรู้จักคนดีมีวิชชาแก้ของบ้างไหม”

“แม่ก็ไม่ค่อยได้สนใจเรื่องพวกนี้ แต่แม่ว่า ไปถามหลวงพ่อดีกว่า เผื่อท่านจะมีวิธีช่วย...อ้อ ถ้าจะไป ก็ไปซะวันนี้เลย พรุ่งนี้วันพระใหญ่ ท่านจะยุ่งกว่าวันนี้”

*************

“อาซาๆ” เสียงร้องเรียกของเรณูทำให้กมลหยุดชะงัก...พอหันไปทางต้นเสียง เขาก็เห็น แม่ เรณู หมุ่ยนี้ และจันตา นั่งอยู่ในร้านขายเสื้อผ้าโดยมีอาอึ้มเจ้าของร้านนั่งอยู่ด้านในสุด...กมลรีบเดินเข้าไปหาพร้อมกับยกมือขึ้นไหว้แม่ รวมถึงอาอึ้มผู้มีอาวุโสที่สุดนั่นด้วย

“มาได้อย่างไรล่ะอาซา แล้วนี่กำลังจะไปไหน” แม่ของเขาถาม

“มาดูรูปงานแต่ง แล้วก็จะไปหาแม่ที่วัดนั่นแหละ” ตอนนั้นสายตาของกมลสบกับตาของจันตาที่นั่งอยู่ใกล้เขาที่สุด เพียงอึดใจ จันตาก็หลบสายตาของเขา
.
“เจ้าบ่าวเจ้าสาวไม่ยิ้มสักรูปเลยนะ...ตอนอาสี่ถ่ายให้ มันไม่บอกให้ยิ้มบ้างหรือไง” หมุ่ยนี้ถาม

“ก็บอก...แต่เหนื่อย เลยยิ้มไม่ออก...แล้วมานั่งทำอะไรกันพร้อมหน้าอยู่ที่นี่”

“มาทำสัญญาเซ้งร้าน...เรียบร้อยแล้ว กำลังจะกลับบ้านกันพอดี” นางย้อยเป็นฝ่ายตอบ

กมลมองเห็นตะกร้าใส่หม้ออวย เครื่องกรวดน้ำทองเหลืองและปิ่นโตวางอยู่ที่พื้น...ส่วนแม่ของเขาหันไปหาเจ้าของร้านแล้วบอกว่า

“ก็ตามที่ตกลงกันละนะ ปลายเดือนซิ่มย้ายออก ต้นเดือนอาเรณูจะได้ย้ายเข้ามา ส่วนของที่เหลือ ซิ่มก็เก็บไปให้หมดนะ เดี๋ยวอาเรณูมันจะหาของใหม่ๆ เข้ามา”

“อาอึ้มจะย้ายไปไหน”

“ไปอยู่ที่ตะพานหินกับลูกสาว” หมุ่ยนี้เป็นฝ่ายตอบ...

เมื่อธุระตรงนั้นเสร็จเรียบร้อย หมุ่ยนี้กับจันตาก็แยกย้ายกลับบ้าน กมลเป็นฝ่ายถือตะกร้าและปิ่นโตเดินคู่กับเรณูตามหลังแม่ ระหว่างทาง คนที่เห็นแม่กับเรณูเดินด้วยกันก็ร้องทัก แม่ก็บอกคร่าว ๆ ว่าไปทำบุญกันมา แล้วก็บอกเล่าเรื่องร้านใหม่ของเรณูที่จะเปิดในต้นเดือนหน้า...น้ำเสียงนั้นบ่งบอกว่าอารมณ์สดชื่นแจ่มใส ผิดก่อนหน้านั้น...

“ไม่อยากจะเชื่อเลยว่า ซ้อกับแม่จะญาติดีกันได้ มันเกิดขึ้นได้อย่างไร...และตั้งแต่ตอนไหน” กมลเอ่ยถามเบา ๆ...

ไม่ใช่ครั้งแรกที่เรณูได้ยินแบบนี้ หญิงสาวจึงตอบกลับไปด้วยสีหน้าและน้ำเสียงเป็นปกติ เพราะเมื่อผ่านการพูดปดครั้งแรกไปแล้ว ครั้งต่อ ๆ ไป ถ้าจำได้ ก็ไม่ใช่ปัญหา

“พี่ว่ามันน่าจะเริ่มตั้งแต่ตอนที่เรียกมาทำขนมขันหมากให้เธอนั่นแหละ...นี่จะกลับวันไหน” พอเห็นว่าเรื่องจะมาพันตัว เรณูก็รีบเปลี่ยนเรื่อง...

“ยังไม่รู้เลย อาจจะคืนเดียว หรือสองคืน...”

“ถ้าอย่างนั้น คืนนี้ก็เที่ยวลอยกระทงด้วยกันได้ซินะ วัดชุมแสงมีงาน ข้ามฟากไปดูลิเกกัน หมุ่ยนี้ ปลัดจินกร จันตาก็จะไปด้วย”

ได้ยินดังนั้นกมลก็นึกในใจว่า จะไปทำให้รู้สึกแสลงลูกนัยย์ตา เขาจึงบอกว่า “อยากไปดูหนังมากกว่า...อยู่โน่น มัน วังเวงวิเวกวิโหวเหว”

“วิโหวเหว ได้ไง มันน่าจะ...เอ่อช่วง ข้าวใหม่ปลามัน น่าจะกินกันอร่อยดี” ว่าแล้วเรณูก็หัวเราะ

กมลได้แต่ยิ้มแห้ง ๆ...ถ้าขืนบอกกับเรณูไปตามความเป็นจริง ...มันก็คงเป็นเรื่องตลก...เขาจึงบอกว่า

“คนไม่ได้เห็นหน้ากันมาก่อน ไม่ได้รู้จักกันมาก่อน มันก็ บอกไม่ถูก...”

“ยังปรับตัวเข้าหากันไม่ได้อีกรึ”

“ก็ดีขึ้นแล้วแหละ...” เมื่อเห็นว่าไม่ควรจะแพร่งพราย ‘ความ’ ในบ้าน ในห้อง ในมุ้ง ไปให้ ‘มากความ’ กมลจึงต้องตัดบท

เรณูพออ่านใจของกมลออก จึงเปลี่ยนเรื่องคุยอีกครั้ง

“เดือนหน้า นังวรรณามันจะขึ้นประกวดนางสาวสี่แควแล้วนะ นี่พี่กับอาเจ๊หมุ่ยนี้ จันตา ว่าจะตามไปเชียร์มันสักหน่อย ไปด้วยกันไหม”

“เดือนหน้า งานกาชาดของจังหวัดใช่ไหม...คงไม่ได้ไปหรอก งานในนากำลังยุ่งเลย ที่นาเขาไม่รู้จักกี่ทุ่ง ปีใหม่จะเกี่ยวข้าวหมดรึยังก็ไม่รู้”

“แค่ไม่กี่วันเอง เธอดูคล้ำไปเลยนะ”

“ต้องทำงานกลางแดดทั้งวัน มันก็ต้องดำซิซ้อ”

นางย้อยที่เดินนำหน้าอยู่นั้นได้ยินที่ทั้งสองคนคุยกันจึงหันมาพูดว่า “ผิวดำวันนี้ แล้วมันดีในวันหน้า ก็ต้องปล่อยให้มันดำไป...”

**************

‘ไอ้เรื่อง เดรัจฉานวิชชา อาตมาคงช่วยอะไรไม่ได้หรอกโยม’

‘แต่ว่า นังหนูมันทุกข์ร้อนมานะเจ้าคะ พอจะมีทางช่วยบ้างไหม หรือมีใครที่หลวงพ่อพอรู้จักใครเก่ง ๆ บ้างไหม’

‘ทางช่วยก็มีแค่น้ำมนต์ในโอ่งนั่นแหละ สวดทำวัตรเช้า-เย็น กันมาตลอดพรรษา หาอะไรตักใส่ไปให้คนที่ถูกของมันกิน แต่พุทธคุณจะช่วยได้หรือเปล่า อาตมาไม่รับประกันนะโยม’

‘ช่วยไม่ได้แล้ว จะให้เอาไปทำอะไรคะ’

‘หนักจะได้เป็นเบา เบาก็อาจจะคลายได้ อำนาจพุทธคุณ ธรรมคุณนั้นยิ่งใหญ่ไม่มีประมาณ แต่ว่า...มันก็ขึ้นอยู่กับกรรมเวรของเขาด้วย’

‘แล้วที่เขาว่ากันว่า คนดวงตก ผีซ้ำด้ามพลอย ละคะ เป็นอย่างไร’

‘ถ้าให้ตอบ ก็จะตอบว่า คนเรามันประกอบด้วยกรรมดี และกรรมไม่ดี ทั้งที่ระลึกได้ในชาตินี้ และที่ระลึกไม่ได้ว่าทำมาตั้งแต่ชาติไหน ๆ กรรมดีส่งผลเราก็สุขสบาย เจริญด้วยอายุ วรรณะ สุขะ พละ ปฏิภาณธนสารสมบัติ ลาภยศ และสรรเสริญ แต่ถ้ากรรมชั่วที่ทำไว้ส่งผล ชีวิตมันก็จะต้องเจอกับเรื่องตรงกันข้าม...ประมาณนั้นแหละ’

พิไลนั่งอยู่บนรถไฟ พลางครุ่นคิดถึงเหตุการณ์ระหว่างสนทนากับพระครูฯ เจ้าอาวาส เมื่อวานตอนบ่ายแล้วถอนหายใจออกมา ใจหนึ่งก็คิดว่า มันเป็น ‘เรื่องของเขา เราไม่ควรไปข้องเกี่ยว’ อย่างที่แม่เตือนสติก่อนจะขึ้นรถไฟมา

...แต่อีกใจมันก็ ‘เรื่องของเขา มันก็เรื่องของเราด้วย ไม่ข้องเกี่ยวด้วย ก็มีแต่จะเสียกับเสีย’

เสียรู้ เสียดาย เสียโอกาส เสียความรู้สึก และเสียทรัพย์ที่ไม่ควรจะเสีย แถมยังจะต้องเห็นมันอยู่ดีมีสุข ถ้านิ่งเฉยอยู่ ก็คงโง่เต็มที....งานนี้คนทำผิดมันก็ควรที่จะต้องรับผลกรรมของมัน...คิดได้ดังนั้นแล้วพิไลซึ่งมีดวงตาวาวโรจน์ก็พ่นลมหายใจออกมาไล่ความขุ่นมัว ทั้งที่เมื่อเช้าทำบุญกรวดน้ำรับศีลรับพรมาแล้ว


“เป็นอะไรรึอีหนู...” เสียงนั้นทำให้พิไลที่นั่งกอดตะกร้าใส่ขวดน้ำมนต์อยู่และหันไปมองนอกรถ หันกลับมายังที่นั่งตรงกันข้ามซึ่งมีหญิงวัยกลางคนสองคนนั่งมาด้วยกัน...พิไลไม่ได้ถามไถ่หรอกว่า ทั้งคู่ขึ้นมาจากที่ไหนและกำลังจะไปไหน เพราะตอนที่เห็นคนทั้งคู่ ก่อนจะทรุดตัวลงนั่ง พิไลก็เห็นแล้วว่าผู้ร่วมเดินทางเป็นเพียงหญิงชาวบ้านธรรมดาๆ แต่เมื่อทางนั้นเอ่ยทักก่อน พิไลที่รู้สึกอึดอัดใจอยากหาทางระบายออก ก็เลยตอบกลับไปว่า

“มีเรื่องไม่มีสบายใจนิดหน่อย”

“เรื่องอะไรรึ”

พอถูกซัก พิไลคิดในใจว่า ‘เจอคนสาระแนเข้าแล้วไหมล่ะ’ แต่จะไม่ตอบก็ใช่ที่ เพราะพื้นฐานของพิไลก็คือ ‘แม่ค้า’ จะถือตัวมากนักก็ไม่ได้ ที่เคยเห็นแต่งตัวมอซอเดินเข้ามาในร้าน เป็นประเภทผ้าขี้ริ้วห่อทองเสียก็มี

“คู่สะใภ้ฉัน มันทำของใส่แม่ผัวฉันน่ะ”

“ฮะ อะไรนะ”

“ป้าฟังไม่ผิดหรอก ตะก่อนแม่ผัวฉัน เกลียดมันอย่างกับอะไรดี ตอนนี้ กลับตาลปัตร คุยกันถูกคอ จนยกทรัพย์สินเงินทองให้ไปไม่น้อย ฉันกำลังหาหมอดี ๆ มาแก้อยู่เนี่ย แต่ยังหาไม่ได้ ป้าพอรู้จักหมอแก้ของพวกนี้ไหม”

“เอ่...ไอ้เรื่องพวกนี้ ข้าก็ไม่ค่อยได้สนใจ...”

พิไลได้ยินดังนั้นก็ถอนหายใจออกมาเบา ๆ คิดในใจว่า... ‘หมดเรื่องจะคุยละ’ แต่ว่า ก็ยังได้ยินคำถามจากคนใส่เสื้อสีขาว

“นังหนูแล้วนั่นนั่งกอดขวดอะไรมา”

“ขวดน้ำมนต์”

“ของวัดไหน”

“อยากรู้ไปทำไม” พอถูกซักไซ้เสียงของพิไลก็กระด้างหูขึ้น

“ก็มันเยอะมาก แสดงว่าต้องเป็นของดี”

“ดีหรือเปล่าไม่รู้ แต่หลวงพ่อให้ตักมา ก็เอามา แล้วนี่ป้าอยู่ที่ไหนกัน แล้วไปไหนกันมา” เพื่อให้เรื่องพ้นตัว พิไลจึงต้องถามกลับไปบ้าง

“อยู่บางมูลนาก ไปตาคลีกันมา”

คำว่า ‘ตาคลี’ นั้นเหมือนแสงสว่างจากปลายไม้ขีดที่ไล่ความมืดภายในห้วงความคิด...เพราะก่อนหน้านั้น นังเรณูมันอยู่ที่ตาคลี คนที่ทำของให้มันย่อมอยู่ที่ตาคลีแน่ ๆ

“ไปทำอะไรกันมารึ...”

“ก็....ไป เอ่อ ไปหาของดีน่ะ ไปเอาสีผึ้งมาสีปาก เอาไว้ใช้ตอนทำมาค้าขาย”

“จากที่ไหน”

ป้าคนเสื้อสีเขียวเอ่ยชื่อวัดและชื่อหลวงพ่อออกมา พร้อมทั้งบอกเล่าคุณวิเศษของพระองค์นั้นอีกยืดยาว พิไลจดจำไว้ โดยในใจคิดว่า ‘หลวงพ่อ’ ที่ดีขนาดนี้คงไม่ใช่ คนที่ ‘ทำของ’ ให้เรณูแน่ ๆ แต่จะเป็นหมอคนไหนในตาคลี พิไลจะต้องสืบรู้ให้ได้

***************

ลงจากรถไฟแล้ว พิไลที่หิ้วตะกร้าหวายใส่ขวดน้ำมนต์อยู่ก็คิดว่า ถ้าถือของพวกนี้กลับไปที่ร้าน นางย้อยก็จะต้องถามเหมือนที่นางป้า ๆ สองคนนั้น ครั้นจะบอกตามตรง แม่ก็บอกไว้ว่า

‘จะทำอะไรก็คิดให้ดี เพราะคนที่ถูกของน่ะ เขาจะรักจะหลงอีกฝ่ายเป็นอย่างมาก ทำอะไรก็ถูกอกถูกใจ คนทำถูกขัดใจก็จะกลายเป็นผิด ขัดหูขัดตาเขาไปเสียหมด หนูบอกเขา เขาก็คงไม่เชื่อ เพราะอวิชชามันบังตาอยู่ ฉะนั้น หนูอย่าวู่วาม ใจเย็น ๆ ค่อย ๆ คิดหาทางแก้กันไป...และที่สำคัญ แม่เรณูนั่น ถ้าเขาไม่ใจคอโหดเหี้ยม ไม่นึกถึงผิดชอบชั่วดี เขาก็ทำอย่างนั้นไม่ได้หรอก จะงัดข้อกัน ก็ต้องระวังตัวไว้ให้ดี หนูต้องเชื่อแม่นะ คิดจะเล่นกับมัน ต้องใช้ไม้นวม ถ้าใช้ไม้แข็ง มันไหวตัวทัน เรานั่นแหละ จะพลอยเดือดร้อนไปด้วย...’

ที่แม่ซึ่งเป็นคนใจเย็นพูดก็ถูก... ถ้าใช้ไม้แข็งมันจะไหวตัวทัน...เมื่อมันปั้นหน้าตอแหลยิ้มหวานยามเจรพาทีทั้งที่ใจคิดไม่ซื่อได้ พิไลก็ทำได้เหมือนกัน คิดได้ดังนั้นพิไลก็ให้จักรยานสามล้อปั่นไปส่งที่บ้าน ...อาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าแล้ว พิไลก็เดินมาที่ตลาด...ระหว่างทาง นายเชิดที่เหมือนจะรอท่าอยู่ก็รีบเข้ามาหา...

“คุณหนู...”

“ได้เรื่องอะไรไหม...”

“เรื่องนั้น ยังไม่ได้เรื่องหรอกครับ แต่ผมมีเรื่องจะรบกวนคุณหนูหน่อย...” ว่าแล้วนายเชิดก็หันซ้ายหันขวา ก่อนจะปลดผ้าขาวม้าที่เอวออกมา...เผยให้เห็นของที่ห่อซ่อนไว้

“ตะปิ้งทองคำแท้ ของเก่าครับ”

“แล้วน้าไปเอามาจากที่ไหน”

ภวังค์นั้นพิไลนึกถึงคำพูดของนางย้อยขึ้นมา ‘กลัวเป็นของโจร ฉันจะพลอยเดือดร้อนไปด้วย’

“เอ่อ พวกคนเรือด้วยกันน่ะ มันร้อนเงิน แม่ยายมันเลยให้เอาออกมาขาย ผมไปที่ร้านทองมาแล้ว เขากดราคา ผมก็เลยนึกถึงคุณหนู”

“เขาให้เท่าไหร่”

พอนายเชิดบอกน้ำหนักทองพร้อมกับราคาที่ ‘ถูกกด’ พิไลก็นึกถึงคำพูดของย้อยขึ้นมาอีก ‘ของพวกนี้ มันเป็นของร้อน กดราคาได้ก็กด จำเอาไว้’ ทางร้านทองต้องรู้แน่ ๆ ว่า เป็น ‘ของร้อน’ ซึ่งเหมา ๆ รวม ๆ ว่าเป็นของโจรด้วย ถึงได้กดราคาเหมือนที่นางย้อยเคยทำให้เห็น

“แล้วน้าจะให้ฉันช่วยอะไร”

“ถ้าปล่อยร้านทองไป เขาก็ให้ราคาถูก ๆ เท่อ ๆ ผมว่าจะขอจำนำคุณหนูไว้ดีกว่า”

“แล้วทำไม ไม่จำนำร้านทองเขาไว้ล่ะ...”

“กับคุณหนู ถ้าเผื่อเหลือเผื่อขาดเรื่องดอกดวง เราก็น่าจะยังคุย ๆ กันได้ ถ้ามันขาดจริง ๆ ของไปอยู่กับคุณหนู ผมก็ไม่เสียดายหรอกครับ”

“แต่ราคามันสูงอยู่นะ...”

“คุณหนูช่วยหน่อยนะครับ พ่อตามันป่วยต้องใช้เงินรักษาตัว คิดซะว่าทำบุญกับคนยากเถอะครับ”

พิไลหยิบของชิ้นนั้นขึ้นมาพิจารณาอย่างถ้วนถี่ ‘ตะปิ้งทองคำ’ งานโบราณ เก็บไว้ให้ลูกสาวก็คงดีจะดีไม่น้อย แต่ว่า... ‘มันแพง’ ถ้าลดราคาได้อีกหน่อยก็น่าสนใจ...

“ฉันช่วยได้แค่ 900 บาท มากกว่านี้ก็ไม่ไหวแล้วน้า เงินทองฉันก็ไม่ค่อยมี”

นายเชิดนิ่งคิด... แล้วก็บอกว่า “900 ก็ได้ครับ”

“แล้วถ้าจะมาไถ่ถอนคืน ฉันให้ระยะเวลา สามเดือนนะ คิดดอกเบี้ย 100 บาท เป็น 1000 บาท ถ้าจะตัดดอกเป็นคราว ๆ ก็ได้...แบบนี้ดีไหม สัญญาไม่ต้องทำกันหรอกนะ ฉันไว้ใจน้า น้าไว้ใจฉัน”

“ดีครับ เผื่อมันได้ข้าว มันจะได้มีเงินมาไถ่ถอนคืน...”

“ถ้างั้นน้าก็รอฉันอยู่ที่ท่าเรือแล้วกัน เดี๋ยวฉันกลับไปเอาเงินที่เฮียก่อน” พิไลจำต้องอ้างประสงค์ เพราะนายเชิดจะได้ไม่รู้ว่า ตนเองนั้น เก็บเงิน เก็บของมีค่าไว้ที่บ้าน...เรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ นั้น เตี่ยสอนเสมอว่า อย่าได้ไว้วางใจใครทั้งนั้น!

*************

“อ้าว อาซา กลับมาตั้งแต่เมื่อไหร่” พอเห็นกมลนั่งอยู่ที่โต๊ะบัญชี พิไลก็รู้สึกแปลกใจรวมถึงแสลงใจเป็นอย่างมาก เพราะ ‘กมล’ ที่ถือว่า ‘ออกเรือน’ ไปแล้ว นางย้อยก็ยังไว้ใจให้นั่งคุ้มเก๊ะเงิน ตนที่เป็นแค่ลูกสะใภ้ นางย้อยก็ยังกันท่า

มันเป็นการเลือกปฏิบัติชัด ๆ

“กลับมาตั้งแต่เมื่อเช้า ตั้งใจมาเอารูปถ่ายงานแต่งน่ะ”

“มาคนเดียวหรือ”

“ครับ...คนเดียว”

“แล้วจะกลับเมื่อไหร่ล่ะ”

“ว่าจะค้างสักคืน พรุ่งนี้ก็กลับแล้ว ทางโน้นมีงาน” กมลก็เพิ่งรู้สึกเหมือนกันว่า เมื่อ ‘แต่งเมีย’ ออกจากบ้านไปแล้ว คนก็จะมองว่า เขากลายเป็น ‘คนอื่น’ ในบ้านหลังนี้ ไม่ใช่แค่พิไลที่ถามแบบนี้ แต่คนแถว ๆ นี้ และลูกค้า พอเห็นว่าเขามานั่งแทนแม่ แทนเฮียตง ก็จะถามเหมือนๆ กัน… ถามเหมือนอยากจะได้คำตอบว่า ชีวิตคู่ของเขานั้นไปไม่รอด! ทั้งที่เพิ่งเริ่มต้นไม่ถึงสัปดาห์

“อ้าว พิไล” ประสงค์ที่เดินไปเข้าห้องน้ำ เดินออกมาก็ทักพิไล...

“เฮีย ไม่ได้อยู่ที่โรงสีรึ”

“วันนี้โรงสีหยุด ม้าจะไปทำบุญ เลยให้มาเฝ้าร้านให้ มาถึงนานหรือยัง”

“ก็สักพักแล้วแหละ กลับไปบ้านมาแล้ว อาบน้ำอาบท่าเสร็จ ก็มาที่ร้าน เผื่อมีอะไรยุ่ง ๆ” ขณะที่ตอบประสงค์ พิไลก็ได้ยินเสียงนางย้อยที่อยู่ด้านหลังถามว่า
“พิไลกลับมาแล้วรึ”

“กลับมาแล้วม้า” ประสงค์บอก

“พิกุลเป็นอย่างไรบ้าง”

พอนางย้อยถามถึงแม่ พิไลจึงเดินเข้าไปหลังร้าน พบว่านางย้อยนอนตะแคงอยู่บนเก้าอี้ยาว ซึ่งปกติก็ใช้วางของซะเป็นส่วนใหญ่

“เตี่ยกับแม่ สบายกันดี...อ้าว แล้วม้า ทำไมนอนซะล่ะ เป็นอะไรรึเปล่า”

“รู้สึกเมื่อยเนื้อเมื่อยตัว อยากพักผ่อนบ้างน่ะ”

ได้ยินดังนั้น พิไลก็เบะปากทันที คิดในใจว่า ‘เป็นเพราะลูกชายอยู่ ถึงได้หลบมานอน ถ้าอยู่กับสะใภ้ก็ไม่ยอมทิ้งเงินหรอก...คงกลัวว่าตนจะเม้มเข้าพกเข้าห่อ... อย่าให้เผลอก็แล้วกัน แม่จะกวาดเสียให้หมด’

หลังบ้านไม่เฉพาะแต่นางย้อยที่นอนพักผ่อน ที่หน้าเตายังมีเรณูอยู่อีกคน...เรณูหันมายิ้มให้พิไล เป็นยิ้มที่พิสุทธิ์ ทำเหมือนกับว่าก่อนหน้าไม่มีปัญหาอะไรกัน พิไลเห็นดังนั้น จึงถามว่า

“อ้าว ซ้อ มาทำอะไร”

“ม้านึกอยากกินหลนปูเค็ม ก็เลยมาทำให้ อาซาก็อยากกินพะโล้ ก็เลยทำพะโล้อีกอย่าง”

“แล้วเฮียตงล่ะ อยากกินอะไร”

“เห็นบอกว่ากินอะไรก็ได้ แต่พอดีจะทำต้มยำกุ้งอีกอย่างก็เลย กลายเป็นเมนูอะไรก็ได้ไปเลย... เดี๋ยวกินข้าวเย็นด้วยกันนะ ใกล้จะเสร็จละ เตี่ยกลับมาจากโรงสีอาบน้ำอาบท่าแล้วก็กินได้เลย...”

พิไลไม่อยาก ‘ร่วมวง’ ด้วย เพราะกลัวแม่ครัว จะ ‘ใส่’ อะไรลงไป ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง ๆ เห็นที ทุกอย่างก็คงจะเป็นของเฮียใช้ของเรณูทั้งหมด ตัวเองก็คงได้แต่ก้มหน้า เป็นลูกจ้างบรรดาศักดิ์ในร้านไปจนตาย...

“ฉันยังอิ่ม ๆ อยู่เลย ไม่รู้ว่าซ้อจะมาทำกับข้าว ลงรถไฟ ฉันก็แวะกินก๋วยเตี๋ยวมาละ...”

“เสียดายจัง พออยู่กันพร้อมหน้า ซ้อก็อิ่มแล้วซะอีก”

“พร้อมหน้า” เพราะรู้สึกเหลืออดพิไลจึงทวนคำนั้นเบา ๆ...เรณูที่หันไปมองหม้ออยู่บนเตาจึงไม่ได้ยินและไม่เห็นสีหน้าสะอิดสะเอียนกับทีท่าซื่อ ๆ ของเรณู...

“แล้ววันนี้ได้ขายของรึเปล่า” พิไลรีบเปลี่ยนเรื่อง

“ไม่ได้ขายหรอก ไปทำบุญกับม้ามาน่ะ เสร็จแล้วก็ไปทำสัญญาเซ้งร้านกันต่อเลย”

“แล้วจะเข้าไปขายเมื่อไหร่”

“ต้น ๆ เดือนหน้า”

“แล้วจะเลิกขายขนมเลยรึเปล่า”

“ยังหรอก ก็ยังต้องขายไปก่อน เหลืออีกเป็นสิบๆ วัน ขายขนมไปพลางบอกลูกค้าไปพลางว่าจะเลิกขายแล้วจะไปทำอะไรตรงไหน มันก็น่าจะดีกว่า...เปิดร้านมา คนก็ตามไปหาได้ถูก”

“แล้วจะหาผ้าจากที่ไหนมาขาย”

“เรื่องผ้า รอให้วรรณามันเสร็จเรื่องประกวดนางงามอะไรมันซะก่อน แล้วค่อยมาคุยกันอีกทีว่าจะทำร้านอย่างไร แต่พี่ว่าจะทำขนมขายที่หน้าร้านไปก่อนแหละ อยากทำข้าวเกรียบปากหม้อ กับพวกสาคูไส้หมู ขายตั้งแต่เช้าไปเลย...ส่วนเรื่องผ้า เจ้าของเดิมเขาว่า เขาไปรับมาจากสำเพ็ง อย่างไรก็ต้องไปปรึกษากับวรรณามันอีกที มันอยู่กับผ้ามามันต้องรู้เรื่องมากกว่า แต่ถ้าจะไปสำเพ็ง เจ๊หมุ่ยนี้ เขาก็จะไปเป็นเพื่อน คือเขาก็อยากเข้ากรุงเทพฯ ไปเปิดหูเปิดตาเหมือนกัน พี่เองก็ไม่ค่อยประสีประสาเรื่องในกรุงเทพฯสักเท่าไหร่หรอก”

เรณูยังเล่าอะไรอีกยืดยาว พิไลฟังแล้วก็เห็นว่าช่องทางชีวิตของเรณูนั้นสว่างไสว ...ไม่ใช่แค่มีแต่ร้านเป็นของตัวเอง มีลูกน้องเป็นน้องสาวคลานตามกันมาคอยช่วยเหลือ มีแม่ผัวรัก แต่เรณูนั้นมีเพื่อนคู่คิดอีกด้วย...คิดแล้วก็รู้สึกเจ็บใจ ‘คนทำเลว’ ทำไมถึงได้เสวยสุข กฎแห่งกรรมทำไมมันไม่ยุติธรรมอย่างที่คนโบราณเขาว่า

แต่ก่อนขอตัวออกมาข้างนอก ระหว่างที่คุยกันอยู่ พิไลที่พยายามปรับน้ำเสียงให้เป็นปกติก็เห็นว่า ‘สายสร้อย’ ในคอของเรณูนั้นมัน บาดตา บาดใจเหลือเกิน ถ้าเรณูยังต้องหาบของออกจากโรงสีตั้งแต่เช้ามืด แล้วถูกโจรมันจี้เอาทองที่ใส่ล่อตาล่อใจไป ก็คงจะจับมือใครดมไม่ได้ เหมือนกับที่หมอเบี้ยวว่าไว้...

************

เดินออกมาหน้าร้านแล้ว พิไลก็ดึงประสงค์ออกมาที่หน้าร้าน คะเนว่าพ้นหูพ้นตาของกมลแล้วพิไลก็บอกว่า

“เฮีย... เฮียไม่ต้องอยู่กินข้าวเย็นที่นี่นะ แล้วต่อไปเฮีย อย่าไปกินอะไรของอีเรณูอีกเด็ดขาด”

“ทำไมล่ะ”

“ฉันไปสืบเรื่องมาละ อีเรณูน่ะ มันทำของใส่ม้า ใส่เฮียใช้จริงๆ”

“ใครบอก”

“ฉันรู้มาละกัน ตอนนี้ ก็กำลังหาวิธีแก้ไขอยู่ เฮียต้องช่วยฉันด้วยนะ นี่ฉันได้น้ำมนต์มาจากวัดที่บ้าน เดี๋ยวต้องหาวิธีเอาให้ม้ากิน และอาบ แต่ก็ไม่รู้ว่าจะได้ผลหรือเปล่านะ ทางที่ดี ต้องสืบให้ได้ว่า มันไปทำของจากที่ไหน เพราะหมอที่ดูให้ เขาบอกว่าของที่มันใช้แรงมาก แกเลยช่วยอะไรไม่ได้ แล้วอีกอย่างช่วงนี้ ม้าดวงตกด้วย เลยผีซ้ำด้ามพลอย”

ประสงค์นิ่งฟัง พิไลเห็นว่าเขาอาจจะไม่เชื่อจึงเสริมว่า

“เฮียก็เห็นแล้วนี่ ม้าน่ะ หน้าหมองคล้ำทั้งที่อยู่แต่ในร่ม แล้วก็พูดดีกับมันอย่างกับไม่เคยเกลียดกันมาก่อน นี่ก็ไม่รู้แอบเอาอะไรให้มันอีกหรือเปล่า เงินทองที่จะไปซื้อผ้าซื้อผ่อนมาขายมาเปิดร้าน ฉันว่ามันก็คงไม่พ้นเงินของม้าหรอก น้ำหน้าอย่างมัน จะไปเอาทุนรอนมาจากที่ไหนล่ะ ที่เคยได้ตอนพลีกายขายตัวอยู่ตาคลี มันคงไม่เหลือเก็บไว้หรอก มันถึงต้องหาทางจับคนรวย ๆ มีฐานะอย่างเฮียใช้...”

ประสงค์ฟังแล้วก็พ่นลมหายใจออกมาอย่างแรง...

“นี่ฉันกำลังให้น้าเชิด ช่วยตามหาหมอเก่งๆอยู่นะ บางทีฉันอาจจะไปโน่นไปนี่บ้าง ก็ต้องบอกให้เฮียเข้าใจ ว่าฉันไปทำอะไร และที่สำคัญ มันก็ต้องมีใช้เงินใช้ทองไปบ้าง ที่ต้องบอกเฮียไว้ก่อน เดี๋ยวจะหาว่าฉันเอาเงินไปใช้ไม่ถูกเรื่องถูกทาง”

**************


เพราะต้องการเอาชนะ มงคลจึงไม่ยอมเลิกตอแย เพราะถือคติที่ว่า ‘ตื้อเท่านั้นครองโลก’ และ ‘ดักลอบต้องหมั่นกู้ เจ้าชู้ต้องหมั่นเกี้ยว’ และเป้าหมายที่เขาจะต้องเอาชนะให้ได้ในเร็ววันให้ได้ ก็คือ ‘วรรณา’ สาวน้อยที่เขาตามตื้อเกินสามรอบจนเพื่อน ๆ ในแก๊งที่เรียนหนังสืออยู่ด้วยกันบอกเขาว่า ‘ถ้าสิ้นปี มึงยังจีบไม่ติด ถึงคิวกูจีบนะโว๊ย’

เมื่อมีเวลาจำกัด เพราะวรรณาก็ต้องย้ายไปอยู่ชุมแสง เขาเองหลังเรียนจบก็คงไม่ได้หวนกลับไปอยู่ที่นั่น คงไปเรียนต่อ หรือไปทำงานต่างถิ่น ไปเห็นโลกที่กว้างใหญ่ไพศาล คงจะไม่ได้เจอกันบ่อยนัก...หากแม้น ‘สมหวัง’ วรรณาก็คงไม่สร้างปัญหาให้กับชีวิตแต่อย่างใด เป็นแน่...

“นะ วันนี้ไปลอยกระทงด้วยกันนะ...” มงคลแต่งตัวหล่อมาชวน วรรณาส่ายหน้าเบา ๆ ทั้งที่ใจนั้น หวั่นไหว กับคารมและทีท่าของเขาอยู่ไม่น้อย แต่เมื่อนึกถึงสีหน้าแววตาของมาลา วรรณาก็ได้สติ...

“ออกจากบ้านไม่ได้หรอก กลางค่ำกลางคืน”

“วันลอยกระทงใคร ๆ ก็ออกจากบ้านไปเที่ยวกันทั้งนั้น แล้วท่าน้ำก็แค่นี้เอง”

“แค่นี้ก็ไม่ไป ไปชวนคนอื่นเถอะ”

“จะไปชวนใครล่ะ”

“แหม อย่าคิดนะว่า ไปทำอะไรไว้ ไม่มีใครรู้ไม่มีใครเห็น” วรรณาลองดักคอ สำหรับมงคลแล้ว ถ้าจับไม่ได้คาหนังคาเขาเรื่องอะไรจะต้องยอมรับ

“ไม่อยากไปกับเรา ก็ไม่ต้องโยนเรื่องไม่ดีมาให้เราหรอก”

“กินอยู่กับปากอยากอยู่กับท้อง”

“อยากกินอะไรล่ะ ไปกินก๋วยเตี๋ยวกันไหม ตอนนี้หิวมาก ๆ” เขาว่าพลางเอามือลูบท้อง...

“เย็นนี้ เจ๊หุย ทำกับข้าวเสร็จแล้ว”

“เพิ่งบ่ายสี่โมง ทำกับข้าวเสร็จแล้ว!”

“คนที่นี่เขากินข้าวเย็นกันเร็ว แล้วก็ไม่ค่อยออกไปไหนตอนกลางค่ำกลางคืนกันหรอก...ขอบใจนะที่มาชวน แต่ไปด้วยไม่ได้จริง ๆ อ้อ ลืมบอกไป ตอนไปชุมแสง เจ๊ฉัน ก็เพิ่งพาไปดูหนังมาก็เลยไม่อยากดูอีก...”

เมื่อวรรณาปิดประตูเขาทุกทาง มงคลจึงพ่นลมหายใจออกมาอย่างแรง แล้วก็บอกว่า “โอเค...ไม่กวนละ” น้ำเสียงน้อยใจและใบหน้าบึ้งตึง ทำให้ใจของหญิงสาวไหววูบ แต่วรรณาที่รู้ตัวดีว่า ‘เขา’ เป็นใคร และ ‘ตัวเอง’ เป็นใคร ก็ทำได้เพียงสูดลมหายใจเข้าปอด ดูทีท่าว่าเขาจะพูดอะไรต่อ ตาสองคู่ประสานกันชั่วครู่ แล้วก็เบือนหน้าหนี เรื่องอะไรที่จะยอมสบตากับเขานิ่งนาน ให้เขารู้ว่า ตัวเองกำลังหวั่นไหว

“งั้นเราไปกินคนเดียวก็ได้...ไปแล้วนะ” ว่าแล้วเขาก็หันหลัง พอเดินออกไปหน่อยก็หันมาหลิ่วตาทำเท่ให้แล้วบอกว่า

“เจอกันอีกที ตอนงานประกวดนางงามนะ จะไปถ่ายรูปให้”

*******

มาลารู้ว่าอย่างไรแล้วมงคลไม่ยอมเดินผ่านหน้าโรงเรียนเสริมสวยแน่ ๆ หญิงสาวจึงข้ามถนน แล้วเดินเลี้ยวซ้ายไปดักรอเขา มงคลที่เพิ่งเสียความมั่นใจ เดินครุ่นคิดถึงวิธีการจีบวรรณา ต้องชะงักเท้า เพราะมาลาจับแขน...

“มาลา!”

“เฮีย...ไปไหนมารึ”

“แถว ๆนี้แหละ แล้วเธอล่ะ มายืนทำอะไรตรงนี้” บอกแล้วเขาก็ขืนแขน ทำให้มาลาต้องละมือ

“หนูออกมาเดินเล่นน่ะ...ไม่คิดว่าจะเจอเฮียตรงนี้...”

มงคลเหลือบไปทางซ้ายทางขวา มาลาจึงถามต่อว่า “แล้วคืนนี้เฮียมีเพื่อนลอยกระทงหรือยัง”

“มีแล้ว ไปกับพวกเพื่อน ๆ”

“ว้า นึกว่าเฮียยังไม่มีเพื่อนไป อยากให้เฮียไปเป็นเพื่อนหน่อย...”

“ก็เพื่อนในร้านไง มีตั้งกี่คนล่ะ”

“เขาก็ไปกับแฟนของเขาซิ...นะเฮียนะ ไปลอยกระทงกัน หนูอยู่ร้านคนเดียวก็เหงา ๆ แล้วอีกอย่างหนูก็...” มาลาแสร้งทำเขินอายที่จะบอกตรง ๆ ว่า ‘คิดถึง’ คืนวันที่เคยก่ายกอดกันในโรงแรมเมื่อไม่นานมานี้...

มงคลที่เพิ่งผิดหวังจากวรรณา และก็กำลังงุ่นง่านตามประสาวัยเจริญพันธุ์ เห็นว่าการที่เขาหนีหน้าไม่มาหาหลังจากที่หลับนอนด้วยกันไปแล้ว ไม่ทำให้มาลาสาวน้อยหัวสมัยใหม่ นั้นโกรธเคืองน้อยใจ แสดงอาการหึงหวงแต่อย่างใด จึงตัดสินใจไปลอยกระทงกับหญิงสาว ที่เขาเห็นเป็นเพียงแค่ทางผ่าน! เพราะขี้เกียจไปตามตอแยผู้หญิงอื่นให้เสียความมั่นใจอีก

**********************


Title: Re: กรงกรรม บทประพันธ์ของ จุฬามณี
Post by: นักประพันธ์ on 02 March 2020, 14:49:27
ตอนที่ 28 : ดวงตาเป็นหน้าต่างของหัวใจ


            ๒๘


หลังจากลิเกที่ทางวัดชุมแสง หามาเล่นในงานลอยกระทงเลิก ปลัดจินกรพาหมุ่ยนี้ จันตา และเรณู นั่งเรือจ้างข้ามฟากมายังตลาด ส่งสาว ๆ เข้าบ้านเรียบร้อย เขาก็เดินกลับบ้านพัก เรณูที่อาศัยนอนที่บ้านของ หมุ่ยนี้ ตะโกนตามหลังไปว่า

“ระวังผีหลอกนะคะคุณปลัด”

“พูดแบบนี้ เดี๋ยวผมก็นอนอยู่ตรงหน้าร้านนี่ซะเลยนะ เผื่อจะมีคนเห็นใจผมบ้าง”

ปลัดจินกรหัวเราะก่อนจะโบกมือให้ แล้วเดินจากไป

เรณูก็เดินตามหมุ่ยนี้ จันตา เข้ามาด้านใน ...หมุ่ยนี้ขอตัวขึ้นนอนเพราะง่วงมาก เรณูนอนกับจันตาเหมือนเดิม พอเข้าห้องมาแล้ว เรณูก็มุดมุ้งที่จันตากางไว้ตั้งแต่ก่อนออกไปเที่ยวเพราะเมื่อยขบและอ่อนล้าเต็มกำลัง ฝ่ายจันตาเจ้าของห้อง ต้องดับตะเกียงรั้ว เปิดไฟฉายแล้วตามเข้ามุ้งทีหลัง...

“เดี๋ยวๆ อย่าเพิ่งดับตะเกียงนะ หยิบอัลบั้มรูปบนโต๊ะมาดูหน่อย” เรณูที่ดึงผ้าหุ่มมาคลุมตัวแล้วร้องบอก

“ก่อนไป ก็ดูไปแล้ว จะดูอะไรอีก”

“ดูรูปคนสวยก่อนนอน จะได้นอนหลับฝันดี”

“รูปใครล่ะ”

“ก็จันตาคนสวยไง” นอกจากรูปของจันตา หมุ่ยนี้ เรณู ปลัดจินกร หมุ่ยนี้ยังอัดรูปอื่น ๆ รวมถึงรูปเดี่ยวของกมลใส่อัลบั้มมาด้วย เหตุผลของหมุ่ยนี้ก็คือ ‘เอาไว้ดูตอนคิดถึงอาซามัน’

‘ใคร คิดถึง’ จันตาถามไปอย่างนั้น

‘ก็เผื่อมีใครคิดถึง...น่า ถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้ถือไม้เท้ายอดทองด้วยกัน แต่อย่างน้อย มันก็เป็นความทรงจำดี ๆ ของเธอไม่ใช่รึ จันตา’

‘เจ๊ก็พูดเอง เออเองตลอด’ ตอนนั้นจันตาส่ายหน้าระอา แต่ลึก ๆ ในใจ ยามเมื่อนึกถึง กมล จันตาก็บอกตัวเองว่า มันเป็นความรู้สึกดี ๆ ที่ยากจะลืมเลือน สบตากับเขาครั้งใด จันตารู้สึกว่าดวงตาที่ว่ากันว่า เป็นหน้าต่างหัวใจของตน มันเผลอแย้มประหนึ่งมีลมมากระชากให้เขามองเห็นภายในใจเหมือนกัน ความรู้สึกพอใจ พึงใจ และประทับใจนั้น จันตารู้ว่ามันเกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ ไม่ต้องฝืน ไม่ต้องเค้น เหมือนยามที่มองสบตากับปลัดจินกร

แม้แต่รูปถ่ายของกมลในอัลบั้ม ตอนอยู่ตามลำพัง จันตาก็นั่งดูอยู่เป็นนานสองนานเหมือนกัน...

“พรุ่งนี้ค่อยดูแล้วกันนะ ดึกแล้ว ง่วงนอนตาจะปิดแล้ว” ว่าแล้วจันตาก็ดับตะเกียงถือไฟฉายแล้วมุดมุ้งเข้ามา แต่พอล้มตัวลงนอน ที่ว่าง่วงนั้น ทั้งคู่กลับนอนลืมตาโพลง...

“ต่อไปเราจะมีโอกาสได้นอนด้วยกันแบบนี้อีกหรือเปล่าก็ไม่รู้เนอะ...” เรณูเป็นฝ่ายชวนคุย

“ทำไมล่ะ”

“เธอแต่งงานกับคุณปลัดแล้ว เดี๋ยวก็ต้องย้ายไปไหน ๆ กัน โอกาสที่จะได้มาอยู่ด้วยกัน เป็นพี่เป็นน้องเป็นเพื่อนกัน ไปเที่ยวไหนด้วยกัน คงจะไม่มีแล้ว”

“ฉันดีใจที่ได้รู้จักกับพี่ แต่พี่อย่าเพิ่งคิดไปไกลถึงขนาดนั้นเลย...จะได้แต่งกันหรือเปล่าก็ยังไม่รู้”

“ก็ไหนเจ๊นี้เขาบอกว่า คุณปลัดเขียนจดหมายพร้อมแนบรูปถ่ายไปบอกพ่อแม่เขาให้รู้เรื่องคร่าวๆ แล้วไม่ใช่รึว่าจะแต่งกับเธอ แล้วเจ๊เขาก็เตรียมการจัดงานไปบ้างแล้วนี่”

“ก็พ่อแม่เขายังไม่ได้ตอบมา พี่อย่าลืมซิว่า ฉันมันจน จนแล้วไม่เจียมตัวอีก”

“พี่ไง จนแล้วไม่เจียมของแท้”

“พี่กับฉันมันต่างกัน ฉันจนแล้วโง่ด้วย แถมยังขี้ขลาดตาขาวอีก”

“ขนาดตาขาว ยังออกจากบ้านมาจนไกลได้ถึงเพียงนี้ เธอไม่ใช่คนขี้ขลาดหรอก”

ได้ยินดังนั้น จันตาก็นิ่งเงียบ ด้วยรู้อยู่แก่ใจว่า ที่ต้องระเห็จมาจากอุตรดิตถ์นั้นเป็นเพราะเหตุใด...

“นี่ คุณปลัดเขามีแผนในอนาคตอะไรกับเธอบ้างไหม”

“เขาอยากให้ฉันเป็นแม่บ้าน เป็นเมีย เป็นแม่ของลูกเขาเท่านั้นแหละ แต่เอาตามตรงนะพี่เรณู ฉันเห็นพี่ขายขนม เห็นวรรณาเป็นช่างเย็บผ้า ฉันก็อยากมีวิชามีอาชีพของฉันเองบ้าง เพราะวันหน้า ถ้า...เอ่อ ถ้าชีวิต มันไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิดไว้ ฉันก็จะได้มีอาชีพหาเลี้ยงตัวเองได้”

“แต่งแล้วก็ขอคุณปลัดไปเรียนซิ เรียนตัดผ้าหลักสูตรเร่งรัดก็ได้ หรือถ้ายังไม่ย้ายไปไหน ยังไม่มีลูก ก็มาฝึกกับวรรณามันก็ได้ มันคงสอนให้ได้หรอก พอย้ายไปที่มีโรงเรียนใกล้ ๆ ก็เรียนเพิ่มเติมเอา ซื้อจักรสักตัวเย็บบ่อย ๆ เดี๋ยวมันก็ชำนาญ”

“เป็นความคิดที่ดีมากเลยพี่ ทำไมฉันคิดไม่ได้นะ”

“คิดอะไรไม่ออก ถ้าเกรงใจที่จะให้เจ๊หมุ่ยนี้ช่วยคิด ก็มาปรึกษาพี่...สองหัวย่อมดีกว่าหัวเดียว พี่ว่านอกจากผ้าแล้ว ก็พวกของกินนี่แหละ วันหน้ามันยึดเป็นอาชีพได้ คนเรามันกินกันตั้งแต่เกิดยันตายนั่นแหละ ขอให้ทำให้อร่อยเท่านั้น”

“เรื่องค้าขายนั้น ฉันไม่ค่อยกล้าหรอก แล้วคนภาคเหนือกับภาคกลางกินอาหารคนละรสกัน อร่อยฉันก็เป็นแบบหนึ่ง อร่อยทางนี้ก็แบบหนึ่ง...ลำพังฉันเอง ถ้าไม่เรียนตัดผ้า ฉันก็อยากเรียนเสริมสวย...”

“ใช่ ผู้หญิงบอบบางอย่างจันตามันต้องงานเสริมสวย...ขนาดไม่ได้เป็นช่างเองยังสวยขนาดนี้ ถ้าเรียนแต่งหน้า ทำผม ใส่เสื้อผ้าดี ๆ จะสวยไปกันใหญ่ อย่างไรก็ลองคุยกับคุณปลัดเขาดู เผื่อเขาเห็นด้วย ถ้ามีโอกาสก็จะได้ไปเรียน”

“บอกตามตรงนะ บางทีฉันก็รู้สึกกลัว ๆ คุณปลัด”

“กลัวอะไร เขาไม่ใช่คนถือยศ ถือศักดิ์ อะไรสักหน่อย เพียงแต่เขาเป็นคนไม่ค่อยยิ้มก็เท่านั้นเอง”

“ตำแหน่งหน้าที่เขา ชุดที่เขาใส่ มันดูน่าเกรงขาม เห็นทีไรเหมือนเขาเป็นเจ้านาย”

“ว่าไปมันก็จริงอยู่ เขาเป็นข้าราชการ แต่เรามันลูกชาวบ้านธรรมดา ๆ การศึกษาต่ำซะอีก...” ว่าแล้วเรณูก็พ่นลมหายใจออกจากปาก แล้วบอกว่า

“แต่ตอนนี้ก็ถอยไม่ได้ซะแล้ว เพราะคนใส่ชุดพ่อค้า ก็ดันไปเป็นชาวนาซะแล้ว”

“พี่หมายถึงอาซาใช่ไหม”

“อือ อาซา พรุ่งนี้มันก็กลับฆะมังแล้ว ไปผจญเวรผจญกรรมของมันไป อยู่ทางนี้ก็ได้แต่เอาใจช่วยให้ชีวิตน้องมันไปดีมีชัย...อย่าได้แต่งไปเพื่อไปรับใช้คนบ้านนั้นอย่างที่เป็นอยู่ในตอนนี้เลย...”

จันตานิ่งเงียบ...ส่วนเรณูที่เงียบไปอึดใจ ก็เอ่ยถึงเรื่องที่ยังคาใจว่า

“จันตา พี่ถามอะไรหน่อยได้ไหม...ตอบก็ได้ไม่ตอบก็ได้นะ...”

“เรื่องอะไรพี่”

“เรื่องอาซา...คือ เธอ รู้สึกอย่างไรกับอาซา”

“ถามทำไมพี่...” จันตารีบพลิกตัวตะแคง เรณูเห็นดังนั้นจึงบอกว่า

“ก็อยากรู้ว่า อาซามันทำให้เธอหวั่นไหวได้บ้างหรือเปล่านะ เพราะเธอทำอาซาหวั่นไหวได้แล้วแน่ ๆ”

“ถ้าตอบตามตรง มันก็มีบ้าง”

“ถ้าเทียบกับคุณปลัดมันมากกว่าใช่ไหม”

“มีประโยชน์อะไรที่จะพูดถึง...ถึงหนูจะชอบอาซา ถึงอาซากับหนูจะรักกัน แล้วพี่คิดรึว่า มันจะลงเอยด้วยการแต่งงานกันได้ พี่ก็รู้นี่ ปัญหาของจันตาคนนี้ มันคืออะไร”

เรณูที่ตะแคงตัวมาฟัง พลิกตัวกลับแล้วถอนหายใจเบา ๆ... ที่จันตาพูดก็ถูก เพราะจันตานั้นจนยาก จึงยากที่นางย้อยจะเห็นดีเห็นงามด้วยแน่...แล้วเรื่องของเธอเอง ลำพังถ้าไม่ทำ อย่างที่ทำลงไป...มันก็คงไม่ได้เป็น อย่างที่กำลังเป็นอยู่หรอก...แต่สำหรับเรื่องนี้ วันหนึ่งถ้าอาซามันรู้ว่ามันสามารถทำให้จันตาหวั่นไหวได้ มันก็คงจะรู้สึกมีความสุขอยู่ไม่น้อย เพราะความรักนั้น แม้ไม่ได้ครอบครองแค่ให้รู้ว่า เขาก็รักเรา เหมือนที่เรารักเขา มันก็ทำให้หัวใจเป็นสุขได้เหมือนกัน...

************

พอรู้ว่าก้านกลับมาจากกรุงเทพฯ เพราะว่านางกุ่นไม่สบาย เพียงเพ็ญที่เป็นกังวลว่าก้านจะไปแล้วไปลับ ก็ดีใจจนเนื้อเต้น เพราะแผนที่วางไว้ กำลังจะเป็นไปอย่างที่ใจมุ่งหวัง...

อีกไม่กี่เดือนหรอก ท้องของเธอก็จะใหญ่โตขึ้น ‘บอก’ ให้ อาซาของอาศรี รับรู้ว่าเธอไม่ได้อ้วนท้วนมีน้ำมีนวลเพราะกินอิ่มนอนหลับ แต่ร่างกายเปลี่ยนแปลงเพราะเธอตั้งครรภ์... เมื่อนั้นเพียงเพ็ญมั่นใจว่า กมลจะต้องเก็บผ้ากลับบ้านไปอย่างแน่นอน...ถึงตอนนั้น ใครก็ว่าอะไรเธอไม่ได้...เพราะถึงลูกจะไม่มีพ่อ ก็ยังได้ขึ้นชื่อว่าแต่งงานแล้ว แล้วพ่อตัวจริงของลูก ก็จะได้เข้ามาแทนที่โดย ไม่มีใครมาค้านว่าก้านไม่คู่ควรกับเธออีก...

ช่วงนี้ ต้องรีบบอกให้ก้านรับรู้ว่า ให้รออีกนิด อย่าเพิ่งไปไหนอีก ทุกอย่างกำลังจะจบลงด้วยดี...

พอจุกกลับมาจากโรงเรียน เพียงเพ็ญเลือกใช้จุกเป็นคนเดินสารเหมือนเดิม...

“เอาจดหมายนี่ไปให้พี่ก้านหน่อยนะ...ให้กับมือเขา อย่าให้ใครเห็นเด็ดขาด รู้ไหม”

“แล้วถ้าพี่ก้านไม่อยู่ล่ะ”

“ถ้าไม่อยู่ก็เอากลับมาก่อน พรุ่งนี้ค่อยไปใหม่ อย่าฝากใครไว้นะ”

“แล้วถ้าพี่ก้านอยู่กับคนอื่นล่ะ”

“ก็ เรียกพี่ก้านออกมาหา อ้อ แล้ว อย่าไปบอกกับใครละ ว่า พี่ให้แก ถือจดหมายไปให้พี่ก้าน รู้ไหม”

“ทำไมรึ”

“เรื่องของผู้ใหญ่ เด็กอย่างแก ไม่ต้องรู้เหตุผลหรอก...ทำตามที่พี่สั่งก็พอ...แล้วนี่ ค่าเดิน”

เพียงเพ็ญส่งเงินให้จุกไปหนึ่งบาท จุกที่นุ่งกางเกงนักเรียนสีน้ำตาลเก่าคร่ำคร่า ไม่ได้สวมเสื้อ ปราศจากรองเท้า รีบคว้าจดหมายมายัดใส่กระเป๋ากางเกง แล้ววิ่งออกจากบ้านไป...

นางแรม ที่อยู่บนนอกชาน เดินมาเห็นตอนจุกวิ่งไปพอดี จึงเอ่ยถามว่า “ใช้ไอ้จุกไปซื้ออะไรรึ”

เพียงเพ็ญที่นั่งอยู่ที่ตีนบันได ไม่ได้หันไปมอง แต่ก็ตอบไปว่า “ให้ไปซื้อขนมถั่วทอดน่ะ นึกอยากกิน”

นางแรมค่อย ๆ เดินจับราวบันไดลงมาหา แต่ก็ไม่ได้นั่งลงแต่อย่างใด...

“ป้าถามอะไรหน่อยได้ไหม หนูกับ พ่อซามีอะไรกันหรือยัง” เพราะนางแรมต้องเข้าไปเก็บกวาดห้องนอนของเพียงเพ็ญ จึงยังเห็นที่นอนของหลังเล็กและมุ้ง ถูกปูและกางใช้เหมือนทุกวัน...

“ถ้าหนูตอบว่ายังล่ะ”

“ฮ้า...”

“ไม่ห้า ไม่สิบ หรอกป้า เรื่องจริง หนูบอกแล้วไง ว่าต่อไปชีวิตหนู จะต้องเป็นของหนู...”

“แล้วนี่ถ้าพ่อซาเขารู้ว่าหนูท้อง เขาจะทำอย่างไร”

“ถ้าป้าเป็นเขา ป้าจะทำอย่างไรล่ะ” ถามแล้วเพียงเพ็ญก็ลุกขึ้นจากบันได ผละเดินไปทางท่าน้ำ...

นางแรมมองตามไปแล้วตบอกตัวเองเบา ๆ ใจนั้นรู้สึก ‘เสียดาย’ คนดี ๆ ยิ่งกว่าตอนที่เสียดายเงินค่าหวยใต้ดินเสียอีก

**************

เมื่อเห็นกมลกำลังเดินสวนมา จุกที่ดีใจว่ามีเหรียญบาทนอนนิ่งอยู่ในกระเป๋ากางเกง วิ่งสลับเท้าพลางถือกิ่งไม้ละไปตามต้นหญ้าข้างทาง ต้องหยุดชะงัก...แม้ว่าจะอายุแค่ 8 ขวบ แต่จุกก็รู้ว่า พี่เพียงเพ็ญนั้นเคยรักใคร่อยู่กับพี่ก้านมาก่อนจะถูกบังคับให้แต่งงานกับพี่ซา ซึ่งจุกรู้สึกว่า พี่ซาเป็นคนใจดี มีความเอื้ออารีย์กับคนงาน ผิดกับกำนันศรและอาแปะ หลงจู๊โรงเลื่อยที่ชอบใช้เสียงดังเวลาสั่งงาน และดุด่ายามที่คนงานทำงานไม่ดั่งใจ

“ไปไหนรึจุก...”

“เอ่อ...ไป ไป บ้าน อาศรี”

“ไปซื้ออะไร”

“ซื้อหนมกิน ไปแล้วนะ” ว่าแล้วจุกก็รีบเดินอย่างเร็ว...โดยไม่แม้จะเหลียวหลังไปมองว่า กมลนั้นมองตามหลังมาหรือเปล่า...พอถึงบ้านนางศรี นางศรีที่กำลังไสน้ำแข็งให้เด็ก ๆ ก็ถามว่า

“ไปไหนล่ะไอ้จุก”

จุกรู้สึกลำบากใจที่จะต้องโกหกไปตามรายทาง ทำหน้าปั้นยาก ก่อนจะบอกว่า “ไปธุระ”

“ชะ ธุระอะไร ของมึง” นางศรีเอ่ยถาม

“ธุระแล้วกันป้า ไปละนะ เดี๋ยวกลับมากินน้ำแข็งนะ เก็บไว้ให้ด้วย” ว่าแล้วจุกก็รีบเดินไปอย่างเร็ว พอมีคนทัก จุกก็บอกว่า “ไปธุระ” อย่างที่ได้ตอบนางศรีไป จนกระทั่งเดินถึงบ้านของก้าน ที่ดูเงียบเชียบเหมือนไม่มีใครอยู่ จุกชะเง้อพลางเพ่งพิศก็เห็นว่า ที่หลังคาหญ้าคามีควันกรุ่น ๆ ลอยออกมา แสดงว่ามีคนอยู่ตรงนั้น จุกเดินเข้าไป พอถึงตีนบันได จุกก็เห็นบังอรเดินออกมาหา...

“มาทำไมรึไอ้จุก”

“มาหาพี่ก้าน พี่ก้านอยู่ไหม”

“ไม่อยู่หรอก พาป้ากุ่นไปหาหมอ...แล้วเอ็งมีธุระอะไรกับพี่เขา....”

“ไม่มี”

“ไม่มีแล้วมาหาทำไม” บังอรถามเสียงห้วน

“ได้ข่าวว่าพี่ก้านกลับมาแล้วก็อยากมาหา อยากรู้ว่ากรุงเทพฯ เป็นอย่างไรบ้างน่ะ...”

“อย่างงั้นรึ”

“พี่ก้านไม่อยู่ งั้นหนูกลับแล้วนะ...” ว่าแล้วจุกก็รีบวิ่งออกจากลานบ้านของก้าน โดยใจก็คิดว่า วันนี้ยังทำงานไม่สำเร็จ พรุ่งนี้ต้องทำใหม่ ก็คงจะต้องได้ค่าจ้างอีกรอบแน่ ๆ....

********************

พอก้านได้รับจดหมายจากบังอร บอกเล่าอาการของแม่ว่าไอจนเป็นเลือด มีอาการเหนื่อยหอบ จนกินข้าวกินปลาไม่ได้ เขาก็รีบเก็บผ้าใส่กระเป๋า ลา ‘อาหนั่น’ หัวหน้าวงดนตรีที่อาสิทธิ์พาไปฝากไว้กลับบ้านทันที

...เพราะช่วงอยู่ที่นั่น ก้านค้นพบว่าเขาคงไม่เหมาะที่จะเป็นคนในเมืองหลวง บ้านของอาหนั่นอยู่ในชุมชนแออัดริมคลอง คละคลุ้งไปด้วยกลิ่นน้ำครำ ตัวบ้านก็คับแคบต้องนอนเบียดเสียดกัน เรื่องปากเรื่องท้องก็หากินลำบาก จะคว้าอะไรเข้าปาก ก็รู้สึกอึดอัดใจ เพราะอาหนั่นมีลูกอยู่เป็นโขยง ส่วนความหวังเรื่องที่จะเป็นนักร้องอัดแผ่นเสียงนั้น ก้านเห็นว่ามันไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ นักหรอก

สู้กลับบ้านไปเป็น “ไอ้ก้าน” คนจนคนยาก มีชีวิตอิสระอยู่กับไอดินกลิ่นทุ่งเสียดีกว่าเป็นคนโง่เซ่อซ่าอยู่ในที่ยากจะปรับตัวให้คุ้นเคยได้

ก้านลงรถไฟที่สถานีชุมแสงในตอนเช้าตรู่ เขารีบเดินไปยังฆะมัง พอถึงบ้านก็เห็น บังอร กับเปีย ลูกสาวคนเล็กของอาสิทธิ์ เฝ้าปรนนิบัติดูแลแม่ของเขาอยู่...เขาขอบอกขอบใจบังอรเป็นการใหญ่ และพอเห็นว่าแม่อาการหนักเกินกว่าจะพึ่งพายาหม้อ ยากลางบ้าน หรือยาหมอตี๋ได้อีก บังอรก็แนะนำให้เขาพาแม่ไปหาหมอที่เรียนจบการแพทย์แผนปัจจุบัน ซึ่งจะมาเปิดคลินิกทำการตรวจรักษาโรค เฉพาะวันเสาร์ วันอาทิตย์

ปัญหาของเขา คือเขาไม่มีเงินพอจะรักษาแม่ เพราะเงินเก็บหอมรอมริบจากการเกี่ยวข้าวเมื่อก่อนไปอยู่กรุงเทพฯ ก็ถูกใช้ไปจนหมดแล้ว เงินค่ารถไฟกลับมาชุมแสง เขาก็ขออาหนั่นกลับมาพอดีกับค่ารถไฟ ระหว่างทางแม้จะรู้สึกหิวโหยน้ำลายไหลเมื่อเห็นพ่อค้าแม่ค้าเอาของกินขึ้นมาขาย เขาก็ทำได้เพียงหลับตากลั้นลมหายใจเพื่อไม่ให้กลิ่นหอมของอาหารมาทำให้เขาทุกข์ทรมานมากไป...

เขาบอกถึงปัญหาของตัวเอง ให้บังอรรับรู้...

“เอาอย่างนี้ พี่ไปยืมเงินแม่ฉันก่อนแล้วกัน แล้วพี่ค่อยเกี่ยวข้าว หรือทำงานอื่นใช้ทีหลัง”

“แต่มันคงเป็นเงินจำนวนไม่น้อยเลยนะบังอร”

“น่า...ไม่เป็นไร ถ้าพี่ยังอยู่ฆะมัง หนี้สินนี้จะต้องหมดแน่ ๆ เดี๋ยวฉันจะคุยกับแม่ให้...ตอนนี้ชีวิตของแม่พี่สำคัญกว่าอื่นใดนะ”

ก้านยอมรับความช่วยเหลือจากบังอร แล้วไปหยิบยืมเรือหางยาวของอาสิทธิ์พาแม่ไปหาหมอที่ตลาดชุมแสงโดยมีหวังติดสอยหอยตามไปเป็นเพื่อนด้วย ระหว่างที่นั่งรอหมอตรวจโรค หวังก็บอกกับก้านว่า

‘พี่ทิด เห็นทีว่าฉันจะเอาชนะใจอีบังอรมันไม่ได้หรอก ถ้าพี่ทิดจะคิดจะลงเอยกับมัน ฉันก็ไม่ว่าอะไรหรอกนะ’

‘แม่กูป่วยอย่างนี้ กูยังไม่มีอารมณ์พิศวาสอยากได้ใครมาทำเมียหรอก’

‘แต่อีบังอรมันอยากได้พี่เป็นผัวจนตัวสั่นละ ฉันรู้ ไม่งั้นมันไม่เสนอตัวมาเฝ้าดูแลแม่พี่โดยไม่สนใจเสียงชาวบ้านหรอก อย่างไรก็สังเคราะห์มันหน่อยละกัน ไม่ต้องห่วงความรู้สึกของฉันนะ ฉันตัดใจได้แล้ว และยอมใจมันแล้ว’

เมื่อหวังออกตัวอย่างนั้น ก้านก็รู้สึกคลายความกังวล เพราะรู้อยู่เต็มอกว่า ที่บังอรทำดีกับแม่เขานั้นเพราะหวังอะไร...เขาเองช่วงที่อยู่ไกลจากฆะมัง แม้จะยังลืมเพียงเพ็ญไม่ได้ แต่ก็ใช่ว่า ทางนั้นจะไม่มีสาว ๆ เข้ามากวนตัวกวนใจ แต่เขาก็รู้ดีว่า ความสัมพันธ์กับคนเหล่านั้น ทำได้เพียงอาการหมาหยอกไก่ เพราะ ‘ไก่สาว’ ก็มี ‘หมาเจ้าถิ่น' หวังตะครุบตัวอยู่ก่อนหน้าแล้ว...ทะเร่อทะร่าเล่นกับอีสาวไม่ดูตาม้าตาเรือ เขาก็รู้ว่าจะต้องตกที่นั่งลำบากกว่าเดิมเป็นแน่...

หลังพาแม่กลับมาถึงบ้าน ก้านก็นำเรือหางยาวกลับไปส่งคืนอาสิทธิ์แล้วก็เดินกลับมาบ้านด้วยสีหน้าเต็มไปด้วยความหนักใจ เพราะค่ายารักษา ‘โรควัณโรค’ นั้น หนักเอาการ

“พี่หวังล่ะพี่” บังอรที่นังคอยอยู่ที่หัวบันไดเอ่ยถาม

“กลับบ้านมันไปแล้ว แม่เป็นอย่างไรบ้าง กินข้าวได้ไหม”

“กินข้าวต้มไปคำสองคำ กินยาแล้วก็เข้ามุ้งนอนไปแล้ว”

“เอ็งจะกลับบ้านเลยไหม พี่จะได้ไปส่ง”

“อยู่คุยกับพี่ก่อนก็ได้นี่...พี่หิวข้าวหรือยัง ฉันจะหาให้กิน...”

“แล้วเอ็งกินหรือยัง”

“ยัง รอพี่”

“หมอว่าต้องแยกข้าวของเครื่องใช้ของแม่ แล้วก็ต้มถ้วยจานชามช้อนให้หมด...ไม่งั้นคนที่อยู่ด้วยจะพลอยติดโรคนี่ไปด้วย...พี่ว่าเอ็งก็ต้องระวัง ๆ ตัวไว้เหมือนกันนะ...ติดโรคไปขึ้นมาละ ยุ่งแน่”

แม้จะมีความหวาดหวั่นต่อโรคร้าย แต่อารมณ์อยากเอาชนะใจก้านมีมากกว่า บังอรจึงบอกว่า

“คงไม่ติดหรอกพี่...มา ๆ พี่ขึ้นมากินข้าวก่อนดีกว่า...ข้าวยังร้อน ๆ อยู่เลย ฉันทอดปลาเกลือ ต้มไข่ ต้มผัก แล้วก็ทำน้ำพริกตาแดงไว้รอพี่...”

“ไฟในเตามอดหมดหรือยัง ถ้ายังก็เติมถ่านสักหน่อย ต้มจาน ชาม ช้อน ขันน้ำซะ หมอว่าป้องกันไว้บ้างก็ดี”

“ได้เดี๋ยวฉันช่วยจัดการให้ แต่ฉันว่าพี่กินข้าวก่อนเถอะนะ ตอนนี้น่ะพี่ผอมไปเยอะเลย อยู่ทางโน้น ไม่ค่อยได้กินข้าวหรืออย่างไร”

“กิน แต่...กลืนอะไรไม่ค่อยลง ห่วงแม่ คิดถึงบ้าน ...ไป งั้นไปกินข้าวกัน เอ็งจะได้รีบกลับไปบ้าน เรื่องต้มข้าวของ เดี๋ยวพี่ทำเองดีกว่า”

“เดี๋ยวฉันช่วย” บังอรยังยืนกราน

“แต่มันจะดึก...แม่เอ็งจะเป็นห่วง”

“ตอนที่พี่ยังไม่กลับมา ฉันก็มานอนที่นี่ตั้งหลายคืน คืนนี้กลับช้าหน่อย พ่อแม่คงไม่ว่าอะไรหรอก ฉันยินดีเต็มใจช่วย!”

ก้านนิ่งคิด สบตาของบังอรที่มองเขาด้วยความเสน่หา เย้ายวน และเชื้อเชิญ... ก้านที่เคยสัมผัสเพศรสมาแล้วเริ่มรู้สึกร้อนรุ่ม...เมื่อบังอรเสนอตัว เต็มใจ และพร้อมจะเป็นเมียของเขาเสียตั้งแต่ยังไม่ได้ตกแต่งให้ถูกต้องตามประเพณี เรื่องอะไรที่เขาจะต้องปฏิเสธให้โง่ด้วยล่ะ

...คิดได้ดังนั้น ก้านก็ล้างเท้าแล้วเดินขึ้นเรือน!

*******

เช้าวันนั้น พอรู้ว่าเรณูที่หาบขนมออกมาจากบ้านตั้งแต่เช้าตรู่ ถูกปล้นจี้ชิงสร้อยคอทองคำหนักสองบาทไป ชาวบ้านร้านตลาดต่างก็กล่าวขานกันไปทั่ว...

พิไลที่รู้เรื่องในตอนสาย ๆ พูดขึ้นมาว่า “ตอนเห็นอาซ้อใส่สร้อยจนคอแดง ฉันก็นึกแล้วว่ามันจะต้องเกิดเรื่องแบบนี้ แต่ครั้นจะพูดเตือนให้ระวังตัว ก็กลัวจะมาหาว่าฉันอิจฉาริษยาที่เห็นพี่มีสร้อยใส่ แล้วอีกอย่างฉันเอง ก็ใส่สร้อยคอเหมือนกัน”

นางย้อยนิ่งฟัง...แล้วก็บอกว่า “ไม่เป็นไร เสียแล้วเสียไป หาเอาใหม่ได้”

“ทองตั้งสองบาทนะม้า หาได้ง่ายๆ ที่ไหน ดีนะที่ไม่ใส่ข้อมือออกมาด้วย แล้วก็ดีนะ ที่มันแค่กระชากสร้อยไป ไม่ตบตีทำร้ายร่างกายด้วย”

“ไปแจ้งความไว้ดีกว่า” ประสงค์ออกความเห็น

“แจ้งไปก็ไม่ได้ของคืนหรอกเฮีย ป่านนี้ทองถูกหลอมขึ้นเส้นใหม่ไปแล้ว” พิไลทำเป็นเสียงเครียด เรณูซึ่งเป็นเจ้าทุกข์ กลืนน้ำลายลงคอแล้วบอกว่า

“อย่างไรก็ต้องไปแจ้งไว้ ไอ้คนชั่วมันจะได้ไม่ชะล่าใจว่าทำผิดแล้วไม่มีความผิดติดตัว” สายตาของเรณูนั้นคุกรุ่น แม้จะไม่เห็นหน้าคนร้ายเพราะมันโพกผ้ามิดชิด แต่หุ่นและเสียงของมันตอนที่เรณูละหาบแล้วจับมือมันไว้ เรณูมั่นใจว่า ถ้าได้ยินอีก ก็จะต้องจำได้ ...แต่ถึงจำไม่ได้ เรณูก็มั่นใจว่า คนที่อยู่เบื้องหลัง คงไม่ใช่ใครที่ไหนหรอก อาจจะเป็นอีคนที่พูดเหมือนเห็นอกเห็นใจ ผสมอยู่กับความสาแก่ใจนี่แหละ...

เมื่อคิดจะเล่นกับอีเรณู ก็จะได้รู้กันว่า คิดผิดซะแล้ว...

เรณูเริ่มเดินเกมให้นางย้อย ต้องให้สร้อยเส้นใหม่แทนสร้อยเส้นนั้น ก่อนจะไปดูวรรณาประกวดนางงามในทันที...

เริ่มจาก ปกติ ทุกวัน ๆ เรณูจะแบ่งขนมที่ขายจัดใส่จานมาวางไว้บนโต๊ะ วันละ สี่ห้าห่อ จนถึงสิบห่อ เพื่อให้ พิไล ป้อม บุญปลูกกินด้วย...ก็เปลี่ยนมาเป็นออกจากบ้านในตอนบ่ายสาม บ่ายสี่โมงเย็น มาหุงข้าวทำกับข้าวให้นางย้อยกับเจ๊กเซ้งกินในตอนเย็น...โดยเรณูให้เหตุผลว่า

“หนูอยากตอบแทนบุญคุณของแม่ของเตี่ยให้มาก ๆ ยิ่งขึ้น ถ้าไม่ได้แม่กับเตี่ย ชาตินี้เห็นทีหนูก็คงไม่มีร้านรวงเป็นของตนเอง และอีกอย่าง อาเจ๊หมุ่ยนี้ เขาก็บอกกับหนูว่า ปกติธรรมเนียมจีนน่ะ สะใภ้ใหญ่จะต้องคอยปรนนิบัติดูแลพ่อแม่สามีรวมถึงน้อง ๆ ของสามีจนสุดกำลัง หนูคิดว่า หนูควรทำตามธรรมเนียมที่ดีงาม เพื่อความสุขความเจริญในชีวิตของเฮียใช้ ของหนูด้วย...”

นางย้อยได้ฟังก็จนด้วยเหตุผล และที่สำคัญ ‘รสมือ’ ของเรณูนั้นถูกปากนางย้อยเป็นอย่างมาก...

นางย้อยเป็นคนไทย ชอบอาหารคาวรสเผ็ดมันจัดจ้านถึงเครื่องเครา ถ้าเป็นขนมก็ต้องหวานมันใช้กะทิข้นควัก..

และเมนูที่เรณูทำแล้วถูกปากนางย้อยเป็นที่สุด ก็คือ พวกขนมน้ำที่ไม่เคยทำขายอย่าง บัวลอยสามเกลอ และขนมต้มญวน ที่เนื้อแป้งกับไส้เมื่อเคี้ยวแล้วกลมกล่อมเข้ากันเป็นที่สุด...จนนางย้อยเอ่ยปากว่า

“ว่าไปแล้ว ถ้าเธอทำขนมน้ำพวกนี้ขาย รับรองว่า ขายดีพอ ๆ กับพวกขนมถาดอีกนะ...”

“ถ้าอย่างนั้น ตอนบ่าย ๆ เย็น ๆ หนูขายขนมน้ำที่หน้าร้านดีไหมแม่”
“จะไหวรึ ก็ไหนว่าจะขายข้าวเกรียบปากหม้อ สาคูไส้หมูอะไรนั่นไง ไหนจะงานในร้านอีก”

“งานผ้ามันก็มีวรรณาทำอยู่แล้ว ถ้ามันขายดีก็จ้างลูกจ้างเพิ่มก็ได้ ส่วนงานขนมถ้าทำได้มันก็เงินทั้งนั้นเพราะมันซื้อง่ายขายได้คล่องกว่า เก็บเล็กผสมน้อยไปก็เป็นเงินก้อนใหญ่ได้ แม่ว่าจริงไหมล่ะ”

“จริง แต่มันจะเหนื่อย...”

“เป็นลูกสะใภ้ของแม่ จะต้องเก่งให้ได้เหมือนแม่ซิ มีคนบอกหนูว่าตะก่อนน่ะแม่กับเตี่ยลำบากกันมาก”

นางย้อยกับเรณูคุยกันกระหนุงกระหนิง โดยไม่สนใจหรอกว่า พิไลนั้น เคืองแค้นเพียงใด เพราะน้ำมนต์ที่ได้มาจากวัด แม้พิไลจะพยายามผสมน้ำมาให้นางย้อยกินตอนที่เรณูไม่อยู่ก็ดูจะไม่มีผลอะไร เพราะ แค่ ‘น้ำ’ หรือ จะสู้ ‘เนื้อ’ ที่พิไลก็ไม่รู้ว่า ‘ของดี’ ที่เรณูใช้นั้น ‘ใส่’ ในข้าวหรือขนม...

แต่ตั้งแต่วันนั้น พิไลก็ไม่ยอมแตะอาหารที่เรณูทำอีกเลย โดยพิไล อ้างว่า

“ฉันกับเฮียตง รับเงินเดือนเงินพิเศษ จากม้าไปแล้ว ยังจะกิน หวานกินคาวในบ้านม้าอีก เห็นทีจะดูไม่ดี...จะทำอะไร ก็ทำเผื่อแค่ม้ากับเตี่ยก็พอแล้ว”

ทุกเย็น แม้จะน้ำลายสอเพราะกลิ่นที่ลอยมาเตะจมูก แต่พิไลก็อดทนเอา...โดยคิดในใจว่าอีกไม่นานหรอก เดี๋ยว มันก็ ‘ดีแตก’

แต่กว่าจะถึงเวลานั้น พิไลก็แทบจะกรีดร้อง เมื่อเห็นว่า ช่วงสาย ๆ ของวันที่เรณูไม่ได้ทำขนมขาย เพราะจะต้องไปดูวรรณาประกวดนางงาม เรณูที่แต่งตัวด้วยเสื้อผ้าสีฉูดฉาดคือนุ่งกางเกงสีแดงสวมเสื้อพื้นเหลืองดอกเขียวแดงคอกว้างเผยให้เห็นสร้อยคอที่หนักราว ๆ สองถึงสามบาท แล้วตอนที่เรณู บอกกับพิไลว่า

‘ตอนแรกก็ว่าจะไปกันแค่ หมุ่ยนี้ จันตา ปลัดจินกร แต่พอม้าเขารู้ว่า ไปกันแค่คืนเดียว พรุ่งนี้ก็กลับ ม้าก็เลยจะไปด้วยกัน เพราะจะได้มีเพื่อนไปคุยเรื่องตึกเรื่องห้องที่โน่นด้วยเลย’

เรณูก็ยกมือลูบไหล่ลูบคอแล้วดึง สร้อยคอคลำเล่นไปด้วย...สายตานั้น เปิดเผยให้พิไลรู้ความในใจว่า

‘ไม่ต้องบอกมึงก็คงจะรู้นะว่า สร้อยเส้นนี้กูได้มาได้อย่างไร’

ซึ่งพิไลก็ไม่ได้ถามออกไปเพื่อให้คำตอบนั้นเป็นเหมือนหนามแหลมเสียดแทงใจของตน...แต่ใจของพิไลก็คิดว่า ถ้านางย้อยไม่อยู่ ตนก็จะได้เฝ้าเก๊ะ หรือ ถ้านางย้อยไม่ไว้ใจให้ตนเฝ้าเก๊ะ คนเฝ้าเก๊ะก็ต้องเป็นประสงค์

แต่กาลกลับเป็นว่า ก่อนที่เรณูจะถือกระเป๋าของนางย้อยแล้วประคองนางย้อยออกจากบ้านไป คนที่นางย้อยเรียกมาเฝ้าเก๊ะเงินแทนกลับเป็นกมล ที่ให้ลูกจ้างขับเรือหางยาวมาส่งตั้งแต่ช่วงเช้า โดยเขาบอกกับพิไลว่า

“ม้าส่งข่าวไปเมื่อวันก่อนว่าให้มาดูร้านให้หน่อย...เพราะม้าจะไปทำธุระเรื่องตึก ทีแรกผมก็จะไม่มา เพราะทางโน้นก็ยุ่ง ๆ แต่ม้าลงท้ายจดหมายไปว่า จะต้องมาให้ได้ เพราะม้าไปหลายวัน...”

กมลบอกแค่นั้น แต่พิไลเชื่อว่า เนื้อความในจดหมายมันจะต้องมีมากกว่านั้น...ไม่อย่างนั้น กมลก็คงไม่รีบละงานจากฆะมังมาหรอก!

*********************************


Title: Re: กรงกรรม บทประพันธ์ของ จุฬามณี
Post by: นักประพันธ์ on 02 March 2020, 14:51:43
ตอนที่ 29 : พิไลออกโรง


            ๒๙


พอเห็นกมลมาเฝ้าเก๊ะ พิไลที่ใจขุ่นมัวก็บอกว่า “อาซา วันนี้พี่รู้สึกปวดหัว เหมือนจะไม่สบาย ขอกลับบ้านไปนอนหน่อยนะ”

พิไลไม่ได้กลับบ้าน แต่เดินไปโรงสี พอทรุดตัวลงนั่งหน้าโต๊ะบัญชีที่ประสงค์นั่งอยู่ พิไลก็บอกว่า “เฮีย ฉันไม่ไหวแล้วนะ”

“มีอะไรอีก”

“ม้าน่ะซิ ไม่เห็นหัวฉันเลย พอจะไปปากน้ำโพกับอีเรณู ม้าก็ให้อาซากลับมาเฝ้าเก๊ะเงินแทน...คงกลัวว่าฉันจะเม้มเงินเข้าพกเข้าห่อละซิท่า”

“อาซามารึ”

“เฮีย!...ฟังฉันนะ เมื่อเช้า อีเรณูมันได้ทองเส้นใหม่อีกแล้วด้วย...ฉันว่า คราวนี้ไม่ใช่แค่สองบาทหรอก น่าจะสามสี่บาทแหละ มีพระเลี่ยมทองติดอยู่อีกองค์หนึ่งด้วย พระเก่าแค่ไหนก็ไม่รู้ แต่ถ้าถึงกับเลี่ยมทองใส่สร้อยไว้ ต้องเป็นพระเก่าแน่ ๆ ดีไม่ดี ราคามากกว่าทองอีก”

ประสงค์ถอนหายใจเบา ๆ

“ถ้าเฮียยังนิ่งเฉย รับรองเลยว่า ไอ้ที่ตกลงปลงใจ จะยกนั่นยกนี่ให้เรา เป็นอันไม่ได้หรอก...เพราะม้าน่ะหลงมันจนโงหัวไม่ขึ้นแล้ว”

“แล้วจะให้เฮียทำอย่างไร”

“เฮียเป็นลูก เฮียต้องคิดซิ”

ประสงค์ยกมือเกาหัว...พิไลรู้สึกขัดลูกนัยน์ตาเป็นอย่างมาก...พอดีกับที่เจ๊กเซ้งที่อยู่หลังโรงสีเดินมา พิไลเห็นดังนั้นจึงรีบบอกว่า

“เตี่ย ๆ มาทางนี้ หนูมีเรื่องจะปรึกษาหน่อย”

“อย่าน่าพิไล” ประสงค์รีบห้าม เพราะไม่อยากให้เตี่ย เป็นทุกข์เป็นร้อนกับเรื่องพวกนี้...

“ถ้าเตี่ยรู้ เตี่ยต้องช่วยได้แน่ ๆ... เตี่ยนี่แหละจะช่วยเราได้...” พิไลหันมาเค้นเสียงใส่ประสงค์ พอเจ๊กเซ้งเดินมาถึง พิไลก็รีบหาเก้าอี้ให้เจ๊กเซ้งนั่ง

“เตี่ยรู้สึกว่าม้าเปลี่ยนไปบ้างไหม”

“เปลี่ยนไปอย่างไร”

“ก็ตะก่อนนะ ม้าเกลียดซ้อเรณูอย่างกับอะไรดี เตี่ยก็รู้ก็เห็นใช่ไหม”

“ใช่ ๆ”

“แล้วตอนนี้ม้าเป็นอย่างไร...” พิไลถามจี้ออกไป ให้เจ๊กเซ้ง ‘ต้องคิด’

“ไม่เป็นอย่างไร ก็เหมือนเดิม”

“เหมือนเดิมที่ไหนล่ะเตี่ย ตอนนี้น่ะ ม้าทั้งรักทั้งหลงอีเรณูอย่างกับอะไรดี เตี่ยรู้ไหม ว่า ม้าให้ทองอีเรณูไปอีกแล้ว”

“รู้”

“อ้าว แล้วทำไมเตี่ยไม่ค้าน ไม่สงสัยว่าทำไมต้องให้กันอีก ทั้งที่ของเก่าที่เพิ่งให้ไปก็รักษาไว้ไม่ได้”

“พิไล” เมื่อเห็นว่าพิไล ดูเหมือนจะตะคอกใส่พ่อของตน ประสงค์จึงต้องปราม...

“ม้าพวกลื้อบอกว่า อีจะไปในเมือง ก็ต้องมีทองติดตัวไปจะได้ไม่อายคนทางโน้น แล้วก็ไม่ได้ให้เลย แต่แค่ให้ยืม”

“หวังไปเถอะว่าจะได้คืน หรือจะเอาคืน อ้อ ว่าไปแล้วนะ...หนูว่า ไอ้ที่บอกว่าถูกโจรปล้นน่ะ ดีไม่ดีมันก็กุข่าวขึ้นมา เพื่อจะเอาทองเส้นใหม่ มันต้องเป็นอย่างนั้นแน่ ๆ อีนี่มันร้ายกว่าที่เราคิด” พอพิไลเบะปากบอกอย่างนั้น เจ๊กเซ้งก็นิ่งเงียบ สีหน้าครุ่นคิด พิไลจึงได้โอกาสบอกว่า

“หนูจะบอกอะไรให้เตี่ย ที่ม้าเปลี่ยนไปถึงเพียงนี้ เป็นเพราะม้าน่ะ ถูกอาซ้อเรณู ทำของใส่”

“ของอะไร?”

“ก็เสน่ห์ยาแฝดไง”

“ฮ้า ผู้หญิงด้วยกัน...มันทำใส่กันได้ด้วยหรือ”

“ได้ ไม่ได้ เตี่ยก็เห็นแล้วนี่ว่าม้าน่ะ หน้าดำคร่ำเครียด หลงใหลไชชอนอาซ้อขนาดไหน จากที่เคยโกรธเกลียดกันจนด่ากัน แช่งกัน ก็กลับมาเป็นรักใคร่ห่วงใยให้การสนับสนุนกัน ไม่ถูกทำของใส่แล้วจะเกิดจากอะไรล่ะ...ไม่มีอะไรจะพลิกใจคนอย่างม้าได้ นอกจากเสน่หายาแฝดหรอกนะเตี่ย”

“จริง ๆ หรือนี่” เจ๊กเซ้งเปรยออกมาเบา ๆ ทำเหมือนเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง

“จริงหรือไม่จริง มันก็เป็นไปแล้ว มันพูดอะไรม้าก็เห็นดีเห็นงามไปกับมันหมดแล้ว นี่นะเตี่ย หนูไปสืบรู้มาว่า ก่อนหน้านั้นนะ มันทำเสน่ห์ใส่เฮียใช้ด้วย เฮียถึงได้พามันกลับมาที่บ้านนี่ไง เรื่องนี้เตี่ยก็น่าจะรู้มาบ้างแล้ว...ม้าคงเคยบอกเตี่ยไว้บ้างแหละ”

“ก็เคยบอก” เจ๊กเซ้งยอมรับเสียงแผ่ว...

“อีนี่ บ้านมันยากจน มันถึงต้องไปขายตัวอยู่ตาคลี มันคงรู้ว่าตั่วเฮียมีเงินให้มันปอกลอกมันถึงได้ทำอย่างนี้ ...นี่ถ้าเดาไม่ผิดนะเตี่ย มันน่ะไม่ได้จริงใจอะไรกับเฮียใช้หรอก มันอยากรวยทางลัดเท่านั้นแหละ ถ้ามันกอบโกยไปจนหมด แล้วทีนี้แหละ เดี๋ยวก็รู้ว่ามันจะทำอย่างไรกับเฮีย กับม้า...”

“แล้วเราจะทำอย่างไรกันดีล่ะ”

“ก็ต้องหาทางแก้ไงเตี่ย ขืนปล่อยไว้อย่างนี้ พวกเราจะเป็นวัวเป็นควายทั้งที่ยังมีสภาพเป็นคนกันอยู่นี่แหละ”

“พิไล” ประสงค์ปรามเมียเบา ๆ พิไลเชิดหน้าขึ้นแล้วค้อนให้

**********

พอได้รับคำอนุญาตจากเจ๊กเซ้งว่า ‘ลื้อจะทำอย่างไรก็ทำไป หมดเงินเท่าไหร่ก็มาเบิกที่อาตง’

พิไลก็เดินกลับจากมาด้วยใจที่มุ่งมาดว่า ‘คงจะใช้ไม้นวมเล่นกับมันอย่างที่แม่แนะนำมาไม่ได้ซะแล้ว’ คิดได้ดังนั้น พิไลก็รีบเดินไปหานายเชิดที่ท่าเรือ เพื่อให้นายเชิด เอาทองเส้นที่กระชากมาจากคอของเรณูไปขายที่ตาคลี และไปสืบหา ‘หมอ’ ที่เก่ง ที่สุดในถิ่นนั้นด้วย

“จะรีบไปไหนล่ะแม่พิไล” ป้าขายข้าวเม่าร้องถาม พิไลชะงักเท้า พร้อมดวงปัญญาสว่างวาบ

งานนี้ จะรู้กันแค่เฉพาะกันในบ้านไม่ได้เสียแล้ว เรื่องชั่วช้าเลวทรามที่อีเรณูมันทำลงไปนี้ ต้องรู้กันทั้ง ชุมแสง เพราะถ้ามีแต่คนเกลียดมัน ต่อให้มันปากดี ขยันขันแข็ง ทำขนมถูกปากคนถึงเพียงไหน ก็ไม่มีใครซื้อขนมมันกินหรอก...และดีไม่ดี ร้านผ้าของมันที่กำลังจะเปิดในอีกไม่กี่วันก็จะต้องร้างคนไปด้วย...ถึงเวลานั้นก็พอดีกับที่พิไลหาทางแก้ของสำเร็จ ทีนี้เอง มันจะต้องระเห็จไปจากชุมแสงกันทั้งพี่ทั้งน้อง!

************

พอกมลลงเรือกลับชุมแสงไปแล้ว เพียงเพ็ญก็หลบสายตาของนางแรม เดินลัดเลาะไปตามสวนริมน้ำ จนกระทั่งถึงบ้านของก้าน... เพราะตั้งแต่วันที่ใช้จุกให้ถือจดหมายมาให้ก้าน จุกก็ไม่เจอก้านเลยสักครั้ง

ครั้งแรก จุกบอกว่า เจอบังอรอยู่ที่บ้าน บังอรบอกกับจุกว่า ก้านพาแม่ไปหาหมอ...

วันที่สอง จุกเจอนางกุ่น นางกุ่นบอกว่า ก้านยังไม่กลับจากไปรับจ้าง หาบข้าว ทุ่งบ้านบังอร...

วันที่สาม จุกบอกว่า เจอบังอรอยู่กับนางกุ่น ส่วนก้านนั้นขับเรือหางยาวไปธุระกับอาสิทธิ์...

จุกไม่พบก้าน ก็ถือจดหมายกลับมา แล้วรายงานให้เพียงเพ็ญรับรู้ เรื่องไม่เจอก้านแล้วยื่นจดหมายคืนให้เพราะงานเสร็จไปหนึ่งครั้ง จะใช้งานกันใหม่ก็ต้องจ้างใหม่ เพียงเพ็ญก็พอเข้าใจได้

แต่เรื่องที่จุก พูดถึง ‘บังอร’ ถึงสามครั้งสามครา กลิ่นมันชักไม่ดีซะแล้ว

พอไปร้านอาศรี ก็มีคนพูดกันว่า ‘ไอ้ก้านคงไม่แคล้วเป็นเขยของอีอบเป็นแน่’

ซึ่งเพียงเพ็ญจะไม่ยอมให้มันเกิดขึ้นอย่างแน่นอน...

“อ้าว นังหนู มาอย่างไรไปอย่างไรล่ะ” นางกุ่นที่นั่งจักตอกอยู่ที่ใต้ถุนเรือนร้องถามเมื่อเห็นเพียงเพ็ญเดินพ้นสวนเข้าบ้านเข้ามา

“มาหาพี่ก้าน พี่ก้านอยู่ไหมป้า...” ว่าพลางเพียงเพ็ญก็ค่อย ๆ เดินเข้ามาหยุดอยู่ที่ชายคา ไม่ได้ ก้มหัวมุดใต้ถุนเข้าไปหานางกุ่นที่นั่งอยู่บนแคร่แต่อย่างใด...เพราะเพียงเพ็ญก็รู้ดีว่า นางกุ่นนั้นเป็นวัณโรค จึงต้องอยู่ให้ห่างเข้าไว้ นางกุ่นใช้ผ้าขาวม้าที่คลองคออยู่ยกปิดปากแล้วไอ ก่อนจะบอกว่า

“ไม่อยู่หรอก...ไปเกี่ยวข้าวยังไม่กลับมาเลย”

“แล้วป้าเป็นอย่างไรบ้าง...ดีขึ้นบ้างไหม”

“ก็ดีขึ้น แต่ว่า ต้องกินยาหมอหลวงไปอีกสองสามปี แล้วก็ต้องไปหาหมอตามที่หมอนัดด้วย ...” สีหน้าของนางกุ่นนั้นเต็มไปด้วยความกังวล เพราะ ทั้งค่ายา ค่ารักษา และค่าเดินทางไปหาหมอนั้นถือว่าหนักเอาการ...ลำพังก้านคนเดียวนางไม่มั่นใจหรอกว่าลูกชายจะหามาให้ไหวหรือเปล่า เพราะไปงวดแรกก็ต้องหยิบยืมจากนางอบไปก่อน แล้วก็ต้องกลับมาทำงานใช้หนี้เขา ไหนจะต้องกินต้องอยู่ไปทุกวันอีก...

บางทีนางกุ่นก็นึกอยากจะตาย ๆ ไปซะให้รู้แล้วรู้รอด จะได้ไม่เป็นภาระให้กับลูกชาย แต่ก้านก็บอกว่า ให้นางอดทนไปด้วยกัน เขาจะขยันทำงานให้มากขึ้นจะเลิกสำมะเลเทเมา เพราะถ้าแม่ตายไปเสียแล้ว วันหน้ามีเงินก็หาซื้อไม่ได้...ก้านบอกกับนางอย่างนั้น

“ค่ายาแพงไหมป้า”

“ก็หนักเอาการอยู่เหมือนกัน” แล้วนางกุ่นก็ไอออกมาอีก...พอหยุดไอก็ถามเพียงเพ็ญว่า “แล้วนี่หนูมาหามัน มีธุระอะไรรึเปล่า เห็นให้ไอ้จุกมาถามถึงมัน สองสามรอบแล้ว ถามว่ามาธุระอะไรก็ไม่ยอมตอบ”

“เอาอย่างนี้นะ ถ้าพี่เขากลับมา บอกให้ไปหาหนูที่บ้านด้วย หนูมีเรื่องสำคัญจะคุยกับพี่เขา ให้ไปให้ได้วันนี้ หรือคืนนี้เลยก็ได้นะ”

“ได้ เดี๋ยวจะบอกมันให้”

“งั้นหนูลาละ” ว่าแล้วเพียงเพ็ญก็หันหลังเดินกลับทางเดิม แต่ยังไม่ทันจะเดินถึงสวน เพียงเพ็ญก็ได้ยินเสียงของบังอรถามนางกุ่นว่า

“นั่นมันพี่เพ็ญใช่ไหมป้า มาธุระอะไรรึ”

เพียงเพ็ญไม่ได้หยุดก้าวเดินแล้วหันกลับมามองแต่อย่างใด เพราะใจนั้นคิดว่า ยังไม่ถึงเวลาที่จะเอาทองไปรู่กระเบื้อง!

********

บังอรมองตามหลังเพียงเพ็ญที่เดินตัดสวนกลับไป ก็ถามนางกุ่นว่า

“ทำไม พี่เพ็ญเขาไม่เดินมาตามถนน”

“ไม่รู้มัน...ตอนมา มันก็มาทางนั้น”

บังอรคิดว่ามันต้องมีเลศนัย ถึงไม่ยอมมาทางถนนให้คนเห็น บังอรที่ตกเป็นเมียของก้านไปแล้ว และเหมือนนางกุ่นเองก็รับรู้อยู่กลาย ๆ ก็ถามนางกุ่นซ้ำอีกครั้งว่า

“แล้วพี่เขามาธุระอะไร”

“เอ่อ...เขาบอกว่า มีธุระสำคัญ ให้ไอ้ทิดไปหาให้ได้ วันนี้ คืนนี้เลย...บอกแค่นั้น”

“ธุระอะไร ตัวเองก็มีลูกมีผัวไปแล้ว ยังจะแล่นกลับมาทำให้พี่ก้านวุ่นวายใจอีก ชักอย่างไง ...ป้า ฉันว่า ป้าอย่าไปบอกพี่ก้านเลยนะ เพราะถ้าบอกแล้ว พี่ก้านไปหาพี่เพ็ญแล้วผัวเมียเขาทะเลาะกัน พี่ก้านจะพลอยเดือดร้อนไปด้วย”

นางกุ่นนิ่งฟัง...แล้วพยักหน้าเบา ๆ เห็นอาการของนางกุ่นเป็นดังนั้นบังอรก็บอกว่า

“ฉันเอาปลาหมอต้มส้มมาให้น่ะ จะกินเลยไหม ฉันจะได้หาสำรับลงมาให้...”

***********

ลงรถไฟที่สถานีตาคลี เชิดก็เดินเข้าตลาดไปหาร้านทอง หมายจะเอาทองที่กระชากจากคอเรณูตามคำสั่งของพิไลไปขาย แต่ยังไม่ทันจะถึงร้านทอง เชิดก็ได้ยินเสียงผู้หญิงคนหนึ่งที่เดินสวนทางร้องทัก...

“น้าเชิด”

เชิดหันกลับไปหาต้นเสียง ก็พบหญิงสาววัยสามสิบกว่า ๆ แต่งตัวทันสมัย แต่งหน้าจัด ดัดผมหยิกยาวละต้นคอ เชิดทำหน้าแปลกใจ...

“จำฉันได้ไหม ฉันอีติ๋มไง...” แล้วติ๋มก็เท้าความอีกยืดยาว... เชิดถึงจำได้

“นี่ถ้าเอ็งไม่ทักน้า น้าก็จำเอ็งไม่ได้หรอก หายไปจากชุมแสงนานแล้วนี่หว่า”

"ก็ตั้งแต่บ้านถูกยึดไป ก็ระเหเร่ร่อนไปอยู่โน่นอยู่นี่ แล้วก็มา ‘ขุดทอง’ ที่นี่แหละน้า” ติ๋มยอมรับอย่างไม่อาย แล้วถามว่า “แล้วน้ามาทำอะไรที่นี่”

“มาธุระ...”

“ธุระอะไร”

“เอ่อ...ธุระของคนอื่นน่ะ...เขาฝากมาทำอีกที...เอาอย่างนี้ก่อน อย่าหาว่าน้าดูถูกเอ็งนะ คือ เอ็งอยู่ในแวดวงนี้ น้าถามจริง ๆ เอ็งรู้จักผู้หญิงที่ชื่ออีเรณูไหม อายุ ยี่สิบกว่า ๆ ตอนนี้มันไปเป็นสะใภ้คนโตของอีย้อยคนที่ยึดบ้านมึงไปน่ะ...”

พอได้ยินชื่ออีย้อย ชื่อเรณู ติ๋มก็ส่ายหน้าทันที แล้วบอกว่า “ไม่รู้จัก ไม่เคยได้ยินคนชื่อนี้ มีอะไรหรือน้า”

“เอ็งไม่รู้จักก็แล้วไป คือเรื่องมันเป็นอย่างนี้” แล้วนายเชิดก็เล่าเรื่องระหว่างพิไล เรณู และนางย้อย รวมถึงธุระที่พิไลให้มาสืบหาหมอทำเสน่ห์เก่ง ๆ ซึ่งน่าจะเป็นคนทำของให้เรณู เพื่อจะหาทางแก้เสน่ห์ให้นางย้อยกับลูกชายคนโต ติ๋มรู้เรื่องแล้วก็บอกไปว่า

“หมอทำของเก่ง ๆ ที่พวกฉัน พึ่งพาอาศัยกันอยู่น่ะ พอมีอยู่หรอก แต่ แกไม่ได้อยู่ที่ตาคลีหรอกนะ ที่ตาคลีนี่ไม่มีหรอก...มีแต่พระเก่ง ๆ เรื่องเมตตามหานิยมอะไรพวกนี้ มีห้าหกองค์ แต่ก็แค่ลงพวกนะหน้าทอง สาลิกาลิ้นทอง สักยันต์ อะไรแบบนี้ เท่านั้นนะ”

“แล้วหมอเก่งๆ ที่ว่าอยู่ที่ไหน”

“อยู่ที่ท่าน้ำอ้อย หยุหะคีรี โน่น...”

“ไปอย่างไรล่ะวะ”

“ก็ต้องลงรถไฟที่สถานีเนินมะกอก ที่ผ่านมาแล้วน่ะ แล้วก็เดินหรือจ้างรถไปอีกทีหนึ่งแหละ แต่เจ้านี้เก่งจริง ๆ น้า ถ้านังพิไลมันจะแก้ของให้แม่ผัวมัน ต้องทำกับหมอคนนี้แหละ อ้อ...แล้วน้าก็ไม่ต้องไปบอกกับมันหรือไปบอกใครหรอกนะ ว่ารู้เรื่องนี้มาจากฉัน ฉันไม่อยากให้ใครมารู้สึกติดหนี้บุญคุณกัน โดยเฉพาะสะใภ้อีย้อย บอกตรง ๆ ว่าพอได้ยินชื่อคนเหล่ากอนี้ ฉันก็ยังขยาดกับความร้ายกาจของพวกมัน...นี่นะ ถ้าน้าไม่เจอฉัน น้าก็คงเดินงมหาอีกนาน”

“ก็ถือว่าโชคของข้ายังมี...”

“น้ากินข้าวมาหรือยัง ถ้ายัง ไป ให้ฉันเลี้ยงข้าวน้าสักมื้อนะ...ร้านโน้นเลย”

แล้วติ๋มก็พานายเชิดเดินไปยังร้านอาหาร โดยใจก็คิดว่า

‘อีเรณู ที่น้าเชิดมาเจอกู เพราะบุญมึงยังมี ไม่อย่างนั้นละก็ วิมานมึงทะลายไม่ได้เสวยสุขแน่ ๆ แต่ใช่ว่ากูจะอยากช่วยมึงหรอกนะ แต่กูว่า ตอนนี้ กูอยากเห็นสะใภ้อีย้อยมันฟัดกันเท่านั้นแหละ เพราะลำพังมึงกับอีย้อย สำหรับกูแล้ว มันยังสนุก น้อยไป!”

*************

เรื่องเรณูทำเสน่ห์ใส่ผัวและแม่ผัวที่ออกจากปากของพิไล กระจายไปอย่ารวดเร็ว

บ้างก็เชื่อ บ้างก็ไม่เชื่อ เพราะเรื่องผู้หญิงทำเสน่ห์ใส่ผู้หญิงด้วยกันนั้น ได้ยินกันมาไม่บ่อยครั้งนัก

คนที่รักเรณู มองว่าเรณูเป็นคนดี มีวาจาอ่อนหวาน ไม่เชื่อว่าเรณูจะกระทำเลวทรามถึงเพียงนี้ แต่บางคนก็ค้านว่า มันก็น่าจะเป็นไปได้ เพราะเรณูนั้นมาจากตาคลี เคยทำงานอยู่ในผับในบาร์มาก่อน และนางย้อยก็เคยจงเกลียดจงชังด่าทอจนถึงขนาดล็อกกุญแจไม่ให้เข้าบ้านให้นอนตากยุงที่หน้าร้านมาแล้ว...

แต่บางคน ก็คิดว่า การที่เรณูกระทำการโต้ตอบนางย้อยโดยการทำเสน่ห์ให้นางย้อยหลงใหลเมตตาจนกลับกลายเป็นคนละคนนั้น ก็สาสมกับความลำเอียงของนางย้อยแล้ว...

มีอย่างที่ไหน ลูกสะใภ้คนโต ถึงแม้จะมาจากที่ไหนก็ตาม นางย้อยปล่อยให้ลำบากตรากตรำ ทำขนมหาบออกมาขาย ไม่ได้เสียเงินค่าสินสอดทองหมั้นเลยสักบาท ส่วนลูกสะใภ้คนที่สอง และคนที่สามที่เพิ่งแต่งกันนั้นจัดงานเสียใหญ่โต ให้ทำงานอยู่ในร้าน แต่งตัวสะอาดสะอ้าน ประดับทองหยองเต็มตัว ย่อมนำมาซึ่งความอิจฉาริษยากัน...

เรื่องที่ชาวบ้านร้านตลาดวิพากษ์วิจารณ์ไปต่าง ๆ นานา สะท้อนกลับมาถึงกมลอย่างรวดเร็ว เขารีบให้ป้อมเดินไปตามเตี่ยและประสงค์กลับมาที่ร้านโดยด่วน เพราะเขาเองก็ตอบคำถามจากคนกล้าที่เข้ามาถามกับตัวเขาถึงในร้านไม่ได้

แต่สำหรับเขาเองนั้น แม้จะรู้สึก เสียความรู้สึกกับเรื่องที่เรณูทำลงไป แต่อีกใจ เขาก็เข้าใจว่า

‘ถ้า’ เรณูทำจริง ๆ ‘ทำไม’ เรณูถึงต้องทำแบบนั้น

และเขาก็เข้าใจว่า ‘ทำไม’ พิไลถึงได้เป็นเดือดเป็นแค้นถึงขนาดนี้...

เพราะว่ากันตามเนื้อผ้า ถ้าก่อนที่จะพากันมาอยู่ที่ตาคลีเรณูทำเสน่ห์ใส่ปฐมจริง ๆ ก็เท่ากับเรณูแย่งปฐมซึ่งเป็นถึงคู่หมั้นคู่หมาย คู่รักของพิไลมาครอบครอง มันจึงไม่แปลกที่พิไลจะเก็บความเจ็บแค้นไว้ในใจ จนกระทั่งต้องหาวิธีเอาคืน

ส่วนที่เรณูทำเสน่ห์ใส่แม่นั้น ก็สมควรที่พิไลจะออกมาปกป้องผลประโยชน์ของตนและรวมถึงลูกของแม่อีกสามคนด้วย...ถ้าแม่ตัดสินใจยกนั่นยกนี่ให้ปฐมให้เรณูไปในตอนที่สติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์ วันหนึ่งข้างหน้า ถ้าพิไลหาทางแก้ไขจนแม่กลับมาเป็นปกติได้ แม่ที่เคยเกลียดเรณูอย่างกับอะไรดี คงไม่มีความสุขตลอดไป แล้วอ้อยที่เข้าปากช้างไปแล้ว คงยากจะเรียกคืน แต่คนอย่างแม่ ก็ไม่เคยยอมแพ้อะไรง่าย ๆ ข้อนั้นเขารู้เขาเห็นมาเป็นอย่างดี...

บ้านหลังนี้ ‘วงศ์ตระกูล’ นี้ มีแต่จะร้อนเป็นไฟ ให้คนที่มีทั้งรักและชัง คอยดูบทสรุป...

หลังจากที่พ่อ และประสงค์มาถึงก็เดินเข้ามาหากมลที่โต๊ะบัญชี โดยกมลจัดวางเก้าอี้ไว้รอท่าแล้วพร้อมกับกำชับบุญปลูกให้ดูต้นทาง เพราะกลัวว่าระหว่างที่นั่งประชุมแก้ไขปัญหา พิไลจะหวนกลับมาทำให้เรื่องเลวร้ายไปกันใหญ่

สามคนพ่อลูก นั่งมองหน้ากัน...กมลที่รู้ว่าเรื่องนี้ ประสงค์ต้องรู้ดี เพราะเมียของเขาเป็นคนปล่อยข่าวชนิดตีสีใส่ไข่ ก็ถามประสงค์ว่า

“เฮียคงรู้เรื่องที่อาซ้อพิไล เที่ยวเอาไปพูดแล้วใช่ไหม”

“รู้...ข่าวแพร่สะพัดไปถึงโรงสีแล้ว” สีหน้าของประสงค์เต็มไปด้วยความเหน็ดเหนื่อยใจ

“แล้วเราจะเอาอย่างไรกันดีล่ะเตี่ย” กมลหันไปถามผู้มีอาวุโสสุด...

เจ๊กเซ้งนั้นแม้จะผ่านร้อนผ่านหนาวมามากกว่าลูกชายทั้งสองคน แต่ตลอดชีวิตหลังแยกตัวออกมาจากกงสีของครอบครัว มาช่วยกันทำมาค้าขายสร้างเนื้อสร้างตัวอยู่ที่ชุมแสง เขาก็ปล่อยให้นางย้อย ‘จัดการ’ ชีวิตของตนหมดทุกเรื่อง

พอเรื่องนี้เกิดขึ้น เจ๊งเซ้งยอมรับกับตัวเองว่า ยากที่จะแก้ไขปัญหา เพราะเรื่องทุกเรื่องที่เคยเกิดขึ้นครั้งก่อนนั้น นางย้อยจะมาปรึกษาหารือ บอกกล่าว ให้เหตุผล ตามประสาคนสองคนที่ผูกสมัครรักใคร่ไว้เนื้อเชื่อใจ จนเรียกได้ว่าเป็นคู่ทุกข์คู่ยากที่ยากจะแปรเป็นอื่น ถ้าตนทักท้วง ขัดข้อง หรือ ร้องขอ ขึ้นมา แม้นางย้อยจะมั่นใจในความคิดความอ่านของตนเอง แต่ก็ยินยอมอ่อนลงให้เสียทุกครั้ง

ครั้งนี้พอกมลเอ่ยถามแบบนี้ เจ๊กเซ้งจึงส่ายหน้าเบา ๆ เพราะก่อนที่จะตัดสินใจให้พิไล จัดการแก้ไขเรื่องเลวร้ายที่เรณูทำลงไป เจ๊กเซ็งก็บอกไปด้วยอารมณ์ที่จู่ ๆ เหมือนเกิดเหน็บชาขึ้นที่ใจ...

เพราะใจของเจ๊กเซ้งเมื่อก่อนหน้านั้นมีความสงสาร เมตตา และมีความเอ็นดูเรณูเหมือนมี ‘ลูกสาว’ เพิ่มมาอีกคน มาตลอด เพราะเรณูทำตัวน่ารัก มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ให้เกียรติ ไม่เคยแสดงอาการรังเกียจที่ตนเองเป็นตาแก่โง่ ๆ เนื้อตัวมอมแมม มีกลิ่นขี้หมูขี้ไก่เหม็นติดตัว ยามที่นางย้อยออกงิ้วกับเรณู เจ๊กเซ้งจึงต้องปกป้องเรณู เพราะอยากให้ผู้หญิงสองคนที่ตนเองรักนั้น อยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข อยากให้ปฐมซึ่งเป็นลูกชายคนโตซึ่งเป็นแก้วตาดวงใจนั้นมีความสุข

แต่เมื่อ ‘เบื้องหลัง’ ของความสุข ที่เพิ่งเกิดขึ้นในบ้าน ที่เจ้าของบ้านสร้างมันมาด้วยความยากลำบาก สร้างขึ้นเพื่อหวังเป็นมรดกตกทอดไปยังลูกหลานทุกคนอย่างยุติธรรม เกิดจากเหตุอย่างนี้ หัวใจของเจ๊กเซ้งจึงเต้นผิดจังหวะ

...แต่พอนั่งตรึกตรองหลังจากที่พิไลเดินออกมาจากโรงสี เจ๊กเซ้งก็รู้ว่า ในร้ายนั้น ก็ใช่ว่าจะไม่มีดี

“เตี่ยช็อกน่ะ” ประสงค์เปรยออกมาเบา ๆ

“แล้วหายาลมให้เตี่ยกินหรือยัง”

“อั๊วไม่ได้เป็นอะไรหรอก...เพียงแต่ตอนแรก อั๊วตกใจเท่านั้นเอง...ไม่คิดว่า อาเรณูอีจะร้ายได้ถึงเพียงนี้...ตอนนี้ อั๊วคิดอะไรออกบ้างแล้ว...”

พอพ่อที่ไม่ค่อยได้พูด พูดยืดยาว ทั้งประสงค์ กับกมลจึงนิ่งฟัง...แต่เจ๊กเซ้งก็ยังคงนั่งนิ่งเหมือนกำลังใช้ความคิดอย่างหนัก...กมลจึงต้องถามซ้ำว่า

“เตี่ยคิดอะไรออก ก็ว่ามา”

“เตี่ยว่าจะดูไปเรื่อย ๆ แล้วก็ระวังกันเอา เพราะถ้าม้าพวกลื้อ ถูกอาเรณูทำเสน่ห์ใส่จริง ๆ ก็ใช่ว่า ม้าจะหลงใหลจนเสียสติ เจ็บไข้ได้ป่วย กินไม่ได้ นอนไม่หลับ เสียเมื่อไหร่ ทุกวันนี้ ม้าพวกลื้อยิ้มแย้มแจ่มใส กินได้ นอนหลับดี มีความสุขดีกว่าแต่ก่อนเป็นไหน ๆ...ส่วนเรื่องเซ้งร้านผ้า เรื่องทองที่ให้อาเรณูใส่ไปวันนี้ ม้าเขาก็ไม่ได้ให้ไปโดยพละการ ม้าปรึกษาเตี่ยแล้ว เตี่ยเห็นว่า ถ้าจะให้เลยก็ได้ เพราะเส้นเก่าของอีมันถูกคนจี้ไปจริง ๆ แต่เส้นใหม่นี้ก็ให้อีระวัง ๆ หน่อย ใส่ไปแค่ไปอวดคน กลับมาก็ให้เก็บให้มิดชิด...”

“ทองอะไร” กมลยังไม่รู้เรื่องทอง

“วันไปแต่งลื้อน่ะ ม้าให้สร้อยคอกับสร้อยข้อมืออาซ้อไป สร้อยคอสองบาท ข้อมือหนึ่งบาท แล้วเมื่อหลังงานลอยกระทง อีหาบของมาขายตอนเช้ามืดแล้วอีถูกจี้เอาสร้อยคอไป...แล้วพอจะไปปากน้ำโพกัน ม้าก็เลยให้สร้อยเส้นใหม่ไป...พิไลเห็นเข้า มันก็เลยกลายเป็นเรื่อง” ประสงค์เท้าความ กมลพยักหน้าเข้าใจว่ามูลเหตุที่พิไลฟาดงวงฟาดหางนั้น นอกจากความโกรธแค้นแล้ว ก็ยังมีความโลภและความอิจฉาริษยาที่เห็นคนอื่นได้ดีเกินหน้าของตน

“ส่วนเรื่องเสน่ห์ที่พิไล มันว่า ตอนนี้เตี่ยเขาก็ตัดรำคาญให้พิไล ออกโรงหาหมอดี ๆ มาแก้แล้วแหละ ใช้จ่ายเงินเท่าไหร่ก็ให้เบิกจากเงินของโรงสี นี่เขาก็บอกกับเฮียว่า เขาไปบังเอิญเจอน้าเชิด คนงานเก่าของเถ้าแก่ฮง เขาก็จะพึ่งพาอาศัยกัน ให้ไปเรื่องสืบตามหาหมอดี ๆ มาแก้ไข... ”

“สรุปว่า เฮียกับเตี่ย เชื่อว่า อาซ้อทำของใส่ตั่วเฮียกับม้าจริง ๆ”

“เฮียเชื่อ เตี่ยเชื่อ แล้วลื้อเชื่อหรือเปล่าล่ะ” ประสงค์ถามกลับ

“อั้วเชื่อว่าอาซ้อทำตั่วเฮียจริง แต่กับม้า...ก็น่าจะจริง แต่ว่าทำที่ไหน แล้วผลร้ายมันคืออะไร เพราะ ตะกี้ เตี่ยก็พูดเหมือนกับว่า มันมีผลดีอยู่ด้วย ใช่ไหมเตี่ย” กมลสรุป

“ใช่...ในร้ายมันก็มีดี อย่างน้อย บ้านที่เคยร้อนเป็นไฟ มันก็เย็นลง เตี่ยถึงบอกว่าก็ระวัง ๆ กันไป ถ้าม้าจะให้อะไรอาเรณูไม่มากจนเกินไป ให้ตามเหตุตามสมควรก็ต้องยอมให้ให้ไป แต่ถ้ามากไปก็ต้องขวางกันบ้าง”

“แต่ซ้อพิไลคงไม่ระวัง ๆ ไม่สนใจเหตุผลอะไรด้วยหรอก ขอโทษนะเฮียตง หากอั๊วจะพูดตรง ๆ ว่า ลึก ๆ แล้ว อาซ้อพิไลเขาก็คงแค้นใจ ที่ถูกอาซ้อเรณูใช้ของไม่ดีมาแย่งตั่วเฮียไป เพราะก่อนหน้านั้น เขาทั้งคู่ เป็นคู่รักกันมาก่อน”

“ข้อนั้นเฮียรู้ดี...เฮียไม่เคยลืมหรอก”

“ตรงนั้นแหละเป็นมูลเหตุสำคัญ เมื่อรักเฮียใช้มาก ก็ต้องแค้นและก็ต้องเกลียดอาซ้อเรณูมากเป็นธรรมดาใช่ไหม คนเราทั่ว ๆ ไป ทางใดที่จะทำให้คนที่ตัวเองเกลียด หายนะฉิบหายวายวอดได้ เขาก็ต้องทำ...มันถึงกลายเป็นอย่างที่เห็น บ้านเราก็เลยกลายเป็นโรงงิ้วให้คนรอดูบทสรุปเหมือนเดิม....” ว่าแล้วกมลก็ถอนหายใจออกมา...

“ถ้าม้ากลับมา เรื่องนี้ต้องถึงหูม้า ต้องถึงหูอาซ้อเรณู...เดาไม่ออกเลยว่า เรื่องจะไปอย่างไรต่อ...เพราะคนอย่างอาซ้อเรณู ก็คงไม่ยอมอยู่นิ่งให้คนมองแกในแง่ลบหรอก” ประสงค์เกิดความสงสัย

“ก็ต้องคอยดูกันต่อไป”

“แล้วถ้าอาพิไล แก้ได้สำเร็จ แล้วม้ามารู้ทีหลัง ม้าจะจัดการกับอาซ้อเรณูอย่างไร ตั่วเฮียมารู้ทีหลังตั่วเฮียจะจัดการกับอาซ้ออย่างไร” ประสงค์มีสีหน้าครุ่นคิด

“เรื่องนี้ก็ไม่รู้เหมือนกัน ว่าไอ้ฤทธิ์ของเสน่ห์ยาแฝดนี่ พอมันคลายแล้ว มันทำให้ลืมเรื่องดี ๆ ที่มีอยู่บ้าง ไปหรือเปล่า”

“เฮียก็ไม่เคยถูกของ เฮียให้คำตอบไม่ได้”

“เตี่ยก็ไม่เคยถูกของเหมือนกัน เตี่ยก็ให้คำตอบไม่ได้”

“ถ้าอย่างนั้น สรุปว่า พวกเรา จะต้องนั่งดูกันต่อไปใช่ไหม” กมลสรุปยิ้ม ๆ

“แล้วมันทำอะไรได้ดีกว่านี้ล่ะ” เมื่อเห็นกมลยิ้ม ประสงค์ก็ยิ้มออกมาได้บ้าง เมื่อเห็นว่าอย่างไรแล้วปัญหาจะยังคงแก้ไม่ได้เพราะมีตัวแปรมากมาย กมลที่เห็นคนในบ้านเข้าใจตรงกันและผ่อนคลายความเครียดไปได้บ้างแล้ว ก็บอกว่า

“ถ้าอย่างนั้น เฮียก็เฝ้าร้านนะ อั๊วจะออกไปกินกุยช่ายทอดแล้วจะไปฟังกระแสเรื่องนี้ด้วย”

“ชีวิตลื้อก็มีแต่เรื่องกิน” ประสงค์ว่าให้

“จะกินไหมล่ะ จะได้ซื้อมาให้”

ประสงค์ที่เคร่งเครียดมาทั้งวันแล้วเหมือนกัน พยักหน้า

“เตี่ยล่ะกินไหม”

“กิน...ซื้อมาฝากเตี่ยด้วย เดี๋ยวเตี่ย อาบน้ำรอ รีบไปรีบกลับนะ”

พอเตี่ยบอกอย่างนั้น กมลก็ลุกขึ้น แล้วสูดลมหายใจเข้าปอด....บอกกับตัวเองว่า ...ใจที่ทุกข์ร้อนเพราะเรื่องร้อน ๆ จะไม่ร้อนรน ถ้ามีสติตรึกตรอง ถึงต้นเหตุของปัญหา

...ปัญหาที่จะต้องยืดเยื้อไปอีกนาน

***********************


Title: Re: กรงกรรม บทประพันธ์ของ จุฬามณี
Post by: นักประพันธ์ on 02 March 2020, 14:53:38
ตอนที่ 30 : รักต้องสู้


            ๓๐


พอไปถึงร้านอาหารข้าวแกงแบบตักราด ติ๋มก็ถามเชิดว่า “เอาสักเป็กก่อนกินข้าวไหมน้า”

“ก็ดีเหมือนกัน”

ติ๋มสั่งเหล้าโรงให้เชิดครึ่งขวดพร้อมกับแกล้ม เป็น เนื้อทอด ลาบหมู ผัดเผ็ดกบใส่หน่อไม้ดอง

พอเหล้าเข้าปาก ติ๋มก็ซักไซ้ไล่เรียง เรื่องระหว่างลูกสะใภ้สองคนของนางย้อย นายเชิดเล่าเรื่องเท่าที่รู้จากปากของพิไล เพราะไม่เคยรู้จักเรณูมาก่อน เล่าไปเล่ามา นายเชิดก็เผลอหลุดปากเล่าเรื่อง สร้อยคอทองคำที่พิไลบัญชาให้ตนนั้นทำทีไปเป็นโจรกระชากมา...โดยแรงจูงใจ นอกจาก ‘ค่าจ้าง’ เป็นโจร ทองเส้นนั้นก็ยังเป็นสิทธิ์ขาดของนายเชิดด้วย ขายได้เท่าไหร่ก็เก็บเงินไปได้ แต่ห้ามขายในตลาดชุมแสงให้สืบสาวมาถึงตัวคนบงการได้...

“พิไลนี่ก็ร้ายพอตัวเลยเนอะ” ที่ติ๋มต้องเมาเหล้าแล้วซักเพราะจะได้ประเมิน ‘ผู้ช่วย’ คนถัดไปของตนเองถูก...

“ก็ลูกสาวคนเล็ก ลูกสาวคนเดียวของเมียน้อยเถ้าแก่น่ะ เลยติดจะเอาแต่ใจ อยากได้อะไรก็ต้องได้ พอไม่ได้ดังใจก็อ้อน เห็นมาตั้งแต่เล็ก ๆ นี่ไม่คิดว่าจะวกกลับมาเจอกันอีก”

“ถ้าอย่างนั้น เดี๋ยวฉันช่วยซื้อทองเส้นนี้ไว้นะ ตัดความยุ่งยากไป ฉันซี้กับเจ้าของร้านทองดี ถ้าน้าเอาทองขาดไปขายถูกตัดราคาแน่ ๆ”

“ก็ดีเหมือนกัน น้าเองก็ไม่อยากถูกมองด้วยสายตาแปลก ๆ”

ติ๋มควักจ่ายเงินค่าทองให้เชิดเต็มราคาทองหนักสองบาทแล้วเก็บทองเข้ากระเป๋า...และเมื่อเห็นว่าเชิดมีเงินแล้ว ติ๋มก็บอกว่า

“ฉันว่า คืนนี้ น้าค้างที่นี่ก่อนดีกว่า”

“จะค้างที่ไหนได้”

“โรงแรมไงน้า ยอมจ่ายซะหน่อยเอาความสะดวก ดีกว่าไปนอนวัดให้ยุงกัด แล้วถ้าน้าอยากจะเปลี่ยนบรรยากาศ ถามพวกบ๋อย ให้มัน จัดมาให้ก็ได้”

“มันจะดีหรือวะ”

“แหม...น้า มีเงินแล้วก็ใช้ซื้อความสุขซิ...แล้วอีกอย่าง ถ้าน้าไปรถไฟรอบค่ำ ถ้าไม่มีรถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง น้าก็ต้องเดิน แถมมืด ๆ ค่ำ ๆ เดินไปท่าน้ำอ้อย เงินที่น้ามี จะถูกปล้นไปซะนะ...นอนซะที่นี่เถอะ”

หลังกินข้าวอิ่ม ติ๋มก็พานายเชิดเดินไปส่งที่โรงแรม แล้วขอตัวลากลับไปทำงาน โดยไม่ลืมกำชับกับบ๋อยให้ปลุกแขกไปให้ทันรถไฟเที่ยวแรก...ซึ่งจะทำให้ถึงท่าน้ำอ้อยในตอนสาย ๆ เสร็จธุระแล้วก็จะได้รีบกลับมาขึ้นรถไฟไปชุมแสง เพื่อปรึกษาหารือกับพิไลว่าจะเดินทางมาหา ‘หมอบาง’ ที่ท่าน้ำอ้อยเมื่อไหร่...

“ขอบใจเอ็งมากนะติ๋ม ถ้าไม่ได้เอ็ง น้าก็คงแย่”

“ไม่เป็นไรหรอกจ้ะ คนกันเอง ฉันไปละนะ” ว่าแล้วติ๋มก็เดินจากมาด้วยอาการยิ้มย่องผ่องใส เพราะมั่นใจว่า เป็นเพราะ ‘กรรม’ ที่นางย้อยทำกับครอบครัวของตนไว้หรอก ถึงทำให้ ทั้งเรณู ปฐม พิไล และเชิด ต้องวนเวียนกลับมาให้ตนมีโอกาสแก้แค้น!

************

หลังที่เฝ้ารอก้านอยู่ครึ่งค่อนคืนแล้วพบว่าก้านไม่มาหา เพียงเพ็ญที่กระวนกระวายใจเป็นอย่างมากจึงกะไว้ว่า ตอนเช้าตรู่จะต้องไปที่บ้านของก้านอีกรอบ ไปคราวนี้ก้านคงยังไม่ออกไปไหน พอได้ยินเสียงไก่ขัน เพียงเพ็ญก็ลุกจากที่นอน มายืนมองออกไปทางนอกหน้าต่างอีกครั้ง...ก่อนจะเดินมาคว้าตะเกียงรั้วที่จุดทิ้งไว้ แล้วเดินออกจากห้อง...

“ตื่นเร็วจัง” นางแรมที่ตื่นตั้งแต่ตีสี่มาหุงข้าวใส่บาตร เห็นเพียงเพ็ญก็เอ่ยถาม

“ปวดห้องน้ำจ้ะป้า” ว่าแล้วเพียงเพ็ญก็ถือตะเกียงเดินลงบันไดไป...

ล้างหน้าจนรู้สึกสดชื่นแล้ว เพียงเพ็ญก็ดับตะเกียงวางทิ้งไว้ที่ข้างห้องส้วมแล้วออกเดินลัดเลาะไปตามเส้นทางที่ต้องผ่านเลือกสวนไปอย่างรวดเร็ว...ถึงบ้านของก้าน ก็ฟ้าสางพอดี...

บ้านทั้งหลังเงียบกริบ มองไปที่ตีนบันไดก็ไม่เห็นรองเท้าของก้าน ได้ยินแต่เสียงนางกุ่นไอโขลก ๆ หัวคิ้วของเพียงเพ็ญขมวดเข้าหากัน...เพราะถ้าจะตะโกนเรียกคนบนเรือนในตอนนี้ ก็ดูจะเป็นเรื่องเอิกเกริก แต่เมื่อมาถึงแล้ว จะให้มัวใจเย็น รอให้คนบนเรือนตื่นนอนออกกันมา ก็คงไม่ได้...

“พี่ก้าน พี่ก้าน พี่ก้าน” เพียงเพ็ญร้องเรียกเสียงไม่ดังนักอยู่อึดใจใหญ่ ๆ นางกุ่นก็โผล่ออกมา...โดยมีผ้าขนหนูห่มไหล่ออกมาด้วย...

“อ้าว นังหนู มาอย่างไรแต่เช้าตรู่”

“พี่ก้านอยู่ไหมจ๊ะป้า...”

“ไม่อยู่...”

“แกไปไหน”

“เอ่อ...ไป ไป ไป ไปธุระกับอาสิทธิ์ยังไม่กลับมาเลย”

เพียงเพ็ญรู้สึกว่านางกุ่นโกหกได้ไม่แนบเนียนนัก...

“แล้วเขาจะกลับมาเมื่อไหร่ เมื่อวานเขากลับมาบ้านหรือเปล่า”

“กลับมา แต่ก็ออกไปอีก...”

“แล้วป้าบอกเขาหรือเปล่าว่าฉันมาหา แล้วให้เขาไปหาให้ได้ เพราะฉันมีเรื่องด่วน” เพียงเพ็ญซักไซ้เสียงห้วน

“บะบะบอก บอกมันไปแล้ว”

“แล้วเขาว่าอย่างไรบ้าง ทำไมเขาถึงไม่ไปหาฉัน ฉันก็รอเขาอยู่ทั้งคืน”

“ไม่รู้มันซินะ ก็ตอนที่บอกกับมัน มันก็นิ่งเงียบ”

“แล้วเช้านี้ เขาจะกลับบ้านไหม”

“ไม่รู้เหมือนกัน”

เพียงเพ็ญถอนหายใจออกมาอย่างแรง สีหน้าเต็มไปด้วยความหนักใจ แต่จะทำอะไรได้...

“อย่างไรก็ให้เขา ไปหาฉันให้ได้นะ มาถึงเมื่อไหร่ ก็ให้ไปหาฉันเลยนะ ฉันมีธุระสำคัญจะคุยกับเขา ฉันไปละนะ” เพียงเพ็ญมีใบหน้าบึ้งตึงเดินกลับไปตามทางเดิมที่เดินมา...จนกระทั่งถึงบ้าน ก็พบว่าทั้งพ่อ แม่และนางแรมนั้น ยืนคอยท่ากันอยู่ที่ลานหลังบ้าน...

“เอ็งไปไหนมานังหนู” กำนันศรถามเสียงเครียด

“ไปธุระมา”

“ธุระอะไรตั้งแต่เช้ามืด”

“ไปบ้านพี่ก้านมา” เพียงเพ็ญบอกตามตรง บอกอย่างไม่กลัวอะไรทั้งนั้น

“จะไปหามันทำไม!”

เพียงเพ็ญสูดลมหายใจเข้าปอด เชิดหน้าขึ้น

“อย่าลืมซิว่า เอ็งน่ะแต่งงานแล้ว ถ้าไม่คิดรักษาหน้าพ่อแม่ ก็ต้องรักษาหน้าผัวเอ็งด้วย เขาไม่อยู่บ้านแล้วเที่ยวแรด ๆ ลงจากเรือนไปหาชายอื่น เขารู้เข้า เขาจะว่าอย่างไร”

เพียงเพ็ญไม่ยอมตอบคำถามนั้น แต่ในใจก็มีคำยอกย้อนย้อยอย่างพรั่งพรู

เห็นอาการดื้อแพ่งของลูกสาว กำนันศรก็พูดอีกว่า

“ป้าแรมบอกว่า ตั้งแต่แต่งงาน เอ็งกับพ่อซายังไม่ได้นอนด้วยกันเลยสักคืน...มันหมายความว่าอย่างไร”

เพียงเพ็ญหันไปหานางแรมในทันที...ดวงตานั้นเขียวปัด

“ก็ป้าห่วงหนู” นางแรมรีบออกตัว

“ตอบมา! ว่าเอ็งคิดจะทำอะไร ตอบมา!”

“หนูก็บอกพ่อไปแล้วว่า หลังแต่งงานแล้ว ชีวิตจะต้องเป็นของหนู”

“ถ้าเอ็งทำอย่างนี้ เรื่องแดงขึ้นมาว่าเอ็งท้องก่อนแต่ง พ่อซาเขาจะว่าพ่อว่าแม่อย่างไร คิดบ้างไหม”

“ว่าอย่างไร...เดี๋ยวก็รู้”

“อีเพ็ญ! อีลูกไม่รักดี อีลูกเวร มึงจะทำให้กูฉิบหายขายตัวก็คราวนี้แหละ”

“ฉิบหายอะไรละพ่อ ใครกันล่ะ ใครกันเป็นคนบังคับให้ฉันแต่งกับเขา พ่อก็รู้ทั้งรู้ ว่าฉันท้องกับพี่ก้าน แล้วพ่อจะบังคับให้ฉันแต่งกับเขาทำไม”

“แต่ถ้ามึงยอมให้มันนอนด้วยซะตั้งแต่คืนแรก เด็กมันออกมาแล้ว มันก็พิสูจน์ไม่ได้ว่าเป็นลูกใครหรอก แต่ถ้ามึงทำอย่างนี้ มันเท่ากับว่า...เฮ๊ย”
ว่าแล้วกำนันศรก็ขว้างไม้ตะพดในมือใส่ข้างฝาสังกะสีห้องส้วมจนเต็มแรง... เพียงเพ็ญยืนน้ำตาไหลออกมา...แล้วใช้หลังมือเช็ดน้ำตาอย่างแรง...

“ใจเย็น ๆ ค่อย ๆ พูด ค่อยๆ จากัน” นางสมพรจับแขนกำนันศรไว้ ...

“ตอนนี้มึงยังท้องได้แค่เดือนสองเดือน ถ้ามึงคิดจะกลับตัวมันก็ยังทัน ถ้าเด็กมันออกมาก่อนเก้าเดือนก็ ก็บอกเขาได้ว่า คลอดก่อนกำหนด แล้วเอ็งก็เป็นเมียเขาแล้ว เขาจะคลางแคลงใจอะไร เขาก็อาจจะเลยตามเลย เพราะนิสัยเขามันก็ไม่ใช่คนมุทะลุเอาแต่ใจตัวเอง แล้วช่วงก่อนจะคลอด เอ็งยังมีเวลาผูกใจเขาไว้ได้อีกตั้งนาน”

“ฉันไม่คิดกลับตัวกลับใจ ผู้ใครอะไรทั้งนั้นละ ฉันเลือกทางเดินของฉันแล้ว พ่อจะฆ่าฉัน เฆี่ยนตีฉันก็เอา” เพราะรู้ว่าพ่อกำนันไม่เคยลงมือกับตน เพียงเพ็ญจึงได้พูดไปอย่างนั้น...

กำนันศรกำหมัดแน่น ดวงตาแข็งกร้าวแล้วกัดฟันกรอด ก่อนจะประกาศิตว่า

“ถ้ามึงไม่ยอมให้พ่อซานอนด้วย แล้วเรื่องมันลุกลามใหญ่โต มึงกับกูก็เตรียมตัวขาดกัน เมื่อมึงไม่เห็นว่ากูเป็นพ่อมึง กูก็จะไม่เห็นมึงเป็นลูกกู...มึงเลิกกับพ่อซาเมื่อไหร่ เขาหอบผ้าลงจากเรือนกูวันไหน มึงก็ต้องหอบผ้าไปอยู่ที่อื่นวันนั้น...แล้วมึงก็อย่าอยู่ที่ฆะมังให้กูเห็นหน้าด้วย ไม่งั้นกูเอามึงตาย!”

“ถ้าฉันจะตาย ฉันก็ตายบนเรือนนี้แหละ ฉันจะไม่ไปตายที่ไหนทั้งนั้น”

“อีเพ็ญ!” กำนันศรจะเข้าไปตบลูกสาวระบายความคั่งแค้นใจ ดีแต่ว่าทั้งนางสมพรและนางแรมช่วยกันรั้งแขนไว้ก่อนจะบอกให้เพียงเพ็ญรีบขึ้นบ้านไป...โดยมีเสียงกำนันศรด่าตามหลังอีกยืดยาว...

***********

พออารมณ์เย็นแล้ว กำนันศรก็เดินไปหานางศรี...

“มีอะไรกันละพ่อกำนัน เสียงดังแต่เช้าตรู่”

“ก็อีตัวดีนะซิ มันดอดไปหาไอ้ก้านมา”

“ฮ้า...” นางศรียกมือทาบอก

“แล้วพ่อซาเขาว่าอย่างไร”

“เขาไม่อยู่ เขากลับไปเฝ้าร้านให้แม่เขาตั้งแต่เมื่อวาน เห็นว่าจะไป วันหรือสองวันนี่แหละ ศรีเอ็งรู้ไหมว่าตั้งแต่มันสองคนแต่งงานกัน มันยังไม่ได้นอนด้วยกันเลยสักคืน”

คราวนี้เองนางศรีเหมือนถูกถีบเข้าที่ยอดอกแต่ก็ไม่ได้อุทานอะไรออกมา...เพราะแผน ‘ย้อมแมวขาย’ นี้ ตนเป็นคนออกความคิด ถ้าความแตกขึ้นมา นางศรีรู้ดีว่า นางย้อยนั้นปากร้ายแค่ไหน เห็นทีนางไปเหยียบตลาดชุมแสงอีกไม่ได้แน่ ๆ!

“อีลูกไม่รักดี มันกะจะให้พ่อซารู้ว่ามันท้อง เพื่อจะได้เลิกกัน แล้วมันก็จะไปอยู่กับไอ้ก้าน มันจะเอาชนะข้าให้ได้”

“ไอ้ก้าน ไอ้ก้าน มันคงไม่ง่ายอย่างนั้นหรอก ตอนนี้เขาลือกันให้แซ่ด ว่าตอนนี้ อีบังอร มันเข้านอกออกในบ้านไอ้ก้าน อยู่ด้วยกันจนค่ำมืดดึกดื่น แล้วไอ้ก้านมันก็กำลังหาเงินรักษาแม่มัน มันคงไม่ปล่อยอีบังอรที่เสนอตัวให้มันไว้หรอก พ่อกำนัน... ”

“ฉิบหายแล้วละซิ”

“กรรมของกรรมละ” ว่าแล้วนางศรีก็ถอนหายใจออกมาก่อนจะขยายความว่า

“อีบังอรมันมาคุย ว่าเห็นไอ้จุกเพียรไปหาไอ้ก้านสองรอบสามรอบแล้ว คนของเราคงจะส่งข่าวอะไรละ”

“วันนี้ที่มันยอมไปเอง ก็แสดงว่า ข่าวนั้นยังไม่ถึงไอ้ก้านใช่ไหม” กำนันศรคาดเดาเรื่องต่อ

“ถ้าไปเองแต่เช้ามืดดึกดื่นก็คงจะถึงแล้วหละ ถ้าให้ฉันเดา นังหนูมันคงไปบอกกับไอ้ก้านว่าเดี๋ยวมันจะเลิกกับพ่อซาในเร็ววันนี้ ให้รอมันหน่อย แต่ดูท่าไอ้ก้านมันคงไม่อยู่รอแล้ว”

“แล้วนังหนูมันรู้เรื่องอีบังอรกับไอ้ก้านหรือยัง”

“ก็คงรู้ ๆ บ้างละ มันถึงกระวนกระวายใจ”

“นี่ข้าก็กล่อมมันไปว่า ถ้าจะกลับใจก็ยังไม่สาย เพราะเจ็ดแปดเดือน คนเป็นผัวเป็นเมียกันแล้ว มันก็คงต้องผูกพันกันมั่ง แล้วถ้าพ่อซาเขาไม่ยอม ข้าก็ว่าจะยอม ๆ ขอโทษขอโพยแล้วโอนที่นาทำขวัญให้เขาสักแปลงสองแปลง แต่มันก็ไม่เอา มันเลือกทางที่มันคิดว่าดี...ข้าก็เลยประกาศิตไปว่า วันใดที่มันเลิกกับพ่อซา พ่อซากลับชุมแสงไปวันใด วันนั้น มันจะต้องไปจากฆะมัง มันกับข้าจะขาดกัน”

“แล้วมันจะขาดกันอย่างที่ปากพูดไปได้จริง ๆ รึพ่อกำนัน”

“ก็นั่นนะซิ” ว่าแล้วกำนันก็ยกหลังมือซับน้ำตาให้ตัวเองก่อนที่มันจะไหลออกมาให้ได้อาย...

****************

เมื่อ ‘เรียนผูกก็ต้องเรียนแก้’ นางศรีบอกตัวเองและกำนันศรอย่างนั้น...พอปรึกษาทางออกของปัญหาที่น่าจะเป็นไปได้ นางศรีก็รีบดำเนินการทันที เบื้องต้นนางศรีแสร้งไปขอเก็บฝรั่งที่บ้านของนางอบ...

“อยากได้เท่าไหร่ก็สอยเอาไปเลย...” นางอบตะโกนลงมาจากครัวหลังเรือน นางศรีถามถึงบังอร อึดใจบังอรก็เดินออกมาชานหลังบ้าน...

นางศรีจึงบอกว่า “บังอร เอ็งมาช่วยป้าสอยฝรั่งหน่อยซิ แหงนมาก ๆ ปวดคอว่ะ”

พอบังอรมาถึง นางศรีก็ยื่นไม้ ‘ตะขอ’ ให้บังอรสอยฝรั่งผลแก่กำลังกินให้ พอได้จำนวนหนึ่ง นางศรีก็บอกว่า

“แค่นี้แหละ น่าจะพอแล้ว”

“วันหลัง ถ้าป้าอยากจะกินก็บอก เดี๋ยวฉันเก็บไปให้ ป้าจะได้ไม่ต้องมาเองหรอก”

“จริง ๆ แล้วข้าไม่ได้อยากได้ฝรั่งหรอก บังอรฟันฟางข้ามันเคี้ยวไม่ไหวแล้ว” นางศรีไม่อ้อมค้อม บังอรได้ยินดังนั้นก็ชักสีหน้าแปลกใจ

“ป้าอยากรู้เรื่องเอ็งกับไอ้ก้านน่ะ มันไปถึงไหนแล้วต่างหาก”

“เอ่อ...มีอะไรรึป้า” แม้จะอยากให้คนอื่นรับรู้ว่าตนนั้นตกเป็นของก้านไปแล้ว แต่พอถูกถามตรง ๆ ผิวหน้าบังอรก็รู้สึกร้อนผะผ่าวเพราะความเขินอาย...

“เอ็งก็รู้ว่า นังเพียงเพ็ญมันเคยชอบอยู่กับไอ้ก้าน”

“ข้อนั้น ฉันรู้ดีจ้ะป้า...”

“ตอนนี้ มันจะเลิกกับผัวมัน กลับมาหาไอ้ก้าน”

“ฮ้า จริง ๆ รึ”

“ป้าถึงต้องมาหาเอ็งนี่ไง เพราะมีคนเขาลือกันว่า เอ็งกับไอ้ก้านน่ะ ไปถึงไหน ๆ กันแล้ว”

“ก็...เอ่อ” บังอรยากจะแก้ตัว

“แล้วเมื่อไหร่ ถึงจะแต่งงานกันให้เป็นเรื่องเป็นราว ชาวบ้านเขาจะได้ไม่เอาไปนินทา”

“คือ พี่ก้านเขายังไม่พร้อม เขาไม่มีเงิน หนี้สินที่หยิบยืมไปรักษาแม่เขา ก็ยังต้องทำงานใช้อยู่เลย”

“แล้วถ้าเอ็งท้องไส้ขึ้นมา เอ็งจะไม่อายคนเขารึ”

“ก็...เอ่อ ถ้าเป็นอย่างนั้น ก็ต้องเป็นอีกเรื่องหนึ่ง” บังอรเริ่มใจคอไม่ดี...

“เอาอย่างนี้ ตอนนี้ ทางเดียวที่จะพอช่วยกันได้...คือ เอ็งไปพูดกับแม่เอ็ง เรื่องสินสอดของไอ้ก้านซะ”

“แต่พี่ก้านไม่มีเงิน”

“ก็ข้ากำลังจะบอกอยู่นี่ไง ว่าจะช่วยได้อย่างไร...เรื่องนี้ที่ข้าต้องพูดกับเอ็งก่อน เพราะไม่อยากให้แม่เอ็งน่ะรู้สึกอับอายขายหน้า เอ็งก็เสียสาวให้ผู้ชายมันไปแล้ว เอ็งไปถามแม่เอ็งว่า ถ้าไอ้ก้านจะมาขอ เรียกค่าสินสอดอย่างถูกสุดสักประมาณเท่าไหร่...แล้วก็จัดงานอย่างรวบรัดที่สุด บอกกล่าวเฉพาะคนกันเองก็พอ แล้วจัดให้เร็วที่สุดด้วย เอ็งจะอ้างกับไอ้ก้าน กับแม่เอ็ง ว่าท้อง ว่าอะไร ก็แล้วแต่ปัญญาเอ็ง”

“หมายความว่าไง”

“เงินค่าสินสอดของไอ้ก้าน พ่อกำนันเขาจะออกให้...สู้ได้มากสุด ก็ทองสองบาท เงินสองพัน ค่าจัดงาน เครื่องขันหมากช่วยได้อีกสองพัน สงสัยละซิว่า ทำไมกำนันศรถึงยอมจ่าย...”

“จ้ะ”

“เขากลัวว่า นังหนู มันจะเลิกกับพ่อซามาหาไอ้ก้านไง ปิดประตูทางนี้ซะ ทางโน้นก็จะได้ไปไหนอีกไม่ได้ แล้วไม่ต้องสงสัยหรอกว่า ทำไมพ่อกำนันถึงยอมทำอย่างนี้ แล้วก็ไม่ต้องบอกไอ้ก้านมันด้วยว่า เงินนี้ พ่อกำนันเขาจะจ่ายให้ บอกมันไปแค่ว่า ที่ต้องรวบรัดแต่ง ก็ประมาณอัฐยายซื้อขนมยาย บอกไปว่าเป็นเงินของแม่เอ็ง ขายผ้าเอาหน้ารอด แต่งกันอายกันไป ถ้าตกลงวันเวลากันได้แล้ว เงินทองสินสอดของไอ้ก้าน ตอนใกล้ๆ ถึงวันงาน เดี๋ยวข้าเอามาให้เอ็งเอาไปให้มัน...เอ็งพอเข้าใจที่ข้าพูดไหม”

“เข้าใจจ้ะ...เข้าใจ” ว่าแล้วบังอรก็สูดลมหายใจเข้าปอดอย่างแรง...เพราะที่ได้ตั้งใจไว้คือ บังอรตั้งใจจะปล่อยให้ท้องแล้วบอกให้ผู้ใหญ่รับรู้ ผูกข้อไม้ข้อมือให้ แล้วก็อยู่ด้วยกันซะ...เมื่อมีลาภลอยมาอย่างนี้ ถ้าไม่รีบตะครุบไว้ ก็โง่เต็มทีแล้ว...

“ช่วงนี้ อย่างไรเอ็งก็พยายามกันไอ้ก้านไว้ อย่าให้มันเจอกับนังหนูเด็ดขาด รู้ไหม”

ธุระกับบังอรแม้จะยังไม่สรุปว่า สำเร็จลุล่วงไปด้วยดีเพียงใด แต่นางศรีก็ถือว่า ได้ทำตามแผนการที่วางไว้ไปขั้นหนึ่งแล้ว แผนถัดมาคือ เข้าไปหาหลานสาวแล้วเปิดอกคุยกันอีกครั้ง...

กำนันศรทำทีว่าต้องออกไปธุระกับนางสมพร ปล่อยให้เพียงเพ็ญขังตัวอยู่ในห้อง โดยมีนางแรมคอยควบคุมดูแลไม่ให้ห่างสายตาเช่นเดิม...

นางศรีเคาะประตูอยู่อึดใจใหญ่ ๆ เพียงเพ็ญที่ผ่านการร้องไห้จนตาบวมก็ลุกมาเปิดประตู แล้วเดินกลับไปทรุดตัวลงนั่งบนที่นอน... นางศรีเดินไปปิดวิทยุ แล้วก็เดินมาหาหลานสาว...

“อามีเรื่องจะคุยด้วยหน่อย”

“ถ้าจะมาพูดเรื่องพ่อซาของอา หนูไม่อยากฟัง ไม่อยากได้ยินอะไรอีกแล้ว” เพียงเพ็ญตั้งป้อมปฏิเสธ

“ไม่อยากได้ยินก็ต้องได้ยิน เพราะที่ผู้ใหญ่ทำลงไปนั้น ทำไปเพราะความหวังดี”

เพียงเพ็ญเบะปาก...

“เรื่องมันล่วงเลยมาจนถึงขนาดนี้แล้ว ยังจะวกกลับไปให้มีปัญหาทำไมกันอีก... รู้ไหมว่าลูกที่ทำตัวให้พ่อแม่มีความทุกข์ มันเป็นบาปแค่ไหน”

“แล้วความทุกข์ของหนูล่ะ ความรู้สึกของหนูละอา เคยมีใครสนใจบ้างไหม”

“เราต้องคุยกันด้วยเหตุผลนะ อย่าเอาอารมณ์มาพูด...รู้ไหมว่า ตอนนี้มันเกิดอะไรขึ้นกับไอ้ก้าน”

เพียงเพ็ญเชิดคอขึ้น...แสดงว่าสนใจฟัง

“แม่มันป่วยเป็นวัณโรค มันจะติดโรคจากแม่มันหรือเปล่าก็ไม่รู้...แล้วตอนนี้ใคร ๆ ก็รู้กันว่าอีบังอรมันเดินขึ้นเดินลงบ้านนั้น อยู่ปรนนิบัติดูแลป้ากุ่นจนค่ำมืดดึกดื่น เพราะมันอยากได้ไอ้ก้านทำผัว...แล้วคนเข้าตาจน คนที่กำลังจะจมน้ำตาย กำลังหาเงินรักษาแม่ตัวเป็นเกลียวอย่างไอ้ก้านน่ะ มันไม่โง่ปล่อยขอนไม้ให้ลอยน้ำผ่านไปหรอก รู้ไหมว่า มันมีอะไรกับอีบังอรไปแล้ว”

“ไม่จริง”

“อาอยู่กับร้านค้า เรื่องที่ชาวบ้านเอามาพูดกัน ไม่เคยผิดเพี้ยนไปสักเรื่อง อีอบ ไอ้อาจ มันรักลูกสาวมันจะตาย ไร่นาสาโทมันก็มีหลายทุ่ง มันก็อยากได้ลูกเขยเอาไว้ช่วยงาน แล้วถ้าได้คนที่ลูกมันรักด้วย ก็เป็นเรื่องดี พวกมันถึงได้ให้ท้ายอีบังอรไปแรด ๆ โดยไม่สนใจเสียงชาวบ้านได้ไง...แล้วอีกอย่าง ถ้าว่ากันตามจริงแล้ว อีบังอร ถึงมันจะแรด แต่มันก็ไม่ได้แย่งผัวใคร ไอ้ก้านมันเป็นโสด ต่างคนต่างเป็นโสด ก็มีสิทธิ์ที่จะแต่งงานกัน”

“พี่ก้านรักหนู หนูกับพี่ก้านคุยกันรู้เรื่องแล้ว พี่ก้านไม่มีทางนอกใจหนูหรอก” เพียงเพ็ญเอาสีข้างเข้าถู

“นอกไม่นอก มันก็เป็นอื่นไปแล้ว อีกไม่กี่วันหรอก เดี๋ยวก็ได้ข่าวว่ามันกับอีบังอรผูกข้อไม้ข้อมือกัน เพราะอีบังอรมันก็สารภาพกับอาแล้วว่า มันมีอะไรกับไอ้ก้านไปแล้ว”

เพียงเพ็ญกัดฟันกรอด กำมือแน่น แล้วค่อย ๆ ผ่อนลมหายใจออกมา...

“ทีนี้ มาที่เรื่องของหนูกับพ่อซา...ก็อย่างที่พ่อเขาบอกนั่นแหละ มันยังไม่สายที่จะเปลี่ยนใจ เพราะจะยอมเป็นเมียเขาหรือไม่ยอม อย่างไร พวกเราทั้งหมดก็ได้ขึ้นชื่อว่า ย้อมแมวขายเขาไปแล้ว ถ้าเขามารู้ทีหลัง อย่างที่หนู อยากให้เขารู้ อาบอกเลยว่า แม่ย้อยปากอย่างกับตะไกร ถ้าแม่ไม่ตามมาด่าถึงที่นี่ หรือไม่เอาพวกเราไปประจานที่ตลาดให้ได้อับอายจนไปเหยียบที่ชุมแสงอีกไม่ได้ ไม่ต้องมาเรียก อาว่าอา และที่สำคัญ...เป็นลูกผู้หญิง ใคร ๆ ก็อยากได้ตำแหน่งเมียหลวง เมียแต่งกันทั้งนั้นแหละ...ถ้าวกกลับไปหามัน ก็เท่ากับว่า ต้องกลับไปกินน้ำใต้ศอกอีบังอร...”

“แต่หนูเป็นของพี่ก้านมาก่อน” เพียงเพ็ญยังเถียง

“แต่ตอนนี้ หนูเป็นเมียพ่อซา...เชื่ออา พ่อซาเขากลับมา ก็ให้เขาขึ้นมานอนบนเตียงซะ ปรนนิบัติเอาใจเขาไว้ ลูกในท้องจะได้มีปู่กับย่าเป็นเถ้าแก่ใหญ่ในตลาดชุมแสง...”

แรกทีเดียวนางย้อยกะไว้ว่า พอเสร็จธุระเรื่องตึกแถวก็ไปดูวรรณาประกวดนางสาวสี่แควกับเรณู พอวันรุ่งขึ้นก็จะกลับบ้าน แต่เอาเข้าจริง ๆ ธุระเรื่องตึกใหม่ต้องรอทำในวันจันทร์ ประกอบกับเรณูอยากให้วรรณาเก็บข้าวเก็บของมาอยู่ด้วยกันที่ชุมแสงเสียเลย ทั้งสองจึงให้หมุ่ยนี้ จันตา และปลัดจินกร ซึ่งไม่ยอมพักที่บ้านญาติของนางย้อย แต่ยินดีที่จะพักอยู่โรงแรม กลับชุมแสงกันมาก่อน โดยวันอาทิตย์ตลอดทั้งวัน เรณูกับวรรณาที่ได้ตำแหน่ง ‘ขวัญใจช่างภาพ’ จากเวทีนางสาวสี่แควมาครอง ก็พากันออกไปดูเรื่องผ้าผ่อนที่จะรับไปขายต่อทางโน้น

วันจันทร์นางย้อยเสร็จธุระในตอนสาย ๆ พอตอนบ่ายทั้งสามคนก็พากันนั่งรถไฟกลับชุมแสง โดยข้าวของที่ซื้อหาไว้ก็ส่งตามไปทางเรือ...

ถึงสถานีรถไฟชุมแสงในตอนบ่ายคล้อย เรณูก็รู้สึกว่า ที่ระหว่างทางผู้คนมองมาหาตนกับนางย้อยและน้องสาวนั้น มองด้วยสายตาแปลกไป...แต่ก็ไม่มีใครเอ่ยอะไรออกมา กระทั่งเรณูเดินไปส่งนางย้อยที่ร้านแล้วพาวรรณาเดินกลับมายังร้านที่เซ้งไว้ พาวรรณาเข้าไปตรวจตราดูบ้านใหม่ ร้านใหม่ ที่มีชื่อว่า ‘เรณูบูติค’ พร้อมกับบอกให้วรรณาพักอยู่ห้องที่อยู่ด้านหลัง ส่วนเรณูจะนอนห้องฝั่งถนน ซึ่งมีระเบียงมองดูร้านรวงสองข้างถนน...ระหว่างที่เรณูยืนหันซ้ายหันขวาอยู่นั้น เรณูก็เห็นหมุ่ยนี้เดินมาหา พอสบตากันเรณูก็โบกมือให้...แต่หมุ่ยนี้บอกว่าให้ลงมาคุยกันหน่อย พอลงมา เรณูก็เชื้อเชิญมุ่ยนี้เข้ามานั่งบนเก้าอี้รับแขกติดฝนั่งด้านซ้าย ซึ่งเจ้าของบ้านเดิมทิ้งไว้ให้ใช้...

“รู้เรื่องหรือยัง”

“เรื่องอะไร”

“ก็ เรื่องที่มีคนปล่อยข่าวว่า เธอน่ะ ทำเสน่ห์ใส่ทั้งอาใช้และแม่ผัวของเธอ”

พอได้ยินคำว่า ‘เสน่ห์’ เรณูที่รู้อยู่แก่ใจดีว่าตนเองได้ทำอะไรลงไป เย็นวาบไปทั่วสรรพางค์กาย...

“ใครมันเป็นคนเริ่มต้น”

“เขาว่ากันว่า ก็ ก็ คู่สะใภ้เธอนั่นแหละ”

“พิไล”

“เมื่อวานแจ้กลับมาก่อน...พวกข้างบ้าน ถามกันให้แซ่ดเลยว่าเรื่องจริงหรือเปล่า ทำอย่างกับว่า แจ้กับเธอ เป็นคน ๆ เดียวกันอย่างนั้นแหละ”

ความดีของหมุ่ยนี้ ทำให้เรณูรู้สึกลำบากใจที่จะปฏิเสธความจริงเหมือนที่เคยคิดไว้

...แต่ถ้ายอมรับความจริงออกไป...เรณูก็ไม่มั่นใจว่าหมุ่ยนี้จะรับได้หรือเปล่า

และถ้าจะปฏิเสธกับเรื่องระยำตำบอนไปอย่างเสียงแข็งกับมิตรที่แสนดีคนนี้ วันหนึ่งข้างหน้า ความจริงถูกเปิดเผย เรณูเชื่อว่า หมุ่ยนี้จะต้องรังเกียจเดียดฉันท์คนตอแหลหลอกลวงอย่างแน่นอน...นี่แหละหน้า โทษทัณฑ์ของการโกหก...โทษทัณฑ์ของการทำไม่ถูกทำนองคลองธรรม...พอผลกรรมมันย้อนกลับมา ใจนั้นก็หาได้มีความสุข เพราะสู้ตา สบตากับใครเขาก็อีกไม่ได้ ต่อไปพูดอะไรไปใครเขาก็จะไม่เชื่อ

“แล้วเจ๊ตอบคนอื่น ๆ ไปว่าอย่างไร” เรณูแข็งใจถาม...

“ก็ตอบไปว่า ไม่รู้น่ะซิ...จะให้ตอบอะไรล่ะ”

“ถ้าฉันทำจริง ๆ ล่ะ เจ๊จะโกรธเกลียดฉันหรือเปล่า” ในที่สุดเรณูก็เลือกที่จะใช้วิธีโยนหินถามทาง...

หมุ่ยนี้ที่อาบน้ำร้อนมาก่อนยิ้มน้อย ๆ แล้วส่ายหน้าเบา ๆ อาการนั้นเรณูไม่รู้ว่า รับได้หรือรับไม่ได้...โกรธหรือไม่โกรธ...

“เธอก็ตอบมาก่อนซิว่า เธอทำจริง หรือไม่จริง...”

เรณูสูดลมหายใจเข้าปอดจนลึก แล้วกลืนน้ำลายลงคอ ก่อนจะบอกว่า

“ถ้าเป็นคนอื่นถามฉัน ฉันก็จะบอกว่าไม่ได้ทำ แต่พอดีเป็นเจ๊ถาม...แล้วดันถามเป็นคนแรกเสียด้วย...ฉัน ฉัน ทำจริง ๆ”

“ก็แค่นั้นเอง”

“เจ๊”

“เธอต้องมีเหตุผลของเธอ เธอถึงได้ทำอย่างนั้น ถ้าอยากเล่าก็เล่า ถ้าไม่อยากเล่าก็ไม่ต้องเล่าหรอกนะ”

วรรณาที่ลงมาจากชั้นบนพอดีแล้ว แอบฟังอยู่ที่ด้านหลังร้าน สูดลมหายใจเข้าปอดอย่างแรง เพราะรู้สึก..ในที่สุดความจริงก็ถูกเปิดเผยออกมาให้วรรณาลำบากใจ เพราะเป็นพี่น้องกัน อยู่ด้วยกัน คนที่นี่ก็ต้องเหมารวมว่าสมรู้ร่วมคิดกัน...ถ้ารู้ความจริงก่อนหน้านี้ วรรณาก็คงจะไม่มาอยู่ด้วย แต่เมื่อมาแล้ว ก็ต้องดูกันต่อไปว่า เรื่องนี้จะจบลงอย่างไร?

*******************************


Title: Re: กรงกรรม บทประพันธ์ของ จุฬามณี
Post by: นักประพันธ์ on 02 March 2020, 15:39:22
ตอนที่ 31 : แค่อยากได้ความเมตตาบ้างก็เท่านั้น


            ๓๑


เรณูสูดลมหายใจเข้าปอดจนลึก แล้วกลืนน้ำลายลงคอ ก่อนจะบอกว่า

“ถ้าเป็นคนอื่นถามฉัน ฉันก็จะบอกว่าไม่ได้ทำ แต่พอดีเป็นเจ๊ถาม...แล้วดันถามเป็นคนแรกเสียด้วย ฉันก็จะตอบว่า ฉันทำ จริง ๆ”

หลังจากเรณูกล้าหาญยอมรับผิด เรื่องทำเสน่ห์ใส่ปฐมและนางย้อย หมุ่ยนี้ก็ยิ้มน้อย ๆ
สายตานั้นยังเต็มเปี่ยมไปด้วยความเมตตาพร้อมกับพูดว่า “ก็แค่นั้นเอง”

“เจ๊” น้ำเสียงของเรณูผะแผ่ว

“เธอต้องมีเหตุผลของเธอ เธอถึงได้ทำอย่างนั้น ถ้าอยากอธิบาย แจ้ก็ยินดีรับฟัง”

“ทำไมเจ๊ ถึงยินดีรับฟัง คำโกหกหลอกลวงของคนเลวอย่างฉัน”

“ก็เธอบอกเองว่า ถ้าเป็นคนอื่นถาม เธอก็จะไม่ยอมรับ พอดีเป็นแจ้ถาม เธอถึงยอมรับ ก็แสดงว่าเธอรักแจ้ ไว้ใจแจ้ และซื่อสัตย์กับมิตรภาพของเรา...เรณู แจ้อายุจะสี่สิบแล้วนะ แจ้เห็นคน รู้จักคนมาเยอะแยะมากมาย คนบางคนน่ะ คุยกันแค่ประโยคเดียวก็รู้แล้วว่า เป็นคนอย่างไร คบได้ไหม คนบางคนต้องคบหากันไปนาน ๆ แล้วถึงจะรู้ว่าเป็นคนอย่างไร สำหรับเราสองคน แม้มันจะเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ แต่แจ้ว่า แจ้ดูคนไม่ผิดหรอก คนอย่างเธอ ไม่มีทาง คิดทำร้ายใครก่อนอย่างแน่นอน เรื่องระหว่างเธอกับอาใช้ ตอนอยู่ตาคลี แจ้ไม่รู้ไม่เห็นอะไรด้วย แต่ที่ชุมแสง ระหว่างอาซิ่มกับเธอ แจ้รู้ว่าอะไรเป็นอะไร...มันจึงไม่แปลกถ้าเธอจะทำอย่างนี้”

“ถ้าจะให้แก้ตัว ฉันก็จะบอกว่า ที่ตาคลีกับเฮียใช้ ฉันทำลงไปเพราะฉันรักเขา ฉันอยากเอาชนะเขา เอาชนะเพื่อน ๆ ที่ดูถูกเหยียดหยามว่า คนอย่างฉัน ทำอาชีพอย่างนั้น จะไม่มีวันที่คนอย่างเฮียใช้สนใจ แล้วอีกอย่างฉันก็อยากมีชีวิตเหมือนผู้หญิงทั่ว ๆ ไป คือได้อยู่กับคนที่ฉันรัก สร้างอนาคตสร้างชีวิต มีลูกมีเต้าด้วยกัน ส่วนกับแม่ย้อย ฉันทำไปเพราะต้องการอยู่กับคนที่ฉันรักเท่านั้น ฉันไม่มีเจตนาหลอกลวงเอาทรัพย์สินอะไรของแกเลยสักนิด ไม่ว่าจะเป็นสร้อยคอ ร้านนี้...หรือเงินลงทุนทำมาหากิน ฉันเพียงแค่อยากให้แกเมตตาฉันบ้าง แต่ฉันคิดไม่ถึงว่า ฤทธิ์ของคุณไสยมันจะทำให้แก่เปลี่ยนมาดีกับฉันถึงเพียงนี้”

“มันอาจจะไม่ใช่เพราะฤทธิ์ของคุณไสยอย่างเดียวก็ได้นะเรณู...”

เรณูนิ่งฟัง....

“แต่แจ้ว่า มันก็เป็นเพราะคุณงามความดีของเธอด้วย...”

“ฉันมีความดีอะไรหรือแจ้...”

“ตอนที่ไปปากน้ำโพด้วยกัน ฉันรู้สึกว่า ยามที่เธอ ปรนนิบัติดูแลแม่ผัวเธอนั้น เธอไม่ได้ทำอย่างเสแสร้งแกล้งทำ แต่เธอทำให้ด้วยความเต็มใจ”

หมุ่ยนี้เห็นตั้งแต่ตอนนั่งรอรถไฟอยู่ที่สถานีชุมแสง ตอนนั้นมีที่ว่างแค่ที่เดียว เรณูที่ช่วยถือกระเป๋าให้รีบไปจับจอง พอนางย้อยปวดห้องน้ำ เรณูก็ไปเป็นเพื่อน ตอนลงจากสถานีรถไฟมาขึ้นเรือข้ามฟากมาตลาดปากน้ำโพ ตอนขึ้นจากตีนท่ามาบนตลิ่ง ระหว่างทางลาดชันเรณูก็ประคองนางย้อย

ตอนเดินเที่ยวงานกาชาด นางย้อยบอกว่า เห็นทีจะเดินดูนั่นดูนี่ไม่ไหวเพราะต้องเบียดเสียดกับคนจำนวนมหาศาล ขอนั่งรอ โดยปล่อยให้ คนหนุ่มคนสาวไปด้วยกัน เรณูก็ขออยู่เป็นเพื่อนไม่ทิ้งขว้างไปไหน

ช่วงที่ดูประกวดนางงาม นางย้อยบอกว่าตนเองนั้นมีปัญหาเรื่องปวดเบาบ่อย ๆ แม้ห้องน้ำจะอยู่ไกลจากเวที เรณูก็ลุกออกไปกับนางย้อยไปทุกครั้ง...คืนนั้นตอนที่ไปส่งนางย้อยที่บ้านของพี่ชายเจ๊กเซ้ง เรณูต้องไปนอนกับวรรณา ส่วนหมุ่ยนี้ จันตา และปลัดจินกร นั้นนอนโรงแรม เรณูก็ถามนางย้อยว่า จะให้อยู่นวดขาให้ก่อนไหม ดีแต่ว่านางย้อยปฏิเสธ เพราะเห็นว่าดึกแล้วอยากให้เรณูพาวรรณาที่เหนื่อยมาทั้งวันกลับไปพักผ่อน

“ก็เขาเป็นแม่ผัวฉัน...แม่ผัวก็เหมือนแม่ของตัว รักลูกเขา ก็ต้องรักแม่รักพ่อเขาด้วย อีกอย่างฉันก็นึกอยากตอบแทนเรื่องที่แกให้ทอง ให้ร้านฉัน แม้ว่ามันจะเกิดขึ้นเพราะฤทธิ์คุณไสยก็ตามที”

“นั่นไง ถึงแม้เธอจะรู้ว่า ที่เธอได้อะไรต่อมิอะไรมาเพราะฤทธิ์ของคุณไสย แต่เธอก็ยังคิดตอบแทน นั่นคือเจตนาเธอไม่ได้เลวทรามแต่อย่างใด”

“แต่ฉันก็กลายเป็นคนที่คนทั้งชุมแสงมองด้วยสายตาเคลือบแคลงสงสัย ดูถูกเหยียดหยาม ไปซะแล้ว”

“ไม่ทั้งชุมแสงหรอก...คนที่รักเธอ เข้าใจเธอ พร้อมจะให้อภัยให้เธออย่างแจ้ อย่างจันตามีมากกว่า อย่าไปสนใจอะไรมันเลย”

“แต่ถึงอย่างไรฉันก็ต้องก้มหน้ารับกรรมที่ฉันก่อไว้อยู่ดี...คนจะต้องถามเหมือนที่เจ๊ถามแล้วฉันก็ต้องโกหกว่า เปล่าๆ ตลอดไป...”

“ช่วงนี้ก็อดทนเอาหน่อย เดี๋ยวเรื่องมันก็เงียบ เพราะชีวิตคนเราน่ะมันมีเรื่องเกิดขึ้นใหม่เรียกความสนใจทุกวันอยู่แล้ว”

“พิไลมันคงไม่ยอมเงียบด้วยหรอก...ไหนจะเตี่ย ไหนจะอาตง อาซาอีก...”

เรณูมีสีหน้าหนักใจอย่างเห็นได้ชัด...

“ตรงนั้นเธอก็ต้องพิสูจน์ตัวเองให้อาแปะ อาตง อาซาเห็นว่าเธอ ต้องการแค่ความยุติธรรมเท่านั้น ไม่ได้ต้องการมากกว่านั้น และที่สำคัญ อย่าคิดทำผิดซ้ำสองอีก แล้วก็ทำดีตอบแทนเขาอย่างที่คิดไว้นั่นแหละ...มันยังจะพอลดโทษทัณฑ์ได้บ้าง”

“จ้ะเจ๊ ฉันจะพยายามทำดีกับแกให้มาก ๆ”

“แล้วเธอจะเอาของออกเมื่อไหร่”

“ก็คงอีกสักพัก รอให้เฮียใช้ปลดทหารมาก่อน รอให้มีลูกมีเต้าด้วยกันก่อน ถึงตอนนั้น สถานการณ์คงดีขึ้น...แล้วหมอที่ทำให้ แกก็บอกกับฉันว่า ถ้าฉันมีความดีเป็นของคู่ตัว ของจะยังอยู่หรือว่าหลุดแล้ว ความดีนั้นก็ยังจะเป็นเครื่องผูกมัดใจคนเอาไว้ได้....”

***************

เย็นวันนั้นกมลยังไม่ได้กลับฆะมัง เขากับเจ๊กเซ้งผู้พ่อจึงพยายามพูดคุยและสังเกตดูพฤติกรรมของแม่...ว่าคนที่ถูก ‘คุณไสย’ นั้น ความรู้สึกนึกคิดเปลี่ยนไปมากน้อยเพียงใด...ที่ว่ากันว่ารักว่าหลง จนหัวปักหัวปำนั้นจะเป็นจริงหรือเปล่า

“นี่อีพิไลมันจะไปดูแม่มันกี่วันละเนี่ย แล้วมันนึกอย่างไรถึงเอาอีปลูกไปด้วย...”

“ก็ คงอยากเอาไปเป็นเพื่อนมั้งม้า...”

พิไลบอกกับเจ๊กเซ้ง และประสงค์ว่าจะไปท่าน้ำอ้อย กับคนงานเก่าของเถ้าแก่ฮงที่ชื่อเชิด แต่พิไลก็ไม่ได้ไว้ใจนายเชิดจนกล้าพอจะไปไหนมาไหนด้วยกันเพียงสองคน พิไลจึงต้องขอให้บุญปลูกไปด้วย แต่เจ๊กเซ้ง ประสงค์ กมล ต่างปรึกษากันแล้วว่า งานนี้ ไม่ควรจะบอกไปตามความเป็นจริง กมลจึงต้องหาทางออกว่านางพิกุลเกิดเจ็บป่วยกะทันหันให้คนมาส่งข่าว พิไลจึงต้องกลับไปดูแล...

“เอาไปทำไม...เมื่อตอนวันลอยกระทงมันก็ไปคนเดียวได้”

“คงอยากพาบุญปลูกไปเปิดหูเปิดตาด้วยมั้งม้า ตอนหลังๆ เขาสนิทสนมกัน”

“เหลวไหลใหญ่แล้ว นี่ถ้าไปหลายวันก็เท่ากับว่า มันก็ได้ค่าแรงโดยไม่ต้องทำงาน”

“น่า ม้า ให้รางวัลมันบ้าง ปี ๆ มันไม่เคยไปไหนกับเขาเลย อ้อ ม้ายังไม่ได้เล่าเลยว่า ไปปากน้ำโพคราวนี้เป็นอย่างไรบ้าง...”

“ก็เหมือน ๆ เดิม จะมีอะไร”

“ว่าไปผมก็อยากไปเปิดหูเปิดตาเหมือนกันนะ หลายเดือนแล้วมั้งไม่ได้นั่งรถไฟไปไหนเลย...”

“ว่าง ๆ แกก็พาเมียไปเที่ยวซิ ไปนอนบ้านอาแปะก็ได้” พอแม่เอ่ยถึงเมีย กมลจึงรีบเปลี่ยนเรื่องทันที...

“ม้า ม้าช่วยอะไรอาซ้อเรณูไปบ้าง”

“ก็ออกค่าเซ้งร้านให้ แล้วก็ให้อียืมทองใส่ไปอีกสองบาท มีพระเลี่ยมทองติดไปองค์ ตอนนั่งรถไฟ มา อีถอดคืนให้มาแล้ว แต่ม้าไม่เอาคืนหรอก ให้มันไปเลย...”

“ก็เท่ากับม้าให้ทองเขาสองรอบเลยซิ”

“ก็ให้มันบ้าง อย่างไรมันก็เป็นเมียตั่วเฮียของลื้อ...แต่ถ้ามันโดนจี้โดนปล้นอีก ก็คงจะไม่ให้มันแล้ว ถือว่าคอของมันไม่มีวาสนาจะได้ใส่ทอง”

“แล้วเงินค่าซื้อของเข้าร้านล่ะ ม้าได้ช่วยเขาหรือเปล่า”

“มันบอกว่า มันยังพอมีอยู่”

“เขาเอาเงินมาจากไหนรึม้า” กมลแสร้งถามจี้ ‘ปม’

“ก็ เงินเก็บของมันสมัยที่มันทำงานอยู่ที่ตาคลีนั่นแหละ มันบอกว่า ถ้า ขาดเหลืออะไร มันจะมาหยิบยืม แต่ว่า อีนี่มันคงไม่มาหยิบยืมหรอก คนอย่างมัน หยิ่งพอตัวเหมือนกัน มันว่ามันจะทำขนมขายเหมือนเดิม มันจะทำข้าวเกรียบปากหม้อ สาคูไส้หมู มันขายได้ทั้งวัน มีคนเคยบอกม้าว่า วันหนึ่งอีนี่มันจะรวยเพราะขนม เห็นท่าจะจริง มีร้านแล้วก็นึกว่าจะเลิกทำ แต่ก็ดี ขายแค่หน้าร้าน ไม่ได้หาบไม่ได้คอนตากหน้าอย่างตะก่อน แล้วน้องสาวมันก็ดูขยันขันแข็งเชื่อฟังมันดีหรอก คงเอาตัวรอดกันได้...”

เสียงที่พูดถึงแม้จะเป็นปกติของแม่ แต่กมลก็รู้สึกว่า น้ำเสียงนั้น ‘เข้าข้าง’ ไม่มีอาการรังแครังคัดอย่างที่เคยได้ยิน...จะว่าดีก็ดี เพราะบ้านสงบ แต่มันก็อดเป็นห่วงไม่ได้

“แล้วนี่แกจะกลับ ฆะมังวันไหน มาสามคืนแล้วนี่นะ...พรุ่งนี้ก็กลับได้แล้วมั้ง”

“ม้าไม่คิดถึงผมหรือไง”

“คิดถึง แต่แกมีเมียแล้ว อยู่ห่าง ๆ กัน แกไม่คิดถึงเมียแกรึไง”

“ก็คิดถึง...” กมลบอกไม่เต็มเสียง

“งั้นก็รีบกลับไป ช่วยงานเขาให้เต็มที่ ม้ามีอะไรก็จะส่งข่าวไปอย่างครั้งนี้แหละ...”

“แต่ม้าควรจะไว้ใจอาซ้อพิไลเขาได้แล้วนะ ม้ารู้ไหมว่า อาซ้อเขาน้อยใจที่ม้าตามผมกลับมาเฝ้าร้านเหมือนกันนะ”

“ก็อยากไว้ใจมันหรอก...แต่คนมันทำให้เสียความรู้สึกไปแล้ว มันอดระแวงไม่ได้...”

“เสียความรู้สึกอะไรกับเขาล่ะม้า”

“ก็เรื่องสินสอดทองหมั้น เรื่องตั้งแต่สมัยแต่งงานแหละ แล้วก็เรื่องใช้เงินมือเติบ อยากกินนั่นอยากกินนี่ แล้วก็ชอบซื้อชอบจ่ายเงิน โดยไม่คิดหน้าคิดหลังให้ดี คนพร้อมจะจ่าย มันต้องจ้องจะหา จ้องจะเอาไปไว้จ่าย” ว่าแล้วนางย้อยก็ถอนหายใจออกมา...กมลลอบมองหน้าเตี่ยที่นั่งอ่านหนังสือพิมพ์เงียบ ๆ แล้วก็บอกกับแม่ว่า

“งั้นพรุ่งนี้ บ่าย ๆ ผมกลับฆะมังแล้วกันนะม้า อยู่ช่วยม้าขายของอีกพักหนึ่งก่อนนะ”

ใจจริง เขาไม่ได้ห่วงขายของ แต่เขาอยากเห็นตอนที่แม่ของเขารู้เรื่องเรณูทำเสน่ห์เล่ห์กลใส่ปฐม ใส่ตนเอง จากปากของบรรดา ‘ผู้หวังดี’ ที่มีอยู่รอบบ้าน แม่ของเขาจะว่าอย่างไรต่างหาก

...และกมลก็อยากจะรู้ว่า งานนี้ อาซ้อเรณูจะรับมือเสียงสะท้อนกลับอย่างไร...และที่สำคัญ เขาไม่นึกอยากกลับไปที่ฆะมัง จากมาสามวันสามคืน มันไม่มีความรู้สึกคิดถึงเพียงเพ็ญเลยสักนิด...นึกแล้วกมลก็ถอนหายใจออกมาเบา ๆ เพราะยังนึกไม่ออกว่า เมื่อไหร่ที่เมียของเขาจะพร้อมให้เขาขึ้นไปนอนบนเตียงด้วยกัน แล้วถ้าไม่มีวันนั้น เขาจะอยู่ที่นั่นในฐานะอะไร?

*************

‘หมอบาง’ ที่ติ๋มแนะนำให้นายเชิดไปพบนั้นเป็นผู้หญิงวัยกลางคน นางเป็น ‘ร่างทรงเจ้าแม่สร้อยสุพรรณ’ เวลาที่ แขกมาให้เจ้าแม่ให้ความช่วยเหลือ แขกจะแทนตัวเองว่า ‘ลูกช้าง’

วันแรกที่นายเชิดเดินทางมาถึงตำหนักของเจ้าแม่สร้อยสุพรรณ นายเชิดก็เห็นสายธารศรัทธาในตัวเจ้าแม่ที่มีอย่างล้นหลาม ใครมาถึงก่อนจึงจะมีสิทธิ์ให้เจ้าแม่ที่อยู่ในห้องให้ความช่วยเหลือก่อน นายเชิดไปถึงท่าน้ำอ้อย ในเวลาเกือบเที่ยงวัน กว่าจะได้เข้าพบเจ้าแม่ก็บ่ายสามโมง

ระหว่างนั้นนายเชิดก็กระซิบถามคนที่มารออยู่ก่อนว่าเจ้าแม่ฯ สามารถช่วยเรื่องล้างคุณไสยแก้เสน่ห์ยาแฝดได้หรือไม่...และก็ได้รับคำตอบว่า ‘เป็นเรื่องขี้ผง’ ใจของนายเชิดจึงชื้นขึ้นมาเป็นกอง เพราะงานนี้พิไลบอกกับเขาว่า ถ้าสามารถสืบเสาะหมอดี ๆ มาแก้ไขคุณไสยที่เรณูทำได้ นายเชิดจะได้รางวัลพิเศษเป็นเงินอีก 200 บาท นอกจากเงินค่าจ้าง ที่ออกจากบ้านมาเที่ยวสืบเสาะในแต่ละคราว

นอกจากนั้น พิไลก็ยังบอกให้นายเชิดช่วย ๆ ดูเครื่องลายคราม เครื่องกังไส งานเบญจรงค์ เครื่องทองเหลืองงานโบราณตามบ้านคนรู้จักให้ด้วย ถ้าได้ของเก่าราคาไม่แพงนัก พิไลก็จะเริ่มเก็บสะสมไว้ประดับบารมีเช่นเดียวกับที่บ้านแม่ใหญ่...

หลังพบกับ ‘เจ้าแม่’ โดยจ่ายค่าครู ไปสิบสลึง นายเชิดก็เล่าเรื่องของพิไลให้เจ้าแม่ฯ ฟังคร่าว ๆ เจ้าแม่ฯ บอกกับนายเชิดว่า ถ้าจะให้ดีต้องเอาตัวคนถูกทำคุณไสยมาพบที่ตำหนัก นายเชิดบอกไปว่า คนถูกทำคุณไสยคงจะไม่ยอมมาง่าย ๆ เจ้าแม่ฯ จึงบอกว่า ถ้าอย่างนั้นก็ให้ญาตินำเสื้อผ้าของคนถูกคุณไสย และเส้นผม หรือเศษเล็บมา ส่วนจะได้ผลหรือไม่ได้ผลนั้น เจ้าแม่ฯ ไม่รับประกันเหมือนกับที่เอาคนถูกคุณไสยมาด้วยตนเอง

นายเชิดนั่งรถไฟกลับชุมแสงในคืนวันอาทิตย์แล้วดิ่งไปหาพิไลที่บ้านในตรอก บอกเล่าให้พิไลรับรู้ พิไลปรึกษากับประสงค์ แล้วก็ขอมาท่าน้ำอ้อยในเช้าวันจันทร์ โดยขอเอาบุญปลูกมาเป็นเพื่อนด้วย...ประสงค์เห็นว่ามีบุญปลูกมาด้วย จึงไม่ได้ขัดขวาง เพราะเขาเองก็อยากให้เรื่องนี้จบลงเสียโดยไว ไม่เช่นนั้นพิไลก็คงทุรนทุรายจนเสียงานเสียการ

นายเชิดพาพิไลและบุญปลูกนั่งรถไฟมาที่สถานีเนินมะกอก ต่อรถมอเตอร์ไซค์รับจ้างมาท่าน้ำอ้อย กว่าจะถึงก็เป็นเวลาบ่ายคล้อย แน่นอนว่า คนที่รอพบเจ้าแม่ฯ นั้นมีอย่างเนืองแน่น จนกระทั่งหมดเวลาที่เจ้าแม่ฯ ลงประทับทรง

คืนนั้นพิไลจึงต้องนอนค้างที่บ้านหมอบางหนึ่งคืน โดยต้องเสียค่าอาหารเย็น ค่าที่หลับที่นอนคนละสองบาท และที่พิไลรู้สึกลำบากใจเป็นอย่างมาก คือ คนที่มาพบเจ้าแม่นั้น ส่วนใหญ่จะเป็นคนที่เต็มไปด้วยโรคภัยไข้เจ็บรักษาด้วยวิธีการอาบน้ำมนต์พ่นน้ำมัน และมีเรื่องเดือดร้อนแปลก ๆ จนพิไลไม่อยากจะเชื่อว่า เจ้าแม่ฯ สามารถช่วยคนทุกข์ยากเหล่านั้นได้หมดทุกคน

***********

ระหว่างที่นั่งกินข้าวเย็นด้วยกัน เรณูก็รู้สึกว่าวรรณานั้นเงียบขรึมไปอย่างเห็นได้ชัด...

“แกมีอะไรในใจรึเปล่า”

วรรณาละช้อนข้าวแล้วมองหน้าเรณู...เม้มปากแล้วตัดสินใจพูดว่า “ฉันได้ยินเรื่องที่พี่คุยกับเจ๊หมุ่ยนี้นะ”

เรณูฟังแล้วก็ตักข้าวเข้าปาก...เคี้ยวพลางครุ่นคิด วรรณาเห็นอาการพี่สาวเป็นดังนั้น จึงตักข้าวเข้าปากบ้าง อาการที่เคี้ยวนั้น ไม่ได้ดูเอร็ดอร่อยแต่อย่างใด...เรณูกลืนข้าวกลืนน้ำแล้วถามว่า

“ได้ยินแล้วแก รู้สึกอย่างไร”

“ถ้าเอาตามตรง ฉันก็รู้สึก...เอ่อ...” วรรณารู้สึกว่ามันพูดออกไปได้ยาก เห็นดังนั้นเรณูจึงบอกว่า

“อาย แกอาย ที่เป็นน้องสาวพี่ มาอยู่กับพี่ อายที่มีพี่ชั่ว ๆ จนไม่อยากกินข้าวด้วย”

“ฉันอายคนอื่นก็จริง แต่ฉันไม่ได้รังเกียจพี่ หรือโกรธพี่หรอกนะ...ฉันห่วงพี่ต่างหาก...ฉันคิดว่าพี่พิไลกับคนบ้านนั้น เขาคงไม่อยู่เฉย ๆ กันหรอก ป่านนี้ก็คงหาทางแก้ลำกันวุ่นแล้วแหละ...พี่ต้องระวังตัวให้ดีนะ”

“อืม” เรณูมีสีหน้าเคร่งเครียดอย่างเห็นได้ชัด เพราะถึงแม้ว่าหมุ่ยนี้ จันตา จะให้อภัย เห็นใจ และเข้าข้าง แต่เรณูก็ยากจะเดาใจคนจำนวนมาก

เรณูถอนหายใจออกมาอย่างแรง แล้วเชิดหน้าขึ้น ก่อนจะบอกกับวรรณาอย่างคนเด็ดเดี่ยวว่า

“อะไรจะเกิดก็ให้มันเกิด...เพราะที่ผ่านมา ชีวิตมันก็ไม่ได้ดีกว่าที่เป็นอยู่สักเท่าไหร่หรอก”

แล้วเรณูก็หวนไปคิดถึงชีวิตจนยากในวัยเด็กที่ต้องอด ๆ อยาก ๆ คิดถึง ชีวิตตอนที่ไปยุ่งกับพี่เขยจนตั้งท้องแล้วพี่สายทองก็มาด่าทอตบตีจนเนื้อตัวเขียวช้ำ คิดถึงสายตาคนแถว ๆ นั้นที่มองอย่างรังเกียจเดียดฉันท์ว่าเป็น หญิงชั่วเพราะแย่งผัวพี่สาว คิดถึงชีวิตยามที่ต้องเดินทางกลับมาบ้านแล้วคนอื่น ๆ มองด้วยสายตาเหยียดหยามเพราะปล่อยให้ชีวิตตกต่ำจนกระทั่ง มีคำว่า ‘กะหรี่’ เป็นชื่อเล่นชื่อรอง

...ตอนนั้นก็ยังผ่านช่วงเวลาเหล่านั้นมาได้เลย...ถึงจะสบตาคนได้ไม่เต็มตา ก็เชิดหน้าขึ้นแล้วปลอบใจตนเองว่า ‘ขอใครเขากินซะเมื่อไหร่’ เอาก็ได้...

“ไหนพี่เคยบอกว่าพี่มาไกลเกินกว่าจะย้อนกลับไง อย่างไรก็อย่าปล่อยให้ชีวิตตกต่ำไปกว่าเดิม และพี่ก็ต้องไม่ลืมว่าตอนนี้ มีฉันอีกคนที่เอาชีวิตมาฝากไว้กับพี่ และพี่ ก็ยังมีไอ้ป็อกอีกคน”

“พี่ไม่ลืมหรอก” ว่าแล้วเรณูก็สูดลมหายใจเข้าปอดแล้วละช้อน...แล้วลุกขึ้นยืน สีหน้าครุ่นคิด...

“พี่อิ่มแล้วเหรอ เพิ่งกินไปได้ไม่กี่คำ”

“อิ่มแล้ว พี่จะไปโรงสีหน่อย แกอยู่ที่นี่คนเดียวได้นะ”

“ค่ำมืดแล้ว พี่จะไปทำอะไร”

“ไปทำขนมตะโก้ พรุ่งนี้ พี่จะหาบของไปขายที่หน้าตลาดสดเหมือนเดิม”

“ไหนว่าจะไม่หาบของขายแล้วไง”

“ยังเลิกไม่ได้หรอก...ถ้าพี่ตั้งรับเสียงนินทาอยู่ที่นี่ ก็เท่ากับพี่ทำผิดจริง ๆ พี่จะลุยไปในตลาดนั่นแหละ ขึ้นชื่อว่าเป็นคนตอแหลแล้ว ก็ต้องเสียงแข็งปฏิเสธข้อกล่าวหามันไปให้ถึงที่สุด...”

“มันจะดีหรือพี่”

“ดีหรือไม่ดี ก็ต้องลองดูกันสักตั้ง...”

“งั้นฉันไปด้วยนะ ถ้าให้ฉันอยู่ที่นี่คนเดียว คืนนี้ ยังอยู่ไม่ได้แน่ ๆ”

ระหว่างทางที่เดินไปโรงสีแม้ร้านรวงสองฟากข้างถนนในซอยส่วนใหญ่จะปิดหมดแล้ว แต่ก็มีที่เปิดอยู่บ้าง บางร้านพอเห็นเรณูกับน้องสาวเดินถือไฟฉายก็ร้องทัก...

“จะไปไหนกันเล่า”

“ไปโรงสีจ๊ะ”

“ไปทำอะไรอีก มืดค่ำแล้ว”

“ไปทำขนมขาย อุปกรณ์ของใช้ส่วนใหญ่ยังไม่ได้ขนมาเลยจ้า...พรุ่งนี้ถ้าจะกินตะโก ก็ไปที่หน้าตลาดนะจ๊ะ ทำไม่เยอะหรอก แค่สองสามถาด...”

หลังจากที่ตอบคำถามลักษณะนั้นสองสามเจ้า พอเดินพ้นจากตลาดมาแล้ว เรณูก็บอกกับวรรณาว่า

“คิดไม่ผิดจริง ๆ ที่ไม่หนีหน้าคน อย่างน้อยเราก็ยังเห็นว่า มีใครบ้าง ที่เขาไม่ถือสา ไม่สนใจ ไม่ใส่ใจกับเรื่องพวกนั้น”

“ก็อาจจะเป็นอย่างที่เจ๊หมุ่ยนี้ว่านั่นแหละ...ชีวิตคนเรามันมีเรื่องใหม่ ๆ มาเรียกความสนใจคนอยู่ตลอดอยู่แล้ว มัวไปจมปลักกับเรื่องในอดีต เป็นทุกข์เป็นร้อนไปก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร”

********

เช้าวันรุ่งขึ้นคะเนว่าแม่ค้ามาจนเต็มพื้นที่แล้ว เรณูก็หาบขนมออกมาจากร้านท่ามกลางสายตาแปลกใจของคนส่วนใหญ่ พอมาถึงที่ที่ตนเคยวางหาบ เรณูก็ยิ้มแย้มแจ่มใส ทำเหมือนไม่รู้ ไม่ได้ยินเสียงนินทาเมื่อก่อนหน้า

“ขนมตะโก้ของอีเรณูมาแล้วจ้า....วันนี้ ทำแค่สี่ถาดเท่านั้น มาช้าหมดอดกินกันนะจ๊ะ”

“อ้าว นึกว่าจะไม่ออกมาขายซะแล้ว”

“ทำไมถึงคิดว่าฉันจะไม่ออกมาล่ะ” ช่วง ๆ หลัง ก่อนจะไปปากน้ำโพ เรณูก็ขาย ๆ หยุด ๆ เพราะต้องซ่อมแซมร้าน จัดร้านรอท่าวรรณา...แล้วเรณูก็ประกาศไปแล้วว่า จะเปลี่ยนไปขายข้าวเกรียบปากหม้อกับสาคูไส้หมูที่หน้า ‘ร้านเรณูบูติค’ แทน...

“ก็แหม ก็วาสนาไปจนถึงได้สะใภ้คนโปรดเถ้าแก่ใหญ่ แล้วใยแม่ยังจะต้องมาหาบมาคอนมานั่งตากหน้าอยู่ตรงนี้อีกเล่า”

“ก็คิดถึงพวก พี่ป้าน้าอาที่นี่ไง...ก็คนเคยเห็นกัน พอไม่เห็นกัน ก็คิดถึง”

“คิดถึงจริง ๆ รึ”

“จริงซิจ๊ะ เป็นไงป้า วันนี้ขายดีไหม”

“ตอนแรกก็เงียบๆ พอแม่มา ก็เหมือนจะขายดีขึ้นมาเลย”

“เห็นไหมล่ะ ว่าฉันน่ะ ตัวเรียกแขก...ตะโก้จ้าตะโก้...ห่อละสลึงเดียวเท่านั้น”

บรรยากาศเช่นทุก ๆ เช้าที่เรณูหาบของมาขายกลับมา...จนกระทั่งตะวันขึ้นสูง เรณูที่ขายของหมดตั้งนานแล้วก็เดินดูนั่นดูนี่ พลางพูดคุยกับคนนั้นคนนี้ ซึ่งก็หนีไม่พ้น เรื่องกระซิบกระซาบถามเรื่องที่พิไลโพนทะนานั้นจริงแท้ประการใด เรณูก็ตอบไปด้วยน้ำเสียงเหนื่อยหน่ายใจว่า

“ก็แหม คนมันขี้อิจฉาริษยา พอเห็นว่าฉันจะได้ดีเกินหน้า มันก็กุข่าวใส่ร้ายป้ายสี ดีแต่ที่ฉัน ไม่ได้ทำอย่างนั้น ใยฉันจะต้องอับอายหนีหน้าใครใช่ไหม”

“นั่นซินะ ถ้าแม่ทำ แม่ก็คงไม่กล้ามาเดินตลาดหรอก...”

“เพราะฉันไม่ได้ทำ ฉันถึงต้องมานี่ไง ใครๆ ก็จะได้ไม่ต้องมีเรื่องคาใจกัน...”

“แล้วนี่ แม่จะจัดการกับมันอย่างไร ตบให้คว่ำเลยดีไหม...”

“ฉันก็คิดอยู่เหมือนกัน...แต่ว่าใครจะไปประกันฉันออกจากคุกล่ะจ๊ะ”

***********

พอถูกถามเรื่องที่เรณูทำของใส่ทั้งปฐมและตนเอง นางย้อยก็ทำหน้าเหน็ดเหนื่อยใจ ก่อนจะบอกว่า “เหลวไหลน่า มันจะทำ ทำไม”

พอถูกถามย้อนกลับ คนที่อยากรู้ ก็ได้แต่มองหน้ากัน...เพราะอึดอัดใจที่จะพูดไปตรง ๆ ด้วยเชื่อไปแล้วว่า คนที่ ‘ถูกของ’ ย่อมเข้าข้าง ‘คนทำของใส่’ อย่างแน่นอน...แต่ถึงกระนั้นหนึ่งในนั้นก็ยังกล้าที่จะจาระไน...

“ก็ตะก่อน แม่ย้อยเกลียดมันอย่างกับอะไรดี แต่ตอนนี้ มันอย่างกับคนละคน”

“ก็นั่นมันตะก่อน”

“ก็ตะก่อนแม่ย้อยยังเป็นแม่ย้อยไง...”

“ใช่ ๆ ตะก่อน เป็นตัวของตัวเองแม่ก็เลยเกลียดมัน...พอถูกของแล้วรักใคร่เมตตามัน ความคิดมันถึงได้เปลี่ยน”

“แล้วนี่ไม่มีงานมีการจะทำกันหรือไง” นางย้อยตัดบท

“มี แต่ ฉันเป็นห่วงแม่ย้อย กลัวจะหมดตัวเพราะการนี้”

“ขอบใจ แต่ฉันสบายดี ไม่มีอะไร ไม่เป็นอะไรง่าย ๆ หรอก”

“อย่างไรก็ไปอาบน้ำมนต์บ้างนะแม่ย้อย เขาว่ากันว่า คนถูกของน่ะดวงมันจะซวย”

หัวคิ้วของนางย้อยขมวดเข้าหากัน...กมลที่ยืนฟังความอยู่ใกล้ ๆ จึงรีบบอกว่า

“โน่น อาซ้อเรณูเดินมาโน่นแล้ว มีอะไรก็ถามกับอี ได้เลย ซิ่ม’

“ไม่ถามหรอก เกลียดขี้หน้ามัน ไปพวกเรา...เตือนด้วยความหวังดีหรอก ถ้าไม่เชื่อก็ตามใจนะ” ว่าแล้วทั้งคณะก็พากันผละไป...นางย้อยถอนหายใจออกมา...แล้วก็ถามกมลว่า

“อีเรณูมันจะทำของใส่ม้าทำไม แล้วผู้หญิงกับผู้หญิงมันทำของใส่กันได้ด้วยรึ?”

“ผมก็ไม่รู้เหมือนกันม้า”

เรณูเดินหาบกระจาดมาถึง ก็ยิ้มหวานให้ป้อม จนถึงกมล และนางย้อย ที่นั่งหน้าเครียดอยู่...

“ไหนเธอบอกว่าจะเลิกหาบของขายไง แล้วทำไมยังหาบอยู่อีก” นางย้อยถามเรื่องที่ทำให้ใจขุ่นทันที

“ใจจริงหนูก็จะเลิกละจ๊ะ แต่พอมีเรื่องนี้เกิดขึ้น ถ้าเลิกไป หายไปเลย คนก็จะหาว่าหนีหน้าไง สู้ออกมาประจันหน้ากัน แล้วตอบคำถามที่พวกนั้นซุบซิบกันซะเลยดีกว่า...ดูท่าแล้วมันก็ได้ผลด้วย”

กมลที่ได้ยิน รู้สึกว่าเป็นอีกครั้งที่เรณูฉลาดแก้ไขสถานการณ์...

“เข้าใจคิด...” นางย้อยเปรยออกมาเบา ๆ

“แล้วม้ากินข้าวหรือยัง เช้านี้ทำอะไรกินหรือจ๊ะ”

“ยังไม่ได้ทำ ไม่มีกระจิตกระใจจะทำอะไรกิน เช้ามาก็มาถามกันให้วุ่นวายไปหมด”

“แล้วม้าตอบไปว่าอย่างไร”

“ก็ตอบไปว่า ไม่รู้นะซิ จะให้ตอบไปว่าอะไรล่ะ”

เป็นคำตอบปัด ๆ ที่เรณูรู้สึกหายใจคล่องขึ้น...

“แล้วนี่ซาจะกลับฆะมังวันไหน”

“วันนี้ละซ้อ ตอนบ่าย ๆ ก็กลับละ”

“แล้วนี่ สายจนป่านนี้ พิไลไปไหน ไม่เห็นมาขายของ”

“ไปทับกฤช แม่เขาป่วย เลยไปเฝ้า เอาบุญปลูกไปด้วย” กมลบอกแค่นั้น เรณูก็รู้แล้วว่า พิไลคงไม่ได้ไปทับกฤชหรอก แต่จะไปไหนก็ ‘เรื่องของมัน’ เพราะมันต้องดิ้นรนรักษาผลประโยชน์ของมันเหมือนกัน...

“ม้าวันนี้ฉันทำตะโก้นะ เก็บไว้ให้ แปดห่อ” เรณูหันไปใส่ใจนางย้อยที่ยังมีสีหน้าบึ้งตึง...

พอได้ยินดังนั้น สีหน้านางย้อยก็ดีขึ้น เรณูจึงบอกว่า “เดี๋ยวหนูเอาไปจัดใส่จานให้นะ...อ้อ แล้วตะกี้ม้าบอกว่ายังไม่ได้ทำอะไรกิน เดี๋ยวหนูทำให้เอาไหม ม้าอยากกินอะไร ซาอยากกินอะไรบอกมา เดี๋ยวพี่ทำให้”

“แล้วเธอไม่เปิดร้านหรือไง” นางย้อยยังคง ‘ห่วง’ ผลประโยชน์ เพราะ ถือว่า ร้านเปิดแล้ว ลงทุนไปแล้ว ก็ต้องเปิดร้านค้าขาย เอากำไร เอาทุนคืนมาก่อน...

“เปิดจ้ะ วรรณามันจัดการแล้ว แล้ววันนี้ หนูก็ได้กำไรจากขนมแล้วก็ถือว่าทำงานแล้วเหมือนกัน”

“แล้วนี่เธอจะเริ่มขายข้าวเกรียบปากหม้อเมื่อไหร่”

“ก็ว่าจะเป็นพรุ่งนี้จ้ะ...อ้อ ซา วันนี้ก่อนจะกลับฆะมังก็แวะไปให้วรรณามันวัดตัวไว้ก่อนนะ”

“วัดทำไมซ้อ”

“ก็อยากตัดเสื้อ ตัดกางเกง ให้เธอสักชุด...”

“ตัดทำไม ผมไม่ค่อยได้ไปไหนหรอก ยิ่งไปอยู่ที่โน่น ยิ่งแล้วใหญ่”

“ก็ตัดเอาฤกษ์เอาชัยให้วรรณามัน ส่วนค่าผ้าค่าตัด เธอไม่ต้องจ่ายนะ พี่ขอออกให้เธอเอง ขอตอบแทนเธอบ้างนะ อย่าปฏิเสธพี่เลย ถ้าไม่ได้เธอ พี่ก็คงเหมือนคนหัวเดียวกะเทียมลีบ”

***************************


Title: Re: กรงกรรม บทประพันธ์ของ จุฬามณี
Post by: นักประพันธ์ on 15 March 2020, 22:35:46
ตอนที่ 32 : ก้าน เพียงเพ็ญ และบังอร


               ๓๒


ด้วยเสื่อกก หมอน มุ้ง ผ้าห่มเป็นของที่คนหมู่มากใช้กัน จึงมีกลิ่นเหงื่อ กลิ่นยา กลิ่นเหม็นอับหมักหมม ไหนจะเสียงพูดคุย เสียงไอ เสียงลุกเดินไปส้วม กลิ่นควันยาสูบ เสียงตำหมาก พิไลจึงนอนไม่หลับ แต่ครั้นจะลุกออกจากมุ้งไปสูดอากาศข้างนอก ยุงก็ชุมเหลือเกิน

คิดแล้วพิไลก็รู้สึกแค้น 'อีคน' ที่ทำให้ชีวิตของตนนั้นต้องมายุ่งยากลำบากลำบน

พอฟ้าสาง พิไลก็รีบลุกจากที่นอน ให้บุญปลูกเก็บที่หลับที่นอน แล้วพากันเดินไปล้างหน้าที่แม่น้ำ

นายเชิดที่นอนคลุมโปงอยู่บนร้านใต้ถุนเรือนทรงไทย เห็นพิไลเดินมาทางริมแม่น้ำเจ้าพระยา จึงเดินตามมา

"นอนหลับดีไหม คุณหนู"

"นอนไม่หลับหรอก น้า  แปลกที่ แล้วที่นี่ก็วุ่นวายกันเหลือเกิน น้าไปขอแซงคิวให้หน่อยได้ไหม จ่ายเพิ่มสักหน่อยฉันก็ยอม เดี๋ยวเราต้องไปรอรถไฟกลับชุมแสงอีกนะ ช้าไปจะไม่ทันรถ"

"เดี๋ยวผมจะลองไปพูดให้ แล้วนี่หิวข้าวไหม ไปตลาดกันไหม"

"ก็ดีเหมือนกัน"


กลับมาจากตลาด นายเชิดก็นำพิไลเข้าไปนั่งรออยู่หน้าห้อง จนสายโด่งประตูห้องก็เปิดออก คนมาเปิดประตูเรียกให้คิวแรกเข้าไปด้านใน พอพากันคลานเข้าไปแล้ว พิไลก็ได้เห็นว่า ร่างทรงของเจ้าแม่ที่มีผมหยิกหยองยาวเคลียบ่านั้น สวมเสื้อลูกไม้สีแดวสด นั่งหันเข้าโต๊ะหมู่ที่มีรูปปั้นเทวดา พระยม พระพรหม ท้าวกุเวร เศียรพ่อแก่ กุมารกุมารี แวดล้อมองค์เทพนารีซึ่งองค์ใหญ่เด่นสง่าเหนือรูปอื่นใด คนเปิดประตูเป็นชายสวมชุดดำไว้หนวดไว้เคราบอกให้ 'ลูกช้าง' ก้มกราบ 'เจ้าแม่' คนละสามรอบ

หลังเงยหน้าขึ้น ร่างทรงเจ้าแม่ก็ถามด้วยเสียงโทนต่ำโดยไม่ได้หันมาดู 'ลูกช้าง' สักนิด

"ได้ของที่สั่งให้เอามาไหม"

"ได้มาครับ" นายเชิดเป็นฝ่ายตอบ

"งั้นเอาเสื้อผ้าของคนถูกของวางบนพาน แล้วเส้นผมกับเล็บล่ะ เอามาด้วยรึเปล่า"

"ได้มาแต่ผม เล็บไม่ได้ ห่อใส่กระดาษมา"

"เอาวางไว้ด้วยกัน"

พอเสื้อผ้าและเส้นผมของนางย้อยที่ไปเก็บจากที่นอนและหวีอยู่บนพานแล้ว เจ้าแม่ก็ให้บริวารส่งพานทองเหลืองไปให้ ร่างทรงเจ้าแม่บริกรรมคาถาสวดภาวนาอยู่อึดใจใหญ่ ๆ  เจ้าแม่ก็หันมาสบตากับพิไล ซึ่งไม่กล้ามองเจ้าแม่เต็มตาตานัก เพราะกลัวเจ้าแม่ที่แต่งหน้าจนเข้มจัดนั้นหยั่งรู้ใจตน

"นังคนนี้ใช่ไหมที่เป็นลูกสะใภ้คนถูกของ"

"ใช่จ้ะ"

"ลักษณะมึงดี ผัวมึงดี มึงจะได้บุตรดี ต่อไปมึงจะรวยมาก รวยแล้วก็อย่าลืมกูละ"

"ไม่ลืมหรอกจ้ะ ขอให้เจ้าแม่ช่วยได้เท่านั้น" พอถูกชมพิไลก็เสียงอ่อนเสียงหวาน

"กูช่วยได้อยู่แล้ว แต่มึงต้องช่วยกูด้วย"

"จะให้ฉันช่วยอย่างไรบ้าง"

"ถ้ามึงไม่เอาคนถูกของมา มึงก็ต้องมาหากูอีกหลาย ๆ รอบ มึงจะมาได้ไหมล่ะ"

"มาได้"

"ถ้าอย่างนั้นมึงก็จ่ายค่าครูมา"  ว่าแล้วเจ้าแม่ก็หยิบพานทองเหลืองที่ผ้าของนางย้อยมาตรงหน้า พิไลสงสัยว่าค่าครูนั้นเท่าไหร่ แต่ยังไม่ทันจะเอ่ยถาม บริวารของเจ้าแม่ก็บอกว่า

"ค่าครูร้อยนึง"

"ทำไมมันแพงจังเลย คนอื่น ๆ ฉันเห็นเสียกันแค่สิบสลึง บางคนก็บาทสองบาท" พิไลถามอย่างไม่เกรงใจ

"ก็คนอื่นเขาเจ็บไข้ได้ป่วยมา ก็มีแค่ค่าครูกับค่ายา ส่วนของมึง งานมันใหญ่ เจ้าแม่ต้องรบรากับคนทำของใส่ให้แม่ผัวมึงอีกไม่น้อย ดีไม่ดี ถ้าของเขาแรง ร่างทรงเจ้าแม่จะแย่เอาได้"

พิไลเหลือบมองนายเชิดที่ยิ้มแหย ๆ ให้

"ว่าไง จะจ่ายหรือไม่จ่าย ไม่จ่ายก็กลับไป คนอื่น ๆ รออยู่อีกเพียบ"

"ถ้าจ่ายไปแล้วไม่เห็นผลล่ะ" จำนวนเงินที่มากโขทำให้ศรัทธาในองค์เจ้าแม่เริ่มคลอนแคลน

"คราวแรกนี่ไม่เห็นผลหรอก เจ้าแม่ท่านก็บอกไปแล้ว ว่ามึงต้องมาอีกหลายรอบ มึงไม่ได้ยินหรือไง"

"กี่รอบล่ะ และแต่ละรอบก็จ่ายครั้งละร้อยบาทใช่ไหม"

"ไม่รู้ แล้วแต่สถานการณ์ อาจจะมากบ้างน้อยบ้างก็สุดแต่ว่างานมันยากหรือมันง่าย"

"เอาไงดีล่ะ น้าเชิด" พิไลหันไปถามผู้มีอาวุโสกว่า

"ผมว่าจ่ายไปเถอะครับ คุณหนู ถ้าไม่ดีจริง คนทางตาคลีคงไม่แนะนำมาหรอก แล้วคุณหนูก็เห็นแล้วนี่ว่าถ้าเจ้าแม่ไม่แน่จริง คนไม่รอเข้าพบเจ้าแม่กันขนาดนี้หรอก"

พิไลสูดลมหายใจเข้าปอดจนลึก ก่อนจะบอกอย่างตัดใจว่า "ก็ได้"  แล้วพิไลก็เปิดกระเป๋าหยิบแบงก์ ๒๐ บาท ออกมาจากกระเป๋า ๕ ใบ วางลงบนเสื้อผ้าและห่อกระดาษใส่เส้นผมของนางย้อย...ด้วยใจที่รู้สึกว่า 'โคตรเสียดาย' แต่ถ้าไม่จ่าย ไม่ลงทุน เห็นทีจะเสียหนักกว่านี้

พอเจ้าแม่ยกถาดแล้วหมุนตัวกลับไปยังโต๊ะหมู่ พิไลที่ยังไม่คลายความเสียดายเงินก็พึมพำอยู่ในใจว่า
'อีเรณูนะอีเรณู เป็นเพราะมึงคนเดียวกูถึงต้องเดือดร้อน เสียเวลา เสียเงินเสียทอง อีเวร!'

**********

พอฟังเรื่องที่ติ๋มตัดทอนเฉพาะที่ว่าพิไลคู่สะใภ้ของเรณูให้นายเชิดมาสืบเสาะหาหมอเสน่ห์เก่ง ๆ เพื่อถอนเสน่ห์ให้นางย้อยแล้วบังเอิญมาเจอติ๋มเสียก่อน แล้วติ๋มก็แนะนำให้นายเชิดไปหา 'หมอบาง' ที่ท่าน้ำอ้อย ประนอมก็หัวเราะเสียงดัง

"มึงนี่มันเลวได้ใจกูจริง ๆ"

"แสดงว่า บุญของอีณูมันยังมีอยู่บ้างหรอก ถ้าน้าเชิดมาเจอคนอื่นก่อน ป่านนี้ก็คงไปถึงหมอก้อนแล้ว"

"แล้วมึงคิดรึว่าหมอก้อนจะเอาออกให้"

"ถ้าเงินมันมากกว่าที่เราจ่ายให้ไป แกก็ต้องเอาทางนั้น แล้วเราก็ไม่ได้คิดไว้กันนี่ ว่าอีพิไลมันจะหัวเร็วขนาดนี้ ฉันละยอมรับในเชาวน์ปัญญามันจริง ๆ"

"แล้วนี่ อีพิไลมันจะถูกอีบางหลอกกินเงินกี่รอบล่ะเนี่ย"

"ฉันเดาว่า กว่ามันจะหูตาสว่างก็คงอีกนานละ อีบางนั่นมันก็ฉลาดเป็นกรด แหม มีวิชาความรู้แค่หมอยากลางบ้านที่พ่อมันสอนไว้ พอได้ผัวแนะลู่ทางทำมาหากินบนความทุกข์ยากของคนโง่เข้าหน่อย มันก็กลายเป็นเจ้าแม่ขึ้นมาทันทีเลย คนอย่างอีพิไล มันต้องเจอกับคนอย่างอีบางกับไอ้หนวด มันถึงจะสาสมกัน"

"แล้วนี่มึงจะไปบอกอีเรณูมันไหมล่ะ ถ้ามันรู้ว่ามึงช่วยมันไว้ มันคงจะกราบขอบคุณมึงงาม ๆ เป็นแน่"

"ก็อยากไปอยู่นะ แต่ไปแล้วกลัวอีย้อยมันจะลมขึ้นเพราะเห็นพวกกะหรี่อย่างพวกเราน่ะสิ"

"อีบ้า มึงลืมไปแล้วรึไง ว่าตอนนี้มันหลงอีณูอยู่ ถ้าอีณูมันบอกว่านกเป็นไม้ อีย้อยมันก็ไม้แหละ แล้วกะหรี่อย่างพวกเราก็จะกลายเป็นเทพีในสายตามันทันที"

"ใช่ ๆ  ว่าไปก็น่าไปดู คนเราพอรักกันซะแล้ว ไอ้ที่ว่าทำอะไรก็ดีงามไปหมดมันเป็นอย่างไร คงจะน่าขันพิลึกเนอะ" ว่าแล้วมุมปากของติ๋มก็กระตุกเพราะสาแก่ใจ

"งั้นไปกัน"

"อย่าเพิ่งไปเลย ฉันยังไม่อยากเห็นหน้าอีย้อยในตอนนี้"

"มึงเกลียดมันขนาดนั้นเลยรึ"

"ไม่ได้เกลียดจนไม่อยากเห็นหน้ามันหรอก แต่ถ้าต้องเห็น ก็อยากเห็นตอนที่มันจมอยู่ในห้วงความทุกข์ยาก ลำบากทั้งใจและกาย เหมือนที่พวกฉัน เหมือนที่คนอื่นเคยต้องลำบากเพราะมันก็เท่านั้นเอง!"

**********

เพราะเรณูอ้างถึงความหลังครั้งเก่า ทำให้กมลยากจะขัดศรัทธา ก่อนจะนั่งเรือกลับฆะมัง เขาจึงต้องเดินมายังร้านเรณูบูติกที่มีวรรณาเป็นช่างประจำร้าน  พอถึงหน้าร้าน เขาก็พบว่าจันตานั่งอยู่บนม้านั่งตัวยาวชิดผนังด้านขวาของร้าน พอสบตากันเขาก็ยิ้มน้อย ๆ ให้  เช่นเดียวกับจันตาที่ยิ้มแล้วหลบสายตาของเขา

"อาซ้อกับวรรณาไปไหนซะล่ะ"

"วรรณากินข้าวอยู่ในครัว พี่เรณูไปโรงสี เห็นว่าจะไปปอกมะพร้าวมาทำขนมขายพรุ่งนี้" เป็นครั้งแรกที่จันตาพูดยืดยาวกับกมล

"แล้วจันตามานั่งทำอะไรอยู่ตรงนี้" ถามแล้วเขาก็เห็นว่าในมือของจันตานั้นมีหนังสือแฟชั่นผู้หญิง

"อาม่านอนหลับ เจ๊หมุ่ยนี้ให้มานั่งเล่นที่นี่น่ะ"

"นั่งเล่น" เขาถามซ้ำ

"ก็มาดูวรรณาเขาทำงานน่ะ เผื่อจะชอบงานแบบนี้บ้าง"

"แล้วชอบไหมล่ะ"

"รู้สึกว่ามันยุ่งยากเหมือนกัน"

"มีคนมาประเดิมให้เขาแล้วรึ"

"มีแล้ว หลายคนแล้ว พี่เรณูเขาเก่ง เขาคุยอวดฝีมือวรรณาไปทั่ว วันนี้มีคนมาวัดตัวเลือกผ้าตัดเสื้อห้าหกคนแล้วมั้ง"

"แต่วรรณาเขาก็ฝีมือดีจริง ๆ  ดูจากชุดที่จันตากับหมุ่ยนี้ใส่วันนั้นสิ" พอพูดไปแล้วก็นึกขึ้นมาได้ว่า รูปถ่ายวันแต่งงานที่ไม่ใช่รูปในพิธีนั้น เขาจะคัดออกแล้วก็เก็บไว้ที่นี่ ใส่ในกล่องรวมกันไว้กับรูปอื่น ๆ ที่ได้ไป

ก่อนจะกลับมาคราวนี้ เขาเปิดกล่องดู เห็นรูปเรณู หมุ่ยนี้ และจันตาที่มงคลอัดไว้ เขาก็รู้สึกเหมือนถูกสะกดสายตาไว้อย่างนั้น จนจำได้ว่าชุดทันสมัยที่จันตา สวมวันนั้น มันทำให้รูปร่างของจันตาดูแปลกไปอย่างไร พอรู้ตัวว่าจะเผลอเผยความรู้สึกออกไป เขาจึงรีบเปลี่ยนเรื่อง

"จันตา สบายดีนะ"

"สบายดีจ้ะ เฮียล่ะ สบายดีรึเปล่า"

"ก็...สบายดี  แล้วนี่...จันตาจะแต่งงานกับคุณปลัดเมื่อไหร่ล่ะ"

"ยังไม่มีกำหนดเลย" จันตาตอบเบา ๆ

"ถ้าแต่งเมื่อไหร่ก็ส่งข่าวแต่เนิ่น ๆ นะ จะได้มาใช้แรง"

"จ้ะ" จันตาตอบไปสั้น ๆ  พอดีกับที่วรรณาเดินออกมาจากหลังร้าน กมลจึงบอกจุดประสงค์ที่มาที่นี่ให้วรรณาที่รู้อยู่แล้วเร่งวัดตัวให้เขา เพราะเขาจะต้องรีบไปลงเรือโดยสารกลับฆะมัง

ช่วงที่หมุนตัวให้วรรณาวัดส่วนสัดอยู่นั้น เขารู้สึกว่าสายตาของจันตาที่ลอบมองเขาอยู่นั้น เป็นไปอย่างพินิจพิจารณาในสรีระของเขา แม้จะไม่กล้าหันไปสบตาคู่สวยที่ตรึงหัวใจเขาได้ทุกคราวที่เห็นกัน แต่เขาก็รู้สึกได้ว่าตอนนี้ตัวเขาเป็นเป้าสายตาของหญิงสาวที่เขายอมรับกับตัวเองอย่างไม่ต้องอายใครว่ารู้สึกคิดถึงมากกว่าคนที่ได้ชื่อว่าเมียเขาเสียอีก

**********
       
แม้จะเคลิ้ม ๆ ไปกับเสียงกล่อมของผู้เป็นอา แต่เพียงเพ็ญก็ยังไม่ล้มเลิกเรื่องที่จะพบหน้าก้านเสียก่อนให้ได้ 

วันรุ่งขึ้นรอจังหวะนางแรมเผลอ เพียงเพ็ญก็เดินตัดสวนกลับไปที่บ้านของก้านอีกครั้ง แต่ไปคราวนี้ เพียงเพ็ญต้องเห็นภาพบาดตาตำใจ เพราะก้านที่กำลังนำผ้าห่ม ปลอกหมอน มุ้ง ขึ้นราวตากแดดนั้นอยู่กับบังอร

เห็นแวบแรก เพียงเพ็ญก็มั่นใจในคำพูดของนางศรีที่ว่า ก้านกับบังอรนั้นมีอะไรกันไปถึงไหน ๆ แล้ว
พอก้านหันมาเห็นเพียงเพ็ญ ก็มีสีหน้าเจื่อนลง แล้วอุทานเบา ๆ

"เพ็ญ"

เพียงเพ็ญที่อารมณ์หึงหวงระคนน้อยใจ มองก้านด้วยน้ำตาคลอลูกนัยน์ตา และก่อนที่น้ำตาจะไหลให้ได้อาย เพียงเพ็ญก็หันหน้าเดินกลับไปตามทางที่เดินมา ก้านกรากตามไปโดยไม่สนใจเสียงร้องเรียกของบังอร  พอเดินมาทันกัน ก้านก็ฉุดแขนของเพียงเพ็ญไว้ เพียงเพ็ญหันมาได้ก็ทุบตีที่หน้าอก ตบหน้าของก้านเป็นพัลวัน ก้านไม่ได้หลบเลี่ยงฝ่ามือที่โหมกระหน่ำใส่ร่างกายและใบหน้าของตนแต่อย่างใด พอเห็นเพียงเพ็ญได้ระบายจนหนำใจแล้ว ก้านก็รวบร่างของเพียงเพ็ญมากอดไว้แล้วบอกว่า

"เพ็ญจ๋า...เพ็ญ...ฟังพี่ก่อน"

"ฉันไม่ฟังอะไรทั้งนั้น ไหนพี่ว่าจะรอฉัน จะไม่รังเกียจหากว่าฉันจะกลายเป็นแม่หม้ายผัวทิ้ง แล้วทำไม...พี่ถึงได้ทำอย่างนี้ ทำไม!"

"พี่...พี่"

"พี่รู้ไหมว่าฉันเจ็บแค่ไหนที่รู้ว่าพี่กับอีบังอรไปถึงไหน ๆ กันแล้ว"

"แล้วทีเอ็งทำพี่เจ็บล่ะ"

"ฉันรู้ว่าฉันทำพี่เจ็บก่อน แต่ฉันก็รักษาเนื้อตัว ไม่ให้อาซาเขามาข้องเกี่ยวรอพี่ได้ เพราะฉันคิดว่า อีกไม่เท่าไหร่หรอก ฉันกับเขาก็จะต้องเลิกกัน แล้วทีนี้ ใครก็มาขัดขวางความรักของเราไม่ได้ แต่พี่...พี่ทำอย่างนี้ไปซะแล้ว แผนที่ฉันวางไว้มันจะเป็นอย่างไรล่ะทีนี้"

"เอ็งยังไม่ได้ยุ่งกับอาซาจริง ๆ รึ เพ็ญ"

"ก็ฉันท้องอยู่กับพี่...ฉันจะยอมนอนกับเขาให้มีราคีคาวซ้ำซ้อนทำไมล่ะ ฉันก็คนนะ ฉันคิดเป็นหรอกว่าคนที่ต้องเป็นแม่คนน่ะ ควรทำตัวอย่างไร แต่พี่กลับไม่รักษาสัญญา ห่างกันไม่กี่วัน พี่ก็เป็นอื่นไปซะแล้ว"

ระบายจนหมดสิ้นแล้ว น้ำตาของเพียงเพ็ญก็นองไหลอาบแก้ม ก้านเห็นดังนั้นจึงกอดรัดเพื่อปลอบขวัญจนแน่นขึ้น ยากจะแก้ตัว เพราะรู้อยู่แก่ใจว่าที่เผลอไปยุ่งเกี่ยวกับบังอรนั้น ตนเองมีจุดมุ่งหมายอะไร

"พี่ก้าน" เสียงบังอรทำให้ก้านคลายอ้อมแขน เพียงเพ็ญผละจากอกของก้านแล้วเชิดหน้าขึ้น

"พี่เพ็ญ เจอหน้ากันก็ดีแล้ว ฉันไม่รู้หรอกว่าพี่กับพี่ก้านมีอะไรกันนะ แต่ที่ฉันรู้ ตอนนี้พี่แต่งงานไปแล้ว และพี่ก้านก็เป็นผัวของฉันแล้วด้วย เพราะฉะนั้น พี่เลิกยุ่งกับพี่ก้านแล้วรีบกลับบ้านไปซะเถอะ"

"บังอร" ก้านหันมาขึ้นเสียงใส่เพราะไม่คิดว่าอารมณ์หึงหวงของบังอรจะมากถึงเพียงนี้

"อย่าให้ฉันต้องเอาเรื่อง...ที่พี่คบชู้สู่ชายไปโพนทะนาให้คนทั้งฆะมังรู้เลยนะ กลับบ้านพี่ไปซะ อย่าหาว่าฉันไม่เตือนก่อน"

เพียงเพ็ญมองหน้าบังอรแล้วกัดฟันกรอดก่อนจะบอกว่า

"มึงอย่าคืดนะว่าจะแย่งของรักของกูไปได้"

"รึพี่จะเอาเขาคืน กล้าไหมล่ะ ถ้ากล้าก็ต้องสู้กันสักตั้ง"

"บังอร" ก้านถลึงตาให้

"ไป...พี่ก้าน...กลับบ้าน งานแต่งของเรายังต้องมีเรื่องคุยกันอีกยาว" ว่าแล้วบังอรก็ดึงแขนของก้านให้เดินตามตนเองไป เพียงเพ็ญมองอาการละล้าละลังของก้าน ก็ได้แต่กำมือแน่นแล้วก็กัดริมฝีปากจนรู้สึกเจ็บ

พอก้านนั้นแข็งขืนแล้วสะบัดแขนออก...บังอรจำต้องปล่อยมือที่จับและจูงแสดงความเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ

“บังอร...เอ็งทำไมถึงได้เป็นคนอย่างนี้ มันไม่น่ารักเลยรู้ไหม” ก้านว่าให้

“คนที่จะเสียผัวไป มีใครเขาทำตัวได้น่ารักกันได้ล่ะ...”

“แต่พี่เพ็ญเขามาก่อน”

“มาก่อนแล้วไง พี่อย่าลืมว่ามันแต่งงานกับผู้ชายอื่นไปแล้ว มันทำพี่เจ็บ ทำให้พี่ต้องอับอายคนทั้งฆะมัง พี่จะยังไปรักใคร่ไยดีมันทำไม ถามหน่อยเถอะ ที่มันแรด ๆ หลบผัวมันมาหาพี่นี่ มันมีจุดหมายอะไร”

ก้านยืนนิ่ง...

“มันต้องการอะไร บอกฉันมาซิ ถึงมันจะเคยมีอะไรกับพี่ แต่ตอนนี้มันก็ไม่ควรกลับมาหาพี่อีก เพราะมันมีผัวไปแล้ว ถ้ามันเลิกกับผัวแล้วกลับมาหาพี่ ฉันจะไม่ว่าอะไรเลยนะ แต่นี่พี่กำลังจะกลายเป็นชายชู้... ฉันรักฉันห่วงพี่นะ ฉันถึงต้องตามมาช่วยเหลือพี่ แล้วฉันก็เป็นเมียพี่แล้วเหมือนกัน ทำไมฉันถึงไม่มีสิทธิ์หึงหวงคนที่จะมายุ่งกับผัวฉัน”

“แต่พี่เพ็ญ เขาก็เป็นเมียพี่”

“ก็แค่อดีต...”

“เขาก็ตั้งท้องลูกของพี่อยู่ด้วย”

“อะไรนะ!”

“เอ็งฟังไม่ผิดหรอก ตอนนี้เขาท้องกับพี่ เขาถึงต้องหวนกลับมาหาพี่”

“แล้วผัวที่เพิ่งแต่งไปนั่นล่ะ มันจะทำอย่างไรกับไอ้ลูกเจ๊กนั่น”

“เดี๋ยวเขาก็เลิกกัน”

“มันมาบอกพี่ว่า เดี๋ยวมันจะเลิกกับผัว แล้วจะกลับมาหาพี่งั้นรึ...มันไปนอนกับผู้ชายอื่นแล้วพี่ยังจะรับได้อีกรึ”

“เขายังไม่มีอะไรกัน”

“ยังไม่มีอะไร ยังไม่ได้นอนด้วยกันใช่ไหม...จ้างฉันไม่เชื่อหรอก คนอยู่ห้องเดียวกัน มันจะอดใจได้อย่างไร ถ้ามันอดใจได้ มันก็มีแต่ควายเท่านั้นแหละ"

“อย่าเอาความคิดของเรา ไปตัดสินคนอื่น” ก้านว่าให้

“ไม่รู้ อย่างไรฉันก็จะต้องแต่งกับพี่...ตามที่คุยกันแล้วให้ได้...ถ้ามันจะกลับมาหาพี่ มันก็ต้องเป็นเมียน้อย แต่คนอย่างมัน คงไม่ยอมกินน้ำใต้ศอกใครหรอก แต่ฉันก็ไม่ยอมเสียตัวให้ใครเปล่าๆ ปรี้ ๆ เหมือนกัน...อ้อ ฉันจะบอกอะไรให้นะ...เรื่องเงินสินสอดทองหมั้นที่ฉันบอกพี่ว่าแม่จะให้มากันอาย อัฐยายซื้อขนมยายน่ะ มันไม่ใช่ของแม่ของพ่อฉันหรอกนะ...พี่อยากรู้ไหมว่าเป็นของใคร”

“ของใคร!”

“ของกำนันศร”

คำๆ นั้นเหมือนหินก้อนใหญ่หล่นทับก้านอีกครั้ง...

“หมายความว่าอย่างไร บอกมา” ก้านคว้าแขนของบังอรเขย่าถามด้วยเสียงขึงขัง แต่บังอรที่ความหึงหวงครอบงำจิตใจของตนเสียแล้วหาได้เกรงกลัว...เพราะถ้าก้านจะทิ้งขว้างตนกลับไปหาเพียงเพ็ญ ชีวิตของก้านกับอีเพ็ญก็จะต้องไม่มีความสุขตลอดไป! เล่นกับใครไม่เล่น มาเล่นกับอีบังอร

“เร็วบอกมา เอ็งไปคุยอะไรกันมา เขาถึงได้ให้เงินมา” ก้านกัดฟันกรอด

“ฉันไม่ได้ไปคุยอะไรกับทางนั้นหรอก แต่ทางนั้นเขาวิ่งเข้ามาหาฉันเอง เขาคงรู้อยู่หรอกว่า แม่ลูกสาวตัวดีของเขาคิดจะทำอะไร เขาก็เลยต้องปิดทางนี้ไว้ ให้พี่มีเมียให้เป็นเรื่องเป็นราวไปซะ โดยยอมเสียเศษเงิน เพื่อรักษาเงินก้อนใหญ่ รักษาหน้าตาไว้ ก็เท่านั้นแหละ...พี่เป็นคนฉลาด พี่คงเข้าใจที่ฉันพูดนะ...”

เมื่อรู้ว่าถูกหยามศักดิ์ศรีถึงเพียงนี้ ก้านก็กัดฟันกรอด...ก่อนจะผละเดินกลับบ้านไปโดยไม่ได้เห็นหรอกว่าสีหน้าของบังอรนั้นเป็นเช่นไร...

***********

‘ตอนนี้ ใคร ๆ ก็รู้กันว่าอีบังอรมันเดินขึ้นเดินลงบ้านนั้น อยู่ปรนนิบัติดูแลป้ากุ่นจนค่ำมืดดึกดื่น เพราะมันอยากได้ไอ้ก้านทำผัว...แล้วคนเข้าตาจน คนที่กำลังจะจมน้ำตาย กำลังหาเงินรักษาแม่ตัวเป็นเกลียว มันไม่โง่ปล่อยขอนไม้ให้ลอยน้ำผ่านไปหรอก รู้ไหมว่า มันมีอะไรกับอีบังอรไปแล้ว’

‘พี่เพ็ญ เจอหน้ากันก็ดีแล้ว ฉันไม่รู้หรอกว่า พี่กับพี่ก้าน มีอะไรกันนะ แต่ที่ฉันรู้ ตอนนี้ พี่แต่งงานไปแล้ว และพี่ก้านก็เป็นผัวของฉันแล้วด้วย เพราะฉะนั้น พี่เลิกยุ่งกับพี่ก้าน แล้วรีบกลับบ้านไปซะเถอะ’

‘ถ้าว่ากันตามจริงแล้วอีบังอร ถึงมันจะแรด แต่มันก็ไม่ได้แย่งผัวใคร ไอ้ก้านมันเป็นโสด ต่างคนต่างเป็นโสด ก็มีสิทธิ์ที่จะแต่งงานกัน…มาที่เรื่องของหนูกับพ่อซา...ก็อย่างที่พ่อเขาบอกนั่นแหละ มันยังไม่สายที่จะเปลี่ยนใจ เพราะจะยอมเป็นเมียเขาหรือไม่ยอม อย่างไร พวกเราทั้งหมดก็ได้ขึ้นชื่อว่า ย้อมแมวขายเขาไปแล้ว ถ้าเขามารู้ทีหลัง อย่างที่หนูอยากให้เขารู้ อาบอกเลยว่า แม่ย้อยปากอย่างกับตะไกร ถ้าแม่ไม่ตามมาด่าถึงที่นี่ หรือไม่เอาพวกเราไปประจานที่ตลาดให้ได้อับอาย จนไปเหยียบที่ชุมแสงอีกไม่ได้ ไม่ต้องมาเรียกอา ว่าอา และที่สำคัญ...เป็นลูกผู้หญิง ใคร ๆ ก็อยากได้ตำแหน่งเมียหลวง เมียแต่งกันทั้งนั้นแหละ...ถ้าวกกลับไปหามัน ก็เท่ากับว่า ต้องกลับไปกินน้ำใต้ศอกอีบังอร...’

‘อย่าให้ฉันต้องเอาเรื่อง ที่พี่คบชู้สู่ชายไปโพนทะนาให้คนทั้งฆะมังรู้เลยนะ กลับบ้านพี่ไปซะ อย่าหาว่าฉันไม่เตือนก่อน’

‘ตอนนี้ หนูเป็นเมียพ่อซา...เชื่ออา พ่อซาเขากลับมา ก็ให้เขาขึ้นมานอนบนเตียงซะ ปรนนิบัติเอาใจเขาไว้ ลูกในท้องจะได้มีปู่กับย่าเป็นเถ้าแก่ใหญ่ในตลาดชุมแสง...'

‘รึพี่จะเอาเขาคืน กล้าไหมละ ถ้ากล้า ก็ต้องสู้กันสักตั้ง’

เสียงสองเสียง ยังก้องอยู่ในหูของเพียงเพ็ญ จนทำให้หญิงสาวเกิดความเครียด...ใจหนึ่งก็คล้อยตามความคิดของอาศรี แต่อีกใจ เพียงเพ็ญก็ยังกังวลเรื่องที่จะแปดเปื้อนราคีคาวให้ซ้ำซ้อน เพราะถ้าวันหนึ่ง ความแตกขึ้นมา เพียงเพ็ญไม่มั่นใจว่า ไอ้เจ็ดแปดเดือนที่พ่อว่านั้นจะสามารถเหนี่ยวรั้งกมลไว้ได้หรือเปล่า... ถ้ากมลไม่ใช่คนหัวอ่อนอย่างที่พ่อคาดคิด ก็เท่ากับว่า เธอต้องเสียทั้งก้าน และเสียผัวที่นอนซ้ำรอยก้านไปอีกคน

ทีนี้เอง...มันก็ไม่ได้ต่างอะไรกับ นางวันทองสองใจ เพราะถ้าจะหวนกลับไปหาก้านอีก มันก็ยากจะอวดอ้างคุณความดีของตน...ทำไมเรื่องมันถึงได้พลิกมาเป็นอย่างนี้...

เสียงเคาะประตูดังขึ้น ทำให้เพียงเพ็ญ ที่ขังตัวเองอยู่ในห้องนับตั้งแต่วันอาทิตย์หันไปมอง...

“หนูเปิดประตูให้ป้าหน่อย...”

“มีอะไรรึป้า”

“ทำไมไม่ออกมากินข้าวกินปลา มีอะไรหรือเปล่า เป็นอะไรหรือเปล่า”

“หนูไม่หิว”

“ไม่หิวได้ไง หนูไม่กินข้าวกินปลามาสองวันแล้วนะ ไม่ห่วงตัวเองก็ ห่วงลูกในท้องบ้าง”

“หนูไม่หิว” เพียงเพ็ญบอกเสียงห้วน แต่นางแรมก็ยังไม่เลิก

“ไม่หิวก็มาเปิดประตูให้ป้าหน่อย ขอป้าเข้าไปดูหน่อยซิ ว่าตัวร้อนเป็นไข้ไม่สบายหรือเปล่า”

เพื่อตัดรำคาญ เพียงเพ็ญจึงลุกไปปลดกลอนแล้วเดินกลับไปยืนนิ่งที่หน้าต่าง...มองผ่านลูกกรงออกไปข้างนอก นางแรมเดินไปหยุดอยู่ข้าง ๆ แล้วก็ยังเซ้าซี้ว่า

“ออกไปกินข้าวซะหน่อยนะ ป้าทำต้มยำปลาช่อนใส่หัวปลีที่หนูชอบไว้หม้อเบ่อเริ่มเลย แล้วก็ยังมีกล้วยบวชชีอีกหม้อ เมื่อวานจุกมันตัดกล้วยสุกคาต้นมาให้”

เพียงเพ็ญหันกลับมามองนางแรม แล้วน้ำตาก็ไหลออกมา...นางแรมจึงตกใจเป็นอย่างมาก...

“เป็นอะไร มีอะไรรึ”

“พี่ก้าน พี่ก้าน เขา เขาเป็นอื่นไปแล้วป้า เขากำลังจะแต่งงานกับอีบังอร”

“ก็หนูเองก็มีผัวแล้วเหมือนกัน จะไปสนใจอะไรมันอีกล่ะ”

“แต่ลูกในท้องหนูมันลูกเขานี่ป้า...แล้วหนูกับอาซาของอาศรี ก็ยังไม่เคยยุ่งเกี่ยวกันเลย ป้าก็รู้”

“ก็เขากลับมา ก็ยอมนอนกับเขาเสียซิ ยุ่ง ๆ กันไปซะ มันจะได้หมดเรื่องไป” นางแรมคิดง่าย ๆ

“แต่ถ้าเขามารู้ทีหลัง ว่าหนูท้องก่อนแต่งกับเขาล่ะป้า เรื่องมันจะไม่ยิ่งเลวร้ายไปกันใหญ่รึ...แล้วถ้าเขาจะเลิกกับหนู จะกลับบ้านเขา เราก็จะไม่มีสิทธิ์ไปว่าอะไรเขาได้ เพราะเราผิดอยู่เต็มประตู แล้วทีนี้เอง หนูก็จะกลายเป็นผู้หญิงมีผัวสองคน”

“โถ...แม่คุณ ทำไมถึงได้คิดมากถึงเพียงนี้...คนอื่น ๆ เขามีผัวสี่คน ห้าคน ก็ยังไม่เห็นเป็นไรกัน แค่ผัวสองคนนี่ก็ยังนับว่าน้อยอยู่นะ”

“ป้าไม่เคยมีผัว ไม่เคยมีความรัก ป้าไม่รู้หรอก แล้วที่สำคัญหนูท้องแล้ว หนูเป็นแม่คนแล้ว หนูจะคิดน้อย ๆ ไม่ได้แล้วป้า...”

“นี่ตกลงที่แม่ศรีเขามาเกลี้ยกล่อมวันนั้นมันจะไม่ได้ผลใช่ไหม”

“หนูรู้สึกอาย...อย่าให้หนูต้องทำผิดซ้ำซ้อนเลยนะ นี่หนูยังคิดว่า ถ้าอาซาเขากลับมา หนูจะสารภาพบาปกับเขา”

“ฮ้า...”

“ถ้าเราคุยกับเขาดี ๆ ถ้าเขารับได้ ให้อภัยได้ รอให้หนูคลอดลูกก่อนได้ มันก็ดีไปไม่ใช่รึป้า แต่ถ้าเราไปหลอกให้เขามานอนด้วย เพราะหวังให้เขารับเป็นพ่อของลูกในท้อง แล้ว ถ้าวันหนึ่งความแตก เขาจะไม่ยิ่งโกรธเกลียดเรารึป้า...หนูคิดอย่างนี้นะ”

“มองมุมนี้มันก็จริง...แต่ถ้าเขารู้แล้ว เขากลับชุมแสงไปเลยล่ะ...”
“ก็ต้องปล่อยเขาไป”

“แม่ย้อยได้กลับมาฉีกอกทางนี้แน่ ๆ”

“เขาคงไม่บอกแม่เขาหรอก หนูจะขอไม่ให้เขาบอกแม่เขา ก็บอกไปว่า เราอยู่ด้วยกันไม่ได้ เขาอยู่ที่นี่ไม่ได้ก็เท่านั้นเอง”

“หนูก็จะกลายเป็นแม่หม้ายผัวทิ้ง มีลูกติดอยู่คนนะ แล้วพ่อของลูกมันก็กำลังจะแต่งงานซะแล้ว...”

“แต่งได้ก็เลิกได้ไม่ใช่รึป้า...”

“โอ้ยยย คิดอะไรอย่างนั้น”

“อ้าว ก็ใครกันเป็นคนทำเรื่องที่ควรจะจบง่าย ๆ ให้วุ่นวายบานปลายแบบนี้ล่ะ ถ้ายอมให้หนูเป็นเมีย พี่ก้านซะตั้งแต่ทีแรก เรื่องมันก็ไม่เป็นแบบนี้หรอก”

“แล้วถ้าอีบังอรมันไม่ยอมเลิกล่ะ...หนูจะทำอย่างไง”

“ไม่มีผัวก็คงไม่ตายหรอกป้า สมบัติหนูมี ลูกหนูมี พ่อแม่หนูมี หนูมีป้า มีลูกเพิ่มมาอีกคนทำไมเราจะเลี้ยงกันไม่ได้...” พอเห็นทางออกของปัญหาที่คาใจ

แล้ว เพียงเพ็ญก็รู้สึกโล่งอก...เหลือแค่รอให้กมลกลับมาแล้วก็เรียบเรียงคำพูด บอกกับเขาไปตามตรงเท่านั้น ถ้าเขาจะกลับบ้าน ก็คงต้องปล่อยไป...

*******************************