Smile Siam มาร่วมกันคืน "สยามเมืองยิ้ม" กลับสู่บ้านเรากันนะครับ ...

วิถีสู่ชีวิตแห่งความพอเพียง => เกษตรทางเลือก => เพอร์มาคัลเจอร์ => Topic started by: Smile Siam on 29 December 2012, 08:12:43

Title: เพอร์มาคัลเจอร์ #3 : การวิเคราะห์โซนในการออกแบบภูมิทัศน์
Post by: Smile Siam on 29 December 2012, 08:12:43
เพอร์มาคัลเจอร์ #3 : การวิเคราะห์โซนในการออกแบบภูมิทัศน์


ได้รับแรงบันดาลจากบล็อกของป้าโน จนทำให้อดรนทนไม่ได้ต้องลุกขึ้นมาเขียนบล็อกเรื่องการวิเคราะห์โซน  การออกแบบโซนในเพอร์มาคัลเจอร์จะคำนึงถึงการใช้อนุรกษ์พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพของทั้งคน เครื่องจักร และเชื้อเพลิง  ดังนั้นผู้ออกแบบจึงควรวิเคราะห์พฤติกรรมและเลือกใช้พื้นที่แต่ละโซนตามความถี่ในการใช้งานพื้นที่ และระยะเวลาที่ใช้ในการเดินทางไปยังพื้นที่ในโซนนั้นๆ

เราควรจะเลือกองค์ประกอบที่ต้องทำกิจกรรมบ่อยไว้ใกล้ๆ ใจกลาง  โดยความถี่ของกิจกรรมอาจจะเกิดจากองค์ประกอบนั้นต้องการการดูแลจากเรา (เช่น ต้องไปให้อาหารไก่) หรือความต้องการของเราในการไปเก็บเกี่ยว/ใช้ประโยชน์จากองค์ประกอบนั้นๆ (เช่น ต้องไปเก็บไข่) ตัวอย่างเช่น เล้าไก่ อาจจะต้องการให้เราไปให้อาหารและเก็บไข่ทุกวัน  ต้องไปให้น้ำทุกสัปดาห์ ต้องไปเก็บมูลไก่ทุกเดือน รวมๆ กันแล้วเราอาจจะต้องเดินทางไปเล้าไก่มากถึง 450 ครั้งใน 1 ปี ดังนั้นถ้าอยู่ไกลก็จะเสียเวลาในการเดินไปกลับนาน สูญเสียทั้งเวลา และกำลังกาย

เพื่อเป็นแนวทางในการออกแบบภูมิทัศน์ เราอาจจะแบ่งการใช้พื้นที่ของเราออกเป็นโซนต่างๆ ดังนี้ (หมายเหตุ เพื่อนสมาชิกอาจจะไม่มีทุกองค์ประกอบตามนี้ เพราะอาจจะไม่มีพื้นที่ใหญ่พอจะแบ่งเป็นทั้ง 6 โซน  แต่ขอให้ศึกษาเอาหลักการ และนำไปประยุกต์ใช้)

(http://img9.uploadhouse.com/fileuploads/16745/167458848771f674361a317e4d046d692bc8334b.jpg) (http://www.uploadhouse.com/viewfile.php?id=16745884&showlnk=0)

โซน 0 : บ้าน

เราต้องอยู่บ้านบ่อยที่สุด  จึงเป็นแกนกลางของระบบ  ซึ่งอาจจะมีองค์ประกอบอื่นๆ นอกเหนือจากตัวบ้านที่เรามักจะไปทำกิจกรรมบ่อยๆ เช่น ที่เพาะพันธุ์ / อนุบาลพืช, ที่เลี้ยงสุนัข/แมว, ไม้กระถาง หรือไม้ประดับเพื่อความสวยงามอื่นๆ

โซน 1 : สวนหย่อม

เรามักจะต้องไปกิจกรรมทุกวัน และอยู่ในระยะห่างไม่เกิน 6 เมตรจากตัวบ้าน  ตัวอย่างองค์ประกอบที่อยู่ในโซนนี้ได้แก่ ถังน้ำฝน, พืชสวนครัวที่ใช้บ่อยๆ (เช่น พริก มะนาว), สระน้ำขนาดเล็กสำหรับเลี้ยงปลาสวยงาม, ที่เลี้ยงไส้เดือน, ที่วางไข่ของไก่ที่เลี้ยงไว้, ที่เลี้ยงสัตว์เลี้ยงสวยงามที่ต้องดูแลบ่อย (เช่น กระต่าย, นก)  ที่นั่งเล่น

โซน 2 : แปลงผัก

เรามักจะต้องไปทำกิจกรรมทุก 2-3 วัน  โซนนี้ต้องการการจัดการน้อยลงมาหน่อย ได้แก่ แปลงปลูกผักที่ใช้เวลาในการปลูกนานขึ้นแต่เป็นที่ปลูกไว้เพื่อรับประทานเองหรือขายเล็กๆ น้อยๆ, ที่เลี้ยงสัตว์ที่ต้องดูแลบ่อย(เช่น เป็ด ไก่ แพะนม วัวนม) หรือแม้นแต่โรงเวิร์คชอพสำหรับงานไม้ หรืองานประดิษฐ์อุปกรณ์ต่างๆ

โซน 3 : ฟาร์ม

เรามักจะต้องไปทำกิจกรรมทุกสัปดาห์ หรือทุกเดือน ได้แก่ แปลงผักปลูกเพื่อขายขนาดใหญ่, นา, แนวต้นไม้กันลม,ไม้ผล  โซนนี้เราดูแลด้วยการคลุมดิน และการจัดการน้ำที่ดีทำให้ไม่ต้องไปดูแลบ่อย หรือเป็นที่หมักปุ๋ย ยุ้งข้าว ที่เก็บฟืน/ถ่าน อาจจะเลี้ยงสัตว์พวกแพะ แกะ ห่าน ผึ้ง หรือวัว

โซน 4 : ป่าปลูก

เราไปทำกิจกรรมเป็นครั้งคราว ควรจะปลูกไม้ยืนต้นที่โตได้เร็ว  เพื่อใช้เป็นฟืน/ถ่าน สำหรับใช้ในบ้าน อาจจะเลี้ยงสัตว์พวกวัว กวาง หรือหมู

โซน 5 : ป่า

เราแทบจะไม่ต้องไปทำกิจกรรมในบริเวณนี้เลย หรือไปเพียงเพื่อท่องเที่ยว หรือพักผ่อน  ถ้าที่ดินของเราติดแนวป่า  โซนนี้จะเหมือนกับการขยายขอบเขตของแนวป่าเข้ามาในพื้นที่ของเรา  เพื่อจะได้สามารถปลูกไม้ยืนต้นที่มีอายุ 20ปีขึ้นไป และสามารถตัดไม้ได้อย่างถูกกฎหมาย

ตัวอย่างของการออกแบบโซนสำหรับบ้านในเมือง เราอาจจะแบ่งพื้นที่ออกเป็นเพียงโซน 0 - 3 เท่านั้น

(http://img3.uploadhouse.com/fileuploads/16745/16745883558b9dbbb88e3c30a3ab31397c1331d9.jpg) (http://www.uploadhouse.com/viewfile.php?id=16745883&showlnk=0)

(http://img4.uploadhouse.com/fileuploads/16745/16745882f01d02c5d200bcbdbd82f124edf82fd0.jpg) (http://www.uploadhouse.com/viewfile.php?id=16745882&showlnk=0)

(http://img9.uploadhouse.com/fileuploads/16745/16745881397cfa1cb76b9893e9a261cc1549ea07.jpg) (http://www.uploadhouse.com/viewfile.php?id=16745881&showlnk=0)

หวังว่าเพื่อนสมาชิกคงจะได้แนวคิดไปประยุกต์ใช้ในการออกแบบภูมิทัศน์และการใช้งานของที่ดินตัวเองบ้างไม่มากก็น้อยครับ  อย่าลืมนะว่าหลักของเพอร์มาคัลเจอร์คือการปรับการใช้พื้นที่ และการดำรงชีวิตให้้ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อลดการเบียดเบียนทรัพยากรธรรมชาติ และลดของเสียที่เราจะปล่อยกลับไปในธรรมชาติ  เพื่อที่เราจะอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้ยั่งยืนมากยิ่งขึ้น

http://www.bansuanporpeang.com/node/18954