Smile Siam มาร่วมกันคืน "สยามเมืองยิ้ม" กลับสู่บ้านเรากันนะครับ ...

เรื่องราวน่าอ่าน => เรื่องเล่าจากความทรงจำที่หาฟังยาก => Topic started by: ppsan on 05 September 2022, 21:16:06

Title: “ฉันก็นึกอยากไป แต่ว่าไม่บ้านะ”
Post by: ppsan on 05 September 2022, 21:16:06
“ฉันก็นึกอยากไป แต่ว่าไม่บ้านะ”


(https://scontent.fbkk24-1.fna.fbcdn.net/v/t39.30808-6/305085215_212419384448624_1666652328709398924_n.jpg?_nc_cat=108&ccb=1-7&_nc_sid=730e14&_nc_eui2=AeH6oFVcojvuDeJMVT9Doo-29SU_dU7Y5GH1JT91TtjkYZTsu-PxXXHK3o-8mYHJW0cb7ZAjrdbFx3RZN2zj35AR&_nc_ohc=ZGt-FdvvTS4AX_Nh_kc&tn=w1qPfeRunaMFP9_c&_nc_ht=scontent.fbkk24-1.fna&oh=00_AT8jAE2O4wsMGnpD-7t4EDlHr7qBlcnCOke7EG2C6bFN4g&oe=631AA48E)

(https://scontent.fbkk24-1.fna.fbcdn.net/v/t39.30808-6/305208303_212419444448618_6599836336744044122_n.jpg?_nc_cat=109&ccb=1-7&_nc_sid=730e14&_nc_eui2=AeFYReJKgJA9cCugfvnZZsQC6pVtpP0kVZbqlW2k_SRVlqhc8QVTKovgCKNIr75BxzazMuYmWjrU3V6xXp4rRW8I&_nc_ohc=3qrp42Kp5F8AX-6nrAa&_nc_ht=scontent.fbkk24-1.fna&oh=00_AT9SWrXvflcxRaPQPw_JHF3XLENbD6-a33ChKNYPquKEZw&oe=631A308E)


“ฉันก็นึกอยากไป แต่ว่าไม่บ้านะ”

เป็นพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตรัสรับสั่ง เมื่อสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กราบทูลเชิญเสด็จประพาสเมืองสุพรรณบุรี เหตุที่ทรงตอบเช่นนั้น สืบเนื่องมาจากคติความเชื่อที่ว่า

"ห้ามเจ้านายมิให้เสด็จไปเมืองสุพรรณบุรี"

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ กราบทูลว่า “ข้าพระพุทธเจ้าไปเมืองสุพรรณมาหลายปีแล้ว ก็ยังรับราชการสนองพระเดชพระคุณอยู่ได้”

สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงพระสรวล ตรัสว่า “ไปซิ”

.....
ตั้งแต่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง เสด็จประพาสเมืองสุพรรณแล้ว ก็ไม่มีใครพูดถึงคติที่ห้ามเจ้านายมิให้เสด็จไปเมืองสุพรรณ เดี๋ยวนี้คนที่รู้ว่าเคยมีคติเช่นนั้นก็เห็นจะมีน้อยตัวแล้ว จึงเขียนนิทานโบราณคดีเรื่องนี้ไว้มิให้สูญไปเลย


.....

คติโบราณ "ห้ามมิให้เจ้านายเสด็จไปเมืองสุพรรณ"
   
ตั้งแต่สมัยโบราณมีคติถือกันโดยเคร่งครัดต่อกันมาว่า "ห้ามมิให้เจ้านายเสด็จไปเมืองสุพรรณ" แต่จะห้ามมาแต่ครั้งใดและด้วยเหตุผลประการใดนั้นไม่มีผู้สามารถจะตอบได้ จนกระทั่งถึงต้นรัชกาลที่ 5 ก็ยังคงถือกันเป็นประเพณีอยู่เช่นนี้เรื่อยมา

จนในปี 2435 เมื่อสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย จะเสด็จไปตรวจราชการที่เมืองนี้ พระยาอินทรวิชิต (เถียร) อดีตมหาดเล็กในรัชกาลที่ 4 ซึ่งเคยอุ้มกรมพระยาดำรงมาตั้งแต่เด็ก เป็นผู้ว่าราชการเมืองอ่างทอง ไม่เต็มใจให้เสด็จในกรมเดินทางไปเมืองสุพรรณ อ้างว่าทางมันไกลไม่มีที่พักแรม และท้องทุ่งที่จะเดินทางไปก็ยังเป็นน้ำเป็นโคลน สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯก็รับสั่งว่าขึ้นไปเมืองเหนือได้เดินทางไกลมาหลายแห่งแล้ว ทั้งได้สั่งเรือให้คอยรับที่เมืองสุพรรณ คนสุพรรณรู้กันหมดแล้วว่าท่านจะไป ถ้าไม่ไปก็อายเขา

ผู้ว่าฯเมืองอ่างทองได้ฟังรับสั่งก็ได้แต่นิ่ง และไปหาพระยาวรพุทธิโพคัย ซึ่งร่วมมาในขบวนเสด็จด้วย แล้วถามว่า

“นี่ ในกรมท่านไม่ทรงทราบหรือว่าเขาห้ามไม่ให้เจ้านายเสด็จไปเมืองสุพรรณ ทำไมเจ้าคุณไม่ทูลห้ามปราม”

พระยาวรพุทธิฯก็ตกใจ ไปทูลเรื่องที่เจ้าเมืองอ่างทองบอก เสด็จในกรมฯก็รับสั่งให้ไปถามเจ้าเมืองอ่างทองว่า เขาห้ามเพราะเหตุใด
เจ้าเมืองอ่างทองได้ทูลถวายเหตุผลว่า

“เขาว่าเทพารักษ์หลักเมืองสุพรรณไม่ชอบเจ้านาย ถ้าเสด็จไปมักจะทำให้เสียพระจริตและเกิดอันตรายต่างๆ”

สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ก็เข้าใจที่เจ้าเมืองอ่างทองไม่อยากให้ไปเมืองสุพรรณ ด้วยความเป็นห่วงว่าจะมีอันตราย แต่ไม่ทรงเชื่อ ไม่ทรงเลิกล้มความตั้งพระทัย ทรงขืนเสด็จไปเมืองสุพรรณบุรีเป็นพระองค์แรก เพื่อจะทรงตรวจราชการที่เมืองนี้ ก็เพื่อจะทำนุบำรุงบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรืองและให้ราษฎรอยู่เย็นเป็นสุขยิ่งขึ้น ไม่ใช่การไปทำความชั่ว เทพารักษ์ประจำเมืองคงจะไม่ให้โทษเป็นแน่ คงจะกลับยินดีอนุโมทนาเสียอีก พระยาอ่างทองก็จนด้วยถ้อยคำ ไม่กล้าขัดขวาง

เมื่อเสด็จกลับจากตรวจราชการครั้งนั้นแล้ว ก็ไม่ทรงได้รับภยันตรายประการใด เจ้านายพระองค์อื่นทรงเห็นเช่นนั้นก็ทรงเลิกเชื่อถือคติโบราณ และเริ่มเสด็จประพาสกันต่อมาเนืองๆ

ในปีหนึ่ง สมเด็จฯจึงกราบทูลเชิญพระเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสเมืองสุพรรณบุรี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรับสั่งว่า

“ฉันก็นึกอยากไป แต่ว่าไม่บ้านะ”

จึงเป็นอันว่าคติความเชื่อโบราณที่ว่า ห้ามเจ้านายมิให้เสด็จไปเมืองสุพรรณบุรี เหตุผลเพราะเทพารักษ์หลักเมืองสุพรรณบุรีไม่ชอบเจ้านาย อันเป็นเหตุให้เมืองสุพรรณบุรีกลายเป็นเมืองที่ห่างพระเนตรพระกรรณ เจ้าเมืองทุกคน พยายามรักษาคติความเชื่อนี้ไว้และถือเป็นโอกาสประพฤติผิดคิดมิชอบฉ้อราษฎร์บังหลวง

คติความเชื่อดังกล่าวถูกลบล้างด้วยความกล้าหาญ และความตั้งพระทัยแน่วแน่ในการที่จะทำนุบำรุงเมืองสุพรรณบุรีให้เจริญรุ่งเรืองของเจ้านาย 2 พระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ นับแต่นั้นมา ก็ไม่มีผู้ใดกล่าวถึงคติที่ห้ามเจ้านายมิให้เสด็จไปเมืองสุพรรณอีก