Smile Siam มาร่วมกันคืน "สยามเมืองยิ้ม" กลับสู่บ้านเรากันนะครับ ...
User Info
Welcome, Guest. Please login or register.
29 April 2024, 04:26:26

Login with username, password and session length
Search:     Advanced search
News
ท่านสมาชิกสามารถเปลี่ยนรูปแบบ (Theme) ได้อีกหลายแบบ
เชิญทดลองโดยคลิกที่ลิงค์ข้างล่าง ได้เลยครับ

http://www.smilesiam.net/index.php/topic,3170.msg4713.html
Forum Stats
25,611 Posts in 12,442 Topics by 70 Members
Latest Member: KAN
Home Help Search Calendar Login Register
Smile Siam มาร่วมกันคืน "สยามเมืองยิ้ม" กลับสู่บ้านเรากันนะครับ ...  |  Profile of นักประพันธ์  |  Show Posts  |  Messages

Show Posts

* Messages | Topics | Attachments

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.

Messages - นักประพันธ์

Pages: [1] 2 3 ... 5
5
ตอนพิเศษ 3
*************************************

ต้นปี พ.ศ. 2518 แผลที่เท้าของนางย้อยลุกลามสร้างความเจ็บปวดจนหมอต้องคว้านเนื้อจนถึงกระดูก และต้องตัดขาในที่สุด...ออกจากห้องผ่าตัดมา ระหว่างพักฟื้นดูอาการอยู่ในโรงพยาบาล นางย้อยก็ถามหา กมลกับปฐม ซึ่งยังไม่มาเยี่ยมดูใจกัน อย่างที่มันควรจะเป็น

ประสงค์ สบตากับจันตา บุญปลูก รวมถึงนางแย้ม แล้วก็บอกว่า...

“ตอนนี้เฮียเขาติดสอบน่ะ ม้า...เป็นช่วงรามฯ สอบพอดี...อาซามันไปธุระที่กรุงเทพฯ พอดี ม้า ไปติดต่อเอาของมาขาย แต่เดี๋ยวมันก็คงกลับละ”

“อย่างนั้นรึ”

“เฮียโทรมาบอกว่า ถ้ามีอะไร ก็ให้รีบโทรไปแจ้งได้เลย สอบเสร็จเมื่อไหร่ เฮียจะรีบลงมาเยี่ยมม้า...ม้าพักผ่อนเถอะนะ ไม่ต้องน้อยใจว่าเฮียไม่ห่วงม้าหรอกนะ เฮียเขารักและห่วงม้าไม่น้อยกว่าพวกเราหรอก ม้าก็รู้”

“ม้าไม่ได้คิดอย่างนั้น แต่จู่ ๆ ม้าก็ใจคอไม่ดี นึกถึงแต่มัน แล้วอีณูล่ะ ไม่เห็นมันพาไอ้ณตมา”

“ไอ้ณตมันไม่สบายน่ะม้า...เลยยังไม่มา แต่เดี๋ยวก็คงมาหรอก...”

ประสงค์กล่อมจนแม่หลับไป...แล้วก็ถอนหายใจออกมา...เขากำชับกับทุก ๆ คนที่มาเยี่ยมแม่ว่า ‘ห้ามบอกกับม้าเด็ดขาดนะว่าเฮียเป็นอะไร!”

แต่ขึ้นชื่อว่า ‘ความลับ’ ย่อมไม่มีในโลก...ระหว่างจันตาซึ่งมาอยู่โยงเฝ้าคนเจ็บที่โรงพยาบาล เดินไปห้องน้ำ คนเฝ้าไข้ที่อยู่เตียงติด ๆ กัน ก็ถือหนังสือพิมพ์เดินเข้ามานั่งอ่าน...หนังสือพิมพ์ฉบับนั้นเป็นหนังสือเก่าที่พยาบาลวางไว้ให้คนเฝ้าไข้อ่าน พอดูพาดหัวข่าว เขาก็เปรยขึ้นมาว่า

“ดูซิ จะมาเยี่ยมแม่ผ่าตัดขา แต่ว่าดันมาชนประสานงากับรถเก๋ง คนเรานี่เนอะ เอาแน่อะไรไม่ได้เลย”

นางย้อยที่สลึมลืมอยู่...เปิดเปลือกตาขึ้นมา ใจคอเริ่มไม่อยู่กับเนื้อกับตัว...

“ว่าไงนะ พ่อคุณ”

“ข่าวนี่ไงป้า...เขาบอกว่า หนุ่มนครสวรรค์ลูกเขยนายพลจะกลับไปเยี่ยมแม่ผ่าตัดขา แต่ไปไม่ถึง ชนประสานงากับรถเก๋งที่แซงรถบรรทุกมาเสียก่อน”

“แล้วเป็นอะไรไหม”

“บาดเจ็บสาหัส ป้า...”

“เขาชื่ออะไร”

“เดี๋ยวนะ”

...ตอนนั้นใจของนางย้อยเริ่มเต้นแรง เพราะระหว่างที่ครึ่งหลับครึ่งตื่นอยู่นั้น นางฝันเห็นเจ๊กเซ้ง เห็นมงคลสวมชุดสีขาวหน้าตาผ่องใสยืนยิ้มพร้อมกับกวักมือเรียก ตอนนั้นนางที่นั่งอยู่บนเตียงผู้ป่วย จะลงจากเตียงเดินไปหา ทว่าปฐมก็เดินเข้ามาขวางสายตา แล้วพูดว่า

“เตี่ย ๆ อาสี่”

“ทางนี้ มาทางนี้ อาใช้”

“ไปด้วยกันเฮีย”

ตอนนั้นนางย้อยตกใจอย่างรุนแรง เพราะมั่นใจว่า จะต้องเกิดเรื่องไม่ดีแน่ ๆ ...จึงเอ่ยปากห้ามไว้ตามสัญชาตญาณ

“อาใช้ แกยังไปกับเตี่ยกับอาสี่ไม่ได้นะ! อย่าไปกับพวกเขานะ!”

พอปฐมหันมาพร้อมด้วยเลือดโทรมกาย นางย้อยก็ถึงกับผงะ...สะดุ้งสุดตัว...แล้วรู้ตัวว่า ตัวเองนั้น ฝันไป...เป็นฝันร้ายที่เสมือนจริง!...

“เขาชื่อ ปฐม อัศวรุ่งเรือง ครับป้า”

“อาใช้!”

อาการเหมือนถูกบีบเข้าที่หัวใจ จนหายใจไม่ออกเกิดขึ้นอีกครั้ง แต่คราวนี้ ใจของนางย้อยไม่ได้แข็งแรงดั่งเก่า...จึงยากจะต้านทานแรงบีบนั้นไว้ได้....

เห็นอาการไล่งับอากาศเหมือนจะขาดใจพร้อมกับน้ำตาไหลออกมาของนางย้อย คนที่อ่านข่าวให้ฟังก็รีบทิ้งหนังสือพิมพ์ แล้วละล่ำละลักว่า

“ป้า ๆ ๆ ๆ พยาบาล ๆ หมอ ๆ มาดูเตียงนี้หน่อยครับ ...ป้าแกเป็นอะไรไม่รู้”

สิ้นเสียงของเขา หมอ พยาบาล คนเฝ้าไข้ และผู้ป่วยที่นอนอยู่บนเตียงก็ได้ยินเสียงกรีดร้องโหยหวน พอพยาบาลมาถึง ก็พบว่า คนไข้ซึ่งมีอาการโรคหัวใจและโรคอื่น ๆ แทรกซ้อนอยู่แล้วนั้นช็อคจนตาค้าง ชีพจรเต้นเบา แม้จะพยายามยื้อยึดกันมากเพียงใด ก็ไม่อาจรั้งวิญญาณให้อยู่กับร่างที่เป็นรังของโรคมานานได้....

นางย้อยขาดใจตาย ในเวลา 16.30 นาที วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2518 สิริ อายุได้ 51 ปี

********************************

อุบัติเหตุชนประสานงากับรถเก๋งที่แซงรถบรรทุกมาบนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 32 ช่วงอำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทำให้ปฐมได้รับบาดเจ็บสาหัส เจ้าหน้าที่ฯ นำเขาเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลของรัฐซึ่งอยู่ใกล้ที่สุด หลังจากตรวจค้นนามบัตรในกระเป๋า ทางโรงพยาบาลก็แจ้งไปทางบริษัทที่เขาทำงานอยู่

พอคนในบริษัทรู้เรื่อง ก็โทรมาที่บ้าน แต่วันนั้นอรพรรณีไม่อยู่บ้าน มีเพียงคนรับใช้ ที่รู้เบอร์โทรศัพท์ของกมลจากสมุดบันทึกหมายเลขโทรศัพท์ที่วางอยู่บนโต๊ะ...พอกมลทราบข่าว เขาก็รีบขับรถจากนครสวรรค์ไปดูอาการของพี่ชายทันที แต่ถึงกระนั้น เขาก็ยังมีใจแวะบอกกับเรณูที่พยุหะคีรี เพราะรู้ดีว่า ในเวลาหน้าสิ่วหน้าขวานแบบนี้ กำลังใจจากคนที่รักกัน และหากจะต้องจากกัน คนที่รักกัน ได้ดูใจกัน เห็นใจกัน น่าจะเป็นเรื่องสำคัญที่สุด พอรู้เรื่องเรณูก็รีบเก็บผ้าใส่กระเป๋าไม่สนใจข้าวของที่ทำค้างอยู่ หญิงสาวบัญชาการให้ลูกจ้างช่วยทำขนมตามใบสั่ง และฝากลูก ๆ ที่ไปโรงเรียนกันหมดไว้กับคนงานอีกที....

พอไปถึงโรงพยาบาล ก็ทราบจากหมอว่าปฐมมีอาการเป็นตายเท่า ๆ กัน และทางที่จะช่วยชีวิตไว้ได้ คือให้ย้ายไปรักษาตัวในโรงพยาบาลเอกชนย่านสะพานควาย ซึ่งเพิ่งเปิดให้บริการได้ไม่นานเพราะที่นั่นมีเครื่องไม้เครื่องมือทันสมัย...

ได้ยินดังนั้นกมลก็คำนวณค่ารักษาพยาบาลเพื่อยื้อชีวิตของปฐมซึ่งเป็นเงินมากโข อยู่ในใจ

เพียงอึดใจ เขาก็ตัดสินใจทันที...

...ช่วงนั้นกมลกับประสงค์วิ่งวุ่น เพราะไหนจะงานศพแม่ แม้จะไม่ได้เป็นไปอย่างฉุกละหุกเพราะแม่ได้กันเงินสำหรับจัดงาน และได้พูดเรื่องพิธีกรรมไว้บ้างแล้ว แต่เงินค่ารักษาพยาบาลของปฐมที่อยู่ทางกรุงเทพฯนั้นก็หนักพอดู

ทางเดียวที่สองพี่น้องจะทำเพื่อดวงวิญญาณของแม่ได้ ก็คือ นำที่ดินเข้าจำนองไว้กับญาติข้างเตี่ย...นำเงินสดไปสำรองไว้ใช้จ่ายทางนั้น...จากบ้านที่อยู่ดีมีความสุข มีผลกำไรเข้ามาให้นั่งนับไม่เว้นวัน กลับสุมรุมไปด้วยความร้อนเพราะมีเงินไหลออกจำนวนมากด้วยเรื่องที่ไม่ได้คาดคิด...

วันสวดพระอภิธรรมวันสุดท้าย พิไลมาพร้อมกับสมดี ซึ่งเป็นสามีคนใหม่ ทั้งสองคนอยู่กินกันโดยไม่มีพิธีกรรมใหญ่โตให้แขกเหรื่อไปร่วมแสดงความยินดี หลังจากที่พิไลรู้ตัวว่าตั้งท้อง

พอพิไลทราบเรื่องเงินค่ารักษาตัวของปฐม พิไลก็ถามเหมือนกับที่คนส่วนใหญ่รู้และต้องเอ่ยถามว่า “แล้ว ทางเมียเขาไม่ช่วยเหลืออะไรเลยรึ”

กมลกับประสงค์มองหน้ากัน...แล้วก็บอกว่า

“เขาบอกว่าดูท่าแล้วคงไม่รอด...รักษาไป ก็คงตาย หรือถ้าฟื้นขึ้นมาได้ก็คงกลับมาได้ ไม่เหมือนเดิม เขาก็เลยปฏิเสธความช่วยเหลือเรื่องเงิน”

“เมียมันพูดอย่างนั้นจริง ๆ หรือ จิตใจของมันทำด้วยอะไร” พิไลกัดฟันกรอด

จิตใจของอรพรรณีทำด้วยอะไรไม่มีใครทราบได้...แต่กมลที่พอรู้เรื่องระหองระแหงระหว่างพี่ชายกับพี่สะใภ้ที่สะสมมาอย่างยาวนาน ก็พอทราบดีว่า คนเราเมื่อหมดรักกันไปแล้ว แถมยังไปมีรักใหม่ซ่อนเร้นไว้อีก ย่อมดีใจ พอใจ ที่จะเห็นคนรักเก่ามีอันเป็นไปเสียได้ แต่เขาก็ไม่ได้พูดจาให้ร้ายขยายความคำพูดของอรพรรณี จนหญิงสาวต้องถูกญาติพี่น้องของเขารุมกันแช่งชักหักกระดูกให้มีเรื่องเข้าหูมาต้องให้ปวดหัวอีก...เพราะคำพูดของอรพรรณีนั้นมันแสบไปถึงทรวง...

‘อย่าให้เห็นคนที่กำลังจะตายต้องมาขายคนที่ยังต้องมีชีวิตอยู่เลย แล้วอีกอย่าง หนูกับพี่เขาไม่ได้มีทะเบียนสมรสกันด้วย และตั้งแต่เขามาอยู่กับหนู ก็ไม่ได้ทำประโยชน์อะไรไว้ให้ เงินกินอยู่ในบ้าน ที่ซุกหัวนอนรวมถึงรถที่พังยับไป ก็ของของหนูทั้งนั้น สำหรับเขากับหนู เห็นจะพอกันที ใครอยากให้เขาอยู่ ก็รับผิดชอบเองละกัน’ อรพรรณีได้กล่าวไว้อย่างคนใจดำ แล้วไม่กลับมาสนใจใยดีเรื่องทางโรงพยาบาลอีก

เมื่ออรพรรณีโยนภาระอันหนักอึ้งมาให้พวกเขา พวกเขาจึงต้องหันหน้าเข้าปรึกษากัน...

เพราะยิ่งปฐมนอนอยู่ในโรงพยาบาลนานเท่าไหร่ ค่าใช้จ่ายก็มากขึ้นเท่านั้น....และคนที่ต้องรับภาระนั้น ก็ได้แต่มองหน้ากัน ครั้งแล้วครั้งเล่า

“เอาอย่างไรดีล่ะเฮีย...” กมลซึ่งเป็นคนเจ้ากี้เจ้าการตั้งแต่แรก เริ่มไม่มั่นใจในความคิดของตัวเองจนต้องขออำนาจการตัดสินใจจากประสงค์ซึ่งเป็นพี่...

ประสงค์ลุกขึ้นแล้วเดินไปดูช่องกระจกของห้องฉุกเฉิน....ครุ่นคิดไปถึงทรัพย์สมบัติที่เตี่ยกับแม่หาไว้ให้พวกเขา หวังไว้ให้สืบทอดถึงลูกถึงหลาน...โดยไม่ได้สนใจว่า เงินนั้นจะเป็นเงินร้อน! หรือเงินเย็น...เขาได้คติคิดว่า เป็นเพราะเงินร้อนที่แม่เก็บหอมรอมริบมา ซึ่งใคร ๆ เห็นต่างว่า เป็นเงินที่ได้มาจากการขูดเลือดขูดเนื้อนั้นแหละ มันถึงต้องมีอันต้องหมดสิ้นไปด้วยเหตุอย่างนี้...แต่พอคิดอีกที ถึงอย่างไร มันไม่ใช่เงินทั้งหมดที่เตี่ยกับแม่มีอยู่...และแม่กับเตี่ยที่ใคร ๆ ต่างก็ว่า เป็นคนใจไม้ไส้ระกำนั้น ก็ไม่ได้เป็นคนอย่างนั้นเสียทีเดียว...

ส่วนดีของเตี่ยกับแม่ก็มีไม่น้อย...แม่ไม่เคยคดโกงเงินค่าจ้างค่าแรงของลูกจ้างคนใด แม่ไม่เคยมีปัญหาหนี้สินจนนายเงินต้องมาทวงถาม เงินกำไรจากการค้าขายซึ่งเป็นเงินที่ได้มาในทางสุจริตแม่ก็แบ่งปันทำบุญสร้างกุศลไม่เคยขาด

...ถ้ากรรมเลว มันจะต้องตกอยู่กับลูกหลานทั้งหมดมันก็คงจะไม่ใช่...

กรรมดีที่มีอยู่ มันก็ต้องส่งผลด้วย...

เขาเองก็บวชตั้งสองพรรษา...และบวชด้วยความตั้งใจศึกษาพระธรรม ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ...ลาสิกขาออกมา เขาก็เป็นลูกที่ดี เชื่อฟังคำสั่งของแม่ทุกถ้อยความ....

ส่วนเฮียใช้เอง ก็ได้บวชเรียนตอบแทนคุณของแม่เช่นกัน และถ้าว่ากันตามจริงแล้ว แกก็ประพฤติตนเป็นลูกที่ดีมาตลอด...กมลเองก็เป็นลูกที่กตัญญูรู้คุณ ปรนนิบัติดูแลแม่เป็นอย่างดี ทำได้แม้กระทั่งอุ้มแม่นั่งกระโถนเช็ดขี้ล้างก้นให้...

ทั้งหมดทั้งหลายเหล่านี้ ล้วนเป็น ‘กรรมดี’ ที่พวกเขาทำไว้ หากว่ามันจะส่งผลให้บั้นปลาย ต้องฉิบหายขายตัวจนตระกูลล่มสลายกลายเป็นคนจนข้นแค้นตามแรงสาปแช่ง เพราะไม่สามารถไปหักล้าง กับ ‘กรรมเลว’ ของบุพการี ....เห็นที พวกเขาเองก็ต้องก้มหน้ารับกรรมกันไป...

“เอาไงดีเฮีย...” กมลเร่งเร้าเอาคำตอบ เพราะถ้าสั่งให้ถอดสายยางหรือย้ายโรงพยาบาลเพราะไม่มีเงินค่ารักษาเมื่อใด ปฐมจะต้องตายอย่างแน่ ๆ....

“ให้หมอรักษาต่อไป หมดเท่าไหร่ ก็ให้มันหมดไป...เรื่องเงิน เฮียคิดว่า ถ้าเราสองคน ยังไม่ตาย ก็คงมีปัญญาหากันใหม่ได้ แกคิดว่าไง” น้ำเสียงของประสงค์ชัดถ้อยชัดคำ

“ถ้าอย่างนั้น...ว่าอย่างไรก็ว่าตามกัน”

หลังจากรู้ว่า สองพี่น้อง ยัง ‘ไม่ยอม’ สิ้นหวัง และทำลายความหวังที่ยังมีอยู่ครึ่งหนึ่ง.... เรณูที่เฝ้าอาการอยู่หน้าห้องฉุกเฉินตั้งแต่วันแรก ๆ ก็ซาบซึ้งใจจนน้ำตาไหลออกมา

...และเรณูก็เชื่อมั่นใจว่า หมอจะต้องช่วยปฐมให้กลับมาเหมือนเดิมจนได้...และถ้าเขาจะกลับมาได้ไม่เท่าเดิม เรณูก็สัญญากับตัวเองว่าจะต้องดูแลเขาไปจนกว่าที่เขาจะสิ้นลมหายใจไปเช่นกัน....

*********************


พ.ศ. 2523

สมบัติซึ่งเป็น ที่ไร่ ที่นา ตึกแถว ที่แม่ได้แบ่งสันปันส่วนให้ปฐม หมดไปกับการรักษาตัวของเขา...จนปฐมกลายเป็นคนที่เหลือแต่ตัว หลังจากที่ฟื้นลืมตาขึ้นมาแล้วค่อย ๆ รู้ว่าโลกที่ดับไปแล้วนั้น สว่างไสวขึ้นมาอีกครั้งด้วยน้ำใจของน้อง ๆ และอดีตภรรยาที่เขาเคยทิ้งขว้าง

...เขาพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลนานนับปี กระทั่งร่างกายที่เกือบพิกลพิการนั้นกลับมาเป็นปกติ สมองที่ได้รับการกระทบกระเทือนเพราะกระโหลกร้าวได้รับการรักษาฟื้นฟูด้วยเครื่องมือทันสมัยและยาราคาแพงอยู่ถึงสามปีเต็ม ก็กลับมาเกือบเป็นปกติ...

คราวนี้เอง สิ่งอัศจรรย์ก็เกิดขึ้น...เขากลายเป็นคนที่คิดอ่านทำการค้าในเชิงรุกได้อย่างปราดเปรียว...เริ่มจากเขามองเห็นว่า ‘ขนม’ ของเรณูนั้น ไม่ควรจะรอลูกค้าอยู่ในตู้อยู่บนโต๊ะในร้าน...แต่ขนมควรไปรอลูกค้าอยู่ตามร้านค้าต่าง ๆ เขาให้เรณูทดลองทำเค้กชิ้นเล็ก ๆ อย่างที่เขาเคยเห็นในกรุงเทพฯ แล้วนำไปฝากขายที่ร้านในโรงเรียนละแวกนั้น ซึ่งมันก็ขายดีเป็นอย่างมาก หลังจากนั้น เขาก็สั่งทำกล่องกระดาษพิมพ์ยี่ห้อว่า ‘เรณูเบเกอรี่’ เพื่อสะดวกในการขนส่งไปถึงปากคนกิน ทีนี้เองเค้กของเรณูก็ติดตลาดจนทำกันไม่แทบทัน...

จากเค้กก้อนเล็กราคาก้อนละไม่ถึงบาท ก็ต่อยอดไปยังขนมชนิดอื่น เพราะตอนไปติดต่อกับร้านขนมร้านค้าส่งในตลาดต่างอำเภอ เขาก็เห็น ขนมหลาย ๆ ชนิดที่คิดว่า เรณูต้องทำได้ แล้วนำกลับมาให้เรณูลองทำ อย่างขนมปังเกลียวไส้ครีม ขนมปังซาลาเปาไส้เผือก และครีมใบเตย ตามมาด้วยโดนัทโรยน้ำตาล เคลือบน้ำตาล ข้าวเกรียบกุ้งทอด มะขามกวน พุทรากวน ถั่วกวน ถั่วทอดฯลฯ ...

พอเห็นว่าเขาเอาจริงเอาจังกับการกระจายสินค้าหรือที่เรียกว่าฝ่ายการตลาด เรณูที่อยู่ข้างหลังซึ่งเรียกว่าฝ่ายผลิต ก็ยิ่งมีแรงฮึดสู้จนแทบไม่ได้หลับไม่ได้นอน... สองแรงแข็งขัน ผัวถ่อเมียพาย...เพียงสองปีก็เห็นหน้าเห็นหลัง กลับมาลืมตาอ้าปาก จนกระทั่งหวนกลับมาซื้อที่ดินในเมืองปากน้ำโพจากญาติ ๆ ข้างเจ๊กเซ็งได้แปลงหนึ่ง แล้วสร้างโรงงานขนาดเล็ก ยึดเป็นที่ทำมาหากินแทนไร่นาสาโทตึกแถวหลังเดิมที่เสียไป...

และวันนี้ ก็เป็นวันที่ทั้งคู่ ทำบุญเปิดโรงงานใหม่...แน่นอนว่าญาติพี่น้องที่เคยให้ความช่วยเหลือประคับประคองยามที่ทั้งคู่ล้มลุกคลุกคลาน ต่างมาร่วมแสดงความยินดีกันถ้วนหน้า...

เริ่มจากประสงค์กับบุญปลูก พากันหยุดงานโรงสี ปิดร้านที่ชุมแสง พากันมาตั้งแต่เมื่อวานตอนเย็น...ทั้งคู่ได้ลูกชายเป็นคนโต ส่วนคนเล็กเป็นผู้หญิง...

กมลกับจันตานั้นอยู่ในตลาดปากน้ำโพอยู่แล้ว กมลมีลูกกับจันตาแค่เพียงสองคน เป็นลูกสาวทั้งคู่ ส่วนกมลา กมลกับจันตาก็ให้การเลี้ยงดูประหนึ่งลูกของตัวเองเป็นอย่างดีไม่มีปัญหาอะไร...เพราะกมลานั้นเจียมตัวตามที่ย่าพร่ำสอนไว้ว่า

‘เมื่อไม่มีย่า ไปอยู่ที่ไหน กับใคร ก็อย่าเป็นเด็กดื้อด้าน เถียงคำไม่ตกฟาก ช่วยเหลืองานการอะไรเขาได้ ก็ต้องทำ อย่าให้เขาต้องเรียกใช้ ให้ใช้ตัวเองทำงานแลกความสงบสุขให้เป็น อย่าเป็นคนขี้เกียจสันหลังยาว หยิบโหย่ง ให้หาความดีเป็นเกาะคุ้มครองตัว...ถ้าทำได้อย่างนี้ ไปอยู่ที่ไหนก็จะมีแต่คนรักคนเมตตา และถ้ามันยืดยาวจำยากไปก็ใช้หลักง่าย ๆ คือ ยามอยู่ให้เขารักยามจากให้เขาคิดถึง ฯลฯ’

ถัดมา ‘วรรณา’ ที่กลายเป็น ‘คุณนาย’ มีราศีจับ ก็มากับสามีนายอำเภอและลูกสาวที่มีเพียงคนเดียว...เรณูเคยถามวรรณาว่าทำไมถึงมีลูกน้อยนัก วรรณาก็ตอบว่า “มีไว้พอเป็นโซ่ทองคล้องใจ มีมากกว่านี้จะกลายเป็นภาระเสียเปล่า ๆ”

นอกจากจะมีลูกน้อย เพราะไม่ได้คิดหวังพึ่งพาลูกเมื่อยามแก่เฒ่า วรรณาก็ยังไม่ได้ทิ้งสัญญาที่เคยให้ไว้กับเรณูคือจะไม่ทอดทิ้งกัน...ในช่วงที่เรณูต้องหยุดขายของเพราะต้องไปคอยเฝ้าพยาบาลปฐมอยู่ที่กรุงเทพฯ รวมถึงตอนที่เรณูพาปฐมกลับมาดูแลในช่วงที่เขายังต้องนั่งรถเข็น ใช้ไม้ค้ำพยุงเดินที่พยุหะคีรี วรรณาก็ส่งเสียเงินมาช่วยเลี้ยงหลานและให้เรณูได้กินได้ใช้ได้ลงทุนค้าขายไม่เคยขาด พอเรวัตจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่หก เขาสอบเอ็นทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัยของรัฐที่อยู่ทางภาคเหนือได้...วรรณาเห็นว่าเรณูนั้น ยังไม่พร้อมจะส่งเสียเรวัตเพราะกิจการขนมแห้งเพิ่งตั้งต้นใหม่ หญิงสาวจึงรับอาสาช่วยเหลือค่าเล่าเรียนทั้งหมดเอง...เรณูจำต้องยอมรับน้ำใจนั้น แต่ถึงอย่างไร...เรณูก็ต้องเอ่ยคำว่า

“พี่เกรงใจแกจัง เปลี่ยนเป็นหยิบยืมก่อนได้ไหม”

“ไม่ได้ ไม่ให้ยืม แล้วพี่จะต้องเกรงใจหนูทำไมล่ะ...ถ้าไอ้ป๊อกมันไม่ได้เรียน ชีวิตของมันจะเป็นอย่างไร”

“ก็ช่วยเหลืองานทำขนมในร้านไป ตอนนี้มันก็ดีขึ้นมากแล้ว เพราะเฮียเขาก็ขยายตลาดไปได้เยอะแล้ว”

“ความขยันหมั่นเพียรกับแรงมุมานะ มันอาจจะดีสำหรับพี่ สำหรับพวกเราในช่วงเวลาหนึ่ง แต่ปัจจุบัน มันไม่ใช่แล้ว การศึกษาเท่านั้น จะช่วยให้ทุกอย่างไปได้เร็วขึ้น หนูจะกัดฟันตัดผ้า เย็บผ้า ปักผ้า สกรีนผ้า ขายผ้าส่งมันเรียนต่อเอง”

“นายอำเภอท่านจะว่าได้ พี่ไม่อยากให้แกมีปัญหากับท่าน”

“บนที่ว่าการอำเภอท่านเป็นใหญ่ แต่ในร้าน หนูใหญ่ที่สุดพี่” ว่าแล้ววรรณาก็หัวเราะแล้วบอกว่า “ไม่ใช่อย่างนั้นหรอก ท่านรู้ดีว่า ถ้าไม่มีพี่ณู อีวรรณาคนนี้ก็จะไม่ได้เป็นอย่างทุกวันนี้หรอก เพราะฉะนั้น ให้ป๊อกมันรับน้ำใจจากหนูเถอะนะ วันหน้ามันได้ดิบได้ดี มียศถาบรรดาศักดิ์ขึ้นมา พี่ ๆ น้อง ๆ อาจจะได้อาศัยมันบ้างก็ได้ และที่สำคัญ...ขอให้หนูได้ตอบแทนบุญคุณของพี่เถอะนะ ชีวิตนี้ ถ้าหนูไม่ได้พี่ช่วยไว้ในวันนั้น วันนี้ ชีวิตของหนูจะเป็นอย่างไร หนูก็ยังคิดไม่ออก...และอย่างไรไอ้ป๊อกมันก็เหมือนน้องหนู ลูกของหนู พี่อย่าลืมว่าหนูเลี้ยงมันมาตั้งแต่แบเบาะเหมือนกัน”

วันนี้วรรณามีนายอำเภอแต่งกายสุภาพภูมิฐานขับรถให้นั่งมาพร้อมกับลูกสาว และครั้งนี้ก็เป็นครั้งแรกที่นายอำเภอเลี่ยงการพบปะกับจันตาไม่ได้...แม้ว่าอดีตมันจะเลยล่วงมานานแล้ว แต่พอสบตากัน...จันตาก็ยังเห็นถึงร่องรอยของความผิดหวังสะเทือนใจ ทางเดียวที่จะทำให้อนาคตปราศจากเรื่องที่ติดค้างใจ จันตาที่มาช่วยจัดเตรียมสถานที่ทำบุญอยู่ก่อนซึ่งถือว่าเป็นเจ้าภาพคนหนึ่ง จึงต้องเดินเข้าไปยกมือไหว้ ถามไถ่สารทุกข์ สุกดิบกับนายอำเภอต่อหน้าวรรณาที่เข้ามานั่งบนเก้าอี้ในอาคารแล้ว...

“เดินทางมากันเหนื่อยไหม สบายดีไหม” จันตาเอ่ยถามด้วยสีหน้าไร้ซึ่งความประดักประเดิดใจ วรรณายิ้มให้ แล้วตอบไปว่า

“เดินทางก็ราบรื่นดี สบายดี...จันตาล่ะ....สบายดีไหม แต่ไม่ต้องบอกก็รู้หรอกว่าสบายดี เพราะดูสีหน้าก็รู้แล้วว่า ตอนนี้จันตา มีความสุขล้นปรี่แน่ ๆ”

จันตาอมยิ้ม แล้วตอบกลับไปว่า “คุณนายก็ดูมีความสุขมากๆ เช่นกัน”

“จะมาเรียกคุณนงคุณนายอะไร...ไม่เอานะ...เรียกวรรณา พูดกัน เธอ เรา เหมือนเดิมแหละ”

“ไม่ได้หรอก...ใช่ไหมคะ ท่าน” จันตาหันไปถามนายอำเภอที่นั่งนิ่งอยู่

“แล้วแต่เลยครับ...ผมอะไรก็ได้...แต่ก็อย่างที่วรรณาบอกละนะ...อย่าให้ตำแหน่งหน้าที่การงานของผมต้องมาทำให้ความสัมพันธ์ของพวกเรา ต้องมาห่างเหินกันเลย น่าจะดีกว่า”

“เรียกวรรณาเหมือนเดิมนะ...ห้ามเรียกคุณนาย” วรรณาสำทับ...

“ถ้าอย่างนั้นเรียกคุณนายวรรณาได้ไหม”

“ถ้าจันตาเรียกเราว่าคุณนายวรรณา เราก็จะเรียกจันตาว่า อาเถ้าแก่เนี๊ยนะ...” ก็จะไม่ให้เรียกเถ้าแก่เนี๊ยได้อย่างไรเล่า เพราะกิจการของกมลนั้นเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก เขาเป็นตัวแทนจำหน่ายสีทาบ้าน และอุปกรณ์ก่อสร้างหลากชนิด จากหลายบริษัท จนร้านสองคูหาที่อยู่ในตลาดต้องขยายออกมาสร้างโกดังเก็บของ เปิดหน้าร้าน ที่หน้าถนนเส้นหลัก มีรถส่งของ มีคนงานมากมาย...

จันตาที่เคยมีร่างผอมบาง อ้วนพลีมีสง่าราศี เสื้อผ้าที่สวมใส่ดูก็รู้ว่าตัดเย็บจากผ้าเนื้อดีมีราคาและที่สำคัญจันตา ไม่ได้ใช้เครื่องประดับแค่ ‘ทองคำ’ แต่ว่าทั้งต่างหู สร้อยคอ สร้อยข้อมือ มีเพชรฝังให้เห็นแพรวพราว และที่สะดุดตาเป็นอย่างมากก็คือแหวนที่นิ้วกลาง นิ้วนาง นิ้วชี้ของมือทั้งสองข้าง นั้นบ่งบอกว่า จันตานั้นสุขจนล้นปรี่เพียงใด...

“แหวนวงที่นิ้วนางข้างซ้าย มันขัดกับวงอื่น ๆ ไปหรือเปล่าเถ้าแก่เนี๊ย” เมื่ออยู่กันตามลำพัง วรรณาอดกระเซ้าถามไม่ได้...จันตายกมือขึ้นมา แล้วบอกว่า

“แหวนวงนี้...เป็นแหวนที่เฮียเขาให้ ตั้งแต่เมื่อคราวนั่งรถไฟไปส่งให้ไปเรียนเสริมสวยน่ะ...”

“อะไรนะ”

“เฮียเขาขอหมั้นหมายจับจองไว้ตั้งแต่ตอนนั้นแหละ”

“ทำไมเรา ไม่เห็นรู้เรื่องนี้เลย”

“ต่อหน้าเจ๊หมุ่ยนี้เลยแหละ...” บอกเล่าไปถึงเหตุการณ์บนรถไฟในวันนั้นแล้ว ใบหน้าของจันตาก็แดงซ่านขึ้นมา เหมือนกับว่าเหตุการณ์นั้นเพิ่งผ่านมาเมื่อวานนี้เอง....

“เห็นหงิม ๆ ไม่คิดเลยว่า จะบ้าดีเดือดได้ถึงขนาดนั้น”

“ถ้าเฮียเขาไม่บ้าขนาดนั้น ก็คงไม่มีวันนี้หรอก...”

“นึกแล้วเสียดายไม่หาย...ตอนนั้นนะถ้าเราเชื่อพี่ณู...ป่านนี้ละก็ แหวนพวกนี้ต้องอยู่ในมือเราแล้ว” ว่าแล้ววรรณาก็หัวเราะ...แล้วก็ถามว่า

“ได้เจอกับเจ๊หมุ่ยนี้บ้างหรือเปล่า”

“เจอกันตลอดแหละ แกมาหา มาค้างด้วยกันที่ปากน้ำโพด้วยบ่อย ๆ เวลาแกเบื่อ ๆ ทางโน้น”

“แล้วตอนงานศพอาม่าล่ะ จันตาได้ไปหรือเปล่า”

“ไป...ไม่ไปได้ไงล่ะ...ถ้าไม่ได้อาม่า ไม่ได้เจ๊นี้ เจ๊ซัง เราก็ไม่มีวันนี้หรอกวรรณา ชาตินี้ทั้งชาติ ตอบแทนบุญคุณไม่มีทางหมดหรอก” นึกไปถึงความเมตตาปราณีของคนบ้านนั้นที่มีให้ตัวเอง น้ำตาก็รื้นลูกนัยน์ตาของจันตา...วรรณาเห็นดังนั้นจึงบอกว่า

“ไม่อยากจะเชื่อเหมือนกันเนอะ ว่าชีวิตพวกเราจะมีวันนี้กันได้”

“ชีวิตเราสองคนก็ยังถือว่า ธรรมดา ๆ นะวรรณา แต่ชีวิตของ พี่ณู...บอกตรง ๆ เลยว่า ไม่อยากจะเชื่อเลยว่า จะพลิกมาเป็นดี ถึงอย่างนี้ได้”

วรรณาได้ยินดังนั้น มองไปทางเรณูที่ยืนรับแขกอยู่กับปฐมก็ยิ้มบาง ๆ เป็นรอยยิ้มชื่น ยิ้มที่เต็มไปด้วย ‘มุทิตาจิต’...ที่จันตาเห็นแล้ว ก็ต้องยิ้มตาม...เพราะอานุภาพของความรักที่เรณูมีให้ปฐมนั้นมัน ‘ยิ่งใหญ่’ เกินกว่าที่ผู้หญิงสองคนหรือว่าใคร ๆ จะหยั่งถึงได้...

ถ้าเรณูจะหาเหตุมาอ้าง ปัดความรับผิดชอบ ต่อชีวิตของปฐมหลังจากที่เขาฟื้นขึ้นมาแล้วยังจำความไม่ได้ เดินไม่ได้ ขับถ่ายก็ต้องพยุง สอน ก. ข. สอนพูด สอนให้กิน ให้เดินให้นั่งกันใหม่หมด อย่างที่อรพรรณีอ้างเสียตั้งแต่ทีแรก ว่าถ้าเขารอดขึ้นมา เขาจะต้องมีปัญหาทางด้านสมองแน่นอน ใครก็ว่าอะไรเรณูไม่ได้ แต่เรณูยอมเอาชีวิตเข้าแลก ปรนนิบัติ พยาบาล ช่วยกันกับกมลที่เทียวไปเทียวกลับระหว่างปากน้ำโพกับพยุหะคีรี อย่างสุดกำลัง จนกระทั่งอาการของปฐมดีขึ้นมาตามลำดับ ๆ...แล้วผลลัพธ์ก็เป็นไปตามที่หมอบอกไว้ว่า ‘เขามีเปอร์เซ็นต์จะกลับมาหายเป็นปกติสูง แต่ต้องใช้เวลากับเขาสักหน่อย’
...ตอนนั้นวรรณาไม่ได้ห้ามปรามหรือทักท้วง ในการกระทำของเรณูแต่อย่างใด เพราะรู้ดีว่า ใจ ของคนที่เปี่ยมไปด้วยความรัก ที่มีต่อใครสักคนนั้น มันก็น่าจะมีอานุภาพของมัน...

จึงไม่ต้องแปลกใจเลยว่า ตั้งแต่ปฐมหายจนเป็นปกติ...เขาจึงแสดงออกอย่างเปิดเผยว่า ชีวิตของเขาที่เหมือนคนตายแล้วเกิดใหม่นั้น...จะเป็นของเรณูแต่เพียงผู้เดียว!

จบบริบูรณ์

******************************************



6
ตอนพิเศษ ๒

“ม้า...ม้ารู้ได้อย่างไงว่าเรณูจะพาลูก ๆ มาเยี่ยมม้า วันนี้”

“ใครบอกแกล่ะ”

“นังตัวเล็ก”

“มันโทรศัพท์มาบอกไอ้ซา เมื่อวานตอนเย็นไอ้ซามันมาบอกไว้...ม้าถึงถามแกไง ว่านึกอย่างไรถึงได้มาวันนี้...”

ปกตินั้นปฐมจะมาหาแม่ในวันหยุดสุดสัปดาห์ เพราะวันธรรมดาเขาต้องทำงาน และช่วงนี้เขากำลังเรียนต่อระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง จึงทำให้หาเวลากลับมาบ้านยากยิ่งขึ้น...ทว่า ตั้งแต่รู้ว่าแม่อาการไม่ค่อยดี เขาก็กลับมาบ่อยขึ้น...

“ยังไม่อยากเจอกัน จะกลับไปก่อนก็ได้นะ”

“ทำไมต้องกลับล่ะ ม้า...”

“วันหลังเมียแกรู้เข้า ว่าแกมาเจอกับเมียเก่าที่นี่ เขามาถอนหงอกม้าเอานะสิ”

“รึม้ากลัว...”

“ว่าไป...กว่าหนูอรมันจะรู้ ม้าก็คงตายไปแล้วแหละ”

“ตกลง ม้า กลัวหรือไม่กลัว”

“ไม่กลัว”

“ก็แค่นั้น มากินเค้กดีกว่า” ว่าแล้วเขาก็ยื่นจานเค้กไปให้

“รู้ทั้งรู้ว่า ม้ากินหวานไม่ค่อยได้”

“เอาแค่พอให้หายอยาก ม้า...” ว่าแล้วเขาก็ตักเค้กแล้วป้อนให้...นางย้อยอ้าปากงับ งับแล้วเคี้ยว แล้วน้ำตาก็ไหลออกมา...ไหลเพราะความตื้นตันใจ...เพราะมีแต่ลูกชาย ที่ใคร ๆ ว่ายากจะพึ่งได้นั้นเห็นจะไม่จริง

กมลนั้นได้พึ่งมากที่สุด แม้จะอยู่กันคนละฟากแม่น้ำ แต่เขาก็หาเวลามาดูแล มาคุยด้วย แทบจะทุกวัน...มาทีก็มีอาหารสดอาหารแห้งมาให้ พร้อมกับกำชับแม่อึ่งเรื่องอาหารการกินของนาง ประสงค์คนพูดน้อย พอนางย้ายมาอยู่ที่นี่ อยู่ฝั่งเดียวกับสถานีรถไฟปากน้ำโพ เขาก็นั่งรถไฟมาหา มาค้างด้วย แล้วกลับไปทำงานเกือบทุกสัปดาห์...เงินทองให้ใส่มือไว้ใช้จ่ายไม่เคยขาด นางจะไม่เอา เขาก็บอกว่า ให้เอาไว้ทำบุญ...เพราะนอกจาก นั่ง ๆ นอน ๆ ทำสวนเล็ก ๆ น้อย ๆ แล้วนางย้อย ซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กับวัดจะต้องใส่บาตรทุกเช้า วันพระถ้ามีเรี่ยวแรงเดินไหว นางก็จะไปฟังเทศน์ฟังธรรมที่ศาลาด้วยตัวเอง ทางวัดบอกบุญอะไร นางเป็นต้องรีบเสนอตัว...และนางก็สั่งลูก ๆ ไว้แล้วว่า ถ้านางตาย ไม่ต้องเอานางไปฝังไว้กับเจ๊กเซ้ง ให้เผาที่วัดปากน้ำโพใต้ ไม่ต้องเคลื่อนย้ายศพไปไหน และให้สวดเพียงแค่สามคืนเท่านั้น

“เค้กขมหรือ ม้า...”

“ไม่ขมหรอก หวาน ๆ ดี”

“อีกคำหนึ่งนะ ม้า...ถึงม้าจะอยากกินอีก ผมก็ให้ม้ากินคำนี้เป็นคำสุดท้ายแหละ”

*****************************************************

สิ้นเสียงหวูดรถไฟ...เด็กชายวัยสิบสี่ขวบผิวดำคล้ำ ตัดผมเกรียน คิ้วเข้ม จมูกโด่งเป็นสัน ขายาวเก้งก้าง นุ่งกางเกงขาสั้น สวมเสื้อเชิ้ตลายดอกตัวหลวมโพรก ในมือมีตะกร้าของฝาก ก็รีบจ้ำเดิน โดยไม่สนใจพี่สาวกับน้องชายวัย 7 ขวบที่เดินตามมา เพราะรู้ดีว่า จุดหมายนั้นคือที่เดียวกัน...

“น้าป๊อก รอด้วยซิ...”

พอเห็นว่าน้าชายหันมาแลบลิ้นให้พร้อมกันส่ายหัวแล้วรีบก้าวเดินต่อไป คนเป็นหลานก็หันไปบอกกับแม่ว่า “แม่ดูน้าป๊อกซิ”

“ช่างเขา ณต...เดี๋ยวก็เจอกันที่บ้านย่า”

“น้าป๊อกรอด้วย” ว่าแล้วประณตก็รีบวิ่งตามน้าชายไปโดยไม่สนใจแม่ที่ยืนถอนหายใจออกมาแล้วอมยิ้ม...เพราะมีลูกชายสองคน อายุห่างกัน เจ็ดปี จากที่คิดว่า พี่จะช่วยเลี้ยงน้อง กลับกลายเป็นว่า พี่ต้องหาเรื่องแกล้งน้องให้ได้ตัดสินคดีความกันทุกวัน...ป๊อก มีชื่อจริง ‘เรวัต’ ซึ่งตามใบเกิดนั้นเขาเป็นน้องชาย และมีศักดิ์เป็นน้าของประณต เช่นเดียวกับวรรณา แต่เรณูก็มั่นใจว่า เขารู้ดีว่าตนเองนั้นไม่ใช่ ‘น้อง’ แต่เป็น ‘ลูก’

แต่ด้วยความคุ้นชินที่เขาเรียกเรณูว่า ‘พี่เรณู’ มาตั้งแต่อ้อนแต่ออก เขาก็ไม่กลับมาเรียกเรณูว่า ‘แม่’ ได้อีก เรณูก็ไม่ได้ว่าอะไร ทั้งที่วรรณาบอกกับเรณูว่า ควรจะบอกให้เขาเปลี่ยนสรรพนามเรียกขานเสีย...และวรรณาก็ถึงกับต้องบอกกับเรวัตด้วยตัวเอง แต่พอเขาจะขยับปากเรียกเรณูว่าแม่อย่างที่วรรณาต้องการ เรณูก็รู้สึกว่า ปากของเขาหนักอึ้ง เห็นดังนั้นเรณู จึงทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น แล้วก็ต้องปล่อยเลยตามเลยไป...

เพราะไม่ว่าเธอจะเป็น ‘พี่สาว’ หรือ ‘แม่บังเกิดเกล้า’ เขาก็หนีความจริงไม่พ้น ว่าเธอเป็นใครสำหรับเขา...เขาเป็นใครสำหรับเธอ

พอเดินตามมาทัน...เรณูก็เห็นว่าเรวัตพาประณตเข้าประตูเข้าบ้านที่เปิดประตูรั้วรอรับอยู่แล้ว พอเหลือบมองเข้าไปยังใต้ร่มไม้ เรณูก็เห็นรถเก๋งสีครีมจอดอยู่...ใจของเรณูหายวาบ เพราะไม่คิดว่าการพาลูกมาเยี่ยมย่าของเขาครั้งนี้ จะทำให้เธอต้องเผชิญหน้ากับ ‘เขา’ และภรรยาของเขา...

เรณูมองเข้าไปในบ้าน ก็เห็นเรวัตนั่งอยู่กับกมลา ส่วนประณตนั้นยืนอยู่ข้าง ๆ ย่าที่นั่งอยู่บนเก้าอี้โยก

เรณู ค่อย ๆ สาวเท้าเข้าไป ใจนั้นเต้นตุ้ม ๆ ต่อม ๆ...

“ป้าเรณู หวัดดี” กมลาเป็นฝ่ายทำลายความหวาดหวั่นนั้น...เรณูยิ้มให้ แล้วเดินเข้าไปหา ยกมือไหว้นางย้อย แล้วเหลือบมองเข้าไปในบ้าน แต่ว่าก็ไม่เห็นใครคนนั้น

“ม้าเป็นอย่างไรบ้าง”

“สบายดี...มากันเหนื่อย ๆ ไปกินข้าวกินปลากันก่อน ค่อยออกมาคุยกัน”

“แล้วนั่นรถใคร...” เรณูไม่อ้อมค้อม

“รถของ...เอ่อ...”

“ลุงใช้...” กมลาแทรกเข้ามา เพราะหวังเอาหน้า เรณูหน้าเจื่อนลง นางย้อยเห็นดังนั้นจึงรีบบอกว่า “มาคนเดียว”

‘มาคนเดียว’ เรณูทวนประโยคนั้นเบา ๆ ใจเริ่มเต้นไม่เป็นจังหวะ...

“หนู พาพี่ป๊อก กับ ณต ไปหาพี่อึ่ง ให้พี่อึ่งหาข้าวให้กินไป...อึ่งเอ๊ย...ดูหาข้าวให้เด็ก ๆ กินหน่อย...”

“หนูซื้อผลไม้มาฝาก ป๊อกให้ย่าหรือยัง”

“ให้แล้ว ถือไปให้อึ่งหลังบ้านแล้ว...”

“ป้าณู ลุงใช้ ซื้อเค้กมาฝากหนูด้วย อร่อยมากกก อร่อยกว่า...” พอนึกขึ้นได้...กมลาก็รีบมือปิดปาก...ก่อนจะบอกว่า “ไป พี่ป๊อก ณต เข้าไปกินข้าวกันดีกว่า หนูหิวแล้ว”

กมลาพาเรวัตกับประณตเข้าบ้านไปแล้ว เรณูที่เหลือบตาไปทางรถ ก็หันกลับมามองหน้านางย้อยที่ยังคงนั่งนิ่ง...ไม่พูดอะไร...

“ม้าเป็นอย่างไรบ้าง”

“เธอถามฉันเป็นรอบสองแล้วนะ...”

“แล้วจะให้หนูถามอะไรล่ะ” ...

“ก็ถามซิว่าอาใช้มันอยู่ที่ไหน...”

“เขาอยู่ที่ไหนรึ ม้า” แววตาของเรณูมีประกายแพรวพราวเจ้าเล่ห์

“ที่ศาลาริมแม่น้ำโน่น...เขาว่าเขาจะรอเธออยู่ตรงโน้น...”

“เขารู้ว่าหนูจะมา”

“เป็นเรื่องบังเอิญหรอก...ปกติเขาก็ไม่เคยมาวันธรรมดาแบบนี้...คงถึงเวลาที่จะได้เจอกันแล้วมั้ง...”

“เจอกัน แล้วจะได้อะไรล่ะ ม้า”

“อย่างน้อยก็หายคิดถึงมั้ง...ใช่ไหม”

“หนูลืมเขาไปแล้ว”

“ปากไม่ตรงกับใจ...ไป ๆ รีบไป ก่อนที่เด็ก ๆ จะออกมาขัดจังหวะ...”

เรณูยังคงอิดออด...

“ไปซิ...ไป...ชิ้ว ๆ...” นางย้อยยกมือไล่ แต่สีหน้านั้นแฝงไปด้วยรอยยิ้ม เรณูเห็นดังนั้นจึงค้อนให้ แล้วมองไปทางศาลาหลังดงไม้นั้น...

**************************************************************

ระยะทางจากบริเวณบ้านไปยังศาลาท่าน้ำนั้นไม่ไกลเท่าไหร่ แต่เรณูรู้สึกว่ามันไกลกว่าตอนเดินจากสถานีรถไฟมาที่บ้านเสียอีก...ยิ่งเข้าใกล้ เรณูก็ยิ่งรู้สึกว่าเท้านั้นหนักอึ้งเหมือนกับว่ามีมือนับร้อยนับพันมาดึงร่างไม่ให้รุดไปข้างหน้า...กระทั่งสายตาของเรณูสบเข้ากับสายตาเขาที่ยืนจับพนักมองมาหา...สายตาคู่นั้นฉายความยินดี...เห็นดังนั้นเท้าของเรณูก็เหมือนถูกตรึงอยู่กับที่...และพอคิดได้ว่า ถึงเขาจะเคยเป็นของเธอ เธอเคยเป็นของเขา เราเคยเป็นของกันและกัน แต่มันก็เป็นเรื่องในอดีต...ตอนนี้เขาไม่ใช่คนตัวเปล่า เขามีเมียใหม่ เธอหมดสิทธิ์ในตัวของเขาแล้ว และเขาเองก็หมดสิทธิ์ในตัวเธอเช่นกัน คิดได้ดังนั้น เรณูก็เชิดหน้าขึ้น ...แล้วหมุนตัวกลับหลังเพราะไม่อยากให้ชีวิตมีหนีมลทินเรื่องยุ่งกับผัวชาวบ้าน...

“เรณู” เรณูชะงักเท้าเมื่อได้ยินเสียงของเขา แต่ก็ยังไม่ได้หันกลับไป เพียงอึดใจเสียงเรียกนั้นก็กระชั้นถี่ใกล้เข้ามา ๆ ...และก่อนที่เขาจะถึงตัว เรณูก็หันกลับไป แล้วยกมือห้ามเขาไว้...

“อย่า! อย่าเข้ามาใกล้หนู มากไปกว่านี้...”

“ทำไมล่ะ...หนูไม่คิดถึงพี่หรือไง”

“คิดถึง...คิดถึง แต่ไม่มีประโยชน์อะไรที่เราจะต้องมารื้อฟื้นความหลังกันอีก...”

หน้าของเขาเปลี่ยนสี...พอเห็นว่าสีหน้าของเรณูไม่ฉายความยินดี เขาจึงครางเสียงผะแผ่ว “เรณู....”

“พี่ใช้สบายดีนะ” เรณูพยายามเกลื่อนสีหน้าให้ปกติ

“สบายดี แล้ว...หนูล่ะสบายดีไหม”

“สบายดี ทุกอย่างดีหมด ตอนนี้หนูเอาลูกเอาป๊อกมาเลี้ยงด้วยแล้วนะ แต่ป๊อกไม่ได้เรียกหนูว่าแม่หรอก เรียกพี่เหมือนเดิม เขาไม่ยอมเรียกนะ คงจะเขิน...แล้วกิจการค้าขายขนมนมเนยก็ไปด้วยดี”

“ทำอะไรบ้าง ขายอะไรบ้าง” เมื่อเรณูพูดเรื่องทำมาหากิน เขาจำต้องซักในประเด็นนั้น

“ตั้งแต่วรรณาย้ายไปอยู่กับผัวมัน ก็ไม่ได้ขายผ้าสำเร็จแล้ว ขายแต่ขนมอย่างเดียว ขายขนมไทย ๆ นี่แหละ ทำใส่ถาด ให้คนมารับไปขายต่ออีกที ยิ่งวันไหนมีตลาดนัดที่วัดเขาแก้วก็จะต้องทำมากหน่อย”

“เหนื่อยไหม”

“ก็เหนื่อย แต่ก็ไม่ได้ทำคนเดียวหรอก มีลูกจ้างช่วย เพราะทำคนเดียวไม่ทัน...”

“ผอมไปนะ...”

ได้ยินดังนั้นเรณูก็ก้มดูสภาพตัวเอง...แล้วมองเขาจนเต็มตาบ้าง เขาเปลี่ยนไป...ดูเป็นหนุ่มเจ้าเนื้อขึ้น ดูภูมิฐานสมกับที่ไปตกถังข้าวสาร สมกับที่ได้อาบประปาของเมืองหลวงเสียนาน...

“ไม่ค่อยได้พักผ่อนหรือไง”

“น้ำขึ้นก็ต้องรีบตัก...ถ้าไม่รีบทำตอนนี้ แก่ตัวไปจะไม่ไหว”

“มีอะไรให้ช่วยก็บอกได้นะ”

“ขอบคุณ...ขอบคุณเรื่องเงินที่ฝากม้าส่งต่อให้เลี้ยงลูก...ไม่ได้เอามาใช้ส่วนตัวหรอกนะ จะเก็บเอาไว้ให้ณตมันเรียนหนังสือให้สูงที่สุด”

“เข้าไปคุยกันในศาลาก่อนไหม ตรงนี้แดดร้อน...”

“ไม่หรอก เดี๋ยวจะกลับไปหาเด็ก ๆ แล้ว...กำลังกินข้าวกันอยู่...กินข้าวกลางวันหรือยัง”

“ยัง...”

“ไปซิ ไปกินข้าวกัน” ว่าแล้วเรณูก็หมุนตัว แต่ว่าเขาใช้จังหวะที่เรณูเผลอ จับแขนแล้วออกแรงดึงกระทั่งร่างบอบบางเสียหลักเข้าไปในอ้อมกอดของเขา เขากอดจนแน่นแล้วพูดอย่างละเมอว่า

“เรณู หนูรู้ไหมว่าเฮียคิดถึงหนูมากแค่ไหน”

“ปล่อย...ปล่อยนะ”

“ไม่ปล่อย...” แขนของเขายิ่งโอบรัดหนักเข้าไปอีก เรณูดิ้นขลุกขลัก...แต่ก็ไม่พ้นปลายจมูกของเขาที่จูบพรมไปทั่วใบหน้า...เรณูไม่รู้ว่าเขาทำไปเพื่ออะไร แต่เดาว่า เขาคงคิดว่าสัมผัสแบบนี้จะทำให้ใจของเรณูอ่อนจนร่างกายอ่อนเป็นขี้ผึ้งเหมือนอย่างเคย... แต่คราวนี้เรณูมีสติยับยั้งอารมณ์มากขึ้น

“ปล่อย บอกให้ปล่อย”

“ไม่ปล่อย...บอกมาก่อนว่า หนูก็คิดถึงเฮีย”

“ไม่...ไม่คิดถึง...ปล่อย...” เสียงของเรณูแข็งกร้าวขึ้น...พลันน้ำตาก็ไหลออกมา...เขาเห็นดังนั้นจึงค่อย ๆ คลายวงแขน...เรณูจ้องหน้าของเขา แล้วเชิดหน้าขึ้นก่อนจะบอกว่า

“เรื่องระหว่างเรามันจบลงแล้ว...ต่างคนต่างอยู่เถอะพี่ใช้...”

“จบได้ไง”

“ไม่จบได้ไง...ถามตัวเองซิว่า หายไปกี่ปีกี่ชาติแล้ว”

“พี่ไม่อยากให้หนูมีปัญหา”

“แล้วทำอย่างนี้ ตอนนี้ มันจะไม่มีปัญหาหรือไง...”

เขาจนด้วยคำแก้ตัว...เพราะรู้ดีว่า ปัญหามันมีอย่างแน่นอน แต่เขาไม่เคยคิดว่า เรณูที่ยังรักยังรอเขาอยู่นั้น จะกลัวปัญหามากถึงเพียงนี้...ปฐมค่อย ๆ ผ่อนลมหายใจออกมา...แล้วก็บอกว่า

“พี่ขอโทษ...พี่ลืมตัว คือพี่คิดถึง...”

“บอกไว้เลย ตราบใดที่พี่ยังมีเมียคาราคาซังอยู่ ตราบนั้น เราก็เป็นได้แค่ แค่...แค่ อดีตผัวเมียกันเท่านั้น” ว่าแล้วเรณูก็หมุนตัวเดินออกไป พร้อมกับมีหยาดน้ำตาไหลลงมา...

*********************************************

พอเดินกลับมาถึงบ้าน นางย้อยเห็นเรณูตาแดง ๆ ก็ถามว่า “คุยอะไรกัน เดี๋ยวเดียวเอง”

“ม้าหิวหรือยัง ไปกินข้าวด้วยกันเถอะ...มา เดี๋ยวหนูช่วยประคอง”

“นังอึ่งมันตักมาให้แล้ว กินไปเรียบร้อยแล้ว นี่ไง จานยังวางอยู่นี่เอง...”

“ม้าจะกินแอปเปิ้ลไหม หนูจะไปปอกให้”

“ไม่เอายังไม่หิว...”

เรณูยืนนิ่ง...กะพริบตาไล่หยาดน้ำตา แต่ว่า น้ำตามันก็ยังไหลออกมา...นางย้อยเห็นดังนั้นจึงบอกว่า

“รู้สึกอย่างไรก็บอกฉันมาได้นะ...ระบายให้ฉันฟังได้นะ”

“ถ้าม้าเป็นหนู ม้าจะทำอย่างไร...จะวิ่งเข้าไปหา ไปกอด เขาเลยไหม”

นางย้อยไม่คิดว่าเรณูจะถามกลับมาแบบนี้....จึงตอบไปด้วยเสียงผะแผ่วว่า “ไม่รู้ซิ”

“หนูดีใจที่เห็นเขา หนูดีใจมาก ตลอดหก-เจ็ดปี ที่ผ่านมา ไม่มีสักวันเดียวที่หนูจะลืมเขา ไม่มีสักวันเดียวที่หนูไม่คิดถึงเขา ตอนนั้นหนูไม่ได้คิดว่าเขาไปอยู่กับผู้หญิงคนอื่น หนูคิดว่าเขาอยู่ในค่ายทหาร เป็นทหารเกณฑ์ หนูหลอกตัวเองว่าเขาจากไปรับใช้ชาติ...แต่มาวันนี้...หนูรู้แล้วว่าหนูหลอกตัวเองไม่ได้...เขาไม่ใช่คนตัวเปล่า หนูก้าวเข้าไปหาเขา ไปกอดเขาเมื่อไหร่ หนูกลายเป็นผู้หญิงไม่ดีทันที...หนูคิดผิดหรือเปล่า ม้า”

“ไม่ผิด”

เมื่อได้ระบายแล้ว เรณูก็ค่อย ๆ ผ่อนลมหายใจออกมา...หลังเช็ดน้ำตาที่ไหลออกมาพร้อมถ้อยคำพร่างพรู...เรณูก็บอกว่า

“นี่หนูจะบอกกับประณตมันว่า ไงดี...จะบอกว่าพ่อมันยืนอยู่ตรงนี้ เข้าไปหาพ่อซิลูก ใช่ไหม”

“แล้วก่อนหน้านั้นเธอบอกกับไอ้ณตมันว่าอย่างไร”

“ก็บอกว่า...พ่อเขาไปอยู่กรุงเทพฯ มันก็ถามหนูว่า ทำไมเขาถึงไปอยู่กรุงเทพฯ ทำไมไม่อยู่ด้วยกัน เหมือนพ่อแม่ของคนอื่น...แล้วไอ้ป๊อกมันรำคาญ มันก็เลยบอกว่า เขามีเมียใหม่ มีลูกใหม่ไปนานแล้ว...หลังจากนั้น มันก็ไม่ถามถึงพ่ออีกเลย...”

ปฐมที่เดินตามมาได้ยินทุกถ้อยกระบวนความ...มองหน้านางย้อยที่มีสีหน้าลำบากใจ...

“เรณู...” น้ำเสียงของเขาผะแผ่ว แต่เรณูไม่หันไปมอง แต่ก็พูดว่า

“ลูกอยู่ในบ้าน...จะแนะนำตัวอย่างไรก็คิดเอา”

ยังไม่ทันที่ปฐมจะตัดสินใจอย่างไร ก็มีเสียงเด็ก ๆ วิ่งไล่ขับกันออกมา และพอมาถึง ประณตก็หยุดชะงัก เมื่อเห็นว่าด้านหลังแม่มีผู้ชายตัวสูงยืนอยู่...

ปฐมจ้องมองประณตตาแทบจะไม่กะพริบ...แม้สายตานั้นจะเป็นมิตร แต่วิสัยของเด็กย่อมกลัวคนแปลกหน้า ประณตโผไปจับขาของเรณูไว้แล้วถามว่า

“แม่ ใครอ่ะ”

ไม่มีเสียงตอบจากเรณูที่ยืนหันหลังให้ปฐมอยู่

“ลุงใช้” กมลาเป็นฝ่ายทำลายความเงียบขึ้นเสียเอง

“ลุงใช้” ประณตทวนคำพูดนั้นเบา ๆ ปฐมได้ยินดังนั้นก็ส่ายหน้าช้า ๆ ก่อนจะค่อย ๆ ขยับเข้ามาจนใกล้ ก่อนจะทรุดตัวลงนั่งห่างจากร่างของประณตเพียงคืบ...ประณตเห็นดังนั้นจึงกอดขาของเรณูแน่นขึ้น...

“ณต...ฟังย่านะ...” นางย้อยเป็นฝ่ายทำลายความประดักประเดิดใจนั้นเสียเอง...ประณตหันไปมองย่าแล้วหันไปมองชายแปลกหน้าแล้วก็เงยหน้ามองหน้าของแม่...

“นั่นคือพ่อของณต”

“พ่อของหนู” ประณตทวนคำพูดของย่าด้วยเสียงแผ่วเบา...

“ใช่ พ่อเป็นพ่อของหนู เข้ามาหาพ่อซิ ลูก” พอเขาเอ่ยออกมาพร้อมกับทำท่าอ้าวงแขนรอรับ ประณตก็กอดขาของแม่แน่นกว่าเดิมแล้วหมุนตัวหลบมือของเขา...

“ณตฟังย่านะ นั่นพ่อของณต เข้าไปหาพ่อไป...”

“ณตไม่มีพ่อ...ณตไม่มีพ่อ...ณตไม่มีพ่อ” ว่าพลางประณตก็ร้องไห้กอดเรณูจนแน่น...ปฐมเห็นดังนั้นก็น้ำตาไหลออกมา... เรณูต้องทรุดตัวลงแล้วกอดลูกไว้จนแน่น เพราะรู้ดีว่า ตลอดสองสามปีมานี้ ป๊อกนั้นหยอกล้อน้องตามประสากำลังคะนองปากอย่างไรบ้าง...

‘ไอ้เด็กไม่มีพ่อ ๆ’

‘ไอ้เด็กโดนพ่อทิ้ง’

‘พ่อมึงทิ้งมึงไปมีเมียใหม่ มีลูกใหม่แล้ว’

คำพวกนี้มันคงจะฝังลงไปในจิตใจของเขาเสียแล้ว กมลาเห็นประณตร้องไห้ก็ค่อย ๆ ขยับไปหาย่าบ้าง...เช่นเดียวกับป๊อกที่เดินตามออกมาก็เห็นว่า ทุกอย่างตรงนั้นนิ่งงัน...

“ณตฟังแม่นะ...ณตเคยถามหาพ่อไม่ใช่รึ...พ่อณตกลับมาแล้วนะ”

“ณตไม่มีพ่อ”

“ณตฟังแม่...พ่อณตกลับมาแล้ว โน่นไง พ่อของณต ชื่อใช้ พ่อเป็นลูกของย่าไง...ณตมีย่า ณตก็ต้องมีพ่อนะ ไปหาพ่อไป ไปให้พ่ออุ้มหน่อย...”

ประณตยังคงกอดเรณูจนแน่น...ไม่ยอมมองไปทางที่ปฐมนั่งอยู่

“พ่อเขา....พ่อเขากลับมาหาณตแล้วไง...ไปนะลูก ไปให้พ่อเขากอดหน่อยนะ...” ว่าแล้วเรณูก็ค่อย ๆ คลายอ้อมกอดของตัวเอง แต่ว่าประณตยังคงกอดแม่หนักเข้าไปอีก...เรณูมองหน้าปฐมแล้วถอนหายใจออกมาอย่างแรง...ปฐมมีสีหน้าหนักใจเพราะไม่ได้ทำใจไว้ว่าเมื่อลูกเจอเขา ลูกจะมีปฏิกิริยาเช่นนี้...แต่เขาก็เชื่อมั่นว่ามันยังไม่สายไปที่เขาจะ หวนกลับเข้ามาในชีวิตของ ‘เรณู’ กับ ‘ประณต’

***************************************************************

ตลอดบ่ายวันนั้น ประณตเกาะแม่แจ ไม่ยอมออกไปวิ่งเล่น ไม่ยอมไปปีนเก็บผลไม้กับ กมลาและ เรวัต มีบ้างที่เขาแอบมองปฐม แต่พอปฐมยิ้มให้เขาก็เมินหน้าหนี...พอปฐมจะจับตัว เขาก็ตีมือ พอปฐมจับตัวเขาแล้วรั้งมา เขาก็ดิ้นรน ร้องไห้...อ้อนว่าจะกลับบ้านท่าเดียว เรณูรู้สึกหนักใจกับปฏิกิริยาของลูกชาย...เห็นสีหน้าสลดใจของปฐมแล้วเรณูก็รู้สึกสงสาร พอได้เวลา เรณูก็พาลูก ๆ ลากลับบ้านไป โดยครั้งนี้ ปฐมเป็นคนควักเงินค่าเลี้ยงดูลูกให้กับเรณูเสียเอง รวมถึงให้เงินค่าขนมกับเรวัตที่กำลังเรียนอยู่ระดับชั้นมัธยมด้วย...

หลังจากที่เรณูพาลูก ๆ กลับไปแล้ว ปฐมก็เดินหน้าละห้อยละเหี่ยเข้ามาหาแม่...

“ก็หมั่นไปมาหาสู่ ซื้อของเล่น ซื้อขนมนมเนยไปให้ เดี๋ยวมันก็ดีขึ้นเอง...”

ฟังคำแนะนำของแม่ เขาก็รู้สึกว่า มันเป็นเรื่องยาก แต่เขาก็จะต้องทำ ไม่เช่นนั้น ลูกก็คงจะไม่สนิทสนมกับเขาซึ่งเป็น ‘พ่อ’ เหมือนกับที่พวกเขาสนิทสนมคุ้นเคยกับ ‘เตี่ย’ เพราะตั้งแต่จำความได้ เขาก็เห็นเตี่ย เห็นม้ามีชีวิตอยู่ด้วยกันมาตลอด เตี่ยกับม้าเป็นคู่ชีวิต เป็นคู่ทุกข์คู่ยาก สู้งานหนักเคียงบ่าเคียงไหล่กันมา... แต่พอถึงรุ่นเขา...เขากับอรพรรณีต่างคนต่างมีชีวิต เช้ามา เขาขับรถไปทำงาน กลับมาบ้าน บางวันก็เจออรพรรณี บางวันเจ้าหล่อนก็หายตัวจ้อยไปไหนเขาก็ไม่อาจทราบได้ บางทีหายไปสองวันสามวัน ลูกสาวคนเดียวเขาก็ไม่ได้อุ้มชูเลี้ยงดูอบรมสั่งสอนด้วยตัวเองอย่างที่เตี่ยกับม้าเคยพร่ำบ่นอบรมสั่งสอนดูแลพวกเขามา

ปฐมคิดว่า ทั้งประณตและเชอรี่นั้น สำหรับความเป็น ‘พ่อ’ กับหน้าที่ของพ่อ มันคงยังไม่สายไป...กลับไปเขาจะปฏิวัติตัวเองเสียใหม่...ครอบครัวควรจะเป็นครอบครัวมากกว่านี้...อรพรรณีควรจะฟังเสียงของเขาบ้าง ลูกสาวจะไม่โตมาแบบแม่ และลูกชายจะเข้าใจว่าอะไรเป็นไร ไม่รังเกียจ ไม่กลัว ‘พ่อ’ อย่างที่เป็นอยู่...



ปฐมเดินทางกลับกรุงเทพฯ ตั้งแต่เย็นวันนั้น แต่ก่อนจะกลับเขาก็ตัดสินใจนั่งเรือข้ามฟากไปหากมลเล่าเรื่องของเรณู ประณตให้น้องชายฟัง แล้วก็เลือกซื้อของเล่นของเด็กผู้ชายรวมถึงเสื้อผ้าติดมือกลับไปด้วย...พอถึงพยุหะคีรีเขาก็เลี้ยวรถเข้าไปในตลาด จอดรถที่หน้าร้านของเรณู ก็เห็นว่าเรณูอยู่ในบ้านกับเด็ก ๆ เขาถือของฝากเดินเข้าไป...เรณูมีสีหน้าแปลกใจ เอ่ยถามเขาด้วยน้ำเสียงปกติว่า

“มีธุระอะไรอีก”

“เอาของเล่นมาให้ลูกน่ะ เสื้อผ้าด้วย...ณต พ่อเอาของเล่นมาให้” ประณตที่นั่งพิงเรวัตอยู่ มองเขาเพียงแวบแล้วก็เบือนหน้าหนี...

“มารับไปซิ...”

“ณต มารับของจากพ่อซิลูก” เรณูจำเป็นต้องช่วย...เรวัตเห็นดังนั้นจึงกระทุ้งศอกให้ประณตออกไปรับของ แต่ประณตยังคงยักท่าหน้าตาบึ้งตึง...เรณูเห็นดังนั้นก็อมยิ้มสบตากับปฐม...ปฐมเห็นเรณูยิ้ม ก็ยิ้มตอบ...เรณูรู้สึกตัวว่าเผลอตัว ก็เชิดหน้าขึ้นแล้วบอกว่า

“ณต ลุกมารับของ แล้วก็รีบไปอาบน้ำ จะได้กินข้าวเย็นกัน”

พอเรณูขึ้นเสียง เขาจึงลุกขึ้นแล้วเดินมาหาปฐม คว้าของในถุงนั้น แล้วหมุนตัวเดินเข้าหลังบ้านไป... เรวัตลุกขึ้นแล้วเดินตามประณตไป ทิ้งให้เรณูต้องยืนอยู่กับปฐมตามลำพัง...

ปฐมกวาดตามองไปรอบ ๆ ร้าน ซึ่งเป็นเรือนไม้สองชั้น...ค่อนข้างจะสะอาด หน้าร้านนั้นมีตู้กระจกสำหรับใส่ไข่ ขนมเค้ก ขนมคุกกี้ คล้าย ๆ กับที่ร้านของติ๋ม แต่ดูท่าแล้วจะมีขนมไข่และคุ้กกี้มากกว่า

“นี่ทำอะไรขายบ้าง”

“ส่วนใหญ่จะทำขนมไทยเหมือนเดิมแหละ แต่ทำเป็นถาดส่งพวกรถเข็น รถถีบ เขามารับไปขายต่อน่ะ ไม่ต้องออกไปขายเอง บางอย่างก็ส่งพวกแม่ค้าในตลาดสด แล้วถ้าใครมีงานขี้เกียจจะทำก็เข้ามาสั่งไว้ ส่วนพวกนี้ก็ทำติดร้านไว้ เพราะเด็ก ๆ คนรุ่นใหม่จะชอบมากกว่า แต่ก็ยังขายข้าวเกรียบปากหม้อกับสาคูไส้หมูอยู่นะ เพราะคนเก่าติดกันแล้ว”

“อยากชิมขนมของหนู สักชิ้นจะได้ไหม”

“อร่อยเท่าที่ซื้อมาให้นังหนูมันไม่ได้หรอก”

“ยังไม่ได้ชิมเลย จะรู้ได้ไงว่า อร่อยน้อยกว่าหรือมากกว่า นะขอชิมขนมหน่อย”

“งั้นก็รอแป๊บ” ว่าแล้วเรณูก็เดินไปเปิดตู้ ตัดขนม ใส่จาน วางช้อนแล้วส่งให้เขา...

พอชิมแล้ว เขาก็บอกด้วยน้ำเสียงหยอกเย้าว่า... “ของพี่ติ๋มอร่อยกว่าจริง ๆ ด้วย”

“รู้ได้ไงว่าของพี่ติ๋มอร่อยกว่า”

“ก็แวะไปตาคลีมา เจอพี่ติ๋ม พี่ติ๋มบอกว่าหนูไปเรียนทำขนมกับแกมา...วันนี้ขับรถมาว่าจะแวะมาชิม แต่หนูดันไปปากน้ำโพซะก่อน”

“ถ้าไม่คิดจะมาชิมขนม ก็จะไม่แวะมา”

“เคยแวะมานะ เห็นด้วยว่าขนมกำลังขายดี ตอนนั้นดีใจมากเลย”

“แล้วทำไมไม่เข้ามาหา”

“กลัวอดใจไม่ไหว”

แค่ได้ยินเสียงกระเส่าและเห็นสายตาของเขา เรณูก็รู้ว่าเขากำลังสื่อถึงอะไร...แม้จะวาบหวิว แต่เรณูก็พยามเกลื่อนสีหน้าให้เป็นปกติ
แต่เขาเหมือนรู้ว่า เรณูนั้นคิดอะไรอยู่ เขาจึงรีบกระเทาะใจ...

“กลัวอยากชิมแม่ค้าขนมเข้าให้ละซิ...เลยไม่เข้ามาดีกว่า”

พอเขาบอกอย่างนั้นเรณูก็หน้าแดงซ่านขึ้นมา...แต่พอนึกได้ว่า ตัวเอง กำลังจะเพลี่ยงพล้ำให้กับถ้อยคำป้อยอของเขา เขาซึ่งไม่ใช่คนตัวเปล่า เรณูก็บอกว่า
“กินให้หมดแล้ว รีบกลับไปได้แล้ว...”

“ไล่กันเลยรึ”

“ที่นี่มันบ้านแม่หม้าย...ไม่จำเป็น ไม่อยากให้ผู้ชายเข้ามาหรอก...คนจะมองไม่ดี และถ้าไม่มีเรื่องอะไรสำคัญ ก็ไม่ต้องมาอีกนะ...ขอบคุณที่ยังไม่ลืมกัน...”

“ขอบคุณที่ยังไม่ลืมกัน และยังคงรอกันอยู่...”

ตาสองคู่สบกันเพียงคู่ แล้วเรณูก็บอกว่า

“กลับไปเถอะ อย่าให้เมียพี่ ต้องตามมาราวีหนูถึงที่นี่เลย...ต่างคนต่างอยู่ เราน่าจะมีความสุขมากกว่า ส่วนเรื่องประณต ไม่ต้องเก็บเอาไปคิดมากหรอกนะ เดี๋ยวหนูจะค่อย ๆ บอกมันเอง และถ้ามันโตกว่านี้ มันก็คงจะเข้าใจเองว่าพ่อมันรักมันและต้องการมันแค่ไหน...”

*******************************************************************


พอเห็นปฐมเปิดประตูบ้านแล้วเดินเข้ามา อรพรรณีที่สวมชุดแสคสั้นสีดำนั่งไขว่ห้างสูบบุหรี่ทำเก๋อยู่ ก็เอ่ยถามด้วยสีหน้าบึ้งตึงว่า

“วันนี้พี่ใช้ไปไหนมา ทำไมถึงไม่เข้าบริษัท”

“กลับไปนครสวรรค์มาน่ะ ม้าอาการไม่ค่อยดี ไปเยี่ยมม้ามา”

“แล้วทำไมไม่บอกหนูก่อน”

“แล้วอยู่ให้บอกรึไง”

“ไปแค่เยี่ยมม้าจริง ๆ นะ อย่าให้รู้ทีหลังนะว่า แอบแวะไปหาอีนังนั่นมา”

ป่วยการที่จะเถียงกันด้วยเรื่องไม่เป็นเรื่อง ปฐมจึงวกไปหาเรื่องเฉพาะหน้า “แล้วนี่แต่งตัวจะออกไปไหนอีก”

“ออกไปงานวันเกิดเพื่อน...”

“เกิดกันทุกวันเลยรึ”

“ก็เพื่อนหนูเยอะพี่ใช้ก็รู้นี่...ถ้าไม่เชื่อใจกันก็ไปด้วยกันซิ...”

“รู้ไหมว่า ตอนนี้ข่าวมันฉาวโฉ่แค่ไหน ทำอะไรนึกถึงหน้าของป๋าบ้าง”

“ป๋ายังไม่ว่าอะไรหนู พี่เป็นแค่ผัว จะมีสิทธิ์อะไรมาว่า แล้วอีกอย่าง หนูก็ยังไม่ได้ทำอะไรเสียหาย...”

“ให้มันจริงเถอะ....”

“หนูไม่ได้ทำอะไร...และถึงหนูจะทำจริง ๆ มันก็เรื่องของหนู”

“แต่หนูเป็นเมียพี่...”

“เมียที่พี่ไม่ได้รัก...”

“ถ้ารู้ว่าพี่ไม่รัก รึถ้าเราไม่ได้รักกัน หนูก็ปล่อยพี่ไปซิ เป็นอิสระแล้วอยากจะทำอะไรก็เชิญเลย...”

“ไม่...อยู่กันไปอย่างนี้แหละ...สะใจหนูดี...ไปแล้วนะ เบื่อที่จะทะเลาะด้วย...” ว่าแล้วอรพรรณีก็คว้ากระเป๋าสะพายที่วางอยู่บนโต๊ะแล้วเดินออกจากบ้านไปอย่างไม่ได้สนใจความรู้สึกของปฐมเลยสักนิด


************************



7
ตอนพิเศษ

พ.ศ. ๒๕๑๗

บ้านหลังนั้นเป็นบ้านไม้สองชั้น รั้วรอบขอบชิด มีอาณาบริเวณให้ปลูกผลไม้และพืชผักสวนครัว ปีไหนที่น้ำเหนือไหลบ่า พืชผักที่ปลูกไว้รอบบ้านก็จมน้ำตายเรียบ เหลือเพียงต้นไม้ไม่กี่ชนิดที่ยืนต้นทนน้ำแช่ขังได้นานนับเดือน หนึ่งในนั้นก็เป็นต้นมะม่วง ต้นฝรั่ง ต้นขนุน  ส่วนต้นกล้วยนั้น แม้จะจมน้ำตาย แต่พอน้ำแห้ง หาหน่อมาปลูกใหม่ พอถึงปีก็ให้เครือให้ผล เก็บส่วนอื่น ๆ เอาไปใช้ประโยชน์ ยืนต้นเป็นกอเขียวให้ความสบายตาเหมือนเดิม

พอย้ายมาอยู่ที่เรือนหลังนี้กับ 'นังหนู' ลูกสาวที่มงคลไม่ได้ตั้งใจทิ้งไว้ให้ดูต่างหน้า ชีวิตของนางย้อยที่เจ็บออด ๆ แอด ๆ มีอาการสามวันดีสี่วันไข้ ก็หวนกลับไปเป็นนางย้อยในวัยเด็กวันสาวอีกครั้ง  นอกจากใช้เวลาว่างที่มีในแต่ละวัน ปลูกดอกไม้ที่บริเวณหน้าบ้าน และพืชผักสวนครัวที่บริเวณหลังบ้าน นางย้อยยังปลูกไม้ผลทนน้ำท่วมขังเพิ่มเติม จนรอบ ๆ บ้านนั้นเขียวขจีและดารดาษไปด้วยสีสันของไม้ดอก มีผีเสื้อบินว่อน พอให้ใจคลายทุกข์จากโรคภัยที่อยู่กับตัว

"ย่า ๆ ๆ ๆ  ลุงใช้มา"  พอเห็นรถเก๋งแล่นเข้ามาจอดที่หน้าประตูรั้วหน้าบ้าน  'นังหนู' หรือ 'เด็กหญิงกมลา' ที่วิ่งไล่จับผีเสื้ออยู่ ก็รีบวิ่งแจ้นกลับเข้ามาร้องเรียกผู้เป็นย่าที่นอนเอนกายฟังวิทยุอยู่ที่ใต้หลังคาที่ต่อเป็นเพิงจากเรือนใหญ่มา เหตุที่นางย้อยให้กมลาเรียกตัวเองว่า 'ย่า' และเรียกกมลกับจันตาว่า 'พ่อ' 'แม่' เรียกปฐมกับประสงค์ว่า 'ลุง' ตามที่คนไทยเรียกกันนั้น เพราะคิดว่า เมื่อเจ๊กเซ้งผู้เป็นหัวหน้าครอบครัวจากไปแล้ว และตนเองซึ่งเป็นผู้เลี้ยงดูกมลานั้นเป็นคนไทยแท้ ๆ นางย้อยจึงไม่ให้กมลาที่อยู่ด้วยกันทุกวันเรียกตนเองว่า 'อาม่า' ซึ่งนางย้อยรู้สึกว่าเป็นคำแสลงหูอยู่ไม่วาย ส่วนลูกของประสงค์ และลูกของกมล หรือลูกของปฐมที่เกิดกับอรพรรณีนั้นจะเรียกนางว่า 'อาม่า' นางก็ไม่ได้ห้ามปรามแต่อย่างใด เพราะถือว่าลูกชายทั้งสามคนยังต้องสืบทอดประเพณีการลำดับวงศาคณาญาติแบบของคนจีนสืบไป

เรื่องที่กมลาเรียกกมลกับจันตาว่าพ่อแม่  แต่น้อง ๆ ของกมลา เรียกพ่อแม่ว่า 'ป๊า' ว่า 'ม้า' นั้น  พอกมลาโตพูดรู้เรื่องก็มีคำถามย้อนกลับ ซึ่งนางย้อยก็ไม่ได้คิดจะปิดบังเรื่องที่ว่ากมลกับจันตานั้นไม่ใช่พ่อแม่ของกมลาแต่อย่างใด เรื่องปิดบังความจริงในชาติกำเนิดของกมลานั้น เป็นเรื่องที่นางย้อยได้พูดคุยกับกมลตั้งแต่รู้ว่ากมลต้องการแจ้งเกิดกมลาใหม่ และใช้ชื่อกมลเป็นพ่อ และจันตาเป็นแม่  ตอนนั้นกมลเอ่ยชื่อจริงว่า 'กมลา' ออกมา ซึ่งมันมีทั้ง ม. ม้า และคำว่า 'ลา' สอดคล้องกับชื่อ 'มาลา' แม่บังเกิดเกล้า  นางย้อยที่รู้สึกกรุ่นโกรธกับน้ำใจของคนที่ได้ชื่อว่าเป็น 'แม่คน' ก็ตาลุกวาว แล้วก็บอกด้วยน้ำเสียงขุ่นเคืองว่า

"ม้าไม่อยากได้ยินชื่อนี้อย่าให้ชื่อมันต้องเหมือนชื่อแม่มัน" แต่เมื่อฟังเหตุผลของกมลที่ว่า

"อย่างไรเขาก็เป็นแม่ลูกกันน่า ม้า  จะมี ม.ม้า หรือมี ลา ลงท้าย มันก็ไม่เห็นเป็นอะไรเลย"

"แม่ใจร้ายใจดำอย่างนั้น มันไม่ควรมีอีกต่อไป เมื่อแกจะรับเป็นลูกแกลูกนังจันตาแล้ว แกก็ไม่ควรให้มันมีประวัติ ลบประวัติได้ก็ลบไป"

"แม่ไม่มีทางปิดบังประวัติของนางหนูมันได้หรอก คนรู้กันทั้งบาง พอมันโตขึ้น อย่างไรมันก็ต้องรู้ความจริง สู้เราบอกให้เขาอยู่กับความจริง และเข้าใจว่า ทำไมแม่เขาต้องทิ้งเขาไปซะดีกว่า มันน่าจะเป็นผลดีกับตัวเขามากกว่านะ ม้า"

"ผมเห็นด้วยกับอาซา แล้วชื่อกมลาน่ะ ม้า มันก็เหมือนชื่อใหม่ของนังหนูที่ได้เกิดใหม่ในนามของอาซามันด้วยนะ  วันหน้า ถ้ามันรู้ว่าอาแปะของมัน มีเมตตากับมัน รักมันเหมือนลูกในไส้ จนกระทั่งตั้งชื่อให้คล้ายกัน และไม่ได้ทิ้งชื่อเดิมของแม่มัน มันน่าจะดีใจมากกว่านะ ม้า" ประสงค์สนับสนุนอีกแรง

พอทั้งกมลกับประสงค์เห็นดีเห็นงามกับชื่อ 'กมลา' นางย้อยก็จำต้องนิ่งเงียบ ซึ่งเป็นการยอมรับโดยดุษณีนั่นเอง

พอกมลาพูดรู้เรื่อง กมลาก็มีความสงสัยเรื่องสรรพนาม เรื่องคำว่า พ่อ แม่ ป๊า ม้า หรือย่ากับอาม่า ที่ขัดกับหลานคนอื่น ๆ ตามคาด  นางย้อยก็บอกความจริงโดยปราศจากอคติไปว่า

"หนูเป็นหลานสาวของย่า ซึ่งย่าเป็นคนไทยแท้ ๆ  ย่าเลยอยากให้หนูเรียกย่าว่าย่า อย่างที่คนไทยเขาเรียกกัน"

"แล้วหนูเรียกอาม่าได้ไหม"

"ได้ แต่เรียกย่าดีกว่าเนอะ เพราะไม่มีใครเรียกย่าว่าย่าเลยสักคนเดียว แสดงว่าหนูเป็นหลานของย่า เป็นหลานคนพิเศษของย่า"

"หลานคนพิเศษ"

"ก็คนที่ย่ารักที่สุดไง ถ้าย่าไม่รักที่สุด ย่าจะให้เรียกย่าว่าย่ารึ ใช่ไหม"

"แล้วทำไมหนูไม่ได้เรียกพ่อซาว่าป๊า เรียกแม่จันตาว่าม้า เหมือนน้อง ๆ ล่ะย่า"

พอได้ยินคำถามนั้น คำถามที่นางย้อยรู้ดีว่าอย่างไรก็ต้องตอบ และการตอบครั้งนี้จะเป็นรอยประทับอยู่ในใจของเด็กผู้หญิงตัวเล็กไปจนเติบใหญ่

นางย้อยตั้งสติ คิดเรียบเรียงประโยคที่จะทำให้เด็กวัยห้าหกขวบเข้าใจ ทั้งที่รู้ว่ามันยากจะเข้าใจ

"อันที่จริง หนูไม่ใช่ลูกของพ่อซาเขาหรอกนะ"

"อ้าว แล้วหนูเป็นลูกใคร"

"พ่อแม่หนูตายหมดแล้ว จมน้ำตายเพราะเรือล่มไปหมดแล้ว พ่อซาเขาไม่อยากเห็นหนูเป็นเด็กกำพร้า ไม่มีชื่อพ่อชื่อแม่ เขาก็เลยรับเป็นพ่อซะเอง แล้วที่ย่าไม่อยากให้หนูเล่นน้ำ เข้าใกล้น้ำ นั่งเรือบ่อย ๆ ก็เพราะว่าน้ำในแม่น้ำน่ะมันอันตราย"

เมื่อกมลายังเล็กนักนางย้อยจำต้อง 'บิดเบือน' เพราะถ้าพูดไปตามความจริง เด็กก็จะมีปัญหาว่าแม่ไม่รักเสียอีก สู้ให้เขาโตมา แล้วก็ค่อย ๆ เข้าใจว่า อะไรเป็นอะไร น่าจะดีกว่า  และเรื่องที่นางย้อยบอกกับกมลาว่า พ่อแม่ของเจ้าตัวนั้นจมน้ำตายเพราะเรือล่มนั้น นางย้อยก็บอกกับลูกชายลูกสะใภ้ ให้ทุกคนบอกกับกมลาไปอย่างนั้น แน่นอนว่า ต้องมีคำย้อนแย้งกลับมาจากกมลคนที่รับเป็นพ่อ แต่นางย้อยก็ให้เหตุผลว่า

"รอให้มันโตกว่านี้สักหน่อย ถ้ามันสงสัยเพราะมีใครมาพูดให้เข้าหูมัน ก็ค่อยบอกความจริงกับมันไป แต่ถ้ามันไม่สงสัยอะไร ก็ปล่อยไปตามนี้แหละ เรื่องแม่มันยังอยู่หรือตายไปแล้ว ไม่ได้ให้คุณให้โทษอะไรกับมันหรอก"

จนด้วยเหตุผลของแม่ กมลก็ไม่ขัดข้องแต่อย่างใด

นอกจากเรื่องที่ตัวเอง 'บิดเบือน' ความจริงในชาติกำเนิดของหลานสาวแล้ว นางย้อยก็มีทัศนคติกับเรื่องที่นางแย้มตั้งใจบิดเบือนความจริงในเรื่องชาติกำเนิดของ 'ยงยุทธ' ซึ่งเป็นลูกชายของประยงค์กับอัมพร หลานชายที่นางแย้ม 'แย่ง' มาเลี้ยงดูอุ้มชูให้ความรักใคร่เพราะความแค้นที่มีต่อตา แม่ ยาย และน้าของยงยุทธ ชนิดที่ว่าชาตินี้คงไม่ได้เผาผีกันว่า

"คิดให้ดีนะ อีแย้ม คิดสอนเด็กมันอย่างนั้น โตขึ้นมามันจะเป็นอย่างไร จะทำอย่างไรกับแม่ของมัน"

"มันจะเป็นอย่างไร มันก็เป็นลูกที่แม่ทิ้งขว้างแล้วไปมีผัวใหม่ไง หลักฐานก็มีอยู่โทนโท่ หน็อย...ปากก็ว่ารักไอ้ยงค์ รักลูกสุดสวาทขาดใจ พอผัวตายยังไม่ทันจะทำบุญร้อยวันเลย มันก็มีผัวใหม่ทันที คนอย่างนี้ไม่เรียกว่าตอแหลแล้วจะเรียกว่าอะไร อย่างไรฉันก็จะเลี้ยงยงยุทธให้เป็นลูกกำพร้ามีแม่สารเลวไปอย่างนี้แหละ คนตอแหลดอกทองอย่างอีอัมพร มันไม่สมควรได้ยินลูกมันเรียกมันว่าแม่หรอก"

"ถึงอย่างไรเขาก็เป็นแม่ลูกกัน ตัดไม่ได้ขายไม่ขาดหรอก แย้ม เอ็งก็เป็นแม่คน เอ็งก็น่าจะเข้าใจหัวอกของคนเป็นแม่อยู่นะ"

"เพราะฉันเข้าใจหัวอกของคนเป็นแม่ไง ฉันถึงต้องทำอย่างนี้ พี่คอยดูไปก็แล้วกันว่าพวกมันจะกระอักเลือดตายตามไอ้ขันมันไปวันไหน"

เรื่องที่ถกเถียงกันในวันนั้น ถ้านางย้อยมีชีวิตยืนยาวไปจนถึงวันนั้น ก็จะรู้ว่านางแย้มนั้น 'คิดผิด' นางย้อยก็คงจะบอกกับนางแย้มว่า

"ถ้าเอ็งเชื่อข้าซะตั้งแต่ทีแรก เรื่องมันก็คงไม่เป็นอย่างนี้หรอก อีแย้ม!"



ลุงของกมลาลงจากรถมาเปิดประตูรั้ว แล้วขับรถเข้ามาภายในบริเวณบ้าน เด็กหญิงตัวเล็กกระโดดโลดเต้นอยู่ข้าง ๆ ผู้เป็นย่า  เมื่อลุงที่อยู่ในชุดกางเกง สแลก เสื้อยืดคอโปโลสอดชายไว้ในกางเกงเรียบร้อย เดินเข้ามาพร้อมกับถุงขนม เด็กหญิงก็วิ่งออกไปรับหน้าแล้วถามว่า

"ลุงใช้มาคนเดียวหรือ"

"วันนี้มาคนเดียว" ว่าแล้วเขาก็ทรุดตัวลงนั่ง แล้วรวบร่างเล็กมาจูบหอมไปที่พวงแก้ม หน้าผาก ก่อนจะบอกว่า

"ดูสิ วันนี้ลุงเอาขนมอะไรมาฝาก"

"ขนมคุกกี้อีกหรือเปล่า"

"ไม่ วันนี้ลุงไม่เอาคุกกี้มาฝากแล้ว ก็หนูบอกว่ากินจนเบื่อแล้ว"

"แล้วคุณลุงเอาขนมอะไรมา"

"ขนมเค้ก เดี๋ยวค่อยไปดูในบ้านว่าหน้าตาเป็นอย่างไร"

ว่าแล้วเขาก็อุ้มร่างเล็กในอ้อมกอด ลุกขึ้นเดินเข้ามาใน ภายในเขตเงาบ้าน พอเห็นแม่ที่นั่งรออยู่ เขาก็วางเด็กหญิงลง แล้วทรุดตัวลงวางถุงใส่ขนมไว้บนโต๊ะข้างเก้าอี้โยก แล้วยกมือพนม กราบไปที่ขาของแม่

"วันนี้มาคนเดียวรึ แล้วทำไมมาในวันธรรมดาได้ล่ะ"

"อรเขาไม่ว่างครับ ม้า"

"ไม่ได้มาด้วยกันหลายรอบแล้วนะ มีอะไรหรือเปล่า"

"ไม่มีครับ"

พอลูกบอกอย่างนั้น นางย้อยก็ไม่ซักอะไรต่อ เพราะรู้ดี ห้าหกปีมานี้ ชีวิตคู่ของปฐมกับอรพรรณีนั้้นหวานอมขมกลืนเพียงใด แต่นางย้อยก็ไม่ได้ 'ยุ' ให้เลิกกัน แล้วขอให้ปฐมกลับมาหาเรณูที่ยังคงเลี้ยงลูกรอคอยอยู่ เหตุผลนั้นก็ยังเหมือนเดิม ตราบใดที่ปฐมกับอรพรรณียังไม่เลิกกันอย่างเด็ดขาด ก็ยากที่ปฐมจะไปข้องเกี่ยวกับเรณูให้อรพรรณีต้องตามไปฟาดงวงฟาดหางจนหากินไม่เป็นสุข แต่ถึงปฐมจะไม่ได้ข้องเกี่ยวกับเรณู ก็ไม่ได้ปล่อยปละละเลยให้เรณูต้องหาเงินเลี้ยงหลานตามลำพัง



ต้นปี ๒๕๑๓  ช่วงเทศกาลตรุษจีน ปฐมกลับมาหานางย้อย นางย้อยก็กระซิบบอกกับเขาว่า

"ม้าเอาเงินค่าเช่านา ส่วนที่เป็นของแกส่วนหนึ่งส่งเสียให้ไอ้นายมันนะ ไม่อยากให้ใครมาว่าเราใจจืดใจดำ"

เขาพยักหน้ารับรู้ พอเมียเผลอ เขาก็แอบเอาเงินส่วนตัวยัดใส่มือแม่ แล้วก็บอกว่า

"ส่วนหนึ่งเป็นของม้า อีกส่วนม้าก็จัดการส่งไปให้เรณูเขานะ ผมจะช่วยค่าเลี้ยงดูลูกเขาไปเรื่อย ๆ แต่ม้าไม่ต้องบอกเขาหรอกว่าเป็นเงินของผม"

"ทำไมล่ะ"

"อย่าให้เขาต้องมีความหวังเลย ม้า  ถ้ามีคนดีเข้ามาในชีวิตเขา เขาจะได้ตัดสินใจได้ง่าย ๆ"

หลังจากลูกชายบอกอย่างนั้น นางย้อยก็พยักหน้าว่าเข้าใจ แต่พอเรณูพาลูกมาเยี่ยม เพราะนางย้อยไม่สะดวกเดินทางไปไหนไกล ๆ นางย้อยก็บอกเรณูไปตามตรง ขัดกับความต้องการของปฐมว่า

"เงินที่ฉันให้เธอนี้ ไม่ใช่เฉพาะเงินของฉันหรอกนะ แต่ส่วนหนึ่งเป็นเงินของอาใช้มันด้วย แต่มันไม่ให้บอกว่าเป็นเงินของมัน"

"ทำไมไม่ให้บอกรึ ม้า"

"มันบอกว่า ไม่อยากให้เธอมีความหวัง มันว่าเผื่อเธอมีคนดี ๆ เข้ามาในชีวิต จะได้ตัดสินใจได้ไม่ยาก"

"หนูคงไม่มีใครแล้วละ ม้า" แม้จะเกลื่อนสีหน้าให้ดูว่ายังระรื่นเริงร่าตามนิสัย แต่นางย้อยก็ยังเห็นถึงความหม่นเศร้าภายในจิตใจ นางย้อยรู้ดีว่า ผู้หญิงนั้นลองได้รักแล้วมันยากที่จะลืม

ส่วนใจของผู้ชายนั้น นางย้อยหยั่งไม่ถึง เพราะจากที่เคยบอกว่า อึดอัด ไม่ชอบ  แต่ช่วงหลัง ๆ พอพากันกลับมาหา นางย้อยก็เห็นทั้งคู่อี๋อ๋อเออออห่อหมกกันดี และบางทีอรพรรณีก็เอาปัญหาอันเกิดจากปฐมมาระบายให้ฟัง อย่างเช่น

'ลูกชายของแม่น่ะ เสน่ห์แรง หนูเผลอไม่ได้หรอก ยิ่งเป็นหนุ่มเต็มตัว ยิ่งมีรถขับ มีงาน มีการทำ ผู้หญิงมันก็จ้องจะงาบ โดยไม่ได้สนใจว่าเขามีเมียอยู่แล้วหรอก'

นางย้อยเคยเอาเรื่องที่อรพรรณีบอกเล่าไปกระเซ้าถาม ก็ได้คำตอบว่า

'มันก็มีบ้าง ม้า แต่ไม่ได้คิดจริงจังอะไรกับใครหรอก แล้วผมจะไปนอกลู่นอกทางอะไรได้มากนัก คุณหนูเขาขี้หึงอย่างกับอะไรดี'

'แล้วถ้าเขาไม่หึง แกจะมีเมียเก็บไว้สองบ้านสามบ้านอย่างนั้นรึ'

'ไม่รู้เหมือนกัน ม้า  แต่ว่าไปแล้ว ผมก็ว่าผมไม่ได้ทำอะไรเลยนะ แค่อยู่เฉย ๆ ผู้หญิงก็วิ่งเข้ามาหาเอง'

ได้ยินดังนั้น นางย้อยก็ได้แต่ถอนหายใจ และก็คิดว่า 'กรรมของกรรม' เพราะผู้หญิงคนใดที่ริจะเล่นกับผู้ชายที่มีเมียอยู่แล้ว รึเล่นกับผู้ชายเจ้าชู้ มันก็ไม่ต่างอะไรกับแมลงเล่นไฟหรอก ถ้าปีกไม่ไหม้ไฟให้ต้องตายในกองไฟ หัวใจมันก็มอดไหม้เพราะรักเป็นพิษได้เช่นกัน


พอคิดเห็น คาดเดาว่าเรณูก็เป็นหนึ่งในผู้หญิงที่ยึดความรัก ยึดเอาอารมณ์ของตนเป็นที่ตั้ง นางย้อยจึงตอบกลับเรณูไปว่า

"อย่าเพิ่งปิดโอกาสตัวเองเลย ยังสาวยังแส้อยู่นะ"

"ไม่ได้ปิดหรอก แต่ว่ามันไม่อยากมีอีกแล้ว มีลูกสองคนแล้ว จะต้องไปหาภาระ หาความเสี่ยงใส่ตัวทำไมอีก"

"ถ้าคิดอย่างที่พูดได้ก็ดี แต่ที่พูดเพราะกลัวจะเหงา จะเฉากลายเป็นแตงเถาตายในที่สุด"

"คิดว่าหนูยังรอเฮียใช้เขาอยู่ล่ะสิ"

"รึไม่ได้รอ"

"ตราบที่หนูยังไม่มีผัวใหม่ พอหนูบอกใคร ๆ ว่าไม่ได้รอ ก็ไม่มีใครเชื่อหนูหรอก ถ้าอย่างนั้น หนูควรจะบอกไปเลยว่ารอ เพื่อให้เขาดูมีค่าสำหรับหนู แต่จริง ๆ แล้ว หนูไม่ได้รอเขาหรอกนะ ม้า หนูไม่ได้รอเขา"

"ไม่รอก็ดีแล้ว จะรอไปทำไม"

"ใช่ สู้เอาเวลาไปทำมาหากินดีกว่า แล้วก็ใช่ว่าชีวิตของหนูพบเจอผู้ชายมาแค่คนสองคนซะเมื่อไหร่" ว่าแล้วเรณูก็หัวเราะ เพราะดันเผลอปาก

นางย้อยได้ยินดังนั้น ก็ขึงตาให้ แต่ก็ไม่ได้เก็บมาใส่ใจแต่อย่างใด คนเราเมื่อทำผิด เลือกทางเดินชีวิตผิด แล้วคิดกลับตัว เปลี่ยนทางเดินได้ก็ควรให้โอกาส และแสร้งลืมเลือนเรื่องเก่าก่อนของเขาเสีย มองแค่ปัจจุบันเพื่อใจจะได้เป็นสุข



"แผลของม้าเป็นอย่างไรบ้าง" ปฐมที่นั่งคุกเข่าอยู่กับพื้นดินที่แข็งเป็นมันอย่างไม่กลัวว่ากางเกงจะเปื้อน เอ่ยถาม

"ก็...อย่างที่เห็น"  ว่าแล้วนางย้อยก็ถอนหายใจออกมาเบา ๆ แม้จะปลงได้ว่ารักษาไม่ได้ ความตายกำลังจะมาเยือนในเร็ววัน แต่พอแผลที่ทเาซึ่งมีผ้าก๊อชพันป้องกันแมลงตอม มันไม่ยอมหาย ไม่ยอมแห้ง นางย้อยก็พอรู้แล้วว่า ต่อมาจะต้องพบเจอกับอะไร

'ตัดขา'

มันไม่ใช่แค่ขาที่หายไปเพราะโรคร้าย แต่คำพูดของนางแตงอ่อนยังคงแว่วในโสตประสาททุกครั้งที่มองเห็นเท้าตัวเอง ใจหนึ่งนางย้อยก็อยากกลั้นใจตายเพื่อชดใช้กรรมเวรเสียให้รู้แล้วรู้รอด จะไม่ได้ต้องเจ็บปวดทรมาน รู้สึกแขยงกับสภาพตัวเอง แต่อีกใจที่ยังต้องฝืนสูดลมหายใจเข้าออก ก็เพราะห่วงกมลาจะขาดที่พึ่ง

เรื่องทรัพย์สมบัติที่มีอยู่นั้น นางย้อยจัดการถ่ายโอน เปลี่ยนชื่อในกรรมสิทธิ์หมดสิ้นแล้ว ที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งโรงสี เฉพาะในเขตโรงสีจำนวนสองไร่เป็นของประสงค์ นอกนั้นปฐมกับกมลแบ่งครึ่งกัน ที่ไร่ที่นาส่วนอื่น ๆ นางย้อยแบ่งให้ปฐมมากกว่าประสงค์และกมล เพราะถือว่าประสงค์นั้นได้กิจการร้านค้า รวมถึงโรงสีไปแล้ว ส่วนกมลได้ร้านในเมือง ตึกแถวอีกห้องเป็นของปฐม เผื่อว่าวันหนึ่งเขาจะกลับมาอยู่ที่ปากน้ำโพ ถ้าเขาไม่กลับมา อย่างน้อยเขาอาจจะนึกไปถึงลูกที่เกิดกับเรณู ส่วนกมลานั้นได้บ้านพร้อมที่ดินหลังนี้ และทรัพย์สิน เงินสด ทองคำที่นางย้อยสะสมไว้ทั้งหมด โดยนางย้อยได้ตั้งกมลให้เป็นผู้ดูแลมรดก แม้จะไว้ใจกมลที่บอกว่า

'ถ้าม้าไม่อยู่ ม้าไม่ต้องกลัวว่าผมจะทิ้งขว้างนังหนูหรอกนะ ผมจะเอาเขากลับไปเลี้ยงแบบลูกอย่างที่ตั้งใจไว้แหละ'

แต่นางย้อยก็รอบคอบพอจะจ้างทนายทำบัญชีทรัพย์สินเล็ก ๆ น้อย ๆ ไว้เป็นหลักฐาน และให้นางแย้มช่วยเซ็นรับรู้เรื่องทองคำและเงินฝากธนาคารซึ่งจะเป็นส่วนของกมลา ซึ่งกมลาจะมีสิทธิ์ใช้จ่ายได้ก็ต่อเมื่อมีอายุครบยี่สิบปีบริบูรณ์ ซึ่งถือว่าบรรลุนิติภาวะ

แม้จะยังไม่ตาย แต่นางย้อยก็เตรียมตัวตาย

แม้จะกลัวความตาย แต่เมื่อรู้ว่าหนีไม่พ้น นางย้อยก็เชิดหน้าตั้งตารอ

แต่สิ่งที่นางย้อยกลัวมากที่สุดก็คือ กลัวใครบางคนคิดมาตัดเวรตัดกรรมของตน เหมือนที่ตนเคยกระทำกับนางลิ้มมากกว่า

วันนั้น 'ถ้า' นางย้อย 'มีสติ' ระลึกว่าอีกไม่นานเท่าไหร่นางลิ้มก็จะต้องจากไปเพราะฤทธิ์ของโรคร้าย แผลเป็นนี้ก็จะไม่มีอยู่ในใจเช่นที่เป็นอยู่

"ม้ากลัวไหม"

"กลัวอะไร"

"ก็..."

"ทำไมต้องกลัว ไม่มีใครไม่ตายหรอก ใช้ ตายหมดทุกคน ถ้าจะมีห่วงก็ห่วงนังหนูเท่านั้น แต่ไอ้ซามันก็รับปากเป็นมั่นเป็นเหมาะแล้วว่า จะดูแลให้เป็นอย่างดี"

"ไว้ใจอาซามันเถอะ ม้า ไอ้นี่มันเป็นคนจริง"

"ใช้ ไม่มีม้าแล้วก็อย่าลืมน้อง ๆ นะ  กลับมาหากันบ่อย ๆ  อย่าลืมว่าเคยเหนื่อยยากลำบากมาด้วยกัน ถ้าน้องลำบาก ดำเนินชีวิตพลาดไปก็ต้องยื่นมือมาช่วยน้องนะ" ว่าแล้วน้ำตาของนางย้อยผู้ที่มั่นใจว่าตัวเองเป็น 'แม่' ที่ทำหน้าที่ของแม่ได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง ก็หยดลงมา

ปฐมรีบจับมือของแม่ไว้ กมลาที่มัวสนใจเค้กกล่องนั้นอยู่ หันมาเห็นจึงถามว่า

"ย่าร้องไห้ทำไม ย่าไม่ดีใจรึที่ลุงใช้มา"

"ดีใจก็ร้องไห้ได้ ลูก" นางย้อยบอกเสียงเครือ

"แต่หนูร้องไห้ทีไร หนูร้องเพราะเสียใจทุกที"

ได้ยินดังนั้น ปฐมก็หัวเราะ ก่อนจะดึงหลานสาวมาอุ้มแล้วถือกล่องขนมเข้าไปในบ้าน

"วันนี้เชอรี่ทำไมไม่มากับลุงใช้ด้วย"

"เชอรี่ไม่สบาย"

"แล้วคุณป้าอรล่ะ วันนี้ทำไมถึงไม่มากับลุงใช้ด้วย"

"เชอรี่ไม่สบาย ป้าอรก็ต้องดูแลเชอรี่สิ"

"แล้วขับรถมาคนเดียวไม่เหงาหรือ"

"ไม่เหงาหรอก อ่ะ นั่งรอก่อนนะ เดี๋ยวลุงตัดเค้กใส่จานให้ย่า ให้หนูก่อน"

ว่าแล้วปฐมก็วางเค้กลงบนโต๊ะ แล้วจัดแจงหยิบมีด จาน ช้อน ออกมาวาง

"ลุงใช้ ๆ ถ้าย่าไม่อยู่ ลุงใช้จะมาอีกไหม"

"ทำไมถามอย่างนั้นล่ะ"

"ถ้าย่าไม่อยู่ ลุงใช้ต้องมาหาหนูนะ พาหนูไปเที่ยวกรุงเทพฯ ด้วยนะ  หนูอยากไปเล่นกับเชอรี่"

"แล้วอยู่ที่นี่ไม่มีเพื่อนเล่นหรือไง"

"มีแต่ตอนไปโรงเรียน"

"หนูต้องตั้งใจเรียนนะ เรียนเก่ง ๆ โตขึ้นจะได้ไปเรียนที่กรุงเทพฯ"

"ไปอยู่ที่บ้านลุงด้วยใช่ไหม"

"ได้สิ"  ว่าแล้วเขาก็ยิ้มให้หลานสาว แต่เป็นยิ้มที่ไม่เต็มปากนัก เพราะรู้ดีว่า บ้านหลังนั้นไม่มีวันเป็นของเขา ไม่มีวันที่เขาจะพาญาติพี่น้องไปเที่ยว ไปอาศัยอยู่ด้วยได้อย่างแน่นอน และที่สำคัญ บ้านหลังนั้นนับวันก็ยิ่งร้อนเป็นไฟ

ที่เขาบอกกับแม่ไปว่า 'ไม่มีอะไร' นั้นเป็นการตัดบท และเป็นการยอมรับอยู่กลาย ๆ ว่า ในความเป็นจริงระหว่างเขากับอรพรรณีนั้น ไม่มีอะไรที่เข้ากันได้เลย ยิ่งอยู่ด้วยกันไปก็ยิ่งไปด้วยกันไม่ได้ ยิ่งมีแต่ความอึดอัดและความทุกข์ทรมานใจ ไม่เคยมีเรื่องใดที่อรพรรณีคล้อยตามความคิดของเขาสักเรื่องเดียว เขาไม่มีสิทธิ์ในตัวของลูกสาวที่มีอยู่เพียงคนเดียว แม้แต่การอบรมสั่งสอน

ก่อนหน้านั้น เขาหมดสิทธิ์แม้จะคิดแยกทาง อรพรรณีขู่ว่า ถ้าจะไปจากเธอเพื่อจะกลับไปหาเรณู มาเลี้ยงดูลูกชาย เขาต้องกลับมาแต่วิญญาณเท่านั้น และถ้าเขาพาร่างออกมาได้พร้อมวิญญาณ เขาก็เชื่อได้ว่า เรณูจะต้องเดือดร้อนไปด้วยอย่างที่แม่คาดการณ์ไว้ และแม่ก็ได้บอกให้เขาเข้าใจตั้งแต่คราวนั้น คืนนั้น ว่าทำไมวันรุ่งขึ้นเขาจะต้องพาอรพรรณีไปจากชุมแสงเสีย

อรพรรณีเป็นคนรักแรง หึงหวงผู้หญิงทุกคนที่อยู่ใกล้ ๆ กับเขา ทั้งที่ตัวเธอนั้นก็ไม่ได้สนใจไยดีเขาสักเท่าไหร่ หลังคลอดลูก อรพรรณีก็ยิ่งเปลี่ยนไปในทางที่เลวร้ายขึ้น หญิงสาวเหม็นเบื่อเนื้อตัวของเขาเหมือนตอนที่แพ้ท้อง คลอดลูกแล้วก็ไม่ยอมให้เขาร่วมหลับนอนด้วยอีก แต่อรพรรณีกลับระริกระรื่นอยู่ในไนท์คลับ สนุกสุดเหวี่ยงกับเพื่อนฝูงทั้งหญิงทั้งชายแทน แล้วในที่สุดก็มีเสียงร่ำลือมาว่า เขาถูกอรพรรณีสวมเขาเข้าให้แล้ว มีข่าวลือว่าผู้ชายคนใหม่ของอรพรรณีเป็นนักดนตรี บ้างก็ว่าเธอมีลูกเศรษฐีมาติดพันจนถึงขนาดบินไปช็อปปิ้งที่ฮ่องกงด้วยกัน นึกถึงชีวิตของตนกับอรพรรณีแล้ว ปฐมก็ได้แต่ถอนหายใจออกมา

ทุกวันนี้เขารอเวลา ภาวนาให้ชีวิตของเขากับอรพรรณีถึงจุดจบโดยเร็ว ด้วยเถิด เพราะบ้านที่ผัวเมียมีศีลไม่เสมอกัน ก็ไม่ต่างอะไรกับบ้านที่มีลูกกรงติดประตูหน้าต่างแล้วถูกสุมด้วยไฟ! ต่อให้ใจของเขาเย็นเป็นน้ำได้มากเท่าไหร่ ถ้าไฟมันร้อน น้ำก็เดือดลวกได้เหมือนกัน!



"ลุงใช้ วันนี้ป้าณูจะพานายกับพี่ป๊อกมาเยี่ยมย่านะ"

"อะไรนะ"

"เมื่อเช้าย่าเขาบอกให้พี่อึ่งทำพะโล้ไว้ให้นายกับพี่ป๊อก"

"แล้วย่ารู้ได้อย่างไรว่านายกับพี่ป๊อกจะมา"

"ไม่รู้เหมือนกัน ถ้าลุงใช้อยากรู้ก็ต้องไปถามย่าเองนะ รึจะให้หนูไปถามให้"

"ไม่ต้องหรอก เดี๋ยวลุงถามเอง แล้วเค้กอร่อยไหม"

"อร่อย อร่อยมาก หนูขอเก็บไว้ให้นายกับพี่ป๊อกด้วยนะ"

"เขาสองคนน่าจะกินจนเบื่อแล้วก็ได้"

"แต่หนูว่าเค้กของลุงอร่อยกว่าที่ป้าณูเอามาอีกนะ"

"อย่าไปพูดให้ป้าณูได้ยินนะ รู้ไหม"

"รู้"

"ดีมาก กินเค้กไปนะ เดี๋ยวลุงเอาจานนี้ไปให้ย่ากินก่อน"

หยิบจาน แล้วเขาก็เดินออกไปพร้อมรอยยิ้ม ก็จะไม่ให้ยิ้มได้อย่างไรเล่า ก็เค้กกล่องที่ถือมานี้เป็นเค้กซึ่งถือว่าเป็นฝีมือ 'ครู' ของเรณู ซึ่งริมาทำขนมฝรั่งเรียกลูกค้าเข้าร้านขนมของตนบ้าง

วันนี้เขาขับรถมาคนเดียว นึกครึ้มใจก็เลยขับรถแวะผ่านกองบิน ๔ เข้าไปยังตัวตลาดตาคลี ถิ่นที่เคยอยู่ อู่ที่เคยนอน และที่นี่ทำให้เขาได้พบกับเรณู

ขับรถวนไปที่ตลาด เขาก็นึกขึ้นมาได้ว่า ยังไม่มีของฝากกมลา พลันสายตาของเขาก็ไปเห็นร้านขายขนมมีกระจกกั้นอยู่หน้าร้าน เขียนชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า 'Tim Bakery' แน่นอนว่าร้านนั้น จะต้องขายขนมให้พวกทหารฝรั่งที่เหลืออยู่น้อยกว่าแต่ก่อน เพราะสหรัฐฯ เริ่มถอนทัพกลับมาตุภูมิ แต่ถึงกระนั้น คนที่ตาคลีก็คุ้นเคยกับขนมหน้าตาแปลก ๆ กันไปแล้ว

เขาจอดรถแล้วเดินเข้าไป พอสบตากับแม่ค้าเท่านั้น ของที่แม่ค้าถืออยู่ ก็หลุดมือทันที

"ไอ้ใช้...มึงมาได้อย่างไร เฮ้ย ไม่สิ คุณ...เอ้ย...มึงหล่อ...เอ๊ย...คุณหล่อขึ้นเป็นกองเลยว่ะ มาได้อย่างไร"

หลังจากที่บอกไปตามความเป็นจริง เขาก็ได้รับทราบเรื่องของติ๋มและเรณูคร่าว ๆ ดังนี้

"ผัวฝรั่งมันสอนไว้น่ะ พออีณูมันมาเห็นว่าขนมพวกนี้เป็นที่นิยมของคนรุ่นใหม่ มันก็มาขอเรียนด้วยอยู่พักหนึ่ง แล้วมันก็เอาไปทำขายทางโน้น แต่ว่ามันอร่อยเท่าต้นตำรับไม่ได้หรอก เพราะแบเคอรี่ที่นี่ทำด้วยฝีมือของกะหรี่แท้ ๆ " บอกแล้วติ๋มก็หัวเราะขำกับมุกตลกของตน จากจะเล่าเรื่องของตนเองแล้ว ติ๋มก็ถามถึงชีวิตของเขา เขาก็บอกไปตามเท่าที่บอกได้ว่า

"สบายดี พี่"

"เห็นไปได้ดีก็ดีใจด้วย  แล้วนี่...คิดจะแวะเข้าไปหาอีณู ไปหาลูกบ้างไหม เข้าไปสักหน่อยเถอะ คนเรามันไม่จำเป็นต้องอยู่ด้วยกันฉันผัวเมียหรอก แค่แสดงความปรารถนาดีต่อกัน หัวใจมันก็ชุ่มฉ่ำได้แล้ว"

หลังช่วยอุดหนุนขนมเค้กกล่องนั้น เขาก็ขอตัวขับรถกลับมาหาแม่ต่อ โดยใจของเขานั้นก็มีคำตอบที่ไม่ได้ตอบติ๋มมากมาย เหตุที่เขาไม่เข้าไปนั้น ก็อย่างที่เขาได้บอกกับแม่ไป คืออย่าต้องให้ทางเรณูต้องมีความหวัง แต่ก็ใช่ว่าเขาจะสิ้นหวังกับความรู้สึกของตัวเอง เขาหวังว่าเรณูจะยังคงรอเขาอยู่ ทุกครั้งที่ขับรถผ่าน เขาจะต้องมองไปทางนั้น และหวังใจว่าจะได้เห็นเงา เห็นเพียงเสี้ยวหน้า เห็นผ้าให้หายคิดถึง แต่ส่วนใหญ่ที่เขาเดินทางกลับบ้าน อรพรรณีจะต้องติดตามมาด้วย พอถึงพยุหะคีรี อรพรรณีก็จะมีอาการหึงหวงขึ้นมาทันที แล้วเจ้าหล่อนก็จะปรามว่า 'หยุด...แม้แต่จะคิด' ยิ่งห้ามให้หยุดแต่ใจเขาก็ยิ่งคิด ยิ่งทุกข์ทรมาน

กระทั่งวันหนึ่ง เขามีโอกาสเดินทางกลับมาเยี่ยมแม่ตามลำพัง เขาจึงตัดสินใจทำตามเสียงหัวใจ โดยการขับรถวนหาร้านของเรณู วันนั้นเขาเห็นเรณูยิ้มปากบาน หัวร่อต่อกระซิกอยู่กับลูกค้าที่ยืนคอยขนมอยู่ เขาตัดสินใจวนรถอีกรอบ แต่รอบนี้หน้าร้านว่างเปล่า เรณูคงเดินกลับเข้าไปหลังร้าน แต่คราวนั้นเขารู้ว่า หัวใจที่แห้งแล้งแล้วกลับชุ่มฉ่ำ เพราะรอยยิ้มที่คุ้นตานั้นเป็นอย่างไร 

กระทั่งวันนี้ จากหลายปีก่อน วันที่อรพรรณีไม่ได้มาด้วยกัน เขาคิดว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร เขาจะต้องเข้าไปหาเรณู ไปหาลูกชายของเขาให้ได้ แต่พอขับรถไปจอดที่หน้าร้านก็พบว่าร้านนั้นปิด พอถามเพื่อนบ้านร้านติดกันว่าเรณูไปไหน เขาก็ได้คำตอบว่า

"ไม่รู้เหมือนกัน ไม่ได้บอกอะไร ไปกันแต่เช้าแล้ว"   

*****************************



8
ตอนที่ 66 : ตอนจบ ปฐมบท สุดแค้นแสนรัก

               ๖๖


พ.ศ. 2514 (3 ปีต่อมา)...

เสียงเด็กร้องโยเยทำให้นางแย้มที่เดินอยู่บนถนนหันมองเข้าไปในร้านซึ่งเป็นต้นเสียง พอเห็นว่าคนที่อุ้มเด็กซึ่งแผดเสียงจ้าเป็นพี่สาวของตน นางแย้มก็ร้องทักด้วยน้ำเสียงดีอกอีใจเป็นอย่างมาก

“พี่ย้อย...พี่ย้อย...มาทำอะไรอยู่ที่นี่”

“อ้าว อีแย้ม...มา เข้ามาในบ้านนี้ก่อน...” ในบ้านนี้คือ ‘ร้าน’ ขายเครื่องไม้เครื่องมืออุปกรณ์เครื่องใช้ทางการเกษตร รวมถึงอุปกรณ์ของใช้ก่อสร้างบ้านเรือน ในร้านมีสินค้าสารพัดอย่าง ตั้งแต่ตะปู น็อต ลวด ค้อน จอบ เสียม ชะแลง ไปจนถึงสีทาบ้าน นางย้อยนั่งอยู่บนเก้าอี้ มีหลานสาวตัวจ้อยร้องไห้โยเยอยู่บนตัก...พอเดินเข้าไปด้านในแล้วนางแย้มก็ถามว่า

“ลูกเต้าเหล่าใครล่ะ พี่ย้อย”

“ลูกไอ้สี่มัน”

“อะไรนะ ก็ไอ้สี่มันตายไปแล้ว ไม่ใช่รึ...”

“เรื่องมันยาว” ว่าแล้วนางย้อยก็ถอนหายใจออกมา...พลางเขย่าตัวหลานสาวเบา ๆ

พอเห็นว่านางย้อยมีแขกมาหา จันตาที่อยู่หลังร้านก็เดินท้องโย้ ถือเก้าอี้หัวโล้นออกมาให้...

“จันตา...นี่น้องสาวแม่ ชื่อ แย้ม...แม่แย้ม นี่จันตา เมียไอ้ซามัน” จันตายกมือไหว้ นางแย้มที่มีกระเป๋าหนังเทียมรูปทรงสี่เหลี่ยมมีหูหิ้วสองด้านแขวนอยู่ที่แขน รับไหว้ก่อนจะทรุดตัวลงพลางพิจารณาดูหน้าตา ท่าทาง ของจันตา พอเห็นว่า สะใภ้คนนี้สวยอย่างหาที่ติไม่ได้ นางแย้มก็เอ่ยชมไปตามที่เห็น จันตายิ้มแหย ๆ เป็นเชิงขอบคุณ นางย้อยไม่ได้พูดอะไร เพราะเมื่อกมลต้องการให้เรื่องของจันตาเป็นความลับสำหรับคนที่นี่ และนางย้อยก็ยอมรับความลับนั้นได้ จึงไม่จำเป็นต้องบอกเล่าเรื่องแต่หนหลังของจันตาให้ใครรับรู้อีก ทุกคนรู้แค่ว่า จันตาเป็นคนลับแล อุตรดิตถ์ ผิวพรรณหน้าตาจึงผุดผาด ผิดคนส่วนใหญ่ในละแวกนั้น เท่านั้นก็พอ...

นางย้อยส่งเด็กผู้หญิงวัยสองขวบกว่า ๆ ไปให้จันตาช่วยดูแลต่อ จันตาที่ยังมีงานครัวอยู่หลังบ้าน อุ้มเด็กคนนั้นเดินเข้าไป แต่ถึงอย่างไร นางย้อยก็ตะโกนตามหลังไปว่า ให้จันตาตักน้ำออกมาให้แขกด้วย

หลังดื่มน้ำดับกระหาย นางแย้มก็พูดว่า “เราไม่ได้เจอกันกี่ปีแล้วฮึ”

“ก็ตั้งแต่งานศพเฮียซะมั้ง...ใช่ไหม...จะสามปีแล้วมั้ง”

“เห็นจะได้”

“อ้อ การ์ดงานแต่งไอ้ยงค์ ที่เอ็งส่งไปให้ที่ชุมแสง กว่าทางนั้นจะส่งกลับมาให้ที่นี่ มันก็เลยวันงานไปแล้ว ข้าก็เลยไม่ได้ไป ขอโทษด้วยนะ...ฝากขอโทษหลานมันด้วย”

“ไม่เป็นไรหรอก ฤกษ์มันกระชั้นเลยฉุกละหุกไปหมด กว่าจะนึกได้ กว่าจะส่งการ์ดไปก็รู้อยู่ว่ามันจวนแจ ...แล้วเรื่องนังหนูนั่น มันเป็นมาอย่างไร”

นางย้อยมองหน้านางแย้ม...แล้วพูดว่า “ก่อนอาสี่มันจะตาย มันทำแม่ของนังหนูท้อง แต่มันไม่ยอมรับ มันให้เขาไปทำแท้ง แล้วแม่นังหนูก็ไปหาข้าที่ชุมแสง...มีเรื่องกันนิดหน่อย ไม่ทันได้ตกลงอะไรกัน แล้วอาสี่ก็มาตาย มัวยุ่ง ๆ เรื่องงานศพ หลังจากนั้น...ข้าก็ได้ข่าวว่ามันอุ้มท้องกลับมาเรียนเสริมสวยต่อ ตอนแรกข้าก็นึกว่าจะไปแล้วไปลับหรอก...แต่ที่ไหนได้ พอมันคลอดแล้ว มันกลับอุ้มไปทิ้งไว้ที่หน้าร้าน พร้อมกับจดหมายว่าทำไมมันถึงต้องทำอย่างนี้”

“แล้วมันเอามาทิ้งตอนไหน”

“แขกยามมันว่า มันอุ้มมาราว ๆ ตีสี่ ห่อผ้ามาอย่างดิบดี...พอเด็กมันร้องไห้จ้า ก็ตอนที่คนเริ่มออกกันมาเปิดร้านแล้ว...คนก็กรูกันเข้ามาดู...ตอนแรกก็นึกว่าอีพวกโคมแดงเอามาทิ้ง ที่ไหนได้ มันมีจดหมายไว้ชัดเจนว่านังหนูเป็นลูกเต้าเหล่าใคร...”

“พุธโถ...ใจของมันทำด้วยอะไร ทำไมถึงทิ้งลูกได้ลงคอ...”

“ตอนหลัง จันตามันบอกว่า ที่มันทิ้งลูก เพราะมันต้องกลับบ้านไปแต่งงานกับผู้ชายที่พ่อมันหาไว้ให้”

“แล้วจันตามันรู้ได้ไง”

“มันเรียนเสริมสวยอยู่ด้วยกันมาก่อน มันสนิทกัน”

“แล้ว พ่อมัน ผัวใหม่มัน ไม่รู้รึไงว่า อีนี่มันมีลูกอยู่ทางนี้”

“คงไม่รู้หรอก ถ้าพ่อมันรู้ตั้งแต่แรก ก็คงให้มันทำแท้ง...ถ้าผู้ชายมันรู้ ตั้งแต่แรก มันก็คงไม่เอามันไปทำพันธุ์หรอก”

“พี่ก็เลยต้องมามีลูกอ่อนตอนแก่”

“แก่ที่ไหน เพิ่งจะสี่สิบกว่า ๆ เท่านั้นเอง”

“ไม่แก่ แต่ดูพี่ผอมลงไปนะ เจ็บไข้เป็นอะไรรึเปล่า”

“เป็นโรคเบาหวาน”

“โรคเบาหวาน!...เป็นได้อย่างไรกัน”

“ไม่รู้เหมือนกัน...นี่ก็ตาพร่าแล้ว”

“มันหนักถึงเพียงนั้นเลยรึ”

“หมอเขาว่ามันขึ้นตา จะตาบอดหรือเปล่าก็ยังไม่รู้เลย...”

“ป่วยด้วย เลี้ยงเด็กด้วย มันจะไม่ไหวเอานา”

“ตอนแบเบาะก็ไม่ได้เลี้ยงเองหรอก ไอ้ซามันให้จ้างเขาเลี้ยงเอา...อดหลับอดนอนมาก ๆ สังขารก็ไม่ไหว เพิ่งจะมาอุ้มชูมากหน่อยก็ตอนย้ายมาอยู่ที่นี่แหละ แต่เอาเข้าจริง ๆ ก็ไม่ค่อยได้เลี้ยงเองหรอก...มันมีพี่เลี้ยง ไอ้ซามันจัดการให้หมด เพราะมันรับเป็นลูกของมันกับจันตา...ไปแจ้งเกิดกันใหม่หมด”

“นั่นก็พ่อพระได้อีก”

“อืม ไอ้คนดีก็ดีซะเหลือเกิน...”

“แล้วนี่ร้านใคร...”

“ร้านไอ้ซามันน่ะ...มันย้ายมาได้สองปีแล้ว ส่วนข้าย้ายมาอยู่กับมันจะพอปีแล้ว”

“ทำไมถึงย้ายล่ะ...”


“สามวันดีสี่วันไข้ ไอ้ซามันก็เลยอยากให้กลับมาอยู่ใกล้ๆหมอ ใกล้ ๆ กับมัน แล้วอีกอย่าง ทางโน้นก็ยกให้ไอ้ตงให้เมียมันดูแลไปแล้ว ไม่มีห่วงอะไรแล้ว...เงินทองเงินเก็บที่มีอยู่ ถ้ากินอย่างที่เคยกิน ก็คงมีกินไปจนตายแหละ ก็เลยขอกลับมาตายที่นี่กับไอ้ซามันดีกว่า เพราะอย่างน้อยก็ใกล้หนองนมวัวมากกว่า เอ็งจะได้มาเผาข้าง่าย ๆ หน่อย” บอกแล้วน้ำตาก็ชื้นหัวตานางย้อย

“ไม่เอาพี่ ยังไม่พูดเรื่องเป็นเรื่องตายให้ฉันใจเสีย”

กะพริบเปลือกตาไล่ม่านน้ำตาแล้วนางย้อยก็บอกว่า

“อันที่จริงข้าไม่ได้อยู่ที่นี่หรอกนะ...ปกติแล้ว อยู่กับหลานที่บ้านฝั่งโน้น แถว ๆ โรงน้ำปลา ฝั่งศาลเจ้าพ่อริมแม่น้ำน่านโน่น เป็นสมบัติที่แม่ของเฮีย เขายกให้เฮีย พอเฮียตาย ตอนแรกก็ว่าจะยกให้ไอ้สี่มัน พอไอ้สี่มันตาย ก็เลยยกให้ไอ้ซามัน พอมาอยู่กับมันที่นี่ ก็อย่างที่เห็น มันคับแคบ วุ่นวาย อึดอัด อยากอยู่โล่ง ๆ เหมือนตอนเป็นสาว ๆ ก็เลย ขอมันไปอยู่ที่โน่น...แล้ววันนี้ นังตัวเล็กมันไม่สบายก็เลยข้ามฟากพามันมาหาหมอ แล้วก็แวะมานั่งเฝ้าหน้าร้านให้ไอ้ซามันออกไปส่งสังกะสีให้ลูกค้า”

“แล้วทางโน้นอยู่กันสองคนกับนังหนูรึ”

“ไอ้ซามันหาเด็กรับใช้ไว้ให้คน...วันนี้มันไม่ได้มาด้วย ให้มันเฝ้าบ้าน ทำงานบ้านไป...”

“ก็ถือว่าพี่สบายแล้วนะ...อยู่บ้านเลี้ยงหลาน แถมมีคนรับชงรับใช้”

“ไอ้ซามันว่า เหนื่อยมามากแล้ว...ควรอยู่ให้สบายเสียบ้าง ก็จริงอย่างที่มันว่า...”

“แล้วไอ้ใช้ล่ะ มันไปไหนรึ ทำไมถึงต้องมาพึ่งไอ้ซา...”

“ปลดทหารแล้ว มันก็ได้เมียใหม่ เป็นลูกสาวของนายมัน ตอนนี้มันไปอยู่กับเขาที่กรุงเทพฯ...”

“แล้วอีคนเก่าล่ะ...ชื่ออีณูใช่ไหม มันไปไหนเสียล่ะ”

“เลิกกัน”

“ทำไมถึงได้เลิกกัน”

“เรื่องมันยาว...” นางย้อยตัดบท ไม่อยากจะเอ่ยถึงให้ต้องมาวิพากษ์วิจารณ์กันอีก

“แล้วอยู่ทางโน้น มันทำมาหากินอะไร”

“ผู้หญิงเขามีท่าหน่อย...ตอนแรกมันไปเรียนศึกษาผู้ใหญ่ต่อ จบ ป.7 แล้วก็ต่อ มัธยมต้น พอมีวุฒิ ญาติข้างเมียมันก็ฝากเข้าทำงานเป็นเสมียนในบริษัทของพวกเขาแหละ แล้วมันก็เรียนต่ออีก มันว่า ดีไม่ดีมันจะเอาให้ถึงปริญญาตรี แล้วหาสอบเข้ารับราชการฯ”

“โห...ชีวิตมันไปได้ถึงเพียงนั้นเลยหรือเนี่ย...”

“คงเป็นวาสนาของมัน...ถึงมันไม่ไปอย่างนั้น อยู่ทางนี้ มันก็คงเป็นเถ้าแก่ใหญ่...ว่าบาป ไอ้ลูกคนนี้นะ หมอดูเคยดูไว้ว่า มันจะรวยกว่าใครเขา ตอนนั้นก็คิดว่า มันก็ต้องแน่แท้ เพราะมันเป็นคนโต มันต้องได้ทุกอย่างตามธรรมเนียมของคนจีน...แต่เรื่องมันก็พลิกไปอย่างที่เล่าแล้วนั่นแหละ ถึงมันจะอยู่ไกล สมัยนี้ก็เหมือนใกล้ มันกลับมาเยี่ยมเรื่อยแหละ...เดี๋ยวนี้เขาไม่นั่งรถไฟมาแล้วนะ ขับรถเก๋งทำโก้มาเลย” เอ่ยถึงปฐม สีหน้านางย้อยก็แช่มชื่นขึ้น...

“แล้วไอ้ตงล่ะ มีลูกกี่คนแล้ว”

“คนเดียว แต่ไม่ใช่กับเมียที่แต่งหรอกนะ”

“อ้าว ...ทำไมเป็นอย่างนั้นล่ะ”

“มันเลิกกัน...ก็มันไม่ได้รักกันมาก่อน แล้วข้าเองก็ผิดที่ลืมคิดไปว่า พิไลน่ะมันรักไอ้ใช้ พอไอ้ใช้เป็นอื่นไป ก็ยังจะอยากแต่งเอามันเข้าบ้าน อยู่ ๆ กันไปแล้ว มันไปด้วยกันไม่ได้ มันก็หย่ากัน แล้วกลับไปอยู่บ้านมัน แต่มันก็มีผัวใหม่ไปแล้วนะ ต่างคนต่างมี...”

“แล้วเมียไอ้ตงคนใหม่นี่คนที่ไหน”

“อีปลูก...จำอีปลูกได้ไหม”

“ฮะ...นังเด็กในร้านน่ะรึ”

“อืม...พอมันเลิกกับพิไล มันยังอยู่ที่บ้านเดิม ข้าก็ไม่รู้ว่า อีปลูกมันจ้องจะเอาคนของเรา ก็เลยไว้ใจให้มันเข้าไปดูแลเรื่องอยู่ เรื่องกิน บ้านช่องห้องหับ เสื้อผ้า มารู้อีกที ก็ตอนที่อีปลูกมันท้อง...ไอ้ตงมันก็ว่า มันทำจริง ท้องกับมันจริง ก็คนมันเคยมีเมีย มันก็คงเหงา ใกล้ที่ไหนก็คว้าที่นั่น แล้วอีปลูกเอง พอมันเป็นสาวแต่งเนื้อแต่งตัวเข้า มันก็ดูคมขำขึ้นมา...แล้วที่ข้ายอมละร้านมา ก็เพราะเชื่อใจว่ามันจะไม่ทิ้งร้านที่สร้างมากับมือไปไหนนี่แหละ เพราะมันอยู่มาตั้งแต่เรียนจบ มันรู้ทุกอย่างดี เรื่องเงินที่ปล่อยกู้ไว้ เรื่องค่าเช่านา ไอ้ป้อมพี่มันก็รู้หมด...ถอยออกมาแล้ว สองพี่น้องมันก็ยังทำงานพวกนี้ให้อยู่ ก็พอได้กินได้ใช้ไปอีก...และที่สำคัญ อีปลูกนี่ ไม่ได้เสียเงินแต่งสักสตางค์แดงเดียว...มันว่า แค่ไอ้ตงกับข้าเมตตามัน พ่อแม่มันก็ดีใจจนเนื้อเต้นแล้ว...”

“ก็จะไม่ดีใจได้อย่างไรล่ะ จาก เด็กหน้าร้าน พอมีผัว ก็ได้เป็นเจ้าของร้านเลย แล้วไอ้ตงมันไม่อายผู้คนบ้างเลยรึ...”

“ไอ้นี่มันไม่ค่อยวิสาสะกับใครอยู่แล้ว...จะว่าไป มันเอาอีปลูกก็ยังดีกว่ามันขอกลับไปบวช ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง ๆ ทางโน้นมันจะยุ่ง ไอ้ซามันก็จะมาอยู่ทางนี้ไม่ได้หรอก”

“อ้าว แล้ว ไอ้ซาทำไมมันถึงต้องมาอยู่ทางนี้”

นางย้อยเหลือบตามองไปทางหลังร้าน แล้วหันมาบอกว่า... “ก็ตอนไอ้สี่ยังอยู่ ก็ตั้งใจว่า จะซื้อตึกไว้ให้มันทำอะไรอยู่ที่นี่ เพราะมันไม่ประสากับทางโน้น พอไอ้สี่มันตาย แล้วไอ้ซามันมาชอบจันตา ตะก่อนจันตาเป็นเด็กอยู่ในร้านสังฆภัณฑ์ที่ชุมแสงน่ะ จันตามันออกมาเรียนเสริมสวย ไอ้ซามันก็ว่า อยากพากันมาเปิดร้านที่นี่ ให้จันตาเปิดร้านเสริมสวยสักห้อง มันเอาสักห้อง ไป ๆ มา ๆ มันไม่อยากให้เมียมันเหนื่อย มันก็เลยเอาหมดสองห้องเลย ของพวกนี้ก็ได้ อาแปะมันแนะนำให้ขาย เพราะมันไม่บูดไม่เน่า แต่มันก็ยังไม่เลิกทำอย่างอื่นหรอกนะ มันออกรถยนต์มาสำหรับส่งของ แล้วพอหน้าข้าวเปลือก มันก็ยังไปหาซื้อข้าว ส่งไปขายทางกรุงเทพฯ ไอ้นี่มันขยัน มันบอกว่า มันกลัวลูกมันจะลำบาก...”

“มันกะจะมีสักกี่คนล่ะ”

“สามคนละมั้ง...มันว่าชั้นลูกมัน คงต้องส่งเรียนหนังสือกันทุกคน เพราะยุคสมัยมันเปลี่ยนไป...อยู่ที่นี่ก็ใกล้โรงเรียนดี ๆ ด้วย”

“มันคิดการณ์ไกลแท้ ๆ”

“มันพวกมาก ไอ้นี่มันคุยกับคนได้ทั่ว...อาแปะยังว่า ถ้ามันได้เรียนหนังสือเหมือนไอ้สี่มันคงจะไปได้ไกลกว่านี้”

“ลิขิตฟ้าก็ไม่สู้มานะตน...” นางแย้มเปรยออกมาหลังจากที่ฟังเรื่องของกมล...

“ก็คงจะเป็นอย่างนั้น...”

“ฟังแล้วก็ชื่นใจแทนพี่...มีลูกดีจนน่าอิจฉา”

นางย้อยได้แต่ยิ้มขม ๆ ...เพราะรู้อยู่แก่ใจว่า ที่เล่าไปนั้น ไม่ได้เล่าไปทั้งหมดทุกซอกหลืบของเรื่องราว

“แย้ม คืนนี้ นอนค้างกับข้าสักคืนนะ...ได้ไหม...” ถ้าได้ ก็หมายถึงว่า นางแย้มจะต้องไปบอกกับเจ้าของรถโดยสารที่วิ่งระหว่างปากน้ำโพกับอำเภอลาดยาว ซึ่งเป็นคนหนองนมวัว ให้แวะไปส่งข่าวบอกทางบ้านให้....

“ได้จ๊ะได้ แต่ว่าฉันต้องไปบอกกับอียอมมันก่อนนะ”

“อ้าว มากับอียอมหรอกรึ แล้วมันไปไหนเสียล่ะ”

“มันมาเรียนตัดผ้ากับเพื่อนมัน ช่วงนี้ฉันว่าง ๆ อยู่บ้านก็รู้สึกเบื่อ ก็เลยนั่งรถมากับมัน ส่งมันเข้าโรงเรียนแล้ว ก็เลยเดินออกมาไหว้พระที่วัดหัวเมือง แล้วเดินดูนั่นดูนี่ไปเรื่อยเปื่อย...นี่ยังไม่ได้อะไรเลย ก็มาเจอพี่ซะก่อน...”

“แล้วนี่เอ็งกินข้าวกินปลาหรือยัง”

“ข้าวเช้าน่ะกินมาตั้งแต่บ้านแล้ว”

พอนางแย้มบอกอย่างนั้น นางย้อยก็เหลือบไปดูนาฬิกาที่แขวนอยู่ แล้วก็บอกว่า

“ถ้าอย่างนั้นก็กินข้าวกลางวันกับข้านะ”

“ต้องกินกับพี่ซิ จะไปซื้อกินให้เปลืองเงินทำไมล่ะ” ว่าแล้วนางแย้มก็หัวเราะ นางย้อยค้อนให้...

“แต่นี่เพิ่งจะสิบโมงกว่าๆ งั้นฉันขอเดินกลับไปหาอียอมมันแปบนึงนะ ไปบอกมันหน่อยว่า ปักหลักอยู่ตรงนี้แล้ว”

“ไปซิ ไป”

“ให้อียอมกับเพื่อนมันมากินข้าวด้วยได้ไหม”

“ได้ซิ เอามันมาด้วย อยากเห็นมันเหมือนกัน...พามันมารู้จักกันไว้ วันหน้าตกรถตกลาจะได้มาพึ่งพากัน”

“เพื่อนมันก็ไม่ใช่ใครที่ไหนหรอกพี่ย้อย อีอุไร ลูกอีอ่ำ น้องอีอัมพร เมียไอ้ยงค์นั่นแหละ...”

“อีอ่ำ”

“ก็ไอ้พวกที่ย้ายมาจากยางตาลไง แต่พี่คงจำคนพวกนี้ไม่ได้หรอก ไม่รู้ว่า ย้ายมาอยู่หนองนมวัวก่อนหรือหลังพี่แต่งมาอยู่ที่นี่...หลายปีแล้ว ไอ้ฉันก็ลืม ๆ ไปแล้ว...” ว่าแล้วนางแย้มก็ถอนหายใจออกมา เหมือนกับว่ามีเรื่องบางอย่างอยู่ในใจ...

นางย้อยเห็นดังนั้นจึงถามว่า

“มีปัญหาแม่ผัวลูกสะใภ้หรือไง”

“ถ้าคิดว่าไม่มี ก็ไม่มี แต่ถ้าคิดว่ามี มันก็มี”

“เอาให้แน่”

“ไอ้ฉันน่ะไม่อยากได้นังอัมพรมาเป็นสะใภ้สักเท่าไหร่หรอก มันทำอะไรไม่เป็น”

“มันขี้เกียจสันหลังยาวอย่างนั้นรึ”

“ก็ไม่ถึงขนาดนั้นหรอก งานบ้านงานเรือนน่ะมันพอใช้ได้ แต่งานนางานไร่มันไม่ออกไปทำ สำออยสำอางกลัวผิวจะเสีย”

“อ้าว แล้วจะอยู่กันอย่างไร”

“ก็อยู่อย่างขวางหูขวางตาฉันนี่แหละ ก็บอกไอ้ยงค์มันแล้วว่าหาเมียให้หาคนที่สู้งานไร่งานนา มันก็ไม่ฟัง มันว่า มันทำคนเดียวได้ มันจะแต่งเอาอีนั่นมาเป็นแม่ศรีเรือนมันให้ได้ เมื่อขัดใจมันไม่ได้ ก็ต้องยอมมันไป...แต่ฉันเองพอเห็นอะไรไม่พอตา ก็อดปากเสียว่ากล่าวบ้างไม่ได้หรอก...ดีแต่ว่าอีอัมพรมันเป็นคนปากหนัก ไม่ยอกไม่ย้อนอะไร บอกให้ทำอะไรก็ฟังดีอยู่ แต่ลับหลัง มันจะฟ้องผัวมัน ฟ้องพ่อแม่มันรึเปล่าก็ไม่รู้นะ...นี่ก็กำลังปลูกเรือนแยกไปอยู่ต่างหาก แต่ฉันก็ให้ทำชานเชื่อมถึงกันแหละ...มันจะได้เหมือนอยู่ใต้ปีกของเราบ้าง จะนอนจะนั่งก็จะได้เกรงเราบ้าง” พอได้ระบายนางแย้มก็ระบายเสียยืดยาว...

“แล้วไอ้ยูรล่ะ”

“จบ มศ.5 แล้ว กำลังหาที่เรียนต่อ กำลังหางานทำ แต่ตอนนี้ก็ให้ช่วยพ่อมันไปก่อน เพราะหลังแต่ง ฉันก็ให้ไอ้ยงค์มันแยกเรือนแยกนาให้มันทำกินกันไป ลูกสะใภ้ อย่างไรมันก็ไม่เหมือนลูกสาว ไปยุ่มย่ามกับมันมากนัก มันก็จะเกลียดขี้หน้าเอา”

พอได้ยินคำว่า ‘ยุ่มย่ามกับมันนัก’ ใจของนางย้อยก็แวบไปนึกถึงนางลิ้มทันที ที่นางย้อยกลัวการเป็น ‘แม่ผัว’ ก็เพราะกลัวว่า ‘ลูกสะใภ้’ มันจะย้อนเกล็ด ซ้ำรอยกรรม ให้ในสักวันหนึ่ง

พอมาลาอุ้มเด็กผู้หญิงมาทิ้งไว้ ความกลัวว่าความลับที่ซ่อนอยู่นั้นจะต้องได้ชดใช้ในลักษณะเดียวกันก็พลันทลาย  ‘หลานสาว’ อย่างไรน่าจะดีกว่าลูกสะใภ้ แล้วหน้าตาผิวพรรณของนังหนูก็มาทางพ่อมันซะมาก นางย้อยที่เคว้งคว้างเพราะลูกแต่ละคนก็มีหนทางของตัวเองตามช่วงเวลาของชีวิต จึงรู้สึกว่ามือที่เคยโอบลูก ๆ ไว้ นั้นถูกปลด ปล่อยทิ้งเดียวดาย แล้วกลับได้โอบ ได้เกี่ยว ได้มีที่ยึดเหนี่ยว ให้คลายเหงา คลายกลัวอีกครั้ง...

และทุกวัน หลังสวดมนต์ไหว้พระ นางย้อยก็อธิษฐานอยู่ในใจว่า ขอให้กุศลคุณงามความดีที่ทำไว้อยู่ไม่น้อย ช่วยดลให้ตนมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง มีอายุยืนนานไปจนหลานคนนี้เติบใหญ่จนช่วยเหลือตัวเองได้ด้วยเถิด...หากแต่นางย้อยก็รู้ดีว่า วันนั้นคงยากจะมาถึง เพราะนอกจากอาการตาพร่าตามัวแล้ว นางย้อยที่มีร่างกายเป็นรังของโรคร้าย ที่ว่ากันว่า เป็นโรคเวรโรคกรรมยากจะรักษาให้หายขาด รู้ดีว่า ชีวิตมันสั้นลงไปทุกขณะ นอกจากปลง ละ และวาง เรื่องที่ทำให้ใจต้องขุ่นมัว เรื่องที่ทำให้บาปอกุศลเกิดขึ้นมาอีก นางย้อยก็ตั้งใจไว้ว่า จะต้องทำในเรื่องที่ควรทำ ก่อนที่ชีวิตจะดับดิ้นไป นั่นก็คือปรับความเข้าใจกับเรณู ซึ่งถือว่า เป็นแม่ของหลาน คนหนึ่ง


เริ่มจากช่วงปลายปี ๒๕๑๑ ก่อนที่จะรู้ว่าบุญปลูกตั้งท้องกับประสงค์...นางย้อยเปรยกับกมลที่ยังติดต่อกับเรณูผ่านทางจดหมายบ้าง ผ่านทางหมุ่ยนี้บ้าง ว่า

“ซา ได้ข่าวอีณูกับน้องมันบ้างไหมฮึ”

“พี่เขาคลอดลูกมาเป็นผู้ชาย อ้วนจ้ำม่ำเลย ม้า...”

“แล้วแกรู้ได้ไงว่าหลานอ้วนจ้ำม่ำ”

“ก็นั่งรถไฟไปดูไง ม้า หลังกำหนดคลอด ผมกับจันตานั่งรถไฟไปดูหลานกัน...ยังเอาเงินเอาทองไปรับขวัญหลานเลย ม้า”

“แล้วทำไม ไม่บอกกับม้าก่อน ว่าจะไปดูหลาน”

“อ้าว ก็ไม่รู้ว่าม้าอยากไป อยากรู้เรื่องของเขา...”

“ม้าลืมมันไม่ได้หรอก อย่างไรมันก็มีหลานม้าติดท้องไปด้วย...”

“หลานชื่อประณตน่ะ ม้า ชื่อเล่นชื่อนาย พี่ณูเขาว่า พ่อของมัน ตั้งไว้ให้...”

“ให้ใช้นามสกุลใครล่ะ”

“ไม่ได้ถาม...”

“บอกมันไปว่า ถ้ามันสะดวกใจก็ให้ใช้นามสกุลเรา...ถ้าไม่รู้จะทำอย่างไรก็ปรึกษาคุณปลัดเขานั่นแหละ...เขาช่วยเรื่องพวกนี้ได้”

“เอาอย่างนั้นรึ ม้า”

“อืม...เอาอย่างนั้น...แล้วไปคราวหน้า ก็มาเอาเงินเอาทองของม้าไปรับขวัญหลานมันด้วยนะ”

คราวหน้าของกมล ก็วันรุ่งขึ้นนั่นเอง...นางย้อยให้กมลถือเงินไปสองพันบาทพร้อมถุงแดงใส่สร้อยคอ สร้อยข้อมือ กำไลข้อเท้าทองคำอีกชุด...โดยมีจดหมายน้อยที่เขียนด้วยลายมือของตัวเองแนบไปด้วยว่า

‘เรณู...ฉันดีใจที่รู้ว่าเธอคลอดลูกมาเป็นผู้ชาย และมีชีวิตสบายดี...เงินและทองนี้ ไม่มากไม่น้อย แต่ฉันก็เต็มใจให้รับขวัญหลานของฉัน ตั้งใจเลี้ยงเขาให้ดีนะ วันหน้าถ้าไม่เหลือบ่ากว่าแรง ก็พาเขามาเยี่ยมฉัน ถ้าฉันสะดวก ฉันก็จะไปหาเธอ ไปดูหลาน ด้วยตัวของฉันเองเหมือนกัน...ความดีของเธอ ฉันไม่เคยลืมหรอกนะ...รักษาเนื้อ รักษาตัวเลี้ยงลูกให้เติบโตเป็นคนดีสืบวงศ์ตระกูลต่อไปนะ.... แม่ย้อย’

กมลกลับมาเล่าว่า เรณูอ่านจดหมายทั้งน้ำตานองหน้า...นางย้อยได้ฟังก็มีน้ำตาหยดติ๋งลงมาเช่นกัน กมลเห็นดังนั้น จึงเอ่ยปากถามถึงเหตุผลเรื่องที่ได้ทำลงไปในวันนั้นว่า ‘ทั้งที่แม่ก็ไม่ได้เกลียดโกรธพี่เรณู แต่ทำไม วันนั้น แม่ถึงได้ผลักไสให้เฮียต้องไปอยู่กับเมียคุณหนูที่กรุงเทพฯ’ แล้วนางย้อยก็ให้คำตอบไปว่า

‘เพราะม้าต้องปกป้องอีณูมันไง แกคิดดูนะ ซา ถ้าตั่วเฮียแกผละจากนังคุณหนูไปหาเรณูเพราะยังรักยังอาลัยอีณูกับลูก...เรื่องมันจะเป็นอย่างไรต่อไป’

‘คุณหนูก็คงตามไปราวีเฮียกับพี่ณูไม่เลิก เพราะผู้หญิงคนนี้ มีนิสัยชอบเอาชนะ แล้วพี่ณูเองก็ใช่ว่าจะยอมใครง่าย ๆ’

‘แกอ่านคนออก...ม้าก็คิดอย่างนั้น แล้วอีกอย่าง ม้าก็คิดว่า อีกสักพักหรอก เดี๋ยวนังคุณหนูมันก็เบื่อเฮียแก หรือไม่ เฮียแกก็ทนอึดอัดไม่ไหว ก็จะหาทางเลิกกันอย่างละมุนละม่อมตามนิสัยของมันเอง ถ้าอีณูมันรักไอ้ใช้จริง มันก็ต้องรอได้’

‘ถ้าพี่ณูรักจริง...แต่เฮียผม เลิกกับคุณหนูไม่ได้ละม้า’

‘ก็ต้องคิดซะว่า มันสองคนไม่มีวาสนาต่อกัน และที่สำคัญ ไอ้เรื่องรักกันไม่ได้อยู่ด้วยกัน มันไม่ได้เพิ่งมีกับคู่ของพวกมันซะเมื่อไหร่...ใช่ไหม ซา’

แน่นอนว่า ความในใจของแม่นี้ และความในใจของปฐมในวันนั้น กมลนำมาเล่าให้เรณูรับรู้เมื่อกลับมาเยี่ยมเรณูกับหลานตามลำพัง...เรณูฟังแล้วก็ได้แต่นิ่งแล้วเงยหน้ายิ้มกับฟ้า กมลเห็นดังนั้นจึงขอเอาคำตอบว่า ฟังแล้วรู้สึกอย่างไร เรณูก็บอกเพียงว่า ‘แค่รู้ว่าม้ารักและเมตตาพี่จริง ๆ แค่รู้ก่อนหน้านั้น เฮียเขารักพี่อยู่บ้าง พี่คิดว่ามันเป็นเรื่องวิเศษในชีวิตของพี่แล้วนะ ซา...ขอบใจที่เล่าเรื่องนี้ให้ฟัง’


หลังจากนั้น ราว ๆ ต้นปี ๒๕๑๒ นางย้อยก็ปิดร้านให้กมลพาไปพยุหะคีรีด้วยตนเอง...หลังเรณูก้มกราบขอขมาต่อความผิดที่ได้ทำลงไป นางย้อยก็ลูบหัวลูบหลังพลางบอกว่า “ฉันให้อภัย ฉันเข้าใจ ฉันไม่เคยโกรธเธอหรอก”

“ทำไมม้าถึงไม่โกรธหนู”

“ฉันรู้ว่าเธอทำไปเพราะเธอแค่อยากให้ฉันรักและเมตตาเธอบ้าง เจตนาเธอมีแค่นั้นใช่ไหม”

“จ้ะ...แค่นั้น” แล้วม่านน้ำตาก็กลบเปลือกตาของเรณู...

หลังจากนั้นนางย้อยก็ถามถึงสารทุกข์สุกดิบ ชีวิตแม่ค้า และชีวิตของวรรณากับคุณปลัด...ซึ่งยังไม่มีกำหนดการแต่งงาน เพราะวรรณาให้เหตุผลว่า

“รอให้หลานโตกว่านี้อีกสักหน่อย...เพราะถ้าแต่ง ก็ต้องไปอยู่ที่บ้านพักกับคุณปลัดเขา พี่ณูอยู่ทางนี้จะยุ่ง”

“ก็ให้หาคนมาช่วยเลี้ยงเอาซิ” กมลออกความเห็น

“ก็ยังไม่อยากแต่งด้วยเฮีย ขอดูใจกันไปก่อนดีกว่า”

“เขาไม่รอแย่รึ” นางย้อยเป็นคนถาม เพราะรู้มานานแล้วว่า ที่ปลัดจินกรย้ายไปจากชุมแสงตั้งแต่กลางปี ๒๕๑๑ เพราะวรรณา ยื่นข้อเสนอไปอย่างนั้น พอวรรณายักท่า ทำเหมือนไม่ยี่หระกับตำแหน่งคุณนาย นางย้อยก็อดนึกสงสัยไม่ได้

“รอ แต่ไม่แย่หรอกจ้ะ...ก็ไปมาหาสู่กันเกือบทุกวัน...อ้อ แต่หนูก็บอกเขาไปว่า ถ้าเฮียซาแต่งกับจันตาเมื่อไหร่ คู่ของเราก็เมื่อนั้นนะ”

“อ้าว...” กมลอุทานออกมา

“แล้วจะแต่งกันเมื่อไหร่ล่ะ” วรรณาทำหน้าเจ้าเล่ห์...เพราะคิดว่า เรื่องระหว่างจันตากับกมลยังเป็นเรื่องแสลงใจของนางย้อย

“ก็ปีหน้า รอให้เขาเรียนให้จบก่อน...”

“ถ้าอย่างนั้น หนูก็แต่งปีหน้าแล้วกัน ดีไหมพี่ณู”

“ถ้าให้ตอบว่า ดี ก็คงต้องดีหละ”

เห็นเรณูกับวรรณารักใคร่กลมเกลียวช่วยเหลือเกื้อกูลกัน และเรณูก็รับลูกชายคนโตให้กลับมาอยู่ด้วยกัน ได้ตามความตั้งใจ นางย้อยก็อิ่มใจ ชื่นใจ มั่นใจความแข็งแกร่งของผู้หญิงที่ได้ชื่อว่า เป็น ‘แม่คน’ ของเรณู


...ปลายปี ๒๕๑๒ หลังกมลพาจันตามายกน้ำชา นางย้อยก็ได้รับการ์ดเชิญจากวรรณาและคุณปลัด...ตามที่วรรณาได้ลั่นวาจาไว้...งานแต่งทำกันอย่างเล็ก ๆ มีเจ้านายของคุณปลัดและพ่อแม่กับพี่ชายพี่สาวบางคนเท่านั้น นางย้อยไปร่วมงานนี้กับกมล จันตาขอตัวไม่ไป...หลังแต่งงานแล้ว วรรณาก็ยังตัดผ้า ขายผ้า ช่วยเรณูอยู่ที่ร้านในช่วงกลางวัน ส่วนกลางคืนก็กลับไปอยู่ที่บ้านพักของหลวงหลังที่ว่าการอำเภอ

ข่าวล่าสุดคือ ปลัดจินกรต้องย้ายไปอยู่ที่อำเภออื่น...แรกทีเดียวรรณาจะไม่ย้ายตามเพราะห่วงงานห่วงเงิน และติดหลานที่กำลังอ้อแอ้ แต่เรณูไม่ยอม เพราะรู้ดีว่า ผัวเมีย ถ้าอยู่ไกลกัน โอกาสที่ผัวจะเป็นอื่นก็มีสูงมาก สู้ตัดไฟเสียแต่ต้นลมจะดีกว่า...วรรณาฟังเหตุผลก็คล้อยตาม...ย้ายตามสามีไปเป็นคุณนายมีคนนับหน้าถือตา แต่ถึงอย่างไรวรรณาก็ยังคงเปิดร้านขายผ้าเย็บผ้าหารายได้เข้าครอบครัว เพราะรู้ดีว่าเงินเดือนข้าราชการ หากไม่มีเรื่องคอรัปชั่นเข้ามา ก็ยากที่จะเลี้ยงดูลูกเมียให้สุขสบายได้

ช่วงเวลาปีสองปีมานั้น ไม่มีใครเอ่ยถึงปฐมกับเมียใหม่ให้เรณูได้ยินอีก...เพราะรู้ดีว่า ที่เรณูตั้งใจทำงาน หาเงิน เลี้ยงลูกสองคนและประพฤติตัวเป็นแม่หม้ายที่ดีไม่ให้ใครมาหยามเกียรติได้เพราะเรณูนั้นยังรักปฐมอยู่เหมือนเดิม ส่วนเรื่องที่รอให้ปฐมเลิกกับอรพรรณีกลับมาหาตนหรือไม่นั้น กมลก็ไม่กล้าถามเรณูอีกเช่นกัน....

*****************************



9
ตอนที่ 65 : ผิดเพราะรัก


               ๖๕


กมลกับนางย้อยก็มองหน้ากัน ปฐมถอนหายใจออกมาเบา ๆ สีหน้าเต็มไปด้วยความหนักใจ อาการนั้นคือกลืนไม่เข้าคายไม่ออก คนที่รัก พอแม่ไม่เป็นอุปสรรคเสียแล้ว ก็ยังมีคนใหม่มาเป็นปัญหาเสียอีก และปัญหาก็ดูท่าจะแก้ได้ยากเสียด้วย

"เดี๋ยวหนูขอไปจัดห้องนอนต่อนะ พี่ปลูก พี่ปลูกจ๊ะ ขึ้นไปช่วยหนูจัดห้องนอนใหม่หน่อย ขอตัวก่อนนะคะ" ว่าแล้วอรพรรณีก็เดินไปยังกองเครื่องนอนที่วางอยู่แล้วเรียกให้บุญปลูกมายก แล้วเดินตามบุญปลูกขึ้นบ้านไป

นางย้อยที่ยืนอยู่ถอนหายใจออกมาแล้วพูดว่า

"ใช้ ไหนแกลองเล่าให้ม้าฟังหน่อยสิว่าตอนนี้ชีวิตของแกกับนังคุณหนูจะทำอย่างไร จะเอาอย่างไรกันต่อไป"

ว่าจะไม่ยุ่งกับชีวิตของลูก ๆ ให้ต้องกลายเป็นยายแก่ปากมาก แต่เมื่อดูสีหน้าของปฐมแล้ว ดูท่าทางน้ำเสียงของแม่ลูกสะใภ้คนใหม่แล้ว นางย้อยบอกกับตัวเองว่าคงจะไม่ยุ่งด้วยไม่ได้

พอฟังเรื่องราวจากปากของปฐมคร่าว ๆ แล้วนางย้อยก็บอกว่า

"ถ้าอย่างนั้นแกก็กลับไปอยู่กับเขาทางโน้นเถอะนะ ไม่ต้องห่วงม้า ห่วงน้อง ห่วงอะไรทางนี้หรอก พวกเราอยู่กันได้"

"แต่ผม...ผมอึดอัด"

"อึดอัดก็ต้องทน อย่าลืมว่า ตอนนี้เขาก็เป็นเมียแกแล้วนะ และจากที่ฟังแกเล่า เขาก็รักแกดี และหวังสร้างอนาคตไปกับแกนี่"

ปฐมได้ยินดังนั้นก็ส่ายหน้าเบา ๆ นางย้อยยิ้มน้อย ๆ แล้วหยอกลูกชายไปว่า

"เป็นหนูตกถังข้าวสารก็ดีไปอย่างนะ แก ไม่ต้องคิดเรื่องทำมาหากินให้เหนื่อยยากลำบากกาย เขาบอกให้ทำอะไรก็ทำไป เดี๋ยวก็ดีเอง"

"ม้าก็..." กมลขวางแม่ นางย้อยเชิดหน้าขึ้นแล้วถอนหายใจออกมา

"ถ้าผมรักเขา ถ้าผมลืมเรณูได้ มันก็คงดีหรอก ม้า" ปฐมเปรยออกมาเบา ๆ

หัวคิ้วของนางย้อยขมวดก่อนจะพูดว่า

"ซา ฟังจากเฮียแกพูดมา ตั้งแต่แกถาม ม้าคิดว่าที่อีณูมันบอกว่า มันเอาของออกแล้ว มันอาจจะยังไม่ได้เอาออกก็ได้นะ"

"ทำไมม้าคิดอย่างนั้น" กมลถามกลับ

"ก็มันไม่มีหลักฐานอะไรนี่ แล้วคนของเราก็ยังดูเหมือนจะรักใคร่ไยดีมันเหมือนเดิม ทั้งที่รู้ว่ามันทำเรื่องไม่ดีกับตัวเองไว้ ก็ไม่เห็นมีท่าจะโกรธจะเคืองอะไร ซึ่งมันผิดปกติของคนทั่ว ๆ ไป แกว่าไหมล่ะ"

"ก็อาจจะเป็นไปได้"

"ถ้าอย่างนั้นจะให้ดี จะให้แน่ ม้าว่าแกพาเฮียแกไปหาอาจารย์สมดีที่ท่าไม้เถอะ ไปให้แกตรวจดูให้แน่ เผื่ออีณูมันยังไม่ถอน ก็ถอนซะ มันจะได้อยู่กับเมียคนนี้ได้มีความสุขขึ้น ไป พากันไป รีบไปรีบกลับ ทางนี้เดี๋ยวม้าจะดูแลไว้ให้เอง"

**********

หลังกมลพาปฐมไปยังท่าเรือเพื่อเดินทางไปบ้านอาจารย์สมดีที่ท่าไม้แล้ว นางย้อยก็กลับมานั่งบนเก้าอี้หลังเก๊ะ แล้วครุ่นคิด วางแผน ทำให้แม่ลูกสะใภ้คนใหม่ที่วางท่าเป็นคุณหนู คุณนาย ลูกชาติลูกตระกูลผู้นี้ต้องรีบพาปฐมกลับบ้านที่กรุงเทพฯ และไม่คิดจะกลับมาอยู่ที่นี่อีก

เพราะถ้าปฐมกล่อมจนมันคล้อยตาม ยอมย้ายกลับมาอยู่ที่นี่ แค่นึกถึงความเจ้ายศเจ้าอย่าง เรื่องมาก เท่าที่เห็น นางย้อยก็ไม่รู้ว่าในอนาคตจะได้เห็นอะไรที่หนักกว่านี้อีก

คิดแล้วก็ควรยอมเสียลูกชายไปเสียอีกคน เพื่อที่จะได้ไม่ต้องเห็นเรื่องรำคาญลูกตาในอนาคต


"คุณแม่! พี่ใช้ไปไหนรึคะ" พอลงมาไม่เห็นปฐม อรพรรณีก็เอ่ยถาม แม้ว่าจะมีคำว่า 'คุณแม่' และ ลงท้ายด้วย 'คะ' แต่น้ำเสียงนั้นยังคงกระด้างแฝงไว้ด้วยอำนาจแสลงหูนางย้อย

"ใช้ให้ไปทำธุระที่ท่าไม้กับอาซาน่ะ"

"ธุระอะไร"

พอถูกย้อนถาม นางย้อยจึงปรายตามองแล้วหันกลับมาที่สมุดบัญชีตรงหน้า แสดงให้เห็นว่า 'มันไม่ใช่เรื่องที่หล่อนจะต้องซักฉันไหม'

เมื่อนางย้อยไม่ตอบ อรพรรณีที่ค้อนให้ ก็ถามใหม่ด้วยน้ำเสียงห้วน ๆ ว่า

"ธุระอะไรรึคะ คุณแม่"

"ให้อาซามันพาไปให้หมอผีเขาตรวจดูว่า นังเมียเก่าของมันน่ะถอนเสน่ห์ออกหรือยัง"

"แล้วทำไมไม่ให้เขาขึ้นไปบอกหนูก่อน"

"ทำไมจะต้องบอก"

"หนูจะได้ออกไปเที่ยวด้วย"

"ก็เห็นว่าจะจัดห้องนอน แล้วอีกอย่าง ท่าไม้ไม่ใช่ใกล้ ๆ นะ นั่งเรือหางยาวมันไม่สนุกเหมือนนั่งเก๋งนั่งรถไฟหรอก"

"แต่ถึงอย่างไรหนูก็อยากไปอยู่ดี"

นางย้อยถอนหายใจออกมา พอเข้าใจแล้วว่า ทำไมปฐมถึงพูดคำว่า 'อึดอัด'

"เย็นนี้จะกินอะไร จะได้ให้ปลูกมันจัดหาทำไว้ให้กิน แล้วเธอทำอะไรเป็นบ้างไหม"

"คุณแม่หมายถึงเรื่องกับข้าวกับปลาหรือคะ"

"มีผัวแล้วก็ต้องรู้จักหม้อข้าวหม้อแกงไว้สิ บ้านมันจะได้เป็นบ้าน"

"พอดีที่บ้านหนูมีคนรับใช้ค่ะ แล้วตั้งแต่เกิดมา หนูก็ไม่เคยทำอะไรเลย ตื่นมาหนูก็มีข้าวตั้งรอให้รับประทานแล้ว จะกินอะไรก็แค่เอ่ยปากเท่านั้น หนูทำอะไรไม่เป็นหรอกค่ะ"

นางย้อยชักสีหน้าเหนื่อยหน่ายใจ แล้วถอนหายใจออกมาอย่างไม่เก็บความรู้สึก อรพรรณีเห็นดังนั้นจึงเบะปากแล้วบอกว่า

"จากที่เดิน ๆ ดูนั่นนี่ หนูเห็นว่าที่นี่ก็มีเหลาอยู่หลายร้าน เพราะฉะนั้น เย็นนี้ หนูจะพาพี่ใช้ออกไปชิมดูร้านที่อร่อยที่สุด"

"ของแพงมันกินได้แต่ละเมื่อแต่ละคราวเท่านั้นนะ"

"หนูมีเงินกินค่ะ"

"แล้วถ้าวันหนึ่ง เธอไม่มีเงิน เธอจะทำอย่างไร"

"ไม่มีวันนั้นหรอกค่ะ คุณแม่"

"ก็แสดงว่าทางบ้านของเธอรวยมากสินะ"

"คุณแม่ที่ตายไปทิ้งที่ดินไว้ให้หนูหลายแปลง แค่เก็บค่าเช่าก็อยู่สบายแล้ว ถ้าขายก็คงได้หลายสิบล้าน แต่หนูไม่ขายหรอกค่ะ เพราะว่ามีเงินปันผลจากหุ้นของคุณแม่อีกไม่น้อย คุณยายหนูมีตลาดสด มีตึกแถวให้เช่าน่ะค่ะ สมบัติเยอะแยะ เลี้ยงลูกเลี้ยงหลานได้สบายมาก"

"แต่ถ้าลูกหลานมันช่วยกันผลาญ มันก็หมดได้นะ ฉันเห็นมาเยอะแล้ว"

"ไม่ใช่ตระกูลหนูหรอกค่ะ"

"แล้วนี่จะพาอาใช้กลับกรุงเทพฯ เมื่อไหร่"

"นี่คือไล่หรือคะ"

"แล้วแต่จะคิด แต่ถ้าจะให้พูดแบบที่คิด ฉันที่เป็นอดีตลูกชาวนา และปัจจุบันก็เป็นเพียงแม่ค้าในตลาดในอำเภอเล็ก ๆ ก็รู้สึกว่า ฉันกับเธอมันคนละระดับกัน อยู่ด้วยกันไม่ได้แน่ ๆ เพราะฉะนั้น ถ้ารักอาใช้ อยากได้มันไปเป็นผัว เธอก็พามันกลับไปเลี้ยงดูให้สุขสบายด้วยละกันนะ ฉันยกให้"

"คุณแม่"

"ลูกชายฉันมีหลายคน ขาดไอ้ใช้ไปสักคน บ้านฉันก็ไม่เป็นอะไรหรอก อ้อ แล้วฉันก็บอกมันไปอย่างนี้เหมือนกัน และที่ฉันให้มันไปหาหมอผีที่ท่าไม้ ฉันอยากให้มันลืมอีณูเมียเก่ามันเสียให้สนิท มันจะได้ไปเสวยสุขอยู่กับเธอตามวาสนาของมัน"

"คุณแม่!"

"เย็นนี้เลี้ยงอาหารเหลาฉันสักมื้อแล้วกันนะ ฉันไม่ได้กินนานแล้ว ขอบคุณล่วงหน้า คุณหนูลูกสะใภ้"



หลังจากที่อรพรรณีสะบัดหน้าแล้วเดินออกไปจากร้าน ซึ่งนางย้อยเดาว่า คงจะไปหานางอ๋า นางย้อยก็หันไปบอกบุญปลูกที่เดินหน้ามันแผล็บลงมาจากข้างบนว่า

“อีปลูก เดี๋ยวมึงไปบอกให้อาตงมากินข้าวเย็นด้วยกันนะ บอกมันไปว่า ไอ้ใช้มา ให้มันมากินข้าวเย็นพร้อมหน้าพร้อมตาพี่น้องซักมื้อ...อ้อ ให้มันแต่งตัวมาดี ๆ ด้วยนะ”

“จ้ะ”

“มึงอยากไปด้วยไหมล่ะ...เหลาหน้าสถานีรถไฟ”

“เอ่อ...จะดีรึ”

“ไปด้วยกันหมดนี่แหละ ไอ้ป้อมด้วย มึงด้วย...อวดรวยดีนัก...มันจะได้รู้ว่าอย่ามาคิดเล่นกับกู”

“ใครรึเถ้าแก่”

“ก็เมียคุณนายของไอ้ใช้ไง... ไป ๆ รีบไป แล้วรีบกลับมาช่วยกันปิดร้าน ไปอาบน้ำอาบท่า...”

**********

เรือของศักดิ์ พาสองพี่น้องมาถึงท่าน้ำหน้าบ้านอาจารย์สมดีซึ่งมีเรือหางยาวจอดอยู่เป็นแพประหนึ่งว่า บ้านหลังขนาดกะทัดรัดนั้นมีงานบุญ...ปฐมเดินตามกมลขึ้นไปถึง ก็พบว่า ที่ใต้ถุนบ้านนั้นคลาคล่ำไปด้วยผู้คน ส่วนใหญ่จะสวมเสื้อสีขาว....พวกเขาเหล่านั้นกำลังช่วยกันจัดเตรียมบายศรีข้าวของสำคัญสารพัดอย่าง และหนึ่งในนั้นมี ‘พิไล’ อยู่ด้วย

พอเห็นว่ากมลมากับปฐม พิไลที่นุ่งขาวห่มขาว มีสไบคาดบ่า ดูเหมือนผู้ทรงศีล ก็ชักสีหน้าแปลกใจ...

“ไปอย่างไรมาอย่างไรกัน” พอสองพี่ถึงตัว พิไลก็เอ่ยปากถาม...

“อาซ้อมาทำอะไรที่นี่...มีงานอะไรกันรึ”

“พรุ่งนี้ อาจารย์สมดีเขาจะไหว้ครู ก็เลยมาช่วย” อันที่จริงพิไลไม่ได้มาช่วยเฉพาะงานนี้ แต่พิไลนั้นมาพำนักอยู่ที่นี่นานหลายสัปดาห์แล้ว เพราะอาการเจ็บปวดตามร่างกายนั้น ไม่หายสนิท อยู่ที่บ้าน หรืออยู่ที่วัดแถวบ้าน พิไลก็อยู่อย่างทุกข์ทรมาน แม้จะกินได้ แต่ก็นอนไม่หลับเพราะความเจ็บปวดที่ผ่อนหนักผ่อนเบามาไม่เป็นเวลา พิไลจึงให้แม่พามาหาอาจารย์สมดี หลังปรึกษากันว่า ควรให้พิไลอยู่ในความดูแลของอาจารย์สมดีอย่างใกล้ชิด พิไลก็ให้แม่กลับบ้านไปเก็บข้าวของจำเป็นของตัวเอง แล้วให้คนเรือนำมาส่ง...

สมดีมีน้องสาวชื่อสมลักษณ์เป็นกันชนกันคนนินทา...พิไลจึงไม่ตะขิดตะขวงใจที่อยู่ที่นี่ และพออยู่ใกล้ชิดกัน ใจของพิไลก็ค่อย ๆ หวั่นไหวไปกับรูปร่าง หน้าตา น้ำเสียง และนิสัยอารีอารอบของสมดี แต่พิไลก็ทำได้เพียงวางตัวเป็นลูกศิษย์ลูกหาที่ดี ไม่แสดงอาการหลงใหลในตัวอาจารย์หนุ่มรูปงามอย่างออกนอกหน้า เหมือนพวกแม่หม้ายแม่ร้างสาวแก่บางคน...เพราะอย่างไร พิไลก็ยังระลึกว่า ตนกับประสงค์นั้นยังไม่ได้หย่าร้างกัน...

“แล้วนี่มาทำธุระอะไรกัน”

“ตอนนี้อาจารย์แกอยู่ที่ไหน” แม้พิไลไม่ตอบ กมลก็ที่กวาดตามองไปยังตีนบันไดก็เห็นว่ามีรองเท้าวางระเกะระกะนับสิบคู่ บนเรือนมีเสียงพูดคุยกัน แสดงว่าเจ้าของบ้านกำลังรับแขก...

“ข้างบน...มีธุระอะไรกับอาจารย์รึเปล่า” พิไลยังไม่คลายสงสัย

“จะพาเฮียมาให้อาจารย์ดูหน่อยว่า พี่ณูเขาเอาของออกจริงหรือเปล่า”

พอกมลบอกดังนั้น พิไลก็เหลือบตาไปหาปฐมซึ่งมีสีหน้าผ่องใส ดูสุขสบายกาย เพียงแต่รอยหม่นเศร้าทางดวงตา ก็ทำให้พิไลรู้ว่า ปฐมก็คงมีเรื่องไม่สบายใจแน่ ๆ แต่พิไลก็ไม่อยากจะถามอะไรกลับไป เพราะเมื่อใจมันคลาย ‘คน’ และคลาย ‘รัก’ คลายทุกสิ่งที่เป็นของที่นั่น พิไลก็รู้สึกตัวเบาอย่างประหลาด...เหลือไม่กี่เดือนหรอก พิไลก็จะตัดพันธะทางกฎหมาย...เมื่อถึงเวลานั้น ดีไม่ดี ความใกล้ชิดสนิทสนม และเหตุที่พิไลยังต้องอยู่ที่นี่ พิไลอาจจะทำให้สมดีใจอ่อนมาหาจนได้...และด้วยเป็นปุถุชนพิไลก็แอบคิดว่า เธอจะต้องทำได้...เพราะใครที่ไหนหน้าไหน จะมาสู้ คนที่อยู่ใกล้ชิดกับเขา เช่นเธอได้เล่า

“ อาซ้อล่ะ สบายดีนะ...”

“ถ้าเป็นเรื่องใจก็สบายดี แต่เรื่องกาย ก็ยังมีเจ็บตรงนี้นิด ตรงนั้นหน่อย วันละนิดวันละหน่อย คือ ของที่ทางนั้นทำมันยังไม่หมดนะ เขาไม่ยอมปล่อย ก็เลยต้องมาอยู่ที่นี่ ให้อาจารย์สมดีคอยช่วยตอนที่มันสำแดงอาการ แล้วอีกอย่าง อยู่ที่นี่ก็ดี เงียบดี ได้มีคนนำสวดมนต์ไหว้พระทุกวันด้วย...”

“ผมเอาใจช่วยนะ”

“แล้วเฮียตงเป็นอย่างไรบ้าง ม้าเป็นอย่างไรบ้าง”

“เฮียก็สบายดี เขายังไม่ได้ย้ายกลับมาอยู่ที่ร้านนะ ยังอยู่ที่บ้านนั้นเหมือนเดิม ยุ่งอยู่กับโรงสีซะเป็นส่วนใหญ่ มีแต่ผมนี่แหละ ที่วิ่งไปมาระหว่างที่นั่นกับที่ร้าน เพราะหมอตรวจเจอว่าม้าเป็นเบาหวาน สามวันดีสี่วันไข้เหมือนเดิม”

“เฮียกลับมาอยู่บ้านแล้วนี่ คงมีคนช่วยเพิ่มอีกคน”

“ยังหรอก เฮียยังไม่ได้กลับมาหรอก คือเฮีย แกมีเมียใหม่แล้ว”

“คนที่ไหน ใครรึ”

“ลูกสาวของนาย คนที่เคยพากันมาเยี่ยมเตี่ยวันนั้นแหละ...”

ช่วงที่กมลคุยกับพิไล ปฐมยืนนิ่ง สายตาจับอยู่บันไดบ้าน ไม่กล่าวค้าน ไม่ห้ามปราม ไม่ถามไถ่อะไร ใจของเขาในยามนี้ คิดอยู่อย่างเดียวว่า ที่ยังนึกเสียดาย และคิดถึงเรณูจนถึงทุกวันนี้ เป็นเพราะเสน่ห์ยังอยู่หรือเป็นเพราะใจของเขามันเป็นของมันอย่างนั้นเอง....

***************

พอ ‘แขก’ ลงจากเรือนกันมาแล้ว พิไลก็บอกกับกมลให้รีบพาปฐมขึ้นไปหาอาจารย์สมดีซะก่อนจะลงมาข้างล่าง...กมลชวนพิไลขึ้นไปด้วย แต่พิไลส่ายหน้าแล้วก็บอกว่า “อย่าให้พี่ต้องไปรับรู้เรื่องอะไรอีกเลย...ไปเถอะ”

หลังสะกิดพี่ชายให้ก้มกราบ กมลก็บอกถึง ‘ธุระ’ สำคัญของตน...ซึ่งวันนี้ เขามาด้วยเรื่องของพี่ชายคนโต ซึ่งเป็นต้นเหตุของเรื่องราวที่เกิดขึ้นทั้งหมด...หลังทราบเรื่อง สมดีที่อยู่ในชุดขาว มีประคำคล้องคอดูน่าเกรงขาม ก็หลับตาสำรวมใจไปครู่ใหญ่ๆ แล้วก็ลืมตาขึ้น....ดวงตานั้น เปี่ยมไปด้วยเมตตาเช่นเดิม...

“เรณูเขาเอาของออกไปแล้วจริง ๆ ไม่มีติดค้างอยู่แล้วด้วย”

“แต่ทำไมเฮียถึงยังรู้สึกรัก และคิดถึงเขาอยู่ล่ะ”

ได้ยินดังนั้นสมดีก็หัวเราะหึ ๆ แล้วยิ้มออกมา... “ทางนั้นเขาไม่ได้ใช้ของแรงอย่างตอนทำใส่เถ้าแก่หรอกนะ เพราะอะไรรู้ไหม เพราะลึก ๆ แล้ว คุณเองก็ชอบเขาอยู่ไม่น้อยเหมือนกันใช่ไหม” ท้ายประโยค สมดีหันไปหาปฐม...

“ครับ...ผมไม่ได้รังเกียจเขา”

“ตอนนั้นน่ะไม่เกลียด ไม่รังเกียจ แต่ก็ยังไม่ถึงกับรัก...แต่หลังจากมีความผูกพันทางกายกันแน่นแฟ้นเป็นผัวเป็นเมียกัน ได้อยู่ด้วยกันแล้ว ความรักมันก็เลยเกิดขึ้น เกิดเพราะอะไร คุณก็น่าจะรู้อยู่แก่ใจดี ใช่ไหม”

ปฐมสบตาอาจารย์สมดี แล้วก้มหน้าไม่ตอบคำถามนั้น สมดีเห็นดังนั้นจึงบอกว่า

“ถ้าเอากันตามตรงไม่เข้าข้างใคร เรื่องเสน่ห์เล่ห์กล เมตตามหานิยม มันก็ไม่ได้เลวร้ายจนเกินไปนักหรอก อยากรู้ไหมว่า ทำไมผมถึงได้พูดอย่างนี้...”

ปฐมหันมามองหน้าคู่สนทนาอีกครั้ง...เช่นเดียวกับกมลที่ยืดอกตั้งใจฟัง...

“ก็เพราะคนที่เขาทำของพวกนี้ใส่เรา เขาทำด้วยความรักน่ะซิ...อย่างไร เขาก็ไม่เอาให้ถึงตายหรือทำให้ต้องฉิบหายขายตัวหรอก...ถ้าถามว่าผิดไหม มันก็ผิด แต่เป็นความผิดที่มีความรัก ความเห็นแก่ตัว เป็นข้ออ้าง...คุณเข้าใจที่ผมพูดไหม...”

*****************

พากันกลับมาถึงบ้าน ปฐม กมล ก็เห็นว่าประสงค์ซึ่งอาบน้ำสวมเสื้อผ้าเนื้อดี หวีผมเรียบแปล้ นั่งอ่านหนังสือพิมพ์รออยู่แล้ว...พอเห็นหน้าพี่ชายคนโต เขาก็ร้องทัก... “เฮีย..”

“สบายดีนะ...”

“สบายดี...”

“แล้วนี่ม้าไปไหน”

“ขึ้นไปแต่งตัว...”

“จะไหนกัน”

“ม้าว่าจะพาไปกินเหลา...ฉลองที่ได้ลูกสะใภ้ใหม่...แกบอกผมอย่างนั้น...”

“ม้าเขาบอกเฮียอย่างนั้นหรือ” กมลแทรกเข้ามา...

“ไม่เชื่อก็ขึ้นไปถามม้าซิ...ไป ๆ ไปอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้ากัน ผมหิวจะแย่แล้ว...แล้วเมียเฮียก็รออยู่ข้างบน รีบขึ้นไปหาอีเถอะ...”

ปฐมก็เลี่ยงขึ้นไปด้านบน...กมลหันมาหาประสงค์แล้วบอกว่า

“เฮีย...ผมเจออาซ้อที่บ้านอาจารย์สมดี”

“เขาไปทำอะไรที่นั่น” พอประสงค์ถาม กมลก็บอกเล่าไปตามที่ทางนั้นบอกมา...ประสงค์ฟังแล้วก็ไม่พูดอะไร...เพราะใจของเขาไม่หลงเหลือพิไลให้คิดถึงอีกแล้ว...

“แล้วเรื่องของตั่วเฮียล่ะ ทางนั้นสรุปว่าอย่างไร”

“อาจารย์สมดีเขาบอกว่า พี่เรณูถอนของออกนานแล้วเฮีย ที่เฮียใช้ ยังรู้สึกรักและคิดถึงพี่เรณูอยู่ ก็เป็นเพราะว่า เฮียของเรา รักพี่เรณูจริง ๆ น่ะซิ... ผมเดาเอานะ...”

“แล้วทีนี้เฮียแกจะทำอย่างไร”

“ก็ไม่รู้เหมือนกัน...ดูกันต่อไปก็แล้วกัน...ผมไปอาบน้ำก่อนนะ...หิว”

ยังไม่ทันที่กมลจะผละไป ที่ประตูบานเฟี้ยมของร้านที่เปิดไว้ก็ปรากฏร่างของบุญปลูก...ซึ่งมาพร้อมกลิ่นฟุ้งจนทั้งกมลกับประสงค์ต้องหันไปมอง และพอเห็นว่าหน้าตาของบุญปลูกมีสีสัน แต่งแต้มด้วยเฉดสีที่แรงกว่าตอนกลางวัน และบุญปลูกก็ยังใส่เสื้อตัวใหม่...กมลที่ปากไว ก็เอ่ยทักไปว่า

“แต่งตัวแต่งหน้าจะเล่นงิ้วที่ไหนรึ ปลูก...”

******************

พอเห็นปฐมเดินเข้าห้องมา อรพรรณีที่แต่งตัวเสร็จเรียบร้อยแล้วนั่งคอยด้วยสีหน้าบึ้งตึงอยู่บนเตียงก็เปรยออกมาว่า “นึกว่าจะทิ้งหนูไว้ที่นี่ซะแล้ว”

แม้จะเหนื่อยใจ แต่ปฐมก็รู้สึกเห็นใจเช่นกัน “จะทิ้งได้อย่างไรล่ะ ทำไมถึงได้คิดอย่างนั้น”

“ได้เรื่องว่าอย่างไรบ้าง อีเมียเก่าของพี่ มันถอนของออกไปหรือยัง”

“ถอนออกไปนานแล้ว...”

“ถอนออกแล้ว แล้วที่พี่ยังละเมอถึงมัน เกิดจากอะไร”

“จะให้ตอบว่าอย่างไรถึงจะพอใจล่ะ”

“ยังรักยังคิดถึงมันอยู่ละซิท่า ก็อย่างว่าละนะ มันเป็นถึงผู้หญิงที่เคยทำงานอยู่ในเลานจ์ในบาร์”

“คุณหนู”

“ก็จริงไหมล่ะ” ยังไม่ทันที่เขาจะตอบโต้ อรพรรณีก็พูดต่อ

“หนูมันแค่เด็กแก่แดด แต่นังนั่นมันแก่แรดเจนโลก หนูจะไปสู้อะไรมันได้”

“สุดแต่จะคิด...”

“พรุ่งนี้เช้า กลับกรุงเทพฯ กันได้แล้วนะ...”

“พี่ยังไม่อยากกลับ”

“แต่แม่พี่เขาบอกกับหนูว่า พาพี่กลับไปได้แล้ว เขารู้ว่าพี่ไปอยู่กับหนู แล้วอยู่ดีมีสุข เขาก็หมดห่วง แล้วเราจะอยู่ที่นี่ให้ลำบากไปทำไมอีก...”

ได้ยินดังนั้นปฐมก็ถอนหายใจออกมาอย่างแรง...เห็นดังนั้นอรพรรณีจึงค้อนให้เขาแล้วก็บอกว่า

“ตราบใดที่หนูยังสนุกอยู่กับพี่ พี่ก็ยังทิ้งหนูไปไหนไม่ได้หรอก...ไป ไปอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้า จะได้พากันไปเลี้ยงฉลองที่ได้ลูกสะใภ้ รูปสวยรวยทรัพย์แบบหนูอรพรรณี คนนี้...” น้ำเสียงนั้นดูเจ็บใจมากกว่าจะยินดีที่รู้ว่า งานนี้ นางย้อยขนน้อง ๆ ของปฐม และคนงานในบ้านไปให้เธอเลี้ยงอาหารเหลา...

****************

หลังจากเห็นลูกชายทั้งสามคนกลับมาอยู่กันพร้อมหน้า น้ำตาก็ชื้นหัวตาของนางย้อย โดยใจก็คิดว่า ถ้ามงคลยังอยู่ นางจะมีความสุขมากกว่านี้... แต่เพียงประเดี๋ยวเดียวนางย้อยก็กะพริบตาไล่ม่านน้ำตาออกไป

“พร้อม ก็ไปกันได้แล้ว” ว่าแล้วนางย้อยก็เดินนำหน้า มีกมลกับประสงค์เดินคู่กันตามหลัง ปฐมกับอรพรรณีเป็นคู่ถัดไป และคู่สุดท้ายคือบุญปลูกกับป้อมซึ่งถือเป็นคนงานคู่ทุกข์คู่ยากของนางย้อย...

พวกชาวบ้านร้านตลาดเห็นภาพอันถือว่าเป็นภาพแปลกตา ต่างก็พากันร้องถามว่า “ชักแถวจะไปไหนกันรึ”

แล้วนางย้อยก็ตอบไปด้วยน้ำเสียงรื่นรมย์ว่า “ไปเลี้ยงรับขวัญลูกสะใภ้คนใหม่สักหน่อย”

“เมียใครรึ” ไอ้ที่ยังไม่รู้ก็เอ่ยถาม...ที่รู้แล้วก็ได้แต่พินิจพิจารณาเปรียบเทียบกับคู่สะใภ้ที่สร้างปัญหาไว้ให้ก่อนหน้าอยู่เงียบ ๆ...

“เมียอาใช้...หนูอร สวัสดี อาซิ่มเขาซิลูก”

พอนางย้อยเย็นมา อรพรรณีก็พร้อมจะเย็นตอบ...เพราะถึงแม้จะเป็นคนที่มั่นใจในตัวเองสูง และเอาใจตัวเองอย่างร้ายกาจ แต่อรพรรณีก็โตมากับแม่ กับครอบครัวใหญ่ หญิงสาวจึงชินกับเรื่องอ่อนน้อมนบไหว้ผู้หลักผู้ใหญ่ แม้บางครั้งจะเป็นการไหว้อย่างเสียไม่ได้ก็ตามที...ซึ่งอาการนี้ของอรพรรณีก็ทำให้นางย้อยพอดูออกว่า แม่คนนี้ถึงจะแก่แดดแก่ลม แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีสกุล!...

หลังจากที่ทั้งคณะพากันทรุดตัวลงนั่งล้อมรอบโต๊ะกลมตัวใหญ่...อาแปะเจ้าของร้านก็กุลีกุจอ ออกมารับหน้าเสียเอง...

“มีอะไรเป็นพิเศษถึงได้หอบกันมากินข้าวนอกบ้านกันทั้งครอบครัวแบบนี้ บอกให้อั๊วยินดีด้วยหน่อยได้ไหม”

“รับขวัญลูกสะใภ้คนใหม่จ้ะเฮีย...เมียอาใช้เขาน่ะมาจากกรุงเทพฯ...”

หลังจากนางย้อยแนะนำอย่างนั้น อรพรรณีก็ยกมือนบไหว้...

“ยังดูเด็กอยู่เลย แต่ดูสวย ไม่แพ้ลูกสะใภ้คนไหน ของซิ่มเลยนะ...”

หลังเจรจาปราศรัยพอเป็นพิธี นางย้อยก็สั่งอาหารเสียมากมาย ระหว่างนั้น กมลซึ่งคอยพานางย้อยไปหาหมอ จะรู้ดีว่า มีอาหารชนิดไหนเป็นของแสลงโรคของแม่ ก็ร้องขัดว่า

“อย่าเอาเลย ม้า ไขมันมันเยอะ”

“ม้าไม่ได้สั่งมากินเอง ม้าสั่งมาให้พวกแกกิน ใครอยากกินอะไรก็สั่งเลยนะ...มื้อนี้ม้าเลี้ยงเอง...เลี้ยงไม่อั้นด้วย...”

“ให้หนูเลี้ยงอย่างที่ตกลงกันก็ได้ ม้า”

“ไม่ต้องหรอก ก่อนหน้านั้นฉันหยอกเธอเล่น แล้วมื้อนี้เป็นมื้อพิเศษอย่างที่ฉันบอกชาวบ้านไปนั่นแหละ...”

พอนางย้อยบอกอย่างนั้น อรพรรณีก็รู้สึกถึงความเป็นมิตรและเห็นถึงความเป็นคนใจใหญ่ซึ่งขัดกับคำบอกเล่าของนางอ๋า...ก็รู้สึกดีกับนางย้อยขึ้นมา...

ช่วงที่รออาหาร นางย้อย ที่นั่งหลังตรง โดยมี ประสงค์กับ กมล ขนาบข้าง ก็บอกว่า

“เห็นพวกแกกลับมาอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันแล้ว ม้าก็อดนึกถึงเตี่ย นึกถึงอาสี่มันไม่ได้” พูดแล้วนางย้อยก็ทำท่าจะร้องไห้

“ม้า ไม่เอาน่า” กมลรีบลูบหลังเพราะรู้ว่า เรื่องจากตายของมงคลนั้นไม่เคยหายไปจากใจของแม่ วันดีคืนดี แม่หยิบรูปถ่ายของมงคลขึ้นมา แล้วแม่ก็นั่งร้องไห้สะอึกสะอื้นปริ่มว่าจะขาดใจตาย...เขาก็ได้แต่ปลอบและเฝ้าอยู่เป็นเพื่อนจนกระทั่งแม่สูดลมหายใจเข้าปอดตั้งสติอยู่กับความเป็นจริงของชีวิตที่ว่า 'อันคนเรานั้น ย่อมพลัดพรากจากของรักของชอบใจด้วยกันหมดทั้งสิ้น'

นางย้อยหยิบผ้าเช็ดหน้าซับหัวตา...แล้วสูดลมหายใจเข้าปอด...พอตั้งสติแล้วนางย้อยก็มองหน้าของปฐม ซึ่งนั่งถัดไปจากกมล...

“อาใช้...ม้ามีเรื่องจะคุยกับแกหน่อย แล้วม้าก็จะขอคุยต่อหน้าเมียแก ต่อหน้าน้อง ๆ แกนี่แหละ”

“มีอะไรหรือม้า”

“ตอนที่แกไปท่าไม้ ม้าคุยกับหนูอรเขาแล้ว...ม้าถามเขาว่า อยู่ทางนั้นแกเป็นอยู่อย่างไร...ฟังหนูอรเขาแล้ว ม้าก็คลายความเป็นห่วงเป็นใยแกไปได้เยอะเลย...”

ปฐมเหลือบตามองที่โต๊ะ...ประสงค์กับกมลสบตากันแล้วก็เบือนหน้าไปมองทางอื่น ส่วนอรพรรณีกลอกตาไปทางซ้ายทีทางขวาทีก่อนจะเชิดหน้าขึ้นเพราะความภูมิใจว่า ในที่สุดอำนาจของเงินก็เอาชนะทุกสิ่งอย่างได้อย่างที่เคยชนะ...

“ทีนี้ก็เหลือเพียงแต่ใจของแกเท่านั้นที่ม้ายังเป็นห่วงอยู่นะ...” พอแม่บอกอย่างนั้น ปฐมก็เหลือบตาขึ้นสบตากับแม่...

“ตอนที่แกพานังเรณูเข้าบ้านมา ม้าก็คิดไปถึงเรื่องอะไรต่อมิอะไรเยอะแยะไปหมด...แต่พอวันนี้ เรื่องเยอะแยะเหล่านั้น ม้ารู้แล้วว่ามันไม่ได้ทำให้ม้ามีความสุขเลยสักนิด...จะว่าเรื่องราวร้าย ๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของม้า ในช่วงเวลาสั้น ๆ นี้ ทำให้ม้าปลง และคิดอะไรได้เยอะเลยก็ได้...”

“ม้ากำลังจะบอกอะไรพวกเรา”

“แกไปได้เมียใหม่ มีท่า มีฐานะ ม้าก็ดีใจกับแก เหลือแต่ใจของแกที่ยังมีนังเรณูเก็บไว้ ที่ม้านึกเป็นห่วง...ถ้าม้าจะขอ...ม้าก็ขอให้แกลืมมันซะ”

“แต่เขามีลูกกับผมนะม้า”

“ม้าเชื่อว่าคนอย่างมัน คงไม่ปล่อยให้ลูกอดตายหรอก...แล้วที่สำคัญเรื่องนี้ ใคร ๆ ก็มองว่ามันผิด ถึงแกจะรักมัน ให้อภัยมัน ถึงม้าจะไม่โกรธไม่เกลียดมันเพราะความดีของมันที่มีอยู่ไม่น้อย มันก็ยากที่จะเห็นมันกลับมาอยู่ที่นี่กับแก...เพราะฉะนั้น แกพยายามทำใจให้ลืมมันซะ คิดซะว่า ทำบุญด้วยกันมาแค่นั้น...”

“ม้า”

“คนที่นั่งอยู่ก็เมียแก ลูกเขามีพ่อมีแม่เหมือนกัน...เขาอาจจะยังเด็ก ยังไม่ประสา แต่เขาก็รักแก และดูท่าแล้ว ก็จะไม่น้อยไปกว่านังเรณูเสียด้วย...”

น้ำตาของปฐมเริ่มคลอลูกตา

“พรุ่งนี้ ก็พากันกลับกรุงเทพฯไปซะ โตแล้ว ต้องคิดพึ่งพาตัวเองให้ได้นะ ถ้าไปอยู่ที่นั่น แล้วมันไปไม่รอด แกก็ค่อยกลับมา ของทุกอย่างที่ควรจะเป็นของแก มันก็จะยังเป็นของแก...ม้าจะไม่ยกให้ใครคนใดคนหนึ่ง ม้าสัญญา”

“ม้า...” น้ำตาของปฐมไหลออกมา อรพรรณีเห็นดังนั้นจึงส่งผ้าเช็ดหน้าให้เขา เขารับมาปิดหน้าแล้วสะอื้นฮัก ๆ อย่างไม่ได้อายสายตาของใคร...เห็นอาการของลูกชายเป็นดังนั้น นางย้อยก็เชิดหน้าขึ้นสูดลมหายใจเข้าปอดตั้งสติอีกครั้ง...

“ทีนี้ก็มาที่แก อาซา...ม้าก็ต้องพูดเรื่องของแกต่อหน้าอาใช้มันเหมือนกัน”

“ว่ามาเลย ม้า”

“หลังจากคัดเลือกทหาร ถ้าแกไม่ติดทหาร แกก็ไปตามแผนชีวิตของแกที่วางไว้ เบื้องต้น ม้าจะยกตึกแถวที่ปากน้ำโพให้ห้องหนึ่งและเงินทุนอีกแสนหนึ่งตามที่ได้คุยกันไว้แล้ว...ส่วนงานแต่งของแก ก็คงแค่ทำพิธียกน้ำชาให้อาม่า อาเจ็ก อาอึ้ม และม้าเท่านั้น...ส่วนทรัพย์สมบัติทางนี้ ไม่ว่าจะเป็นที่ไร่ที่นาม้าจะต้องขอดูอีกทีว่าแกควรจะได้อีกสักเท่าไหร่...แกพอใจไหม”

“พอใจ ม้า...” กมลตอบชัดถ้อยชัดคำ...

“ส่วนอาตง...แกยังไม่มีแผนชีวิตอะไรที่แน่ชัด แกก็อยู่ตามประสาแกไป แต่ถ้ามีอะไรผิดไปจากที่แกตั้งใจไว้ ม้าก็จะยกกิจการโรงสีให้แกดูแล ส่วนที่ดินนั้น ม้าคงให้แกทั้งหมดเลยไม่ได้ เพราะมันเป็นที่ในเมืองราคามันสูง และอีกสองส่วนมันยังจะต้องเป็นของอาใช้ ของอาซา แกพอใจกับขอเสนอของม้าไหม”

“พอใจ ม้า...”

“แล้วร้านนี่ล่ะ ม้า...ม้าจะทำอย่างไรกับมัน” กมลเอ่ยถาม

“...ถึงจะมีกินแล้ว หยุดทำได้แล้ว แต่ถ้ายังต้องกิน ก็ต้องทำมันต่อไป ถ้าทำไม่ไหวจริง ๆ วันนั้นก็ค่อยมาว่ากันอีกที บางทีม้าอาจจะให้เขาเซ้งแล้วกลับไปอยู่ใกล้มดใกล้หมอที่ปากน้ำโพกับอาซามันก็ได้...รึบางที อาใช้ มันอาจจะไปอยู่กับเขาไม่ได้ก็ได้ ถ้ามันกลับมา อย่างไรแล้ว ที่นี่ก็เป็นของของมัน”

หลังจากจาระไนความในใจหมดแล้ว นางย้อยก็หยิบถุงสีแดงออกมาจากกระเป๋าเงิน...

“และนี่ เป็นแหวนทองหัวทับทิมสำหรับเมียแก สวมให้คุณหนูของแกเสียซิ” อรพรรณีไม่คิดว่านางย้อยจะมีเมตตากับตัวเองถึงเพียงนี้...

“ม้า...”

“หนูอร ถึงแม้ว่า ของชิ้นนี้ ถ้าเทียบกับทรัพย์สมบัติที่หนูมี มันจะมีค่าเพียงน้อยนิด แต่แม่ก็ขอให้หนูระลึกว่า แม้หนูจะเข้ามา อย่างไม่ถูกต้องตามประเพณี แต่แม่ก็ยอมรับหนูเป็นลูกสะใภ้ของแม่คนหนึ่ง...”

“ขอบคุณค่ะ” ว่าแล้วอรพรรณีก็ยกมือนบไหว้ขอบคุณด้วยความจริงใจ...

หลังจากที่ปฐมสวมแหวนให้แล้ว นางย้อยก็บอกว่า

“อย่างไรก็รักลูกชายของแม่ไปให้นาน ๆ นะ หนักนิดเบาหน่อยก็ให้อภัยกัน...อาใช้ น้องยังเด็กนักนะลูก มีอะไรก็ค่อย ๆ พูด ค่อย ๆ จากันนะ ผิดก็สั่งสอน อย่าใช้แต่อารมณ์เข้าหากันนะ รู้ไหม”

“ครับ ม้า” บอกแล้วปฐมก็สูดลมหายใจเข้าปอด...

และยังไม่ทันที่ใครจะเอ่ยอะไรออกมา พนักงานของร้านก็ยกอาหารที่สั่งไว้ตั้งมากมาย ออกมาเสิร์ฟ...

นางย้อยที่กินข้าวไม่ค่อยได้ กลืนอาหารไม่ลงคอมาหลายวัน รู้สึกว่าอาหารเย็นมื้อนั้น เป็นมื้อที่ตัวเองจะไม่มีวันลืมไปจนชั่วชีวิต!

********************************



10
ตอนที่ 64 : ปฐมบท ของ ปฐม

               ๖๔


เมื่อประสงค์ไม่กลับมาอยู่ที่บ้าน โดยตั้งใจจะหาอยู่หากินเอง นางย้อยก็ไม่ได้ว่าอะไร แต่ในความเป็น 'แม่' นางย้อยก็อดเป็นห่วงไม่ได้ มื้อเช้าประสงค์บอกว่าจะออกมาหากินที่ตลาด ส่วนมื้อกลางวันจะให้พวกคนงานออกมาซื้อให้หรือไม่ก็ฝากท้องกับพวกเมียคนงาน เพราะประสงค์เป็นคนอยู่ง่ายกินง่าย ไม่เรื่องมากเรื่องกินมาแต่ไหนแต่ไร

แม้จะเห็นว่าลูกชายซึ่งกลายเป็นหม้ายทิ้งกับเมียเสียตั้งแต่ยังหนุ่มแน่น แยกไปมีชีวิตอยู่ต่างหาก เหมือนเมื่อครั้งยังมีพิไลอยู่ได้ด้วยดี นางย้อยก็ยังมีความเป็นห่วงไม่เลิก เริ่มจากเรื่องเสื้อผ้า และงานทำความสะอาดบ้าน ซึ่งก่อนหน้านั้นพิไลจ้างให้คนอื่นทำให้ และหนึ่งในนั้นก็เป็นหลาน ๆ ของบุญปลูก ที่คอยมาถูบ้านและตักน้ำจากแม่น้ำมาให้ใช้ พอพิไลไม่อยู่ นางย้อยจึงบอกให้บุญปลูกไปคอยกำกับดูแลหลาน ๆ ให้ทำงานให้ประสงค์เหมือนเดิม เพราะเมื่อกลับมาจากทำงาน เขาก็จะได้พักผ่อนในบ้านที่สะอาดสะอ้าน ได้อาบน้ำที่มีอยู่เต็มโอ่ง ได้สวมเสื้อผ้าที่มีกลิ่นหอม

ส่วนเรื่องอาหารการกินนั้น นางย้อยทำอะไรก็จะสั่งให้บุญปลูกปั่นจักรยานนำไปให้ประสงค์ ทั้งช่วงกลางวัน และช่วงเย็นหลังจากที่ปิดร้าน

ประสงค์กับบุญปลูกจึงกลับมาสนิทสนมกันเหมือนเมื่อก่อนประสงค์จะบวชและสึกออกมาแต่งงานไป

ด้วยเหตุที่ต้องใกล้ชิดกันเพราะคำสั่งของนางย้อย ทำให้บุญปลูกที่เคยแอบฝันถึง 'คุณชาย' กลับมาคิดถึงผู้ชายที่จะสามารถช่วยยกระดับชีวิตตัวเองอีกครั้ง

แต่ครั้งนี้ ฝันของบุญปลูกกลับมาบรรเจิดกว่าเมื่อครั้งเป็นสาวน้อยที่แอบมองรูปลักษณ์ของปฐม และต้องตาพอใจกับบุคลิกนิสัยใจคอของกมล

บุญปลูกเริ่มแต่งเนื้อแต่งตัว ผัดหน้าทาปาก เข้าร้านตัดผม จนคนอื่น ๆ เริ่มรู้สึกแปลกตา แล้วก็แซวเอาว่า

"ทำผมแต่งหน้าแต่งตัวนี่ จะมีผัวหรือไง อีปลูก"

บุญปลูกก็แก้ตัวไปว่า "ฉันสิบเจ็ดแล้วนะ ไม่ใช่เด็ก ๆ ถ้าจะแต่งอวดใคร ล่อใคร มันจะผิดอะไรล่ะ"
 
"มีไอ้หนุ่มที่ไหนมามองมึงล่ะ กรรมกรที่ท่าเรือ หรือกุลีร้านไหน"

"ไม่มีหรอก แต่งไปอย่างนั้นแหละ เห็นคนอื่นเขาสวยกัน ฉันก็อยากสวยบ้าง"  อันที่จริงบุญปลูกไม่ใช่คนขี้เหร่นักหรอก ถึงจะไม่สวยคมคายดูเย่อหยิ่งไว้ตัวแบบวรรณา แต่พอแต่งตัวเสียใหม่ บุญปลูกก็กลายเป็นที่สะดุดตายิ่งขึ้น

นางย้อยนั้นเห็นความเปลี่ยนแปลงของบุญปลูก แต่ก็ไม่ได้ว่าอะไร เพราะมั่นใจว่า ประสงค์คนธรรมะธัมโมคงไม่หลงเสน่ห์บุญปลูกเป็นแน่!

**********

"กลับมาแล้วรึ อาใช้ ปลดทหารแล้วรึ"

"แล้วพาใครกลับมาด้วยล่ะนั่น"

"แม่คนนี้มครรึ"

มีคำถาม ถามปฐมระหว่างที่พาคุณหนูอรพรรณีเดินออกจากร้านไปซื้อหาเครื่องนอนชุดใหม่ เพราะชุดที่มีอยู่นั้น อรพรรณีบอกว่า

"หนูนอนไม่ได้ หรอกนะ เก่าแบบนี้ ฝุ่นจับหนาเตอะ กลิ่นก็ไม่ไหว ซื้อใหม่หมดเลยดีกว่า"

"แต่เรานอนกันแค่ไม่กี่วัน เดี๋ยวก็กลับ"

"คืนเดียวก็ต้องเปลี่ยน"

ตอนนั้นปฐมทำได้เพียงถอนหายใจหนัก ๆ เช่นทุกครั้งที่คุณหนูสรุปเรื่องไปในทางตามใจตัวเอง

ระหว่างทางไปร้านขายพวกเครื่องนอน ปฐมเลี่ยงการเดินผ่านไปยังตรอกซอยซึ่งเป็นที่ตั้งของร้าน 'เรณูบูติก' ทั้งที่มั่นใจว่า ป่านฉะนี้เรณูคงรู้แล้วว่า เขากลับมาพร้อมกับผู้หญิงคนใหม่

ผู้หญิงที่เขาหลวมตัวเพราะแรงกำหนัดตามประสาวัยหนุ่มฉกรรจ์ ความใกล้ชิดกับความรู้สึกสงสารเห็นใจในความเมตตาที่มีให้ระหว่างที่เขาป่วยไข้ นอนซม เพราะอาเจียนและถ่ายท้องอยู่หลายวันนั้น กระทั่งฟื้นตัวมีกำลังวังชา เขาก็เผลอใจตอบสนองความต้องการของอรพรรณีซึ่ง 'ให้ท่า' เขาตลอดมา เพราะคิดว่าเมื่อปลดทหารกลับบ้านไปแล้ว เขาและเธอก็จะต่างคนต่างไป เพราะเธอนั้นเป็นสาวน้อยที่นิยมเรื่องเที่ยวเตร่ ไม่สนใจเล่าเรียนหนังสือ และคบหาเพื่อนชายมากหน้าหลายตา

แต่ที่ไหนได้ หลังจากที่เขา 'ใจอ่อน' ทั้งที่ก่อนหน้านั้น เขาก็รู้สึกกลัว 'ใจ' ของลูกสาวนาย และตัวนายซึ่งตามใจลูกสาวคนนี้อย่างกับอะไรดี อรพรรณีก็เข้าไปบอกกับคุณพ่อของเธอด้วยสีหน้าเรียบเฉยว่า เธอกับเขานั้นไปถึงไหน ๆ กันแล้ว 

'นาย' ไม่ว่ากล่าวอะไรลูกสาว ไม่ได้ว่าอะไรเขา ได้แต่บอกว่า อย่างไรก็อย่าทำอะไรประเจิดประเจ้อให้คนในค่ายเอาไปพูดกันได้ เพราะเขาเป็นเพียงพลทหารฯ

แต่หลังจากวันนั้น อรพรรณีก็ไม่ยอมให้เขาคลาดสายตา เธอขอให้เขาเป็นคนขับรถให้ พากลับไปที่บ้านกรุงเทพฯ อีกครั้ง พร้อมกับประกาศตัวให้ญาติข้างแม่รับรู้อย่างไม่สนใจสายตาและความรู้สึกของใคร เธอพาเขาไปเปิดหูเปิดตา พาไปเที่ยวเตร่ตามสถานที่ต่าง ๆ  ทำให้เขาหลงใหลกับทรัพย์สินเงินทอง เพื่อทำให้เขาลืมเมีย ลืมลูก ลืมแม่ ลืมบ้านที่อยู่ข้างหลัง โดยที่เขาก็ไม่เคยรู้สึกลืม

นานวันเข้า จากไม่ยอมลืมก็เปลี่ยนเป็นคิดถึงอย่างรุนแรง และเริ่มรู้สึกอึดอัดคับใจ เพราะยิ่งอยู่ด้วยกันฉันผัวเมีย เขาก็ยิ่งเห็นถึงความไม่น่ารักอย่างที่เคยเห็น เขาเห็นแต่ความเอาแต่ใจตัวเองอย่างร้ายกาจของอรพรรณี แต่เขาก็ไม่รู้จะหาวิธีตีจากได้อย่างไร แค่ลองโยนหินถามทางว่าถ้าเขาอยากจะกลับมาอยู่ที่บ้านตลอดไป อรพรรณีก็เริ่มจะแผลงฤทธิ์เสียแล้ว

ใจของปฐมเต้นแรง เมื่อได้ยินคำถามแบบนั้น

ใจของปฐมเต้นแรง เมื่อรู้ว่าอีกไม่กี่นาทีก็จะต้องเผชิญหน้ากับเรณู เหมือนเมื่อครั้งที่เขาพาเรณูกลับเข้าบ้าน แล้วต้องเผชิญหน้ากับแม่ กับปัญหาที่ตัวเองก่อไว้ แต่ครั้งนี้มันเป็นกับเรณู และเรณูก็คงไม่ยอมให้ใครมาแย่งเขาไปได้ง่าย ๆ แน่

ปฐมไม่ใช่คนที่แข็งแกร่ง คิดทำอะไรได้โลดโผนอย่างกมลและมงคล เพราะชีวิตที่ผ่านมาของเขานั้น มีแต่แม่เป็นคนคิดแทนและตัดสินใจให้ตลอดมา


"เอ้า ถามก็ไม่ตอบว่าพาใครมาด้วย" คำถามเร่งเร้าของอาแปะเจ้าของร้าน ทำให้ปฐมสะดุ้ง

"เมียอั๊วเอง"

"อั๊ยยะ รวดเร็วทันใจดีนะ เก่าไปปุ๊บ ใหม่ก็มาทันทีเลย ลื้อนี่เห็นหงิม ๆ ก็ไวไฟใช่ย่อยเลยนะ"

ได้ยินดังนั้น หัวคิ้วของปฐมก็ขมวดเข้าหากัน 'เก่าไปปุ๊บ ใหม่ก็มาทันที'  อาแปะหมายถึงพอเรณูไป และอรพรรณีก็เข้ามาเลยอย่างนั้นรึ

เรณูไปไหน เป็นเรื่องที่ปฐมเกิดความสงสัย แต่เป็นเพราะอรพรรณียืนเลือกหาสินค้าอยู่ข้าง ๆ ปฐมจึงไม่ได้ซักอะไรกลับไป แต่ใจของเขานั้นโลดแล่นไปยังตรอกซอยนั้นเสียแล้ว

พอได้ของที่ต้องการ และอาแปะก็บอกว่าจะให้เด็กถือเอาไปให้ที่ร้าน อรพรรณีซึ่งเป็นคนจ่ายค่าสินค้าเหล่านั้นก็บอกกับปฐมว่า

"ที่นี่มีอะไรอร่อย ๆ กินบ้างคะ"

"กินเย็นตาโฟไหม"

"น่าสน อ้อ แล้วร้านเมียพี่ใช้อยู่ตรงไหน กินแล้วก็เข้าไปหาเขาเลยดีไหม พรุ่งนี้เราจะได้รีบกลับกรุงเทพฯ กันแต่เช้า" อรพรรณีพูดเหมือนกับว่า การเผชิญหน้ากับเรณู ผู้ซึ่งเป็นเมียหลวง เมียที่ชาวบ้านชาวช่องรับรู้นั้นเป็นเรื่องง่าย ๆ

ใช่แล้ว สำหรับอรพรรณี ชีวิตของเธอไม่เคยมีอะไรยุ่งยาก ถ้าอยากได้อะไร เธอจะต้องได้ แม้ว่าจะต้องดิ้นเร่า ๆ ประจานความน่าหมั่นไส้ให้คนทั้งถนนเห็นก็ตาม แม่ของเธอเลี้ยงเธอมาแบบนั้น

ได้ยินดังนั้น ใจที่ร้อนรุ่มของปฐมไม่รอให้ 'กินแล้ว' เสียก่อน อย่างที่อรพรรณีต้องการ เขาเดินนำหญิงสาวเดินทะลุตรอกแคบ ๆ แล้วตั้งใจจะเดินผ่านไปดูร้านเรณูบูติกให้เห็นเสียเลยว่า เรณูยังอยู่หรือเปล่า

แต่พอไปถึง ใจของเขาก็หายแวบ ความเย็นสะท้านไหลเข้ามายังทรวงอกเหมือนว่าเปิดลิ้นชักมาแล้วพบว่า ของที่ตนเองรักใคร่ทะนุถนอมนั้นหายไป เมื่อเห็นว่าร้านที่เรณูบอกกับเขาว่า แม่ของเขามาเซ้งให้เปิดร้านขายผ้านั้นปิดสนิท และฝุ่นละอองหนาเตอะที่จับอยู่กับพื้นหน้าร้านก็เป็นเครื่องยืนยันว่า เรณูจากที่นี่ไปนานแล้ว

เรณูไปแล้ว เรณูไปไหน ใครทำให้เรณูต้องไปจากชุมแสง และคำตอบนั้นก็คือ คนที่จะทำให้เรณูย้ายไปจากที่นี่ได้อย่างเร่งด่วน ก็มีเพียงม้าของเขาเท่านั้น ม้าทำอะไรเรณู รึเรณูก่อเรื่องอะไรทำให้ม้าโกรธเคืองได้อีก คนที่จะให้คำตอบที่ดีที่สุด ก็คือม้าของเขานั่นเอง

คิดแล้วปฐมก็รีบสาวเท้าเร็ว ๆ กลับบ้าน  โดยไม่สนใจเสียงร้องเรียกของอรพรรณี ซึ่งเต้นเร่า ๆ ตะโกนให้เขาหยุดรอ อย่างไม่อายสายตาของใครเช่นกัน


ปฐมออกแรงวิ่ง โดยที่มีเสียงเรียกร้องของอรพรรณีไล่หลัง แต่เขาก็ไม่ได้หยุดก้าวขายาว ๆ อรพรรณีเห็นดังนั้นจึงหยุดนิ่งแล้วมองตามหลังไปด้วยความขุ่นเคืองใจ

นางอ๋าที่ยืนอยู่ที่หน้าร้าน เห็นดังนั้น จึงเอ่ยถามว่า “มีอะไรกันรึ”

“ก็พี่ใช้นะซิ...พอเดินมาถึงร้านโน้น ...พอเห็นร้านปิด ก็ไม่รู้ว่าจะรีบไปไหน ถามก็ไม่ยอมตอบ”

นางอ๋าชะเง้อมองไปยังทิศทางนั้น ก็พอเดาได้ว่า ร้านนั้นที่ว่า น่าจะเป็น ร้านเก่าของเรณูที่นางย้อยยังไม่ได้ปล่อยให้ใครเซ้งต่อ...จึงเปรยออกมาว่า

“ร้านนั้นเองรึ...”

“ร้านใคร ร้านขายอะไร”

“ร้านอาเรณูเมียของอาใช้เขาไง...”

“อะไรนะ ....แล้วทำไม ร้านถึงปิดล่ะ แล้วดูเหมือนว่าจะปิดมาหลายวันแล้วด้วย...เมียเขาไปไหน"

“แล้วเธอเป็นอะไรกับอาใช้ล่ะ”

“เป็นเมีย หนูเป็นเมียพี่ใช้...”

“เมียอาใช้...” นางอ๋าทำเสียงแปลกใจ เพราะไม่คิดว่าสาวน้อยวัยมัธยมต้นผู้นี้จะมีสามีแล้ว และผู้ชายคนนั้นก็เป็นปฐมเสียด้วย...แต่พอพิจารณารูปร่างและการแต่งเนื้อแต่งตัว นางอ๋าก็เห็นว่า เด็กมันโตเกินวัย และดูท่าจะเป็นเด็กแก่แดดแก่ลมด้วย...นางอ๋าจึงไม่แปลกใจเลยว่า ทำไม เจ้าหล่อนถึงได้กล้าพูดคำว่า ‘หนูเป็นเมียของพี่ใช้’ ด้วยน้ำเสียงที่ดูมั่นอกมั่นใจในตัวเองและเปี่ยมไปด้วยพลังของคนที่เคยใช้อำนาจ...

แสดงว่า นังเด็กคนนี้ มีฐานะทางบ้านไม่ธรรมดาแน่ ๆ

“แล้ว...เอ่อ...เธอไม่รู้รึว่า อาใช้เขามีเมียอยู่แล้ว”

“รู้...แต่ ตอนนี้หนูก็เป็นเมียเขาแล้วเหมือนกัน”

“แล้วหนูตามอาใช้กลับมา หนูไม่กลัวว่าเมียเก่าเขาจะ...เอ่อ ด่าทอต่อว่าเอาหรือ”

“ทำไมต้องกลัว หนูก็เมียเขาเหมือนกันนี่...แค่มาทีหลังเท่านั้นเอง อ้อ แล้ว เมียเขาปิดร้านไปไหน...คะ”

“ย้ายไปอยู่ที่อื่นแล้ว เรื่องมันยาวน่ะ...ยาวมาก”

อรพรรณีมองไปยังด้านหลังของนังผู้หญิงที่เสนอหน้าออกมาเจรจาด้วย ก็เห็นว่า เป็นร้านขายทองรูปพรรณ การแต่งเนื้อแต่งตัวของสาวใหญ่ดูเรียบหรูสมฐานะ และที่สำคัญ อรพรรณีมาที่นี่เพราะต้องการ ครอบครองในตัวของปฐมแต่เพียงผู้เดียว แต่ถ้ายังไม่รู้จักชีวิตในอดีตของปฐมทุกซอกทุกมุม...มันก็ยากที่จะเอาชนะ คิดได้ดังนั้น อรพรรณีจึงบอกว่า

"ยาว ยาว แค่ไหน หนูก็ยินดีรับฟัง ถ้าพี่สาวจะกรุณาเล่าให้หนูฟัง...”

“ยินดีซี่...แต่หนูจะต้องเล่าเรื่องของหนูให้พี่ฟังด้วยนะ ได้ไหม”

“ได้ซิคะ ทำไมจะเล่าไม่ได้...”

“งั้นเข้ามาในร้านก่อน เรื่องอาใช้กับอาเรณูนี่นะมันยาวยิ่งกว่านิยายในนิตยสารเสียอีก....”

*******************

กินข้าวมื้อกลางวันอิ่มแล้ว กมลก็ให้แม่นอนหลับพักผ่อน แล้วตัวเองก็นั่งเฝ้าเก๊ะแทน...พอเห็นปฐมกระหืดกระหอบเดินหน้าตาตื่นกลับมา กมลก็ชักสีหน้าแปลกใจ...ยังไม่ทันจะเอ่ยปากถาม ปฐมก็ถามเขาด้วยเสียงร้อนรนว่า

“ม้าไปไหน”

“นอนหลับอยู่หลังร้าน”

“เรณูไปไหน ซา แกบอกมาว่า เรณูกับน้องสาว เขาไปไหน...” น้ำเสียงของปฐมดังผิดหู...

“เฮีย ๆ ใจเย็น ๆ นั่งลงก่อน อย่าเสียงดังไป ม้านอนหลับ...” กมลลุกขึ้นแล้วยกมือทั้งสองข้างขึ้นระดับอก กดลงเป็นเชิงขอร้องให้เขาทำตาม...หลังปฐมทรุดนั่ง ปฐมก็ถามว่าซ้ำด้วยเสียงเบากว่าเดิมว่า

“เรณูไปไหน”

“เอ่อ...เฮีย แล้ว คุณหนูของเฮียล่ะ ไม่เห็นมาด้วยกัน”

“เดี๋ยวก็คงตามมา”

“อาซ้อไปแล้ว...” กมลรีบบอกเรื่องที่ปฐมอยากรู้

“ไปไหน...ม้าใช่ไหม เขาทะเลาะกับม้า ใช่ไหม”

“เรื่องมันเป็นอย่างนี้เฮีย...คือ...ก่อนหน้านั้นน่ะ ก่อนหน้าที่เฮียจะพาอาซ้อกลับมาบ้านน่ะ เฮียรู้ตัวหรือเปล่า...”

“รู้ตัวอะไร”

“เฮียรู้สึกอย่างไรกับอาซ้อ...เฮียรักเขาหรือเปล่า เฮียบอกมา”

ปฐมไม่คิดว่า กมลจะถามกลับมาแบบนี้...

“ตอบมาก่อนเฮีย เฮียรู้สึกอย่างไรกับอาซ้อ...”

“ก็....ก็รู้สึก ชอบ ๆ เขาอยู่นะซิ” ปฐมนึกอายขึ้นมา เพราะว่าประวัติของเรณูนั้นคือ หญิงที่ทำงานในบาร์ซึ่งไม่มีผู้ชายไทยคนไหน คิดจะคว้ามาเป็นแม่ศรีเรือนอย่างแน่นอน และที่สำคัญเรณูนั้นมีอายุมากกว่าเขาถึงสองปี แถมเคยมีสามี มีลูกมาแล้วด้วย

“เฮียรู้ตัว รู้ใจตัวเองดี ก่อนที่จะพาซ้อกลับมาบ้านใช่ไหม”

“อย่าโยกโย้ แกมีอะไรก็พูดมา”

“เฮียรู้ตัวหรือเปล่าว่า ก่อนที่เฮียจะพาอาซ้อกลับมาที่บ้านนะ เฮียถูกอาซ้อทำเสน่ห์ใส่...เขาทำให้เฮียรักเขาด้วยคุณไสย เพราะเสน่ห์ยาแฝดทำให้เฮียหลงใหลเขา จนต้องพาเขากลับมาที่นี่”

“อะไรนะ! เรณูทำเสน่ห์ใส่เฮีย...”

“ใช่ เขารู้กันหมดทั้งตลาดชุมแสงแล้ว...”

ปฐมนิ่งอึ้ง...

“แต่ว่าตอนนี้น่ะ...อาซ้อเขาว่า เขาเอาของออกให้แล้วนะ”

“เอาของออกแล้ว ถอนเสน่ห์แล้วอย่างนั้นรึ”

“ใช่...แกถอนของแล้ว ตอนนี้ เฮียรู้สึกอย่างไรกับซ้อ ผมอยากรู้... อยากรู้ความรู้สึกของเฮียทั้งก่อนหน้าโน้น และความรู้สึกในตอนนี้...”

ก่อนหน้านั้นเขา รู้สึกอย่างไรกับเรณู...เป็นคำถามที่ปฐมถามตัวเองเพื่อทบทวนความทรงจำ

...ครั้งแรกที่พบกับเรณูนั้น เขาตามจ่าเที่ยงไปซื้อของที่ตลาดสด ตอนนั้น เขายืนรอเนื้อหมูอยู่ที่แผง เขารู้สึกว่า มีใครคนหนึ่งมองเขาอยู่ และพอเหลือบตาไปหา เขาก็เห็นเรณูที่ยืนอยู่ตรงแผงผัก มองเขาแล้วยิ้มน้อยๆ เล่นหูเล่นตา หน้าแดงของเขาแดงซ่านตามประสาคนไม่เคยได้ออกไปไหนมาไหนจนเพื่อน ๆ มักบอกว่า เขามันเป็นไอ้ลูกแหง่ และคนประเภท ‘ไก่อ่อน’ หน้าตาดี ๆ แบบเขา ให้ระวังๆ ‘ไก่แก่แม่ปลาช่อน’ ให้ดี

...วันนั้นแค่เห็นการแต่งเนื้อแต่งตัว เขาก็รู้แล้วว่า เรณูทำงานที่ไหน ก็จะไม่ให้คิดกับผู้หญิงทั้งตลาดตาคลี ที่แต่งเนื้อแต่งตัวแต่งหน้าแบบนี้ไปในทางที่ดีได้อย่างไรเล่า ที่นี่มีบาร์มากกว่าห้าสิบแห่ง แต่ละแห่งมีผู้หญิงไทยจากทั่วสารทิศมาทำงานขายบริการให้กับทหารอเมริกาที่มาตั้งฐานทัพหลายสิบชีวิต...วันนั้นพอจ่าเที่ยงเดินกลับมา เรณูก็เดินเข้ามาทักจ่าเที่ยง หลังจากนั้นจ่าเที่ยงก็แนะนำให้เขารู้จักกับเรณู เรณูเชื้อเชิญให้เขาไปเที่ยวดื่มกินยังบาร์ที่ตนเองทำงานอยู่ เรณูบอกกับเขาว่า เธอไม่ได้รับแขก ไม่ได้เป็นเมียเช่า ไม่ได้ขายตัว เธอเป็นเพียงแม่บ้านแม่ครัวเท่านั้น...เขาไปที่นั่นสองสามครั้ง เพราะรู้สึกว่า เรณูเป็นคนเปิดเผย ซึ่งพอพูดจาด้วยก็รู้สึกกระชุ่มกระชวย รู้สึกว่าเลือดหนุ่มในกายมันสูบฉีดอย่างรุนแรงเสียทุกครั้ง...หญิงสาวเล่าชีวิตเมื่อครั้งอดีตก่อนที่จะมาอยู่ที่ตาคลีให้เขาฟังคร่าว ๆ....สานความสัมพันธ์ในเชิงหนุ่มสาวอยู่เพียงไม่กี่วัน เขาก็ปล่อยตัวให้เป็นเหมือนว่าวที่ต้องการลม เมื่อเรณูเห็นว่า เขาเมามายดูท่าจะกลับเข้าไปในค่ายไม่ไหว...

คืนนั้นเป็นครั้งแรกที่ ไอ้ไก่อ่อนอย่างเขา รู้เรื่องเพศรสที่คนวัยนี้กระสันใคร่สัมผัส...โดยมีไก่แก่แม่ปลาช่อนเจนเวทีเป็นครู...คืนต่อ ๆ มา เขายังลอบออกไปจากค่าย เพราะติดใจในเรื่องที่ไม่เคยข้องเกี่ยวมาก่อน จนเพื่อน ๆ หยอกล้อเขาว่า ระวังจะเสียคน ระวังจะหลงคนที่ไม่ควรหลง ระวังผู้หญิงพวกนี้ให้ดี นอกจากรูปดั่งทองทาแล้ว ใคร ๆ ก็รู้ว่า เขามาจากครอบครัวคนมีเงิน แม้ว่าจะเป็นแค่ทหารเกณฑ์...เพื่อน ๆ กลัวว่าเขาจะถูกผู้หญิง ‘จับตัว’ บ้างก็ว่า เขาโง่เง่า ที่คิดกินของซ้ำซาก ของเหลือเดน เขาเอนอ่อนตามความเห็นเหล่านั้น โดยการค่อย ๆ ตีตัวออกห่าง เพราะคล้อยตามความคิดของเพื่อน ๆ ในค่าย ว่าผู้หญิงไม่ไร้เท่าใบพุทรา โดยเฉพาะผู้หญิงเพียงแค่ใช้บำบัดกามรมย์ ซึ่งมีให้กลาดเกลื่อนในตาคลีหากว่าเขาต้องการ...

แต่พออยู่ห่าง ๆ ไม่ไปหา ใจของเขากลับคิดถึง...คิดถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นเรณู...คำพูดหวานหู ทัศนคติต่อเรื่องทั่ว ๆ ไป ซึ่งบางเรื่องเขาคิดไม่ได้ และไม่เคยคิด แต่เรณูคิดได้ และกล้าที่จะพูดมันออกมา

ยามอยู่ด้วยกันบนเตียง เรณูก็เร่าร้อนเหมือนไฟปลายไม้ขีด เนินเนื้ออวบอัดไปทุกส่วนสัด จับไปตรงไหนก็ทำให้เลือดในกายที่เหมือนน้ำมันสูบฉีด ไหนจะกลิ่นกายที่ทำให้เขารู้สึกร้อนวูบวาบอยู่ตลอดเวลา ...


ปฐมถอนหายใจออกมาอย่างแรง...หลังทบทวนไปหาอดีต อดีตที่เขาก็ไม่รู้ว่า เขาเป็นตัวของตัวเอง หรือว่าเขาทำลงไปเพราะอำนาจของเสน่ห์ บังคับจิตให้ต้องทำลงไปอย่างนั้น...

แต่เรณูทำเสน่ห์ใส่เขาทำไม เรณูทำเสน่ห์ใส่เขาอย่างนั้นหรือ...เป็นเรื่องที่ปฐมไม่อยากจะเชื่อเลยสักนิด แต่ถ้ากมลยืนยันว่า คนรู้กันทั้งตลาดชุมแสง มันก็จะต้องเป็นเรื่องจริง...เป็นเรื่องจริง ๆ ของคนที่ถูกคุณไสยย่อมไม่รู้ว่าบางครั้งบางเวลา ทำอะไรลงไปโดยไร้ซึ่งเหตุผล และขัดตาขัดใจความรู้สึกของคนส่วนใหญ่...


“เฮีย...เฮีย” เสียงของกมลทำให้ปฐมสะดุ้ง...

“เฮียบอกมาว่า เรื่องที่ตาคลีก่อนที่เฮียจะพาอาซ้อมาเป็นอย่างไร”

“เฮียก็ว่าเฮียรู้สึกตัวดีอยู่นะ...เฮียจำทุกเรื่องราวได้หมด...จำได้ว่าเฮียเต็มใจพาเขามาที่นี่ เพราะเขาบอกกับเฮียว่าเขามีลูก เขาไม่อยากอยู่ที่นั่นแล้ว เขาไม่อยากได้กลิ่นบุหรี่ ไม่อยากนอนดึก อยากให้พ่อแม่ของเฮียรับรู้ อยากให้ลูกเกิดมาในสภาพแวดล้อมที่ดีกว่าที่นั่น...เฮียก็เลยพาเขากลับมาบ้าน...”

“ตั้งแต่เฮียรู้จักกับอาซ้อ เฮียไม่เคยรังเกียจอาซ้อเลยใช่ไหม ไม่เคยมองเห็นว่าเขาเป็น ...เป็นผู้หญิงที่ทำงานในบาร์เลยใช่ไหม”

ปฐมส่ายหน้า...แล้วก็บอกว่า “ตั้งแต่รู้จักกับเขา เฮียไม่เคยรู้สึกแบบนั้น...ไม่เคยรู้สึกแบบที่คนอื่นอยากให้รู้สึกเลยสักนิด...ไม่เคยรู้สึกด้วยใจของเฮีย และด้วยตัวของเฮียสักครั้งเดียว...เฮียรู้แต่ว่า เวลาอยู่กับเขาเฮียมีความสุขดี...ทุกครั้ง” น้ำตาของปฐมเริ่มคลอ ๆ เมื่อนึกถึงความหลัง นึกถึงคำพูดของแม่ ครั้งที่เขาพาเรณูกลับมาที่นี่...มันช่างเป็นคำพูดที่ไม่ได้นึกถึงจิตใจของเขาเลยสักนิด ยิ่งคนอื่นเกลียดเรณู เพราะเรณูเป็นแบบนั้น มากเท่าไหร่ เขาก็ยิ่งรู้สึกเจ็บแปลบ และยิ่งเห็นใจเรณูมากขึ้นเท่านั้น

นึกย้อนกลับไป เขาก็ยังรู้สึกสงสาร เห็นใจ และไม่เคยนึกเสียดาย ความรู้สึกดี ๆ ที่มีให้ตั้งแต่ได้รู้จักกัน

“เฮียตั้งใจฟังผมเล่านะ หลังจากที่เฮียพาอาซ้อมาทิ้งไว้ที่นี่แล้ว ชีวิตอาซ้อ ชีวิตเฮียในช่วงที่เฮียถูกคุณไสย และชีวิตของคนที่นี่เป็นอย่างไรกันบ้าง....”

กมลเล่าอย่างรวบรัด เพราะกลัวว่าแม่จะตื่นนอน กลัวว่าคุณหนูอรพรรณีจะกลับมาขัดขวาง ...แน่นอนว่าเรื่องนี้ต้องพาดพิงไปถึง ‘พิไล’ ซึ่งเป็นอดีตคู่รัก คู่หมั้นคู่หมายของเขา

ปฐมฟังแล้วนึกคิดตริตรอง เปรียบเทียบ ระหว่าง พิไล กับ เรณู ผู้หญิงสองคนที่เขาใกล้ชิดผูกพันกับเขา...กับพิไลนั้น เขาก็ไม่รู้ตัวเองเหมือนกันว่า เขารักพิไลหรือเปล่า เขารู้แต่ว่า มันเริ่มต้นจากคำว่า ‘หน้าที่’ ของลูกชาย เขารู้แต่ว่า เมื่อพ่อแม่ขีดเส้นทางให้เดินแล้ว เขาก็ต้องก้าวเดินตาม แม้ว่าทางนั้นจะเป็นทางที่เขาไม่ได้รู้สึกอยากไป...พอไปแล้ว พออยู่ใกล้ๆ กับพิไล เขารู้สึกไม่มีความสุข รู้สึกอึดอัด รู้สึกว่าใจไม่คล้อยตามทัศนะคติของเจ้าหล่อน ไม่มีความรู้สึกกระชุ่มกระชวยเกิดขึ้น ไม่รู้สึกวูบวาบมากเท่าที่เกิดขึ้นกับยามเมื่ออยู่กับเรณู ทั้งที่พิไลนั้นก็ไม่ใช่ผู้หญิงขี้ริ้วขี้เหร่แต่อย่างใด...

จะว่า พิไล ไม่ใช่ ‘สเป็ค’ อย่างที่คนรุ่นใหม่นิยมดึงมาเป็นข้ออ้าง ‘สาน’ หรือ ‘ตัด’ ความสัมพันธ์ก็อาจจะเป็นไปได้...แต่วันนี้ ไม่ว่าทั้งพิไล และเรณู ต่างก็ไปจากชีวิตของเขาแล้ว และเขาเอง ก็จะต้องทนอยู่กับ คุณหนูซึ่งเขาก็ไม่รู้ตัวเหมือนกันว่า ช่วงเวลาสั้น ๆ นั้น เขายอมทรยศต่อความรู้สึกดี ๆ ที่มีให้เรณูไปได้อย่างไร...

เรื่องราวระหว่างวันนั้น เป็นห้วงเวลาที่เขาคลายจากมนต์ดำที่เรณูกระทำไปแล้ว มันจึงทำให้เขาเป็นไม้หลักปักขี้เลน เอนอ่อนไปตามแรงกามรามคะที่อรพรรณีโหมกระหน่ำ

ปฐมนิ่งคิด...แต่ก็ยากจะให้คำตอบกับตัวเองหรือกมลที่นั่งอยู่ตรงกันข้าม....

เสียงพูดคุยกันของลูกชาย ทำให้นางย้อย ที่นอนฟังความอยู่ตั้งแต่แรก ลุกขึ้นนั่ง...ประโยคที่ปฐมตอบกมลนั้นแม้จะแผ่วเบา แต่นางย้อยก็ได้ยินทุกถ้อยกระบวนความ....

“ตั้งแต่รู้จักกับเขา เฮียไม่เคยรู้สึกแบบนั้น...ไม่เคยรู้สึกแบบที่คนอื่นอยากให้รู้สึกเลยสักนิด...ไม่เคยรู้สึกด้วยใจของเฮีย และด้วยตัวของเฮียสักครั้งเดียว...เฮียรู้แต่ว่า เวลาอยู่กับเขา เฮียมีความสุขดี...ทุกครั้ง”

เพียงแค่นั้น นางย้อยก็รู้แล้วว่าปฐมนั้นรักเรณู...รักโดยไม่ได้สนใจว่า เรณูจะเป็นใคร ทำงานอะไร เหมาะสมคู่ควรกันหรือไม่

...เพราะขึ้นชื่อว่า ‘ความรัก’ ความรู้สึกดี ๆ ที่มีให้ใครสักคน มันเกิดขึ้นได้เอง โดยไม่มีเหตุผลหรือบรรทัดฐานใด ๆ มาสั่งให้มันเกิดได้ ทำไมนางย้อยผู้เคยมีความรักมาก่อนจะไม่รู้เล่า...ฝ่ายเรณูเอง ก็คงไม่ต่างกัน หลังจาก ‘หลงรูป’ เข้าให้แล้ว คนนิสัยใจคออย่างปฐม ทำไมเรณูไม่คิดครอบครองเล่า...เมื่อมีความต่างกันในเรื่อง อายุ ฐานะ หน้าที่การงาน และ สังคม เรณูย่อมกลัวว่า รักที่มีให้ปฐมนั้นจะหลุดลอย เป็นเพียงความฝัน ทางเดียวที่จะครอบครองเขาได้ตลอดไป นั่นก็คือ การใช้เสน่ห์...ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ผิด

และความผิดบาปนั้น เรณูก็ได้ชดใช้ มันไปแล้ว...และดูเหมือนว่า มันก็สาสมกับกรรมที่เรณูได้ทำลงไปด้วยแล้วเช่นกัน

...ปลงได้อย่างนั้น นางย้อยก็ขยับตัวลงจากเตียงแล้วเดินออกมา...ปฐมกับกมลหันมามองหน้า นางย้อยสูดลมหายใจเข้าปอด แล้ว บอกว่า...

“เรื่องระหว่างแกกับเรณู ม้าจะไม่ยุ่งเกี่ยวอีกแล้วนะ...”

“หมายความว่าอย่างไรม้า”

“เมื่อ ม้าให้อาซาเลือกทางเดินชีวิตของตัวเองได้ ม้าก็จะให้แก ให้อาตงเลือกได้เหมือนกัน...”

“ม้า...” ปฐมอุทานออกมา

นางย้อยที่ยืนอยู่เห็นว่า อรพรรณีเดินกลับมา จึงพูดว่า

“นั่น คุณหนูของแกกลับมาแล้ว...ต่อไปชีวิตพวกแก สร้างปัญหาอะไรกันไว้ ก็หาวิธีแก้เอาเองแล้วกัน โต ๆ กันหมดแล้ว”


"พี่ใช้" พอเดินกลับมาถึง อรพรรณีก็เรียกชื่อของปฐมด้วยสีหน้าและน้ำเสียงเป็นปกติ ทำเหมือนกับว่าก่อนหน้านั้นเจ้าหล่อนไม่ได้เต้นเร่า ๆ อยู่กลางถนนเพราะปฐมไม่ยอมรอ หรืออธิบายความในใจให้กระจ่าง

"ไปไหนมา" ปฐมถามออกไปอย่างเสียมิได้

"ก็มัวแต่คุยกับคนที่นี่แหละ เขาอยากคุยด้วยก็เลยต้องคุยกับเขาสักหน่อย ได้เรื่องเยอะเลย" บอกแล้วอรพรรณีก็เหลือบตามองนางย้อยและกมลเพียงแค่แวบเดียวแล้วถามปฐมว่า

"พี่ใช้กินอะไรหรือยัง"

"ไม่หิว"

"ไม่หิว ทั้งที่ยังไม่ได้กินข้าวกลางวันเนี่ยนะ เป็นอะไรหรือเปล่าคะ" ที่ถามอย่างนั้นเพราะรู้ดีว่า ระหว่างที่เธออยู่ทางโน้นกับพี่อ๋า ทางนี้ก็คงเล่าอะไรต่อมิอะไรให้ฟังโดยละเอียดไปแล้ว เขาถึงได้มีสีหน้าอย่างที่เห็น

"แล้วคุณหนูกินอะไรหรือยังครับ"

"เรียบร้อยแล้วค่ะ ก็ก๋วยจั๊บร้านนั้นแหละ พี่อ๋าเขาพาไปกิน"

"รู้จักกับแจ้อ๋าได้อย่างไร"

"ก็ไม่เห็นจะยากอะไรเลย เขาทักมา หนูก็ตอบเขาไป สุดท้ายก็เลยรู้ว่าเมียเก่าพี่ทำอะไรไว้ มาที่นี่ได้อย่างไร แล้วก็ไปไหนซะแล้ว" ว่าแล้วอรพรรณีก็เหยียดริมฝีปากอย่างดูแคลน ปั้นหน้าว่าเป็นต่อผู้หญิงอย่างนั้นในทุกกรณี!

*******************************



13
กรงกรรม ตอนที่ 64-66 จบ และตอนพิเศษ












14
ตอนที่ 32 : ก้าน เพียงเพ็ญ และบังอร


               ๓๒


ด้วยเสื่อกก หมอน มุ้ง ผ้าห่มเป็นของที่คนหมู่มากใช้กัน จึงมีกลิ่นเหงื่อ กลิ่นยา กลิ่นเหม็นอับหมักหมม ไหนจะเสียงพูดคุย เสียงไอ เสียงลุกเดินไปส้วม กลิ่นควันยาสูบ เสียงตำหมาก พิไลจึงนอนไม่หลับ แต่ครั้นจะลุกออกจากมุ้งไปสูดอากาศข้างนอก ยุงก็ชุมเหลือเกิน

คิดแล้วพิไลก็รู้สึกแค้น 'อีคน' ที่ทำให้ชีวิตของตนนั้นต้องมายุ่งยากลำบากลำบน

พอฟ้าสาง พิไลก็รีบลุกจากที่นอน ให้บุญปลูกเก็บที่หลับที่นอน แล้วพากันเดินไปล้างหน้าที่แม่น้ำ

นายเชิดที่นอนคลุมโปงอยู่บนร้านใต้ถุนเรือนทรงไทย เห็นพิไลเดินมาทางริมแม่น้ำเจ้าพระยา จึงเดินตามมา

"นอนหลับดีไหม คุณหนู"

"นอนไม่หลับหรอก น้า  แปลกที่ แล้วที่นี่ก็วุ่นวายกันเหลือเกิน น้าไปขอแซงคิวให้หน่อยได้ไหม จ่ายเพิ่มสักหน่อยฉันก็ยอม เดี๋ยวเราต้องไปรอรถไฟกลับชุมแสงอีกนะ ช้าไปจะไม่ทันรถ"

"เดี๋ยวผมจะลองไปพูดให้ แล้วนี่หิวข้าวไหม ไปตลาดกันไหม"

"ก็ดีเหมือนกัน"


กลับมาจากตลาด นายเชิดก็นำพิไลเข้าไปนั่งรออยู่หน้าห้อง จนสายโด่งประตูห้องก็เปิดออก คนมาเปิดประตูเรียกให้คิวแรกเข้าไปด้านใน พอพากันคลานเข้าไปแล้ว พิไลก็ได้เห็นว่า ร่างทรงของเจ้าแม่ที่มีผมหยิกหยองยาวเคลียบ่านั้น สวมเสื้อลูกไม้สีแดวสด นั่งหันเข้าโต๊ะหมู่ที่มีรูปปั้นเทวดา พระยม พระพรหม ท้าวกุเวร เศียรพ่อแก่ กุมารกุมารี แวดล้อมองค์เทพนารีซึ่งองค์ใหญ่เด่นสง่าเหนือรูปอื่นใด คนเปิดประตูเป็นชายสวมชุดดำไว้หนวดไว้เคราบอกให้ 'ลูกช้าง' ก้มกราบ 'เจ้าแม่' คนละสามรอบ

หลังเงยหน้าขึ้น ร่างทรงเจ้าแม่ก็ถามด้วยเสียงโทนต่ำโดยไม่ได้หันมาดู 'ลูกช้าง' สักนิด

"ได้ของที่สั่งให้เอามาไหม"

"ได้มาครับ" นายเชิดเป็นฝ่ายตอบ

"งั้นเอาเสื้อผ้าของคนถูกของวางบนพาน แล้วเส้นผมกับเล็บล่ะ เอามาด้วยรึเปล่า"

"ได้มาแต่ผม เล็บไม่ได้ ห่อใส่กระดาษมา"

"เอาวางไว้ด้วยกัน"

พอเสื้อผ้าและเส้นผมของนางย้อยที่ไปเก็บจากที่นอนและหวีอยู่บนพานแล้ว เจ้าแม่ก็ให้บริวารส่งพานทองเหลืองไปให้ ร่างทรงเจ้าแม่บริกรรมคาถาสวดภาวนาอยู่อึดใจใหญ่ ๆ  เจ้าแม่ก็หันมาสบตากับพิไล ซึ่งไม่กล้ามองเจ้าแม่เต็มตาตานัก เพราะกลัวเจ้าแม่ที่แต่งหน้าจนเข้มจัดนั้นหยั่งรู้ใจตน

"นังคนนี้ใช่ไหมที่เป็นลูกสะใภ้คนถูกของ"

"ใช่จ้ะ"

"ลักษณะมึงดี ผัวมึงดี มึงจะได้บุตรดี ต่อไปมึงจะรวยมาก รวยแล้วก็อย่าลืมกูละ"

"ไม่ลืมหรอกจ้ะ ขอให้เจ้าแม่ช่วยได้เท่านั้น" พอถูกชมพิไลก็เสียงอ่อนเสียงหวาน

"กูช่วยได้อยู่แล้ว แต่มึงต้องช่วยกูด้วย"

"จะให้ฉันช่วยอย่างไรบ้าง"

"ถ้ามึงไม่เอาคนถูกของมา มึงก็ต้องมาหากูอีกหลาย ๆ รอบ มึงจะมาได้ไหมล่ะ"

"มาได้"

"ถ้าอย่างนั้นมึงก็จ่ายค่าครูมา"  ว่าแล้วเจ้าแม่ก็หยิบพานทองเหลืองที่ผ้าของนางย้อยมาตรงหน้า พิไลสงสัยว่าค่าครูนั้นเท่าไหร่ แต่ยังไม่ทันจะเอ่ยถาม บริวารของเจ้าแม่ก็บอกว่า

"ค่าครูร้อยนึง"

"ทำไมมันแพงจังเลย คนอื่น ๆ ฉันเห็นเสียกันแค่สิบสลึง บางคนก็บาทสองบาท" พิไลถามอย่างไม่เกรงใจ

"ก็คนอื่นเขาเจ็บไข้ได้ป่วยมา ก็มีแค่ค่าครูกับค่ายา ส่วนของมึง งานมันใหญ่ เจ้าแม่ต้องรบรากับคนทำของใส่ให้แม่ผัวมึงอีกไม่น้อย ดีไม่ดี ถ้าของเขาแรง ร่างทรงเจ้าแม่จะแย่เอาได้"

พิไลเหลือบมองนายเชิดที่ยิ้มแหย ๆ ให้

"ว่าไง จะจ่ายหรือไม่จ่าย ไม่จ่ายก็กลับไป คนอื่น ๆ รออยู่อีกเพียบ"

"ถ้าจ่ายไปแล้วไม่เห็นผลล่ะ" จำนวนเงินที่มากโขทำให้ศรัทธาในองค์เจ้าแม่เริ่มคลอนแคลน

"คราวแรกนี่ไม่เห็นผลหรอก เจ้าแม่ท่านก็บอกไปแล้ว ว่ามึงต้องมาอีกหลายรอบ มึงไม่ได้ยินหรือไง"

"กี่รอบล่ะ และแต่ละรอบก็จ่ายครั้งละร้อยบาทใช่ไหม"

"ไม่รู้ แล้วแต่สถานการณ์ อาจจะมากบ้างน้อยบ้างก็สุดแต่ว่างานมันยากหรือมันง่าย"

"เอาไงดีล่ะ น้าเชิด" พิไลหันไปถามผู้มีอาวุโสกว่า

"ผมว่าจ่ายไปเถอะครับ คุณหนู ถ้าไม่ดีจริง คนทางตาคลีคงไม่แนะนำมาหรอก แล้วคุณหนูก็เห็นแล้วนี่ว่าถ้าเจ้าแม่ไม่แน่จริง คนไม่รอเข้าพบเจ้าแม่กันขนาดนี้หรอก"

พิไลสูดลมหายใจเข้าปอดจนลึก ก่อนจะบอกอย่างตัดใจว่า "ก็ได้"  แล้วพิไลก็เปิดกระเป๋าหยิบแบงก์ ๒๐ บาท ออกมาจากกระเป๋า ๕ ใบ วางลงบนเสื้อผ้าและห่อกระดาษใส่เส้นผมของนางย้อย...ด้วยใจที่รู้สึกว่า 'โคตรเสียดาย' แต่ถ้าไม่จ่าย ไม่ลงทุน เห็นทีจะเสียหนักกว่านี้

พอเจ้าแม่ยกถาดแล้วหมุนตัวกลับไปยังโต๊ะหมู่ พิไลที่ยังไม่คลายความเสียดายเงินก็พึมพำอยู่ในใจว่า
'อีเรณูนะอีเรณู เป็นเพราะมึงคนเดียวกูถึงต้องเดือดร้อน เสียเวลา เสียเงินเสียทอง อีเวร!'

**********

พอฟังเรื่องที่ติ๋มตัดทอนเฉพาะที่ว่าพิไลคู่สะใภ้ของเรณูให้นายเชิดมาสืบเสาะหาหมอเสน่ห์เก่ง ๆ เพื่อถอนเสน่ห์ให้นางย้อยแล้วบังเอิญมาเจอติ๋มเสียก่อน แล้วติ๋มก็แนะนำให้นายเชิดไปหา 'หมอบาง' ที่ท่าน้ำอ้อย ประนอมก็หัวเราะเสียงดัง

"มึงนี่มันเลวได้ใจกูจริง ๆ"

"แสดงว่า บุญของอีณูมันยังมีอยู่บ้างหรอก ถ้าน้าเชิดมาเจอคนอื่นก่อน ป่านนี้ก็คงไปถึงหมอก้อนแล้ว"

"แล้วมึงคิดรึว่าหมอก้อนจะเอาออกให้"

"ถ้าเงินมันมากกว่าที่เราจ่ายให้ไป แกก็ต้องเอาทางนั้น แล้วเราก็ไม่ได้คิดไว้กันนี่ ว่าอีพิไลมันจะหัวเร็วขนาดนี้ ฉันละยอมรับในเชาวน์ปัญญามันจริง ๆ"

"แล้วนี่ อีพิไลมันจะถูกอีบางหลอกกินเงินกี่รอบล่ะเนี่ย"

"ฉันเดาว่า กว่ามันจะหูตาสว่างก็คงอีกนานละ อีบางนั่นมันก็ฉลาดเป็นกรด แหม มีวิชาความรู้แค่หมอยากลางบ้านที่พ่อมันสอนไว้ พอได้ผัวแนะลู่ทางทำมาหากินบนความทุกข์ยากของคนโง่เข้าหน่อย มันก็กลายเป็นเจ้าแม่ขึ้นมาทันทีเลย คนอย่างอีพิไล มันต้องเจอกับคนอย่างอีบางกับไอ้หนวด มันถึงจะสาสมกัน"

"แล้วนี่มึงจะไปบอกอีเรณูมันไหมล่ะ ถ้ามันรู้ว่ามึงช่วยมันไว้ มันคงจะกราบขอบคุณมึงงาม ๆ เป็นแน่"

"ก็อยากไปอยู่นะ แต่ไปแล้วกลัวอีย้อยมันจะลมขึ้นเพราะเห็นพวกกะหรี่อย่างพวกเราน่ะสิ"

"อีบ้า มึงลืมไปแล้วรึไง ว่าตอนนี้มันหลงอีณูอยู่ ถ้าอีณูมันบอกว่านกเป็นไม้ อีย้อยมันก็ไม้แหละ แล้วกะหรี่อย่างพวกเราก็จะกลายเป็นเทพีในสายตามันทันที"

"ใช่ ๆ  ว่าไปก็น่าไปดู คนเราพอรักกันซะแล้ว ไอ้ที่ว่าทำอะไรก็ดีงามไปหมดมันเป็นอย่างไร คงจะน่าขันพิลึกเนอะ" ว่าแล้วมุมปากของติ๋มก็กระตุกเพราะสาแก่ใจ

"งั้นไปกัน"

"อย่าเพิ่งไปเลย ฉันยังไม่อยากเห็นหน้าอีย้อยในตอนนี้"

"มึงเกลียดมันขนาดนั้นเลยรึ"

"ไม่ได้เกลียดจนไม่อยากเห็นหน้ามันหรอก แต่ถ้าต้องเห็น ก็อยากเห็นตอนที่มันจมอยู่ในห้วงความทุกข์ยาก ลำบากทั้งใจและกาย เหมือนที่พวกฉัน เหมือนที่คนอื่นเคยต้องลำบากเพราะมันก็เท่านั้นเอง!"

**********

เพราะเรณูอ้างถึงความหลังครั้งเก่า ทำให้กมลยากจะขัดศรัทธา ก่อนจะนั่งเรือกลับฆะมัง เขาจึงต้องเดินมายังร้านเรณูบูติกที่มีวรรณาเป็นช่างประจำร้าน  พอถึงหน้าร้าน เขาก็พบว่าจันตานั่งอยู่บนม้านั่งตัวยาวชิดผนังด้านขวาของร้าน พอสบตากันเขาก็ยิ้มน้อย ๆ ให้  เช่นเดียวกับจันตาที่ยิ้มแล้วหลบสายตาของเขา

"อาซ้อกับวรรณาไปไหนซะล่ะ"

"วรรณากินข้าวอยู่ในครัว พี่เรณูไปโรงสี เห็นว่าจะไปปอกมะพร้าวมาทำขนมขายพรุ่งนี้" เป็นครั้งแรกที่จันตาพูดยืดยาวกับกมล

"แล้วจันตามานั่งทำอะไรอยู่ตรงนี้" ถามแล้วเขาก็เห็นว่าในมือของจันตานั้นมีหนังสือแฟชั่นผู้หญิง

"อาม่านอนหลับ เจ๊หมุ่ยนี้ให้มานั่งเล่นที่นี่น่ะ"

"นั่งเล่น" เขาถามซ้ำ

"ก็มาดูวรรณาเขาทำงานน่ะ เผื่อจะชอบงานแบบนี้บ้าง"

"แล้วชอบไหมล่ะ"

"รู้สึกว่ามันยุ่งยากเหมือนกัน"

"มีคนมาประเดิมให้เขาแล้วรึ"

"มีแล้ว หลายคนแล้ว พี่เรณูเขาเก่ง เขาคุยอวดฝีมือวรรณาไปทั่ว วันนี้มีคนมาวัดตัวเลือกผ้าตัดเสื้อห้าหกคนแล้วมั้ง"

"แต่วรรณาเขาก็ฝีมือดีจริง ๆ  ดูจากชุดที่จันตากับหมุ่ยนี้ใส่วันนั้นสิ" พอพูดไปแล้วก็นึกขึ้นมาได้ว่า รูปถ่ายวันแต่งงานที่ไม่ใช่รูปในพิธีนั้น เขาจะคัดออกแล้วก็เก็บไว้ที่นี่ ใส่ในกล่องรวมกันไว้กับรูปอื่น ๆ ที่ได้ไป

ก่อนจะกลับมาคราวนี้ เขาเปิดกล่องดู เห็นรูปเรณู หมุ่ยนี้ และจันตาที่มงคลอัดไว้ เขาก็รู้สึกเหมือนถูกสะกดสายตาไว้อย่างนั้น จนจำได้ว่าชุดทันสมัยที่จันตา สวมวันนั้น มันทำให้รูปร่างของจันตาดูแปลกไปอย่างไร พอรู้ตัวว่าจะเผลอเผยความรู้สึกออกไป เขาจึงรีบเปลี่ยนเรื่อง

"จันตา สบายดีนะ"

"สบายดีจ้ะ เฮียล่ะ สบายดีรึเปล่า"

"ก็...สบายดี  แล้วนี่...จันตาจะแต่งงานกับคุณปลัดเมื่อไหร่ล่ะ"

"ยังไม่มีกำหนดเลย" จันตาตอบเบา ๆ

"ถ้าแต่งเมื่อไหร่ก็ส่งข่าวแต่เนิ่น ๆ นะ จะได้มาใช้แรง"

"จ้ะ" จันตาตอบไปสั้น ๆ  พอดีกับที่วรรณาเดินออกมาจากหลังร้าน กมลจึงบอกจุดประสงค์ที่มาที่นี่ให้วรรณาที่รู้อยู่แล้วเร่งวัดตัวให้เขา เพราะเขาจะต้องรีบไปลงเรือโดยสารกลับฆะมัง

ช่วงที่หมุนตัวให้วรรณาวัดส่วนสัดอยู่นั้น เขารู้สึกว่าสายตาของจันตาที่ลอบมองเขาอยู่นั้น เป็นไปอย่างพินิจพิจารณาในสรีระของเขา แม้จะไม่กล้าหันไปสบตาคู่สวยที่ตรึงหัวใจเขาได้ทุกคราวที่เห็นกัน แต่เขาก็รู้สึกได้ว่าตอนนี้ตัวเขาเป็นเป้าสายตาของหญิงสาวที่เขายอมรับกับตัวเองอย่างไม่ต้องอายใครว่ารู้สึกคิดถึงมากกว่าคนที่ได้ชื่อว่าเมียเขาเสียอีก

**********
       
แม้จะเคลิ้ม ๆ ไปกับเสียงกล่อมของผู้เป็นอา แต่เพียงเพ็ญก็ยังไม่ล้มเลิกเรื่องที่จะพบหน้าก้านเสียก่อนให้ได้ 

วันรุ่งขึ้นรอจังหวะนางแรมเผลอ เพียงเพ็ญก็เดินตัดสวนกลับไปที่บ้านของก้านอีกครั้ง แต่ไปคราวนี้ เพียงเพ็ญต้องเห็นภาพบาดตาตำใจ เพราะก้านที่กำลังนำผ้าห่ม ปลอกหมอน มุ้ง ขึ้นราวตากแดดนั้นอยู่กับบังอร

เห็นแวบแรก เพียงเพ็ญก็มั่นใจในคำพูดของนางศรีที่ว่า ก้านกับบังอรนั้นมีอะไรกันไปถึงไหน ๆ แล้ว
พอก้านหันมาเห็นเพียงเพ็ญ ก็มีสีหน้าเจื่อนลง แล้วอุทานเบา ๆ

"เพ็ญ"

เพียงเพ็ญที่อารมณ์หึงหวงระคนน้อยใจ มองก้านด้วยน้ำตาคลอลูกนัยน์ตา และก่อนที่น้ำตาจะไหลให้ได้อาย เพียงเพ็ญก็หันหน้าเดินกลับไปตามทางที่เดินมา ก้านกรากตามไปโดยไม่สนใจเสียงร้องเรียกของบังอร  พอเดินมาทันกัน ก้านก็ฉุดแขนของเพียงเพ็ญไว้ เพียงเพ็ญหันมาได้ก็ทุบตีที่หน้าอก ตบหน้าของก้านเป็นพัลวัน ก้านไม่ได้หลบเลี่ยงฝ่ามือที่โหมกระหน่ำใส่ร่างกายและใบหน้าของตนแต่อย่างใด พอเห็นเพียงเพ็ญได้ระบายจนหนำใจแล้ว ก้านก็รวบร่างของเพียงเพ็ญมากอดไว้แล้วบอกว่า

"เพ็ญจ๋า...เพ็ญ...ฟังพี่ก่อน"

"ฉันไม่ฟังอะไรทั้งนั้น ไหนพี่ว่าจะรอฉัน จะไม่รังเกียจหากว่าฉันจะกลายเป็นแม่หม้ายผัวทิ้ง แล้วทำไม...พี่ถึงได้ทำอย่างนี้ ทำไม!"

"พี่...พี่"

"พี่รู้ไหมว่าฉันเจ็บแค่ไหนที่รู้ว่าพี่กับอีบังอรไปถึงไหน ๆ กันแล้ว"

"แล้วทีเอ็งทำพี่เจ็บล่ะ"

"ฉันรู้ว่าฉันทำพี่เจ็บก่อน แต่ฉันก็รักษาเนื้อตัว ไม่ให้อาซาเขามาข้องเกี่ยวรอพี่ได้ เพราะฉันคิดว่า อีกไม่เท่าไหร่หรอก ฉันกับเขาก็จะต้องเลิกกัน แล้วทีนี้ ใครก็มาขัดขวางความรักของเราไม่ได้ แต่พี่...พี่ทำอย่างนี้ไปซะแล้ว แผนที่ฉันวางไว้มันจะเป็นอย่างไรล่ะทีนี้"

"เอ็งยังไม่ได้ยุ่งกับอาซาจริง ๆ รึ เพ็ญ"

"ก็ฉันท้องอยู่กับพี่...ฉันจะยอมนอนกับเขาให้มีราคีคาวซ้ำซ้อนทำไมล่ะ ฉันก็คนนะ ฉันคิดเป็นหรอกว่าคนที่ต้องเป็นแม่คนน่ะ ควรทำตัวอย่างไร แต่พี่กลับไม่รักษาสัญญา ห่างกันไม่กี่วัน พี่ก็เป็นอื่นไปซะแล้ว"

ระบายจนหมดสิ้นแล้ว น้ำตาของเพียงเพ็ญก็นองไหลอาบแก้ม ก้านเห็นดังนั้นจึงกอดรัดเพื่อปลอบขวัญจนแน่นขึ้น ยากจะแก้ตัว เพราะรู้อยู่แก่ใจว่าที่เผลอไปยุ่งเกี่ยวกับบังอรนั้น ตนเองมีจุดมุ่งหมายอะไร

"พี่ก้าน" เสียงบังอรทำให้ก้านคลายอ้อมแขน เพียงเพ็ญผละจากอกของก้านแล้วเชิดหน้าขึ้น

"พี่เพ็ญ เจอหน้ากันก็ดีแล้ว ฉันไม่รู้หรอกว่าพี่กับพี่ก้านมีอะไรกันนะ แต่ที่ฉันรู้ ตอนนี้พี่แต่งงานไปแล้ว และพี่ก้านก็เป็นผัวของฉันแล้วด้วย เพราะฉะนั้น พี่เลิกยุ่งกับพี่ก้านแล้วรีบกลับบ้านไปซะเถอะ"

"บังอร" ก้านหันมาขึ้นเสียงใส่เพราะไม่คิดว่าอารมณ์หึงหวงของบังอรจะมากถึงเพียงนี้

"อย่าให้ฉันต้องเอาเรื่อง...ที่พี่คบชู้สู่ชายไปโพนทะนาให้คนทั้งฆะมังรู้เลยนะ กลับบ้านพี่ไปซะ อย่าหาว่าฉันไม่เตือนก่อน"

เพียงเพ็ญมองหน้าบังอรแล้วกัดฟันกรอดก่อนจะบอกว่า

"มึงอย่าคืดนะว่าจะแย่งของรักของกูไปได้"

"รึพี่จะเอาเขาคืน กล้าไหมล่ะ ถ้ากล้าก็ต้องสู้กันสักตั้ง"

"บังอร" ก้านถลึงตาให้

"ไป...พี่ก้าน...กลับบ้าน งานแต่งของเรายังต้องมีเรื่องคุยกันอีกยาว" ว่าแล้วบังอรก็ดึงแขนของก้านให้เดินตามตนเองไป เพียงเพ็ญมองอาการละล้าละลังของก้าน ก็ได้แต่กำมือแน่นแล้วก็กัดริมฝีปากจนรู้สึกเจ็บ

พอก้านนั้นแข็งขืนแล้วสะบัดแขนออก...บังอรจำต้องปล่อยมือที่จับและจูงแสดงความเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ

“บังอร...เอ็งทำไมถึงได้เป็นคนอย่างนี้ มันไม่น่ารักเลยรู้ไหม” ก้านว่าให้

“คนที่จะเสียผัวไป มีใครเขาทำตัวได้น่ารักกันได้ล่ะ...”

“แต่พี่เพ็ญเขามาก่อน”

“มาก่อนแล้วไง พี่อย่าลืมว่ามันแต่งงานกับผู้ชายอื่นไปแล้ว มันทำพี่เจ็บ ทำให้พี่ต้องอับอายคนทั้งฆะมัง พี่จะยังไปรักใคร่ไยดีมันทำไม ถามหน่อยเถอะ ที่มันแรด ๆ หลบผัวมันมาหาพี่นี่ มันมีจุดหมายอะไร”

ก้านยืนนิ่ง...

“มันต้องการอะไร บอกฉันมาซิ ถึงมันจะเคยมีอะไรกับพี่ แต่ตอนนี้มันก็ไม่ควรกลับมาหาพี่อีก เพราะมันมีผัวไปแล้ว ถ้ามันเลิกกับผัวแล้วกลับมาหาพี่ ฉันจะไม่ว่าอะไรเลยนะ แต่นี่พี่กำลังจะกลายเป็นชายชู้... ฉันรักฉันห่วงพี่นะ ฉันถึงต้องตามมาช่วยเหลือพี่ แล้วฉันก็เป็นเมียพี่แล้วเหมือนกัน ทำไมฉันถึงไม่มีสิทธิ์หึงหวงคนที่จะมายุ่งกับผัวฉัน”

“แต่พี่เพ็ญ เขาก็เป็นเมียพี่”

“ก็แค่อดีต...”

“เขาก็ตั้งท้องลูกของพี่อยู่ด้วย”

“อะไรนะ!”

“เอ็งฟังไม่ผิดหรอก ตอนนี้เขาท้องกับพี่ เขาถึงต้องหวนกลับมาหาพี่”

“แล้วผัวที่เพิ่งแต่งไปนั่นล่ะ มันจะทำอย่างไรกับไอ้ลูกเจ๊กนั่น”

“เดี๋ยวเขาก็เลิกกัน”

“มันมาบอกพี่ว่า เดี๋ยวมันจะเลิกกับผัว แล้วจะกลับมาหาพี่งั้นรึ...มันไปนอนกับผู้ชายอื่นแล้วพี่ยังจะรับได้อีกรึ”

“เขายังไม่มีอะไรกัน”

“ยังไม่มีอะไร ยังไม่ได้นอนด้วยกันใช่ไหม...จ้างฉันไม่เชื่อหรอก คนอยู่ห้องเดียวกัน มันจะอดใจได้อย่างไร ถ้ามันอดใจได้ มันก็มีแต่ควายเท่านั้นแหละ"

“อย่าเอาความคิดของเรา ไปตัดสินคนอื่น” ก้านว่าให้

“ไม่รู้ อย่างไรฉันก็จะต้องแต่งกับพี่...ตามที่คุยกันแล้วให้ได้...ถ้ามันจะกลับมาหาพี่ มันก็ต้องเป็นเมียน้อย แต่คนอย่างมัน คงไม่ยอมกินน้ำใต้ศอกใครหรอก แต่ฉันก็ไม่ยอมเสียตัวให้ใครเปล่าๆ ปรี้ ๆ เหมือนกัน...อ้อ ฉันจะบอกอะไรให้นะ...เรื่องเงินสินสอดทองหมั้นที่ฉันบอกพี่ว่าแม่จะให้มากันอาย อัฐยายซื้อขนมยายน่ะ มันไม่ใช่ของแม่ของพ่อฉันหรอกนะ...พี่อยากรู้ไหมว่าเป็นของใคร”

“ของใคร!”

“ของกำนันศร”

คำๆ นั้นเหมือนหินก้อนใหญ่หล่นทับก้านอีกครั้ง...

“หมายความว่าอย่างไร บอกมา” ก้านคว้าแขนของบังอรเขย่าถามด้วยเสียงขึงขัง แต่บังอรที่ความหึงหวงครอบงำจิตใจของตนเสียแล้วหาได้เกรงกลัว...เพราะถ้าก้านจะทิ้งขว้างตนกลับไปหาเพียงเพ็ญ ชีวิตของก้านกับอีเพ็ญก็จะต้องไม่มีความสุขตลอดไป! เล่นกับใครไม่เล่น มาเล่นกับอีบังอร

“เร็วบอกมา เอ็งไปคุยอะไรกันมา เขาถึงได้ให้เงินมา” ก้านกัดฟันกรอด

“ฉันไม่ได้ไปคุยอะไรกับทางนั้นหรอก แต่ทางนั้นเขาวิ่งเข้ามาหาฉันเอง เขาคงรู้อยู่หรอกว่า แม่ลูกสาวตัวดีของเขาคิดจะทำอะไร เขาก็เลยต้องปิดทางนี้ไว้ ให้พี่มีเมียให้เป็นเรื่องเป็นราวไปซะ โดยยอมเสียเศษเงิน เพื่อรักษาเงินก้อนใหญ่ รักษาหน้าตาไว้ ก็เท่านั้นแหละ...พี่เป็นคนฉลาด พี่คงเข้าใจที่ฉันพูดนะ...”

เมื่อรู้ว่าถูกหยามศักดิ์ศรีถึงเพียงนี้ ก้านก็กัดฟันกรอด...ก่อนจะผละเดินกลับบ้านไปโดยไม่ได้เห็นหรอกว่าสีหน้าของบังอรนั้นเป็นเช่นไร...

***********

‘ตอนนี้ ใคร ๆ ก็รู้กันว่าอีบังอรมันเดินขึ้นเดินลงบ้านนั้น อยู่ปรนนิบัติดูแลป้ากุ่นจนค่ำมืดดึกดื่น เพราะมันอยากได้ไอ้ก้านทำผัว...แล้วคนเข้าตาจน คนที่กำลังจะจมน้ำตาย กำลังหาเงินรักษาแม่ตัวเป็นเกลียว มันไม่โง่ปล่อยขอนไม้ให้ลอยน้ำผ่านไปหรอก รู้ไหมว่า มันมีอะไรกับอีบังอรไปแล้ว’

‘พี่เพ็ญ เจอหน้ากันก็ดีแล้ว ฉันไม่รู้หรอกว่า พี่กับพี่ก้าน มีอะไรกันนะ แต่ที่ฉันรู้ ตอนนี้ พี่แต่งงานไปแล้ว และพี่ก้านก็เป็นผัวของฉันแล้วด้วย เพราะฉะนั้น พี่เลิกยุ่งกับพี่ก้าน แล้วรีบกลับบ้านไปซะเถอะ’

‘ถ้าว่ากันตามจริงแล้วอีบังอร ถึงมันจะแรด แต่มันก็ไม่ได้แย่งผัวใคร ไอ้ก้านมันเป็นโสด ต่างคนต่างเป็นโสด ก็มีสิทธิ์ที่จะแต่งงานกัน…มาที่เรื่องของหนูกับพ่อซา...ก็อย่างที่พ่อเขาบอกนั่นแหละ มันยังไม่สายที่จะเปลี่ยนใจ เพราะจะยอมเป็นเมียเขาหรือไม่ยอม อย่างไร พวกเราทั้งหมดก็ได้ขึ้นชื่อว่า ย้อมแมวขายเขาไปแล้ว ถ้าเขามารู้ทีหลัง อย่างที่หนูอยากให้เขารู้ อาบอกเลยว่า แม่ย้อยปากอย่างกับตะไกร ถ้าแม่ไม่ตามมาด่าถึงที่นี่ หรือไม่เอาพวกเราไปประจานที่ตลาดให้ได้อับอาย จนไปเหยียบที่ชุมแสงอีกไม่ได้ ไม่ต้องมาเรียกอา ว่าอา และที่สำคัญ...เป็นลูกผู้หญิง ใคร ๆ ก็อยากได้ตำแหน่งเมียหลวง เมียแต่งกันทั้งนั้นแหละ...ถ้าวกกลับไปหามัน ก็เท่ากับว่า ต้องกลับไปกินน้ำใต้ศอกอีบังอร...’

‘อย่าให้ฉันต้องเอาเรื่อง ที่พี่คบชู้สู่ชายไปโพนทะนาให้คนทั้งฆะมังรู้เลยนะ กลับบ้านพี่ไปซะ อย่าหาว่าฉันไม่เตือนก่อน’

‘ตอนนี้ หนูเป็นเมียพ่อซา...เชื่ออา พ่อซาเขากลับมา ก็ให้เขาขึ้นมานอนบนเตียงซะ ปรนนิบัติเอาใจเขาไว้ ลูกในท้องจะได้มีปู่กับย่าเป็นเถ้าแก่ใหญ่ในตลาดชุมแสง...'

‘รึพี่จะเอาเขาคืน กล้าไหมละ ถ้ากล้า ก็ต้องสู้กันสักตั้ง’

เสียงสองเสียง ยังก้องอยู่ในหูของเพียงเพ็ญ จนทำให้หญิงสาวเกิดความเครียด...ใจหนึ่งก็คล้อยตามความคิดของอาศรี แต่อีกใจ เพียงเพ็ญก็ยังกังวลเรื่องที่จะแปดเปื้อนราคีคาวให้ซ้ำซ้อน เพราะถ้าวันหนึ่ง ความแตกขึ้นมา เพียงเพ็ญไม่มั่นใจว่า ไอ้เจ็ดแปดเดือนที่พ่อว่านั้นจะสามารถเหนี่ยวรั้งกมลไว้ได้หรือเปล่า... ถ้ากมลไม่ใช่คนหัวอ่อนอย่างที่พ่อคาดคิด ก็เท่ากับว่า เธอต้องเสียทั้งก้าน และเสียผัวที่นอนซ้ำรอยก้านไปอีกคน

ทีนี้เอง...มันก็ไม่ได้ต่างอะไรกับ นางวันทองสองใจ เพราะถ้าจะหวนกลับไปหาก้านอีก มันก็ยากจะอวดอ้างคุณความดีของตน...ทำไมเรื่องมันถึงได้พลิกมาเป็นอย่างนี้...

เสียงเคาะประตูดังขึ้น ทำให้เพียงเพ็ญ ที่ขังตัวเองอยู่ในห้องนับตั้งแต่วันอาทิตย์หันไปมอง...

“หนูเปิดประตูให้ป้าหน่อย...”

“มีอะไรรึป้า”

“ทำไมไม่ออกมากินข้าวกินปลา มีอะไรหรือเปล่า เป็นอะไรหรือเปล่า”

“หนูไม่หิว”

“ไม่หิวได้ไง หนูไม่กินข้าวกินปลามาสองวันแล้วนะ ไม่ห่วงตัวเองก็ ห่วงลูกในท้องบ้าง”

“หนูไม่หิว” เพียงเพ็ญบอกเสียงห้วน แต่นางแรมก็ยังไม่เลิก

“ไม่หิวก็มาเปิดประตูให้ป้าหน่อย ขอป้าเข้าไปดูหน่อยซิ ว่าตัวร้อนเป็นไข้ไม่สบายหรือเปล่า”

เพื่อตัดรำคาญ เพียงเพ็ญจึงลุกไปปลดกลอนแล้วเดินกลับไปยืนนิ่งที่หน้าต่าง...มองผ่านลูกกรงออกไปข้างนอก นางแรมเดินไปหยุดอยู่ข้าง ๆ แล้วก็ยังเซ้าซี้ว่า

“ออกไปกินข้าวซะหน่อยนะ ป้าทำต้มยำปลาช่อนใส่หัวปลีที่หนูชอบไว้หม้อเบ่อเริ่มเลย แล้วก็ยังมีกล้วยบวชชีอีกหม้อ เมื่อวานจุกมันตัดกล้วยสุกคาต้นมาให้”

เพียงเพ็ญหันกลับมามองนางแรม แล้วน้ำตาก็ไหลออกมา...นางแรมจึงตกใจเป็นอย่างมาก...

“เป็นอะไร มีอะไรรึ”

“พี่ก้าน พี่ก้าน เขา เขาเป็นอื่นไปแล้วป้า เขากำลังจะแต่งงานกับอีบังอร”

“ก็หนูเองก็มีผัวแล้วเหมือนกัน จะไปสนใจอะไรมันอีกล่ะ”

“แต่ลูกในท้องหนูมันลูกเขานี่ป้า...แล้วหนูกับอาซาของอาศรี ก็ยังไม่เคยยุ่งเกี่ยวกันเลย ป้าก็รู้”

“ก็เขากลับมา ก็ยอมนอนกับเขาเสียซิ ยุ่ง ๆ กันไปซะ มันจะได้หมดเรื่องไป” นางแรมคิดง่าย ๆ

“แต่ถ้าเขามารู้ทีหลัง ว่าหนูท้องก่อนแต่งกับเขาล่ะป้า เรื่องมันจะไม่ยิ่งเลวร้ายไปกันใหญ่รึ...แล้วถ้าเขาจะเลิกกับหนู จะกลับบ้านเขา เราก็จะไม่มีสิทธิ์ไปว่าอะไรเขาได้ เพราะเราผิดอยู่เต็มประตู แล้วทีนี้เอง หนูก็จะกลายเป็นผู้หญิงมีผัวสองคน”

“โถ...แม่คุณ ทำไมถึงได้คิดมากถึงเพียงนี้...คนอื่น ๆ เขามีผัวสี่คน ห้าคน ก็ยังไม่เห็นเป็นไรกัน แค่ผัวสองคนนี่ก็ยังนับว่าน้อยอยู่นะ”

“ป้าไม่เคยมีผัว ไม่เคยมีความรัก ป้าไม่รู้หรอก แล้วที่สำคัญหนูท้องแล้ว หนูเป็นแม่คนแล้ว หนูจะคิดน้อย ๆ ไม่ได้แล้วป้า...”

“นี่ตกลงที่แม่ศรีเขามาเกลี้ยกล่อมวันนั้นมันจะไม่ได้ผลใช่ไหม”

“หนูรู้สึกอาย...อย่าให้หนูต้องทำผิดซ้ำซ้อนเลยนะ นี่หนูยังคิดว่า ถ้าอาซาเขากลับมา หนูจะสารภาพบาปกับเขา”

“ฮ้า...”

“ถ้าเราคุยกับเขาดี ๆ ถ้าเขารับได้ ให้อภัยได้ รอให้หนูคลอดลูกก่อนได้ มันก็ดีไปไม่ใช่รึป้า แต่ถ้าเราไปหลอกให้เขามานอนด้วย เพราะหวังให้เขารับเป็นพ่อของลูกในท้อง แล้ว ถ้าวันหนึ่งความแตก เขาจะไม่ยิ่งโกรธเกลียดเรารึป้า...หนูคิดอย่างนี้นะ”

“มองมุมนี้มันก็จริง...แต่ถ้าเขารู้แล้ว เขากลับชุมแสงไปเลยล่ะ...”
“ก็ต้องปล่อยเขาไป”

“แม่ย้อยได้กลับมาฉีกอกทางนี้แน่ ๆ”

“เขาคงไม่บอกแม่เขาหรอก หนูจะขอไม่ให้เขาบอกแม่เขา ก็บอกไปว่า เราอยู่ด้วยกันไม่ได้ เขาอยู่ที่นี่ไม่ได้ก็เท่านั้นเอง”

“หนูก็จะกลายเป็นแม่หม้ายผัวทิ้ง มีลูกติดอยู่คนนะ แล้วพ่อของลูกมันก็กำลังจะแต่งงานซะแล้ว...”

“แต่งได้ก็เลิกได้ไม่ใช่รึป้า...”

“โอ้ยยย คิดอะไรอย่างนั้น”

“อ้าว ก็ใครกันเป็นคนทำเรื่องที่ควรจะจบง่าย ๆ ให้วุ่นวายบานปลายแบบนี้ล่ะ ถ้ายอมให้หนูเป็นเมีย พี่ก้านซะตั้งแต่ทีแรก เรื่องมันก็ไม่เป็นแบบนี้หรอก”

“แล้วถ้าอีบังอรมันไม่ยอมเลิกล่ะ...หนูจะทำอย่างไง”

“ไม่มีผัวก็คงไม่ตายหรอกป้า สมบัติหนูมี ลูกหนูมี พ่อแม่หนูมี หนูมีป้า มีลูกเพิ่มมาอีกคนทำไมเราจะเลี้ยงกันไม่ได้...” พอเห็นทางออกของปัญหาที่คาใจ

แล้ว เพียงเพ็ญก็รู้สึกโล่งอก...เหลือแค่รอให้กมลกลับมาแล้วก็เรียบเรียงคำพูด บอกกับเขาไปตามตรงเท่านั้น ถ้าเขาจะกลับบ้าน ก็คงต้องปล่อยไป...

*******************************



15
ตอนที่ 31 : แค่อยากได้ความเมตตาบ้างก็เท่านั้น


            ๓๑


เรณูสูดลมหายใจเข้าปอดจนลึก แล้วกลืนน้ำลายลงคอ ก่อนจะบอกว่า

“ถ้าเป็นคนอื่นถามฉัน ฉันก็จะบอกว่าไม่ได้ทำ แต่พอดีเป็นเจ๊ถาม...แล้วดันถามเป็นคนแรกเสียด้วย ฉันก็จะตอบว่า ฉันทำ จริง ๆ”

หลังจากเรณูกล้าหาญยอมรับผิด เรื่องทำเสน่ห์ใส่ปฐมและนางย้อย หมุ่ยนี้ก็ยิ้มน้อย ๆ
สายตานั้นยังเต็มเปี่ยมไปด้วยความเมตตาพร้อมกับพูดว่า “ก็แค่นั้นเอง”

“เจ๊” น้ำเสียงของเรณูผะแผ่ว

“เธอต้องมีเหตุผลของเธอ เธอถึงได้ทำอย่างนั้น ถ้าอยากอธิบาย แจ้ก็ยินดีรับฟัง”

“ทำไมเจ๊ ถึงยินดีรับฟัง คำโกหกหลอกลวงของคนเลวอย่างฉัน”

“ก็เธอบอกเองว่า ถ้าเป็นคนอื่นถาม เธอก็จะไม่ยอมรับ พอดีเป็นแจ้ถาม เธอถึงยอมรับ ก็แสดงว่าเธอรักแจ้ ไว้ใจแจ้ และซื่อสัตย์กับมิตรภาพของเรา...เรณู แจ้อายุจะสี่สิบแล้วนะ แจ้เห็นคน รู้จักคนมาเยอะแยะมากมาย คนบางคนน่ะ คุยกันแค่ประโยคเดียวก็รู้แล้วว่า เป็นคนอย่างไร คบได้ไหม คนบางคนต้องคบหากันไปนาน ๆ แล้วถึงจะรู้ว่าเป็นคนอย่างไร สำหรับเราสองคน แม้มันจะเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ แต่แจ้ว่า แจ้ดูคนไม่ผิดหรอก คนอย่างเธอ ไม่มีทาง คิดทำร้ายใครก่อนอย่างแน่นอน เรื่องระหว่างเธอกับอาใช้ ตอนอยู่ตาคลี แจ้ไม่รู้ไม่เห็นอะไรด้วย แต่ที่ชุมแสง ระหว่างอาซิ่มกับเธอ แจ้รู้ว่าอะไรเป็นอะไร...มันจึงไม่แปลกถ้าเธอจะทำอย่างนี้”

“ถ้าจะให้แก้ตัว ฉันก็จะบอกว่า ที่ตาคลีกับเฮียใช้ ฉันทำลงไปเพราะฉันรักเขา ฉันอยากเอาชนะเขา เอาชนะเพื่อน ๆ ที่ดูถูกเหยียดหยามว่า คนอย่างฉัน ทำอาชีพอย่างนั้น จะไม่มีวันที่คนอย่างเฮียใช้สนใจ แล้วอีกอย่างฉันก็อยากมีชีวิตเหมือนผู้หญิงทั่ว ๆ ไป คือได้อยู่กับคนที่ฉันรัก สร้างอนาคตสร้างชีวิต มีลูกมีเต้าด้วยกัน ส่วนกับแม่ย้อย ฉันทำไปเพราะต้องการอยู่กับคนที่ฉันรักเท่านั้น ฉันไม่มีเจตนาหลอกลวงเอาทรัพย์สินอะไรของแกเลยสักนิด ไม่ว่าจะเป็นสร้อยคอ ร้านนี้...หรือเงินลงทุนทำมาหากิน ฉันเพียงแค่อยากให้แกเมตตาฉันบ้าง แต่ฉันคิดไม่ถึงว่า ฤทธิ์ของคุณไสยมันจะทำให้แก่เปลี่ยนมาดีกับฉันถึงเพียงนี้”

“มันอาจจะไม่ใช่เพราะฤทธิ์ของคุณไสยอย่างเดียวก็ได้นะเรณู...”

เรณูนิ่งฟัง....

“แต่แจ้ว่า มันก็เป็นเพราะคุณงามความดีของเธอด้วย...”

“ฉันมีความดีอะไรหรือแจ้...”

“ตอนที่ไปปากน้ำโพด้วยกัน ฉันรู้สึกว่า ยามที่เธอ ปรนนิบัติดูแลแม่ผัวเธอนั้น เธอไม่ได้ทำอย่างเสแสร้งแกล้งทำ แต่เธอทำให้ด้วยความเต็มใจ”

หมุ่ยนี้เห็นตั้งแต่ตอนนั่งรอรถไฟอยู่ที่สถานีชุมแสง ตอนนั้นมีที่ว่างแค่ที่เดียว เรณูที่ช่วยถือกระเป๋าให้รีบไปจับจอง พอนางย้อยปวดห้องน้ำ เรณูก็ไปเป็นเพื่อน ตอนลงจากสถานีรถไฟมาขึ้นเรือข้ามฟากมาตลาดปากน้ำโพ ตอนขึ้นจากตีนท่ามาบนตลิ่ง ระหว่างทางลาดชันเรณูก็ประคองนางย้อย

ตอนเดินเที่ยวงานกาชาด นางย้อยบอกว่า เห็นทีจะเดินดูนั่นดูนี่ไม่ไหวเพราะต้องเบียดเสียดกับคนจำนวนมหาศาล ขอนั่งรอ โดยปล่อยให้ คนหนุ่มคนสาวไปด้วยกัน เรณูก็ขออยู่เป็นเพื่อนไม่ทิ้งขว้างไปไหน

ช่วงที่ดูประกวดนางงาม นางย้อยบอกว่าตนเองนั้นมีปัญหาเรื่องปวดเบาบ่อย ๆ แม้ห้องน้ำจะอยู่ไกลจากเวที เรณูก็ลุกออกไปกับนางย้อยไปทุกครั้ง...คืนนั้นตอนที่ไปส่งนางย้อยที่บ้านของพี่ชายเจ๊กเซ้ง เรณูต้องไปนอนกับวรรณา ส่วนหมุ่ยนี้ จันตา และปลัดจินกร นั้นนอนโรงแรม เรณูก็ถามนางย้อยว่า จะให้อยู่นวดขาให้ก่อนไหม ดีแต่ว่านางย้อยปฏิเสธ เพราะเห็นว่าดึกแล้วอยากให้เรณูพาวรรณาที่เหนื่อยมาทั้งวันกลับไปพักผ่อน

“ก็เขาเป็นแม่ผัวฉัน...แม่ผัวก็เหมือนแม่ของตัว รักลูกเขา ก็ต้องรักแม่รักพ่อเขาด้วย อีกอย่างฉันก็นึกอยากตอบแทนเรื่องที่แกให้ทอง ให้ร้านฉัน แม้ว่ามันจะเกิดขึ้นเพราะฤทธิ์คุณไสยก็ตามที”

“นั่นไง ถึงแม้เธอจะรู้ว่า ที่เธอได้อะไรต่อมิอะไรมาเพราะฤทธิ์ของคุณไสย แต่เธอก็ยังคิดตอบแทน นั่นคือเจตนาเธอไม่ได้เลวทรามแต่อย่างใด”

“แต่ฉันก็กลายเป็นคนที่คนทั้งชุมแสงมองด้วยสายตาเคลือบแคลงสงสัย ดูถูกเหยียดหยาม ไปซะแล้ว”

“ไม่ทั้งชุมแสงหรอก...คนที่รักเธอ เข้าใจเธอ พร้อมจะให้อภัยให้เธออย่างแจ้ อย่างจันตามีมากกว่า อย่าไปสนใจอะไรมันเลย”

“แต่ถึงอย่างไรฉันก็ต้องก้มหน้ารับกรรมที่ฉันก่อไว้อยู่ดี...คนจะต้องถามเหมือนที่เจ๊ถามแล้วฉันก็ต้องโกหกว่า เปล่าๆ ตลอดไป...”

“ช่วงนี้ก็อดทนเอาหน่อย เดี๋ยวเรื่องมันก็เงียบ เพราะชีวิตคนเราน่ะมันมีเรื่องเกิดขึ้นใหม่เรียกความสนใจทุกวันอยู่แล้ว”

“พิไลมันคงไม่ยอมเงียบด้วยหรอก...ไหนจะเตี่ย ไหนจะอาตง อาซาอีก...”

เรณูมีสีหน้าหนักใจอย่างเห็นได้ชัด...

“ตรงนั้นเธอก็ต้องพิสูจน์ตัวเองให้อาแปะ อาตง อาซาเห็นว่าเธอ ต้องการแค่ความยุติธรรมเท่านั้น ไม่ได้ต้องการมากกว่านั้น และที่สำคัญ อย่าคิดทำผิดซ้ำสองอีก แล้วก็ทำดีตอบแทนเขาอย่างที่คิดไว้นั่นแหละ...มันยังจะพอลดโทษทัณฑ์ได้บ้าง”

“จ้ะเจ๊ ฉันจะพยายามทำดีกับแกให้มาก ๆ”

“แล้วเธอจะเอาของออกเมื่อไหร่”

“ก็คงอีกสักพัก รอให้เฮียใช้ปลดทหารมาก่อน รอให้มีลูกมีเต้าด้วยกันก่อน ถึงตอนนั้น สถานการณ์คงดีขึ้น...แล้วหมอที่ทำให้ แกก็บอกกับฉันว่า ถ้าฉันมีความดีเป็นของคู่ตัว ของจะยังอยู่หรือว่าหลุดแล้ว ความดีนั้นก็ยังจะเป็นเครื่องผูกมัดใจคนเอาไว้ได้....”

***************

เย็นวันนั้นกมลยังไม่ได้กลับฆะมัง เขากับเจ๊กเซ้งผู้พ่อจึงพยายามพูดคุยและสังเกตดูพฤติกรรมของแม่...ว่าคนที่ถูก ‘คุณไสย’ นั้น ความรู้สึกนึกคิดเปลี่ยนไปมากน้อยเพียงใด...ที่ว่ากันว่ารักว่าหลง จนหัวปักหัวปำนั้นจะเป็นจริงหรือเปล่า

“นี่อีพิไลมันจะไปดูแม่มันกี่วันละเนี่ย แล้วมันนึกอย่างไรถึงเอาอีปลูกไปด้วย...”

“ก็ คงอยากเอาไปเป็นเพื่อนมั้งม้า...”

พิไลบอกกับเจ๊กเซ้ง และประสงค์ว่าจะไปท่าน้ำอ้อย กับคนงานเก่าของเถ้าแก่ฮงที่ชื่อเชิด แต่พิไลก็ไม่ได้ไว้ใจนายเชิดจนกล้าพอจะไปไหนมาไหนด้วยกันเพียงสองคน พิไลจึงต้องขอให้บุญปลูกไปด้วย แต่เจ๊กเซ้ง ประสงค์ กมล ต่างปรึกษากันแล้วว่า งานนี้ ไม่ควรจะบอกไปตามความเป็นจริง กมลจึงต้องหาทางออกว่านางพิกุลเกิดเจ็บป่วยกะทันหันให้คนมาส่งข่าว พิไลจึงต้องกลับไปดูแล...

“เอาไปทำไม...เมื่อตอนวันลอยกระทงมันก็ไปคนเดียวได้”

“คงอยากพาบุญปลูกไปเปิดหูเปิดตาด้วยมั้งม้า ตอนหลังๆ เขาสนิทสนมกัน”

“เหลวไหลใหญ่แล้ว นี่ถ้าไปหลายวันก็เท่ากับว่า มันก็ได้ค่าแรงโดยไม่ต้องทำงาน”

“น่า ม้า ให้รางวัลมันบ้าง ปี ๆ มันไม่เคยไปไหนกับเขาเลย อ้อ ม้ายังไม่ได้เล่าเลยว่า ไปปากน้ำโพคราวนี้เป็นอย่างไรบ้าง...”

“ก็เหมือน ๆ เดิม จะมีอะไร”

“ว่าไปผมก็อยากไปเปิดหูเปิดตาเหมือนกันนะ หลายเดือนแล้วมั้งไม่ได้นั่งรถไฟไปไหนเลย...”

“ว่าง ๆ แกก็พาเมียไปเที่ยวซิ ไปนอนบ้านอาแปะก็ได้” พอแม่เอ่ยถึงเมีย กมลจึงรีบเปลี่ยนเรื่องทันที...

“ม้า ม้าช่วยอะไรอาซ้อเรณูไปบ้าง”

“ก็ออกค่าเซ้งร้านให้ แล้วก็ให้อียืมทองใส่ไปอีกสองบาท มีพระเลี่ยมทองติดไปองค์ ตอนนั่งรถไฟ มา อีถอดคืนให้มาแล้ว แต่ม้าไม่เอาคืนหรอก ให้มันไปเลย...”

“ก็เท่ากับม้าให้ทองเขาสองรอบเลยซิ”

“ก็ให้มันบ้าง อย่างไรมันก็เป็นเมียตั่วเฮียของลื้อ...แต่ถ้ามันโดนจี้โดนปล้นอีก ก็คงจะไม่ให้มันแล้ว ถือว่าคอของมันไม่มีวาสนาจะได้ใส่ทอง”

“แล้วเงินค่าซื้อของเข้าร้านล่ะ ม้าได้ช่วยเขาหรือเปล่า”

“มันบอกว่า มันยังพอมีอยู่”

“เขาเอาเงินมาจากไหนรึม้า” กมลแสร้งถามจี้ ‘ปม’

“ก็ เงินเก็บของมันสมัยที่มันทำงานอยู่ที่ตาคลีนั่นแหละ มันบอกว่า ถ้า ขาดเหลืออะไร มันจะมาหยิบยืม แต่ว่า อีนี่มันคงไม่มาหยิบยืมหรอก คนอย่างมัน หยิ่งพอตัวเหมือนกัน มันว่ามันจะทำขนมขายเหมือนเดิม มันจะทำข้าวเกรียบปากหม้อ สาคูไส้หมู มันขายได้ทั้งวัน มีคนเคยบอกม้าว่า วันหนึ่งอีนี่มันจะรวยเพราะขนม เห็นท่าจะจริง มีร้านแล้วก็นึกว่าจะเลิกทำ แต่ก็ดี ขายแค่หน้าร้าน ไม่ได้หาบไม่ได้คอนตากหน้าอย่างตะก่อน แล้วน้องสาวมันก็ดูขยันขันแข็งเชื่อฟังมันดีหรอก คงเอาตัวรอดกันได้...”

เสียงที่พูดถึงแม้จะเป็นปกติของแม่ แต่กมลก็รู้สึกว่า น้ำเสียงนั้น ‘เข้าข้าง’ ไม่มีอาการรังแครังคัดอย่างที่เคยได้ยิน...จะว่าดีก็ดี เพราะบ้านสงบ แต่มันก็อดเป็นห่วงไม่ได้

“แล้วนี่แกจะกลับ ฆะมังวันไหน มาสามคืนแล้วนี่นะ...พรุ่งนี้ก็กลับได้แล้วมั้ง”

“ม้าไม่คิดถึงผมหรือไง”

“คิดถึง แต่แกมีเมียแล้ว อยู่ห่าง ๆ กัน แกไม่คิดถึงเมียแกรึไง”

“ก็คิดถึง...” กมลบอกไม่เต็มเสียง

“งั้นก็รีบกลับไป ช่วยงานเขาให้เต็มที่ ม้ามีอะไรก็จะส่งข่าวไปอย่างครั้งนี้แหละ...”

“แต่ม้าควรจะไว้ใจอาซ้อพิไลเขาได้แล้วนะ ม้ารู้ไหมว่า อาซ้อเขาน้อยใจที่ม้าตามผมกลับมาเฝ้าร้านเหมือนกันนะ”

“ก็อยากไว้ใจมันหรอก...แต่คนมันทำให้เสียความรู้สึกไปแล้ว มันอดระแวงไม่ได้...”

“เสียความรู้สึกอะไรกับเขาล่ะม้า”

“ก็เรื่องสินสอดทองหมั้น เรื่องตั้งแต่สมัยแต่งงานแหละ แล้วก็เรื่องใช้เงินมือเติบ อยากกินนั่นอยากกินนี่ แล้วก็ชอบซื้อชอบจ่ายเงิน โดยไม่คิดหน้าคิดหลังให้ดี คนพร้อมจะจ่าย มันต้องจ้องจะหา จ้องจะเอาไปไว้จ่าย” ว่าแล้วนางย้อยก็ถอนหายใจออกมา...กมลลอบมองหน้าเตี่ยที่นั่งอ่านหนังสือพิมพ์เงียบ ๆ แล้วก็บอกกับแม่ว่า

“งั้นพรุ่งนี้ บ่าย ๆ ผมกลับฆะมังแล้วกันนะม้า อยู่ช่วยม้าขายของอีกพักหนึ่งก่อนนะ”

ใจจริง เขาไม่ได้ห่วงขายของ แต่เขาอยากเห็นตอนที่แม่ของเขารู้เรื่องเรณูทำเสน่ห์เล่ห์กลใส่ปฐม ใส่ตนเอง จากปากของบรรดา ‘ผู้หวังดี’ ที่มีอยู่รอบบ้าน แม่ของเขาจะว่าอย่างไรต่างหาก

...และกมลก็อยากจะรู้ว่า งานนี้ อาซ้อเรณูจะรับมือเสียงสะท้อนกลับอย่างไร...และที่สำคัญ เขาไม่นึกอยากกลับไปที่ฆะมัง จากมาสามวันสามคืน มันไม่มีความรู้สึกคิดถึงเพียงเพ็ญเลยสักนิด...นึกแล้วกมลก็ถอนหายใจออกมาเบา ๆ เพราะยังนึกไม่ออกว่า เมื่อไหร่ที่เมียของเขาจะพร้อมให้เขาขึ้นไปนอนบนเตียงด้วยกัน แล้วถ้าไม่มีวันนั้น เขาจะอยู่ที่นั่นในฐานะอะไร?

*************

‘หมอบาง’ ที่ติ๋มแนะนำให้นายเชิดไปพบนั้นเป็นผู้หญิงวัยกลางคน นางเป็น ‘ร่างทรงเจ้าแม่สร้อยสุพรรณ’ เวลาที่ แขกมาให้เจ้าแม่ให้ความช่วยเหลือ แขกจะแทนตัวเองว่า ‘ลูกช้าง’

วันแรกที่นายเชิดเดินทางมาถึงตำหนักของเจ้าแม่สร้อยสุพรรณ นายเชิดก็เห็นสายธารศรัทธาในตัวเจ้าแม่ที่มีอย่างล้นหลาม ใครมาถึงก่อนจึงจะมีสิทธิ์ให้เจ้าแม่ที่อยู่ในห้องให้ความช่วยเหลือก่อน นายเชิดไปถึงท่าน้ำอ้อย ในเวลาเกือบเที่ยงวัน กว่าจะได้เข้าพบเจ้าแม่ก็บ่ายสามโมง

ระหว่างนั้นนายเชิดก็กระซิบถามคนที่มารออยู่ก่อนว่าเจ้าแม่ฯ สามารถช่วยเรื่องล้างคุณไสยแก้เสน่ห์ยาแฝดได้หรือไม่...และก็ได้รับคำตอบว่า ‘เป็นเรื่องขี้ผง’ ใจของนายเชิดจึงชื้นขึ้นมาเป็นกอง เพราะงานนี้พิไลบอกกับเขาว่า ถ้าสามารถสืบเสาะหมอดี ๆ มาแก้ไขคุณไสยที่เรณูทำได้ นายเชิดจะได้รางวัลพิเศษเป็นเงินอีก 200 บาท นอกจากเงินค่าจ้าง ที่ออกจากบ้านมาเที่ยวสืบเสาะในแต่ละคราว

นอกจากนั้น พิไลก็ยังบอกให้นายเชิดช่วย ๆ ดูเครื่องลายคราม เครื่องกังไส งานเบญจรงค์ เครื่องทองเหลืองงานโบราณตามบ้านคนรู้จักให้ด้วย ถ้าได้ของเก่าราคาไม่แพงนัก พิไลก็จะเริ่มเก็บสะสมไว้ประดับบารมีเช่นเดียวกับที่บ้านแม่ใหญ่...

หลังพบกับ ‘เจ้าแม่’ โดยจ่ายค่าครู ไปสิบสลึง นายเชิดก็เล่าเรื่องของพิไลให้เจ้าแม่ฯ ฟังคร่าว ๆ เจ้าแม่ฯ บอกกับนายเชิดว่า ถ้าจะให้ดีต้องเอาตัวคนถูกทำคุณไสยมาพบที่ตำหนัก นายเชิดบอกไปว่า คนถูกทำคุณไสยคงจะไม่ยอมมาง่าย ๆ เจ้าแม่ฯ จึงบอกว่า ถ้าอย่างนั้นก็ให้ญาตินำเสื้อผ้าของคนถูกคุณไสย และเส้นผม หรือเศษเล็บมา ส่วนจะได้ผลหรือไม่ได้ผลนั้น เจ้าแม่ฯ ไม่รับประกันเหมือนกับที่เอาคนถูกคุณไสยมาด้วยตนเอง

นายเชิดนั่งรถไฟกลับชุมแสงในคืนวันอาทิตย์แล้วดิ่งไปหาพิไลที่บ้านในตรอก บอกเล่าให้พิไลรับรู้ พิไลปรึกษากับประสงค์ แล้วก็ขอมาท่าน้ำอ้อยในเช้าวันจันทร์ โดยขอเอาบุญปลูกมาเป็นเพื่อนด้วย...ประสงค์เห็นว่ามีบุญปลูกมาด้วย จึงไม่ได้ขัดขวาง เพราะเขาเองก็อยากให้เรื่องนี้จบลงเสียโดยไว ไม่เช่นนั้นพิไลก็คงทุรนทุรายจนเสียงานเสียการ

นายเชิดพาพิไลและบุญปลูกนั่งรถไฟมาที่สถานีเนินมะกอก ต่อรถมอเตอร์ไซค์รับจ้างมาท่าน้ำอ้อย กว่าจะถึงก็เป็นเวลาบ่ายคล้อย แน่นอนว่า คนที่รอพบเจ้าแม่ฯ นั้นมีอย่างเนืองแน่น จนกระทั่งหมดเวลาที่เจ้าแม่ฯ ลงประทับทรง

คืนนั้นพิไลจึงต้องนอนค้างที่บ้านหมอบางหนึ่งคืน โดยต้องเสียค่าอาหารเย็น ค่าที่หลับที่นอนคนละสองบาท และที่พิไลรู้สึกลำบากใจเป็นอย่างมาก คือ คนที่มาพบเจ้าแม่นั้น ส่วนใหญ่จะเป็นคนที่เต็มไปด้วยโรคภัยไข้เจ็บรักษาด้วยวิธีการอาบน้ำมนต์พ่นน้ำมัน และมีเรื่องเดือดร้อนแปลก ๆ จนพิไลไม่อยากจะเชื่อว่า เจ้าแม่ฯ สามารถช่วยคนทุกข์ยากเหล่านั้นได้หมดทุกคน

***********

ระหว่างที่นั่งกินข้าวเย็นด้วยกัน เรณูก็รู้สึกว่าวรรณานั้นเงียบขรึมไปอย่างเห็นได้ชัด...

“แกมีอะไรในใจรึเปล่า”

วรรณาละช้อนข้าวแล้วมองหน้าเรณู...เม้มปากแล้วตัดสินใจพูดว่า “ฉันได้ยินเรื่องที่พี่คุยกับเจ๊หมุ่ยนี้นะ”

เรณูฟังแล้วก็ตักข้าวเข้าปาก...เคี้ยวพลางครุ่นคิด วรรณาเห็นอาการพี่สาวเป็นดังนั้น จึงตักข้าวเข้าปากบ้าง อาการที่เคี้ยวนั้น ไม่ได้ดูเอร็ดอร่อยแต่อย่างใด...เรณูกลืนข้าวกลืนน้ำแล้วถามว่า

“ได้ยินแล้วแก รู้สึกอย่างไร”

“ถ้าเอาตามตรง ฉันก็รู้สึก...เอ่อ...” วรรณารู้สึกว่ามันพูดออกไปได้ยาก เห็นดังนั้นเรณูจึงบอกว่า

“อาย แกอาย ที่เป็นน้องสาวพี่ มาอยู่กับพี่ อายที่มีพี่ชั่ว ๆ จนไม่อยากกินข้าวด้วย”

“ฉันอายคนอื่นก็จริง แต่ฉันไม่ได้รังเกียจพี่ หรือโกรธพี่หรอกนะ...ฉันห่วงพี่ต่างหาก...ฉันคิดว่าพี่พิไลกับคนบ้านนั้น เขาคงไม่อยู่เฉย ๆ กันหรอก ป่านนี้ก็คงหาทางแก้ลำกันวุ่นแล้วแหละ...พี่ต้องระวังตัวให้ดีนะ”

“อืม” เรณูมีสีหน้าเคร่งเครียดอย่างเห็นได้ชัด เพราะถึงแม้ว่าหมุ่ยนี้ จันตา จะให้อภัย เห็นใจ และเข้าข้าง แต่เรณูก็ยากจะเดาใจคนจำนวนมาก

เรณูถอนหายใจออกมาอย่างแรง แล้วเชิดหน้าขึ้น ก่อนจะบอกกับวรรณาอย่างคนเด็ดเดี่ยวว่า

“อะไรจะเกิดก็ให้มันเกิด...เพราะที่ผ่านมา ชีวิตมันก็ไม่ได้ดีกว่าที่เป็นอยู่สักเท่าไหร่หรอก”

แล้วเรณูก็หวนไปคิดถึงชีวิตจนยากในวัยเด็กที่ต้องอด ๆ อยาก ๆ คิดถึง ชีวิตตอนที่ไปยุ่งกับพี่เขยจนตั้งท้องแล้วพี่สายทองก็มาด่าทอตบตีจนเนื้อตัวเขียวช้ำ คิดถึงสายตาคนแถว ๆ นั้นที่มองอย่างรังเกียจเดียดฉันท์ว่าเป็น หญิงชั่วเพราะแย่งผัวพี่สาว คิดถึงชีวิตยามที่ต้องเดินทางกลับมาบ้านแล้วคนอื่น ๆ มองด้วยสายตาเหยียดหยามเพราะปล่อยให้ชีวิตตกต่ำจนกระทั่ง มีคำว่า ‘กะหรี่’ เป็นชื่อเล่นชื่อรอง

...ตอนนั้นก็ยังผ่านช่วงเวลาเหล่านั้นมาได้เลย...ถึงจะสบตาคนได้ไม่เต็มตา ก็เชิดหน้าขึ้นแล้วปลอบใจตนเองว่า ‘ขอใครเขากินซะเมื่อไหร่’ เอาก็ได้...

“ไหนพี่เคยบอกว่าพี่มาไกลเกินกว่าจะย้อนกลับไง อย่างไรก็อย่าปล่อยให้ชีวิตตกต่ำไปกว่าเดิม และพี่ก็ต้องไม่ลืมว่าตอนนี้ มีฉันอีกคนที่เอาชีวิตมาฝากไว้กับพี่ และพี่ ก็ยังมีไอ้ป็อกอีกคน”

“พี่ไม่ลืมหรอก” ว่าแล้วเรณูก็สูดลมหายใจเข้าปอดแล้วละช้อน...แล้วลุกขึ้นยืน สีหน้าครุ่นคิด...

“พี่อิ่มแล้วเหรอ เพิ่งกินไปได้ไม่กี่คำ”

“อิ่มแล้ว พี่จะไปโรงสีหน่อย แกอยู่ที่นี่คนเดียวได้นะ”

“ค่ำมืดแล้ว พี่จะไปทำอะไร”

“ไปทำขนมตะโก้ พรุ่งนี้ พี่จะหาบของไปขายที่หน้าตลาดสดเหมือนเดิม”

“ไหนว่าจะไม่หาบของขายแล้วไง”

“ยังเลิกไม่ได้หรอก...ถ้าพี่ตั้งรับเสียงนินทาอยู่ที่นี่ ก็เท่ากับพี่ทำผิดจริง ๆ พี่จะลุยไปในตลาดนั่นแหละ ขึ้นชื่อว่าเป็นคนตอแหลแล้ว ก็ต้องเสียงแข็งปฏิเสธข้อกล่าวหามันไปให้ถึงที่สุด...”

“มันจะดีหรือพี่”

“ดีหรือไม่ดี ก็ต้องลองดูกันสักตั้ง...”

“งั้นฉันไปด้วยนะ ถ้าให้ฉันอยู่ที่นี่คนเดียว คืนนี้ ยังอยู่ไม่ได้แน่ ๆ”

ระหว่างทางที่เดินไปโรงสีแม้ร้านรวงสองฟากข้างถนนในซอยส่วนใหญ่จะปิดหมดแล้ว แต่ก็มีที่เปิดอยู่บ้าง บางร้านพอเห็นเรณูกับน้องสาวเดินถือไฟฉายก็ร้องทัก...

“จะไปไหนกันเล่า”

“ไปโรงสีจ๊ะ”

“ไปทำอะไรอีก มืดค่ำแล้ว”

“ไปทำขนมขาย อุปกรณ์ของใช้ส่วนใหญ่ยังไม่ได้ขนมาเลยจ้า...พรุ่งนี้ถ้าจะกินตะโก ก็ไปที่หน้าตลาดนะจ๊ะ ทำไม่เยอะหรอก แค่สองสามถาด...”

หลังจากที่ตอบคำถามลักษณะนั้นสองสามเจ้า พอเดินพ้นจากตลาดมาแล้ว เรณูก็บอกกับวรรณาว่า

“คิดไม่ผิดจริง ๆ ที่ไม่หนีหน้าคน อย่างน้อยเราก็ยังเห็นว่า มีใครบ้าง ที่เขาไม่ถือสา ไม่สนใจ ไม่ใส่ใจกับเรื่องพวกนั้น”

“ก็อาจจะเป็นอย่างที่เจ๊หมุ่ยนี้ว่านั่นแหละ...ชีวิตคนเรามันมีเรื่องใหม่ ๆ มาเรียกความสนใจคนอยู่ตลอดอยู่แล้ว มัวไปจมปลักกับเรื่องในอดีต เป็นทุกข์เป็นร้อนไปก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร”

********

เช้าวันรุ่งขึ้นคะเนว่าแม่ค้ามาจนเต็มพื้นที่แล้ว เรณูก็หาบขนมออกมาจากร้านท่ามกลางสายตาแปลกใจของคนส่วนใหญ่ พอมาถึงที่ที่ตนเคยวางหาบ เรณูก็ยิ้มแย้มแจ่มใส ทำเหมือนไม่รู้ ไม่ได้ยินเสียงนินทาเมื่อก่อนหน้า

“ขนมตะโก้ของอีเรณูมาแล้วจ้า....วันนี้ ทำแค่สี่ถาดเท่านั้น มาช้าหมดอดกินกันนะจ๊ะ”

“อ้าว นึกว่าจะไม่ออกมาขายซะแล้ว”

“ทำไมถึงคิดว่าฉันจะไม่ออกมาล่ะ” ช่วง ๆ หลัง ก่อนจะไปปากน้ำโพ เรณูก็ขาย ๆ หยุด ๆ เพราะต้องซ่อมแซมร้าน จัดร้านรอท่าวรรณา...แล้วเรณูก็ประกาศไปแล้วว่า จะเปลี่ยนไปขายข้าวเกรียบปากหม้อกับสาคูไส้หมูที่หน้า ‘ร้านเรณูบูติค’ แทน...

“ก็แหม ก็วาสนาไปจนถึงได้สะใภ้คนโปรดเถ้าแก่ใหญ่ แล้วใยแม่ยังจะต้องมาหาบมาคอนมานั่งตากหน้าอยู่ตรงนี้อีกเล่า”

“ก็คิดถึงพวก พี่ป้าน้าอาที่นี่ไง...ก็คนเคยเห็นกัน พอไม่เห็นกัน ก็คิดถึง”

“คิดถึงจริง ๆ รึ”

“จริงซิจ๊ะ เป็นไงป้า วันนี้ขายดีไหม”

“ตอนแรกก็เงียบๆ พอแม่มา ก็เหมือนจะขายดีขึ้นมาเลย”

“เห็นไหมล่ะ ว่าฉันน่ะ ตัวเรียกแขก...ตะโก้จ้าตะโก้...ห่อละสลึงเดียวเท่านั้น”

บรรยากาศเช่นทุก ๆ เช้าที่เรณูหาบของมาขายกลับมา...จนกระทั่งตะวันขึ้นสูง เรณูที่ขายของหมดตั้งนานแล้วก็เดินดูนั่นดูนี่ พลางพูดคุยกับคนนั้นคนนี้ ซึ่งก็หนีไม่พ้น เรื่องกระซิบกระซาบถามเรื่องที่พิไลโพนทะนานั้นจริงแท้ประการใด เรณูก็ตอบไปด้วยน้ำเสียงเหนื่อยหน่ายใจว่า

“ก็แหม คนมันขี้อิจฉาริษยา พอเห็นว่าฉันจะได้ดีเกินหน้า มันก็กุข่าวใส่ร้ายป้ายสี ดีแต่ที่ฉัน ไม่ได้ทำอย่างนั้น ใยฉันจะต้องอับอายหนีหน้าใครใช่ไหม”

“นั่นซินะ ถ้าแม่ทำ แม่ก็คงไม่กล้ามาเดินตลาดหรอก...”

“เพราะฉันไม่ได้ทำ ฉันถึงต้องมานี่ไง ใครๆ ก็จะได้ไม่ต้องมีเรื่องคาใจกัน...”

“แล้วนี่ แม่จะจัดการกับมันอย่างไร ตบให้คว่ำเลยดีไหม...”

“ฉันก็คิดอยู่เหมือนกัน...แต่ว่าใครจะไปประกันฉันออกจากคุกล่ะจ๊ะ”

***********

พอถูกถามเรื่องที่เรณูทำของใส่ทั้งปฐมและตนเอง นางย้อยก็ทำหน้าเหน็ดเหนื่อยใจ ก่อนจะบอกว่า “เหลวไหลน่า มันจะทำ ทำไม”

พอถูกถามย้อนกลับ คนที่อยากรู้ ก็ได้แต่มองหน้ากัน...เพราะอึดอัดใจที่จะพูดไปตรง ๆ ด้วยเชื่อไปแล้วว่า คนที่ ‘ถูกของ’ ย่อมเข้าข้าง ‘คนทำของใส่’ อย่างแน่นอน...แต่ถึงกระนั้นหนึ่งในนั้นก็ยังกล้าที่จะจาระไน...

“ก็ตะก่อน แม่ย้อยเกลียดมันอย่างกับอะไรดี แต่ตอนนี้ มันอย่างกับคนละคน”

“ก็นั่นมันตะก่อน”

“ก็ตะก่อนแม่ย้อยยังเป็นแม่ย้อยไง...”

“ใช่ ๆ ตะก่อน เป็นตัวของตัวเองแม่ก็เลยเกลียดมัน...พอถูกของแล้วรักใคร่เมตตามัน ความคิดมันถึงได้เปลี่ยน”

“แล้วนี่ไม่มีงานมีการจะทำกันหรือไง” นางย้อยตัดบท

“มี แต่ ฉันเป็นห่วงแม่ย้อย กลัวจะหมดตัวเพราะการนี้”

“ขอบใจ แต่ฉันสบายดี ไม่มีอะไร ไม่เป็นอะไรง่าย ๆ หรอก”

“อย่างไรก็ไปอาบน้ำมนต์บ้างนะแม่ย้อย เขาว่ากันว่า คนถูกของน่ะดวงมันจะซวย”

หัวคิ้วของนางย้อยขมวดเข้าหากัน...กมลที่ยืนฟังความอยู่ใกล้ ๆ จึงรีบบอกว่า

“โน่น อาซ้อเรณูเดินมาโน่นแล้ว มีอะไรก็ถามกับอี ได้เลย ซิ่ม’

“ไม่ถามหรอก เกลียดขี้หน้ามัน ไปพวกเรา...เตือนด้วยความหวังดีหรอก ถ้าไม่เชื่อก็ตามใจนะ” ว่าแล้วทั้งคณะก็พากันผละไป...นางย้อยถอนหายใจออกมา...แล้วก็ถามกมลว่า

“อีเรณูมันจะทำของใส่ม้าทำไม แล้วผู้หญิงกับผู้หญิงมันทำของใส่กันได้ด้วยรึ?”

“ผมก็ไม่รู้เหมือนกันม้า”

เรณูเดินหาบกระจาดมาถึง ก็ยิ้มหวานให้ป้อม จนถึงกมล และนางย้อย ที่นั่งหน้าเครียดอยู่...

“ไหนเธอบอกว่าจะเลิกหาบของขายไง แล้วทำไมยังหาบอยู่อีก” นางย้อยถามเรื่องที่ทำให้ใจขุ่นทันที

“ใจจริงหนูก็จะเลิกละจ๊ะ แต่พอมีเรื่องนี้เกิดขึ้น ถ้าเลิกไป หายไปเลย คนก็จะหาว่าหนีหน้าไง สู้ออกมาประจันหน้ากัน แล้วตอบคำถามที่พวกนั้นซุบซิบกันซะเลยดีกว่า...ดูท่าแล้วมันก็ได้ผลด้วย”

กมลที่ได้ยิน รู้สึกว่าเป็นอีกครั้งที่เรณูฉลาดแก้ไขสถานการณ์...

“เข้าใจคิด...” นางย้อยเปรยออกมาเบา ๆ

“แล้วม้ากินข้าวหรือยัง เช้านี้ทำอะไรกินหรือจ๊ะ”

“ยังไม่ได้ทำ ไม่มีกระจิตกระใจจะทำอะไรกิน เช้ามาก็มาถามกันให้วุ่นวายไปหมด”

“แล้วม้าตอบไปว่าอย่างไร”

“ก็ตอบไปว่า ไม่รู้นะซิ จะให้ตอบไปว่าอะไรล่ะ”

เป็นคำตอบปัด ๆ ที่เรณูรู้สึกหายใจคล่องขึ้น...

“แล้วนี่ซาจะกลับฆะมังวันไหน”

“วันนี้ละซ้อ ตอนบ่าย ๆ ก็กลับละ”

“แล้วนี่ สายจนป่านนี้ พิไลไปไหน ไม่เห็นมาขายของ”

“ไปทับกฤช แม่เขาป่วย เลยไปเฝ้า เอาบุญปลูกไปด้วย” กมลบอกแค่นั้น เรณูก็รู้แล้วว่า พิไลคงไม่ได้ไปทับกฤชหรอก แต่จะไปไหนก็ ‘เรื่องของมัน’ เพราะมันต้องดิ้นรนรักษาผลประโยชน์ของมันเหมือนกัน...

“ม้าวันนี้ฉันทำตะโก้นะ เก็บไว้ให้ แปดห่อ” เรณูหันไปใส่ใจนางย้อยที่ยังมีสีหน้าบึ้งตึง...

พอได้ยินดังนั้น สีหน้านางย้อยก็ดีขึ้น เรณูจึงบอกว่า “เดี๋ยวหนูเอาไปจัดใส่จานให้นะ...อ้อ แล้วตะกี้ม้าบอกว่ายังไม่ได้ทำอะไรกิน เดี๋ยวหนูทำให้เอาไหม ม้าอยากกินอะไร ซาอยากกินอะไรบอกมา เดี๋ยวพี่ทำให้”

“แล้วเธอไม่เปิดร้านหรือไง” นางย้อยยังคง ‘ห่วง’ ผลประโยชน์ เพราะ ถือว่า ร้านเปิดแล้ว ลงทุนไปแล้ว ก็ต้องเปิดร้านค้าขาย เอากำไร เอาทุนคืนมาก่อน...

“เปิดจ้ะ วรรณามันจัดการแล้ว แล้ววันนี้ หนูก็ได้กำไรจากขนมแล้วก็ถือว่าทำงานแล้วเหมือนกัน”

“แล้วนี่เธอจะเริ่มขายข้าวเกรียบปากหม้อเมื่อไหร่”

“ก็ว่าจะเป็นพรุ่งนี้จ้ะ...อ้อ ซา วันนี้ก่อนจะกลับฆะมังก็แวะไปให้วรรณามันวัดตัวไว้ก่อนนะ”

“วัดทำไมซ้อ”

“ก็อยากตัดเสื้อ ตัดกางเกง ให้เธอสักชุด...”

“ตัดทำไม ผมไม่ค่อยได้ไปไหนหรอก ยิ่งไปอยู่ที่โน่น ยิ่งแล้วใหญ่”

“ก็ตัดเอาฤกษ์เอาชัยให้วรรณามัน ส่วนค่าผ้าค่าตัด เธอไม่ต้องจ่ายนะ พี่ขอออกให้เธอเอง ขอตอบแทนเธอบ้างนะ อย่าปฏิเสธพี่เลย ถ้าไม่ได้เธอ พี่ก็คงเหมือนคนหัวเดียวกะเทียมลีบ”

***************************



Pages: [1] 2 3 ... 5
SMF 2.0.4 | SMF © 2013, Simple Machines | Theme by nesianstyles | Buttons by Andrea
Page created in 0.41 seconds with 19 queries.